แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเทียบกับปรัชญาตะวันตกนิดหนึ่ง ปรัชญาตะวันตกมองว่า สิ่งทั้งหลายแต่ก่อนก็มีแต่มนุษย์กับธรรมชาติ เขามองว่ามนุษย์อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ต่อมาเราเรียกสิ่งแวดล้อม แล้วก็มีสิ่งอื่น มีเทคโนโลยีเข้ามาด้วย สิ่งทั้งหลายภายนอกโดยเฉพาะที่เราเรียกว่า ธรรมชาติ มันไม่ตามใจเรา มันไม่เอาใจเรา มันบีบคั้นเรา มันบังคับเรา มันกำหนดเรา ทำให้เราต้องทำตามมัน เช่น ธรรมชาติมีฤดูกาล เราจะปลูกข้าว เราจะเสพบริโภคหรือเราจะทำอะไรตามต้องการก็ไม่ได้ ต้องรอฤดูกาล เป็นต้น พอถึงฤดูหนาว ทางตะวันตกก็หนาวจัด จะอยู่ไม่ได้ จะตายเอา ธรรมชาติมันบีบคั้นเหลือเกิน ก็เลยเกิดแนวคิดที่ว่า มองธรรมชาตินี้ว่าเป็นตัวบีบคั้น มากำหนดมนุษย์ เหมือนเป็นเจ้านาย ก็เลยมีความคิดว่าถ้าเราจะอยู่ดีได้ เราจะต้องสามารถจัดการกับธรรมชาติได้ ถ้าให้ดีก็ต้องเป็นเจ้าเป็นนาย เรียกว่าเกิดแนวคิดเอาชนะธรรมชาติขึ้นมา แนวคิดนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรีก ทั้งโสเครติส อริสโตเติล เพลโต ทุกคนมีแนวคิดนี้กันหมด แนวคิดที่ว่ามนุษย์จะอยู่ดีได้ มีความสุขสมบูรณ์ได้ มีความสุขที่แท้จริง ต้องเอาชนะธรรมชาติได้ จากนั้นแนวคิดนี้ก็สืบต่อกันมาเรื่อย ๆ ทางตะวันตก ที่ใช้คำว่า ตะวันตก เพราะฝรั่งก็ยอมรับแล้วมาเถียงกันเอง จนเมื่อพ้นสมัยกรีก เข้าสู่ยุคสมัยกลางที่ศาสนาคริสต์เป็นใหญ่ มีแนวคิดว่าพระเจ้าสร้างโลกมา แล้วสั่งมนุษย์ให้เจ้ามีอำนาจเหนือสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา ให้สิงสาราสัตว์ ผลหมากรากไม้นี้เป็นอาหารของเจ้า เจ้ามีอำนาจที่จะครอบครองมัน เรียกว่ามี dominance over nature แนวคิดกรีกกับแนวคิดคริสต์จึงมาผสานกัน เข้ากันดี ดำเนินต่อมาเป็นแนวคิดหลักของสังคมตะวันตกว่าจะต้องจัดการกับธรรมชาติให้ได้ตามชอบใจ อย่างเดคาร์ต (Rene Descartes) ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ท่านผู้นี้ก็กล่าวไว้อย่างรุนแรงต่อธรรมชาติ แม้แต่พวกฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์กับฝ่ายเสรีประชาธิปไตยที่ว่ามีแนวคิดตรงข้ามกัน ก็ตรงกันข้ามในแง่สังคมกับตัวมนุษย์เท่านั้น แต่ในแง่ท่าทีต่อธรรมชาติ เหมือนกันหมด ก็คือต้องเอาชนะ จัดการกับมันให้สนองความต้องการของมนุษย์ให้ได้ เป็นวัตถุนิยมด้วยกันทั้งคู่ ตกลงว่าเป็นพื้นฐานอันเดียวกันทั้งหมดสำหรับตะวันตก แนวคิดตะวันตกก็เป็นแนวคิดที่ต้องการเอาชนะธรรมชาติ จนกระทั่งพ้นจากยุคสมัยกลาง เข้าสู่ยุคเรเนสซองส์เป็นต้นมา ก็พัฒนาฟื้นแนวความคิดกรีกโรมันโบราณขึ้นมา ก็ยิ่งเน้นเรื่องการเอาชนะธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ก็มีความหมายและพัฒนาขึ้นมาในยุคต่อมานี้ เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์จึงมีความหมายในทางที่จะไปล้วงเอาความลับของธรรมชาติ เพื่อจะมาจัดการกับธรรมชาติ มองธรรมชาติเป็นศัตรู เป็นคู่ปรปักษ์ว่า ถ้าเรามีความสามารถรู้ความลับของธรรมชาติ จัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ เอาธรรมชาติมาสนองความต้องการของเราได้แล้ว มนุษย์ก็จะสุขสมบูรณ์ได้ ขอแทรกนิดหนึ่ง มาถึงตอนนี้แปลว่าแนวคิดกรีกโรมันที่จะเอาชนะธรรมชาติก็ฟื้นขึ้นมาอีก บางท่านบอกว่า ที่ไปโทษว่าศาสนาคริสต์สอนว่าพระเจ้าสั่งไว้ พระเจ้าสร้างสรรพสิ่ง สิงสาราสัตว์ ให้เป็นอาหารของมนุษย์ ให้มนุษย์มีอำนาจเหนือสิ่งเหล่านั้น ที่จริงแล้วเป็นการที่ศาสนาจารย์และศาสนจักรคริสต์ศาสนาไปปรับตัวโอนอ่อนเข้ากับปรัชญากรีก ที่จริงศาสนาคริสต์เดิมที่แท้ไม่ได้คิดเช่นนั้น อัลกอร์ตีความใหม่ เขาบอกว่าที่แท้ศาสนาคริสต์ไม่ได้สอนอย่างนั้น แล้วสอนอย่างไร ศาสนาคริสต์ที่จริงสอนไว้บอกว่า พระเจ้าสร้างสรรพสิ่ง สิงสาราสัตว์ขึ้นมา สร้างมนุษย์ขึ้นมา แล้วบอกมนุษย์ให้เป็นเจ้าเป็นใหญ่เหนือธรรมชาติ เพราะอะไร เพราะว่าพระเจ้าสร้างสิ่งทั้งหลายขึ้นมาแล้ว ก็ต้องให้มันอยู่ดี จึงต้องมีผู้ดูแล เลยสร้างมนุษย์ขึ้นมา มนุษย์นี่แหละมีหน้าที่ดูแล มนุษย์ที่พระเจ้าสร้างมาให้เป็นใหญ่เพื่อมาดูแลสมบัติของพระเจ้า ฉะนั้นจะต้องจัดการให้ดี ก็เลยเกิดแนวคิดใหม่เรียกว่า Stewardship of Nature นี่เป็นแนวคิดของอัลกอร์ที่ว่า ที่จริงแล้วศาสนาคริสต์ไม่ได้คิดเช่นนั้น ตีความใหม่ว่าพระเจ้าสร้างสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมาเพื่อให้มนุษย์เป็นใหญ่และมนุษย์ต้องดูแลให้ดี เพราะเป็นสมบัติของพระเจ้า ไม่ใช่ของเธอ จึงมีแนวคิดนี้มาต้านแนวคิดกรีกโบราณอีก แต่อย่างไรก็ตาม กรีกโรมันโบราณก็เจริญรุ่งเรืองมา จนกระทั่งวิทยาศาสตร์ก็เจริญขึ้นบนฐานแนวความคิดที่จะเอาชนะธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ก็จะมาเพื่อสนองความต้องการในการเสพบริโภค สนองความต้องการโดยเอาธรรมชาติมารับใช้ได้อย่างไร ก็เลยต้องเอาวิทยาศาสตร์มาเป็นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยี เทคโนโลยีก็มาเป็นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมก็จัดการกับวัตถุดิบจากธรรมชาติ เอาเข้าโรงงานกลายมาเป็นวัตถุดิบเพื่อเสพบริโภค เสพบริโภคแล้วก็เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจ นั่นก็คือความสุขของมนุษย์ที่มีความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ ก็คือการเสพบริโภคนั่นเอง ก็เลยเกิดวงจรของการพัฒนาในระบบอารยธรรมปัจจุบันก็คือ ๑. วิทยาศาสตร์ ๒. เทคโนโลยี ๓. อุตสาหกรรม ๔. ผลที่ต้องการเศรษฐกิจ นี่คือกระบวนการพัฒนาในอารยธรรมตะวันตกในระยะยุคสมัยใหม่ที่ผ่านมานี้ ลงท้ายก็เกิด Unsustainable development การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ตอนนี้ตะวันตกก็หวนกลับใหม่ เกิดการกระตุกให้กลับไปคิด ตอนนี้ก็คิดว่าที่เราคิดจะเอาชนะธรรมชาติ ๑. มองตัวเองแยกจากธรรมชาติ ๒. มองธรรมชาติเป็นปฏิปักษ์ ต้องไปจัดการกับมัน ก็เลยมีแนวคิดที่จะรุกราน เอาชนะธรรมชาติ ก็เลยเปลี่ยนใหม่หมด ตอนนี้ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า “จริยธรรมในทางสิ่งแวดล้อม” ที่ให้ ๑. มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ๒. ให้อยู่อย่างเกื้อกูล กลมกลืน ประสานกัน ไม่ให้เป็นปฏิปักษ์ แล้วก็พยายามทำแม้แต่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เป็น Nature friendly เป็นต้น แนวคิดก็เลยเปลี่ยนใหม่หมด แนวคิดเดิมคือความต้องการของมนุษย์ไม่เปลี่ยน ทีนี้ก็ขัดกันเพราะว่ามนุษย์มีความต้องการที่จะต้องมี ได้ เอา มาเสพบริโภคจึงจะมีความสุข แต่ทีนี้ตัวเองจะเสพบริโภคอย่างมีความสุขก็ต้องจัดการกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ตอนนี้ต้องยับยั้งชั่งใจให้ธรรมชาติอยู่ได้ ถ้าธรรมชาติล้ม ตัวเองก็ล่มด้วย แล้วจะทำยังไง ก็ต้องยับยั้ง ไม่ไปทำลายธรรมชาติตามชอบใจ ก็เกิดปัญหา เมื่อทำลายธรรมชาติไม่ได้ตามชอบใจ ต้องยับยั้งชั่งใจ ตัวเองก็ไม่มีความสุขสมใจ สนองความต้องการที่ว่าไม่ได้ นี่ก็คือการขัดแย้งในขั้นพื้นฐาน ในทางอริยธรรมที่แก้ปัญหาไม่ตก ผ่านไปเท่าไรก็แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ธรรมชาติก็เสื่อมโทรมลงไปเพราะมนุษย์ยังต้องการความสุข ยับยั้งไม่ได้จริง เป็นจริยธรรมแห่งการฝืนใจ ฉะนั้นการศึกษาที่ผิดทางนี้จะเสียหมด การแก้ปัญหาจะเป็นจริยธรรมแห่งการฝืนใจและความทุกข์ เราจะต้องแก้ให้จริยธรรมมาสนองความต้องการที่ถูก แล้วจะเป็นจริยธรรมแห่งความสุขด้วย เน้นว่าจะต้องเป็นจริยธรรมแห่งความสุข ถ้าไม่เป็นจริยธรรมแห่งความสุขแล้ว จะไม่มีทางสำเร็จได้ แล้วก็สำเร็จได้ด้วยการที่พัฒนาความต้องการให้ถูกต้อง แล้วเราจึงลงไปถึงฐานของความต้องการของมนุษย์ จะต้องพัฒนาความต้องการที่เป็นกุศล ความต้องการที่ถูกทาง ซึ่งเรามีอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ไปพัฒนามัน เรากลับไปกลบ ไปทับ ไปปิด ไปบังมัน แล้วก็ไปพัฒนาความต้องการด้านที่เป็นอกุศลให้หนัก จนกระทั่งว่ามนุษย์ตอนนี้แทบจะไม่มีทางเลย และการศึกษาแทนที่จะไปแก้ไขปัญหานี้ กลับไปหนุนเสียอีก ก็เลยไปกันใหญ่
ทีนี้มาดูกันว่า ตอนนี้เท่ากับว่ามนุษย์ตะวันตกมองธรรมชาตินี้เป็นปฏิปักษ์ การที่เป็นปฏิปักษ์ก็เพราะตัวเองแยกต่างหากจากธรรมชาติ เรามาดูว่าแนวคิดที่ถูกต้องเป็นยังไง แนวคิดที่เป็นธรรมชาติแท้ ๆ เราจะเรียกว่าเป็นพุทธ หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ก็คือเป็นธรรมดานั่นแหละ เป็นธรรมดาของธรรมชาติอย่างนั้น ก็เริ่มจากการมองสิ่งทั้งหลายโดยไม่ได้มามองเริ่มที่คน คือมองไปทั้งหมด ก็มีคนอยู่ในนั้นด้วย มองโลก มองจักรวาล มองทุกสิ่งทีเดียว พรึ่บ พอมองอย่างนี้เป็นภาพรวมก็เป็นระบบความสัมพันธ์ ถ้าพูดตามหลักพุทธศาสนาก็คือว่า ทุกสิ่งที่มีอยู่ หรือเรียกว่าสรรพสิ่งประดามี จะเรียกว่า สภาวะธรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย ก็คือองค์ประกอบของสิ่งทั้งหลายก็อยู่ในนั้น แล้วก็สัมพันธ์กัน เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันด้วย และมันก็เป็นปัจจัยแก่กัน ผลอันนี้เป็นเหตุให้อันโน้น พออันนี้เปลี่ยนไป อันโน้นก็เปลี่ยนไปด้วย ถ้าอันโน้นเปลี่ยนไปก็มีผลกระทบต่ออันนี้ เป็นระบบความสัมพันธ์ และมนุษย์ก็อยู่ในระบบความสัมพันธ์อันนี้ เพราะฉะนั้นมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบความสัมพันธ์นี้ เป็นองค์ประกอบหรือเป็นปัจจัยหนึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์นี้ด้วย ตัวเองก็เป็นปัจจัย เวลาตัวเองทำอะไรก็มีผลต่อสิ่งอื่นหมด สิ่งอื่นเป็นอย่างไรก็มีผลมาที่ตัวเองด้วย ทีนี้พอเรามองระบบความสัมพันธ์อย่างนี้แล้ว ก็มาถึงมนุษย์ เออ... เราเป็นมนุษย์อยู่ท่ามกลางสิ่งนี้ และระบบสัมพันธ์ที่เป็นอยู่นี้มันน่าพอใจไหม เราก็บอกมันไม่น่าพอใจ ทางพุทธศาสนาบอกว่าระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายที่เป็นอยู่เท่าที่เป็น ที่มีมนุษย์รวมอยู่ด้วยนี้ไม่น่าพอใจ เพราะอะไร เพราะยังมีการเบียดเบียนมาก ถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องแก้ให้มีความเบียดเบียนน้อย ต้องทำให้เป็นโลกที่มีความสุข ไร้การเบียดเบียน เท่ากับเป็นจุดหมายเลยว่า ต้องการทำให้โลกนี้เป็นโลกที่มีความสุข ไร้การเบียดเบียน แล้วจะทำยังไง... ก็ถ้าทั้งหมดนี้เป็นระบบสัมพันธ์ องค์ประกอบ สิ่งทั้งหลายมาสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน และมนุษย์ก็เป็นส่วนร่วมอยู่ด้วย จุดเริ่มที่จะแก้ปัญหาอยู่ที่ไหน ที่จริงตัวที่ต้องการที่แท้ก็คือมนุษย์ และพอดีมนุษย์นี่ท่านว่าเป็นองค์ประกอบพิเศษในระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ เป็นองค์ประกอบที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างจากองค์ประกอบอื่น เป็นยังไง... องค์ประกอบนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือฝึกได้ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ไม่เหมือนสัตว์อื่นทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงวัตถุทั้งหลาย สิ่งไม่มีชีวิต กรวด ดินเหล่านั้นมันฝึกไม่ได้ มนุษย์นี้ฝึกได้ ฝึกได้ก็คือพัฒนาได้ โดยเฉพาะมีเจตจำนง มีเจตนา มีความมุ่งหมาย แล้วความมุ่งหมายนี้มีปัญญาได้ ถ้ายิ่งรู้เท่าใดก็จะมากำหนดความต้องการให้ไปตั้งเจตนาให้ถูกอีก แล้วถ้าจะปรับความต้องการก็ให้ปัญญานี่แหละมาเป็นตัวปรับความต้องการ ถ้ามีความรู้เข้าใจมากขึ้น ความต้องการพัฒนาก็จะเปลี่ยนไป รู้เข้าใจตามเป็นจริง ไม่ใช่รู้เพื่อมาสนองความต้องการเท่านั้น แต่รู้เพื่อมาพัฒนาความต้องการ ตอนนี้ความรู้ knowledge หรือปัญญาจะไม่ใช่เป็นตัวมาสนองความต้องการพื้นฐานเดิมที่มีข้างเดียว แต่กลายเป็นปัญญาที่มาพัฒนาปรับเปลี่ยนความต้องการด้วย พอปัญญามาทำหน้าที่ถูกต้อง มนุษย์มีคุณสมบัติพิเศษอันนี้ ก็คือฝึกได้ มีเจตจำนง และมีปัญญา และโดยเฉพาะพัฒนาปัญญาได้ การพัฒนาปัญญานั้นจะต้องมีการพัฒนาไปด้วยกัน มีการพัฒนาพฤติกรรม กาย วาจา เพราะว่าจะพัฒนาปัญญาได้จะต้องเอาตาดู เอามือไปคลำ ไปจับ ไปแยกแยะ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมจะต้องมาสนับสนุนการพัฒนาปัญญา ทำพฤติกรรรมไป เมื่อต้องการจะแก้ปัญหาก็ต้องเอามือมาใช้ มาทำสิ่งต่าง ๆ เมื่อทำไป พฤติกรรมก็มาพัฒนาปัญญา ช่วยเอื้อโอกาสให้ปัญญาพัฒนา และวาจาก็เช่นเดียวกัน มีการสื่อสาร การสื่อสารที่สำคัญระหว่างมนุษย์ก็เพื่อสนองความต้องการของปัญญา และพัฒนาปัญญานี้เอง มนุษย์จึงมีการพูดจาเพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถามเขาบ้าง บอกเขาบ้าง อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ปรึกษากันบ้าง ช่วยให้ความคิด ก็พัฒนาปัญญากันมา กาย วาจานั่นนี่เรียกว่าเป็นระดับพฤติกรรม พระท่านเรียกว่า ศีล และจิตใจของเราต้องพัฒนาให้ดี ให้มีความอยากรู้ มีความใฝ่รู้ มีความยินดีที่จะรู้ แล้วก็จะมีความสุข ที่ว่าพัฒนาความต้องการที่ถูกต้อง ความต้องการที่อยู่ที่ใจ พอต้องการถูกต้อง ได้สนองความต้องการนั้น ก็มีความสุข ความสุขก็อยู่ที่ใจอีก พอใจพัฒนาเป็นใจที่ดี มีสติ มีสมาธิ ปัญญาก็ทำงานได้ดี ก็เห็นตามเป็นจริงอีก ก็เลยต้องพัฒนาไปด้วยกัน เป้าหมายคือต้องการพัฒนาปัญญา ก็เลยต้องพัฒนาพฤติกรรม กาย วาจา พัฒนาจิตใจด้วย จึงเกิดระบบศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา เป็นไตรสิกขา สามประการนี้ต้องหนุนกันตลอด ทุกขณะ ทุกเวลา ทุกการกระทำ ทุกพฤติกรรม นี่เป็นระบบของการพัฒนาชีวิตของมนุษย์
ทีนี้เข้ามาสู่ข้อที่บอกว่า มนุษย์เป็นองค์ประกอบที่มีคุณสมบัติพิเศษในระบบความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งหรือสากลจักรวาลนี้ ที่ว่าฝึกได้ พัฒนาได้ ในเมื่อมนุษย์พัฒนาได้ และพัฒนาความต้องการที่ดี ให้เขามีความสามารถด้วย และเขามีเจตจำนงที่ดี มาสนองความต้องการที่ดี อยากให้มันดี อยากทำให้มันดีของมัน ตอนนี้แหละที่มันจะก้าวหน้าไปกันใหญ่ ตอนนี้เขาก็จะเป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่เมื่อกี้บอกว่า ระบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่าโลกทั้งหมดมันยังไม่น่าพอใจ ยังไม่เรียกว่าโลกที่เป็นสุข ยังมีการเบียดเบียนกันมากอยู่ ฉะนั้นต้องแก้ให้เป็นโลกที่เป็นสุข ไร้การเบียดเบียน เราก็มาพัฒนาให้มาทำอันนี้ มนุษย์มีความต้องการนี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ที่ต้องการทำให้มันดี เป็นต้น ก็เลยพัฒนาสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วพัฒนาความสามารถด้านต่าง ๆ และเขาจะเป็นองค์ประกอบพิเศษที่ทำการต่าง ๆ เพื่อจะมาพัฒนาสิ่งทั้งหลาย จัดปรับระบบความสัมพันธ์ จัดปรับเหตุปัจจัยในระบบความสัมพันธ์นี้ให้หนุนให้เกื้อกูลกันในทางที่จะทำให้โลกนี้หมดการเบียดเบียน อยู่กันอย่างเป็นสุขขึ้น จนกระทั่งไปสู่ระบบอุดมคติ ซึ่งปัจจุบันนี้เราอาจจะเรียกว่า มีชีวิตที่ดีงาม มีธรรมชาติที่รื่นรมย์ และมีสังคมที่มีสันติสุข ตอนนี้เท่ากับว่าเราเน้นที่องค์ประกอบสามอย่าง คือ ๑. ชีวิต ชีวิตแต่ละคนต้องเป็นชีวิตที่ดีงาม ๒. ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติต้องรื่นรมย์ ๓. สังคม ต้องให้มีสันติสุข ตอนนี้ได้แค่นี้ก็ดีมากแล้ว แต่ตอนนี้จะต้องเพิ่มองค์ประกอบ อาจจะต้องเน้นมากขึ้น เพราะว่าเทคโนโลยีกำลังมีความสำคัญมากขึ้น เทคโนโลยีก็เป็นส่วนงอกออกมาจากมนุษย์นั่นเอง เป็นส่วนงอกที่ว่าเขามีความสามารถในทางเป็นชีวิตที่ธรรมชาติอำนวยให้เป็นสัตว์พิเศษอยู่แล้ว แล้วเขาก็มาอยู่ในสังคมนี้ แล้วเขามาพัฒนาความรู้จากธรรมชาติ แล้วก็พัฒนาสร้างเทคโนโลยีขึ้นมา แต่เขามาสนองความต้องการในเชิงบุคคล หรือในแง่ที่เขาเป็นบุคคลในสังคมโดยไม่สามารถเชื่อมโยง ให้โยงประสานได้ กลมกลืนได้ระหว่างส่วนที่เป็นธรรมชาติและส่วนที่เป็นสังคม ตั้งแต่ในตัวเอง ก็คือชีวิตและบุคคล ในตัวเขาที่เป็นชีวิตด้วย บุคคลด้วย ให้กลมกลืนกัน และการใช้เทคโนโลยีก็จะเป็นไปในทางเกื้อกูล เป็นไปในทางบวก คือว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวที่จะมาช่วยประสานเกื้อกูลกันระหว่างความเป็นบุคคลกับความเป็นชีวิต ถ้าทำได้แค่นี้ ชนะแล้ว เพราะแค่ชีวิตก็ชนะ ต่อไปก็คงชนะทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็ประสานกลมกลืนกันได้ตั้งแต่ตัวบุคคลเป็นต้นไป เวลาที่มนุศย์ขัดแย้ง แปลกแยกตั้งแต่ในตัวเอง ในชีวิต ในความเป็นบุคคล เขาจะประสบปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาประจำวันตั้งแต่กินอาหารเลย เขาไม่ได้กินอาหารเพื่อสนองความต้องการของชีวิตที่เป็นธรรมชาติ แต่เขากินอาหารเพื่อสนองความต้องการของบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จะกินให้โก้ จะกินให้เก๋ แล้วก็เบียดเบียนวุ่นวายกันไปหมด ถ้าคุณกินแล้วสนองความต้องการของสังคม แต่สนองความต้องการของชีวิตพื้นฐานไม่ได้ แสดงว่าคุณผิดแน่ อย่างน้อยถ้าคุณสนองความต้องการของบุคคลแล้วมันมาเกื้อหนุนทางด้านชีวิตของบุคคลที่เป็นธรรมชาติให้ได้ พอคุณประสานอันนี้ได้แล้ว จะมองเห็นทางประสานไปทั่วหมดเลยในระดับกว้างออกไป ที่เราเรียกว่าสังคมวงกว้าง จนกระทั่งถึงโลกมนุษย์ทั้งหมด ก็เป็นอันว่าเรามาสู่ขั้นที่ว่าเป็นระบบความสัมพันธ์อันใหญ่ที่มนุษย์เป็นองค์ประกอบพิเศษที่ฝึกได้ พัฒนาได้ และลงไปที่ฐานความต้องการที่เป็นกุศลอยู่ด้วย พอพัฒนามาสนองความต้องการที่ถูกต้องนั้น ทุกอย่างกลมกลืนกันหมด ก็กลายเป็นว่าการศึกษานั้นช่วยให้โลกนี้ดี พัฒนามนุษย์ถูกทาง ก็สร้างสังคม ชีวิตของเราก็ดีด้วย พัฒนาไปดีจนกระทั่งเขาสามารถบรรลุจุดหมายของชีวิตที่เป็นประโยชน์สุขขึ้นไป มีความสุขมากขึ้นหลายมิติ ความสุขมีหลายมิติ จนกระทั่งถึงความสุขที่เป็นอิสระที่เป็นความสุขที่ไม่พึ่งพา อันนี้สำคัญที่สุด
ในแง่นี้ก็คือ แม้แต่การจัดระบบสร้างสังคมก็ไม่เหมือนกัน ในแนวคิดตะวันตกทั้งหมดไม่ว่าสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หรือเสรีนิยม ประชาธิปไตย ทุนนิยม พวกนี้มองลึกลงไปแล้วมีความคิดแบบเดียว แบบตายตัว เขาชอบพูดว่าเขาเป็น dynamic แต่แนวคิดตะวันตกนี่ไม่เป็น dynamic เลย แต่บอกตัวเองว่าเป็น dynamic... ไม่เป็น... เป็นความคิดตายตัว นิ่งตายอยู่กับที่ ความคิดของเขาเป็นแนวเดียว เพราะเขายังมองความต้องการแบบเดียวอยู่เลย และเป็นวัตถุนิยม เขาตั้งจัดระบบสังคมขึ้นมา ระบบหนึ่งก็คือจัดระบบสังคมขึ้นมาให้ทุกอย่างมาสนองความต้องการของปัจเจกชนที่เป็นความต้องการที่เราเรียกว่าเป็นอกุศลนี่แหละ เป็นลัทธิทุนนิยมขึ้นมา เป็นสังคมรูปแบบเดียวที่จัดทุกอย่างเพื่อให้มาสนองความต้องการของบุคคล บุคคลมีเสรีภาพ เพียงแต่ไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่ละเมิดต่อผู้อื่น และเน้นที่เรื่องที่ไป ๆ มา ๆ พอหลงไปก็กลายเป็นบริโภคนิยมไปเลย สนับสนุนการเสพบริโภค ทีนี้ก็ยุ่งสิ สังคมรูปแบบเดียวที่จัดระบบเพื่อสนองความต้องการของปัจเจกชนนี้ ส่วนสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็แบบเดียวอีก เป็นวัตถุนิยม นึกว่ามนุษย์จะอยู่ดีด้วยวัตถุ แต่เพื่อให้สังคมอยู่ได้ดี บุคคลจะต้องสนองความต้องการของสังคมที่จะอยู่ดีได้ ก็มาจำกัดเสรีภาพของบุคคล จำกัดสิทธิต่าง ๆ ก็เพื่อสังคม แต่ในที่สุดก็เป็นรูปแบบเดียว เขาก็จะจัดว่าสังคมอุดมคติเป็นอย่างนี้ ตั้งขึ้นมาว่ามนุษย์เหมือนกัน เท่าเทียมกัน จัดให้ระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองเอื้อต่อการที่มนุษย์จะมีความเป็นหนึ่งเดียวกันที่เรียกว่า ความเสมอภาค ไม่รู้ตัวว่าที่แท้แล้วมันไม่สอดคล้องกับธรรมชาติมนุษย์ ธรรมชาติมนุษย์เป็นอย่างไร บอกแล้วว่าธรรมชาติมนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ ฝึกได้ โดยเฉพาะพัฒนาความต้องการได้ด้วย แล้วก็พัฒนาความสุข ความสุขของเขาก็มีได้ในระดับต่าง ๆ ไม่เท่ากัน แล้วคุณจะให้เขามีชีวิตแบบเดียวกัน อย่างสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็วางระบบสังคมไว้อย่างหนึ่ง ถ้าใช้ศัพท์อีกแบบหนึ่งก็คือ “คนยังไม่เป็นพระอรหันต์ แล้วจะให้ใช้ชีวิตเป็นพระอรหันต์กันหมด” เป็นไปไม่ได้ ต้องพัฒนาเขาให้เป็นพระอรหันต์ก่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องยอมรับความจริงของมนุษย์ว่า มนุษย์ในขณะหนึ่งขณะเดียว ที่เราเรียกว่า at a given moment มนุษย์ทั้งหลายอยู่ในระดับการพัฒนาที่ต่างกันหมดเลย ที่จุดเริ่มต้น เขามีสภาพที่มีความต้องการที่เน้นไปทางเสพบริโภค เขาต้องการอยู่รอด เขาก็ต้องการกินอยู่ เสพบริโภค แต่ถ้าเราปล่อยให้เขาสนองความต้องการแบบนี้เพลินไป จะเอาให้มาก ก็จะกลบความต้องการแบบที่เป็นกุศลไปเลย เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้ว เราจะต้องจัดระบบสังคมให้เอื้อต่อธรรมชาติของมนุษย์ขั้นพื้นฐาน คือจัดระบบสังคมให้มีสภาพเอื้อต่อการพัฒนาของปัจเจกชน สนองความต้องการในการพัฒนาชีวิตของเขา ไม่ใช่สนองความต้องการที่จะเสพบริโภค เป็นต้นของเขา นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อเราจัดระบบสังคมให้เป็นสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาเขา พัฒนาความต้องการและความสุขของเขา มันจะเปลี่ยนรูปหมดเลย ถ้าเราตั้งเป็นแกนขึ้นมาว่า สังคมนี้ต้องมีสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาของมนุษย์ ให้โอกาสในการพัฒนา และต่อจากนี้ เนื่องจากมนุษย์อยู่ในระดับการพัฒนาที่ไม่เท่ากัน เราจะต้องมีการจัดสรรสังคมนี้ในหน่วยย่อยหรือองค์กรที่สนองความต้องการของบุคคลที่มีระดับการพัฒนาไม่เหมือนกัน ที่ต้องการไม่เหมือนกัน และมีความสุขไม่เหมือนกัน เราจะต้องให้คนทุกคนมีความสุขได้ ไม่ใช่ว่าจะตั้งระบบสังคมเป็นแบบเดียว แล้วจะให้ทุกคนเป็นแบบนั้น เป็นไปไม่ได้ แบบหนึ่งก็จะเอาคนที่ไม่เป็นพระอรหันต์ให้อยู่แบบที่เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด อีกระบบหนึ่งก็จะสนองความต้องการของแกหมด แกจะเอาอะไรก็ต้องให้ได้ทั้งหมด... ไม่ได้ทั้งคู่ นี่ก็คือสังคมสุดโต่ง แบบทุนนิยมเสรี กับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ก็ต้องจัดใหม่หมด พื้นฐานคือต้องจัดระบบสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาของคน ให้เขาได้โอกาสในการพัฒนาชีวิต นี่เป็นสิ่งแรก แล้วในกระบวนการพัฒนา เราก็จะจัดรูปแบบสังคมให้มีหน่วย องค์กร หรือชุมชนอะไรก็ตาม ทุกรูปแบบที่มาสนองความต้องการมนุษย์ที่จะพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะมีความสุขได้ในระดับต่าง ๆ แต่มีข้อแม้ที่เป็นกรอบขั้นพื้นฐานว่า ถ้าคุณยังพัฒนาน้อยที่สุด อย่าให้การสนองความต้องการของคุณในการเสพบริโภคไปก่อความเดือดร้อนเสียหาย หรือที่เรียกว่าเบียดเบียน นี่คือสิ่งที่ท่านวางเอาไว้เป็น ศีลห้า นั่นเอง คุณจะหาเท่าไร จะเสพบริโภคเท่าไรก็ทำไป ขออย่างเดียวอย่าไปทำความเดือดร้อนหรือเบียดเบียนคนอื่นให้โลกลุกเป็นไฟ แล้วคุณเองก็อยู่ไม่ได้ สร้างสภาพเอื้อของสังคมขั้นแรกก็คือให้อยู่ร่วมกันได้ก่อน ไม่เป็นโลกที่เบียดเบียนกันเกินไป ไม่ละเมิดกันใน 5 ด้านนี้ และพออยู่กันได้แล้ว เราก็มาพัฒนาระบบและกระบวนการพัฒนามนุษย์กัน ถ้ามีความรู้อันนี้ เราก็จัดสภาพเอื้อต่าง ๆ จัดระบบและกระบวนการในการพัฒนามนุษย์เป็นแกน ส่วนการสนองความต้องการของมนุษย์ที่อยู่ในระดับการพัฒนาต่าง ๆ กันก็มาเป็นรอง สังคมนี้ก็จะมีความหลากหลายในความเป็นหนึ่ง คือการที่มนุษย์จะต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่แกนกลางคือการพัฒนามนุษย์ และมีความหลากหลายในการพัฒนาที่มนุษย์จะมีความเป็นอยู่ได้ต่างกัน ไม่จำเป็นต้องอยู่แบบเดียวกัน และมนุษย์เหล่านี้ก็จะเอื้อต่อกันได้ มนุษย์ที่พัฒนาสูงขึ้นไปก็จะมาเอื้อ มาสั่งสอนให้ความรู้ มาชักจูงคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่น้อยด้อยกว่า สังคมก็จะเป็นแบบนี้ที่เรียกว่า “หลากหลายในความเป็นหนึ่ง” อย่างแท้จริง ไม่ใช่หลากหลายแบบตะวันตกที่ว่า Diversity in Unity มี Multiculturalism มีหน่วยเชื้อชาติ สีผิวต่างกัน แล้วมาอยู่เป็นอันเดียวกันได้ มีความหลากหลายเป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นก็ถูกในแง่หนึ่ง แต่มันไม่ใช่ความหลากหลายในความเป็นหนึ่งที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์ ความหลากหลายในความเป็นหนึ่งที่แท้ก็คือ มนุษย์ทั้งหลายที่มีการพัฒนาในระดับต่าง ๆ กัน ก็สามารถอยู่ร่วมได้ในสังคมเดียวกันอย่างดี มีความสุขร่วมกันทั้งหมด และแต่ละคนก็พัฒนาขึ้นไป ไม่หยุดอยู่กับที่ ขออย่างเดียวว่า เราจัดระบบสังคมให้เอื้อต่อการพัฒนาของมนุษย์ทุกระดับโดยไม่เบียดเบียนกัน และแต่ละคนขอให้พัฒนาตน เท่านี้เอง... ถ้าการศึกษาทำได้อย่างนี้ ก็คิดว่านี่คือความสำเร็จของการศึกษา
ขออนุโมทนาท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่งที่ได้มีเจตนาเป็นบุญเป็นกุศลที่จะช่วยกันเพื่อให้อุดมศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาขั้นสูงสุดที่กว้างที่สุดและต้องครอบคลุมและทำให้แก่โลกได้อย่างเต็มที่ “อุดม” ในที่นี้ ที่สุดก็คือเต็มที่ เราต้องทำให้แก่โลก แก่จักรวาล แก่มนุษยโลกให้เต็มที่ ให้ดีที่สุด พอเรามีความต้องการที่เป็นกุศล มีฉันทะแล้ว ก็มีทางสำเร็จได้ เราก็ไปพัฒนาความต้องการนี้ขึ้นมา ขออนุโมทนาท่านอาจารย์ทุกท่าน และขอให้ประสบความสำเร็จสมความมุ่งหมาย เพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติ แก่โลกนี้ อย่างที่ว่าให้มีชีวิตที่ดีงาม มีธรรมชาติที่รื่นรมย์ และมีสังคมที่มีสันติสุข ขออนุโมทนาทุกท่าน เจริญพร
ผู้เข้าร่วมถาม: ปัญหาตอนนี้ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ในสถาบันอุดมศึกษามีทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา ถ้าพูดถึงภาพรวม ทุกคนห่างไกลจากจุดนี้หมดเลย
ตอบ: นั่นสิ กระบวนการ ระบบสังคมเวลานี้มันไปสนองแนวคิดที่ตรงข้าม อาตมาลืมพูดไปอีกจุดหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับอุดมศึกษาโดยตรง ขอเติมนิดหนึ่ง... พอเราพัฒนามนุษย์ได้อย่างนี้ มีความต้องการที่ดีงาม อย่างน้อยให้มีตัวนี้คือ “อยากทำให้มันดีของมัน” ถ้าทำตรงนี้ขึ้นมาได้ เขาเริ่มเป็นคนที่เราเรียกว่าเป็นบัณฑิตแล้ว ปัญญา ความรู้ ความเข้าใจจะมาสนองความต้องการนี้หมดเลย แล้วเราก็พัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต บัณฑิตก็มีระดับต่าง ๆ พระพุทธเจ้าท่านก็เรียกว่าเป็นบัณฑิต คำว่า พุทธาทิบัณฑิต แปลว่า บัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็คือคนที่เราพัฒนาให้ดี มีความต้องการที่ถูกต้อง และมีปัญญามาใช้สนองความต้องการนี้ แก้ไขปัญหาของชีวิต โลก สังคม ธรรมชาติได้หมด เราต้องการสร้างบัณฑิต อุดมศึกษาของไทยเราก็บอกแล้วว่าเพื่อจะให้เป็นบัณฑิต เราก็สร้างบัณฑิตที่มีความหมายแบบนี้ บัณฑิตก็จะไปสนองความต้องการที่ว่าทำให้มันดีของมัน เพื่อจะสนองความต้องการนี้ เขาก็ต้องมีความรู้ มีเครื่องมือซึ่งต่างกันไปในด้านต่าง ๆ เพราะมนุษย์มีหลายคน ก็เลยต้องมีวิชาชีพเป็นต้น มีวิชาเฉพาะเพื่อสร้างเครื่องมือให้แก่บัณฑิต อุดมศึกษาก็สร้างคนให้เป็นบัณฑิต พร้อมกันนั้นก็ให้เครื่องมือแก่บัณฑิต บัณฑิตเป็นผู้พร้อมอยู่แล้ว ก็เอาเครื่องมือไปใช้เพื่อสนองความต้องการอยากทำให้มันดีของมัน ก็เลยสร้างสรรค์กันใหญ่ พอทำให้มันดีได้ ตัวเองก็ยิ่งมีความสุข เพราะสนองความต้องการของตน จะต้องสร้างความต้องการนี้ขึ้นมา ก็จะได้สมปรารถนาดังที่ว่า นี่คือสิ่งสำคัญที่จะต้องทำให้ได้ อุดมศึกษาคือ 1. สร้างบัณฑิต 2. สร้างเครื่องมือให้บัณฑิตที่จะไปทำการที่ดีงาม
ผู้เข้าร่วมถาม: ทุกวันนี้เรียนมาก รู้มาก แต่จริยธรรมเสื่อม จะมีกระบวนการใดที่จะส่งเสริมให้จรรยาบรรณ จริยธรรมของนักศึกษาหรือบัณฑิตในกาลต่อมาดีขึ้น นอกจากการบรรยายอย่างเดียว มีวิธีการอย่างอื่นไหมที่จะทำให้ติดตัวไปในอนาคต
ตอบ: ถ้าพัฒนาความต้องการตรงนี้ขึ้นมาได้ จริยธรรมก็เปลี่ยน เพราะว่าจริยธรรมที่มีอยู่คือจริยธรรมแบบฝืนใจ พอพูดถึงจริยธรรม เราจะสนองความต้องการของเราไม่ได้แล้ว จะทำนั่นก็ผิด จะทำนี่ก็ผิด ต้องยับยั้ง ต้องงดเว้น ต้องหยุด ต้อง restrain แม้แต่กับธรรมชาติก็ต้อง restrain ต้องยับยั้งชั่งตน นี่คือการฝืนใจ จริยธรรมแบบนี้เป็นจริยธรรมแห่งความทุกข์ จริยธรรมตะวันตกเป็นจริยธรรมแบบฝืนใจหมดเลย จริยธรรมเป็นความทุกข์ เป็นจริยธรรมจำใจ มันมีเหตุผลว่าถ้าเราไปทำตามชอบใจของเรา ธรรมชาติพินาศ เราอยู่ไม่ได้ เราก็เลยจำใจเพื่อให้ธรรมชาติมันอยู่ เพื่อเราจะได้อยู่ได้ ที่จริงก็เพื่อตัวเรานี่แหละ ก็เลยต้องยับยั้ง ไม่ทำลายธรรมชาติ ทีนี้ไม่ทำลายธรรมชาติ ตัวเองก็ไม่สุขสมปรารถนา ยับยั้งแล้วก็ทุกข์ ก็ไปไม่รอด เพราะฉะนั้นตอนนี้การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็แก้ไม่ตก เพราะว่ามันฝืนใจ ในที่สุดก็ต้องหาทางทำลายสิ่งแวดล้อม หาทางเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ สนองความต้องการกันไม่รู้จักจบ ธรรมชาติก็ยิ่งเสื่อมโทรมลงไป สิ่งที่ทำก็ทั้งทุกข์ด้วย ทั้งทำไม่สำเร็จด้วย ฉะนั้นต้องเปลี่ยนให้ได้ ก็เป็นจริยธรรมแห่งความสุขนี่แหละ จริยธรรมแห่งความสุขก็เกิดจากการเปลี่ยนความต้องการเป็นความต้องการที่ถูกต้อง อาตมาต้องขอเน้นเรื่องความต้องการ และต้องให้ความสำคัญกับความต้องการ เราไม่ยอมรับแนวคิดตะวันตกที่บอกว่า มนุษย์มีความต้องการ อยากได้ไม่รู้จักสิ้นสุด ซึ่งพุทธศาสนาก็บอกอย่างนั้นว่า ความต้องการแบบที่ ๑ ไม่มีที่สิ้นสุด พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้เนรมิตภูเขาทั้งลูกเป็นทองก็ไม่พอสำหรับความต้องการของบุคคลเดียว ๒-๓ ลูกเป็นทองก็ไม่พอ เนรมิตให้เป็นเพชรก็ยังไม่พออีก ถ้าอย่างนั้นทำยังไง ก็ต้องพัฒนาความต้องการแบบใหม่ พอพัฒนาความต้องการแบบที่ ๒ คราวนี้ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอกแล้ว เป็นความสุขอิสระต่อตนเอง ถ้ามนุษย์ไม่สามารถมีความสุขที่เป็นอิสระ ก็จะแก้ปัญหาจริยธรรมไม่ได้ แม้แต่ความสุขร่วมกันก็ทำไม่ได้ ที่ว่าเขาสุขเราจึงสุขด้วย อย่างพ่อแม่จะสุขต่อเมื่อเห็นลูกเป็นสุข ก็เพราะรักลูก ก็ต้องสร้างความต้องการนี้ก่อน พ่อแม่เป็นสุขที่ลูกเป็นสุขเพราะอะไร เพราะว่าพ่อแม่มีความต้องการให้ลูกเป็นสุข ความต้องการแบบนี้คือสิ่งที่เรียกว่า ต้องการให้มันดีของมัน เป็นความต้องการที่เป็นกุศล พอเรามีความต้องการที่ดีต่อลูก เมื่อลูกเป็นสุข เราก็เป็นสุข ก็เป็นความสุขแบบร่วมกัน ไม่ใช่ความสุขแบบแย่งกัน ทีนี้พอเราต้องการให้มนุษย์มีความสุข อย่างผู้ปกครอง ผู้บริหารประเทศ มันต้องสร้างความต้องการนี้ให้ได้ คือต้องการเห็นประชาชนมีความสุข พอเห็นประชาชนอยู่ดีมีความสุข ตัวเองก็สุขด้วย ถ้าประชาชนยังไม่อยู่ดี ไม่มีความสุข ตัวเองก็สุขไม่ได้เหมือนกัน ถ้าความต้องการนี้เกิดขึ้น มันเป็นจริงอย่างนั้นเลย ฉะนั้นมันอยู่ที่ตรงนี้ ถ้าเราไม่สามารถสร้างนักปกครอง นักการเมืองที่มีความต้องการนี้ขึ้นมาได้ การเมืองก็ล้มเหลว นักการเมืองจะต้องมีความต้องการอันนี้ คือต้องการให้ประชาชนอยู่ดีมีความสุข ถ้าเขาอยู่ดีมีความสุขไม่ได้ เขาไม่เป็นสุข ฉันก็ยังไม่สุข ยังสุขไม่ได้ เหมือนกับพ่อแม่ ลูกยังไม่เป็นสุข พ่อแม่ก็สุขไม่ได้เหมือนกัน แบบนี้จริยธรรมมาเองเลย เพราะว่านักการเมือง ผู้บริหารอยากให้ประชาชนอยู่ดีมีความสุข นักการเมืองมีจริยธรรมทันทีเลย เพราะฉะนั้นการสนองความต้องการนี้ตัวเดียวจะพามาทั้งระบบ จริยธรรมก็มา ความสุขก็มาหมด เป็นระบบองค์รวมที่ประสานเกื้อหนุนกัน ไม่แยกแล้ว จริยธรรมไม่แยกไปจากเรื่องอื่น เวลานี้เรามองจริยธรรมแยกส่วน ไม่เป็นหนึ่ง ก็เลยยุ่งไปหมด เป็นจริยธรรมฝืนใจอย่างที่ว่า จริยธรรมแห่งความทุกข์ จำใจทำ ต้องเปลี่ยนให้ได้ แม้แต่กฎหมาย วินัย เวลานี้นิติบัญญัติอะไรต่อมิอะไร ดูไปแล้วก็มาจากปรัชญา แนวคิดพื้นฐานนี้ ก็คือระบบแนวคิดสนองความต้องการของปัจเจกชน แล้ววางระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างนั้น กฎหมายก็ตามมา เมื่อสนองความต้องการของบุคคล กฎหมายก็เน้นในแง่ลบ เป็น negative กฎหมายปัจจุบันจะเน้นในแง่ลบมาก กฎหมายที่ถูกต้องเมื่อมองว่ามนุษย์มีความสามารถที่จะพัฒนาได้ กฎหมายเองจะต้องเป็นตัวสร้างระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาของมนุษย์ จะเป็นกฎหมายประเภท positive วางกฎระเบียบ วินัย วินัยของพระก็คือกฎหมาย เจตจำนงในพระทัยของพระองค์ก็คือสร้างสภาพเอื้อเพื่อให้พระหรือบุคคลที่เข้ามาสู่ระบบนี้ได้พัฒนาตัวเองได้ดีที่สุด กฎหมายแต่ละข้อในพุทธศาสนา ไม่มีเลยที่เรียกว่าข้อบังคับ เรามาเรียกกันว่าข้อห้าม ที่จริงไม่มี เราพูดกันผิดหมด ในพุทธศาสนาไม่มีข้อห้ามและไม่มีข้อบังคับ ที่เราเรียกว่า ศีล นั้น ในแง่หนึ่งถือว่าเป็นปกติของมนุษย์ที่ทำให้อยู่กันดี ไม่เบียดเบียนกัน แต่นั่นเป็นอีกระดับหนึ่ง ส่วนกฎแต่ละข้อท่านเรียก สิกขาบท “สิกขา” แปลว่า การฝึก การศึกษา “บท” แปลว่า ข้อ ฉะนั้น ข้อบัญญัติแต่ละข้อเรียกว่าสิกขาบท ก็คือข้อฝึก ถ้าเราอยากจะมีชีวิตที่ดี แต่ยังไม่พร้อม เราก็เลยมาถือระเบียบวินัย กฎหมายนี้ ที่เรียกว่าสิกขาบท เป็นข้อที่เราจะได้ฝึกตัวเอง มองระเบียบวินัยเป็นการพัฒนามนุษย์หมดเลย ในพุทธศาสนาก็มีสิกขาบทเต็มไปหมด ซึ่งก็คือข้อฝึกนั่นเอง เวลาเรามาพูดถึงพุทธศาสนา คำมันเพี้ยนไปหมด เราใช้คำว่าข้อห้าม ข้อบังคับ ซึ่งไม่มี คิดว่าสังคมต้องมองแบบนี้ มองแม้แต่ข้อบัญญัติ กฎหมาย ให้เป็นข้อฝึกมนุษย์ การสร้างสภาพเอื้อต่อการพัฒนาของมนุษย์ให้ได้ ไม่ใช่กฎหมายเพียงเพื่อมาห้ามกัน ตีกรอบ ทำนั่นไม่ได้ ทำนี่ไม่ได้ สนองความต้องการที่ละเมิดต่อผู้อื่น นั่นเป็นแค่ขั้นต้น ความต้องการระดับหนึ่งไม่พอ ระบบเศรษฐกิจ ระบบนิติบัญญัติ ระบบการเมืองการปกครอง ระบบต่าง ๆ ต้องพลิกหมดเลย เพราะว่าแนวคิดมันเปลี่ยนหมด คิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ ต้องช่วยกัน แต่คิดว่าทำได้ ต้องจับแนวให้ได้ก่อน ความต้องการของปัจเจกจะไม่ลงไปถึงความต้องการที่แท้ที่มนุษย์มีศักยภาพที่จะทำได้ แต่เราจำเป็นต้องช่วยกัน อย่างน้อยก็สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้แนวคิด และช่วยกันแพร่ขยายออกไป แต่อาตมาภาพนึกว่ามันไม่มีทางออกอื่น ถ้าไม่แก้อันนี้ เพราะกระแสหลักของเขาก็คือระบบนี้
ผู้เข้าร่วมถาม: หมายถึงจะสอนวิชาอะไร ก็ให้สนองความต้องการนี้ทั้งหมด
ตอบ: ใช่ เราต้องสนองความต้องการ แต่เป็นความต้องการที่พัฒนาไปกว่านี้ คุณไม่ได้มีแต่ความต้องการนี้เท่านั้น แต่คุณต้องค้นตัวเองออกมา แล้วพัฒนาขึ้นมาให้ได้ มันทำได้ แล้วคุณจะมีความสุขมากขึ้น มีความสุขหลายมิติขึ้น ไม่ใช่มีความสุขแนวเดียว เวลานี้คุณมีความสุขแนวเดียว อย่างเดียว มิติเดียว และความสุขอย่างที่ว่าเป็นความสุขพึ่งพาหมด แล้วก็จะเข้ากระแสสุขพึ่งพา สุขยากขึ้น ทุกข์ง่ายขึ้น การพัฒนาแบบนี้มันผิด มนุษย์ต้องมีความสามารถสุขง่ายขึ้น ทุกข์ได้ยากขึ้น อย่างนี้จึงจะเป็นคนที่พัฒนา ถามตัวเองก็ได้ว่า คุณอยู่ในโลกนี้แล้ว สุขได้ง่ายขึ้นไหม ถ้าคุณสุขได้ยากขึ้น คุณผิดแน่ พระท่านบอกเลยนะว่า ขั้นต้นตั้งจิตขึ้นมา ให้สภาพจิตประจำตัวคือปราโมทย์ ท่านว่า “ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป” สภาพจิตพื้นฐานคือปราโมทย์ ให้มีปราโมทย์เป็นพื้นใจตลอดเวลา ถ้าทำจิตได้อย่างนี้ จิตจะใกล้นิพพาน ถ้าทำจิตให้ปราโมทย์ไม่ได้ ก็ไปนิพพานยาก ให้ร่าเริง เบิกบาน ผ่องใสเป็นหลักไว้ ได้แค่นี้ก็สบายแล้ว ขออนุโมทนาคุณโยม