แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ตัวประเด็นอยู่ที่การรู้ทัน ไม่ได้อยู่ที่มัวด่า ใช่ไหม ก็บอกว่าฝรั่งคิดหาทางเอาเปรียบเรา ผลิตสินค้ามาขาย เอาเงินจากเราไป อะไรอย่างนี้ อ้าว แล้วทำไมเราไม่พัฒนาตัวเองล่ะ ใช่ไหม ก็เขาผลิตสินค้ามา ตัวเองก็ไปนิยมคลั่งไคล้ แล้วก็ซื้อเขา เขาก็ได้ แล้วจะไปว่าเขายังไง เขาก็ยั่ว เขาก็ล่อให้เรานิยม อยากได้มากๆ เราก็ได้ เราก็ซื้อ เงินก็ไปที่เขา ทำไมไม่พยายามพัฒนาตัวให้เป็นผู้ผลิตล่ะ ใช่ไหม ก็ต้องพยายามสร้างตัวขึ้นมา แต่ว่าอันหนึ่งก็คือความรู้ทันว่าแกมาท่าไหน อย่างที่ว่า เราเป็นทั้งผู้กู้ยืมเงิน แล้วทั้งเป็นผู้ซื้อสินค้าจากเขา เราก็ต้องรู้ เมื่อเป็นอย่างนี้ สถานะของเราเป็นอย่างนี้ เขาเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะแก้ไขสถานการณ์ยังไง รู้ทันแล้วพยายามหาทางแก้ไข เมื่อไม่รู้ ไม่มีความคิด คิดอะไรก็คิดเอาเอง คิดเหลวๆไหลๆ เลื่อนลอย ไม่เข้าเรื่อง แล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ทิศทางก็ไม่มี พอเรารู้เข้าใจ รู้ทันแล้ว มีความคิด มีเป้าหมายทิศทางของสังคมก็เกิดขึ้น มันก็จะมีทางแก้ปัญหาได้ ก็เป็นอันว่าอย่าปล่อยให้สังคมไหลไปแต่ตามกระแส มีบทยาทเพียงแต่เขากำหนดให้ ใช่ไหม ควรจะมีความเป็นตัวของตัวเอง พัฒนาตัวเองให้สามารถกำหนดบทบาทของตัวเองขึ้นมา แล้วก็ไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของโลก นำโลกไปสู่ความดีงามด้วย ซึ่งคนไทยนี้มีศักยภาพที่จะเป็นได้ แต่ไม่คิด ไม่ทำ แล้วเรามีหลัก มีแนวความคิดที่ดีอยู่ด้วยใช่ไหม เราน่าจะเอาภูมิปัญญาแนวคิดเหล่านี้ขึ้นมาพัฒนา เพราะฝรั่งมันตันเหมือนกันนะเรื่องนี้ ตันแนวคิดพิชิตธรรมชาติ ฝรั่งก็ยอมรับว่าความเจริญทั้งหมดของอารยธรรมตะวันตกตั้งอยู่บนฐานพิชิตธรรมชาติ ซึ่งมีมาตั้งแต่ 2,000 กว่าปี ตั้งแต่กรีก โสเครติส เปโตร อริสโตเติล ก็มาบนฐานนี้ พิชิตธรรมชาติ กรีกเขาคิดอย่างนั้นอยู่แล้ว ทีนี้พอยุโรปออกจากการบีบคั้นของศาสนาคริสตร์ ก็ไปรับแนวคิดของกรีกโบราณกลับมา ก็ฟื้นแนวคิดพิชิตธรรมชาติ แล้วก็เห็นว่าถ้าล้วงความลับของธรรมชาติได้ ก็จะสามารถจัดการธรรมชาติได้ตามชอบใจ นี่แหละแนวคิดของเขา แล้วพอสามารถจัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ คราวนี้มนุษย์จะมีความเจริญก้าวหน้าอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด นี่คือความหวังเมื่อยุคเริ่มวิทยาศาสตร์ เขาเรียก accessible progress แปลว่าความก้าวหน้าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ฝรั่งคิดถึงขนาดนี้นะ ความก้าวหน้ามันก็ดีอยู่แล้วนะ นี่ความก้าวหน้าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำไมหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าเมื่อมันจับธรรมชาติได้แล้ว มันทำถูกทาง วิทยาศาสตร์มันรู้หมด วิทยาศาสตร์ของฝรั่งมีเพื่อจะล้วงความลับของธรรมชาติ และมาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเอาชนะธรรมชาติ โดยการสร้างอุตสาหกรรม คือวิทยาศาสตร์นี้รู้ความจริงของธรรมชาติ และก็เอาความรู้มาพัฒนาเทคโนโลยี เทคโนโลยีนี้ก็มาพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นต่อๆ อุตสาหกรรมนี้ก็เป็นตัวสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ นี่นะ 4 ตัวนี้ให้จำเอาไว้เลย หนึ่ง-วิทยาศาสตร์ รู้ความจริงของธรรมชาติ เมื่อรู้ความจริงของธรรมชาติแล้ว ก็พัฒนาเทคโนโลยี เทคโนโลยีนั้นก็มาใช้ในการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมก็ผลิตสิ่งเสพบริโภคขึ้นมา ทำให้เกิดความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ นี่คือแนวคิดของอารยธรรมตะวันตก ซึ่งเขาว่าเนี่ยเขาจะเจริญอย่างไม่รู้จักจบสิ้นเลย ฝรั่งจึงฝันมากว่าเขาจะมีความอุดมสมบูรณ์พรั่งพร้อมทุกอย่าง จนกระทั่งมาประมาณปี 1960 กว่า เริ่มเจอปัญหาธรรมชาติเสีย แล้วก็เริ่มปรากฏเป็นปัญหาระดับโลก ที่มีการประชุมระดับโลก เราเรียกว่า earth summit ประชุมสุดยอดในเรื่องของโลก เริ่มต้นปีอะไร ทราบไหม earth summit ครั้งแรก พวกนี้ต้องควรรู้ไว้ การประชุมระดับโลกเกี่ยวกับผืนปฐพีนี้ ครั้งแรกปี 1972 นี่ถือว่าเป็นจุดกำหนดสำคัญ อเมริกาเขาเริ่มตื่นก่อนนั้น อเมริกาได้รับอันตรายจากการพัฒนาอุตสาหกรรม แล้วก็พวกน้ำอะไรเสีย ก็เกิดความตื่นตัวในเรื่องธรรมชาติเสีย มลภาวะ pollution อะไรอย่างนี้นะ แล้วก็เริ่มตั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวกับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ทีนี้ปัญหาก็เริ่มตื่นกันทั้งโลก 1972 ก็เริ่มประชุมระดับโลก แล้วมา 20 ปี 1992 ก็ประชุมครั้งที่ 2 แต่บอกว่าไม่มีอะไรดีขึ้น โลกก็เสื่อมลงในเรื่องของธรรมชาติแวดล้อม ก็เป็นอันว่าทางตะวันตกที่มุ่งพิชิตธรรมชาติ สร้างความเจริญก้าวหน้าที่ไม่รู้จักสิ้นสุด ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยกระบวนการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม เศรษฐกิจเนี่ย มันมาถึงจุดอับจนที่ว่าเกิดภัยธรรมชาติ แล้วหันไปดูชีวิตมนุษย์ จิตใจก็ไม่ดี มีความทุกข์มาก แล้วหันไปดูสภาพร่างกายก็เกิดโรคอารยธรรม คนเป็นโรคใหม่ๆ โรคเส้นเลือดในสมองแตก โรคหัวใจ โรคอารยธรรมต่างๆ ทีนี้โรคอ้วนเป็นเรื่องใหญ่ของอเมริกา ไทยก็กำลังพลอยเป็นด้วย เขาเรียกโรคอารยธรรมจากการกินเสพบริโภค ทีนี้ปัญหาด้านชีวิต ด้านจิตใจ เป็นหมด ทีนี้ด้านสังคม เบียดเบียนกันมาก เอารัดเอาเปรียบกันมาก แย่งชิงกันมาก แล้วก็ธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม ก็เป็นผลจากอารยธรรมแบบนี้ แล้ววนแล้ว โลกติดในปัญหานี้ ไปไม่ได้แล้ว พวกฝรั่งก็รู้ว่าตอนนี้ไปไม่ได้แล้ว แต่ว่าจะถอนตัวก็ไม่ได้ เพราะถ้าถอนตัวปั๊บก็เสียอำนาจ เสียผลประโยชน์ แล้วก็ขาดความสุขด้วย เพราะถ้าตัวเองยอมให้ธรรมชาติอยู่ดี ตัวเองก็ขาดแคลนสิ่งเสพบริโภค หรือบริโภคได้น้อย ก็ตัวเองก็มีความทุกข์ ไม่สุขเท่าที่ควร ถ้าตัวเองจะไปเบียดเบียนเอาจากธรรมชาติมาก ธรรมชาติมันก็เสื่อมโทรม ถึงตัวเองจะสุข แต่แล้วธรรมชาติมันก็กลับมาทุกข์กับตัวเองอีก นี่เขาเรียกว่า dilemma ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก ฝรั่งก็มาติดตรงนี้ ก็เกิดอารยธรรมสิ่งแวดล้อม เขาเรียกว่าใช้ restraint ก็คือการข่มใจ ยับยั้งชั่งใจ ก็คือต้องยอมให้ธรรมชาติอยู่ โดยตัวเองยอมงด ยอมลด ลดความสุขลงบ้าง เมื่อคนมันงดและลดความสุข มันไม่เต็มใจ มันก็ไม่ได้ผลจริง ก็เกิดปัญหา ใช่ไหม ก็เลยติดตันตรงนี้ ทีนี้เรามั่นใจว่าพุทธศาสนาแก้ปัญหานี้ได้ ก็คือพุทธศาสนามาพัฒนามนุษย์ ให้อยู่ไปพัฒนาไป แล้วมีความสุขที่เป็นอิสระมากขึ้น แต่ว่าความสุขที่ขึ้นกับสิ่งกินเสพมาก ต่อไปเราพัฒนาขึ้น ความสุขของเราพึ่งพาวัตถุเสพน้อยลง เราสามารถมีความสุขโดยอาศัยวัตถุสิ่งเสพบริโภคน้อยลง ก็มีความสุขที่เป็นอิสระมากขึ้น แล้วก็กลับไปเกื้อกูลสิ่งภายนอก เกื้อกูลธรรมชาติ เกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ได้บ้าง ก็หมายความว่าอันนี้มันกลายเป็นระบบมที่เป็นปัจจัยกันเละกันในการที่ว่าพัฒนาไปแล้ว วงจรนี้ก็มาหนุนกันเองในทางเอื้อแก่กัน ทีนี้ฝรั่งไปทางเดียว มันก็ตันสิ ใช่ไหม ว่าจะมีความสุขต้องกินเสพให้มาก ทีนี้กินเสพบริโภคมากไม่ได้แล้ว เพราะมันทำลาย มันจะมอดม้วยกันหมด ใช่ไหม ทีนี้สุขไม่ได้ ตัวเองก็ทุกข์ ถ้าสุข พวกธรรมชาติก็พินาศ ธรรมชาติก็พินาศตัวเองก็ย่อยยับอีก นี่ไม่รู้จะไปท่าไหน นี่ของเราก็บอกทางให้ บอกตอนแรกคนเรายังไม่พัฒนาก็อาศัยวัตถุเสพบริโภคมีความสุข พอเราพัฒนาไปความสุขของเราก็พึ่งพากับสิ่งเสพบริโภคน้อยลง เราก็กินใช้น้อยลง เราก็มีความสุข เป็นอิสระภายในมากขึ้น แล้วเราก็เอาจากข้างนอกน้อยลง แล้วเกื้อกูลได้มากขึ้นด้วย อะไรอย่างนี้ ความสุขมีหลายระดับ พัฒนาไปได้เรื่อยๆ มันก็เลยกลายเป็นว่าการพัฒนามนุษย์ที่มันคู่ขนานกับการพัฒนาวัตถุภายนอกเนี่ย มาประสานแก่กัน เอื้อต่อกันแล้วก็ทำให้โลกอยู่ได้ด้วยดี เพราะฉะนั้นสังคมโลกหรือโลกอารยธรรมทั้งหมดมันจะต้องเปลี่ยนใหม่ หมายความว่าอารยธรรมที่ว่ามาที่ตั้งอยู่บนฐานของการพิชิตธรรมชาติมันไปไม่รอดแล้ว เมื่อถึงจุดนี้ก็คือต้องสร้างอารยธรรมใหม่ ใช่ไหม โลกไม่มีทางรอด เมื่อไม่รับ หรือก้าวสู่อารยธรรมใหม่ แล้วมีแนวคิดนี้อยู่ แล้วทำไมไม่คิด สร้างแนวทาง สร้างปัญญาให้กับสังคม ทิศทางเป้าหมายให้แก่โลกเลย การพัฒนามนุษย์ให้ได้อย่างนี้ มันก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ทำให้คิด เพราะมันมัวลุ่มหลงกับสิ่งเสพบริโภคอยู่ แล้วก็กลายเป็นว่าอยู่บนเวทีโดยบทบาทที่เขากำหนดให้ เราก็เล่นอยู่บนเวทีโลก แต่ว่าไม่รู้ตัวว่าเล่นไปตามบทบาทที่คนอื่นกำหนด ไม่เป็นตัวของตัวเองเลย ทีนี้ต่อไปกระแสโลกไม่ได้อยู่อย่างนี้ ไม่ได้สบายตลอด ต่อไปเกิดมีทุกข์ยากลำบาก ตัวเองก็ทุกเหมือนอย่างในอดีตใช่ไหม ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ก็ฝากให้คิดกันดู ก็นี่เรื่องสังคมไทยทำยังไงจะให้เป็นสังคมที่มีจุดหมายมีทิศมีทางบ้าง ไม่งั้นแต่ละคนก็เคว้งคว้าง เอาตัวเข้าว่า แล้วแต่ ตัวจะอยู่ได้ มีกินมีเสพก็แล้วไป คนไทยเดี๋ยวนี้คิดแค่นี้หรือเปล่า คล้ายๆ ว่าตัวเรา ครอบครัวเราอยู่ได้ มีกินมีใช้ไป จบ ใช่ไหม ความที่ว่าสังคมของเราจะต้องเป็นยังไงไปยังไง มันไม่ได้มี แม้แต่สำนึกตระหนักรู้ความเป็นจริงของสภาวการณ์สถานการณ์ของโลกว่าเราอยู่ในสภาพอย่างไร โลกปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร แล้วเราอยู่ในสถานะและภาวะอย่างไร โดยเปรียบเทียบกับผู้อื่น เราก็ไม่ค่อยรู้ หรือผมจะมองในแง่ร้ายเกินไป ท่านเห็นว่ายังไง
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : คิดว่าน่าจะอยู่กับผู้นำครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ผู้นำนั้นแน่นอน ต้องรับผิดชอบเต็มที่ แต่ว่าเราจะไปหวังจากผู้นำอย่างเดียวไม่ได้ ก็อย่างที่เคยพูดแหละ ใครรู้ตัวต้องเริ่มทันที ต้องเริ่มที่ผู้นั้นและเมื่อนั้น ใช่ไหม ไปรอผู้นำได้ยังไง ผู้นำก็ไปจากพวกเรานี่แหละ ถ้าขืนหวังจากผู้นำใช่ไหม ผู้นำก็ไปจากพวกเดียวกันนี้ ก็ไปได้แค่นั้นอีกแหละ ใช่ไหม ก็พวกนี้ไปเป็นผู้นำ พอเป็นผู้นำก็ได้แค่นั้น ก็เลยวนเวียนอยู่วงจร ไม่ไปไหน แต่ถ้าแก้ที่ผู้นำได้ ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นมหาศาลเลยนะ พลิกทิศทางได้เลย
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : เพราะว่าคนส่วนมากจะมีฐานะยากจน เขาก็เลยคิดว่าอยากจะรวยไว้ก่อน ความสะดวกสบาย เขาก็ยังไม่รู้จักมีจิตสำนึกที่แบบมาอย่างนี้ครับ คือเอาปากท้องไว้ก่อน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ใช่ ในแง่หนึ่งก็ถูก แต่ว่าบางทีคนไทยก็ไม่ได้จนจริง ใช่ไหม ลองไปเทียบกับประเทศอื่น เดี๋ยวนี้นะ ในยามสันติ ไปเทียบกับอินเดียสิ อินเดียนี่ประชากรมีเกือบ 1,000 ล้านแล้ว แล้วแผ่นดินเขาเล็กกว่าจีนตั้งกี่เท่า จีนมี 1,200 ล้านคน อินเดียนี่เกือบทันจีนแล้ว แต่เล็กกว่าตั้ง 3 เท่า เนี่ยเบียดเสียดเยียดยัด แล้วก็มีแผ่นดินก็แห้งแล้งเยอะ แต่จีนก็แห้งแล้งเยอะนะ มีทะเลทราย มีอะไร ทีนี้อังกฤษก็เอาทรัพยากรจากอินเดียตอนมาปกครองไปเยอะแยะ แกก็แย่ เวลาเราไปอินเดียว เราจะเห็น ผมเขียนไว้เหมือนกัน บอกว่าอินเดียแห้งแล้ง แห้งทั้งบนหน้าคนและบนผืนดิน หน้าตาแกก็แห้ง ไม่มีความสดชื่น ทีนี้คนอินเดียมีเงิน 1 รูปี ก็อยู่ได้วันหนึ่ง เมื่อก่อนรูปีของเขา 2-3 บาท เดี๋ยวนี้รูปีของเขาเท่ากับเราบาทเดียวแค่นั้น เขากินอยู่ด้วยเงินรูปีเดียวนะต่อวัน คิดดู แล้วคนไทยจะไปเทียบกันยังไง คนจนของเราไปเทียบกับอินเดียยังดีกว่าเยอะแยะ แต่เราไม่รู้จักเปรียบเทียบ เราก็มาเทียบกันเองบ้าง มารู้สึกกับตัว แล้วก็เลยทุกข์ โดยที่ว่าบางทีก็ไม่น่าจะทุกข์ขนาดนั้น ใช่ไหม มันทุกข์เกินเหตุ เพราะตัวไม่มีความรู้หนึ่ง สอง- เพราะว่าไม่มีแนวความคิดที่จะมาพิจารณา ไม่มีโยนิโสมนสิการ ก็ทุกข์ เจ็บช้ำน้ำใจ คับแค้นอะไรต่างๆ ก็เลยมีคำที่เขาบอกว่า ยิวมีความถนัดในการเปลี่ยนทะเลทรายเป็นป่า คนไทยมีความชำนาญเปลี่ยนป่าเป็นทะเลทราย เขาว่าอย่างนั้นนะ จริงไม่จริงก็ไม่รู้ มีคนพูดอย่างนี้ เพราะเราไม่มีความคิดนี่ ยิวแกนี่ถูกบีบบังคับใช่ไหม ความเป็นอยู่ แกไม่มีเลย แผ่นดินมีนิดเดียว แผ่นดินเล็กกะจิ๋วริ๋ว แล้วอยู่แบบลำบากเหลือเกินนะ เป็นทะเลทราย ใช่ไหม แกต้องหาทางปลูกพืช แกก็ต้องคิดค้นอย่างหนักเลยในการที่แกจะปลูกพืชให้ได้บนทะเลทราย เขาก็ทำได้ เสร็จแล้วคนไทยเราเนี่ย ที่ดินตัวเองมีดีๆ ทำลายมันหมด ใช่ไหม แล้วก็ไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้น ขาดความขยันหมั่นเพียรเป็นต้น ฉะนั้นความยากจนมันก็เป็นความยากจนสัมพัทธ์ไป ใช่ไหม เรียกว่า relative poor pity ความยากจนสัมพัทธ์ ที่ว่าจนจริงหรือไม่จนจริงก็ต้องคิดอีกขั้นหนึ่งนะ ถ้าเทียบกับพวกเดียวกันเอง อย่างคนไทยใช่ไหม มันก็จน แต่เราไปเทียบกับอินเดีย แขก กลายเป็นว่าเรายังดีกว่าเยอะเลย ผมเล่าให้ฟังอีกนิดหนึ่ง ไปอินเดียวเที่ยวแรก นมัสการสังเวชนียสถาน คณะญาติโยมก็ไปกัน อาจารย์ท่านหนึ่งท่านก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว เดินทางไป ไปถึง??? แล้วท่านก็พูดออกมา บอกแหมเราอยู่เมืองไทย เราด่าเมืองไทยไม่รู้เท่าไหร่เลย มันไม่ได้เรื่อง มันแย่ พอมาเห็นอินเดียแล้ว โอ้โห เมืองไทยเรานี่ดีที่สุดแล้ว หาที่ไหนอีกไม่ได้ ว่างั้นนะ เทียบกับอินเดียไม่ได้เลย พอเราเข้าอินเดียก็เริ่มเห็นแล้วนะ ผมไปเที่ยวก่อนนั้นตอนกลับจากอเมริกามา พอลงสนามบินเท่านั้นแหละ ในสนามบินเห็นผู้หญิงที่แกกวาวสนามบิน แกนั่งเอาหลังพิงฝาถือไม้กวาด หน้าตาละห้อยละเหี่ย คือมันแร้นแค้นไปหมด ความหวังความอะไรมันไม่ค่อยมี และคนอินเดียก็มีความหวังจากเทพเจ้ามาช่วยเหลือ อ้อนวอนสวดมนต์ก็ให้มีความสุขไป แผ่นดินเขาเราไปเราจะเห็นว่าฝุ่นนี้คลุ้งไปหมดเลย แล้ง แห้ง หน้าคนก็แห้ง เขาก็กินอยู่กันด้วยเงินน้อยๆ เนี่ย แค่รูปีเดียวเขาก็อยู่ได้ทั้งวัน แล้วเราล่ะ ใช่ไหม เราก็ทุกข์เหลือเกิน มีบาทเดียวเราก็อยู่ไม่ได้ใช่ไหม 10 บาทก็ยังจะไม่ไหว เราจะต้องมาพิจารณา ก็คือความรู้นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรามองอะไรออก ฉะนั้นรัฐนี่รวมทั้งผู้นำด้วยก็ขาดการให้ความรู้แก่ประชาชน แม้แต่ในเรื่องของสภาพ สถานการณ์ของโลก สภาวะของโลก ประเทศต่างๆ เขาเป็นยังไง อยู่ยังไง ศาสนาไหน วัฒนธรรมไหน เป็นยังไง เราก็ไม่ค่อยให้ความรู้กัน ประชาชนก็ไม่มีความรู้ คนขาดความรู้แล้วเขาจะมองสถานการณ์ไม่ออก เชื่อไหม ถ้าเรามีความรู้แล้ว เกิดอะไรขึ้น เราดูสถานการณ์ออก เมื่อมองออกแล้วจะวางท่าทีถูกต้องด้วย ฉะนั้นยอมรับว่าผู้นำนี่เรื่องสำคัญ ถ้าได้ผู้นำที่เก่ง รู้ทันสถานการณ์ สามารถวางทิศทางดี สามารถรวมใจประชาชน ให้มุ่งไปสู่ทิศทางที่ดีงามได้ นั่นแหละประเทศชาติจะเกิดพลังมหาศาล แล้วจะสร้างสรรค์ ความก้าวหน้าจะเกิดขึ้น อย่างรวดเร็วเลย แต่ว่าอย่างที่บอกแล้ว เราก็ต้องมองในแง่หนึ่งว่าผู้นำนั้นก็ไปจากพวกเรานี่แหละ เสร็จแล้วถ้าพวกเราหวังอยู่อย่างนี้ มันก็ได้แค่นี้ ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นเราต้องไม่หวังแค่นั้น เราต้องมองให้ได้หลายแหล่งหลายทาง อย่างที่ว่าทางเลือกต้องมีเยอะๆ เมื่อทางเลือกใหญ่ไม่ได้ ทางเลือกเล็กก็เอา ทางเลือกเล็กก็ต้องได้ที่ไหน ก็เริ่มที่นั่น อย่างที่ว่า เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ต้องเอาทันที อย่างน้อยก็มาปลุกกันให้รู้ให้ตื่น ให้เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมา คือถึงเวลาแล้วประเทศไทยเนี่ย ที่จะก้าวไปสักที ไม่ใช่มาจมอยู่กับสภาวะอย่างนี้ กินเสพบริโภค อยู่ด้วยบทบาทที่เขากำหนดให้ ตามกระแสไหลเรื่อยเลื่อนลอย เคว้งคว้างอะไรเนี่ย ก็เลยถูกกระแสพาไปพลิกคว่ำพลิกหงายไปเลย
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ขออนุญาตเรียนถามคือ กระผมก็ยังมีข้อสงสัยที่ว่าในการเผยแพร่ธรรมะในประเทศไทยยังขาดเชิงรุกไปหน่อยหรือเปล่าครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็ใช่สิ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : อย่างในสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะได้อุบัติขึ้น ในอินเดียก็แย่ อาจจะแย่กว่าเราตอนนี้ซะอีก เพราะว่าลุ่มหลงอยู่กับการกินเสพบริโภค แล้วก็มีมิจฉาทิฐิมาก ที่ต้องอ้อนวอน แล้ววันๆ ก็คอยที่จะเบียดเบียนกัน ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกัน แต่ว่าพระพุทธองค์ก็ได้ไปโปรดผู้นำที่มีอำนาจมากในหลายๆ คน จนผู้นำเหล่านี้หลายคนก็เป็นเรี่ยวแรงในการเผนแผ่พระพุทธศาสนา แต่ตอนนี้รู้สึกว่าผู้นำของเราแต่ละคนไม่มีใครจะไปโปรดได้
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อย่างที่เขาว่ากันว่า มักจะมุ่งแต่ผลประโยชน์ใช่ไหม จนกระทั่งสื่อก็พูดกันทั่วแหละ ประชาชนก็พูดกันทั่ว นักการเมืองจุดเป้าหมายจะเข้าไป มันตั้งไว้แล้ว คนจะพูดกันอย่างนี้ใช่ไหม ว่าตั้วจุดหมายไว้แล้ว จะเข้าสู่เวทีการเมือง เนื่องจากไปหาผลประโยชน์ให้แก่ตน คนเขาว่ากันอย่างนี้นะ นี่ไม่ใช่เราว่า คล้ายๆ สังคมจนกระทั่งมองอย่างนี้ไปหมดแล้ว ทีนี้สังคมอินเดียก็เป็นอารยธรรมที่เคยเจริญแล้วก็มาเสื่อมลง ใช่ไหม มันก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่ตัวสร้าง แล้วก็เคยได้ผู้นำที่ก้าวหน้าอย่างพระเจ้าอโศก ใช่ไหม ก็สามารถทำให้ประเทศชาติเจริญยิ่งใหญ่ได้ แต่อินเดียเวลานี้เขาก็มีดีของเขานะ เวลานี้ด้านคอมพิวเตอร์เขาเก่งซอฟท์แวร์นะ ทราบไหม ที่เมืองบังกาลอร์นี่เป็นศูนย์กลางของซอฟ์ทแวร์ เขาเรียกว่าอะไร ที่อเมริกาเขามีถิ่นหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาซอฟท์แวร์ ของคอมพิวเตอร์ เจริญขึ้นที่นั่น ชื่ออะไรนะ ซิลิคอน วัลเล่ย์ นี่แหละ ที่เป็นศูนย์กลางที่ทำให้อเมริกาพัฒนาเรื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมา อินเดียก็มีเมืองบังกาลอร์ ที่เป็นศูนย์กลางใหญ่ ตอนนี้ในเอเชียนี่ อินเดียไปไกลแล้วนะ แล้วอเมริกายังมาว่าจ้างพวกอินเดียนี่ทำ คืออินเดียนี่มันเป็นแบบสุดๆ รวยก็รวยสุด จนก็จนสุด แต่รวยสุดมีจำนวนน้อย จนสุดมันมีจำนวนมาก มหาราชานี่อะไรก็เป็นทองหมด ที่นั่งทองหมด ทองคำ รวยเหลือเกิน ตอนอินทิรา คานธีขึ้น แกยึดไว้เยอะนะ ยึดพวกอำนาจของมหาราชา แกเก่งเหมือนกัน อินทิรา คานธี เป็นผู้หญิงที่เป็นแม่เสือเลย มีอำนาจมาก แต่ก็ถูกยิงตาย อินเดียก็เป็นดินแดนที่เป็นบทเรียนอันหนึ่ง แต่ว่าที่จริงทุกแห่งมีบทเรียนให้เราทั้งนั้น ถ้าเราจะศึกษา อย่างอินเดียนี่ก็เล่าให้ฟังอีกอันหนึ่ง เป็นตัวอย่างเรื่องของความสุขความทุกข์ คือมีหนังสือเล่มหนึ่ง ฝรั่งเขาเขียน เขาไปเดินที่ฟุตบาททางเท้าที่เมืองกัลกัตตา รู้จักเมืองกัลกัตตาไหม กัลกัตตา เมืองอะไร เมืองใหญ่ มีชื่อเสียงมาก ของอินเดีย แต่ก่อนนี้คนไทยจะไปอินเดีย จะไปสังเวชนียสถาน ก็ไปลงเครื่องบินที่เมืองกัลกัตตา ทีนี้เมืองกัลกัตตา เป็นเมืองสำคัญตั้งแต่สมัยอังกฤษ อังกฤษแกก็มาสร้างไว้มโหฬาร ถนนก็กว้างขวางมาก ทางเท้านี่กว้างมโหฬารเลยนะ มันกว้างจริงๆ ทางเท้าเนี่ย แต่ปรากฏว่าเราจะไปเดินบนทางเท้าเมืองกัลกัตตา ที่กว้างเหลือเกินเนี่ย เราต้องหลบต้องหลีกตลอดเลย ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ เพราะคนอินเดียความที่แกยากจนและไม่มีระเบียบ ก็สกปรก แกก็มานอนบนทางเท่าเกลื่อนหมด ความยากจนหนึ่ง แล้วก็ความไร้ระเบียบหนึ่ง นอน มีเสื่อปูบ้าง ไม่มีบ้าง ผ้าผ่อนสกปรก แขนขาขาดบ้างอะไรบ้าง นอนกัน หัวอยู่โน่น เท้าอยู่นี่ คนนี้มานอนตรงนี้ ทีนี้เราก็ต้องหลบสิ บางทีสุนัขก็นอนอยู่บนหัวแก 2-3 ตัว เดี๋ยวก็จะมีพวกถังขยะอะไรแบบนี้ อันนี้กัลกัตตาที่ฝรั่งทำไว้ สมัยฝรั่งนั้นสะอาด อารยธรรมฝรั่งนี่เขาจะมีระเบียบมาก โดยเฉพาะอังกฤษ เพราะเป็นเมืองผู้ดี ใช่ไหม มองในแง่นี้ก็น่าเทียบ คือฝรั่งสร้างไว้ดี พอตกเป็นของอินเดียเอง มันกลายเป็นที่สกปรก ไร้ระเบียบไป ใช้ไม่เป็น ทีนี้ฝรั่งคนนี้แกก็มาเดินที่นี่ ทางเท้านี้ แกเดินไปแกก็คิด แหม เมืองอินเดียนี่มันสกปรก มันยากจนแร้นแค้น ผู้คนมีแต่ความทุกข์ ไม่ได้เรื่องเราวเลย สู้ประเทศเราไม่ได้เมืองฝรั่งของเรา อารยธรรมตะวันตก สุดแสนจะเจริญรุ่งเรือง มีความก้าวหน้า มีความสวยสดงดงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย อะไรต่างๆ แกก็ว่า คิด ใช่ไหม แกก็เดินไปเรื่อย เดินไปๆ กำลังคิดอยู่อย่างนี้ แกบอกว่าถึงตอนหนึ่งแกได้ยินเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ดูเหมือนจะเป็น ฮาเรรามา ฮาเรรามา ทำนองนี้ เสียงร้องนี้แสดงว่ามีความสุขจังเลย แกรู้สึกได้ว่าคนที่ร้องนั้นมีความสุข แกก็เลยมองหาตามเสียง ในที่สุดก็ไปเห็นที่กองขยะ ขยับเขยื้อนอยู่ แกก็เลยเข้าไปดูใกล้ๆ ก็เห็นมีคนอยู่ในนั้น คนนี่มาคุ้ยหากองขยะ เพื่อหาอาหาร ก็คือขุดคุ้ยหาอาหาร แต่พร้อมกับที่ขุดคุ้ยหาอาหารนั้นก็ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าไปด้วย สภาพในทางร่างกายก็คือแสดงว่าทุกข์อย่างหนัก แร้นแค้น จะไม่มีกิน แต่จิตใจมันแสดงถึงเสียงที่เปล่งออกมามันมีความสุขมาก แกเกิดความคิดใหม่ พลิกตรงข้ามทันทีเลย ความคิดใหม่ของแกบอก โอโห เมืองเรานี่มันเจริญแต่วัตถุ สิ่งสร้างสรรค์ ก่อสร้างเยอะแยะไปหมด แต่จิตใจคนนี่มีแต่ความเครียด มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย หาความสุขไม่ได้ ในส่วนที่นี่เขายากจน เขามีความสุขนี่ ใช่ไหม เขาก็พอใจตามที่เขามี แกเปลี่ยนความคิดเลย เอ อย่างนี้ความสุขมันอยู่ที่ไหนแน่ แกชักไม่เห็นคุณค่าของอารยธรรมตะวันตก เพราะมันไม่สามารถนำความสุขมาให้กับมนุษย์ได้ มันก็เหมือนกับการคิกแบบรวบรัด ในเวลาเพียงไม่กี่นาทีนี้ได้ความคิดนี้ทั้งหมด ซึ่งอารยธรรมตะวันตกกว่าจะได้เกิดความคิดนี้ในประเทศเขาเองนานมาก ก็ในยุคฮิปปี้ ค.ศ. 1960 กว่า ช่วงนั้นก็เกิดฮิปปี้ ก็คือพวกหนุ่มสาวเกิดปฏิกิริยาต่ออารยธรรมอเมริกันว่าที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายบรรพบุรุษขยันหมั่นเพียร ทำงานทำการกันเนี่ย ไม่เห็นมีความสุขอะไร ได้สร้างมา เห็นมีทุกอย่างแล้วตอนนั้น ทีวีมีหมดแล้ว คือ American dream ความฝันของอเมริกัน คือศัพท์ว่า American dream เป็นศัพท์สำคัญ สร้างชาตินะในสังคมอเมริกัน เขาฝันกันไว้แล้วก็เป็นตัวสร้างชาติ เขาฝันว่าต่อไปในการทำงานทำการ มี work ethic จริยธรรมในการทำงาน ขยันหมั่นเพียร เก็บหอมรอมริบนี่ เขาจะมีสิ่งเสพบริโภคพรั่งพร้อม มีความสุขเหลือล้นเลย พอต่อมามันถึงจุด ค.ศ. ระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสงครามเกาหลีมานี้ อเมริกันถึงยุคที่ฟู่ฟ่า มีความสุข วัตถุบริบูรณ์ รุ่งเรืองมาก ยุคนี้เขาก็เห็นว่าวัตถุต่างๆ ที่มีพรั่งพร้อม มันก็ไม่ให้มีความสุข ไม่ให้ความหมายแก่ชีวิตแท้จริง แล้วเด็กรุ่นใหม่ก็เลยมองเห็นว่าความเจริญที่เคยฝันกันมา มันก็ไม่ได้ให้ความสุขที่แท้ ถึงต่อไปมันจะมีอะไรมากกว่านี้ มันก็คล้ายๆ อย่างนี้ แค่นี้ ตอนนั้นมันก็เต็มที่พอสมควรแล้ว เขาก็เลยพลิกเลย แล้วก็ปฏิวัติสังคม ก็เกิดการละทิ้งสังคม อเมริกันก็ถือว่าพวกพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เป็นพวกที่เดินทางผิด เรื่องอะไรจะต้องไปใส่ชุดสากลผูกไทอะไร ไปนั่งในที่ทำงาน ติดแอร์ นั่งเท่ทำงาน ที่จริงก็คือชีวิตเร่งร้อน ออกจากบ้านแต่เช้า รีบกินอาหาร ไปทำงาน ไม่ได้มีความสุขแท้จริง สู้เราปล่อยตัวอยู่ตามธรรมชาติ เสื้อผ้าก็ไม่ต้องรีด ไม่ต้องซักมันก็ได้ถ้าไม่จำเป็นซักมัน ปล่อยยับยู่ยี่ไป ผมเพ้าก็ไม่ต้องไปตัดไปแต่งมัน ปล่อยยาวรุงรัง นอนกลางดินกินกลางทราย ไม่ต้องไปขวนขวายอะไรมาก ก็มีความสุขดี ฉะนั้นพวกฮิปปี้แกก็ไปตั้งนิคมของแกเอง แกอยู่อย่างธรรมชาติ แกว่าอย่างนั้น ปล่อยตัว ไม่ต้องยุ่งงานการอะไรต่ออะไรแบบของตะวันตกไม่เอาแล้ว แถมสูบกัญชากินสบาย แล้วก็เสพยา LSD อีก มีความสุขฝันหวานไปกับยาเสพติดนี้ ก็มีความสุขกันใหญ่เลย ก็ไปสุดโต่งอีกใช่ไหม ฝรั่งก็เป็นอย่างนี้ ไปสุดโต่งทางหนึ่ง แล้วก็ไปสุดโต่งอีกทางหนึ่ง ฝรั่งพวกนี้ก็หนีสังคม แล้วอเมริกันก็มาเป็นระยะเลย ต่อมาก็รับสมาธิจากตะวันออก พวกโยคี พวกมหาฤษีก็ไปกันใหญ่ พวกนี้ก็หันมานิยมสมาธิ เป็นแฟชั่น พวกมหาฤษี ???โยคี อะไรพวกนี้ ไปพูดที่ไหน อย่างไปพูดสนามกีฬาใหญ่ๆ คนเป็นแสนนะไปฟัง หนุ่มๆ อเมริกัยมากอดที่นั่งของมหาฤษี คลั่งไคล้ ตอนนั้นเหลือเกินแหละฝรั่ง ก็ไปสุดโต่ง มาทางนี้ มาเล่นเรื่องจิตใจ ถ้าไม่ไปเล่นเรื่องฌาน เรื่องLSD เรื่องยาเสพติด ก็มาทางด้านสมาธิอะไรต่ออะไร หาความสุขทางด้านจิตใจ ละทิ้งสังคมของตนเอง แล้วเกิดปัญหากับพ่อแม่ เรื่องเยอะแยะ ผมขี้เกียจเล่า อย่างไปมีเรื่องกับพวกตะวันออกพวกเราที่ไป ไม่ใช่พวกพระหรอกนะ พวกพระเราก็ถูกมองเป็นพวกนี้ด้วย เขาเรียก หริกฤษณะ มาจากอินเดีย พวกนักบวชฮินดู จะแต่งสีคล้ายๆ เราเนี่ย นุ่งผ้าโดรตี้ สีคล้ายๆ อย่างนี้ ทีนี้ฝรั่งเขาไม่เคย ตอนนั้นเขาไม่รู้จักพระ เขาก็คิดว่าเป็นหริกฤษณะหริกฤษณะนี่ไปเนี่ยก็ไปสอนสมาธิ อะไรต่ออะไร พวกเด็กหนุ่มสาวก็หันมาเข้า แล้วก็แต่งตัวเป็นหริกฤษณะ โกนหัว แต่งหน้า ป้ายสีแดง สีเหลือง แล้วก็เอากลองยาว แล้วก็ฉิ่ง ไปเที่ยวตีเต้นกันตามสี่แยก ตามหน้ามหาวิทยาลัย นคนั้นมันวุ่นวายกันหมดเล มันละทิ้งสังคมของตนเอง แล้วพ่อแม่ก็โกรธว่าพวกนี้ สำนักตะวันออกเอาสมาธิอะไรเนี่ยมาล่อ จูงให้ลูกเขาหนีพ่อแม่ไป ทำให้เสียอนาคต เลิก ละ การศึกษาทิ้งหมด ถึงกับเกิดเรื่องฟ้องกันว่า พวกหริกฤษณะล้างสมองลูกหลานเขา จ้าง
ทนายมา แล้วศาลฟ้องร้องกันวุ่นวายไปหมด อเมริกายุคนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงมาก นี่ก็คือเราจะได้เห็นว่าพวกมนุษย์ก็ชอบไปสุดโต่งอย่างนี้ ไปสุดโต่งทางวัตถุ แล้วก็ไม่สมปรารถนา ก็มาเป็นสุดโต่งทางจิต แล้วมาดูที่ตาคนฝรั่งเมื่อกี้ที่เขียนว่า นึกถึงเมืองฝรั่งอารยธรรมเจริญรุ่งเรือง ตอนแรกว่าดี ชาวอินเดียยากจนข้นแค้น แย่ พอได้ยินเสียงอีตาขอทานมันมีความสุขใช่ไหม พลิกกลับเลยว่า เขาไม่ต้องมีอะไร มีความพอใจ อยู่ง่ายๆ ก็มีความสุขแล้ว นี่ไปเที่ยววิ่งเต้นหากินขยันหมั่นเพียร เร่งร้อน นี่มันไม่เห็นมีความสุขเลย ใช่ไหม มันก็พลิกกลับ เพราะฉะนั้นสุดโต่งอย่างนี้ ให้คิดว่าแล้วพุทธศาสนาคืออะไร พุทธศาสนาก็มาสอนทางสายกลางนี่แหละ ใช่ไหม ทางสายกลางที่ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ให้ท่านไปตีเอาเองว่า ทางสายกลางคืออย่างไร จากตัวอย่าง แล้วก็ถ้าเห็นว่าดีก็น่าจะพยายามชักนำสังคมนี้ หรือช่วยกันสร้างสรรค์สังคมนี้ให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง ก็อยากให้ช่วยกันคิด ปล่อยไปมันไม่ไหว สังคม ไม่ต้องคิดในแง่ว่าจะไปทางถูก แม้แต่ในทางที่ผิด แข่งกับเขาก็ยังไม่ทันใช่ไหม ถ้าเราถือว่าระบบอารยธรรมที่เป็นอยู่นี้ผิด แค่ในแง่นี้เรากยังล้าหลังเขา ไปไม่ไหว แล้วจะไปมีปัญญาไปแก้อารยธรรมที่ผิดนี้ได้อย่างไร มันต้องแก้ 2 ชั้นนะ หนึ่ง-ต้องทันเขา สอง-ต้องไปเหนือเขา ไปนำเข้าได้ นั่นก็จะเห็นด้วยไหม เราต้องสร้างจุดหมายรวมของสังคมไทยซะใหม่ จุดหมายนี้ก็คือนำโลกสู่อารยธรรมใหม่ สังคมไทยก็มีความสามารถมีศักยภาพนี้ และมีทุนเดิมดี คิดอันนี้อยู่ที่จะทำได้ แต่ว่ามันจะไม่ได้ก็ที่คนของเรา หนึ่ง-คนของเราก็มัวหลงจมอยู่กับสิ่งล่อเร้าที่เขาหยิบยื่นมาให้ ต้องคอยซื้อเขา อีกทางหนึ่งก็คือว่ามาดูถูกความสามารถของตัวเอง ใช่ไหม ไม่มองเห็นว่าตัวเองก็มีความสามารถที่จะทำได้ ก็มัวไปนิ่ง หรือเป็นเรื่องขำไปว่าคนไทยอะไรจะไปทำอย่างนั้น นี่มันกลายเป็นขำไป ที่จริงก็คือดูถูกตัวเอง ทำไมไม่คิด ผมเคยบอกแล้วว่า ฝรั่งที่สร้างตัวมา แม้แต่มาในอารยธรรมแบบนี้ที่เราว่าเขาผิดแล้วเนี่ย มันมาแบบที่ว่าต้องดิ้นรนต่อสู้มาก อย่างอารยธรรมอเมริกัน แนวคิด frontier ที่สร้างชีวิตจิตใจเขามา มันบุกฝ่ามันทำให้เขาเป็นพวกนักรุกไปข้างหน้า ไปหาสิ่งใหม่ๆ แล้วก็ชื่นชมความสำเร็จที่ทำได้ยาก เขาเรียกว่า hard one achievement ความสำเร็จที่ได้มาโดยยาก ฝรั่งจะยกย่อง อย่างที่ผมเล่าให้ฟังเช่นนายลินด์เบิร์ก ขับเครื่องบินโซโล่ คือบินเดี่ยวแล้วรวดเดียวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จากนิวยอร์กไปลงที่ปารีส สมัยนั้นเครื่องบินยังเป็นสิ่งที่ล้าหลัง เทียบสมัยนี้ไม่ได้เลย อันตรายที่สุด ก่อนแกมีคนพยายาม ตายไป 6 ราย แล้วเขาท้อไหม เขาไม่ท้อ ฝรั่งเป็นอย่างนี้ นิสัยนะ จะต้องทำให้สำเร็จ นายลินด์เบิร์กนี่ก็ขึ้นเครื่องบิน เขาเรียกว่า เดอะ สปิริต ออฟ เซนต์หลุยส์ แล้วก็ขับบินเดี่ยวไปลงที่ปารีสสำเร็จ อเมริกันก็แห่กันยิ่งกว่าวีรบุรษอีก เขาชื่นชมความสำเร็จที่ทำได้ยาก ฉะนั้นการคิดริเริ่ม การสร้างสรรค์สิ่งที่ทำได้ยาก การสร้างความก้าวหน้าให้กับสังคมประเทศชาติของตัวเอง อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แล้วเขาจะชื่นชม แล้วอีกปีต่อมาก็มีอเมริกันที่ไปพิชิตขั้วโลกใต้ เขาเรียกว่าบุก new frontier ดินแดนใหม่ พวกนี้จะดีใจกันแบบ ลินด์เบิร์กนี่ก็ตอนที่ไปก็ขับเครื่องบินไป พอไปลงเรือใหญ่ก็บรรทุกกลับมา ตอนกลับเอาเรือบรรทุกมา พอมาถึงนิวยอร์กก็ฉลองกันต้อนรับ ตามที่เขาบันทึกไว้ว่าคนที่อยู่บนตึกในนิวยอร์ก ก็โปรยกระดาษสีต่างๆ ที่แสดงความดีใจ เขาบอกกี่ตันไม่รู้ กระดาษที่โปรยลงมา จำไม่ได้แล้ว หลายตันเลย เนี่ยเขามีนิสัยแบบนี้ เพราะฉะนั้นก็ทำให้คนมีความเข้มแข็งอดทน ขยันหมั่นเพียร แล้วก็คิดบุกฝ่าไปข้างหน้า ก็คือนิสัยบุกฝ่า ของเรานี่มัน คติอเมริกันมัน frontier คติไทยในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ท่านลองเทียบดู คติ frontier คือบุกไหข้างหน้า ความหวัง ความสมบูรณ์อุดม อยู่ข้างหน้า เวลานี้ frontier เขตแดนอยู่แค่นี้ มหาสมุทรแอตแลนติกก็อยู่แค่ฝั่ง ก็ขยาย frontier ไปได้เท่าไหร่ นั่นคือความหวัง ฉะนั้นก็บุกไปข้างหน้าอย่างเดียวเลย 300 ปีที่บอกแล้ว เฉลี่ยได้ปีละ 10 ไมล์ จากมหาสมุทรแอกแลนติก ไปถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก 300 ปี ก็สร้างนิสัย frontier ขึ้นมา บุกฝ่าพรมแดน แล้วคำว่า frontier ก็มาใช้หมด frontier of science พรมแดนแห่งวิทยาการ frontier of space บุกอวกาศ แม้แต่นโยบายนักการเมืองอย่างเคนเนดี้ตั้งนโยบาย new frontier ให้คนอเมริกันมีความรู้สึกเร้าใจ ตื่นเต้น ทีนี้ของไทยเรา คติเรา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว คือที่นี่ดีแล้วไม่ต้องไปไหน ใช่ไหม ถูกไหม ฉะนั้นเราก็เลยไม่ต้องคิดดิ้นรน เพราะว่ามันสบาย ที่นี่ดีแล้ว พรั่งพร้อมหมด เราก็ต้องรู้ทันว่าพื้นฐานพื้นเพ ภูมิหลังของเราเป็นยังไง แล้วเราจะทำยังไง เราก็ต้องสร้างแนวคิด แนวทางของสังคมเราอีกแบบหนึ่ง จะไปเอาแบบอเมริกันไม่ได้ ต้องเป็นแนวคิดทางที่เรียกว่าสติปัญญา ทางธรรมะที่ว่าเนี่ย ไม่ใช่ว่าจากธรรมชาติมาบีบคั้น ของฝรั่งธรรมชาติบีบคั้น ทำให้เกิดนิสัยดิ้นรนต่อสู้ แต่ของเราต้องสร้างขึ้นด้วยปัญญา ว่าโลกมนุษย์จะดีได้ มนุษย์จะต้องมีความเพียรพยายามในการสร้างสรรค์ด้วยปัญญานี้ ก็มาพัฒนาชีวิต พัฒนาตัวเองให้เจริญงอกงามขึ้นจึงจะได้ เราไม่มีตัวสติ frontier สภาพแวดล้อมมาบีบคั้นเรา สบายเกินไป พอจะเห็นทางบ้างไหม มีหวังนะ ต้องช่วยกันโดยเฉพาะกลุ่มเด็กๆ เด็กนี่ดีอย่างนะ ปลุกขึ้น วัยรุ่นนี่มีจินตนาการมาก มีไฟแรง ให้เขามอง คือด้านหนึ่งต้องให้เห็นสภาพทุกข์ ทุกข์ของสังคมไทยมันเห็นยากเพราะมันอยู่ด้วยความสะดวกสบาย แต่ทุกข์ในที่นี้ก็คือปัญหา ความล้าหลัง ความไม่ได้เรื่อง ความเหลวไหลอะไรต่างๆ เหล่านี้ มันเป็นทุกข์ทั้งนั้นของสังคม ใช่ไหม ก็ต้องชี้ให้เด็กเห็น พอชี้แล้วเด็กก็จะเข้าใจ บอกสังคมของเรานี้มันมีตัวเหลวไหลไม่เข้าเรื่องอะไรเยอะไปหมด อย่างเรื่องลัทธิรอผลดลบันดาลอะไรต่างๆ เหล่านี้ ความมัวเมาในการกินเสพบริโภคอะไรพวกนี้ ถือว่าเป็นปัญหาของสังคมทั้งนั้น ท่านชี้ให้เห็นว่าเป็นโทษอย่างไร แล้วก็ชี้ให้เห็นสิ่งเปรียบเทียบที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้า สิ่งที่ดีอะไรที่ควรจะมุ่งหวัง แล้วให้เขามีความคิด มีแนวคิดที่ดีได้ เริ่มตั้งจุดหมาย เริ่มมีทิศมีทาง ถ้าคนมันไม่มีความคิด ไม่มีทิศไม่มีทาง ไม่มีจุดหมาย มันก็อยู่เลื่อยลอย เคว้งคว้างเรื่อยไป ใช่ไหม แล้วก็ต้องช่วยกันทุกท่านนี้ พอเห็นด้วยก็ช่วยกันหน่อย ไม่งั้นสังคมเรามันก็จะแย่ ต่อไปมันก็ไม่ได้จะมีความสุขอย่างนี้เรื่อยไป ต่อไปกระแสมันก็จะต้องมีความเสื่อมความเจริญไปเรื่อย แล้วความเสื่อมก็จะเกิดปัญหา เช่นอาจจะไม่ได้มาจากเรา เขารบกันมันก็มาถึงเราด้วย แค่ลงนิวเคลียร์บอมบ์สักอันหนึ่ง ก็ยุ่งแล้วใช่ไหม เราจะหนีสงครามนิวเคลียร์ไหวไหมเนี่ย มันคล้ายๆ มันจะหนียากนะ มันถึงจุดหนึ่งแล้ว ฝ่ายหนึ่งมันอับจน ไม่รู้จะเอาไงใช่ไหม ตอนนี้ประเทศเล็กประเทศน้อยก็พยายามพัฒนานิวเคลียร์บอมบ์ ท่านลองคิดดู มันไม่ได้อยู่ในสภาวะสบายอย่างนี้เรื่อยไปหรอก สังคมไทยอยู๋อย่างประมาททั้งนั้น ไม่คิดเลยการเตรียมตัวเพื่อการณ์ข้างหน้า เกิดสงครามนิวเคลียร์ เกิดสงคราม แม้แต่ไม่ใช่นิวเคลียร์ การรบกัน เบียดเบียนฆ่าฟันกัน ในประเทศต่างๆ ใกล้เคียงเรา มาถึงเราจะเกิดอะไรขึ้น จะทำยังไง ไม่มีการวางแผน ไม่มีความคิดที่ว่าตัวเองจะเป็นผู้กระทำต่อโลกบ้าง ไม่ใช่ให้โลกกระทำต่อตัวอย่างเดียว ประเทศชาติที่เจริญ สังคมต้องเจริญ มันต้องเป็นผู้กระทำต่อโลก กระทำต่ออารยธรรม ไม่ใช่เป็นผู้คอยถูกกระทำอยู่เรื่อยไป เป็นสังคมที่ถูกกระทำ มันก็มีแต่เสื่อมย่อยยับไป อันนี้ก็คือการมองการใช้ธรรมะ ในวงกว้างในขอบเขตที่เรียกว่าระดับโลกเลย ซึ่งมันก็เป็นปัญหาของธรรมะโดยแท้ๆเลย เพราะถ้าจะให้มนุษย์อยู่กันดีจริงมันต้องระดับนี้ด้วย