แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : [00:00] คำว่า “ธรรม” นี่หลายชั้นเลยนะ ถึงที่สุดก็เป็นตัวธรรมที่เป็นความจริงในธรรมชาติ ถ้าไม่รู้ความจริงอันนี้ ไม่รู้เข้าใจชีวิต ไม่เข้าใจเหตุปัจจัยในสังคม จะบัญญัติกฎหมาย เวลานี้ไม่เข้าใจสังคม มันเป็นยังไง มันมีปัญหายังไง กลไกของสังคมเป็นยังไง การทำเหตุปัจจัยอย่างนี้จะก่อให้เกิดผลในสังคมสะท้อนกันไปยังไง ปัญญาไม่รู้ความจริงอันนี้เพียงพอ หนึ่งพลาดแล้ว วางกฎหมายพลาดทันที เพราะฉะนั้น ๑. การรู้เข้าใจความจริงของตัวธรรมะทุกระดับ ๒. เจตนา เจตนาแอบแฝงมีไหม เช่น เจตนาเอาผลประโยชน์แก่ตัว เจตนากลั่นแกล้งทำร้ายเขา อะไรพวกนี้ เจตนานี้มาก็พลาดอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การบัญญัติตัววินัยที่เป็นกฎในระดับสังคมมนุษย์นี้จะมีทางพลาด ซึ่งทำให้ต้องมีการตรวจสอบอยู่เสมอ ๒ ชั้นด้วยกัน ก็คือ ๑. ตัวปัญญาพอไหม ความรู้เข้าใจพอไหม ๒. เจตนาเป็นอย่างไร ถ้าพลาดอันนี้ก็ไปไม่รอด
[01:09] ทีนี้ก็ขอข้ามไปอีกอันหนึ่ง ก็คือว่า พอเราใช้กฎหมาย ใช้หลักการกฎเกณฑ์กติกา บอกแล้วว่า วินัยในกฎหมายนี่มีกรรมชนิดที่เป็นสมมติ ไม่ต้องรอกรรมตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น มีพระทำความผิด ดำเนินการ ถ้าใครละเว้น มีความผิด ภิกษุรู้อยู่ว่า ภิกษุองค์นี้ทำความผิด ปกปิดความผิด เป็นอาบัติ ใช่ไหม เอาแล้ว ต้องมาเข้าที่ประชุมสงฆ์ เอาเข้าที่ประชุมสงฆ์ นอกจากมีความผิดแล้ว แค่ว่า ๑๕ วันต้องมีการประชุมครั้งหนึ่ง ตรวจสอบเอาปาติโมกข์ ก็คือประมวลกฎหมายที่เป็นวินัยขั้นพื้นฐาน วินัยนี้มีอีกวินัยในระดับการจัดการกิจการ อันนั้นเอามาสาธยายในที่ประชุมไม่พอ เอาวินัยที่เป็นข้อประพฤติส่วนบุคคล เอามาสาธยายกันในที่ประชุมทุก ๑๕ วัน เพราะว่ามันเกี่ยวกับความประพฤติของบุคคล ถ้าผิด ก็เป็นอันว่าต้องจัดการ อันนี้ถ้ามีใครทำความผิด ก็มีการลงโทษ เอาละ วิธีการลงโทษ อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ว่าจะต้องมีหลัก
อันนี้ก็ขอเล่าเรื่องในพระสูตร เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ พระอานนท์ยังอยู่ พระอานนท์ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาก วันหนึ่งมหาเสนาบดีของแคว้นมคธ เดินทางตรวจราชการ ตรวจงานเมือง ตรวจพระนคร มาถึงที่พระอานนท์ก็เลยแวะเยี่ยมท่านหน่อย แวะนมัสการ ตอนนั้นมีพราหมณ์คนหนึ่งกำลังสนทนากับพระอานนท์ค้างอยู่ ก็สนทนากันมาถึงว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว แล้วพระองค์ตั้งใครเป็นหัวหน้าปกครองพระสงฆ์ต่อไป พระอานนท์ตอบบอกว่าไม่ได้ตั้ง เสนาบดีคนนี้มาแล้ว เป็นนักปกครองบ้านเมือง อ้าว ปกครองกันได้ยังไง อยู่กันได้ยังไง ไม่มีผู้ปกครอง พระอานนท์บอกว่าในหลักการของเรามีอยู่ว่า ภิกษุรูปใดมีคุณสมบัติ ๑๐ ประการดังต่อไปนี้ พระภิกษุทั้งหลายก็จะพร้อมใจกันยกพระภิกษุองค์นั้นขึ้น แล้วก็เชื่อฟังปฏิบัติตาม อ้าว นี่ รอดตัวไป
[03:26] อันนี้คือ หลักการของพระพุทธเจ้า ไม่ตั้งบุคคล เอาหลักการไว้ให้เลย คุณสมบัติมีดังนี้ แล้วเอาบุคคลอย่างนี้ขึ้นไป ที่ประชุมสงฆ์ว่ากันเอง เพราะบอกแล้วนี่มอบอำนาจให้แก่สงฆ์ ทีนี้ต่อมา เข้าที่ประชุมสงฆ์มีพระทำความผิด สงฆ์คือที่ประชุมก็ให้ภิกษุรูปนั้นปฏิบัติตามกติกา แล้วท่านมีหลักการท่านบอกว่าที่ปฏิบัติอย่างนี้ไม่ถือว่าใครลงโทษภิกษุนั้น ถือว่าตัวธรรมะลงโทษเขา อันนี้ข้อสำคัญเหมือนกันนะ คือกฎเกณฑ์กติกามีอยู่แล้วนี่ สิกขาบทมีอยู่ว่าดังนี้ ใครทำความผิด ที่ประชุมมาเป็นเพียงสื่อ มาเป็นตัวแทนของหลักการ มาเป็นปากเสียงให้แก่หลักการเท่านั้น เพื่อจะให้หลักการที่วางไว้นี่มีผลในเชิงปฏิบัติ ที่ประชุมและพระภิกษุทั้งหลาย ก็มาเป็นกระบอกเสียงให้แก่ตัวหลักการนั้น แต่เวลาลงโทษ ถือว่าหลักการลงโทษ ไม่มีภิกษุรูปใดลงโทษ
[04:30] อันนี้ก็เป็นแง่ของนิติศาสตร์แนวพุทธอันหนึ่งนะ คือผู้พิพากษาคิดว่าต้องทำใจแบบนี้ อย่าไปนึกว่าเราเป็นผู้ลงโทษ ถ้าคิดอย่างนี้ผิดแน่นอน เป็นเพียงกระบอกเสียงให้แก่ตัวหลักการเท่านั้น กฎหมายลงโทษเขา กติกาลงโทษเขา ตัวธรรมะลงโทษเขา ถ้าถึงที่สุดแล้วต้องเป็นตัวธรรมะลงโทษ ถ้ารอให้ธรรมะในกฎธรรมชาติมานี่สังคมอาจจะวิปริต เพราะฉะนั้นมนุษย์มีการจัดตั้ง มีความสามารถ เราก็จัดสรรระบบสังคม เพื่อจะดำเนินการให้เป็นไปตามธรรมะนั้น จะได้มีประสิทธิผล สังคมจะได้อยู่ร่วมกันได้ดี ฉะนั้นคนที่ดำเนินการอย่างนี้ถือว่าดำเนินการตามธรรมะ เป็นสื่อให้แก่ตัวธรรมะ เป็นกระบอกเสียงแก่ตัวธรรมะ ไม่ใช่เป็นผู้ไปทำเขา ไม่ได้ลงโทษเขา อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่ง
มนุษย์มองกฎหมายเป็นอะไร: เป็นเครื่องบังคับ เป็นข้อฝึกตน หรือเป็นสิ่งหมายรู้
[05:23]ทีนี้ต่อไปก็คือ เมื่อเรามาปฏิบัติตามกฎหมายตามวินัยนั้น มันก็จะมีท่าทีความรู้สึกต่อกฎหมาย นอกจากฐานในทางปฏิบัติต่อกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ก็คือ ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ ถ้าจะรักษาธรรมะต้องมีท่าทีเป็นพรหม ผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลก ๔ ข้อนั้น ใช่ไหม ทีนี้ท่าทีต่อกฎหมายเป็นอย่างไร มันก็จะมี ๓ ระดับ มนุษย์จะมีท่าทีต่อกฎหมายนี้ ๓ ระดับ แล้วต้องขึ้นต่อการที่กฎหมายนั้นเป็นธรรมหรือไม่ด้วย
ท่าทีที่ ๑ คือ ความรู้สึกแบบรู้สึกเป็นสิ่งบังคับ หรือเครื่องมือบังคับ อันนี้ถือว่าเป็นความรู้สึกที่ต่ำสุด แล้วจะไม่ยั่งยืน เดี๋ยวนี้เราชอบใช้คำว่ายั่งยืน การพัฒนาที่ยั่งยืน กฎหมายก็จะไม่ยั่งยืนเหมือนกัน สังคมนี้ก็จะไม่ยั่งยืน ถ้ามนุษย์เต็มไปด้วยความรู้สึกว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับ ท่าทีที่ ๑ คือ ท่าทีความรู้สึกแบบว่าเป็นเครื่องบังคับ
ท่าทีที่ ๒ เป็นท่าทีแบบพุทธศาสนาที่มองว่า กฎเกณฑ์กติกาที่เรามาสร้างสภาพเอื้อในสังคม เพื่อให้โอกาสให้เขาพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้น เขาจะมองกฎเกณฑ์กติกาเป็นเครื่องฝึกตัว ฉะนั้นภิกษุทุกรูปเรียกอันนี้ว่า “สิกขาบท” ที่บอกแล้วเป็นข้อฝึก ข้อเรียนรู้ ก็เอามาปฏิบัติด้วยจิตใจรู้สึกว่าจะฝึกตัวเอง เพราะเราจะเข้าถึงชีวิตที่ดีงามได้ เราจะต้องมีระบบความเป็นอยู่ชีวิตแบบนี้ ต้องทำให้ได้ เมื่อเราทำได้แล้ว เราจะได้สามารถมีชีวิตที่ดีงาม
ถ้ามองกว้างออกไป ก็คือ ในสังคมนี้ เราจะอยู่ร่วมกันได้ดีเนี่ย เห็นไหมเหตุผลมันมีอยู่แล้ว เราจะต้องมีความประพฤติกันอย่างนี้ เราจะต้องฝึกตัวพยายามปฏิบัติ อย่าไปถือเป็นข้อบังคับ ฝึกตัวพัฒนาตัว จนกระทั่งมันอยู่ตัว เราจะมีความประพฤติอย่างนั้นเป็นธรรมดา มนุษย์ฝึกได้ พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์ฝึกได้ เรียนรู้ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อท่านเห็นว่า กฎนี้เขาสร้างขึ้นเพื่อเป็นสภาพเอื้อแก่ชีวิตที่ดีงามของเราต่อไป เราอยากจะมีชีวิตที่ดีงามเราต้องมาปฏิบัติตามกฎนี้ เราก็เอามันมาฝึกสิ ฝึกแล้วต่อไปเราจะทำได้เป็นธรรมดาไปเลย มันก็เป็นชีวิตที่ดีงามเกิดขึ้นมา สังคมก็บรรลุวัตถุประสงค์ เกื้อกูลต่อชีวิตของคนด้วย สังคมก็อยู่ดีด้วย ดังนั้นมนุษย์จะต้องมองกฎกติกาเหล่านี้เป็นข้อฝึก เป็นสิกขาบทอย่างที่ว่า ถ้าขั้นนี้แล้วมนุษย์เริ่มพัฒนา
ท่าทีที่ ๓ มองเป็นอะไร มนุษย์ที่พัฒนายิ่งขึ้นไปกว่านี้ ไปถึงอีกระดับหนึ่งที่จะมีปัญญารู้เข้าใจว่า กฎเกณฑ์กติกาของสังคมที่มนุษย์วางขึ้นมีเหตุผลเพื่อจะให้อยู่ร่วมกันได้ดี เราจะได้มีสภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตที่ดีงาม เห็นอยู่ชัดๆ แล้ว เพราะฉะนั้นกติกาเหล่านี้มันเป็นเครื่องหมายรู้ว่าเราจะเอายังไงกันเท่านั้นเอง เพื่อเรามีชีวิตที่ดีงาม มีสภาพที่เอื้อ เราจะเอายังไงกัน เราก็ต้องปฏิบัติตามกติกาอยู่ร่วมกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นกฎหมายกฎเกณฑ์กติกาเป็นเพียงเครื่องหมายรู้ร่วมกันว่า เราจะเอายังไง มนุษย์ขั้นนี้เรียกว่า พัฒนาไปมาก
พระอรหันต์จะอยู่ด้วยความรู้สึกแบบนี้ พระอรหันต์ก็ต้องมีกติกา ต้องมีวินัย ทำไมพระอรหันต์ต้องมีวินัย อ้าว ก็จะมาอยู่ร่วมกัน จะมาฉันพร้อมกันเวลาเช้า ต้องวางกติกาแล้วว่าจะมาฉันเวลาไหน จะเอาอะไรเป็นเครื่องนัดหมาย เอาระฆัง เอาระฆังตีกี่ที บัญญัติกันตกลงกติกากันว่า ถ้าตีระฆัง ๒ ครั้ง หมายถึงมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ๓ ครั้ง นัดประชุม ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง นัดฉัน หรืออะไรก็ว่าไป ใช่ไหม ตลอดจนกระทั่งว่า จะนั่งกันยังไง จะทำยังไง ต้องมีวินัย มีกฎหมาย เพราะฉะนั้น แม้แต่พระอรหันต์ผู้พัฒนาสูงสุด มันก็ต้องมีกฎเกณฑ์กติกาสังคม ไม่งั้นมันอยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นมนุษย์อยู่ร่วมกันแล้วต้องมี social contract เขาว่างั้น ความหมายมันอาจจะไม่เหมือนของฝรั่ง ก็เป็นอันว่าต้องมี พระอรหันต์ก็มองกติกาเหล่านี้ด้วยความเข้าใจด้วยปัญญาว่า เป็นเพียงเครื่องหมายรู้ร่วมกันเพื่อให้เราได้อยู่ร่วมกันได้ดีเท่านั้นเอง ใช่ไหม
[09:28] ถ้ามนุษย์พัฒนาถึงขั้นนี้ได้ มีความรู้สึกต่อกฎหมายอย่างนี้ได้ ก็เป็นมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว มีการศึกษา แต่ถ้ามนุษย์ยังมองกฎหมายเป็นเครื่องบังคับอยู่ แสดงว่ามนุษย์นั้นยังไม่มีการศึกษา หรือไม่งั้นกฎหมายนั้นเป็นเครื่องบังคับเขาจริง คือเป็นกฎหมายไม่เป็นธรรม ช่วยไม่ได้ แต่ถ้ากฎหมายเป็นธรรม แสดงว่ามนุษย์นั้นไม่มีการศึกษา จึงมองกฎหมายเป็นเครื่องบังคับ ถ้าเขาเริ่มมีการศึกษา เขาจะมองกฎหมายเป็นเครื่องฝึกตน เพื่อชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป แล้วถ้าเขาพัฒนาแล้ว เขาจะมองกฎหมายว่าเป็นสิ่งหมายรู้ร่วมกัน นี่คือ สมมติ ความหมายของสมมติที่แท้จริง
เข้าถึงสมมติด้วยปัญญา สร้างสรรค์อารยธรรม เจริญงอกงาม
[10:06] พระนี้ท่านใช้คำว่า “สมมติ” ทั้งนั้นแหละ อย่างเวลาเข้าที่ประชุม ในการจัดสรรปัจจัย ๔ จะอยู่ร่วมกันยังไง ท่านบอกว่าให้ตั้งภิกษุขึ้นมา เช่น มีจีวรเกิดขึ้น พระภิกษุแต่ละรูปนี้มีสิทธิ สิทธิก็เป็นของบัญญัติเหมือนกัน ใช่ไหม ญาติโยมอาจจะได้สิทธิมีของครอบครองเยอะ แต่พระมีสิทธิแค่บริขารอย่างเดียว มีไตรจีวรที่ถือได้จริงๆ ชุดเดียว นอกจากนั้นแล้วครองได้แค่ ๑๐ วันเป็นอย่างมาก จากนั้นไม่ได้แล้ว ทีนี้ทำไง จีวรเกิดขึ้นมากมาย เป็นของสงฆ์ก็ยังไม่ใช่ เป็นของที่ว่ามีภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำหรับเก็บ ท่านเรียกว่า “จีวรนิทหกะ” ภิกษุเจ้าหน้าที่เก็บจีวร แล้วพระภิกษุเวลาภิกษุองค์หนึ่งจีวรเสียขาด อยากจะได้จีวรใหม่ ทำไง ก็ไปหาภิกษุองค์เก็บ ไม่ได้ ๆ ห้าม องค์เก็บห้ามแจก มีพระภิกษุรูปหนึ่งมีตำแหน่งเรียกว่า “จีวรภาชกะ” แปลว่า ภิกษุผู้แจกจีวร
เพราะฉะนั้นภิกษุทั้งสองรูปนี้ ก็ต้องได้รับแต่งตั้งจากสงฆ์ ก็เข้าที่ประชุม ก็จะมีกฎเกณฑ์บัญญัติว่าต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานอย่างนี้ ไม่อคติเป็นต้น อย่างน้อยต้องไม่อคติ และคุณสมบัติอื่นก็ตามมา เช่น มีพรรษาพ้นเท่านั้นเท่านี้ไป เป็นผู้ใหญ่พอสมควร เข้าที่ประชุม ที่ประชุมตกลง มีมติเห็นร่วมกัน เอาภิกษุรูปนี้เป็นภิกษุทำหน้าที่เก็บจีวร ท่านเรียกว่า “สมมติ” การเลือกตั้งภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นมาให้ทำหน้าที่อันใดอันหนึ่งเนี่ย มีตำแหน่งนี่ ท่านเรียกว่า สมมติ คำว่าสมมติของพระไม่ได้ใช้เป็นเรื่องเหลวไหลอย่างญาติโยม สมมติกันจริงๆ เลย พอภิกษุรูปนั้นได้รับการสมมติแล้ว ก็มีหน้าที่มีอำนาจเลย ในการที่จะเก็บจีวร ในการที่จะแจกจีวร อันนี้ก็เรียกว่าสมมติ หรืออย่างทำโบสถ์จะต้องมีสีมา มีลูกนิมิต เวลาผูกสีมานั้นเรียกว่า “สมมติสีมา”
[12:12] สมมติ ก็คือ มติร่วมกัน อย่างที่กล่าวแล้ว เพราะว่าเรื่องของสังคมมนุษย์นี้เป็นเรื่องของมติ ที่มนุษย์จะตกลงกันว่าจะเอายังไง เพราะฉะนั้นเรียกว่า “สมมติ” ทั้งสิ้น แต่สมมติกล่าวแล้วว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก อารยธรรมของมนุษย์ตั้งอยู่บนฐานของสมมติ เพราะมนุษย์มีความสามารถในการสมมติ จึงสามารถทำการสร้างสรรค์อารยธรรมให้เจริญงอกงามขึ้นมาได้ เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว พระพุทธเจ้านั้นได้ทั้งปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ อันนี้อาตมาก็ขอผ่านไปอีกว่า นี่คือการเข้าถึงสมมติ เรารู้ว่า อ้อ เรามีเหตุผลที่ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเป็นสมมติก็เพื่อประโยชน์อันนี้ เราต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง
[12:51] เพราะฉะนั้นพระนี่ก็จะมีลักษณะที่ว่า ยิ่งพัฒนาไป ยิ่งปฏิบัติตามวินัยได้เคร่งครัด ข้อปฏิบัติต่างๆ การรักษาสิกขาบท เป็นข้อฝึกเท่านั้น ทำไมพระอรหันต์ ฝึกเสร็จแล้วก็ไม่ต้องฝึก ทำไมต้องปฏิบัติด้วยละ ท่านบอกว่าต้องย้ำสำหรับผู้สำเร็จแล้ว หนึ่ง-เราก็จะมีว่า ผู้ที่ยังฝึกกับผู้ที่ฝึกแล้ว หรือผู้ที่ศึกษากับจบการศึกษา หรือผู้ที่ยังพัฒนากับจบการพัฒนา พระอรหันต์นั้นจบการพัฒนา แต่ปรากฏว่าเป็นผู้ถือวินัยจริงจังมาก เพราะอะไร มีเหตุผลอย่างน้อย ๓ ประการ
๑. เป็นผู้นำ พระอรหันต์ก็ต้องปฏิบัติเป็นผู้นำเขาในการที่จะเคร่งครัดในสิกขาบท พระพุทธเจ้าบัญญัติเรื่องการที่จะลงอุโบสถ สวดปาติโมกข์กันทุก ๑๕ วัน พอบัญญัติครั้งแรก มีพระอรหันต์องค์หนึ่งบอก หลักการนี้บัญญัติขึ้นเพื่อจะตรวจสอบความบริสุทธิ์ เราเป็นพระอรหันต์แล้ว เราคงไม่ต้องไปไหม พระพุทธเจ้ามาถึงตัวเลย บอกเธอแหละสำคัญ ถ้าเธอไม่ไปแล้วจะเอาใครไป ฉะนั้นพระอรหันต์ต้องเป็นผู้นำในการรักษาสิกขาบท หนึ่งก็ในฐานะเป็นผู้นำ
๒. ก็ในฐานะผู้นำนั้นเหมือนกัน ท่านเรียกว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง อันนี้สำคัญมาก ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อตัวเอง เพราะตัวเองเต็มแล้ว พัฒนาพร้อมแล้วเอาไงก็ได้ เพราะตัวเองเอาไงก็ได้ให้มันดีก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นจะไปแคร์อะไรล่ะ ฉะนั้นตอนนี้ก็ทำเพื่อผู้อื่น เพราะฉะนั้นถ้าอันนี้มันจะดี เอื้อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง เราก็ทำมันซะ
ฉะนั้นอย่างพระมหากัสสปะ พระพุทธเจ้าเคย ท่านแก่มาก อายุตั้ง 120 ปี ตอนนั้นท่านถือธุดงค์ เช่น อยู่ป่าเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ก็ไม่มี ผ้านี้มันเนื้อไม่ดี แล้วก็หนักมาก เธอรับจีวรที่ญาติโยมเขาถวายเถอะ พระมหากัสสปะทูลตอบบอกว่า ก็ข้าพระองค์ขอปฏิบัติอย่างนี้ต่อไป ท่านถามว่ามีเหตุผลอะไร ก็ตัวเองถ้าหากว่ายอมใช้จีวรเนื้อดี ก็สบายนี่ เบา พระมหากัสสปะก็ตอบว่า เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลัง ท่านเรียกว่า ปจฉิมา ชนตา ทิฏฐานุคติ อาปชเชยย ประชุมชนภายหลังจะได้ถือแบบอย่าง
ฉะนั้นนี่คือหลักการในเรื่องของการรักษาวินัยแบบแผนต่างๆ ซึ่งคนที่อยู่ในระดับต่างๆ ของสังคมจะต้องมีท่าทีที่ถูกต้อง แต่อย่างในสังคมไทย อาตมาเคยเจอ มีการอ้าง พระท่าน อาจจะเรียกว่า พระอริยะหรืออะไรก็ตาม ท่านหมดกิเลสแล้ว ไม่มีกิเลสแล้ว ท่านจะทำอะไรก็ไม่มีกิเลส ท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่างั้นนะ เอาหลักความไม่ยึดมั่นถือมั่นมาอ้าง เราฟังแล้วญาติโยมหลายท่านว่าท่าจะจริงนะ ก็พระอรหันต์ท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น ใช่ไหม นี่แหละระวังจะตกหลุมเลย ไม่ยึดมั่นถือมั่น จะไปเอาอะไรกับสิ่งเหล่านี้ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่เป็นความจริง เรื่องสมมติ หรือแม้แต่เรื่องเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ว่าระวัง ความไม่ยึดมั่นที่แท้ กับความไม่ยึดมั่นเทียมหรือปลอม คนละอย่าง
พระอรหันต์ท่านไม่ยึดมั่น แต่ท่านไม่ยึดมั่นแท้ด้วยปัญญาที่รู้ความจริง แต่ในการดำเนินชีวิตท่านยอมรับความจริงตามเหตุตามผลสมมตินั้น สิ่งที่มนุษย์ตกลงมีมติร่วมกันวางไว้นั้นมีเหตุผล ไม่ได้ตั้งขึ้นลอย ๆ มีวัตถุประสงค์ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์นี้อยู่ด้วยปัญญา เข้าใจเหตุผลนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้มีพร้อมที่สุดที่จะปฏิบัติตามสมมตินี้ กลายเป็นว่าพระอรหันต์พร้อมที่สุดที่จะปฏิบัติตาม เพราะไม่มีกิเลสเห็นแก่ตัว ถ้าคนยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว กฎนี่มันจะขัดขวางผลประโยชน์ ใช่ไหม ขี้เกียจทำบ้าง แหม มันไม่สบายต้องไปทำตามกฎ กิเลสความขี้เกียจ กิเลสความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว อะไรต่ออะไรมันมาขัดขวางทำให้ไม่ปฏิบัติตามกติกาสังคม เพราะฉะนั้นคนที่ยังมีกิเลสปฏิบัติตามกฎได้ยาก แต่พระอรหันต์ท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านไม่มีเรื่องส่วนตัวจะมาเข้ามาปิดมากั้น มาทำให้จิตใจนี่ต้องหลบต้องอะไรต่างๆ ท่านพร้อม ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นท่านพร้อมที่จะทำตามสิ่งที่มีเหตุผลทุกอย่าง ฉะนั้นพระอรหันต์จึงเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามสมมติ
[17:31] ฉะนั้นคนที่บอกว่า อะไรต่ออะไรมันก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน แล้วก็เลยไม่เอาเรื่องเอาราว ไปบ้านก็บอกว่านี่เงินทองก็ไม่ใช่ของเรา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลูกก็ไม่ใช่ของเรา ภรรยาก็ไม่ใช่ของเรา บอกว่าไม่ยึดมั่น นี่ละเจอความยึดมั่นอย่างหนักเข้าไปแล้ว ความยึดมั่นเกิดขึ้นมาคือ ยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น เพราะว่าความไม่ยึดมั่นที่คนนี้อ้าง เป็นเพียงความไม่ยึดมั่นที่เป็น concept ที่รับเอามา แล้วก็มายึดถือไว้ว่าฉันจะไม่ยึดมั่นนะ แค่นั้นเอง แต่ความไม่ยึดมั่นที่แท้จริงเกิดจากปัญญาที่รู้ความจริง แล้วใจมันไม่ติด แต่ปฏิบัติไปตามเหตุผล จริงจังตามหน้าที่ แต่ว่าจิตไม่ตกเป็นทาส มีอะไรเป็นไป ใจไม่ตกเป็นทาส อันนั้นสิที่สำคัญ ฉะนั้นใจเป็นอิสระ แต่ปฏิบัติไปทางรูปธรรมเนี่ย ดำเนินตามแบบแผนกติกาที่ตกลงไว้ ถ้ามันสมเหตุสมผล เป็นไปด้วยดี ฉะนั้นพระอรหันต์จึงเป็นผู้ปฏิบัติตามวินัยและเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด
ยกตัวอย่างวินัยนี้ก็เป็นการสร้างแบบแผนชีวิตของผู้ที่จะมีชีวิตที่ดีงามอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าวินัยของพระนี่ ทำไมพระพุทธเจ้าสอนหลักความไม่ยึดมั่น แต่วินัยของพระนี่ทำไมให้เอาจริงเอาจังกับสิ่งต่างๆ มากนักล่ะ นี่แหละวินัยจะเป็นตัวแสดงให้เห็นชัดว่า ในระบบการฝึกมนุษย์ที่แท้จริงนี้ ความไม่ยึดมั่นที่ถูกต้องมันเป็นอย่างนี้ อาตมาภาพยกตัวอย่างบ่อยๆ ความไม่ยึดมั่น หนึ่งก็คือ การไม่ยึดติด เช่นไม่เห็นแก่ลาภ ในการที่จะต้องได้จีวรอย่างนี้อย่างนั้นจะเอาแต่ใจ แล้วจะมีครอบครองให้มาก เสร็จแล้ววินัยก็จะมาปรับบัญญัติว่าให้มีได้เท่านั้นเท่านี้ แต่อันไหนที่ตกลงว่าเป็นของท่านแล้ว ท่านต้องมีความรับผิดชอบเต็มที่
อย่างจีวรพระภิกษุรูปหนึ่งมีชุดเดียว แล้วท่านที่มีน้อย พระจะบอกฉันไม่ยึดมั่นถือมั่น มันไม่ใช่ของของเรา เกิดมาก็ไม่มี แล้วก็ไม่เอาใจใส่ ปล่อยให้สกปรก ไม่ซัก หรือว่าปล่อยให้ขาดเป็นรู ไม่ปะชุน ท่านบอกว่าภิกษุปล่อยให้จีวรขาดเป็นรู ไม่ปะชุนแม้มันขาดเท่าหลังตัวเรือดเป็นอาบัติ เอาละสิ ใช่ไหม เจริญพร จีวรผืนเดียว ขนาดผืนเดียวต้องรักษาอย่างดีนะ ปล่อยให้ขาดรูเท่าหลังตัวเรือดไม่ปะ ไปแล้ว โดนปรับความผิด ภิกษุมีจีวรชุดเดียวต้องรักษาไว้ให้ดีนะ ท่านเรียกว่าขาดครอง อยู่ปราศจากกันแม้ราตรีเดียวเป็นอาบัติ ญาติโยมไม่เข้าใจหลักการนี้ โอ พระทำไมมายึดมั่นถือมั่นกับเรื่องจีวรนักหนา ใช่ไหม
เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ถูกโดยหลักการนี้ วินัยเป็นระบบวิถีชีวิตของการฝึกตนที่เราจะเห็น ถ้าเราเข้าใจหลักธรรมะว่ามันเข้ามาสู่วินัยสู่ระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิตอย่างไร ทีนี้อาตมาก็จะขอผ่านไปสู่เรื่องที่ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับระดับการใช้การบัญญัติกฎหมายอะไรอีกสัก ๓-๔ อย่าง
กฎมนุษย์ต้องไม่แปลกแยกจากกฎธรรมชาติ
[20:44] การบัญญัติกฎหมายที่เป็นกฎมนุษย์ ก็มีข้อที่ต้องระวังหลายอย่าง ข้อระวังที่หนึ่งก็คือ การที่ว่ามนุษย์จะแปลกแยกจากธรรมชาติ อันนี้ก็ไม่ต้องอธิบายมาก เพราะเวลาน้อยลงแล้ว แต่เราจะเห็นได้จากที่อาตมาภาพยกตัวอย่างไปเมื่อกี้ ระหว่างกฎมนุษย์กับกฎธรรมชาติที่มันซ้อนกันอยู่ เราบอกแล้วว่าที่จริงนั้นเราบัญญัติกฎมนุษย์นั้น ความต้องการแท้จริงเราอยู่ที่กฎธรรมชาติ
ทำไมเราบัญญัติกฎว่าให้คนมาทำสวนหนึ่งเดือนได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท กฎมนุษย์เกิดขึ้นมา เพราะแท้จริงแล้วมันมีกฎธรรมชาติอยู่เบื้องหลัง คือเราต้องการผลตามกฎธรรมชาติว่าต้องการต้นไม้เจริญงอกงาม ให้เขามาทำสวน กฎมนุษย์ว่าทำสวนหนึ่งเดือนได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท กฎธรรมชาติว่าทำสวนทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ถ้ามนุษย์แปลกแยกจากกฎธรรมชาติ หลงสมมติ คืออยู่กับกฎสมมติเมื่อไหร่ ชีวิตและสังคมจะเริ่มวิปลาสทันที เริ่มจากคนทำสวน มาทำสวนเพียงเพราะต้องการผลตามกฎมนุษย์คือ ต้องการเงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท เขาไม่ต้องการผลตามกฎธรรมชาติ ไม่ต้องการต้นไม้เจริญงอกงาม อะไรจะเกิดขึ้น
เขาก็ ๑. ชีวิตตัวเองไม่มีความสุขในการทำสวนใช่ไหม ทำสวนด้วยความฝืนใจเพราะว่าเขาไม่ได้ต้องการอันนี้ สิ่งที่เขาต้องการคือเงิน การทำสวนนี่ทำให้เขาต้องมาทรมาน ต้องรอเวลาเดือนหนึ่งกว่าจะได้เงินเดือน มันแย่จริงๆ เพราะฉะนั้นทำสวนตลอดเวลานี่ทุกข์ทรมานเต็มที เมื่อไม่เต็มใจ ตัวเองไม่มีความสุขยังไม่พอ ยังไม่ตั้งใจทำอีก ไม่ตั้งใจทำ สังคมก็ไม่ได้ประโยชน์ที่ควรจะได้จากเขา ใช่ไหม กิจการสังคมก็เสีย กิจการการทำสวนก็ไม่เป็นไปตามที่ดี ไม่มีคุณภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ
มนุษย์ก็ต้องตั้งกฎเกณฑ์มนุษย์ขึ้นมาอีก เอาละทีนี้มนุษย์นี่จะยุ่ง พอว่านายคนทำสวนคนนี้แปลกแยกจากธรรมชาติ ต้องการผลแต่ตามกฎมนุษย์ เขาจะไม่ตั้งใจทำสวน ตอนนี้มนุษย์จะต้องดำเนินการตั้งผู้คุม ตั้งคนคุมขึ้นมา เป็นกฎมนุษย์อีก คุมนายคนทำสวนคนนี้ ในคนคุมก็อีกแหละ แปลกแยกจากธรรมชาติ ต้องการผลจากกฎมนุษย์อย่างเดียว ก็ไม่ได้เรื่องอีก ก็ตั้งกฎเป็นชั้นๆ ผลที่สุด เหลวหมดเลยสังคมนี้ สังคมนี้ยังอยู่ได้ในเมื่อคนบางส่วนยังไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ทั้งสังคมนี้แปลกแยกจากธรรรมชาติ อยู่กับกฎมนุษย์ หลงสมมติเมื่อไหร่ สังคมนี้พินาศ ชีวิตก็ไม่มีความสุข เสียคุณภาพชีวิต เช่น คนทำสวนทำด้วยความทุกข์ทรมาน
๒. ก็กิจการของสังคม ประโยชน์ส่วนรวมก็เสีย เพราะเขาไม่ตั้งใจทำ เพราะฉะนั้นกิจการเดี๋ยวนี้มนุษย์เริ่มเข้าสู่ระบบที่ติดสมมติมากขึ้น ระบบแข่งขัน ระบบผลประโยชน์กำลังเข้ามา มันกระทบต่อระบบทุกอย่างของสังคม ไม่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ กฎหมายก็จะโดนด้วย เพราะฉะนั้นอาตมาภาพคิดว่านักกฎหมายจะต้องทันตรงนี้ ระบบการแข่งขันหาผลประโยชน์เนี่ย เป็นระบบที่เต็มไปด้วยสมมติกำลังจะเข้ามา แล้วมนุษย์จะทำเพื่อผลตามกฎสมมติจนกระทั่งแปลกแยกกับธรรมชาติแทบจะสิ้นเชิง
อาตมาภาพยกตัวอย่างบ่อย ๆ เช่น เมื่อเราตั้งโรงพยาบาลขึ้นมาโรงหนึ่ง นี่เข้าสู่สังคมระบบแข่งขันหาผลประโยชน์นะ ถ้าสมัยก่อนนี้ก็อาจจะไปคนละอย่าง ตอนนี้ตั้งโรงพยาบาลขึ้นมาโรงหนึ่ง เป็นโรงพยาบาลเอกชนในระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ ถามว่าอะไรเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของโรงพยาบาลนี้ ตอบตามระบบผลประโยชน์นี้ว่า กำไรสูงสุด ถูกไม่ถูก เจริญพร ก็ตั้งโรงพยาบาลเพื่อหาผลประโยชน์ ได้กำไรสูงสุดก็คือความสำเร็จ ถ้าไม่ได้กำไรสูงสุดก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่อันนี้เป็นกฎมนุษย์ใช่ไหม คือการที่ดำเนินกิจการธุรกิจ การแพทย์ในที่นี่เป็นธุรกิจแล้ว เพราะได้ผลประโยชน์ตอบแทน แต่ว่าตามกฎธรรมชาติ การแพทย์คืออะไร ผลของการแพทย์คืออะไร การแพทย์เป็นเหตุ อะไรเป็นผลตามกฎธรรมชาติ คนหายโรค มีสุขภาพดี เป็นผล ใช่ไหม ตามกฎธรรมชาติ ถูกไม่ถูก เพราะฉะนั้นความสำเร็จของโรงพยาบาลตามกฎธรรมชาติ เป็นความสำเร็จที่แท้จริงคือ การที่ช่วยให้ผู้คนในสังคมนี้ห่างเบาบรรเทาจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพดีขึ้น อันนี้คือความสำเร็จตามกฎธรรมชาติ ตอนนี้เราเอาอันไหน
สังคมปัจจุบันนี้ กิจการทุกอย่างกำลังจะเป็นระบบธุรกิจ แม้แต่การศึกษา แล้วเราจะมองไปสู่กฎมนุษย์ที่หลงติดอยู่กับสมมติ ทำอะไรผลสำเร็จ กำไรสูงสุด ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ นะ ถ้าแพทย์ไม่มีคุณธรรม บังเอิญว่าแพทย์เรายังมีคุณธรรมอยู่ไม่มากก็น้อย ก็จะคำนึงแต่รายได้ ไม่คำนึงถึงชีวิตผู้คนแล้วใช่ไหม คนจะเป็นยังไงก็ช่าง ฉันได้กำไรก็แล้วกัน กิจการทุกอย่างจะเป็นอย่างนี้ แม้แต่การศึกษา
[26:11] เพราะฉะนั้นนี่คือการที่มนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติ ติดในสมมติ เพราะเขาไม่สามารถเชื่อมกฎธรรมชาติกับกฎของมนุษย์เข้าหากันว่า ที่จริงที่เราจัดตั้งวินัย วางระบบสังคมในหมู่มนุษย์ขึ้นมานี้ แท้จริงแล้วเพื่อให้ความเป็นจริงในกฎธรรมชาติได้ผล ใช่ไหม นี่คือการเชื่อมระหว่างกฎมนุษย์กับกฎธรรมชาติ หรือวินัยกับธรรมะได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ธรรมะกับวินัยแยกกันไม่ได้ เพราะที่แท้แล้วฐานของเราคือธรรมะ แล้วประโยชน์ที่แท้คือธรรมะ
ผู้บัญญัติกฎหมายที่จริงแท้ รู้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่แท้จริง
[26:44] ฉะนั้นตรงนี้อาตมาภาพว่ากฎหมายนิติศาสตร์จะต้องจับอันนี้ให้ได้เลย ในสังคมต่อไปนี้จะประสบปัญหาเรื่องนี้มากขึ้นทุกที แล้วเราจะเอายังไงกับมัน นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นกฎหมายนี้ว่าที่จริงแล้วในที่สุดก็ต้องอยู่ที่เจตนารมณ์ เจตนารมณ์ที่ไปสอดคล้องกับตัวธรรมะนั้น เพราะฉะนั้นมันจะมีปัญหาจากกฎหมายได้หลายอย่าง ในเมื่อคนนั้นไม่เข้าถึงตัวธรรมะ และว่า (๑) ปัญญาไม่เข้าถึงตัวธรรมะก็ตาม (๒) เจตนาไม่ประกอบด้วยเมตตาความหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ก็ตาม อาจจะเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว หรือกลั่นแกล้งผู้อื่น
ฉะนั้นบางทีกฎหมายก็กลายเป็นเครื่องมือกดขี่ข่มเหงกันในสังคมได้ อย่างที่มันก็เคยเป็นไปได้ ฉะนั้นก็ต้องคอยตรวจสอบเจตนารมณ์ที่แท้ของกฎหมาย กับข้อกำหนดตามตัวอักษร ข้อกำหนดตามตัวอักษรที่จริงเพื่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่มันออกมาแล้วมันกลับเป็นเครื่องมือในการที่ไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ใช้บัญญัติตามตัวอักษรมาทำร้ายคนอื่นก็ได้ หรือเพื่อสนองผลประโยชน์ของตัวเองก็ได้ ฉะนั้นคนในสมัยนี้ก็มีการใช้กฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองมากมาย เพราะฉะนั้นการที่จะต้องตรวจสอบกฎมนุษย์ คือกฎหมายนี้ให้มันสอดคล้อง ให้มันเข้าถึงตัวธรรมะให้ได้นี่ จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา
[28:06] สิ่งที่นักกฎหมายโดยเฉพาะผู้บัญญัติกฎหมายจะต้องมี ก็ต้องมีทั้ง
๑. ความรู้ในความจริง อย่างที่ว่า ความรู้ในตัวธรรม ซึ่งมีหลายระดับ อย่างน้อยรู้ตัวกฎเกณฑ์กติกา ในความหมายที่แท้จริงของมัน แล้วก็รู้ไปถึงสังคม สภาพปัญหาของสังคม เหตุปัจจัยในสังคม กลไกของมัน การที่ว่าวางกฎข้อนี้แล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นมาในสังคมอะไรต่างๆ เหล่านี้ ต้องมีความเข้าใจในตัวธรรมนี้ ซึ่งขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง
๒. ความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์เอง ว่ามนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่มีธรรมชาติอย่างไร เขามีความประสงค์อะไร ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร อันนี้คนเรา อย่างที่อาตมาภาพกล่าวแล้ว ถึงแม้ไม่ชัดมันก็มีอยู่ในใจ แล้วถ้าไม่ชัดนี่แหละมันจะมีอิทธิพลขึ้นมา ซึ่งทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด
๓. ก็คือความมุ่งมาดใฝ่ปรารถนาต่อจุดหมายที่จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงาม อันนี้จะต้องมีอยู่ในใจ ความใฝ่ปรารถนาที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม
สามตัวนี้จะต้องมีอยู่ในนักกฎหมาย โดยเฉพาะนักบัญญัติกฎหมาย ขอย้ำอีกทีว่าเมื่อมีการบัญญัติวางกฎหมายใด ในใจย่อมมีความคิดความเห็นความเข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่พระเรียกว่า ทิฐิ เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อยู่ในใจ
ยกตัวอย่างเช่น อาจจะเชื่อว่าความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ เป็นต้น มนุษย์ที่มีความเข้าใจอย่างนี้อยู่ในใจ แม้แต่ไม่ได้ทำให้ประจักษ์ออกมาแก่ตนเองนั้น มันเชื่อฝังลึกอยู่ เวลาเขามาบัญญัติกฎหมาย เขาก็จะบัญญัติอย่างหนึ่ง แต่ถ้ามนุษย์อีกคนหนึ่งมีความเชื่อว่า ในธรรมชาติของมนุษย์นั้นความสุขไม่ได้อยู่เพียงการเสพวัตถุ มันอยู่ที่อะไรที่ลึกซึ้งกว่านี้ เวลาเขามาบัญญัติกฎหมาย เจ้าตัวนี้จะเป็นอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ที่มากำหนดทิศทางในการคิดวินิจฉัยแล้วให้เหตุผลกับเขาทั้งหมด อันนี้มันใหญ่มาก
[30:07] เพราะฉะนั้นนักกฎหมายอยู่แค่เรื่องพื้นเหตุผลในสังคมไม่ได้ จะต้องเข้าถึงความจริงแม้แต่ธรรมชาติของมนุษย์ เพราะฉะนั้นมนุษย์ที่วางกฎหมายในสภานิติบัญญัติอะไรเนี่ย (๑) ก็จะวางกฎหมายจากฐานแห่งปัจจัยปรุงแต่งในตัวเขา ซึ่งมีหลายอย่าง ทั้งปัญญาแค่ไหน ปัญญารู้แค่ไหนก็เป็นปัจจัยปรุงแต่งในตัวเขา ภูมิธรรมภูมิปัญญานั่นเอง พูดง่ายๆ แล้วก็สภาพหล่อหลอมค่านิยมทางสังคมวัฒนธรรมเหล่านี้ เข้ามาเป็นปัจจัยปรุงแต่งในใจทั้งสิ้นเลย จะออกมาเป็นการวินิจฉัย การให้ความเห็น การยกมือจะเอาขั้นไหน แต่ว่าพูดง่ายๆ ภูมิธรรมภูมิปัญญาในตัวคนนั้นสำคัญอย่างยิ่ง ทิฐิของเขา ปัจจัยหล่อหลอมทั้งในตัวและในทางสังคม นี่คือตัวคน (๒) เมื่อเขาวางกฎหมาย กฎหมายนั้นจะไปเป็นปัจจัยปรุงแต่งผลักดันสังคมอีก ทำให้สังคมก้าวอย่างใดต่อไป เพราะฉะนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
[31:09] ในที่สุดก็จะมีผลขึ้นมาสองอันก็คือว่า นักกฎหมายจะวางกฎหมายที่ดีไม่ได้ ถ้าไม่รู้ธรรมชาติของมนุษย์ว่า คนมีชีวิต มีศักยภาพอย่างใด เช่น ตอนนี้จะออกกฎหมายเกี่ยวกับสนุกเกอร์ ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์จะอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจนี้ เช่น เข้าใจว่าความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ หรือความสุขของมนุษย์อยู่ที่อะไร หรือธรรมชาติของมนุษย์คืออะไรเนี่ย เจ้าตัวอาจจะไม่รู้ตัวเลย แต่ว่าจะตัดสินใจมาด้วยภูมิธรรมภูมิปัญญาที่อยู่ข้างหลังอันนี้ ฉะนั้นการตัดสินใจของเขา มองในแง่หนึ่งจะเป็นตัวฟ้องภูมิธรรมภูมิปัญญาของนักกฎหมาย เพราะฉะนั้นเราพูดในทางกลับกันว่ากฎหมายที่ออกมาเป็นตัวฟ้องภูมิธรรมภูมิปัญญาของนักกฎหมายด้วย
กฎหมายแท้มีหลักอยู่ในใจที่ต้องรักความเป็นธรรม
[32:02] แต่ว่าเราไม่ละทิ้งปัจจัยทางสังคมนะ ค่านิยมทางวัฒนธรรม แต่อย่าลืมว่ามนุษย์ที่มีปัญญาพัฒนาจะอยู่ใต้ค่านิยมสังคมไม่พอ มันจะต้องเก่งกว่านั้น มิฉะนั้นแล้วสังคมก็มีค่านิยมอย่างไรก็ซักพาไปสิ มนุษย์มันก็แก้ไขสังคมได้ด้วย ฉะนั้นนี่ก็เป็นอันหนึ่ง นักบัญญัติกฎหมายก็ตาม ใช้กฎหมายก็ตามจึงต้องไม่ประมาท ศึกษาพัฒนาตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีปัญญายิ่งขึ้น มีเจตนาดียิ่งขึ้น การศึกษาที่ผลิตนักกฎหมายมาสร้างกฎหมายที่เกื้อหนุนชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ ก็เป็นตัวสำคัญในการสร้างอารยธรรมของมนุษย์ด้วย
เพราะฉะนั้นทำไงจะให้เป็นกฎหมายที่ถูกต้อง เป็นปัจจัยที่จะปรุงแต่งสร้างสรรค์สังคมที่ดี แล้วก็จะต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูง ถ้ากฎหมายนั้นผิด ทำลายชีวิตมนุษย์ ทำลายสังคม ทำลายตัวธรรมเลย ธรรมะที่เป็นฐานของกฎหมาย ที่เป็นฐานของวินัย จะถูกทำลายโดยกฎหมายที่ผิด ด้วยปัญญาที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือที่เจตนาที่ร้าย เพราะฉะนั้นมีผล แล้วขัดขวางอารยธรรมของมนุษย์ แต่กฎหมายที่เป็นมามากมายในระบบสังคมที่เป็นมาเนี่ย มันก็เป็นตัวขัดขวางอารยธรรมเยอะ เช่น ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เป็นต้น เช่น กฎหมายที่สนับสนุกการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่ยั่งยืน ที่ผ่านมาแล้วในสังคมตะวันตก นั่นก็ต้องเป็นเพราะนักกฎหมายเองมีความเข้าใจอย่างนั้น ใช่ไหม ก็ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ฉะนั้นเรื่องนี้มันมีผลกว้างขวางมาก การกระทำของนักกฎหมาย
[33:38] ฉะนั้นกฎหมายแท้มีหลักอยู่ในใจที่ต้องรักความเป็นธรรม รักตัวธรรมะ และก็รักประโยชน์สุขของสังคม พูดง่ายๆ ก็คือกลับไปหลักเก่า ก็คือต้องมีทั้งตัวเจตนา เจตจำนง มีเมตตา มีความใฝ่ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ปรารถนาดีต่อมนุษยชาติ ต่อสังคม แล้วก็มีความรู้ มีปัญญาที่เข้าถึงความจริง จนกระทั่งว่า ถือธรรมเป็นใหญ่ เมื่อใดนักกฎหมายถือธรรมเป็นใหญ่ ท่านเรียกว่า เป็น “ธรรมาธิปไตย” ถือเอาตัวความจริง ความถูกต้อง ความดีงามเป็นใหญ่ แต่จะถือธรรมเป็นใหญ่ได้ก็ต้องมีปัญญารู้ธรรมะ รู้ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้องดีงาม มันพันกันอยู่ในตัว ฉะนั้นอย่างน้อยต้องมีสองอันนี้ รักธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ รู้ มีปัญญา แล้วก็ต้องมีเจตนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ แล้วอันนี้ก็จะทำให้เขาสามารถมีพื้นฐานที่จะกำหนดกฎหมายที่ดี
สร้างกฎหมายเอื้อสร้างคน เป็นเครื่องมือฝึกตน สู่ชีวิตที่ดีงาม
[34:37] ทีนี้ขอสังเกตอีกอันหนึ่งก็คือว่า พระพุทธเจ้าสร้างระบบสังคมที่เรียกว่า “สังฆะ” สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นชุมชนแห่งการศึกษา แล้วการปกครองมีขึ้นมาเพื่อให้การศึกษานี้เพื่อการฝึกฝนพัฒนาชีวิตของมนุษย์นี้เป็นไปด้วยดี การฝึกฝนพัฒนาของพระองค์นั้น ที่จริงนั้นก็คือสร้างปัจจัยให้เอื้อต่อการที่เขาจะพัฒนาตัวเอง แต่เมื่อทำอย่างนั้นพระองค์ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ฝึกเขาด้วย แต่ว่าพระองค์มีลักษณะอย่างหนึ่งเราเรียกว่าเป็น ผู้ฝึกโดยไม่ต้องใช้อำนาจ หรือเราเรียกศัพท์ทางพระว่า เป็นผู้ฝึกโดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้การลงโทษ ไม่ต้องใช้ท่อนไม้ อันนี้ก็อาจจะเป็นอุดมคติว่า กฎหมายที่ดีที่สุด การปกครองที่ดีที่สุดต้องใช้อาชญาให้น้อยที่สุด ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าไม่ต้องใช้เลย พระองค์จึงได้มีคุณสมบัติพิเศษว่าเป็นผู้ฝึกคนโดยไม่ต้องใช้อาชญา แล้วที่จริงกฎหมายเองนั่นแหละเป็นเครื่องฝึกตนอยู่แล้ว
[35:41] ทำไงเราจะให้คนมีจิตสำนึก มีท่าทีต่อกฎหมายเป็นสิกขาบท คือเป็นข้อฝึกตน ไม่ใช่ข้อบังคับ ทำให้ดีจนกระทั่งว่าเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกันอย่างที่ว่ามาแล้ว แล้วแนวทางในการทำกฎหมายก็จะมี ๒ ทาง ก็คือว่าในระบบสังคมที่ปกครองด้วยอำนาจมากขึ้น ก็จะเน้นในการใช้อำนาจ เพราะฉะนั้นการลงโทษ การบังคับ มันก็จะมาก การกำจัดคนชั่ว การลงโทษคนทำผิดก็จะมีเน้นมาก แต่ว่าถ้าในสังคมที่ถือคติว่า เราสร้างสังคมที่ดีขึ้นมาเพื่อเป็นสภาพเอื้อให้มนุษย์ได้พัฒนาตนเข้าสู่ชีวิตที่ดีงาม การสร้างกฎหมายก็จะเป็นการสร้างคนไปด้วย เพราะเป็นเครื่องมือฝึกมนุษย์ให้ไปสู่ชีวิตที่ดีงาม เมื่อกฎหมายเป็นสิกขาบท เป็นเครื่องฝึกคน กฎหมายก็จะเป็นเครื่องมือในการสร้างคนดีด้วย
[36:32] ฉะนั้นจะเน้นกฎหมายในการสร้างคนมากกว่าการกำจัดคน ก็จะมี ๒ แบบ ถ้าเน้นอำนาจก็กฎหมายกำจัดคนจะมาแรง ถ้าเป็นกฎหมายที่สร้างคนก็จะมีลักษณะอีกแบบ เมื่อกี้ไม่รู้พูดอะไรไปไม่รับกัน มันหายไปจากสมองเลย ก็เอาเป็นว่ามีสองแบบก็แล้วกัน เอาแบบสร้างคนกับแบบกำจัดคน คือ ถ้าใช้แบบระบบอำนาจ แน่นอนมันเอียงไปทางแบบกำจัด แล้วถ้าใช้แบบมองสังคมมนุษย์เป็นสังคมที่คืบหน้าไปสู่ความดีงาม เราออกกฎหมายสร้างสภาพเอื้อให้ชีวิตมีพัฒนาที่ดี ก็เป็นกฎหมายที่พยายามสร้างคนให้เป็นคนดี สร้างคนที่เป็นคนดีให้มากจนกระทั่งว่า เรานี่ไม่ต้องลงโทษคน ลงโทษให้น้อยที่สุด ไม่มีคนชั่วให้ลงโทษ ถ้าทำได้อย่างนั้นก็เก่ง ในสังคมที่ดี การปกครอง แต่อันนี้ กฎหมายตอนนี้จะไปสัมพันธ์โยงใยอย่างสนิทแนบแน่นกับฝ่ายปกครอง เพราะว่าฝ่ายปกครองจะต้องมีนโยบายการที่สร้างสรรค์สังคม ในแบบที่ว่าใช้การปกครองเพื่อสร้างคน สร้างคนดี เพื่อให้มีคนที่ทำความชั่วมาให้ลงโทษน้อยที่สุด ในแบบนี้ก็คือการถือแนวความคิดแบบการศึกษา
ทีนี้แนวโน้มของสังคมนี่มาปกครองโดยอำนาจมากยิ่งขึ้น แล้วเอาแนวความคิดนี้ไปยัดใส่ให้คณะสงฆ์ด้วย ขอประทานอภัย เวลานี้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์แทบจะทุกฉบับที่ออกมานี่เป็นกฎหมายประเภทที่เน้นอำนาจ คือการปกครองด้วยอำนาจ แล้วลืมหลักการของพระพุทธศาสนาที่ว่าตั้งสงฆ์มาเพื่ออะไร ถ้าจะปฏิบัติให้ถูกแล้ว การปกครอง พระราชบัญญัติจะต้องวางบทบัญญัติเพื่อเอื้อต่อการสร้างชุมชนแห่งการศึกษาขึ้นไปให้ได้ อันนั้นคือจุดหมายที่แท้จริง ถ้าทำอย่างนี้สิเราประสบความสำเร็จ เวลานี้เน้นแต่การใช้อำนาจบังคับกัน จนกระทั่งเจ้าอาวาสไม่เป็นอาจารย์แล้ว เพียงเรียกชื่ออาจารย์เท่านั้นเอง เวลาเจอเจ้าอาวาสเรียกอาจารย์ แต่ไม่เคยทำหน้าที่อาจารย์เลย เพราะฉะนั้นก็วิปลาสไปแล้ว อาจารย์คือเจ้าอาวาสนี้ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครอง ก็ใช้อำนาจบังคับ ถ้าอย่างนี้ก็ไปไม่ไหว ฉะนั้นนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นคติที่จะต้องเอามาพิจารณา
ความจริงในกฎธรรมชาติ เป็นฐานสร้างกฎสังคม
[38:58] เวลานี้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย เรื่องสิทธิอะไรต่างๆ มันเข้ามาแล้วเราก็แยกกันไม่ถูก ฉะนั้นก็ขอตั้งข้อสังเกตอีกนิด อย่างที่ในกฎหมายฝรั่งมีสายความคิดแบบ natural law, natural right อะไรเนี่ย ซึ่งมันคล้ายๆ เข้ามากับเรื่องธรรมะ แต่มันไม่ใช่เลย คล้ายๆ เขาถือว่ามีกฎ กฎหมายซึ่งเป็นกฎที่เป็นสากล ใช้ได้ทุกกาลเทศะ อยู่ในหัวสมองในปัญญาของมนุษย์ ปัญญาของมนุษย์นี่เข้าถึงความจริงในธรรมชาติต่างๆ เหล่านี้ แล้วก็จะมีกฎสากลอะไรแบบนั้น พุทธศาสนาแยกเป็น ๒ ชั้น หนึ่ง-ความจริงของธรรมชาติ ไม่เข้าใครออกใคร มันเป็นตามเหตุปัจจัยของมัน แต่คุณจะต้องรู้มันแล้วใช้ความสามารถของคุณมาจัดตั้งวางระบบสังคมของคุณเอง ถ้าคุณเข้าถึงความจริงนั้นดีแล้วก็เก่งจริง แล้วคุณจัดได้ดีที่สุด สอดคล้องกับความเป็นจริงธรรมชาติ คุณได้รับประโยชน์เอง
ฉะนั้นเราก็มากำหนด ทีนี้การกำหนดสิทธิอะไรต่างๆ ขึ้นมาก็ถือเป็นสมมติในแง่ของพุทธศาสนา แต่ว่าบอกแล้วว่าสมมตินี่เป็นความสามารถของวิเศษ เป็นตัวสร้างอารยธรรม เหมือนอย่างเราสร้างกฎให้คนทำสวนมาสวน แล้วได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท อันนี้ก็เป็นความสามารถของมนุษย์ซึ่งในสัตว์อื่นไม่มี แต่บอกแล้วว่าเมื่อมนุษย์หลงสมมติเมื่อไหร่นั่นคือความพินาศ ฉะนั้นจะต้องโยงให้เข้าถึงตัวธรรมะความจริงอยู่ตลอดเวลา ถ้าคนทำสวนยังไม่แปลกแยกจากฎธรรมชาติ เขาทำสวนเพื่อให้ได้เงินเดือนตามกฎมนุษย์ ๕,๐๐๐ บาท แต่พร้อมกันนั้นเขาก็ทำสวนเพื่อให้ได้ผลตามกฎธรรมชาติ คือเพื่อให้ต้นไม้เจริญงอกงามด้วย ถ้าเข้าถึงความจริง เข้าถึงตัวธรรมอย่างนี้ก็ประโยชน์สังคมไม่เสีย กลับกลายเป็นว่าสมมตินี้มาหนุน คือวินัยมาหนุนให้ความต้องการผลตามธรรมชาตินี้ให้เป็นจริงขึ้นมา มนุษย์เราก็มีความฉลาด เราก็สร้างสิทธิอะไรต่างๆ ขึ้นมาเนี่ย แต่อย่างที่บอกแล้ว สิทธินี่ต้องรู้ว่ามันเป็นความสามารถของมนุษย์ที่มีอารยธรรม แล้วก็ตกลงกำหนดกันขึ้นมา แล้วจะได้ผลอย่างไร ขอให้เรามีจิตใจที่บริสุทธิ์ มีเจตนาที่ดีงาม มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ หวังประโยชน์สุขแก่สังคม แล้วทำการด้วยความรู้เข้าใจเหตุปัจจัยอย่างกว้างขวางทั่วถึงที่สุดนะ อันนี้แล้วมันจะปลอดภัย
อย่างเวลานี้ก็จะมีการกำหนดสิทธิใหม่ๆ ยกตัวอย่างอันหนึ่ง ก็อย่างเดี๋ยวนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีการกำหนด pollution right แปลว่า สิทธิในการก่อมลภาวะ อย่างนี้เป็นต้น คือในธรรมชาติมันมีที่ไหน แต่ว่าอันนี้เขาก็ไม่ถือแล้วว่าเป็นสิทธิตามธรรมชาติ แต่ยังไงก็ตามมันก็ทำนองเดียวกัน มนุษย์ก็กำหนดขึ้นมา เพื่ออะไร เพื่อความดีงามของสังคมมนุษย์ แต่มนุษย์ที่กำหนดเรื่องนี้ขึ้นมา ก็มีสติปัญญาเท่าที่มองเห็นว่าอย่างนี้ ว่าเวลานี้ธรรมชาติเสื่อมโทรมเสียหายมาก แล้วจะทำยังไงให้มนุษย์ไม่ทำลายธรรมชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจก็จำเป็นต้องทำ การผลิตสิ่งของเครื่องใช้ก็ต้องทำ ก็มีทางประนีประนอม ก็ทำให้เขาผลิตโดยการสร้างมลภาวะน้อยที่สุด ก็สร้างอันหนึ่งขึ้นมาวิธีการทั้งหลาย รวมทั้งจริยธรรมในการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม
ก็มีอันหนึ่งก็คือ สิทธิในการก่อมลภาวะ เช่น รัฐก็เอาสิทธิในการก่อมลภาวะนี้ให้ บริษัทโรงงานอุตสาหกรรมได้สิทธินี้ไป เรามีสิทธิก่อมลภาวะเท่านี้ นี่มันมีที่ไหนในโลก ตามธรรมชาติมันไม่มี มีแล้วมนุษย์เกิดขึ้นมีการบอกว่ามนุษย์มีสิทธิก่อมลภาวะ มนุษย์มาให้แก่กัน ก็มีสิทธิก่อมลภาวะเท่านี้ คุณก็ต้องไปจัดการระบบธุรกิจอุตสาหกรรมคุณเอาเอง ถ้าธุรกิจคุณไม่มีประสิทธิภาพ คุณผลิตของได้น้อย ก็ไม่คุ้มกับสิทธิที่คุณได้มา เพราะเงินมันแพง ค่าสิทธิที่ได้มานี้มันแพง แล้วผลิตของได้น้อย ไม่คุ้ม ก็ขาดทุน อาจจะต้องล้ม ก็เลิกไปเอง รัฐก็ไปบีบ ทีนี้โรงงานกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ผลิตของได้น้อย แต่ก่อมลภาวะสูง ก็แย่ แล้วยิ่งไปลงทุนจ้างคนมากมาย มีวิธีจัดการที่ไม่ดี ก็จะขาดทุนยับเยิน ก็จะอยู่ไม่ได้ ก็สามารถขายสิทธินี้กับบริษัทอื่น บริษัทอื่นที่มีประสิทธิภาพดีกว่า คือสามารถผลิตของมากโดยก่อมลภาวะน้อย ก็มาซื้อสิทธินี้ไป ก็เป็นอุบายวิธีที่ทำให้การก่อมลภาวะนี้เกิดขึ้นน้อย ด้วยการผลิตของมาก แต่ก่อมลภาวะน้อย ก็คือเศรษฐกิจก็ไปได้ สิ่งแวดล้อมก็จะมีทางอยู่ดีได้พอสมควร ก็เป็นการประนีประนอม ก็ถือว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการพัฒนาที่ยั่งยืน ถ้าอย่างนี้เป็นต้น มนุษย์ที่มีความสามารถก็คิดเอาสิ เราก็อาจจะมาพิจารณา ต่อไปอาจจะเห็นว่าไม่ได้ผลดี ก็เปลี่ยนไปอีก
สิทธิเรื่องกฎข้อบังคับต่างๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ แต่ว่าอย่างที่ว่าเราต้องไม่ลืมความจริงของธรรมชาติ มิฉะนั้นแล้วจะอายอินเดียแดง อย่างที่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียร์ช ได้ทำมาแล้ว ซื้อแผ่นดินเมืองซีแอตเติลจากอินเดียแดง เสร็จแล้วอินเดียแดงบอกอะไรกัน ท่านจะเอาแผ่นดินและผืนฟ้ามาขายกันหรือนี่ ความคิดนี้แสนแปลกประหลาดว่างั้น ใช่ไหมเจริญพร เพราะว่ามันมีที่ไหนมนุษย์เอาแผ่นดินมาแบ่งกัน อันนี้มันเรื่องของสังคมมนุษย์จะตกลงกัน แล้วเราก็บอกว่าเป็นสิทธิในทรัพย์สินในอะไรต่างๆ เวลาเอาธรรมชาติเขาไม่ฟังเรา
[44:59] ฉะนั้นอยู่ที่นี่ มันอยู่ ๒ ชั้น คือ ตัวธรรมะ ความจริงในกฎธรรมชาติ ที่เราจะต้องรู้ตลอดเวลา เป็นฐานของการสร้างระบบกฎเกณฑ์กติกาในสังคม แล้วเป็นจุดหมายพร้อมกันไปในตัว ว่าทำไงเราจะถึงอันนี้ แล้วมนุษย์จะต้องไม่ประมาท มีการศึกษาพัฒนาตนตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสภานิติบัญญัติ จะต้องคำนึงถึงอันนี้ให้มาก เพราะว่ากฎหมายที่ออกมา บอกแล้วว่าออกมาจากปัจจัยปรุงแต่งภายใน คือ ภูมิธรรมภูมิปัญญา และปัจจัยหล่อหลอมทั้งจากสังคมภายนอกด้วยที่ตัวเองเป็นผู้ตัดสิน แล้วกฎหมายที่ออกมาก็ฟ้องว่ามีภูมิธรรมภูมิปัญญาแค่ไหน เสร็จแล้วกฎหมายที่ออกมาก็จะไปเป็นปัจจัยปรุงแต่งสังคมและอารยธรรม หรือเป็นตัวทำลายต่อไป ที่บอกแล้วว่า ถ้าดีก็ดี ถ้าร้ายก็ทำลายทั้งชีวิตและสังคม ทำลายอารยธรรม และทำลายตัวธรรมะด้วย ถ้าดีก็ส่งเสริมให้อารยธรรมมนุษย์ได้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป
ในพุทธศาสนา การปกครองคือ เรื่องของการศึกษา โดยการศึกษา และเพื่อการศึกษา
[46:03] อาตมาภาพได้พูดมานี้ก็ใช้เวลามากมายแล้ว ทีนี้ท่านอัยการสูงสุด ท่านฝากคำถามไว้ ๔ ข้อ สำหรับ ๓ ข้อต้นนี้ อาตมาภาพก็คิดว่าไม่ตอบแล้ว ก็ถือว่าเอาที่พูดมานี่เป็นเสมือนว่าครอบคลุมคำตอบไว้เอง ทีนี้ข้อที่ ๔ ท่านถาม ดูจะเป็นว่า ฝ่ายนิติศาสตร์จะเกื้อกูลศาสนาได้หรือไม่อย่างไร อาตมาภาพจะไม่พูดในแง่ตัวนิติศาสตร์โดยตรง จะพูดในแง่นิติบัญญัติ
ทีนี้นิติบัญญัตินี่ก็ อย่างที่บอกเมื่อกี้ ไทยเรามีความสัมพันธ์กับนิติบัญญัติของรัฐบาลไทย ของสังคมไทย เช่น เรามีกฎหมายคณะสงฆ์ ได้แก่ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ท่าทางนิติบัญญัติจะเกื้อกูลก็คือ ช่วยให้กฎหมายสงฆ์เป็นไปตามหลักการของพุทธศาสนา ทำไงจะให้พระราชบัญญัติข้อบัญญัติต่างๆ นี้ มันเป็นสิกขาบทตามหลักการของพุทธศาสนา แล้วมาเป็นตัวเสริมสร้างสภาพแวดล้อม ระบบสังคม ระบบสถาบัน ที่เกื้อหนุนให้บุคคลที่เข้ามาบวชแล้วได้รับการศึกษา ถือว่าถ้ากฎหมายทำอันนี้ไม่ได้ แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะมันขัดกับหลักการพุทธศาสนา เวลานี้อย่างที่ย้ำแล้วว่า กฎหมายของเรามีความโน้มเอียงที่จะเข้ามาสู่ในวงการสงฆ์ แบบให้สถาบันนี้เป็นสถาบันที่ปกครองด้วยอำนาจไปด้วย ซึ่งมันจะไม่ถูกต้อง ต้องปกครองด้วยการศึกษา
[47:38] อย่างที่บอกแล้วว่า ในพุทธศาสนา การปกครองคือ เรื่องของการศึกษา โดยการศึกษา และเพื่อการศึกษา เพื่อจะทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น ทีนี้ต่อไปอันที่สองก็คือว่า ขยายออกไปสู่สังคมในวงกว้าง ถ้าเห็นด้วยกับหลักการของพุทธศาสนา ในนิติศาสตร์แนวพุทธ กฎหมายจะต้องมีแนวโน้มในการที่จะสร้างระบบสังคม สภาพแวดล้อม ระบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์เนี่ย ในทางที่จะเกื้อหนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ให้มนุษย์เข้าถึงจุดหมายของชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป
แล้วความสัมพันธ์อีกอย่างที่จะมาเกื้อหนุนพุทธศาสนา เมื่อกี้เกื้อหนุนในแง่หลักการพุทธศาสนา ทีนี้อีกอันหนึ่งที่แคบเข้ามาก็คือว่า ในหลักธรรมชุดหนึ่งที่อาตมาพูดไปแล้วว่า อปาริหานิยธรรม ๗ ประการเนี่ย บอกว่าหน้าที่ของรัฐ มีอันหนึ่งก็คือว่า จัดอารักขาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ พระอรหันต์ในที่นี้ก็หมายถึง ท่านผู้มีศีล มีความบริสุทธิ์ มีนักบวชที่เป็นหลักใจของประชาชน เป็นแบบอย่างทางศีลธรรมของสังคมเนี่ย กฎหมายจะต้องช่วยเกื้อหนุน ไม่ใช่กฎหมายกลับละเลยแล้วไปหนุนในทางที่ผิด เวลานี้ก็ต้องถามว่าสังคมของเรานี่ ใช้กฎหมายเกื้อหนุนในทางนี้หรือไม่ เกื้อหนุนผู้ที่อยู่ในแนวทางของพุทธศาสนา หรือว่าออกไปนอกพุทธศาสนา อันนี้ก็จะเป็นทางหนึ่งที่จะมาประสานกับหลักธรรมได้
เพราะว่าเมื่อมองในแง่ประโยชน์ส่วนรวมแล้ว ในที่สุดสภาพของสถาบันสงฆ์ ก็จะเป็นสภาพของสังคมไทยไปด้วย เพราะสถาบันสงฆ์นั้นเป็นสถาบันสังคม สถาบันสงฆ์นั้นเป็นสถาบันตัวแทนของจริยธรรมก็ว่าได้ ฉะนั้นเป็นเครื่องชี้วัดจริยธรรม ในแง่หนึ่งเรามองว่า ถ้าสถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนจริยธรรมสังคมไทยตกต่ำมาก ถ้ายอมรับ เดี๋ยวนี้พูดกันว่าตกต่ำ ถ้าตกต่ำก็เป็นดัชนีชี้วัดว่าเวลานี้สังคมไทย ได้มีความตกต่ำทางจริยธรรมอย่างยิ่ง แม้กระทั่งสถาบันที่เป็นตัวแทนก็ยังตกต่ำเพียงนี้ อันนี้กลับเป็นเครื่องเตือนใจ นักสังคม ผู้รับผิดชอบต่อสังคม ผู้บริหารทุกท่านว่า รีบตื่นขึ้นมา รีบปรับปรุงพัฒนาสังคมของเรานะ รวมทั้งการพัฒนาสถาบันสงฆ์เองด้วย
เพราะว่าการที่สถาบันสงฆ์ตกต่ำ มันไม่ได้หมายความแต่เฉพาะสถาบันสงฆ์ตกต่ำ ซึ่งเรามองกันแคบเหลือเกิน บอกว่าพระไม่ดี ๆ จบ เวลานี้พระตกต่ำอะไรต่าง ๆ ที่จริงนั้น สังคมนี้มันเป็นส่วนรวมขององค์ร่วมต่าง ๆ มากมาย แต่ละส่วนนั้นเป็นองค์ประกอบที่ทั้งเป็นปัจจัยส่งผล และทั้งเป็นตัวรับผลด้วย สงฆ์ก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อสงฆ์ไม่มีประสิทธิภาพ จะไม่สามารถเป็นปัจจัยปรุงแต่งสร้างสรรค์สังคมในทางที่ดี ก็จะเป็นเพียงตัวสะท้อนปัญหาของสังคม เป็นตัวรับผลจากปัจจัยทางสังคม ฉะนั้นเมื่อสถาบันสงฆ์ตกต่ำ ในแง่หนึ่งก็เป็นเครื่องวัดว่า เวลานี้สังคมไทยได้ตกต่ำทางจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดที่ส่วนแกนกลางทางจริยธรรมก็แย่ขนาดนี้ ฉะนั้นอย่าได้ไปคิดมองแคบ ๆ ว่า สถาบันสงฆ์แย่ เพราะนี่คือสังคมไทยทั้งสังคมแย่ที่สุดแล้ว ถ้าเรามองอย่างนี้ได้ เราจะรีบตื่นขึ้นมา แล้วรีบแก้ไขปัญหาด้วยการที่ว่า ปรับปรุงสังคมไทยให้ขึ้นสู่สถานะที่ดีงามถูกต้อง ด้วยการพัฒนาสถาบันสงฆ์เองด้วย ให้เข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง
[51:33] แล้วปัจจัยอย่างหนึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่า นิติบัญญัติของสังคมไทยมีส่วนเอื้อหรือไม่ ที่ทำให้สถาบันสงฆ์ได้ตกต่ำลง การปกครองด้วยอำนาจนั้นแน่นอนผิดหลักการของพุทธศาสนา เพราะการศึกษาการปกครองในพุทธศาสนานั้น เป็นปัจจัยเพียงมาช่วยส่งเสริม มีขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น เพื่อให้มนุษย์พัฒนาขึ้นสู่ชีวิตที่ดีงาม ถ้าเราไม่ยอมรับหลักการนี้มาสู่สังคมส่วนใหญ่ ก็ต้องยอมรับในแง่ของสถาบันสงฆ์ ถ้ายอมรับหมดก็หมายความว่า ขยายหลักการนี้มาใช้ในสังคมส่วนรวมด้วย ตลอดจนสังคมโลกทั้งหมด เพื่อให้นิติศาสตร์นั้นเกื้อหนุนต่อระบบการจัดการสังคม ให้ไปสู่การพัฒนามนุษย์ เพื่อมีชีวิตที่ดีงาม สังคมมีสันติสุข และโลกที่รื่นรมย์น่าอยู่อาศัยยิ่งขึ้น
อาตมาภาพก็ได้พูดมาเรื่องนิติศาสตร์แนวพุทธ แม้ว่าจะไม่ได้ตอบคำถามโดยตรง ก็ได้กล่าวแล้วว่าขอฝากไว้ให้อยู่ในหลักต่างๆ ที่พูดไปแล้ว แล้วก็อาจจะให้ท่านผู้ฟังได้ตอบเอง เวลานี้ก็ต้องขอประทานอภัยอย่างยิ่ง ที่กินเวลาที่ประชุมมาเยอะแยะเหลือเกินแล้ว ก็ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้ฟัง แล้วก็ขอประทานอภัยไปด้วยพร้อมกัน ขอประทานอภัยที่ได้พูดเกินเวลาของที่ประชุมไป แล้วก็อนุโมทนาท่านอัยการสูงสุดที่ได้เป็นผู้มีกุศลเจตนาดำรินิมนต์อาตมามาพูด พร้อมทั้งท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และท่านผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน ก็ขอกุศลเจตนาของท่านจงเป็นปัจจัยแห่งความสุขความเจริญงอกงาม ขอทุกท่านจงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ที่จะช่วยกันปฏิบัติกิจหน้าที่ในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงามนี้ยิ่งขึ้นไป โดยทั่วกันทุกท่านเทอญ