แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
อยากเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ก็คือ เรื่องของหลักชาวพุทธว่า ถ้าพวกกระผมลาสิกขาไปแล้ว กลับไปเป็นคฤหัสถ์ จะเอาหลักชาวพุทธไปปฏิบัติอย่างไร ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร แล้วควรจะเริ่มอย่างไร รบกวนพระเดชพระคุณช่วยขยายความ แล้วก็ช่วยให้คำแนะนำในการปฏิบัติให้ได้จริง รบกวนด้วยครับ
อันที่จริงที่เลือกมาอย่างนี้ก็เห็นว่าปฏิบัติได้แล้ว เห็นว่าเหมาะกับยุคสมัยแล้ว หลักนี้แหละจะดี จะได้เริ่มต้นกันซักที ไม่งั้นชาวพุทธก็จะเคว้งคว้างกันอยู่อย่างนี้
นี้ก็จะเป็นว่ามี ๒ ส่วน มีหลักการ และปฏิบัติการ หลักการนั้นถ้าว่าตามศัพท์พระศาสนาก็คล้าย ๆ ว่าเป็นหลักแห่งศรัทธานั่นเอง แต่เราพูดว่าหลักการ คือในพระศาสนาก็ตามปกติ จุดที่จะรวมใจคนได้ขั้นแรกก็คือศรัทธา ศรัทธาในพุทธศาสนาก็ต้องเป็นความมั่นใจด้วยปัญญา ที่เรียกว่า มูลิกาปัญญา ปัญญาที่มีเค้ามูล ปัญญาเป็นที่ตั้งด้วย หลักศรัทธามีอะไรบ้าง ? ตามประเพณีสืบมาในเมืองไทยเรา ท่านเคยได้ยินไหมว่า คนไทยเราเนี่ยบอกว่า ศรัทธามี ๔ คนไทยเราจำกันมา พระไทยก็จำกันมา ๑. กัมมสัทธา ๒. วิปากสัทธา ๓. กัมมสกตาสัทธา ๔. ตถาคตโพธิสัทธา เคยได้ยินไหม ศรัทธา ๔ นี่ว่ากันมานาน และก็อธิบายกันไป ที่จริงมันก็คาบเกี่ยวกันอยู่เนี่ยแหละ ที่จริงแล้วเป็นศรัทธาที่ชาวพุทธไทยคิดกันขึ้นมา ไม่รู้เกิดเมื่อไร ในคัมภีร์ไม่มี ในพระไตรปิฎกแน่นอนไม่ต้องพูดถึง ชั้นอรรถกถา ฎีกา เขาก็ไม่จัดเป็น ๔ อย่างนี้ ไม่รู้คนไทยนึกยังไงจัดเป็น ๔
ที่นี้ในขั้นอรรถกถานี่ท่านใช้แค่ ๒ คือ ๑. กัมมผลสัทธา ๒. รัตตนัตตยัตสัทธา
กัมมผลสัทธา ก็แปลว่า เชื่อกรรมและผลแห่งกรรม และ ๒. รัตตนัตตยัตสัทธา ศรัทธาในพระรัตนตรัย ก็จบนี่ชุดหนึ่ง อันนี่ชุดหนึ่ง มีอีกชุดหนึ่งก็คล้าย ๆ กัน กัมมผลสัทธา กับ อีกอันนึงเปลี่ยนชื่อแทนที่จะเรียก รัตตนัตตยัตสัทธา เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธา แต่ตถาคตโพธิสัทธา กับ รัตตนัตตยัตสัทธา ที่จริงอันเดียวกัน คือเวลาเราพูดถึงเรื่องพระรัตนตรัยเนี่ย ก็จะถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นแกนเป็นหลัก ที่นี้ในความเป็นพระพุทธเจ้านั้น จุดสำคัญคือโพธิของพระองค์ แทนที่จะเอาพระพุทธเจ้า พระพุทธคุณ ก็ไปเอาที่โพธิเลย การตรัสรู้ เพราะฉะนั้นก็ในพระไตรปิฎกจะเห็นว่า เวลาพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องศรัทธา ก็จะตรัสแบบตถาคตโพธิสัทธาแบบหนึ่ง ไม่งั้นก็ตรัสเป็น ๓ เป็นพุทธคุณ ธัมมคุณ สังฆคุณ มีทั้งสองแบบ อรรถกถาก็เอาตามนั้น ก็คือ เอาตถาคตโพธิสัทธา หรือ รัตตนัตตยัตสัทธา นี่เป็นหลักอันนึง และอีกอันนึงที่ถือว่าสำคัญก็คือเรื่องกรรม ท่านจึงใช้ว่า กัมมผลสัทธา เชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ก็ถือว่าครอบคลุมหมดแล้ว นี้ที่เมืองไทยเรามาแยก กัมมสัทธา วิปากสัทธา ก็เท่ากับกัมมข้อนึง ผล วิปาก ก็คือ ผล ผลกรรมข้อนึง กัมมสกตาสัทธา ก็เอาว่ามีกรรมมีผลกรรมนั่นให้เชื่อว่าเป็นของ ๆ ตน เป็นสมบัติ เรามีกรรมเป็นของตน ที่จริงก็อยู่ในหลักเดียวกัน เพราะฉะนั้นของอรรถกถาท่านใช้ข้อเดียว กัมมผลสัทธา จบ ไม่ต้องไปแยกสาม และก็ง่ายดี ตกลงใช้สองข้อคุมของเรา ๔ ข้อเลย เอาละแปลว่ารุ่นอรรถกถามี ๒ ข้อ
แทรกไว้นิดนึง ผมเคยเล่าไว้ว่า ในรุ่นพระไตรปิฎก กัมมสกตาสัทธา ท่านไม่เรียกหรอก ท่านเรียก กัมมสกตาญาณ กัมมสกตาปัญญา คือ เรื่องกรรมในพระไตรปิฎกไม่ถือเป็นเรื่องศรัทธา เป็นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของความรู้ การเข้าถึงความจริง เป็นหลักเหตุปัจจัย ความเป็นเหตุเป็นผล ความเป็นจริงของธรรมชาติ ต้องรู้ เพราะฉะนั้นท่านจะไปเอาที่ปัญญา ที่นี้ต่อมาอรรถกถาก็มาพูดบ่อยขึ้น เอาคำว่า สัทธา เข้ามาใส่ กัมมสกตา ก็เป็น กัมมสกตาสัทธา ไป มีด้วย
กัมมสกตาปัญญา ก็มีนั่นแหละ แต่ว่าเหมือนกับว่า เอา กัมมสกตาสัทธา นี่มาช่วยให้มันง่ายขึ้น ตอนแรกยังไม่ค่อยมีปัญญารู้ ก็ให้มีศรัทธาไว้ก่อน แล้วค่อยก้าวไปสู่ กัมมสกตาปัญญา แต่ในพระไตรปิฎกท่านเอา กัมมสกตาปัญญา เลย
แต่ยังไงก็ตามเอาเป็นว่าตอนนี้ในอรรถกถาก็มีสัทธา ๒ กัมมผลสัทธา กับ รัตตนัตตยัตสัทธา หรือเรียง รัตตนัตตยัตสัทธา กัมมผลสัทธา หรือจะใช้ ตถาคตโพธิสัทธา แทน รัตตนัตตยัตสัทธา ก็แล้วแต่ เป็นว่า ๒ อัน
ที่นี้ก็มาดู เวลามาวางหลักการในหลักชาวพุทธนี้ ก็ต้องเริ่มที่หลักศรัทธานี้ จะเห็นว่า ๒ ข้อนี้แหละมากลายเป็น ๕ ข้อ ๕ ข้อนี้แหละดูให้ดีที่จริงก็แค่ ๒ ข้อ แต่เพื่อให้เหมาะแก่การปฏิบัติของคนไทย คือ
๑. ฝึกแล้วคือเลิศมนุษย์ ข้าพเจ้ามั่นใจว่า มนุษย์จะประเสริฐสุดแม้กระทั่งเป็น พุทธะ ได้ เพราะฝึกตนด้วยสิกขา คือ การศึกษา
๒. ใฝ่พุทธคุณเป็นสรณะ ข้าพเจ้าจะฝึกตนให้มีปัญญา มีความบริสุทธิ์ และมีเมตตา กรุณา ตามอย่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สองข้อแรกคือข้อพุทธะ ในพระรัตนตรัย ข้อพุทธะแยกสองเลย เพราะต้องการที่จะเอาให้ถึงแกนของความเป็นพุทธะ อย่างที่เล่าไว้ เวลาพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องพระพุทธเจ้า จะตรัสในเชิงตถาคตโพธิสัทธา กับตรัสในแง่ของพุทธคุณ ที่นี้ข้อ ๑ นี้ก็คือตรัสในแบบตถาคตโพธิสัทธา ข้อที่ ๒ ก็ไปเน้นทางพุทธคุณ ถ้าพูดในแง่หนึ่งก็คือ ข้อแรกเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าในเชิงเหตุ ข้อสองนี่เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าในแง่ผล เหตุก็คือ การที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ก็ด้วยบำเพ็ญบารมี ด้วยการฝึกฝนพัฒนาตน ด้วยการที่ทำให้เกิดตถาคตโพธิ เชื่อในโพธิของพระตถาคต คือมนุษย์นี่ฝึกแล้ว พัฒนาปัญญาจนเป็นโพธิแล้ว ก็เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นข้อหนึ่งก็เน้นจุดนี้ การที่จะเป็นพุทธะได้ ก็เกิดจากการบำเพ็ญบารมี ก็คือการฝึกตน พัฒนาชีวิตขึ้นไป ก็คือการศึกษา จะใช้ศัพท์ไหนก็ได้ ธรรมะกับฝึกตน ภาวนากับการเจริญ พัฒนาขึ้นมา หรือ สิกขาก็คือการศึกษา ศัพท์เดียวกัน แทนกันได้ อันนี้ก็คือแกนของการเป็นพุทธะ พระพุทธเจ้าอยู่ที่แกนนี้ เราก็เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า จะต้องปฏิบัติตามหลักนี้ด้วย อันนี้ก็คือข้อแรก ข้อหนึ่ง
แล้วมาข้อที่สองก็ในเชิงผล ก็คือ เมื่อเป็นพระพุทธะแล้วก็มีคุณความดี คุณสมบัติที่เรียกว่าพุทธคุณอย่างนี้ ซึ่งเมืองไทยเรานิยม ๓ ก็เลยแยกออกไปเป็นมี ปัญญา วิสุทธิ์ กรุณา เมืองไทยเรานิยม ๓ เราก็เลยเรียกพุทธคุณ ๓ (ในนั้นมีก็จะมีบอกครบไหม ตอบ มี ปัญญา มีความบริสุทธิ์ มีความเมตตา กรุณา) ก็นี่เอาพุทธคุณมา เอาละนะครับเป็นอันว่าข้อหนึ่งข้อสองนี้เป็นข้อที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า คล้าย ๆ ว่า ข้อ ๑ เป็นในแง่เหตุ พระพุทธเจ้าในแง่เหตุ ความเป็นพระพุทธเจ้าในแง่เหตุ ข้อ ๒ ความเป็นพระพุทธเจ้าในแง่ผล จะพูดว่าข้อหนึ่งเป็นหลักการของการเป็นพระพุทธเจ้าก็ว่าได้ ข้อ ๒ ก็เป็นปฏิบัติการในการเป็นพระพุทธเจ้า เพราะมีพระคุณแล้วที่นี้ก็ปฏิบัติการ ออกใช้ปัญญาบนฐานของความบริสุทธิ์นี้ อาศัยพระมหากรุณาธิคุณ ก็ไปบำเพ็ญประโยชน์ไปโปรดสรรพสัตว์ นี่เป็นภาคปฏิบัติการ พระพุทธคุณข้อที่ ๒ ทำให้ออกไปสั่งสอนโปรดสัตว์ทั้งหลาย ข้อ ๑ ก็ทำให้พระองค์ตรัสรู้ เอาล่ะนะได้ความแล้ว นี่ข้อ ๑-๒ เป็นอันว่าเป็นเรื่องของความเป็นพระพุทธเจ้า ข้อ ๑ ของความเป็นพระรัตนตรัย
ที่นี้ข้อ ๓ ก็ชัดอยู่แล้ว
ข้อ ๓ ถือธรรมเป็นใหญ่ ข้าพเจ้าถือธรรม คือ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เป็นใหญ่เป็นเกณฑ์ตัดสิน
อันนี้ก็เป็นความหมายสำคัญของธรรมะในเชิงปฏิบัติการ เพราะว่าธรรมะเราอาจจะพูดได้ว่า ก็คือความจริงตามธรรมชาติที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน พระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็อยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบ นี้ก็เป็นวิธีพูดอย่างหนึ่ง แต่เราต้องการในเชิงปฏิบัติการเอามาใช้ ในเชิงนี้พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า “ธมฺโม หิ เสฏฺโฐ ชเน ตสฺมึ.” ซึ่งเป็นการย้ำว่า ในหมู่มนุษย์ ในหมู่มวลประชา ธรรมะสูงสุด ประเสริฐสุด ที่นี้หลักการพระพุทธศาสนา ซึ่งในเชิงปฏิบัติการแล้วก็ชัดว่า พอพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นก็เป็นการย้าย อันนี้เคยพูดมาบ่อยแล้ว ว่า พระพุทธศาสนาเกิดทำความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือว่า เดิมศาสนาพราหมณ์เขาถือเทพสูงสุด ตั้งแต่พระพรหมสร้างโลก เทพสูงสุด มนุษย์ก็ต้องไปกราบไหว้อ้อนวอนเทพเจ้า ไปบูชายัญฝากอนาคตชะตากรรมไว้กับเทวดาใช่ไหม ก็อยู่กับการบวงสรวงอ้อนวอนรอผลดลบันดาล ที่นี้พระพุทธเจ้ามาก็เปลี่ยนเลย เทวดาก็สัตว์ที่อยู่ในการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของมนุษย์ทั้งหลาย ให้อยู่กันด้วยความเมตตา ปราณี แต่ธรรมสิสูงสุด เทวดาอะไรต่ออะไรก็ต้องขึ้นต่อธรรมด้วย นี่เป็นการเปลี่ยนจุดยืนหรือหลักการใหญ่ พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นก็ให้ถือธรรมสูงสุด ธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสิน คราวนี้ไม่ใช่เทพเจ้าตัดสินแล้ว แต่ก่อนนี้ชะตากรรมจะเป็นยังไง จะได้ผลอะไรไม่ได้ผล อยู่ที่เทพเจ้าบันดาลตัดสินใช่ไหม ตอนนี้ไม่ให้รอเทพเจ้าตัดสิน เอาธรรมตัดสิน แม้แต่มนุษย์ทะเลาะกับเทวดาก็ได้ว่างั้น ก็เอาธรรมตัดสิน นี่ย้ายมานี่ก็เอาธรรมตัดสิน ถือตามที่พระพุทธตรัส ธมฺโม หิ เสฏฺโฐ ชเน ตสฺมึ. ธรรมะสูงสุด แล้วก็ให้ถือธรรมะเป็นใหญ่ เอาเป็นเกณฑ์เป็นมาตรฐาน แล้วพระพุทธเจ้าเองก็เคยตรัสว่า พระองค์นี้เคารพธรรม พระองค์ธรรมและเมื่อสงฆ์เติบใหญ่ขึ้น พระองค์ก็เคารพสงฆ์ด้วย แต่ที่นี้หลักใหญ่ก็คือต้องเคารพธรรมทุกคน สงฆ์ก็ต้องเคารพธรรมถือธรรมเป็นใหญ่ มนุษย์ทั้งหลาย สังคมต้องถือธรรมเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็มาเป็นหลัก ไปเป็นพระเจ้าจักพรรดิ์ก็ต้องเป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ถูกไหม เพราะฉะนั้นธรรมจะไปเป็นใหญ่ในเรื่องทุก ๆ อย่าง ในเรื่องการปกครอง ในเรื่องของการพระศาสนา ก็คือเรื่องของมนุษย์ ธรรมเป็นใหญ่ก็เอามาเป็นข้อที่ ๒ ถือธรรมเป็นใหญ่ มนุษย์จะต้องใช้หลักการนี้ ถ้าถือธรรมเป็นใหญ่แก้ปัญหาได้หมด เมืองไทยเวลานี้ไม่ยอมเอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาอะไรเป็นใหญ่เมืองไทย? อัตตาเป็นใหญ่นั่นอันนึง บางทีเอาเงินเป็นใหญ่ มีไหมครับ มีนะ เพราะฉะนั้นดีไหม? แทนที่จะเอาธรรมะก็เอาธนะ แทนที่จะเอาธรรมาธิปไตยก็เป็นธนาธิปไตย มีเงินเป็นใหญ่ไปใช่ไหม ก็เสียสิ ไม่งั้นก็เอาอัตตาเป็นใหญ่อัตตาธิปไตย ไม่งั้นก็โลกาธิปไตยใช่ไหม โลกาธิปไตยก็แล้วแต่เสียงข้างมากลากไป ก็ธรรมาธิปไตยก็เอาความถูกต้องความจริง ก็เอาความจริงความถูกต้องดีงามเท่าที่มนุษย์จะใช้ปัญญาพิจารณาให้เต็มที่มาตกลงกันให้ได้ส่วนใหญ่ ตกลงข้อนี้ก็ธรรมะนั่นเอง อันนี้ก็จะให้เป็นหลักแก่สังคม ชาวพุทธเป็นผู้เริ่มเป็นผู้นำ ได้ความแล้วนะครับ
ข้อ ๔ สร้างสังคมให้เยี่ยงสังฆะ ข้าพเจ้าจะสร้างสังคมตั้งแต่ในบ้าน ให้มีสามัคคีเป็นที่มาเกื้อกูลร่วมกันสร้างสรรค์
ข้อที่ ๔ ก็คือเรื่องสังฆะนี่เอง สังฆะนี่ก็พระพุทธเจ้าก็จะตรัสเน้นเรื่องสามัคคี ในวินัยนี่ถือสามัคคีสำคัญ ถ้าตรงข้ามสามัคคีก็สังฆเภท สังฆเภทก็ทำลายสงฆ์ถือเป็นอนันตริยกรรมเลยใช่ไหม เพราะฉะนั้นสามัคคีนี่เป็นเรื่องใหญ่มาก สงฆ์จะอยู่ได้ต้องมีสามัคคี ตอนนี้เมืองไทยก็คือสังฆะนั่นแหละ สังคมก็คือสังฆะของชาวโลกใช่ไหม แต่มันจะเป็นสังฆะไม่ได้เพราะมันไม่มีคุณสมบัติ จะเป็นสังฆะต้องมีคุณสมบัติ ก็เลยเป็นสังคมอยู่อย่างนี้ ทีนี้สังคมควรจะก้าวมาเป็นสังฆะ ตอนนี้สังคมไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นสังฆะ เริ่มตั้งแต่สามัคคีไม่มีถูกไหม? ตอนนี้สังคมไทยนี้ ขาดใช่ไหม สามัคคีไม่มี เพราะฉะนั้นจะก้าวไปเป็นสังฆะยากมาก ไม่มีสามัคคี แล้วก็ทีนี้ถ้าจะมีสามัคคีก็ต้องมีวินัย วินัยก็เช่นหลักกฎหมาย กฎหมายนี้ก็คือหลักการส่วนหนึ่งของวินัย หลักการกฎหมายที่ยอมรับร่วมกันใช่ไหม กฎหมายเราก็บอกแล้วว่า ทุกคนเสมอกันต่อหน้ากฎหมายใช่ไหม ทางพระท่านก็ว่ามานานแล้วว่า สีลสามัญญตา มีศีลเสมอกัน ที่นี้เมืองไทยเดี๋ยวนี้ชักไม่เคารพกฎหมายแล้วสิ ชักไม่นับถือซะแล้วใช่ไหม หาว่ากฎหมายไม่ยุติธรรม แล้วกฎหมายถ้าทำไม่ดีมันก็ไม่ยุติธรรม ทีนี้มนุษย์ก็จะฟั่นเฟือนกันไปใหญ่เลยใช่ไหม คนสร้างกฎหมายก็ไม่มีจิตใจที่ซื่อตรง ถ้าเป็นอย่างนี้นะ ที่นี้ก็จะตลอดหมดล่ะ ถ้าเป็นอย่างนี้ล่ะก็หมดกระบวนการนี้มันก็ทลายเลย ๑. ตั้งแต่ว่าผู้ออกกฎหมาย ผู้ตรากฎหมาย กระบวนการนิติบัญญัติ ต้องมีปัญญาและมีเจตนาที่ดี เจตนาที่ซื่อตรง เป็นต้น มุ่งประโยชน์แก่ส่วนใหญ่ ทีนี้ถ้าผู้สร้างกฎหมายเสียหลัก แล้วทีนี้ต่อมาผู้ที่ใช้กฎหมาย ก็บังคับใช้กฎหมายก็ไม่เป็นหลักอีก แล้วก็ผู้รักษากฎหมาย กระบวนการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเกิดไม่เที่ยงธรรมอีกก็จบ เพราะฉะนั้นตอนนี้จะยังไงก็ตามประชาชนมีปัญหาเรื่องนี้แล้ว แม้แต่ว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมยังดีอยู่ ประชาชนกลายเป็นไม่ค่อยนับถือถูกไหม เวลานี้ประชาชนทำเป็นจะตั้งแง่ด้วยใจจริง หรือทำเป็นตั้งแง่ก็แล้วแต่ไม่รู้ด้วย แต่ก็แสดงถึงความไม่ได้ไว้วางใจ ไม่ได้ให้ความเชื่อถือต่อกฎหมายเท่าที่ควร กฎหมายมันก็ไม่เป็นใหญ่น่ะสิ ธรรมะเป็นใหญ่มันมี ๒ ระดับ ๑. ธรรมะที่เป็นหลักความจริงความถูกต้องดีงาม ที่เป็นหลักตามธรรมชาติ ๒. ธรรมะ คือ หลักกฎหมาย ธรรมะนี้ธรรมศาสตร์ไงวิชากฎหมายนะ ธรรมะขั้นมนุษย์ที่มาบัญญัติ ธรรมะขั้นตามธรรมชาติ และก็ธรรมะขั้นบัญญัติ ธรรมบัญญัติก็คือกฎหมาย กฎหมายบ้านเมืองจึงเรียกว่า ธรรมศาสตร์ วิชากฎหมาย ทีนี้ตอนนี้ถ้ามนุษย์ไม่สามารถมีธรรมาธิปไตยในระดับกฎหมายที่เป็นธรรมบัญญัติ แล้วก็ไม่รู้จักธรรมะที่เป็นตัวจริงด้วย จบเลย ทั้งสองขั้นไม่มี หลักลอยเลยถูกไหม? ถ้าเขาเข้าถึงธรรมะที่เป็นหลักความจริงความถูกต้องที่แท้ด้วยใช่ไหม อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนนี่ แล้วเอาธรรมะนี้เป็นใหญ่นี้ได้ฐานใหญ่เลย ๒. ก็ได้ธรรมะระดับบัญญัติ กฎเกณฑ์กติกาที่ตกลงกันที่เป็นกฎหมายตั้งแต่รัฐธรรมนูญ บ้านเมืองก็มีรัฐธรรมนูญที่ยอมรับกันเป็นหลัก เชื่อถือกันแน่นแฟ้น อย่างนี้บ้านเมืองก็มั่นคงสิใช่ไหม ตอนนี้หลักธรรมาธิปไตยนี่ทรุดเลย เมืองไทยนี่ไม่ได้เรื่องแล้วตอนนี้ ธรรมาธิปไตยเอาอะไรแทบไม่ได้เลย ไม่ว่าระดับธรรมะของธรรมชาติ ไม่ว่าระดับธรรมะที่เป็นบัญญัติของมนุษย์ ตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญมาเลย ง่อนแง่นหมดแล้ว คนไม่ให้ความเชื่อถือ ทีนี้เราก็ยังเชื่ออยู่ว่า ผู้ที่อยู่ในหน้าที่ทางกฎหมาย ในสถาบันที่เกี่ยวกับกฎหมายเนี่ย มันก็มีนิติบัญญัติ มีสภาผู้แทนฯ ใช่ไหม ผู้ที่ตรากฎหมาย พวกนี้ถูกสงสัยมากที่สุดถูกไหม? ท่านทั้งหลายจะต้องไปสร้างความเชื่อถือให้คนให้ได้ ถ้าไม่ได้ประเทศไทยไปไม่รอด จะต้องไปเตือนกันแล้ว เตือนสติ ตอนนี้นิติบัญญัตินี่ง่อนแง่น จนกระทั่งแทบจะร่อแร่ มันเลยง่อนแง่นแล้วนะ เอาล่ะนิติบัญญัติร่อแร่ ทีนี้ก็มากระบวนการรักษากฎหมายพวกตำรวจ เป็นต้น ตำรวจคุณก็ต้องยอมกับความจริงแล้วนะ ก็ง่อนแง่นเหมือนกันนะ ทีนี้มาถึงขั้นอีกอันก็ตุลาการ ตุลาการนี้เป็นผู้วินิจฉัยให้มันเป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติ อันนี้เป็นไง ผมฟังท่าน ๆ ว่าท่านเห็นว่าเป็นยังไง “ค่อยยังชั่ว ได้ยินเสียงนึง” ถ้ายังเหลืออันนึงก็ยังดีใช่ไหม เพราะว่าตุลาการนี้มาเป็นสถาบันหลักของชาติ ก็เป็นนิติบัญญัติเป็นตัวต้น บริหารก็คือผู้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย แล้วก็ตุลาการก็คือเป็นตัวที่จะให้กฎหมายมันอยู่ให้ได้ ทีนี้ก็ตกลงว่าสถาบันหลักทั้ง ๓ มันก็เป็นสถาบันที่เกี่ยวกับธรรมาธิปไตยทั้งนั้นแหละ ถ้าวิเคราะห์ให้ดีนะ มันเป็นอยู่ในตัวแล้ว ธรรมาธิปไตยนั้นเป็นแกนของประชาธิปไตยอยู่แล้วโดยปกติ ไม่ต้องมาพูดว่าเราเป็นประชาธิปไตยยังไม่พอต้องเป็นธรรมาธิปไตยอะไรนี่ไม่ต้องพูด เพราะธรรมาธิปไตยมันเป็นแก่นของประชาธิปไตยอยู่แล้ว ถ้าคุณจะเป็นประชาธิปไตยให้ได้คุณต้องมีธรรมาธิปไตยใช่ไหม ก็ต้อง ๑. อย่างน้อยคุณจะต้องเอาธรรมะที่มนุษย์บัญญัติ คือ กฎหมายนี้เป็นใหญ่ใช่ไหม แล้วเสร็จแล้วแค่นี้ก็ไม่ได้ ถ้าคุณเอากฎหมายเป็นใหญ่ได้จริงคุณก็เป็นธรรมาธิปไตยระดับต้นแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปพูดคุณต้องเป็นธรรมาธิปไตยอยู่แล้วแต่คุณยังทำไม่ได้ และเพราะเหตุที่คุณทำธรรมาธิปไตยไม่ได้คุณจึงเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ก็แค่นี้คุณ แค่คุณเป็นธรรมาธิปไตยระดับที่ ๑ เท่านั้นคุณก็ได้ประชาธิปไตยแล้วใช่ไหม และสถาบันทั้ง ๓ มันก็มีเพื่อให้ธรรมาธิปไตยอยู่นั่นเอง เพราะมันก็คือการรักษากฎ ธรรมะที่เป็นบัญญัติของมนุษย์ นี้ถ้าก้าวไปอีกทีก็ให้มีปัญญามากขึ้นจนกระทั่งเข้าถึงหลักความจริงที่เป็นธรรมะตามธรรมชาตินั้น แล้วเอาธรรมะนั้นมารองรับ คนที่รู้เข้าถึงธรรมะที่เป็นธรรมชาตินี้ ๑. มาเป็นผู้ที่ตรากฎหมายก็ตรากฎหมายได้ดี ถูกไหม แล้วจะมาบังคับใช้กฎหมาย จะมาเป็นผู้พิทักษ์รักษาอะไรก็ทำได้ดีหมด
ก็ตกลงธรรมาธิปไตยก็อยู่ในประชาธิปไตยนั่นแหละ มันอยู่ของมันแล้ว ไม่ต้องไปพูดมาใหม่ เอาล่ะครับเป็นอันว่าอันนี้ก็คือข้อที่ ๔ สังฆะ ก็ไปโยงกับข้อที่ ๓ ที่ว่าต้องเป็นธรรมาธิปไตย ข้อที่ ๔ ก็คือ สังฆะ ก็คือสังคมนี้ จะต้องไปโยงข้อที่ ๓ เป็นธรรมาธิปไตย แล้วสังคมเองก็ต้องมีสามัคคี การที่มีสามัคคีก็คือยึดหลักการที่มันเป็นอันเดียวกันใช่ไหม ยึดหลักกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้จริงทุกคนเคารพรัก แค่นี้ก็ได้สามัคคีแล้ว แล้วไอ้ส่วนที่แตกแยกกันเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทะเลาะเบาะแว้งก็เป็นเรื่องธรรมดาไม่มีความหมายอะไร ทีนี้ตอนนี้มันรวนหมดเลย รวนทุกขั้นเลย มันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสังคมมันก็ไม่มีสามัคคี ไม่มีวินัย ไม่มีกฎหมายที่ยอมรับที่จะตั้งเป็นหลัก ที่จะยึดถือร่วมกัน หมด แล้วก็วินัยที่จะดี ก็คือในที่สุดคนจะต้องมีน้ำใจเมตตาใช่ไหม มีความปรารถนาดีต่อกัน ปรารถนาดีต่อส่วนรวม ก็คือในที่สุดตัวนี้ก็ออกมาในแง่มาเป็นบุคคล เมตตา มีใจดี ปรารถนาดี มันก็ออกมาเป็นคุณสมบัติ คือ คนนั้นเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ก็เป็นอันว่ามีเมตตา กรุณา ก็คือคนนั้นมาเป็นกัลยาณมิตรกัน เพราะฉะนั้นสังคมที่ดีเป็นสังฆะ ก็คือ สังคมของกัลยาณมิตร สังคมของคนที่มาเกื้อหนุนกัน มีน้ำใจปรารถนาดีกัน มาร่วมมือกัน และก็พึ่งพาอาศัยกันได้ ช่วยเหลือเกื้อหนุนกันไป ในการพัฒนาชีวิตด้วย ไม่ใช่ช่วยเหลือเกื้อกูลทั่วไป พัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น ก็ตกลงนี่แหละเป็นสาระของข้อที่ ๔ ต่อไปก็ข้อที่ ๕
ข้อที่ ๕ สำเร็จด้วยกระทำกรรมดี ข้าพเจ้าจะสร้างความสำเร็จด้วยการกระทำที่ดีงามของตน โดยพากเพียรอย่างไม่ประมาท
อันนี้ก็เป็นจุดเน้นของหลักกรรม โดยเฉพาะก็มามองสภาพภูมิหลังสังคมไทยเวลานี้ที่เข้าใจเรื่องกรรมกันผิด ๆ ด้วย ที่เคยพูดกันไปแล้วนะ กรรมคนไทยนี่ ๑. นี่มองในแง่ไม่ดีว่างั้นเถอะ อะไร ๆ ที่เป็นกรรมก็เอาเป็นฝ่ายไม่ดีหมด บุญกรรม แล้วแต่บุญแต่กรรม ไอ้กรรมก็คือไม่ดี บุญจึงจะดี ที่จริงมันแล้วแต่บุญกรรม แล้วแต่บาปกรรมใช่ไหม ทีนี้ตัดสั้นเหลือบุญ กรรม ๒. ก็เอากรรมเป็นเรื่องอดีตไป กรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน แล้วก็ ๓. มองในแง่ผล ชาตินี้ก็รับกรรมไป รับผลกรรม อะไรอย่างนี้
ทีนี้กรรมของท่านนี่มุ่งว่า การกระทำนี่แหละเป็นชีวิตของเรา การกระทำ การพูด การคิดนี้ เราจะต้องทำให้ดี แล้วก็จะต้องมุ่งหวังผลสำเร็จจากการทำเหตุของมัน อันนี้จะต้องเน้นมากสำหรับสังคมไทย นี้ก็เลยมาเน้นจุดนี้เราจะต้องมุ่งสร้างผลสำเร็จด้วยการกระทำ ด้วยความเพียรพยายามของเรา คนเราจะได้ไม่อ่อนแอ ปวกเปียก ป้อแป้กัน จะได้มีความตั้งใจเอาจริงเอาจัง แล้วก็ไม่หลงไปในกระแสของไสยศาสตร์ เรื่องของลัทธิรอผลดลบันดาล ซึ่งเวลานี้เป็นสภาพทั่วไปของสังคมไทยใช่ไหม เพราะฉะนั้นข้อนี้ก็คือพยายามจะดึงเข้าหลักกรรม เพื่อมาแก้ปัญหาปัจจุบันนี้ด้วย ลองอ่านใหม่อีกทีซิครับ ว่าไง ข้อ ๕ นี่แหละ
ข้อที่ ๕ สำเร็จด้วยกระทำกรรมดี ข้าพเจ้าจะสร้างความสำเร็จด้วยการกระทำที่ดีงามของตน โดยพากเพียรอย่างไม่ประมาท นี่แหละครับหลักนี้ มาเน้นที่จุดนี้ เน้นที่ให้สร้างความสำเร็จด้วยการกระทำเหตุ ก็เพื่อแก้ปัญหาเรื่องคนไทยที่หวังผลดลบันดาลกันมากเหลือเกิน ก็ครบ ๕ ข้อแล้ว เห็นไหมครับ ตกลงก็ถ้าเอาตามอรรถกถาก็อยู่ใน ๒ ข้อของท่าน เอาข้อ รัตตนัตตยัตสัทธา ก่อนก็ได้ รัตตนัตตยัตสัทธา ก็ข้อ ๑ - ๒ ก็พระพุทธ ข้อ ๓ - ๔ ก็พระธรรม ของท่านข้อ ๒ ว่า กัมมผลสัทธา เชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ก็ได้แก่ข้อ ๕ ของหลักชาวพุทธนี้ ที่บอกว่าให้หวังผลสำเร็จด้วยการกระทำ ก็จบ พอเห็นนะ ก็ไม่ได้หนีไปไหนเลย ก็อยู่ในหลักเดิมนั่นแหละ เอาสั้นก็แค่เรื่องพระรัตนตรัยกับเรื่องกรรม ปฏิบัติได้ไหมครับ ไหวไหม เอาตรงนี้ก่อน เอาหลักนี้ว่าไหวไหม ไหวนะ นี้ยังไง ๆ เราช่วยกันเผยแพร่ว่าให้ชาวพุทธเรานี้เข้มแข็งกันหน่อย แล้วก็ต้องให้อยู่ในหลักของชาวพุทธ ความเป็นชาวพุทธจะได้มีความหมายเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาบ้าง ในแง่ของหลักการ ๕ ข้อ ถ้าไม่มีข้อสงสัย ก็ต่อไปปฏิบัติการ นิมนต์ครับ มีสงสัยไหมมันเยอะเหลือเกินนี่ปฏิบัติการ จะเอาสงสัยหมดหรือเฉพาะที่ เฉพาะจุด เจาะไปเลยใช่ไหม เจาะเป็นจุด ๆ ไป สงสัยข้อไหนล่ะ
จบการบรรยายในชุดนี้