แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เสียงพระสงฆ์: อยากจะขอโอวาทท่านเจ้าคุณสักเล็กน้อยนะครับ โอวาทในการทำงานนะครับ
พระพรหมคุณาภรณ์: เรื่องทำงานก็เคย รุ่นก่อนๆ ก็เคยถามทำนองนี้ หรือขอทำนองนี้ ว่าถ้าจะลาแล้ว ก็ขอให้พูดเรื่องทำงาน ทีนี้เรื่องทำงานนั้นก็มีหลายแง่หลายมุม มันเป็นเรื่องยาว แต่ก็เคยพูดไปบ้างแล้วนะ เช่น ในแง่หนึ่ง งานนั้นเราก็จะมีความหมายถึง เครื่องประกอบอาชีพ ประกอบอาชีพก็จะมีคำถามว่า อาชีพคืออะไร ใช่ไหม อาชีพ แปลตามตัวว่า เครื่องหาเลี้ยงชีวิต ก็แปลตรงๆ ภาษาไทยเราแปลอย่างนั้น การหาเลี้ยงชีพ หรือ เครื่องหาเลี้ยงชีวิต หรือเครื่องหาเลี้ยงชีพ เราหมายถึง ตัวการงานที่เราไปทำ แล้วทำให้เราได้เงินมาเลี้ยงชีวิต เช่น มีปัจจัย 4 เป็นต้น แต่ทีนี้ว่าอาชีพนี้มันมีความหมายที่แท้ลึกกว่านั้น อย่างที่เคยพูดกันแล้ว อาชีพมันเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ เพราะความฉลาดมีสติปัญญาของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดวัฒนธรรม และอารยธรรม อาชีพมันก็เป็นเรื่องของระบบการแบ่งงานกันอย่างหนึ่ง แทนที่ว่าทุกๆ คน จะต้องไปหาปัจจัย 4 หาอาหารอย่างเดียวกันหมด ก็มาจัดแบ่งงานกัน โดยที่ว่าเรารู้อยู่แล้วว่าชีวิต และสังคมมนุษย์นี่มันมีเรื่องราวที่ต้องจัดต้องทำ และปัญหาที่ต้องแก้ไขมาก ตลอดจนกระทั่งการสร้างสรรค์ใหม่ๆ แล้วคนก็มีความถนัดไม่เหมือนกัน แล้วก็มีความพอใจที่เรียกว่า ฉันทะ ไม่เหมือนกัน ทีนี้ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คนเรามีโรคภัยไข้เจ็บ ก็ต้องมีการบำบัดรักษาโรค คนเราต้องมีบ้านที่อยู่อาศัย ก็ต้องมีการสร้างบ้าน แล้วก็แม้แต่อาหารการกิน ถ้าหากว่าดูไปแล้ว ก็มีคนที่ชำนาญในการปลูกผลไม้พืชพรรณอย่างนี้ บางคนก็ไปถนัดเรื่องโน้น ไม่เหมือนกัน นี้เป็นเพราะมนุษย์เรามีปัญญา เราก็เลยมาดูกันว่า เออ ใครมีความถนัด มีความสามารถทำอะไร ก็ให้ไปอุทิศเวลาและแรงงานของตัวในเรื่องนั้น ก็จะทำได้ผลดี เพราะตัวเขาถนัด เขาชอบ แล้วก็เขาไปทำอย่างนั้นอย่างเดียวก็จะยิ่งชำนาญ ก็จะยิ่งได้ผลดี ก็เลย อ้าว ใครถนัดทางไหนก็ไปทำทางนั้น ชอบเรื่องการรักษา บำบัดโรค ช่วยให้คนสุขภาพดี อยากให้เพื่อนมนุษย์แข็งแรง ก็ไปทำอาชีพหนึ่ง เกิดเป็นอาชีพแพทย์ แล้วแพทย์ก็เกิดต้องอาศัยยาอีก เกิดเป็นมีอาชีพมีเภสัชขึ้นมาอีก เกิดมีอาชีพสถาปนิกออกแบบบ้าน วิศวกรมาคำนวณเรื่องเกี่ยวกับการก่อสร้าง มีพวกมาทำโน่นทำนี่ ปลูกผักผลไม้ ก็เกิดเป็นอาชีพต่างๆ นะฮะ นี้อาชีพแต่ละอย่างเกิดขึ้น เพราะสนองความต้องการของชีวิตและสังคมในการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ หรืออะไร ทำให้เกิดความสมบูรณ์ สนองความต้องการบางอย่าง ก็เกิดอาชีพแต่ละอย่าง ทีนี้ก็เมื่อคนไปทำงานด้านนั้นแล้ว ไอ้ชีวิตพื้นก็คือว่าจะต้องกินอยู่ อาศัยปัจจัย 4 เป็นต้น ต่อมาก็มีการจัดสรรแบ่งงาน เอ้า คุณตั้งใจทำอาชีพการงานนี้ไป ก็มีการได้ค่าตอบแทน ก็จัดระบบผลตอบแทน ค่าตอบแทน ก็กลายเป็นเรื่องเงินเรื่องทองไป นี่เขาก็ไม่ต้องไปเดือดร้อน นอกเหนือจากการทำงานอาชีพ เพราะทำงานอาชีพแล้วก็ได้ผลตอบแทนมา มันก็อยู่ได้เลย ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำอาชีพนั้น ก็ยิ่งได้ผลดีใหญ่ เป็นประโยชน์ต่อชีวิตและสังคมยิ่งดีใหญ่ มันก็เลยเป็น 2 อย่าง มาด้วยกัน คือ
1 อาชีพ มีความหมายเป็น เครื่องช่วยแก้ปัญหาชีวิตและสังคม หรือเป็นการสร้างสรรค์ สนองความต้องการของชีวิตและสังคม อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อาชีพแพทย์ บำบัดโรค ช่วยคนหายป่วยไข้ เพราะฉะนั้นอาชีพนั้นๆ ก็จะมีวัตถุประสงค์เฉพาะของมันที่ตรงไปตรงมา อันนั้นก็เป็นตามกฎธรรมชาติ ใช่ไหม ตรงไปตรงมานั้นตามกฎของธรรมชาติ ทีนี้อีกอันนึงให้เขาอยู่ได้ดีไม่ต้องไปกังวลเรื่องอาหารการกินปัจจัย 4 ก็มีผลตอบแทน ค่าตอบแทน อันนี้ก็เป็นกฎมนุษย์ที่เคยพูดแล้ว เราก็วางกันขึ้นมา แม้กระทั่งการมีเงินเดือน มีการรับจ้าง มีเงินเดือน ราชการ ว่าทำงานนี้เป็นเวลา 1 เดือน ได้ค่าตอบแทนเท่านั้น อันนี้กฎมนุษย์ ก็เพื่อหนุนให้ได้คนทำงาน ตามกฎธรรมชาติที่เป็นอาชีพนั้นได้ผลเต็มที่ สองอันนี้ เราเคยพูดกันแล้วนี้ว่ากฎมนุษย์มีขึ้น มาเพื่อช่วยหนุนให้การทำงานที่เป็นไปตามกฎธรรมชาตินั้นได้ผลดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่ถ้ามนุษย์ลืม มนุษย์ก็อยู่แค่กฎมนุษย์ ก็จะหวังแค่ผลตอบแทน รายได้ ลืมกฎธรรมชาติ นี้เป็นความแปลกแยกจากธรรมชาติระดับพื้นฐานที่สำคัญมาก พอเขาแปลกแยกแล้ว หนึ่ง เขาจะไม่มีความสุขในการทำงานนั้น สอง งานนั้นก็จะไม่เกิดผลดี เพราะเป็นเพียงเงื่อนไขที่จะให้เขาได้ผลประโยชน์ที่ต้องการ การทำงานกลายเป็นเพียงเงื่อนไข เพราะในกฎมนุษย์นั้น การทำงานคือ เงื่อนไขที่จะให้ได้ผลตอบแทน แต่ในกฎธรรมชาติการทำงานคือ เพื่อผลโดยตรงของมัน ใช่ไหม ที่เคยบอกแล้ว การทำสวนเป็นเหตุตามกฎธรรมชาติก็คือ ทำให้ต้นเจริญงอกงาม เพราะฉะนั้นก็การเป็นแพทย์บำบัดรักษาโรค ก็เพื่อทำให้คนไข้หายโรค อันนี้คือเหตุผลตรงไปตรงมา การทำหน้าที่แพทย์คือ ทำให้คนหายโรค มีสุขภาพดี การทำสวนก็คือ ต้นไม้เจริญงอกงาม ก็กฎมนุษย์ก็คือว่า เมื่อท่านประกอบอาชีพแพทย์ ได้รับเงินเดือนๆ ละเท่านี้ ก็แล้วแต่ข้อตกลง กฎมนุษย์ก็เลยเรียกว่าเป็นกฎสมมติ เพราะขึ้นต่อข้อตกลง ข้อตกลงเรียกว่าสมมติ สมมติแปลว่ามติร่วมกัน ข้อตกลงนั่นเอง ฉะนั้น เรื่องของโลกมนุษย์ กฎมนุษย์จะเป็นกฎสมมติ แล้วก็จะมีกฎธรรมชาติคู่กัน แล้วกฎมนุษย์ก็เป็นกฎสมมติ กฎธรรมชาติเป็นกฎของสภาวะธรรมตามความเป็นจริง มนุษย์ฉลาดก็ตั้งกฎสมมติมาหนุนเพื่อให้ การปฏิบัติตามกฎธรรมชาติให้ได้ผลจริง พอมนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติปั๊บ ก็เกิดผลเสียทันที ก็คือว่ามนุษย์ไม่ซื่อตรง แล้วชีวิตของเขาก็เริ่มมีปัญหา ไม่มีความสุขในการทำงาน เพราะว่าแทนที่จะมุ่งผลตามกฎธรรมชาติ เช่นว่า ปลูกต้นไม้เพื่อต้นไม้เจริญงอกงาม มันไม่นึกถึงต้นไม้เจริญแล้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้นการทำงานมันก็ไม่มีความสุข มันก็จะรอว่าเมื่อไหร่เงินจะมา ตอนนี้ก็ทุกข์แล้ว ทำงานก็ฝืนใจ ไม่เต็มใจทำ ตัวเองก็ไม่มีความสุข แล้วก็งานของส่วนรวม งานของสังคมก็ไม่ได้ผลดี เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจทำ เขาก็หาทางหลีกเลี่ยง เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่งของอาชีพ ก็คือที่ว่าเราต้องทำอาชีพอะไร ก็ต้องชัดว่าอาชีพของเรามีวัตถุประสงค์อะไร เป็นไปเพื่อผลดีอะไรแก่สังคม ถ้าเราทำอันนั้นเราทำได้แล้วทำได้ความรัก เราจะมีความภูมิใจและมีความสุข ว่า โอ้ เราได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม เหมือนแพทย์นี่ทำแล้วภูมิใจได้เลย แล้วก็มีความสุขและพร้อมกันนั้นก็ได้ผลตอบแทนด้วย ก็จะได้ทั้ง 2 ด้าน แล้วอันนี้ก็เป็นอันที่หนึ่งนะ นี่คือความหมายโดยตรงของอาชีพการงานต้องได้อันนี้ก่อน แล้วต่อไป ก็ไปเรื่องของว่าอาชีพมากินเวลาของเราตั้งเท่าไหร่ 1 ใน 3 ส่วน ใช่ไหม ในวันๆ หนึ่งอย่างน้อยอาชีพกินเวลาของเราเป็น 1 ใน 3 ส่วน เราจะเอาอะไรดีกับชีวิตเรา เราก็ต้องหาจากอาชีพด้วย แม้แต่ความสุข เราจะพักไปสักประมาณ 8 ชั่วโมง หลายคนพัก 8 ชั่วโมง ก็เหลือแค่ 16 ชั่วโมง 16 ชั่วโมง หมดไปกับงานอีกอย่างน้อย 8 เหลือทำโน่นนี้จุกจิก นี่ถ้าคนไม่ได้ความสุข เป็นต้น จากการทำงานแล้วก็ชีวิตก็จะแย่ ก็จะเหลือส่วนที่เป็นประโยชน์กับชีวิตน้อยเหลือเกิน ฉะนั้นก็จะเอาอะไรก็เอาให้ได้จากอาชีพนี้ หนึ่ง ก็คือ ความสุขทำงานอาชีพ ต้องมีความสุข ถ้าท่านไม่ได้ความสุขจากอาชีพ หรือมีความทุกข์จากอาชีพแล้วก็คือ อย่างน้อย 1 ใน 3 ของชีวิตท่าน เป็นทุกข์แย่แล้ว เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นหลักการทั่วไป เราก็เลยต้องพยายามปรับตัวให้ได้ความสุขจากอาชีพ
2 ก็คือ ว่าคนเราอยู่ในโลกต้องพัฒนาต้องทำชีวิตให้ดีขึ้น เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะตามหลักพุทธศาสนาว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องเรียนรู้ ในเมื่อเราจะพัฒนาชีวิตของเราๆ ก็ต้องอาศัยอาชีพนี่แหละเป็นแดนพัฒนาชีวิต ไม่ใช่ไปรอพัฒนาเวลาอื่น ก็ถ้าเราใช้อาชีพในการพัฒนาชีวิต มันก็จะได้ทีเดียวเยอะเลย คือใจมันตั้ง มันก็จะเรียนรู้ และฝึกฝน ก็มองอะไรเป็นเครื่องฝึกตนหมด แล้วก็จะเกิดปัญหากับชีวิตน้อยลง ความทุกข์ ความอะไร ความกระทบกระทั่งก็น้อยลง มองเป็นเรื่องฝึกหมด การสัมพันธ์กับเพื่อมนุษย์ในอาชีพ การงาน การสัมพันธ์กับลูกค้า เราถือเป็นการเรียนรู้หมด มองว่าคนมันก็เป็นต่างๆ ในโลกนี้ เช่น อย่างคนที่มองลูกค้า หรือมองคนไข้ อะไรก็แล้ว มองแบบว่ารู้ตามความเป็นจริง ไม่ได้มองกระทบตัว อย่ามองแบบชอบใจ ไม่ชอบใจ ถ้ามองแบบชอบใจ ไม่ชอบใจก็กระทบตัว เดี๋ยวก็ยุ่งล่ะ ก็เกิดใจคอตัวเองก็เศร้าหมอง เกิดเรื่องกับเขาอีก ที่เรามองเป็นการเรียนรู้ เราก็รู้ตั้งแต่ต้นแล้ว มนุษย์เป็นหลักหลาย นานาจิตตัง เป็นไปต่างๆ กัน แล้วเราก็มองว่าเรียนรู้ เออ คนก็เป็นอย่างนี้ คนนี้อย่างนั้น คนนี้มาอย่างนี้ คนนี้มาบึ้ง คนนี้มายิ้ม ให้เราเรียนรู้หมด สนุกหมดเลย เคยเล่าไปบ่อย มีเพื่อนองค์หนึ่งสมัยเรียนหนังสืออยู่ที่ท่าพระจันทร์ ที่นี้ตึกมหาจุฬาฯ 3 ชั้น ก็อยู่ติดกำแพงเห็นถนน เวลาว่าท่านก็มาชอบมอง เห็นคนเดินแล้ว ท่านก็หัวเราะๆ ตลอดเวลา ก็ถามกันว่าหัวเราะทำไม บอกเห็นคนเดินท่าทางต่างๆกัน คนนี้ก็เดินอย่างนั้น คนนั้นเดินก้มหน้า คนนั้นเดินเงยหน้า คนนี้เดินตะแคงซ้าย คนนั้นเดินตะแคงขวา เดินเร็ว เดินช้า ไม่เหมือนกัน เห็นแปลกๆ ก็หัวเราะเรื่อยเลย เนี่ยถ้าเรามองโลกแบบนี้ มันก็ขำ สนุก อีตาคนนี้มาก็พูดไม่ดี เออนี่ก็ไปอย่าง มาอีกคนก็พูดดี นี่ก็ไปอย่าง เราก็ไม่รับกระทบเลย ไม่รับกระทบ มันสนุกหมด นี่ก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่ว่าเราจะเป็นเพียงขำอย่างเดียว ต้องเรียนรู้ด้วย เรียนรู้ว่ามนุษย์นี่เป็นไปต่างๆ กัน จุดมุ่งหมายของเรานอกจากการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาชีวิตตนแล้ว ก็เรียนรู้ในแง่จะทำประโยชน์กับเขาด้วย คนที่เป็นต่างๆ กัน ตอนนี้ก็มีความต้องการต่างๆกัน มีทุกข์มีสุขต่างๆกัน เราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร ช่วยแก้ปัญหาเขาได้อย่างไร ถ้ามองอย่างนี้มองไม่กระทบตน มีแต่พัฒนา เราก็พัฒนาทั้งด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ และการพัฒนาเรื่องการใช้กิริยาวาจาของเรา ฝึกการพูดของเรา ในการสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ได้หมด เราก็หัดสิ การพูดยังไงจึงจะได้ผลดีอะไร ไม่ทิ้งไม่เสียเปล่า คือถ้าจะไปมองอาชีพเป็นเวลาที่เราต้องมาหนัก มาเหนื่อย นี้เราก็จะไม่ใส่ใจเรื่องเหล่านี้ และทำให้เกิดความเบื่อหน่ายแล้ว แล้วใจเราก็ไม่ดี เวลาพบปะพูดอะไรก็อาจจะพลั้งพลาดพูดอะไรไม่ดีง่าย อารมณ์เสียง่าย ใช่ไหม พอมองอย่างนี้แล้วมันเรียนรู้ มันได้เรื่อยเลย แล้วก็สนุก แล้วก็ใจคอก็เบิกบานแจ่มใส เพราะฉะนั้นก็มองโลกอย่างนี้ดี ก็แปลว่าฝึกมองอาชีพการงานเป็นเวทีพัฒนาชีวิต เป็นเวทีฝึกตน ฝึกในด้านพฤติกรรมสัมพันธ์กับโลกภายนอกกับสิ่งแวดล้อม การจัดข้าวของ การจัดระเบียบระบบอะไรต่างๆ สถานที่ การสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ การฝึกกายวาจาของเรา แล้วก็มาฝึกด้านจิตใจ จิตใจทำไงให้จิตใจร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส พระพุทธเจ้าสอนเราแล้วว่าให้เราต้องมีปราโมทย์เสมอ ทำพื้นจิตของชาวพุทธก็คือ ปราโมทย์ เคยบอกแล้วนี่มี 5 ข้อ
1 ปราโมทย์
2 ปิติ
3 ปัสสัทธิ
4 สุข
5 สมาธิ
อันนี้ธรรมประจำใจชาวพุทธ เวลาปฏิบัติธรรมจะดูความก้าวหน้าด้วย 5 ตัว นี้ พระพุทธเจ้าจะตรัสเรื่อยเลยว่า แม้แต่พิจารณาธรรม ไตร่ตรองธรรม คนเดียวเนี่ยก็ได้ ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ ตัวแรกก็ปราโมทย์ ทำใจให้ร่าเริง เบิกบาน แจ่มใส พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า ผู้ที่มากด้วยปราโมทย์ ชื่อว่าอยู่ใกล้พระนิพพาน เป็นผู้จะทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป เราก็ทำใจให้ร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ และก็ทำงานแล้วก็ทำด้วยใจรัก เราก็จะรู้สึกว่างานก้าวไปได้เพิ่มขึ้น เราก็มีปีติอิ่มใจ มันก็เหมือนกับคนกินข้าว กินข้าวไป ก็ได้ก็เพิ่มก็อิ่มมากขึ้น ทำงานไปก็เหมือนกับได้เพิ่มขึ้น งานเพิ่มขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ ก็ได้อิ่มใจ ก็ได้ปิติ ทำงานอย่างนี้ก็ไม่เครียด เพราะมีปีติแล้ว ปัสสัทธิ ความผ่อนคลายก็มาเอง ไม่มีความเครียด แล้วก็สุขก็มา แล้วจิตใจก็สงบ ตั้งมั่น สมาธิก็ตามมาง่าย ฉะนั้นก็เอา 5 ตัว นี้ประจำใจ ทีนี้ทางด้านใจ เราจะได้เยอะ เพราะเราตั้งใจไว้ดี และเราสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เราก็ฝึกเมตตาได้ ฝึกกรุณาได้ มีความรักความปรารถนาดีต่อเขา แล้วเราก็ฝึกได้สำคัญก็คือ สมรรถภาพจิตใจเวลาทำงาน มันต้องเจองานยาก เจองานใหม่ เจอสิ่งที่ต้องทำอยู่เรื่อย ก็มีจิตสำนึกในการฝึกตนว่า คนเราจะเอาดีได้ต้องพัฒนาตน ต้องฝึกตน ฉะนั้นอะไรทำให้เราได้ฝึกตัวมากก็เท่ากับเราได้มาก เจองานอะไรยากก็คือ เราได้ฝึกตัวมาก ถ้างานมันง่ายมันก็ได้ฝึกตัวน้อย ใช่ไหม มันธรรมดา เชื่อไหมว่างานยากได้ฝึกตัวเองมาก อ้าว ถ้าอย่างนั้นยิ่งงานยากก็ยิ่งได้มาก ดังนั้นคตินักฝึกตนเขาก็บอกว่า ยิ่งยากยิ่งได้มาก ว่าอย่างนั้นคนที่มีคติแบบนี้ก็ไม่ทุกข์ เจองานยากไม่กลัว วิ่งเข้าใส่เลย ถ้าคนมันไม่มีจิตสำนึกนี้ในการฝึกตน เจองานยากถอย ถอยด้วยทุกข์ด้วย ถอยแล้วมันต้องทำ พอถอยแล้วไม่ทำก็ไม่ได้ ก็ต้องทำ ทำแล้วก็ฝืนใจก็ทุกข์อีก ก็มีจิตสำนึกในการฝึกตน ถือคติยิ่งยากยิ่งได้มาก พอยิ่งยากยิ่งได้มากก็มีความเพียร เจออะไรใจสู้ ใจสู้ความเพียรก็มา ความเพียรก็จะทำให้สำเร็จ งานนี้ทำอย่างไรจะต้องเอาชนะ ทำให้สำเร็จให้ได้ พอมีวิริยะ ขันติ ความอดทนก็มา แล้ววินัยในตัวเองก็มา ความเข้มแข็งก็มา เวลาทำงานมันต้องฝึกสติ สติก็มา แล้วพอใจชอบ ทำงานดี สมาธิก็มาอีก เพราะฉะนั้นฝึกได้หมด จิตก็ได้ด้วย สุขก็ได้ด้วย คุณธรรมก็ได้ สมรรถภาพจิตใจก็ได้ ความสุขก็ได้ ฝึกจิตใจแล้วก็ไปสัมพันธ์กับปัญญาก็เราจะทำงานได้ผลดี เราก็ต้องหาความรู้ พัฒนาความใฝ่รู้ขึ้นมา อยากหาความรู้ อยากค้นคว้า อยากรู้ว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง จะทำงานไงให้ดีขึ้น ปรับปรุงพัฒนา ก็พัฒนาปัญญา พัฒนาความคิดนั้น อาชีพการงานก็เป็นแดนพัฒนาหมดเลย ถ้าพูดภาษาพระเราก็คือ พัฒนาศีล พัฒนาสมาธิ พัฒนาปัญญา ใช่ไหม ได้หมดโดยเฉพาะปัญญาเนี่ย มันโดยตรงเพราะอาชีพการงานมันจะเจริญงอกงาม มันต้องมีการหาความรู้ คิดเรื่องใหม่ๆ การสร้างสรรค์ใหม่ๆ คิดแก้ปัญหาให้สำเร็จ งั้นถ้าเราใช้การงานเป็นเวทีพัฒนาปัญญา มันก็ได้เต็มที่ แล้วก็เอามาผสมผสานกัน ให้มันได้ไปด้วยกันทั้งหมด ก็ตกลงว่าอาชีพการงานเป็นเวทีพัฒนาชีวิต เป็นเวทีฝึกตน อันนี้ก็ได้อีกแล้ว อันนี้ก็หลักการทั่วไป ก็มีธรรมะหลายหมวด เราก็เรียนกันแล้วอย่าง อิทธิบาท ใช่ไหม ก็แค่ทวนก็พอ ทุกท่านเรียนแล้ว อันนี้ก็เป็นเรื่องทำให้สำเร็จ ทุกอย่างไม่ว่าอะไร หนึ่ง ต้องมีฉันทะ ถ้าเราทำด้วยใจรักมีความใฝ่รักชอบสิ่งนั้นแหละ ก็ได้ไปเกือบครึ่งแล้วนะ ถ้ารักงานนั้น ก็ต้องทำด้วยความรักงาน ทำงานที่ใจรัก เห็นคุณค่า ไอ้ความรักนี่เกิดจากถูกนิสัยด้วย แล้วก็เห็นคุณค่า เห็นว่างานนี้มีคุณค่า เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์กับชีวิต เป็นประโยชน์กับสังคม เราทำและได้สร้างสรรค์สังคมและบำเพ็ญประโยชน์ได้มาก เราก็เกิดความรัก ความพอใจ ไอ้ตัวนี้ก็เป็นที่มาของความสุข แล้วก็ทำให้เกิด วิริยะ ความเพียร ความเพียรพยายาม พยายามทำ แล้วก็ใจสู้ไม่ถอยไอ้ตัวนี้ วิริยะมาจากวีระ วีระ แปลว่า แกล้วกล้า คือใจสู้นั่นเอง ความเพียรก็คือ ความมีใจสู้ไม่ถอย คนที่มีความเพียรนี่เดินหน้าเรื่อย ไม่มีถอย เพราะฉะนั้นแปลว่า ความแกล้วกล้า เดินเรื่อยไป แล้วก็ จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ อุทิศตัวอุทิศใจให้กับเรื่องนั้น ใครทำงานแบบอุทิศตัวอุทิศใจก็เรียกว่า มีจิตตะ ก็ตรงตัวอยู่แล้ว จิตตะก็ใจ ก็คืออุทิศใจอุทิศตัวให้มัน ถ้าเราทำงานอะไรจริงจัง แล้วเราก็อุทิศตัว อุทิศใจให้มัน ก็ทำได้ผล แล้วก็มี วิมังสา ถึงมีความเพียรแต่ไม่มีปัญญาก็ไปไม่รอด ก็ต้องมีปัญญา ปัญญานี้ก็ไม่ใช่แค่รู้ ปัญญาแค่รู้ไม่พอ ปัญญาต้องเป็นปัญญาที่รู้จักพิจารณา ไตร่ตรอง ทดลอง สอบสวน คิดแก้ไข ปรับปรุง วิมังสา ตัวมันเองแปลว่า ทดลอง ตัวมันนะ ตัวศัพท์วิมังสา แปลว่า ทดลอง ก็ต้องเป็นนักพิจารณาหาทางนั่นเอง เอ๊ะ จะหาทางว่าจะปรับปรุง แก้ไขยังไง จะทำอย่างนั้นจะดีไหม นี่ก็คือทางของวิมังสา ก็ทำให้เกิดการปรับปรุงด้วย ไม่อยู่กับที่ เพราะฉะนั้นก็ได้มา 4 ตัว มันก็พัฒนาแน่ พัฒนาไปสู่ความสำเร็จ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา รักงาน สู้งาน แล้วก็ใฝ่ใจในงาน หรือเอาใจใส่งานอย่างน้อยนะ ถ้าอย่างสูงก็อุทิศตัวอุทิศใจให้กับงาน แล้วก็ทำงานด้วยปัญญา อันนี้ก็ชุดนี้ก็ทำงานสำเร็จ แต่ว่าไม่ใช่แค่นี้ ชุดทำงานมีหลายอย่าง ชุดหนึ่งที่สำคัญก็ คือ ชุดพลัง ชุดพละ 4 พละนี้มีหลายชุด พละนี้แปลว่า กำลังพละ 4 นี่ก็มี
1 ปัญญาพลัง กำลังปัญญา กำลังปัญญาก็เริ่มตั้งแต่ เมื่อจะทำงานอะไรต้องรู้เข้าใจงานนั้น มีความชัดเจน ตัวความชัดเจนนี่มีความสำคัญ ปัญญานี่มันเป็นตัวที่ว่ารู้แล้วก็ชัด ถ้ารู้อะไรไม่ชัด ยังคงคลุมเครือ สับสนอยู่นี่ยังไม่เรียก ปัญญา นี้ถ้าใครทำอะไรมันไม่ชัดนี่หวังผลสำเร็จได้น้อยนะ ทำไมต้องชัด ฉะนั้นมีเรื่องอะไรยังไม่ชัด ต้องค้นต้องคว้าต้องหาให้มันชัดให้ได้ ความชัดนี้ตัวสำคัญเลย มันทำให้เป็นตัวตัดสินความสำเร็จมากทีเดียว ปัญญารู้ชัดเจน แต่อย่างน้อยก็งานอาชีพของเรานี่ต้องรู้ชัด แล้วก็ต้องหาความรู้ต่อไปเรื่อย หาให้ชัด มันต้องต้องหาความรู้ต่อไปเรื่อยๆ ในการหาความรู้แก้ปัญหาก็ดี หาความรู้เพิ่มเติมในสายวิชาของตัวเองก็ดี
2 วิริยะพลัง กำลังความเพียร อันนี้ก็ที่ว่าไปแล้ว ก็คือ ต้องมีความเพียรพยายาม อย่างน้อยทำงานของตัวเองไม่ให้บกพร่อง ได้ใช้ความเพียรพยายามเหมาะสมกับงานแล้ว ไม่ใช่เป็นคนขี้เกียจหรือปล่อยปละละเลย ก็หมายความว่าทำหน้าที่ไม่บกพร่อง ข้อ 1 ก็มีความรู้งาน เข้าใจงานดี 2 ก็ทำหน้าที่ไม่บกพร่อง เพราะคนที่มีความเพียรอย่างน้อยหน้าที่ไม่บกพร่อง แล้วก็ถ้าได้เกินกว่านั้นก็คือ มันเดินหน้าไปด้วย ทำงานให้ก้าวหน้า แล้วก็
3 ท่านเรียกว่า อนวัชชะพลัง กำลังความสุจริต ใช้ศัพท์ทั่วไปก็เรียกว่า มือสะอาด ทำงานนั้นแล้วเราไม่มีข้อบกพร่อง แล้วทำงานอะไร เราอาชีพของเราไม่มีข้อบกพร่อง นี่เรามีความมั่นใจตัวเอง แล้วเราทำงานของเราได้เต็มที่ ไม่งั้นเรามีลำบาก เราก็จุดอ่อนมีขึ้นมา แล้วเราก็ทำลำบาก นี้คนที่ไม่มีจุดอ่อน ไม่มีข้อบกพร่องอะไร เนี่ยมันก็ทำงานด้วยความมั่นใจทำได้เต็มที่ แล้วก็มีความมั่นคงในตัวเองด้วย
ข้อ 4 เรียก สังคหะพลัง กำลังการสงเคราะห์ การสงเคราะห์ คือ การยึดเหนี่ยวจิตใจคน และประสานหมู่ชน สังคหะ นี่ตัวเดียวกับคำว่า สังเคราะห์ แต่ไทยเรามาแปลแล้วความหมายมันแคบลงไป ตัวเดียวกันนะ สังคหะ แปลว่า สังเคราะห์ สังเคราะห์ แปลว่าอะไร ตัวศัพท์มันแปลว่า จับรวมเข้าด้วยกัน สังเคราะห์ก็กลายเป็นว่า เอาองค์ประกอบบางอย่างนี่เอามาจัดรวมขึ้นมา แล้วก็เกิดผลใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์ หรือเป็นสารเคมีอย่างใหม่ก็แล้วแต่ เราเรียกเป็น สังเคราะห์ แต่ที่จริงของท่าน สังคหะ คือ การทำให้รวมกันได้ ก็หมายความว่าเราอยู่ที่ไหน เราต้องมีมนุษยสัมพันธ์ดี เราต้องยึดเหนี่ยวใจคนได้
ทีนี้คนที่จะเกี่ยวข้องเราก็มี 3 ระดับ
1 ระดับสูงกว่าเราเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นต้น
2 ระดับเท่ากับเรา ผู้ร่วมงาน
3 ระดับต่ำกว่าเรา ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นต้น
เก่งจริงต้องได้ทั้ง 3 ขั้น ตรวจตัวเองว่าได้ครบไหม บางคนถนัดอยู่กับคนสูงกว่า เจ้านายรัก แต่เพื่อนเกลียดจังเลย บางคนก็ทำงานไปกันได้กับเพื่อน ผู้บังคับบัญชาเกลียด บางคนก็ไปกันได้กับลูกน้อง แต่ว่าไปกันไม่ได้กับผู้บังคับบัญชา อะไรอย่างเงี้ย เป็นไปต่างๆ นี้ถ้าเก่งจริง นี่ก็ต้องฝึกตัวเอง เอางานเป็นเวทีฝึกตัวเองให้เข้าได้ทั้ง 3 อย่างเลย ถ้าได้ก็เก่ง ยึดเหนี่ยวใจ สงเคราะห์ได้หมด ยึดเหนี่ยวใจแล้วก็ไม่ใช่ยึดเหนี่ยวใจ เพื่อประโยชน์ตัวเองคนเดียว เพราะว่าการทำงานนี่มันมีวัตถุประสงค์เพื่อตัวเองและผู้อื่น เพื่อผู้อื่นก็คือไม่ให้สังคมเสีย ต้องช่วยสร้างสรรค์สังคม เพราะฉะนั้น สังคหะ ตอนนี้ท่านก็แปลว่า ประสานชุมชนหรือหมู่ชน ก็หมายความว่า ช่วยให้ชุมชน ที่ทำงาน หน่วยงานของเราเนี่ย มีกำลังเข้มแข็งด้วยกำลังความสามัคคี สังคหะตัวนี้เป็นคำที่เป็นไวพจน์ หรือ Synonym กับคำว่า สามัคคี ถ้าเรารู้จักยึดเหนี่ยวใจคนให้ดี ก็คือสร้างความสามัคคีในวงงาน ให้คนนี่เข้ากันได้ ร่วมแรงร่วมใจกัน เกิดพลัง ในการเกิดสามัคคีก็ทำให้หน่วยงานของเรามีกำลังเข้มแข็ง จะทำอะไรก็ได้รับการร่วมมือกันก็สำเร็จ นอกจากนั้นก็เป็นสภาพเอื้อ เมื่อเกิดความสามัคคีแล้ว ไม่มีความร้าวฉาน ไม่หวาดระแวงกัน ไม่มัวกระทบกระทั่งกัน มันมาช่วยเหลือกันดี มันก็เป็นสภาพเอื้อให้แต่ละคนพัฒนาชีวิตของตัวเองได้ดีด้วย สามัคคีในทางพระ ท่านไม่มุ่งแต่เพียงว่าให้ส่วนรวมมีกำลังนะ แต่เพื่อสร้างให้ประโยชน์ของสังคมและชุมชน ก็คือชุมชนและสังคมนั้นมันเป็นสภาพแวดล้อม ที่ว่าถ้ามันดีแล้วมันจะเอื้อให้คนที่อยู่ในนั้นทุกคน ดำเนินชีวิตได้ดี พัฒนาตัวเองได้ดี พอเราเป็นสังคมที่ดี ชุมชนที่ดี มันก็กลับมาเอื้อให้แต่ละคนเนี่ยพัฒนาตัวเองได้ดี มีชีวิตที่ดีมีความสุขด้วย มันก็ไปด้วยกัน นี่ก็ได้พลัง 4 ทวนอีกที 1 ปัญญาพลัง กำลังปัญญา 2 วิริยะพลัง กำลังความเพียร 3 อนวัชชะพลัง กำลังความสุจริต 4 สังคหะพลัง กำลังการสงเคราะห์ บางทีเข้าใจผิด นึกว่าไปช่วยเขาที่ตกทุกข์ได้ยาก สงเคราะห์ในที่นี้แปลว่า การยึดเหนี่ยวคนไว้ให้ประสานสามัคคีกัน ก็ 4 ข้อ หรือพูดง่ายๆว่า รู้งานดี ทำหน้าที่ไม่บกพร่อง มือสะอาด ไม่ขาดมนุษยสัมพันธ์ เอาล่ะ นี่เป็นความหมายง่ายๆ อย่างหนึ่ง ไปทำงานก็ต้องนึกในแง่นี้แหละ บางคนนะเก่งจริงๆ ทำงานดี มีระเบียบในงาน ทำงานตั้งใจ ไม่มีถอยเลย ผลงานมีประสิทธิภาพ แต่ว่าเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ก็ต้องมาโอดครวญอีก ทั้งๆ ที่ ฉันทำงานดีแต่ว่าทำไมมันไม่ก้าวหน้า เนี่ยมันก็มีต่างๆ บางคนก็มนุษย์สัมพันธ์ดี แต่ว่าตัวงานไม่ค่อยดี ท่านว่าก็ต้องพยายามปรับปรุงตัวให้มีให้ครบ อ้าว นี่ก็เป็นเรื่องของงาน ทีนี้สังคหะพลัง กำลังการสงเคราะห์ หรือประสานชุมชนอะไรเนี่ย ก็คือ สังคหวัตถุนั่นเอง สังคหวัตถุมีกี่ข้อ ทวนกันหน่อย 4 ข้อ เอ้า
1 ทาน คือการให้ การให้ก็มีการให้เผื่อแผ่ แบ่งปันด้วยเมตตา มีน้ำใจต่อกัน แล้วก็ให้ด้วยกรุณา ก็คือ เมื่อเขามีความทุกข์ ก็ให้เพื่อช่วยเหลือ แล้วก็ให้ด้วยมุทิตา ก็คือ เมื่อเขาประสบความสำเร็จหรือจะทำอะไรที่ดีงาม เราให้กำลังสนับสนุน นี่ให้ด้วยมุทิตา ก็ต่อไปก็
2 พูด ปิยวาจา ใช่ไหม ปิยวาจา ก็เช่นเดียวกัน อยู่กันตามปกติก็ปิยวาจาด้วยเมตตาไมตรี ก็พูดดีๆ ด้วยไมตรี พูดสุภาพอ่อนหวาน พูดยามมีน้ำใจ เมื่อเขาทุกข์ ก็มีปิยวาจาแบบว่า พูดปลอบโยน แนะนำวิธีแก้ปัญหา นี่เรียกว่าปิยวาจาด้วยกรุณา ถ้าเขาประสบความสำเร็จ หรือทำสิ่งที่ดีงาม ก็พูดให้กำลังใจ สนับสนุน หรือว่าแสดงความยินดีด้วยอย่างนี้ เรียกว่า พูดปิยวาจาด้วยมุทิตา ต่อไป
ข้อที่ 3 ก็อัตถจริยา ทำประโยชน์ให้แก่เขา หรือบำเพ็ญประโยชน์ อันนี้ก็เช่นเดียวกัน หนึ่ง อยู่ปกติเขาไม่มีทุกข์เดือดร้อนก็มีเมตตาไมตรีต่อทุกคน ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยเมตตาไมตรี ไปมีของอะไรช่วยกันถือได้ก็ช่วยถือกันไป ไปอยู่ในที่ทำงานมีอะไรจะช่วยกันได้ก็ช่วยกันไป โดยที่ว่าเขาก็ไม่ได้ทุกข์เดือดร้อน ต่อไปถ้าคนที่เขาเดือดร้อน มีความทุกข์นี่ ก็ช่วยเหลือด้วยกรุณา เช่น คนตกน้ำ คนติดในลิฟท์ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น หรือคนมีทุกข์อะไรก็แล้วแต่ หรือคนไม่มีกำลัง เป็นป่วยเป็นไข้ แล้วก็ช่วยด้วยกรุณา อัตถจริยามันเป็นเรื่องของการเอาเรี่ยวแรงเข้าช่วย อันที่หนึ่ง มันให้สิ่งของ หรือแม้แต่ให้ความรู้ เอาสิ่งของหรือเงินทอง สิ่งของ ความรู้ นี่เรียกว่าให้ข้อที่ 1 ข้อที่ 2 ช่วยด้วยถ้อยคำ คำพูด 3 ช่วยด้วยเรี่ยวแรง กำลังความสามารถ อัตถจริยา แล้วก็ 3 ข้อ แล้ว ก็ทำด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา ก็ครบแล้ว แล้วแต่ละอย่างนี่ 3 ทั้งนั้นใช่ไหม แล้วก็คูณเป็น 9 ก็ครบแล้วใช่ไหม รวมเป็น 9 สถานการณ์ เอาพรหมวิหาร 4 มาเจอกับสังคหวัตถุเข้า พรหมวิหาร 4 นี่เป็นภาคจิตใจ สังคหวัตถุเป็นภาพแสดงออก มันต่อกันเลย พอพรหมวิหารอยู่ในใจ ก็แสดงออกด้วยสังคหวัตถุ 4 ทีนี้พอไปถึง
ข้อ 4 ก็คือ สมานัตตตา สมานัตตตา แปลว่า มีตนเสมอ มีตนเสมอ เสมอนี่ภาษาพระ เสมอแปลว่าอะไร เสมอมาจากคำว่า สมาน เสมอแปลว่าสมาน สมานะของพระแปลว่าเสมอ เสมอแบบของพระเป็นเสมอแบบเข้ากัน ทีนี้เสมอปัจจุบันเป็นเสมอภาค แบบแย่งกัน ให้ดูนะสมัยนี้ มีแนวโน้มเป็นเสมอภาคแบบแย่งกัน แกได้เท่าไหร่ แกได้ 10 ข้าต้องได้ 10 ด้วย นี่คือคอยเพ่ง คอยจ้องว่าเสมอภาคแบบนี้ ว่าเท่ากันได้ไหม ไอ้แบบนี้แบบลัทธิแข่งขัน และก็แก่งแย่ง แบ่งแยก เสมอของท่านก็คือว่า เขาทุกข์เราก็ทุกข์ด้วย เขาสุขเราก็สุขด้วย ท่านเรียกว่ามีสุขทุกข์เสมอกัน ไม่ใช่ว่าเขาทุกข์เราไม่เสมอด้วย เราทิ้งเลย ทีนี้ถ้าเขาทุกข์เราเสมอในทุกข์ ก็หมายความว่าเราร่วมทุกข์ ได้อย่างนี้ท่านเรียกว่า สมานะสุขาทุกขตา แปลว่า เสมอในสุขและทุกข์ ก็คือร่วมสุขร่วมทุกข์ เพราะฉะนั้น สมานของท่านมุ่งไปทางความสามัคคี เสมอเพื่อร่วมกันมา คำว่า เสมอของพระมาจากคำว่า สมานะ สมานะแปลว่าเสมอ แล้วก็แปลเป็นไทย แปล เสมอว่าสมาน แล้วสมานเราก็แปลความหมายไทยซ้อนเข้าไปว่า เข้ากันได้ เราก็เอาแบบพระ เสมอแบบสมาน สมานก็คือ ทำให้มันเข้ากันได้ กลมกลืนกัน เมื่อมันเสมอ มันก็เข้ากันได้ เพราะฉะนั้นสมานัตตตา บางท่านก็แปลว่า ทำตัวให้เข้ากันได้ ทำตัวให้เสมอกัน หมายความว่า เสมอแบบไหน มันนอกจากเสมอในสุขทุกข์ ร่วมสุขร่วมทุกข์ ก็เสมอแบบสมานเข้ากันได้ เสมอแบบไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน อ่า เสมอแบบไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ก็สมานเหมือนกันใช่ไหม เสมอแบบไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่เหยียดหยามกัน แล้วก็เสมอไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เมื่อเสมอแบบไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มันก็ทำให้สมานใช่ไหม แล้วมันก็สามัคคีกัน เสมอแบบไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ก็หมายความว่า มันเสมอกัน เรามองเหมือนกันหมดเป็นเพื่อนเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเอาคนนี้ ผลักคนโน้น ที่เขาเรียกว่า เลือกที่รัก ผลักที่ชัง เสมอแบบนี้ เป็นเสมอแบบสมานหมดใช่ไหม เอาล่ะ 1 ไม่ดูถูกเหยียดหยามกัน 2. ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน 3 ไม่เลือกที่รัก ผลักที่ชัง 4. ร่วมสุขร่วมทุกข์ เสมอในสุขและทุกข์ 4 อย่างนี้สมานหมด 4 อย่างนี้ไม่มีปัญหาเลย เสมอแบบปัจจุบันนี้ มักจะเป็นเสมอเชิงธุรกิจใช่ไหม คอยมองว่าแกได้เท่าไหร่ แล้วก็ข้าได้เท่านั้นไหม แล้วก็คอยแย่งกันเรื่อยเลย แล้วไม่มีความสามัคคี ใจมันไม่เอา ใจมันคอยระแวง ระแวงหวาดว่าไอ้คนนั้นมันจะได้มากกว่าเราหรือเปล่า ฉะนั้นเราก็ไปสร้างสังคมแบบพุทธศาสนา มันก็จะดี แต่เพียงว่าท่านเตือนไว้อย่าง คือสังคมที่ดีเนี่ยช่วยเหลือกัน 1.ช่วยเหลือกัน มันก็ทำให้เรานอนใจได้ หวังว่าเออไม่เป็นไรถึงลำบากทุกข์อยากก็มีคนช่วยไม่เดือดร้อน หนึ่งแล้วน่ะ 2 มันสบาย เป็นสังคมที่ไม่ค่อยเดือดร้อน มันสบาย ความสุขสบายอย่างหนึ่งให้การช่วยเหลือดีอย่างหนึ่ง มันเป็นปัจจัยแห่งความประมาท ดังนั้นสังคมที่อยู่กันดี ช่วยเหลือกันดี และมีความสุขสบาย จะเป็นสังคมที่มีความโน้มเอียงไปในทางประมาท ฉะนั้นอันนี้จะต้องระวัง พระพุทธเจ้าจึงย้ำสุดท้าย ต้องไม่ประมาท ช่วยเหลือกันดี เอาแล้ว หวังพึ่งเขาแล้ว หรือว่านอนใจแล้ว ก็เลยนึกว่าเราเป็นไง ทุกข์อยากเดือดร้อนก็ไม่เป็นไร ไปหาผู้ใหญ่ได้ ไปหาคนโน้นคนนี้ได้ ไปหวังพึ่งยืมเพื่อนได้ มันก็เลยแย่ ไม่เหมือนสังคมฝรั่ง ที่หวังพึ่งกันยาก ตัวใครตัวมัน ก็ทำให้แต่ละคนนี่ประมาทไม่ได้ ก็ต้องเร่งรัดตัวเอง ก็ต้องระวังเรื่องการช่วยเหลือกัน ต้องให้สมเหตุสมผล เพราะฉะนั้นจึงมีอุเบกขา เพราะอุเบกขาเข้ามารับกับสมานัตตตา อุเบกขาในพรหมวิหารคือ รักษาธรรม รักษาความถูกต้อง รักษาความสมเหตุสมผล อุเบกขารักษาความสมเหตุสมผลก็คือ ไม่ช่วยมันเรื่อยเปื่อย ถ้าช่วยแล้วมันจะเสียไม่ช่วย ก็รักษาธรรมไว้ รักษาความถูกต้องความสมควรตามเหตุผลไว้ สมานัตตตาก็มาช่วยอีก รักษาธรรมะเวลาเกิดเรื่องกัน ก็สมานัตตตาก็มีความเสมอภาคใช่ไหม ก็อาศัยอุเบกขานี่แหละ มาประสานกัน ก็ครบ พรหมวิหารกับสังคหวัตถุ 4 ก็ตกลงว่าตอนนี้ก็มาคุมด้วยความไม่ประมาท ว่าเราจะต้องมีความไม่ประมาท ทั้งชีวิตของเรา การงานอะไรต่างๆ คนเรานี่ 1 มีความสุข 2 มีความสำเร็จ 3 แม้แต่ว่าได้ชื่อว่าทำดีแล้ว จะมีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อย พอสุขสบาย ก็มีความเฉื่อยขึ้นมา ชักจะไม่กระตือรือร้น ชักไม่เร่งรัด เพราะว่าถ้าทุกข์แล้วมันบีบคั้น มันเร่าร้อน ต้องดิ้น เมื่อทุกข์บีบคั้น คนก็ดิ้นรน มีภัยมาคุกคามก็ต้องหาทางที่จะออกไปให้ได้ หาทางออก ที่นี้พอมันสบาย ไม่มีภัยอันตราย ไม่มีทุกข์บีบคั้นมันก็เลยโน้มเอียงไปทางที่ว่าเฉี่อย แล้วก็นอน แล้วก็ผลัดเพี้ยน ก็เป็นความประมาท เพราะฉะนั้นก็ต้องเอา การช่วยเหลือกันต้องระวัง ฉะนั้นความสุข ความสำเร็จ ต้องระวังหมด อย่าให้เป็นเหตุให้เกิดความประมาท ฉะนั้นแม้แต่พระอริยบุคคล ปฏิบัติธรรมไป พระพุทธเจ้าก็ตรัส ถ้าปฏิบัติธรรมไปก้าวหน้า เกิดความพอใจ ว่าโอ้เราได้ก้าวหน้าในการปฏิบัติมาอย่างนี้ พอคิดว่าอย่างนี้นะ ก้าวหน้ามาแล้ว ก็คือ ประสบความสำเร็จ เราทำได้ดีแล้ว ชักเฉื่อยแล้ว ชักผ่อนลงแล้ว พระพุทธเจ้าเตือนทันทีเลย เธอประมาทแล้ว เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความตั้งมั่นอยู่ได้หรือคงอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงการเสื่อมถอยจากกุศลธรรม หมายความว่าไม่สรรเสริญแน่ แม้แต่ว่าความคงที่อยู่ได้ ก็ยังไม่สรรเสริญ เราสรรเสริญอย่างเดียวแต่ความก้าวต่อไปในกุศลธรรมทั้งหลาย นี่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จำให้ดีเลย มาใช้กับความไม่ประมาท สังคมไทยเป็นสังคมที่ 1 ช่วยเหลือกันดี มีน้ำใจ 2 ก็สุขสบาย ไม่ค่อยมีทุกข์บีบคั้น ภัยคุกคาม ภัยน้อย ก็เลยมีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อยชา ผลัดเพี้ยน และประมาท ใช่ไหม เหตุสำคัญของสังคมไทยที่ทำให้ไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะความประมาท ไม่ค่อยกระตือรือร้น ไม่ค่อยเร่งรัดอะไร สังคมที่เจริญไป ก้าวหน้ามาก ก็เพราะไม่ประมาทใช่ไหม เร่งรัด ไม่ใช่ว่าไม่ประมาทที่แท้หรอก แต่ว่ามันเป็นไม่ประมาทเพราะถูกบีบคั้น เช่นว่า ระบบแข่งขันมันบีบ ถ้าแกไม่ทำงาน แกไม่ช่วยตัวเอง ไม่มีใครเอาด้วย แกตาย ก็ต้องดิ้น ฉะนั้นก็เลยเหมือนกับไม่ประมาท อาการแสดงออกก็คือ ดิ้นรน ขนขวาย ทีนี้ของเราไม่ประมาทที่แท้ก็คือว่า โดยสติปัญญาและคุณธรรม คือ ความดีงามในจิตใจ ความรู้เหตุผล แล้วก็มีสติ เตือนตนให้ไม่ประมาท ว่าเราสุขสำเร็จ ทำดีแล้ว ช่วยเหลือกันดี แต่ว่าอย่าไปประมาท ก็เตือนตน นี่ก็เป็นหลักอย่างหนึ่งต้องใช้กับตัวเอง แล้วก็ต้องใช้ทั้งเรื่องของชุมชน หน่วยงานของเราด้วย เพราะหน่วยงานเองก็จะประมาทไปง่าย โดยเฉพาะผู้นำ ผู้นำประเทศ ผู้นำในการบริหาร ผู้นำชุมชน ทุกชุมชนแม้แต่ครอบครัว จะต้องเป็นผู้นำที่คอยกระตุ้น หาอะไรเป็นอุบาย มาทำให้คนในชุมชนของตัวหรือในความรับผิดชอบตัวเองไม่ประมาท อย่างผู้นำประเทศก็ต้อง ถ้าประเทศมีความสุข ความสำเร็จ เช่น เศรษฐกิจดี คนก็จะมีความเสี่ยงที่จะประมาท ลุ่มหลง มัวเมา ผู้นำก็จะต้องหาอุบาย หาวิธีการมากระตุ้น เพื่อคนไม่ประมาท ชุมชนที่ทำงานของเราก็เหมือนกัน เราจะต้องมีวิธีการที่จะทำให้คนไม่ประมาท อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ วิธีการที่จะมากระตุ้นให้คนไม่ประมาท แล้วในครอบครัวก็เหมือนกัน ผู้นำหัวหน้าครอบครัวก็ต้องหาวิธีการมาทำให้คนไม่ประมาท รวมตั้งแต่ตัวเองไป พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า เนี่ย พระมหากษัตริย์ ราชา ต้องไม่ประมาท ถ้าราชาประมาทแล้ว มันประมาทจนกระทั่งถึงชาวบ้านเลย ก็หมด แว่นแคว้นก็เสื่อม นี่ก็เป็นด้านหนึ่งของการทำงาน พุดว่าเรื่อย มันมีหลายเรื่อง อย่างน้อยก็ให้ได้หลักเหล่านี้แหละ หลัก 2-3 อย่างนี้ ก็คิดว่าไปได้ดีแล้ว อย่างน้อยก็ทำจิตใจของเราได้ดี วางใจให้ถูก หรืออย่างจักร 4 มันก็ใช้ได้ จักร 4 เรียนแล้วหรือยัง ยังหรือ จักร 4 นี่ จักร แปลว่า ล้อ รถยนต์มี 4 ล้อ พระพุทธเจ้าตรัสไว้พอดีบอกว่า ธรรมะเหมือนล้อ 4 ล้อ ที่นำพาหนะไปสู่จุดหมาย รถมีครบ 4 ล้อ แล้วหมุนคล่องดีก็จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ นี่คนเราก็ควรจะมี 4 ล้อ เรามี 4 ล้อ อยู่แล้ว 4 ล้อ
ชุดที่ 1 ก็คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ชีวิตของเราปกติมันจึงไปได้ เราจึงต้องบริหารอิริยาบถให้พอดีให้ครบ 4 ล้อ เนี่ยคำว่า 4 ล้อ จตุจักร สวนจตุจักร 4 ล้อ หมายถึง อิริยาบถ 4 เป็นสวนที่ไปบริหารอิริยาบถ 4 อริยาบท คนเรานี่ชีวิตอยู่ได้ด้วย 4 อิริยาบทนี้ 4 ล้อ ทำให้ดี เพราะฉะนั้นชีวิตด้านร่างกายเราก็บริหารล้อ 4 อิริยาบถ 4 ได้ดีเนี่ย ก็มีหวังว่าสุขภาพจะไปได้ดี ทีนี้ 4 ล้อ นอกไม่พอ
ท่านให้ 4 ล้อในอีก 4 ล้อใน ก็มีเนี่ยเรียกว่า จักร 4 ทำเหมือนจักร 4
1 ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในถิ่นที่เหมาะ อยู่ในถิ่นที่เหมาะ หมายความว่า ทำเลสิ่งแวดล้อมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยต้องให้มันดีนะ ถ้ามันเป็นถิ่นที่สกปรกรุงรัง มีภัยอันตรายมาก มีโจรผู้ร้ายมาก นี่ต้องรีบหาทางแก้ หรือไม่ก็ย้ายซะ เรียกว่า อยู่ในถิ่นที่เหมาะ อย่างมีสติปัญญาดี จะเรียนได้เก่ง แต่ไปเกิดในป่าอัฟริกาอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นความดีงาม ความสามารถและศักยภาพก็ไม่สามารถพัฒนาได้ ก็ต้องอยู่ในถิ่นที่เหมาะ ปฏิรูปเทสวาสะนี่ใช้ได้ทุกระดับ ตั้งแต่เกิด อยู่ในถิ่นที่เหมาะ ไม่อย่างนั้นก็ต้องจัดถิ่นที่ตัวอยู่ให้เหมาะ เช่น ที่ทำงาน ที่อะไรๆ นี่ ก็ต้องจัดให้เป็นที่ ที่เหมาะสมกับการทำงาน ให้ทำงานได้ผลดี น่าทำงาน เป็นสัปปายะ อะไรๆ ต่ออะไรนี่เป็นปฏิรูปเทสวาสะ หรืออย่างเป็น นักเรียนไปอยู่ถิ่นที่เป็นอบายมุขอะไรต่ออะไร มีเพื่อนมันก็มีทางจะชักจูงไปในที่ไม่ดี
2 สัปปุริสูปัสสยะ คบหาคนดี ไอ้ถิ่นที่เหมาะ บางทีมันก็ชวนให้ได้คนดีด้วย พออยู่ในถิ่นที่นั้น เป็นคนที่ชอบแสวงหาปัญญาความรู้อะไรต่ออะไรเราก็พลอยได้ ถ้าเป็นถิ่นสำมะเลเทเมาเราก็พลอยมีทางที่จะคุยได้ งั้นก็เลือกคบหาเองด้วย ไม่ใช่รอแต่ให้สิ่งแวดล้อมมาชักจูงไป แล้วก็เลือกคบหาคน คนที่จะมีสติปัญญา คนที่มีคุณธรรม คนที่จะช่วยให้เราก้าวหน้าในการงานอาชีพหรือในการศึกษาเล่าเรียน ก็ค้นหาคนอย่างนี้ เสาะเสวนาคนดี
3 ท่านเรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ แปลว่า ตั้งตัว ตั้งตนไว้ชอบแปลตามศัพท์ ตั้งตนไว้ชอบ ตั้งเข็มแนวทางชีวิต ให้ไปในทางที่ถูกต้อง แล้วมั่นในแนวทางนี้ เช่นว่า เรามีจุดหมายของเราว่า เราทำงานการอาชีพนี้ เรามีจุดหมายอย่างไร จุดหมายเพื่อชีวิต เพื่อสังคม ยังไงนี่นะ ชัด คนทำงานไม่มีจุดหมาย นี่ขาดเรี่ยวแรงและทิศทางก็ยาก ตั้งจุดหมายไว้แล้วเดินทางมั่นในแนวนั้นให้สู่จุดหมาย ไม่เขว มีสิ่งล่อเร้ายั่วยวน ชักจูงไม่ไถล ไม่ถลำ ไม่เถลไถล ก็นี่เรียกว่า ตั้งตนให้ถูกที่ มั่นในแนวทางไปสู่จุดหมาย แล้วก็
4 ปุพเพกตปุญญตา มีบุญได้ทำไว้แต่ปางก่อน นี่ก็หมายความว่า อันนี้มันมีทุนดี 2 ระดับ ทุนดีนี้เกิดมาดี ร่างกายแข็งแรงสุขภาพดี บางคนเกิดมาขี้โรค บางคนเกิดมาร่างกายดี โครงสร้างร่างกายดี บางคนเกิดมาในตระกูลดี ร่ำรวยไปเลย บางคนเกิดมายากจน บางคนเกิดมามีสติปัญญาดี บางคนเกิดมาทึบ อะไรอย่างนี้เรียกว่า ทุนเดิม บุญเก่า และบุญเก่าก็ดูตั้งแต่ตอนเกิดนี่ เอาล่ะบุญเกิดตอนหนึ่ง ถ้าทุนดีแต่เกิดมันก็มีโอกาสที่จะไปดีๆ เยอะใช่ไหม สอง นี้ทุนที่เราจะต้องทำต่อไป เพราะว่าปัจจุบันจะเป็นอดีตเรื่อยไป เพราะฉะนั้นวันนี้ พรุ่งนี้ก็จะเป็นอดีต เดือนนี้ เดือนหน้าจะเป็นอดีต ฉะนั้นสิ่งที่เราทำไว้ในวันนี้ พรุ่งนี้จะเป็นอดีต จะเป็นทุนเก่าหมด สิ่งที่ทำปีนี้ ปีหน้าจะเป็นทุนเก่า ฉะนั้นเราต้องเตรียมทุนดีสำหรับอนาคต ด้วยการทำทุนดีปัจจุบัน ฉะนั้นตอนนี้ทุกคนจะต้องเตรียมทุนดีสำหรับอนาคต ด้วยการทำปัจจุบัน เตรียม ทีนี้ความไม่ประมาทมาใช้อีก เตรียมใช้เวลาสร้างทุนดี อย่างคนที่ไปเล่าเรียนศึกษา นี้ก็คือการสร้างทุน ก็พัฒนาฝึกตัวเองให้มันพร้อมไว้ พอมีโอกาสช่องมาปั๊บ เป็นจังหวะมาปั๊บได้ทันทีเลย ถ้าเราไม่เตรียมทุนไว้ให้ดี โอกาสมา จังหวะมาปั๊บ ไม่พร้อมแล้ว ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปนึกว่า เออ อันนี้เราไม่ต้องใช้แล้ว ก็เลยไม่เตรียม ไม่ได้ เตรียมให้พร้อมไว้ ทุนดีเตรียมไว้ ฉะนั้น ข้อสี่ คือ มีทุนดีได้เตรียมไว้ ทุนดีเก่าไม่ดี ไม่เป็นไร เรามาขนขวายทุนดีใหม่กำลังสอง อย่างคนทุนเก่าดี บุญเก่าดี เกิดมาสวย เสร็จแล้วประมาทซะนี่ ไอ้คนทุนเก่า บุญเก่าไม่ดี รูปร่างขี้เหร่ ไอ้เจ้าขี้เหร่มันไม่ประมาท มันบอกว่า เออ ไอ้เจ้ารูปร่างสวย นี่มันได้โอกาส ได้เปรียบเราใช่ไหม แต่ว่าเรานี่แย่ ถ้าเราไม่ได้ขนขวาย เราไม่ไหว ฉะนั้นเจ้าคนนี้ที่มันสวย ร่างกายมันดี นี่มันทำ 1 เราต้องทำ 2 ว่างั้นน่ะ หรือมันทำ 1 เราต้องทำ 10 ไอ้เจ้านี่ไม่ประมาททั้งๆ ที่ รูปร่างขี้เหร่ พัฒนากำลังความรู้ ความสามารถไว้ จนกระทั่งกลายเป็นผู้จำเป็น คนจำเป็น เป็นคนพิเศษ ที่ว่าขาดไม่ได้เลย ใช่ไหม ฉะนั้นไอ้คนที่สวยๆ แพ้หมดใช่ไหม ฉะนั้นก็มีทุนดี 2 ระดับ ทุนดีเตรียมไว้ ทุนเดิมเก่าที่เกิด ซึ่งถ้ารู้จักใช้ ไอ้คนนี้ก็สบายไปเลย รู้จักมีเงินมีทองร่ำรวย รูปร่างสวยงามอะไรเนี่ย ปัญญาก็ดี แล้วไม่ประมาทด้วย ก็ยิ่งเดินหน้า แต่ว่าถ้ามันเกิดประมาทซะ มันก็ไม่ได้ผล ส่วนไอ้คนเตรียมทุนดีใหม่ ก็ไม่กลัวเหมือนกันนะ เราก็พัฒนาเต็มที่ อย่างที่ว่าแล้ว ก็คนเกิดมาจนก็ไม่ต้องท้อ เคยบอกว่าไม่มีใครเสียเปรียบ ได้เปรียบโดยสมบูรณ์หรือสัมบูรณ์ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบโดยสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นคนจนก็ได้เปรียบ คนรวยก็ได้เปรียบ ถ้าคนรวยไม่รู้จักใช้ ประมาท แล้วไม่ได้ฝึกตน แล้วคนรวยจำนวนมาก พ่อแม่ก็ตามใจ จนกระทั่งทำอะไรไม่เป็น แล้วก็อ่อนแอ ใช่ไหม ฉะนั้นคนจนบางทีถ้าคิดเป็น เขาเรียกว่า มีโยนิโสมนสิการ ก็เอาความจนมาใช้ประโยชน์ เรามันจนเกิดมาใช่ไหม เขาใช้ความเพียร 1 เราต้องใช้ความเพียร 10 อันนั้นมันก็สู้เต็มที่ เขาทำ 1 เราทำ 10 ใช่ไหม ในที่สุดไอ้คนจนก็เลยเดินหน้าพัฒนา เพราะฉะนั้นใช้หลักพุทธศาสนา โยนิโสมนสิการแล้วไม่กลัวทั้งนั้น ความได้เปรียบเสียเปรียบ ความจน ความแร้นแค้น ความมีทุกข์ ก็ได้ประโยชน์ ทุกข์ก็เป็นแบบฝึกหัดทดสอบความเข้มแข็ง ทำให้เราได้ฝึกตน ทำให้เราได้เรียนรู้ คนที่รวยทำอะไรง่าย มันก็ไม่ได้เรียนรู้มาก ไม่ได้ฝึกตัวเองมาก มีทุกข์มาก มีปัญหามาก ก็ยิ่งได้ฝึก ได้คิด ได้พัฒนาตัวเองมาก น่ะนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ตกลงก็ต้องใช้อีกหลักหนึ่งคือ โยนิโสมนสิการ ไปทำงานใช้ตลอด โยนิโสมนสิการ เนี่ยมันแปลว่า การคิดโดยแยบคาย ใช่ไหม มันมีหลัก 2 อย่าง คือ มันมีวิธีเยอะแต่รวมแล้วมันมี 2 แบบ คือ
1 หาความจริง โยนิโสมนสิการแบบหนึ่ง ก็คือหาความจริง ไม่ว่ายังไงจะคิดหาวิธีวิเคราะห์ แยกแยะ หรือสืบสาวหาเหตุปัจจัย หรือยังไงก็ตาม วิธีนี้ก็เป็นเรื่องของการหาความจริง
แล้วโยนิโสมนสิการอีกแบบหนึ่ง ก็คือ หาประโยชน์ มองหาประโยชน์ให้ได้จากทุกเรื่อง เจออะไรๆ ก็ต้องหาประโยชน์ให้ได้ อย่างที่ว่าเจอความจน ก็ต้องหาประโยชน์จากความจน เจอความทุกข์ต้องหาประโยชน์ที่ให้ได้จากความทุกข์ เจอเขาด่า ก็ต้องหาประโยชน์จากคำด่าของเขาให้ได้ นี่ก็ฝึกตนเหมือนกัน ฝึกโยนิโสมนสิการก็ต้องใช้หลักนี้ เจออะไรในทุกสถานการณ์หาประโยชน์ให้ได้ ดูตัวเองว่าหาได้ไหมนะ
เพราะฉะนั้นทางพุทธศาสนานี้หาประโยชน์ได้หมด ความตายเราก็หาประโยชน์ได้ บางท่านก็เป็นพระอรหันต์ เพราะว่าจะตายนี่แหละ พอจะตายก็เลยใช้ความตายมาพิจารณาเลยบรรลุอรหัตผลเลย ฉะนั้นพุทธศาสนานี่ 2 อย่างเนี่ยหลัก หนึ่ง มองหาความจริงให้ได้ เจออะไรก็หาความจริง 2 มองหาประโยชน์ให้ได้ เจออะไรหาประโยชน์ให้ได้หมด ตรวจสอบตัวเองฝึก ฝึกให้ทำให้ได้ ถ้าท่านได้ 2 อย่างนี้ ชีวิตเจริญแน่ นี่ขั้นต้นเลย มองอะไร อย่ามองแค่ชอบชัง มองอะไรอย่าแค่ยินดียินร้าย ชอบชัง ก็ได้แค่ชอบ แล้วก็สบายไป แล้วก็ติดใจชอบใจลุ่มหลง พอชังไม่ชอบใจก็ทุกข์ เกิดความหม่นหมอง เกิดความขัดแย้ง วุ่นวาย ปัญหามา นี้เราไม่เอาอย่างงั้น เลิกมองตามชอบใจ ไม่ชอบใจ มองชอบชังไม่เอา อย่างต้น มองตามเหตุปัจจัย พอมาตามเหตุปัจจัย ก็เริ่มมองหาความจริง แล้วก็แยกเป็น 2 มองหาความจริงกับ มองหาประโยชน์หรือมองให้เห็นประโยชน์ ฝึก 2 อันนี้นะ เจริญอย่างเดียวเลย เจริญทุกวันด้วย เจออะไรก็มองหาความจริง กะมองหาประโยชน์ ไอ้บางเรื่องมันรู้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้ความจริง ก็มองหาประโยชน์ มองให้เห็นประโยชน์ มองจากทุกเรื่องทุกราว แม้แต่ทุกข์อย่างที่ว่า แม้แต่ความจน เรื่องอะไรไม่ดีไม่งาม หาประโยชน์ให้มันได้ แล้วชีวิตเราจะดี พัฒนาไปตลอด เรื่องงานเรื่องการมันก็ไปโยงกับทุกอย่างแหละนะ มันก็คือชีวิตเรานั่นแหละ มองให้เห็นว่างานก็คือชีวิตของเราส่วนหนึ่ง แล้วเมื่องานมันดีชีวิตคนเราก็ดีด้วย ใช่ไหม ก็ต้องทำงานของเราให้มันดี ให้มันเป็นความสุข ให้มันเป็นเวทีพัฒนาชีวิต ให้มันเป็นทุกอย่างที่ดีงาม เป็นการสร้างสรรค์เป็นประโยชน์ ได้เป็นประโยชน์ต่อไป ก็คือ การใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ ธรรมะก็คือ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงามของธรรมดาพื้นๆ เพียงแต่ว่าเรามารู้จักมัน รู้จักธรรมดา แล้วก็ทุกอย่างเราก็จะเข้าใจถูกต้อง แล้วมันก็ไม่หนีธรรมดาไปได้ ก็เรียนธรรมะเพื่อให้เข้าถึงธรรมดา รู้ธรรมดา แล้วก็ใช้ธรรมดาให้เป็นประโยชน์
เสียงพระถาม: ท่านเจ้าคุณเคยพูดถึงธรรมะ 4 อย่าง
พระพรหมคุณาภรณ์: อ๋อ ความหมายของธรรมะใช่ไหม คือ ธรรมะเนี่ย มีความหมายเยอะแยะหมด ในอรรถกถาบางทีท่านแยกบางแห่งถึง 11 ความหมาย ทีนี้สรุปประมวลความหมายหลักซึ่งคลุมหมด
1 ธรรม คือ ก็คือสิ่งทั้งหลายเท่าที่มี ที่นึกได้ ทั้งรูปธรรม นามธรรม ดี ชั่ว ร้าย เลว ดี เป็นธรรมะหมด อันนี้เรียกว่า ธรรมชาติ นั่นเอง ธรรมะ ความหมายก็คือ ธรรมชาติ ก็คือสิ่งทั้งหลายทุกอย่างบรรดามี
2 ธรรมะ ก็คือ ความจริงของธรรมชาตินั้น ความเป็นไปของธรรมชาตินั้น เช่น ต้นไม้มันเจริญงอกงามมันเกิดจากเมล็ดพืช มันโตขึ้นมา และมันที่สุดมันก็เหี่ยวเฉา แล้วมันก็ตาย หรือคนเราเกิดมาแล้วก็ เกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายที่เป็นความจริงของมันนี่เป็นความหมายที่ 2 ของธรรมะใช้ภาษาง่ายๆ ก็คือ ธรรมดา นี่แหละที่พูดกันนั้นแหละ ธรรมดา ธรรมชาติ ก็คือ สิ่งทั้งหลายที่เป็นไปตามธรรมดา ธรรมดาคืออะไร ธรรมดา ก็คือ ความเป็นจริงของธรรมชาติ ใช่ไหม ธรรมดาก็คือ ความจริงของธรรมชาติ ทีนี้ 2 ล่ะ ต่อไป นี้ก็หมดล่ะ ธรรมะแท้ๆ ก็ 2 ความหมาย ก็คือ ธรรมชาติ กับ ธรรมดา มีอะไรอีกไหม ก็สิ่งทั้งหลาย ก็ความเป็นไปของมัน คือ ความจริงของมัน จบธรรมะ ทีนี้ต่อไปเพราะว่ามนุษย์เป็นตัวสำคัญ มนุษย์นี้จะมาสัมพันธ์กับธรรมดา ธรรมชาติ มนุษย์เราต้องการมีชีวิตที่ดี ต้องการเจริญงอกงาม ต้องการมีความสุข เราก็อยู่ใต้กฎธรรมชาติ 1 เราเป็นธรรมชาติด้วย ใช่ไหม ชีวิตของเราเป็นธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นไปตามเหตุปัจจัย 2 เราก็เป็นไปตามธรรมดานั้น ตกอยู่ใต้กฎธรรมดา อย่างที่ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย ระบบการย่อยอาหาร ระบบการไหลเวียนของโลหิต ระบบขับถ่าย เป็นอะไรต่ออะไร เป็นไปตามกฎธรรมชาติทั้งนั้น เป็นไปตามธรรมดาของมัน ทีนี้มนุษย์เราในเมื่อเป็นธรรมชาติ อยู่ในกฎของธรรมดา เราต้องการมีชีวิตที่ดี เจริญงอกงาม เราก็ต้องรู้ธรรมชาติ และ ธรรมดา และปฏิบัติให้ถูก ถ้าเรารู้ธรรมชาติ รู้ธรรมดา และปฏิบัติได้ถูกต้อง เอากฎธรรมชาติ เอาความรู้ในเหตุปัจจัยมาใช้ประโยชน์ได้สำเร็จ ชีวิตของเราก็ดี ใช่ไหม ตรงนี้แหละ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ ธรรมดาและ ธรรมชาติ ก็เลยเกิดธรรมะในความหมายที่
3 ว่าข้อที่มนุษย์จะต้องทำต้องปฏิบัติเพื่อให้เป็นไป ให้สอดคล้องกับธรรมดาของธรรมชาติ แล้วจะได้เกิดผลดีกับตัวเอง เหมือนกับว่า ไฟเป็นธรรมชาติ ธรรมดาของมันคือ ร้อน แล้วเกิดจากเชื้อ ถ้าเราเติมเชื้อ มีออกซิเจนมีอะไรแล้ว อุณหภูมิสูงขึ้น มันจะร้อนจะขยายวง แล้วถ้าร่างกายของเราไปถูกมัน มันจะเผาผลาญเราจะร้อน เราจะลำบาก แต่ถ้าเรารู้จักใช้ เอามาหุงต้มก็เป็นประโยชน์ เป็นต้น ก็คือว่าเราไปสัมพันธ์กับธรรมชาติคือ ไฟ ที่มันเป็นไปตามกฎธรรมดา เช่น มันร้อนไปตามเชื้อ มีเผาผลาญอะไรต่างๆ เหล่าเนี่ย เราจะได้ประโยชน์ เราก็ต้องปฏิบัติต่อไฟให้ถูก ถ้าคุณไม่ต้องการให้ไฟไหม้เผาตัวคุณ คุณก็จะต้องไม่เอามือของคุณไปลนไฟ เป็นต้น แล้วถ้าคุณจะหุงข้าว ต้องการให้ข้าวสุก คุณต้องเอาใช้ไฟร้อนเท่านั้นเท่านี้ เนี่ยที่ต้องปฏิบัติอย่างนี้ การที่จะใช้ไฟร้อนเท่านั้นหุงข้าว การที่จะไม่เอามือไปลนไฟอะไร ต่างๆ เหล่านี้ คือ ข้อปฏิบัติของมนุษย์ เพื่อให้ได้ประโยชน์สอดคล้องกับธรรมดา หรือกฎธรรมชาติ นี้เรียกว่า ธรรมะ ในความหมายที่ 3 ทำไมมนุษย์จึงต้องทำอย่างนี้ ทำไมต้องทำอย่างงั้น ทำไมเราจึงควรมีเมตตากรุณาต่อกัน ทำไมเราจึงควรจะต้องมีความเพียรพยายาม ธรรมะข้อนี้ต่างๆ ทำไมต้องมีสมาธิ ต้องมีสติใช่ไหม ทำไมต้องพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา ธรรมมะพวกนี้ก็ คือ ข้อปฏิบัติหรือสิ่งที่มนุษย์จะต้องทำ เพื่อให้เกิดผลดีกับชีวิตของตน โดยสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ นี่ธรรมะในความหมายที่ 3 เราเรียกว่า ธรรมจริยา ความหมายง่าย ต่อไป ธรรมชาติมันก็อยู่ของมันอย่างนั้น ธรรมดาความจริงก็อยู่ของมันอย่างนั้นไม่ได้หลบหน้าหนีหายไปไหน ไม่ได้ปิดบัง และข้อที่มนุษย์จะปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลดีกับตัวเอง ธรรมจริยามันก็มีอยู่อย่างนั้น แต่มนุษย์จำนวนมากไม่รู้ ทำไม่ถูก ก็มีมนุษย์บางคนพัฒนาตัวเอง เกิดปัญญา จนกระทั่งค้นพบความจริงนี้ ท่านที่ค้นพบความจริงนี่เอง เรียกว่า พระพุทธเจ้า ทรงค้นพบธรรมดา ธรรมชาติ และก็เลยรู้ธรรมะที่ต้องปฏิบัติ ท่านผู้นี้เป็นพระพุทธเจ้า ก็อยากจะให้คนอื่นได้ประโยชน์อย่างพระองค์ ให้เขาได้ประโยชน์จากธรรมดา ธรรมชาติ ธรรมจริยา ก็เลยมาสอน มาบอก ให้คนรู้เข้าใจ คำสอนคำบอกของท่านก็บอกเรื่องธรรมชาติ บอกเรื่องธรรมดา บอกเรื่องธรรมจริยา คำสอนของท่านก็ คือ สื่อไปถึงธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมจริยา คำสอนที่บอกเล่า ที่เป็นสื่อไปถึงธรรมะในความหมาย 3 อย่างแรก ก็พลอยถูกเรียกว่า ธรรม ไปด้วยเพราะฉะนั้นธรรมะในความหมายที่
4 ก็ คือ ธรรมะ ในความหมาย คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เราแปลกันง่ายๆ แต่ที่จริงก็ คือ คำบอกเล่าที่สื่อไปยังธรรม ในความหมาย 3 ข้อต้น หรือเป็นประดุจตัวแทนของธรรมะ 3 ข้อต้น ใช่ไหม ธรรมะที่เราอ่านกันเนี่ย อ๋อ ก็คือ ตัวแทนบอกธรรมดา รูปธรรม นามธรรม ดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรนี่นะ ขันธ์ 5 อันนี้ก็คือ บอกธรรมชาติ แล้วก็บอกธรรมดา ว่ามันเป็น ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นปฏิจจสมุปบาท เป็นไปตามเหตุ ปัจจัย กฎธรรมชาติ เป็นไปตามแล้วก็บอกว่ามนุษย์จะต้องทำนี้ ต้องเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ต้องประพฤติสุจริต อะไรต่างๆ ธรรมะข้อที่ 3 อยู่ในธรรมะข้อที่ 4 ที่เอามาบอกเล่าเนี่ย ธรรมะข้อที่ 4 ก็เลยเป็นคำสอนพระพุทธเจ้า เรียกว่า ธรรมเทศนา ครบยัง ธรรมะ 4 อย่างนี้ หมดไหม ทุกอย่างที่เรารู้จักอยู่เท่านี้ อยู่ในธรรมะ 4 ข้อนี้ วันนี้ก็เลยมาพูดว่าจะไม่อธิบาย ก็อธิบายไปด้วย ที่จริงก็ไม่ยากใช่ไหมครับ ปั๊บเดี๋ยวก็เข้าใจหมด ธรรมะมี 4 ความหมายเท่านี้ เอาอีกที ธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมจริยา ธรรมเทศนา ก็รวมในคำว่า ธรรม
คำถาม:... สภาวะธรรม??? (ฟังไม่ชัด)
พระพรหมคุณาภรณ์: อ้อ ก็อยู่นี้หมด สภาวะธรรม สัจธรรม เป็นคำที่เราพลิกแพลง สัจธรรมไม่ใช่คำยืน ก็เป็นตัวหนึ่งในความหมายนี้ สัจธรรม ก็อาจจะเป็นธรรมชาติก็ได้ เป็นธรรมดาก็ได้ ใช่ไหม แต่มันไม่แยกประเภทชัด สภาวธรรม ก็เป็นโดยมากจะหมายถึงธรรมชาติ แต่บางครั้งก็หมายถึง ธรรมดาด้วย แต่ถ้าแยกแบบธรรมชาติ ธรรมดา นี่มันชัดไปเลย ธรรมชาติ ก็คือ สิ่งทั้งหลาย ธรรมดาก็ คือ ความเป็นไป หรือความจริงของมัน ธรรมจริยา ก็คือ ข้อที่มนุษย์จะต้องทำเพื่อให้ได้ผลดีกับตัว โดยสอดคล้องกับความจริงของธรรมดา โดยสอดคล้องกับธรรมดาของธรรมชาติ แล้วก็ต่อไปก็ธรรมเทศนา ก็คือ คำสอนพระพุทธเจ้าที่ชี้บ่ง หรือเป็นสื่อ ไปสู่ธรรมชาติ ธรรมดา และธรรมจริยา
คำถาม: ..สภาวธรรมเป็น??? (ฟังไม่ชัด)
พระพรหมคุณาภรณ์: ธรรมดา ซิ ความเป็นไปของมันคือ ธรรมดา ธรรมชาติ คือ ตัวของสิ่งนั้น เช่นว่า พื้นกระดาน ไมโครโฟน เหล็ก หิน ดิน แก๊ส น้ำ อะไรอย่างนี้เรียกว่า ธรรมชาติ ใช่ไหม ธรรมดา ก็คือ ความเป็นไปของมัน หรือความจริงของมัน ใช่ไหม เหล็กนี่จะหลอมเมื่อโดนอุณหภูมิเท่านั้น ใช่ไหม หรือว่าไอ้เจ้าต้นไม้นี้ เกิดจากเมล็ดพืช หรือไม่งั้นต้องตอนเอา แล้วเมื่อมันจะโต มันจะงอก เจ้าเมล็ดพืชจะเกิดเป็นต้นไม้ต้องทำไง ก็ต้องมีดิน มีน้ำหรือความชื้น มีปุ๋ยโอชะ แล้วก็มีอุณหภูมิพอเหมาะ มีแก๊สอะไรต่างๆ เหล่านี้ ใช่ไหม ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยพรั่งพร้อม ไอ้เจ้าพืชเมล็ดนี้ก็จะงอกเป็นต้นไม้ แล้วมันเป็นต้นมะม่วง ก็งอกเป็นต้นมะม่วง อันนี้เรียกว่า ธรรมดา เข้าใจนะครับ คือ ความเป็นไป หรือ ความจริงของมัน ก็มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่กัน ก็อยู่แค่ 4 นี่แหละ นักวิทยาศาสตร์ค้นทั้งหมดก็อยู่แค่เนี้ย ใช่ไหม นักวิทยาศาสตร์ก็ค้นแค่ธรรมชาติ กะธรรมดา แต่ว่าแกไปเน้น ธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมดาของธรรมชาติด้านวัตถุ ธรรมดาด้านจิตไม่เอา คือ นักวิทยาศาสตร์แต่ก่อนนี้ก็มองว่าธรรมดาด้านจิตใจ ธรรมชาติด้านจิตใจไม่มีจริง เป็นเพียงผลพลอยได้จากเรื่องธรรมชาติด้านวัตถุ ฉะนั้นก็เลยถือว่าเรื่องจิตใจ อะไรต่างๆ ไม่ใช่ธรรมชาติ ก็เลยไม่ศึกษา ตอนนี้ก็พอมาถึงยุคนี้ยุคควันตั้มมาแล้ว นี่ก็ยุคนิวฟิสิกส์ อะไรเนี่ย ก็เลยนึกว่าไอ้เจ้าโลกวิทยาศาสตร์ด้านวัตถุมันมาชนกับด้านจิต ก็เลยมาหาความรู้ด้านจิตว่า เอ๊ะ มันอาจจะมีจริง ก็เลยต้องพัฒนาต่อไป ทางวิทยาศาสตร์มาเอาด้านจิตด้วย มันก็จะมาเจอกับพุทธศาสนา พุทธศาสนาเอาทั้งด้านรูปธรรม นามธรรม แล้วเอานิยาม 5
1 อุตุนิยาม
2 พีชนิยาม
3 จิตตนิยาม
4 กรรมนิยาม
5 ธรรมนิยาม
ท่านคงฟังมาแล้วใช่ไหม เอาล่ะไม่ต้องอธิบาย นี่แหละพุทธศาสนาก็จะพูดถึงนิยาม 5 แต่ทั้งหมดนั้นที่จริงมันอยู่ในธรรมนิยามเป็นพียงแยกย่อยออกมา