แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร โยมญาติมิตรสาธุชนทุกท่าน ขออนุโมทนาที่ญาติโยมได้มีจิตศรัทธามาทำบุญร่วมกันในวันนี้ ซึ่งเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนา และการมาทำบุญในวันนี้ ถือว่ามาทำบุญวันเดียว 2 รายการพร้อมกัน คือทำบุญวันอาสาฬหบูชาและทำบุญวันเข้าพรรษา การทำบุญสองวันนี้ติดต่อกัน จนบางท่านแยกไม่ออก อย่างพิธีในวันนี้ก็ ทำต่อเนื่องกัน ในวันเดียวกันและเป็นพิธีเหมือนกับพิธีเดียวกัน แต่ว่าที่จริงเป็นการทำบุญเนื่องในวันสำคัญ 2 อย่าง และยังกลับกันด้วย คือที่จริงนั้นวันอาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ คือวันนี้ ก็มาก่อน พรุ่งนี้จึงจะถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 วันเข้าพรรษา แต่เวลาเราทำบุญพิธีเมื่อกี้จะเห็นว่า ญาติโยมได้ถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนก่อน และต่อจากนี้ จึงจะเป็นพิธีเนื่องในอาสาฬหบูชา คือการที่จะเวียนเทียน ก็หมายความว่าเราทำพิธีถวายเทียนพรรษา เป็นเรื่องของการเข้าพรรษา และก็ผ้าอาบน้ำฝนเป็นเรื่องของการถวายผ้าแก่พระ ที่จะจำพรรษาใช้ในฤดูฝน เป็นเรื่องของการทำบุญในวันเข้าพรรษานี้เราทำเสร็จก่อน และต่อจากนี้ไปเราก็จะประกอบพิธีเวียนเทียน ก็คือการทำบุญ ในวันอาสาฬหบูชา เรากลับซะก่อน กลับเอาวันเข้าพรรษาก่อน ทำบุญเข้าพรรษาเสร็จก็ทำบุญวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นอย่างนี้ก็เพื่อความสะดวกเพราะว่าเวียนเทียนนั้นก็ควรจะเป็นรายการสุดท้าย ก็เลยเอาเวียนเทียนอาสาฬหบูชาไปอยู่เป็นปิดรายการไป แต่ว่ายังไงก็ตามรวมแล้วก็คือว่าโยมมาทำบุญ ครั้งเดียวนี้ได้สองอย่างเลย ได้บุญทวีคูณ ก็ขออนุโมทนาที่โยมได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสมาทำบุญกัน และโยมทุกท่านนี่ ที่มากันเป็นกลุ่มเป็นคณะก็เยอะ อย่างที่มากันมั่นคงเสมอก็โรงเรียนทั้ง 3 มีโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนหนูน้อย โรงเรียนทอสี ก็มาประจำสม่ำเสมอแม้อาตมาบางครั้งไม่ได้ลงมาก็ได้ทราบว่ามา คำว่าโรงเรียนนี้ก็เป็นสื่อบอกถึงเด็กและเยาวชนของชาติ นั่นถ้าโรงเรียนยังมั่นในเรื่องพระศาสนาเรื่องธรรมะอยู่ก็ทำให้เราอุ่นใจ ว่าเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติเนี่ยยังเดินอยู่ในทิศทางที่ทำให้สบายใจเป็นทางแห่งกุศล ความเจริญงอกงามที่แท้จริง นอกจากนี้ก็ อาจจะมีโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้าด้วย เพราะว่าพอดีว่าลูกชายมาบวชอยู่ จำพรรษานี้ และก็ที่เป็นเจ้าประจำเสมอก็ได้ยินเสียงโฆษกตั้งแต่ก่อนลงมา ก็คือพลตรีทองขาว เป็นเครื่องหมายของธรรมะร่วมสมัย ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ได้ยินแล้ว เพราะว่าอยู่แถวนี้นั้นวิทยุอื่นกลบหมด ไม่ได้ยินมาหลายเดือนแล้ว ธรรมะร่วมสมัย แต่ว่ามาพบกัน ก็อนุโมทนาที่ยังได้มาร่วมทำบุญ ฟังธรรม มาร่วมส่งเสริมกิจกรรมในทางพระศาสนา และก็โยมที่มาเป็นส่วนตัวแต่ละท่าน มีมากันทั้งครอบครัวก็มี มาทำบุญกันในครอบครัวนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี น่าอนุโมทนาอย่างมาก ก็เป็นการช่วยให้เด็ก ๆ ได้ใกล้ชิดพระศาสนา ได้คุ้นกับกิจกรรมทางธรรมะมาตั้งแต่เด็ก ๆ โตขึ้นก็จะได้เจริญอยู่ในเรื่องกุศล ก็เราก็หวังกันอย่างนั้น นี่โยมมานี่ที่จริงก็ได้บุญได้กุศลตลอดล่ะ เพียงแค่ใจเราสบาย สงบ ใจเรามีความปรารถนาดี ต่อพระศาสนา ให้ความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ก็เท่ากับว่ามาช่วยกันส่งเสริมพระศาสนาอยู่แล้ว ก็เป็นบุญอยู่ในตัว หรือใจเราเองนั่นล่ะมีความสงบ เบิกบาน ผ่องใส ก็เป็นบุญเป็นกุศล นี่ก็เป็นเรื่องมโนกรรม และส่วนกายกรรม วจีกรรม ก็แสดงออกมา ต่อเนื่องจากมโนกรรมนั่นเอง พอใจดี ใจสบาย พูดอะไรต่าง ๆ ก็พลอยดีไปด้วย พูดจาชักชวนกันในทางที่ดี ที่ท่านบอกว่าเป็นสัมมาวาจา เป็นวาจาจริง วาจาสุภาพ วาจาไพเราะ วาจาพอเหมาะพอดี วาจาสมานสามัคคี นี่เรียกว่า วาจาที่ดีงาม เป็นสุจริตและก็เป็นสัมมาวาจา ก็แสดงออกมาทางกาย ก็มาช่วยกันขวนขวาย จัดเตรียมการต่าง ๆ และทำการทุกอย่าง ตลอดจนกระทั่งถวายทานที่ทำไปแล้ว อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เรียกว่าบุญกุศลทั้งสิ้น และยังลงท้ายก็ได้เวียนเทียน และก่อนเวียนเทียนก็คือตอนนี้แหละ ก็มาฟังธรรมะกัน พอได้อย่างนี้แล้วก็เรียกว่าได้ทำบุญครบ ครบยังไง ก็คือมีทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนา ทานก็ถวายทานกันไปแล้ว เทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน บางท่านก็ถวายมาตั้งแต่เช้า ตักบาตร เลี้ยงพระ แล้วก็มารับศีล โดยทำเป็นพิธีบ้าง หรือแม้ไม่ทำพิธีวันนี้ก็รักษากาย วาจาสุจริต ก็อยู่ในศีลนั่นเอง ภาวนาก็ตอนนี้ คือมาฟังธรรม เจริญปัญญา แต่ว่าเริ่มตั้งแต่ที่ใจนั่นล่ะ ใจที่สบาย สงบ เบิกบานผ่องใส ก็เป็นภาวนา เป็นจิตภาวนา และก็ปัญญาภาวนาได้หมด เพราะฉะนั้น เราก็เรียกรวมว่าทำบุญ เพราะว่าเราไม่ได้มาทำทานอย่างเดียว ไม่ได้มาถวายของอย่างเดียว เราได้หมด ทาน ศีล ภาวนา ทำไมไปวัดแล้วบอกว่าทำบุญ ก็เพราะว่า ถ้าเราไปบอกว่าทำทาน มันก็ไม่ครอบคลุม เพราะเรามาวัดนี่เราได้หมด ทานเราก็ได้ เป็นเพียงตัวปรารภว่า เราจะมาถวายทาน ถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวายเทียนพรรษา แต่ว่าเราได้ศีลด้วย แล้วเราได้ภาวนาด้วย จิตใจเราก็ดีงาม และก็ปัญญาความรู้ความเข้าใจเราก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องพูดว่าไปทำบุญ เพราะได้หมดครบทั้งสามอย่าง อันนี้ก็เป็นข้อเตือนเราทุกคนด้วยนะว่า เราจะต้องทำให้ได้อย่างนี้ ให้ครบทั้งสามอย่าง จึงเรียกว่า ทำบุญ ทีนี้เวลานี้การทำบุญก็เป็นเรื่องที่โยมก็ต้องการให้ได้บุญมาก ๆ แล้วมาสอดคล้องกับเรื่องของการทำบุญอาสาฬหบูชา ก็จะต้องเข้าใจความหมายของอาสาฬหบูชาอีก วันนี้เวลาเราก็น้อย ถ้าพูดทั้งสองเรื่องนี่ก็ยาวเหลือเกิน คือทั้งเรื่องเข้าพรรษา ทั้งเรื่องอาสาฬหบูชา แต่ถ้าเรา เราสามารถพูดสองเรื่องนี่ให้มาโยงเป็นอันเดียวกันซะเลย เพราะว่าการที่โยมทำบุญนี่ ถ้าทำบุญถูกทาง หรือทำบุญถูกต้องเนี่ย มันก็เข้าสู่หลักการที่เรียกว่า ทางสายกลาง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทา หรือมรรคมีองค์ 8 เป็นหลักธรรมของอาสาฬหบูชา อาสาฬหบูชาคืออะไร ญาติโยมตั้งแต่เด็กก็รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นการบูชาในวันเพ็ญ เดือน 8 เพื่อระลึกถึง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา หรือเทศน์ครั้งแรก เทศน์ครั้งแรกคือเรื่องอะไร ก็บอกว่าเทศน์เรื่อง ทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา หรือว่ามรรคมีองค์ 8 และอริยสัจ 4 ก็พูดง่าย ๆ ก็ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา อันนั้นก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องอาสาฬหบูชา ปฐมเทศนา และมาวันนี้เรามาทำบุญกันนี่ เรามาถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน และทำบุญเทียนพรรษา อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าทำถูกต้อง เราก็ต้องทำให้เข้ามัชฌิมาปฏิปทา ถ้าทำแล้ว ทำบุญแล้วไม่เข้ามัชฌิมาปฏิปทา ก็แสดงว่าเรายังไม่ก้าวหน้าในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นต้องประสานให้ได้ วันนี้ก็เลยคิดว่า โยมน่าจะต้องมาคิดพิจารณาให้ดีว่า ที่เราทำบุญกันเนี่ย เราทำบุญเข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทาหรือเปล่า ขอแทรกนิดนึงว่าเวลานี้มีความนิยมเกิดขึ้น อาตมภาพได้ยินมาในระยะ สามสี่ปีเนี่ย มีความนิยมเช่นว่า ไปถวายเทียนพรรษาให้ได้ 9 วัด และก็ทำอะไรต่ออะไรทำบุญให้ได้ 9 วันเนี่ย ชั้นได้ยินมาสามสี่ปีนี่ เป็นวิธีทำบุญที่ค่อนข้างใหม่ ทีนี้เรื่องใหม่นี้ก็ไม่ใช่ว่าไม่ดี ใหม่ดีก็มี ใหม่ไม่ดีก็มี และจะวินิจฉัยอย่างไรว่าดีหรือไม่ดี ใหม่ในการทำบุญแบบว่า ไปถวายเทียนให้ได้ 9 วัด ถ้ามองง่าย ๆ ก็ดีนะ เพราะว่าได้ถวายเยอะ ยิ่งถวายเยอะทำทานเยอะ ก็ยิ่งดีสิ ก็ยิ่งได้บุญมาก และก็ได้ไปช่วยอุปถัมภ์บำรุงหลายวัด ก็น่าจะได้บุญมาก และนอกจากนั้นก็อาจจะได้เพิ่มรถในการทำบุญ เพราะว่าโยมได้ไปหลายวัด ได้เที่ยวได้อะไรต่าง ๆ ได้ไปเป็นคณะสนุกสนาน ไปในตัว ก็ดีเหมือนกันมองในแง่นี้ ก็ดี แต่ว่าเราก็ต้องวิเคราะห์วิจารณาให้ครบเหมือนกัน ว่า พร้อมกับที่ดีนั้นมีแง่เสียมั้ย บางที ได้ส่วนดีใช่ว่า ถ้าได้เก้าหน่วยแล้วเสียเก้าพันนี่ จะไม่คุ้มนะ เพราะฉะนั้นก็ต้องมาพิจารณาว่าที่เราทำบุญอย่างที่ว่า ไปถวายเทียนพรรษา 9 วัดเนี่ย ดีหรือไม่ดีแค่ไหน มาวิเคราะห์กัน อันนี้ก็พูดกันด้วยความหวังดี แล้วอะไร ใช้หลักอะไรวินิจฉัย หลักการง่าย ๆ ท่านบอกว่าทำอะไรแล้วกุศลเพิ่มอกุศลลดนั้นดี ทำอะไรอกุศลเพิ่ม กุศลลดไม่ดี โยมก็บอก อ้าวก็ทำบุญหลายวัด เทียนพรรษาตั้ง 9 ต้น 9 วัดนี่ก็ยิ่งดี ทำบุญมาก กุศลก็น่าจะมาก ก็ยิ่งดี ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ในแง่นี้ก็ดีอยู่ แต่ทีนี้ว่าเราก็ต้องดูให้ครบ มันมีแง่อื่น ๆ เช่นว่าบางทีมันก็มีเรื่องการถือโชคลางเข้ามาปนด้วย มีเรื่องไสยศาสตร์เข้ามาปนด้วย พออย่างนี้มันชักจะเขวนิด ๆ แล้ว และนอกจากนั้นก็คือเราก็ต้องดูเราทำบุญมาก ๆ เรานึกว่า เออเราจะได้บุญมากเนี่ย คำว่าได้บุญนี่ละเป็นคำที่น่าวิเคราะห์ ขอให้โยมสังเกตนะคำว่าได้บุญนี่ คนไทยชอบพูด แต่ในภาษาพระ หรือ ภาษาบาลี ภาษาในคัมภีร์ท่านไม่นิยม ถ้าไปดูในคัมภีร์เนี่ยแทบจะไม่เลยคำว่า ได้บุญ แทบไม่มีใช้เลย แล้วท่านใช้คำอะไร คำที่ใช้มาก ก่อให้เกิดบุญ เพิ่มพูนบุญ บุญเจริญงอกงาม จะพบคำว่า ปุญญัง ปะวัฑฒะติ ก็แปลว่าเจริญเพิ่มพูน หรือวัฑฒะติ ก็คือที่มาของคำว่าพัฒนานั่นเอง ถ้าแปลเป็นแบบภาษาไทยสมัยปัจจุบัน ก็คือบุญพัฒนาขึ้นไป นี่คือคำนิยมในภาษาพระ ท่านไม่นิยมคำว่าได้บุญ ทีนี้การที่จะได้บุญเนี่ยมันมีแง่พิจารณาที่โยงไปหาเรื่องอื่น ขอให้ดูกันสองอย่าง โยมอยากได้บุญมากอันนี้ก็ดีแล้วล่ะ มาดูว่าจะได้บุญมากยังไง อ้าวจะได้บุญมากขึ้นมาเฉย ๆ ยังไงต้องทำบุญ นี่โยมบอกว่าทำบุญมากก็ได้บุญมาก เอ๊ะไม่แน่นะ ทำบุญมากได้บุญมาก ทำบุญนี่บางทีอาจจะเป็นอาการหรือรูปแบบภายนอกที่บอกไปทำพิธีเป็นทำบุญ พอไปทำพิธีเป็นรูปแบบภายนอกเราก็เรียกว่าทำบุญแล้ว แต่ทีนี้ว่าการที่ทำบุญแล้วมันจะได้บุญเนี่ย มันต้องผ่านอันหนึ่งนะคือ เป็นบุญก่อน ถ้าทำบุญแล้วไม่เป็นบุญมันก็ไม่ได้บุญนะ อาจจะทำบุญได้บุญเผิน ๆ ผิวเผิน เป็นบุญก็เช่นว่า ใจเป็นบุญ เจตนาเป็นบุญ ถ้าใจไม่เป็นบุญ เจตนาไม่เป็นบุญ มันก็ทำแต่รูปแบบผิวเผินข้างนอก บุญนั้นก็ไม่ได้มากหรอก ทีนี้ถ้าวิเคราะห์ลงไปที่เป็นบุญมันมีอะไรบ้าง ถ้าเราแยกไป มันนอกจากใจแล้วมันมีกายกับวาจา ก็เราเรียกว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็ต้องให้กายกรรมเป็นบุญ วจีกรรมเป็นบุญ มโนกรรมเป็นบุญ แล้วเราทำน่ะ มันเป็นบุญมั้ย เป็นบุญแค่ไหน เวลาทำจิตใจเราเป็นยังไง การกระทำทางกายของเราเป็นยังไง การกระทำทางวาจาของเราเป็นยังไง นี่ก็เป็นวิธีหนึ่ง หรือวิเคราะห์ไปอีกอย่างหนึ่งก็ได้ วิเคราะห์อีกหลักหนึ่งก็คือจะให้เข้ากับหลักของ อาสาฬหบูชาที่ว่า มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง มรรคมีองค์ 8 ประการ มีสัมมาทิฐิ เป็นต้น 8 ข้อนี่ วิธีสำหรับญาติโยม ได้จะวิเคราะห์วิจารณาง่าย ๆ ก็คือมาจัด มรรคมีองค์ 8 นี่รวมเป็น 3 อย่างซะ รวมเป็น 3 อย่างแล้วได้อะไรล่ะ คือเวลาจัดเป็น 3 อย่างแล้วมันจะง่ายขึ้น พอบอกว่า 8 นี่เยอะเหลือเกิน วิเคราะห์ยาก ก็มาจัดเป็น 3 พอบอกว่า มาจัดมรรคมีองค์ 8 นี่เป็น 3 ข้อได้อะไรบ้าง โยมลองคิดดู ก็ได้ศีล สมาธิ ปัญญา ใช่มั้ยนี่ง่ายขึ้นแล้ว ก็มาดู ศีล สมาธิ ปัญญา ว่าเวลาเราบอกว่าทำบุญเนี่ย ศีลเป็นยังไง สมาธิเป็นยังไง ปัญญาเป็นยังไง แล้วดูที่นี่แหละ เราจะรู้เลยว่าเป็นบุญมั้ย เป็นบุญแค่ไหน แล้วบุญเจริญเพิ่มพูนรึเปล่า อ้าวแล้วโยมที่ทำบุญแบบเช่นว่า ไปถวายเทียนพรรษา 9 วัดนี่ บางทีเวลาไปทำบุญนี่ ดูที่ศีล ทางกาย วาจา เพราะเหตุว่าจะไปให้ทัน 9 วัด บางทีก็รีบร้อน กายก็เริ่มรีบล่ะ บางทีกลัวไม่ทันก็ชักจะแสดงอาการออกมาล่ะ และก็ทางวาจาบางทีชักจะไม่ค่อยไพเราะแล้ว ชักจะเร่งกัน อะไรต่ออะไร ไปกันใหญ่ ที่หมู่คณะบางคนมาช้าพะวักพะวงอยู่ คนอื่นชักจะใจไม่ดี ใจก็เร่งร้อน ชักหงุดหงิด ชักกระสับกระส่าย เอ๊ะ ตอนนี้มาดูศีลก็ชักจะไม่ค่อยจะสมบูรณ์แล้ว มาดูสมาธิจิตใจแทนที่ว่าทำบุญแล้วจิตใจจะสงบ เบิกบาน ผ่องใส มีปีติ มีความสุข มีความปลาบปลื้มใจ ใจมันไม่อยู่แล้ว ใจมันจะเร่ง มันจะร้อน มันจะไปวัดโน้นทันรึเปล่า มันเลยกลายเป็นว่าใจไม่ดี มันไม่มีสมาธิ และใจก็ไม่เป็นกุศลเท่าที่ควร และก็ใจแทนที่จะมีเมตตา นึกถึงพระสงฆ์ นึกถึงพระศาสนา ปรารถนาดีต่อพระสงฆ์ว่า โอ้ พระสงฆ์ท่านได้รับเทียนพรรษา ได้รับทานของเราไปแล้ว ท่านจะได้มีกำลังทำศาสนกิจ สืบต่ออายุพระศาสนาได้ พระศาสนาก็จะได้เจริญรุ่งเรือง ใจแทนที่จะได้นึกคิดในเรื่องที่มีความปรารถนาดีเป็นเมตตา เป็นต้น ก็เลยไม่มี ไม่มีเวลาแม้แต่จะนึกจะคิด และในด้านปัญญาก็อย่างที่ว่านั่นล่ะ ถ้าทำบุญด้วยปัญญานี่ เราจะนึกไปได้ไกลเลยว่า การทำบุญของเรานี่มีความหมายนะ มันเป็นไปเพื่อประโยชน์ ในการที่ว่า อย่างที่บอกเมื่อกี้ ช่วยส่งเสริมให้พระสงฆ์มีกำลังปฏิบัติศาสนกิจ พระท่านทำศาสนกิจแล้วก็ช่วยสั่งสอนศีลธรรมให้ประชาชนอยู่กันดี มีความร่มเย็นเป็นสุข สังคมของเราจะได้ไม่มีทุกข์ ไม่มีภัย ปัญหาอาชญากรรม อบายมุขอะไรจะได้น้อยลงไป อะไรต่าง ๆเหล่านี้ ปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งเหล่านี้บางที่ไม่ได้นึกเลย นึกแต่ว่าจะไป ๆ ๆ ๆ ก็เลยทำให้ เรื่องบุญเรื่องกุศลนี่มันลดหายไป ลงวิเคราะห์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญาเราก็จะเห็นเลยว่าเนี่ย มันชักจะบกพร่องแล้ว เพราะฉะนั้น โยมจะทำบุญนี่ การที่จะให้ได้บุญมาก มันไม่ได้อยู่ที่จำนวนปริมาณนะ มันอยู่ที่นี่แหละ อยู่ที่มันเป็นบุญแค่ไหน เป็นบุญแค่ไหนจะวิเคราะห์ด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมก็ได้ หรือเอาวิธีที่ดี สูงขึ้นไปก็เอา ศีล สมาธิ ปัญญานี่ล่ะ ดูว่ากาย วาจา ของเรานี่เป็นยังไง และก็สมาธิด้านจิตใจของเรานี่เป็นยังไง สงบ เบิกบาน ผ่องใส มีปีติ มีความปลื้มใจ มีความสุขมั้ย และ มคุณธรรม มีความปรารถนาดี มีศรัทธาอะไรต่าง ๆ พรั่งพร้อมมั้ย และก็มีปัญญารู้เข้าใจ มองเห็นเหตุผลประโยชน์อะไรต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวม แก่พระศาสนาหรือไม่ อย่างนี่แหละ บางทีบุญที่ทำอันเดียวน่ะ แม้แต่ทำน้อยถ้าเค้าเจตนาเค้าดี เราจึงเห็นได้ในพระคัมภีร์ ในประวัติพระศาสนานี่ บางคนทำบุญนิดเดียว ปรากฏว่าได้บุญมหาศาลเลย ใช่มั้ย ก็เพราะว่ามันเกิดเป็นบุญขึ้นมานี่ล่ะ เพราะฉะนั้น การที่ว่าจะทำบุญและข้ามไปได้บุญน่ะ อย่าเพิ่ง ทำบุญแล้วต้องเป็นบุญก่อน แล้วเป็นบุญจึงจะมาได้บุญ งั้นเอาล่ะอันนี้ก็แง่หนึ่งโยมจะให้ได้บุญมากเนี่ย โยมก็จะทำให้เป็นบุญให้มาก เป็นบุญทั้งศีล ทั้งสมาธิ แล้วก็ทั้งปัญญา อันนี้ก็แง่หนึ่ง ต่อไปอีกแง่หนึ่ง ก็อย่างที่ว่าเชื่อมกับเมื่อกี้ ก็คือบอกว่าได้บุญเนี่ย มันไม่บอกถึงความก้าวหน้า มันเป็นเรื่องของปริมาณ ได้จำนวนปริมาณแต่ว่าเราอาจจะอยู่ที่เดิม เช่นว่าได้บุญประเภทเดียวกัน ก็อยู่แค่นั้นล่ะ ได้ทาน ก็ได้ทานอยู่นั่นล่ะ ไม่ก้าวไป เช่นวันนี้เราบอกว่าเป็นวันอาสาฬหบูชา อาสาฬหบูชาเป็นวันปฐมเทศนา เป็นวันแสดงมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง มรรคมีองค์ 8 ประการ มรรคคือ ทางนะ เมื่อมรรคคือทางก็แสดงว่าต้องก้าวไปสิ ใช่มั้ย ทางมันต้องเดินหน้า ก้าวไป ซึ่งไตรสิกขา ก็เหมือนกัน ก็คือฝึก ศึกษา พัฒนาให้ก้าวไปในมรรคนี่ล่ะ ทีนี้ถ้าเราไม่ก้าวไป เราได้อยู่แค่เดิม ถึงได้มากปริมาณมาก มันก็ไม่ได้เดินไปในมรรค เพราะฉะนั้น เราจะให้ก้าวไปในมรรค ให้มาถึงวันอาสาฬหบูชาแท้นี่ เราต้องก้าวไปในมรรคได้ด้วย เพราะฉะนั้น การทำบุญของเรานี่จะต้องไม่ใช่เป็นเพียงแค่ได้บุญ แล้วก็ไม่ชัดว่าก้าวไปหรือเปล่า เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำของท่านแล้ว ท่านจึงบอกว่าบุญเพิ่มพูน บุญพัฒนา อัคคัง ปุญญัง ปะวัฑฒะติ อย่างที่ว่าเมือกี้ ท่านไม่นิยมใช้คำว่าได้บุญ เพราะฉะนั้น โยมอาจจะลองนึกดูว่า เอ๊ะ จะเปลี่ยนซะดีมั้ย ต่อไปนี้ แทนที่จะพูดว่า ได้บุญเนี่ย ก็หมายความว่า ใช้คำของท่าน เช่นคำว่า ก่อให้เกิดบุญ หรือเพิ่มพูนบุญ หรือบุญเจริญเพิ่มพูน ก็แล้วแต่ ก็ด้วยการทำบุญเนี่ยให้มาประสานกับการที่บุญเจริญเพิ่มพูน และบุญนั้นเจริญก้าวไป คือเจริญก้าวหน้า จากขั้นต้น ๆ นี่ก้าวไปสู่ขั้นสูง เหมือนอย่างหลักปกติเราก็มี ทาน ศีล ภาวนา เนี่ย มันก็ไม่ไช่ติดอยู่แค่ทานอย่างเดียว แม้แต่โยมมาทำทานเนี่ย โยมก็อย่าลืมนะ จะเรียกว่าทำบุญแท้ ก็ต้องให้ได้ครบใช่มั้ย ต้องได้ทั้งศีล ทั้งภาวนาด้วย ไม่งั้นเราจะเรียกไม่เต็มปากเลย ถ้าโยมไปแล้วได้ทำทานอย่างเดียวเนี่ย โยมจะบอกว่าฉันไปทำบุญแล้ว เรียกไม่เต็มปาก อาตมาเคยย้ำบอกว่า ในสังคมไทยนี่มีการไปพูดกันบอกว่าถ้าให้แก่คนขอทานเป็นต้น เรียกว่าทำทาน ถ้าถวายแก่พระเรียกว่าทำบุญ อันนี้เป็นความเข้าใจเคลื่อนคลาด ไปคิดเอาเอง ความจริงคือ คำว่าบุญ เนี่ยเป็นคำที่คลุมทั้งทาน ศีล ภาวนา ทีนี้เราไปวัดแล้วเราไปถวายแก่พระเนี่ย เราได้หมด ได้ทั้งทาน ทั้งศีล ภาวนา เพราะฉะนั้นแม้เราจะตั้งต้นด้วยทานอย่างเดียวก็จริง แต่เราไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทาน เราไปได้ศีล ภาวนา มาด้วย เราก็เลยพูดแค่ทำทานไม่ได้ เพราะมันไม่ครอบคลุม เราจึงต้องพูดว่าไปทำบุญมา แล้วก็โยมก็ต้องตรวจสอบตัวเองว่า เราไปแล้วได้บุญมาครบมั้ย ได้ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนา แล้วถ้าขยายให้ดีก็ต้องได้ ศีล สมาธิ ปัญญาไปเลย อย่างนี้ล่ะโยม ก้าวหน้าแน่ แล้วมรรคน่ะโยมจะก้าวไป แล้วอาสาฬหบูชาก็จะมีความหมาย เพราะฉะนั้นโยมอย่างไปติดอยู่แค่อย่างเดียวขั้นต้น ๆ ถ้าทานแล้วต้องก้าวไปให้ได้ศีล ให้ได้ภาวนาด้วย โดยเฉพาะจิตใจของเรานี่มันได้ตลอดเวลาเลย ถ้าโยมทำบุญเป็นนะ ทำบุญเป็นจิตใจมันได้ก่อน แล้วได้ตลอดเวลา เวลาทำบุญทำกุศล ท่านจึงเน้นไง อย่างในสมัยพุทธกาล มีพระสาวิกาอย่างนางมัลลิกานี่ เกิดเหตุร้ายในวันที่กำลังทำบุญนี่ ท่านรักษาใจ ไม่ให้ใจเสีย บอกเมื่อทำบุญต้องใช้จิตใจเป็นบุญเป็นกุศล เพราะตัวฐานที่แท้ แกนของบุญเนี่ย มันอยู่ที่จิตใจ จิตใจของเราดี จิตใจเป็นบุญเป็นกุศล เจตนาของเราดี จิตใจผ่องใสเบิกบาน ก็ดีตลอดเวลาเลย เพราะฉะนั้น บุญก็จะอยู่ประจำจิตใจของเรา แล้วเวลาเราทำไปแล้ว ที่เราทำทาน แล้วเราบำเพ็ญศีลอะไรเนี่ย มันจะมาเพิ่มกำลังให้จิตใจของเรานี่มีความปลาบปลื้มปีติยินดีขึ้นไปมากขึ้น แล้วเสร็จแล้วสิ่งที่ทำภายนอก ที่เป็นรูปธรรม เป็นทานเป็นศีลน่ะ ทำเสร็จแล้วมันก็ผ่านไปเป็นเหตุการณ์ แต่สิ่งที่ประทับเข้าไปก็คือไปอยู่ในจิตใจ เพราะฉะนั้นส่วนที่จะพัฒนาอยู่ประจำยั่งยืนก็คือส่วนจิตใจนั่นเอง และจิตใจนี่ก็จะไปเป็นแกน ไปเป็นฐาน ให้เราสามารถไปบำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล ต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ใจมันเป็นแกนกลาง มันเป็นฐานอยู่ตลอดเวลา แล้วทานศีลก็มาอาศัยใจนั่นเอง ใช่มั้ย เพราะฉะนั้นถ้าโยมทำบุญแล้วใจมันไม่ได้เนี่ย มันก็ไม่ไปไหนแล้ว มันไม่พัฒนา เพราะฉะนั้นต้องให้บุญมาเพิ่มพูน พัฒนาไปด้วย แล้วโยมก็จะก้าวไปในมรรคเองล่ะ แล้ววันนี้ก็เลยทำบุญได้ทั้งวันเข้าพรรษา ถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน ก็ได้เข้ามรรคไปด้วยเลย ได้เข้าอาสาฬหบูชา ประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น บุญของเราเนี่ยเราไม่ได้จำกัดอยู่ และถ้าเราไปคิดว่าได้บุญ ๆ เนี่ย บางทีมันไปนึกถึงแต่ตัวเอง คนที่ทำบุญที่จะพัฒนาก้าวหน้า ท่านไม่ติดอยู่แค่ตัวเอง พอเราทำบุญ ในคนขั้นต้นเท่านั้นที่นึกถึงตัวเองมาก มันจะไปนึกในแง่ ฉันทำบุญมาก ฉันจะได้ไปสวรรค์ ฉันจะได้เงินทองมาก ฉันจะได้เกิดเป็นเศรษฐี่ จะได้ถูกล็อตเตอรี่ ก็คิดแต่เรื่องตัวเอง แต่ท่านที่ทำบุญก้าวไปในมรรคเนี่ย ใจท่านขยายกว้างออกไปเรื่อย ๆ ไม่ติดอยู่เรื่องตัวเองแล้ว งั้นพอไปขั้นสูงนี่ ผู้ที่ทำบุญในขั้นที่มีจิตใจยิ่งใหญ่เนี่ย ท่านมีคำใช้ ท่านมีคำเช่น คำหนึ่งในคัมภีร์บอกว่า ผันบุญของตนไปเพื่อช่วยให้ชาวโลกทั้งมวลได้ลุถึงความสุขทั่วกัน นี่สิโยม เนี่ยล่ะ ตอนนี้แหละ บุญสำคัญแล้ว ถ้าคนทำบุญได้ถึงขั้นนี้ นี่คือก้าวไปในมรรคแท้จริง คือตอนแรกเราต้องยอมรับความจริง คนทุกคนก็ต้องมีความรู้สึกนึกถึงตัวก่อน เราทำบุญ เราก็นึกถึงว่าฉันจะได้ผลนั่น ผลนี่ แต่ท่าน???เรียกว่า โอปธิกบุญ บุญที่ยังมีกิเลส ที่นี้พอเราพัฒนาตัวเราขึ้นไป เจริญก้าวไปในบุญมากขึ้น เจริญไปในมรรคขึ้น ใจของเราก็สละ ละ ลดความโลภลงไป ความปรารถนาเพื่อตนเองก็ลดน้อยลง ใจก็กว้างขึ้นไป เหมือนอย่างเราเป็นพ่อเป็นแม่ ก็ไม่นึกถึงแต่ตัวเอง เราก็นึกถึงลูก อยากให้ลูกมีความสุข ถ้าเป็นพระทำงานทำการ ก็ท่านก็ทำบุญเหมือนกัน แต่ว่าพระจะไปนึกถึงว่าทำบุญเพื่อตัวจะได้ไปเกิดสวรรค์อะไรอย่างนั้น พระพุทธเจ้าตรัสเธอผิดทันทีเลย เป็นสีลัพพตปรามาส ไม่ได้เลยพระนะ ถ้าหากว่าเอ่อ เราทำบุญนี่เราได้รักษาศีลอะไรต่ออะไร จะได้ไปเกิดในสวรรค์นี่พระพุทธเจ้าตรัสว่าปฏิบัติผิดทางแล้ว พระก็ต้องปฏิบัติไป เพื่อกำจัดกิเลส ลด ละ โลภะ โทสะ โมหะ แล้วก็ปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนใช่มั้ย ก็พหุชนะหิตายะ พหุชยะสุขายะ โลกานุกัมปายะ บำเพ็ญกิจทั้งหลายเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก โยมก็เหมือนกันแหละ การพัฒนาไปในมรรค ด้วยการทำบุญก็คือการก้าวไปในบุญ ให้บุญนั้นพาก้าวไปในมรรคนั่นเอง และโยมก็จะพัฒนาไป เพราะฉะนั้น เนี่ยเป็นเรื่องสำคัญ เป็นอันว่า เอาเรื่องของการเข้าพรรษา มาโยงเข้ากับอาสาฬหบูชา ถ้าจะช่วยให้โยมก้าวหน้าในบุญ ไม่ติดอยู่กับบุญขั้นต้นเท่านั้น นี่ก็ได้ประโยชน์สองชั้นเลย นี่ก็ให้ได้หลักอย่างที่ว่าเนี่ย มีคำที่น่าจะเอาไว้สะกิดใจที่บอกว่า ท่านผู้ที่มีจิตใจใหญ่กว้างแล้วเนี่ยทำบุญที่แท้จริง ขยายบุญมหาศาลออกไปเนี่ย ท่านผันบุญของตนไปเพื่อช่วยให้ชาวโลกทั้งปวงลุถึงความสุขทั่วกัน ถ้าโยมใจใหญ่กว้างขึ้นต่อไปเนี่ย ก็จะนึกขยายออกไปถึงคนอื่นมากขึ้น แล้วใจเราแทนที่จะทุกข์ เรากลับมีความสุขมากขึ้น คนแต่ก่อนนี้ ถ้านึกถึงตัวเองคนเดียวมันก็ได้สุขแคบ ๆ แค่ตัว นี้ต่อไปเรานึกถึงสุขของคนโน้นคนนี้มากคนขึ้น พอเห็นคนอื่นเป็นสุขเราก็สุขมากขึ้นเพราะว่า จำนวนปริมาณคนที่จะสุขมันมากขึ้นด้วย อย่างนี้เป็นต้น แต่ยังไงก็ตามก็คือ อย่างน้อยกิเลสมันลดลง ความเห็นแก่ตัว โลภะ โทสะ โมหะ มันลดลงไปเองล่ะ เป็นการพัฒนาตัวไปด้วย เพราะฉะนั้นบุญมันก็พัฒนาแน่นอน อย่างนี้เรียกว่า อัคคัง ปุญญัง ปะวัฑฒะติ บุญอันเลิศย่อมเจริญเพิ่มพูน
อาตมาคิดว่าวันนี้ก็พูดไม่ให้ยาวนัก ที่จริงก็ถูกเตือนอยู่เรื่อย บอกอย่าพูดให้มาก เอาละ เป็นอันว่าวันนี้ก็มาประสานเรื่องโยมทำบุญให้ไม่ใช่แค่ได้บุญ แต่ให้บุญนั้นเจริญเพิ่มพูนด้วย และให้บุญนั้นเป็นการที่เราพัฒนาชีวิตของเรา เจริญก้าวหน้าไปในมรรค วันสำคัญทั้งสองวันนี้ก็มาประสานเป็นอันเดียวกันคือวันเข้าพรรษากับวันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาเราทำบุญคือการถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้น ก็เป็นเครื่องช่วยเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เราเจริญก้าวหน้าไปในมัชฌิมาปฏิปทา หรือมรรคมีองค์ 8 ประการอันประเสริฐ ที่สรุปลงใน ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้เราก้าวไปในความหมายของวันอาสาฬหบูชา ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาโยมทุกท่าน และก็เมื่อโยมทำได้ถูกทาง เพียงวางจิตถูก โยมก็ก้าวไปได้เลย เพราะว่าโยมทำอยู่แล้ว ขณะนี้โยมทุกท่าน ทำบุญเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราทำแล้วมีความเข้าใจ แล้ววางจิต เดินจิตให้ถูกเท่านั้นเอง แล้วโยมก็ได้เลยทันทีไง เพราะว่าโยมพร้อมอยู่แล้ว สิ่งที่มีสิ่งที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนอยู่ในใจและก็ได้ทำพร้อมแล้ว พอวางจิต เดินจิตถูก ก็โยมก็ก้าวเข้าไปในบุญได้เข้าสู่มรรคทันทีเลย นั้นก็ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง ในโอกาสนี้ก็ขอตั้งจิต ตั้งใจ อวยชัยให้พร ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยเป็นเครื่องปกปักรักษาคุ้มครอง ญาติโยมทั้งหลาย ระตะนัตตะยานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะเตชะสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัยพร้อมทั้งบุญกุศลที่ทุกท่านได้บำเพ็ญแล้ว ด้วยอำนาจคุณธรรม มีศรัทธาและเมตตา เป็นต้น จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้โยม ญาติมิตรทุกท่าน ทั้งตนเอง ครอบครัว ญาติมิตรทั้งหลายทั้งปวง เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั่วกันทุกท่านทุกเมื่อเทอญ