แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เรื่องต่อไปที่อยากจะพูดในวันนี้ก็คือว่า ที่เราพูดกันมาหลายครั้งแล้วเรื่อง การบูชา เครื่องบูชา เรื่องการสวดมนต์อะไรต่างๆนี้ พูดโดยหลักใหญ่ก็คือ อยู่ในเรื่องพิธีกรรม
พิธีกรรมก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพุทธศาสนิกชน ละก็พระเราก็เกี่ยวข้องมาก เพราะฉะนั้นก็เลยมาพูดถึงเรื่องพิธีกรรมกัน แต่วันนี้อย่างที่ว่าแล้ว อยากจะพูดน้อยๆ ก็เลยคงจะพูดนำเรื่องไว้เท่านั้นเอง ยังไม่จบในวันนี้
นี้พิธีกรรมนี่มีเพื่ออะไร
ก็อยากจะฟังทรรศนะของท่านด้วย ว่าเรามีพิธีกรรมกันเพื่ออะไร
อยากจะฟังท่านสุรเดช สิ ว่ามองพิธีกรรมยังไง มองแล้วเห็นความหมาย หรือมีความเข้าใจอย่างไร หรือมีทัศนคติอย่างไรต่อเรื่องพิธีกรรม
“เป็นรูปแบบที่จะน้อมนำให้เกิดความเลื่อมใส”
อ้อ อันนี้ก็เอานัยยะที่เคยพูดกันมาแล้วมา เอ๊ะ หรือเคยพูดไปแล้ว
แต่ว่ายังไม่เคยพูดเรื่องพิธีกรรมโดยตรง ใช่ไหม
อ้าว ทีนี้ ท่านจักรพันธ์ “...???”
เป็นการแสดงศรัทธาอย่างหนึ่ง
ละท่านโอรัตน์ ว่าไง
“???เพื่อ...เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพิธีกรรมนั้นและข้อสองเพื่อน้อมนำเข้าสู่หลักธรรมะ ข้อที่สาม เป็นพิธีกรรม...???”
พูดยาก มาดู ลองมองดูในสายตาของประชาชนทั่วไปสิ อย่างชาวบ้านนี่ มีความเข้าใจต่อพิธีกรรมว่าอย่างไร ว่าเป็นอะไร ยังไม่ต้องเอาตัวเอง เอาชาวบ้าน นี่ถ้าเราเอาตัวเอง เราก็จะพยายามพูดให้เป็นเหตุเป็นผล เอาความเข้าใจของชาวบ้าน เขารู้สึกอย่างไร เขามาหาพระ มาทำพิธีอะไรอย่างนี้
...ไหน ...เหรอ อ้อ ปลอบประโลมใจ
“คลายทุกข์ครับ” คลายทุกข์ อันนั้นมันคล้ายๆเป็นจุดหมาย
เอาอย่างนี้ได้ไหม พิธีกรรมนี่ มักจะเข้าใจความหมายว่า เป็นการกระทำให้ขลัง ให้ศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรมมักจะมีความหมายเชิงนี้รึเปล่า สำหรับคนจำนวนมากทั่วไป พิธีกรรมนี้มีขึ้นมาทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องทำให้ขลัง ให้ศักดิ์สิทธิ์อะไรต่างๆ เป็นอย่างนี้มาก ทีนี้พอขลัง พอศักดิ์สิทธิ์ละก็ได้ผลละสิ ใช่ไหม เพราะว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ ก็สามารถมีผลมีอำนาจ ดลบันดาล ทำให้เราพ้นจากปัญหา พ้นจากความทุกข์ หรือแก้ไขปัญหา แก้เคราะห์ของเราได้ ทำให้เรามีโชคดี ได้ลาภ ได้อะไร นี่คือ อำนาจที่เกิดจากความขลัง ถูกไหม
ดังนั้น พิธีกรรมก็เป็นเรื่องของความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ นี่แหละ นี่ความหมายที่มองกันทั่วๆไป เป็นการกระทำให้ขลัง ให้ศักดิ์สิทธิ์
ตัวพิธีกรรมเอง ที่จริงมันมาจากคำว่า วิธี+กรรม วิธี ก็แผลง ว เป็น พ มันก็เป็น พิธี ใช่ไหม แล้ว วิธี แปลว่าอะไรล่ะ วิธีเราก็จะเห็นได้ในคำว่า วิธีการ ใช่ไหม ก็เป็นเรื่องของปฏิบัติการที่จะนำไปสู่จุดหมายที่ต้องการ ใช่ไหม ทีนี้ กรรม ก็แปลว่า การกระทำ
เพราะฉะนั้น วิธีการที่แผลงเป็น พิธีการ ก็ ขออภัย วิธีกรรม ที่แผลงเป็น พิธีกรรม มันก็คือการกระทำที่เป็น วิธีการ หรือเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ผลหรือจุดหมายที่ต้องการ ทีนี้ จะมีจุดหมายอะไรก็อีกเรื่องหนึ่ง
ทีนี้ จุดหมายที่เป็นมาในศาสนาต่างๆแต่เดิม มันมักจะเป็นจุดหมายที่เป็นเรื่องของผลในเชิงอำนาจดลบันดาล ใช่ไหม เพราะฉะนั้น มันก็เลยไปสนองจุดหมายนั้น เมื่อไปสนองจุดหมายในเรื่องของอำนาจดลบันดาล ก็ต้องมีความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้น ความหมายของพิธีกรรม มันก็เป็นเรื่องของความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์
ต่อมา เรื่องความหมายทางขลัง ทางศักดิ์สิทธิ์มันชักจะเลือนไป เช่น อย่างในยุคที่คนนี่มานิยมวิทยาศาสตร์มาก ในยุคหนึ่งที่ผ่านมานี้ คนจะดูถูกเรื่องของลัทธิ เรื่องขลังศักดิ์สิทธิ์ เรื่องศาสนาทั่วๆไป หันไปเรียกว่า คลั่งวิทยาศาสตร์ ใช่ไหม ยุคนั้นก็ไม่เห็นความสำคัญของเรื่อง พิธีกรรม พิธีกรรมที่ติดเหลือมาก็จะเป็นเรื่อง สักว่าทำ จนกระทั่งกลายเป็นว่า คนนี้มองพิธีกรรมว่าเป็น สักว่าทำ ทำไป ใช่ไหม เพราะมันติดกันมาแต่เดิม ความหมายที่ ขลังศักดิ์สิทธิ์ ก็ไม่มีแล้ว ก็เลยไปตรงข้าม
ความหมายหนึ่งก็เป็นเรื่อง ขลังศักดิ์สิทธิ์ อีกความหมายหนึ่ง เมื่อเลือนรางไป ก็เลยไม่มีสาระอะไร ทำพอเป็นพิธี คือว่าเรื่องพิธีกรรมนี่ สักแต่ว่าทำไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เวลาทำอะไรต่ออะไร ถ้าทำไม่เอาจริงเอาจัง เราก็เรียกกันว่า ทำพอเป็นพิธี กลายเป็นว่า คำว่า เป็นพิธี นี่ไม่ดีเสียอีก ทั้งๆที่เดิม ตรงข้าม เพราะว่า เรื่องขลังศักดิ์สิทธิ์ คือเอาจริงเอาจัง ใช่ไหม มันตรงกันข้ามเลย เราไม่หนักแน่น เวลาเข้าพิธีนี่ ต้องเตรียมใจ เอาจริงเอาจัง กลัวเลย ถ้าทำผิดพิธีนี่ กลัวว่าเดี๋ยวเทพเจ้าจะมาหักคอ หรือจะเกิดเคราะห์ร้ายอะไรต่างๆ ไม่ได้เลยต้องตั้งใจทำให้ดี
นี่ มันสุดโต่งสองอย่าง นี้ว่าความหมายสุดโต่ง ๒ อย่างนี้ น่าจะไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงของพุทธศาสนา พุทธศาสนานั้น หลักการก็บอกแล้วว่า เราไม่ได้มุ่งในแง่ของอำนาจดลบันดาลของสิ่งเร้นลับภายนอก หรือหวังพึ่งอำนาจภายนอก มาดลบันดาลช่วยเหลือ หลักการพุทธศาสนาไม่ใช่อย่างนั้น
นี้ในพุทธศาสนาจะมีพิธีกรรมรึเปล่า ก็เกิดเป็นคำถามขึ้นมา แล้วถ้าปรากฏว่า มีนักปราชญ์หลายท่าน เช่นอย่างนักปราชญ์ฝรั่งนี้ เขาไม่เกี่ยวข้อง เขาไม่เคยเห็นวัฒนธรรมไทยในหมู่ชาวพุทธ เขามาศึกษาพุทธศาสนาโดยตรงจากคำสอนในคัมภีร์ หลายคนบอกว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่มีพิธีกรรม เอาไปโน่นเลย และก็ บางคนก็เลยไปถึงบอกว่า พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนา คือ ไม่ใช่ศาสนาในความหมายของประเทศเขา ในความหมายของอารยธรรมของเขา คือในความหมายของตะวันตก เพราะตะวันตกเขาจะมองศาสนาในความหมายที่เค้าใช้ศัพท์ว่า Religion
Religion ก็จะมีความหมายของเขา ซึ่งเขาเอง เขาก็จำกัดความยากเต็มที จนกระทั่งปัจจุบันนี้ยังหาลงกันไม่ได้ แต่ว่ามันมีอันหนึ่งที่เขาบอกว่า เป็น Religion นี่มันจะต้องมีความผูกพันกับสิ่งเร้นลับ เหนือธรรมชาติ เขาเรียกว่า Supernatural ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถจะเข้าใจได้ อยู่นอกเหนือความสามารถของตน ต้องไปผูกพันกับอันนั้น
ทีนี้ พุทธศาสนา ไม่มีความผูกพันอันนี้ เพราะฉะนั้น ไม่เป็นศาสนา ในความหมายของเขานะ ไม่ใช่ความหมายของเรา ในความหมายของเขา ในความหมายของคำว่า Religion และเรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ ถกเถียงกันมาก แล้วเราก็กลับมาสู่เรื่อง พิธีกรรม
หันกลับไปดูศาสนาโบราณในเรื่องพิธีกรรมต่างๆ มันก็มีพิธีกรรมเป็นเรื่องสำคัญ พิธีกรรมนี่ อย่างที่บอกเมื่อกี้ ความหมายอย่างหนึ่งที่สำคัญ หรือจะเป็นความหมายหลักก็คือเรื่อง การที่ทำให้เกิดความรู้สึกขลังและศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง
ยกตัวอย่าง เรื่องพิธีกรรม เช่นอย่างพระพุทธเจ้า วันหนึ่ง เมื่อพระองค์ประทับอยู่ในเมือง ราชคฤห์ ตอนเช้าตรู่ ก็เสด็จออกมานอกเมือง ก็พบได้ทรงทอดพระเนตรเห็นมานพ คือหนุ่มน้อย วรรณะพราหมณ์ คนวรรณะพราหมณ์ที่เป็นคนหนุ่ม เขาเรียกว่า มานพ
มานพผู้นี้ ซึ่งเป็นคนวรรณะสูง และเป็นพราหมณ์นี้ ก็ออกมาจากเมือง
ราชคฤห์ แล้วก็อาบน้ำ ลงน้ำมาจนเปียกทั้งตัว ทั้งเสื้อ ทั้งผ้า ทั้งผม เปียกอยู่อย่างนั้น และมายืนไหว้ทิศ เริ่มด้วยไหว้ทิศตะวันออก ก็คือทิศพระอาทิตย์ขึ้นก่อน และก็ไปทิศ เขาเรียกว่า ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องซ้าย และก็ทิศเบื้องหลัง ก็คือ ทิศตะวันออก และก็ทิศใต้ และก็ทิศเหนือ และก็ทิศตะวันตก และก็ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง หกทิศ
พระพุทธเจ้าก็เข้าไปตรัสถาม ว่านี่เธอทำอะไร
เขาก็บอกว่า ไหว้ทิศ
ละทำไมเธอทำล่ะ
บอกว่า บิดาของข้าพเจ้า เมื่อตอนที่อยู่บนเตียงที่จะตาย
คือหมายความว่า เมื่อนอนใกล้จะสิ้นใจ ได้สั่งข้าพเจ้าไว้ คือ ฝากฝังสั่งเสีย ว่าถ้าเคารพพ่อ เมื่อพ่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ให้ไหว้ทิศทั้งหก เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าต้องการปฏิบัติตามคำสอนของท่านด้วยความรักเคารพบิดา ก็ต้องทำตามนั้น หมายความว่า ถึงไม่เข้าใจก็ต้องทำ เพราะเคารพบิดา ก็มาไหว้ทิศ นี่เห็นไหม พิธีกรรม
พิธีกรรมก็เลยเป็นเรื่องที่ว่า มันเป็นความหมายที่สื่อไปถึงอะไรอย่างหนึ่งที่เร้นลับ ซึ่งเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์อะไรต่างๆ แต่ว่า เราไม่เห็นความหมายชัดเจนในตัวมัน ที่เกี่ยวกับประโยชน์ใช้สอย หรือเรื่องของเหตุผลในชีวิตประจำวัน มองไม่เห็นใช่ไหม เพราะทำไมต้องไปไหว้ทิศตะวันออก ทิศเหนือ ไปอาบน้ำมาเปียกทั้งตัว และก็มายืนไหว้ทางโน้นที ทางนี้ที ถ้าคนต่างวัฒนธรรมมามอง ก็เป็นเรื่องแปลก อาจจะเป็นเรื่องขำไปเลยก็ได้ แต่ว่า คนพวกอื่นจะเห็นว่าไม่มีความหมาย แต่พวกที่ทำนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญ ใช่ไหม
ทีนี้ ความหมายนี้ขั้นที่หนึ่ง ก็คือ ความศักดิ์สิทธิ์ ความขลัง อันนี้เป็นตัวยึดไว้
แต่ความศักดิ์สิทธิ์ ความขลังนี้ เขาไม่เห็นความหมายที่แท้จริงในเชิง
ที่เป็นชีวิตประจำวัน หรือเหตุผลที่จะเข้าใจได้ อันนี้ อาจจะเป็นได้ว่า อาจจะมีเหตุผลที่แฝงอยู่เบื้องหลัง แต่เหตุผลเหล่านั้น เป็นเหตุผลที่ซ่อนเร้น ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลด้วยความปรารถนาดีต่อผู้กระทำ แต่ว่า มันยากที่จะสื่อสารในระยะยาว เพื่อจะให้ข้อปฏิบัติที่เป็นพิธีกรรมนี้ สืบต่อไปได้นานๆ ก็กำหนดให้ทำกันไป แล้วเอาความศักดิ์สิทธิ์นี้มาเป็นจุดกำหนด มาเป็นอำนาจ มาเป็นตัวที่ทำให้ผูกมัดจิตใจ คนต้องทำเพราะกลัว เป็นต้น ถ้าไม่ทำแล้วเกิดผลร้าย เกิดเคราะห์ ถ้าทำแล้วได้ผลดี มีโชคลาภ นี่ก็มาสนองกิเลสของคน เอากิเลสของคนมาช่วยผูกมัด ถ้าขืนไปอธิบายกันอยู่ พิธีกรรม ข้อปฏิบัติมันเยอะแยะไปหมด อธิบายกันไม่หวาดไม่ไหว ละคนไม่เอาใจใส่ ก็เอากันในเรื่องอำนาจเร้นลับ แกทำไปก็แล้วกัน แล้วแกก็ได้โชค ได้ลาภ ไม่มีเคราะห์อะไร ถ้าแกไม่ทำแกก็จะเกิดเคราะห์ร้าย คนก็ตั้งใจทำ ทั้งๆที่ไม่รู้เรื่อง
ศาสนาต่างๆก็เลยมาในลักษณะนี้ ที่เขาเรียกว่า เกิด Dogma ข้อปฏิบัติความเชื่อที่ตายตัว การที่ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งตายตัว ก็ศาสนาพวกศรัทธา ก็จะอยู่ด้วยลักษณะนี้ และพิธีกรรมก็จะอยู่ในลักษณะนี้ด้วย
มาในพุทธศาสนานี่ เราไม่มีข้อกำหนดตายตัวแบบนั้น ก็เลยฝรั่งเขาเรียกว่า พุทธศาสนานี่ เป็นศาสนาที่ไม่มี Dogma แต่เมื่อไม่มี Dogma ให้ปัญญาเป็นตัวกำหนด พุทธศาสนานี้มุ่งที่ปัญญา ทีนี้ ถ้าคนไม่ศึกษา ไม่ใช้ปัญญา ก็รักษาศาสนาไม่อยู่
ส่วนศาสนาที่ใช้ศรัทธาเข้าว่า มีข้อกำหนดตายตัว ไม่ต้องถาม ทำไปก็แล้วกัน เชื่อไปก็แล้วกัน อย่างนี้กลับอยู่ได้ดี อยู่ได้ง่ายเลย ลูกเกิดมา พ่อแม่ก็บอกว่า ทำอย่างนี้ก็แล้วกัน ไปวัด ทำอย่างนี้ก็แล้วกัน ก็ไม่ต้องถามกัน มันก็อยู่ได้ ข้อปฏิบัตินั้น เชื่ออย่างนี้ก็แล้วกัน ก็อยู่ไปเรื่อย
ทีนี้ พุทธศาสนานั้น ต้องอาศัยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ต่อไปก็เพี้ยนหมด เพราะฉะนั้น พุทธศาสนานี้ จะอยู่ได้ ต้องมีการศึกษาตลอดเวลา ไม่เหมือนศาสนาทั่วไป ที่เขาอยู่ด้วยศรัทธา ที่เอาข้อกำหนดทางความเชื่อ และการปฏิบัติมาบังคับตายตัว อันนั้นอยู่ได้เลย
นี่เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่ง จะว่าเป็น ข้อดี หรือ ข้อเสีย ของพุทธศาสนาก็แล้วแต่ ทำให้พุทธศาสนานี้ รักษาได้ยาก
ทีนี้ ก็ย้อนกลับมาเรื่อง พิธีกรรมอีก
พูดออกไปเลยคอยจะนอกไปเรื่อย
ทีนี้ก็ มาเรื่องพิธีกรรม นี่ก็ ศาสนาต่างๆก็จะใช้กำหนดเป็นข้อปฏิบัติ เช่น พราหมณ์จะบอกว่า นี่นะ เอ้า บูชาไฟ ไฟมีกี่ชนิดที่จะต้องจุดบูชา เขาก็จะกำหนดไว้ เช่น ไฟบางชนิดนี่จะต้องบูชาตลอด อย่าให้ดับเชียวนะ รักษาไว้ชั่วลูกชั่วหลาน จากพ่อแม่ก็ส่งต่อให้ลูก ลูกก็คอยดูแลไฟนี้ ไม่ให้ดับ อันนี้ก็เป็นไฟชนิดหนึ่ง
หรือพิธีบูชายัญ ก็จะมีข้อกำหนด เช่น เอาสัตว์ชนิดนี้ แพะ แกะ แพะ๕๐๐ วัว๕๐๐ แกะ๕๐๐ อะไรอย่างนี้ และพิธีกรรมจะทำ ตัวคนที่จะมาทำนั้น เช่น สามีกับภรรยา สามีต้องแต่งตัวอย่างนั้น ภรรยาต้องแต่งตัวอย่างนั้น ต้องมาอยู่ในที่ที่กำหนดไว้ และก็นอนอย่างนั้น เป็นเวลาเท่านั้น อะไรต่างๆเหล่านี้
ข้อกำหนดเหล่านี้ ก็เป็นพิธีกรรม ซึ่งเรามองไม่เห็นเหตุผลชัดเจนออกมา หรืออย่างที่ว่า ไปไหว้ทิศ ก็เหมือนกัน
เราก็ไม่เห็นเหตุผลอะไรออกมา
เหตุผลอย่างหนึ่งที่บอกว่า ที่พูดเมื่อกี้ ว่าอาจจะเป็นความปรารถนาดีของผู้ที่ริเริ่มมา แต่ว่า ไม่ต้องมามัวเสียเวลาอธิบาย ให้เขาได้ประโยชน์นั้นไปเลย โดยการปฏิบัติ ทำ ไม่ต้องเข้าใจเหตุผล โบราณ ก็เป็นอันว่าเป็นข้อปฏิบัติที่สืบๆกันมา ไม่ต้องถามเหตุผล เรามองดู เราก็ไม่เห็นเหตุผลในเชิงปฏิบัติ ในชีวิตประจำวัน หรือที่ผู้คนจะเข้าใจได้ เพราะเป็นเหตุผลพิเศษที่เร้นลับ อย่างที่ว่า
ทีนี้ อาจจะเกิดจากความปรารถนาดีของผู้ที่วางขึ้นมาก็ได้ เช่น อย่างไหว้พระอาทิตย์ อาจจะมีเหตุผลต่างๆแต่ว่า อย่างง่ายๆ ก็อาจจะทำให้ต้องตื่นแต่เช้า อย่างนี้เป็นต้น ทันพระอาทิตย์ขึ้นนั่นเอง อย่างนี้เป็นต้น ก็ไม่ต้องมาบอกกันเสียเวลา คุณปฏิบัติไปก็แล้วกัน มาไหว้ทิศนี่ เพื่อจะไหว้ทิศให้ทัน มันก็ต้องไหว้พระอาทิตย์ขึ้น ไม่ใช่หมายถึงไหว้ตอนเที่ยง ทันพระอาทิตย์ขึ้นละก็ไหว้ เพราะฉะนั้น ต้องรีบตื่นแต่เช้า อย่างนี้เป็นต้น หรืออาจจะเป็นเหตุผลที่เป็นความปรารถนาร้ายของผู้ที่วางก็ได้ เช่น เห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเอง พราหมณ์อาจจะวางข้อกำหนดเพื่อจะได้ลาภมากๆ ใช่ไหม ทำให้มีซับซ้อนอะไรขึ้นมาก็ได้ ก็ว่ากันไปแล้วก็ไม่ปลอดภัย ถ้ามนุษย์จะพัฒนากันจริงๆ ก็ต้องรู้เหตุรู้ผล เหตุผลที่แท้จริง แต่คนจะต้องไม่ขี้เกียจ ไม่คร้านเกินไป ต้องใช้ปัญญาพิจารณาและตั้งใจศึกษา
อย่างเรื่องของมานพ ที่มาไหว้ทิศ พระไตรปิฎกก็เล่าไว้แค่นั้น อรรถกถา หรือในคัมภีร์ ในพระไตรปิฎกก็เล่าเพิ่มเติม บอกว่า ความจริงนั้น บิดาของมานพคนนี้ซึ่งเป็นพราหมณ์ เป็นพุทธศาสนิกชน เป็นโสดาบันด้วยซ้ำ ทีนี้ ตอนที่แกอยู่ แกก็เอาใจใส่ อยากจะให้ลูกได้รู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ชักนำอย่างไร ลูกคนนี้ก็ดื้อ ไม่เอาใจใส่ บอกว่าไปวัดกันบ้างสิ เขาก็ไม่ยอมไป บอกว่าไปแล้วต้องไปไหว้พระ ไปนั่งหลังขดหลังแข็ง เมื่อย เดี๋ยวไปรู้จักกับพระเข้าอีก คุ้นเคยกันขึ้นมา เดี๋ยวจะต้องนิมนต์ไปบ้าน จะต้องถวายอาหาร สิ้นเปลือง ยุ่ง เลยไม่ยอมไปวัดสักที ไม่เข้าใกล้ชิดพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ ทีนี้ พราหมณ์ก็อยู่มาแก่ จะถึงแก่กรรม ว่าจะทำอย่างไร เราจะได้ช่วยให้ลูกของเราได้รู้จักธรรมะ ได้รู้จักพระสงฆ์ ไปวัด ก็เลยทำเป็นอุบาย สั่งลูกให้ไปใช้พิธีไหว้ทิศ ละเสร็จแล้ว เดี๋ยวจะต้องเจอกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะต้องตรัสถาม แล้วก็จะเป็นอุบายที่จะนำลูกนี่เข้ามาสู่พุทธศาสนาได้
นี่อรรถกถาเล่านะ จะจริงไม่จริงก็แล้วแต่พระอรรถกถาจารย์???ท่านว่าอย่างนั้น
แต่อย่างไรก็ตาม เป็นอันว่าตัวเรื่องการไหว้ทิศเองนี่ เราจะเห็นว่ามันไม่มีเหตุผลชัดเจนในตัว เมื่อพระพุทธเจ้าได้พบกับมานพนี้แล้ว พระองค์ก็เลยตรัสว่า การไหว้ทิศอย่างนี้ ไม่ใช่การไหว้ทิศในอริยะวินัย ในอริยะวินัย วินัย ก็คือ แบบแผน อริยะ ของอารยะชน มานพก็เลย เอ๊ะ มีด้วยรึ การไหว้ทิศแบบแผนของอารยะชน อย่างข้าพเจ้าไม่ได้ไหว้ทิศแบบอารยะชนแล้ว แล้วอย่างไรที่เขาเรียกว่าเป็นการไหว้ทิศในแบบแผนของอารยะชน
พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสแสดงว่า ทิศต่างๆนี้ก็คือ ผู้คนที่อยู่ในสถานะต่างๆกันที่เราต้องมีความสัมพันธ์ เมื่อเราดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม เราจะต้องมีความสัมพันธ์กับคนที่อยู่ในสถานะแห่งความสัมพันธ์ต่างๆกัน ซึ่งจัดแยกได้เป็น ๖ ประเภท และปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลเหล่านั้นให้ถูกต้อง นั้นเรียกว่า การไหว้ทิศ พระองค์ก็ตรัสอย่างนี้ และพระองค์ก็ตรัสถึงทิฐิหนึ่ง ทิศตะวันออก ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดามารดา จะต้องปฏิบัติต่อกันระหว่างบิดามารดากับบุตร อย่างนั้น เมื่อทำอย่างนี้ ก็เรียกว่าไหว้ทิศ ไปเรื่อยๆ จัดหกทิศ อันนี้จะไม่มาพูดในที่นี้ เพราะต้องการอธิบายเรื่อง พิธีกรรม
ก็เกิดมีความหมายขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็ให้ความหมายใหม่แก่เรื่องทิศหก และการไหว้ทิศ ก็เป็นเรื่องเป็นเหตุเป็นผล เป็นการใช้ประโยชน์ในเรื่องของชีวิตและสังคมมนุษย์ แต่ว่า พิธีกรรมในความหมายเดิม ซึ่งเป็นเรื่องของความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์เป็นสำคัญ เหตุผลเร้นลับ มองไม่เห็น อาจจะเป็นเหตุผลที่เป็นประโยชน์อยู่เบื้องหลังก็มี หรือเหตุผลนั้นไม่จริงไม่จัง หรืออาจจะเป็นเหตุผลพ้นสมัยไปแล้วก็ได้ อาจจะตอนบัญญัตินั้น มีเหตุผลที่เป็นประโยชน์แท้จริงอยู่เบื้องหลัง แต่ว่า เพราะว่าไม่รู้อะไร ทำตามสืบๆกันมา เหตุผลนั้นอาจจะสำหรับชีวิตในยุคก่อนซึ่งสมัยนี้ไม่เกี่ยวแล้วก็ได้ ก็กลายเป็นว่า ถือปฏิบัติกันไปตามความเชื่อ อาจจะเป็นความหลง ความงมงาย ก็ได้
ในยุคเดิมนั้น ที่นักปราชญ์เขาบอกเขาศึกษาแล้ว พุทธศาสนาไม่มีพิธีกรรม ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้านี่จะทรงปฏิบัติในเรื่องประโยชน์ที่เห็นกันจริงจัง เป็นเหตุเป็นผลกันไปเลย เพราะฉะนั้น มาเทียบกับยุคนี้แล้ว จะเห็นว่า ในสมัยพุทธกาลไม่มีพิธีกรรมอย่างยุคนี้ อย่างพระฉันข้าวก็จะมีพิธี อย่างการรับศีล พิธีทำบุญ เริ่มจากมีจุดธูป จุดเทียน บูชาพระรัตนตรัย มีการไหว้ การกราบ วางเป็นแบบเป็นแผน มีการอาราธนาศีล รับศีลที่เรียกว่า สมาทานศีล ละก็มีเจริญพระพุทธมนต์ อะไรต่างๆเหล่านี้
นิมนต์พระไปฉันกว่าจะฉันนี่ว่ากันตั้งครึ่งค่อนชั่วโมง และฉันเสร็จแล้วก็มีการสวดอนุโมทนา สวดอนุโมทนาเสร็จก็กลับ บางทีแทบไม่ได้พูดได้จากันเลยกับเจ้าภาพ ก็เป็นเรื่องของสิ่งที่เรียกว่าพิธีกรรมไปหมด
และความหมายก็ไปอยู่ที่สองอย่าง หนึ่ง เรื่องของความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องไปถึงอำนาจเร้นลับอะไรบางอย่างที่จะบันดาลผลสำเร็จให้ปัดเป่าภัยอันตราย เคราะห์กรรม และก็ให้โชคลาภเป็นต้น
หรือไม่ก็มองเป็นเรื่องของ สักแต่ว่าทำเป็นพิธีไป มองเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทีนี้ ความหมายที่แท้จริงอยู่ที่ไหน เราหันกลับไปดู ว่าพระพุทธเจ้า เมื่อมีผู้นิมนต์ไปบ้าน ก็จะไม่มีพิธีกรรมเหล่านี้ เสร็จแล้วเราจะเห็นได้ในพระไตรปิฎก จะเล่าไว้ เมื่อพระพุทธเจ้าฉันเสร็จ อย่างที่เขานิมนต์ไปฉัน ทรงได้ไปเสวยที่บ้านของเขาแล้ว พระองค์เสวยเสร็จ พระองค์ก็จะตรัสธรรมกถา ก็จะมีลงท้ายบอกว่า พระผู้มีพระภาคได้ยังบุคคลนั้นให้เห็นแจ่มแจ้ง ???สัน-ทะ-เสด-ตะ-วา ให้มีจิตน้อมรับคำสอนของพระองค์ ???สมาธเปตวา สะ-มา-ทะ-เปด-ตะ-วา แล้วก็ ???สมมุติเตชนา สมมุติเตเชตวา ทำให้เขามีจิตใจแกล้วกล้า เกิดกำลังใจ คึกคักที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ แล้วก็ ???สัมปหังเสตวา ทำให้ร่าเริงยินดี จิตใจเบิกบาน สดชื่น ???ธรรมิยากถายะ ด้วยกถาถ้อยคำที่ประกอบด้วยธรรมะ
เวลาพระพุทธเจ้าฉันเสร็จก็จะมีอันนี้ลงท้าย แล้วจึงจะเสด็จกลับ นี่คือจุดท้าย จุดท้ายก็ลงด้วย ???ธรรมยากถายะ สันถเสตวา สมาธเปตวา สมมตเตเชตวา สัมปหังเสตวา??? และก็เสด็จกลับ
จะเห็นว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติเป็นเรื่องเนื้อหาสาระ ก็คือ จบแล้วก็คงทรงแสดงธรรม สอนเขา และให้เขาเกิดความเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง มีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติ จิตใจร่าเริงเบิกบาน แล้วก็เสด็จกลับ
ละทีนี้เรามาดูว่าพระสมัยปัจจุบันนี้ไปประกอบพิธี ไปสวดมนต์เสร็จ กลับ ละเราดูว่า สองอย่างนี่ อันไหนมีคุณค่าในเชิงประโยชน์ คุณค่าในเชิงจิตใจ อะไรต่างๆ ต่างกันอย่างไร หรือว่ามันสื่อถึงกันอย่างไร
อันนี้คือสิ่งที่อยากจะพูดต่อไป
ตอนนี้ก็มาเริ่มใหม่ ให้เห็นว่า พิธีกรรมก็เข้ามาสู่พุทธศาสนาในปัจจุบัน ถ้าพูดว่า ในยุคพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่เห็นทรงมีพิธีกรรมอะไร ก็ทรงเอาเรื่องที่ต้องปฏิบัติกันจริงๆให้เห็นประโยชน์ชัดเจนไปเลย
มาในปัจจุบันนี้ พุทธศาสนาก็ชักจะไปคล้ายๆศาสนาทั่วๆไป ที่มีพิธีกรรม เป็นเรื่องเกี่ยวกับความหมายทางขลังศักดิ์สิทธิ์อย่างที่ว่า ทำให้คนไปนึกถึงอำนาจเร้นลับ อะไร จะมาคอยบันดาลผลให้เขาตามที่ต้องการ ทั้งในเชิงปัดเป่าภัยอันตราย ทั้งในเชิงที่บันดาลผลสำเร็จ
พิธีกรรมเหล่านี้เข้ามาสู่พุทธศาสนา อย่างเราจะทำอะไร จะมีการที่งานมงคล ก็ให้พระเจริญพุทธมนต์ มีการทำน้ำมนต์ มีสายสิญจน์ และบางทียังต้องมีกำหนดอีกว่า จะต้องเอาใบเงินใบทองใบนากมาใส่ด้วย ถ้าคนที่จะเคร่งครัดพิธี ก็อาจจะมีเรื่องรายละเอียดหยุมหยิมอีกเยอะเลย แล้วก็อย่างวางศิลาฤกษ์ พระเดี๋ยวนี้ก็เข้าไปเกี่ยวข้อง ที่จริงเป็นพิธีพราหมณ์ ก็จะมีเรียกว่า แผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นนาก อะไรอย่างนี้ แล้วก็มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องไม้อะไรต่างๆ ไม้ชนิดไหนที่จะเอามาใช้ มาตอก คล้ายๆเป็นเสาหรือเป็นหลัก อะไรอย่างนี้ ละมีก้อนอิฐอะไรพวกนี้ อิฐทอง อิฐเงิน อิฐนาก อะไรอย่างนี้ อย่างนี้เป็นต้น
เรื่องพิธีกรรมเราจะเห็นว่ามีข้อกำหนด ซึ่งเรามองไม่เห็นเหตุผลชัดเจน นี้เรามาดูว่า ตอนนี้พิธีกรรมก็เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในพุทธศาสนา พิธีกรรมมีความหมายอย่างไร ความหมายอะไรควรเป็นความหมายที่แท้จริงที่ต้องการในพุทธศาสนา
นี่ผมขอฝากไว้ เป็นเรื่องที่เราจะต้องพูดกันต่อไป
ตอนนี้ก็พูดเกริ่นนำไว้ให้ และก็ความหมายที่เข้ามาในแบบของศาสนาโบราณ กับความหมายที่แท้จริงที่ต้องการในพุทธศาสนา จะมาโยงกันได้ ประสานเข้าด้วยกันอย่างไร
จุดที่ต้องการก็คงเป็นความหมายที่แท้ที่เป็นของพุทธศาสนา ถ้าเราไม่สามารถโยงถึงอันนี้ได้ พุทธศาสนาก็จะต้องคลาดเคลื่อน จะต้องเพี้ยนออกไป เพราะว่าไม่สามารถรักษา สาระ ไว้ได้
ตอนนี้ก็เป็นที่น่าเป็นห่วงพอสมควรว่า การกระทำพิธีกรรมนั้น ก็เป็นการกระทำแบบความหมายศาสนาโบราณไปเสียมาก ก็เลยได้สองอย่างที่ว่า คือ หนึ่งได้ความหมายเชิงขลัง ศักดิ์สิทธิ์ หรือมิฉะนั้นก็เป็น เรื่องของการทำสืบๆกันมา พอให้เป็นธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม เป็นเรื่องของวัฒนธรรม สักแต่ว่าทำ ไม่ได้มีความหมายเหตุผลอะไรพิเศษ
เรามาดูว่า สาระที่ต้องการ คืออะไร ก็วันนี้ก็คิดว่า เอาไว้แค่นี้ก่อน