แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ทีนี้ต่อไปข้อที่สอง “การสมาทาศีล” สมาทานศีลนี้ก็เป็นเรื่องของการเตรียมจิตเตรียมใจอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน เมื่อกี้ก็ได้พูดไปแล้วว่าก่อนที่จะเริ่มมา แม้แต่ตอนต้นๆ ตัด ปลิโพธ ต่าง ๆมีการสำรวจดูตัวเอง ชำระศีลอยู่แล้ว แต่ตอนนี้จะเข้าปฏิบัติจริง ๆตอนที่จะเริ่มลงมือปฏิบัตินี้ก็มีการย้ำอีกทีหนึ่ง ก็มีการสมาทานศีลให้มั่นเข้า ก็เพื่อให้เกิดเป็นเจตนาในใจ เพราะศีลนั้น สาระสำคัญอยู่ที่เจตนาในใจ เจตนาที่จะงดเว้นจากทุจริต แล้วก็อยู่ในสุจริต เจตนาที่จะเว้นจากความประพฤติที่ผิดทั้งกาย วาจา โดยปกติเราก็สมาทานศีล ๕ อย่างที่ชาวพุทธทั้งหลายรู้กันทั่วไป แต่บางสำนักหรือว่าบางท่านก็อาจจะให้สมาทานศีล ๘ คือ บางสำนักก็อาจจะยืดหยุ่น คือว่า แล้วแต่ศรัทธานะ ใครจะสมาทานศีล ๕ ก็ได้ ศีล ๘ ก็ได้ บางท่านก็มีศรัทธาว่าสมาทานศีล ๘ ทีนี้ก็สมาทานเพิ่มเข้าไปอีก ๓ ข้อ ทีนี้บางสำนักก็อาจจะบอกว่า ให้สมาทานศีลอีกชนิดหนึ่ง เขาเรียกว่า อาชีวัฏฐมกศีล หลายท่านที่เข้าไปปฏิบัติก็อาจจะไม่เคยได้ยิน เอ ไม่รู้จักว่า อาชีวัฏฐมกศีล คืออะไร? อาชีวัฏฐมกศีล ก็เลยถือโอกาสอธิบาย ถือว่าเป็นความรู้ประกอบ คือ ไม่ได้จำเป็นจะต้องใช้ แต่ก็ควรจะรู้ไว้ ทีนี้ถ้าไปปฏิบัติในสำนักที่ท่านให้สมาทานศีลชนิดนี้ ก็จะได้รู้เข้าใจไปเลย อาชีวัฏฐมกศีล นั้น “แปลว่า” ศีลมีอาชีวะเป็นข้อที่ ๘ อาชีวะในที่นี้หมายถึงสัมมาอาชีวะ ศีลที่มีสัมมาอาชีวะเป็นข้อที่ ๘ คือ ศีลอะไร ท่านก็บอกว่าคือศีลในองค์มรรค หรือศีลที่เป็นองค์มรรคนั่นเอง อาตมาก็จะขออธิบายให้ฟัง คือในองค์มรรคที่มี ๘ ข้อนั้น เมื่อจัดเป็นกลุ่มเป็นหมวดก็จะมีเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ใน ๘ ข้อนั้น ข้อไหนบ้างที่เป็นศีล ท่านที่ได้ศึกษาเล่าเรียนแล้วก็จะตอบว่า ข้อที่ ๓ ๔ ๕ นั่นสิ ๓ ๔ ๕ ก็คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ก็เป็นว่าสามอย่าง องค์มรรค ๓ ข้อนี้เป็นศีล ทีนี้สามข้อนี้พอขยายไปก็เห็นแปดข้อมาทีเดียว แปดข้ออย่างไร เริ่มตั้งแต่ สัมมาวาจา “สัมมาวาจา” ถ้าดูคำจำกัดความเราก็จะเห็นว่าท่านแยกออกไปเป็นรายละเอียด ๔ข้อด้วยกัน คือ สัมมาวาจา เจรจาชอบนั้น ก็มี (๑) เว้นจากวาจาเท็จ เว้นจากมุสาวาท ก็ได้หนึ่งข้อละเป็นศีลข้อหนึ่ง ต่อไป (๒) ในสัมมาวาจาก็เว้นจากวาจาหยาบ เว้นจากคำพูดชั่วหยาบ หยาบคาย ก็เป็นการเว้นจากผรุสวาจา ต่อไปข้อที่ (๓) นอกจากเว้นจากคำหยาบ คำเท็จแล้วก็เว้นจากคำพูดส่อเสียด คือ เว้นจากปิสุณาวาจา แล้วก็ไปข้อ (๔) เว้นจากคำพูดเพ้อเจ้อ ที่เรียกว่า สัมผัปปลาป ตกลงว่าในสัมมาวาจานี้กระจายแยกข้อย่อยไปได้ ๔ ข้อ แล้ว คือ สัมมาวาจาแยกเป็นศีลได้ ๔ ข้อ เว้นจากวาจาเท็จ เว้นจากวาจาหยาบคาย เว้นจากวาจาส่อเสียด เว้นจากวาจาคำพูดเพ้อเจ้อ บางทีก็เพื่อจะให้เป็นบาลีท่านก็ไปวางเป็นคำสมาทาน ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องมาเรียนรู้หรอก อาตมาจะพูดให้ฟังเฉยๆ อย่างบอกว่า มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ อันนี้ก็ตรงกับในศีล ๕ ข้อที่สี่ ต่อไปก็ ผรุสายะ วาจายะ เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แล้วก็ ปิสุณายะ วาจายะ, เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ สัมผัปปะลาปา, เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ นี้ก็ได้สี่ข้อ ต่อไปก็ “สัมมากัมมันตะ” สัมมากัมมันตะเมื่อแยกกระจายก็จะเห็นว่ามีสามข้อ คือ (๑) เว้นจากการทำปาณาติบาต เว้นจากการทำลายชีวิต (๒) เว้นจากอทินนาทาน เว้นจากการลักทรัพย์ หรือถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ คือเว้นจากการอทินนาทาน (๓) เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากประพฤติผิดในกามได้สามข้อ ทีนี้สัมมาวาจาเมื่อกี้บอกแล้วสี่ข้อ สัมมากัมมันตะรวมได้สามข้อ ร่วมเป็นเท่าไร? ก็เป็นเจ็ดข้อ เป็นเจ็ดข้อทีนี้ ต่อไป “สัมมาอาชีวะ” ฝ่ายสัมมาอาชีวะ พูดรวมๆได้แก่อาชีพที่ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เป็นอาชีพที่ไม่ผิดศีลทั้งหลาย ก็รวมเป็นข้อเดียวเป็นอาชีวะที่ถูกต้อง ตกลงว่าสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะเจ็ดข้อ สัมมาอาชีวะอีกหนึ่ง ก็เป็นแปดข้อ ก็เลยบอกว่าเป็น “อาชีวัฏฐมกศีล” ศีลมีอาชีวะ หรือ สัมมาอาชีวะ เป็นข้อที่แปด อันนี้ล่ะคือ อาชีวัฏฐมกศีล ที่ว่าเป็นศีลที่เป็นองค์ของมรรค บางสำนักท่านก็ให้สมาทานศีลชนิดนี้ ก็โยมก็รู้เข้าใจไว้เป็นความรู้ประกอบถ้าหากว่าในสำนักนั้นท่านไม่ได้ใช้ ก็รวมความก็คือว่าในตอนนี้ก็มีการ “สมาทานศีล” เตรียมจิตให้มั่นยิ่งขึ้น
ทีนี้การสมาทาศีลนอกจากจะทำให้ใจมั่นในความประพฤติปฏิบัติในความสุจริตของตนเองแล้วก็จะได้ตั้งตัวอยู่ในศีลโดยที่ว่า โดยอยู่ในเจตนา เพราะว่าในเวลาที่เข้าปฏิบัติเนี่ย โดยทั่วไปแล้วย่อมแน่นอนว่าจะไม่ไปประพฤติผิดศีลอะไร เพราะว่า ข้อกำหนดในการปฏิบัติ บรรยากาศอะไรก็ทำให้เราอยู่ในศีลอยู่แล้ว แต่ตัวเจตนานี่ล่ะเป็นศีลอยู่แล้ว ศีลที่เป็นเจตนางดเว้นจากทุจริตทั้งหลาย ทีนี้ศีลก็จะมีคุณค่าเป็นประโยชน์ คือว่า โดยปกติ “ศีลแปด”เนี่ยท่านให้เราประพฤติปฏิบัติเพื่อฝึกตนเองเพิ่มขึ้น ฝึกตนเองในการให้เราอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก เรามีชีวิตที่ขึ้นต่อสิ่งภายนอกน้อยลง เช่นว่า แทนที่จะต้องไปมีความสุขได้ต่อเมื่อนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่มีฟูกสำลี เราก็ไม่ต้องอย่างนั้น เรานอนกับพื้นธรรมดา เราก็มีความสบายได้ เราก็อยู่ชีวิตธรรมดาด้วยใจของเรา ทำใจของเราให้สบาย ไม่ต้องมีฟ้อนรำดนตรีขับร้องเราก็สบายมีความสุขได้ ศีลในระดับหนึ่งนอกจากให้เว้นจากการเบียดเบียนก็มีความมุ่งหมายเพื่อให้เรามีความเป็นอิสระมากขึ้น ให้ความสุขของเราอยู่กับตัวเองโดยที่เราทำของเราได้เองมากขึ้น ไม่ต้องไปอาศัยฝากไว้กับสิ่งภายนอก ฉะนั้นถ้าเรา “เข้าใจ" สาระของศีล อย่างนี้แล้ว เรารู้ว่าเป็น “การฝึกตนที่ทำให้ชีวิตเป็นอิสระจากสิ่งภายนอกไม่ต้องเอาความสุขไปขึ้นไปฝากกับสิ่งภายนอกเราก็จะมีความสบายใจในการปฏิบัติ” เพราะในเวลาปฏิบัตินี้สิ่งที่จะอำนวยความสะดวกให้เป็นการฟุ้งเฟ้อหรูหราไม่มี ฉะนั้นถ้าเราไปกังวลในเรื่องเหล่านั้น ก็ทำให้รบกวนสมาธิด้วย ที นี้ถ้าหากว่าเรามาเข้าใจ “สาระของศีล” เรามีความรู้สึกที่จะ “ฝึกตนให้ชีวิตเราเป็นอิสระมากขึ้น” เรากลับจะรู้สึกสบายมีกำลังใจในการปฏิบัติแทนที่เราจะไปกังวลหรือไปห่วงกับความสะดวกสบาย เรากลับรู้สึกว่าเราพยายามจะปลีกตัวที่จะเป็นอิสระมากขึ้น เราพอใจที่จะทำอย่างนั้น ฉะนั้นสาระสำคัญของศีลอันนี้ก็ควรจะเข้าใจไว้แล้วจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติ
และอีกประการหนึ่งก็คือว่า เมื่อเราสมาทานศีลนี้ก็เป็นข้อกำหนดที่เรายอมรับเอาเอง เมื่อเรายอมรับเอาเองโดยสมัครใจก็เป็นเครื่องกำกับตัวเราไว้ เวลาเราปฏิบัติเรารู้ว่าตัวเรานี้อยู่ในศีล รักษาศีลอยู่ด้วย เราจะไม่ได้ไปนึกถึงความสะดวกสบายอะไรที่ไม่มีที่ขาดไปในเวลาปฏิบัติ สองข้อนี้ก็เสริมกันทั้งในแง่ความเป็นอิสระ ทั้งในแง่ที่ว่าการกำหนดกำกับตัวเองไว้รู้กับตัวเองว่าเรากำลังอยู่ในภาวะเป็นผู้ที่ถือศีล
และอีกสำคัญประการหนึ่งก็คือ ศีลเนี่ยมี “ประโยชน์”ในแง่ที่ว่าคนที่จะรักษาศีลนี่ก็จะต้องมีเจตนาในการงดเว้นจากทุจริต ต้องควบคุมกายวาจาของตน การควบคุมกายวาจาของตนนี่ มันก็โยงไปถึงจิตใจ คือการที่ต้องมีกำลังใจ คนที่จะควบคุมกายวาจาของตนได้จะต้องมีกำลังใจเข้มแข็ง ฉะนั้นเมื่อมีกำลังใจเข้มแข็งในการที่รักษาศีลทางกายวาจา มันมีผลไปถึงเรื่องของจิตใจ คือ “การควบคุมจิตใจ” ทีนี้ “การควบคุมจิตใจได้” มันก็ทำให้ “จิตใจเข้มแข็ง” ทำให้จิตนี้มั่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ง่ายก็เป็นสิ่งที่เกื้อกูลกับการเจริญสมาธิ เพราะฉะนั้น ในเวลาที่เรา “ฝึกรักษาศีล” เนี่ยก็เป็น “การฝึกจิต”ไปด้วยพร้อมกัน เพราะฉะนั้น “การสมาทาศีล” นี้ก็เป็นเครื่องส่งเสริมกำลังจิตในการฝึกตน เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องส่งเสริมสมาธิไปด้วยในตัว ก็เป็นอันว่าเรานิยมให้มีการสมาทานศีล
แล้วก็ขอสรุปเป็นการย้ำไว้ว่า การสมาทานศีลนั้น จะสมาทานในใจของตนเอง คือ เป็นการตั้งใจ ไม่ต้องกล่าวอะไรออกมาก็ได้ หรือทำเป็นพิธีกรรม มีการขอศีลรับศีลเปล่งวาจารัตนาก็ได้ แต่ในเมื่อทำเป็นพิธีกรรมมันก็เป็นธรรมเนียมที่ว่า จะมีการทำพิธีสมาทานศีล ซึ่งในการสมาทานศีลอย่างนั้นเราก็ทำกันมาว่าเป็นประเพณีที่จะอาราธนาศีล คือ ขอศีลจากพระสงฆ์ แล้วพระสงฆ์ก็ให้ศีล เมื่อมีการสมาทานศีลเป็นพิธีอย่างนี้ มีการอาราธนา ก็มีการกล่าวคำที่วางไว้เป็นแบบ คำอาราธนาศีลนั้น ผู้ที่เจริญภาวนาควรจะเป็นผู้กล่าวด้วยตนเอง ทีนี้ถ้าหากว่าอาราธนาศีล ๕ คือ จะสมาทานศีล ๕ ก็อาราธนาศีล ๕ ถ้าหากว่าสมาทานศีล ๘ ก็อาราธนาศีล ๘ ถ้าสมาทานอาชีวัฏฐมกศีล ก็อาราธนา อาชีวัฏฐมกศีล อันนี้ก็ให้เป็นไปตามที่พระอาจารย์ท่านกำหนด หรือว่าสำนักนั้นวางระเบียบไว้ คำกล่าวอาราธนาก็คล้าย ๆกัน มีการเปลี่ยนเฉพาะชื่อบอกว่าเป็นศีลชนิดไหน ก็จะขอให้ตัวอย่างไว้ เช่น อาราธนาศีล ๕ ถ้าคนเดียวอาราธนาก็จะใช้คำว่า อะหัง ภันเตติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะสีลานิยาจามิ แล้วก็จะมีคำกล่าวบอกว่าครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ โดยที่เติมคำว่า “ทุติยัมปิ” “ตติยัมปิ” เข้าไปข้างหน้า หมายความว่าครั้งที่สองก็เติมคำว่า “ทุติยัมปิ”มานำหน้า เป็น ทุติยัมปิ อะหังภันเตติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะสีลานิยาจามิ แล้วครั้งที่สามก็เติม “ตติยัมปิ” เข้าข้างหน้าเป็น ตติยัมปิ อะหัง ภันเตติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะสีลานิยาจามิ ทีนี้ถ้าหากว่าหลายคนรับศีลพร้อมกันก็เปลี่ยน ตัวหน้า กับ ตัวท้าย ตัวหน้าตัวแรกสุดก็เปลี่ยนเป็น “มะยัง” ตัวสุดท้าย “ยาจามิ” ก็เปลี่ยนเป็น “ยาจามะ” เป็น มะยังภันเตติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะศีลานิยาจามะ แล้วก็ทุติยัมปิแล้วก็ว่าอย่างเดิม แล้วก็ตติยัมปิก็ว่าอย่างนั้นเหมือนกัน ทีนี้ถ้าหากว่าเป็น “ศีล ๘” ก็เปลี่ยนคำว่า “ปัญจะ”ศีลานิ เป็น “อัฏฐะ”สีลานิ แล้วก็ถ้าเป็น “อาชีวัฏฐมกศีล” ก็เปลี่ยน “ปัญจะสีลานิ” นั้นเป็น “อาชีวัฏฐมะกะสีลัง” แบบแผนก็มีกันอย่างนี้ อาจจะมีการเติมคำอะไรเพิ่มขึ้น แปลกไปนิด ๆ หน่อย ๆ อันนั้นก็ขอให้เป็นเรื่องที่ทางสำนักหรือพระอาจารย์ท่านกำหนดให้ ถ้ารู้หลักการทั่วไปแล้วก็จะไม่มีปัญหาอะไร เมื่อผู้เจริญภาวนากล่าวคำอาราธนาอย่างนี้แล้ว พระอาจารย์ท่านก็จะให้ศีล คือ ให้ศีล ๕ ให้ศีล ๘ หรือ ให้อาชีวัฏฐมกศีล ตามที่อาราธนานั้น คำสมาทานศีลก็ว่าไปตามที่พระอาจารย์กล่าว ทีนี้ก็คิดว่าไม่จำเป็นจะต้องนำมากล่าวย้ำซ้ำไว้อีก เพราะฉะนั้นเรื่องเกี่ยวกับการสมาทานศีลนี้ก็คิดว่าขอผ่านไปเท่านี้ก่อน
ลำดับที่ ๓ ก็จะมีการถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า แล้วก็ถวายตัวแด่พระอาจารย์ที่สอนกรรมฐาน การถวายตัวแด่พระพุทธเจ้านี่มันก็เป็นอุบายวิธีทำใจที่จะทำให้เราเนี่ยไม่มาคำนึงถึงเรื่องความสุขความอะไรของตัวเอง แม้แต่ว่าเป็นคนที่ใจเด็ดเนี่ย โดยไม่คำนึงถึงแม้แต่ชีวิตของตนเอง คล้าย ๆว่า เอาละ เราจะปฏิบัติของเราเต็มที่เราเห็นคุณค่าของการปฏิบัติ จะพยายามปฏิบัติให้สำเร็จไม่คำนึงถึงชีวิตของเรา เราเลยถวายตัวให้พระพุทธเจ้า ถวายตัวให้พระอาจารย์ไปเลย ทีนี้ถ้าถวายตัวให้พระพุทธเจ้าไปแล้วนี่เป็นอันว่าเราไม่ห่วงกังวลเรื่องตัวเอง นอกจากนั้นยังได้ความรู้สึกว่าอยู่กับพระพุทธเจ้าเต็มที่ด้วยก็ทำให้เกิดความมั่นคงไม่หวั่นไหวในการปฏิบัติ มีกำลังใจเต็มที่ ไม่มีความสะดุ้งหวาดหวั่นอะไร ทีนี้อย่างพบอะไรเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติเป็นภาพนิมิต เป็นอะไรก็ตามหรือว่าความกลัวที่ติดมาจากใจของเรา อย่างอยู่ในที่มืดกลัวผีกลัวความมืดอะไรเนี่ย เมื่อเรารู้สึกว่าเราได้สละตัวถวายพระพุทธเจ้าไปแล้วเราก็ไม่กลัว ไม่คำนึงอะไรทั้งสิ้น เราบอกว่าเรายกตัวเองเรายกชีวิตถวายพระพุทธเจ้าไปแล้ว เราก็ไม่ห่วงไม่สะดุ้งไม่หวาดหวั่นอะไรทั้งนั้น ตั้งใจปฏิบัติอย่างเดียวเท่านั้น ฉะนั้น การถวายตัวแด่พระพุทธเจ้าก็มีความมุ่งหมาย ทำให้เกิดความมั่นใจ อุ่นใจ แล้วก็การที่ตัดความห่วงกังวลเกี่ยวกับตัวเองไปให้หมด เป็นอุบายวิธี ส่วนสำหรับการถวายตัวแด่พระอาจารย์ก็เสริมขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนั้นก็คือทำให้เรารู้สึกเต็มใจ หมายความว่า ก่อนที่เราจะปฏิบัติกับพระอาจารย์เนี่ยเราก็ทำใจของเราแล้ว เรายอมรับข้อปฏิบัติของท่านเต็มที่ จะได้ไม่ต้องมีความรู้สึกต่อต้าน ไม่มีความรู้สึกค้างใจอะไรในระหว่างปฏิบัติ ใจเราก็พร้อมที่จะรับโอวาท รับคำแนะนำสั่งสอนของท่านเต็มที่ แล้วก็ใน “ฝ่ายผู้สอน”ท่านก็จะได้สบายใจไม่อึดอัดในการที่จะสอนแนะนำเราเพราะเราได้มอบตัวให้ท่านแล้วก็เป็น “วิธีปฏิบัติต่อกันที่ทำให้สบายใจ” การสอนการปฏิบัติจะได้เป็นไปได้เต็มที่ไม่มีข้อที่มาขุ่นข้องหรือค้างอยู่ในจิตใจแต่ประการใด เอาละอันนี้เป็นความมุ่งหมาย ทีนี้เขาก็เลยสร้างคำกล่าวขึ้นมาให้เป็นพิธี ให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องจริงจังแข็งขัน ท่านก็จะให้กล่าวคำถวายตัวแด่พระพุทธเจ้าที่นิยมกันก็ใช้ว่า อิมาหัง ภันเต ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจจะชามิ ซึ่งก็แปลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้า หรือข้าพระองค์ขอสละถวายตัวของข้าพระองค์นี้แด่พระองค์ คือ แด่พระพุทธเจ้า อันนี้ก็เป็นคำที่นิยมใช้กัน หรือแม้ถ้าจะใช้ต่างไปจากนี้ก็สุดแต่พระอาจารย์ท่านจะกำหนด แต่นี่เป็นคำที่นิยมกัน นี่ก็ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้าก่อน เสร็จแล้วก็ถวายตัวแด่พระอาจารย์ ถวายตัวแด่พระอาจารย์คำก็คล้ายกัน ก็เปลี่ยนคำว่า ภควา เป็น อาจาริยะ เท่านั้นเองก็จะได้เป็นข้อความบอกว่า อิมาหัง ภันเต อาจาริยะ อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจจะชามิ ข้าแต่พระอาจารย์ผู้เจริญ เกล้ากระผม หรือ ดิฉัน ขอสละถวายตัวของข้าพเจ้า หรือกระผม หรือ ดิฉันนี้ แด่ท่านพระอาจารย์ อันนี้ก็เป็นคำกล่าวแบบโดยย่อ ซึ่งก็ได้ความแล้วล่ะ เป็นการแสดงถึงเจตนาแล้วก็ทำให้ใจของเรานี้มีความเด็ดเดี่ยวจริงจัง อันนี้เป็นส่วนที่สาม เป็นลำดับที่สาม อาตมาก็ขอผ่านไป ข้อสำคัญก็คือ ให้ เข้าใจ “สาระ” ของการกระทำนี้ อย่างที่อาตมาได้กล่าวไปแล้ว
ทีนี้ข้อที่ ๔ พอเราถวายตัวแด่พระอาจารย์เสร็จทีนี้ละ ทีนี้ก็ถึงตอนขอกรรมฐาน ขอกรรรมฐานแปลว่าตอนนี้ใจเราพร้อมมุ่งเด็ดเดี่ยวแน่วไปข้างหน้าสู่การที่จะปฏิบัติกรรมฐานก็รับเอากรรมฐานไป ทีนี้ขอกรรมฐานพระอาจารย์นี่ บางสำนักก็จะทำเป็นคำกล่าวขึ้นมาอีก ที่จริงบางสำนักท่านก็ไม่ต้อง ท่านก็ให้ไปเลย หรือว่ากล่าวคำขอเป็นภาษาไทยก็ได้ ไม่กล่าวก็ได้ ทีนี้บางสำนักท่านต้องการให้มั่น ท่านก็ทำเป็นคำขอกรรมฐานซึ่งคำขอนี้อาจจะเป็นภาษาบาลี แล้วก็อาจจะแตกต่างกันไป ในที่นี้อาตมาก็จะยกมาสักตัวอย่างหนึ่ง เช่นว่า นิพพานัสสะ เม ภันเต สัจฉิกะระณัตถายะ กัมมัฏฐานัง เทถะ ข้าแต่ท่านพระอาจารย์ผู้เจริญ ขอท่านพระอาจารย์โปรดให้กรรมฐานแก่ข้าพระเจ้า หรือแก่กระผม หรือแก่ดิฉัน เพื่อความมุ่งหมายหรือเพื่อประโยชน์แก่การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน อันนี้ก็หมายความว่าบอกจุดมุ่งหมายสูงสุดไว้เสร็จเลยว่า ที่เราเจริญภาวนานี้เพื่อจะได้บรรลุถึงซึ่งพระนิพพาน พอพระอาจารย์ท่านได้ฟังคำกล่าวขอกรรมฐานแล้ว ท่านก็จะให้กรรมฐานก็จะบอกให้เอาอะไรไปกำหนดเป็นอารมณ์ บอกวิธีกำหนด เช่น บอกว่าให้ไปเจริญอานาปานสติ กำหนดลมหายใจ กำหนดอย่างนี้นะ จะกำหนดแบบว่า ให้ภาวนาพุทโธกำกับ อะไรก็แล้วแต่ ท่านพระอาจารย์ท่านจะบอก ตอนนี้ก็เป็นการบอกกรรมฐาน นี่คือ อย่างน้อย อันนี้เป็นปริยัติอย่างน้อยที่สุดที่ท่านพระอาจารย์ท่านจะบอก แล้วท่านก็ต้องบอกตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ถ้าหากไม่บอกตามที่พระพุทธเจ้าสอนก็ไม่ใช่กรรมฐานของพระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่ปริยัติ คือ ก็กลายเป็นปริยัติเทียม ถ้าหากท่านบอกตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้อันนี้ก็เป็นปริยัติแท้ ปริยัติของพระพุทธเจ้า อันนี้ก็อย่างน้อยเราก็จะได้สัมผัสกับปริยัติได้ในตอนนี้ แต่ว่าสำหรับหลายท่านนี่หรือหลายสำนักก็อาจจะให้มีการเล่าเรียนปริยัติอย่างเป็นพื้นฐานพอเพียงทีเดียว ซึ่งอาตมาก็ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ทีนี้เมื่อพระอาจารย์ได้ให้กรรมฐาน บอกกรรมฐานแล้วท่านก็ให้โอวาทไปด้วย สุดแล้วแต่ท่านจะอธิบายขยายความอย่างไร ซึ่งจะให้เกื้อกูลการแก่ปฏิบัติได้ผลดียิ่งขึ้น อันนี้ก็ขอผ่านไป นี่เป็นข้อที่สี่ละ ซึ่งสี่ข้อแรกนี้จะเป็นส่วนที่สำคัญ ๆ
ต่อไปเข้าสู่ข้อที่ ๕ ซึ่งอาจจะพูดว่าเป็นเรื่องอื่น ๆ พิธีกรรมส่วนอื่น ๆหรือพิธีกรรมส่วนเสริม คือ เป็นเครื่องเสริมกำลังในขณะจะเริ่มลงมือปฏิบัติ บางทีตอนที่เราจบข้อที่สี่ พอขอกรรมฐานอาจารย์ให้กรรมฐานเสร็จ เราก็แยกย้ายกันไป ไปเข้าห้องกรรมฐานของตัวเอง แล้วข้อปฏิบัติพิธีในส่วนที่ห้า หรือข้อที่ห้านี้ก็จะมาในตอนที่แยกเข้าห้องของตัวเอง ตอนที่จะเริ่มลงมือปฏิบัติเข้าห้องกรรมฐานแล้ว จะเจริญกรรมฐาน เอาละตอนนี้ บางสำนักท่านก็จะให้ทำอีก คือให้ “มั่น” ยิ่งขึ้น ท่านก็จะสรรหาวิธีการอะไรต่าง ๆเพื่อที่จะเตรียมจิตเตรียมใจผู้ปฏิบัติให้พร้อมที่สุด จนกระทั่งบางสำนักก็มากไปเหมือนกัน ก็กลายเป็นว่าสำนักอื่นมองเห็นว่ารุงรัง ทีนี้อาตมาก็เอามาพูดเพื่อให้เห็นมาก ๆไว้ก่อน ในทางปฏิบัติจริงหลายสำนักท่านก็ย่อมจะต้องไม่ครบตามนี้ ทีนี้พูดไว้เพื่อให้เกิดเป็นความรู้ไว้ พอไปพบไปเห็นไปเจอด้วยตนเองก็จะได้มีความเข้าใจ ทีนี้ในตอนเข้าสู่ห้องกรรมฐานที่เจริญกรรมฐานนี้ก็จะมีพิธีกรรมส่วนเฉพาะตัวอีก แต่บางสำนักก็ต้องพูดไว้ก่อนว่าบางสำนักท่านอาจจะไม่ให้ทำเฉพาะตัวก็ได้ อาจจะไปทำตอนที่ยังรวมกลุ่มกันก็ได้ ซึ่งก็แล้วแต่เป็นเรื่องของความยืดหยุ่นมุ่งผลอย่างเดียวกัน อย่างที่กล่าวแล้ว ที่นี่สมมติว่าเอาละตอนนี้แยกไปทำให้ห้องตนเองข้อปฏิบัติหรือพิธีกรรมส่วนเสริมนี่ก็มีหลายข้อ อาตมาจะยกตัวอย่าง
พอเข้าห้องตัวเองเจริญกรรมฐาน อ้าว ก็มาจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยอีก ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว ซึ่งจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แต่ว่าบางสำนักท่านว่าทำก็ดี หรือ ตัวเราเองก็จะรู้สึกว่าเราทำก็ดีเนี่ย มันทำให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น เป็นส่วนพิธีประกอบเสริมกำลังใจ ทำให้เกิด “ศรัทธา”และ “วิริยะ”ยิ่งขึ้น พอจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยแล้วก็มีพิธีกรรมเสริมตามนิยมอย่างที่ว่า บางสำนักก็บอกว่าให้ตั้งสัตย์อธิษฐาน หรือ อธิษฐานจิต ปฏิญาณตนต่อพระรัตนตรัยและครูอาจารย์ว่าเราจะปฏิบัติเจริญภาวนาครั้งนี้อย่างจริงจัง ไม่ได้ทำอย่างจับจด ไม่ได้ทำโดยเหลาะแหละ อันนี้บางท่านก็จะแนะนำว่าให้ตั้งจิตอธิษฐานเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ “อธิษฐานพระทัย”ก่อนที่จะตรัสรู้ตอนที่ประทับนั่ง ที่ โพธิบังลังก์ คือที่โคนต้นโพธิ์ เมื่อคืนวันเพ็ญที่จะตรัสรู้ พระองค์ก็ประทับนั่งลงไปแล้วก็อธิษฐานจิตกับพระองค์เองว่า “พระองค์เองจะไม่เสด็จลุกจากที่ประทับตราบเท่าที่ยังไม่บรรลุโพธิญาณแม้ว่าเลือดเนื้อจะแห้งเหือดไป” เนี่ยอันนี้ก็หมายความว่า ยอมสละชีวิตเลย อธิษฐานจิตเด็ดเดี่ยว บางสำนักท่านก็บอกให้อธิษฐานจิตแบบนี้ หรือจะไม่อธิษฐานจิตแบบนี้ก็อธิษฐานแล้วแต่อาจารย์ท่านจะสอนก็ “อธิษฐาน” ไปตามแนวซึ่งเป็นคำบาลีบ้าง เป็นคำไทยบ้าง เราจะตั้งใจปฏิบัติจริงจัง เท่าที่สามารถให้บรรลุมรรคผลเจริญรอยตามแบบอย่างของพระพุทธเจ้า พระมหาสาวกทั้งหลาย แล้วก็บอก ด้วยสัจวาจานี้ขอให้ข้าพเจ้าบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยเทอญ อะไรทำนองนี้เป็นต้น ก็สุดแล้วแต่จะว่าไป อาตมาก็ยกมาเป็นตัวอย่าง นี้เรื่องของ “การอธิษฐานจิต” ก็ต้องการกำลังความเด็ดเดี่ยวนั้นเอง คือ ให้ใจพุ่งไปสู่การปฏิบัติเต็มที่ เป็นอุบายวิธีอันหนึ่ง
ทีนี้ต่อจากอธิษฐานจิต ก็ไปสู่ข้อต่อไป “การแผ่เมตตา” หรือในบางสำนักไม่มีอธิษฐานจิตก็ไปสู่แผ่เมตตาเลย ทีนี้แผ่เมตตาก็อย่างที่กล่าวแล้วก็เป็นการเตรียมใจให้ชุ่มฉ่ำให้เย็นให้สงบแล้วก็ทำให้เกิดความสบายใจแก่ตนเอง ให้รู้สึกว่าไม่มีเวรมีภัย และมีจิตใจที่ดีงามมันก็เป็นเครื่องเกื้อกูลแก่การเจริญภาวนา แผ่เมตตานี้ท่านก็บอกว่าให้แผ่แก่ตนเอง และแก่สรรพสัตว์ ทีนี้การแผ่จะแผ่แบบว่าเป็นคำกล่าวก็ได้ หรือตั้งใจเอาแล้วแต่คิดนึกก็ได้ แต่โดยมากท่านนิยมที่จะได้ว่าเป็นแบบกันไปเลย ที่ว่าเป็นแบบบางทีทำเป็นคำบาลี คำบาลีก็มีสั้นบ้างยาวบ้าง อันนี้ยืดหยุ่นผิดแผกกันไปสารพัด เพราะฉะนั้นก็สุดแต่จะไปปฏิบัติในสำนักใด แต่อย่างสั้นที่สุดถ้าเป็นคำบาลีก็จะเป็นทำนองนี้ เวลาแผ่ให้ตนเอง ก็จะบอกว่า อะหัง สุขิโต โหมิ ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีความสุข นี่เป็นอย่างง่าย ๆ แผ่เมตตาให้กับตนเองก่อน เป็นการ “ยอมรับความจริงของมนุษย์” ที่ว่า “มนุษย์เรานี่เป็นสัตว์ที่รักสุขเกลียดทุกข์ การที่เราจะมีความหวังดีต่อผู้อื่นได้จริงจังสำหรับมนุษย์ปุถุชนก็ต้องให้ตนเองมีความสุขด้วย” แล้ว “การแผ่เมตตาจิตให้แก่ตนเอง” นี่เป็นการตัดความขุ่นเคือง ความรู้สึกรบกวนใจทั้งหลายไป แล้วต่อจากนั้นก็แผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ เพื่อนมนุษย์ และสัตว์ร่วมโลกทั้งหลายทั้งปวง คำว่าอย่างสั้นที่สุดก็ได้แก่คำว่า สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีความสุข หรือถึงแล้วซึ่งความสุข อันนี้ถ้าว่ากันเป็นแบบเป็นแผนแล้ว อย่างนี้ก็จะสั้นที่สุด ทีนี้บางสำนักท่านก็จะให้ว่า คำแผ่เมตตายาว อย่างบอกว่าแผ่เมตตาให้แก่ตนเองนี่ก็จะบอกว่า อะหัง สุขิโต โหมิ อะเวโร โหมิ อัพยาปัชโฌ โหมิ สุขี อะนีโฆโหมิ สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็ทำให้ยาวไปอีก คำแปลก็เพิ่มเข้ามาอีก แล้วเวลาแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ก็เพิ่มเข้ามา มีการจำแนกประเภทสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ประเภทโน้น สัตว์ประเภทนี้ เริ่มตั้งแต่มา เริ่มตั้งแต่ พระอริยเจ้าลงมา ผู้บรรลุโลกุตตรธรรมลงมาจนถึงพรหมเทวดาทั้งหลายจนกระทั่งถึงสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในทุกชั้นทุกภูมิแล้วนี่ ก็แล้วแต่ว่าจำแนกไป คำแผ่เมตตาก็ยิ่งยาวยิ่งขึ้น บางสำนักก็ให้เพิ่มไปอีก เอาไปตามทิศ แผ่เมตตาให้กับสัตว์ทั้งสิบทิศ ก็แยกว่าคำบาลีทีละทิศละทิศ กว่าจะจบก็สิบทิศสิบบรรทัดเป็นอย่างน้อย อันนี้ก็แล้วแต่จะว่ากันไป “สาระสำคัญ” ก็คือ “แผ่เมตตาตั้งใจปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายรวมทั้งตนเองขอให้มีความสุขโดยทั่วกัน” นี่ก็เป็นเรื่องของการแผ่เมตตา อันนี้อาตมาก็ขอข้ามไปเลย
ต่อไปนอกจากแผ่เมตตาแล้วบางสำนักก็บอกว่าให้ “เจริญมรณานุสติ”ด้วย มรณานุสติก็มีสติระลึกถึงความตาย เพื่อจะได้มีจิตใจไม่ประมาท เพราะว่าให้รู้สึกว่าชีวิตเรานี้ไม่ยั่งยืนไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นเราจะผัดเพี้ยนรีรออยู่ไม่ได้ กิจอะไรต้องทำก็รีบทำเสียโดยเฉพาะการเจริญภาวนานี้แหละ เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำเหมือนกับแข่งเวลา ฉะนั้นให้เวลาผ่านไปโดยการปฏิบัติไม่ได้ผ่านไปเปล่าก็เลยเจริญมรณานุสติ ให้เกิด “ความไม่ประมาท กระตุ้นความเพียรพยายามให้มากขึ้น” ทีนี้การเจริญมรณานุสติก็อย่างเดียวกับการแผ่เมตตานั่นแหละ คือก็จะมีการกล่าวคำที่ต่าง ๆกันไป สั้นบ้างยาวบ้าง อย่างแบบ สั้น ๆ ก็บอกว่า อะธุวัง เม ชีวิตัง??? นาทีที่ 30:53 ก็บอกว่าชีวิตของเราไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนมันไม่คงทนอยู่ตลอดไป ก็เท่ากับน้อมจิตไปพิจารณาว่าในเมื่อชีวิตของเรามันไม่เที่ยงไม่คงอยู่ตลอดไปไม่ยั่งยืนเราก็ต้องรีบไม่ประมาทรีบเจริญภาวนาให้ได้ผล
เพราะฉะนั้น “สาระสำคัญ” ในการที่เจริญมรณสติ ก็คือ การที่จะได้รีบเร่งปฏิบัติ ให้มองว่าตนเองนี้มีโชคดี ที่ว่าถ้าหากจะเกิดการตายขึ้นมาเราก็ไม่มีชีวิตที่เสียเปล่า คือว่า ยังได้มีโอกาสมาปฏิบัติเจริญภาวนาก่อน ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นเสียที ที่เกิดมาตายเปล่า เพราะฉะนั้น มรณานุสติก็ให้พิจารณาในแง่นี้ด้วย ทีนี้เจริญมรณสติแล้วบางสำนักก็ยังต่อไปอีก ซึ่งน้อยสำนักจะมีข้อต่อไป
บอกว่า “ให้ระลึกถึงบุญ”ของตนเอง “ระลึกถึงบุญของตนเอง”อย่างไร? ก็ระลึกถึงบุญของตนเองว่า เออ การที่เรามาเจริญภาวนาเข้าปฏิบัตินี้นะ นับว่าเป็นการที่มีบุญมีกุศลของเรามาก การที่เราจะได้เข้าปฏิบัติเนี่ย เรามีบุญหลายประการ ได้พบในสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง ก็เริ่มตั้งแต่ว่า การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าก็เป็นสิ่งที่หาได้ยาก เราก็ได้พบแล้ว ทีนี้การเกิดมาเป็นมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่ได้ยากเหลือเกินบางอาจารย์ท่านก็จะพรรณนาว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี่ยาก อย่างพระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบบอกว่า “เหมือนกับว่าเต่าที่โผล่ศีรษะขึ้นมาในท้องมหาสมุทร แล้วก็มีเป็นบ่วงเล็ก ๆอยู่อันหนึ่งอยู่กลางมหาสมุทรนั้น เต่าตัวนั้นในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่นั้นเวลาโผล่ศีรษะขึ้นมาบนผิวน้ำจะให้มาตรงกับบ่วงอันเล็ก ๆนั้นน่ะมันเป็นสิ่งที่ยากแสนยากโอกาสน้อยเหลือเกินฉันใด การมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ยากฉันนั้น” ทีนี้เราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ก็นับว่าโชคดีเหลือเกิน อันนี้เราก็ได้มีโชคดีมีบุญมีกุศลนี้แล้ว เพราะฉะนั้นเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วคนที่จะได้มาบวชกรณีที่เป็นพระมาบวชมาบรรพชาเป็นสามเณร มาอุปสมบทเป็นพระนี่ก็ยิ่งหาได้ยากน้อยนัก เราก็ได้มาบวชแล้ว หรือว่าถ้าเป็นอุบาสก อุบาสิกาก็คิดไปในแง่ว่า การที่จะได้มาเป็นอุบาสก อุบาสิกา ใกล้ชิดพระรัตนตรัยนี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก น้อยคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วจะได้มาเป็นอุบาสก อุบาสิกา แล้วเสร็จแล้วก็ นอกจากจะได้มาเป็นอุบาสก อุบาสิกา หรือได้บวชได้บรรพชาอุปสมบท ก็ยังได้มีศรัทธาในการปฏิบัติพระกรรมฐาน คนที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา หรือบวชแล้วก็แม้มีบุญกุศลได้โอกาสที่หาได้ยาก แต่ก็มีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่จะมาศรัทธาปฏิบัติกรรมฐาน เราก็ได้มีศรัทธาเข้าปฏิบัติแล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็น “บุญกุศล”ของเรา ทั้ง “ ๔ ประการ” ทั้งได้พบพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ทั้งได้เกิดเป็นมนุษย์ ทั้งได้บรรพชาอุปสมบท หรือได้เป็นอุบาสก อุบาสิกา แล้วก็ได้มีศรัทธาที่เจริญกรรมฐาน เมื่อเป็น “บุญ”ของเราอย่างนี้แล้ว เราก็ควรจะมีกำลังใจมีความปีติยินดี แล้วก็เพียรพยายามปฏิบัติให้ได้ผลนะ
อันนี้ก็เป็นข้อปฏิบัติ หรือว่าเป็นพิธีกรรมส่วนนำเบื้องต้นในการเข้าปฏิบัติในแบบต่าง ๆ เสร็จแล้วต่อจากนั้นเมื่อได้ระลึกถึงบุญกุศลของตนเอง แล้วก็ก่อนจะลงมือปฏิบัติสุดท้ายก็บางสำนักก็บอกว่าให้ “สวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย” อีกครั้งหนึ่งก็สวดไปตามพอใจตามที่ตนได้ จะสวดบท อิติปิโส สวาขาโต สุปฏิปันโน ก็ได้ หรือจะจำบทอะไรได้ก็นำมาสวด ก็เลยศรัทธายิ่งขึ้นไป อันนี้อาตมาก็ได้กล่าวมาในข้อปฏิบัติปลีกย่อย ตอนนี้ก็เป็นการที่ว่าจะเริ่มลงมือปฏิบัติละ แล้วก็ขอย้ำว่าส่วนปลีกย่อยวิธีเหล่านี้นั้น แล้วแต่พระอาจารย์แล้วแต่สำนักท่านกำหนด ซึ่งมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ขอให้เอาแต่ส่วนที่เป็น “สาระ” ขอให้เราได้มีศรัทธาแล้วก็เตรียมจิต เตรียมใจ เตรียมบรรยากาศ ให้พร้อมที่จะปฏิบัติ น้อมจิตไปสู่ความสงบ แล้วก็มี กำลังใจ มั่นใจ ในการปฏิบัติ
ทีนี้ต่อจากนี้ก็เริ่มกำหนดเริ่มปฏิบัติกรรมฐานตามที่พระอาจารย์ได้สอนมา ซึ่งเป็นภาคที่พ้นจากการพูดในที่นี้แล้ว เอาละเรื่องข้อปฏิบัติพิธีกรรมก็จบเท่านี้ ทีนี้พอเข้าปฏิบัติจริงเนี่ยบางสำนักท่านก็ยังมีเรื่องเกี่ยวกับข้อกำหนดในการอยู่ในที่ปฏิบัติอีก เช่นเป็นข้อห้าม หรือข้อบังคับอะไรต่าง ๆ บางสำนักก็มี บางสำนักก็ไม่มี บางสำนักมีก็ไม่ได้เขียนไว้ บอกบอกเอา บางสำนักก็เขียนไว้ อาตมาก็จะยกตัวอย่างเช่น บางสำนักเนี่ยท่านจะเขียนเป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติระหว่างเข้าเจริญภาวนาไว้ อย่าง “ข้อห้าม”ก็อาจจะมีอย่างนี้ บอกว่า หนึ่งห้ามหยุดพักการปฏิบัติเว้นแต่หลับ หมายความว่า ถ้าไม่หลับหรือยังไม่ถึงเวลานอนก็ห้ามหยุดพักการปฏิบัติ ต้องปฏิบัติเช่นว่า เจริญวิปัสสนา ใช้สติกำหนดอารมณ์ปัจจุบันตลอดเวลา อะไรทำนองนี้ สองห้ามนอนหลับกลางวัน กลางวันไม่ให้นอน แม้กลางคืนก็นอนให้น้อย เพียรพยายามให้มาก สาม ห้ามพูดกับคนภายนอกหรือว่าแม้แต่ผู้ปฏิบัติด้วยกันก็ไม่ให้พูดเว้นแต่จำเป็นหรือนอกจากกรรมฐานของตนอันนั้นจำเป็นต้องพูด เพราะว่าเกี่ยวกับการที่จะได้ทราบคำแนะนำที่จะก้าวหน้าต่อไปในการปฏิบัติ ทีนี้ถ้าจำเป็นต้องพูดกับคนภายนอกหรือคนปฏิบัติด้วยกันก็ต้องพูดแต่น้อยโดยสำรวม ต้องกำหนด ใช้สติกำหนด เวลาพูด อันนี้จะใช้ในเรื่องของผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนา กำหนดการพูดของตนเองเช่นว่า กำหนดเวลาการเคลื่อนไหวของริมฝีปากก็ต้องใช้สติกำหนดการพูดนั้น แล้วก็ สี่ จะห้ามทำกิจเล็ก ๆ น้อย ๆที่ไม่จำเป็นเช่น การอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ บางสำนักก็ไม่ให้ทำ แต่ว่าในการที่มาปฏิบัติอย่างเข้มข้นนี้เราก็ควรจะเป็นธรรมดาที่จะต้องตัดในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติโดยตรงออกไปเสีย แล้วก็ ห้า ห้ามของเสพติดทุกชนิด อันนี้เป็นตัวอย่าง บางสำนักก็อาจจะมีต่างออกไป เพิ่มขึ้นมาน้อยลงก็ได้ ทีนี้ในแง่นอกจากข้อห้ามก็มีข้อที่เป็นฝ่ายด้านที่ต้องบังคับให้ทำหรือเป็น “ข้อปฏิบัติ” เช่น อย่างสำนักหนึ่ง สำนักวัดเพลงวิปัสสนานี่ก็มีการบอกว่าให้ตั้งอยู่ในหลักสามประการด้วย มี (๑) อุปนิสสยะ เมื่ออยู่ปราศจากอาจารย์ (๒) อารักขะ พยายายามรักษากรรมฐานที่อาจารย์ให้ (๓) อุปนิพันธะ ผูกจิตไว้ในการเจริญสติ ก็คือ ผูกจิตไว้ในกรรมฐาน อันนี้ก็เป็นข้อที่ว่าสำนักนั้น ๆท่านจะกำหนดขึ้นมา ซึ่งก็เป็นหลักทั่วไปเนี่ย ท่านก็นำเอาหลักที่ดีงามมาเน้นทำให้เด่นชัดยิ่งขึ้น
นอกจากนี้แล้วก็ให้ดำเนินตาม อปัณณกปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดพลาดสามประการ ก็มี (๑) อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ เวลารับรู้อารมณ์เห็นได้ยินเป็นต้น แล้วก็ ให้รับรู้โดยแค่เห็น แค่ได้ยินตามที่เป็นจริง ไม่ให้ความยินดียินร้ายเข้าครอบงำ ไม่ให้ความชอบชังเข้าครอบงำจิต (๒) คือ โภชเน มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการบริโภค รับประทานอาหารแต่พอดี พอให้เกื้อกูลต่อการปฏิบัติ พอให้อยู่ผาสุก ไม่มุ่งเห็นแก่เอร็ดอร่อย แล้วก็กลับทำให้เป็นอันตรายต่อการปฏิบัติไปได้ เสียสุขภาพเป็นต้น แล้วก็ (๓) ชาคริยานุโยค แปลว่าการประกอบความเพียร เครื่องตื่นอยู่ หรือ การประกอบความตื่น หมายความว่า หมั่นประกอบความตื่นไม่เห็นแก่หลับแก่นอนมุ่งแต่ว่าจะชำระใจให้สะอาด ให้บริสุทธิ์จากกิเลส จากนิวรณ์ต่าง ๆ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติ บางสำนักท่านก็ยกมาเน้นไว้ ซึ่งก็เป็นข้อปฏิบัติ เป็นหลักที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ การที่ยกมาเน้นก็ทำให้เรานำมาเตือนตนให้ปฏิบัติได้ผลดียิ่งขึ้น
นี่ก็คือเรื่องต่าง ๆ ที่คิดว่าผู้เข้าปฏิบัติหรือว่าผู้เข้าเจริญภาวนาเนี่ยควรจะได้ทราบไว้ในเบื้องต้น แล้วก็นอกจากทราบไว้ว่าตนเองจะต้องรู้อะไรบ้างเป็นพื้นฐานจะทำอะไรแล้วก็ได้เข้าใจความหมาย ความมุ่งหมายของสิ่งเหล่านั้นด้วย อาตมาก็คิดว่าได้พูดอธิบายชี้แจงมาพอสมควรแก่เวลาแล้ว คิดว่าท่านที่เข้าปฏิบัติก็คงจะได้มีความพร้อมพอสมควร ก็ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่งแล้วขอให้ทุกท่านได้เจริญในการปฏิบัติ มีความงอกงามในธรรมยิ่ง ๆขึ้นไป จนกว่าจะบรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ก็ขอคุณพระรัตนตรัยคุ้มครองรักษาให้ทุกท่านได้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติโดยทั่วกันทุกท่าน ขอเจริญพร