แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ผู้ถาม : ปรารภกันว่าถ้าจะทำหนังสือพุทธประวัติที่เป็นวิทยาศาสตร์ นะฮะ ก็เลยเกิดความคิดเพิ่มเติมว่า ถ้าจะทำพุทธประวัตินี่มันก็ต้องเกี่ยวกับสังเวชนียสถาน นะฮะ เพื่อที่จะได้เล่าถึงพุทธประวัติที่ชัดเจนและก็ที่สามารถอธิบายได้ในฐานะที่พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์เหมือนเช่นเรา ไม่ไปพูดถึงเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์อย่างที่พูดถึงกัน
อ๋อ แต่ว่าทีนี้อย่างที่ว่ามันอยู่ที่ว่า ถ้าเราเล่าโดยรู้ภูมิหลังแล้ว มันเป็นวิทยาศาสตร์ในตัวเลย เพราะว่าเรื่องฤทธิ์เรื่องอะไรมันก็เป็นสภาพความเป็นจริงของสังคมสมัยนั้น เขาเชื่อถือกันอย่างงั้น เราก็จะได้บอกไปได้เลยว่า สมัยนั้นพราหมณ์เขานับถือกันอย่างงี้ มีระบบกันอย่างงี้ อะไรเนี้ย อันนี้มันก็ไปในตัวแหละ เพราะว่าพอพระพุทธเจ้าประสูติมา สั่งสอน พระองค์ปฏิบัติอย่างไรต่อเรื่องอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์ ก็เห็นชัดไปเลย มันอยู่ในตัวทั้งหมด เราก็จะให้เด็กเข้าใจลึกลงไปได้อีก เด็กก็จะรู้ไปถึงว่า อ๋อ โบราณ อินเดียเขามีการนับถือเทพเจ้าต่างๆอย่างงี้ เขามีความเชื่อในฤทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้ พระพุทธเจ้าประสูติมาแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร อันเนี้ยกลับเป็นประโยชน์ นะฮะ เพราะว่าท่ามกลางฤทธิที่พระพุทธเจ้าแสดง พระองค์ก็กำกับไว้เสร็จว่าพระองค์ไม่ได้สรรเสริญ แล้วก็จะเห็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในนั้นน่ะ ท่ามกลางเรื่องฤทธิปาฏิหาริย์นะ
ถ้ามองให้ดี พูดให้ตรงแล้ว ก็กลับได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ เจริญพร เพราะว่าทั้งๆที่พระพุทธเจ้าอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอย่างเนี้ย พระองค์ก็ได้ นอกจากแก้ไขเปลี่ยนแปลงแล้ว พระองค์อยู่ได้อย่างดียังไง และทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากธรรมะของพระองค์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร อันเนี้ยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าจะได้เห็นเรื่องของการปฏิบัติศาสนกิจหรือการทำงานของพระพุทธเจ้าท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ ว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสังคม ทำยังไง คือไม่ใช่ดูเฉพาะหลักธรรมคำสอนเท่านั้น ดูวิธีการของพระพุทธเจ้า ดูวิธีการแก้ไขอะไรต่างๆ
เพราะว่าของอินเดียสมัยนั้น ศาสนาพราหมณ์ก็มี หนึ่ง พระพรหมผู้สร้างโลก สองก็มี การบูชายัญ เรื่องใหญ่ที่สุด เรื่องพระเวท ที่พวกวรรณะต่ำจะแตะต้องไม่ได้ แล้วก็มีเรื่องวรรณะสี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากแหละ โดยเฉพาะวรรณะสี่กับการบูชายัญนี่ เป็นเรื่องผูกขาดของพราหมณ์เลย นี้พระพุทธเจ้ามาแก้ 2 เรื่องนี้ก็หนักที่สุดแล้ว น่ะ ว่าไม่ยอมรับวรรณะสี่นี่มันเป็นเรื่องที่เรียกว่าถอนรากถอนโคนกันเลย แล้วการที่ไปค้านการบูชายัญนี้ก็ทำลายผลประโยชน์ของพราหมณ์ ก็เหมือนกันแหละอย่างเรียกว่า อย่างล้มล้างกันเลยว่างั้นเถอะ มันก็เป็นเรื่องเดือดแค้นอย่างหนักที่สุดเลย นะฮะ บูชายัญนี่เป็นเรื่องที่มันหยั่งรากลึกเหลือเกิน บูชายัญนี่ไม่ใช่เฉพาะพิธีใหญ่ๆนะ มันตั้งแต่ในครอบครัวเลย ต้องมีการบูชายัญตามกำหนดศาสนาพราหมณ์ เช่นว่าต้องมีไฟประจำครอบครัว ไฟนี้จะต้องเลี้ยงไว้ไม่ให้ดับต่อเนื่องกัน พ่อต่อให้ลูก ลูกๆต่อให้หลานไปเรื่อยๆ นะฮะ
แล้วก็มีพิธีบูชายัญตั้งแต่ในระดับชาวบ้านไปจนถึงมหากษัตริย์ มหากษัตริย์ก็มีหลายระดับ มีพวกอัศวเมธ การฆ่าม้าบูชายัญ แสดงอำนาจ ที่ปล่อยม้าอุปการอะไรพวกเนี้ย เนี่ย โอ เป็นเรื่องที่ใหญ่โต พุทธศาสนา แม้แต่หลังพุทธกาลนี่ ที่อยู่มาก็ต้องสู้กับเรื่องนี้อย่างยิ่งเลย แล้วก็เวลาพุทธศาสนาเป็นใหญ่ กษัตริย์พุทธก็พยายามลบล้างเรื่องวรรณะ เรื่องการบูชายัญ อย่างพระเจ้าอโศกเนี่ยเป็นตัวอย่าง พระเจ้าอโศกเนี่ยย้ำมากในศิลาจารึกเรื่องไม่ให้มีการบูชายัญ เพราะฉะนั้นเป็นที่เดือดแค้นของพราหมณ์อย่างยิ่ง พอถึงหลานพระเจ้าอโศกก็ถูกปลงพระชนม์ แล้วกษัตริย์พุทธองค์อื่นก็โดนอย่างเงี้ย คือพวกพราหมณ์เขาจะเอาไว้ไม่ได้ เพราะมันเป็นการทำลายผลประโยชน์อย่างแรงที่สุด เพราะว่าพราหมณ์เขาอยู่ด้วยการบูชายัญ เขาเรียกทักษิณา เมื่อพิธีบูชายัญทำที่ไหนก็จะต้องมีทักษิณาให้แก่พราหมณ์ แล้วก็ยิ่งเป็นกษัตริย์ยิ่งอะไรยิ่งใหญ่ก็ทักษิณาก็มากมาย
นี้พระพุทธเจ้าให้เลิกบูชายัญ ก็เท่ากับว่าทำลายผลประโยชน์หมดเลย นะฮะ นั้นเรื่องนี้มาจนกระทั่งถึงเรื่องนารายณ์อวตาร นารายณ์อวตารก็มีเรื่องอย่างเงี้ย เช่นอย่างมีเรื่องที่เขาผูกว่า ทำไมพระนารายณ์ต้องอวตารลงมา เนี่ย เทวดาทั้งหลายได้ไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า กราบทูลว่าเวลานี้ เทวดาทั้งหลายเดือดร้อนมาก เพราะว่าไปเป็นพวกพุทธพวกอะไรที่ไม่นับถือ ไม่มีการบูชยัญ เวลานี้ชมพูทวีป เมื่อคนเลิกบูชายัญ เทพยเจ้าก็เดือดร้อน เพราะฉะนั้นจะต้องขอให้พระองค์เสด็จลงไปปราบ ตอนนี้ศิวะที่อวตารมาเป็นศังกราจารย์เพื่อจะมาปราบพุทธศาสนา นะฮะ
อันนี้ตอนเรื่องของฝ่ายวิษณุ วิษณุนั้นก่อนด้วยซ้ำ วิษณุเขาก็ ก็ให้ถือว่าพระพุทธเจ้านี่เป็นนารายณ์อวตาร อวตารมาเพื่อจะมาหลอกพวกอสูรให้เลิกบูชายัญ นี่นี่เขาตีความเก่ง เพราะว่าอสูรเนี่ยกำลังมีอำนาจมากขึ้น การที่อสูรมีอำนาจมากขึ้นก็เพราะว่ามีการบูชายัญ เป็นต้น คือใครบูชายัญแล้วก็จะมีผลเกิดขึ้น เช่น ความยิ่งใหญ่ การมีอำนาจในตัวมากขึ้นอะไรเนี่ย ทีนี้พวกอสูรก็มาบูชายัญ ก็ทำให้มีอำนาจแข่งกับพวกเทวดา เพราะฉะนั้นเทวดาก็เดือดร้อน ก็เลย ตกลงพระนารายณ์ก็เลยอวตารมาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อมาหลอกพวกอสูร ให้เลิกบูชายัญ อสูรจะได้หมดฤทธิ ต่อไปภายหน้า เมื่ออสูรหมดฤทธิแล้วเทวดาก็จะได้ปราบอสูรได้
นั้นเขาก็มองว่าชาวพุทธเนี้ยก็คืออสูรที่โดยเทว เออ พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระนารายณ์น่ะมาหลอกไป พระพุทธเจ้าก็ทางฮินดูเขาเรียก ปางมายาโมหะ นะ เขาไม่ได้เรียกดีหรอก พระพุทธเจ้าเนี่ย ปางมายาโมหะ แปลว่า ปางที่มาหลอกลวงคน เขาเรียกอย่างงี้ นี่คือความหมายของเขา ชาวพุทธไม่รู้ทันนึกว่า ชาวฮินดูเขาให้เกียรติว่า พระพุทธเจ้าก็เป็นพระผู้เป็นเจ้า เป็นพระนารายณ์อวตาร เปล่า เรื่องมาอย่างงี้ มาในวิษณุปุราณะ ก็คือเขาต้องการกำจัดพุทธศาสนา เพราะตอนนั้นพุทธศาสนามีกำลังมาก ก็เลยให้พระพุทธเจ้าเนี่ยไปเป็นนารายณ์อวตาร แต่ไม่ได้เป็นนารายณ์ที่ดีหรอก นารายณ์ปาง ปางที่มาหลอกคน หลอกอสูร
เพราะฉะนั้น พวกชาวพุทธนี่ก็เขาถือเป็นพวกอสูร ก็คือพวกชาวพุทธก็คืออสูรที่ถูกพระพุทธเจ้าหลอกไป ว่างั้นนะฮะ ให้เลิกบูชายัญ ให้เลิกทำความดี เพราะว่าการบูชายัญเป็นการทำกรรมดี ซับซ้อน เขาทำผูกหลายชั้น เจริญพร อันนี้ก็อยู่ในวิษณุปุราณะ เป็นคัมภีร์ของฝ่ายศาสนาพราหมณ์ ของฮินดู นิกายไวษณวะ เพราะฉะนั้น ทั้งนิกายไวษณวะ หรือนิกายนับถือวิษณุ และนิกายไศวะ นับถือพระศิวะ ทั้งสองนิกายนี้จะมีเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าอวตารมา ก็คือ นิกายไวษณวะที่นับถือพระนารายณ์ วิษณุ ก็คือ พระนารายณ์ ก็มาเป็นนารายณ์อวตารมาเป็นพระพุทธเจ้า ส่วนของศิวะนั้น ก็พระศิวะก็อวตารมาลงมาเป็นศังกราจารย์ ทั้งนี้ก็เพื่อปราบพุทธศาสนาทั้งนั้น ก็ในแง่หนึ่งก็แสดงว่าพุทธศาสนามีอิทธิพลมากจนกระทั่งเขาต้องกำจัด
ผู้ถาม : อวตารลงมาเป็นมนุษย์เลยนะฮะ
เจริญพร ก็อวตารลงมาในรูปที่เป็นมนุษย์
ผู้ถาม : ศังกราจารย์เนี่ยมันเป็นมนุษย์นี่
เจริญพร แต่ว่านั่น นั่นก็คือเทพเจ้าอวตาร
ผู้ถาม : อ๋อ เขาอ้างอย่างงั้นเลย
เจริญพร ก็เหมือนพระพุทธเจ้า ก็เป็นนารายณ์อวตาร เจริญพร
ผู้ถาม : แต่ปราบไม่สำเร็จ
ก็ ออ กลืนพุทธศาสนาได้ เรียกว่าอ่อนแอมากเลยพุทธศาสนาเนี่ย โดนศังกราจารย์ทำคราวนั้น แต่พวกฮินดูเองเขาก็ถือว่า ศังกราจารย์นี่เป็นพุทธแอบแฝง มีเรื่องว่าแกไปเรียนที่นาลันทา คือหมายความไปเรียนเอาหลักพุทธศาสนาอะไรต่างๆไปใช้ แล้วก็เลียนแบบพุทธศาสนา คือ ศาสนาฮินดูนี่ เดิมไม่มีนักบวช ก็เพราะว่าพราหมณ์นี่เป็นวรรณะสำคัญด้วยนะ วรรณะสูง อยู่บ้าน ครองเรือน มีลูก มีภรรยา มีกิจการใหญ่โต บางทีครอบครองดินแดนกว้างใหญ่เลย นะฮะ ทีนี้ศังกราจารย์นี่ก็เห็นว่าพุทธศาสนามีคณะสงฆ์ ก็เลยตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาบ้าง เกิดนักบวชแบบฮินดู แล้วก็ตั้งวัดขึ้นมาเลียนแบบ นั้นเพราะว่าของฮินดูนั้นเขา หนึ่งเขาไม่มีคณะสงฆ์ สองไม่มีวัด เขาอยู่บ้านครองเรือน นี้ศังกราจารย์ก็มาตั้งวัด ตั้งคณะสงฆ์ฮินดูขึ้นมา
ผู้ถาม : อาศรม 4 นี่ไปยังไงมายังไง
อันนี้ก็ไม่มีใครชัดเจน แต่ว่า สันนิษฐานก็ได้แต่เพียงว่าเป็นอิทธิพลของพุทธศาสนาต่อศาสนาพราหมณ์ คือเป็นศาสนาฮินดูยุคหลังที่ได้พัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นมา เพื่อจะคล้ายๆว่าจะกลืนพุทธศาสนา คือ ฮินดูนี่ก็คงจะในเมื่อไม่มีทางอื่นแล้ว พุทธศาสนามีกำลังมาก ก็ต้องหาทางใช้วิธีกลืนเอา ก็จะใช้วิธีเลียนแบบ หรือทำให้กลมกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งอะไรอย่างเงี้ย แม้แต่อย่างประธานาธิบดี ราธกฤษณัน นี่แหละ ที่สมัยก่อนที่บอกว่าพระพุทธเจ้าเนี่ยก็เป็นเขาเรียกว่า born a Hindu, die a Hindu คือหมายความ เขาจะมองพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดู คือ ราธกฤษณันก็อยู่ในตอนที่ 25 พุทธศตวรรษด้วย ตอนนั้นก็เนรูเป็นนายก ราธกฤษณันเป็นประธานาธิบดี
นี้เนรูเนี่ยเขียนไว้บอกว่า ถ้าข้าพเจ้าจะบอกว่า หรือจะต้องนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือพูดทำนองเนี้ย คือจำคำไม่ได้ ข้าพเจ้าจะเป็นพุทธ เขาว่าอย่างงั้น เนรูนะ เนรูว่าอย่างงั้น เขาก็จะเล่าประวัติเขาว่า ตั้งแต่เขาเป็นเด็กเนี่ยเขารักพระพุทธเจ้ามาก และเวลานี้เขายังรักษาบ้านของเนรูไว้อยู่ แล้วให้ไปดูเถอะในบ้านเนรูเนี่ย ห้องนอนนะจะมีพระพุทธรูปเรียงเยอะเลย แล้ว แต่ว่าจะใช้ประเพณีของเราไม่ได้นะ คือ พระพุทธรูปเนี่ยอยู่บน คล้ายๆอยู่ใต้คานเนี่ย อยู่ทางด้านเท้า ถ้าของเรา เราก็ถือว่า อ้าวทำไมไปไว้ทางเท้า เขาไม่ได้ถือ เขาถือว่า ไว้มอง เวลาเขานอนแล้วเขาจะมองเห็น พระพุทธรูปจะอยู่ตรงนั้น นะฮะ เขารักพระพุทธเจ้ามาก เนรูเนี่ย เพราะฉะนั้น เนรูอยู่เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงฉลอง 25 พุทธศตวรรษด้วย ก็เนรูก็เลยจัดเป็นการใหญ่ การฉลอง 25 พุทธศตวรรษในอินเดียนี่ ก็ได้ เนี่ย ความสนับสนุนเต็มที่จากเนรู ทีนี้เนรูก็พออยู่ในดินแดนของฮินดูก็ไม่ได้ประกาศตัวเป็นพุทธให้ชัดออกมา
ผู้ถาม : ก็เลยเป็นโอกาสว่า เออ สิ่งที่ได้ตั้งใจไว้นะครับ ว่าอยากจะทำหนังสือในแนวพุทธศาสนาในเชิงวิทยาศาสตร์ที่เด็กสามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย แล้วก็เป็นเหตุเป็นผล ก็ตั้งใจว่าในปีหน้าเนี่ย เราก็อยากจะทำหนังสือในแนวนี้เพิ่มเติมเข้าไปอีก เพื่อเข้าไปอยู่ในห้องสมุดตามโรงเรียนต่างๆ
ก็ถ้าว่าไปแล้ว เรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนานี่จะทำได้หลายแง่ อย่างที่พูดกันเมื่อกี้ก็เป็นในแง่ประวัติศาสตร์ด้วย ก็จะมองด้านไหนมันก็มีเรื่องเกี่ยวข้องเพราะว่า มันก็คือความเป็นจริงของชีวิตและสังคมในยุคนั้นซึ่งมีทุกด้าน
ผู้ถาม : เอ่อ ได้คุยกันในส่วนที่ว่าหนังสือที่จะเข้าไปอยู่ในโรงเรียนในห้องสมุดเนี่ยนะครับ เอ่อ ได้คุยกับทางบรรณาธิการที่ทำหนังสือแบบเรียนด้วยกันเนี่ยนะฮะ เอ่อ ทางอาจารย์เขาบอกว่า เอ่อ ยกตัวอย่าง อย่างพุทธประวัติ อย่างที่เคยเรียนๆกันเนี่ย พุทธประวัติเนี่ยออกมาในลักษณะของ เอ่อ ปาฏิหาริย์ ในลักษณะของ เอ่อ อ่านแล้วเหมือนบางครั้งเหมือนนิยาย บางช่วงเหมือนนิยาย เพราะว่าถ้าจะให้เด็กๆได้เข้าใจ เอ่อ ถึงความเป็นมาเป็นไปของพระพุทธเจ้า ถ้าออกมาเป็นวิทยาศาสตร์เนี่ย เด็กอาจจะรู้สึกว่า เอ่อ เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ง่ายกว่า แล้วก็มีความเป็นจริง เอ่อ ชัดเจนกว่า
เมื่อกี้นี้ก็คุยกันเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว คือ เรื่องพุทธประวัติเนี่ย เดิมเขาก็เขียนสำหรับคนในแต่ละยุคนั้นๆ นะฮะ โดยเฉพาะยุคโบราณเนี่ย คนก็จะมีความเชื่อเรื่องฤทธิเรื่องปาฏิหาริย์มาก สืบเนื่องมาจากอินเดีย เพราะฉะนั้น หนังสือของเรา อย่างปฐมสมโพธินี่ จะยิ่งเน้นหนักในเรื่องฤทธิเรื่องปาฏิหาริย์ แต่นี้ว่า ถ้าเรามาอยู่ในยุคนี้ เราต้องการให้มีการใช้เหตุผลมากขึ้น เรากลับเอาเรื่องเนี้ยมาใช้ประโยชน์ได้อีก เพราะว่ามันก็คือสภาพความเป็นจริง คือ พุทธศาสนาเกิดขึ้นในภูมิหลังของสังคมอย่างนั้น แล้วเราจะได้เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติต่อความเชื่อ วิถีชีวิต หรือว่าความนิยม ค่านิยมอะไรของยุคสมัยอย่างไร ทรงแก้ไขอย่างไร
อย่างเรื่องฤทธิเรื่องปาฏิหาริย์นี่ เราไม่จำเป็นจะต้องเลี่ยงด้วยซ้ำ เป็นแต่เพียงว่า เราไม่เป็นเพียงว่าไปตามแนวเขา แต่เรามองในแง่ว่าพระพุทธเจ้าทรงทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น นะฮะ ให้เห็นชัดลงไปเลย คือเราสามารถพูดถึงภูมิหลังของสังคมยุคนั้น ศาสนาพราหมณ์สอนยังไง เช่นความเชื่อในเรื่องฤทธิเรื่องปาฏิหาริย์ เนี่ย เขาเชื่อไปแบบไหน แล้วพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเนี่ยทรงสอนเปลี่ยนแปลงจากศาสนาพราหมณ์เขาเชื่ออย่างไร นะฮะ
อย่างยกตัวอย่างง่ายๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแยกปาฏิหาริย์เป็น 3 อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ แล้วเรื่องจริงเรื่องไม่จริงนั้นเราไม่ต้องพูดถึงด้วยซ้ำ แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สองอย่างแรกพระองค์ไม่ทรงพอพระทัย มันไม่ทำให้คนเนี่ย ได้รู้เข้าถึงความจริง หลุดพ้นจากทุกข์ได้ นะฮะ พระองค์ทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์ อันนี้ก็จะเห็นชัดเจนว่าพระพุทธเจ้าเนี่ยทรงมี จะเรียกว่าท่าทีอย่างไรในเรื่องฤทธิเรื่องปาฏิหาริย์ นะฮะ
แต่ก็ ในแง่อย่างงี้ก็จะเห็นว่ามีเรื่องพระพุทธเจ้าทรงมีฤทธิ แล้วทรงปราบพวกมีฤทธิทั้งหลายอย่างไร นะฮะ ก็คือใช้ฤทธิในแง่ของการเป็นอุปกรณ์ในการทำงานพระศาสนา แต่ว่าทั้งหมดเนี้ย เราต้องพูดไปตามภูมิหลังด้วย คือ พอพูดครบหมดว่าที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นนั้น เดิมสังคมเขาเป็นยังไง มีความเชื่อยังไง คนมีวิถีชีวิตอยู่กันยังไง อะไรต่ออะไรเนี่ยนะ แล้วเราเข้าใจ เราชัดเจนเนี่ย มันจะออกมาเอง นะฮะ
พอเรื่องเหล่านี้มันพัวพันกันไปหมด เรื่องฤทธิของเทพเจ้า แล้วก็เรื่องฤทธิของมนุษย์ ฤทธิของฤาษีชีไพร จนกระทั่งฤาษีชีไพรมาแข่งฤทธิกับเทวดา เทวดาต้องกลัว ต้องหาทางมาป้องกันมนุษย์ เราจะได้ยิน คือ ถ้าดูชาดกเราจะเห็นเลย อย่าง อย่างพวกฤาษีโยคีเนี่ย แกบำเพ็ญตบะ ทีนี้แกก็จะมีฤทธิจนกระทั่งเทพเจ้าครั่นคร้าม ใช่มั้ย พอโยคีบางท่านกำลังบำเพ็ญตบะ กำลังได้ฌานสมาบัติสูงนี่ แม้แต่พระอินทร์ยังหวั่นไหว นะฮะ นั้นเราจะได้ยินเรื่องอย่างในชาดกมีหลายเรื่องที่พระอินทร์เนี่ยจะต้องหาทางมากีดกั้น ยับยั้ง ไม่ให้ฤาษีเนี่ย สามารถบำเพ็ญฌานสมาบัติหรือแม้แต่บำเพ็ญตบะอะไรก็แล้วแต่ไปจนสำเร็จ เพราะถ้าสำเร็จอย่างงั้นแล้ว พระอินทร์จะแพ้ ใช่มั้ย ทีนี้ก็จะมีเรื่องอย่างอลัมพุสาชาดกบ้างอะไรบ้าง นฬินิกาชาดกที่พวกเทวดาเนี่ยต้องอาศัยเทพธิดามาทำลายฌานของพระฤาษี นะฮะ ก็จะมีเรื่องทำนองเนี้ย นะฮะ
ถ้าเรามองกว้างๆ เราไม่ต้องมายุ่งมาก เราก็ให้คนเนี่ยเห็นเองเลย แต่ว่าจะชัดว่าพระพุทธเจ้าเนี่ยทรงมองเรื่องเหล่านี้อย่างไร คือ เรื่องฤทธิเรื่องปาฏิหาริย์ มันก็เป็นความสามารถของมนุษย์ในระดับหนึ่ง ถ้าเทียบในสมัยปัจจุบันก็คล้ายๆกับความสามารถในเชิงวัตถุ ออกไปทางเทคโนโลยี ทางด้านจิตเนี่ย เมื่อมีการฝึกฝนมากมันก็ออกทางฤทธิ นะฮะ ฤทธิก็คือเทคโนโลยีด้านจิต ใช่มั้ยฮะ ถ้าคนที่มีเทคโนโลยีด้านจิตนี่เก่งมาก แต่ว่ามันไม่เป็นเครื่องรับประกันว่าคนนั้นจะหมดกิเลส เหมือนกับคนที่มีความรู้เรื่องด้านวัตถุดี มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เข้าใจธรรมชาติด้านวัตถุลึกซึ้งก็สามารถนำมาใช้ในการประดิษฐ์พัฒนาเทคโนโลยี แต่ว่าเขายังมีกิเลสเขาก็อาจจะใช้เทคโนโลยีนี้มารบราฆ่าฟันกัน ทำลูกระเบิดให้มันแรงยิ่งขึ้น นะฮะ
อันนี้ พวกฤาษีโยคีก็เหมือนกัน ได้ฝึกสมาธิ ทำฌานสมาบัติ มีฤทธิเดชมากจนกระทั่งสู้กับเทวดาได้ เทวดาครั่นคร้าม แต่ทั้งหมดนั้นก็สนองกิเลส มีความโลภ ความโกรธ เป็นต้น นะฮะ เพราะฉะนั้น ก็เลยเป็นปัญหากันอยู่อย่างเงี้ย พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา พระองค์ก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็คุณมีฤทธิก็ดี แต่ว่ามันไม่ทำ หนึ่ง ไม่ทำให้พ้นทุกข์ สอง ไม่ทำให้แก้ปัญหาเรื่องของมนุษย์ ความมีกิเลส ความชั่วร้ายอะไรแก้ไม่ได้ กลับเอาฤทธิมาสนองกิเลสเหล่านี้ด้วย สนองความโลภความโกรธ
นั้นไอ้เรื่องฤทธิเนี่ยก็มีปัญหา แม้แต่พระเทวทัตก็เป็นตัวอย่างที่ท่านเล่าไว้นี้มันก็เป็นคติทั้งนั้น พระเทวทัตเนี่ย เมื่อบวชเข้ามาแล้วเนี่ย มีความสามารถมาก บำเพ็ญฌานสมาบัติ ก็มีฤทธิลือลั่น แต่ว่ากิเลสไม่ได้หมดไปนิ การที่กิเลสหมดไม่จำเป็นต้องมีฤทธิ ใช่มั้ย มันคนละเรื่องกัน แต่ท่านที่มีฤทธิ ถ้าหมดกิเลสด้วย มีคุณธรรมสูงก็ยิ่งดี อันนี้ อย่างพระเทวทัตนี่ท่านกิเลสท่านยังอยากยิ่งใหญ่ นะฮะ แต่ว่าท่านเก่งในเรื่องฤทธิ ท่านก็เลยวางแผน ก็เลยล่อพระเจ้าอชาตศัตรู ตอนนั้นเป็นเจ้าชาย นะฮะ ล่อด้วยฤทธินี่แหละ ทำให้อชาตศัตรูนี่มีความเชื่อถือมายอมตัวเป็นลูกศิษย์เลย แล้วคิดการณ์ร่วมกันในการที่จะขึ้นครองแผ่นดิน นะฮะ ก็เลยทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูนี่ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา คือ พระเจ้าพิมพิสาร ทั้งนี้ก็เพื่อความยิ่งใหญ่ของทั้งสองท่าน เรื่องก็เป็นอย่างเงี้ย นี้เป็นตัวอย่างว่าการใช้ฤทธิสนองกิเลส ก็คือเทคโนโลยีทางจิตนั่นแหละ นะฮะ ก็อย่างพระเทวทัตเป็นตัวอย่าง
อันนี้เรื่องราวในสมัยโบราณมันจะมีมาก อย่างพวกเทวดาของฮินดูเนี่ย เขาจะเน้นในเรื่องการมีฤทธิมีความเก่งกาจ กำจัดศัตรูได้ นะฮะ คำว่าปาฏิหาริย์เนี่ย แปลว่า กำจัดศัตรูได้ นะฮะ ตัวมันเอง ตัวศัพท์ อันนี้ พวกเทวดาเหล่านี้ก็มีฤทธิก็แข่งกัน นะฮะ เพราะฉะนั้น เทวดาก็ยกทัพรบกัน ใช่มั้ย ก็ หนึ่งก็แสดงอำนาจว่าใครจะแน่กว่ากัน สองก็แย่งชิงเอาผลประโยชน์บางอย่าง แม้แต่เรื่องแย่งสตรี ใช่มั้ย อันนี้ก็เป็นเรื่องของเทวดาเทพเจ้า แม้แต่พระศิวะ พระอิศวร ท่านก็มีฤทธิสูงส่งยิ่งใหญ่ แต่ด้วยความพิโรธโกรธกริ้ว ท่านก็ทำให้ลูกของท่านเองก็คือพระคเณศคอขาด ใช่มั้ย นะ
เรื่องพระคเณศนี่ก็คือว่า พระอุมา ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระอิศวรนะ จะทรงสรงน้ำ ก็ทรงต้องการจะสบายๆไม่ให้มีใครมากวน ก็เลยทรงสั่งโอรสก็คือพระคเณศ ซึ่งก็เป็นเทพบุตรน่ะ บอกว่าช่วยดูต้นทางไว้นะ แม่จะอาบน้ำให้สบายอย่าให้ใครมากวนได้ นะฮะ พระคเณศก็ดูต้นทางไว้ พอดีพระอิศวรมา พระคเณศก็ไปขวาง พระอิศวรก็พิโรธบอกไอ้หัวขาด ว่างั้น ท่านด่าเท่านี้ พระคเณศก็เลยหัวหายไปเลย นี่ นี่ฤทธิ นะฮะ นี่ฤทธิ ทีนี้ก็เลย พระอุมาก็ออกมา ก็มาเห็น ก็ทรงเศร้าเสียพระทัย โอ๊ ทำไมพระอิศวรทำงี้ล่ะ ใช่มั้ย ทำให้ลูกหัวขาดไป
พระอิศวรก็เลยต้องหาทางแก้ไข ทำไงหัวมันขาดไปแล้ว ก็เลยหาทางแก้ไข เอ๊ จะทำไงดีก็เลยตั้งกติกาขึ้นมา บอกว่า เอ้า ให้ไปดูว่าใครมันนอนหันหัวไปทิศตะวันตกให้เอาหัวมันมา นะฮะ ถือว่าถือว่าผิดคำสั่งพระอิศวรก็ให้นอนหันหัวไปตะวันตก ก็เลยไปเจอช้างตัวหนึ่งมันนอนหันหัวไปตะวันตก เลยได้หัวช้างมาก็เลย พระอิศวรก็เอาหัวช้างมาเสียบให้ เจ้าชายคเณศก็เลยมีหัวเป็นช้างไป ใช่มั้ย เลยว่านี่ นี่ นี่ พระคเณศน่ะมีเศียรเป็นช้าง นี่เรื่องราว นี่ตำนานของฮินดู ก็คือเรื่องฤทธินี่แหละ อา ก็พระคเณศก็ยิ่งใหญ่ใช่มั้ย เป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยานะ แต่ตำนานมาอย่างงี้ นะฮะ อันนี้ก็คือเรื่องของฮิน อินเดีย ฮินดูเนี่ยเต็มไปด้วยเรื่องของฤทธิเดชปาฏิหาริย์ของเทพเจ้า
แล้วต่อมาพวกมนุษย์เนี่ย พวกบวชเป็นฤาษีโยคีเนี่ย บำเพ็ญฌานสมาบัติก็มีฤทธิเดชแกร่งกล้าขึ้นมาแข่งเทพเจ้า อย่างในรามเกียรติ์ก็เหมือนกัน เราจะเห็นว่ามีฤาษีที่ไปบำเพ็ญตบะอยู่ ใช่มั้ย แล้วพวกอีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องหาทางทำลายตบะด้วยการที่ให้แปลงกายเป็นหมาเน่าไปด้วย ใช่มั้ยฮะ แล้วก็เลยตบะแตก อย่างเงี้ย คือ ไม่เฉพาะระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ แม้แต่เทวดากับมนุษย์ในชาดกจะมีเรื่องพระอินทร์หลายเรื่องที่ต้องพยายามทำลายฌานสมาบัติของพวกฤาษี
อันนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงเห็นว่าไอ้การแข่งกันอย่างงี้มันไม่เข้าเรื่อง นะฮะ มันไม่ได้แก้ปัญหาของมนุษย์ ไม่ช่วยให้มนุษย์ดีขึ้น ไม่พัฒนาขึ้นมา พระองค์ก็ทรงสอน นะฮะ ลงทรงใช้ฤทธิว่า ถ้าใครจะมีฤทธิก็ถือว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษไป แต่ว่า ตัวแท้ตัวจริงมันอยู่ที่ความหมดกิเลส เมื่อท่านหมดกิเลสแล้วถ้าท่านมีฤทธิก็ใช้ฤทธิในทางที่ดี ก็เหมือนคนมีจิตใจดีงาม ก็ใช้เทคโนโลยีในทางที่เป็นประโยชน์สร้างสรร แต่ถ้าจิตใจไม่ดีก็ใช้เทคโนโลยีในทางร้าย ก็จะพัฒนา และคนจะใช้ทางร้ายมากกว่าด้วย ใช่มั้ย พัฒนาเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีด้านการสงครามนี้จะไปไกลมาก ก็คือทำลายล้างผลาญซึ่งกันและกัน ในสมัยโบราณก็เหมือนกัน การใช้ฤทธินี่จะเน้นไปในทางที่การแสดงอำนาจ นะฮะ ใครจะใหญ่กว่ากันน่ะ นะ
เพราะฉะนั้น ในฮินดูเขาจะมีเทพนิยายที่ว่าถึงการรบกันของพวกเทพเจ้า การแผลงฤทธิของเทพต่างๆมากมาย ก็รวมความก็คือว่าพุทธศาสนานั้นมีท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ แต่ว่าเมื่อมันเป็นอย่างงั้นมา เราก็มองตามความเป็นจริงเลย เพราะว่าการศึกษาแบบนี้ ในเชิงประวัติศาสตร์ก็เป็นวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งเหมือนกัน ก็คือรู้ว่าสังคมชมพูทวีปสมัยนั้น ผู้คนอยู่กันยังไง มีความคิดยังไง เชื่ออย่างไร เราก็รู้เลย เจริญพร แล้วจะเห็นชัด หลักคำสอนของพุทธศาสนาเป็นยังไง ก็จะออกมาเลย
อย่างเรื่องเนี้ย เรื่อง เรื่องฤทธิไปสัมพันธ์กับเรื่องบูชายัญยังไง ใช่มั้ย อย่างที่อาตมาเล่าให้ฟังเมื่อกี้เนี่ย พวกฮินดูเขาถือว่า เพราะว่าบูชายัญเนี่ยจะทำให้คนมีฤทธิมีเดชอำนาจ เช่นอย่างพระมหากษัตริย์ต้องการจะยิ่งใหญ่ รบชนะ เป็นเรียกว่า ราชาธิราช หรือเป็นเอกราช เอกราชก็คือเป็นราชาผู้เดียวเลย นะฮะ ทั่วทั้งแผ่นดินชมพูทวีปหรือทั้งจาตุรันตเลย สี่ทิศ จรดมหาสมุทรทั้งสี่เลย เนี่ยก็จะต้องบูชายัญ นะฮะ เพราะฉะนั้นเขาจะมีพิธีบูชายัญสำหรับกษัตริย์เพื่อต้องการความยิ่งใหญ่ ซึ่งมันก็เป็นทั้งความหวังในความเชื่อที่จะได้เป็นยิ่งใหญ่ด้วย ทั้งในแง่เป็นข้ออ้างในการที่จะไปกำจัดผู้อื่นด้วย
นั้นกษัตริย์ฮินดูเนี่ยจะเต็มไปเรื่องการทำพิธีอัศวเมธ บางกษัตริย์บางองค์ก็ทำตั้งหลายครั้ง ก็การทำอัศวเมธก็คือเลือกม้าที่ดีอย่างยิ่ง ลักษณะคุณสมบัติพร้อม ก็เรียกกันว่าม้าอุปการ แล้วก็คัดเลือกพวกเจ้าชาย แล้วก็นักรบที่เก่งกล้า 100 คน พอได้พร้อมแล้วก็ปล่อยม้าอุปการนี่ไปพร้อมด้วยพวกเจ้า นายทหารเหล่านั้นติดตามไป แล้วม้าตัวนี้จะไปทางไหน ผ่านดินแดนของใคร ต้องยอมให้ผ่าน การยอมให้ผ่านคือการยอมรับอำนาจ ถ้าใครไม่ยอมให้ผ่านก็รบกัน นะฮะ จะปล่อยไปอย่างงี้ 1 ปี เมื่อ 1 ปีม้าก็กลับมา ก็แสดงว่ากษัตริย์ผู้นี้ยิ่งใหญ่จริงๆ ไม่มีใครสู้แล้ว ยอมรับหมดแล้ว เพราะว่าผ่านดินแดนไหนก็ยอมหมด ก่อนที่จะทำพิธีอัศวเมธนี้ก็ต้องเก่งแล้วนะ ต้องมั่นใจตัวพอสมควร เพราะว่า พร้อมที่จะรบแล้ว
ทีนี้ก็ได้รับการยอมรับอำนาจ ม้ากลับมาก็ทำพิธีฆ่าม้า บูชายัญ นะฮะ ม้าตัวนั้นแหละ ม้าที่ว่าคัดเลือกอย่างดีนั่นแหละ ก็จะถูกฆ่าบูชายัญ ทีนี้ระหว่างเวลา 1 ปีที่ม้าไปเนี่ย ที่ประเทศ ที่เมืองของพระเจ้าแผ่นดินที่ปล่อยม้าตัวนี้ไปก็จะมีการเฉลิมฉลองกันตลอดปีเลย รอจนกระทั่งม้ากลับมาแล้วก็ฆ่าบูชายัญ ก็จบ ก็แสดงว่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่จริงๆ นะฮะ อันนี้ก็เป็นเรื่องของ หนึ่ง ก็เป็นเรื่องของความเชื่อตามกำหนดของพราหมณ์ที่ถือว่ากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ก็จะทำ จะสร้างความยิ่งใหญ่ด้วยการที่ได้ทำพิธีบูชายัญ แล้วกษัตริย์ที่ใหญ่ก็จะได้แสดงอำนาจของตัวเองไปด้วย
พิธีบูชายัญก็พัฒนาในศาสนาฮินดูมาก มีกระทั่งสรวเมธ สรวเมธก็การฆ่าทุกอย่างบูชายัญ รวมทั้งมนุษย์ด้วย ก็เรื่องการฆ่าสัตว์ฆ่ามนุษย์บูชายัญก็เป็นหลักการใหญ่สำคัญอย่างยิ่งของศาสนาพราหมณ์ พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาก็ชัดมากก็คือพระองค์ไม่เอาเลยการบูชายัญ แต่ว่าก็พระองค์ก็สอนใหม่บอกว่า การบูชายัญเนี่ย มันต้องทำบ้านเมืองให้อยู่ดีมีความสุข เพราะฉะนั้นก็จะมีเรื่องในพระสูตรเลยอย่างในกูฏทันตสูตรเนี่ย จะชัดเลย
พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่เมืองหนึ่ง เมืองนั้นปกครองโดยพราหมณ์ พราหมณ์ก็กำลังเตรียมพิธีบูชายัญ พระพุทธเจ้าก็เสด็จเข้าไปพบกับพราหมณ์ผู้นี้ สนทนากัน สนทนากัน ก็สนทนาเรื่องการบูชายัญนี่แหละ อา พระพุทธเจ้าต้องมีความรู้ ถ้าไม่มีความรู้ก็สู้เขาไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงให้เห็นว่า ไอ้ที่เขารู้เนี่ย ไม่รู้เท่าพระองค์ เรื่องยัญ พระองค์ยังรู้เรื่องการบูชายัญมากกว่านี้อีก นี้พระองค์ก็เล่าไปถึงอดีตเลยไปอีกว่าการบูชายัญของกษัตริย์ยิ่งใหญ่แท้ๆเนี่ย เขาไม่ใช้วิธีอย่างเงี้ย เขาต้องเตรียมบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย บ้านเมืองประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุขพร้อมแล้วจึงจะทำพิธีบูชายัญ
อา ทีนี้ก็บอกวิธีปกครองตามเนี้ย ก็คือธรรมะในแง่การปกครองก็ออกมาว่า จะต้องทำยังไงบ้าง บำรุงยังไงให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุข มีความพรั่งพร้อมทรัพย์สมบัติ เศรษฐกิจดีแล้ว นี่พอดีแล้วทีนี้ก็พิธีบูชายัญเปลี่ยนเลย นะ แทนที่จะฆ่า ก็บอกไอ้การบูชายัญที่แท้มันไม่ต้องทำให้ใครเดือดร้อน นะฮะ ก็เป็นการบูชายัญโดยการแทนที่จะสร้างความเดือนร้อนแก่สัตว์ แก่มนุษย์อะไรก็กลายเป็นว่าเผื่อแผ่ทำให้เขาได้มีความสุขทั่วกัน ก็กลายเป็นการสงเคราะห์ ดังนั้นคำว่ายัญในพุทธศาสนาก็มีความหมายใหม่กลายเป็นเรื่องทานชนิดหนึ่ง ทานก็กลาย ยัญก็กลายเป็นทานไปในพุทธศาสนา นะฮะ คือไม่ หมายความไม่ได้เลิกคำว่ายัณ แต่ว่าเปลี่ยนความหมายใหม่
อย่างกูฏทันตสูตรนี่ก็เป็นตัวอย่าง แล้วนี่ในกูฏทันตสูตร(???)เห็นชัดๆก็คือว่า มีการบูชายัญ เดี๋ยว ขออภัยนิดนะฮะ คือ การบูชายัญของพราหมณ์เนี่ยเขามีชุดหนึ่งที่ถือว่าสำคัญ หนึ่งอัศวเมธ นะฮะ ที่รู้จักกันแล้ว แล้วก็สองปุริสเมธ ปุริสเมธ นี่ฆ่าคน อัศวเมธนี่ฆ่าม้า ปุรุษเมธ ปุรุษเมธนี่ฆ่าคนบูชายัญ แล้วก็วาชเปยะ วาชเปยะนี่ก็คล้ายๆกับที่เราเรียกว่า ดื่มน้ำชัยบาล พิธีที่บูชายัญแล้วมีการดื่มน้ำชัยบาล ฉลองชัยชนะ แล้วก็มี เออ เดี๋ยวมีอัศเมธํ ปุริสเมธํ สัมมาปาสํ สัมมาสะนี่ก็เป็นยัญอีกชนิดหนึ่ง ก็เป็นยัญที่เขามีกำหนดพิธีเขาแปลกๆแล้วเป็นเรื่องของพราหมณ์เขา เขาก็หมายความว่า เขามีการปาลิ่มอะไรไปไม่ทราบนะ ลอดบ่วงไปแล้วลิ่มไปตกที่ไหนก็มีการทำพิธีที่นั่นอะไรแบบเนี้ย อันนี้เป็นเรื่องของคนโบราณเราไม่ต้องไปเอาใจใส่ก็คือพิธีบูชายัญชนิดหนึ่ง รวมแล้วก็คือ 5 อย่าง อัศเมธํ ปุริสเมธํ สัมมาปาสํ วาชเปยํ แล้วก็นิครัคคํ นิครัคคํ นี่เป็นยัญสุดท้าย ยัญสุดท้ายนี่หมายความว่า ทุกอย่างครบทุกอย่าง ฆ่าบูชายัญครบไม่มีขาดเลย
ก็พระพุทธเจ้าก็มาตรัสสอนบอกว่าไอ้เรื่องเนี้ยเป็นความเข้าใจผิดของพราหมณ์ทั้งหลาย ยุคหลัง นะฮะ ความจริงของเดิมเนี่ยมันดี พระองค์ก็สอนอย่างงี้นะ บอกว่า ไอ้เรื่องเหล่าเนี้ยที่แท้มันเป็นอย่างงี้ พระองค์ก็สอนเสร็จแล้วมันกลายมาเป็นอย่าง อย่างใหม่เลย มาใช้กับเมืองไทยด้วยนะ เวลามีพิธีราชภิเษกเนี่ย จะนำเอาหลักธรรมในพุทธศาสนามากล่าว เขาเรียกว่าจะอะไรนะ ประกาศ หรืออะไรในในพระราชพิธี เนี่ยแหละ พระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินโดยธรรมะอะไรบ้าง ชุดที่ 1 ทศพิธราชธรรม ชุดที่ 2 ราชสังคหวัตถุ 4 ชุดที่ 3 จักวรรรดิวัตร 12 ชุดที่ 4 พระราชพละ 5 อะไรพวกเนี้ยนะ จะต้องประกาศเวลาพระเจ้าแผ่นดินไทยขึ้นครองแผ่นดิน ก็คือเอาธรรมะในพุทธศาสนามา
ทีนี้ ชุดหนึ่ง ราชสังคหวัตถุ 4 เนี่ยก็มาจากยัญของพราหมณ์ที่พระพุทธเจ้าไม่เอาด้วย แล้วก็กลายเป็นหลักธรรมชุดใหม่ที่ให้พระเจ้าแผ่นดินปฏิบัติแทนที่จะปฏิบัติโดยฆ่าสัตว์ฆ่ามนุษย์บูชายัญ มันกลายเป็นราชสังคหวัตถุ 4 อะไรบ้าง อัศเมธ พิธีฆ่าม้าบูชายัญ มาเปลี่ยนเป็น สัสสเมธะ สัสสะ อันนี้เป็นวิธีเลียนศัพท์ นะฮะ สัสสะนี่แปลว่า ข้าวกล้า นะฮะ แล้วเมธะตัวนี้มันแปลว่าฆ่าก็ได้ แล้วเมธะนี่คือเมธาที่เป็นเมธี เมธะตัวนี้เมธาก็คือปัญญา นะฮะ คือความเป็นปราชญ์ เพราะฉะนั้น ไอ้ศัพท์เนี่ยมันเล่นศัพท์ได้ เมธะ แปลว่า ฆ่า แต่ในเวลาเดียวกันมันแปลว่า ปรีชาสามารถ เพราะฉะนั้น ในพุทธศาสนา จาก อัศวเมธะ ฆ่าม้าบูชายัญ ก็เปลี่ยนเป็นสัสสเมธะ ปรีชาสามารถในการบำรุงข้าวกล้า ว่างั้น ก็คือกษัตริย์จะต้องมีปัญญา มีปรีชาสามารถในการบำรุงการเกษตร นี้ข้อที่ 1 นะฮะ
ต่อไปข้อที่ 2 ปุริสเมธํ ฆ่าคนบูชายัญ พุทธศาสนา คำว่า บุรุษ เนี่ยนะ ในภาษาบาลีเนี่ย แต่โบราณเขาใช้เรียกพวกราชบุรุษนะ ราชบุรุษก็คือข้าราชการ เพราะฉะนั้น เมธะตัวนี้กลายเป็นแปลว่าปรีชาสามารถ ปุริสเมธะก็ในความหมายพุทธศาสนาก็เป็นว่า ปรีชาสามารถในการบำรุงข้าราชการ นะฮะ ก็ปรีชาสามารถในการที่จะจัดสรรสนับสนุนข้าราชการที่ดีแล้วก็จัดระบบให้ดีแล้วก็บำรุงให้เขาอยู่ดีมีความสุข เรียกว่าปุริสเมธํ เพราะฉะนั้น พระมหากษัตริย์จะต้องมีปรีชาสามารถในการบำรุงข้าราชการ
แล้วก็ 3 สัมมาปาสํ สัมมาปาสํ ไอ้ตัวนี้ ไอ้ปาสะนี่แปลว่าบ่วงที่บอกเมื่อกี้ไง บ่วงที่เขาเอาลิ่มขว้างไปแล้วไปตกที่ไหนทำพิธีบูชายัญที่นั่น นี้พุทธศาสนา สัมมาปาสํ นี้แปลว่าบ่วงคล้องใจประชาชน หมายความว่าบ่วงนี้ หมายความว่าคล้องใจประชาชน ทำไง คุณจะต้องผูกใจประชาชน ในแง่นี้ ในชุดราชสังคหวัตถุนี้เป็นเรื่องเศรษฐกิจหมด ก็ ทีนี้ก็ต่อไป จาก 1 ข้าวกล้านี่การเกษตร 2 ข้าราชการ 3 ก็พ่อค้า ข้อที่ 3 ก็บำรุงแก่กิจการค้าขาย เช่น ด้วยการสนับสนุนเงินทุน ว่าถ้าหากว่าใครไม่มีเงินทุน ให้มากู้ยืม หยิบยืมจากท้องพระคลังหลวงอะไรต่างๆเหล่าเนี้ย ก็อยู่ในคำที่เรียกว่า มีวิธีการผูกใจประชาชน ให้เขาอยู่ได้ นะฮะ มีทุนในการที่จะประกอบสัมมาชีพ เรียกว่า สัมมาปาสํ
ต่อไป วาชเปยํ วาชเปยํที่เขาบอกว่า ดื่มน้ำชัยบาลเนี่ย ของพระพุทธเจ้าก็เปลี่ยนมาเป็นวาชะ เออ วาชะตัวนี้มันแปลว่า น้ำคำได้ วาชะ วาชะแปลว่าถ้อยคำ คำพูดที่เราเป็นวาจาไง วาจา วาชะ เนี่ยมันแปลงกันได้ แล้วเปยะ เปยะตัวนั้นก็แปลว่าที่ควรดื่ม นะฮะ อย่างที่มีน้ำปานะอะไรเนี่ยมาจากรากศัพท์เดียวกัน ปีติก็แปลว่าดื่มใจ นะฮะ อิ่มใจ อะไรอย่างเงี้ย ตัวเปยะตัวนี้ก็คือพึงดื่ม แปลว่ามีน้ำคำอันพึงดื่ม ว่างั้นนะฮะ มีน้ำคำอันพึงดื่มหมายความว่า พูดจานี่คนเขายอมรับได้ นะฮะ แปลเอาความว่า มีวาจาดูดดื่มใจว่างั้นนะฮะ หมายความว่า พระราชาจะต้องรู้จักพูด รู้จักสื่อสารกับประชาชน ทำให้เขามีความเข้าใจอันดี ให้เขามีความรักความเชื่อถือ
อันนั้นก็เป็นลักษณะคุณสมบัติของพระราชาที่จะมาสัมพันธ์กับประชาชนเรียกว่า ราชสังคหวัตถุ หลักในการสงเคราะห์ประชาชนของพระราชา หมายความว่านักปกครองน่ะ นักปกครองจะต้องมีหลักอันนี้ ก็ หนึ่ง ก็คือ บำรุงการเกษตร สอง บำรุงข้าราชการ สาม บำรุงการพาณิช การค้าขายทั่วไป กิจการต่างๆแล้วก็ สี่ ก็รู้จักพูดจักจา รู้จักสื่อสาร แล้วข้อที่ 5 นิรัคคฬํ ก็เป็นผล บอกว่าเมื่อบำรุงบ้านเมืองให้อยู่ดีแล้ว ประชาชนมีความสุข แล้วบ้านเรือนไม่ต้องลงลิ่มกลอนว่างั้น นะฮะ นิรัคคฬํ แปลว่า ไม่มีลิ่มกลอน นะฮะ ก็หมายความว่า อยู่กันอย่างเงี้ยแล้วบ้านเมืองก็สงบสุข นะฮะ ไม่ต้องมีการลักขโมย เพราะฉะนั้นบ้านเรือนไม่ต้องลงกลอนด้วยซ้ำ นะฮะ
แล้วก็ยังแถมบอกต่อไปด้วยบอกว่า พ่อแม่ก็เอาลูกมาฟ้อนที่อก ว่างั้น อันนี้สำนวนของท่าน ก็หมายความว่าให้ประชาชนเนี่ยอยู่ดีมีความสุขจนกระทั่งว่าในครอบครัวเขานี่ไม่มีความเดือดร้อน ไม่ต้องระแวงภัยน่ะ คนสมัยก่อนนี่เวลารักลูก ก็มาเล่นกับลูก เขาเรียกว่าเอาลูกมาฟ้อนที่อก ใช่มั้ย ยกขึ้นมาแล้วก็ อะไร ให้ลูกมาเอาเท้ามาเหยียบยังอยู่ตรงเนี้ยเลย อันนี้ก็คือหลักพุทธศาสนา เป็นราชสังคหวัตถุ 4 ประการ ซึ่งตรงข้ามกับยัญของพราหมณ์ ยัญของพราหมณ์ก็คือต้องฆ่าโน่นฆ่านี่มาเพื่อจะได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่
นั้นแนวคิดเนี้ย เราจะเห็นได้ในเรื่องพระเจ้าอโศกที่ว่าทำไมจึงเปลี่ยน พระเจ้าอโศกเนี่ยก็มาตามแนวคิดของพราหมณ์ ใช่มั้ย เพราะว่าปู่คือพระเจ้าจันทรคุปต์ คงได้ยินใช่มั้ยฮะ เรื่องมันมาไกล แต่เรามักจะมองในแง่ประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง การทหาร อย่างเดียว แต่เราไม่ได้ดูเรื่อง ไอ้เรื่องรัฐศาสตร์ แนวคิดความเชื่อที่อยู่เบื้องหลัง นี้จันทรคุปต์นี่ขึ้นมาจากชนคล้ายๆหัวหน้าเผ่า นะฮะ ก็มายึดอำนาจแคว้นมคธจากราชวงศ์นันทะ คือราชวงศ์ของอินเดียนี่ก็สืบต่อกันมา ตอนสมัยพุทธกาลนี่เขาเรียกว่า มี 16 แคว้น ต่อมา แคว้นต่างๆก็แผ่นอำนาจกันจนกระทั่งในที่สุดแคว้นมคธนี่ยิ่งใหญ่ที่สุด เรียกว่าครองอำนาจหมดเลย ก็พอจะพูดได้ว่า เรียกว่าหมดทั้งชมพูทวีป เกือบหมด นะฮะ
นี้ก็ต่อมาจนกระทั่งหลังพุทธกาลได้ 200 เกือบ 200 ปี ก็มีราชวงศ์ชื่อราชวงศ์นันทะ ซึ่งหลังจากราชวงศ์ของพวกพระเจ้าอชาตศัตรูแล้ว เพราพระเจ้าอชาตศัตรูนี่ลูกฆ่าพ่อตลอดวงศ์เลย ไปจนกระทั่งว่าพวกอำมาตย์ในที่สุด ประชาชนและอำมาตย์ทนไม่ไหว ก็จับกษัตริย์องค์สุดท้ายนี่ปลด ปลดจากราชบัลลังก์ นะก็ลงมาก็ตั้งราชวงศ์ใหม่ ราชวงศ์ใหม่นั้นก็ถูกราชวงศ์นันทะนี่ขึ้นยึดอำนาจ ราชวงศ์นันทะก็ครองอำนาจ ก็ยิ่งใหญ่มาก ราชวงศ์นันทะนี่ก็อยู่มาถึงสมัยพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราช กษัตริย์กรีกแมสซิโดเนีย พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชก็ยกทัพมา ชนะ กำจัด อะไร เรียกว่า อาณาจักร หรือจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้นคือจักรวรรดิเปอร์เซีย เปอร์เซียในที่นี้เป็นอิหร่านปัจจุบัน ตอนนั้น ยิ่งใหญ่ที่สุดเลย
พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชก็ล้มอำนาจกษัตริย์เปอร์เซียลงได้ แล้วก็กรีฑาทัพผ่านเปอร์เซียมา ก็มาชมพูทวีป ก็ขึ้นไปโน่น โยนก อา แคว้นบัคเตรียน่ะคือแคว้นโยนก นะฮะ แล้วก็เตรียมยกทัพเข้ามาก็มาตั้งทัพที่เมืองตักสิลา เตรียมยกเข้าตีชมพูทวีป ตอนนั้นก็เนี่ย จะต้องเข้าตีราชวงศ์นันทะ ฝรั่งก็บันทึกไว้เลยเพราะกรีกนี่จะบันทึกไว้ว่า ตอนนั้น ฝ่ายราชวงศ์นันทะ มีกองทัพ พลช้าง พลม้า พลรถ พลอะไรราบ เท่าไรเท่าไรเขาเขียนไว้หมดเลย นะฮะ
ทีนี้ฝ่ายอเลกซานเดอร์ก็เตรียมการ ตอนนั้น จันทรคุปต์ก็กำลังคิดจะยึดอำนาจราชวงศ์นันทะ นี้ในฝ่ายชมพูทวีปเอง นี้จันทรคุปต์ก็เห็นว่า อเลกซานเดอร์มานี่ ถ้าได้ร่วมมือกัน ก็จะดี จะได้มีกำลังพอ เพราะว่านันทะนี้ยิ่งใหญ่เหลือเกิน ฝ่ายอเลกซานเดอร์ อาจจะเป็นอเลกซานเดอร์ก่อนด้วยซ้ำ อเลกซานเดอร์เห็นว่า นันทะนี้ยิ่งใหญ่มาก ถ้าได้ความร่วมมือจากพวกแคว้นเล็กๆ หรือพวกที่อยู่ในชมพูทวีปมาร่วมมือกับพระองค์ก็จะกำจัดราชวงศ์นันทะได้ ก็เลยมีการนัดพบระหว่างพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชกับจันทรคุปต์ ซึ่งหลักฐานฝ่ายกรีกเรียกว่า ซานโดรโกตอส นะฮะ กรีกบันทึกไว้ ซานโดรโกตอสเนี่ย ก็พบกัน ก็มาพบที่ค่ายของพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราช นี้พอพบกันปั๊บ เนี้ยพวกนักปกครองนั้นมีปัญหากันอย่าง ใครจะใหญ่กว่ากัน นี้ก็ใครจะแสดงคารวะต่อกัน ปรากฏว่าอเลกซานเดอร์ก็หวังว่าจันทรคุปต์จะต้องแสดงคารวะต่อตน จันทรคุปต์ก็ไม่ยอมเหมือนกัน นะฮะ เมื่อจันทรคุปต์ไม่ยอม อเลกซานเดอร์ก็เลยจับจันทรคุปต์ เรื่องของการร่วมมือกันก็จบ นะฮะ จับจันทรคุปต์แล้วต่อมาปรากฏว่าจันทรคุปต์หนีไปได้
ฝ่ายพระเจ้าอเลกซานเดอร์ก็คิดไปคิดมา ในที่สุดแล้วก็ หลักฐานฝ่ายหนึ่งว่าพวกทหารเนี่ยเบื่อหน่ายการสงคราม เพราะรบมานักหนาแล้ว เบื่อเหลือเกิน แล้วก็อีกหลักฐานหนึ่งก็ว่าชักคร้ามอำนาจของราชวงศ์นันทะที่มีรี้พลมากเหลือเกิน ในที่สุดก็เลยพระเจ้าอเลกซานเดอร์ก็ถอยทัพกลับ คือเลิกทัพ ไม่ใช่เรียกว่าถอย เรียกว่าเลิกทัพ แล้วก็ตั้งพวกนายพลต่างๆเนี่ย ปกครองดินแดนที่พระองค์ได้ตีได้ไว้ ก็มีซีเลียวคัสเนี่ย ปกครองแถบตะวันออกนี้ซึ่งขึ้นมาถึงแคว้นโยนกเลย คือ บักเตรีย ดินแดนที่เป็นประเทศอัฟกานิสถานปัจจุบัน รวมทั้งปากีสถานด้วย ตอนนั้นอยู่ในแคว้นพวกนี้หมด คันธาระ โยนก อะไรเนี่ยนะฮะ กัมโพชะ เลยจากเปอร์เซียมาเนี่ยตลอดหมด แล้วซีเลียวคัสก็ยิ่งใหญ่ เป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่มาก นะฮะ ก็เป็นนายพลของอเลกซานเดอร์นั่นเอง อันนี้เมื่อพระเจ้าอเลกซานเดอร์กลับไปแล้ว ทางฝ่ายในอินเดีย พระเจ้าจันทรคุปต์เนี่ย ก็สะสมกำลังรี้พลจนกระทั่งในที่สุดก็รบชนะ กำจัดราชวงศ์นันทะลงได้ พระเจ้าจันทรคุปต์ก็ได้ขึ้นครองอำนาจ ตั้งตัวเป็นกษัตริย์
ทีนี้เบื้องหลังที่จันทรคุปต์จะเป็นใหญ่เนี่ย ที่จริงจันทรคุปต์นี่เป็นเด็กที่ยากจน นี้มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ จาณักยะ หรืออีกชื่อหนึ่งก็ เกาฏิลยะ เนี่ย เป็นปฏิปักษ์กับราชวงศ์นันทะ พราหมณ์คนเนี้ยเป็นปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นผู้เลี้ยงดูจันทรคุปต์ขึ้นมา เพื่อจะมาสู้กับราชวงศ์นันทะ และยึดอำนาจราชวงศ์นันทะได้ในที่สุด จาณักยะนี่เป็นผู้เขียนตำรารัฐศาสตร์ของอินเดีย เรียกว่านีติศาสตร์ หรือราชนิติ อะไรทำนองเนี้ย ก็คือตำรา ก็เรียกกันว่า จาณักยสัตถะ (???) นั่น ตำราของจาณักยะ ว่าตรงๆ หรือเกาฏิลิยะ เนี่ย ทีนี้ จาณักยะเนี่ย เป็นผู้อยู่เบื้องหลังจันทรคุปต์ เป็นผู้วางแผน เป็นผู้จัดสรรการปกครองเมื่อพระเจ้าจันทรคุปต์ขึ้นครองอำนาจ ก็คือจาณักยะเนี่ยจัดระบบการปกครอง
นี้ระบบการปกครองจาณักยะเนี่ยเขาเทียบกันกับ มาคีอาเวลลี ที่เป็นรัฐบุรุษประเทศอิตาลี เป็นเจ้าทฤษฎีการเมือง ซึ่งเป็นนักปฏิบัติ นักรัฐศาสตร์ที่เป็นภาคปฏิบัติการ ใช้วิธีคล้ายๆกับจาณักยะ คือ มุ่งเพื่อความยิ่งใหญ่ จะเล่ห์กลยังไงก็ได้ให้สำเร็จก็แล้วกัน ก็เขาเทียบกันว่าของตะวันออก ชมพูทวีป ก็แบบเดียวกับของตะวันตกอันเนี้ย นี้จาณักยะนี่ก็คือต้องการให้กษัตริย์เป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แล้วพยายามรบ บุกครองดินแดนอื่นให้ได้มากที่สุด เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ อันนี้เป็นแนวคิดของพราหมณ์ ซึ่งแสดงออกในแนวคิดของจาณักยะ ตำราเขาก็จะออกมาเงี้ย ก็จะต้องวางกลอุบายในการที่ว่าจะทำไงให้กษัตริย์อื่นสู้เราไม่ได้ นะฮะ เช่นว่า เอาให้ไอ้พวกดินแดนตรงนี้มันแตกกับตรงนั้น นะฮะ แล้วก็ไปผูกมิตรกับศัตรูของแคว้นนั้น อะไรเงี้ย นี่นี่นี่ตัวอย่างวิธีการของพวกจาณักยะ เพราะฉะนั้น จันทรคุปต์นี่ก็ยิ่งใหญ่ขึ้นมาด้วยวิธีการของจาณักยศาสตร์เนี่ย นะฮะ จาณักยะก็เป็นผู้จัดสรรการปกครอง การแบ่งการปกครอง การจัดเมืองอะไรต่างๆเหล่านี้หมด
ตอนนี้ พอพระเจ้าจันทรคุปต์ครองอำนาจต่อมาอีกไม่กี่ปีก็ยกทัพมาตีซีเลียวคัส สู้กัน เพราะซีเลียวคัสครองแถบนี้ ซีเลียวคัสต้องยอมยกแผ่นดินแถบแคว้นคันธาระนี่ให้แก่จันทรคุปต์ นะฮะ จันทรคุปต์ก็ได้ครองมาถึงแคว้นโยนกหมดเลย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ปัจจุบัน ก็อยู่ในแคว้นของอำนาจของพระเจ้าจันทรคุปต์ นะฮะ พอจันทรคุปต์สิ้นไป ราชโอรสชื่อพระเจ้าพินทุสาร ไม่ใช่พิมพิสาร นะ พิมพิสารนั้นยุคเก่า ยุคพุทธกาล อันนี้พินทุสาร พินทุสาร โอรสพระเจ้าจันทรคุปต์ก็ครองอำนาจต่อ ก็แผ่อำนาจลงมาทางใต้ ลงมาทางแคว้นพวก แดนเขาเรียกทักษิณาบท เดกัน เดกันปัจจุบัน ก็จะมาทางแดนทมิฬน่ะ ทางใต้ของอินเดียก็คือแดนทมิฬ ถ้าลงใต้มากๆ นี้พินทุสารก็ลงมาทางใต้นี้ ต่อมาพินทุสารสิ้นก็ขึ้นสู่ยุคพระเจ้าอโศก
พระเจ้าอโศกก็ดำเนินนโยบาย ก็แน่นอนแนวคิดของจาณักยะ การปกครอง การแผ่อำนาจแบบพราหมณ์ ทีนี้ปรากฏว่า พระเจ้าอโศกเนี่ยต่อมาก็หันมานับถือพุทธศาสนา พอนับถือแล้ว ก็ได้ คงจะได้เรียนรู้แนวคิดว่าการปกครองของกษัตริย์นั้นไม่ใช่เพื่ออำนาจของตัวเอง แต่เพื่อทำประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุข เพราะว่าแนวคิดของพุทธศาสนานี่จะชัดมาก เพราะมีพระสูตรเกี่ยวกับการปกครองหลายสูตร เช่นอย่างง่ายๆก็ อัคคัญญสูตร นะ จักกวัตติสูตร พระสูตรพวกนี้เกี่ยวกับเรื่องการปกครองทั้งนั้น นะฮะ ก็จะบอกว่าต้นกำเนิดการปกครองเป็นยังไง นะฮะ จะเล่าตั้งแต่นั่นเลยน่ะ ซึ่งแนวคิดมันตรงข้าม ของพรามหณ์นี่เขาเป็นเรื่องของเทพเจ้า เพื่ออำนาจความยิ่งใหญ่ อะไรต่ออะไรใช่มั้ย นะฮะ พระราชานี่ก็คือ เหมือนกับเทพเจ้าในแผ่นดิน ใช่มั้ยฮะ มีอำนาจคนจะต้องเคารพบูชา แล้วก็ต้อง กษัตริย์ต่อกษัตริย์ก็ต้องมาแข่งอำนาจกัน ใครจะยิ่งใหญ่กว่ากัน
นี้แนวคิดของพุทธก็เริ่มมาตั้งแต่อัคคัญญสูตร ตั้งแต่ว่าสังคมมันวิวัฒนาการมาอย่างไร พุทธเจ้าก็ตรัสเล่าบอกว่า อ้าว ตั้งแต่ว่ามันมีโลกเกิดมาเริ่มมีคนเกิดขึ้นมา ต่อมาคนมากขึ้น นะฮะ ตอนแรกก็ไปเก็บเอาพวกพืชพรรณที่มันสุกแล้ว มันพร้อมแล้ว แล้วก็มากิน แต่ละมื้อละมื้อ ต่อมาก็มีคนสมองดี คิดว่าเราจะลำบากเดินไปเก็บทำไม นะฮะ ก็เอามาเก็บไว้ที่บ้าน นะฮะ แล้วนานๆก็ไปเอาทีหนึ่ง นี้เพราะการที่เกิดการสะสม มันก็เลยต้องเอาทีละมากๆ พอเอาทีละมากๆก็ต่อมาก็ทำให้เกิดการแบ่งเขต นะฮะ เกิดการแบ่งเขตขึ้นมาว่าใครจะได้เท่าไหน
ต่อมาก็มีคนโลภ ไอ้ในเขตของตัวมันมีพืชพรรณอาหารผลิตน้อย ก็เลยมองดูซ้ายขวาไม่มีใครก็ล่วงละเมิดเข้าไปในเขตคนโน้น นะฮะ ไปหยิบมา ไอ้เจ้า ฝ่ายเจ้าของนั้นเห็นเข้าก็เลยทะเลาะกัน เกิดตีกัน มีการโกหกกันอะไรต่างๆ มีความผิดความชั่วเกิดขึ้น นี้ท่านเล่ามานะ ก็เลยในที่สุดมีกรณีเกิดขึ้นมากๆ พวกคนที่มีสมองดีเป็นคนผู้นำในชุมชน นั้นก็มาประชุมกัน มาปรึกษากันว่า เออ เวลานี้หมู่ชนของเราเนี่ย มันเสื่อม มันตกต่ำ มีอาชญากรรมอะไรเกิดขึ้นมาก เนี่ย เราจะแก้ไขอย่างไรดี
ก็ตกลงกันว่าเราควรจะมอบหมายเลือกคนผู้หนึ่งขึ้นมาที่มีบุคลิกลักษณะดีมีปัญญาดี เวลามีกรณีพิพาทเกิดขึ้นท่านผู้นี้จะได้มาพิจารณาตัดสิน ก็เลยตกลงกันว่า ให้เลือกเอาคนที่มีบุคลิกลักษณะดี มีความสามารถ มีสติปัญญาเนี่ย จะตัดสินความได้เนี่ย แล้วก็ตกลงกันขึ้นมาให้ทำหน้าที่นี้ แล้วเพื่อให้ท่านผู้เนี้ยทำหน้าที่ได้โดยไม่ต้องวิตกกังวลความเป็นอยู่ ก็มอบไอ้ผลผลิตส่วนหนึ่งเนี่ยให้แก่ท่านผู้นี้ไปเลย นะฮะ ท่านผู้นี้ไม่ต้องมาเที่ยวทำนาหากินอะไรกับเขาด้วย ท่านผู้นี้ก็ได้ทำหน้าที่เนี้ย ในการที่ว่าดูแลตัดสินกรณีพิพาทต่างๆ ก็เพราะเหตุที่ว่าเป็นผู้ที่มหาชนได้เลือกตั้งขึ้นมา จึงเรียกว่า มหาสมมติ ย่อมาจากคำว่ามหาชนะสมมติ สมมติแปลว่ายอมรับร่วมกัน คำว่า สมมติ เนี่ยแปลว่ายอมรับร่วมกัน เรามาเข้าใจผิดเป็น สมมติ คือ ติ๊งต่าง ว่างั้นนะ คือ สมมตินี่แปลว่ายอมรับร่วมกัน คือ คนตกลงกันว่าเอาอย่างไงก็ถืออย่างงั้น นี้มหาชนสมมติก็คือผู้ที่มหาชนได้ตกลงกัน ยอมรับร่วมกัน นี่
เพราะฉะนั้น ราชาเกิดขึ้น หนึ่ง เรียกว่า มหาสมมติ คนที่มหาชนได้ยอมรับร่วมกัน สอง เรียกว่า ราชา เพราะว่าได้ คนได้มีกรณีพิพาท ทะเลาะกัน มีความทุกข์ความอะไร ท่านก็ตัดสินทำให้เขาเกิดความพึงพอใจ เรียกว่า ราชา ราชา ก็แปลตามศัพท์ แปลว่า ผู้ทำให้คนเกิดความยินดีพอใจ นะฮะ แล้วก็ สาม เพราะว่ามอบอำนาจให้เป็นใหญ่ในที่ดิน ที่ดินเขาเรียกก็เขต แล้วก็ถ้าเป็นสันสกฤตเรียกว่า เกษตร นะฮะ พอให้เป็นใหญ่ในที่ดิน มันจะได้มีอำนาจในการตัดสิน ก็เลยเรียกว่า กษัตริย์ นะฮะ แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในเกษตร นะฮะ ก็เลยพระราชาเนี่ยก็ได้พระนามสามอย่างนี่ตามประวัติศาสตร์พุทธศาสนา นี่พระพุทธเจ้าเล่าเองนะว่า เนี่ยเกิดขึ้นมาอย่างงี้ แล้วก็เกิดวรรณะอื่นยังงั้นยังงั้น
คือ พระพุทธเจ้าตรัสนี่เพื่อจะล้มล้างแนวคิดของพราหมณ์ที่ว่า วรรณะสี่นั้นเกิดจากพระพรหมสร้าง ของเขานี่พระพรหมสร้าง พราหมณ์นี่มาจากพระโอษฐ์ของพระพรหม กษัตริย์มาจากพระพาหา แขน ไอ้พวกพ่อค้าพาณิชมาจากตะโพก ขาของพระพรหม แล้วพวกศูทรมาจากพระบาท พระพุทธเจ้าก็เล่าบอก ไม่ใช่ มันเกิดจากวิวัฒนาการสังคมอย่างงี้ นะฮะ เช่นว่า ราชาเกิดขึ้นอย่างงี้ นะฮะ อันนี้ก็คือตัวเรื่องการกำเนิดของพระราชา ในเรื่องของพุทธศาสนา อันเนี้ยก็เลยนี่เลยแนวคิดของพุทธศาสนา มันก็ออกมาเช่นมาถึงจักกวัตติสูตร ก็แถมเข้าอีก
จักกวัตติสูตร นี่ มันจะเหมือนกับล้มไอ้แนวคิดของพราหมณ์เลย บอกว่า จักรพรรดิปกครองแผ่นดินตามข้อปฏิบัติ อย่างงั้นอย่างงั้น หนึ่ง ถือธรรมเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตย นะฮะ แล้วก็สอง ธรรมจาริกรักขา ธรรมิการักขา แปลว่า จัดการอารักขา คุ้มครองประชาชนโดยชอบธรรม แล้วก็แยกไปว่าประชาชนกลุ่มไหนบ้างที่จะต้องได้รับการดูแล นะฮะ แล้วเสร็จแล้วก็บอกว่า ต้องไม่ให้มีอธรรมการ คือ การกระทำที่ไม่ชอบธรรม การกระทำที่ชอบธรรม ไม่ชอบธรรมเกิดขึ้น ราชาก็มีอำนาจ ต้องแก้ไขป้องกัน แล้วก็ ธนานํ ธนานุปฺปทานํ ต้องจัดสรรเงินทองให้แก่ผู้ไม่มีทรัพย์ ว่างั้น นะฮะ ท่านก็ต้องให้คนที่ไม่มีทรัพย์มีโอกาสได้หากินได้มีเงินมีทองใช้ ก็เราเรียกว่า จักรวรรดิวัตร เดิมมีอยู่ 5 ข้อ แล้วก็เรามาเอากลุ่มชนที่จะต้องดูแลเนี่ยมาแยกเข้าก็รวมเป็น 12 ข้อ ในประเพณีไทยเราก็เรียกว่า จักรวรรดิวัตร 12
นี้ ประเพณีการปกครองในแนวพุทธก็คือว่า ราชาจะต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติเหล่าเนี้ยเพื่อทำนุบำรุงประชาชนให้มีความสุข แล้วก็จะมีอันหนึ่งที่บอกว่า ซึ่งสำคัญมาก บอกว่า อะไร อสตฺเถน ธมฺเมน อภิวิชิย นี้ที่เป็นที่มาของคำว่าธรรมวิชัย ในพระสูตรมาเลยบอกว่า ทรงมีชัยชนะโดยไม่ต้องใช้ศัสตรา แต่ชนะโดยธรรม ว่างั้น นะฮะ หมายความปกครองแผ่นดินและชนะใจคน มีอำนาจอยู่ได้ด้วยความเป็นธรรม ด้วยธรรมะ นี่คือที่มาของแนวคิดอโศก มาปรากฏในศิลาจารึกเป็นคำว่า ธรรมวิชัย
พระเจ้าอโศกต้องได้รับความคิดนี้ ดูพระสูตรนี้แล้ว โอ้ แนวคิดของพราหมณ์ที่ว่า กษัตริย์ ก็คือรบเก่ง ยิ่งใหญ่ มีอำนาจ นะฮะ กำจัดแคว้นต่างๆรุกรานขยายอาณาเขต เลิกพูด ทำไงจะให้ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ใช่มั้ย แนวคิดนี้มา พระเจ้าอโศกก็เลย ได้ความประทับใจในทางไม่ดีที่ไปรบที่แคว้นกลิงคะ เพราะว่าขยายอำนาจตามแนวคิดจาณักยะมาตลอด ก็ไปรบแคว้นกลิงคะ คนตายเป็นแสน จับเชลยเป็นแสน ได้เห็นความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน พระเจ้าอโศกสลดพระทัย เลิก บอกต่อไปนี้เลิกสงคราม ว่าขอใช้นโยบายธรรมวิชัย ก็คือนี่แหละที่มาในจักกวัตติสูตร แล้วคำว่า ธมฺเมน อภิวิชิย นี้มาในพระสูตรหลายสูตรเลย เยอะเลย นะฮะ ก็คือเป็นหน้าที่ของกษัตริย์นั่นเอง กษัตริย์ที่ดีจะต้องเป็น ธมฺเมน อภิวิชิย คือ มีชัยชนะโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้ศัสตรา ไม่ต้องใช้อาวุธ
ก็พระเจ้าอโศกก็เอาแนวคิดนี้มา ก็เลิกสงคราม ใช่มั้ย แล้วก็บำรุงประชาชน ก็จัดการต่างๆ เช่น สร้างถนนหนทาง สร้างแหล่งน้ำ แล้วก็สร้างโรงพยาบาลคน สร้างโรงพยาบาลสัตว์ ปลูกป่า ปลูกพืชสมุนไพร อะไรต่ออะไรในนั้นจะพรรณาไว้ในศิลาจารึกเนี่ย อันนี้ก็คือแนวคิดเรื่องการปกครอง ซึ่งแนวคิดแบบเนี้ยมันเปลี่ยนมากจนกระทั่งว่า อย่างกษัตริย์ไทยเราก็รับไม่ไหว ไม่รู้เป็นยังไงนะ เรารับไม่ไหวเหมือนกัน เพราะว่าอาจจะเป็นได้ว่า ภูมิหลัง คือ เราจะรับแนวคิดของพราหมณ์มาส่วนหนึ่งจากขอม ใช่มั้ย อยุธยานี่จะรับแนวคิดพราหมณ์จากขอม มีปุโรหิต แต่พร้อมกันนั้นแนวคิดธรรมะของพุทธก็เอามาใช้ เวลาขึ้นจะครองราชย์ก็จะต้องมีประกาศธรรมะ ทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุ 4 ราชพละ 5 จักรวรรดิวัตร 12 อะไรเหล่านี้ด้วย ก็คู่กันมา
ในเรื่องในชาดกจะมีเรื่องแบบนี้เยอะ คือ เปลี่ยนแนวคิดจากของฮินดู นะฮะ เช่นอย่างชาดกหนึ่งอาตมาจะเล่าให้ฟังนิดนึงเดี๋ยวจะกินเวลาญาติโยมมาก นะฮะ จะเห็นว่าแนวคิดพุทธศาสนาเป็นอย่างไร เช่นอย่างชาดกหนึ่งเนี่ย มีเรื่องว่า กษัตริย์แคว้นข้างเคียงต้องการจะขยายอาณาเขตยิ่งใหญ่ก็แนวคิดของฮินดู ก็จะมาบุกรุกรานแคว้นนี้ ก็ยกทัพมา พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้คิดว่าถ้าหากว่าเรารบ ประชาชนราษฎรจะต้องเดือดร้อนล้มตาย ขอตกลงว่า ถ้ายอมให้เราเสียอำนาจคนเดียวแต่ไม่รุกรานประชาชน เรายอม นะฮะ ก็ทำงั้นจริงๆ คือว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์เนี้ย ก็ยอมสละแผ่นดินให้เลย นะฮะ ไม่ต้องรบ ยกแผ่นดินให้เลย แต่ขอให้ปกครองประชาชนอย่าให้มีทุกข์ยากเดือดร้อน
แล้วเสร็จแล้ว ฝ่ายกษัตริย์ตรงข้ามนั้นไม่ไว้ใจ ใช่มั้ย กลัวว่านี่จะมีอุบายอะไรหรือเปล่า ก็เลยต้องฆ่า นะฮะ วิธีฆ่าของสมัยนั้นก็โหดพอดูแหละ นะฮะ เขาก็ไปขุดหลุม ขุดหลุมฝังตัวให้โผล่ตั้งแต่คอขึ้นมา ให้ศีรษะโผล่ อันนี้พวก นายทหาร เจ้านายผู้ใหญ่ ที่เป็นฝ่ายของกษัตริย์ที่ยกแผ่นดินให้เนี่ยก็ถูกจับหมด เพราะว่าไม่ไว้ใจนี่ ใช่มั้ยฮะ ก็กำลัง ก็เอาไปใส่หลุม ใส่หลุม ใส่เรียง แล้วก็กลบปิดแค่คอเนี่ย แล้วกลางคืนเนี่ยไอ้พวกหมาไนพวกอะไรต่ออะไรมันจะมากิน ตายหมด นะฮะ
นี้ พอถึงกลางคืน ก็พวกสุนัขป่าพวกอะไรต่ออะไรพวกนี้ก็มากัน นี้พระเจ้าแผ่นดินองค์เนี้ยก็เป็นคนที่ปกติก็เป็นความเข้มแข็งมาก มีกำลังแข็งแรงในทางกายด้วย แล้วก็มีสติปัญญา พระองค์ก็หาทางว่าทำไงจะรอด ก็รอ จ้อง ชิงไหวชิงพริบกับสุนัขว่างั้นเถอะ นะฮะ อันนี้ก็สุนัขมันเข้ามาจะงับ พระองค์ก็งับมันก่อน นะฮะ งับด้วยความแข็งแรงของพระองค์น่ะ ไอ้เจ้าสุนัข เมื่อมันถูกงับเนี่ยมันก็ดิ้น เมื่อมันดิ้นมันก็ตะกุยดิน ใช่มั้ย ตะกุยดินเนี่ยดินที่กลบไว้มันก็หลวม หลวม หลวม หลวมลงไป จนกระทั่งในที่สุดพระองค์ก็จะค่อยๆตะกายขึ้นมาได้ พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ก็เลยหลุดมาได้ นะฮะ ด้วยการสู้กับสุนัข นะฮะ พอขึ้นมาได้พระองค์ก็ไปช่วยพวก เออ ข้าราชบริพารขึ้นมา
แล้วพระองค์ก็วางแผนอย่างดี ก็กลับเข้าไปในวัง เพราะว่าวังนั้น ฝ่ายกษัตริย์ฝ่ายตรงข้ามนั้น ก็กำลังประมาท เพราะตัวเองชนะแล้ว ก็ฝ่ายนั้นตายแน่ๆอยู่แล้วเนี่ย ก็เลยไม่ได้ดูแลระวังอย่างดี พระองค์ก็เข้าไปจนถึงตัวเลย แล้วก็ไปพูดจากัน หมายความว่า ท่านอยู่ในเงื้อมมือข้าพเจ้าแล้ว ตอนเนี้ย จะฆ่าก็ตาย แต่ไม่ต้องการเบียดเบียน ก็เจรจากันโดยดี กษัตริย์องค์นั้นก็เลยขอยกแผ่นดินคืน ถวาย นะฮะ แล้วก็กลับ ก็เรื่องก็จบ
คือ นี่ นี่ มันเป็นเรื่องของการแสดงแนวคิด แนวคิดพุทธศาสนาแบบนี้จะมีเยอะ ถ้าเราดูชาดกน่ะ คือ ชาดกเนี่ยจะให้คติตั้งแต่เรื่องของชีวิตคนสามัญ จริยธรรมในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งถึงการบ้าน การเมือง การปกครอง แนวคิดพุทธแบบเนี้ยคือแนวคิดที่เรียกว่า ไม่เบียดเบียนเนี่ย คือจะทำยังจะไห้คนนี้อยู่ร่วมกันตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงบ้านเมือง ประเทศชาติเนี่ย ให้อยู่กันด้วยดีได้ จนกระทั่งว่า มันก็จะได้คติว่า คนที่ยิ่งจะเอาชนะด้วยการไม่เบียดเบียนนี่ ยิ่งต้องมีความสามารถมากเป็นพิเศษกว่าคนปกติ ใช่มั้ยฮะ มันยากมากเหลือเกิน อันนี้มันก็เป็นคติสอนใจ ก็นี่ก็เป็นตัวอย่างนะอย่างงี้ก็ แล้วแต่นี่อาตมาเล่าให้ฟัง ว่านี่คือแนวคิดของพุทธศาสนา แม้แต่เรื่องรามเกียรติ์รามเกินเนี่ยไม่ใช่แนวคิดพุทธนะ ขอฝากไว้ก่อนจบ
รามเกียรติ์ก็ดี รามเกียรติ์นี่เป็นคำไทยนะ ของอินเดียเขาเรียก รามายณะ แล้วก็มหาภารตะก็ดีเนี่ย ในคัมภีร์พุทธศาสนาเรียกว่า เรื่องเพ้อเจ้อนะ เต็มไปหมดเลย คือใน ในเรื่องพุทธศาสนา เมื่อท่านพูดถึง สัมผัปปลาปะ ถ้อยคำเพ้อเจ้อ เป็นอย่างไร ท่านจะยกตัวอย่างรามายณะ มหาภารตะ เนี่ย คือในทางพุทธศาสนาถือเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เหลวไหล นะฮะ เออ ว่าไงเชิญนะฮะ
ผู้ถาม : มันมีการแย่งชิงทรัพยากรเกิดขึ้นระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ อยากให้พระอาจารย์ให้ธรรมะให้กับทุกฝ่ายที่กำลังอยู่ในภาวะร้อนแรงด้วยกันทั้งคู่นะคะ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล การไฟฟ้า แล้วก็ชาวปากมูล
อ๋อ คืออามตมาก็ไม่ทราบรายละเอียด พูดได้แต่หลักการ นะ หลักการนี่พระพูดได้ตลอดเวลา มันไม่ไปยุ่งกับคน แต่นี้ก็ขอให้คนมานึกถึงหลักการ หลักการก็โยงไปถึงจุดมุ่งหมายด้วย จุดมุ่งหมายก็คือการอยู่ดีมีสุขของประชาชน ของบ้านเมือง ของทุกชีวิต ของสังคมร่วมกันเนี่ย ทำไงเราจะอยู่ดี เราต้องเอาอันนี้เป็นจุดหมายไว้ก่อน จุดหมายนี้ต้องอยู่ในใจของทุกคนแล้วก็ไม่เห็นแต่แก่ตัว นะฮะ นี้ถ้าจะมุ่งจะเอาประโยชน์ของตัว คือ พอดียุคเนี้ย มันเป็นยุคที่คนมุ่งผลประโยชน์ของตัวด้วย มันก็ทำให้ไอ้แนวคิดมันมาสนองวิธีการ วิธีการก็คือว่า ทำไงจะแย่งชิงกันได้ ให้ผลประโยชน์มาอยู่กับตัวให้ตัวได้บรรลุผลประโยชน์ของตนได้สำเร็จ
ทีนี้เมื่อแนวคิดอย่างงี้มันครอบงำคน มันก็ทำให้ไอ้การปฏิบัติต่างๆมันออกมาอย่างงั้น พฤติกรรมมันก็ไปหมด เพราะฉะนั้น ก็จะต้องพยายามมาเตือนใจกันว่า ที่จริงเนี่ยเราต้องนึกถึงจุดหมายร่วมกันก่อน จุดหมายที่แต่ละคนก็อยู่ดี แต่ว่าอยู่ดีในสังคมที่มันดี นะฮะ ถ้าสังคมส่วนรวมมันไม่ดี เราก็อยู่ดีจริงไม่ได้เหมือนกัน นะฮะ ก็ให้ทั้งสองอย่างเนี่ยมันพึ่งพาอาศัยกัน แต่นี้ว่าส่วนรวมเนี่ยมันก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ หมู่บ้าน ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด ไปจนกระทั่งถึงประเทศชาติ จนกระทั่งถึงทั้งโลก แล้วทำไงจะให้ผลประโยชน์ทุกระดับเนี่ยมันมาสอดคล้องกัน นะฮะ
ทีนี้เราก็ต้องมาคิด ก็ต้องตั้งไว้ก่อนแหละ ไอ้ตัวรายละเอียดก็ไปว่ากันอีกที แต่ว่าต้องตั้งจุดหมายที่มันชัดว่าเรามุ่งเพื่อประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน ที่มีผลต่อทุกๆคนเนี่ยด้วย นะฮะ แล้วก็มาหาทาง พูดจากัน นะฮะ มาแสวงหาวิธีการที่มันเป็นธรรม ชอบธรรม แล้วก็เป็นประเด็นทางสันติ สงบ เพื่อให้บรรลุจุดหมายนั้น ต้องพูดจากกัน เอาความจริงเข้าว่า นะฮะ แล้วก็มันมีความจริงใจด้วย แล้วก็ย้ำบ่อยๆว่าต้องเปิดใจด้วย นะฮะ เปิดใจต่อกัน นะฮะ ไม่ใช่เอาแต่ใจตัว แล้วก็ไม่ใช่เอาแต่ผลประโยชน์ของตัวฝ่ายเดียว
นี่ ตรงเนี้ย ที่คนมันมีปัญหากันอยู่เวลานี้ก็มักจะเป็นตัวเนี้ย แค่นี้มันก็แก้ไม่ได้แล้ว หนึ่ง ความจริงใจมันก็ยากเหลือเกิน นะฮะ สอง ให้เปิดใจก็ยากเหลือเกิน นะ ใช่มั้ยฮะ แล้วก็ยิ่งไปแนวคิดใหญ่ที่ว่า เพื่อประโยชน์สุขความอยู่ดีของสังคม ที่ร่วมกันอะไรต่างๆเหล่าเนี้ย มันเป็นเรื่องที่แสนจะยากแล้วปัจจุบันเนี้ย
ผู้ถาม : แล้วถ้าตอนนี้เขาได้ใช้ความรุนแรงไปแล้วนี่จะเตือนกันยังไง(???)
คือ ความรุนแรงก็มีสัมพัทธ์ ความรุนแรงก็มีว่ารุนแรงไปจนกระทั่งรุนแรงมากแล้วเกิดการทำลาย หรือรุนแรงไปในระดับหนึ่งทำให้เกิดหาทางแก้ไขในทางที่ดีขึ้น หมายความ บางทีในกระบวนการเนี่ย เพราะเป็นมนุษย์ปุถุชนน่ะ มันจะมีการขัดแย้งในแง่ต่างๆ และการขัดแย้งในระดับหนึ่งอาจจะทำให้มีการใช้กำลังกันบ้าง แต่เสร็จแล้วอาจจะได้คิด มันมีเหมือนกันนะ คนบางทีมีอะไรกันนิดๆหน่อยๆแล้วก็ได้คิดขึ้นมา แต่ว่าต้องให้พื้นฐานแนวความคิดจุดหมายเดิมมันดีก่อน ถ้าไอ้จุดหมายเดิมมันดีเนี่ย ไอ้สิ่งที่เกิดมีอันตรายมีโทษในระหว่างเนี่ย มันเป็นเรื่องเตือนใจให้ได้ความคิดเหมือนกัน มันกลับฉุกคิด แล้วก็แก้ไขหาทางที่ดีได้ คือ มันไม่ใช่ว่ามีจุดหมายผิดมาแต่แรก ต้องการจะล้มล้างทำลายอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้อย่างงั้นแล้วก็มันจะรุนแรงไปตลอดจนกระทั่งพินาศไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ถ้ามันมีจุดหมายดีเนี่ย มันเป็นมนุษย์ปุถุชนที่เราจะต้องเข้าใจด้วยว่า มันมีได้ในระดับหนึ่งที่เกิดความขัดแย้งแล้วมันทนกันไม่ไหวอะไรเงี้ย แล้วก็บางทีมันมีพลาดมันมีเผลอไป นะฮะ แต่นี้ว่าสำคัญว่ามันมีไอ้เรื่องของเจตนาดีอยู่ตลอดหรือเปล่าเนี่ย ไอ้ตัวเนี้ย เจตนาดี ความจริงใจ ความมุ่งหมาย เออ ความมุ่งสู่เป้าหมายที่ดีงามอะไรเนี่ย มันมีมั้ย
ผู้ถาม : ถ้ามันไม่มีเนี่ย ผู้ถูกกระทำควรจะวางใจด้วยธรรมะข้อไหน
ธรรมะ คือ ธรรมะมันมี 2 ด้าน หนึ่งด้านจิตคือด้านเจตนา เจตนาความจงใจ ตั้งใ จซึ่งสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายว่า เราจะต้องมีจุดหมายที่ดีงาม ตั้งไว้แน่วแน่ คือไม่ว่าใครจะร้ายจะยังไงก็ตาม เมื่อเราต้องการผลดีอันนี้ แล้วเราต้องมีเจตนาที่ดีใช่มั้ย มีเจตนา จุดหมายที่ดีแน่นอน เจตนาตัวนี้ก็จะประกอบไปด้วยคุณธรรมขึ้นมาเอง เช่น มีเมตตา มีกรุณา เป็นต้น ต่อจากนี้มันก็จะกลายเป็นเรื่องของวิธีการ อุบายวิธีในการปฏิบัตินี้จะขึ้นต่ออันที่สอง ปัญญา สองนั้นต้องมีปัญญา มีความรู้ ความเข้าใจ รู้เหตุปัจจัย รู้สถานการณ์ รู้องค์ประกอบของเรื่อง ยิ่งรู้เท่าไหร่ยิ่งดี แล้วจะมาเป็นตัวจัดดำเนินการ เพราะคนที่มีแต่เจตนาดีถ้าไม่มีปัญญา ไปไม่รอด เจตนาดี ปัญญาไม่มี ก็พลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นะฮะ หรือกลายเป็นเหยื่อเขา นะฮะ เพราะฉะนั้นไอ้เจตนดีก็ต้องมีปัญญา นั้นเจตนาดี ต้องหาความรู้ ต้องหาความเข้าใจ ต้องมีความคิด มีการปรึกษาที่ดีด้วย
พอได้ปัญญามาดีก็จะมาหาทางแก้ไขแม้แต่คนใฝ่ร้ายที่เขามาทำ แม้แต่คนคิดร้ายมาทำลาย ถ้าเรามีปัญญาเหนือกว่าบางทีก็แก้ไขได้ แต่อย่างที่พูดเมื่อกี้ไง คนที่จะแก้เรื่องร้ายให้สำเร็จ ด้วยเจตนาดีนี่ต้องมีความสามารถพิเศษเหนือคนทั่วไปจริงๆจึงจะทำได้ นะฮะ ใช่มั้ย อา เหมือนอย่างกษัตริย์องค์เมื่อกี้เนี่ย ในชาดก เออ ถ้าไม่เก่งก็แย่เลย ใช่มั้ยฮะ ก็ถูกเขาฆ่าอย่างเดียว เพราะฉะนั้น การมีเมตตาอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีปัญญา เพราะฉะนั้น สองคู่ สองอันนี้ต้องคู่กัน คือ เจตนาประกอบด้วยเมตตา แล้วก็ปัญญา ความรู้ความเข้าใจ ปัญญาเป็นตัวที่จะทำให้จัดสรรดำเนินการได้สำเร็จ
ผู้ถาม : ??? เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศเราเนี่ย ??? คนไทยแตกความสามัคคีกัน ถ้าเราใช้ ??? อริยมรรค องค์มรรค 8 เนี่ย สั่งสอนประชาชนคนไทย จะได้ผลมั้ยครับ ขอให้หลวงพ่อช่วยอธิบายด้วย
แหมนี้ครอบคลุมและได้ผลแน่ แต่ว่าทำไงจะให้เขาเข้าใจอริยมรรค เราก็ต้องอธิบายข้อปลีกย่อยนำเข้าสู่อริยมรรคเนี่ย พระพุทธเจ้ายัง ก่อนที่จะตรัสอริยมรรค ยังตรัสแสงเงินแสงทองที่จะนำเข้าสู่มรรคเลย มีบุพนิมิตของมรรคอีกนะ นะฮะ บอกก่อนมรรคมีบุพนิมิตของมรรค ลองไปดูสิ พระพุทธเจ้า ไม่ใช่ เอาอะไร ทำอะไร ขออภัย ไม่ทำพรวดพราด ใช่มั้ย พระองค์ทำมีขั้นตอน มีลำดับ นะ แม้แต่มรรคพระองค์ยังตรัสบุพนิมิตของมรรคอีก ไอ้ตัวบ่งบอกการมาของมรรค ตัวมาก่อนมรรคอะไรตั้ง 7 ข้อเนี่ย นะฮะ บุพนิมิตของมรรค
ถาม : เออ ในวาระที่ใกล้ปีใหม่ ผมคิดว่าเป็นวาระอันดีที่พวกเราจะมาขอรับพรจากท่าน และก็คณะสงฆ์ของวัดญาณเวศกวัน ผมก็เลยขอโอกาสสรุปตรงนี้นะครับ เพื่อขอกราบอาราธนาท่าน ให้พรกับพวกเราที่มากราบท่านในวันนี้ด้วย
เจริญพร วันนี้ อาตมภาพก็ขออนุโมทนา ก็ถือว่าเรียกกันง่ายๆว่าญาติโยมทุกท่านที่มา ก็ถือว่าท่านอาจารย์ ดร.รวี ภาวิไล เป็นประธานก็แล้วกัน เป็นผู้นำคณะ เจริญพร โดยมีคุณวิบูลย์เป็นผู้นัดหมาย อันนี้ก็ มาวันนี้ ก็มากันได้สนทนาธรรมกันก็ ตัวเป้าหมายแท้ๆ มาถวายหนังสือ นั้นก็เลยว่าถวายหนังสือแล้วก็ได้พูดจาเรื่องธรรมะต่างๆกัน ซักถามข้อสงสัยไปด้วย นี่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นสิริมงคล เพราะว่าเข้าหลักที่เรียกว่า กาเลน ธมฺมสฺสวนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ นะฮะ แปลว่า การฟังธรรมตามกาล เป็นอุดมมงคล แล้วแม้แต่อีกข้อนึง กาเลน ธมฺมสากจฺฉา การถกเถียงสนทนาธรรมกัน ตามกาลก็เป็นอุดมมงคลเช่นเดียวกัน
แล้วก็พอดีตอนนี้ก็จะใกล้ปีใหม่ ก็เป็นระยะเวลาที่โลกสมมติ สมมติในที่นี้ก็อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า สมมติแปลว่ายอมรับร่วมกัน ก็คือถือร่วมกัน ยอมรับร่วมกัน หรือตกลงกันว่า ให้เป็นมงคล เมื่อถือกันอย่างงั้นแล้วก็เราก็ทำให้เป็นมงคลสมจริงว่าจะใกล้ขึ้นปีใหม่แล้ว โดยทั่วไป คนก็มีจิตที่โน้มไปตามสมมติอยู่แล้ว เมื่อเราตกลงกันอย่างไรนี่จิตใจของเราก็โน้มไป เช่น สมมติว่าเป็นเวลาของความสนุกสนานบันเทิง คนก็สนุกสนานทำตามนั้น แต่ว่าทำตามนั้นภายนอก พฤติกรรมก็อย่าง ควรจะมีภายในด้วยก็คือจิตใจ จิตใจคนไม่ใช่แค่ว่าไปกับความสนุกสนานบันเทิง ก็ต้องให้สดชื่นร่าเริงเบิกบานผ่องใส อันเนี้ยสำคัญ เพราะว่าในที่สุดแล้ว มันก็มาอยู่ที่ใจ
ถ้าหากว่าข้างนอกสนุกสนานบันเทิง แต่ข้างในจิตใจวุ่นวายสับสน มันก็ไม่ได้ความสุขที่แท้จริง เราต้องการให้ปีใหม่เป็นเวลาดี เป็นเวลาแห่งความสุข เราก็ต้องให้สุขทั้งหมด สุขทั้งนอก สุขทั้งใน สุขนอกแล้วไม่พอ เราก็สุขในใจด้วย ความสุขด้านหนึ่งที่ง่ายๆที่สุดมองเห็นก็คือ ความสุขทางวัตถุ อาจจะได้รับประทานอาหารกัน นะฮะ ได้ฉลองวันปีใหม่กัน แล้วก็บางท่านก็อาจจะเลยไปสุราเมรัย นะฮะ ตามเรียก บางคนเขาเรียกว่าตามระเบียบ นะฮะ อันที่จริงก็ไม่ทราบมีระเบียบไหน นะฮะ ก็เรียกว่าเป็นตามระเบียบ ว่าต้องรับประทานเหล้ายาปลาปิ้ง อันนั้นก็แล้วแต่ล่ะ เป็นเรื่องชาวบ้าน แต่ว่ายังไงก็ตาม ก็เรื่องความสุขทางวัตถุ อย่าให้ทำลายความสุขอื่น เพราะเราไม่ได้มีแค่ความสุขทางวัตถุ นี้ความสุขทางวัตถุ
ต่อมาก็ความสุขในสังคม ความสุขทางสังคมก็คือความสุขในเรื่องไมตรีจิตมิตรภาพ ความที่มีความปรารถนาดีต่อกัน เพราะฉะนั้น เดิมเนี่ยเขากำหนดกันไว้แล้วว่า ให้เราอวยชัยให้พรกัน ส่งความสุขต่อกัน ก็เพราะคิดดีแล้วว่าให้มีความสุขทางสังคม ก็คือมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นอกจากว่าจะมาสนุกสนานด้วยกันแล้ว ก็เลยจะต้องคำนึงถึงความสุขของผู้ที่เราไปเกี่ยวข้องเนี่ย ว่าที่จริงเนี้ยก็เพื่อความสุขด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ ความมีเมตตาตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป คุณพ่อคุณแม่กับลูก ก็ให้มีความสุข แสดงความรักความปรารถนาดีต่อกัน ในโอกาสปีใหม่เนี้ย แสดงน้ำใจต่อกันเนี่ย ให้มีความสุขในทางสังคม เพราะฉะนั้นความสุขทางวัตถุนั้น อย่าให้ทำลายความสุขทางสังคม จะมีต้องสนับสนุนความสุขทางสังคมนี้ มีความสุขทางด้านไมตรีจิตมิตรภาพ ให้เวลาของปีใหม่นี้เป็นเวลาที่ส่งเสริมไมตรีจิตมิตรภาพความเป็นมิตรยิ่งขึ้น แสดงน้ำใจกันมากขึ้น
ต่อจากนั้นก็ความสุข ที่เราจะมีทางวัตถุก็ตาม ทางด้านสังคมก็ตามเนี่ย เราอยู่ในแวดล้อมของธรรมชาติ เราจะต้องทำให้สิ่งรอบตัวเรา ธรรมชาติต่างๆเนี่ยดูสวยสดงดงาม น่ารื่นรมด้วย ไม่งั้นก็จะไม่เป็นสุขจริง ดังนั้นเราจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ช่วยกันทำบ้านเมืองของเราให้สะอาด ให้เรียบร้อย เป็นระเบียบ ดูแลธรรมชาติให้ต้นไม้เขียวขจีอะไรต่างๆ ซึ่งจะให้ความสุขแก่เราไม่เฉพาะวันปีใหม่ จะให้ตลอดปี 2546 และตลอดไปด้วย
นั้นก็ความสุขนี้ก็อย่าไปทำลาย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราไปหาแต่ความสุขทางวัตถุ นอกจากบางที ดีไม่ดี หาไม่เป็น หาความสุขทางวัตถุไปทำลายความสุขทางสังคม ทะเลาะเบาะแว้งกัน แล้วยังไปทำลายความสุขที่มีท่ามกลางธรรมชาติอีกด้วย ทำลายธรรมชาติให้เสียหาย ยิ่งทำให้ขยะเป็นต้น เกิดขึ้นมากมาย แล้วก็ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยประการต่างๆ ทำให้เกิดมลภาวะมากมาย เพราะฉะนั้นอันนี้ สามแล้ว
ต่อไปก็ลึกลงไปในชีวิตของแต่ละคนก็คือจิตใจ ในที่สุด ความสุขที่แท้เนี่ย ต้องให้ถึง ถึงจิตใจเลย แก่นแท้ของชีวิตก็อยู่ที่จิตใจ ก็ให้ความสุขทั้งหมดที่เรามีนั้นน่ะ ที่มีในทางสังคมเป็นต้นเนี่ย ลงลึกไปถึงจิตใจ ให้เป็นความสุขที่มีผลต่อจิตใจ ให้จิตใจเอิบอิ่มร่าเริงเบิกบานผ่องใส แล้วจิตใจที่มีความสุขแท้ๆนี้แหละ จะช่วยให้เราแสดงออกมาต่อผู้อื่น ช่วยให้คนอื่นเป็นสุขด้วย เพราะคนอื่นก็ได้รับจิตใจที่มีไมตรีจิตมิตรภาพของเราก็มาจากใจนี่แหละ แล้วเขาก็พลอยมีความสุขด้วยกัน เพราะฉะนั้นก็ในที่สุดก็ให้ทุกคนเนี่ย มีจิตใจที่ดีงาม มีความร่าเริงเบิกบานผ่องใสที่ประกอบด้วยคุณธรรม คือมีเมตตา มีไมตรีจิตมิตรภาพ
หลายท่านก็ไปทำบุญทำกุศล ไปวัดอะไรต่างๆ การทำบุญเหล่านี้ก็เสริมทำให้เกิดปีติปราโมทย์ ความเอิบอิ่มใจปลื้มใจ ทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น แล้วจะเป็นพื้นฐาน เป็นทุนแก่ชีวิตของเราที่จะทำให้เกิดความเป็นมงคลต่อไป มาบอกว่าเราต้องการให้ปีใหม่เป็นมงคล เราสมมติยอมรับร่วมกันตกลงกันว่าเป็นมงคล ก็ต้องทำให้เป็นมงคลจริงๆ ทางพุทธศาสนาบอกว่ามงคลที่แท้นั้นเกิดจากกุศล กุศลนั่นแหละเป็นตัวแท้ของมงคล ทีนี้มงคลก็เกิดจากการกระทำนั่นเอง กุศลก็เกิดจากการกระทำของเรา การกระทำของเราก็มี 3 ด้าน คือ ด้านกาย วาจา และใจ ที่เราทำปีใหม่ให้มีความสุข ในด้านต่างๆ
เมื่อกี้นี่ก็จะเห็นว่ามาจากการกระทำของเรา ถ้าทำถูกทางก็เกิดเป็นมงคลแท้จริงเป็นกุศล กายก็ทำสิ่งที่ดีงาม ไม่มีการเบียดเบียน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บางท่านนอกจากว่านึกถึงความสุขของตนเองกับพรรคพวกคนใกล้ชิดครอบครัว ก็นึกถึงว่าเวลาปีใหม่นี้ยังมีคงบางพวกนะที่เขาไม่มีความสุข มีความทุกข์ทรมาน โศกเศร้า ขาดแคลน บางท่านเนี่ยมีจิตใจเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ถึงขนาดที่ว่า เออ ปีใหม่นี่ไปช่วยเหลือ ไปให้ ไปเลี้ยง คนที่เขาทุกข์ยากลำบาก เป็นเด็กบ้าง เป็นคนแก่ คนชรา เป็นคนพิการ อะไรก็ตามนี่ ให้ความสุขแก่เขา อันนี้ก็ยิ่งเป็นการสร้างกุศลมากขึ้น นะ เผื่อแผ่ขยายความสุขออกไป แล้วตัวเราก็มีความสุขด้วย นี่แหละความสุขจะเกิดใหญ่จากกุศล นี่ทางกาย
ทางวาจา ก็พูดดีต่อกัน พูดดีโดยปากบ้าง พูดดีโดยเขียนบ้าง เขียนส่งกันก็ถือว่าโดยวาจาเหมือนกัน ก็ส่งความสุขให้แก่กัน เป็นกุศลกรรมทางวาจา แล้วเสร็จแล้วในที่สุดก็มาจากจิตใจนี่แหละ ที่ทำจิตใจให้ร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส มีความสุข มีเมตตา ไมตรี มีศรัทธา เป็นต้น เป็นบุญเป็นกุศล ตอนนี้ก็กุศลก็เกิดโดยสมบูรณ์ นี่คือมงคลที่แท้จริง เพราะฉะนั้น พอเราได้ทำกุศลอย่างงี้เป็นมงคล พรก็มา พรนั้นแปลว่าสิ่งที่ประเสริฐ และสิ่งที่คนปรารถนา
นี้พรเนี่ยว่าเมื่อว่าตามหลักพุทธศาสนา พรนั้นก็เกิดจากธรรม อย่างที่อาตมภาพพูดไปแล้วเนี่ย พรเกิดจากการทำ แต่ในที่นี่บอกพรเกิดจากธรรม ทำนี้มีสองทำ ทำที่เป็นที่มาของพรเนี่ย ทำที่ 1 คือ ท ทหาร สระ อำ ทำ หมายความ พรนี้เกิดจากเราทำขึ้น คือทำด้วยกาย วาจา ใจ พูดดี ทำดี คิดดี ก็เกิดเป็นพรก็คือสิ่งดีงามประเสริฐขึ้นมา แล้วก็ธรรมอีกตัวหนึ่ง ธ ธง ร หัน ม น่ะ ธรรมตัวนี้ก็คือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ถ้าหากว่าเรามีธรรม ตัว ธ ร หัน ม ธรรม ก็จะเกิดเป็นพร ก็คือสิ่งที่ดีงามประเสริฐเหมือนกัน
ตกลงว่าพรเนี่ยเกิดจากธรรม นะฮะ ธรรมเป็นเหตุปัจจัยของผลคือพร แล้วก็ทำนี้มี 2 ทำ ก็คือ ท สระ ท ทหาร สระ อำ ทำให้เป็นพรขึ้นมา ทำดีก็เกิดผลเป็นพร แล้วก็เกิดจากธรรม ธ ร หัน ม ที่ว่าธรรมะก็คือ ความดีนั่นเอง ธรรม แล้ว 2 อันนี้ก็มาบรรจบกันก็คือ ทำธรรมะ นะฮะ ก็คือทำสิ่งที่เป็นธรรม ทำโดยชอบธรรม พอเราทำสิ่งที่ดีงามที่เป็นธรรม ชอบธรรมแล้ว เกิดธรรมะขึ้นมา ก็แน่นอนเป็นพรอันประเสริฐ ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญทั้งชีวิต ทั้งสังคมของเรา นะฮะ ชีวิต สังคม ครอบครัว ดีไปหมดเลย จนกระทั่งโลกนี้ก็มีสันติสุขที่แท้จริง
เพราะฉะนั้นถึงเวลาปีใหม่นี้ก็ขอให้เรามาเริ่มต้นกันให้ดี เริ่มต้นด้วยการสร้างพร เพราะเราอยากได้พรอยู่แล้ว แล้วก็ทำให้เกิดพรด้วยการทำ 2 อย่างเมื่อกี้ ทำ ท สระ อำ ทำ และ ธ ร หัน ม ธรรม มาคู่กันบรรจบเมื่อไหร่ พรมาเมื่อนั้น นะฮะ เพราะฉะนั้นมั่นใจได้เลยเป็นความจริงที่ท่านชอบวิทยาศาสตร์ก็มาแล้วล่ะ เนี่ยอันนี้เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย
เพราะฉะนั้นก็หวังว่าเราทุกคนจะมีความสุขในตอนขึ้นปีใหม่ แล้วก็อย่าให้เป็นความสุขเฉพาะวันปีใหม่เท่านั้น ให้เป็นความสุขตลอดปี อีก 360 กว่าวัน แล้วก็ตลอดปีนั้น สะสม ธรรมะ ทำธรรมะกันไปอีก 365 วัน เลยยิ่งสะสมเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดพรในปี 2547 แล้วยิ่งอยู่นานไปก็เลยยิ่งมีพรกันใหญ่ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ครอบครัว ชีวิตแต่ละคนก็จะยิ่งมีความสงบสุขมากขึ้นมากขึ้นก็เลยกลายเป็นดีตลอดไป
เพราะฉะนั้นอาตมาก็ขอถือโอกาสนี้ ตั้งจิตปรารถนาดีต่อโยม ญาติมิตรทุกท่าน ที่ตั้งใจมาดีแล้ว ใจเป็นบุญเป็นกุศล เราก็สร้างมงคลด้วยกันแล้ว ก็ขอให้เราเนี่ยทำอย่างนี้ เพื่อให้กุศล สร้างมงคลต่อๆไป ก็ถือว่าปีใหม่ ก็เริ่มด้วยเดือนใหม่ เดือนใหม่นั้น มกราคม ก็เริ่มด้วยวันใหม่ เพราะวันที่ 1 มกราคม ก็ได้ทั้งวันใหม่ เดือนใหม่ ปีใหม่ ครบสมบูรณ์ ก็ทำให้จิตใจของเราใหม่ มีจิตใจที่สดใส ร่าเริง มีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ เพราะความสดใสที่แท้ต้องมาจากความสะอาด พอสะอาดสดใสร่าเริงเบิกบาน ก็มีความสุข แล้วก็ขอให้เรานำเอาจิตใจที่ดีงามเนี้ย มาสร้างสรรค์ทำความดีงามต่อไป เพื่อให้ชีวิต ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และโลกนี้เจริญงอกงามด้วยสิริมงคล เป็นพรต่อๆไป
ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พร อภิบาลรักษา ให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิตรพรชัย มีความสุขกายใจ ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ แผ่ความสุขนี้ออกไปจนกระทั่งทั่วโลกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ขอให้ทุกท่านมีความเจริญงอกงามก้าวหน้า ประสบความสำเร็จในสิ่งที่มุ่งหมาย และร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดปีใหม่ 2546 และตลอดไปทุกเมื่อเทอญ