แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
๑ สิ่งสำคัญใดที่ควรจะได้รับ เมื่อไปเยือนสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง
[00:01] ขอเจริญพร บัดนี้คณะบุญจาริกก็ได้เดินทางมาถึงสังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ เป็นที่สุดท้ายในการเดินทางของเรา แต่ว่าเป็นลำดับแรกในเหตุการณ์แห่งพุทธประวัติ สถานที่ประสูตินี้ก็มีเครื่องหมายแสดงให้ทราบด้วยศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกที่ได้จารึกไว้มีข้อความเพียงสั้นๆ ว่า พระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกได้ ๒๐ ปี หรือ ๒๐ พรรษา ได้เสด็จมา ณ สถานที่นี้ แล้วก็ได้ประดิษฐานเสาศิลาจารึกนี้ไว้เป็นเครื่องหมายว่า พระพุทธเจ้าศากยมุนีได้ประสูติ ณ ที่นี้ แล้วก็มีข้อความต่อไปอีกเล็กน้อย อันนี้ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่สุด ส่วนหลักฐานอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาภายหลังเป็นส่วนมาก พวกอิฐต่างๆ ที่กองนั้นก็อาจจะเป็นพวกสถูปบ้าง และก็พวกเป็นซากของกุฏิพระบ้าง อีกอย่างหนึ่งก็คือ วิหารมายาเทวี ที่อยู่ในวงล้อมผ้าเหลืองที่เขากำลังจัดการขุดแต่ง เมื่ออาตมามาครั้งก่อนโน้นก็เค้ายังไม่ได้รื้อยังเข้าไปนมัสการได้ แต่ก็เป็นวิหารที่ไม่ใช่ของชาวพุทธเอง คือ เป็นของชาวฮินดูสร้างขึ้นเท่าที่ทราบว่าเป็นของภายหลัง
ที่จริงนั้นสถานที่ประสูติ เราควรจะได้ให้ความสำคัญมาก หมายถึงว่า ทางรัฐบาลหรือชาวพุทธทั้งหมด ทางสหประชาชาติในสมัยท่านเลขาธิการอูถั่น ได้วางโครงการที่จะพัฒนาลุมพินีไว้ ตั้งแต่ประมาณ ๓๕ ปีมาแล้ว แต่เวลาล่วงมายาวนาน ท่านอูถั่นได้สิ้นชีวิตไปงานก็ไม่ได้คืบหน้าอะไรเลย เมื่ออาตมามาครั้งแรกในปี ๒๕๒๘ ก็ไม่มีอะไรที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน มาอีกครั้งหนึ่งประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๓ ก็อยู่อย่างเดิม เพิ่งจะมาครั้งนี้แหละที่เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลง มีการเริ่มต้นก็นับว่าเป็นที่น่าอนุโมทนาแต่นับว่าช้ามาก ว่าที่จริงนั้นควรจะได้มีการปรับปรุงกันมานานแล้ว ควรจะเป็นสถานที่ที่รื่นรมย์ เป็นรมณียสถานด้วย และเป็นปูชนียสถานด้วย มิฉะนั้นแล้วชาวพุทธมาเราก็เห็นเป็นที่น่าสังเวช แต่เป็นสังเวชในภาษาไทยไม่ใช่สังเวชในภาษาบาลี สังเวชในภาษาไทย หมายความว่า เห็นแล้วก็สลดหดหู่ใจ มาบัดนี้ ถ้าหากว่ามีการปฏิสังขรณ์และก็มีการฟื้นฟู มีการสร้างทำตามแปลนที่วางไว้ ที่เรียกว่า มาสเตอร์แปลนสมัยท่านอูถั่น ต่อไปก็คงเป็นที่ที่เป็นรมณียสถาน และก็เป็นปูชนียสถานที่ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาได้อย่างดี
นี่ก็เป็นเรื่องของสถานที่ซึ่งก็มีความสำคัญอยู่ เพราะว่าเราต้องการให้เกิดผลในทางจิตใจ คือ ให้เป็น [0:03:50] สังเวชนียสถานที่แท้จริง “สังเวชะ” ในความหมายว่า เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจให้เกิดศรัทธา และ ปัญญา เพราะว่าสิ่งสำคัญที่เรามาในสถานที่ที่เรียกว่า สังเวชนียสถาน และสถานที่สำคัญในทางพุทธศาสนาทุกแห่ง สิ่งที่เราควรจะได้โดยสรุป ก็มี ๒ อย่างคือ ศรัทธา กับ ปัญญา บางท่านก็อาจจะได้เฉพาะศรัทธา คือ ความเลื่อมใส เกิดความปีติ มีความปลาบปลื้มใจที่เป็นผลจากศรัทธานั้น นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งบางทีไม่ได้คือ ปัญญา ก็ได้ศรัทธาไปก็ยังเรียกว่าได้ผลบ้างแต่ว่าไม่สมบูรณ์ ถ้าจะให้ดีก็ควรจะได้ปัญญาด้วย [0:04:39] อย่างที่อาตมาได้กล่าวแล้วว่าปัญญาที่เกิดขึ้นนี่ก็หมายถึง
[0:04:47] ปัญญาที่ ๑ ก็คือ ความรู้เข้าใจ คติธรรมดาของสังขาร ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตามหลักพระไตรลักษณ์ อันนี้ทำให้เราเห็นความจริง แล้วโน้มธรรมะมาปฏิบัติในใจ
ประการที่ ๒ ก็คือ เชื่อมโยงต่อไปถึงการที่ว่าได้ระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็ปฏิบัติตามคำสอนเหล่านั้น ที่มีความหมายเกี่ยวเนื่องกะสถานที่แต่ละแห่ง ตลอดจนกระทั่งพระธรรมเทศนาต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในโอกาสนั้นๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องทางปัญญา ซึ่งจะได้มากได้น้อยก็อยู่ที่การรู้จักใช้โยนิโสมนสิการ คือ การรู้จักคิด รู้จักพิจารณา [0:05:30] อย่างเราเดินทางมาครบ ๔ แห่งนี้ ความหมายของสังเวชนียสถานแต่ละแห่งก็มีต่างๆกัน แต่ถ้าจะประมวลสรุปแล้ว เราก็ได้แง่คิดหลายแบบ อาตมาจะยกตัวอย่างง่ายๆ
อย่างที่ ๑ ก็คือว่า เรื่องสังเวชนียสถาน ๔ นั้น เราเห็นชัดว่าแห่งที่ ๑ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการประสูติ คือ การเกิด แล้วต่อไปสุดท้ายเลยลงท้ายก็คือ ที่ปรินิพพาน ก็คือ ตาย สองอย่างนี้ เกิด-ตาย นี่เป็นของสามัญสำหรับทุกคน ไม่เฉพาะพระพุทธเจ้า ใครก็ตามมีชีวิตก็ต้องเริ่มต้นด้วยการเกิดแล้วก็ต้องสิ้นสุดด้วยความตาย แต่เราจะเห็นว่าพระพุทธเจ้ามีเพิ่มอีก ๒ อย่าง คือ ในระหว่างนั้น ระหว่างกลางประสูติกับปรินิพพานนั้น มีตรัสรู้กับแสดงปฐมเทศนา สองอย่างนี้มีความหมายอย่างไร อันนี้ล่ะเป็นส่วนพิเศษที่ทำให้พระชนมชีพ หรือ ชีวิตของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ประเสริฐต่างจากคนทั้งหลาย
การตรัสรู้นั้นถ้ามองความหมาย ถ้ามาใช้ประโยชน์สำหรับคนทั่วไป ก็คือ การที่ว่าการเข้าถึงสิ่งที่ประเสริฐ การทำชีวิตให้ดีงาม และก็ต่อไปการแสดงปฐมเทศนาในสังเวชนียสถานที่ ๓ ก็หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ เริ่มต้นประกาศพระศาสนา การบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น ตามหลักพระศาสนานั้น ๒ อย่างนี้ เรียกว่า การทำประโยชน์ตนให้ถึงพร้อมอย่างหนึ่ง และการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญทั้ง ๒ อย่างนี้ การตรัสรู้นั้นเรียกว่า การเข้าถึงประโยชน์ตน หรือทำประโยชน์ตนให้สมบูรณ์ หมายความว่า พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญ ได้พัฒนาพระองค์เองเนี่ยสมบูรณ์แล้ว ด้วยการตรัสรู้นั้นประโยชน์ของพระองค์เองได้บรรลุแล้ว จนกระทั่งเรากล่าวว่าไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเองอีก ซึ่งเป็นเป็นหลักหรือเป็นลักษณะของพระอรหันต์ทั้งหลายทั่วไป พระอรหันต์ทั้งหลายนั้นท่านเรียกว่าเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว จนไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีก การตรัสรู้เป็นเครื่องหมายอันนี้ ชีวิตที่ดีงาม ความดีงาม ความประเสริฐ พระองค์ได้ทำให้เกิดขึ้นแก่พระชนม์ชีพของพระองค์แล้ว
ทีนี้ต่อมาการแสดงปฐมเทศนา ก็คือ การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น คือ การที่พระองค์ได้มีอะไรมอบไว้ให้แก่ชาวโลก ๒ ประการนี้เรียกว่า หลักอัตตัตถะ ปรัตถะ
การตรัสรู้นั้นเป็นการบรรลุความสมบูรณ์แห่ง อัตตัตถะ หรือ อัตตหิตะ ประโยชน์ตน
แล้วการแสดงปฐมเทศนาเป็นจุดเริ่มต้นของการบำเพ็ญปรัตถะ หรือ ปรหิตะ ประโยชน์เพื่อผู้อื่น
หลักธรรมคู่นี้ก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน [0:08:44] การปฏิบัติในทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ทรงย้ำบ่อยๆ ว่า ให้บำเพ็ญอัตตัตถะ ประโยชน์ตน และปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น สองอย่างนี้ก็เนื่องกัน ผู้ที่จะบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นได้อย่างดีก็ต้องพัฒนาตน บรรลุประโยชน์ตนมากขึ้น ยิ่งเราบรรลุประโยชน์ตนมากเท่าไร เราก็ยิ่งสามารถทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นได้มากเท่านั้น ความดีงาม ความสามารถ ความมีสติปัญญา การพัฒนาตนของเรานี้แหละ อันนี้เป็นประโยชน์ตนที่แท้จริง [0:09:17]
ถ้าเราได้พัฒนาตนเอง บรรลุประโยชน์ตน เราได้มีสติปัญญาความสามารถมากขึ้นก็เป็นความดีของชีวิตเราด้วย และพร้อมกันนั้นเราก็สามารถที่จะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นได้ดีขึ้นด้วย เพราะว่าบุคคลที่มีสติปัญญา มีความสามารถ มีความสุข มีชีวิตที่สงบแล้วนี่สามารถบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น เผื่อแผ่ความดีงาม สติปัญญา ความรู้ เผื่อแผ่ความสุขไปให้แก่คนอื่นได้ เพราะฉะนั้นประโยชน์ตนนั้นจึงเป็นฐานของการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น จึงเป็นลักษณะของพระอรหันต์ว่าจะต้องเป็นผู้ที่บรรลุประโยชน์ตน แต่ว่าบรรลุจนกระทั่งว่าไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตัวเองอีก มีความสมบูรณ์ในตัวทั้งสติปัญญา ทั้งความสุข ความสงบ ความเป็นอิสระ เมื่อมีพร้อมในตัวแล้วก็นำเอาความสุข ความเป็นอิสระ เป็นต้น นี้ไปเผื่อแผ่แจกจ่ายแก่ผู้อื่นด้วยเมตตากรุณาต่อไป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และประกาศปฐมเทศนา ก็เป็นเครื่องหมายของการที่พระองค์ได้บรรลุแล้วซึ่งความสมบูรณ์แห่งอัตตัตถะ การบำเพ็ญประโยชน์ตน พัฒนาตนเองสมบูรณ์ และการที่ได้ทรงทำประโยชน์แก่ชาวโลกบำเพ็ญปรัตถะดังที่กล่าวมาแล้ว
เพราะฉะนั้น [0:10:43] สังเวชนียสถาน ๔ นี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจชาวพุทธว่าในคติแห่งธรรมดาชีวิตที่เราเกิดมาจนกระทั่งตายไปนี้ เราก็ควรจะได้ทำ ๒ อย่างนี้ให้เกิดขึ้นด้วย ก็คือ ชีวิตตัวเองเราก็ควรจะเข้าถึงสิ่งที่ดีงามประเสริฐ พัฒนาตัวเราให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นเราก็ควรจะมีอะไรให้แก่โลกด้วยบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น แก่สังคมด้วย[0:11:08] นี่ก็เป็นคติธรรมประการหนึ่งที่ได้จากเรื่องสังเวชนียสถาน ๔ อันนี้เป็นอย่างง่ายๆ นอกจากนั้นก็ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีกอย่างที่อาตมาได้กล่าวแล้ว
๒ อาศัยรูปกายทำธรรมกายให้ปรากฏ เพิ่มพูนมั่นคงจนถึงมรรคผลนิพพาน
[0:11:24] ต่อไปนี้จะพูดถึงความหมายอีกซักอย่างหนึ่ง ความหมายอีกอย่างหนึ่งที่อาตมาได้พูดอ้างอิงไปแล้ว ก็คือ ได้กล่าวถึงเรื่องรูปกาย และ ธรรมกาย พระพุทธเจ้าประสูติ ณ สถานที่นี้ ที่ลุมพินีวัน ก็คือ การปรากฏขึ้นแห่งรูปกาย ร่างกายของพระพุทธเจ้าที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ รูปกายของเจ้าชายสิทธัตถะนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะด้วยอาศัยรูปกายนี้แหละ ความเป็นพระพุทธเจ้าจึงได้เกิดขึ้นได้ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ไปบำเพ็ญเพียร อาศัยร่างกายนี้เองบำเพ็ญเพียร และต่อจากนั้นก็ได้อาศัยร่างกายนี้บำเพ็ญจนกระทั่งได้บรรลุธรรมะ ได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายความว่า ได้ทรงอาศัยรูปกายนี้ทำธรรมกายให้ปรากฏขึ้น ธรรมกายก็ปรากฏขึ้นที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา นั่นคือ การตรัสรู้ เป็นสังเวชนียสถานแห่งที่ ๒ สังเวชนียสถานแห่งที่ ๑ คือ ที่ประสูติ ก็เป็นที่ปรากฏขึ้นแห่งพระรูปกาย แล้วส่วนสังเวชนียสถานที่ ๒ ที่ตรัสรู้ ก็เป็นที่ปรากฏขึ้นแห่งพระธรรมกาย
“ธรรมกาย” ก็คือ ชุมนุม หรือ กองแห่งธรรมะ อย่างที่อาตมภาพได้เคยอธิบายไปครั้งหนึ่งแล้ว นี้เมื่อพระพุทธเจ้าอาศัยพระรูปกาย ทำพระธรรมกายให้ปรากฏแล้ว ก็เป็นส่วนพระองค์เอง ต่อแต่นั้นพระองค์เองก็เสด็จจาริกไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่เป็นสังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ และ ณ สถานที่นี้ พระองค์ก็ได้ประกาศเผื่อแผ่ธรรมกายนี้ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นด้วย โดยมีประจักษ์พยานบุคคลแรก ก็คือ อัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งได้ดวงตาเห็นธรรม ก็คือ เข้าถึงธรรมกายเป็นท่านแรกถัดจากพระพุทธเจ้า นี่ก็คือ การที่พระพุทธเจ้าได้ทำธรรมกายให้ปรากฏขึ้นแก่โลก เผื่อแผ่ออกไปยังผู้อื่น
เมื่อธรรมกายปรากฏแล้ว รูปกายนี้ได้ทำหน้าที่จนกระทั่งสมบูรณ์ ทำธรรมกายให้ปรากฏไว้ในโลกพอสมควรแล้ว รูปกายนั้นก็ไปสิ้นสุดลง ณ สังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ ก็คือ ที่ปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา รูปกายทำหน้าที่ให้ธรรมกายปรากฏแก่ชาวโลกแล้วรูปกายก็ดับไป แต่ว่าทิ้งธรรมกายไว้ให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกต่อไป ธรรมกายนี้ไม่พลอยสูญสิ้นไปด้วย อันนี้ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างรูปกายกับธรรมกาย ก็เป็นอันว่า ๔ สถานนี้ หนึ่ง รูปกายปรากฏที่ประสูติ อาศัยรูปกายนี้ไปทำธรรมกายให้ปรากฏขึ้นที่ต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา แล้วก็ทำธรรมกายนั้นให้แผ่ขยายออกไปเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก ที่ป่าอิสปตนมฤคทายวัน เป็นสังเวชนียสถานที่ ๓ แล้วเมื่อทำหน้าที่จบครบถ้วนแล้ว รูปกายก็ไปดับลงที่กุสินารา แล้วธรรมกายก็คงอยู่ต่อไป อันนี้ก็เป็นคติความหมายอีกอย่างหนึ่งของเรื่อง สังเวชนียสถาน ๔ ประการ ๔ แห่ง
เราก็ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของธรรมกายนิดหน่อย ขอย้ำว่าธรรมกายนั้นในภาษาบาลี แปลว่า กอง หรือแปลว่า ที่ชุมนุม ที่ประชุม รูปกาย ก็เป็น ที่ประชุมหรือกองแห่งรูปธรรม ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกันเข้า มีการประชุมอย่างเป็นระบบ จึงได้เป็นรูปกายขึ้น ทีนี้ในด้านธรรมกาย ก็เช่นเดียวกัน ธรรมะนั้นก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาธรรมชาติ แต่มาเป็นประโยชน์แก่มนุษย์เมื่อมามีการประชุมขึ้น โดยการรู้ เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติ เมื่อเรารู้ เข้าใจธรรมะ ธรรมะก็มาเป็นกายของเรา ด้วยการที่ว่ามาประกอบกันขึ้นทีละอย่างๆ เราก็มีชุมนุมหรือกองแห่งธรรมเกิดขึ้นในตัวเรามากขึ้น เราประพฤติปฏิบัติตามหลักเมตตา เราก็มีเมตตาเข้ามาอย่างหนึ่ง เราบำเพ็ญกรุณา ก็เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง มุทิตาก็เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง อุเบกขาเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง หรือ เราบำเพ็ญอินทรีย์ เรามีศรัทธา ก็มาองค์หนึ่งละ ธรรมะข้อหนึ่ง มีวิริยะก็เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง มีสติ ก็เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง มีสมาธิก็เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง มีปัญญาก็เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นธรรมกาย ธรรมกายก็ปรากฏขึ้น มากขึ้นตามลำดับจนกระทั่งเป็นธรรมกายที่มั่นคง ก็คือ มรรคผลนิพพาน
ถ้าเป็นธรรมกายในตอนแรกเรายังไม่มั่นคง เพราะว่าธรรมะที่เราประพฤติปฏิบัติ ที่เรารู้ เข้าใจนี้เป็นสิ่งที่สามารถเสื่อมได้ หมายความว่า บางทีเราได้ธรรมะข้อนี้แล้ว ต่อมาเราก็เสื่อมไปจากธรรมะข้อนั้นขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอน จนกว่าเมื่อไรจะได้มรรคผลนิพพาน ธรรมกายนั้นก็แน่นอน ธรรมกายนี้ไม่มีรูปร่าง เพราะถ้าเป็นรูปร่างแล้วกลายเป็นรูปกาย รูปกายเท่านั้นเป็นรูปร่าง รูปกายก็บอกอยู่แล้ว เป็นรูป ประชุมแห่งรูปธรรม ส่วนธรรมกายนี้เป็นประชุมแห่งธรรมะ ธรรมะในที่นี้เป็น นาม นั่นก็คือ นามกาย นั่นเอง แต่นามกายนี้เป็นศัพท์ที่กว้าง นามกายนั้นอาจจะเป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ แต่ธรรมกายในที่นี้เราหมายถึงว่า ส่วนที่เป็นกุศล ส่วนที่เป็นสัจธรรม แล้วก็ไม่มีรูปร่างให้ปรากฏ ก็คือ ตัวธรรมะต่างๆ นั่นเองที่เข้ามาประชุมกันขึ้น อยู่ด้วยกัน รู้ เข้าใจ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญของเราดังที่กล่าวมานั้น โยมก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องธรรมกายนี้ให้ชัดเจนด้วย เดี๋ยวจะหลงไปเป็นรูปเป็นร่างอย่างโน้นอย่างนี้ไป
อันนี้อาตมาก็ยกขึ้นมาพูดเป็นความหมายที่เกี่ยวเนื่องกับสังเวชนียสถาน ๔ ประการ อย่างที่อาตมาได้กล่าวแล้ว บอกว่าเรื่องของการหาประโยชน์หรือ ทำความเข้าใจความหมายของสังเวชนียสถานนี้อยู่ที่โยนิโสมนสิการ การรู้จักพินิจพิจารณา ถ้าเรามีโยนิโสมนสิการเราก็สามารถได้ประโยชน์ ได้ความหมายเพิ่มจากนี้อีก แต่ทั้งหมดนั้นก็อยู่ในหลัก ๒ ประการ ที่กล่าวมาก็คือ เน้นที่ศรัทธาอย่างหนึ่ง กับ ปัญญาอย่างหนึ่ง วันนี้อาตมาก็ขอสรุปเรื่องสังเวชนียสถาน ๔ ประการ ให้โยมฟังไว้โดยเป็นแบบอย่าง หรือเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะครอบคลุมทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็หวังว่าโยมทุกท่านคงได้ประโยชน์จากสังเวชนียสถาน ๔ ได้คติที่จะนำไปเป็นแนวทางความประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะให้เกิดผลดีงามแก่ชีวิตของตนเอง ด้วยการที่ดำเนินตามพุทธปฏิปทา ถ้าเราได้คติอย่างที่อาตมากล่าวแม้เพียง ๒ ประการที่พูดไปแล้วนี้ ก็คิดว่าเราก็คงจะได้ผลดีมากพอสมควร
๓ เดินทางแม้ได้รับทุกขเวทนา ก็ถือว่าบำเพ็ญบารมีถวายเป็นพุทธบูชา
[0:18:48] เมื่อได้กล่าวถึงเรื่องความหมายของสังเวชนียสถาน ๔ ประการแล้ว อาตมาก็อยากจะพูดย้อนกลับไปถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นหลักธรรมะ อันเกี่ยวเนื่องกับสังเวชนียสถาน ๔ ประการ ที่ควรจะพูดถึงในโอกาสก่อนๆ แต่ว่าเราไม่มีเวลา เนื่องด้วยการเดินทาง และก็มีเหตุบางอย่างขัดข้องเข้ามา เพราะฉะนั้นก็ขอย้อนไปพูดเมื่อ ๓ วันก่อนหรือ ๔ วันก่อนโน้น ย้อนไปตั้งแต่ที่พุทธคยาโน่นเลย ตอนนั้นก็มีเหตุการณ์ที่น่าเห็นใจญาติโยม คือ การเดินไปที่ดงคสิริ ที่ภูเขาที่ถ้ำที่ถือกันว่าเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าตอนเป็นพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญทุกรกิริยา อันนั้นที่เห็นใจโยมก็เพราะว่าเดินกันเหน็ดเหนื่อยมาก ก็บางท่านก็ถึงกับได้รับทุกขเวทนา มีความเจ็บปวด แต่ว่าที่จริงอาตมาก็เป็นเพื่อนโยมเหมือนกันนะก็เจ็บปวดเหมือนกัน เหนื่อย ก็อย่างที่บอกโยมแล้วว่าเราถวายเป็นพุทธบูชา
อาตมาก็เลยถือโอกาสเล่าแทรกเป็นเกร็ดนิดหน่อย พอทำให้บรรยากาศเบาลง ว่าที่โยมเจ็บปวดความจริงอาตมาก็เจ็บปวดเหมือนกัน ที่เดินวันนั้นน่ะอาตมาก็เท้าแตกตั้งแต่ตอนเดินนั่นแหละ แล้วก็ระบมเจ็บตลอดเวลาที่เดินช่วงปลายๆ และเจ็บตลอดตั้งแต่วันนั้น ก็จนกระทั่งมาวันนี้ก็ยังเดินกระย่องกระแย่งอยู่ เพราะว่าเท้ายังระบมอยู่ ยังพองอยู่ ก็เป็นการอักเสบที่ต่อเนื่องหลายวันทีเดียว อันนี้เมื่อเดินทางมา โยมหลายท่านยังมีความลำบากมากขึ้นอีก ก็ยังมาท้องเสียท้องเดินกันเมื่อวานนี้อีก ที่ท้องเดินท้องเสียนี่ อาตมาก็บอกว่าอันนี้ก็เราได้บำเพ็ญวิริยะบารมีอุทิศต่อพระพุทธเจ้า แต่ว่าไปแล้วการที่เป็นโรคท้องร่วงนี้ก็คล้ายกับพระพุทธเจ้าเหมือนกัน พระพุทธเจ้าที่เสด็จไปยังสถานที่ปรินิพพาน แล้วนิพพานนั้นก็ด้วยโรคท้องนี่แหละ ท่านเรียกว่า “ปักขันทิกาพาธ”พระองค์ทรงท้องร่วง ท้องเดิน ถึงกับเป็นพระโลหิตทีเดียว ลงพระโลหิตทีเดียวหนักกว่าเรามาก ที่โยมท้องเดินท้องเสียกันเนี่ยไม่ถึงกับนิพพาน แค่หมดแรงเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นได้เป็นอย่างนี้ก็น่าจะดีใจว่าเราก็ได้เป็นคล้ายๆ อย่างพระพุทธเจ้า ได้ทรงอาพาธด้วยโรคนี้มาแล้ว ก็กลับกลายเป็นดีนึกอย่างนี้แล้วก็สบายใจ หายทุกข์หายร้อน
แล้วก็สำหรับอาตมาเองที่จริงก็มีปัญหาเรื่องคอ ก็เจ็บตั้งแต่วันนั้นล่ะ วันที่ไปเดินที่ดงคสิริ เข้าใจว่าจะเป็นเพราะเครื่องแอร์ เครื่องแอร์ที่เป่าศีรษะตั้งแต่วันแรก หันยังไงก็ไม่พ้นตอนหลังต้องใช้กระดาษปิด แล้วลมเย็นที่ลงมาจากเครื่องแอร์นั้นสงสัยว่าจะทำให้เสียสมดุล ทำให้ดุลยภาพในร่างกายเสีย ในคืนวันที่ไปดงคสิริกลับมาพักที่วัดไทยพุทธคยาก็เจ็บคอ เจ็บคอมากหน่อย แล้ววันรุ่งขึ้นก็เจ็บตลอดตอนที่จะพูดที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้น ตอนนั้นก็เจ็บมากแต่ว่าพอถึงเวลาจะต้องพูดก็ต้องพูด ก็พอดีว่าฝนมาก็เลยหยุดพูด ถ้าหากว่าพูดมากกว่านั้นก็ต้องพูดเป็นชั่วโมง ซึ่งเวลาก็ไม่เหมาะ และถ้าพูดมากก็ไม่รู้ว่าคืนนั้นจะเป็นยังไง เพราะว่าแม้แต่อย่างนั้นตอนคืนนั้นก็เจ็บคอมาก จนกระทั่งว่าพูดลำบาก พูดไม่ถนัด และก็กลืนน้ำลายลำบาก ก็เลยเป็นอันว่ามองในแง่หนึ่งก็ดีไปแต่ก็หายไว เวลานี้ก็หายแล้ว ฉะนั้นก็ไม่ต้องเป็นห่วง ก็ขอให้ทุกท่านสบายใจ คิดว่าตอนนี้ที่ใครไม่สบาย เป็นโรคโน้นโรคนี้ก็คงดีขึ้นแล้ว ก็ถือว่าเราก็ได้บำเพ็ญบารมีถวายเป็นพุทธบูชาด้วยกันแล้ว ขอให้มีปีติ อิ่มใจ ต่อจากนี้ก็ขอให้มีจิตใจร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส มีความสดชื่น มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป
๔ การคิดแบบโยนิโสมนสิการเป็นปัจจัยสำคัญในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
[0:23:34] นี้ก็ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงเรื่องดงคสิริอีกครั้งหนึ่ง ที่เราไปที่ดงคสิรินั้น เค้าบอกว่าเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทุกรกิริยา และก็เราขึ้นไปแล้ว บนที่นั้นก็เป็นถ้ำ เป็นถ้ำเล็กๆ โยมหลายท่านไม่ได้ขึ้นไป ขึ้นไปได้ก็เพียงสักไม่ถึงครึ่ง เพราะนั้นส่วนที่เหลือส่วนใหญ่นี่ไม่มีโอกาสได้เห็นว่าเป็นยังไง แต่ที่จริงก็ไม่จำเป็นต้องไปเห็นหรอก อาตมาไปดูก็ดีไปอย่าง คือ ดูให้เห็นว่าที่เขาเชื่อกันว่าอย่างนั้น ถ้ำนั้นเป็นอย่างไรเท่านั้นเอง แต่อาตมานั้นเห็นว่าไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะต้องไปประทับอยู่ที่ถ้ำนั้น อาจจะเป็นเพียงแห่งหนึ่ง เพราะว่าพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญเพียรอยู่บริเวณนั้น เป็นเวลายาวนานมาก เมื่อเสด็จไปออกบรรพชาแล้ว แล้วก็บำเพ็ญเพียรใช้เวลาตั้ง ๖ ปี แล้วสถานที่พระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญเพียรนั้นตามคำที่พรรณนาไว้ในพุทธประวัติ นี่ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าตรัสไว้เอง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ข้อความทำนองนี้ว่า พระองค์ได้เสด็จไปริมฝั่งแม่น้ำ ก็คือ เนรัญชรา แล้วทอดพระเนตรเห็นว่าที่นั่นเป็นภูมิภาคอันรื่นรมย์ มีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำก็ใสกระจ่างแจ๋ว แล้วก็มีท่าน้ำก็คือ ชายหาดที่ราบเรียบ บนฝั่งก็มีต้นไม้หมู่ไม้ที่ร่มรื่นเป็นสถานที่ที่น่าบันเทิงใจ พระองค์ก็ตัดสินพระทัยว่าที่นี่เป็นสถานที่ควรบำเพ็ญเพียร อันนี้ก็จะเห็นได้ว่าที่พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยบำเพ็ญเพียรนั้นก็เป็นที่บริเวณฝั่งน้ำ มีป่ามีหมู่ไม้ร่มรื่น อันนี้ก็แสดงว่าไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปอยู่ที่ถ้ำอะไรแต่อย่างไร อันนี้ก็เป็นหลักฐานอันที่หนึ่ง เป็นไปได้ว่าพระพุทธเจ้าก็เสด็จอยู่แถวๆ บริเวณนั้นนั่นแหละทั่วๆ ไป
แล้วยิ่งกว่านั้นอีกแห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสเล่าถึงการบำเพ็ญเพียรของพระองค์ว่า พระองค์อยู่ในป่าทึบ อยู่ในป่าที่รกชัฏมาก กลางคืนนี้น่ากลัว บางครั้งตอนที่เข้าไปบำเพ็ญเพียรใหม่ๆ พระองค์เคยอยู่แต่ในรั้วในวัง เวลาเข้าไปประทับในป่าน่ากลัว พระองค์ก็ยังเป็นปุถุชนอยู่ในตอนนั้น บางครั้งได้ยินเสียงกรอบแกรบ พระองค์ก็สะดุ้งพระทัย เมื่อสะดุ้งพระทัย แล้วพระองค์ก็ฝึกพระองค์เองว่า เราจะต้องฝึกตนเองให้หายกลัว พระองค์ก็ใช้วิธีการว่า ถ้าเรายังไม่รู้เหตุของสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวนี้ เราจะยังไม่ยอมเคลื่อนย้ายออกไปจากที่นี้ นี่วิธีการของพระพุทธเจ้า พระองค์ต้องค้นหาให้ได้ว่าเสียงกรอบแกรบที่ทำให้กลัวนั้นคือเสียงอะไร เมื่อค้นพบแล้ว พระองค์ก็ค่อยๆ หายกลัวไปตามลำดับ พอต่อมาพระองค์ก็อยู่ในป่านั้นได้ อันนี้ก็เป็นวิธีของพระพุทธเจ้า
แต่ว่าอันหนึ่งก็คือว่า เป็นเครื่องหมายเป็นเครื่องแสดงว่าสถานที่บริเวณที่พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญเพียรนั้นเป็นป่าทึบ ซึ่งปัจจุบันนี้เรามองแทบไม่เห็นป่าเลย ที่เราเดินกันไปนั้นแทบไม่มีต้นไม้กี่ต้นเลย แม้แต่ภูเขาก็เป็นภูเขาที่แทบจะโล้นเลย มีแต่ก้อนหิน นี่คือความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติแวดล้อม และทีนี้ลองมามองดูแถวๆ นี้ ก็ที่นี่ก็เช่นเดียวกัน แต่ก่อนนี้ก็เป็นดงสาละ ตอนสมัยพระพุทธเจ้าประสูติ และในคำพรรณนาในคัมภีร์นั้น พูดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ตอนทรงพระเยาว์ คือ เป็นเมืองของพระพุทธบิดา เมืองกบิลพัสดุ์นั้น ตามคัมภีร์ก็บรรยายว่า นอกเมืองออกไปนี้เป็นป่าใหญ่ไปจรดจนถึงเขาหิมพานต์ แล้วเดี๋ยวนี้มีไหม เมืองกบิลพัสดุ์ไปจนถึงเขาหิมาลัย ไม่มีต้นไม้เลย ในคัมภีร์บอกว่ามีต้นไม้เป็นป่าจรดภูเขาหิมาลัยว่าอย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้นนี่คือ ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติแวดล้อม สถานที่บริเวณนี้เคยร่มรื่นเป็นป่า เป็นพงพี อะไรต่างๆ ก็ไม่มีเหลือ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญเพียร ที่ทำทุกรกิริยาก็เช่นเดียวกัน
นี้กล่าวต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญเพียรไปจนกระทั่งถึงได้ ในที่สุดแล้วเห็นว่าไม่ใช่ทางแห่งการตรัสรู้ พระองค์ได้ทรงมีโยนิโสมนสิการ คือ การคิด พระองค์ได้ดำริว่าหนทางอื่นคงจะมีอีก คือ ทรงตัดสินพระทัยว่าการบำเพ็ญทุกรกิริยาทรมานพระองค์นั้น จะต้องไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง สิ่งที่เขาบำเพ็ญปฏิบัติกันในการบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานตนเองนั้น พระองค์ก็ทำอย่างเต็มที่เรียกว่าไม่มีใครทำได้ยิ่งกว่านั้นแล้วแต่ก็หาทำให้บรรลุผล คือ การตรัสรู้ไม่ พระองค์วินิจฉัยด้วยพระทัยแล้ว ก็ทรงพระดำริว่า “หนทางอื่นคงจะมีอีก” เสร็จแล้วก็จึงทรงหวนรำลึกไปถึงเมื่อครั้งที่ประทับที่พิธีแรกนาขวัญ เท่าที่จำได้รู้สึกว่าจะเป็นใต้ต้นหว้า แล้วพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญได้ปฐมฌาน พระองค์คิดว่าอันนั้นอาจจะเป็นหนทางที่เป็นเบื้องต้นในการที่เข้าสู่จุดหมายที่ถูกต้องได้
พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนวิธีการใหม่ เลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา และก็ทรงหันมาใช้วิธีที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ใช้วิธีแห่งปัญญา ใช้วิธีที่เรียกว่า “ทางสายกลาง” และในการบำเพ็ญเพียรปฏิบัติตามทางสายกลางนั้น เรื่องราวก็ไปปรากฏอยู่ในพระสูตรโน้นบ้าง พระสูตรนี้บ้าง กระจายออกไป เช่น อย่างพระองค์ได้ตรวจสอบพระหฤทัยของพระองค์ การเกิดขึ้นแห่งธรรมะ กุศลธรรม อกุศลธรรมในพระทัยของพระองค์เองว่า เมื่อพระองค์เองมีสภาพจิตขึ้นมาอย่างนี้ มีใจเศร้าหมองหรือขุ่นมัว มันเกิดจากเหตุอะไร อย่างนี้เป็นต้น หรือจะแก้ไขให้หมดไปได้อย่างไร หรืออย่างทรงสืบสาวว่า สภาพจิตที่เกิดขึ้นเวลานี้เป็นเวทนา เป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา แล้วพระองค์ก็ทรงสืบสาวหาเหตุปัจจัย ค้นหาตั้งคำถามแก่พระองค์เองว่าที่เวทนานี้เกิดขึ้นนั้น เพราะอะไรเวทนานี้จึงมี เมื่อทรงพิจารณาสืบสาวไปก็ทรงเห็นว่า เพราะผัสสะมี เวทนาจึงมี แล้วพระองค์ก็ทรงตั้งคำถามแก่พระองค์เองต่อไปอีกว่า แล้วที่ผัสสะนี้มีล่ะ เพราะอะไรผัสสะนี้จึงมี แล้วพระองค์ก็ตรวจสอบพระทัยพระองค์เองสืบสาวต่อไปพระองค์ก็ค้นพบ อันนี้ก็เป็นวิธีการต่างๆ ที่พระองค์ได้ใช้ในการที่จะได้ค้นพบสัจธรรม จนกระทั่งในที่สุดพระองค์ก็ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ
อันนี้อาตมาก็นำมาเล่าเพื่อจะให้เราเห็นคติเกี่ยวกับการปฏิบัติ และหลักคำสอนสัจธรรมต่างๆ สิ่งที่อาตมาต้องการย้ำในที่นี้ก็คือว่าสิ่งที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” การที่พระพุทธเจ้าตอนเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทรงแก้ไขความหวาดกลัวยามเสด็จประทับอยู่ในกลางป่า แล้วได้ยินเสียงกรอบแกรบขึ้นเกิดความกลัว แล้วพระองค์ก็ใช้วิธีว่าจะแก้ความกลัวด้วยการที่ต้องสืบหาให้ได้ก่อนว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดเสียงนั้น หรือทำให้เกิดความกลัวนั้น แล้วพระองค์ก็แก้ไขความกลัวได้ วิธีการอย่างนี้ก็เรียกว่า โยนิโสมนสิการ
หรืออย่างที่พระองค์ได้บำเพ็ญทุกรกิริยาจนกระทั่งเต็มที่แล้ว ไม่มีใครทำได้ยิ่งกว่านั้น แล้วพระองค์วินิจฉัยได้ว่า นี้ไม่ใช่ทางการตรัสรู้ แล้วทรงพระดำริว่า “หนทางอื่นคงจะมี” หมายความว่า ความเป็นไปได้อย่างอื่นคงจะมี ไม่ติดอยู่แค่นั้น การที่พระองค์ไม่ติดอยู่แค่นั้นคิดหาทางออกว่าอาจจะมีทางอื่นอย่างนี้ก็เรียกว่า โยนิโสมนสิการ เหมือนกัน
แล้วก็การที่พระองค์ได้ทรงพิจารณา เช่นว่า ตรวจสอบพระหฤทัยของพระองค์เองว่า เมื่อสภาพจิตอันนี้เกิดขึ้นมานั้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย การคิดพิจารณาอย่างนี้ก็เรียกว่า โยนิโสมนสิการ
เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการ นี่แหละเป็นปัจจัยสำคัญในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จนกระทั่งพระองค์ได้ตรัสไว้บอกว่าปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ นั้นมี ๒ ประการ คือ
๑. ปรโตโฆสะ เสียงจากผู้อื่น เสียงบอกเล่า เช่น จากกัลยาณมิตร
๒. ปัจจัยภายใน คือ โยนิโสมนสิการ
แล้วก็มีหลักอยู่ด้วยบอกว่าสำหรับคนทั่วไปนั้นต้องอาศัยปรโตโฆสะเป็นสำคัญ คนทั่วไปที่จะโยนิโสมนสิการขึ้นมาเองนั้นเป็นไปได้ยาก ส่วนมากแล้วต้องอาศัยการบอกเล่าแนะนำสั่งสอนจากคนอื่น ก็มีบุคคลพิเศษก็พระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เป็นแบบอย่างที่ว่ามีโยนิโสมนสิการ
เริ่มตั้งแต่ก่อนที่จะเสด็จออกบรรพชา พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเกิดมาก็อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวกับคนอื่น เจ้านายในวัง ประชาราษฎร เกิดมาอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับพระองค์ เขาก็เห็นความเป็นไปในโลก ความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ความเป็นไปของชีวิตผู้คน เขาก็ไม่เห็นอะไรแปลก เขาก็อยู่กันมาอย่างนั้น แต่เจ้าชายสิทธัตถะนี่มองเห็นสิ่งเดียวกับที่คนอื่นเห็น มองเห็นความเป็นไปในชีวิตของคนต่างๆ ในสังคมนี้ อย่างเดียวกับที่คนอื่นเค้าประสบ แต่พระองค์มีความคิดที่แปลกกว่าคนอื่น ความคิดที่แปลกว่าคนอื่นนี่แหละทำให้พระองค์เสด็จออกบรรพชา ความคิดอย่างนี้ก็เรียกว่า โยนิโสมนสิการ
ท่านบอกว่าคนที่จะมีโยนิโสมนสิการขึ้นมาอย่างนี้ต้องเป็นคนพิเศษ เช่นอย่าง พระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า การตรัสรู้จึงเกิดขึ้นได้ แต่ว่าสำหรับคนทั่วไปเมื่อได้อาศัยปรโตโฆสะ เสียงแนะนำชักจูงจากคนอื่นแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดโยนิโสมนสิการขึ้นมาในตัวเอง เมื่อเราได้รับคำแนะนำสั่งสอนแล้ว เรารู้จักคิดพิจารณาต่อจากนั้น เราเอาคำแนะนำสั่งสอนของท่านผู้อื่น เช่น ของพระพุทธเจ้ามาพิจารณาไตร่ตรอง เราก็เกิดโยนิโสมนสิการของตนเอง แล้วเราก็สามารถที่จะบรรลุธรรม เข้าใจสัจธรรมได้นั้น ตัวปัจจัยสำคัญก็คือเรื่องโยนิโสมนสิการนี้
๕ ความคิดเชิงปัญญา (โยนิโสมนสิการ) แตกต่างอย่างไรกับ ความคิดปรุงแต่ง
[0:34:56] ในบรรดา [0:34:57] โยนิโสมนสิการนั้นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ เรื่องความคิด การรู้จักคิด รู้จักพิจารณา บางทีเราไปสอนกันว่าในทางพุทธศาสนา ในการปฏิบัติธรรม เช่น อย่างวิปัสสนานี่ ไม่ให้คิด อันนี้อาจจะพลาดได้ พระพุทธเจ้านี่ที่ตรัสรู้ก็ด้วยการคิด แต่รู้จักคิด อยู่ที่คิดเป็น ที่อาตมายกตัวอย่างเมื่อกี้นี้ พระพุทธเจ้าทรงคิดตลอดเลย เช่น อย่างสภาพจิตของพระองค์เอง อันนี้เกิดขึ้นเป็นกุศลธรรม เป็นอกุศลธรรม เกิดขึ้นแล้วมันมีผลดีหรือผลร้าย และมันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะอะไรเป็นปัจจัยสภาพจิตนี้จึงเกิดขึ้น พระองค์คิดทั้งนั้นเลยแต่คิดจากของจริง คือ มีการตรวจสอบ เพราะฉะนั้นต้องแยกว่าความคิด มี ๒ อย่าง คือ ความคิดปรุงแต่ง กับ ความคิดที่เป็นความคิดเชิงปัญญา ที่เรียกว่าสืบสาวหาเหตุปัจจัย เป็นต้น ความคิดที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงแนะนำให้เราคิด ทรงแนะนำให้เราละเสีย ก็คือ ความคิดปรุงแต่ง [0:36:04]
ความคิดปรุงแต่ง คือความคิดอะไร คือ ความคิดด้วยอำนาจความยินดียินร้าย ชอบชัง หมายความว่า คนเรานี้ได้ประสบอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาประสบอารมณ์นั้น นอกจากการรับรู้แล้ว ก็จะมีสิ่งหนึ่งคือ ความรู้สึกที่เรียกว่า เวทนา สิ่งใดที่เข้ามาแล้วเป็นที่สบาย เราก็เรียกว่า เกิดสุขเวทนา อันใดที่ไม่สบาย เราเรียกว่า เกิดทุกขเวทนา สิ่งทั้งหลายที่เรารับรู้ทุกอย่างจะมีความรู้สึกประกอบอยู่ด้วย เวลาเราเห็น เราไม่ใช่เฉพาะว่าเห็นรูปร่าง เห็นสีเขียว สีขาว สีดำ สีแดง รูปร่างกลม ยาว เหลี่ยมเท่านั้น เราไม่ใช่แค่นั้น ทุกครั้งที่เราได้ดู ได้เห็นนั้น เรามีความรู้สึกด้วย คือ มีความรู้สึกสบาย ไม่สบาย อันนี้แหละเป็นจุดสำคัญ แม้ความรู้สึกตัวนี้ที่เรียกว่า เวทนา จะทำให้เราเกิดปฏิกิริยา ที่เรียกว่า ความชอบ หรือไม่ชอบ หรือยินดี ยินร้าย ภาษาพระเก่าเรียกว่า “ยินดียินร้าย” ถ้าเป็นสุขเวทนา สบาย เราก็มักจะชอบใจ หรือ ยินดี ถ้าหากว่าเป็นทุกขเวทนา เราก็ไม่ชอบใจ เรียกว่า ยินร้าย
โยมต้องแยกให้ได้ ๒ ตอน ที่ว่า สบาย กับ ยินดี หรือสบายแล้วชอบใจ นี่คนละตอนกัน ตอนสบายเป็นเวทนา เป็นฝ่ายรับ ยังไม่ดีไม่ชั่ว ยังไม่เป็นกุศล อกุศล สบาย ไม่สบาย สุข ทุกข์ อันนี้ไม่เป็นกุศล อกุศล ยังเป็นกลางๆ เป็นเวทนา แต่เมื่อไรเกิดปฏิกิริยาว่า ชอบ หรือ ไม่ชอบ อันนี้เกิดตัณหาแล้ว ตัณหาอันนี้เป็นปฏิกิริยา เป็นสภาพจิตที่เป็นสังขารแล้ว ก้าวจากเวทนาเป็นสังขารแล้ว เวทนาสุข ทุกข์ สบาย ไม่สบาย เป็นเวทนา แต่ชอบใจ ไม่ชอบใจ เป็นสังขาร [0:38:08] พอเราเกิดสังขาร ชอบใจ ไม่ชอบใจ ก็คือ เกิดตัณหาขึ้นมา ตัณหานี่เป็นสังขารด้วย ตอนนี้แหละจากนี้เราจะคิด ถ้าชอบใจ เราก็คิดตามอำนาจความชอบใจ ถ้าไม่ชอบใจ เราก็คิดตามอำนาจความไม่ชอบใจ ความคิดอย่างนี้เรียกว่า ความคิดปรุงแต่ง จะเกิดความเอนเอียงจะเกิดปัญหาแก่จิตใจ จะมีตัวตนที่รับกระทบอย่างนั้นอย่างนี้
แต่ถ้าเราคิดเชิงปัญญา คือ พิจารณาว่าอะไรเกิดขึ้นจึงเป็นอย่างนี้ อันนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร สืบสาวหาเหตุปัจจัย อันนี้ไม่ใช่คิดปรุงแต่ง อันนี้เป็นการคิดเชิงปัญญา เช่น คิดสืบสาวตามหลักปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงคิดในตอนที่ตรัสรู้ [0:38:54]
ฉะนั้นโยมต้องแยกให้ถูกว่า [0:38:57] ความคิดมี ๒ แบบ เราไม่ควรจะคิดเชิงปรุงแต่ง เพราะว่าทำให้
๑. ไม่เกิดปัญญา ไม่เห็นตามเป็นจริง เห็นตามอำนาจความยินดียินร้าย เกิดความลำเอียงไปตามความชอบชัง
๒. เกิดโทษต่อชีวิตจิตใจ ทำให้จิตใจขุ่นมัว เศร้าหมอง คับแคบ บีบคั้น อะไรต่างๆ เป็นต้น [0:39:18]
อาตมายกมาพูดเพราะว่าเป็นคติที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
๖ เจ้าชายสิทธัตถะประสูติมาเพื่อประกาศอิสรภาพให้กับมวลมนุษย์
[0:39:27] ทีนี้ขอย้อนมาเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นี่ก็เข้าถึงสัจธรรมความจริง ที่อาตมาได้เคยพูดไปแล้ว บอกว่าในพระพุทธศาสนานี้เรายึดถือตัวธรรม คือว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้เนี่ย ตรัสรู้อะไร บอกแล้วว่าตรัสรู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา คือ ธรรมะเป็นความจริงของสิ่งทั้งหลายตามธรรมชาติ เป็นกฎธรรมชาติ พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น สิ่งทั้งหลายก็ดำรงอยู่อย่างนั้นเอง พระพุทธเจ้าของเรานี้ พระองค์มีปัญญาแล้วก็มารู้ ค้นพบความจริงนั้น แล้วก็มาประกาศทำให้ปรากฏขึ้น อันนี้จึงถือเป็นการปฏิวัติ เพราะโลกสมัยก่อน ความเชื่อถือของคนในยุคพุทธกาล ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นนั้นไม่ได้ถืออย่างนี้ เขาไม่ได้ถือตัวธรรมะ เขาไม่ได้ถือว่า สิ่งทั้งหลายนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เป็นกฎธรรมชาติเป็นไปตามธรรมดาของมัน แต่เขาถือว่ามันเป็นไปตามการดลบันดาลของเทพเจ้า มีเทพเจ้าอยู่เบื้องหลัง มีพระพรหมเป็นผู้ปรุงแต่งผู้สร้าง
เรื่องนี้ก็เลยโยงมาหาเรื่องการประสูติด้วย เรื่องการประสูติกับการตรัสรู้นี้มีความเกี่ยวเนื่องกันในตอนนี้ด้วย ก็ขอพูดย้อนมาที่การประสูติอีกครั้งหนึ่ง วันนี้จะพูดโยงกันไปโยงกันมา เรื่องประสูติบ้าง เรื่องตรัสรู้บ้าง ถ้ามีเวลาก็พูดไปถึงเรื่องการประกาศปฐมเทศนาและก็ปรินิพพาน เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้น มีเหตุการณ์สำคัญอันหนึ่ง ก็คือ การที่ตำนานเล่าว่าเจ้าชายสิทธัตถะองค์น้อยประสูติแล้วก็ดำเนินไปเจ็ดก้าวบนดอกบัว แล้วก็ได้เปล่งอาสภิวาจา ว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฎโฐหมสิ โลกสฺส เสฎโฐหมสิ โลกสฺส” แปลว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลก อันนี้เรียกว่า วาจาอาจหาญ ภาษาบาลีเรียกว่า อาสภิวาจา วาจานี้มีความหมายอย่างไร การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ หมายถึง การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าต่อไป ถ้าไม่มีเจ้าชายสิทธัตถะเกิดขึ้น ก็ไม่มีพระพุทธเจ้า การเกิดขึ้นของเจ้าชายสิทธัตถะนี้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วมนุษย์ผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้า
การเปล่งอาสภิวาจานี้มีความหมายที่อาตมาถือว่า เป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ เพราะอะไร เพราะว่าก่อนหน้านี้ มนุษย์ชาวชมพูทวีปนั้นฝากโชคชะตาชีวิตไว้กับพระพรหมและเทพเจ้าทั้งหลาย อย่างที่เคยเล่าให้โยมฟังแล้ว บอกว่าชาวอินเดียนี้เขาเชื่อในพระพรหมว่าเป็นผู้สร้างโลก ปรุงแต่งทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิตสังคมมนุษย์นี้แล้วแต่พระพรหมจะบันดาล เพราะฉะนั้นคนเกิดมาก็ต้องตกอยู่ในวรรณะ ๔ แล้ว เพราะว่าพระผู้เป็นเจ้าพระพรหมนี้จัดสรรสังคมมนุษย์ไว้เสร็จแล้ว แบ่งมนุษย์ไว้ว่า
พระองค์สร้างมนุษย์จำพวกหนึ่งขึ้นมาจากพระโอษฐ์ คือ ปากของพระองค์ มนุษย์จำพวกนี้เกิดมาเรียกว่า พราหมณ์ นี่สร้างมาจากปากพระพรหม
แล้วพระองค์ก็สร้างมนุษย์จำพวกหนึ่งจากพระพาหา คือ แขนของพระองค์ พวกนี้เกิดมาแล้วเป็นนักรบ เรียกว่า พวกกษัตริย์
แล้วพระองค์ก็สร้างมนุษย์จำพวกหนึ่งมาจากตะโพกของพระองค์ พวกนี้เดินเก่ง มาเป็นพ่อค้าพาณิชย์ เที่ยวนำกองเกวียนไปค้าขายในที่ต่างๆ นี้เรียกว่า วรรณะแพศย์
แล้วพระองค์ก็สร้างมนุษย์จำพวกหนึ่งขึ้นมาจากพระบาทของพระองค์ เกิดมาเป็นพวกรับใช้เค้า เรียกว่า วรรณะศูทร
พระผู้เป็นเจ้าสร้างมาเรียบร้อยหมด กำหนดมาคนเกิดมาต้องอยู่ในวรรณะ ๔ แล้วเกิดมาแล้วทุกคนก็ต้องอ้อนวอนเทพเจ้า ขอฝน เอาอกเอาใจ ให้พ้นภัยหรือให้ได้ลาภสักการะสิ่งที่ต้องการ ฉะนั้นคนต่างๆ ก็เอาใจเทพเจ้า บวงสรวงอ้อนวอนกันไปกันมา ไม่รู้จะทำยังไงให้เทพเจ้าพอใจ คือ อย่างที่เคยเล่าให้ฟังแล้ว มันไม่มีจุดกำหนดว่าแค่ไหนเทพเจ้าจะพอใจ เลยปรุงแต่งวิธีเอาอกเอาใจเทพเจ้าจนเป็นพิธีบูชายัญ บูชายัญกันไปกันมา พิธีบูชายัญก็ใหญ่โตขึ้น แล้วพราหมณ์นี่เขาเป็นเจ้าพิธี เขาถือว่าเขาเป็นผู้ติดต่อกับพระเจ้า เพราะว่าเป็นบุคคลพิเศษชั้นสูงสุด สร้างมาจากปากพระพรหม ก็มีหน้าที่ที่จะมากล่าวสอนคนอื่น แล้วพระพรหมก็จะได้ถ่ายทอดความรู้สิ่งที่ต้องการมาทางพวกพราหมณ์นี้ พราหมณ์พวกนี้ก็มาเที่ยวกำหนดให้ชาวบ้านทำพิธีต่างๆ ว่าจะต้องทำพิธีบูชายัญอย่างนั้นอย่างนี้ ประดิดประดอยพิธีบูชายัญ จนกระทั่งว่าในที่สุดก็ต้องฆ่าสัตว์ ฆ่ามนุษย์บูชายัญ เอาอกเอาใจกันขนาดนั้น นี่แหละก็เป็นสภาพของมนุษย์ในยุคพุทธกาล ตามอำนาจครอบงำของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีอิทธิพลในสังคมอินเดียมาจนกระทั่งบัดนี้ สังคมที่มอบความไว้วางใจไว้กับเทพเจ้า ฝากความหวังไว้กับการดลบันดาลของเทพเจ้าจะเป็นอย่างไร ก็ให้ดูสังคมอินเดียเป็นตัวอย่าง
๗ จากเทพมาสู่ธรรม...จากบวรสรวงอ้อนวอนพระพรหมและเทพเจ้าสู่หลักกรรมและความเพียร
[0:45:10] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมา ก็มองเห็นสภาพอันนี้ พระองค์ก็เห็นว่าสังคมอย่างนี้ไปไม่รอด และชีวิตก็ไปไม่รอด คือ คนมองออกไปแต่ข้างนอก คิดแต่ว่าพระเจ้าท่านจะว่ายังไง จะเอาอกเอาใจท่านยังไงดี แทนที่จะคิดว่า ตัวเราจะต้องทำอะไร และเราจะต้องทำอะไรกับตัวเรา สองอย่างนี้นะไม่คิด เราจะต้องทำอะไร และเราจะต้องทำอะไรกับตัวเรา คนไม่คิดเลย คิดแต่เพียงว่าเราจะเอาใจพระเจ้ายังไง เราจะขอท่านอย่างไร
พระพุทธเจ้าก็เลยเสด็จอุบัติขึ้นมา แล้วก็อย่างที่อาตมาได้เคยเล่าให้โยมฟังแล้ว [0:45:51] พระพุทธเจ้าก็ดึงจากเทพสู่ธรรม คือ ชี้ให้มนุษย์ดูว่า พระพุทธเจ้าก็ดึงจากเทพสู่ธรรม คือ ชี้ให้มนุษย์ดูว่านี่นะท่านทั้งหลายอย่ามัวไปมองข้างนอกมองไปที่เทพเจ้า สิ่งทั้งหลายนั้นมันเป็นไปตามธรรมดาเหตุปัจจัยของมัน ผลเกิดจากเหตุ ฉะนั้นถ้าเราต้องการผลอะไรที่เราต้องการ เราก็ทำเหตุเอาศึกษาเหตุให้เข้าใจ แล้วปฏิบัติตามเหตุนั้น ก็ให้ดูความจริง เมื่อดูความจริงตามเหตุปัจจัยแล้ว มันก็เล็งมาที่ตัวเองว่าจะต้องทำอะไร เพราะว่าเราจะต้องทำเหตุเพื่อให้ได้ผลที่เราต้องการ เราจะต้องถามว่า เราจะต้องทำอะไร นอกจากทำอะไรแล้ว เพื่อให้เรารู้เหตุปัจจัยที่จะทำให้ถูกต้อง เราจะต้องทำอะไรกับตัวเราด้วย เราจะต้องทำตัวเองโดยการพัฒนาตัวเอง ให้มีความสามารถ มีสติปัญญา [0:46:47]
เพราะฉะนั้น [0:46:48] หลักการของพุทธศาสนา จึงขอย้ำอีกทีว่าพระพุทธเจ้าได้ชี้ไปที่ตัวธรรมะ คือ ความจริงของเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติแล้วในความจริงของกฎธรรมชาตินี้ที่สัมพันธ์กับตัวมนุษย์ เหตุปัจจัยนั้น ก็คือ การกระทำของเราเอง การกระทำเหตุปัจจัยของมนุษย์นั้นเรียกว่า “กรรม” [0:47:08] จึงได้บอกว่าภายในธรรมะนั้นก็จะมีกรรมะ ธรรมะนั้นเป็นกฎใหญ่ คือ ความจริงของกฎธรรมชาติ ความเป็นไปของเหตุปัจจัยทั้งหมด ส่วนกรรมนั้นก็คือ กฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัยในส่วนที่สัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์ที่มนุษย์จะต้องทำ แล้วก็กรรมนั้นต่างกับเรื่องของการดลบันดาล ถ้าเป็นการดลบันดาลของเทพเจ้า สิ่งที่มนุษย์ต้องทำคือการอ้อนวอนคู่กัน [0:47:37] การดลบันดาลของเทพเจ้าคู่กับการอ้อนวอน แต่การกระทำของมุนษย์คู่กับความเพียรพยายาม การกระทำของมุนษย์คู่กับความเพียร เมื่อมนุษย์จะทำมนุษย์จะต้องเพียรพยายาม [0:47:51]
สองอันนี้หลักมันไปคนละทาง เทพก็ไปสู่การดลบันดาลและโยงมาหาการกระทำของมนุษย์ คือ การอ้อนวอน ส่วนหลักธรรมะนั้นโยงมาหามนุษย์ คือ กรรม แล้วหลักกรรมก็โยงมาหาความเพียร เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนานั้น มีชื่อว่า “กรรมวาทะ” และ “วิริยะวาทะ” พระพุทธเจ้านั้นได้พระนามว่า “กรรมวาที” และ “วิริยะวาที” สองอันนี้คู่กันเลย กรรมวาที ผู้ประกาศหลักกรรม และ วิริยะวาที ผู้ประกาศหลักความเพียร สองอย่างนี้คู่กันเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า ในคัมภีร์จะพูดไว้อย่างนี้
[0:49:29] หลักกรรมต้องมากับความเพียร เพราะมนุษย์จะทำเหตุให้ได้ผล มนุษย์ต้องมีความเพียรพยายาม แต่ว่าการที่มนุษย์จะทำความเพียรได้สำเร็จผลมนุษย์จะต้องรู้เหตุปัจจัย เพราะว่าไอ้ตัวที่จะให้สำเร็จผล กฎธรรมชาติ ก็คือ ตัวธรรม มนุษย์จะทำการได้ผลดีมนุษย์ต้องมีปัญญารู้ธรรม เมื่อปัญญามนุษย์จะรู้ธรรม มนุษย์ก็ต้องพัฒนาตน จึงบอกว่าต้องมีสิกขา คือ การฝึกฝนพัฒนา [0:48:56] ที่ว่ามาแล้ว แต่ว่าพอดีว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พัฒนาได้ เป็น “ทัมมะ” อาตมาก็ทวนอีกครั้งหนึ่ง ก็เลยเป็นสัตว์ที่ว่าฝึกได้เป็นทัมมะ จนกระทั่งรู้ธรรมะ เราจะระลึกได้ว่าในพระนามพุทธคุณของพระพุทธเจ้า พระนามหนึ่งว่า “อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ” โยมสังเกตมั้ยว่าใน อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ นั้น มีคำว่า ทัมมะ อันนี้คนไม่ค่อยดู
ทัมมะ นี่ก็ตัวสำคัญล่ะ พวกเรานี่เป็นทัมมะทั้งนั้น คือ เป็นสัตว์ที่จะต้องฝึก และฝึกได้ด้วย ความเก่งกล้าของเราอยู่นี่ ความประเสริฐของเราอยู่ที่นี่ อยู่ที่ทัมมะ ในพุทธคุณข้อว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ พระพุทธเจ้าเป็นสารถี ฝึกคนที่จะต้องฝึกไม่มีใครยิ่งกว่า หรือยอดเยี่ยม ก็คือ ฝึกมนุษย์ทั้งหลายนี่เอง เป็นสารถี ก็คือว่า ฝึกให้เขาเดินทางที่ถูกต้อง สารถีนี่ฝึกให้สัตว์เดินทางไปในทางถูกต้อง นี้เราก็เป็นทัมมะเราก็ฝึกตนเองไปจนกระทั่งว่าเราเข้าถึงธรรมะชีวิตก็สมบูรณ์ ทัมมะตัวนี้ก็กลายเป็นพุทธะอย่างที่พูดไปแล้วในวันที่อยู่ที่พุทธคยา อันนี้ก็ขอนำมาทวนย้ำอีกทีหนึ่ง
นี้ก็เป็นอันว่า [0:50:29] ที่พระพุทธเจ้าประสูติตอนแรกเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเปล่งอาสภิวาจา ก็คือ ประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ว่ามนุษย์นี่อย่าไปมัวขึ้นต่อพระพรหม ไปหวังอำนาจดลบันดาลมัวแต่บูชายัญอยู่ ให้มามองที่ตัวธรรมะ ตัวความจริง สัจธรรมกฎธรรมชาตินี้ ให้พัฒนาปัญญาของตนขึ้นมา พอพัฒนาปัญญาของตนขึ้นมา มนุษย์เข้าถึงตัวธรรมะ รู้ตัวความจริง มนุษย์ก็กลายเป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นพุทธะได้ ก็กลายเป็นผู้ที่แม้แต่เทวดาและพระพรหมจะเคารพบูชา [0:51:03] อย่างที่เราได้เห็นพุทธพจน์อยู่บ่อยๆ ว่า
มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ เทวาปิ นํ นมสฺสนฺติ
อาตมายกบ่อยคาถานี้ บอกว่า [0:51:16] พระสัมพุทธเจ้านั้นทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่ได้ฝึกฝนพัฒนาพระองค์แล้ว มีพระทัยอบรมถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ อันนี้แหละเป็นคาถาที่จะมีบ่อยๆ คือ ให้กำลังใจมนุษย์ว่า เรานี่เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก ถ้าเราฝึกแล้ว เราจะเป็นพุทธะ เป็นสัตว์ประเสริฐได้ คือ อย่าไปมัวหวังการอ้อนวอนดลบันดาล เสร็จแล้วก็ไม่ได้พิจารณาว่าตนเองจะต้องทำอะไร และ ทำอะไรกับตนเอง [0:51:47] ถ้าเราทำตามหลักธรรมะนี้เราก็จะได้มาคิด มาพิจารณาเหตุผลว่าเราต้องทำอะไร
เรื่องของมนุษย์นี้มันมีความอ่อนแออย่างหนึ่ง คือ มีใจโน้มเอียงไปในทางที่ไม่อยากจะเพียรพยายาม อยากจะพึ่งพาปัจจัยภายนอกมันง่ายดี อ้อนวอนมันง่ายดี กว่าจะทำเพียรด้วยตัวเอง ฉะนั้นถ้าหากว่าไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ไม่มีหลักที่ให้กำลังใจเราจะเขวเรื่อยนะโยม นั้นเราจึงต้องมีพระรัตนตรัยไว้ ไม่งั้นคนทุกคนก็ไม่จำเป็นต้องมีศรัทธาในพระพุทธเจ้าหรอก การมีศรัทธาก็เพื่อจะได้กำลังใจอันนี้ เราจะได้อยู่ในหลักได้ อย่างน้อยก็ดึงไว้อย่าให้เขวออกไป มิฉะนั้นแล้วเดี๋ยวก็เอาตามความอ่อนแอ ความง่ายๆ ของตัวเอง ก็หันไปหาการพึ่งพาปัจจัยภายนอก อำนาจดลบันดาลอยู่เรื่อย มันง่ายดี [0:52:43] หลักของพุทธศาสนาก็เป็นหลักที่ให้มนุษย์นี่ได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ถ้าเรารู้จักใช้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าปฏิบัติตามอยู่เสมอแล้ว เราจะก้าวหน้าพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักหยุดหย่อนก็จะเป็นพุทธะได้เช่นเดียวกับพระองค์ [0:53:03]
๘ สิ่งกล่อมมีทั้งดีและร้าย ต้องรู้จักเลือกใช้สิ่งที่ดี และไม่หลงติดเพลิน
[0:53:04] นี้ก็ขอพูดไปอีกนิดหนึ่ง ที่ว่ามนุษย์เรามีความโน้มเอียงที่ชอบที่จะหาสิ่งมาพึ่งพา ไม่ชอบพึ่งตนเอง อันนี้สิ่งที่จะพึ่งพาทำให้เราอย่างน้อยก็สบายใจ อยู่ง่ายๆ มีความเพลิน ไม่ต้องทำความเพียรเนี่ย ก็ได้แก่ สิ่งกล่อมทั้งหลายเวลามีความลำบากมีความทุกข์ขึ้นมาก็ไม่อยากจะเพียรพยายาม ก็ใช้สิ่งกล่อม [0:53:37] คนเรานี้มีความโน้มเอียงที่จะอาศัยสิ่งกล่อม สิ่งกล่อมนี้อย่างเลวก็มี อย่างดีก็มี สิ่งกล่อมที่ร้ายก็เช่น สุรายาเมา สิ่งเสพติด คนที่ไปเอาสิ่งกล่อม สุราเมรัย สิ่งเสพติด ก็เพราะว่าใจไม่เข้มแข็งพอ ไม่อยากสู้ชีวิต ไม่อยากเพียรพยายามหาทางออกด้วยการเอาสิ่งกล่อมมาช่วย มันก็ทำให้เพลินๆ ไป ก็อยู่ไปได้ แต่ว่ามีจุดอ่อนในสิ่งกล่อมทั้งหลายนี่มีจุดอ่อนสำคัญ คือ มันจะทำให้มนุษย์นี่หยุดชะงักการพัฒนาตนเอง ขอให้ดูสิ่งกล่อมไม่ว่าอย่างใดทั้งสิ้นทำให้มนุษย์หยุดการพัฒนา เพลินอยู่กับจุดนั้นจมอยู่ในสิ่งที่กล่อม [0:54:29] อยู่ในจุดนั้นสบายพออยู่ได้ อันที่หนึ่งก็คือ เครื่องกล่อม และลักษณะที่สอง คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีความสว่างแห่งปัญญา ไม่มีปัญญาและไม่พัฒนาตนต่อไป เค้าก็เพลินอยู่กับสิ่งนั้น
สิ่งกล่อมที่ร้าย ก็คือ พวกยาเสพติด สุรายาเมา อันนี้โยมเห็นชัดใช่มั้ย เขาก็สบายเพลินไป พอว่าพ้นเวลานั้นไปทีหนึ่ง อย่างน้อยก็มากลบความทุกข์ไว้ แต่ว่าไม่แก้ปัญหาให้มันเสร็จสิ้นไป นี้สิ่งกล่อมที่ดีไปกว่านั้นอย่างพวก ดนตรี วรรณคดี อะไรต่างๆ พอให้มันเพลินๆ พวกสิ่งเหล่านี้มันประณีตขึ้นมา คือ ถ้ารู้จักใช้ก็อาจจะเป็นประโยชน์
อย่างในทางพุทธศาสนาดนตรีท่านใช้เหมือนกันนะ แต่ขออย่างเดียวต้องมีสติ คือ ในระดับศีล ๕ พระพุทธเจ้าจะไม่ว่าอะไรเลย เพราะว่าอย่างน้อยถ้าหากว่ามันกล่อมแล้วมันช่วยดึงไว้ไม่ให้หลงไปในสิ่งเลวร้าย ยังหลงอยู่กับสิ่งที่ดีก็ยังดีกว่าหลงไปในสิ่งที่ร้าย หลงในกุศลก็ยังดีกว่าหลงในอกุศล หลงในบุญก็ยังดีกว่าหลงในบาป เพราะฉะนั้นพวกดนตรี วรรณคดีนี่ก็อาจจะกล่อมคนไว้ในสิ่งที่ดี ในบุญในกุศล แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า พอกล่อมไว้แล้วก็รีบหาสิ่งที่ดีมาให้ในระหว่างนั้น ในขณะที่ใจของเขาพอจะสงบความกระวนกระวายลงได้ ก็รีบเอาสิ่งที่ดีมาให้ เช่น อย่างวรรณคดีนี่ อ่านเพลินๆ แล้วเราเอาคติธรรมใส่เข้าไป เขาก็อาจจะได้ประโยชน์
ดนตรีก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าเคยแต่งดนตรีให้มาณพเอาไปร้อง เอาไปเกี้ยวสาว แล้วดนตรี เป็นพระสูตรหนึ่งเลยก็มี พระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎกนั้น เป็นพระสูตรดนตรีเลย เป็นเทพบุตร แกก็เอาดนตรีนี้ไปเกี้ยวแฟนแก ในดนตรีนี้ก็พรรณนาพระคุณของพระพุทธเจ้าด้วย ด้วยความซาบซึ้งอะไรต่างๆ ดนตรีที่กล่อมนี้ ถ้าเราใช้สิ่งที่ดีงามเข้ามา เช่น ธรรมะ ก็เป็นเครื่องดึงจิตใจของคนให้มาสู่สิ่งที่ประณีตงดงามยิ่งขึ้น เป็นจุดเชื่อมต่อดึงจากสิ่งที่ร้ายมาสู่สิ่งที่ดี เพราะฉะนั้นก็ใช้ประโยชน์ได้ นั้นสิ่งที่กล่อมนี้ก็ขออย่างเดียว อย่าให้มัวหลงเพลินอยู่ แล้วผู้ที่ใช้ต้องมีอุบาย คือ มีสติปัญญา แล้วก็ใช้เป็นเครื่องดึงเขาขึ้นมาสู่สิ่งที่ดีงาม
ทีนี้สิ่งที่กล่อมต่อไป ก็คือ นี่แหละความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า อำนาจดลบันดาล และ [0:57:20] คนเรานี่ก็เกิดทุกข์ภัยพิบัติ มีความเดือดร้อนก็หวังพึ่งเทพเจ้าว่าวันนั้นท่านคงจะมาช่วยก็สบายใจไป มันก็กล่อมใจตัวเองได้ แต่ทีนี้มันจะมีพิษมีภัยยังไง ถ้าตัวเองมัวแต่เชื่ออย่างนั้น ก็นอนงอมืองอเท้าใช่ไหม อะไรที่ควรจะแก้จะไขจะทำก็ไม่ต้องทำ ก็เลยแก้ไขปัญหาไม่ได้ก็อยู่สบายไปวันๆ หนึ่ง มนุษย์จำนวนมากก็อยู่ด้วยสิ่งกล่อมประเภทนี้ คือ อยู่ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งเทพเจ้าท่านจะมาช่วย [0:57:56] อย่างของอินเดียนี่เทพเจ้าเยอะแยะหมดเลย แล้วก็มีเทพนิยายว่าเทพเจ้านี่ท่านเก่ง องค์นั้นก็เก่งอย่างนี้อย่างนั้น ยกทัพไป มีอิทธิฤทธิ์แผลงฤทธิ์ได้อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างน้อยพวกประชาชนที่ฟังเทพนิยายเหล่านี้ มีความตื่นเต้นในฤทธิ์ของเทพเจ้า ก็ชื่นบานสบายใจไปทีหนึ่ง พอจะให้ลืมสภาพแวดล้อมที่มันบีบคั้นตัวเองไปได้ เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเค้าก็ตื่นไปกับเรื่องฤทธิ์ของเทพเจ้า ก็กล่อมใจตัวเองสบายไปทีหนึ่ง อย่างพวกฝรั่ง พวกลัทธิคอมมิวนิสต์นี่ มาเห็นศาสนาแบบนี้ก็เลยเรียกว่า พวกยาฝิ่น แต่พุทธศาสนาไม่ใช่อย่างนั้น พวกคอมมิวนิสต์นี่ไม่รู้จักพุทธศาสนา ก็เลยไปเห็นศาสนาแบบนี้ก็เลยหาว่าเป็นฝิ่นไป ก็กล่อมกันแบบนี้แกก็ไม่ต้องทำอะไรล่ะ ไม่ต้องเพียรพยายาม ปัญหาก็หมักหมมเข้าไปทุกที
เรื่องของการกล่อมนี่ เรื่องนี้เรื่องใหญ่ทีเดียวเรื่องการกล่อม เรื่องของการเชื่อในอิทธิฤทธิ์การดลบันดาลของเทพเจ้า ทีนี้ศาสนาบางศาสนาก็เอาสิ่งเหล่านี้มากล่อม แล้วใช้อุบายเข้าไปช่วย ใช้อุบายยังไง บอกว่าให้แกหวังไว้ เทพเจ้าจะมาช่วย เช่น บอกว่าจะให้แผ่นดินแห่งสัญญานะ แต่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ ในระหว่างนี้แกต้องช่วยตัวเองไปก่อน กล่อมแบบนี้ก็หมายความว่า เออ ให้มีความหวังไว้ แล้วต่อไปวันหน้าจะมาช่วย แต่ตอนนี้ยังไม่ช่วยนะ ตอนนี้ต้องช่วยตัวเองไปก่อน หรืออย่างบางศาสนาก็สอนว่า พระเจ้าจะช่วยแต่คนที่ช่วยตัวเอง ก็กล่อมไว้ก่อนเสร็จแล้วก็มาบังคับว่าพวกเธอต้องช่วยตัวเอง มันก็เป็นอุบายไป ในที่สุดมันก็หนีไม่พ้น คือ คนต้องเพียรพยายามด้วยตัวเอง นี้ก็คือการกล่อม
แต่นี้การกล่อมอีกอย่างหนึ่ง ชาวพุทธเองนี่ต้องระวัง ชาวพุทธปฏิบัติธรรมไปๆ บางทีก็มากล่อมตัวเองด้วยธรรมะที่ลึกซึ้งลงไปอีก คือ สมาธิ นี่แหละ ปฏิบัติธรรมไปเราบอกว่าทำให้เกิดสมาธิ สมาธินี่เป็นธรรมะระดับปรุงแต่ง คือ พระพุทธเจ้าไม่ห้ามในการปรุงแต่ง ปรุงแต่งเป็นก็ดีเป็นประโยชน์ มนุษย์เรานี่อยู่ด้วยการปรุงแต่งนี่มาก แต่ว่าให้ปรุงแต่งให้ดี
๙ คิดปรุงแต่งอย่างไรให้เป็นบุญเป็นกุศล ปรุงแต่งเป็นความสุข ทำให้ใจสบาย
https://youtu.be/s_y4gVJy9XY?list=PLFUPwJBonRX3ahbLefx6ZQwrQedBxKKw0&t=3633
[1:00:33] เมื่อกี้นี้อาตมาได้พูดแล้วว่า การคิดมีสองอย่าง คือ การคิดปรุงแต่ง กับการคิดเชิงปัญญา เช่น สืบสาวหาเหตุปัจจัย ทีนี้ในการคิดแบบปรุงแต่งนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเสียอย่างเดียว ที่ดีก็มี คือ การคิดปรุงแต่งกุศลขึ้นมา การคิดเชิงปัญญานั้นเป็นเรื่องวิปัสสนา แต่การคิดเชิงปรุงแต่งที่เป็นตัวร้ายท่านเรียกเป็นภาษาพระว่า “อปุญญาภิสังขาร” ปรุงแต่งใจให้เป็นทุกข์ บีบคั้นใจตัวเอง ปรุงแต่งความโลภ ความโกรธ เห็นอารมณ์ที่ไม่สบายตาแล้วเกิดความชัง เกิดความยินร้าย เกิดความไม่สบายใจ เก็บเอาสิ่งโน้นถ้อยคำคนนี้มาคิดมาปรุงแต่ง ทำให้ใจตัวเองมีความทุกข์ ปรุงแต่งความกลุ้ม ความกังวลอะไรต่างๆ เหล่านี้ เรียกว่า ปรุงแต่งอกุศล เป็น อปุญญาภิสังขาร ทีนี้ปรุงแต่งดี ปรุงแต่งเป็นบุญ ปรุงแต่งเป็นความสุข ทำให้ใจสบายท่านเรียก “ปุญญาภิสังขาร” มนุษย์เรานี่อยู่ในระดับของปุถุชน หนีไม่พ้นการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปติเตียนการปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง ให้ปรุงแต่งดีเถอะ ปรุงแต่งเป็นบุญเป็นกุศล ทำใจให้มีสุข ปรุงแต่งให้สบาย ปรุงแต่งความดี ท่านไม่ว่า เป็นปุญญาภิสังขาร
แม้กระทั่งเจริญสมาธิได้ก็ยังเป็น อภิสังขาร ปรุงแต่งอยู่นั่นแหละ จนกระทั่งถึงอรูปฌานยังเป็น อเนญชาภิสังขาร ไม่พ้นการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นสมาธิที่เราบำเพ็ญกันเนี่ย อย่าว่าแต่สมาธิธรรมดาเล็กน้อยเลย สมาธิขนาดอรูปฌาน ได้สมาบัติสมบูรณ์แล้ว ก็ยังเป็นปรุงแต่งอยู่คือเป็นอเนญชาภิสังขาร นี้การปรุงแต่งอย่างนี้ ก็ทำให้จิตพัฒนาไปได้ดี แต่ว่าก็ต้องระวัง ต้องมีสติอยู่เสมอ ถ้ามิฉะนั้นแล้วมันก็เป็นการกล่อม
สมาธินี้ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่ปรุงแต่ง เราก็นำมาใช้เป็นเครื่องกล่อมจิตใจได้ ดังนั้นคนที่บำเพ็ญสมาธิไปได้เนี่ย อาจจะเพลินกับสมาธินั้น เพลินทีนี้พอได้สมาธิ เค้าก็สบาย ก็ติดเพลินแล้ว หายทุกข์หายร้อน หลบปัญหา มีปัญหาอะไรต่ออะไรเกิดขึ้น เราก็มานั่งสมาธิ ใจสบาย มีความสุข เพลิดเพลิน ติดในความสุขนั้น นี่กล่อมเหมือนกันนะ กล่อมด้วยสมาธิ เป็นโยคีแบบพวกฤาษีดาบสก่อนพุทธกาลได้ฌานสมาบัติแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วย เค้าได้สมาธิกันสูงแล้วนะ ก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติเนี่ยโยคีในอินเดียนี่ เราก็เรียนพุทธประวัติมาแล้ว อาฬารดาบสกาลามโคตรได้อรูปฌานถึงขั้นอากิญจัญญายตนะ แล้วท่านอุททกดาบสรามบุตรสูงกว่านั้น ได้อรูปฌานถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ จบสมาบัติ ๘ เลย พระพุทธเจ้าไปเรียนกับเขาจนกระทั่งทำได้จบ เขาเชิญให้เป็นอาจารย์ร่วมสำนัก พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ใช่ทาง ก็เสด็จหลีกไป
นี่แหละเราอย่าไปเพลินว่าสมาธินี่ดีนะ ดีนะดีแน่ ต้องใช้ให้ถูก ถ้าใช้ไม่เป็นก็ได้แค่เป็นสิ่งกล่อม แล้วเราก็จะหนีปัญหา กิเลสก็ไม่หมดไป ปัญหาก็ไม่หมดไป ทุกข์ก็ไม่หมดไป ตราบใดอยู่ในสมาธิก็สบายไป นั่นก็เพราะเป็นสิ่งกล่อม ก็กล่อมใจตัวเองด้วยสมาธิ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสไว้บอก ธรรมทั้งหลายนี่ต้องพิจารณาให้ดีมีทั้งคุณและโทษ สมาธินี่ท่านยังบอกไว้มีอัสสาทะ คือ ส่วนดีอย่างไร มีอาทีนวะ โทษส่วนเสียอย่างไร และก็มีนิสสรณะ ทางออกอย่างไร
อาทีนวะ โทษของสมาธิคือ ทำให้เกิด โกสัชชะ ความเกียจคร้าน สมาธินั้นเป็นธรรมสำคัญมาก ตัวมันเองเป็นกุศล แต่มันสามารถเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ ปัจจัยตัวร้าย คือ ทำให้เกิดโกสัชชะ ความเกียจคร้าน แล้วก็กล่อมใจตัวเองสบาย ปัญหาที่แท้จริงไม่แก้ เพราะฉะนั้นกิเลสไม่หมด ทุกข์ไม่หมด ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเสด็จหลีกไปจากสำนักของพวกดาบส อาฬารดาบส อุททกดาบส ก็เพราะว่าอันนี้ยังไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่สมบูรณ์ แต่พระองค์ก็ใช้สมาธิ คือ ใช้เป็นบาท เพราะสภาพจิตที่เป็นสมาธินั้น
๑. มีกำลัง ๒. ทำให้จิตใส ๓. ทำให้จิตสงบ อันที่ ๓ นี่ทำให้คนติดมาก
คุณสมบัติของจิตที่เป็นสมาธิ ๓ อย่าง อาตมาทวนอีกที
๑. ทำให้เกิดพลัง ที่พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาบอกว่า เหมือนกับคนที่ขึ้นไปยอดเขา เอาน้ำไปถังใหญ่ถังหนึ่ง สาดโครมลงไปไม่มีทิศมีทาง น้ำกระจายทั้งถังก็หายเรียบหมด ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเทน้ำถังเดียวกันนั้น ลงในร่องในราง น้ำไหลไปทางเดียวมีกำลังมาก สามารถพัดพาสิ่งที่ขวางหน้า เช่น กิ่งไม้ไปได้ เหมือนกับจิตที่เป็นสมาธิ พุ่งไปทางเดียวมีกำลังแน่วแน่ ก็มีพลังมาก นี่คุณสมบัติของจิตที่เป็นสมาธิประการที่หนึ่ง
๒. จิตที่เป็นสมาธินั้นใส เหมือนอย่างน้ำที่เอามาจากบ่อจากสระ มีฝุ่นมีละอองมีดินละลายปนอยู่ก็ข้นก็คลั่ก มองไม่เห็นอะไรเลย เอาไปตั้งไว้ในที่ที่นิ่งสนิท ไม่มีลมพัดไหว สถานที่นั้นก็มั่นคง ตั้งอยู่ไม่นานตะกอนก็ตกอยู่ก้นหมด น้ำก็ใสแจ๋ว มีอะไรในน้ำก็มองเห็น เหมือนกับจิตของเราที่ว่ามันพล่านอยู่ด้วยอารมณ์ต่างๆมากมาย มันก็บังกันเอง พอเราทำเป็นสมาธิมันเหลืออารมณ์เดียว ไอ้เจ้าตัวอื่นตกตะกอนหมด มันไม่มีตัวอะไรบังเราก็มองเห็นสิ่งนั้นชัดเจน
ฉะนั้นจิตที่เป็นสมาธิก็เอื้อต่อปัญญา ทำให้มองเห็นตามเป็นจริง ที่บอกว่า “สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ” แปลว่า [1:06:55] ผู้มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิย่อมมีปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง แต่ไม่ใช่ว่าเกิดสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาเองนะ หลายคนเข้าใจผิด [1:07:05] ไม่อย่างนั้นแล้วอาฬารดาบส อุททกดาบส แกก็รู้แจ้งสัจธรรมหมดสิ เพราะแกได้ฌานสมาธิถึงอรูปฌาน ไปเข้าใจว่าได้สมาธิแล้วจะเกิดปัญญาเอง จิตที่เป็นสมาธิเอื้อต่อการเกิดปัญญา ไม่ได้หมายความว่าทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาเอง
[1:07:23] ปัญญาเกิดจากสมาธิได้นั้น เพราะ
๑. เราคิดอยู่แล้ว เราคิดปัญหาต่างๆ มองพยายามมอง เพ่งพินิจมันแต่มันบังกัน อารมณ์นั้นบังอารมณ์นี้ ไม่เห็นสักที พอสมาธิมาไอ้สิ่งที่เราคิดอยู่นั้นมันก็เลยชัดขึ้นมา นั่นเป็นเพราะเราคิดใช้ปัญญาอยู่แล้ว
๒. ก็คือว่า เราใช้จิตที่ใสเป็นสมาธินี้ไปพิจารณาธรรมะ ไปมองสิ่งต่างๆ สิ่งที่เรามองก็เห็น เหมือนกับน้ำที่ใสมันเอื้อต่อการมองเห็นแต่ถ้าเราไม่มองก็ไม่เห็น น้ำที่ใสมันเอื้อต่อการเห็นไม่ได้หมายความว่ามันจะเห็นขึ้นมา ต้องมองอีกทีหนึ่งต้องใช้ตาปัญญามองจึงเห็น ฉะนั้นอันนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสมาธิกับปัญญา อันนี้ก็สองคือว่า สภาพจิตที่เป็นสมาธิมันใสเอื้อต่อการเจริญปัญญา ทีนี้ต่อไป
๓. จิตที่เป็นสมาธินั้นอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบกระทั่ง รบกวน มันสงบหมด เพราะฉะนั้นจิตมันสบาย ไม่มีอะไรพลุ่นพล่าน ไม่มีอะไรรบกวน ไม่ทุรนทุราย ไม่กระวนกระวาย เมื่อไม่มีอะไรกวนจิตมันก็สงบ มันก็มีความสุข อันที่สามนี้ถ้าใช้ไม่เป็นติดเลย แล้วใช้เป็นเครื่องกล่อม [1:08:43]
สิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการใช้มากที่สุดจากประโยชน์ของสมาธิ คืออันที่ ๒ คือ จิตที่ใสเป็นสมาธิ เอื้อต่อการใช้ปัญญา เอื้อต่อการมองเห็นด้วยปัญญา แล้วเอาอันที่ ๑ กับอันที่ ๓ มาช่วย ทำให้จิตนั้นมีกำลัง ใช้ปัญญาแล้วจิตมีกำลังด้วยก็ยิ่งชัดเจนใหญ่ แล้วมันสงบด้วยไม่มีอะไรกวน การใช้ปัญญานั้นก็ยิ่งได้ผล
ฉะนั้นลักษณะของสมาธิ ๓ อย่างนี้ จะต้องใช้ให้ถูกต้อง เมื่อใดเรารู้ธรรมะแจ้งแล้ว เราใช้ประโยชน์จากอันที่สามได้เต็มที่ อย่างพระพุทธเจ้าตรัสรู้สมบูรณ์แล้ว พระองค์ไม่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากสมาธิในแง่ที่สองที่จะต้องใช้ปัญญา เพราะว่าพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จไปบำเพ็ญพุทธกิจมาเสร็จแล้วพระองค์ก็มาพักผ่อนด้วยทิฏฐธรรมสุขวิหาร คือ การเข้าฌาน ฌานทั้ง ๔ นั้นเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร แปลว่า ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน สำหรับพักผ่อน ก็ใช้ในความหมายที่ ๓ แต่พระพุทธเจ้าทรงหลุดพ้นจากกิเลสหมดแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทรงติดเพลินสมาธินั้น และไม่มีทางที่จะทรงประมาท สำหรับพวกเราทั่วไปยังต้องระวัง ถ้าติดเพลิน ใช้สมาธิเป็นตัวกล่อม ก็จะกลายเป็นเครื่องฉุดดึงตัวเองไว้ ทำให้ไม่สามารถบรรลุธรรม ขัดขวางต่อการพัฒนา อาตมาก็บอกแต่ต้นแล้วว่า ตัวกล่อมนี้ข้อเสียของมันก็คือ มันทำให้หยุดการพัฒนา มันทำให้เราหยุดอยู่แค่นั้นไม่ก้าวต่อไป ฉะนั้นชาวพุทธหยุดไม่ได้ ต้องก้าวต่อไปตลอด อันนี้ก็เป็นอันหนึ่ง
๑๐. ชาวพุทธต้องไม่อ้อนวอนร้องขอ แต่ใช้การอธิษฐานนำไปสู่การพัฒนาตนให้ได้ประโยชน์ยิ่ง
[1:10:31] ทีนี้ขอย้อนกลับมาพูดเรื่องของการกล่อมด้วยการอ้อนวอนเทพเจ้า เมื่อกี้นี้เราบอกว่าเป็นการกล่อม คนจำนวนมากก็กล่อมใจตัวเองด้วยเรื่องนี้ จนกระทั่งศาสนาที่เห็นว่ามนุษย์อยู่ในระดับการพัฒนาแค่นี้ ก็ต้องใช้อุบาย ทำไงจะให้มนุษย์นี้จะต้องใช้ความเพียรพยายามเองบ้าง ไม่ใช่รอคอยเทพเจ้า นั่งงอมืองอเท้าอย่างเดียว อันนั้นก็แล้วแต่วิธีการของศาสนานั้นๆ แต่พุทธศาสนานี้ท่านไม่ให้มัวหวังอ้อนวอน รอคอยการดลบันดาลอย่างนั้น แต่ทีนี้มีแง่คิดแทรกเข้ามาตอนหนึ่งก็คือว่า บางทีการอ้อนวอนเนี่ยไม่ใช่ไร้ผลนะ เอาล่ะซิ เดี๋ยวโยมก็บอกว่า เอ...ชักจะมาหนุนให้อ้อนวอนแล้ว อันนี้เป็นเรื่องของสัจธรรม เรื่องของกฎธรรมชาติ เรามาวิเคราะห์กัน คือการอ้อนวอนนี้ไม่ใช่ไร้ผลทีเดียว แต่ว่ามันมีอะไรแฝงอยู่ การอ้อนวอนโดยตัวมันเองนั้นไม่ใช่สิ่งที่ให้ผลหรอก แต่ในการอ้อนวอนนั้นมันได้ทำให้เกิดสภาพจิตอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นผลพลอยได้โดยไม่รู้ตัว พวกที่อ้อนวอนนั้นทำไปโดยไม่รู้ตัว แต่มันได้ผลอันนี้
ทำไมจึงบอกว่าบางครั้งมันได้ผล สิ่งที่มันแฝงมาโดยไม่รู้ตัวก็คือ สภาพจิตเมื่อมีการอ้อนวอนนั้น มันทำให้เกิดแรงความมุ่งหวัง แรงความมุ่งหวังนั้นทำให้จิตแน่วมุ่งดิ่งไป และมีพลังขึ้นมาในแนวของสมาธินั่นเอง จิตที่อ้อนวอนนั้นเมื่อความตั้งใจ ความปรารถนามันแรง มันก็พุ่งดิ่งไปทางเดียวจิตก็ตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นอันนี้แหละเป็นคุณประโยชน์ เพราะฉะนั้นคนที่ไม่รู้จักอ้อนวอนเสียเลย บางทีบอกว่าตัวเองเป็นคนมีปัญญา แต่เป็นเป็นคนที่พร่า จิตนี่ไม่เอาไหน คือ จับจด คนบางคนนี่เป็นคนที่บอกว่าตัวเองเป็นคนใช้ปัญญามาก เป็นคนปัญญามากแต่จิตจับจด เมื่อจิตจับจดไม่เอาอะไรลงแน่นอนแล้ว ทำอะไรก็ไม่ค่อยได้ผล แล้วเรื่องของความแน่วแน่ มั่นคงของจิตใจนี้สำคัญมากนะ มันลงในระดับจิตที่ไม่รู้ตัวของเราเลย
จิตที่ทำงานสำคัญส่วนใหญ่ของเราเป็นจิตส่วนที่ไม่รู้ตัวทั้งนั้นเลย ภวังคจิตนี่เป็นตัวองค์แห่งภพนะ ความสำเร็จแห่งกรรมนี่ไม่ได้อยู่ในระดับจิตสำนึก มันอยู่ในระดับภวังค์ กรรมของเรานี่สั่งสมสำเร็จขึ้นมาในจิตที่เป็นภวังค์ จิตที่เป็นภวังค์นี่เราไม่รู้ตัวเลย ฉะนั้นการกระทำหลายอย่างที่มันเป็นไป เราไม่รู้ตัวหรอก เราได้กระทำมันไปเอง โดยการดำเนินชีวิตประจำวันบ้าง โดยความเชื่อบ้าง อะไรต่างๆ ชักพาให้เป็นไป แต่ท่านบอกเนี่ยเป็นเรื่องของมนุษย์ที่อยู่ในอวิชชา อยู่ในโมหะ ทำการต่างๆ ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง มันเรียกว่าเป็นผลพลอยได้ขึ้นมาบ้าง เรียกว่า มันเป็นไปโดยไม่รู้ตัว คือว่า มันพอดี มันจะจำเพาะไปถูกจังหวะเข้ามันไปถูกจุดเข้ามันก็เลยได้ผล
พระพุทธเจ้าท่านให้คนเราพัฒนาก็เพื่ออะไร เพื่อให้ทำการต่างๆ ให้ผลด้วยปัญญา ด้วยความรู้ ความรู้เข้าใจในด้วยการเห็นจริง บังคับบัญชามันได้ ไม่ใช่ว่าไปทำพอดีตรงเข้ามันก็เลยได้ผลขึ้นมา สำหรับการอ้อนวอนนี้ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีอวิชชา แต่ว่าสภาพจิตอันนี้มันได้อันหนึ่ง ก็คือ สภาพจิตที่เกิดแรงความมุ่งหวัง ที่ทำให้เกิดความแน่วแน่และความพุ่งดิ่ง แล้วก็ทำให้จิตนี่ในระดับของความไม่รู้ตัวที่เป็นภวังค์มันมุ่ง มันทำงานมุ่งไปในสิ่งเหล่านั้น มันจับมุ่งอยู่กับอันนั้น แล้วมันก็นำไปสู่ผลที่ต้องการ แม้แต่ตนเองไม่รู้ตัวดังนั้นการอ้อนวอนในบางกรณีจึงได้ผล
ในทางพุทธศาสนาท่านเอาหลักนี้มาแยกออก แล้วเอาสิ่งที่ใช้ประโยชน์ที่จะมาสัมพันธ์กับการพัฒนามนุษย์ ในทางของหลักกรรมขึ้นมา พุทธศาสนิกชนเมื่อยังอยู่ในระดับนี้ยังไม่ถึงกับตรัสรู้ เรายังยอมรับความเป็นปุถุชนอยู่ อย่างน้อยก็ควรจะใช้หลักนี้ให้เป็นประโยชน์ พระพุทธศาสนาท่านแยกอันนี้ออกมาให้เราแล้ว แต่บางทีเราก็แยกไม่ออกเราก็ยังวุ่นอยู่ จากระบบการอ้อนวอนทีบางทีมันได้ผลเนี่ย มันมีแก่นแท้อันนั้น ก็คือ ตัวความมุ่งหวัง ใฝ่ปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่ทำให้จิตมันรวมมันพุ่งดิ่ง อันนี้ท่านเอาออกมาใช้ท่านเรียกว่า “อธิษฐาน” ในทางพุทธศาสนานั้นเอาอันนี้ออกมา แล้วให้ชาวพุทธใช้ได้ท่านเรียกว่า อธิษฐาน แต่ชาวพุทธแยกไม่ออกอีกแหละ ทั้งๆ ที่ให้แล้วว่าอธิษฐานนะ แต่กลับเอาอธิษฐานไปปนกับอ้อนวอนอีกตามเคยแยกไม่ออก หลายท่านแยกไม่ออกว่า อธิษฐาน ต่างจาก อ้อนวอน อย่างไร
เอาล่ะทีนี้มาดูคำว่า อธิษฐานอีกที ตอนนี้อาตมาต้องการจะพูดให้แยกออกได้ก่อน ว่าในทางพุทธศาสนานั้น ท่านเอาตัวแกนที่มันจะใช้ได้ออกมา คือ ตัวอธิษฐาน และให้ชาวพุทธนำไปใช้ได้ อธิษฐาน นี้แปลว่า ความตั้งมั่น หมายความว่า ตั้งใจเด็ดเดี่ยว คนเราจะทำอะไรต้องมีจุดหมาย แม้แต่กุศลธรรมนี้ สิ่งที่ดีงามนั้นไม่ใช่เราทำได้ทีเดียวทั้งหมด บางทีทั้งชาติเราทำไม่ไหว อย่าว่าแต่ปีสองปี หรือเดือนสองเดือนเลย ตลอดชาตินี้เราจะทำกุศลหรือความดีทุกอย่างนี่เราทำไม่ไหว ไม่ต้องพวกเราหรอกแม้แต่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์จะบำเพ็ญความดีนี่บางทีทั้งชาติทำได้ข้อเดียวนะ ไม่ใช่ข้ออื่นไม่ทำ ทำเหมือนกันแต่ว่าต้องมีข้อเด่นซักข้อสองข้อ เพราะฉะนั้นในการเป็นพระโพธิสัตว์ชาติหนึ่งๆ นี่จะต้องมีจุดสำคัญ การทำดีนี่ต้องมีเป้าหมายว่าจะทำความดีอันไหนให้เป็นพิเศษ เราต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาก่อนว่าอันนี้นะควรจะทำ อันนี้ดีแน่ เราควรจะทำอันนี้ เมื่อมั่นใจกับตัวเองแล้วก็อธิษฐานจิต
อธิษฐานจิต ก็คือ ตั้งใจเด็ดเดี่ยวมั่นลงไปว่าจะเอาอันนี้ การตั้งใจเด็ดเดี่ยวนี้
๑. ต่อคุณธรรมความดี หรือ กุศลธรรมบางอย่างที่ต้องการจะทำ
๒. ต่อจุดมุ่งหมาย หมายความว่า เรามีจุดมุ่งหมายที่ดีงามว่า เราจะต้องไปให้ถึงสิ่งนั้นให้ได้ แล้วเราก็อธิษฐานจิต
การอธิษฐานจิตนี้เป็นการทำให้จิตของเราพุ่งตรงดิ่งไปสู่เป้าหมายอันนั้น มันจะเป็นตัวสะสมลงไปแม้กระทั่ง ภวังคจิตเลย แล้วภวังคจิตมันก็จะทำงานให้เรา ที่จะชักจูงเรา วิถีชีวิตของเรา แม้แต่โดยไม่รู้ตัวให้หันเหเข้าไปหาสิ่งนั้น สิ่งแวดล้อมที่เราเกี่ยวข้องเนี่ย เวลาเราเข้าไปสัมพันธ์เนี่ย เราจะมีความโน้มเอียงที่จะเข้าหาสิ่งโน้นสิ่งนี้ และมีความรู้สึกต่อสิ่งเหล่านี้ไม่เหมือนกัน
ชีวิตของคนเราทำไมไม่เหมือนกัน ก็เพราะว่าเวลาเราไปรับรู้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเนี่ย คนเรานี่จะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเหล่านั้นไม่เหมือนกัน จากจุดที่มีความรู้สึกหันเห โน้มเอียงต่อสิ่งเหล่านั้นแหละ วิถีชิวิตของเราจะเปลี่ยนไปตามนั้นเลย ฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ แม้แต่ตัวเราบางทีก็ไม่รู้ตัว คนหนึ่งมองสิ่งหนึ่งก็มีความรู้สึกและเข้าใจอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็มองแล้วก็รู้สึกอีกอย่างหนึ่ง และจากจุดเริ่มต้นที่รู้สึกอย่างใดนั้น ก็จะทำให้เขามีปฏิกิริยากับสิ่งนั้น แม้แต่การที่ว่าเขาจะทำความเพียรพยายาม เขาจะหันเหไปหา เขาจะมุ่งไปในทิศทางเหล่านั้น อะไรอย่างนี้เป็นต้น
[1:19:32] การอธิษฐานจิตนี้ก็เป็นการตั้งเป้าให้แก่จิตใจ ฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่อธิษฐานนี้ต่างจากการอ้อนวอน คือ มันเป็นตัวเนื้อแท้ที่เป็นสาระในการอ้อนวอนนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เลื่อนลอย การอ้อนวอนนั้นอยู่กับสิ่งที่เลื่อนลอย ฝันเพ้อไป แต่อธิษฐานนี่เป็นสิ่งที่โยงกับความจริง เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยปัญญา การอ้อนวอนไม่โยงไปสู่การกระทำ แต่การอธิษฐานนั้นนำไปสู่การกระทำ นำไปสู่กรรมที่ถูกต้อง แล้วก็การอ้อนวอนไม่โยงไปหาการพัฒนาตนเอง มันไม่เกี่ยวกับการพัฒนาเพราะว่าไปฝากความหวังไว้กับสิ่งภายนอกให้ปัจจัยภายนอก เช่น เทพเจ้ามาช่วย แต่การอธิษฐานนี้เป็นการพัฒนาตนเอง เป็นการที่ทำให้เราพัฒนาก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ ฉะนั้นจึงต่างกัน แม้แต่พระโพธิสัตว์ก็มีอธิษฐานบารมี [1:20:35] พระโพธิสัตว์จะต้องมีปณิธาน เวลาจะทำความดีอะไรอย่างหนึ่งก็มีปณิธานว่าจะทำอะไร และด้วยปณิธานนั้นก็ทำให้พระองค์ทำการสำเร็จ อย่างที่อาตมาบอกแล้วว่า มนุษย์เราทุกคนนี้เราไม่สามารถทำความดี และทำเป้าหมายทุกอย่างให้สำเร็จได้ อย่าว่าแต่เราเลย พระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้ ความดีต่างๆ มันมีมากมายเหลือเกิน เราต้องเลือกต้องทำ แล้วถ้าเราทำไปเรื่อยๆ เปื่อยๆ ก็จับจดแล้วก็ไม่ได้ผลเป็นชิ้นเป็นอัน
ฉะนั้นวิธีการทำความดี ถ้าเราเอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง พระองค์เมื่อก่อนที่จะตรัสรู้ ก็คือ เป็นพระโพธิสัตว์ ก็ใช้ปณิธาน แล้วก็ในการมีปณิธานนั้นการอธิษฐานนี่เป็นสิ่งสำคัญมาก อธิษฐานจิตตั้งใจเด็ดเดี่ยว จะต้องทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จ จะต้องทำความดีงามนี้ให้สำเร็จ แล้วอันนี้จะเป็นทางแห่งความสำเร็จที่แท้จริง เพราะจะเป็นอุบายรวมจุดเข้าไป อย่างที่อาตมาได้กล่าวไปแล้ว อันนี้ก็เป็นเรื่องของบทแทรกเข้ามา เพื่อจะให้โยมได้ประโยชน์จากเรื่องของการอธิษฐาน คือว่า อย่าให้เลยไปเป็นการอ้อนวอน เพราะการอ้อนวอนนั้นเป็นการฝากความหวัง ฝากชีวิตไว้กับปัจจัยภายนอก แล้วก็นำไปสู่ความลุ่มหลง การไม่พัฒนาตน ความเป็นอยู่อย่างเลื่อนลอย และการที่กล่อมใจตัวไปวันๆ หนึ่ง อะไรต่างๆ งอมืองอเท้า ถ้าเป็นสังคมนะ ต่อไปสังคมนั้นก็เสื่อม เพราะว่ามองในแง่สังคมแล้ว อย่างศาสนาพราหมณ์ก่อนที่พระพุทธเจ้าอุบัติ ที่ว่ามนุษย์นั้นฝากความหวังไว้ในความสำเร็จและในโชคชะตาชีวิตเนี่ยฝากไว้กับการดลบันดาลของเทพเจ้า
๑. ผลสำเร็จที่เกิดแก่ชีวิตของตนเอง ก็หวังพึ่งเทพเจ้า
๒. ความเป็นไปอะไรในสังคม ก็ไม่คิดจะแก้ไขปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น แต่ละคนก็หวังแต่ประโยชน์ส่วนตัว ทำไงฉันจะได้นั่นได้นี่จากเทพเจ้าบันดาลให้ ปัญหาต่างๆ ก็ถูกทิ้งไว้
[1:22:41] พระพุทธเจ้ามาประกาศในทางตรงกันข้าม พระองค์ก็มาสอนว่ามนุษย์เรานะสามารถทำการให้สำเร็จได้ด้วยความเพียรพยายามของตนเอง แต่เราต้องรู้เหตุปัจจัย ต้องรู้ธรรม ต้องรู้ความจริงของกฎธรรมชาติ แล้วพัฒนาปัญญาขึ้นมาด้วยการฝึกฝน ได้สิกขา เรามีปัญญารู้สัจธรรม รู้ธรรมะ รู้เหตุปัจจัย ทำการด้วยกรรมให้ตรงตามเหตุปัจจัยนั้นก็ได้ผลดี สังคมของเรา เราก็ช่วยมาสร้างสรรค์แก้ไขให้ดีได้ ชีวิตของเรา เราก็ปรับปรุงให้ดีได้ เราแก้ไขปัญหาชีวิต สังคมของเราได้ สังคมของเรานี้เราต้องช่วยกันสร้างสรรค์ ถ้าเราไปหวังพึ่งปัจจัยภายนอกก็จบเลย [1:23:22] ชีวิตของเรา เราก็ไม่เพียรพยายามทำดีแล้วเราก็มาหวังผลประโยชน์ส่วนตัวด้วยการอ้อนวอน แต่ละคนก็จะเอาเพื่อตนตกลงสังคมก็ย่ำแย่ไปตามลำดับ นี่ก็เป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ให้แก่เราแล้ว ฉะนั้นก็เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ อาตมาก็ขอนำเรื่องนี้มาพูด
๑๑ อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลก็ได้ หรือ กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลก็ได้ ต้องไม่ประมาท
[1:23:43] ธรรมะนี้มันมีแง่มุมต่างๆ ที่ต้องพิจารณาเยอะ ถ้าไปมองชั้นเดียวแล้วบางทีพลาด อย่างเรื่องสมาธิ เป็นต้น มันก็มีข้อดีข้อเสีย อย่างน้อยพระพุทธเจ้านี่ทรงสั่งสอนไว้เนี่ยให้เรารู้ คือ มองทุกสิ่งทุกอย่างหลายแง่หลายมุม ท่านเรียกว่า “วิภัชชวาท” แปลว่า แยกแยะ รู้จักพิจารณาอย่างแยกแยะ และการแยกแยะนี้มีหลายแบบ คือ สิ่งทั้งหลายนี้มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย แม้แต่กุศลธรรมสิ่งที่เราว่าดีแล้ว มันก็มีแง่ที่เป็นคุณและแง่ที่เป็นโทษอย่างสมาธิ เป็นต้น ที่อาตมากล่าวไปแล้ว ไม่ใช่มองแง่เดียวด้านดีอย่างเดียว ด้านชั่วด้านร้ายอย่างเดียว
อันนี้การที่ว่ามันดีมันร้ายอย่างหนึ่งก็คือว่า การที่มันเป็นปัจจัยแก่กันและกันได้ อกุศลธรรมก็เป็นปัจจัยแก่กุศลได้ กุศลธรรมก็เป็นปัจจัยแก่อกุศลได้อันนี้ล่ะสำคัญมาก เพราะฉะนั้นจากสิ่งที่ไม่ดีถ้าเราใช้เป็น เราก็เอาสิ่งที่ไม่ดีมาใช้ประโยชน์ได้ เอาอกุศลมาใช้เป็นปัจจัยแก่กุศลก็ได้ กุศลธรรมถ้าเราใช้ไม่เป็นมันกลับเป็นปัจจัยแก่อกุศล อย่าไปภูมิใจ หลงว่าเรามีดี แล้วดีนี่ล่ะจะเป็นตัวร้ายกลับให้เกิดโทษได้ นี้ถ้าเราใช้เป็นเราไม่ประมาท ไอ้เจ้าอกุศลเรามาใช้เป็นทำให้เกิดผลดีขึ้นมาก็ได้
อย่างตัณหา พระพุทธเจ้าเอามาใช้กับพระนันทะ เป็นอุบายชักจูงพระนันทะให้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ได้ แต่ว่าโยมที่มีศรัทธาหรือว่าพระโสดาบัน แม้แต่ขนาดเป็นพระอริยบุคคลเป็นโสดาบันแล้วเกิดไปสันโดษขึ้นมา สันโดษตัวนี้กลายเป็นทำให้พระโสดาบันประมาท เกิดเป็นอกุศลขึ้นมาแล้ว ความสันโดษทำให้เกิดความประมาท พระโสดาบันพระพุทธเจ้าบอกว่า “ปมาทวิหารี” ตั้งอยู่ในความประมาท เป็นอยู่ในความประมาทเป็นผู้เสื่อม ธรรมะนี่ต้องมองกันหลายๆ แง่ อันนี้อาตมาจึงขอโยงมาสู่ธรรมะที่สำคัญ คือ เรื่องความไม่ประมาท อันนี้ถ้ามีเวลาก็พูดกันต่อไปอีก ยังมีเวลาจะพูดกันต่อไปก็ขอพูดเรื่องธรรมะที่โยงไปถึงตอนแสดงธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน นั่นแสดงทางสายกลาง แล้วก็มาถึงที่ปรินิพพาน กุสินารา เรื่องความไม่ประมาท ธรรมเหล่านี้โยงกันหมด
ก่อนที่จะพูดเรื่องนั้นก็ขอยกตุ๊กตาขึ้นมาก่อน อย่างเรามาประเทศอินเดีย โยมก็ได้เห็นแล้วว่าประเทศอินเดียนี้รกรุงรัง สกปรก ไม่เป็นระเบียบแค่ไหน แต่ว่าท่านมหาสุทินบอกว่า คนอินเดียนี่ไม่เป็นโรคเส้นประสาท และอยู่สุขสบายดี อันนี้หันไปอีกด้านหนึ่งฝรั่ง ฝรั่งนี้มีความเจริญ มีความเป็นระเบียบ สังคมนี้มีความก้าวหน้า มีเทคโนโลยีดี อะไรต่างๆ จัดสรรเรียกว่า สิ่งทั้งหลายสังคมนี้ให้เรียบร้อยได้พอสมควร แต่พร้อมกันนั้นก็มีปัญหาโรคจิต โรคประสาทอะไรต่างๆ นี้มาก ทั้งสองสังคมมีทั้งข้อดีข้อเสียของตนเอง สองอย่างนี้เป็นทางเลือกว่าอันไหนดีกว่ากันหรือยังไง หมายความว่า เป็นทางเลือกว่าเราจะเอาอย่างไหน อย่างใดอย่างหนึ่งหรืออย่างไร
พระพุทธศาสนาบอกว่ามันไม่ใช่ทางเลือก ที่จะต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เราสามารถทำสิ่งที่ดีกว่านี้ สองอย่างนี้น่าจะเป็นสุดโต่งสองทางมากกว่า มันเป็นสุด ๒ อย่าง มากกว่าจะเป็นทางเลือก ในแง่ของชาวพุทธแล้วเราจะไม่ยอมถ้ามันยังมีส่วนเสียอยู่ ในส่วนอินเดียมีความสุขสบายอย่างนี้ แต่ว่ามันสกปรกรกรุงรัง อย่างนี้เราคงไม่เอาเหมือนกัน เรายังไม่ยอม แต่ฝรั่งที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นต้น แต่จิตใจคร่ำเครียด มีทุกข์อะไรต่ออะไรมาก เราก็ไม่เอาเหมือนกันชาวพุทธเราถือว่าเราพัฒนาได้ มันต้องมีดีกว่านี้ แสดงว่าเจ้าสองทางนี้คงผิด มันมีอะไรที่มันผิดพลาดไป ก็ต้องถามว่าแล้วอะไรคือความพอดี
๑๒ เข้าใจให้ถูกต้อง “มัชฌิมาปฏิปทา” คือ ทางแห่งความพอดี หรือ ดุลยภาพ
[1:28:38] อะไรคือความพอดี นี้แหละคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” แปลว่า ทางสายกลาง ทางสายกลางก็คือทางแห่งความพอดี พอดีมีความหมายอย่างไร หรือทางสายกลางมีความหมายอย่างไร
ทางสายกลาง ไม่ใช่หมายความว่า เขาอยู่กันสองฝ่าย เราก็ไปอยู่กึ่งกลางระหว่างสองฝ่ายนั้น บางคนคิดว่าอย่างนั้นนะ มีอยู่สองฝ่าย เราก็อยู่ตรงกลางเรียกว่า สายกลาง พวกหนึ่งกินเหล้ามากๆ พวกหนึ่งกินน้อยๆ เราก็กินกลางๆ อย่างนี้หรือเรียกว่าทางสายกลาง ก็ถ้าหากว่ามีแต่คนทำชั่ว พวกหนึ่งทำชั่วมาก พวกหนึ่งทำชั่วน้อย เราก็เลยทำชั่วกลางๆ อย่างนี้ ไม่ใช่ทางสายกลางในพระพุทธศาสนา ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดว่าทางสายกลางนั้น ไม่ใช่ไปอยู่กึ่งกลางระหว่างสองฝ่ายแต่ต้องมีหลักการ ทางสายกลางมีหลักการอย่างไร อันนี้แหละเป็นเรื่องที่สำคัญ
แต่ว่ามันมีหลักอยู่อันหนึ่ง ก่อนที่จะพูดถึงหลักอื่นๆ ก็คือว่า [1:29:56] ในทางสายกลางนี้จะเห็นว่าข้อสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ หรือ ปัญญาเห็นชอบ เป็นข้อต้น อันนี้สำคัญเป็นตัวให้หลักพื้นฐาน คือ ต้องมีปัญญา ต้องมีความรู้เข้าใจ ความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ว่ามันยังมีข้อปลีกย่อยองค์ประกอบอื่นๆ อีกที่เป็นทางสายกลาง [1:30:18] แต่ตอนนี้อาตมาจะให้ไว้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นก่อนว่าปัญญาเห็นชอบ ความเข้าใจถูกต้องนี้เป็นพื้นฐาน หรือเป็นตัวกำหนดสำคัญของทางสายกลางนี้
ก่อนที่จะพูดไปให้ชัดขึ้น จะขอยกตัวอย่างอันหนึ่งเรื่องทางสายกลาง เป็นตัวอย่างที่อาจจะพูดมาแล้วโยมอาจจะได้ยินมาแล้วแต่ว่าวันนี้ก็อาจจะมาพูดซ้ำ ในชีวิตประจำวันเนี่ยเช่นเรื่องการกินอาหาร การกินอาหารนี่ก็มีเรื่องทางสายกลางเหมือนกัน คือ การกินพอดี การกินพอดีเราจะวัดได้อย่างไร กินพอดีที่เป็นทางสายกลางนั้น วัดได้อย่างไร เอาอะไรเป็นเกณฑ์วัดถ้าโยมเห็นอันนี้แล้ว อาตมาว่าเป็นตัวอย่างทางสายกลางแบบง่ายๆ เลย
“กินพอดี” คนจำนวนมากนี่เอาอะไรเป็นเกณฑ์ในการกิน เขาจะใช้ความอร่อย คนที่ยังไม่มีการศึกษา ยังไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา ไม่มีโยนโสมนสิการ ไม่รู้จักคิดพิจารณาก็จะกินตามอร่อย เพราะว่าเมื่อกินนั้นลิ้นเป็นผู้เสพรส เป็นผู้รับสัมผัส ก็จะได้เวทนาคือความอร่อยหรือไม่อร่อย เพราะฉะนั้นความอร่อยหรือไม่อร่อย จะเป็นเกณฑ์วินิจฉัยในการกิน ถ้ามันไม่อร่อยก็ไม่กิน ถ้าอร่อยก็กินยิ่งอร่อยก็ยิ่งกิน ฉะนั้นอร่อยมากก็กินให้มาก เมื่อเราเอาความอร่อยเป็นเกณฑ์ในการกินแล้ว จะเกิดผลอะไรขึ้น คือ อร่อยมากก็กินมาก ฉะนั้นเมื่ออร่อยมากกินมาก มันก็จะมีผลคือว่า กินอาหารที่อร่อยมากจนกระทั่งว่า ในเฉพาะหน้าปัจจุบันกินจนกระทั่งอาหารไม่ย่อย ลุกไม่ขึ้น ทีนี้ระยะยาวก็คือว่า กินจนกระทั่งเสียสุขภาพ เป็นโรคไขมันในเส้นเลือด หรือว่าเป็นโรคอะไรต่างๆ หลายอย่าง ซึ่งคุณหมอทราบดีว่า กินอาหารที่มันเอารสอร่อยเป็นเกณฑ์นี่จะมีผลร้ายอย่างไร หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือว่า กินเพราะรสอร่อย ก็เลยไม่คำนึงว่ามันมีโทษหรือมีคุณแค่ไหน ไม่คำนึงถึงคุณค่าของอาหาร ว่าอาหารนี้จะเป็นโทษต่อร่างกายไหม อาหารนี้มีสารพิษสารเคมีปนไหม ปรุงแต่งกลิ่นสีรสอะไรหรือเปล่า อะไรต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงโทษภัย ฉะนั้นการใช้รสอร่อยเป็นเกณฑ์ในการกินนี่ไม่ถูกต้อง อันนี้คือการกินตามชอบใจไม่ชอบใจ นี่แหละ คือ หลักเดียกวกัน หลักที่ว่าประสบการณ์ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เอาเวทนาเป็นตัวตัดสิน คือความรู้สึก ความรู้สึกเวทนาสบาย ไม่สบาย เป็นสุขเวทนาคือ อร่อย อร่อยก็ชอบใจ ชอบใจก็กิน กินด้วยตัณหา
ทีนี้มันมีวิธีกินอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่า อย่างน้อยคนที่มีการศึกษาจะเริ่มถามว่าที่เรากินนี่เพื่ออะไร อะไรเป็นวัตถุประสงค์ของการกินอาหาร เราใช้ปัญญาไปพิจารณาใคร่ครวญ จะเริ่มรู้ว่า อ๋อ ที่กินนี่เพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ร่างกายนี้สามารถมีกำลังแข็งแรง ดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งคำตอบรวบรัดก็คือว่า เพื่อสุขภาพนั่นเอง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี แล้วต่อจากนั้นก็จะมีอย่างอื่น ของพระบอกว่า “พฺรหฺมจริยานุคฺคหาย” เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ หมายความว่า เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตที่ดีงามประเสริฐได้ ปฏิบัติตามมรรคได้ ก็คือ เพื่อว่าเราจะได้อาศัยร่างกายนี้ ไปดำเนินชีวิตที่ดีงาม เราจะได้อาศัยร่างกายนี้ทำคุณประโยชน์ ทำสิ่งที่ดีงาม สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามต่อไป แต่ว่าตัวที่สำคัญก็คือว่า เพื่อว่าร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี พอเราหาเป้าหมายจุดหมายของการกินได้ มาอยู่ที่เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี อันนี้คือ ความต้องการที่แท้จริงของชีวิต พอเรากำหนดตัวนี้ได้ นี่คือเรารู้เข้าใจ นี่คือปัญญา พอเกิดตัวปัญญา เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ รู้เข้าใจความมุ่งหมายของการกินแล้ว ความเข้าใจในจุดมุ่งหมายนี้จะเป็นตัวปรับให้เกิดความพอดีในการกินได้ทันทีเลย คือ กินตามความต้องการของร่างกาย กินเพื่อสนองความต้องการของชีวิตให้มีสุขภาพดี
๑. ในขณะปัจจุบัน มันจะจำกัดปริมาณในการกิน กินไม่ทำลายสุขภาพ ถ้าเรากินมากไป อาหารมันอร่อยก็จริง แต่มันจะทำให้อาหารไม่ย่อย เป็นโทษต่อร่างกาย เราก็ไม่กินเกินปริมาณนั้น เราก็จำกัดปริมาณในการกิน ปริมาณก็พอดีขึ้นมา
๒. สิ่งที่กิน ไอ้ตัวปัญญาที่รู้ความมุ่งหมายของการกิน ก็จะมาเป็นตัวปรับตัวจัด ให้เราเลือกกินสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ เราก็เลือกกินอาหารที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย การกินที่พอดีก็เกิดขึ้นด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความมุ่งหมายของการกิน
เพราะฉะนั้นตัวนี้จึงเป็น โยนิโสมนสิการที่สำคัญในการฝึก หลักปฏิบัติเบื้องต้นในพระพุทธศาสนามีอะไร โภชเนมัตตัญญุตา พระนี่ท่านถือเป็นเรื่องสำคัญเลย พอบวชเข้ามาในพุทธศาสนาจะต้องมีการหลักปฏิบัติเบื้องต้น โภชเนมัตตัญญุตา ด้วยการปฏิสังขา-โย รับประทานอาหารใช้ปัจจัย ๔ บริโภคปัจจัย ๔ ด้วยการพิจารณาเรียกว่า “ปัจจเวกขณะ” ปัจจเวกขณะนี้ก็ว่า ปฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง เป็นต้น เวลาจะฉันข้าวเนี่ย พระในสมัยโบราณก่อนจะบวชนี่ต้องท่องตั้งแต่ก่อนบวช เวลามาอยู่วัดยังไม่ทันบวช ต้องท่องบทปฏิสังขา-โย
บทปฏิสังขา-โย นั้นแปลว่าอะไร บอกว่าเราพิจารณาแล้วโดยแยบคาย คือ โยนิโสมนสิการนี่แหละ จึงบริโภคอาหารว่าเราบริโภคอาหารนี้ มิใช่เพื่อมุ่งสนุกสนาน มัวเมา โก้เก๋ อะไรต่างๆ แต่รับประทานเพื่อยังชีวิตให้เป็นไป เพื่อร่างกายให้อยู่ได้ เพื่อให้อยู่ผาสุก เพื่อให้อนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ เพื่อดำเนินชีวิตที่ดีงาม เราก็อาศัยร่างกายนี้ดำเนินชีวิตที่ดีงามได้อันนี้ฝึกพระตั้งแต่ต้นก็คือ ต้องใช้ปัญญา กินด้วยปัญญาต่างกับกินด้วยตัณหา กินเพื่อหวังรสอร่อยอย่างเดียวเป็นตัณหา ถ้ากินด้วยปัญญาพิจารณาเพื่อให้บรรลุจุดหมายของการกินที่แท้ อันนี้เป็นการกินด้วยปัญญา เรียกว่า โยนิโสมนสิการ สำหรับมนุษย์ปุถุชน เรายอมรับว่าเขายังต้องมีตัณหาอยู่ การกินเพื่อรสอร่อยยังต้องมี แต่ขอให้เอาหลักโภชเนมัตตัญญุตามาช่วยบ้าง เพื่อจะได้ปรับ อย่างน้อยก็มีสติควบคุม การกินนั้นจะได้ไม่เกิดโทษ
๑. ไม่เกิดโทษต่อชีวิตของตนเอง ทำให้เสียสุขภาพ
๒. เมื่อเรากินโดยมีโภชเนมัตตัญญุตาอยู่ ก็จะทำให้เราประหยัดไปได้ในตัว
- สุขภาพร่างกายของเราก็ดี
- ในด้านเศรษฐกิจก็ดีขึ้นด้วย
- ทำให้การเบียดเบียนกันในสังคมลดลง
- การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติก็ลดลงไปด้วย
ก็ทำให้ได้ผลดีขึ้น แต่อย่างน้อยก็คือว่านี่เป็นตัวอย่างของทางสายกลาง เริ่มตั้งแต่การกินพอดี โยมจะเห็นแล้วใช่มั้ยว่า [1:38:23] ทางสายกลางหรือ การดำเนินชีวิตที่พอดีนั้น มีตัวอย่างจากการกินนั้นต้องมีปัญญา ปัญญาเห็นชอบ คือปัญญาเห็นชอบว่ากินเพื่ออะไร พอเข้าใจแค่นี้ก็การปรับให้พอดีก็เกิดขึ้น ทางสายกลางเกิดขึ้นเพราะปัญญาที่รู้ตัวนี้มันเป็นตัวปรับพฤติกรรม พฤติกรรมของเราจะพอดีได้ก็เพราะมีปัญญาเป็นตัวปรับ ให้มันเข้ากับจุดมุ่งหมาย ฉะนั้นทางสายกลางเป็นทางที่พอดีที่จะนำสู่จุดหมายที่ถูกต้อง ที่จะทำให้ชีวิตดีงาม ไร้โทษ ไร้ทุกข์นั่นเอง [1:38:57] นี้คือทางสายกลาง ในความหมายง่ายๆ ทีนี้ทางสายกลางอย่างนี้ โยมพอเห็นแนวแล้วล่ะ
ทีนี้อาตมาก็ขอพูดต่อไป ทางสายกลางนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของ ดุลยภาพ ในทางสายกลางนี้ความพอดีบอกไปแล้ว ในความพอดีนี้ก็คือ ความพอเหมาะ ความพอเหมาะก็คือ ความได้สัดส่วน ความได้สัดส่วนขององค์ประกอบทั้งหลายที่มาทำงานร่วมกัน ในระบบปัจจุบันเค้าเรียกว่า องค์รวม สิ่งทั้งหลายนั้นมันต้องเกิดจากส่วนประกอบทั้งนั้นแหละ ถ้าส่วนประกอบมันไม่พอดีกันนี่ยุ่ง เกิดปัญหาแต่ถ้าส่วนประกอบต่างๆ มันพอดีกันแล้วทุกอย่างจะลงตัว และจะได้ผลดีด้วย
อันนี้อาตมาก็เคยพูดมาแล้ว พรหมวิหาร มี ๔ ข้อ จะต้องมีดุลยภาพ ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้พรหมวิหาร ๔ นี้เสียดุลไป แม้ว่าพรหมวิหารแต่ละข้อนั้นจะเป็นกุศลธรรมก็เกิดผลร้ายได้ ทั้งๆ ที่มีเมตตา กรุณา เมตตา กรุณาก็เป็นกุศลธรรม แต่เมตตา กรุณา ทำให้เกิดผลร้าย แล้วเราก็ไม่ค่อยคิดกัน พรหมวิหาร ๔ ต้องปฏิบัติได้สัดได้ส่วนกันได้พอดี ถ้าผิดสถานการณ์ไปสถานการณ์ที่ควรจะใช้อุเบกขากลับไปใช้เมตตา กรุณา สถานการณ์ที่ควรจะใช้เมตตา กรุณา กลับไปใช้อุเบกขาก็ยุ่ง ทั้งๆ ที่เป็นกุศลธรรมนั่นแหละเสียแล้วล่ะ ชีวิตก็เสียสังคมก็เสีย
๑๓ ใช้ธรรมะต้องใช้ให้ครบทั้งชุดจึงจะถูกต้อง ได้ผล และไม่เสียธรรม
[1:40:37] ในเมืองไทยเรานี่ตอนหลังๆ นี่เรามีแนวโน้มที่จะเที่ยวดึงธรรมะออกมาแยกเป็นข้อๆ จนกระทั่งในแบบเรียนหลักสูตรของเด็กนักเรียนในโรงเรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาตอนหลังๆ ไปเที่ยวดึงเอาธรรมะมา บอกว่าเราจะเรียนธรรมะสอนเด็กให้มีธรรมะข้อไหน เมตตาดีนะเอามาสอน กรุณาดีนะเอามาสอน ขันติดีนะเอามาสอน เอามาเป็นข้อๆ นี้เป็นไปด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจจะทำให้วุ่น สังคมจะปั่นป่วน เพราะไม่เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าท่านวางหลักธรรมะเป็นชุดๆ ทำไม พรหมวิหาร ๔ นั้นต้องมาทั้งชุด ถ้าผิดชุดเสียหลักแล้วก็หมดเลย
[1:41:21] ที่มันเป็นปัญหาแม้แต่ในสังคมไทยเราที่ผ่านมา เราก็ปฏิบัติธรรมไม่ค่อยครบชุดอยู่แล้ว ใช่มั้ย อย่างพ่อแม่พรหมวิหาร ๔ ถ้าทำไม่ครบลูกก็เสีย รักลูกระยะสั้น บางทีก็ทำให้ลูกเสียระยะยาวลูกไม่รู้จักโต มีแต่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาไม่มีลูกโตไม่เป็น ลูกทำอะไรไม่เป็นรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ [1:41:48] บางทีต้องใช้วิธีว่า เพราะพ่อแม่เรามีความโน้มเอียงที่จะลำเอียงเข้าข้างลูก สมัยโบราณต้องใช้วิธีว่าให้ห่างพ่อแม่ซะบ้าง เท่ากับว่าพ่อแม่ได้ใช้อุเบกขาโดยไม่รู้ตัว หรือว่าเอาลูกไปฝากวัด หรือเอาไปอยู่ห่างๆ อย่างพ่อแม่สมัยโบราณให้ลูกไปเรียนที่เมืองตักศิลาโน่น ไปอยู่กับทิศาปาโมกข์เค้าจะได้หัด พอไปอยู่กับอาจารย์แล้ว อาจารย์ท่านไม่คำนึงแล้วท่านใช้หลักพรหมวิหาร แต่ท่านมีอุเบกขาด้วย ท่านต้องหัดให้เรียน ให้ทำ รับผิดชอบต่างๆ เป็น เด็กก็รู้จักรับผิดชอบตัวเอง หรืออย่างพ่อแม่สมัยนี้ บางทีอยู่กับพ่อแม่นี่โตทำอะไรไม่เป็น ต้องส่งไปเรียนต่างประเทศ พอไปอยู่ต่างประเทศหัดรับผิดชอบตัวเองได้ ทำอะไรต่อไรเป็นขึ้นมา คือ อุเบกขาชนิดที่ว่าส่งไปเรียนต่างประเทศ ที่พ่อแม่จะได้ไม่ต้องมีเมตตากรุณาตลอดเวลา ทีนี้ถ้าพ่อแม่มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ได้สัดส่วนกันแล้ว ลูกก็โต มีความเจริญเติบโตอย่างถูกต้อง พระพรหมสร้างโลกได้ถูกต้อง [1:43:01] พระพรหมทำหน้าที่สมบูรณ์ ต้องมีดุลยภาพแห่งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โดยเฉพาะ อาตมาก็ได้แยกไว้แล้วว่า ๔ ข้อ นี้แยกได้เป็น ๒ ชุด คือ
- เมตตา กรุณา มุทิตา นั้นเป็นธรรมะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือ มนุษย์ต่อมนุษย์
- ส่วนอุเบกขานั้นเป็นธรรมะสำหรับรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับตัวธรรมะ ตัวกฎธรรมชาติ หรือตัวความจริงของธรรมชาติที่มันรองรับโลกมนุษย์อีกชั้นหนึ่ง [1:43:35]
นี้ถ้าเราเอาแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แล้ว เราไม่คำนึงถึงความจริงของธรรมชาติ ชีวิตก็เสียดุลยภาพ มนุษย์จะอยู่ลำพังด้วยโลกมนุษย์เองไม่ได้ มนุษย์เรา โลกทั้งโลกนี้ต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ ธรรมะนี้รักษาโลกไว้อีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้นจะต้องไปให้ถึงตัวอุเบกขา อุเบกขาก็เป็นตัวรักษาธรรมะไว้ รักษาตัวหลักการไว้ ทีนี้พ่อแม่ถ้าหากว่ามีอุเบกขาก็ช่วยให้ลูกนี้เติบโตรู้จักรับผิดชอบตัวเอง รู้จักทำอะไรต่ออะไรเป็น อย่างที่อาตมาได้พูดไปแล้ว บอกว่าพ่อแม่ต้องรักษาอุเบกขาต่อลูก ใน ๓ สถานการณ์ พูดไปแล้วไม่ต้องทวนอีก
ในสังคมก็เช่นเดียวกันสังคมใดที่มนุษย์เอาแต่เมตตา กรุณา ก็จะช่วยกันจนกระทั่งว่าลืมหลักการ มองข้ามกฎเกณฑ์กติกา เสียความชอบธรรมในสังคม หรือว่าอีกด้านหนึ่งที่เสียก็คือว่า จะทำให้คนนี่หวังพึ่งกันเกินไป คนที่ไม่รู้จักรับผิดชอบตัวเองเลย ก็หวังพึ่งแต่คนอื่น แล้วไม่กระตือรือร้นขวนขวาย กลายเป็นคนอ่อนแอ ก็เสียแก่สังคมด้วย ทำให้สังคมนั้นไม่เจริญก้าวหน้า สังคมที่มีอุเบกขามากก็จะไม่เอาใจใส่กัน ในระหว่างบุคคลก็ขาดความอบอุ่น ขาดความอบอุ่นแล้วก็ทำให้ชีวิตนี้เคร่งเครียด มีความทุกข์เป็นโรคเส้นประสาทมาก แต่ทุกคนนี้จะกระตือรือร้นขวนขวายดิ้นรนมาก มีความเข้มแข็งก็ได้อย่างเสียอย่างกันอยู่อย่างนี้ โลกมนุษย์เรามักจะตกอยู่ในสภาพแบบนี้ คือในสภาพของความที่ว่าตึงไป หย่อนไป ไปสุดโต่งข้างโน้นข้างนี้ [1:45:28] พระพุทธเจ้าจึงต้องให้เราพัฒนาตัวอยู่เรื่อย เพื่อจะปรับให้พอดี อันนี้ก็เป็นเรื่องที่สองแล้วนะ
๑. ให้เห็นว่าทางสายกลางนี้ต้องอาศัยปัญญา ถ้าเรารู้เข้าใจจุดมุ่งหมาย มันก็จะเป็นตัวปรับให้พฤติกรรมพอดี เช่น การกินอาหาร เป็นต้น
๒. ดุลยภาพในระหว่างองค์ธรรมต่างๆ ที่เป็นองค์รวมนั้นจะต้องได้สัดส่วนกัน ได้พอดี ก็จะเป็นทางสายกลาง
๓. ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ธรรมต่างๆ ที่เป็นปัจจัยแก่กัน เช่น กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ อันนี้ก็สำคัญเหมือนกันในเรื่องของทางสายกลาง [1:46:08]
ก็จะมาถึงเรื่องหนึ่งที่สัมพันธ์กับเรื่องที่พูดไปเมื่อกี้ ที่อาตมายกตัวอย่างว่าที่คนอินเดียนี้ก็อยู่กันสกปรก รกรุงรัง แต่ก็มีความสุขดีเหมือนกัน และฝรั่งก็มีความเจริญก้าวหน้า จัดสรรสังคมเรียบร้อย แต่เคร่งเครียดมีทุกข์ เป็นโรคจิต โรคประสาท มันเป็นอย่างไร นี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์ธรรม องค์ธรรมต่างๆ อย่ามองโดดเดี่ยว เราจะมองธรรมะข้อนั้นว่ามันดีมันร้ายทันทีไม่ได้ มันต้องไปสัมพันธ์กันว่าธรรมะตัวไหนประกอบเข้ามา วันนั้นอาตมาคุยกับอาจารย์ ดร.อุดม และให้ท่านไปช่วยหาตัวอย่าง ไม่ทราบว่าท่านหาให้หรือยัง มันก็คล้ายๆ เรื่องทางวิทยาศาสตร์ ขอยกตัวอย่างเท่าที่นึกได้ตอนนี้ คือว่า วันนั้นคุยกันอาตมาก็พูดถึง เช่นว่า ออกซิเจนเนี่ย ไฮโดรเจน ๒ อะตอม บวกออกซิเจน ๑ อะตอม เป็น H2O ก็เป็นน้ำ สำหรับมนุษย์เราก็ดีสิ ใช่มั้ยเป็นน้ำ แต่ถ้าหากว่าเอาออกซิเจน เกิดไปบวกกับคาร์บอนเข้าไป เป็น CO2 คาร์บอน ๑ ออกซิเจน ๒ เท่านั้นเอง กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ก็เป็นพิษต่อมนุษย์ใช่ไหม ไม่ดี อย่างนี้เป็นตัวอย่าง หมายความว่า ออกซิเจน เราจะวินิจฉัยว่าดีหรือร้าย เราต้องไปดูว่ามันไปประกอบกับอะไร
องค์ธรรมะก็เช่นเดียวกัน อย่าไปบอกว่ามันดีมันร้ายทันที มันเป็นคุณเป็นโทษ มันต้องดูตัวประกอบด้วย เช่น ความสันโดษ อะไรต่างๆ เป็นต้น ไม่ใช่ว่าจะเอาทันทีว่าดีหรือร้าย สันโดษนี่มีทั้งคุณและโทษ แล้วก็อยู่ที่ไปประกอบกับอะไร ความง่าย เราบอกว่า ความเป็นอยู่เรียบง่ายดี ต้องระวัง ยกตัวอย่างเช่น ความเป็นอยู่ง่าย ถ้าไม่มากับความเพียรเพื่อเข้าถึงจุดหมายอันประเสริฐ อาจจะร้ายก็ได้ ที่ท่านให้มีความเป็นอยู่ง่าย มันต้องควบมากับความเพียรเพื่อเข้าถึงจุดหมายอันประเสริฐ ที่ท่านให้เป็นอยู่ง่ายเพื่ออะไร เพื่อจะได้สะดวก เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อ เป็นตัวเอื้อตัวเกื้อหนุนให้การเพียรพยายามเพื่อจุดหมายอันประเสริฐ มีจุดหมายอันประเสริฐที่จะเข้าถึงอยู่แล้ว ถ้าเราไม่มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย เราจะไม่มีโอกาส เราจะหาโอกาสที่จะมาเพียรพยายามเพื่อเข้าถึงจุดหมายนั้นได้ยาก
แต่ทีนี้ถ้าเรามีความเป็นอยู่ง่ายเฉยๆ แล้วไม่มีเจ้าตัวความเพียรเพื่อเข้าถึงจุดหมายอันประเสริฐ มันจะมีความโน้มเอียงมาเป็นตัวกล่อมอย่างที่ว่า เราก็อยู่ง่ายๆ เป็นไงก็ได้ เอาอย่างไรก็ได้ ยังไงก็ได้ๆ ต่อไปมันจะโน้มไปสู่ความมักง่าย พอมักง่ายแล้วทีนี้ไม่ดีแล้วนะ ทีนี้อะไรที่ควรจะทำก็ไม่ทำ ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย อยู่ยังไงก็ได้ทั้งนั้น เสื้อผ้าวันนี้ไม่ต้องซักก็ได้ เราก็อยู่ได้ทั้งนั้น อะไรๆ ก็อยู่ได้ บ้านยังไงก็อยู่ได้ ง่ายไปง่ายมา ก็มักง่าย ต่อไปก็สกปรกยังไงก็ได้ ไม่ต้องซักก็ได้ สกปรกอยู่อย่างนี้ก็ได้ ไม่มีระเบียบก็อยู่ได้ ยังไงก็ได้ทั้งนั้น นี่แหละยังไงๆ ก็ได้ มันจะเป็นโทษ ต้องระวัง
เพราะฉะนั้น ต้องระวังเรื่องธรรมะนี่ ต้องมองหลายแง่หลายมุม ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ธรรมต่างๆ นี้ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นความง่ายในพุทธศาสนา จึงต้องมากับความเพียรเพื่อเข้าถึงจุดหมายอันประเสริฐ พระพุทธเจ้านี้ท่านอยู่ง่ายเพราะอะไร เพราะท่านทำกิจคือจุดหมายอันประเสริฐตลอดเวลา และท่านทำความเพียรอย่างยิ่งเลย ถ้ามิฉะนั้น ความง่ายมันจะมากับความขี้เกียจ
๑๔ สันโดษแล้วเป็นสุข แต่ต้องไม่สันโดษในกุศลธรรม สิ่งสำคัญสันโดษแล้วต้องมีความเพียร
[1:50:32] ทีนี้ความสันโดษ อาตมาจะยกตัวอย่างความสันโดษ ความสันโดษเพื่ออะไร ถ้าเรามองธรรมะแบบความสัมพันธ์เราต้องถามว่าเพื่ออะไร สันโดษเพื่ออะไร หลายคนบอกสันโดษจะได้มีความสุข ถ้าอย่างนี้อันตรายนี่แหละจะนำไปสู่ความมักง่าย พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่าสันโดษเพื่อความสุข แต่สันโดษแล้วเป็นสุขอันนั้นเป็นถูกต้อง
[1:50:32] สันโดษแล้วเป็นสุข แต่ไม่ใช่เพื่อความสุข ความสุขเป็นผลตามมาของความสันโดษ เพราะว่าปกติคนเรานี่ ความสุขอยู่ที่ความพอใจ สันโดษเป็นความพอใจเมื่อพอใจมันก็สุข นี้เราไม่พอใจไม่มีความสันโดษ เราก็เร่าร้อนกระวนกระวาย เราก็ทะยานหาสิ่งที่มีอยู่ก็ไม่ให้ความสุขแก่เรา ความสุขของเราก็อยู่เบื้องหน้าตลอดไป [1:51:35] ในแง่นี้ ความสันโดษก็เป็นสุข แต่มันไม่ใช่วัตถุประสงค์
ขอให้สังเกตว่าในธรรมะที่เป็นหมวด ที่อาตมาบอกธรรมะเป็นหมวด เพราะพระพุทธเจ้าบางทีตรัสธรรมะไว้เป็นคาถา ในคาถานี้เป็นเพียงคติธรรมจะเอาความสมบูรณ์ไม่ได้ เวลาตรัสในคาถามันจะเป็นจำเพาะไปมันไม่บอกองค์ธรรมที่เกี่ยวข้อง แต่เวลาตรัสมาเป็นข้อความเป็นคำสอนยาวๆ เป็นร้อยแก้วเนี่ยจะมีชุดเลย
[1:52:07] สันโดษนั้นจะมากับความเพียร ให้สังเกตพระพุทธเจ้าตรัสสันโดษที่ไหนจะตรัสความเพียรไว้ที่นั่น ตรัสศรัทธาไว้ที่ไหนจะตรัสปัญญาไว้ที่นั่น นี่คือธรรมะที่มันโยงกันที่มันต้องมาประกอบกันเข้า นอกจากว่าจะเป็นระบบดุลยภาพแล้ว มันก็เป็นความสัมพันธ์ในเชิงจุดหมายด้วย อย่างศรัทธานี้เพื่ออะไร เพื่อปัญญา ศรัทธาต้องประกอบด้วยปัญญาและต้องเพื่อปัญญา ถ้ามิฉะนั้นศรัทธาก็เหลวไหลได้ [1:52:41] ศรัทธาเหลวไหลเยอะแยะไป งมงายไปเลย เพราะฉะนั้นศรัทธามาลำพังอย่างไปไว้ใจ สันโดษก็มาลำพังไว้ใจไม่ได้ ต้องดูมากับอะไร อ้อมากับความเพียร พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว บอก
๑. ภิกษุสันโดษในจีวร ตามมีตามได้
๒. ภิกษุสันโดษในบิณฑบาต ตามมีตามได้
๓. ภิกษุสันโดษในเสนาสนะ ตามมีตามได้
๔. ภิกษุเป็นผู้ยินดีในภาวนา เพียรพยายามเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ อันนี้สำคัญ
เนี่ยต้องมาอันนี้เลย สันโดษมา ๓ ข้อ พอข้อที่ ๔ ความเพียรเลย เพราะอะไร เพราะว่าสันโดษนี้เป็นตัวช่วยสงวนเวลา แรงงานและความคิดไว้ ถ้าภิกษุไม่สันโดษในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ปัจจัย ๔ ไม่สันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอความสุข เที่ยวแสวงหาอาหารดีๆ ฉัน วุ่นวายอยู่กับเรื่องวัตถุบำเรอความสุข
๑. เวลาหมดไปกับเรื่องเหล่านี้
๒. แรงงานวุ่นวายกับเรื่องเหล่านี้ หมดไป
๓. ความคิด ครุ่นคิดว่าจะทำยังไงจะได้สิ่งเหล่านี้ ไม่เป็นอันได้เพียรพยายามทำหน้าที่
พอภิกษุสันโดษในปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ เวลาเหลือแล้ว แรงงานเหลือแล้ว ความคิดเหลืออยู่ เอามาระดมทำกิจหน้าที่ของตนเอง ตอนนี้ล่ะสันโดษก็มีผลเลย ฉะนั้นสันโดษต้องมาคู่กับความเพียร ความเพียรในการทำกิจหน้าที่ของตน แม้เป็นคฤหัสถ์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราไปมัววุ่นวายอยู่กับการแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัว เราก็ไม่มีเวลา แรงงาน ความคิดของเราก็ไม่มีในการที่จะบำเพ็ญปฏิบัติ เราก็จะวุ่นวายไปในการที่ว่าจะแสวงหาความสุขส่วนตัวแล้วก็หมดเวลา หมดแรงงานความคิดกับเรื่องเหล่านั้นกิจหน้าที่ไม่เป็นอันทำ การทำความดีประโยชน์ไรต่อไรสูงส่งเป็นไปไม่ได้ถ้าคนไม่สันโดษ แต่ถ้าสันโดษอย่างเดียวเพื่อความสุขก็จบเหมือนกันก็ไม่ต้องทำอะไร สันโดษพอใจมันก็สบายก็เลยเข้ากับหลักที่ว่า ขี้เกียจ เพราะฉะนั้นสันโดษก็ทำให้คนขี้เกียจได้ ถ้าไม่มาผนวกกับธรรมะที่เป็นคู่กัน แล้วสันโดษพระพุทธเจ้าก็ไม่ตรัสไว้ลอยๆ สันโดษจะต้องมีต่อว่าสันโดษในอะไร [1:55:25] พระพุทธเจ้าจะตรัสสันโดษไว้กับปัจจัย ๔ สำหรับภิกษุ แต่สำหรับชาวบ้านสันโดษต้องมากับตัวต่อว่าสันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัว ทีนี้มันมีอีกอันหนึ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ให้สันโดษ คือ “ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย” ถ้าเป็นกุศลธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยให้สันโดษเลย แล้วพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ที่เราได้ตรัสรู้นี้เห็นคุณค่าของธรรมะ ๒ ประการ คือ
๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย
๒. การทำความเพียรไม่ระย่อ
มี ๒ อัน เรียกว่า “อุปัญญาตธรรม” ธรรมะที่พระพุทธเจ้าก็เห็นคุณ [1:56:11] ธรรมะ ๒ ข้อนี้ เป็นหลักทั้งในพระสูตรและอภิธรรม ในพระอภิธรรมนั้นมีในมาติกา ในมาติกาภิธรรมชุดที่เป็นหมวด ๒ นั้นมีธรรมะคู่นี้ด้วย คือ หนึ่งความไม่สันโดษในกุศลธรรม สองความเพียรไม่ระย่อ
[1:56:28] เพราะฉะนั้นชาวพุทธนี่ถ้ามีใครมาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษใช่มั้ย อย่าเพิ่งรีบตอบ ต้องตอบบอกว่า ให้สันโดษในวัตถุบำเรอความสุข แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรม ในสิ่งที่ดีงาม การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์แล้ว ไม่ยอมให้สันโดษเป็นอันขาด [1:56:47] เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้บอกว่า [1:56:51] “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เราสรรเสริญอย่างเดียว คือ ความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย” [1:57:11]
พระพุทธเจ้าสรรเสริญอย่างเดียว ไม่ยอมให้หยุดเลยเรื่องกุศลธรรม และมีคาถาในธรรมบทก็เอามาอ้างอีกที พระพุทธเจ้าตรัสลงท้ายว่า “วิสฺสาสมาปาทิ อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ” แปลว่า ภิกษุจะได้เป็นพหูสูต ภิกษุจะได้ฌาน ได้สมาธิ ภิกษุจะได้ความสุขจากเนกขัมมะเป็นอนาคามี จะอะไรก็ตามตราบใดที่ยังไม่สิ้นอาสวะอย่าได้ถึงความวางใจ นี่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้น ขนาดเป็นอนาคามีแล้วบรรลุธรรมชั้นสูงแล้วอย่าได้ถึงความวางใจ ตราบใดยังไม่บรรลุความสิ้นอาสวะ อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสสำคัญมาก
เพราะฉะนั้นอาตมาจึงได้บอกเมื่อกี้ ในพระสูตรหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระอริยบุคคลเป็นโสดาบัน เป็นต้น ได้บรรลุธรรมเบื้องสูงแล้ว เกิดความสันโดษ เกิดความพอใจในธรรมที่บรรลุแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า นี่ปมาทวิหารี อยู่ด้วยความประมาทว่าเลยแม้เป็นพระอริยบุคคล อริยบุคคลบรรลุธรรมขั้นสูงแล้วเกิดสันโดษ พอใจขึ้นเป็น ปมาทวิหารี อยู่ด้วยความประมาท เพราะฉะนั้นเรื่องคุณธรรม กุศลธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ให้เราหยุดเลย จึงเข้ากับหลักเรื่องการพัฒนาตนต้องก้าวหน้าเรื่อยไป ถ้าเราเข้าใจหลักเรื่องนี้แล้ว ความพอดีเป็นทางสายกลางก็จะเกิดขึ้น เป็นทางที่นำไปสู่จุดหมายที่ถูกต้อง มิฉะนั้นธรรมะต่างๆ นี้จะคลาดเคลื่อนวุ่นวายไปหมด และจะทำให้เกิดโทษด้วยแม้แต่กุศลธรรม อย่างที่กล่าวแล้วว่า [1:58:53] แม้แต่กุศลธรรมก็เป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ อกุศลธรรมก็เป็นปัจจัยแก่กุศลได้ ต้องรู้จักใช้ และต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง [1:59:02] อันนี้แหละจะเข้าหลักที่เรียกว่า “ธรรมานุธรรมปฏิบัติ” คือ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เดี๋ยวจะเอ๊ะ ปฏิบัติอย่างไรสมควรแก่ธรรม ไม่รู้จะเอายังไงสมควรแก่ธรรม
ท่านอธิบายว่า [1:59:18] ปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่ หมายความว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ ธรรมะ คือ ตัวธรรมะหลักการใหญ่ อนุธรรม คือ ธรรมะข้อย่อย ธรรมะข้อย่อยนี้ต้องสอดคล้องกับธรรมะที่เป็นหลักการใหญ่ ธรรมะข้อย่อย ความสันโดษ ความเพียร ความอะไรต่างๆ เหล่านี้ต้องสอดคล้องกับธรรมะข้อใหญ่ เช่น การบรรลุโพธิญาณ การบรรลุสัจธรรม การเข้าถึงนิพพาน นี่หลักธรรมใหญ่ ธรรมะเหล่านี้ต้องเป็นไปเพื่อจุดหมาย ถ้าสันโดษไม่เป็นไปเพื่อจุดหมายก็แสดงว่าไม่เป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติ แต่ธรรมานุธรรมปฏิบัติจะเกิดขึ้นก็เพราะมันได้สัดได้ส่วนอย่างที่ว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างองค์ธรรมเป็นทางที่พอดี [2:00:05] วันนี้อาตมาก็ได้ยกตัวอย่างเรื่องทางสายกลางมา แต่ยังไม่ถึงเรื่อง ความไม่ประมาท ความไม่ประมาทจะมาเป็นตัวปรับอีกทีหนึ่ง ให้ความพอดีที่เป็นทางสายกลางนี้มันดำรงอยู่ได้ ไม่คลาดเคลื่อน
แต่ขณะนี้เวลาได้ล่วงมาถึง ๑๑ โมง ๑๗ นาทีแล้ว เพราะฉะนั้นอาตมาก็จะขอยกเรื่องความไม่ประมาทไว้พูดในครั้งต่อไป และก็ในตอนที่อาตมาพูดไปเยอะแยะวันนี้ โยมมีข้อสงสัยอะไร โยมก็บันทึกไว้ด้วย แล้วจะมาคุยกันต่อไป วันนี้ก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขออนุโมทนาที่โยมได้มา ณ ที่นี้ และฟังธรรม โดยสิ่งที่นำเรามาก็คือ ศรัทธาในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะได้มานมัสการสังเวชนียสถานมาเฝ้าองค์พระพุทธเจ้าในสถานที่พระรูปกายของพระองค์เคยปรากฏอยู่ ถึงแม้ว่าพระรูปกายจะล่วงลับดับสูญไปแล้ว แต่ที่ได้กล่าวแล้วว่าพระธรรมกายยังอยู่ และพระธรรมกายนี้ก็สามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกคน ถ้าเราปฏิบัติแล้วธรรมกายเกิดขึ้นในเรา นั่นคือการที่เราได้เห็นองค์พระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เราก็ได้เหมือนกับว่านำองค์พระพุทธเจ้ามาไว้กับตัวเรา ฉะนั้นก็ขอให้โยมได้บรรลุผลสำเร็จนี้ คือ ให้อาศัยการที่เรามาเฝ้าในที่เคยดำรงพระรูปกายของพระองค์ เป็นสื่อนำเข้าหาพระธรรมกายขององค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริง ขอให้ธรรมกายประชุมแห่งธรรมะในระดับต่างๆ นั้นปรากฎเป็นผลขึ้นในจิตใจของโยม เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ชีวิตที่ดีงาม สืบต่อไปตลอดกาลนาน เทอญ