แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เป็นโอกาสดีได้พบปะกันบ้าง จะได้คุยกัน วันนี้ก็อาจจะไม่ถึงขั้นต้องอธิบายแต่ก็อยากจะย้ำธรรมะบางหัวข้อที่ให้แม่นหน่อย หรืออย่างน้อยก็เห็นเค้าที่จะตอบได้ ก็อย่างเคยพูดไว้แล้วว่าธรรมะบางข้อคนไทยก็เรียกกันคุ้นแต่ว่าเข้าใจไม่ถูก เรื่องหนึ่งก็ท่านอาจจะฟังแล้วก็ได้ แต่ก็ตั้งเป็นคำถามว่า บางคนที่พูดเห็นพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ อย่างอริยสัจก็เริ่มด้วยทุกข์เนี่ยะ ก็อาจจะเอ๊ะพุทธศาสนานี่สอนแต่เรื่องทุกข์มองโลกแง่ร้ายหรือยังไงกัน เคยฟังรึยัง ว่าจะตอบยังไง ถามว่าพุทธศาสนานี่สอนแต่เรื่องทุกข์ เช่น อริยสัจข้อหนึ่งก็ทุกข์ นี่เริ่มกันก็ทุกข์เลย พูดเรื่องทุกข์เยอะเหลือเกิน มองโลกในแง่ร้ายมั้ง แล้วจะตอบว่าไง แล้วก็ใช้หลักอะไรเป็นมาตรฐานในการพูด คือพูดต้องพูดอย่างมีหลักด้วย ที่จริงเรื่องนี้พูดบ่อย ย้ำ พอว่าชาวพุทธนี่ก็มองพุทธศาสนาไม่ค่อยชัด ทำให้ตอบเค้าไม่ถูก เราต้องรู้ว่าท่านสอนทุกข์ไปเพื่ออะไร คือทุกข์มันต้องเจอละคนเกิดมาเนี่ยะ คนไม่เจอทุกข์มีมั้ยเกิดมา ถ้าตอบขั้นต้นง่ายๆ ก็พุทธศาสนาไม่ได้ให้หนีทุกข์ เผชิญหน้า ปัญหาเจอต้องแก้ ไม่ใช่มัวหลบหนีปัญหากันอยู่มันจะไปได้เรื่องได้ราวอะไร แก้ปัญหาก็ไม่ได้แล้วก็ยังกลายเป็นการหลบปัญหานั้นกลายเป็นสร้างปัญหาเพิ่มไปอีก ตัวเองก็ใจไม่ดีอีก แต่ทีนี้ว่าหลักสำคัญในการตอบเรื่องนี้ก็คือว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ อย่างนั้นเป็นทุกข์ ตรัสไว้ให้เสร็จว่าเรามีหน้าที่อย่างไรต่อทุกข์ เมื่อมีหน้าที่ต่อทุกข์แล้วก็มีหน้าที่ยังไงต่อสุข หลักอริยสัจเนี่ยะนะ เราก็ได้ยินกันว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรจน์ มรรค แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้แต่อริยสัจ ชาวพุทธเนี่ยะไม่ค่อยได้ใส่ใจ พระพุทธเจ้าจะตรัสกิจต่ออริยสัจไว้ด้วย เรียกกิจอริยสัจก็ได้ อริยสัจกิจก็ได้ กิจคือหน้าที่ สิ่งที่ต้องทำหรือพึงทำ เรามีหน้าที่ยังไงต่ออริยสัจ 4 แต่ละข้อ หนึ่งทุกข์ เรามีหน้าที่อย่างไร พระพุทธเจ้าบอก ทุกข์พึงกำหนดรู้ นี่สำนวนพระ กำหนดรู้นี่เรียกว่าปริญญา ที่เราเอามาใช้ปริญญา ตรี โท เอก ปริญญานี่มาจากหน้าที่ต่อทุกข์เลยนะ ปริญญาแปลว่า กำหนดรู้นี่สำนวนสมัยโบราณสำนวนตามประเพณี ก็คือรู้ให้มันชัดว่ามันมีขอบเขตยังไง มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ตรงไหน เช่นว่า เราเจ็บไข้ได้ป่วย คือเรื่องทุกข์เนี่ยะท่านจะเปรียบกับเรื่องแพทย์ แพทย์จะรักษาบำบัดโรค ที่จริงไม่ใช่รักษาโรคเดี๋ยวนี้เรียกรักษาโรค รักษาคนแก้ไขโรคบำบัดโรค ใครจะรักษาโรคเอาไว้ทำไม จริงไม่จริง เนี่ยะเดี๋ยวนี้พูดผิดหมด เราก็เลยพูดติดปากว่ารักษาโรค รักษาไว้ทำไมหล่ะ รักษาก็ต้องเก็บไว้ใช่ไหม ที่จริงเค้าเรียกบำบัดโรค รักษาคนให้หายจากโรค รักษาคนให้หายจากโรคพูดไปพูดมากลายเป็นรักษาโรคเสียนี่ ทีนี้ แพทย์จะบำบัดโรคทำยังไง ก็ต้องรู้ว่ามันเป็นโรคอะไร ใช่ไหม ตอนแรกนี่เขาจะตรวจวินิจฉัยโรคให้ได้ก่อน เนี่ยะวินิจฉัยโรคลักษณะนี้เรียกว่าหน้าที่ที่กำหนดให้รู้ให้มันชัดลงไป ถ้ายังไม่รู้ชัดโรคอะไรเนี่ยะจะก้าวต่อไปไม่ได้ เป็นโรคปวดหัวตัวร้อน ตรวจดูมันเป็นที่ไหนตรงไหน ใช่ไหม เสร็จแล้วก็ ต่อไปก็จึงจะดูสมมุติฐานของโรค วินิจฉัยโรคแล้วก็ดูตัว ตัวเหตุที่ทำให้เป็นโรค เช่น ปวดหัวเนี่ยะ ปวดหัวที่ไหน ปวดจุดไหน มันเป็นอาการของอะไรแล้วก็จึงจะไปสมมุติฐาน บำบัดตัวโรคนะบำบัดไม่ได้ต้องบำบัดเหตุของโลก เช่น ท้องเสียอย่างเนี่ยะ แก้โรคท้องเสียต้องไปแก้ว่ามันมาจากอะไร อย่างเช่นเป็นเชื้ออะไรแล้วเราค่อยแก้เชื้อนั้นใช่ไหม เพราะฉะนั้นบำบัดโรคเนี่ยะเราไม่ได้บำบัดโรคจริง เราบำบัดแก้ไขไอ้ตัวเชื้อโรคหรือตัวสมมุติฐานของโรค แต่ทีนี้ตอนแรกก็ต้องรู้จักก่อน รู้จักว่าเป็นที่ไหนคืออะไร แต่ที่จริงยิ่งกว่านั้นอีก หมอนั้นจะบำบัดโรค เริ่มเรียนแท้ๆ เริ่มเรียนต้องเรียนสรีระวิทยา เรียนกายวิภาค เรียนร่างกายก่อน อ้าว! ก็จะแก้ไขโรคแล้วไปเรียนร่างกายทำไม เพราะร่างกายเป็นที่ตั้งของโรค โรคมาเกิดที่ร่างกาย เชื้อโรคมันก็มาทำต่อร่างกาย หรือแม้แต่อาการวิปริตความไม่สมดุล การทำงานบกพร่อง ของร่างกายเองก็เป็นเหตุให้เกิดโรค แต่รวมแล้วก็คือแพทย์จะแก้ไขบำบัดโรคกลับต้องเรียนเรื่องร่างกายก่อน เหมือนกับเรื่องทุกข์เนี่ยะ ทุกข์มันเกิดที่ไหนเกิดที่ชีวิตคนต้องเรียนรู้เรื่องชีวิต เพราะฉะนั้นในข้อทุกข์นั้นเรียนอะไร เรียนขันธ์ 5 คือเรียนชีวิตคนซึ่งเป็นที่ตั้งของทุกข์อีกที แบบเดียวกับแพทย์ เพราะว่าการปฏิบัติผิดต่อชีวิตนั่นเอง หรือการทำงานไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ความบกพร่องของการดำเนินชีวิตนี่แหละเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทีนี้ แต่ว่าหน้าที่ต่อทุกข์ก็คือ วินิจฉัย รู้ กำหนดให้ชัด เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ใครเป็นทุกข์ ถ้าใครเป็นทุกข์แสดงว่าผิด ทุกข์นั้นสำหรับปัญญารู้ เป็นเรื่องของปัญญาที่จะรู้ ทุกข์ไม่ใช่สำหรับเป็น แต่ทุกข์สำหรับรู้ รู้เท่าทัน รู้เพื่อจะแก้ไข ทีนี้ตรงข้ามกับทุกข์ก็คือสุข แต่ที่จริงท่านหมายถึงภาวะไม่มีทุกข์ คือภาวะไม่มีโรค สุขภาพดี ร่างกายสมบูรณ์ภาวะนี้ก็คือจุดหมาย ภาวะนี้คือภาวะที่เราต้องการทำให้เป็น เราควรจะเป็นข้อที่ จากทุกข์ข้อหนึ่ง ต้องรู้ สองสมุทัย เหตุของโรคอาจจะเป็นเชื้อโรค ความบกพร่องของการทำงานของร่างกาย หรือการถูกทำร้าย อันนี้คือสมุทัย สมุทัยนี่ต้องแก้ต้องบำบัด และก็สาม นิโรธ จุดหมายคือความไร้โรค ร่างกายสุขภาพสมบูรณ์ ใช่มั้ย ความมีสุขภาพจิตสมบูรณ์นั้นเองก็คือหายโรคทุกข์ ความไร้ทุกข์หรือจะเรียกในระหว่างนี้เรียกว่าความเป็นสุข เป็นภาวะที่เราจะทำให้มันเป็นขึ้นมา เราจะเป็นสุข แล้วต่อจากนั้น พอเรารู้ว่าโรคอะไร เกิดจากเชื้อหรือเกิดจากอะไร จับได้แล้ว แล้วก็รู้ว่าจุดหมายของเราคืออย่างนี้ ตอนนี้แหละก็วางวิธีแก้ไข วางวิธีรักษา จะต้องวางยายังไงให้ยาอะไรบ้าง เวลาไหนก่อนหรือหลังอาหาร วันละกี่มื้อ ให้คนไข้ปฏิบัติตัวยังไงทั้งหมดนี้เรียกว่ามรรค วิธีปฏิบัติลงมือทำ ดังนั้น มรรค อริยสัจ 4 ข้อก็เราก็มีหน้าที่ ทวนอีกที หนึ่ง-ทุกข์ เราก็มีหน้าที่ กำหนดรู้หรือว่าวินิจฉัย รู้ทันมัน รู้ตามที่มันเป็น สอง-สมุทัย เรามีหน้าที่แก้ไขบำบัด สาม-นิโรธ เรามีหน้าที่ทำให้มีเป็นจริงขึ้นมา เนี่ยะที่เราจะทำให้เป็นขึ้นมาก็คือข้อนี้ ถ้าพูดในระดับต้นๆ ก็คือสุข เรามีหน้าที่เป็น แล้วก็มรรค-วิธีปฏิบัติให้รู้ทุกข์ วิธีปฏิบัติให้แก้ไข สมุทัย-วิธีปฏิบัติให้บรรลุ นิโรธ-ผลที่ต้องการ อันนี้คือต้องลงมือทำ ข้อสี่-มรรค พระพุทธเจ้าตรัสไว้สี่หน้าที่ หนึ่ง-ทุกข์ มีหน้าที่ปริญญาคือรู้ แต่ว่าทุกข์นั้นมีหน้าที่สำหรับปัญญารู้ เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ ถ้าใครเป็นทุกข์แสดงว่าคนนั้นปฏิบัติผิด สอง-สมุทัย ท่านเรียกว่า ปหานะ เรามีหน้าที่ละ กำจัด สาม-นิโรธ เรามีหน้าที่ ท่านเรียกว่าสัจฉิกิริยา เราทำให้เป็นจริงหรือทำให้แจ้ง ทำให้ประจักษ์ ทำให้เป็นของประจักษ์ขึ้นแก่ตัวเอง แล้วก็มรรคเรามีหน้าที่ปฏิบัติลงมือทำท่านเรียกภาวนา มีหน้าที่ภาวนาก็แปลว่าทำให้มันเป็นมันมีจริงขึ้น หน้าที่อริยสัจ 4 ข้อนี่สำคัญมาก อย่ารู้แต่เพียงอริยสัจ 4 ต้องรู้หน้าที่ต่ออริยสัจด้วย แล้วเราจะตอบไม่ผิด เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นสุข แต่สอนให้เรารู้ทันทุกข์ ก็หมายความว่าทุกข์สำหรับรู้ สุขสำหรับเป็น เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาคือศาสนาแห่งความสุข ไม่ใช่ศาสนาแห่งความทุกข์ แต่ว่าเราไม่หนีทุกข์ เราสู้หน้าเผชิญด้วยปัญญา ใช่ไหม ถ้าเราใช้หลักนี้ตอบก็สบาย และอย่างหลักหนึ่งที่ควรจะรู้ไว้อันนี้ง่ายๆ ก็คือพระพุทธเจ้าตรัสวิธีปฏิบัติต่อเรื่องสุขทุกข์ไว้ว่า หนึ่งไม่เอาทุกข์ทับถมตน คนจำนวนมากเอาทุกข์มาทับถมตัวเอง ใช่ไหม อยู่ดี ๆ ไปเที่ยวคิดเรื่องอะไรต่ออะไรมาทำให้หัวสมองทุกข์ เยอะเลยนะ อย่างคนแก่ๆ ก็นั่งกลุ่มใจเอาโน่นเอานี่มา อย่างคนหนุ่มๆ ก็ตัวเองก็อยู่ดี ๆ ก็ไปเที่ยวหาเรื่องมาทุกข์ไปเที่ยวมัวเมาอะไรต่ออะไร อาหารกินที่จะสุขภาพดีก็ไม่กินไปกินของที่ทำให้ร่างกายเสียหาย ใช่ไหม อันนี้เขาเรียกว่าเอาทุกข์ทับถมตน สอง ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม สุขที่ชอบธรรมที่มันไม่ได้เสียหายอะไรไม่เบียดเบียนใครนี่ท่านไม่ให้ละทิ้ง สาม แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้นก็ไม่สยบมัวเมา เรามีสุขที่ชอบธรรมเราไม่ทิ้งแต่ว่าเราก็ไม่สยบ ไม่ติดจมอยู่ไม่มัวเมา อันนี้ก็สำคัญใช่ไหม พระพุทธเจ้าตรัสไว้แต่ละตอนละตอนเลยไม่ให้มันเสียใช่ไหม อ้าว สุขเกิดไปติดซะอีกก็เสียอีกละ ทีนี้ต่อไป สี่-ปฏิบัติเพื่อก้าวสู่ความสุขที่ประณีตขึ้นไป หมายความว่ายังมีสุขที่ดีกว่านี้ อย่าไปหยุดอยู่แค่นี้ เช่น สุขที่อาศัยวัตถุ พึ่งพาสิ่งภายนอก นี่เป็นสุขขั้นต้นท่านยอมรับ แต่ยอมรับอ้าวมีโทษมากนะ ถ้าคุณติดอยู่นี่นะ ไอ้สุขประเภทนี้มันต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอกไม่เป็นอิสระในตัวคุณเอง แล้วก็เมื่อขึ้นต่อสิ่งภายนอกเราต้องหามา มันมีจำกัดก็ต้องแย่งชิงกัน เกิดปัญหาทางสังคม ท่านก็เลยบอกให้พัฒนาความสุขระดับอื่นต่อไป ความสุขในทางคุณธรรม ความมีเมตตา การอยู่ร่วมกันด้วยไมตรี อย่างความสุขในครอบครัวที่มีความรักความอบอุ่น ความสุขในระหว่างมิตรสหาย ก็มีอีกระดับหนึ่งแต่อย่างน้อยว่าให้มันมีหลายหลายอย่างมาช่วยกัน เริ่มด้วยความสุขกับสภาพแวดล้อม ความสุขจากการรู้จักวางจิตใจของตัวเองให้ถูกต้อง ความสุขจากการมีปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้พัฒนาขึ้นไป อย่าไปหยุดอยู่แค่ความสุขระดับเดียว ตกลงว่าเอานะวิธีปฏิบัติต่อทุกข์สุข หนึ่ง-ไม่เอาทุกข์ทับถมตน สอง-ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม สาม-แม้ในสุขที่ชอบธรรมก็ไม่สยบมัวเมา สี่-ปฏิบัติเพื่อก้าวไปสู่ความสุขที่ประณีตขึ้นไป แล้วชีวิตก็จะพัฒนาไปด้วย เมื่อเราพัฒนาไปสู่ความสุขที่ประณีตขึ้นไปเนี่ยะเราต้องพัฒนาตัวเองทุกด้าน ต้องพัฒนาปัญญาต้องพัฒนาคุณสมบัติทางจิตใจอะไรต่าง ๆ พัฒนาพฤติกรรมในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ มันเป็น อย่างศีล อุโบสถ ศีล 8 เนี่ยะ มีไว้ทำไม อันนี้ก็เลยแทรกด้วยเพราะว่าเป็นเรื่องที่น่ารู้ เพราะชาวพุทธเนี่ยะปฏิบัติรักษาอุโบสถกันเยอะ บางทีก็บอกได้บุญ ได้บุญ แต่ไม่รู้ว่าเพื่ออะไร ให้สังเกตุนะอันนี้ก็เป็นเรื่องง่ายๆ ศีล 8 นี่ท่านมีไว้เพื่อฝึกการรักษาความสามารถที่จะมีความสุขโดยไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอกมากนัก รักษาอิสระภาพในการมีความสุข คือคนเราเนี่ยะเริ่มต้นท่านก็บอกว่า เอ้า! ต่างคนต่างก็อยากได้อยากเอาให้มากใช่ไหม ทีนี้ท่านก็กั้นไว้ด้วยศีล 5 บอกว่าเอาละจะหาอะไรต่ออะไรก็หาไปแต่ว่าขออย่าให้มันเบียดเบียนกันเลย ถ้าขืนไม่เอาศีล 5 นะใครมีกำลังมากกว่าก็แย่งชิงคนอื่นมันก็เดือดร้อนก็ยุ่งกันไปหมด ใช่ไหม ไอ้คนที่ไม่มีกำลังก็ต้องลักลอบเอา ท่านก็บอก เอ้า! คุณจะหาไปอยากได้เท่าไรก็หา แต่ว่าขออย่าละเมิดศีล 5 แล้วคุณก็จะอยู่ร่วมกันได้ พอจะไม่เดือนร้อนเกินไปเรียกว่าไม่ลุกเป็นไฟ สังคมนี่ไม่ถึงกับระส่ำระสายนัก แต่ว่าไม่เป็นประกันว่าจะมีความสุขหรอก ศีล 5 นะเอาแค่ว่าอยู่กันได้ แต่ละคนก็พออยู่ ทีนี้คุณจะต้องฝึกพัฒนาต่อไป ถ้าอยู่กับศีล 5 ก็มันก็ยังอยู่ในระดับที่ว่าอยากจะได้ให้ได้มากที่สุด เสพบริโภค เอามาเอามา ใช่ไหม ก็แย่งชิงแต่กั้นไว้ด้วยศีล 5 ก็ฝืนใจสิใช่ไหมจะเอาเต็มที่ก็เอาไม่ได้เดี๋ยวจะละเมิดศีล 5 ละเมิดกฎหมาย ท่านก็บอกว่าฝึกต่อไปทำไง ก็ให้ศีล 8 มา ศีล 8 ก็เพิ่ม ศีล 5 นี้เป็นเรื่องการอยู่ร่วมกัน ปฏิบัติต่อคนอื่น ไม่ฆ่าฟัน ไม่ละเมิดทรัพย์สินอะไรนี้นะ ไม่ละเมิดคู่ครอง ไม่หลอกลวงเขา ไม่เสพยาเมาเพราะว่าคนที่ดื่มสุรายาเมานี่เวลาเมาแล้วครองสติไม่อยู่ เป็นผู้คุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของผู้อื่น ใช่ไหม เราเห็นคนเมามาเราไม่สบายใจเลย คนขับรถคันโน้นเมามานี่คนอื่นใจหวาดผวาเลยใช่ไหม เนี่ยะคนที่เสพยาเสพติดเนี่ยะเป็นผู้คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของเพื่อนร่วมสังคม ทีนี้ห้าข้อนี้มันเน้นเรื่องการอยู่ร่วมกัน ทีนี้ท่านก็เพิ่มมาบอกว่าเพื่อคุณจะได้พัฒนาต่อ ก็เติมศีล 8 ศีล 8 ข้อที่เติมเป็นเรื่องของส่วนตัวทั้งนั้นไม่มีเรื่องเกี่ยวกับผู้อื่นละ ให้สังเกตุนะความแตกต่าง ทีนี้วิกาลโภชนาเป็นเรื่องของเราเอง ละเว้นจากอาหารยามวิกาล นัจจคีตวา-เว้นจากการร้องรำขับร้อง ก็เรื่องของตัวเอง เรื่องของมาลาคันธะวิเล-ประดับตกแต่ง ก็เรื่องของตัวเอง นอน ที่นั่ง ฟูกฟู ก็เรื่องของตัวเองทั้งนั้น แม้แต่พรหมจริยาก็เรื่องของตัวเองทั้งนั้น ทำไม ก็เพราะว่าตอนนี้ละที่ว่าไอ้ศีล 5 นี่มันแค่กั้นไม่ให้เบียดเบียนกันแต่ยังมุ่งเอาความสุขจากวัตถุภายนอก นี่ก็ท่านก็บอกว่า เอ้า! ลองอยู่เท่าที่ชีวิตต้องการ สิ่งไม่จำเป็นต่อชีวิตที่บำรุงบำเรอลองตัดดูบ้าง บอกว่าแปดวันลองครั้งหนึ่ง ถ้าหากว่าเราปล่อยตัวเกินไปความสุขของเราชีวิตของเราจะขึ้นต่อวัตถุหมด บอกว่าลองดูสิกินอาหารแค่เท่าที่จำเป็นต่อชีวิตต้องการ และก็อยู่โดยที่ไม่ต้องขึ้นต่อเรื่องของความสนุกสนานบันเทิง การประดับประดาที่มันเกินจำเป็นและนอนเนินก็ให้มันง่ายๆ แล้วอยู่สุขสบายได้มั้ย เจ็ดวันเอาทีแปดวันเอาทีก็เป็นการที่ฝึกตัวเองไว้และเตือนสติด้วยว่าไม่ให้เราเนี่ยะไปขึ้นต่อวัตถุ เสพบำรุงบำเรอเกินไป ชาวบ้านเอาแค่นั้น ถ้าเป็นพระก็ทำประจำไปเลย ใช่ไหม ทีนี้อย่างน้อยเราก็ไม่มัวเมา แต่ทีนี้เราจะมีอิสระด้วย ท่านไม่ใช่บอกว่าพอ มีวิกาลโภชนา นัจจคีนวา เว้นไปแล้วไม่สนุกสนานบันเทิงแล้วจะอยู่เฉยๆ นี่ ท่านให้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ท่านเรียกว่า อนวัจกรรม ทีนี้แทนที่เราจะเอาเวลาไปสนุกสนานบันเทิงนะ ไปเที่ยวเตร่ เราก็เอาเวลามาใช้ประโยชน์ หนึ่ง-แสวงหาปัญญาค้นคว้าหนังสือ สอง-ไปทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ไปสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ไปเลี้ยงเด็กกำพร้าอะไรต่ออะไรเนี่ยะ ไปดูแลคนแก่ ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ใช้เวลาเอาแรงงานเวลาที่จะสูญเสียไปกับหาความสุขเนี่ยะ เอามาใช้ในทางที่ดีงามซะ พัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญาตัวเองและทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็นี่แหละอุโบสถ ต้องมุ่งอย่างนี้ แต่อย่างน้อยข้อสำคัญคือให้ชีวิตของเรานี่ไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอกเกินไป ทีนี้เราจะเก่งขึ้นคล่องตัวขึ้น อย่างคนที่ขึ้นต่อวัตถุเสพภายนอกเนี่ยะต่อมามันพะรุงพะรัง แล้วไปไหนไม่คล่องตัว อย่างบางคนเนี่ยะถ้าไม่มีฟูกนอนละนอนไม่ได้ ลำบาก ทีนี้ถ้าคนที่นอนยังไงก็ได้นะจะไปไหนมีอะไรก็ไปได้เลย ใช่ไหม นอนฟูกก็ได้ไม่มีก็นอนได้ ก็เลยมีคติที่ญาติโยมเค้าก็เลยพูดขึ้นมาก็เลยเออดี คนที่ฝึกในศีล 8 เนี่ยะก็จะก้าวหน้าไปถึงขั้นที่ว่าอะไรต่ออะไรที่มีฟุ่มเฟือยบำรุงบำเรอความสุขเนี่ยะ บอกว่ามีก็ดีไม่มีก็ได้ ถ้าคนที่ไม่ฝึกก็จะบอกว่าต้องมีฉันจึงจะอยู่ได้ถ้าไม่มีฉันแย่ ทีนี้คนที่ฝึกตัวเองก็บอกว่ามีก็ดีไม่มีก็ได้ ทีนี้บางอย่างเนี่ยะ คนที่ฝึกตัวเองมากมากเนี่ยะเห็นเป็นเกะกะมันยุ่ง ฉันอยู่สบายสบายคล่องตัวดีกว่าก็บอกว่ามีก็ได้ไม่มีก็ดี ว่างั้นนะ มีก็ได้ก็มีก็ไม่ว่าอะไรแต่ไม่มีเราคล่องตัวดีกว่าเป็นอิสระ คนอย่างนี้ก็พัฒนาภายในก็เป็นอิสระมากขึ้น ความสุขไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุบำรุงบำเรอและก็ทำให้ชีวิตมีสติมากขึ้นและสามารถใช้เวลาทำประโยชน์ได้มากขึ้น ใช่ไหม ถ้าคนที่มัวแต่บำรุงบำเรอตัวเองมันก็ไหลไปตามกระแสต่อไปก็ยิ่งมีความสุขไม่ได้ด้วยตัวเอง ต้องขึ้นต่อวัตถุมากขึ้นมากขึ้นก็เสียอิสระภาพ นึกว่าตัวเก่ง เปล่าเลย หมดความสามารถที่จะมีความสุข หมดอิสระภาพ เพราะฉะนั้นต้องฝึกไว้ เพราะฉะนั้นชาวพุทธเนี่ยะ ความจริงเรื่องศีล 8 อุโบสถเนี่ยะเป็นเรื่องหลักเบื้องต้น ถ้าเราฝึกกันไว้จะเป็นประโยชน์มาก เชื่อไหม น่าจะทำเจ็ดวันแปดวันที ฝึกความเข้มแข็ง สติ แล้วก็ความเป็นอิสระของตัวเอง ความอยู่ง่ายซึ่งทำให้ไม่เบียนเบียนกันมากด้วย พร้อมกันนั้นเอาเวลาไปทำประโยชน์ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการฝึก เอาเรื่องศีลเนี่ยะมาช่วยฝึกเรื่องของการพัฒนาชีวิตซึ่งไปทั้งจิตใจปัญญาไปด้วยกัน อย่างที่พูดมาปรารภก็คือให้เข้าใจเรื่องการปฏิบัติกับเรื่องสุขเรื่องทุกข์ เพราะฉะนั้นพุทธศาสนานี่เป็นศาสนาแห่งความสุขไม่ใช่ศาสนาแห่งความทุกข์ ถ้าฝรั่งอ่านคำสอนนั่นเพราะเขาจับไม่ถูก เขาก็เห็นอริยสัจทุกข์ก็ บอกพุทธศาสนาสอนว่าชีวิตเป็นทุกข์ ลองไปอ่านตำราฝรั่ง เอนไซโคปิเดียจะพูดอย่างนี้ แต่ทีนี้ถ้าไม่ได้อ่านตำรามาเมืองไทยมาเจอคนไทยก็ เอ๊ะ! ชาวพุทธนี่เป็นสุขนะ คือมามองดูชีวิตที่เป็นจริงจะเห็นว่าเป็นสุข เค้าโยงไม่ได้ว่ามันยังไง คำสอนมันเป็นทุกข์แต่ตัวคนอยู่มันสุข ก็เนี่ยะคือจับไม่ถูกจับจุดไม่ได้ อันนี้เข้าใจรึยังตอนนี้ ตอบได้นะ ตอบว่า อ๋อ! ทุกข์พุทธศาสนานั้นสอนว่าทุกข์สำหรับรู้ เป็นเรื่องสำหรับปัญญารู้ แต่ว่าสุขนะสำหรับชีวิตเราจะเป็น ทีนี้ก็อีกอันหนึ่งเรื่องกรรม ก็ชาวพุทธก็พูดถึงกรรมกันแล้วก็พูดเพราะไม่ได้ศึกษาพูดตามๆ กันมาต่อมาก็คลาดเคลื่อนเพี้ยนเยอะเลย จนกระทั่งมาเป็นลัทธิกรรมเก่า เดี๋ยวนี้ ผมเคยพูด เคยได้ยินแล้วใช่ไหมที่บอกว่ามีลัทธิเดียรถีย์สามลัทธิ พระพุทธเจ้าสอนไว้ ที่จริงท่านก็ในพระสูตรในอภิธรรมนะ ซึ่งชาวพุทธเนี่ยะถ้าเรียนหลักซักหน่อยก็จะรู้ แต่ไม่ได้เอาใจใส่ แยกไม่ถูก แต่ที่ผมถามนี่ต้องการให้แยกว่า ลัทธิกรรมเก่ากับพุทธศาสนาต่างกันอย่างไร หรือว่าลัทธิกรรมเก่ากับหลักกรรมในพุทธศาสนาต่างกันอย่างไร ตอบได้ไหม ลองตอบดูก็ได้
พระลูกศิษย์ (ท่านโช-ติ-ปุณ-โณ) : กรรมเก่าก็คือผลที่เกิดจากชาติที่แล้วก็มาดลบันดาลให้ชาตินี้ต้องเป็นอย่างนี้บ้าง อย่างนี้บ้าง เกิดมายากจนบ้าง แต่กรรมของเรานี่คือกรรมลักษณะที่ว่าการกระทำของบุคคล การกระทำของสังคมที่มีผลกับเรื่องที่เกิดขึ้น อย่างนี้รึเปล่าครับ
พระอาจารย์: ก็ยังไม่ถูกทีเดียวนะ เอาละต้องดูดูความเข้าใจกัน เพราะอันนี้มันมาในเรื่องของสภาพสังคม มาแฝงในวัฒนธรรมแต่ว่ามันคลาดเคลื่อน ฉะนั้นที่ท่านโช-ติ-ปุณ-โณว่านั้นก็หมายความว่ากำลังพยายามแยกออกมาแต่มันก็ยังไม่ถึงตัวแท้ ใครจะลองอีกมั้ย แยกลัทธิกรรมเก่าออกจากกรรมในพุทธศาสนาออกมาให้ได้ ถ้าแยกไม่ได้ละก็แสดงว่าเราก็ยังไม่พ้นจากปัญหาของชาวพุทธที่จะสร้างสังคมพุทธได้ยากนะ เอ้า! ลองดู
พระลูกศิษย์: กรรมเก่าก็เหมือนท่านโชติปุณโณนะครับก็คือเป็นกรรมเมื่อชาติที่แล้ว แต่กรรมจริง ๆ คือมันเกิดจากเหตุปัจจัย
พระอาจารย์: อ้าว ก็กรรมในชาติก่อนก็เป็นเหตุปัจจัยเหมือนกันนี่นา เออ ยังไงนะ
พระลูกศิษย์: ผมขอตอบว่ามันเป็นกรรมที่เหตุปัจจัย เป็นการกระทำของเรา แต่ไม่ใช่ในชาติที่แล้ว
พระอาจารย์: เอ้า ท่านว่าอย่างนี้ ท่านสุ-วี-โร ว่า ท่านสุริธรรมโมลองว่าดู
พระลูกศิษย์: ลองดูนะครับ
พระอาจารย์: ลองดูดีแล้วหล่ะ
พระลูกศิษย์: กรรมของลัทธิเดียรถีย์นะครับ จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในปัจจุบัน ส่วนกรรมในหลักพุทธศาสนาคือการกระทำปัจจุบันทั้งสิ้น อย่างนี้รึเปล่าครับ
พระอาจารย์: ก็ใกล้เข้าไปอีก ก็ได้คนละแง่ละแง่ ท่านอิท-ธิ-วะ-โรไม่ลองตอบเหรอ ลองดู
พระลูกศิษย์: กรรมของลัทธิเดียรถีย์นะครับ จะทำให้คนหมกมุ่นไม่ยอมทำความดีเพราะว่าเป็นเราเคยทำมาแล้วยังไงเราก็ต้องรับกรรม แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ กรรมในพุทธศาสนาคือถ้าเราทำไม่ดีกับใครเราก็ต้องรับกรรมนั้น ถ้าเราทำดีกับใครเราก็รับกรรมนั้น ทุกคนจะรับกรรมเสมอทั่วกันครับ
พระอาจารย์: ลองเท่านี้ก่อนใช่ไหม เอาละ ว่าไปตามขั้นๆ ว่าไปเป็นขั้นตอน หนึ่ง ลัทธิเดียรถีย์ที่สอนว่าอะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรมเก่าคือลัทธินิครนถ์ ชื่อลัทธินิครนถ์ ทีนี้ต่างกับพุทธศาสนาอย่างไร ก็กรรมเก่ามันก็บอกอยู่แล้วว่ามันเฉพาะเก่ามันไม่พูดกรรมเฉยๆ กรรมเฉยๆ มันเป็นกลางๆ นี่ รวมหมดเลย กรรมมันไม่ได้มีแค่เก่านี่ใช่ไหมมันมีใหม่ด้วย มันต้องตลอดหมดมันจะไปจำกัดเอาเก่ายังไง ละเก่าของลัทธินิครนถ์หมายถึงกรรมชาติก่อนเหมือนที่ท่านว่า คือลัทธินี้เค้าจะถือว่า คนเรานี่จะสุขหรือจะทุกข์จะประสบความเป็นไปอย่างไรก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน เมื่อเชื่ออย่างนี้ก็กลายเป็นว่าทั้งในอดีตในปัจจุบันชาติในชาตินี้ที่เป็นไปแล้วก็ตามต่อไปก็ตามมัน ก็แล้วแต่กรรมชาติก่อน งั้นต่อไปข้างหน้าเราก็ต้องรอกรรมชาติก่อน ใช่ไหม อันนี้มันก็หมายความว่ามันมองอยู่แค่ส่วนเดียว ทีนี้กรรมก็คือเรื่องของการกระทำที่เป็นเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลา จะเป็นเก่าเป็นใหม่แล้วก็ไปต่ออนาคต ทีนี้ไอ้กรรมเก่ามันก็มีผลต่อปัจจุบัน แล้วปัจจุบันมีผลต่ออนาคต เรารู้กรรมเก่าก็คือรู้เหตุปัจจัยเก่ารู้แล้วเราก็จะได้เอามาใช้ประโยชน์ปัจจุบัน ในการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น แล้วเรามุ่งหมายผลในอนาคตอย่างไร ก็กรรมปัจจุบันที่ทำนี่จะเป็นเหตุปัจจัย เราก็จะได้วางแผนถูก แต่ไม่ว่าจะเรื่องเก่าเรื่องใหม่เรื่องอดีดหรืออนาคตที่ทำได้คือปัจจุบัน ใช่ไหม ตกลงว่าเรื่องกรรมนี่พุทธศาสนาก็มาเน้นที่ปัจจุบันเพราะเป็นส่วนที่เราทำได้ แต่ว่าพุทธศาสนามุ่งให้เราปรับปรุงทำกรรมที่ดียิ่งขึ้นใช่ไหมที่เรียกว่าทำกรรมที่เป็นกุศล ถ้าอดีตเราทำกรรมไม่ดีเราก็จะได้มาแก้ไขทำกรรมที่ดี หนึ่ง เพื่อทำกรรมปัจจุบัน สอง และทำกรรมปัจจุบันที่ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาความสามารถที่จะทำกรรมที่ดี ทำกรรมที่เป็นกุศล ทีนี้ลัทธิกรรมเก่ามันมีผลเสียอย่างไร คือมีผลเสียที่ทำให้เรารอผลไม่ต้องทำอะไร นี่จุดที่เสียหาย พุทธศาสนานี่ต้องการให้ทำ ไม่ใช่ให้รอผล เพราะฉะนั้นท่านก็เลยจัดเข้าในลัทธิสามลัทธิ เดียรถีย์ที่เชื่อไปหมกมุ่นติดเข้าแล้วเนี่ยะจะทำให้ไม่ทำอะไร เค้าเรียกว่าเป็นไปเพื่ออกิริยาการไม่กระทำ หนึ่ง ลัทธิที่เชื่อว่าคนเราจะเป็นยังไงมีสุขมีทุกข์ยังไงก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อน เมื่อเชื่ออย่างนี้ก็ต้องรอกรรมชาติก่อนใช่ไหม มันจะเป็นยังไงก็แล้วแต่กรรมชาติก่อนก็เลยไม่คิดแก้ไขทำอะไร สอง ลัทธิที่ถือว่าอะไรจะเป็นยังไงก็เป็นเพราะการบันดาลของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่หรือพระผู้เป็นเจ้า งั้นทำอะไรก็ไม่มีผลสิ แล้วแต่พระเจ้าโปรดหรือไม่ ใช่ไหม ถ้างั้นเราก็ต้องหาทางทำให้พระเจ้าโปรด เช่น พาไปบูชายันต์ หรือไม่งั้นก็ไปอ้อนวอนเอา ทำผิดก็อ้อนวอนให้ท่านโปรดท่านก็ยกโทษให้ ถ้าหากว่าทำดีแต่ท่านเกิดเคืองขึ้นมาท่านก็เล่นงานเราอีก ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เราทำอะไรก็ไม่มีประโยชน์ สาม ลัทธิที่ถือว่าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยแล้วแต่โชค แล้วแต่โชคว่ามันจะเป็นไงคาดหมายไม่ได้ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ถึงคราวก็เป็นเอง สามลัทธินี้เป็นลัทธิเดียรถีย์ ทวนอีกที หนึ่ง ลัทธิกรรมเก่า อะไรอะไรก็เป็นกรรมชาติปางก่อน สอง ลัทธิที่อะไรจะเป็นยังไงก็เพราะพระเจ้าบันดาล สาม ลัทธิที่ถือว่าอะไรจะเป็นยังไงก็เป็นไปเองแล้วแต่โชค ถึงคราวเป็นไป สามลัทธินี้มันขัดต่อหลักเหตุปัจจัย ลัทธิที่หนึ่งเรียกว่าบุพเพกตเหตุวาทหรือเรียกสั้นๆ ว่าบุพเพกตวาท ลัทธิที่สองเรียกว่าอิสสรนิมมานเหตุวาท หรือเรียกง่ายๆ เป็นอิศวรนิรมิตวาท อิศวรนิรมิต สาม ลัทธิอเหตุอปัจจยวาท หรือ อเหตุวาท อเหตุวาทง่ายๆ ดี ไม่มีเหตุ แล้วแต่โชค ทีนี้อย่างคนที่ชอบพูด “แล้วแต่เวรแต่กรรม” เนี่ยะเป็นคนที่พร่าไม่เข้าใจหลักพุทธศาสนา ดีไม่ดีก็ไปเชื่อเป็นลัทธิ แบบแล้วแต่โชค เพราะฉะนั้นความไม่ชัดเจนเนี่ยะทำให้เกิดปัญหามาก ชาวพุทธเชื่อเรื่องกรรมก็เพี้ยน แล้วก็ไปเป็นเรื่องกรรมเก่าชาติก่อนบ้าง ไปเรื่องแล้วแต่โชคบ้าง อะไรตีกันวุ่นหมด เป็นเรื่องดลบันดาลบ้างอะไรบ้าง ก็ต้องแก้ให้ถูก อย่างน้อยรู้หลักอันนี้ไว้จะได้แยกออกไปจากพุทธศาสนา หลักกรรมก็คือหลักของการกระทำที่ว่าเรื่องของชีวิตมนุษย์มันเป็นเรื่องที่เกิดจากเจตน์จำนงค์ ซึ่งออกมาในทางความคิดการพูดการกระทำ ใช่ไหม ซึ่งมันมาหล่อหลอมชีวิตของเราและทำให้ชีวิตของเราเป็นไปต่าง ๆ ซึ่งมันก็เป็นกระบวนการของเหตุปัจจัยในการกระทำในการคิดในการพูดที่มันดำเนินไปอยู่เรื่อย ๆ ปัจจุบันก็เป็นผลจากอดีต และทำเดี๋ยวนี้ล่วงไปวินาทีเดียวก็เป็นอดีต ถูกไหม มันก็กระบวนการก็ไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ก็หมายความว่าปัจจุบันเนี่ยะก็คือผลรวมของอดีตตั้งแต่วินาทีนี้ถอยหลังไปหมด ซึ่งก็เป็นความจริงอย่างนั้น ทีนี้เมื่อเป็นอย่างนี้ เราต้องการให้เกิดผลดี ต่อไปข้างหน้าเราก็ต้องแก้ไขว่าอะไรที่ทำมาผิด แก้ซะ แล้วก็วางแผนทำให้ดีเพื่อผลข้างหน้ามันจะดี เพราะฉะนั้นหลักพุทธศาสนาจึงมีการศึกษามีสิกขาเพื่อเราจะได้มาปรับปรุงแก้ไขให้การกระทำกรรมของเราดีขึ้น เพราะฉะนั้นหลักธรรมมันก็โยงไปหาหลักไตรสิกขาซึ่งเป็นข้อปฏิบัติในพุทธศาสนาว่าให้เราศึกษาให้เราแก้ไข ให้เราพัฒนาปัญญาแล้วก็มาทำกรรมที่ดีขึ้นเป็นกุศลยิ่งขึ้นใช่มั้ย ไม่ใช่ไปมัวรอผลกรรมเก่า เป็นอันว่าเป้าหมายของการกระทำกรรมของเราอยู่ที่ปัจจุบันแล้วพัฒนาความสามารถที่จะทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น นี่หล่ะหลักกรรมของพุทธศาสนา แยกได้ไหมตอนนี้ แล้วมีอะไรสงสัยไหมตอนนี้ ชัดพอไหมที่คุยกันนี้ ก็จำสามลัทธิให้แยกออกจากพุทธศาสนาได้ก็จะชัดพอสมควร และก็เรื่องหน้าที่ กิจต่ออริยสัจก็จะตอบเรื่องนี้ เรื่องทุกข์เรื่องอะไรได้
พระลูกศิษย์: แล้วถ้าเรื่องฤกษ์ยามอย่างนี้ละครับ
พระอาจารย์: ฤกษ์ยาม?
พระลูกศิษย์: ที่มีบางคนเชื่อ เราจะอธิบายอย่างไรดี บางทีเรื่องฤกษ์อย่างสมัยก่อน ถ้าเกิดกษัตริย์อยากจะส่งเทียบเชิญไปหากษัตริย์อีกเมืองนึงที่จะเชิญมาในเมืองของเรา พราหมณ์ก็จะเป็นคนดูฤกษ์ยาม แต่ผมก็ไม่ได้เชื่อเรื่องนั้นแต่เชื่อตรงที่พราหมณ์จะเป็นคนที่คำนวนว่าควรจะส่งเทียบเชิญไปในฤดูกาลไหน เพราะว่าถ้าเกิดส่งจดหมายไปในฤดูหนาวจดหมายก็อาจจะไปไม่ถึงหรือว่าส่งไปเร็วไป กษัตริย์ก็อาจจะเตรียมการในเมืองไม่ทันเพราะว่าสมัยก่อนการเดินทางก็ลำบากก็ต้องมีการเตรียมเงินเตรียมอะไรทำพิธี ผมเลยบอกว่าเคยอ่านมาเหมือนกันว่าอย่าไปเชื่อเรื่องงมงายแต่ก็ต้องเชื่อเพราะว่าเค้าเป็นการคำนวน เพราะเป็นหลักการว่าเวลาเท่านี้กี่เดือนกี่เดือนจะส่งเทียบไปแล้วกษัตริย์จะมากว่าจะตอบได้แล้วจะเตรียมการพร้อม หรือว่าเวลาวันไหว้เจ้าของชาวจีนนะครับ ที่ชาวจีนจะนิยมไหว้เจ้าเยอะมาก แต่ ถึงเวลาก็จะมีคนไหว้เจ้า กษัตริย์ก็เลยให้รวมตัวกันเผาคัมภีร์ให้หมดแล้วก็นักปราชญ์ก็มารวมตัวกัน แล้วก็คิดสูตรคำนวนว่าควรจะไหว้ทุกเจ็ดวัน ทุกสิบห้าวัน แบบให้หยุดเฉลี่ยะกันไปว่าอาทิตย์นี้หยุดวันจันทร์ อาทิตย์นี้หยุดวันอังคารเฉลี่ยกันไปสักสี่ห้าปีก็เฉลี่ยกันไปหยุดกันครบทุกวัน อย่างนี้ครับ แต่จริง ๆ มันคือการคำนวน แต่เค้าไม่ได้สอนว่าควรจะทำอย่างนี้เพราะอะไร เค้าสอนแค่ผลลัพธ์ออกมาเลย ควรจะแนะนำญาติโยมยังไงดีครับ แล้วท่านมีความเห็นยังไงครับ
พระอาจารย์ : เรื่องฤกษ์ยามเป็นต้นมันก็เกิดจากการที่มนุษย์เราเนี่ยะไม่รู้ความจริงในระบบความสัมพันธ์เหตุปัจจัยของธรรมชาติเพียงพอ เมื่อเราไม่รู้เพียงพอเนี่ยะเราคาดหมายอะไรไม่ได้ ใช่ไหม ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จากความไม่รู้ก็ทำให้เกิดความหวาดกลัวและระแวง ก็จะหาสิ่งที่ช่วยให้เกิดกำลังใจความมั่นใจ ยึดเหนี่ยว และนี่เป็นจุดที่มา ละทีนี้ก็เมื่อมีเรื่องอย่างนี้ขึ้นมาจะเป็นเรื่องฤกษ์ยามหรือความเชื่อเทพเจ้า ไปบวงสรวงทำให้เกิดหลักยึดเหนี่ยวขึ้นมา อย่างน้อยก็ปลอบโยนจิตใจ ก็ทำให้เขาเนี่ยะใจไม่ฟุ้งซ่านมากไม่ระส่ำระสายก็เกิดความเข้มแข็งขึ้นมาได้ หนึ่งละใช่ไหม สอง ก็คือว่าเมื่อคนในสังคมนี้ กลุ่มนี้ ชุมชนนี้ มันเชื่ออย่างเดียวกัน มันก็มีสิ่งที่รวมใจทำให้เกิดความเข้มแข็งสามัคคีพร้อมเพรียง ได้ประโยชน์ตรงนี้ ทีนี้เรื่องของโหรนี่ก็เป็นวิชาสถิติอย่างหนึ่งด้วย คนสมัยก่อนนี่เค้าก็สังเกตุมาว่าเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ในธรรมชาติ ดวงดาวนี้อยู่ตำแหน่งนี้หรืออะไรแบบนี้จะเกิดเหตุการณ์นั้นก็จดบันทึกไว้จดบันทึกไว้ คนรุ่นหลังก็ดูตามนี้ ก็ต่อมาก็พออันนี้มาละก็เดี๋ยวจะเกิดอย่างนั้น ใช่ไหม อันนี้ก็คือเรื่องของการที่มนุษย์ได้แค่สังเกตุปรากฏการณ์ ซึ่งก็เป็นธรรมดาแม้วิทยาศาสตร์เองก็ต้องใช้วิธีนี้ เพราะเรารู้เรื่องของเหตุปัจจัยในธรรมชาติไม่เพียงพอ อย่างเดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์ก็อาศัยความรู้นี้มาทำให้เกิดความแน่นอนทดลองกัน ทดลองกันว่ามันเกิดจริงอย่างนี้ทุกทีก็วางลงเป็นกฎเป็นอะไรได้ แต่ถึงกระนั้นปราฏว่ายังมีผิดเลย ขนาดนี้ใช่มั้ย เช่นอย่างนิวตัน The Law of Gravitation กฎความโน้มถ่วง ก็นึกว่ามันเป็นความจริงของธรรมชาติ ต่อมาตามทฤษฎีของไอสไตน์บอกว่ามันไม่จริงแต่ว่าใช้ประโยชน์ได้ในระดับของการเป็นอยู่ การปฏิบัติการของมนุษย์ในระดับหนึ่งก็ถือว่าเป็นจริง แต่ว่ามันก็ยังแสดงว่ายังรู้ไม่เท่าถึงระบบความสัมพันธ์เหตุปัจจัยในธรรมชาติเพียงพอ มันละเอียดอ่อนเหลือเกิน อย่างเดี๋ยวนี้การทำนายเรื่องฤดูกาลอากาศนี่ เค้าบอกว่าเหตุปัจจัยมันซับซ้อนเกินกว่าที่จะทำนายให้แม่นยำ ใช่ไหม ก็พยายามกันไป นี่ก็เป็นความพยายามของมนุษย์อย่างโหราศาสตร์ก็มาเป็นดาราศาสตร์ แต่ก่อนก็ได้แค่นี้ เอามาใช้ทำนายความเป็นไปสังคมมนุษย์ ต่อมาก็เลยมนุษย์ก็ได้รู้เรื่องความสัมพันธ์เรื่องรายละเอียดเรื่องดาวเรื่องระยะทางเรื่องการหมุนการอะไรต่ออะไรดีขึ้น เป็นวิชาดาราศาสตร์ ก็เลยสองวิชานี้มันสืบเนื่องกันโบราณก็เป็นโหราศาสตร์ แต่ว่ามันก็มีหลักความจริงอยู่อันหนึ่งที่ว่า ก็ในเมื่อสิ่งทั้งหลายนี้มันสัมพันธ์กันหมด ความเป็นไปของอันหนึ่งก็มีผลกระทบต่ออันอื่นที่ใกล้ชิดแล้วก็ขึ้นต่อความแรงของเหตุปัจจัยอันนั้นใช่ไหม นี่แหละ ไอ้หลักนี้มันก็มีความเป็นไปได้ที่ว่าความเปลี่ยนแปลงของดวงดาวอะไรต่ออะไรมีผลต่อพวกธาตุต่าง ๆ ในโลกนี้ อย่างเมื่อหลายปีมาแล้วก็มีพวกนักวิทยาศาสตร์เองเนี่ยะเกิดการสังเกตุว่า เหตุการณ์ปรากฏการณ์ในสังคมมนุษย์เองมันมีความสัมพันธ์กับเรื่องของความหมุนเวียนของดวงจันทร์ คือเค้าสังเกตว่าเวลาเท่านั้นค่ำมีอาชญากรรมประเภทนี้มาก อะไรอย่างนี้ ก็เลยมีการพยายามหาเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ ก็สันนิษฐานแบบเหตุปัจจัยตามทางวิทยาศาสตร์เช่นวันเท่านั้นค่ำมีอย่างนี้ อาชญากรรมอย่างนี้มากมันสัมพันธ์กับอะไร ดวงจันทร์นี่มันสัมพันธ์กับเรื่องของโลกที่มีอิทธิพลต่อน้ำขึ้นน้ำลง ถูกไหม ซึ่งมันก็เป็นความจริงเพราะว่ามันแรงดึงดูด ทีนี้ที่มันทำให้น้ำขึ้นน้ำลงในโลกเนี่ยะแล้วในร่างกายคนเนี่ยะก็ประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นเวลาพระจันทร์สิบห้าค่ำเป็นต้น ก็จะมีแรงดึงดูดซึ่งไม่เฉพาะมีผลต่อน้ำในแม่น้ำในทะเลก็มีผลในน้ำในร่างกายคน เมื่อน้ำในร่างกายคนมีการเปลี่ยนแปลงก็มีผลกระทบต่อสมองเรื่องของความคิดจิตใจสภาพจิตใจก็มีความรู้สึกแปรปรวนไปตามด้วย เค้าก็ตีออกมาว่าเนี่ยะมันเป็นเพราะอย่างนี้ เห็นไหม ถ้าพูดอีกแง่นึงก็ได้พวกปรากฏการณ์ว่า อ้อ พอถึงวันสิบห้าค่ำมันมีเหตุให้อาชญากรรมนี้มาก แล้วก็พูดได้แค่นั้นว่า อ้อ ถ้าเป็นพระจันทร์เต็มดวงมีอาชญากรรมนี้ ได้แค่นั้น ทีนี้พอรู้เรื่องเหตุปัจจัย ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งทั้งหลายเช่นเรื่องความดึงดูดมากขึ้นก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ว่าเหตุปัจจัยนี่ชัดเจนยิ่งขึ้นมันเป็นกระบวนการอย่างไร อันนี้ก็เป็นตัวอย่างเท่านั้นแหละ ก็หมายความว่า อ้อ นี่เป็นตัวอย่างที่ว่าความเปลี่ยนแปลงของดวงดาวนี่มีผลได้ ใช่ไหม แต่ว่าเมื่อมันเป็นอย่างนี้มันก็คือ เรื่องของระบบความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง เป็นแต่เพียงมนุษย์นั้นยังไม่รู้เข้าใจ แต่ทีนี้มนุษย์จะไปมัวรอเอางี้หรือ พุทธศาสนาบอกว่าเราไม่ควรจะไปมัวรอสิ่งที่มันไม่รู้แน่นอน อะไรที่เรารู้สึกสาเหตุปัจจัยได้เราทำได้เนี่ยะเราทำ ใช้ความเพียรพยายามเพราะความเพียรพยายามของเราในเหตุปัจจัยที่ชัดเจนเนี่ยะมันสามารถทำให้มีกำลังแรงกว่าส่วนเหตุปัจจัยที่มันแฝงนิดๆ หน่อยๆ เราจะมัวไปรอทำไม เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ตรัสอย่างในพุทธภาษิตบทหนึ่ง “นักขัตตัง ปฏิมาเนนตัง อัตโถ พาลัง อุปัจจคา” ที่บอกว่า “คนเขลามัวคำนวณดวงดาวอยู่ ประโยชน์ได้ล่วงเลยเขาไปเสียแล้ว” เพราะว่าประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจะทำอะไรได้ ดังนั้นพระพุทธศาสนาไม่ควรให้ติดอยู่แต่ว่าให้ใช้ปัญญาศึกษาทำเหตุปัจจัย เมือเรามีกำลังใจเข้มแข็งทำด้วยปัญญาจริง ๆ เนี่ยะเราสามารถที่จะครอบงำเหตุปัจจัยที่เบากว่าได้ แต่ว่าทีนี้ถ้าเราหวั่นไหวใจเราไม่เข้มแข็งก็เราก็เพรี่ยงพร้ำได้ ฉะนั้นเราก็เอาเหตุปัจจัยที่จะรู้ได้ศึกษาได้เนี่ยะเป็นหลักก่อน จะเห็นว่าคนที่ถือฤกษ์ยามนั่นเพราะตัวโหรเองก็แม่นบ้างไม่แม่นบ้างแล้วก็ไม่ได้รู้จริงดูไปตามสถิติใช่ไหม ฉะนั้นการพลาดก็เกิดเช่นปฏิวัติในเมือไทยคราวหนึ่ง โหรให้ฤกษ์ว่าตีสามคณะปฏิวัติก็เลยรอเวลาตีสามพออีกฝ่ายรู้ก็ชิงเอาเสียก่อนก็เลยแพ้เลย ใช่ไหมนี่มัวรอฤกษ์ใช่ไหม ตีสามฝ่ายโน้นก็ชิงเอาซะตัดหน้าพวกนี้ก็เลยอด ตีสามก็โดนชิงไปแล้วเสียท่า เพราะฉะนั้นก็มัวรอฤกษ์ยามเนี่ยะมันเสียซะเยอะ พุทธศาสนาเนี่ยะท่านไม่มัวรอเรื่องเหล่านี้ อย่างการอ้อนวอนเทพเจ้าโดยมากก็จะได้เรื่องกำลังใจ ความพรักพร้อมเชื่อร่วมกัน พวกการเชื่อร่วมกัน กำลังใจ ความพร้อมเพรียงก็ไม่น่ามีผลนะ แต่ทีนี้ จะเล่าเรื่องให้ฟังอันนึงคือพวกประเภทนี้มันอยู่ในประเภทเดียวกัน โหราศาสตร์ เชื่อฤกษ์ยาม และเรื่องเชื่อเทพเจ้าอะไรต่ออะไรเนี่ยะ ทีนี้ก็เอาเรื่องเทพเจ้าและฤกษ์ยามมารวมกันท่านก็เล่าไว้เป็นชาดก อย่างน้อยให้เห็นทัศนคติของพุทธศาสนาตามเรื่องเหล่านี้ ที่ริมแม่น้ำคงคามีฤษีท่านหนึ่งตั้งอาศรมอยู่ ฤษีท่านนี้มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนไกลไปเป็นแคว้นเลย เพราะว่าท่านติดต่อกับพระอินทร์ได้ เดี๋ยวๆ พระอินทร์ก็จะลงมาเยี่ยมท่านมาคุยกับท่าน ทีนี้พระอินทร์รู้เหตุการณ์ล่วงหน้าฉะนั้นพระอินทร์ก็จะมาเล่าให้ฤษีท่านฟังว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างงั้นๆ ฤษีก็เอามาบอกชาวบ้าน คนก็เลยนับถือฤษีได้รู้เหตุการณ์ล่วงหน้าอะไรต่าง ๆ ต่อมาก็มีแคว้นสองแคว้นจะรบกัน ทีนี้เอาแคว้น ก. กับ แคว้น ข. ก็แล้วกัน ทั้งสองแคว้นต่างก็นับถือพระฤษี ยังไงยังไงก็ต้องถามพระฤษีก่อนว่าใครจะชนะ ก็เลยฝ่ายหนึ่งก็ไปหาพระฤษีอีกฝ่ายหนึ่งก็ไปแต่ว่าไม่พร้อมกัน ทีนี้พระฤษีก็ผลัดบอกว่าเดี๋ยวๆ ขอโอกาสรอพระอินทร์จะมาวันนั้นแล้วจะถามให้แล้วนัดมาฟังอีกที พอพระอินทร์มาฤษีก็ถามว่าสองฝ่าย ก. และ ข. เขาจะรบกันแล้วฝ่ายไหนจะชนะ พระอินทร์ก็บอกว่าฝ่าย ก. จะชนะ พระฤษีก็นัดพบสองฝ่ายไว้คนละครั้งแล้วก็บอกให้ฟัง ทีนี้ฝ่าย ก. ที่จะชนะได้ฟังคำทำนายแล้วก็ไปบอกแม่ทัพนายกองก็ดีใจเพลิดเพลินสนุกสนาน คราวนี้สนุกกันใหญ่เลยเหมือนกับฉลองชัยชนะก่อนจริง ก็ไม่เตรียมการเพราะนึกว่าตัวเองจะชนะละ ทีนี้ฝ่ายกษัตริย์ ข. ไปฟังคำทำนายมาแล้วเป็นคนที่มีกำลังใจเข้มแข็งไม่ย่อท้อ เนี่ยะถ้าเป็นคนที่ไม่มีกำลังใจพอฟังว่าแพ้ก็แย่ละใช่ไหม ดีไม่ดีก็หนีหรือไร อันนี้บอกว่าเราได้ฟังอย่างนี้เราต้องยิ่งเตรียมทัพให้รอบคอบ ก็บอกนายทัพนายกองวางแผนกันให้ดีจัดกระบวนทัพเตรียมกำลังให้เข้มแข็งพรักพร้อมที่สุด พอถึงเวลารบกันจริงปรากฏว่าฝ่าย ข. ชนะ ก. แพ้ แม่ทัพหรือพระเจ้าแผ่นดินฝ่าย ก. ที่ได้รับคำทำนายว่าชนะก็โกรธพระฤษีมากสิใช่ไหม ว่าหนอยมาทำนายว่าเราจะชนะละเสร็จแล้วเราแพ้ ก็หนีขับม้าหนีไปแต่ถึงอย่างไรต้องด่าพระฤษีให้ได้ก่อน ก็ต้องผ่านม้าไปทางอาศรมพระฤษีตะโกนด่าฤษีโกหก ทีนี้ฤษีก็น้อยใจที่พระอินทร์มาทำให้เราเสียชื่อในหมู่มนุษย์ ใช่ไหมโดนชาวบ้านด่า ก็เลยรอจนกระทั่งว่าต่อมาพระอินทร์ก็ลงมาเยี่ยมอีกก็มาคุย ฤษีก็ต่อว่าบอกว่าท่านทำไมบอกเราผิดหล่ะเลยทำให้มนุษย์เค้าโกรธและเราก็เสียชื่อหมดคราวนี้ พระอินทร์ก็กล่าวคาถาขึ้นมาคาถาหนึ่งบอกว่า ลงท้ายนะบอกว่า “ความเพียรของมนุษย์เทวดาก็กีดกันมิได้” อันนี้ก็หมายความว่าพุทธศาสนาเนี่ยะไม่ยอมแก่เรื่องโชคชะตา ให้มีความเพียรพยายามใช้สติปัญญากำลังความสามารถแล้วจะสามารถเอาชนะแม้แต่โชคชะตาได้ แม้แต่พระอินทร์ทำนายก็ยังมนุษย์ยังเอาชนะได้ นี่คือคติพุทธศาสนานะจำไว้ไม่ให้ย่อท้อ ทางพุทธศาสนานี่ไม่ให้ย่อท้อ แต่ว่าไม่ให้ประมาท อีกฝ่ายนึงนั้นมัวหลงระเริงใช่ไหม ก็เล่นสนุกสนานเลยแพ้เลย ฝ่ายนี้มันมีกำลังใจไม่ท้อถอยไม่อ่อนแอก็เตรียมการใช้ปัญญาคิดเตรียมการให้รอบคอบก็ชนะได้ คติพุทธศาสนาจะมีเรื่องอย่างนี้ ชาดกท่านเล่าไว้ มีเรื่องในคัมภีร์ที่ว่าเทวดามาแกล้งมนุษย์เพราะว่าไม่พอใจ แต่มนุษย์มีความหนักแน่นมั่นคงในธรรมชนะเทวดา เพราะพุทธศาสนาถืออะไรรู้ไหม คือศาสนาพราหมณ์เก่าเขาถือว่าเทพสูงสุด เทพเจ้าเป็นผู้บันดาลเทพสูงสุดก็สร้างโลกด้วย บันดาลชะตากรรมทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามอำนาจของเทพเจ้า พระพุทธศาสนาเกิดมาสอนใหม่บอกธรรมสูงสุด นี่คือหลักการใหญ่หลักการพื้นฐานว่าชาวพุทธจะต้องยืนให้ได้ ทีนี้ชาวพุทธเดี๋ยวนี้ไม่มั่นคงไปกลัวเทวดาเอาเทพสูงสุด ท่านไม่ได้ให้ดูถูกหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อเทวดา เคารพนับถือเหมือนญาติพี่น้องมีเมตตาต่อกันแต่ท่านไม่ให้ยอมกับเทวดา ต้องถือธรรมเป็นใหญ่ มนุษย์กับเทวดาจะชนะกันที่ธรรมะ ถ้ามนุษย์มีธรรมเทวดาจะชนะไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็คติพุทธศาสนาก็ย้ายจากเทพสูงสุดมาเป็นธรรมสูงสุด จำไว้ให้แม่นหลักของเราอย่างนี้นะ เนี่ยะจุดเปลี่ยนที่พุทธศาสนาเกิดขึ้น ก็ธรรมมันก็โยงไปถึงความจริงของธรรมชาติระบบเหตุปัจจัย ใช่ไหม ซึ่งต้องรู้ด้วยปัญญา ใช่ไหม แต่เทพเจ้ายิ่งใหญ่เรามีหน้าที่อ้อนวอนและเอาอกเอาใจ ใช่ไหม แต่ธรรมะนี่เรามีหน้าที่ต้องรู้ถ้าเราไม่รู้ทำไม่ถูก เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมมันต่างกัน มนุษย์สัมพันธ์กับเทพโดยการอ้อนวอนเอาอกเอาใจให้ท่านบันดาลผลให้ แต่มนุษย์สัมพันธ์กับธรรมต้องรู้ความจริงนั้นด้วยปัญญาก็ต้องพัฒนาตน เพราะฉะนั้นหลักการพุทธศาสนาที่ถือธรรมเป็นใหญ่สูงสุด ทำให้มนุษย์ต้องรู้ต้องศึกษาให้เกิดปัญญา แล้วก็ต้องทำ คือทำให้ตรงเหตุปัจจัยจึงต้องมีความเพียรพยายาม เพราะฉะนั้นหลักเรื่องกรรมการกระทำ หวังผลจากการกระทำด้วยความเพียร และหลักสิกขาการศึกษาจึงตามมา จากการถือธรรมเป็นใหญ่ ตรงนี้จะทำให้เราแยกได้ระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์เป็นต้น เดี๋ยวจะว่าเทวดาในพุทธก็มีในพราหมณ์ก็มี ชาวบ้านแยกไม่ถูกเลยว่าชาวพุทธนับถือเทวดาแบบไหนพราหมณ์นับถือแบบไหน แยกได้รึยังตอนนี้ ได้น่ะ บอกว่าอย่างชาวพุทธนี่พระจะสวดมนตร์ก็มีชุมนุมเทวดา เคยได้ยินใช่ไหม ชุมนุมเทวดาหมายความว่าไง อย่าไปเข้าใจว่าไปนับถืออ้อนวอนเทวดา เนี่ยะดีไม่ดีแยกไม่ออก ก็คนเค้านับถือเทวดาอยู่พุทธก็ไม่ปฏิเสธแต่ท่านบอกว่า หนึ่งต้องมีเมตตากับการปรารถนาดีต่อกัน สองเทวดาโดยมากเป็นปุถุชนยังเวียนว่ายตายเกิดมีกิเลสเยอะ ยังมีปัญญาไม่มากนักอาจจะดีกว่ามนุษย์บ้างแต่ก็ยังไม่เพียงพอต้องพัฒนาตนต่อไป ทีนี้พระจะสวดมนตร์ก็คือสาธยายคำสอนของพระพุทธเจ้าคือธรรมะ เพราะฉะนั้นเรามาฟังสาธยายธรรมะ เราก็มาฟังธรรมะนั่นเอง ทีนี้มนุษย์ไม่ฟังธรรมะแต่คนเดียวก็บอกว่าเอ้อเราจะฟังธรรมะกันแล้วเทวดาเราก็คิดถึงอยากให้ได้ฟังบ้างก็เลยชุมนุมเทวดา ก็บอกเทวดาทั้งหลายท่านจะอยู่ที่ใดก็ตาม อยู่ในฟ้าอยู่ในห้วยอยู่ในเหวอยู่ในเขา พูดหมดเลย ลงท้าย “ธรรมสวนะกาโล อะยัมภะทันตา” ท่านผู้เจริญทั้งหลายถึงเวลาฟังธรรมแล้ว นี่คือพุทธศาสนากับเทวดา ชุมนุมเทวดาคือเชิญเทวดามาฟังธรรมไม่ได้ขอร้องอะไรท่านเลย เข้าใจรึยัง เนี่ยะ แยกแค่นี้ก็ชัดแล้ว แต่ถ้าไม่รู้หลักนี่แยกไม่ได้เลยใช่ไหม เอ๊ะ! ชุมนุมเทวดาสงสัยอ้อนวอนเทวดาแล้ว เนี่ยะเชิญเทวดามาฟังธรรมนะ ต่อไปนี้ตอบได้เลยนะว่าเทวดาเนี่ยะ หนึ่ง เรามีความสัมพันธ์กับท่านด้วยเมตตาไม่ลบหลู่ดูหมิ่น อยู่ร่วมกันด้วยความรักไมตรีนับถือกันตามคุณธรรม สอง เราไม่อ้อนวอนเราถือหลักกรรมหวังผลจากการกระทำ สาม เราถือธรรมสูงสุดเป็นใหญ่ มนุษย์กับเทวดานี่ต้องขึ้นต่อธรรมด้วยกัน ใครมีธรรมคนนั้นชนะ หลักนี้ชัดนะ
พระลูกศิษย์: เราก็ใช้หลักนี้มาอธิบายให้กับญาติโยมที่เขามีความเชื่อทางด้านสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ได้ใช่ไหมครับ
พระลูกศิษย์: ได้สิก็เราไม่ได้ลบหลู่ไง คืออันนี้นะมันก็ไปสัมพันธ์กับหลักกรรมหน่อย ถ้าเค้ายังไม่มั่นคง คือคนเราทางพุทธศาสนาเราไม่ใช้วิธีบังคับใช่ไหม ในเมื่อเค้ายังไม่เข้มแข็งพอเราก็ต้องมีเมตตาต่อเขา ก็ยอมให้เขานับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ว่าคุณนับถืออย่างเดียวนะอย่าให้ผิด นับถือแล้วอย่าให้เสียหลักกรรม หมายความว่าถ้านับถือแล้วรอคอยให้ท่านมาบันดาลให้ นอนงอมืองอเท้าอย่างนี้ผิดหลักกรรมใช่ไหม ไม่หวังผลจากการกระทำ แต่ถ้านับถือแล้วเกิดกำลังเข้มแข็งขึ้นมาปลอบให้มีกำลังใจแล้วมีกำลังในการกระทำ ยังถือหลักเหตุปัจจัยในการกระทำอยู่อย่างนี้ยังยอมรับได้ ก็เป็นเพียงว่ามาหนุนการกระทำความเพียร แต่ถ้านับถือแล้วเนี่ยะนอนรอคอยการดลบันดาลเลย อย่างนี้ผิดหลักกรรมเลย ผิดหลักพุทธศาสนา เอานี้เป็นตัวตัดสิน อยู่ที่นับถือแล้วผิดหลักกรรมไหม หลักธรรมในที่นี้ก็คือการสร้างผลด้วยการกระทำเหตุ ก็เป็นอันว่าไม่เสีย นับถือพุทธศาสนามีแต่ดีขึ้น นิมนต์
พระลูกศิษย์: ก็คือคนที่นับถืออยู่สมมุติว่ามีหมอเตือนว่า วันนี้จะฤกษ์ไม่ดีแต่เราจะต้องออกไปทำงานข้างนอก แล้วก็ระวังตัวมากเป็นสองเท่าให้ไม่ประมาทขึ้น จะได้ไม่ไปเหมือนไปลบหลู่ของเค้าแล้วก็แทรกทางพุทธเข้าไปด้วยดีไหมครับ
พระอาจารย์: ก็ ไม่ใช่แทรกหรอกคือให้เค้าพัฒนาตัว ก็ให้เค้าพัฒนาตัวคือว่าเราค่อยๆ ให้ความรู้เข้าใจ
พระลูกศิษย์: จะได้ไม่เป็นการงมงายใช่ไหมครับ
พระอาจารย์: ใช่ คือไม่ให้งมงาย หรือแม้เค้ายังงมงายอยู่บ้างแต่เรารอเวลาที่จะให้เค้าพัฒนา แต่ขณะนั้นต่อหน้าเฉพาะหน้าคืออย่าให้เขางอมืองอเท้า ต้องให้เขาทำกรรมที่ดีให้ใช้ความเพียรไม่ใช่งอมืองอเท้ารอผล คือถ้าเขาไม่รอผลก็นับว่าเข้าสู่ทางละ มีทางพัฒนา แต่ถ้าเป็นคนพอนับถือแล้วก็หวังผลจากบันดลบันดาลละตานี้ไปแน่ ผิดล่ะ
พระลูกศิษย์: ถ้าเกิดมีคนที่เขาเข้าใจว่าศาสนาพุทธของเรานี้ ศาสนาพุทธอย่างเราก็คือ รดน้ำมนต์ ทำให้โชคดี ปลุกเสกเครื่องของขลัง แล้วก็ให้พึ่งของขลัง เช่น อยากจะพบรักกับผู้หญิงก็ต้องใช้พระขุนแผน อะไรอย่างนี้นะครับยกตัวอย่าง ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนเพราะพระขุนแผนก็ดัง ก็จะทำยังไงจะอธิบายให้เขาชัดเจนว่าศาสนาพุทธมีจุดยืนอยู่ที่ธรรมเป็นใหญ่ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นใหญ่ ทีนี้ทำยังไงครับ
พระอาจารย์: ใช่ ก็ต้องสอนให้รู้สิ ก็บอกว่า สิ่งทั้งหลายเนี่ยะมันจะเป็นไปยังไงมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ต้องพยายามชี้แจงหาตัวอย่างเหตุปัจจัยมาให้เค้าเห็น คนเราต้องการผลก็ต้องทำเหตุ ทีนี้อะไรต่ออะไรมันจะเลื่อนลอยมาเองได้ยังไง เนี่ยะคุณหวังอย่างนี้ เหมือนกับคุณอยากจะสอบได้แล้วคุณไม่ดูหนังสือไม่เอาใจใส่ไปอ้อนวอนอย่างเดียวนะ เชื่อได้เลยไม่มีทางสอบได้ จริงไม่จริง แต่ถ้าหากว่าคุณยังดูหนังสือเพียรพยายามแต่ว่าใจมันไม่มั่นก็เลยไปบูชาด้วย อย่างนี้ก็หมายความว่ามาเสริมกำลังใจใช่ไหม อย่างนี้เราก็พอยอมรับได้ใช่ไหม มันก็ทำให้เข้มแข็งขึ้นไม่ได้เสียหายแต่ว่าจุดสำคัญอย่าให้เขาล่ะทิ้งการเพียรพยายาม การอ่านหนังสือเนี่ยะใช่ไหม อย่าให้เสียจุดนี้ ถ้าอย่างงั้นแล้วแล้วเค้าก็บอก ต่อไปนะถ้าคุณใจเข้มแข็งขึ้นเนี่ยะเชื่อเถอะมีคนตั้งเยอะเนี่ยะเค้าไม่ต้องมาอ้อนวอนบูชาอย่างคุณหรอก แค่เค้าตั้งใจดูหนังสือแล้วเค้าวางแผนการเรียนมานาน ไม่ใช่ว่าถึงเวลาจะสอบทีก็มาดูที คนอย่างนั้นเค้าสอบได้ผลดีชีวิตเค้าเจริญก้าวหน้าเราต้องเอาตัวอย่างมาให้ดูต้องอาศัยวิธีการทางปัญญา ก็ต้องค่อยๆ พูด จะเห็นใช่ไหมเรื่องสอบนี่ก็แน่นอนแล้ว จริงไม่จริง มีใครบ้างไปอ้อนวอนบูชาอย่างเดียวไม่ต้องดูหนังสือแล้วก็สอบได้ จริงไหม ถ้าอย่างนั้นไปหาพระพรหม พระพรหมเก่งจริงก็ไม่ต้องเลยเราไม่ต้องดูหนังสือ เป็นไปได้ที่ไหน อย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรละ จะไปอเมริกาก็พระพรหมช่วยส่งไปเลย
พระลูกศิษย์: พระพรหมจะมีมือกี่มือ จะไหวเหรอครับคนนับล้าน
พระอาจารย์: ก็นั่นสิ ใช่ เพราะฉะนั้นจะให้เก่งยังไงก็ไม่มีทาง เพราะฉะนั้นก็นี่แหละเราจับจุดให้ถูก ต้องชี้เรื่องเหตุปัจจัยให้ชัด ในที่สุดมนุษย์จะต้องรู้ต้องพัฒนา ปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ เหตุปัจจัย ยิ่งคุณรู้เหตุปัจจัยเท่าไหร่ บอกว่าเนี่ยะนับถือเทวดามาเท่าไรสร้างคอมพิวเตอร์ได้ไหม แล้วถ้าสร้างคอมพิวเตอร์ได้อะไร ก็เพราะศึกษาค้นคว้า รู้ความจริงของเหตุปัจจัยในธรรมชาติก็ทำได้ ถูกไหม ทุกอย่างที่มันเกิดความเจริญขึ้นมาก็จากการศึกษา วิทยาศาสตร์มันมาสร้างความเจริญก็เพราะว่าไปศึกษาเหตุปัจจัยในธรรมชาติจริงไม่จริง แล้วก็พัฒนาขึ้นมา มนุษย์คนไหนมัวแต่อ้อนวอนอยู่ไม่ไปไหนละ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเจริญได้ไหม ไม่มีทาง แต่ทีนี้ว่ามนุษย์มันไปด้านเดียว ศึกษาวิทยาศาสตร์ก็มาสนองความต้องการทางวัตถุไม่พัฒนา ก็เลยตกเป็นทาสของวัตถุอีก ก็เป็นการเสียในแง่ต่าง ๆ เรื่องนี้ก็ เอาง่ายๆ เลยใช้หลักอย่างที่ว่า ไม่ต้องไปลบหลู่ดูหมิ่นกันไม่ต้องไปเถียงสุดโต่ง คือพุทธศาสนาเราไม่ใช้วิธีบังคับ เราก็ต้องใช้วิธีเมตตากรุณา ยอมเค้าตามที่เค้าเป็นบ้าง แต่ให้แนวทางที่เค้าจะเดินขึ้นมา แล้วเค้าเข้มแข็งขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วมันขึ้นต่อความสามารถของเราด้วย ถ้าเราเก่งในการพูดจาชี้แนะอะไรต่าง ๆ เค้าอาจจะละทิ้งวิธีการที่ผิดได้ทันที แต่ถ้าเราไม่เก่งพอเราก็ต้องยอมรับว่าเราต้องค่อยๆ ผ่อนอนุโลมยอมตามเค้าบ้าง หาทางให้เค้าค่อยๆ ขยับขึ้นมา มันขึ้นต่อปัจจัยทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเค้าด้วยฝ่ายเราด้วย ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็ให้เค้าเลิกทิ้งตัวเอง ก็ไม่มีความสามารถที่จะให้แนวทางที่ถูกต้องก็เลยกลายเป็นยิ่งเสียใหญ่เลย พวกนี้เค้าก็ได้กำลังใจก็ได้ประโยชน์ไปบ้าง รวมความก็คือนี่แหละหลักการที่เอาหลักธรรมเป็นใหญ่ไว้แล้วก็ใช้ปัญญา แล้วก็มีเมตตากรุณาในการปฏิบัติต่อกัน แล้วก็ถือหลักการพัฒนามนุษย์ซึ่งต้องค่อยเป็นค่อยไป ทีนี้อย่างพระเราที่เรามีพวกสายสิญจน์น้ำมนต์อะไรก็คือ เมื่อมองในแง่สังคมส่วนรวมคนส่วนใหญ่เนี่ยะยังเชื่อถือกลัวสิ่งเหล่านี้ พุทธศาสนาก็ค่อยๆ พัฒนา หนึ่งเอาสิ่งที่เค้าเชื่อกันอยู่มาทำให้ประณีตขึ้น แล้วก็เป็นสะพานที่จะโยงเข้าหาธรรมะ หมายความว่าแต่ก่อนนี้เค้าไม่เอากับพระเค้าก็ไปหาพวกหมอผีอะไรอย่างนี้ ก็เมื่อเค้าไปหาหมอผีก็ไม่มีทางที่จะรู้ธรรมะ พระก็เลยเอาวิธีบางอย่างของหมอผีมา แกไม่ต้องไปหาหมอผีมาที่นี่ได้หมดเลย พอได้ที่พระแล้วใช่ไหมไม่ต้องไปหาหมอผีพระก็ได้โอกาส บอกว่าเอออย่าไปอยู่แค่นี้นะ ที่จริงมันไม่ได้ขึ้นต่อเนี่ยะ เราทำนี่เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งต้องทำนู่นด้วย เอาละเริ่มเดินหน้าละพระก็อาศัยเนี่ยะเป็นตัวเชื่อมเพื่อให้คนเนี่ยะมันมีทางได้สื่อได้พูดกันพบกันเป็นจุดนัดพบจุดแรกแล้วก็ดึงเค้าเดินหน้า ทีนี้ถ้าพระไม่รู้หลักของตัวเองก็เลยกลับจมไปอยู่กับเขาเสียนี่ ใช่ไหม ก็เลยไปเลย ทีนี้หลักพุทธศาสนาต้องการพัฒนาคนขึ้นไปโดยไม่บังคับ มันก็เสี่ยง ศาสนาอื่นเค้าใช้วิธีบังคับเลยถ้าไม่ใช่ตามหลักฉันละก็แกตาย ว่างั้นใช่ไหม นี่พุทธศาสนาบอกว่ามันเรื่องของมนุษย์ ปัญญาบังคับไม่ได้ ยัดหัวไม่ได้ ใช่ไหม ใครเอาปัญญาความรู้ไปยัดสมองให้ได้มีที่ไหน ก็ต้องพัฒนาคนขึ้นมาค่อย ๆ ชี้แจงไป ก็ต้องมีเมตตาสัมพันธ์ต่อกัน มันก็เลยกลายเป็นยาก นี่แหละที่ว่าถ้าพระไม่มั่นในหลักก็ตัวเองนะหล่น เลยไปจมกับเค้าเลย ดีไม่ดีไปหลอกให้เค้าจมเข้าไปอีก เข้าใจนะเรื่องเหล่านี้นะ เอาละ สุขสวัสดี