แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขอเจริญพรโยมญาติมิตรสาธุชนทุกท่าน คณะพระสงฆ์ขออนุโมนาในการที่โยมทุกท่านได้มีจิตศรัทธา มาร่วมทำบุญด้วยกันในโอกาสวันสำคัญ ทั้งท่านที่มาอยู่เสมอเป็นประจำ แล้วก็โยมที่มาร่วมเป็นครั้งคราว ก็ชื่อว่าได้มาทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ช่วงเวลานี้ก็ถือว่าเป็นเทศกาลในงานบุญงานกุศล วันสำคัญคราวนี้มีต่อกันตั้ง 2 วัน วันนี้วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันอาสาฬหบูชา ทางการก็ให้อ่าน อา-สาน-หะ-บู-ชา บางญาติโยมบางทีก็อ่าน อา-สา-ละ-หะ-บู-ชา เดี๋ยวจะค่อยอธิบาย แล้วก็พรุ่งนี้วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จะเป็นวันเข้าพรรษา ก็เป็นวันสำคัญ 2 วันที่บางทีโยมก็แยกไม่ถูกเหมือนกัน วันนี้เรามาทำบุญเนี่ย ทำบุญทั้ง 2 อย่าง ทั้งๆ ที่ว่าวันเข้าพรรษาอยู่พรุ่งนี้ แต่ว่าพิธีที่โยมได้ประกอบไปเมื่อกี้นี้ ความจริงเป็นพิธีเนื่องในวันเข้าพรรษา ไม่ใช่อาสาฬหบูชา คือแต่โบราณเราก็ทำอย่างนี้ แต่ก่อนนี้ไม่มีวันอาสาฬหบูชา เราเพิ่งมีวันอาสาฬหบูชาเมื่อ พ.ศ.สองพันห้าร้อยเอ็ด นี่พูดแบบวิธีอ่านภาษาไทยตามหลัง ถ้าอ่านแบบปัจจุบันนิยมก็อ่านแค่ พ.ศ. สองพันห้าร้อยหนึ่ง คิดง่ายๆ ถึงปีนี้ก็ 46 ปี อาสาฬหบูชาเพิ่งมีมาได้เท่านี้ ส่วนวันเข้าพรรษานั้นมีมาแต่โบราณ ก็มีมาตลอดเพราะว่าตั้งแต่เกิดพุทธศาสนาไม่นาน พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์เข้าอยู่จำพรรษา 3 เดือน เรียกว่าครบไตรมาส ตั้งแต่นั้นมาก็มีวันเข้าพรรษา ฉะนั้นวันเข้าพรรษาก็มีมาแต่พุทธกาล วันอาสาฬหบูชาที่จริง ตัวจริงนั้นมีก่อนวันเข้าพรรษาอีก เพราะว่ามีตั้งแต่พระพุทธเจ้าประดิษฐานพุทธศาสนา แต่ว่าที่มาเป็นวันสำคัญในประเทศไทย ที่ญาติโยมมาประชุมกันประกอบพิธีที่เรียกว่าอาสาฬหบูชานี้ เพิ่งจะมีได้ 46 ปี ทีนี้แต่ก่อนเรามีแต่วันเข้าพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำนี้เราก็มาทำบุญเนื่องในโอกาสวันเข้าพรรษา การเข้าพรรษานี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าพระจะอยู่ตลอด 3 เดือน แล้วยังมีประเพณีสำคัญ สืบเนื่องเข้ามาอีกก็คือ ประเพณีบวชเรียน พอใกล้เข้าพรรษา ญาติโยมพุทธศาสนิกชนก็นำลูกหลานมาบวช ก็จะอยู่จำพรรษาด้วย นี่พระก็อยู่ประจำที่กัน มีการเล่าเรียนศึกษากัน 3 เดือน เป็นเรื่องใหญ่มาก ก็เลยมีการเตรียมการ ญาติโยมก็ถวายกำลังแก่พระสงฆ์ในด้านต่างๆ อันหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์เราเห็นกันต่อๆมาก็คือ ถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน เทียนพรรษาก็เป็นอุปกรณ์สำคัญที่เห็นว่าพระท่านอยู่จำพรรษานี่ก็ต้องอาศัยแสงสว่าง สมัยก่อนนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้กันทั่ว อาศัยตะเกียง อาศัยเทียน ก็ถวายอุปกรณ์ที่จะให้แสงสว่าง มีการประชุมทำวัตรสวดมนต์กันทั้งเช้าทั้งค่ำ แล้วทำวัตรสวดมนต์แล้วก็มีการประชุม มีการสั่งสอนแนะนำต่างๆ ก็ต้องอาศัยแสงสว่าง ญาติโยมก็ถวายเทียนพรรษาแล้วก็พัฒนาเรื่องเทียนพรรษากันมา จนกระทั่งว่ามีการประดับตกแต่ง มีการหล่อกันเป็นรูปร่างสวยงาม ทำกันกระทั่งใหญ่โตมากมาย กันให้จุดตลอด 3 เดือน ไม่ให้มีดับเลย มีบางวัดก็ยังถือประเพณีนี้กันอยู่ อันนี้ก็เลยกลายเป็นว่าเทียนที่ถวายนี่เป็นเทียนประธาน ส่วนประทีปอื่นก็ใช้กันไป เป็นเครื่องแสดงว่าเรามาถวายอุปกรณ์สำหรับเป็นเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์ที่จะอยู่จำพรรษา 3 เดือนนี้ อันนี้ก็เรื่องเทียนพรรษา ก็เลยเรียกว่าเทียนพรรษาที่อยู่คู่พรรษา เป็นเทียนถวายพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษา แล้วก็ผ้าอาบน้าฝน ถวายผ้าอาบน้ำฝน ก็เป็นผ้าที่พระจะใช้อาบน้ำ เพราะแต่ก่อนนี้ก็อยู่กับธรรมชาติ พระก็สรงน้ำฝน ญาติโยมก็อาบน้ำฝนเหมือนกัน ปัจจุบันนี้เรายังมีประเพณีนี้อยู่ ทั้งๆ ที่แทบจะไม่มีใครได้อาบน้ำฝนแล้ว นี่ก็เป็นเรื่องที่ดี คือเทียนพรรษาก็ยังอยู่ ทั้งๆที่เรามาใช้ไฟฟ้ากันทั้งนั้นแล้ว เดี๋ยวนี้ก็มีหลายแห่งก็ถวายไฟฟ้า ถวายพวกเครื่องไฟฟ้าต่างๆ ก็ถวายกันมากมาย ก็ถือว่าแทนเทียนพรรษา นี่รวมความก็คือเราทำวิถีทำบุญวันนี้ ทำบุญเนื่องในวันเข้าพรรษา ส่วนอาสาฬหบูชาก็เป็นการบูชาที่เกี่ยวกับวันสำคัญของพระพุทธเจ้า ในการที่พระองค์ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา ซึ่งมาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ ก็เลยมาซ้อนกัน เพราะฉะนั้นโยมต้องแยกให้ถูก ทีนี้ต่อไปก็จะอธิบายนิดหน่อย จริงๆ เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องพูดทุกปี เพราะฉะนั้นความหมายรายละเอียดปีนี้ก็คงไม่พูด ถือว่าโยมทราบกันดี แต่ว่ามาทบทวนในเรื่องหลักใหญ่ๆ ว่าวันอาสาฬหบูชานั้น เป็นวันที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ เหตุการณ์สำคัญในการปฏิบัติพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้ทรางประกาศพระศาสนา ได้ทำอะไรบ้าง เราระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพระองค์ เราก็เลยนึกถึงว่านี่เป็นวันที่สำคัญ จะเป็นวันที่ระลึก เราก็มาประกอบพิธีบูชาขึ้นมา แล้วก็เป็นการบูชาพระรัตนตรัย ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญนั้น วันนี้เป็นวันที่เป็นประเพณีที่เราทำด้วยความกตัญญูกตเวที ไม่ได้เป็นพุทธบัญญัติ เขาเรียกว่าเป็นประเพณีที่ไม่ได้เกี่ยวกับวินัยของพระสงฆ์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ว่าไม่ได้มีมาแต่เดิม ประเพณีวันสำคัญที่เดียวกับเหตุการณ์ทางพุทธศาสนานั้น ที่เรามีมาแต่เดิมแท้ มีวันเดียวคือวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือน 6 ระลึกถึงการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ พุทธศาสนาทุกประเทศมีวันนี้ วันวิสาขบูชา มีทุกแห่ง อย่างญี่ปุ่น มหายานเขาก็ยังมี เขาเรียกวัน Buddha birthday วันเกิดพระพุทธเจ้า แล้วเขาใช้สุริยคติ ทีนี้ต่อมาเมืองไทยเราก็มานึกว่าวันอื่นที่มีเหตุการณ์สำคัญ เราก็น่าจะยกขึ้นมาเป็นวันสำคัญด้วย มาสมัยรัชกาลที่ 4 ในหลวงรัชกาลที่ 4 จึงทรงยกวันที่เรียกว่าวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปฏิโมกข์ในที่ประชุมพระสงฆ์ที่มีองค์ประกอบการประชุม 4 ประการ เราเรียก จาตุรงคสันนิบาติ ก็จึงทรงประกาศให้วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักโอวาทปฏิโมกข์ คือวันเพ็ญเดือน 3 เนี่ย เป็นวันสำคัญของประเทศในทางพุทธศาสนา ก็เรียกว่าวันมาฆบูชา วันมาฆบูชาก็เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4 นี่เอง แล้วมาตอนฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ. 2500 รัฐบาลและประชาชนได้ประกอบพิธีทำบุญกันเป็นการใหญ่ที่สนามหลวง เสร็จแล้วคณะสงฆ์ก็มาประชุมกันว่า วันที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศพระพุทธศาสนาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก็เป็นวันที่สำคัญมาก พระสงฆ์ก็เกิดขึ้นในวันนั้นแหละ จะเรียกว่าพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นก็ได้ เพราะถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงออกเผยแผ่พระธรรมในวันนั้นแล้ว พุทธศาสนาก็ไม่ปรากฏ ก็น่าจะยกเอาวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกนี้ขึ้นมาเป็นวันสำคัญด้วย วันเดือน 8 นี้ ภาษาบาดีเรียกว่า อา-สา-ละ-หะ ตอนนั้นก็เลยบอกว่าเรามีวิสาขบูชา ในเดือนวิสาขะคือเดือน 6 แล้วก็มาฆบูชา บูชาในเดือนมาฆะ คือเดือน 3 แล้วเราก็ควรจะมีอาสาฬหบูชา ในเดือน 8 ด้วย คณะสงฆ์ก็เลยเสนอไปยังทางรัฐบาล ไม่ใช่เสนอหรอก แจ้งไปยังรัฐบาลว่าน่าจะได้ประกาศให้ประชาชนได้ทำบุญ รัฐบาลก็เห็นด้วย รัฐบาลก็ประกาศเป็นวันสำคัญ วันหยุดราชการของประเทศอีกวันหนึ่ง ก็เกิดมีวันอาฬหบูชาขึ้นมา ในปีพุทธศักราช สองหันห้าร้อยหนึ่ง หรือ สองพันห้าร้อยเอ็ด ที่ว่าเมื่อกี้นี้ น่าจะให้เกียรติด้วย องค์ที่ท่านยกขึ้นมาก็ท่านพระคุณพระธรรมโกษาจารย์ ชื่อซ้ำกับหลวงพ่อปัญญานันทะ แต่เป็นองค์เก่า มรณภาพไปนานแล้ว ต่อมาก่อนมรณภาพเป็นพระพิมลธรรม ก่อนนั้นก็ไปเป็นเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี แล้วก็เป็นสังฆมนตรีว่าการศึกษา องค์การการศึกษา คือตอนนั้นคณะสงฆ์ปกครองในระบบสังฆมนตรี เป็น พ.ร.บ. เก่า พ.ศ.2484 มีสังฆนายก มีสังฆมนตรี มีสังฆสภา มีระบบแบบเดียวกับทางบ้านเมือง ฉะนั้นก็ท่านเป็นอยู่องค์การการศึกษาก็เลยเสนอขึ้นมา แล้วก็คณะสังฆมนตรีเห็นชอบ พระสงฆ์ส่งเรื่องไปทางรัฐบาล รัฐบาลก็เลยประกาศเป็นวันสำคัญสืบต่อแต่นั้นมา นี่เป็นเรื่องของวันอาสาฬหบูชา เป็นเรื่องของวันสำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ส่วนวันเข้าพรรษาก็คือวันพรุ่งนี้ ที่ว่าเป็นวันทางพระวินัยที่เป็นพุทธบัญญัติเลย พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นต้นไป จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เพราะฉะนั้นเรื่องวันเข้าพรรษานี้จึงเป็นวันที่มีความแนบสนิทลึกซึ้งในวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยมาก เพราะว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพระ ความเกี่ยวข้องของญาติโยมกับทางวัด ญาติโยมจะมา สมัยก่อนนี้ก็มาทำบุญกันทุกวันพระ อย่างน้อยนะ บางวัดนี่อาจจะตลอด 3 เดือนเลยทำบุญกัน แล้วต่อมาก็ลดลงไป วันพระก็ญาติโยมก็มาทำบุญกันที่วัด เลี้ยงพระกัน ตักบาตรกันที่วัด วันธรรมดา พระก็ไปหาโยม ไปบิณฑบาตที่บ้าน ญาติโยมหลายท่านพอถึงวันพระวันเข้าพรรษา ก็ไปอยู่นอนวัดเลย ไปจำศีล ถืออุโบสถ บางท่านอยู่วัดไปจำศีลตลอด 3 เดือน เรียกว่าหลายท่านที่ห่างหน่อย ก็บอกว่าถึงเดือนเข้าพรรษาหรือเข้าพรรษาก็ขออดเหล้า ก็มีการสมาทานศีล ว่างดเหล้า 3 เดือน ที่จริงการงดเหล้า 3 เดือนก็คือว่าเป็นตั้งต้นต่อไป พอชินแล้วจะได้อดต่อ ทีนี้ถ้าไม่ระวังให้ดีกลายเป็นว่าฉันอด 3 เดือนตอนในพรรษา พอออกพรรษาทีนี้ฉลองเต็มที่เลย อย่างนี้ก็ไม่ถูก ควรจะเอาเป็นจุดเริ่มต้นว่าเราได้เริ่มแล้ว ที่เราชินแล้ว เราสามารถแล้ว เราพร้อมเราก็รักษาศีลข้อนี้ต่อไป งดเหล้าตลอดกาลไปเลย ดีตอนนี้ได้ทราบว่ารัฐบาลก็สนับสนุน เพราะคนไทยตอนนี้ชักกินเหล้ากันใหญ่ กินลงไปจนถึงเด็ก 5 ขวบ ท่าอย่างนี้สังคมไทยจะไม่ไหว สังคมคนเมา หรือเรียกแรงก็เป็นสังคมคนขี้เมา ถ้าเป็นคนขี้เมาก็เห็นจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เอาล่ะทีนี้นี่ก็เป็นเรื่องของการเข้าพรรษา เป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็พระสงฆ์ที่ญาติโยมได้มีศรัทธา ช่วยสืบต่อพระศาสนา โยมก็ทำบุญโดยบวชลูกบวชหลาน นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ทีนี้บอกว่าทำบุญบวชลูกบวชหลานได้เป็นญาติของพระศาสนา ถ้าพูดในแง่หนึ่งก็คือส่งลูกหลานเข้ามาช่วยสืบต่ออายุพระศาสนานั่นเอง แต่ความหมายก็มองได้หลายแง่ ที่จริงที่บอกว่าได้บุญๆ น่ะ ก็เกิดจากการทำบุญ ทำบุญแล้วก็เกิดเป็นบุญขึ้นมา แล้วก็ได้บุญ ทีนี้พูดไปพูดมาเหลือแต่ได้บุญ ได้บุญๆ ก็เลยบุญมาเป็นก้อนๆ เลยต่อมา ความจริงนั้น ทำบุญทำสิ่งที่ดีงาม แล้วสิ่งนั้นเป็นบุญ จิตใจของเราก็เป็นบุญเป็นกุศล การกระทำของเรา การพูด การเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ ทุกอย่างเป็นบุญ คือเป็นความดีไปหมด เราก็เลยได้บุญอื่นๆ เกิดเป็นคุณสมบัติที่ดีขึ้นมาใจกาย วาจา ใจ และความรู้ความเข้าใจ ปัญญาของเรา อันนี้เรียกว่าได้บุญ ก็คือความเจริญงอกงามของชีวิตจิตใจของเรา ตรงนี้แหละ จิตใจของเรามีปิติ มีความผ่องใส มีความสุข มีความดีงามทุกอย่างเพิ่มขึ้น อย่างนี้เรียกว่าได้บุญ แล้วก็ได้คุณสมบัติที่ดีงามเพิ่มขึ้นมาในชีวิตจิตใจของเรา ก็เป็นอันว่านี่ก็ทวนให้โยมไม่สับสน จะได้แยกออกว่าอันไหนเป็นเรื่องของวันอาสาฬหบูชา แล้วอันนั้นไหนเป็นเรื่องของการเข้าพรรษา ตอนนี้ที่เราทำพิธีในวันนี้นั้นที่ทำไปแล้วก็เป็นเรื่องสืบต่อจากโบราณก็คือ การถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน เนื่องในโอกาสที่จะเข้าพรรษาในวันพรุ่งนี้ โยมก็ทำบุญซะวันนี้ เพราะว่าพรุ่งนี้พระจะยุ่ง พรุ่งนี้จะเป็นวันที่พระวินัยกำหนดไว้ เพราะฉะนั้นพระก็จะต้องยุ่งกับเรื่องของพระวินัย เราก็เลยมาทำบุญกันซะวันนี้ ทีนี้เกิดมีทำบุญวันอาสาฬหบูชาขึ้นมาอีก ก็มาตรงวันนี้ ก็เลยซ้อนกันเลย วันอาสาฬหบูชาก็เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มทรงประกาศพระพุทธศาสนาแล้ว หลังจากตรัสรู้เมื่อเดือน 6 วิสาขบูชาแล้ว แล้วต่อมา 2 เดือน จึงได้ทรงแสดงธรรมครั้ง
แรก เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ไหน ทบทวนความจำโยมแล้ว ตรัสรู้ที่พุทธคยา รู้เวลาเสนานิคม โยมก็จำรูปพระเจดีย์ที่พุทธคยาได้ หลายท่านก็ไปมาแล้วที่สังเวชนียสถาน ตรัสรู้ที่นั่น อยู่แคว้นมคธ เสร็จแล้วพระพุทธเจ้าทรงมาพิจารณาว่า ธรรมะที่ทรางตรัสรู้นี้พระองค์ควรจะเผยแผ่ เผื่อแผ่ให้ผู้อื่น เขาจะได้มีความสุข มีชีวิตที่ดีงาม มีปัญญาเข้าใจ แต่พระองค์พิจารณาว่ายากมาก จะเข้าใจ มันทวนกระแสอยู่ แล้วก็ทรงพิจารณาว่า เอาล่ะ ถึงยังไงก็ต้องแสดง ทีนี้จะแสดงแก่ใครดี ครั้งแรก ในที่สุดก็มาตกที่พระปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ ที่เคยมาเฝ้าอุปัฏฐาก พระองค์อยู่ที่นั่นแหละ ที่ตรัสรู้ เขาพากันหนีไปตอนนั้น เห็นว่าพระองค์เลิกบำเพ็ญทุกรกริยา เลิกทรมานร่างกาย พวกนี้ก็ถือความคิดเห็น ติดทิฐิเก่าว่าจะต้องทรมานตัวเอง พระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วย พอพระพุทธเจ้าทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกริยา หันมาทรงเสวยภัตตาหาร พวกปัญจวัคคีย์ ก็เลยไม่พอใจ นึกว่าพระพุทธเจ้าเลิกความเพียรแล้ว ก็เลยหนีไป ไปไหนก็ไปอยู่ในถิ่นฤษี ถิ่นฤษีอยู่ที่ไหน ก็อยู่ในพาราณสี ป่าอิสิปมฤคทายวัน ก็เลยไปซะไกล พระพุทธเจ้าพอระลึกว่าจะต้องทรงแสดงธรรมให้กับพวกฤษีปัญจวัคคีย์ พระองค์ก็ต้องทรงเดินทาง เสด็จเดินทางพระบาทเปล่าไป ใช้เวลาลองคิดดูสิ แล้วก็ไปถึงนั้น แล้วก็ในที่สุด ก็วันเพ็ญนี้พอดี ก็เลยได้ทรงแสดงธรรมครั้งแรกหลักตรัสรู้ ก็เลยเรียกว่าปฐมเทศนา เทศนาครั้งแรก ก็เลยแสดงธรรมไกลจากที่ตรัสรู้ เป็นคนละแคว้น แคว้นที่ไปแสดงธรรมนี่ชื่อแคว้นกาสี แคว้นกาสีตอนนั้นได้หมดอำนาจตกเป็นเมืองขึ้น ไม่เป็นเมืองขึ้นหรอก เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโกศลไปแล้ว แต่ว่ากาสีนั้นยังเป็นชื่อที่ติดมาแต่เดิม แล้วเมืองพาราณสีนี้คือเมืองหลวงของแคว้นกาสีเก่า ทีนี้แคว้นโกศล เขาชื่อเมืองหลวงว่า สาวัตถี ทีนี้พาราณสีถึงแม้ว่าจะหมดฐานะเป็นเมืองหลวงของแคว้นแล้ว แต่ก็ยิ่งใหญ่มาก เป็นเมืองโบราณและเป็นเมืองศาสนา เป็นเมืองที่พวกนักปราญช์ต่างๆ ไปอยู่กัน ฉะนั้นพวกฤษีก็อยู่ที่นั่น พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปที่นั่น เมืองพาราณสี แล้วแสดงธรรมที่นั่น เวลาก็เลยห่างกันตั้ง 2 เดือน แสดงธรรมครั้งแรกแล้ว ปัจวัคคีย์ ก็ได้เข้าใจธรรมะ บรรลุธรรม ท่านแรกก็คืออัญญาโกณฑัญญะ ชื่อเดิมก็โกณฑัญญะ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแล้วก็ได้โกณฑัญญะ เข้าใจ บรรลุธรรม ก็เรียกว่าปฐมสาวก สาวกองค์แรก แล้วท่านขอบวชด้วยก็เลยเป็นพระภิกษุองค์แรก เป็นพระภิกษุองค์แรกก็เลยถือว่าเริ่มเกิดสงฆ์ คือยังไม่เป็นสงฆ์ ที่จริงสงฆ์ต้อง 4 รูปขึ้นไป แต่นี่คือการกำเนิดสงฆ์ เพราะว่าการเป็นสงฆ์ขึ้นมา 4 รูป ก็ต้องเริ่มจาก 1 นี่แหละ นั่นก็เลยถือว่าจุดกำเนิดของสงฆ์เกิดขึ้นในวันอาสาฬบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ด้วย ก็เลยเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง มีการประดิษฐานพุทธศาสนา แล้วก็เลยเป็นเรื่องสืบต่อกันมา เราก็ไม่ได้ยกให้ความสำคัญอะไร ก็อยู่ในพุทธประวัติ เวลาเรียนก็เรียนกันไป จนกระทั่งมาปี 2501 นี่แหละ จึงได้ยกขึ้นมาเป็นวันสำคัญของราชการ แล้วก็ถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศานา นี่ทบทวนให้โยมฟัง บางทีทำบุญกันไปก็เลยลืมความหมายเรื่องเก่าๆ นานๆ ก็ต้องทบทวนกันสักที ทีนี้โยมเข้าใจดีแล้ว ก็คุยกันแบบสบายๆ เอาละ ตอนนี้เราทำบุญทั้ 2 วัน ในส่วนอาสาฬหบูชาเราระลึกถึงเหตุการณ์นั้น เราก็เอาธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้นในวันนั้น มาพูดมาอธิบายกัน แล้วก็เวียนเทียน เพราะฉะนั้นส่วนที่จะเป็นเรื่องของวันอาสาฬหบูชาก็คือตอนเวียนเทียน ซึ่งเราจะทำการเวียนเทียนนี้ในวันสำคัญทีว่าบูชาๆ ทั้งหลาย วันวิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชา เราก็ทำพิธีเวียนเทียน เพราะว่าบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย เนื่องในเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติทั้งนั้นเลย ทั้ง 3 อย่าง แต่ถ้าอย่างวันนี้วันเข้าพรรษา ไม่เรียกเป็นวันบูชา เพราะเป็นวันที่เกี่ยวกับพระวินัยของสงฆ์ ตอนนี้เราทำพิธีเนื่องในวันเข้าพรรษาเสร็จ เดี๋ยวโยมก็จะทำพิธีเนื่องในวันอาสาฬหบูชา นั่นคือการเวียนเทียนต่อไป ตอนนี้เลยทำทั้ง 2 อย่าง วันนี้ เท่ากับว่าโยมมาวัดครั้งเดียว ได้ทั้งสองงานพร้อมเลย ได้บุญทวีคูณ ฉะนั้นก็ควรจะมีความปิติยินดี แต่อย่างที่กล่าวแล้ว จะได้บุญก็คือต้องทำบุญก่อน ทำบุญก็คือทำความดี ทำความดียังไง ก็ทำความดีทางใจ ทำความดีทางกาย ทำความดีทางวาจา ทำความดีทางใจก็คือ ทำใจให้ดีงาม ให้ปลอดโปร่งผ่องใส เบิกบาน แช่มชื่น มีปิติ มีคุณธรรม มีศรัทธา มีเมตตา จิตใจเป็นบุญเป็นกุศลทั้งหลาย นี่ก็จิตใจดี แล้วก็คิดดี ตั้งใจจะทำความดีต่างๆ คิดจะทำดี คุณพ่อคุณแม่ก็คิดทำดีต่อลูก อันนั้นเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ทีนี้ลูกก็ต้องคิดทำดีต่อพ่อแม่ด้วย ถ้าลูกคิดทำดีกับพ่อแม่ปู่ย่าตายายวันนี้ก็เนี่ย ลูกก็แสดงว่าทำดีแล้ว ก็ทำดีในวันอาสาฬหบูชา ทำดีนี่ก็คือ ทำดีกับเพื่อนมนุษย์ ทำดีกับเพื่อนร่วมโลก ทำสังคมของเราให้ดี เว้นจากความชั่วทั้งหลาย แล้วก็ทำดี คิดมาแล้วก็ต้องทำจริงด้วย ทำทางวาจาก็พูดออกมาชักชวนกันทำความดี แล้วก็ทำทางกาย ก็ไปทำสิ่งที่เขาเรียกปัจจุบันว่าทำการสร้างสรรค์ทั้งหลาย อย่างนี้แหละ ก็เป็นการทำบุญแล้ว พอทำความดีคือทำบุญแล้ว มันก็เกิดเป็นคุณสมบัติพัฒนาขึ้นเป็นชีวิตจิตใจของเรา เป็นความดีงาม จิตใจของเราเป็นจิตใจที่ดี มีความเบิกบานผ่องใส มีความสุข ลูกกับพ่อแม่ทำดีต่อกัน มีความรักกัน ต่างคนต่างก็มีความสุข บุญก็เจริญเพิ่มพูนขึ้นมา ก็ได้อานิสงส์ทันที สังคมของเรพอลูกกับพ่อแม่ปู่ย่าตายายอยู่กันดีมีความสุขรักกัน แล้วสังคมก็พลอยร่มเย็นเป็นสุขไปด้วย สังคมก็ได้บุญ ก็เป็นสังคมบุญกุศล มีความสุขงอกงาม ก็อย่างนี้แหละที่พระท่านมาให้เรามาทำบุญๆ กันนี่ก็เพื่อมาย้ำให้ญาติโยม มาสร้างสมความดีกัน อย่าลืมเรื่องความดีต่างๆ งดเว้นต่างๆ การเบียดเบียนอะไรต่างๆ เว้นหมด ทำบุญด้วยกาย วาจา ใจ แล้วก็ได้บุญ แล้วเราก็มาเวียนเทียน เวียนเทียนบูชาพระรัตนตรัย หรือพระพุทธเจ้าก็ตามประสงค์ เห็นท่านแล้วก็นึกถึงคำสอนของท่าน อย่างวันอาสาฬหบูชานี้ ก็อย่างที่อาตมาบอกเมื่อกี้แล้ว บอกว่าเป็นการบูชาในวันอาสาฬหะ อาสาฬหะเป็นชื่อเดือนมันไม่ใช่วัน ก็ต้องเติมให้เต็ม เติมว่าไง เติมให้เต็มก็ต้องว่า อาสาฬหปุรณมีบูชา นี่คือคำเต็มนะ ที่เรียกว่าอาสาฬหบูชานี่คือคำตัดสั้น เรียกอย่างรู้กัน ถ้าเรียกเต็มเขาไม่เรียกอย่างนี้ เขาเรียกว่า อาสาฬหปุรณมีบูชา หรือ ปูรณมี เป็นภาษาบาลี เอาอีก บอกว่าภาษาไทยเรานิยมสันสกฤตมากกว่า ในรูปนี้เราก็เรียกเป็น ปุ-นะ-มี บ้าง ปู-ระ-นะ-มี บ้าง ก็เลยเรียกว่า วันอาสาฬหปุรณมี หรือโยมจะชอบ ปู-ระ-นะ-มี ก็แล้วแต่ เติม บูชา เข้าไป ปู-ระ-นะ-มี บ้าง ปุน-นะ-มี นี่แปลว่าอะไร วัน 15 ค่ำ ก็หมายถึงวันจันทร์เพ็ญ เพราะคำว่า ปุน-นะ ก็คือบริบูรณ์ ปู-ระ-นะ-มี โยมก็เห็นอยู่แล้ว บูรณ์ ก็แปลว่าอะไร เต็ม อะไรเต็มล่ะ ท่านว่าพระจันทร์เต็ม พระจันทร์เต็มก็คือพระจันทร์เต็มดวง
วันปูรณมี ก็คือวันที่พระจันทร์เต็มดวง แค่นี้ก็สบายแล้ว บอกว่า วันอาสาฬหปุรณมีบูชา แปลว่าอะไร ก็แปลว่าการบูชาวันเพ็ญเดือน 8 ตอนนี้ครบบริบูรณ์แล้ว ทีนี้เรียกอย่างนี้ยากไป ก็เลยเรียกแค่ว่าอาสาฬหบูชา ทีนี้ทำไมเป็น อา-สา-หะ บ้าง อา-สา-ละ-หะ บ้าง อันนี้ก็อธิบายง่ายๆ ก็คือว่าตามหลักภาษาท่านให้ถือว่าต้องการ อา-สา-หะ แต่ว่าบางท่านบอกว่าตัว หะ เป็นตัวบังคับให้สามารถทำให้ตัวหน้าที่สะกดออกเสียงครึ่งหนึ่งได้ เพราะฉะนั้นจึงออกเสียง ละ ด้วยนิดนึง เป็น อา-สา-ละ-หะ ก็เลยเกิดเป็น 2 อย่างขึ้นมา ก็โยมไม่ต้องไปถือสาละ เอาละ ฟังไว้เป็นความรู้ก็แล้วกัน ทางราชการประกาศให้อ่าน อา-สา-หะ ก็อ่านไปตาม แต่ว่าเรื่องความรู้ก็หาไป ไม่ต้องไปขัดข้อง นี่ก็เป็นเรื่องเกร็ดความรู้ต่างๆ มาเล่าให้โยมฟัง แล้วจะนึกออก แล้วไปในที่สุดก็ต้องมาพูดถึงเนื้อหาสาระของธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันอาสาฬหบูชา เด็กๆ ทั้งหลายอยู่โรงเรียนเนี่ย ตอนนี้ต้องรู้แล้วแหละ ที่บอกว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐทเทศนา เทศนาครั้งแรกนั้นชื่อว่าอะไร เด็กนักเรียนบางทีอยู่ข้างล่างซะแล้ว ก็ให้ตอบในใจ ปฐมเทศนาก็แปลว่าเทศนาครั้งแรก แต่ว่าตัวเทศนาเอง คำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เขามีชื่อเฉพาะเรียกว่าอะไร เด็กที่จำแม่นก็จะตอบบอกว่าชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตนสูตร ได้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะวันนั้น เทศน์วันนั้นเรียกว่าธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นพระสูตรหนึ่ง พระสูตรก็คือคำสอนเรื่องหนึ่งๆ ว่าด้วยธัมมจักกัปปวัตน แปลว่าอะไรล่ะทีนี้ วันนี้มาทวนกันหน่อย ธัมมจักกัปปวัตนะ กัปปวัตนะก็แปลว่าให้เป็นไปหรือหมุน ให้เป็นไปก็คือหมุนนั่นเอง แล้วทีนี้ธรรมจักรอะไร ธรรมจักรก็มาจากธรรมะปกติ จักรอะไร จักร ล้อ ว่างั้น จัก-กะ ก็แปลว่า ล้อ ง่าย ธรรมจักร ก็แปลว่าวงล้อแห่งธรรม วงล้อแห่งธรรม กัปปวัตนะ ทำวงล้อแห่งธรรมให้เป็นไป ก็คือหมุนวงล้อแห่งธรรม นั่นเอง หมายความว่าวันนั้นพระพุทธเจ้าทรงหมุนวงล้อธรรม ก็คือเริ่มประกาศธรรมะ สอนธรรมะ ทำไมถึงเป็นการหมุนธรรมจักร อันนี้เป็นเรื่องที่โยมต้องทำความเข้าใจ เรามองได้หลายอย่าง คำว่า จักร นี่มีความสำคัญมาก ปัจจุบันนี้ยังอยู่ในร่องรอยภาษาในวัฒนธรรมมาก บ้านเมืองทั้งประเทศเราก็เรียกว่าอาณาจักร ทำไมเรียกอาณาจักร จักรนี่แปลว่าอะไร แปลว่า ล้อ อาณาแปลว่าอะไร อาณา แปลว่า อำนาจ แล้วทำไม ก็แปลว่า วงล้อแห่งอำนาจ บ้านเมืองเราเรียนอาณาจักร ทำไมไปอย่างนั้น อันนี้ก็ไม่ยาก อธิบายง่ายๆ จักรคือล้อ มีความสำคัญอย่างยิ่งในอารยธรรมมนุษย์ มนุษย์สมัยก่อนนี้ยังไม่มีความเจริญ ไม่มีล้อใช้ ยังไม่ประดิษฐ์ล้อ เดินทางไปไหนลำบาก ใช้เวลานานมากมาย ต่อมามีเรือ ไปเรือก็ยังช้าอยู่ จนกระทั่งต่อมามีผู้ประดิษฐ์ล้อขึ้นได้ เขาคิดประดิษฐ์ขึ้นได้เมื่อ 3,500 ปีก่อนคริสตศักราช ว่างั้นนะ ประมาณนั้น เริ่มประดิษฐ์ล้อขึ้นได้ ครั้งนี้แหละเดินทางเร็ว ล้อนี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอารยธรรมมนุษย์ การค้าขายเริ่มเลย เคยขายของได้แต่ในถิ่นใกล้ๆ ตอนนี้ขนของไปขายเมืองไกลแล้ว การค้าการพาณิชย์ขยายไป มีกองคาราวานขึ้นมาแล้ว อินเดียก็มีกองเขาเรียกว่า สัต-ตะ-หะ แปลว่าคาราวาน ก็คือไปกันเกวียน 500 เล่ม อะไรอย่างนี้นะ เดินทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง อย่างพวกกามนิต-วาสิฏฐี กามนิตก็เป็นพวกพ่อค้าอะไรพวกนี้เหมือนกัน นำเอาสินค้าขึ้นกองเกวียน นำไปค้าขายในต่างแดน ต่างแคว้น ต่างประเทศ การค้าขายก็เจริญรุ่งเรือง แต่อีกอันหนึ่งที่สำคัญก็คือการรบราฆ่าฟัน สงคราม การแผ่ขยายอำนาจดินแดนมา นี่ละยิ่งหนักเข้าไปอีก ตอนนี้พอมีล้อแล้ว มีรถใช้ ตอนนี้แหละแผ่อำนาจได้เร็ว เพราะไปเคลื่อนไหวกันไปพวกทัพตอนนั้นก็นั่งรถ รถนี้หายาก ต้องผลิตรถกันอย่างดี ต้องมีช่างพิเศษ ทำรถสำหรับกษัตริย์ที่ไปรบในการสงคราม เพราะฉะนั้นวงล้อนี้ก็กลายเป็นวงล้อมที่มีความหมายถึงรถที่เป็นรถศึก คือรถที่ไปทำสงคราม รถทำสงครามก็คือแผ่อำนาจไป เพราะฉะนั้นวงล้อรถหมุนไปถึงไหนก็คืออำนาจของพระราชาหมุนไปถึงนั่น ฉะนั้นก็เกิดมีคำว่าอาณาจักร ก็คือดินแดนที่วงล้อแห่งอำนาจหมุนไปถึง นั่นก็เลยเกิดคำว่าอาณาจักรขึ้นมา เป็นเครื่องหมายของอารยธรรมที่สำคัญมาก สมัยก่อนนี้ไม่มีล้อ ก็แผ่อำนาจยากเหลือเกิน เดินทัพกันไปนี่แทบแย่ ทีนี้ล้อก็เลยเป็นเครื่องหมายของอำนาจ เครื่องหมายความเจริญก็ความหมายที่สำคัญคือการค้าพาณิชย์อันหนึ่ง แล้วก็การขยายดินแดนอันหนึ่ง เรื่องของพ่อค้าวาณิชกับเรื่องขององค์พระมหากษัตริย์ นี่ก็คือเรื่องของความเจริญทางวัฒนธรรม ก็เป็นอันว่าคำว่าจักรหรือล้อนี่มีความหมายสำคัญอย่างยิ่งในอารยธรรม ล้อนี่มันมีความหมายมาเรื่อยเลย เป็นล้อรถ เป็นล้อหมุน เป็นกังหันน้ำ กังหันลม ล้วนแต่นำอารยธรรมมาสู่มนุษย์ทั้งนั้น จนกระทั่งว่ามาเป็นล้อในวงารอุตสาหกรรม คือเป็นฟันเฟือง ฝรั่งเขาเรียก geer ใช่ไหม ฟันเฟืองก็เป็นเครื่องหมายของอุตสาหกรรม เวลานี้อุตสาหกรรมยังใช้ตัวเฟืองนี้เป็นความหมายของระบบอุตสาหกรรม เกิดขึ้นมาก็เพราะระบบล้อนี่แหละ ล้อที่หมุนนี่มันจริญขึ้นมาจนกระทั่งมาเข้าโรงงาน เป็นวงล้อ เป็นฟันเฟือง ทำให้ความเจริญของอารธรรม หมุนไป ฉะนั้นตัวล้อนี่แหละคือตัวหมุนอารยธรรมมนุษย์ไปสู่ความเจริญ กระทั่งในยุคปัจจุบันก็มาเป็นเจ็ต เป็นไอพ่น แต่ก็ยังต้องอาศัยล้อ อาศัยฟันเฟืองขึ้นไป ไปถึงอากาศ ไปสู่อวกาศเนี่ย อารยธรรมมนุษย์มาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นในสมัยโบราณตอนนั้นยุคนั้น ก็มีแต่ล้อรถ ยังไม่มีเครื่องบิน เพราะฉะนั้นล้อรถก็เป็นสัญลักษณ์ของความมีความเจริญ มีอารยธรรม แล้วก็อำนาจ อย่างที่กล่าวแล้วก็คืออาณาจักร ทีนี้อาณาจักรแผ่ไป ในแง่หนึ่งก็พาความเดือดร้อนไปด้วยนะ เวลาแผ่อำนาจไปทีหนึ่ง ทำสงครามกันทีหนึ่ง คนล้มตายกัน บางสงครามเป็นแสน ยิ่งกว่าแสนเป็นหลายแสน แต่มนุษย์ก็มีความเดือดร้อนอะไรต่างๆ กัน วุ่นวาย แม้แต่การค้าพาณิชย์ก็หาบริโภค มีความลุ่มหลงมัวเมา มีการทะเลาะเบาะแว้ง แย่งชิงผลประโยชน์อะไรต่างๆ เรื่องของมนุษย์มันก็มีปัญหาด้วยใน โลภะ โทสะ โมหะ พระพุทธเจ้าทรงเห็นปัญหาความเดือดร้อนของมนุษย์ ทีนี้ทำยังไงถึงจะให้มนุษย์อยู่กันดี ก็ต้องมีธรรม ทีนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้แล้ว ก็มองเห็นว่าดินแดนแห่งอำนาจ ถ้าปกครองโดยไม่มีธรรม มันก็เดือดร้อน เพราะฉะนั้นจะต้องมีดินแดนแห่งธรรม ฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็แทนที่จะทรงประกาศอาณาจักร พระองค์ก็เป็นกษัตริย์เก่าเหมือนกัน เป็นเจ้าชายมา แทนที่จะประกาศอำนาจเป็นอาณาจักร พระองค์ก็ทรงใช้ศัพท์ใหม่ แทนที่จะเป็นวงล้อแห่งอำนาจ ก็เป็นธรรมจักร แปลว่าวงล้อแห่งธรรม พระพุทธเจ้าจะทรงหมุนวงล้อแห่งธรรม และแทนที่จะหมุนวงล้อแห่งรถศึก หรือรถที่ไปทำสงคราม ก็หมุนวงล้อแห่งธรรมะ ให้ธรรมะนี้เริ่มเคลื่อนแผ่ขยายไป ไปถึงดินแดนไหน แสดงธรรมที่นั้นเป็นธรรมจักร ฉะนั้นธรรมจักรก็คู่กับอาณาจักร ถ้าดินแดนไหนเป็นดินแดนที่มีคุณธรรมความดี ประชาชนตั้งอยู่ในศีลในธรรม มีความเมตตาปราณีต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่สร้างความเดือดร้อน ดินแดนนั้นก็เป็นธรรมจักรได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงเริ่มประกาศธรรมจักร ทีนี้ธรรมจักรก็เลยมีความหมายได้ 2 ชั้น ชั้นที่หนึ่งก็คือว่าหมุนวงล้อ หมุนวงล้อรถนี้ที่ให้รถเคลื่อนไป แล้วความหมายที่สองก็คืออาณาจักรแห่งธรรมะนั่นเอง คู่กับอาณาจักร เป็นธรรมจักร ทีนี้อันนี้เป็นความหมายที่พระพุทธเจ้าน่าจะทรงพระประสงค์ ขอให้ดูก่อนที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาพาราณสี ทรงมาแสดงธรรมครั้งนี้ พระพุทธเจ้าระหว่างทางได้มีตรัสตอนหนึ่ง อาตมาจะว่าเป็นภาษาบาลีให้ฟัง พระพุทธเจ้าตรัสกับคนหนึ่งในระหว่างทาง พระองค์บอกว่า ทำ-มะ-จัก-กัง-ปะ-วัด-เต-ตุง-คัด-ฉา-มิ-กา-สิ-นัง-ปุ-รัง-อัน-ทะ-พู-ตัด-สะ-หมิง-โล-กะ-สะ-หมิง-อะ-หัน-จิง-อะ-มะ-ตะ-พุน-ทุ-พิง ว่างั้น แปลว่าอะไร คนไปมองแต่ธรรมจักรตอนที่แสดงที่พาราณสี
ป่าอิสิปมฤคทายวัน ไม่ได้ดูตอนก่อนระหว่างเสด็จ พระองค์เสด็จมานั่นประกาศไว้แล้วนะว่าพระองค์จะทำอะไร แปลข้อความเมื่อกี้บอกว่า เราจะไปสู่นครแห่งแคว้นกาสี นครแห่งแคว้นกาสี ก็คือเมืองพาราณสี เพื่อหมุนธรรมจักร ว่างั้น เพื่อยังธรรมจักรให้เป็นไป นี่บอกชัดแล้ว เราจะลั่นกลองอมตะในโลกที่มืดบอด นี่เป็นคำในภาษาบาลีนะโยมจำไว้เลย ก็หมายความว่าบุคคลมืดมัวเมากันอยู่ด้วยกิเลสเนี่ย โลกมันก็เลยไม่สงบ มันถึงร้อน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็จะนำเอาแสงสว่างแห่งปัญญา ให้รู้ธรรมะนี้ไปประกาศ เรียกว่าลั่นกลอง ก็เหมือนกับเขาลั่นกลองรบ เวลาเขาขะเขยื่อนรถศึกใช่ไหม เขาก็ต้องลั่นกลอง เขาเรียกว่า สงครามเภรี หรือยุทธเภรี เวลาจะเคลื่อนรถนี่เขาลั่นกลองยุทธเภรี ก็คือกลองรบ พอกลองรบสนั่นขึ้นมาแล้วก็เอาล่ะได้รบกันแล้วทีนี้ มันก็เป็นกลองรบนี่ถ้าพูดไปแล้ว ก็เป็น มตเภรี นะกลองแห่งความตาย ใช่ไหม พอมันรบกันแล้วมันตาย ทีนี้พระพุทธเจ้าทรงใช้ศัพท์ใหม่ว่า อะ-มะ-ตะ-พุน-ทุ-พิง กลองอมตะ พระพุทธเจ้าบอกว่าเราจะลั่นกลองไม่ตาย ว่างั้นเถอะ คือว่าที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วได้ธรรมะไป เป็นดินแดนแห่งธรรมนี้ ไม่ตาย แต่จะมีสันติสุขแทน ฉะนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปนี่พระองค์ประกาศชัดแล้วพระองค์จะเหมือนกับว่าพยายามแผ่ดินแดนแห่งธรรมะให้ขยายออกไป ให้ประชาชนมีความสงบร่มเย็นเป็นสุข ถ้าอาณาจักรแผ่ไปแล้วน่ากลัว พอรบกันก็ล้มตาย เดือดร้อนกันไปทั่ว พอธรรมะแผ่ไปก็มีความร่มเย็นเป็นสุข นี่ก็เป็นเรื่องที่เป็นคติอันหนึ่ง ฉะนั้นให้เราทั้งหลายมานึกว่าทำยังไงเราจะแผ่ธรรมะให้วงล้อแห่งธรรมะนี้หมุนไปนี้เป็นอันหนึ่ง สองทำยังไงจะให้บ้านเมืองของเรานี่เป็นธรรมจักร เป็นดินแดนแห่งธรรมะ เวลานี้มันไม่เป็นดินแดนแห่งธรรมะซะแล้ว มันเป็นดินแดนอะไรก็ไม่รู้ โยมลองนึกเอาตอนนี้ปัญหามันชักมากขึ้นทุกวัน จนกระทั่งว่าอย่างที่ว่าเมื่อกี้ รัฐบาลบอกว่าขนาดเด็ก 5 ขวบ เริ่มกินเหล้าแล้ว สมัยก่อนมันคงเป็นไปไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เป็นยุคของการเสพ การบริโภค ที่เขาเรียกบริโภคนิยม ทีนี้เวลานี้มันจะไม่ใช่ธรรมจักร มันมีอาณาจักรอยู่ แต่ว่าอาณาจักรนั้นไม่คู่กับธรรมจักร มันเป็นคู่กับอะไรซะแล้ว ก็เรื่องที่รุ่งเรืองมากก็คือ หนึ่ง-เรื่องการหาผลประโยชน์ เรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องเงินเรื่องทองก็เป็นเรื่องกามจักร หาเงินหาทองมาเพื่อจะได้บำรุงบำเรอบริโภค หรือรวมธนทรัพย์เข้าไปก็ กามธนจักร หรือ กามโภคจักร หรืออะไรก็แล้วแต่โยมจะใช้คำไหน หรือ ธนกามจักร กามธนจักร ก็ได้ เดี๋ยวนี้มันจะกลายเป็นอย่างนั้นไปแล้ว เป็นการหมุนไปแห่งวงล้อ ของกาม และทรัพย์ หรือผลประโยชน์ หรือการบริโภค จะใช้ กามโภคจักร ก็หมายความว่าเป็นการหมุนไปหรือเป็นดินแดนแห่งการบริโภค ในการเสพบริโภค การบำรุงบำเรอ การมัวเมา เพราะฉะนั้นเราจะต้องแก้ไขถ้าเห็นว่าสิ่งนี้ไม่ดี ก็จะต้องพยายามที่หนุนธรรมจักรขึ้นมา ทีนี้ธรรมจักรจะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร อย่างน้อยก็ต้องเริ่มด้วยมีทางสายกลางก่อน มีความพอดีในการดำเนินชีวิต ไม่เอียงสุดเกินไป เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรมจักร ก็เลยประกาศวิถีชีวิตสายกลางขึ้นมาก่อน วิถีชีวิตทางสายกลางก็เป็นสาระสำคัญของปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร เริ่มที่ทรงแสดง มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่าทางสายกลาง ไม่ไปสู่สุดโต่ง 2 ด้าน หนึ่ง-กามสุขัลลิกานุโยค ความหมกหมุ่นมัวเมาอยู่ในกามสุข แล้วก็สอง-อัตตกิลมถานุโยค การมัวแต่ทำตัวเองให้ลำบากเปล่าๆ ไม่อยู่กับเหตุผลสติปัญญา ไปทำในสิ่งเรื่องเหลวๆ ไหลๆ ที่มันสิ้นเปลืองเวลา สิ้นเปลืองแรงงานไป ไม่สร้างเหตุให้เกิดผลที่ต้องการที่แท้จริง อันนี้รายละเอียดก็ไปศึกษากันดู ก็เป็นอันว่าให้เว้นที่สุดโต่ง 2 ด้าน หรือทางสุดโต่ง 2 ทาง ให้ดำเนินชีวิตทางสายกลาง ทางสายกลางพระองค์ก็จะขยายความต่อไป ก็คือทางที่เรียกว่า อะ-ริ-ยะ-อะ-ถัง-กิ-กะ-มรรค มีองค์ 8 ประการ ซึ่งชาวพุทธเราก็อาจจะจำได้กันเยอะทีเดียว มีสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบด้วยปัญญา เป็นต้น นี่ก็เป็นเรื่องของทางสายกลาง แล้วก็ทรงแสดงหลักการใหญ่เรียกว่า อริยสัจ ก็เป็นเรื่องหลักการในการแก้ปัญหาชีวิต ความทุกข์ จนกระทั่งปัญหาของชีวิตมนุษย์ทั้งหมด ซึ่งให้เป็นไปตามเหตุตามผลด้วยความกำลังเรี่ยวแรงความเพียรและสติปัญญของมนุษย์ อันนี้ก็คือหลักอริยสัจ ซึ่งต้องรู้ว่าทุกข์ ปัญหาอะไรต่ออะไรเป็นยังไง สมุทัย เหตุปัจจัยของมันคืออะไร แล้วจุดหมายของเราคืออะไร เราจะทำได้แค่ไหน เราควรจะเอาได้แค่ไหนก่อน แล้วก็วางวิธีปฏิบัติเข้าไป ทำไปตามนั้น คือสร้างเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลสำเร็จที่ดี อันนี้ก็เรียกว่าอริยสัจ 4 ฉะนั้นวันอาสาฬหบูชานี้ ทรงแสดงธรรมะ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ก็มีสาระสำคัญ 2 อย่างนี้ ก็คือทางสายกลาง กับอริยสัจ 4 ทีนี้สังคมไทยของเรานี้ ถ้าจะให้เข้าถึงอริยสัจ ก็ต้องมีทางสายกลางบ้าง เวลานี้กำลังจะเอียงสุด กำลังจะไปสู่ความสุดโต่ง แล้วก็ไม่มีเรี่ยวแรงกำลังของตัวเองที่จะทำอะไร แม้แต่ความคิดสติปัญญาของตัวเอง ก็ไม่เอา รอฟังเขาว่าเมืองฝรั่งเมืองนอกจะมีอะไรให้เสพให้บริโภค มันก็แย่นะ มันไม่เข้าสู่ทางสายกลาง เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำสังคมของเรานี้ให้เข้าสู่ทางสายกลาง แล้วก็ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ด้วยมีความเข้าใจ รู้เข้าใจเหตุผล รู้เข้าใจอะไรถูกต้อง อะไรผิดอะไรถูก แล้วก็มีวัตถุประสงค์ที่ดีงาม คือถ้าเราอยู่กันตามปกติแม้แต่ธรรมชาติ มนุษย์เราก็มีความโน้มเอียง 2 ด้าน ด้านหนึ่งก็ไปสู่อกุศล เรามีศักยภาพที่ทำความชั่วได้ แล้วพร้อมกันนั้นเราก็มีศักยภาพอยู่ในตัวที่จะทำความดี ทีนี้เราก็ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกมาช่วยเพื่อจะสร้างเสริมปัจจัยที่ดีงามตามมา ฉะนั้นเราก็วางระบบอะไรต่ออะไร สังคม วัฒนธรรม สร้างปัจจัยภายนอกเพื่อจะชักจูงคนให้เดินไปในทางที่ถูก สร้างความดีงามขึ้นมา ทีนี้ถ้าวัฒนธรรมเป็นต้นที่ดีงามมันเสื่อมไป ปัจจัยภายนอกที่จะรั้งไว้ในทางที่ดี หรือจะล้อมกรอบไว้ หรือจะชักจูง หรือจะตะล่อมไว้ในความดีที่หายไป ไอ้สิ่งภายนอกที่ล่อเร้ามาก มันรุนแรงก็พายเตลิดออกไป เพราะฉะนั้นเวลานี้ก็เป็นปัญหาเรื่องนี้อยู่ เช่นอย่างง่ายๆ อย่างธรรมชาติ อย่างพ่อแม่ลูกพี่น้องนี่ก็มีความเป็นไปได้มาก ที่จะมีความรักกัน ห่วงใยกัน แต่ถ้ามีสิ่งเสพบริโภคมากนะมันจะเชื่อว่า พี่กับน้องต่างคนต่างห่วงสิ่งที่ตัวจะมีความสุข อยากเล่นเกม อยากจะหาความสุขของตัวเอง มันเลยเลิกห่วงน้อง เลิกห่วงพี่ ทีนี้ถ้าตามปกติเขาจะห่วงพี่ห่วงน้องกันมันรักกันอยู่นี่ ใช่ไหม ตอนนี้มันห่วงเครื่องบำรุงบำเรอ ทางพระท่านเรียกว่ากามนั่นแหละ ซึ่งที่บำเรอสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรส??? มันไปห่วงสิ่งเหล่านั้นอยู่ พอเห็นน้องมากเกะกะแล้ว มาขัดใจใช่ไหม ฉันจะเล่นหาความสุขของฉัน น้องก็กลายเป็นตัวทำให้โกรธ แทนที่จะรักเลยไม่พอใจ ทีนี้แต่ก่อนไม่มีเครื่องบำรุงบำเรอมาก ใจไม่ไปอยู่กับสิ่งบำรุงบำเรอเหล่านั้น ก็นึกถึงกัน มีความสุข รักกัน เห็นพี่เห็นน้องก็มีความชื่นใจ มีความสุข ห่วงเขาไปไหน เราจะทำอะไรให้เขาดี ตอนนี้มันไม่คิดแล้ว คิดแต่ความสุขของตัวเอง ทำไง ฉันจะได้ ฉันจะเอาโน่น น้องมา มาขัดขวางเรา อย่างน้อยเสียเวลาเรา เราไม่ได้เสพความสุขนั้น น้องก็ขัดใจพี่ พี่ก็ขัดใจน้อง ต่อมาลูกก็ขัดใจพ่อ ขัดใจแม่ เห็นพ่อมา เห็นแม่มา แทนที่จะมีความสุข ไม่แล้วเดี๋ยวนี้ ชักเป็นกันใช่ไหม แต่ก่อนนี้ลูกเห็นพ่อเห็นแม่มา ชื่นใจ มีความสุช อบอุ่น เดี๋ยวนี้พอพ่อมาแม่มา มาขัดขวาง ฉันกำลังจะเล่นเกมหรืออะไรของฉันสนุกๆ เลย กลายเป็นทำให้ฉันเสียเวลาเล่น ต่อมาพ่อแม่ก็เหมือนกันนะ พ่อแม่ไปๆ ก็อาจจะขัดใจลูกเหมือนกันแหละ แทนที่จะห่วงลูก เห็นลูกมีความสุข พอลูกเข้ามา มาเกะกะ ฉันจะได้บำรุงบำเรอตัวบ้างไม่ได้ โอ้ อย่างนี้ไม่ไหวแล้ว นี่แหละทางสุดโต่งมันมา ฉะนั้นเราก็เสีย แม้แต่ธรรมชาติพื้นฐาน ความสุขสมัยก่อนที่มันไม่เจริญเนี่ย อยู่กันธรรมดามันก็มีความสุข มันก็มีคุณธรรมขึ้นได้ง่าย อย่างที่ว่า มันเริ่มจากในครอบครัว ถ้าโยมทำไม่ได้นะในครอบครัว ต่อไปสังคมของเราเอาไว้ไม่รอด ในสังคมมันฟ้องอยู่แล้ว ถ้าหากว่าลูกกับพ่อแม่ยังมีความรักกัน เห็นกันชื่นใจ อะไรอย่างนี้นะ มีเวลาให้กัน รู้จักให้กัน ถือว่ามีความสุข ถ้าพ่อให้กับลูกแล้วมีความสุข ลูกให้กับพ่อมีความสุข ทำอะไรให้กับพ่อแล้วชื่นใจ อย่างนี้แล้วสังคมเราอยู่ได้ แต่ถ้าลูกจะเอาแต่หาความสุข เสพสุขของตัวเอง แล้วเห็นพ่อแม่เกะกะเมื่อไหร่ล่ะก็ยุ่งเมื่อนั้นแหละ แล้วต่อมาก็พี่น้อง พี่น้องก็เหมือนกัน ถ้าพี่น้องก็มีปัญหา ต่อไปมันก็แย่งกัน เป็นความสุขแบบแย่งกัน แบบแย่งเสพ ความสุขอย่างนี้ทางพระท่านเรียก สามิสสุข สุขที่อาศัยอามิส อาศัยวัตถุ ภายนอก เมื่อความสุขมันขึ้นกับภายนอก มันก็ต้องไปหา ต้องแสวง แล้วถ้าคนหนึ่งได้คนหนึ่งอด อะไรอย่างนี้ มันก็แย่งกัน อันนั้นเป็นความสุขแบบแย่งกัน ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีความสุขด้วยความรัก ด้วยไมตรี ด้วยเมตตา อย่างนี้เป็นความสุขร่วมกัน เวลาเห็นกันก็สุขด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย พ่อแม่เห็นลูกเป็นสุขฉันถึงจะสุข ถ้าลูกเป็นทุกข์ ฉันก็ไม่สุขด้วย ทีนี้ลูกก็เหมือนกัน ถ้าเห็นพ่อแม่ไม่สบายแล้วอดรนทนไม่ได้ ต้องรีบหาทางไปแก้ไข ทำให้พ่อแม่หายทุกข์หายร้อน ให้มีความสุข นี่มันก็ยังมีคุณธรรมเหล่านี้ แต่ว่าเวลานี้เรากำลังถูกแย่ง ในเรื่องของการห่วง การเสพการบริโภคของตัวเอง จะแย่งหาความสุขกันเนี่ย ก็ทำให้สังคมเดือดร้อน เพราะฉะนั้นจุดสำคัญมันก็อยู่ที่นี่แหละ ไม่ได้อยู่ไกลพื้นฐาน ฉะนั้นโยมแก้ปัญหาในครอบครัวให้ได้ แล้วก็มองไปถึงผู้รับผิดชอบสังคม แล้วก็ทั้งประเทศ ผู้บริหารประเทศด้วย จะต้องเข้มแข็ง มีปัญหาตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป ถ้าเมื่อไหร่ลูกกับพ่อแม่รักกันจริงนะ เห็นกันแล้วมีความสุข อยากจะทำให้แก่กัน อยากจะทำให้อีกฝ่ายมีความสุข เรามั่นใจได้ หวังได้ว่าสังคมนี้จะร่มเย็นเป็นสุข แล้วต่อมาก็พี่น้อง ให้พี่น้องรักกัน อยากจะเห็นอีกฝ่ายหนึ่งมีความสุข น้องก็อยากเห็นพี่มีความสุข พี่ก็อยากเห็นน้องมีความสุข อยากทำเพื่อน้อง น้องอยากทำเพื่อพี่ อย่างนี้ล่ะสบายใจเลย แล้วต่อไปก็ทำเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคมประเทศชาติ ตอนนี้มันจะเอาแต่ตัวฝ่ายเดียว จนกระทั่งชักเห็นคนอื่นเกะกะหมดแล้ว เกะกะบ้าง ขัดขวางบ้าง ขัดใจบ้าง แย่งชิงกันบ้าง ฉะนั้นสังคมปัจจุบันนี้มันก็กลายเป็นสังคมที่เริ่มด้วยการเสพบริโภค แล้วก็กลายเป็นสังคมแห่งการขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์ ทั้งระดับตั้งแต่ในครอบครัว ในชีวิตประจำวัน จนถึงระดับประเทศชาติแล้วก็โลก แล้วจะหาสันติภาพและสันติสุขได้แค่ไหน มันเป็นเรื่องพื้นๆ ธรรมดา ไม่ใช่ปัญหาอะไรยากเย็น มองเห็นตื้นๆ ฉะนั้นการแก้ปัญหาก็อยู่ที่มนุษย์เราทั้งหลายต้องเดินทางให้ถูก เข้าสู่ทางสายกลางของพระพุทธเจ้าซะ ก็ไปได้ถูกทาง แล้วก็แก้ปัญหากันด้วยอริยสัจ อันนั้นก็ลึกซึ้งเกินไป แต่ตอนแรกก็ขอให้เดินทางสายกลางกันซะก่อน ทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เห็นแก่การเสพบำรุงบำเรอตัวเองเกินไป เอาแต่พอดี แล้วก็ไม่ต้องไปทุกข์ทรมานตัวเอง นี่ก็เป็นเรื่องฝากไว้ ถ้าเราจะทำให้วันอาสาฬหบูชามีความหมายก็ควรจะทำอันนี้ สังคมไทยของเราก็จะแก้ปัญหาได้ อาตมาก็เลยพูดเรื่อยไป อันนี้ก็เป็นข้อคิดอันหนึ่ง เดี๋ยวจะกินเวลาญาติโยมมาก ทีนี้ว่าเรื่องวันอาสาฬหบูชาเห็นจะพูดแค่นี้ก็พอ ฝากไว้ แล้วก็หันกลับมาเรื่องโอกาสเข้าพรรษา ก็อย่างที่ว่าแล้ว ประเพณีของเรามีการบวชเรียน มีการบวชพระ เดี๋ยวนี้ก็น้อยที่จะบวชเอาพรรษา บวชแค่เดือนเดียว ครึ่งเดือน หรือแม้กระทั่ง 3 วัน 7 วัน ที่วัดนี้ก็พอดีว่าปีนี้ก็มีผู้บวชซึ่งจำพรรษามากหน่อย ได้ 9 รูป ได้ยินว่าในกรุงเทพฯเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว บางจังหวัดนี่ มีจังหวัดหนึ่งหลวงพ่อท่านบอกว่าในเขตเทศบาล ไม่มีวัดใดที่มีคนบวชอยู่จำพรรษาเลยแม้แต่คนเดียว นี่โยมถึงขนาดนี้แล้วนะ มันเสื่อมถอยขนาดไหนแล้ว ท่านก็บอกว่าคนมันเอาแต่หากินกัน ว่างั้น ก็เป็นเรื่องของการทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็เลยแย่งเวลาไปหมด คนก็หันไปทางนี้ มันก็สุดโต่งไปนิดนึง ทีนี้ในกรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกกัน ในกรุงเทพฯก็หาวัดได้น้อยที่จะมีพระบวชเอาพรรษา ก็จะบวชกันสั้นๆ ก็โมทนาทั้งพระทั้งโยม พระที่ท่านบวชก็ตั้งใจศึกษา บวชเอาพรรษาต้องเสียสละเวลามา ตั้งใจจริง ได้ผลเต็มที่ ได้เต็มตามประเพณีบวชเรียน แล้วก็แดงว่าท่านเอาจริงเอาจังกับการบวชนี้ ตั้งใจเล่าเรียน แล้วก็โยมก็สนับสนุน ก็ต้องอนุโมทนาโยมทุกท่าน ก็ได้ร่วมบวช ร่วมสืบต่อพระพุทธศาสนาด้วย นี่แหละพุทธศาสนาเราก็อยู่ได้อย่างนี้ อยู่ด้วยโยมเป็นสำคัญ พุทธบริษัท 4 แล้วพระนี่ก็มามีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ก็เพราะญาติโยมได้อุปถัมภ์บำรุงด้วยปัจจัย 4 โยมก็ต้องทำหน้าที่ พระก็ต้องทำหน้าที่ ที่เคยบอกแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า อัน-โย-สะ-นิ-สิ-ตา เป็นนิสิตอาศัยซึ่งกันและกัน ทั้งโยมทั้งพระเป็นนิสิต ที่เขาเอามาใช้ว่านิสิต นิสิตแปลว่าผู้อาศัย อัน-โย-สะ-นิ-สิ-ตา แปลว่าอาศัยซึ่งกันและกัน พระก็อาศัยโยมทางด้านวัตถุปัจจัย4 โยมก็อาศัยพระในเรื่องของธรรมะ ทีนี้เราก็อยู่กันในสังคมอย่างนี้ ก็ร่วมกันสร้างธรรมจักรขึ้นมา วันนี้เป็นวันเตือนแล้ว โยมมาช่วยกัน เรามาสร้างธรรมจักร ให้ดินแดนแห่งธรรมนี้แผ่ขยายออกไป อย่างน้อยประเทศไทยจะได้มีสมดุลบ้าง มีส่วนที่เป็นดุลยภาพ ไม่ใช่เอียงสุดโต่งไปข้างเดียว จนไม่เป็นตัวของตัวเอง ไหลไปตามกระแส มีอะไรมาใหม่ๆ ก็ไปตามนั้น ไม่เป็นตัวของตัวเอง หลักของตัวเองไม่มี เรื่องของตัวเอง สังคมของตัวเอง วัฒนธรรมตัวเอง ถามภูมิหลังเป็นยังไง ไม่รู้สักอย่าง เด็กสมัยนี้ก็จะกลายเป็นคนขาดรอยไป เป็นคนไม่มีฐาน เมื่อไม่มีฐานมันก็หลักลอย อะไรต่ออะไรไหลมา ก็ถูกพัดถูกพาไปง่ายๆ พอสังคมไทย คนที่เป็นอนาคตของชาติหลักลอยแล้วจะเป็นยังไง สัคมมันก็เลื่อนลอย เลื่อนลอยมันก็หมด แล้วประเทศไทยถ้าจะมีความหวังบ้าง ก็ต้องมาช่วยกันตั้งหลักให้ดี ยืนหยัดอยู่ในสิ่งที่ดีงาม การจะยืนหยัดอยู่ได้ก็ต้องรู้ก่อนว่าอะไรเป็นหลัก จับหลักให้ได้ ยึดหลักไว้ ตั้งตนอยู่ในหลักมั่นคงแล้วคราวนี้จะไม่กลัวแล้ว อะไรมาจากข้างนอกที่มันมาดีมาร้าย รู้ทันหมด อะไรดี จับมาใช้ได้หมด อะไรร้าย แก้ไขได้หมด ถ้าคนเก่งจริงมันต้องอย่างนั้น ต้องมีปัญญามีความสามารถ แก้ไขปัญหา จนเอามาใช้ประโยชน์ได้ อะไรไม่ดี ฉันเลือกรับ เลือกไม่รับ มันต้องเป็นผู้จัดการได้ ไอ้นี่มันจะถูกจัดการ คือคนไทยนี่ไม่ได้เป็นผู้จัดการ อะไรต่ออะไร อารยธรรม วัฒนธรรม สื่อมาจากเมืองนอก ไม่ได้เป็นผู้จัดการเลย ถูกจัดการ ถูกเขาล่อ เป็นแต่ว่าไหลไปตามที่เขาโฆษณาบ้าง บอกให้ไปก็ทำตามไป ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะฉะนั้นสังคมอย่างนี้ก็ไร้หลัก เลื่อนลอย เพราะฉะนั้นก็ขาดความมั่นคง จะดำรงตนอยู่ได้ยาก ฉะนั้นเรามีความรับผิดชอบต่อโลกนี้ทั้งหมดด้วย เราจะต้องสร้างสังคมของเราให้ดี ถ้าโลกนี้มันไม่ดีงาม ไม่มีสันติสุข เราต้องกลายเป็นหลักที่จะสร้างธรรมะขึ้นมา แล้วก็แผ่ความดีไป แผ่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง แผ่ปัญญาไปช่วยโลก ไปแก้ปัญหาของโลก ไม่ใช่โลกเขามีปัญหาเราก็เป็นเพียงผู้รับปัญหา แทนที่เออเราก็มีหลักมีพื้นฐาน มีอารยธรรมของตัวเอง แล้วก็มีสติปัญญา ก็มาช่วยแก้ปัญหาให้แก่โลก เวลานี้ทุกประเทศมีหน้าที่รับผิดชอบด้วยกัน ไม่ใช่มองว่าอเมริกาจะเป็นผู้แก้ปัญหาให้แก่โลก บางทีมัวไปอย่างนั้น อาจจะพลาดก็ได้ ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันนั่นแหละ เอาละ อาตมาพูดไปก็ยืดยาว เป็นอันว่าเอาธรรมจักรมาใช้ให้ได้ เริ่มด้วยมัชฌิมาปฏิปทานี้แหละ แล้วก็เริ่มกันตั้งแต่ชีวิตประจำวัน แล้วก็เริ่มในครอบครัว ครอบครัวไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่า พ่อแม่ยังเป็นพระพรหมอยู่ ครอบครัวนั้นมั่นใจได้ จะมีความสุข แล้วก็เป็นแกนให้กับสังคมได้ ฉะนั้นโยมจะต้องตั้งหลักนี้ไว้ให้ได้ พ่อแม่ยังต้องเป็นพรหมของลูก แล้วก็ลูกก็ยังรักพ่อแม่ พ่อแม่ก็มีคุณธรรมต่อลูก มีเมตตารักใคร่ เลี้ยงดูด้วยดี ครบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เราดำรงครอบครัวของเราให้ดี แล้วธรรมะตั้งต้นที่นั่นได้ ทีนี้สังคมไทยร่มเย็นเป็นสุขแน่ ตอนนี้สังคมของเรากำลังจะพลอยแตกสลายไปกับสังคมภายนอก วันนี้ก็เลยมาย้ำ เอาธรรมจักรมาย้ำ แล้วก็เอามัชฌิมาปฏิปทามาย้ำเรื่องครอบครัว โยมที่มานี่อนุโมทนาหลายท่านเห็นพาลูก เด็กมาด้วย แม้แต่ 1 ขวบ ยังไม่ถึงขวบยังพามาเลย อันนี้ดีมาก พามาให้เห็นวัด มาได้รับบรรยากาศ ให้คุ้นไว้ มีใจดีงาม อยู่กับธรรมชาติ ความประทับใจอันนี้บางทีเรานึกไม่ถึงนะ เด็กเล็กๆตัวนิดๆนี่เขามาวัดนี่มาเห็นธรรมชาติ มาในความสงบในความดีเนี่ย มันเข้าไปฝังอยู่ในจิตใจลึกมาก แล้วมันก็มีผลต่อชีวิตระยะยาว เราไม่นึกถึงหรอก เรานึกไม่ออก เพราะฉะนั้นถ้าหากพาเขาไปเจอแต่เรื่องของความโหดร้ายทารุณ เรื่องของโลภะ โทสะ กิเลสแล้ว มันก็จะไปตรงกันข้าม เวลานี้สภาพแวดล้อมก็น่ากลัว สื่อก็มาทำหน้าที่แสดงโลกให้แก่ลูกแทนพ่อแม่ มีทีวี มีวิดิโอ มีอะไรต่างๆ เด็กก็พบเห็นแต่เรื่องของความรุนแรง
โหดร้าย รบราฆ่าฟัน ฆ่ากัน มีเกมต่างๆ พวกนี้ มันก็ฝังเข้าไปในชีวิตจิตใจ หล่อหลอมจิตใจเขา แล้วมันจะเป็นยังไงต่อไป พอโตแล้วเขาจะมาสร้างสรรค์สังคมนี้ยังไง ฉะนั้นโยมพามาวัดนี้ ก็ปลูกฝังสิ่งที่ดีงามเข้าไว้ในจิตใจในชีวิตของเขา อนุโมทนาด้วย แล้วก็มีความสุขร่วมกัน วันนี้คุณพ่อคุณแม่กับลูกมีความสุขด้วยกัน ในบุญในกุศล ได้บุญร่วมกันแล้ว อนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นวันนี้อาตมาภาพก็ขอโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่านที่มาร่วมทำบุญทำกุศลในวันสำคัญของเรา ได้บุญทั้ง 2 อย่าง ทั้งเนื่องในวันเข้าพรรษา โดยทำบุญประกอบพิธีถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัยต่างๆ ก็ขอให้โยมทุกท่านได้ทำจิตใจ ให้เป็นบุญเป็นกุศล โดยมีความแช่มชื่นแจ่มใส มีพลังด้วยศรัทธา คือความเชื่อมั่นเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ในคำสอนของพระพุทธเจ้า มีปัญญาเข้าใจคำสอนของพระองค์ มีความตั้งใจเป็นเจตนาที่ดีงาม ว่าเราจะทำสิ่งที่เป็นการเสริมสร้างให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข แล้วก็ทำความดีงามต่อกันตั้งแต่ในครอบครัว ลูกพ่อแม่รักกัน ให้ความสุขแก่กัน ทำอะไรต่ออะไรเพื่อแก่กันนี้ พี่น้องญาติมิตรทั้งหลาย อยู่กันโดยคำนึงนึกถึงใจกันด้วย ไม่ใช่ว่านึกถึงแต่ว่าจะหาแต่ความสุขให้กับตนเอง ถ้าเราพยายามทำความสุขให้แก่กัน แล้วก็ความสุขสันต์ที่หมายก็มาแน่นอน ทีนี้วันนี้ก็เรากำลังจะทำใจของเราให้ดี เวลาเราทำอย่างนี้เราก็เอาใจของเรานี่ไปถวายพระพุทธเจ้า พระรัตนตรัย นี่ก็เป็นวิธีที่เราไม่เอาแต่ตัวเอง เราก็แผ่ใจไปถวายพระพุทธเจ้า บูชาพระคุณของพระองค์ บูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้วก็ตั้งใจเพื่อความดีงาม เพื่อความสุขของคุณพ่อคุณแม่ ของลูกของหลานของญาติมิตรปู่ย่าตายาย วันนี้นอกจากว่าระลึกถึงพระรัตนตรัย เผื่อแผ่ใจเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา แล้วก็ตั้งจิตปรารถนาดีต่อทุกท่านผู้อื่นอย่างที่ว่านี้ พ่อแม่ปรารถนาดีแผ่ใจให้กับลูกแน่นอนอยู่แล้ว แต่ลูกก็ต้องตั้งใจขอให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุข ขอให้คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายมีความสุข ขอให้พี่น้องของเรา ขอให้ญาติมิตรของเรา ขอให้เพื่อนร่วมโลกของเรา สังคมของเรานี้มีความร่มเย็นเป็นสุข แผ่จิตอย่างนี้ ทำบุญกันไป พร้อมกับการเวียนเทียน แล้วทุกอย่างก็จะดีขึ้น ขอให้พวกเรานี้เป็นกำลังของธรรมจักรในการที่จะแผ่ขยายธรรมะไปทำให้สังคมไทยนี้ตั้งตัวอยู่ได้ มีความเจริญงอกงามสืบต่อไป แล้วขอให้ทุกท่านเจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งตัวเอง ครอบครัว และสังคม ตลอดถึงชาวโลก อย่างยั่งยืนทั่วกันทุกท่านทุกเมื่อเทอญ