แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
นี่อีกตัวอย่างหนึ่งอันนี้ต้องฝากพระใหม่ ต้องชัดต้องช่วยสังคมไทยและช่วยในชีวิตของท่านเองด้วย ก็คือเรื่อง
คือเราสอนกันมาเนี่ย ชาวพุทธไทยก็บอกให้ละตัณหา ตัณหานี้ไม่เอา ละตัณหา แต่พระท่านไม่ให้รอละตัณหา ไปรอละตัณหาอยู่ทำไมหล่ะ มันมีสิ่งที่จะต้องทำ สิ่งที่ต้องทำที่สำคัญ ไปรอละตัณหา แล้วทำอะไร เอ้อ สิ่งที่ต้องทำนี่แหล่ะสำคัญ ไอ้สิ่งที่ต้องทำที่มันคู่ตรงข้ามกับตัณหานี่ เราหลงลืมทิ้ง สังคมไทยถ้าไปไม่รอด ถ้าไม่ปลุกอันนี้ขึ้นมา แม้แต่ชีวิตก็เหมือนกัน ตัวนี้คืออะไร นี่จะต้องชัดทุกองค์อย่างน้อยต้องชัดเรื่องนี้ คำนี้ก็ไม่ได้ยากอะไรคือคำว่าฉันทะ แต่คนไทยก็อาจจะนึกว่า เอ้อ มอบฉันทะให้นะ ที่ประชุมจะว่าอย่างไรก็ลงมติไป ฉันมอบฉันทะให้แล้ว อันนี้ก็ความหมายหนึ่ง ฉันทะบางคนก็อาจได้เรียนอิทธิบาท เอ้อ ก็พอจะรู้หน่อย ฉันทะความพอใจ ทีนี้แค่นั้นไม่พอต้องรู้รากเหง้า รู้ต้นตอที่ไปที่มา จะยกตัวอย่างให้นิดหนึ่งพอจะได้รู้ความหมาย เช่นว่า เออ เรานึกถึงวัด วันนี้มีพระ มีบรรยากาศ น่าเลื่อมใสศรัทธา มีพระที่มีความรู้มีปัญญา เราน่าจะไปฟังท่านอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดศรัทธาขึ้นมาแล้ว นี่เรียกว่าศรัทธา ศรัทธาเนี่ยเป็นตัวเริ่มให้แล้ว ในกรณีนี้ศรัทธาเริ่มมาแล้ว พอศรัทธาเชื่อว่า เออไปนี่ดีนะก็อยากไป เอาแล้วทีนี้ อยากไปเพราะจะไปฟัง จะได้ฟังก็คือต้องไป ทีนี้อยากไปฟัง อยากไปฟังนี้คือฉันทะเกิดขึ้นแล้ว เป็นตัวเริ่มตันการกระทำ ถ้าไม่มีฉันทะการกระทำ แต่ในที่นี้หมายถึงการกระทำที่ดี มันเริ่มไม่ได้ ฉันทะนี่เป็นตัวศัพท์พื้นที่สุดของคำว่า ความพอใจ ความปรารถนา ความอยาก ความต้องการ เป็นตัวกลางนะ ตัวเริ่ม เป็นตัวพื้นฐาน ความต้องการ ความพอใจ ความปรารถนา ทีนี้พอใจใฝ่ปรารถนานี่มันดีก็ได้ร้ายก็ได้ ฝ่ายปรารถนาร้ายที่ไม่ดี ที่จะเป็นโทษต่อไป ท่านเรียกว่าตัณหาฉันทะ ชื่อเต็มมันว่าอย่างนั้น ฉันทะนี้เป็นตัวกลาง เป็นชื่อพื้นเดิม ความอยาก ความปรารถนา พอใจเนี่ย ทีนี้พอเป็นอยากฝ่ายไม่ดีก็เติมตัณหาเข้าไป เป็นตัณหาฉันทะ หรือเรียกอีกอย่างว่าอกุศลฉันทะก็ได้ อกุศลฉันทะก็คือตัณหาฉันทะ ทีนี้เวลาเรียกอย่างนี้มันยาวก็เลยตัดเรียก ตัณหาตัวเดียวพอ เอาละนะให้รู้ว่าตัณหาก็คือตัณหาฉันทะ ทีนี้ฉันทะที่ฝ่ายต้องการพอใจ ปรารถนาที่ว่าดีละ นี่อย่างเมื่อกี้บอกว่าอยากจะไปฟังธรรม นี่คืออยากดี อยากอย่างนี้เป็นฉันทะ เขาเรียกว่ากุศลฉันทะ หรือเรียกว่า ธรรมฉันทะก็ได้ แต่ว่าไอ้ฉันทะตัวนี้ มันเป็นฉันทะที่มีการกระทำ มันอยากทำ เพราะฉะนั้นท่านมีชื่อพิเศษ เรียกว่า กัตตุกัมมะยัตตาฉันทะ ฉันทะคือความปรารถนาจะทำ ไอ้ตัณหานี่อยากปรารถนา อยากจะได้มาเป็นของตัว อยากจะเสพ อยากจะบริโภค อยากจะบำรุงบำเรอ อยากจะให้ลิ้นอร่อย อยากจะให้จมูกหอมอะไรทั้งนั้นแหล่ะ มันไม่ได้ต้องการจะทำ นอกจากจะจำใจมันมีเงื่อนไข ถ้าแกไม่ทำแล้วแกจะอด ที่จริงแกอยากจะลิ้มรสอร่อยเท่านั้นเอง ถ้ามีแล้วแกไม่ทำหรอก แกจิกไว้ ฉะนั้นเจ้าตัณหาฉันทะนี่ไม่มีความอยากทำหรอก ทำก็จำใจ ถ้าทำแล้วเป็นทุกข์ ตัณหานี่มันอยากจะเสพ อยากจะบำรุงบำเรออะไรต่ออะไร นี่เป็นตัณหา ทีนี้ไอ้เจ้าฉันทะนี่มันอยากทำ ทำให้ที่มันดี ๆ สิ่งที่ดี ทำไมมันจึงอยากทำสิ่งที่ดี เพราะว่าฉันทะตัวนี้มันแปลว่า ถ้าแปลให้เต็มนะก็แปลว่า ความพอใจ ปรารถนาจะทำอะไรที่ดี ๆ หรือทำให้มันดี นี่อันนี้เรียกว่าฉันทะ จะทำอะไรที่ดี ๆ เช่น อยากจะไปฟังธรรม ก็มีศรัทธาแล้วนี่ ก็อยากจะทำ ก็คือไป ไปฟังธรรม อยากฟังธรรมแล้วดีทั้งนั้น อันนี้ต้องทำทั้งนั้น ทีนี้อะไรที่มันยังไม่ดี อยากทำให้มันดี ก็เป็นฉันทะ
เอาหล่ะนี่ว่าล้อมรอบไปก่อน ทีนี้ไปถึงเนื้อส่วนแท้ ๆ เอานะทีนี้ทำความเข้าใจให้ชัด ยกตัวอย่างก่อน เคยยกตัวอย่างบ่อย เช่นว่าโยมเข้ามาในวัด วัดหลายวัดก็มีต้นไม้เยอะ ๆ ต้นไม้นั้นก็สงบ ร่มรื่น แล้วก็ไม่มีใครมาทำอันตราย ก็มีกระรอก กระแต ทีนี้ไอ้เจ้ากระรอก กระแตมันก็กระโดดโลดเต้นวิ่งไปวิ่งมา เออ มันก็น่าดู ทีนี้คน 2 คนก็มา คนหนึ่งก็บอกว่า เออไอ้กระรอกตัวนี้มันสวยดี มันอ้วนสะด้วย ถ้าเราได้เป็นกับข้าวมื้อเย็นนี้ ลงหม้อข้าว เอ้อ ลงหม้อต้มอร่อยแน่ นี่อยากได้แล้ว ใช่ไหม อยาก อันนี้อยากพอใจเหมือนกัน พอใจเจ้ากระรอกเนี่ย และก็อยากได้เจ้ากระรอก ทีนี้อีกคนหนึ่งมาเห็นเจ้ากระรอกนี่ เออรูปร่างเขาสวยงาม คล่องแคล่วปราดเปรียววิ่งสวยงามกระโดดโลดเต้น แหมทำให้บรรยากาศวัดนี่รื่นรมย์ สวยงามขอให้เจ้ากระตัวนี้มีสุขภาพดีแข็งแรงต่อไปนะ แล้วก็คล่องแคล่วปราดเปรียวอย่างนี้ ช่วยให้วัดนี้ได้รื่นรมย์ มีความเป็นรมย์มณี สดชื่นสวยงามต่อไป อย่างนี้ 2 อันนี้ อันที่ 1 อยากได้กระรอกนั้นมาลงหม้อแกง ต้มกิน นี้เรียกว่าตัณหา ทีนี้ไอ้เจ้าพอใจอยากปรารถนาให้เจ้ากระรอกตัวนั้นแข็งแรง สมบูรณ์ สวยงาม กระโดดโลดเต้นให้มันน่าดูอย่างนี้ต่อไป อย่างนี้เรียกว่า ฉันทะ ทีนี้โยมนี่ไปเดินไปในทุ่งในสวนใดสวนหนึ่ง มีต้นไม้เยอะ ต้นไม้นั้นก็สวยงาม คนหนึ่งก็เออ ไอ้ต้นไม้นี้ดีนี่ ถ้าเราตัดเอาไปขายได้หลายสตางค์ นี่ก็อยากได้ใช่ไหม นี่ก็ตัณหาแล้ว นิยามของตัณหา ทีนี้อีกคนหนึ่ง โอนี่สวนนี้มีต้นไม้อย่างนี้ทำให้สวยงาม แหมขอให้ไม้ในนี้ งดงามยิ่งขึ้นไป ทำให้บรรยากาศร่มรื่น สดชื่น เป็นรมย์มณียสถาน ถ้าเรามีโอกาสเราจะมาช่วย เราจะมารดน้ำให้ เราจะมาช่วยตัดแต่งให้ต้นไม้นี้งาม สวยงามยิ่งขึ้นอย่างนี้ เรียกว่า ฉันทะ เอาหล่ะนะ โยมแยกให้ถูก ลักษณะอย่างหนึ่งของตัณหาและฉันทะที่มันต่างกัน คือตัณหามันจะมีตัวตนขึ้นมา อยากจะได้อยากจะเอาให้ตัวได้เสพได้บำรุงบำเรอตัว มีตัวตนขึ้นมาเลย ตัณหานี้ อยากเพื่อตัวเอง ใช่ไหม อยากได้อยากเอามาบำรุงบำเรอตัวเอง
ทีนี้ไอ้ฉันทะนี่ท่านบอกมันอยากเพื่อสภาวะของสิ่งนั้น ๆ เอง เห็นอะไร เห็นพื้นนี้อยากให้พื้นนี้สะอาด เรียบร้อย หมดจด ก็เพื่อความดีงาม เพื่อสภาวะของพื้นถนน ไปเห็นถนนก็อยากให้ถนนสะอาด หมดจด เรียบร้อย ไม่ขรุขระ ถ้ามันมีหลุม มีตุ่ม มีอะไรจะทำให้คนเป็นอันตรายก็นึกถึงคนอีก อยากให้คนเขามีสุขภาพดี เขาอยู่ดี ต้องไปช่วยเขาแก้ไข หลุมนี้ไปปรับแก้ ไปเติม ไปเอาอะไรใส่ให้มันเต็ม อย่างนี้ก็คือทำให้มันดี ทำเพื่อมุ่งสภาวะดีงามของสิ่งนั้น ๆ เข้าใจแล้วนะ ฉันทะความพอใจใฝ่ปรารถนาเพื่อสภาวะของสิ่งนั้น ๆ เอง ไม่เกี่ยวกับตัวเราเลย ใช่ไหม เราไปเห็นอะไร แม้แต่แขนเนี่ยก็เป็นสภาวะอย่างหนึ่ง เราอยากให้แขนเนี่ยมันสมบูรณ์ แข็งแรง แม้แต่เป็นของตัวเองนะ มันก็เป็นฉันทะ แต่ถ้าเราอยาก เออเราจะได้สวยกว่าคนนั้น อย่างนี้ก็เป็นตัณหาไป ใช่ไหม ถ้าอยากเพื่อให้ร่างกายของเราดีแข็งแรง ก็เป็นเพื่อสภาวะของมัน ความที่ใฝ่ปรารถนาเพื่อสภาวะของสิ่งนั้น ๆ เพื่อจะดีงามสมบูรณ์ของมัน อย่างนี้เรียกว่าฉันทะ แต่ความอยากเพื่อจะนั่นแหล่ะ เพื่อตัวตนเพื่อจะได้มาบำรุงบำเรอเสพอะไรต่ออะไรขึ้นมา พอมีตัณหาเกิด มันจะมีตัวตนขึ้นเอาทันที ถ้าฉันทะมันจะไม่มี ฉะนั้นขอให้คิดดู ถ้าฉันทะมีกันมาก ๆ นี้ ชีวิตก็จะเจริญงอกงาม จะทำงานอะไรต้องทำให้มันดี มันไม่คิด ลืมไปเลยเรื่องผลตอบแทนอะไรต่ออะไร อันนั้นเป็นสังคมที่ดีเขาก็จะจัดสรรเองว่า เออสังคมคนทำงานก็ต้องอยู่ต้องอาศัย เครื่องเลี้ยงชีพต้องจัดให้เขาอยู่ได้ ยังไงจึงจะอยู่ได้ดีก็จัดเข้าไป แต่ว่าตัวคนทำนั้น ถ้าทำได้ตามคติของพุทธศาสนาก็คือเขาจะตั้งใจทำสิ่งที่เขาทำนั้นให้มันดีของมัน ดีที่สุดเต็มที่ของมัน ดีแล้ว แล้วก็ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้นฉันทะนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่า “ฉันทะบูรกา สัพเพ ธัมมา ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นบุญ ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นจุดเริ่มต้น” ถ้าไม่มีฉันทะแล้วไม่ไป เนี่ยในตัวอย่างในพระไตรปิฎกนี่ยังมีเลย พระพุทธเจ้ายกตัวอย่างพระอานนท์บอกว่าจะไปโน่น เช่นที่ว่าเมื่อกี้ไปฟังธรรม บอกว่าจะไปฟังธรรม ก็ต้องทำให้สำเร็จ แล้วฉันทะก็จะหมดไปเอง เนี่ยหลักของการปฏิบัติต่อฉันทะกับตัณหา ปฏิบัติต่อตัณหานั้นอย่างหนึ่ง ปฏิบัติต่อฉันทะอย่างหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่มันเป็นความอยาก ฉันทะละด้วยการทำให้สำเร็จ ท่านบอกอย่างนี้ พอทำให้สำเร็จแล้วมันก็ละเอง ใช่ไหม เพราะว่ามันหมดหน้าที่แล้ว ไอ้ฉันทะมันก็เลิก พอฉันทะเราอยากไปฟังธรรมที่วัด เราก็ไปสิพอไปถึงแล้วฉันทะก็จบละได้ ละด้วยการทำให้สำเร็จนี้เรียกว่า หลักของการละฉันทะ ส่วนตัณหานั้นเมื่อไรมันเกิดขึ้นก็ไม่ต้องเอากับมันก็จบ นี่เรียกว่าหลักของการละตัณหากับฉันทะ เมืองไทยเนี่ยเวลานี้ต้องเตือนกันมากนะเราเป็นชาวพุทธกันมาจนป่านนี้แล้วนเนี่ย แยกไม่ออกระหว่างตัณหากับฉันทะ อยู่ ๆ ก็บอกให้ละตัณหาอย่าไปอยาก ชาวพุทธนี้อยากอะไรไม่ได้คิดเป็นตัณหาไปหมด เมืองไทยสังคมไทยมันจะแย่เพราะคนไทยชาวพุทธนี้ไม่รู้จัก ไม่รู้จักฉันทะ แยกความอยาก แยกความต้องการไม่เป็น เนี่ยเสียหายไปเท่าไรแล้ว ชีวิตก็เหมือนกัน ถ้าจะมัวไปรอละตัณหาอยู่ให้เร่งทำฉันทะสะ อะไรที่มันดีตั้งจุดมุ่งหมายแล้วก็ฉันทะก็มาเริ่มเลย จำให้แม่น “ฉันทะ บูรกา สัพเพ ธัมมา ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นบุญ” เป็นต้นเค้า เป็นทั้งฝ่ายดีฝ่ายร้ายนะ ฉันทะฝ่ายร้ายก็ “ฉันทะ บูรกา สัพเพ ธัมมา ก็คือฝ่ายตัณหาเป็นตัวต้น เป็นตัวเริ่มต้นให้” มีอวิชชาเป็นตัวเอื้อ ปัจจัยของตัณหาก็คืออวิชชา ความไม่รู้ไม่เข้าใจ อะไรมันดี-มันร้าย อะไรได้ประโยชน์-ไม่ใช่ประโยชน์ มันก็ให้โอกาสแก่ความรู้สึก ตัณหานี้เป็นเรื่องของความรู้สึกที่เกิดจากความที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ ชีวิตความจริงอะไรเป็นจริงอะไรเท็จ อะไรนี่ อวิชชา ก็เป็นตัวเอื้อเป็นปัจจัยแก่ตัณหา ตัณหาก็เกิดขึ้นมาเป็นตัวต้นทาง ของฝ่ายร้าย
ทีนี้ ฉันทะ บูรกา สัพเพ ธัมมา ก็ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นบุญก็ฝ่ายดีก็ฉันทะที่เรียกว่า กุศลฉันทะ ธรรมฉันทะ จตุกัมมันจายะฉันทะ เป็นฝ่ายดีก็มีวิชามีปัญญาเป็นตัวปัจจัย เพราะเรารู้นี่อันนี้มันดี อันนี้มีประโยชน์ อย่างนี้จึงจะเหมาะสมที่จะทำให้มีความเจริญ เมืองไทยจะเจริญควรจะต้องมีอย่างนี้ ปัญญามันรู้แล้ว พอปัญญามันรู้ว่าอันนี้มันดีมันเป็นประโยชน์ โอ มันก็อยากทำ ใช่ไหม อยากทำให้มันดี ปัญญามันก็เป็นตัวปัจจัยให้แก่ฉันทะ อวิชชาเป็นปัจจัยให้แก่ตัณหา ปัญญาเป็นปัจจัยให้แก่ฉันทะ ทีนี้เราจะให้ประเทศชาติหรือแม้แต่ชีวิตของเราเจริญ เราก็ต้องคู่กันสิ ปัญญาพัฒนาไป แล้วก็พอปัญญาพัฒนาไป อย่าไปทิ้งฉันทะ มันก็จะรู้ว่าอะไรดีอะไรเป็นประโยชน์ อะไรควรจะทำ ปัญญามันบอกแล้วเจ้าฉันทะจับเอาเลย อยากจะทำให้มันดี ให้สมบูรณ์ ให้สำเร็จ อย่างนี้ละไปได้ชีวิตก็ไปได้ดี ชุมชนก็ไปดี สังคมก็ไปดี ก็เคยบอกแล้วท่านให้หลักไว้ แม้แต่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาเนี่ย มันมาจากฉันทะ ตัวแกนของ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ฉันทะทั้งนั้น อยากให้ดี ถ้าเจอคนก็อยากให้เขาดี ก็คืออยากเพิ่มสภาวะของเขา สภาวะที่ดีของเขาก็คือเป็นคนร่างกายดี สุขภาพดีแข็งแรง มีความสุขอะไรเนี่ย ทีนี้ไอ้เจ้าฉันทะที่มันอยาก ให้มันมีสภาวะที่ดีก็ออกมา 1 เมตตา อยากให้เขามีความสุข แล้วก็นี่ ถ้าเขาทุกข์เดือดร้อนตกต่ำอยู่ ก็อยากจะทำให้เขาพ้นทุกข์ ฉันทะมันก็ออกที่กรุณา แล้วก็เขาทำดีได้สำเร็จก็อยากจะให้เขาดียิ่งขึ้นไป ก็เป็นมุทิตา แล้วก็อุเบกขา อยากเหมือนกัน เนี่ยคนไม่รู้บอกว่าอุเบกขา วางเฉยนี้ ไม่อยาก อุเบกขาก็อยาก ตัวอยากสำคัญเลย อยากให้เขาไม่ทำอะไรผิดพลาด ท่านอธิบายไว้ชัดเลย บอกว่าฉันทะนี้เป็นตัวต้น เขาเรียกว่าเป็นอาทิ เป็นตัวต้นของเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โดยเฉพาะข้ออุเบกขา อยากให้เขาไม่ทำอะไรผิดพลาด เช่น พ่อแม่อยากให้ลูกไม่ทำอะไรผิดพลาด จึงได้ต้องควบคุมดูแลหรือว่ากั้นไม่ให้เขาทำ ใช่ไหม ไม่ใช่ตามใจเขาหมด ถ้ามีแต่เมตตาตามใจลูกจะได้มีความสุข ทำอันนั้นทำอันนี้กลายเป็นเหลวไหล เสียหายแก่ชีวิตของเขาเอง หรือเสียหายกับสังคมก็แล้วแต่ เราตามใจอย่างนั้นเมตตาเสียแล้ว เมตตาก็ประกอบด้วย ความโมหะ ความไม่รู้ ทีนี้ต้องมีตัวฉันทะตัวอุเบกขา ฉันทะนี้อยากให้เขาไม่ทำอะไรผิดพลาด อยากไม่ให้เขาทำอะไรเสียหาย อยากให้เขาตั้งอยู่ในความถูกต้อง อยากให้เขาทำสิ่งที่ถูกต้อง อยากให้เขาทำสิ่งที่ดีงาม นี่คือตัวฉันทะที่เป็นต้นทางของอุเบกขา แล้วอุเบกขาจึงหยุด ใช่ไหม แต่ก่อนนี้อยากให้เขาความสุขก็ตามใจปล่อยเขา พออุเบกขาบอกว่า เอะ ถ้าเขาทำอย่างนี้แล้วมันเสีย ใช่ไหม เสียหายกับตัวเขาเองด้วย อุเบกขาหยุดเลย อุเบกขาหยุด แล้วทีนี้ปัญญาก็มา อุเบกขาก็คือตัวตั้งหลัก ตั้งท่าที วางทีเฉย ดูว่าวางทีเฉย เตรียมการกระทำ ไม่ใช่เฉยไม่รู้เรื่องนั้นเรียกว่า อัญญานุเบกขา เฉยโง่ พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำ เฉยโง่ไม่เอา เฉยมีปัญญาก็คือ เฉยตั้งหลัก พอตั้งหลักทีนี้ปัญญาก็ทำงาน เพราะฉันทะของตัณหาก็คือบอกว่าอยากให้เขาตั้งอยู่ในความถูกต้อง อยากให้ตั้งอยู่ในธรรม อย่างผู้พิพากษานี้ต้องมีอุเบกขา อยากให้ทุกคนตั้งอยู่ในความถูกต้องไม่ทำอะไรผิดพลาด เอาหล่ะทีนี้ปัญญาก็มาวินิจฉัย ว่าจะผิด-จะถูก จะแก้ไขอย่างไร ทีนี้ปัญญามา อุเบกขาต้องคู่กับปัญญาตลอดเวลา ส่วนไอ้เจ้าเมตตา กรุณา มุทิตา บางทีไม่ได้ใช้ปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าสังคมไทยไม่รู้จักอุเบกขาแย่แล้ว นี่จนเดี๋ยวนี้ยังไม่รู้จัก ฉันทะก็ไม่รู้จัก ใช่ไหม เรื่องอยู่กับปัจจุบันก็ไม่ชัด ฉะนั้นศึกษาให้มันชัดเจนทุกอย่าง ข้อธรรมนี้ไม่งั้นเดี๋ยวพลาดแล้วเสียหาย วันนี้ก็เลยมาพูดไปสะเยอะเหมือนกันนะ ก็เอาละอันนี้เป็นตัวอย่างของวิภัชชวาท การรู้จักแยกแยะ อันนี้เออใช่ในแง่นี้ ไม่ใช่ในแง่นั้น ถูกแค่นี้ ต้องแยกแยะเป็น
ก็เป็นอันว่าเรื่องกาลเวลาก็เข้าใจไม่ยาก แต่เรื่องที่จะต้องเน้น ก็คือเรื่องฉันทะ ไม่ว่าชีวิต ชุมชน สังคม ของเรา สังคมไทยประเทศไทยนี่ต่อไปจะต้องปลูกฝังพวกเด็กเยาวชนให้มีฉันทะให้ได้ แล้วท่านไม่ต้องกลัวหรอกถ้าเด็กมีฉันทะแล้วนี่ เรื่องของอบายมุข เรื่องของการเสเพล เรื่องของแม้แต่ระยะยาว ทุจริตอะไรต่ออะไรเนี่ย มันเบาบางไปเอง มันอยู่ที่ให้การศึกษาให้ถูกต้อง อะไรป่านนี้การศึกษายังไม่รู้จักฉันทะ เออ ก็ได้แต่ให้ละตัณหา รอละตัณหาอะไรก็ไม่รู้ ฉะนั้นถึงเวลาควรจะพูดกัน ย้ำกันสะทีนะ ขอให้ปลูกฝังฉันทะให้ได้ เริ่มตั้งแต่ตัวเองเป็นต้นไป แล้วมันมาเลย ศรัทธาเราก็เชื่อสิ่งที่ดีมีเหตุผล พุทธศาสนาบอกให้มีศรัทธามีปัญญา พอศรัทธามันเชื่อสิ่งที่ดี ก็ทำให้ฉันทะอยากทำ พออยากทำดีมันก็สำเร็จนั่นแหล่ะ แล้วปัญญาก็คู่กันไป มันก็จะบอกมันก็จะปรับแก้จะทำให้ก้าวหน้าต่อไปได้ นี่แหล่ะทางที่จะสำเร็จด้วยดี ฉะนั้น เราทำความเข้าใจเรื่องธรรมมะให้ถูก การศึกษาจะไปไม่ได้ ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ใช่ไหม สัมมาทิฐิ ความเข้าใจ ความรู้ ธรรมมะไม่รู้แล้วมันก็เฉไฉไปหมด ถึงจะตั้งใจทำอะไรมันก็ไม่ถูก
วันนี้น่าจะพอ พูดเยอะแล้ว เออ ก็เอาหล่ะอนุโมทนา วันนี้ก็เลยเป็นตัวอย่างของเรื่องวิภัชชวาท ไม่รู้ตั้งใจพูดอะไร วันนี้เอาแค่นี้ก็แล้วกัน
เสียงผู้ชาย: มีคำถามแต่ได้ยินไม่ชัดเจน
สมเด็จ: ไหนนะ เอา ๆ สมองมันชักจะว้าว ๆ แล้ว ถ้าจะพูดกับพระใหม่ ขอพูดน้อย ๆ หน่อย ก็ถือว่าพูดไปแล้วละนะ