แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ปรากฏการณ์ที่มีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นเอง ทีนี้ เพราะฉะนั้น ไอ้ความไม่เที่ยงนี้ อย่าไปหยุดแค่นั้น เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า มันจะเป็นยังไงก็ปล่อยตามเรื่องตามราว ที่จริง หลักไม่เที่ยงนี่ ก็คือ ต้องโยมไปหาว่า โอ้ ไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงไปยังไง ยังไง ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วแต่เหตุปัจจัย ใช่ไหม เพราะฉะนั้นหลักเรื่องไม่เที่ยงนี่ พอมาใช้ในทางจริยธรรม มันจึงลำนำไปสู่หลักความไม่ประมาท เมื่อสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงมันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่ประมาท กระตือรือร้น ระวังเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเสื่อม แล้วก็ต้องกระตือรือร้น สร้างสรรค์เหตุปัจจัยที่จะรักษาความเจริญ หรือทำให้เจริญยิ่งขึ้นไป ใช่ไหม เพราะฉะนั้น มันก็ปล่อยสิ ถ้าคนใช้อนิจจังไม่เป็น ก็ โอ้ เดี๋ยวมันก็เสื่อม เจริญแล้วมันก็ต้องเสื่อม แล้วก็เลยปลงแบบไม่เป็น ปลงแบบเสียหายไปเลย ปลงว่า เออ มันเจริญแล้วมันก็ต้องเสื่อมสิ นะ หรือว่า พอไปว่า เสื่อมแล้วเดี๋ยวมันก็เจริญเอง ถ้าเจอวิกฤตเศรษฐกิจแล้วเดี๋ยวมันก็เจริญเอง ถึงเวลารอกันไป เลยไม่ทำ ก็เข้าลักษณะผิดหลัก พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการกระทำ ใช่ไหม ทีนี้ถ้าบอกไม่เที่ยงไม่เที่ยงนี้มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย จะเปลี่ยนแปลงไปยังไง ก็ต้องรู้เหตุปัจจัย ป้องกันเหตุปัจจัยที่จะทำให้เสื่อม สร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญ นี่แหละ มันก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่สอดคล้องกับเหตุปัจจัยที่เราทำ ทีนี้ถ้าเราเก่ง เรายิ่งศึกษาเหตุปัจจัยได้มาก เราก็ยิ่งรักษาความเจริญ และทำให้เจริญยิ่งขึ้นได้ ใช่ไหม
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกว่า ใช้หลัก อปริหานิยธรรม บอกว่า นี่หลักการ อย่างนี้ ๆ บอกว่า ถ้า ภิกษุทั้งหลายหรือชาววัชชีทั้งหลายนี่ ปฏิบัติตามนี้แล้ว ก็หวังได้แต่ความเจริญไม่มีเสื่อม อย่างนี้เป็นต้น อ้าว! ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสว่า มีแต่เจริญไม่มีเสื่อม เอ๊ะ พระองค์ก็ตรัสขัดกันเองสิ /หัวเราะ/ พระพุทธเจ้าตรัสหลักอนิจจังไม่เที่ยง แล้วทำไมมาตรัสบอกว่า ปฏิบัติตามนี้แล้วมีแต่เจริญไม่มีเสื่อม ใช่ไหม นี่ถ้าคนดูไม่ออก ว่านึกว่าพระพุทธเจ้าทำไมสอนขัดกัน เปล่า ที่จริงก็คือว่า มันเป็นความจริงอย่างนั้น นะ ก็คือมันเจริญหรือเสื่อม มันเป็นความเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเราปฏิบัติดีถูกต้อง รักษาเหตุปัจจัยไว้ได้มันก็ไม่เสื่อม ถูกไหม เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ประมาท ฉะนั้นหลักพุทธศาสนาที่เอาความไม่ประมาทมานี่ ก็เพราะเรื่องความเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ใช่ไหม ที่นี้ อันนี้เป็นหลักสำคัญ ทีนี้ ถ้าไม่ระวังให้ดี การเชื่อเรื่องอนิจจังนี่จะไปเข้าเรื่องของลัทธิโชคชะตาไป นะ มันต้องแยกให้ดีเรื่องพุทธศาสนา
ทีนี้พุทธศาสนาก็สอนเรื่องให้รักษาความเจริญไว้ได้ แม้แต่ชีวิตของเราที่เราพัฒนาได้ก็เพราะมันเป็นอนิจจัง ใช่ไหม เพราะฉะนั้นมองในแง่ไหนก็ได้ เพราะว่าหลักอนิจจังมันเป็นกฎธรรมชาตินี่ มันไม่ได้ไม่ดีไม่ชั่วในตัวมันเอง เดี๋ยวใครจะบอกว่ามันไม่เที่ยง มันเลวร้าย ไม่ใช่อย่างนั้น ใช่ไหม คำว่า ไม่เที่ยงนี่มันเป็นคำกลาง เป็นกฎธรรมชาติเฉย ๆ ก็ใช้ดีก็เกิดประโยชน์ ใช้ไม่ดีก็เกิดโทษ อย่างคำว่า เจริญ คำว่าเสื่อมนี่ มันเป็นคำที่แสดงอนิจจังอยู่ในตัว คือเปลี่ยนแปลงไม่อยู่นิ่ง ใช่ไหม ไม่ต้องไปเปลี่ยนเป็น เจริญเป็นเสื่อมหรือเสื่อมเป็นเจริญ จึงจะเป็นอนิจจัง ใครเข้าใจผิด คือเราไปติดในศัพท์ เรานึกว่า อ๋อ เจริญเป็นเสื่อมคืออนิจจัง หรือเสื่อมเป็นเจริญคืออนิจจัง ไม่ใช่ เสื่อมนี่ คำว่าเสื่อมนี่ก็คือเป็นอนิจจังอยู่ในตัวตลอดเวลา เพราะว่าเสื่อมนี้เป็นคำที่ไม่นิ่งนะ ก็มีการเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนแปลงไปในเชิงที่เราไม่ชอบใจ หรือไม่เกิดผลดีกับเรา ความจริงไอ้เสื่อมมันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมันก็ไม่ดีไม่ชั่วนะ แต่ว่าเรามอง หรือว่าสัมพันธ์กับเรา ในแง่ที่ถูกใจเราบ้างไม่ถูกใจเราบ้าง เป็นผลดีกับเรา หรือไม่เป็นผลดีกับเรา เราก็บอกว่านี่เสื่อม แต่ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เกิดผลดีแก่เรา เราชอบใจ เราบอกนี่เจริญ ใช่ไหม ที่จริงคำว่าเสื่อมหรือเจริญก็คือคำแสดงความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น เสื่อมแล้วเสื่อมต่อไป ก็ความเปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเสื่อมยิ่งขึ้นไป ก็เป็นความเปลี่ยนแปลง อนิจจัง ตามเดิม เสื่อมแล้วเป็นเจริญก็อนิจจัง เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน หรือว่าเจริญแล้วเจริญต่อไป ก็เป็นอนิจจังอยู่ในตัว ใช่ไหม เจริญแล้วเจริญยิ่งขึ้นไปอีกก็อนิจจังในตัว เจริญแล้วเปลี่ยนเป็นเสื่อมก็อนิจจังทั้งนั้นนะ ไม่ได้หมายความจะต้องพลิกกลับตรงข้าม นี่เป็นเรื่องของต้องแยกไอ้ความยึดติดของคน นะ
แล้วก็เอาเป็นว่าเรื่องอนิจจังนี่ เป็นหลักไตรลักษณ์อยู่ใน ๓ ข้อ เป็น อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ซึ่งเป็นอาการปรากฏของความเป็นไปที่ลึกลงไป คือกระบวนการของปฏิจจสมุปบาท หรือ ปัจจยาการ อีกทีนึงนะ ก็ปรากฏลักษณะออกมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเรียก ลักษณะไตรลักษณ์ มันไม่ใช่ตัวสภาวธรรม ใช่ไหม ไม่ใช่ตัวสิ่งนั้น ไม่ใช่ตัวของมัน เป็นลักษณะ หรืออาการปรากฏ ที่เราจะกำหนดรู้สิ่งนั้นได้ แต่ว่ากระบวนการความเป็นไปของมันก็คือปฏิจจสมุปบาท นะ แล้วสภาวธรรมที่จะเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทก็คือ อย่างที่เราเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือ รูปธรรม นามธรรม ใช่ไหม ถ้าเราพูดถึงขันธ์ ๕ ก็คือเราพูดถึงตัวสภาวธรรม ที่จะไปมีความเป็นไปตามกระบวนการที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท แล้วก็เกิดลักษณะอาการปรากฏขึ้นที่เรียกว่าไตรลักษณ์ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราจะบอกว่าเป็นอันเดียวกันก็ได้ เรื่อง ขันธ์ ๕ เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องไตรลักษณ์นี่ ก็เรื่องเดียวกัน ถูกไหม
พอเห็นนะ เพราะฉะนั้นเวลาเรียนเราก็เลยต้องหาทางจัดลำดับเพื่อให้ผู้เรียนนี้เข้าใจง่ายขึ้น เอาตัวสภาวธรรมมาตั้งก่อน เรื่องรูปธรรม นามธรรม เรื่องขันธ์ ๕ แยกยังไงชีวิต จิตใจ เหมือนกับรถเอามาตั้งนิ่ง ๆ แล้วแยกส่วนออกไป ที่นี่ก็ พอได้ความอย่างนั้นแล้วก็ อาจจะไปพูดถึงกระบวนการที่ว่า รถนี่มันแล่นยังไง ใช่ไหม นะ ก็ให้เห็นกับกระบวนการ ปฏิจจสมุปบาท ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหว แล้วก็ ก็เป็นอาการปรากฏขึ้นมาเป็นไตรลักษณ์ เป็นอาการที่วิ่งไป เป็นต้นนะ เร็ว ช้า อะไรต่าง ๆ ขึ้น ลง อะไรต่าง ๆ นะ ก็แล้วแต่
ก็ อันนี้ก็เป็นเรื่องของธรรมชาตินั่นเอง ก็พอจะเห็นนะ นี่ผมก็พูดไปในแง่ต่าง ๆ แต่ว่าอย่างที่บอกแต่ต้นบอกว่า อันนี้เป็นกฎธรรมชาติ ที่มีกฎใหญ่ แล้วพระพุทธเจ้าก็มาตรัส ตอนที่ ๒ ซึ่งจะเน้นที่ชีวิตจิตใจของมนุษย์ กระบวนการเกิดขึ้น ความดี ความชั่ว กิเลส เรื่องความสุข ความทุกข์ อะไรต่าง ๆ แล้วรวมทั้งเรื่องกรรม เรื่องการกระทำ การปรุงแต่ง อะไร ก็อยู่ในชีวิตจิตใจของมนุษย์นี้ นะ แต่ พอเรากลับไปเทียบกับกฎใหญ่ เราก็ต้องรู้ว่า อ๋อ นี่มันไม่ใช่ทั้งหมดนะ นะ มิฉะนั้นเราอาจจะบอกว่าอะไร ๆ ก็เป็นเพราะกรรม เอาอีกแล้ว! นะ คือกรรมนี้เป็นส่วนสำคัญที่เป็นรูปหยาบของ ปฏิจจสมุปบาท ใช่ไหม ที่ปรากฏขึ้นมา ในส่วนที่เราจับเป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นตัวได้ง่าย นะ หลักกรรม
ทีนี้ มันไม่ใช่กฎทั้งหมดของธรรมชาติ แต่มันเป็นกฎใหญ่ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตจิตใจมนุษย์ ความเป็นไปของชีวิตจิตใจมนุษย์ ก็อันนี้แหละ โดยเฉพาะเจตจำนง แต่ว่าไม่ใช่ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นจากกรรม เพราะว่าอาจจะมีคนไปเข้าใจผิด อย่างนี้(ว่า)ทุกอย่างเป็นเพราะกรรม เอาล่ะ! ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ผิดอีก พระพุทธเจ้าก็ตรัสเตือนไว้เลย เช่น อย่าง โรคภัยไข้เจ็บ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรเลย ว่า เป็นโรคนั้น โรคนั้น โรคที่เกิดจากสมุฏฐานนั้นก็มี โรคเกิดจากสมุฏฐานนั้นก็มี โรคที่เกิดจากสมุฏฐานนี้ก็มี ใช่ไหม พระพุทธเจ้าก็ตรัส โรคเกิดจากกรรมก็มี ใครไปบอกว่า โรคนั้นทุกอย่างเกิดเพราะกรรม ล่ะก็ผิด พระองค์ก็ตรัส(ว่า)ไม่ใช่อย่างนั้น ใช่ไหม อันนี้ก็ต้องระวัง นะ แต่ก็อย่าไปลบหลู่ความสำคัญนะ เพราะว่าชีวิตมนุษย์นี่ เรื่องใหญ่ที่สุดก็คือเรื่องนี้ กระบวนการปฏิจจสมุปบาท โดยเฉพาะส่วนที่ออกมาสู่ความปรากฏตัวเป็นไปในโลก ก็คือเรื่องกรรม เรื่องเจตจำนง แต่ว่าอย่าเอาเป็นตัดสินหมด นะ เพราะฉะนั้น ในขั้นอรรถกถา ท่านจึงได้เอาแนวหลักการนี้มาแยกกฎธรรมชาติออกเป็นหลาย ๆ กฎ เพื่อให้เห็นว่า อ๋อ สิ่งทั้งหลายนี้มันไม่ได้เป็นไปเพราะเหตุปัจจัยที่เรียกว่ากรรมอย่างเดียว นะ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี่ นะ ก็คือ อย่างที่อรรถกถามาอธิบาย ก็ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ที่พูดบ่อย ๆ บอกว่า เราปวดหัวนี่ ปวดหัวนี่ก็เป็นปรากฏการณ์อันหนึ่ง เป็นผล ถ้าเรามองในแง่ปฏิจจสมุปบาท เราก็บอกว่ามีเหตุปัจจัยพรั่งพร้อมแล้วก็เกิด แต่ทีนี้ ถ้าเน้น เราก็อาจจะบอกว่า เอ้อ เช่น อากาศไม่พอ เราไปสูดควัน หรืออยู่ในที่อากาศอับ อาจจะเกิดอาการปวดหัวได้ นี่ท่านเรียกว่าเป็น เหตุปัจจัยฝ่าย อุตุ นะ นี่ไม่ใช่กรรม หรือน้ำตาไหล อาจจะถูกควันไฟใช่ไหม แล้วน้ำตาไหลอย่างนี้ ท่านเรียกว่า ปัจจัยด้าน อุตุ ไม่ใช่กรรม ที่นี่อีกคนหรือคนเดียวกันนั่นแหละ ต่างเวลา แต่คิดมาก ไม่สบายใจกลัดกลุ้มเกิดปวดหัวขึ้นมา อันนี้เกิดจากกรรมแล้ว นะ ไม่ใช่เกิดจาก อุตุ หรืออย่างดีใจเสียใจ ที่ว่าเมื่อกี้ อาจจะน้ำตาไหลเพราะโดนควันก็ได้ ใช่ไหม อาจจะน้ำตาไหลจากดีใจ อาจจะน้ำตาไหลเพราะว่าเสียใจ เกิดการคิดหม่นหมองจิตใจไม่ดีอะไรขึ้นมา ใช่ไหม เพราะฉะนั้น นี่ การที่น้ำตาไหล หรือการปวดศีรษะ อะไรนี่ อาจจะเกิดจากปัจจัยด้าน อุตุ ก็ได้ อาจจะเกิดจากปัจจัยด้าน พีชะ เช่นบางคนนะ เป็นกรรมพันธุ์ที่จะทำให้ปวดหัว ก็อันนี้เรียกได้ว่าเป็นกฎด้านกรรมพันธุ์ หมายความว่าอาจจะเกิดจาก อุตุ ก็ได้ อาจจะเกิดจาก พีชะ พืชก็ได้ อาจจะเกิดจากด้านจิต อาจจะเกิดจากกรรม ฉะนั้นอย่าไปโทษกรรมอย่างเดียว ใช่ไหม
อันนี้ก็ทำให้เรามองได้กว้างขึ้น เพราะฉะนั้นท่านก็เลยแยกกฎธรรมชาตินี่ แยกง่าย ๆ ให้ที่เกี่ยวข้องกับเราจะใช้บ่อย ๆ ได้เป็น ๕ กฎด้วยกัน
๑. อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความเป็นไปของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอุณหภูมิ นี่ เช่นว่า ร้อน หนาว ความเป็นไปของดินฟ้าอากาศ อะไรต่าง ๆ นี่นะ กฎธรรมชาติแบบนี้เรียกว่า อุตุนิยาม เหมือนอย่างร่างกายของเรา ที่อาจจะเกิดเหงื่อไหล หรือว่าปวดหัวเพราะขาดอากาศออกซิเจน อะไรอย่างนี้นะ
ทีนี้ ๒. ก็คือ พีชนิยาม กฎธรรมชาติฝ่ายพืชพันธุ์ คนนี้อาจจะสวยเหมือนกัน แต่ไปเป็นลูกฝรั่ง ก็สวยอย่าง ไปเป็นลูกไทยก็สวยอย่าง ไปเป็นลูกแขกก็สวยอย่าง ใช่ไหม หน้าตาก็จะไม่เหมือนกัน อันนี่คือ พีชนิยาม
แล้วก็ (๓.) เป็นด้านจิต การทำงานของจิตใจ กระบวนการของจิตใจ เช่นว่า คุณสมบัติอันนี้ของจิตเป็นคุณสมบัติที่ดีเอื้อต่อจิตใจ เกิดขึ้นแล้วดี คุณสมบัติอันนี้ อันนี้เกิดขึ้นแล้วเป็นโทษต่อจิตใจ ไม่เป็นคุณ แล้วก็พอคุณสมบัตินี้เกิดขึ้นแล้ว คุณสมบัติอย่างนั้นเกิดได้ หรือเกิดไม่ได้ อันไหนเกิดได้กับอันไหน อันนี้ ศึกษาแยกแยะไป นี้เรียกว่า จิตนิยาม กฎการทำงานของจิต
ที่นี่ก็ (๔.) กรรมนิยาม ก็ด้านเจตจำนง นี่แหละอันนี้คือกรรม ตัวกฎธรรมชาติว่าด้วยการกระทำของมนุษย์ หรือเจตจำนงของมนุษย์ หรือกฎแห่งกรรม อันนี้ก็จะว่าด้วยเจตจำนง ความตั้งใจ เจตนามีแรงจูงใจ ประกอบเหตุด้วย โลภะ โทสะ โมหะ แล้วจะเกิดผลต่อชีวิตอย่างไร เจตนาที่ประกอบด้วยเมตตา ทำให้หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ถ้าเจตนาประกอบ ด้วยโทสะ ก็ทำให้หน้าบึ้งตึง อะไรนี่ คิดจะทำร้าย อันนี้เรียกกฎแห่งกรรมแล้วนะ กฎนี้ใหญ่มาก เพราะว่ามันจะมีไอ้ตัวปรุงแต่งอยู่ในชีวิตจิตใจมนุษย์ แล้วมนุษย์นี่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ไปกระทำต่อสิ่งแวดล้อมอื่นมากมาย สร้างสรรค์อารยธรรม สร้างสรรค์สังคม อะไร ชีวิตของตัวเองก็มีความเปลี่ยนแปลง เป็นไปต่าง ๆ เมื่ออารยธรรมมนุษย์ อะไรต่ออะไรก็เกิดอย่างนี้ กระบวนการเจตจำนงหมด พอมนุษย์มีความเชื่ออะไรสักอย่างนึง เช่นว่า แบบที่ฝรั่งเชื่อ บอกว่า มนุษย์จะประสบความสำเร็จ มนุษย์จะมีความสุขแท้จริงต้องพิชิตธรรมชาติได้ เชื่อมา ๒,๐๐๐ ปี พัฒนาอารยธรรม ไปบนฐานความเชื่อนี้ เจตจำนงตั้งไปในแนวนี้หมดเลย อารยธรรมทั้งหมดก็เกิดจากฐานอันนี้เลย พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า กมฺมุนา วตฺตติโลโก ใช่ไหม สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม ก็คือสังคมมนุษย์นั้นไปตามกรรม อารยธรรมมนุษย์เป็นไปตามกรรม หรือกระบวนการของเจตจำนงนี่ แล้วก็ นี่กฎแห่งกรรม
แล้วก็ (๕.) ธรรมนิยาม กฎธรรมชาติใหญ่ที่ครอบคลุมหมด ไอ้ ๔ อันนี้เป็นเพียงแยกย่อยมาจาก ธรรมนิยาม ธรรมนิยาม ก็กฎธรรมชาติที่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่อยู่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อะไรอย่างนี้นะ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หรือว่าอย่างมนุษย์เกิดมาแล้วก็ต้องตาย หรืออะไรอย่างนี้นะ กฎธรรมชาติที่เป็นหลักใหญ่ครอบคลุม นี้เรียกว่า ธรรมนิยาม มีที่จริง ๔ หลัก ๔ กฎแรกก็แยกมาจากกฎใหญ่นี่ เป็นแต่เพียงว่า เป็นส่วนที่มนุษย์นี่ต้องเกี่ยวข้องมาก ควรจะรู้ ก็แยกออกมาเพื่อจะให้ดู เพื่อจะได้ศึกษา หรือเพื่อจะได้วิเคราห์อะไรได้ดีขึ้น
ตกลงว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ ส่วนแรกก็จะเห็นว่าเป็นกฎใหญ่ ที่ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนั้นก็ไม่มี อะไรนี่นะ แล้วตอนที่ ๒ นี่ อวิชชาปัจจะยา เป็นต้นนี่ ตอนนี้ก็เป็นตอนท่อนยกตัวอย่าง เป็นจุดย้ำสำหรับมนุษย์ เพราะว่า มนุษย์นี้อยู่ด้วยกระบวนการนี้ ชีวิตของเขาจะเป็นไปอย่างไร ใช่ไหม โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเรื่องของกรรม ออกมาอย่างนั้น นะ ก็จะเห็นว่าในปฏิจจสมุปบาทนั้นน่ะ เจตนานี่เป็นตัวสำคัญเลย เป็นแกนที่จะให้เป็นไป นะ แล้วก็กรรมก็อยู่ไปที่เจตนานี้ แล้วก็ตัวให้โอกาสก็คืออวิชชา ใช่ไหม แฝงอยู่ตลอดเวลา พออวิชชานี้หมดไปเมื่อไหร่ กลายเป็นวิชชาปั๊บ ไอ้กระบวนการนี้พังครืนมาเลย /หัวเราะ/ มันไม่มีตัวให้โอกาส นะ
ก็คราวนี้เรากำลังเข้ามาสู่ องค์ธรรมบางอย่างในกระบวนการทั้งหมดนั้น แล้วเรากำลังพูดถึง องค์ธรรม หรือ สภาวธรรมที่ดี ที่เป็นตัวสำคัญ ๆ บางตัว ซึ่งเป็นตัวที่เด่นมากทีเดียว สติ สมาธิ ปัญญา
สติ เราจะได้ยินว่า มักจะพูดคู่กัน พร้อมกัน พ่วงกันกับคำว่า สัมปชัญญะ หรือไม่อย่างนั้นก็พูดคู่กับ ปัญญา คือ สติสัมปชัญญะบ้าง สติปัญญาบ้าง แล้วบางทีท่านพูดว่าสตินี่ ให้รู้ว่าทิ้งคำว่า ปัญญา หรือ สัมปชัญญะ ไว้ในฐาน(ที่)เข้าใจ นะ คือเราพูดถึง สติ คำเดียวแต่ทิ้งคำว่า สัมปชัญญะ หรือ ปัญญา ไว้ในฐาน(ที่)เข้าใจอยู่ด้วย อย่าไปนึกว่าสติอย่างเดียว แล้วถ้าเราไม่นึกอย่างนี้จะสับสน เพราะหลายคนแยกไม่ออกสติกับปัญญามันยังไง นะ ยุ่งหมด คราวนี้ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้วเดี๋ยวแยกชัดแล้ว นะ แล้วก็ ที่เรียกสติสัมปชัญญะ สติปัญญาที่จริง ทั้งปัญญา และ สัมปชัญญะ มันก็โดยสภาวธรรม อันเดียวกันแหละ สัมปชัญญะนั้นเป็นเพียงชื่อหนึ่งของปัญญาเท่านั้น นะ ปัญญานี้เคยบอกแล้วนี่ เป็นคำที่กว้างที่สุด สำหรับความรู้ความเข้าใจ เป็นชื่อร่วม ปัญญาที่ไปใช้ทำหน้าที่อันนั้นก็เรียกชื่ออย่างนั้น ปัญญาที่ไปทำหน้าที่อย่างโน้นเรียกชื่ออย่างนั้น(โน้น) เช่น ปัญญาบางทีเราเรียกว่า สัมปชัญญะ ปัญญาบางครั้งเราเรียกว่า วิปัสสนา ปัญญาบางครั้ง เราเรียกว่า ปฏิสัมภิทา ปัญญาบางครั้งเราเรียกว่า ญาน นะ มันก็คือปัญญาที่ไปทำหน้าที่ต่าง ๆ หรือว่าอยู่ในระดับต่าง ๆ ขั้นตอนต่าง ๆ ก็เลยมีชื่อเรียกเฉพาะออกไป ชื่อรวมคือ ปัญญา
ที่นี่ก็กลับมาสู่ความหมายของคำว่า สติ สตินั้นโดยตัวมันแท้ ๆ นี่ เราแปลว่ากันว่า ระลึก ถ้าแปลเป็นไทยง่าย ๆ ก็ นึก อาการของระลึกหรือนึกนี่ ถ้าพูดเป็นรูปธรรมก็เหมือนคำว่า ดึงไว้ ดึงมา ดึงมากับดึงไว้นะ ลองคิดดู ดึงมากับดึงไว้นี่ต่างกันยังไง ดึงมา หมายความว่า มันอยู่ห่างออกไป ใช่ไหม แล้วเราก็ดึงมา ดึงมาไหนล่ะ ดึงมาต่อหน้า เอามาหน้าเรานี่ ใช่ไหม โดยปกติแล้วดึงมาดู /หัวเราะ/ แล้วก็ ดึงไว้ ก็หมายความ(ว่า)มันผ่านมาแล้วจะเลยไป เราก็ดึงไว้ไม่ยอมให้มันไป (ไม่)ให้มันผ่านไป ใช่ไหม นี่อาการดึง สตินี้ก็มีอาการอย่างนี้ถ้าเทียบเป็นรูปธรรม ที่ว่าดึงมาก็คือว่า เรานี้ได้รับรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย แล้วมันก็ผ่านล่วงไป แล้วไปอยู่ที่ไหน ไปอยู่ในความทรงจำ ใช่ไหม ที่นี่เวลาเราจะใช้งานนี่ เราก็ทำไม เราก็ดึงเอามา อาการที่ดึงมานี้เรียกว่าสติ ดึงมา ดึงมาให้มาอยู่ต่อหน้าเรา เราจึงทำงานได้ ใช่ไหม ถ้ามันไม่อยู่ต่อหน้าเรา เราก็ทำงานไม่ได้ ถูกไหม ก็หมายความว่า ดึงมาจากความทรงจำ เอาขึ้นมาอยู่ต่อหน้าเรา ถ้าพูดเป็นรูปธรรม
ทีนี้ อ้าว ที่นี้ ดึงไว้ ก็หมายความว่าประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ผ่านเข้ามาทางตา ทางหู เดี๋ยวมันก็จะผ่านไปอีก เอ๊ะ เราจะใช้การมันนี่ เราจะพิจารณามัน เป็นต้นนะ เราต้องการจะรู้เรื่องนี้ให้มันชัด เราก็ดึงไว้สิ ถูกไหม อันนี้อาการ ๒ อย่าง ดึงมากับดึงไว้นี่ แปลเป็นภาษานามธรรม เราเรียกว่า นึกหรือระลึก ก็คืออาการของสติ อันนี้แหละคือตัวสติ นะ ชัด(หรือ)ยังครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรานี่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราเรียกว่า อารมณ์ นะ เมื่อผ่านเข้ามาเราต้องการพินิจพิจารณา หรือเราต้องการทำอะไรกับมัน ก็ดึงไว้ เรียกว่าสติ นี่ นี่คือปัจจุบัน ที่นี้ถ้าผ่านล่วงไปแล้ว ไปอยู่ในความทรงจำ เราก็ดึงมาอยู่ต่อหน้าเรา เพื่อจะได้ดูได้พิจารณาได้อีก ก็นี่ก็ สติ เป็นอันว่าชัดแล้วนะสติ สตินี่คืออย่างนี้ นะ ดึงมากับดึงไว้
ที่นี้พอ ดึงมา ดึงไว้แล้ว จะทำงานยังไง ไอ้เจ้าตัวสำคัญที่จะทำงานก็คือ ต้องรู้มัน จะดูมัน จะพิจารณามัน ตอนนี้แหละปัญญาแล้ว ปัญญานี้เหมือนลูกตาแล้ว นะ เราดึงมาอาจจะใช้มือดึงมา ดึงมาต่อหน้าเรา ตาเราจะได้ดูได้ ที่ตาเราพิจารณาดูว่ามันเขียว มันแดง มันลึกซึ้งอย่างไร มีส่วนประกอบยังไง อะไรต่าง ๆ ตอนนี้เป็นเรื่องของปัญญา แล้วนะ ที่จะรู้ รู้เข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าสติไม่ดึงมาหรือดึงไว้ให้นี่ ไอ้เจ้าปัญญาทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้น สติจึงมีความสำคัญมาก เป็นตัวส่งงานให้ปัญญา ถ้าไม่มีสติไอ้เจ้าปัญญาทำงานไม่ได้ นะ
/เสียงผู้ถาม/ ขออนุญาตเรียนถาม สติที่???(23.56) ได้ตลอดเวลา แสดงว่าต้องดึง ดึงไว้อยู่ตลอดเวลา
ต้องเป็นคนเก่ง ในการดึงหรือตรึงไว้ไง ดึงไว้ไง หมายความว่าอารมณ์นี้ก็อยู่ที่เราจะเอายังไง สติใช้อย่างหนึ่งก็คือว่า เราต้องการทันต่อความเป็นไป เพราะว่าสนองความรู้ใช่ไหม เจตนาตัวเป้าหมายน่ะ เป้าหมายอยู่ที่รู้นะ เราต้องการรู้ ความเป็นไปของสภาวธรรม ที่นี้สภาวธรรมนี่มันเกิดดับตลอดเวลา เคลื่อนไหวตลอดเวลา อ้าว แล้วถ้าเราไม่ทันมัน เราไม่ตามไปนี่ เราจะรู้ทันยังไง ฉะนั้นไอ้เจ้าสติก็ต้องตามทัน การเกิดดับการเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ถ้าเราหยุดเมื่อไหร่ ปั๊บ เราไม่ทันแล้วใช่ไหม สภาวธรรมนี่ อนิจจัง เกิดดับ ตลอดเวลาเลย ถ้าเราไปติดแง่ใด สมมุติไปชอบอะไร อย่างหนึ่ง ปั๊บนี่ ก็คือ ปั๊บเดียวมันผ่านไปแล้ว ไอ้ส่วนที่ติดนั้นคืออดีตเลย ถูกไหม พอเรามีอะไรผ่านไปอย่างนี้ ๆๆ ถ้าเราดูตามไป มันก็ไปเรื่อย ใช่ไหม ก็ต้องดูสิ่งนั้นไปตามที่มันเป็น ทีนี้เราเกิดมาชอบใจปั๊บนี่ เรา คือติดภาพหนึ่งของอันนั้น ในขณะหนึ่ง ถูกไหม พอติดภาพนั้นในขณะหนึ่ง ภาพนี้เก็บไว้อยู่ในใจ จิตของเราไม่อยู่กับความเป็นไปของสิ่งนั้นแล้ว เขาเรียกว่า ตกอดีต แล้ว เพราะฉะนั้นตกอดีตนี่เป็นปุ๊บทันทีเลย พอไปจับติดอะไรขึ้นมา พอใจปั๊บ เข้ามาอยู่ในใจของตัวเองปั๊บ ไม่ทันสิ่งนู้นแล้ว ใช่ไหม นี่ท่านเรียกว่า ตกอดีต
ฉะนั้นก็เวลาต้องการรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายที่กำลังดำเนินไป เป็นอนิจจัง เคลื่อน ๆ ตลอดเวลานี่ สติมันถึงต้องไวมากนะ มันต้อง ทัน ๆๆๆ พอสติ จับ ๆๆๆๆ ตอนนี้จะเรียกว่าจับก็ได้ สตินี่นะ จับดึงตรึงมานี่ จับดึงตรึงนี้อาการของสติ กำหนดก็ได้ กำหนดนี่ชักเป็นนามธรรมแล้ว จับดึงตรึงนี่ก็เป็นอาการแบบรูปธรรมมาเทียบ พอเราจับทัน ๆ กำหนดนี่ นะ ไอ้ปัญญาก็ รู้ ๆๆๆๆ ไปตามนั้นเลย นะ แต่ว่าพอสติไม่ทันนะ ไปติดภาพหนึ่ง ในความเคลื่อนไหวนั้น ปั๊บ เข้ามาอยู่ในใจเลย ใช่ไหม พอเข้ามาอยู่ในใจนี่เราไม่ได้ดูสิ่งนั้นแล้ว เราอยู่กับใจของตัวเอง เป็นอดีตของสิ่งนั้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า ตกอดีต ถูกไหม
อ้าว ทีนี้ก็กลับไปพูดเมื่อกี้อีก เป็นอันว่า สติจับดึงตรึงไว้ แต่ว่า ดึงมาดึงไว้นี่สำคัญที่สุด ที่นี่ก็ ดึงมา ดึงไว้ นี่เพื่ออะไร ก็เป้าหมายสำคัญก็เพื่อให้ปัญญานี่ เหมือนกับลูกกะตาได้ดูได้พิจารณา จะได้รู้ได้เข้าใจสิ่งนี้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นสติจึงเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้ปัญญาทำงานได้ พูดเป็นสำนวนคล้าย ๆ ว่า ส่งงานให้ปัญญา นะ แต่ว่าถ้าสติทำงานแล้วปัญญาไม่ตามมา มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ถูกไหม สติทำงานดึงมาแล้วก็ แล้วก็หลับตาเสียนี่ นะ ไม่ดู หรือดูเฉย ไม่ได้ดูสอดส่องตรวจตราอะไรเสีย ไม่ค่อยได้เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็มีความสําคัญ ไอ้ตัวที่จะทำให้กิจงานสำเร็จคือตัวปัญญา แต่ว่าถ้าขาดสติไอ้เจ้าตัวทำงานนั้นทำไม่ได้ ถูกไหม เอาล่ะครับพอเห็นนะ อาการที่สติกับปัญญามันต่างกันอย่างไร แล้วมันทำงานสัมพันธ์กันอย่างไร
ที่นี้ ก็มีปัญหาแทรกเข้ามานิด อย่างบางคนแปลสติเหมือนกับว่ารู้ ที่จริงสติไม่รู้หรอก มันเป็นตัวดึงตัวจับไว้ เราอาจจะงงตรงนี้ คือสตินี่นะ มันดึงมา เมื่อกี้บอกแล้วอันหนึ่ง ดึงมานี่ก็คือว่า ประสบการณ์ของเราที่สะสมมาในอดีต เราเก็บเอาไว้ใช่ไหม ซึ่งบางทีมันเป็นผลงานของปัญญาที่ทำไว้ครั้งก่อนเยอะแยะ กว่าเราจะเก็บประสบการณ์นั้นได้ โห ปัญญาทำงานเสียเสร็จจนรู้ดีแล้ว แล้วเราก็ สัญญา ก็เรียกว่าเก็บข้อมูลเลย เก็บปั๊บเข้าไว้ สติระลึกออกมาปั๊บ ดึงมา นี่ก็คือผลงานของปัญญาเก่านี่เป็นความรู้เยอะเลย เรานึกว่าสติรู้ เปล่า สติก็ดึงเอาความรู้เก่าออกมา อันนี้ก็เลย นึกว่ารู้ นะ นี้ก็คือว่าดึงผลงานของปัญญาเก่าออกมา
ที่นี่ ไอ้ความรู้เก่าที่เป็นผลงานที่ปัญญาเอาไว้ทำไว้นี่นะ มันใช้ประโยชน์ได้เยอะเลยนะ พอเจอสถานการณ์ เดียวกันนี้ ไม่ต้องคิดเลยใช้ได้เลย แต่พอเจอสถานการณ์ยักเยื้องเป็นปัญหาแปลกไปนิดนึง ถ้าไม่ใช้ปัญญาต่อเหรอ เอาแค่สติ จบเลย ไปไม่ได้ ใช่ไหม มันได้แค่ความรู้เก่าที่มีอยู่ ประสบการณ์เก่า มันก็จำกัดสิ ฉะนั้นก็คนมีปัญญา ก็จะสามารถที่จะเอาประสบการณ์เก่าความรู้เก่านี่มาประยุกต์ มาดัดแปลง มาประสาน มาโยงเข้ากับสถานการณ์ใหม่ หรือโยงความรู้เก่า ๆ หลายสถานการณ์หลายประสบการณ์เอามาใช้ประโยชน์ได้อีก ใช่ไหม ให้เข้ากับสถานการณ์ได้ดี เพราะฉะนั้นลำพังสตินี่ไม่พอ สตินั้นไม่ใช่รู้หรอก สติเป็นเพียงว่าไปดึงเอาผลงานปัญญาเก่ามา ไอ้นั่นมันเป็น ความรู้เก่าอยู่แล้ว ก็เลยนึกว่ารู้ ไม่ใช่สติรู้ นะ พอเข้าใจ
อ้าว ทีนี้ก็เป็นอันว่า กลับไปสู่หลักตัวสภาวธรรมอีกทีว่า สติ กับ ปัญญา ที่นี่อย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ บางทีีสติระลึกมา ปัญญาไม่ได้ทำงาน แต่ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์นะ คือดึงไว้นี่ ดึงมาก็ตาม ดึงไว้ก็ตามนี่ มันมีประโยชน์ทางจิต ทีนี้ ตอนนี้ไม่พูดถึงปัญญา มีประโยชน์ทางจิตก็คือว่า จิตของเรานี้มันฟุ้งซ่าน เดี๋ยวไปเอาเรื่องนู้นมาเรื่องนี้มา บางเรื่องก็เป็นโทษกับตัวเอง ถูกไหม ทำให้จิตใจมัวหมองขุ่นมัวเครียด อะไรต่าง ๆ ทีนี้ ถ้าเราไปดึงเอาเรื่องดี ๆ มา นะ ถึงแม้ไม่ได้พิจารณาอะไรหรอก นะ เอาดึงมาไว้ให้มันอยู่กับจิตใจนี่ จิตใจมันได้สิ่งที่ดีงาม หรือไม่เสียหาย มันก็ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง ถูกไหม ทีนี้ ไอ้ดึงมา ดึงมา ๆ ต้องคอยดึงอยู่เรื่อยนี่ มันก็ยังสู้ให้มันแนบสนิทเลยไม่ได้ ถ้ามันเกิดว่า ดึงมาแล้ว อยู่กับจิตได้ตลอดเวลาเลย สิ่งที่ดีนั้นน่ะ ตอนนี้มันก็ไม่ต้องมามัวดึง มัวดึง กันอยู่ แล้วก็ไม่ต้องกันไอ้เจ้าตัวร้าย ที่มันจะมารบกวนใช่ไหม จิตมันนิ่งอยู่กับสิ่งนั้นที่ดีที่ดึงมา หรือดึงไว้ก็ได้ แล้วแต่ดึงมาหรือดึงไว้ ได้ทั้งสองนะ บางทีเราก็ ดึงไว้สิ่งที่มันดีเป็นประโยชน์ เราก็ดึงไว้ แล้วเราก็ให้จิตอยู่กับอันนั้นน่ะ จนกระทั่งไอ้เจ้าสิ่งร้ายนั้นไม่มีโอกาส เข้ามาเลย ก็คือจิตไม่ฟุ้งซ่านไป นะ ไม่ถูกรบกวน ถ้าจิตอยู่ได้อาการที่จิตอยู่กับสิ่งนั้นได้ แนบสนิท โดยไม่ต้องคอยดึงอีก นี้เรียกว่า สมาธิ นะ เพราะฉะนั้นสติเป็นบุพภาคการทำงานของสมาธิ ก่อนที่จะสมาธิเราจะพัฒนาได้เราต้องอาศัยสติ เราพัฒนาสมาธิก็โดยการใช้สตินี่ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าสตินี้มีความสำคัญมาก เมื่อกี้สติมีตัวนำส่งงานให้ปัญญาใช่ไหม ตอนนี้สติเป็นตัวเริ่มต้นให้กับสมาธิแล้ว นะ นี้ในด้านจิต แต่สติกับสมาธินี้เป็นด้านจิตด้วยกัน แต่ว่าเมื่อกี้นี้เราพูดถึง สติฝ่ายจิตไปโยงกับด้านปัญญา ที่นี้เอาสติอยู่กับฝ่ายจิตด้วยกันคือสมาธิ
ก็เป็นอันว่า ตอนนี้สมมุติว่าไม่ได้ใช้ปัญญาก็ยังดี ก็เอาสตินี่ดึงสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ไม่เสียหายนี่มาไว้กับจิต ว่าให้จิตนี่อยู่กับสิ่งนั้นได้ ตอนนี้ก็ฝึก การที่เราฝึกสมาธิเราจะเห็นว่า ฝึกโดยเริ่มต้นด้วยสติทั้งนั้นแหละ เช่น อานาปานสติ วิธีฝึกสมาธิหลายอย่างนี้จะเริ่มต้น คือเริ่มต้นด้วยสติ แต่ชื่อมันก็เป็นสติด้วย ใช่ไหม เป็นอานาปานสติ ใช่ไหม จริง ๆ เราเรียกฝึกสมาธิ(แต่)เอาชื่อมาเป็นสติ เพราะว่าเราใช้สตินี่เป็นตัวนำ นะ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ มรณสติ จะฝึกสมาธิแต่สติเป็นตัวนำทั้งนั้น ชื่อเป็นสติหมด ถูกไหม ไม่ว่าอะไรล่ะ ถึงแม้ไม่มีชื่อว่าสติก็เถอะ ก็อาศัยสติ เป็นตัวกำหนด ตัวดึงตรึงไว้ กำหนดจับไว้ก่อน ไม่ให้หลุดไปหาสิ่งอื่น นะ ไม่ให้สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ที่เป็นโทษเข้ามาได้ เราก็ดึงเอาไว้ ตรึงจิตอยู่กับไอ้สิ่งนั้น จนกระทั่งแนบสนิทอยู่ได้นะ อยู่ตัวเลย ตอนนี้เป็นสมาธิแล้ว อาการที่จิตอยู่ได้นิ่งนี่ เป็นสมาธิ เพราะฉะนั้นสติเป็นตัวนำทาง เป็นเบื้องต้นให้แก่สมาธิ
เห็นแล้วนะ อ้าวที่นี่ เอาทั้ง สติ สมาธิ ปัญญา เลย ๓ อัน ที่นี่มาประสานเลย ตอนนี้เป็นอันว่าได้พูดมาแล้วว่า
ถ้าไม่มีสติไอ้เจ้าปัญญาไม่มีงานจะทำ /หัวเราะ/ ทำงานไม่ได้ แต่ว่าสติพอไหม จะทำงานให้ได้ผลดี เหมือนกับว่าเรามี ป้ายหรือแผ่นผ้าใหญ่ ๆ อยู่ข้างหน้าเรานี่ ตาเรานี่เปรียบเหมือนปัญญา ใช่ไหม เราก็จะดูภาพให้เห็นว่า เออมีตัวหนังสือ เขียนว่ายังไง มีลวดลายยังไง ๆ จะดูหน่อย ที่นี่ไอ้เจ้าสติต้องดึงไว้ ต้องเอาภาพนี้ไว้ต่อหน้า ถ้ามันลอยลมไปที่อื่นก็แสดงว่าปัญญาอด ดวงตาก็ไม่ได้มีโอกาสเห็น ไอ้เจ้าสติก็ดึงไว้ ดึงภาพนี้ไว้ เอ๊ะ แต่ว่ามันก็ยังส่ายบ้างนะ ใช่ไหม นี้ถ้าเป็นภาพใหญ่ ๆ เป็นตัวหนังสือ ก ข ตัวเบ้อเริ่ม ตัวรูปภาพคนสัตว์ตัวใหญ่ ๆ อย่างนี้ ถึงมันจะแกว่งนิด ๆ นึง มันก็อ่านได้ รู้ใช่ไหม ก็เป็นอันว่ามีสติทำงานด้วยปัญญาได้ ปัญญาก็ทำงานได้แล้ว แต่ทีนี้ถ้าเกิดมีรายละเอียดตัวหนังสือยิบเลยนี่ ตอนนี้ ไหวนิดเดียวอ่านไม่ออก ต้องนิ่งเลยนะ ตอนนี้สติไม่พอแล้ว ต้องสมาธิเลย พอมันนิ่งสนิทนี่ ตอนนี้แหละครับ ตัวเล็กตัวน้อยอ่านได้ ใช่ไหม ลวดลายต่าง ๆ เห็นหมด เพราะฉะนั้นนี่ก็คือว่าบทบาทของ สติ สมาธิ ปัญญา หมายความว่าถ้าจะเอางานของปัญญาชนิดที่ลึกซึ้งกัน ก็ต้องอาศัยสมาธิเลย ใช่ไหม สตินี้ยังไม่พอ แต่ไม่ใช่สติไม่ทำงาน สติต้องอาศัยตั้งแต่เบื้องต้นเลย แล้วคลออยู่ตลอดเวลา สตินั้นมันคลออยู่ตลอดเวลานะ คือว่า มันทำงานชนิดที่แฝงอยู่ มันก็ไม่รู้ เพราะตัวเด่นตอนนี้เป็นสมาธิแล้ว สมาธิก็คือมีความแนบสนิทอยู่นิ่งเลย ทำให้ทำงานได้ ปัญญาเห็นชัด
นี่ก็เป็นเรื่องของ สติ สมาธิ ปัญญา เข้าใจว่าจะมองเห็นชัดพอสมควรนะ ว่ามันมีความหมายอย่างไร ไอ้การที่เราจะเข้าใจความหมายของมันชัด ก็โดยที่ดู function การทำงานของมันด้วย แล้วก็ดูความสัมพันธ์นี่ แล้วเราก็จะเห็นชัดไปหมดเลย ทั้งระบบทั้งกระบวนการ ทั้งความหมายของแต่ละตัว นะ เพราะฉะนั้น สมาธินี้เป็นตัวที่ พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญว่า ด้านจิตนี่เป็นตัวที่เป็นแกนเลย จึงเรียกการฝึกด้านจิตด้วยคำแทนว่า สมาธิ เห็นไหม ที่จริงนั้นสมาธิเป็นเพียงองค์ธรรมอันหนึ่ง แต่เป็นตัวสำคัญมาก อย่างเรียกกรรมนี่ ก็กรรมก็คือการกระทำทั้งหมด แต่บางที พระองค์เรียกว่า เจตนานั่นแหละเป็นกรรม หมายความว่าเจตนานั้นเป็นตัวแกนเลย เหมือนกับเรียกกระบวนการฝึกจิตนี่ว่าสมาธิ เพราะสมาธินี่เป็นตัวบทบาทใหญ่ เป็นตัวเจ้าพระเอก /หัวเราะ/ ก็เลยเรียกระบบตัวแทนนะ เรียกหัวหน้างาน หรือเรียกตัวแทนของระบบ หรือคณะทั้งหมดนั้น ด้วยชื่อของหัวหน้าหรือตัวแทน ก็เอาสมาธิมาเป็นชื่อของหมวดนี้
ไม่ใช่หมายความว่ามีสมาธิอย่างเดียว
สมาธิก็เป็นตัวทำให้จิตนี่เป็น กันมันยะ คือ เป็น กัมมนียะ แปลว่า เหมาะกับงาน พระองค์จะตรัส เช่น อย่างการปฏิบัตินี้ พอไปตอนที่ว่า จะเอาจิตมาใช้งานทางปัญญาก็ต้องให้จิตมีสมาธิ ก็จะบอกว่า จิตเป็นสมาธิ เป็น กัมมนียัง เป็นจิตที่เหมาะกับงาน หมายความว่าเหมาะกับการใช้งาน ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิก็ไม่เหมาะกับการใช้งาน ฟุ้งซ่าน พลุ่งพล่าน กระวนกระวาย กระสับกระส่าย อะไรต่ออะไร มีเรื่องโน้นเข้ามาเรื่องนี้เข้ามารบกวน เดี๋ยวฟุ้งไปโน้นไปนี่ ทีนี้ถ้าจิตเป็นสมาธินี่มันเรียบสงบ แล้วก็อยู่ตัว นะ แล้วต้องการอยู่กับเรื่องใดก็อยู่กับเรื่องนั้นได้ เพราะฉะนั้นมันก็เหมาะกับการใช้งาน โดยเฉพาะงานทางปัญญา นะ ก็ไม่ทราบมีข้อสงสัยอะไรบ้าง พอจะเห็นชัดไหม เรื่อง สติ สมาธิ ปัญญา
/เสียงผู้ถาม/ ระดับไหนที่จะเป็นสมาธิที่ดี ที่พอจะนำมาใช้งานได้ครับ
มันก็ใช้งานได้ตั้งแต่ระดับต้น ๆ เลย ก็ ท่านเรียกว่า ขณิกสมาธิ คนธรรมดาที่ทำงานทำการก็ระดับนี้ก็ใช้ได้ นะ ก็บางทีเราก็ใช้ความไวนี่นะ คนที่เก่งก็ฝึก อย่างที่ว่ามือซ้ายกับมือขวาก็เขียนหนังสือด้วยกัน นะ แต่เขียนคนละอย่าง คนละเรื่อง อะไรอย่างนี้ อันนี้หมายความว่า จิตนี่ทำงานเร็วมากแต่ก็อยู่กับ ๒ อันนี้เท่านั้น นะ แต่ว่ามีการเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเลย นี่ก็อยู่ด้วยต้องมีการฝึก ก็จะทำอะไรได้แปลก ๆ จิตต้องไว นะ แล้วก็ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถูกรบกวน ก็ สมาธิก็ง่าย ๆ คือว่า อยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ นะ ให้จิตมันอยู่กับสิ่งนั้น ทีนี้คนไม่มีสมาธิจิตมันก็อยู่กับสิ่งที่ต้องการไม่ได้
/เสียงผู้ถาม/ ทีนี้การมีสมาธินี่ มันจะทำให้ เอ่อ ไม่รับรู้สถานการณ์รอบ ๆ ตัว ด้วยรึเปล่าครับ เพราะเรามีสมาธิกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่
สติมันจะเป็นตัวที่แฝงอยู่ตลอดเวลา แล้วมันจะมาทำงานเพื่อจะให้เราตื่นขึ้นมา จริงอยู่ถ้าสมาธินี่มันจะทำให้เรานี่ ไม่รับรู้สิ่งอื่น เช่น อย่างคนนั่งอ่านหนังสือนี่นะ ถ้าคนมีสมาธินี่ แกไม่ได้ยินวิทยุ คนเดินคนอะไร แกไม่ได้ยิน จริงไหม แต่มันก็ได้ประโยชน์ใช่ไหม ทำให้อ่านรู้เรื่อง ถ้าแกไปรับรู้อื่นเข้ามาแกก็ยุ่งสิ อันโน้นมาทีอันนี้มาที อ่านไม่รู้เรื่องเลย โดยเฉพาะสมาธินี่มันทำให้ผลแบบนี้ ที่นี้อย่างพระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า เคยประทับอยู่ชื่อโรง???(40.39)อะไรก็ไม่รู้ จำไม่ได้แล้ว ฟ้าฝ่าไม่ไกลไปเท่าไหร่พระองค์ไม่ได้ยินเลย อยู่ในสมาธินี่ เขาว่านโปเลียนก็เก่งนะ นโปเลียนนี่ก็อยู่ในสนามรบก็หลับได้ตามสบาย ต้องการหลับเมื่อไหรก็จะหลับ ถ้าคนธรรมดานี่ เขาทหารวิ่งกันนะ ยิงปืนกัน โป้งป้าง ๆ อะไรต่าง ๆ เสียงร้องเสียงอะไรนี่ นอนไม่ได้เลยใช่ไหม แต่นี่นโปเลียนแกอยู่ในสนามรบนี่แกต้องการจะหลับเมื่อไหร่ก็หลับได้ ต้องการจะคิดเรื่องอะไรก็คิดเรื่องนั้น นะ มีคนเล่าว่า นโปเลียนนี่มีสมองเหมือนลิ้นชัก ต้องการจะคิดเรื่องอะไรก็เหมือนดึงลิ้นชักเรื่องนั้นมา พอเสร็จแล้วไม่เอาก็ปิดลิ้นชัก เอาเรื่องนั้นมา ก็เก่งนะ แสดงว่าจิตเป็นสมาธิดี แต่สมาธินี้อาจจะไปใช้ในทางร้ายก็ได้ ท่านเรียกว่า มิจฉาสมาธิ ถ้าไปใช้ในทางไม่ได้ แม้แต่ยิงปืนก็ต้องใช้สติ ต้องใช้สมาธิ อกุศล แต่ใช้ในทางที่ไม่ดี ท่านเรียก มิจฉาสมาธิ ท่านไม่ได้เรียก อกุศล ใช้ในทาง มิจฉา ถ้าหากสมาธิไม่เกื้อหนุน คนนั้นก็ทำงานไม่ได้ผล ใช่ไหม เช่น ยิงปืนนี่ ก็ยิงไม่ได้ผล สติสมาธิไม่มี ใจฟุ้งซ่านไป
ตอนนี้เรื่องของสมาธิของผู้ที่เข้าฌาน นี่นะ ไม่ใช่เป็นผู้ไม่รู้ เพราะมีสติอยู่ตลอดเวลา สติมันก็อยู่ด้วยทำงานกับสมาธิ เพราะฉะนั้นถ้ามีเรื่องอะไร ที่เกี่ยวข้องนี่ มันจะรับรู้และออกมา อันนี้มันเหมือนกับพูดยาก เอ๊ะ จะรับรู้ยังไง จิตเป็นสมาธิอยู่ แต่กลับมีความไวมาก ก็ ท่านยกตัวอย่าง อันนี้ไม่ต้องยกตัวอย่าง คือท่านพูดถึงพระที่เข้า นิโรธสมาบัติ ซึ่งแนบสนิทที่สุดเลย นะ ถ้ามีเรื่องเกี่ยวข้องขึ้นมานี่ ท่านออกไปปุ๊บเลย /หัวเราะ/ เช่นว่า เหตุที่สำคัญก็คือทรงเรียกหา หมายความว่า ในพระศาสนานี่ ถือสงฆ์งานส่วนรวมเป็นสำคัญ พระอรหันต์อาจจะไปปลีกตัววิเวกอยู่ หรือแม้แต่เข้านิโรธสมาบัติ แต่มีเรื่องของสงฆ์เกิดขึ้นนี่ท่านต้องออก เพราะฉะนั้นพระอรหันต์หลายองค์จะถูกลงโทษจากที่ประชุมสงฆ์ เพราะว่า /เสียงผู้ถาม/ ลงโทษพระอรหันต์ พระอรหัรต์ก็ถูกลงโทษครับ มันไม่ใช่เรื่องของความเสียหาย ความชั่วนี่ หมายความว่า ถือว่าไม่ได้ทำสิ่งนั้นที่สงฆ์ที่ประชุมเห็นว่าควรจะทำ เพราะว่ามีพระอรหันต์บางองค์ในเรื่องที่ท่านเล่ามา เช่น มีเหตุการณ์ใหญ่ขึ้นมา แล้วพระทั้งหลายก็ประชุมกันเพื่อพิจารณา แล้วปรากฏว่าขาดพระอรหันต์องค์นั้น ขาดพระอรหันต์องค์นี้เพราะไปอยู่ในป่า ไปอยู่ในที่สงบ ที่ประชุมก็จะลงโทษ เรียกว่า ธรรมกรรม???(44.01) ลงโทษ แบบนี้คือ ให้...???(44.04) ลงโทษด้วยการมอบงาน พระอรหันต์องค์นี้ไปอยู่โน้น ไม่มาที่ประชุม เอ้า มอบงานนั้นให้ทำ มอบงานนี้ให้ทำ นี่เรียกว่าลงโทษพระอรหันต์นะ แต่ถือสงฆ์เป็นใหญ่ พระพุทธศาสนานี่คู่กันไปการพัฒนาบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม นะ การพัฒนาบุคคลก็จะเห็นว่าจะสงฆ์มีเป็นใหญ่จะให้เสียส่วนรวมไม่ได้ ส่วนรวมก็ไม่ใช่การทำให้พัฒนาบุคคลเสียไป ก็กลายเป็นสภาพเอื้อ ในสงฆ์นี้ปฏิบัติถูกต้องตามระบบกติกาวินัยที่ตั้งเอาไว้ จะกลายเป็นสภาพเอื้อให้บุคคลแต่ละคนนี่พัฒนาตัวได้ดียิ่งขึ้น อ้าว เดี๋ยวจะออกนอกเรื่องไป ก็เป็นอันว่า สติ สมาธิ ปัญญา ก็เป็นอย่างที่ว่า
/จบ/