แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร อาตมภาพนึกถึงว่าพุทธบริษัทเราทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ได้สวดมนต์กันเป็นกิจว้ตรประจำอย่างหนึ่ง สำหรับพระสงฆ์นั้นก็สวดมนต์ทั้งในพิธีของพระเอง เช่นว่า ลงทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำประจำวัน เรียกว่าสวดในพิธีกรรม ในสังฆกรรม เช่นว่า วันลงอุโบสถทำปาฏิโมกข์ ก็มีสวดตอนต้น และสวดตอนท้าย และในวันสำคัญทางพระศาสนาก็มีการสวดมนต์ประกอบเป็นพิธีอย่างหนึ่ง และก็ไปสวดในงานของญาติโยมที่ทางฝ่ายพุทธศาสนิกชนนิมนต์ไป เป็นงานมงคลบ้าง งานอวมงคลบ้าง มีบทสวดต่าง ๆ มากมาย คิดว่าเรื่องบทสวดเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เราควรจะได้ศึกษา หรือว่าทำความรู้จักบ้างว่า บทสวดมนต์ที่ทางพระนำมาสวดก็ดี และก็ที่ทางญาติโยมสวดกันก็ดีนั้น ว่าด้วยอะไรบ้าง ว่าโดยทั่วๆ ไปแล้ว บทสวดมนต์ที่พระสวดนั้นอาจจะจัดได้เป็น 3 หมวด หรือ 3 ประเภท
ประเภทที่ 1 ก็คือเป็นบทสวดประเภทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย
ประเภทที่ 2 ก็เป็นบทสวดประเภทสาธยายคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และ
ประเภทที่ 3 ก็เป็นบทสวดประเภทตั้งจิตเมตตาปรารถนาดี อวยชัยให้พร คือประเภทอวยพรเหมือนอย่างที่ตอนท้ายพิธีพระสงฆ์มักจะมีพิธีเรียกว่าอนุโมทนาอันนั้นโดยมากเป็นคำอวยพร
อันนี้สำหรับประเภทที่ 1 คือบทสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยนั้น เรารู้จักกันมากก็คือบท อิติปิ โส พุทธศาสนิกชนใช้สวดกันอยู่เสมอก็มีพุทธคุณ เริ่มต้น อิติปิ โส ภควา เรื่อยไป เรียกว่าพุทธคุณ 9 แล้วก็มีบทสวากฺขาโตนี่เป็น ธรรมคุณ 6 อย่าง แล้วก็บทสุปฏิปนฺโน ภวคโต สาวกสงฺโฆ นั้นเป็นสังฆคุณ 9 นี่เป็นบทสวดสรรเสริญพุทธคุณที่ใช้กันทั่วไป แต่นอกจากนี้ยังมีบทสรรเสริญพระพุทธคุณอีกมากมาย อย่างเวลาพระหรือแม้ญาติโยมก็ตามทำวัตรเช้าทำวัตรค่ำเนี่ย บทสวดส่วนมากโดยเฉพาะบทต้นๆ เป็นบทสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ทั้งนั้น อันนี้ก็เป็นบทสวดประเภทที่ 1
นี่บทสวดประเภทที่ 2 เป็นคำสอน อย่างเช่น พระได้รับนิมนต์ไปในพิธี งานมงคลเป็นวันเกิด วันแต่งงาน อะไรต่างๆ
นี้ก็จะมีบทสวดมากมาย ในบรรดาบทสวดเหล่านั้นก็จะมีบทเช่น มงคลสูตรที่พระสวดว่า อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น บทสวดประเภทนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ปฏิบัติตนให้ดีงามตั้งอยู่ในศีลธรรมให้เจริญคุณธรรมในจิตใจของตน บทอเสวนา จ พาลานํ นั้นก็คือ มงคล 38 ประการ เริ่มต้นด้วยว่า การไม่คบคนพาล คบบัณฑิต บูชาคนที่ควรบูชาเป็นมงคลอันอุดม หรือมงคลอันสูงสุด ดังนี้ก็ว่าไปเรื่อยๆ เป็นคาถารวมทั้งหมด 38 ประการ นี้บทกรณียเมตตสูตรก็ว่าด้วยการเจริญเมตตา นี่ก็เป็นคำสวดประเภทที่ 2
นี้ต่อไปประเภทที่ 3 ก็คือบทสวดประเภทว่าตั้งจิตปรารถนาดีหรือว่าประกอบด้วยเมตตา อาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พรแก่ผู้อื่น ถ้าเป็นพระสงฆ์ก็ขออวยพรให้แก่ญาติโยม หรือว่าถ้าเป็นญาติโยมก็อวยพรให้แก่กันและกัน คำอวยพรนี่ปกติก็จะอ้างพระพุทธเจ้า หรือพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ อย่างบทที่พระสวดเสมอๆ อย่างเวลามีพิธีน้อยๆ พระก็จะเลือกเอาบทสั้นๆ มาสวด อย่างบทที่ใช้ประจำคือบท สัพพะโรคะวินิมุตโต บทนี้น่ะโยมได้ยินบ่อย ก็อาจจะลองเอามาแปลกันดูว่าพระท่านสวดแปลว่าอย่างไร พระท่านสวดว่า
สัพพะโรคะวินิมุตโต ขอท่านจงเป็นผู้หลุดพ้นไปจากโรคทั้งปวงหรือจากสรรพโรค
สัพพะสันตาปะวัชชิโต แปลว่า ท่านจงเป็นผู้ปราศจากความเดือดร้อนทั้งปวง
สัพพะเวระมะติกกันโต จงเป็นผู้ล่วงพ้นเวรทั้งปวง
นิพพุโต จะ ตุวัง ภะวะ จงเป็นผู้มีความสงบเย็น หมายความว่าให้มีใจสบาย ให้มีความสุข ไม่มีความเดือดร้อนใด ๆ ทั้งสิ้น
นิพพุโตนี่เป็นคำเดียวกับนิพพานนั่นเอง เป็นคำที่แปลยาก บางทีเราแปลกันว่า ดับ อันที่จริงหมายถึงความที่ไม่มีอะไรร้อนเลย ก็เย็นสบาย จิตใจเยือกเย็นไม่มีจิตขัดข้อง ปรอดโปร่งผ่องใส อันนี้เรียกว่านิพพุโต พอเสร็จแล้ว ท่านก็ต่อบทที่เราได้ยินมาก บทนั้นคือบทต่อไปว่า
สัพพีติโย วิวัชชันตุ แปลว่า อันนี้แปลกัน แปลกันตามประเพณี เวลาฟังเป็นภาษาไทยอาจจะไม่ค่อยเพราะ ขออภัย ท่านแปลกันว่าขอความจัญไรทั้งปวงจงปราศไป จงปราศไป ก็หมายความว่าหดหายไป ก็คือสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายไม่มี
สัพพะโรโค วินัสสะตุ ขอโรคทั้งปวงจงพินาศไป จงหมดไป
สัพพะโรโค วินัสสะตุ มา เต ภะวัตตวันตะราโย ขออันตรายอย่าได้มี
สุขี ทีฆายุโก ภะวะ ขอท่านจงเป็นผู้มีความสุข และมีอายุยืนนาน และก็ต่อไปก็มีว่า
อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน สำหรับท่านผู้มีปกติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ หรือต่อท่านผู้เจริญแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเจริญโดยชาติวุฒิ โดยคุณวุฒิ โดยวัยวุฒิ สำหรับบุคคลผู้มีปกติกราบไหว้
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ ธรรมทั้งหลาย 4 ประการ ย่อมเจริญ
อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง คือ อายุ วรรณะ สุขะ และพละ
อันนี้เรียกว่า นี่คือบทสวดทิพยะ เป็นบทสวดเสมอ นอกจากนี้ก็มีบทอื่นๆ มากมายเวลาใช้ในพิธีต่างๆ พระท่านก็จะมีกำหนด สำหรับงานมงคลอย่างนี้ให้ใช้บทนี้ มางานวันเกิดก็ใช้อย่างนึง งานแต่งงานก็อาจจะมีบทเฉพาะ งานต่างๆ ก็มีบทที่แปลกกันไปเฉพาะงาน และก็มีบทที่เหมือนกันก็มี
อันนี้ก็คือบทสวดประเภทต่าง ๆ ทีนี้ บทสวดนั้นบางทีก็ผสมปนกันคือ บางทีก็เอาทั้งคำสรรเสริญพระรัตนตรัยมาร่วมกับคำอวยชัยให้พร เพราะตามปกติ การที่จะอวยชัยให้พรนั้น ก็เอาพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว บางคราวก็มีคำสรรเสริญพระรัตนตรัยก่อน แล้วก็อ้างเอาคุณพระรัตนตรัยนั้นมาอวยชัยให้พร อย่างบทที่พระสวดเวลาทำน้ำมนต์เนี่ย โยมจะเห็นเวลาทำน้ำมนต์ก็มีบทสวดเฉพาะ บทสวดที่ทำน้ำมนต์นั้น คือบทยังกิญจิ วิตตัง บทยังกิญจิ วิตตังนี้ ถึงตอนท้ายเนี่ย พระจะยกเทียนขึ้นมา แล้วก็หยดเทียนลงในขันน้ำมนต์ พอจบบทนี้พระก็จะดับเทียนในน้ำมนต์นั้น คือจุ่มลงไป บทนี้คือบท
ยังกิญจิ วิตตัง ซึ่งเป็นบทที่มีทั้งคำสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และก็คำอวยชัยให้พร
อาตมภาพขอยกตัวอย่างคำแปลคาถาที่หนึ่งเพราะว่ามีหลายคาถา กว่าจะจบก็ยาว ยกเลือกมาสักคาถาต้นคาถาเดียว คาถาแรกบอกว่า ยังกิญจิ วิตตัง อิธะ วา หุรัง วา แปลว่าทรัพย์ที่น่าปลื้มใจในโลกนี้ ไม่ว่าในโลกนี้ หรือในโลกอื่นไหนก็ตาม อย่างใดๆ ก็ตาม
สัคเคสุ วา ยัง ระตะนัง ปะณีตัง จะเป็นรัตนะหรือแก้วอันประณีตในสวรรค์ทั้งหลาย หรือไหนๆ ก็ตาม
นะ โน สะมัง อัตถิ ตะถาคะเตนะ ไม่มีเลยที่จะเทียมเท่าพระตถาคตเจ้า
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ สุวัตถิ โหตุ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแด่ท่าน
ก็แปลรวมความอีกทีบอกว่า ทรัพย์ใดๆ ในโลกนี้ หรือในโลกอื่นก็ตาม หรือรัตนะแก้วอันประณีตในสวรรค์ทั้งหลายก็ไม่มีเลยที่จะเทียมเท่าพระตถาคตเจ้า ด้วยวาจาสัตย์นี้ขอความสวัสดี จงมีแด่ท่าน อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็จะมีคำพรรณนาถึงคุณความดีของพระธรรม ของพระสงฆ์ต่อๆ ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจบ อันนี้ในเมื่อคำสวดมีประเภทอย่างนี้ ถ้าโยมเข้าใจแล้วก็จะได้ส่งใจไปตาม ส่งใจไปตาม ทั้งท่วงทำนองการสวดนั้นก็จิตสงบ ทำให้จิตใจอยู่ในสิ่งที่ดีงาม อยู่ในความแช่มชื่นผ่องใส ส่งจิตใจไปตามกระแสบทสวดมนต์นี้ พร้อมทั้งความเข้าใจด้วยก็จะทำให้ได้ทั้งธรรมะ ได้ทั้งความปิติเอิบอิ่มในธรรม และความสงบจิตใจด้วย
บางบทสวดนั้นท่านก็เลือกเอามาแล้วก็คนก็มีความนับถือกันว่าบทสวดนั้นนะ มีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านนั้นๆ แล้วแต่เรื่องที่ปรารภ ยกตัวอย่างเช่น คาถาบางคาถาก็ถือว่ากันไฟ บางคาถาก็ถือว่ากันผี อย่างนี้เป็นต้น อันนั้นก็โดยมากก็ว่าตามเรื่องที่เป็นมา ขอยกตัวอย่างบทที่เรียกว่ากันไฟ เป็นคาถาของนก ว่าลูกนก รึจะเป็นลูกนกอะไร เดี๋ยว! นกอะไรอาตมภาพก็นึกไม่ออกซะแล้ว นกชนิดหนึ่งไม่ค่อยเห็นกันบ่อย บางทีนึกชื่อไม่ทัน นกเล็กๆ นก ไม่ใช่นกเค้า นกอะไร คือนกนี่ยังเป็นลูกนกอยู่ อยู่ในรังบนต้นไม้ แล้วก็วันหนึ่งก็มีไฟป่ามา ไฟป่าลุกมาแต่ไกล มาจนถึงต้นไม้นี้ ตอนนั้นแม่นกก็ไม่อยู่ออกจากรังบินไปหากิน ยังไม่กลับมารัง ก็ลูกนกก็อยู่กันลำพัง ก็มีความหวาดกลัวต่อไฟที่กำลังลุกมาเป็นอย่างยิ่ง ก็อ้างสัตยาธิษฐาน อ้างสัตยาธิษฐานเป็นข้อความว่า อัตถิ โลเก สีละคุโณ สัจจัง โสเจยยะนุททะยา ก็อ้างเอาบอกว่า บอกว่า ในโลกนี้มีคุณแห่งศีล แล้วก็ความสัตย์ความเอ็นดูเมตตากรุณา แล้วก็อ้างถึงตนเองว่าข้าพเจ้าเนี่ยก็มีแต่เพียงลำพัง ปีกซึ่งยังอ่อนแอ ยังใช้ไม่ได้ ยังไม่สามารถที่จะบิน ด้วยความสัตย์นี้ ขอไฟจงไม่มา ไม่มาถึง จงอย่าเข้ามาทำอันตราย แล้วก็ปรากฏว่าด้วยสัตยาธิษฐานนั้น ไฟก็ไม่เข้ามาถึงตัว ลูกนกก็รอดอันตรายไปได้ ก็นำเอามาสวด
ข้อสำคัญก็คือท่านต้องการให้ระลึกถึงคุณธรรมความดีเช่น ศีล เป็นต้น และก็พร้อมทั้งสัจจะ และความเมตตากรุณา และก็อ้างเอาคุณธรรมเหล่าเนี่ย เป็นเครื่องปกปักรักษาตนให้พ้นภัยอันตราย อันนี้เพราะเหตุนี้ เรื่องราวเป็นมานี้ เกี่ยวกับการพ้นภัยจากไฟ พุทธศาสนิกชนก็ถือว่า บทสวดบทนี้เป็นบทที่ศักดิ์สิทธิ์ ในทางที่ป้องกันไฟ เวลาทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เวลาทำบุญบ้าน ปกติพระก็มักจะสวดบทนี้ เป็นบท อัตถิ โลเก สีละคุโณ ก็ถือว่าเป็นบทคาถากันไฟ อย่างนี้เป็นต้น
หรืออย่างบทที่สวดกันผีก็เพราะว่า มีเรื่องว่า พระท่านไปอยู่ป่า เทวดาบางตน เทวดาบางท่านก็ไม่ค่อยชอบให้พระไปอยู่ เพราะพระเป็นผู้มีศีล พระมีศีลและตัวเป็นเทวดา อยู่อึดอัด อยู่ไม่สบาย ไม่ใช่ว่าไม่ชอบเพราะอะไรหรอก ไม่ชอบเพราะอึดอัด ทีนี้เมื่ออึดอัดก็เลยไม่อยากให้พระอยู่ ก็หาทางไล่ให้พระหนีไปโดยมาสำแดงรูปร่างต่างๆ ที่น่ากลัว ทีนี้พระท่านก็อยู่ไม่เป็นสุข แต่ก็จำใจอยู่จนตลอดพรรษา พอออกพรรษาก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามทักทายตามปกติว่าอยู่เป็นสุขสบายดี กาลเวลาผ่านไปด้วยความสงบระงับร่มเย็นอะไรดีรึเปล่า พระท่านก็บอกว่า ท่านไม่สบายละพรรษานี้ถูกผีหลอกตลอดเลย พระพุทธเจ้าก็บอกว่าให้แผ่เมตตาโดยใช้บทสวดนี้ ก็เวลาไปก็จดบทสวดมนต์บทนี้ ก็เป็นการแผ่เมตตา พอเทวดาได้รับการแผ่เมตตาก็มีไมตรีจิตมิตรภาพด้วย ก็ไม่มาทำแสดงอาการต่างๆ ไม่มาหลอกหลอน พระก็อยู่เป็นสุข บทสวดนี้เราก็เลยเชื่อกันว่าเป็นบทสำหรับกันผีอะไรอย่างนี้เป็นต้น แล้วแต่เรื่องที่เป็นมา
แต่ว่าในคาถาแต่ละคาถานั้นมีหลักธรรมทั้งนั้น เราไม่ควรจะมองเฉพาะแต่ว่าความศักดิ์สิทธิ์นั้นเท่านั้น แต่มองดูเนื้อหาธรรมะไว้สำหรับปฏิบัติ ข้อสำคัญที่ทำให้สำเร็จผลก็คือว่า การประพฤติตามคุณธรรมความดี เป็นพระท่านมีศีลและก็มีเมตตาธรรมเป็นต้นด้วย มีไมตรีจิตมิตรภาพ อยู่ในที่ใดก็ได้รับความสงบร่มเย็น
เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ อาตมภาพเห็นว่าเราได้สวดมนต์กันอยู่เสมอก็นำเอาความรู้เกี่ยวกับเรื่องบทสวดมนต์มาเล่าให้โยมฟังสำหรับการปฏิบัติสวดมนต์ บทสวดมนต์ก็คือว่า สวดเองมั่ง ฟังสวดมั่ง สวดเองก็เป็นการที่จะส่งใจไปในกระแสพระธรรมพิจารณาเนื้อความของบทสวด ให้เข้าใจธรรมะบ้าง หรืออย่างน้อยก็เอาบทสวดนี้มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้จิตใจสงบผ่องใส ก็เป็นทางให้เกิดสมาธิได้ แม้เมื่อฟังพระสวดมนต์ก็อาจจะพิจารณาตามธรรมะที่ท่านสวดบ้าง หรือไม่พิจารณาตามก็ส่งใจไปตามกระแสที่พระท่านสวด ใจก็จะสงบเบิกบานผ่องใส แม้ทำเพียงเท่านี้ก็ได้ผล ทำให้เกิดความสุขความร่มเย็นขึ้นภายใน เป็นความเจริญของจิตใจยิ่งขึ้นต่อไป
อาตมภาพก็ขอให้โยมได้รับผลแห่งบทสวดมนต์ดังที่กล่าวมานี้ ทั้งที่โยมสวดเอง และที่ฟังพระสวดมนต์ และเป็นผลให้โยมได้มีความเจริญงอกงามในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและได้ประสบความเจริญด้วยจตุรพิธพรชัยตลอดกาลนานเทอญ