แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ผู้ที่ต้องการเรียนรู้ก็จะเข้ามาหาได้ มาหาเป็นแหล่งของการศึกษา แล้วพระที่มีความรู้ ได้เล่าเรียนรู้ เข้าถึงธรรมะมากขึ้น ก็จะออกจากที่นี่ซึ่งเป็นศูนย์กลาง ไปให้ความรู้แก่ประชาชน ให้การศึกษาแก่ประชาชนอีก ฉะนั้นก็เกิดขึ้นมาเป็นสังฆะ ซึ่งมีหลักแหล่ง เราก็เรียกว่าวัด ก็คือชุมชนแห่งการศึกษานั่นเอง เพราะฉะนั้นการวางวินัยในหมู่สงฆ์เนี่ย จะมีจุดหมายอันนี้ ก็คือการจัดระบบความเป็นอยู่ สร้างสภาพแวดล้อม ระบบการทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งหมดนี่ให้เป็นสภาพเอื้อต่อการที่บุคคลแต่ละคนที่เข้ามาอยู่ในชุมชนนี้จะได้มีโอกาสที่จะศึกษาเรียนรู้ พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น เข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น นี่คือวัตถุประสงค์ของวินัย ฉะนั้นการที่เราจัดสรรสภาพแวดล้อมให้เขาอยู่กันเรียบร้อยนี้ สภาพความเป็นอยู่ที่เรียบร้อยนี้ จะได้เป็นสภาพเอื้อกับการที่บุคคลแต่ละคนนั้นเขาจะได้มีโอกาสเรียนรู้ฝึกหัด ศึกษาพัฒนาตนเข้าสู่ความดีงามยิ่งขึ้นไป อันนี้คือประโยชน์ที่ต้องการในพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นในทัศนะของพุทธศาสนา เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้าผู้ตั้งสังฆะและบัญญัติวินัยขึ้นมา ก็เพื่อจัดสรรสภาพแวดล้อมนี้ให้ชุมชนคือสังฆะเนี่ย เป็นชุมชนที่เอื้อโอกาสต่อบุคคลที่เข้ามา และบุคคลแม้แต่มาภายนอก จะได้เรียนรู้พัฒนาตนขึ้นสู่ชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป หมายความว่าเราต้องการชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป ก็เกิดเป็นการปกครองขึ้นมา การปกครองก็เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าปกครองสงฆ์ ปกครองสงฆ์ต้องมีวินัยมีกฎหมาย เพื่ออะไร เพื่อจัดสรรระเบียบความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต สภาพแวดล้อม การทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เป็นระบบที่เกื้อกูลต่อจุดหมาย คือการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาชีวิตเข้าสู่ความดีงามสูงสุด ถ้าไม่มีอันนี้แล้ว ความมีระเบียบเรียบร้อยก็ไม่ได้มีความหมายอะไร มันไม่ได้เป็นประโยชน์ที่แท้จริงต่อชีวิตมนุษย์ ฉะนั้นในการปกครองต่อมา จะเห็นว่าพระแต่ละองค์ก็จะมีอุปัชฌาย์ พอจะบวช ก็จะมีอุปัชฌาย์ขึ้นมาบวช อุปัชฌาย์นี้แปลว่าผู้ดูแล ผู้ดูแลเราก็มองในแง่ผู้ปกครอง แต่ความหมายของพุทธศาสนา อุปัชฌาย์มีเพื่ออะไร เพราะว่าชีวิตของพระภิกษุ เมื่อสมัครเข้ามาบวช เข้าสู่ชุมชนนี้ ก็เป็นการที่ตกลงว่าจะเข้ามาฝึกฝนพัฒนา มาเรียนรู้ มาสิกขา เมื่อท่านเข้ามา เมื่ออยู่กันมากๆ ขึ้น ก็มีปัญหาว่าบุคคลนั้นเข้ามาแล้วอาจจะเกรงความเลื่อนลอย ไม่ได้รับการฝึกฝน ไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้รับการเรียนรู้เท่าที่ควร ก็ไม่ได้ประโยชน์จากสังฆะ ที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็บัญญัติให้มีอุปัชฌาย์ขึ้นมา อุปัชฌาย์นี่คืออะไร อุปัชฌาย์ ก็คือผู้เป็นตัวประกันแก่ที่ประชุมสงฆ์ที่จะบวช เวลาจะบวช ที่ประชุมสงฆ์ก็จะพิจารณาคุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาว่า เขาควรจะรับเข้าหมู่ไหม มีคุณสมบัติสมควรที่จะได้รับการศึกษาหรือไม่ ที่ประชุมก็เห็นว่ามีคุณสมบัติ แต่ว่าอยากจะให้มีคนที่รับผิดชอบช่วยดูแล ก็มีตัวบุคคลหนึ่งตั้งขึ้นมาเรียกว่าอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ก็มาเป็นผู้ประกันต่อสงฆ์ ให้ความมั่นใจแก่สงฆ์ในที่ประชุมว่า ท่านผู้นี้เมื่อบวชเข้าไปแล้วเนี่ยจะไม่เคว้งคว้าง ข้าพเจ้าจะเป็นผู้ดูแล ดูแลเพื่อที่ให้มั่นใจว่าเขาจะได้รับการศึกษา เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนาเกิดมีการปกครองขึ้นมาเป็นชั้นๆ ตั้งแต่พระพุทธเจ้ามาถึงพระแต่ละองค์คืออุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ปกครองเพื่ออะไร ก็เพื่อดูแลให้พระภิกษุที่เข้ามาใหม่ได้รับการศึกษาเท่านั้นเอง ฉะนั้นการปกครองในพุทธศาสนานั้นเป็นการปกครองเพื่อการศึกษา การปกครองไม่ได้เป็นจุดหมายในตัว การปกครองเป็นเพียงหนึ่งที่จะให้บรรลุจุดหมาย ก็คือเพื่อให้เกิดการศึกษา หรือเป็นหลักประกันของการศึกษา ในทางพุทธศาสนาเราอาจจะมีคติของเราว่า ตกลงว่าเรื่องการปกครองที่เกิดขึ้นมาเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งสิ้น อย่างแม้แต่มาในสังคมไทย ในยุคก่อนๆ นี้เราจะเห็นได้ชัด ว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองเป็นแบบอาจารย์กับศิษย์ เช่นเจ้าอาวาสนี่เราเรียกอาจารย์ อาจารย์ก็คือผู้ที่สอน แนะนำ เกี่ยวกับเรื่องของการให้ความรู้ เรียนรู้ต่างๆ เรายังเรียกติดมาแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ เรียกเจ้าอาวาสว่าเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้แทบไม่ได้ทำหน้าที่แล้ว เพราะว่าสังคมมันวิปลาสคลาดเคลื่อนไป ความจริงนั้นกลายเป็นว่าการศึกษานั่นแหละเป็นตัวการปกครองเลย ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์ อาจารย์สอนแล้วลูกศิษย์ก็เป็นผู้ที่ได้รับความรู้ ก็กลายเป็นผู้ปกครองกับลูกศิษย์ เป็นผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง เพราะฉะนั้น การปกครองในทางพุทธศาสนา เป็นการปกครองเพื่อการศึกษา แล้วในที่สุดก็กลายเป็นว่าการปกครองก็คือเรื่องของการศึกษา แล้วปกครองด้วยการศึกษา เพราะว่าอาจารย์ปกครองลูกศิษย์ ก็ปกครองด้วยการศึกษา เช่นมีความสัมพันธ์กันระหว่างครูกับศิษย์ ว่าอะไรก็ต้องเชื่อ ถ้าไม่ปกครองในระบบการศึกษาอย่างนี้ ก็ปกครองด้วยอำนาจ เมื่อปกครองด้วยอำนาจก็เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งกัน เช่นในการปกครองของปัจจุบันนี้ เมื่อระบบการศึกษาเสื่อมโทรมลง เราก็ต้องเน้นการปกครองด้วยอำนาจ เจ้าอาวาสมีอำนาจ เป็นผู้ปกครอง วางกฎเกณฑ์ข้อบังคับ พระลูกวัดอยู่ใต้ปกครองต้องทำตาม แต่ผู้ใต้ปกครองมองว่าผู้ปกครองคือผู้มาคอยบังคับเรา มาคอยขีดกั้นจากสิ่งที่เราต้องการจะทำ เพราะฉะนั้นมีความรู้สึกแบบเป็นปฏิปักษ์ เพราะฉะนั้นการปกครองแบบใช้อำนาจ ก็เกิดปัญหาขึ้นมา เกิดความขัดแย้งตั้งแต่ในจิตใจเป็นต้นไป ก็ต้องใช้อำนาจ ต้องใช้อาญา ต้องใช้การลงโทษ การปกครองเหล่านี้จะเน้นการลงโทษยิ่งขึ้นตามลำดับ ไม่ใช่การปกครองแบบพยายามสร้างคนดี แต่เป็นการปกครองพยายามกำจัดคนเลย ทีนี้การปกครองในสังคมที่เป็นแบบนี้ จะเป็นเหมือนสังคมของพระเหมือนกันที่ว่าเมื่อหลักการที่แท้มันเลือนหายไปแล้ว มันก็จะวิปลาสไปหมด ฉะนั้นการปกครองในสมัยนี้ของพระสงฆ์ เราจะเห็นว่าไม่ค่อยได้ผล เพราะว่าการปกครองด้วยอำนาจ พระลูกวัดจะมีความรู้สึกต่อ
เจ้าอาวาสแบบเป็นปฏิปักษ์ เป็นผู้อย่างน้อยขัดขวางผลประโยชน์ที่ต้องการ แล้วใจก็ไม่เอา แล้วความสัมพันธ์ที่ดีก็ไม่มี ฉะนั้นก็จะมีความรู้สึกในทางที่จะละเมิดอยู่เสมอ ทีนี้ถ้าเป็นในระบบที่ถูกต้อง การศึกษานี้คือเนื้อหาสาระของชีวิต ของความเป็นพระภิกษุ ฉะนั้นการปกครองก็คือการจัดระบบสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการศึกษาแค่นั้นเอง ฉะนั้นครูอาจารย์ก็มาปกครองลูกศิษย์ ก็เลยเป็นการปกครองด้วยการศึกษา แล้วปกครองเพื่อการศึกษา เพราะฉะนั้นในการปกครอง เราอาจจะเรียนศัพท์ประชาธิปไตยบอกว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่การปกครองในพุทธศาสนาเป็นการปกครองที่เป็นเรื่องของการศึกษาด้วยการศึกษา และเพื่อการศึกษา อันนี้หลักการนี้ชัดเจนมาก การที่เราจัดสภาพแวดล้อมระบบการปกครองด้วยวินัยที่มีกฎหมายแบบแผนต่างๆ เนี่ย ก็เป็นอันว่าหนึ่ง-ให้เอื้อต่อชีวิตบุคคล ที่เขาจะได้พัฒนาตัวเรียนรู้ด้วยการศึกษาเพิ่มขึ้น แล้วก็พร้อมกันนั้นก็จัดสรรสภาพแวดล้อมทางสังคม ระบบกิจการของสังคมนี้ให้เอื้อ ก็เลยได้ทั้งวินัยที่เป็นเครื่องฝึกตัวคนนั้นด้วย เมื่อตัวคนนั้นเอามาประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นเครื่องฝึกตัวเขา ในการที่เขาจะได้เรียนรู้พัฒนาตัวเองพัฒนาชีวิตของตนเอง แล้วก็มีความหมายในทางสังคมว่า เสริมสร้างสภาพเอื้อต่อการฝึกของสังคมนั้น ได้ความหมายสองอย่าง ฉะนั้นวินัยในพุทธศาสนาบางครั้งจึงแปลว่าการฝึก เพราะว่าวินัย กฎหมายเป็นเครื่องฝึกมนุษย์ ความหมายในพุทธศาสนา ถ้าเราไม่มองเป็นเครื่องฝึก ก็ต้องพูดกันว่า แล้วคนจะมองกฎหมายและวินัยในความหมายอย่างไร แต่อีกอันหนึ่งที่จะมองก็คือ มองเป็นเครื่องบังคับ ถ้าคนพลเมืองมองกฎหมายเป็นเครื่องบังคับเท่าไหร่ อันนั้นเรียกว่าฐานเสีย เพราะว่ามันจะโน้มไปสู่การที่จะคิดละเมิดกันอยู่เสมอ ทีนี้ในพุทธศาสนานั้น ฐานเบื้องแรกคือการเริ่มจากจุดว่าวินัยเป็นเครื่องฝึกมนุษย์ เพราะว่าการที่เข้ามาอยู่ร่วมชุมชนนี้คือการที่ท่านจะได้ระเบียบการ ระบบการทุกอย่างเพื่อจะได้เข้าสู่ถึงชีวิตที่ดีงามมากขึ้น ฉะนั้นวินัยก็เป็นเครื่องฝึกตัวเอง แล้วก็ได้สภาพแวดล้อมที่มาอยู่ร่วมกันที่เอื้อต่อการฝึกของเขาด้วย อันนี้ก็มองมนุษย์ในฐานะสัตว์ผู้ต้องศึกษา อย่างที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นวินัยเวลาออกมาเป็นข้อๆ วินัยนี่เป็นชื่อรวมใ อาจจะเรียกว่าประมวลกฎหมาย วินัยไม่ใช้กับข้อบัญญัติแต่ละข้อ ข้อบัญญัติแต่ละข้อไม่มีการเรียกว่าวินัย บางทีอาจจะสับสน วินัยเป็นศัพท์เอกพจน์ ไม่มีการใช้เป็นพหูพจน์ วินัยก็คือระบบทั้งหมดซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งหมดต้องประสานเป็นอันเดียวกัน บนฐานของธรรมะ ความจริงของกฎธรรมชาติ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ทีนี้ระบบนี้แยกย่อยออกไปเป็นข้อๆ แต่ละข้ออย่างที่เราเรียกว่าเป็นข้อบังคับ เป็นมาตราในกฎหมายเนี่ย ในพุทธศาสนาเรียกอะไร เมื่อออกมาเป็นบัญญัติแต่ละข้อ เขาเรียกชัดเลยว่าสิกขาบท วินัยของพระพุทธเจ้าเมื่อแยกออกมา ในแต่ละข้อเรียกว่า
สิกขาบท คำว่า สิกขาบท นั้น บอกทัศนะของพุทธศาสนาในเรื่องนิติศาสตร์ชัดเจน สิกขาบท คือ สิกขา + บท บทก็คือข้อ สิกขา คือศึกษา สิกขาบทจึงแปลว่าข้อศึกษา เพราะฉะนั้นกฎแต่ละข้อที่ออกมานี้เป็นข้อศึกษาทั้งนั้น ถ้าพระเรียนรู้พุทธศาสนาถูกต้อง พระจะต้องมองกฎข้อบังคับในความหมายที่เป็นข้อฝึกตน เป็นข้อศึกษา สิกขาบท ถ้าพูดภาษาปัจจุบันก็คือแบบฝึกหัด ทุกอย่างเป็นสิกขาบท ข้อฝึกตนทั้งสิ้น แม้แต่จะออกมาให้คฤหัสถ์ปฏิบัติ ที่เราเรียกว่าศีล ก็เรียกกันผิดๆ ไปอย่างนั้นเอง ความจริงคำว่าศีลนั่น เวลาโยมขอว่าปัญจะ สีลานิ ยาจามะ แต่เวลาพระให้บอก อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ ใช่ไหม เจริญพร นี่ฟ้องอยู่ชัดๆ คำว่าศีลเป็นคำชาวบ้านเรียก แต่พระเรียกสิกขาบท โยมขอศีล พระให้สิกขาบท แต่ละข้อสิกขาบททั้งนั้น ปาณาติปาตา สิกขา ปะทัง สะมาทิยามิ เราขอรับข้อฝึกข้อศึกษาที่จะเว้นจากการทำลายชีวิตกัน
อทินนาทานา เวรมณี สิกขาปะทัง ข้าพเจ้าขอรับเอาข้อฝึกตนหรือข้อศึกษาที่จะงดเว้นจากการถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ละเมิดกรรมสิทธิ์ ทุกอย่างเป็นสิกขาบทหมด หมายความว่าพุทธศาสนามองไม่เฉพาะพระนะ เพราะมองชีวิตมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา เพราะฉะนั้นมนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามได้ก็ต้องฝึก ต้องศึกษาศีลห้าข้อนี้ เป็นข้อให้มาฝึก เพื่อชีวิตจะได้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่ข้อบังคับ ตกลงว่าวินัยนั้นแยกย่อยออกไปเป็นข้อๆ เรียกว่าสิกขาบท ฉะนั้นคือข้อบ่งชัดว่าเรามองสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องการศึกษาทั้งสิ้น สิกขาบท และเมื่อไรเรามีคุณสมบัติที่ปฏิบัติตามสิกขาบท อยู่ในวินัยได้ จึงเป็นผู้มีศีล ศีลคือคุณสมบัติของคนที่ปฏิบัติตามกฎหมาย จนเกิดเป็นคุณสมบัติของเขา เราเรียกว่าศีล ในภาษาไทยตอนนี้สับสนมากวินัยกับศีลแยกกันไม่ออก วินัยเป็นระเบียบกฎเกณฑ์ กติกา ระบบการจัดตั้ง อยู่ภายนอก คนปฏิบัติตามมัน ท่านเรียกว่าตั้งอยู่ในวินัย เมื่อคนตั้งอยู่ในวินัย ก็คือผู้มีศีล ศีลก็คือคุณสมบัติของคน มันเป็นตัวฝึกที่อยู่ในคน แล้วจะมีวิธีฝึกคนอีกมากมาย แต่ในที่นี่กำลังพูดกัยเฉพาะตัวกฎหมายเท่านั้น ก็ขอพูดทิ้งไว้ในหลักการพุทธศาสนาเบื้องต้นให้เห็นว่าการมองเรื่องของกฎหมายในพุทธศาสนามองอย่างไร มองกฎหมายคือวินัย วินัยนั้นเป็นระบบกิจการของสังคมมนุษย์ที่ต้องจัดตั้งขึ้นมาด้วยปรีชาญาณด้วยเข้าถึงกฎความจริงของธรรมชาติ และเพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากตัวธรรมะคือ ความจริงของกฎธรรมชาตินั้น แล้ววินัยนี้จึงต้องตั้งอยู่บนฐานเข้าใจในความจริงนั้น แล้วเพราะมนุษย์จะเข้าถึงความงามความดีนี้ได้ มนุษย์ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกตน เพราะฉะนั้นวินัยจึงเป็นเครื่องฝึกมนุษย์ ถ้ามองอยางนี้แล้ว มนุษย์ก็จะมองเห็นความหมายทางวินัย ซึ่งเดี๋ยวอาจจะสรุปกันอีกทีหนึ่ง แต่ตอนนี้เมื่อพระพุทธเจ้าจะบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อที่มาเป็นวินัยนี่ พระองค์ก็จะบอกวัตถุประสงค์ทุกครั้งว่า ที่บัญญัติสิกขาบท ถือข้อบังคับหรือกฎแต่ละข้อนี้เพื่ออะไร ซึ่งจะมีวัตถุประสงค์สิบประการด้วยกันในการบัญญัติสิกขาบท 10ประการนี้ ย่อได้อีกเป็น 5 หมวด 5 หมวด นี้จะพูดภาษาง่ายๆ ก็คือ
ก.- เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์และส่วนรวม สงฆ์ก็คือส่วนรวม
ข.- เพื่อประโยชน์แก่ตัวบุคคล
ค. เพื่อประโยชน์ต่อตัวชีวิตของมนุษย์ คือผลดีผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ หรือความดีความชั่วเป็นต้น
ง.เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน เมื่อกี้นี้วินัยเป็นเรื่องของพระสงฆ์ เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่หนึ่งแก่สงฆ์ส่วนรวมของพระนั่นเอง
ง.ได้แก่ประชาชนข้างนอกที่เป็นประชาชนทั่วไปในสังคมใหญ่
จ.สุดท้ายเพื่อประโยชน์แก่ตัวพระศาสนา
ทีนี้ก็แยกไปในแต่ละหมวด 5 หมวดนี้ก็แยกไปเป็นหมวดละ 2
ประโยชน์แก่สงฆ์และส่วนรวม ท่านบอกว่า
หนึ่ง- สังฆะ สุ-ตะ-สุ-กา-ยะ เพื่อการยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์ อันนี้พระแปลกันว่าอย่างนี้ ก็อธิบายหมายความว่าเพื่อความดีงามของสงฆ์ คือส่วนรวม คือจะเรียกว่าสถาบันสงฆ์ทั้งหมดก็ได้ จะใช้ภาษาปัจจุบัน เพื่อความดีงามของสถาบันสงฆ์ทั้งหมด ที่จะมีความเรียบร้อยอยู่กันได้ดี โดยการตั้งวินัยขึ้นมาบนฐานแห่งการยอมรับร่วมกันด้วย ที่ว่ายอมรับว่าดีแห่งสงฆ์ หมายความว่าพระพุทธเจ้านี่ไม่ใช่บังคับขืนใจเอานะ เวลาบัญญัติสิกขาบทต้องให้สงฆ์ยอมนับและเพื่อผลดีร่วมกัน และก็ยอมรับร่วมกัน คือทั้งด้วยผลดีร่วมกัน และยอมรับร่วมกัน
สอง-สังฆะ ผา-สุ-ตา-ยะ เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ ก็ไม่ใช่เฉพาะอยู่เรียบร้อยดี แล้วอยู่สบายด้วย
แล้วต่อไปก็แยกเป็นเพื่อแต่ละบุคคล ก็ว่าเพื่อจะกำราบคนหน้าด้าน ภาษาพระท่านเรียกว่า ทุมมังกุ แปลว่าผู้เก้อยาก บอกว่าเพื่อการอยู่ผาสุกของภิกษุที่มีศีลเป็นที่รัก เพื่อช่วยอุดหนุนคนที่ประพฤติดี กำราบคนที่ประพฤติชั่ว
แล้วต่อไปเพื่อสร้างชีวิตเอื้อต่อสิ่งที่ดีงาม ทีนี้ก็บอกว่าเพื่อปิดกั้นผลเสียหายที่จะเกิดในปัจจุบัน แล้วป้องกันผลเสียหาย โทษที่จะเกิดในอนาคต
แล้วต่อไปก็เป็นหมวดเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ก็เพื่อจิตใจที่ดีงาม เพื่อจิตใจผ่องใสของประชาชนที่ยังไม่ได้มีความเลื่อมใส แล้วก็เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของประชาชนที่เลื่อมใสแล้ว อันนี้เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนเอง เพราะว่าความสัมพันธ์ของพระศาสนาหรือพระกับประชาชน เบื้องต้นอยู่ที่ทำให้เขามีจิตใจที่สบาย จิตใจที่ผ่องใส มีความสุข จิตใจเป็นกุศล อันนี้เป็นจุดเริ่มต้น
ต่อไปก็เป็นเพื่อประโยชน์ของพระศาสนา เพื่อให้สัจธรรมดำรงอยู่ได้มั่นคงยั่งยืน ท่านบอกว่าเพื่ออนุเคราะห์วินัยก็คือ ทำให้ตัวระเบียบแบบแผน ระบบการปกครองนี้เอง มันมั่นคงเป็นไปตามวัตถุประสงค์สืบไป อันนี้แต่ละครั้งที่พระพุทธเจ้าจะบัญญัติสิกขาบท คือกฎข้อบังคับ พระองค์จะแถลงวัตถุประสงค์เหล่านี้ทุกครั้ง เพราะฉะนั้ตอนนี้ก็เลยถือโอกาสเล่าวิธีบัญญัติวินัยของพระพุทธเจ้า จริงๆ ไม่ใช่บัญญัติวินัย บัญญัติสิกขาบท คือวินัยนั้นเป็นรวมทั้งหมด ว่ายังไง อาตมาขอโอกาสเล่านิดหนึ่ง วิวัฒนาการในสังฆะเอง เมื่อสงฆ์คือสถาบันสงฆ์ทั้งหมดนี่ยังเล็กอยู่ พระพุทธเจ้าตั้งใหม่ ๆ บุคคลที่เข้ามาตอนแรกรู้ชัดในวัตถุประสงค์ชีวิต และการอยู่ร่วมในสังคมนี้ ว่าเราเข้ามาเพื่อพัฒนาชีวิต เรียนรู้ฝึกหัดตน ในไตรสิกขา เพื่อเข้าถึงชีวิตที่ดีงามที่ประเสริฐ เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์จะประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึก หาประเสริฐไม่ ในบรรดามนุษย์ทั้งหลายและเทพเจ้าเทวดานั้น ผู้ที่ฝึกแล้วหรือศึกาแล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุด คติพุทธศาสนาถืออย่างนี้ เพื่อเราจะมีชีวิตที่ประเสริฐ เราก็ต้องเข้ามาเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตัว หลักการพุทธศาสนามียังไง ผู้เข้ามานี้ชัดเจนแล้ว เพราะฉะนั้นตอนแรกยังไม่มีกฎข้อบังคับ ฉะนั้นสังฆะในระยะแรกมีโดยไม่มีพวกตัวระเบียบข้อบังคับ วินัยมีโดยหลักการเลย เป็นไปเอง วินัยมีแล้ว ทั้งที่ไม่ลาสิกขาบท อันนี้ให้ตั้งข้อสังเกต คำว่าวินัยไม่จำเป็นต้องมีสิกขาบท สิกขาบทนั้นเป็นข้อบัญญัติ ตอนแรกมีวินัยโดยไม่ต้องมีสิกขาบท พระก็อยู่กันได้ด้วยดีโดยถือหลักการ พอถึง 15 วัน พระพุทธเจ้าก็เข้าที่ประชุมทีหนึ่ง แถลงหลักการของพระพุทธศาสนา ทวนกันทุกครั้ง 15 วัน ทบทวนกันครั้งหนึ่ง ว่าหลักการพุทธศาสนา อุดมการณ์เป็นอย่างนี้ หลักการเป็นอย่างนี้ ปฏิบัติโดยหลักการใหญ่เป็นอย่างนี้ มาตราวจกันว่า ไม่ทำชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส หรือนิพพานเป็นบรมธรรม อย่างนี้เป็นต้น หรือลักษณะบรรพชิตในพุทธศาสนา คือผู้ไม่ทำร้ายใคร ไม่เบียดเบียนใคร อะไรอย่างนี้เป็นต้น อันนี้หลักการเหล่านี้ทบทวน พระพุทธเจ้าจะแถลง 15 วันครั้งหนึ่ง โดยไม่มีข้อบังคับแต่ละข้อ ก็เป็นอันว่าพระสงฆ์ช่วงแรกนี่ อยู่กันด้วยหลักการ ด้วยความเข้าใจเลย ต่อมาตามอรรถกถาเล่านะ นี่อรรถกถาไม่ใช่พระไตรปิฎก บอกว่า 20 ปีผ่านไปจึงได้มีการบัญญัติสิกขาบท เรื่องที่จะบัญญัติก็มีว่าครั้งหนึ่ง ไม่ใช่ๆ จะเล่าต่อ อันนี้ไม่ใช่ตัวเหตุที่บัญญัติ แต่ว่าหลักการของพระพุทธเจ้าในการบัญญัติสิกขาบทเป็นอย่างไร หรือว่าเรื่องกฎหมายเป็นอย่างไร ครั้งหนึ่งพระสารีบุตรซึ่งเป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ศาสนาของพระพุทธเจ้าในอดีต ที่พูดถึงในขณะนั้น 5 องค์ คือพระพุทธศาสนาบอกว่าใครค้นพบสัจธรรมแล้วมาเปิดเผยชี้แจงอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจก็เป็นพุทธะทั้งนั้น ทีนี้ในอดีตพระพุทธเจ้าที่ออกพระนามในที่นี้มี 5 พระองค์ พระสารีบุตรก็ถามว่าเป็นศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ไหนมั่นคงยั่งยืน องค์ไหนไม่มั่นคงยั่งยืน พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบมาว่า ศาสนาของพระวิปัสสี สิขี เวสสภู ตั้งอยู่ไม่นาน ไม่มั่นคงยั่งยืน แต่ศาสนาของพระกกุสันโธ ??? ตั้งอยู่มั่นคงยั่งยืนนาน พระสารีบุตรก็ทูลถามต่อไปว่า เพราะเหตุใดของ 3 พระองค์แรกจึงไม่มั่นคงยั่งยืน และของ 2 องค์จึงยั่งยืน พระพุทธเจ้าก็ตรัสเฉลยบอกว่าเพราะว่าพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ที่ออกนามต้นนั้น ไม่ค่อยจะได้ทรงสั่งสอน เอาพระทัยใส่ในการสั่งสอนมาก แล้วก็มีคำสอนที่เป็นหลักการต่างๆ น้อย ไม่ได้บัญญัติสิกขาบทไว้ แล้วไม่ได้ประชุม ไม่ได้มีกฎหมายแม่บทว่าท่านเรียกว่า ปาฏิโมกข์ ไม่ได้จัดทำไว้ แต่ของพระพุทธเจ้าที่ออกนามข้างหลังเนี่ย เป็นไปตามหลักการที่ว่านี้ มีคำสั่งสอนก็เยอะ และวางบัญญัติกฎหมายไว้เสร็จเรียบร้อยหมด แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงเปรียบเทียบบอกว่าพระภิกษุทั้งหลายมาจากชาติตระกูลต่างๆ ภูมิหลังต่างๆ กัน เหมือนกับดอกไม่นานาพันธุ์ที่เราเอาวางบนพื้นกระดาน ถ้าไม่ได้ร้อยด้วยเส้นด้าย ลมมา พัดกระจุยกระจายหมด แต่ถ้าหากว่าเอาด้ายร้อยไว้ ก็จะคุมกันอยู่ แม้ลมพัดมาก็ไม่กระจุยกระจาย ว่าอย่างนั้น ทีนี้พระสารีบุตรจึงได้อาราธนาบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเพื่อจะให้พระศาสนาของพระองค์นี้มั่นคงยั่งยืนต่อไป ก็ขอให้พระองค์ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทสิ สำหรับพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ทรงสอนเยอะแล้ว หลักคำสอนเยอะแต่ว่ายังไม่ได้บัญญัติสิกขาบทนี่ กฎหมายยังไม่มี พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าไง พระพุทธเจ้าบอกยังไม่ถึงเวลา พระพุทธเจ้าจะรู้ดีว่าเมื่อไหร่ถึงเวลา เหตุจะเกิดขึ้น ข้อเสียหายเกิดขึ้นจงจะบัญญัติ ว่างั้น แล้วเหตุเสียหายต่างๆ นั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อสังฆะนี้ หนึ่ง-ตั้งมาได้เป็นเวลายาวนานพอสมควร สอง-ขยายตัวใหญ่โตขึ้น สาม-มีผลประโยชน์เกิดขึ้น ว่างั้น เมื่อนั้นแหละจะเกิดปัญหาเกิดข้อเสียหายขึ้นมา แล้วจะบัญญัติสิกขาบท อันนี้ก็เป็นแนวทัศนะพระพุทธศาสนานี่เกี่ยวกับนิติศาสตร์เหมือนกัน เจริญพร เรื่องผลประโยชน์เรื่องใหญ่พระพุทธเจ้ายอมรับ เจริญพร นี่แหละเรื่องของมนุษย์ แม้แต่ในพระสูตรที่ตรัสถึงการปกครองของมนุษย์เหมือนกัน การปกครองแต่ก่อนเดิมมนุษย์ยังไม่มีการปกครอง สังคมต่อมาก็มีจำนวนมากขึ้น ผู้คน แล้วก็มีผลประโยชน์ มีการต้องแบ่งจัดสรรที่ดิน มีการตั้งผู้ปกครองขึ้นมา ในพุทธศาสนาก็เล่าถึงประวัติการเกิดผู้ปกครอง ระบบการปกครองเหมือนกัน แต่ว่าตอนนี้เราจะพูดกันในเรื่องกฎหมาย ทีนี้ต่อมาก็มีเหตุร้าย มีเหตุที่ประชาชนติเตียนอะไรต่างๆ เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าก็เริ่มบัญญัติสิกขาบท ทีนี้ในการบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อ หรือแต่ละมาตรานี้ พระพุทธเจ้าทำยังไง ก็จะมีลำดับทำนองนี้ หนึ่ง-มีพระภิกษุทำอะไรเสียหายเกิดขึ้น สอง-ประชาชนหรือแม้แต่พระสงฆ์กล่าวติเตียน ว่าเป็นสิ่งเสียหาย ไม่ดีไม่งาม แล้วเรื่องมาถึงพระพุทธเจ้า พระสงฆ์เองจะถือเป็นหน้าที่ พอได้ยินประชาชนโจษขาน พระองค์นี้ทำอย่างนี้ประพฤติอย่างนี้ไม่เหมาะ ก็โจษขานกัน ก็จะมีพระนำมากราบทูลพระพุทธเจ้า พอกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทำยังไง ก็ประชุมสงฆ์ ให้พระมาประชุมกัน มาประชุมกันแล้วก็เรียกตัวบุคคลที่ทำความผิดเสียหายนั้นมาซักถามในที่ประชุม ยอมรับว่าเป็นความจริง เมื่อยอมรับว่าเป็นความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าก็จะชี้แจงโทษความเสียหาย ว่าสิ่งนี้ไม่ดี ไม่ถูกต้องอย่างไร ขัดต่อหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างไร ที่ท่านเข้ามาบวชนี้หลักการเพื่ออะไร จุดหมายเพื่ออย่างนี้ ท่านทำอย่างนี้มันไม่ถูกต้องตามหลักการนี้ ไม่เป็นไปเพื่อบรรลุจุดหมายนี้ เมื่อไม่ถูกต้อง ชี้แจงเสร็จแล้ว ต่อไปก็บอกวัตถุประสงค์ในการบัญญัติวินัย 10 ข้อ ท่านบัญญัติสิกขาบทว่าต่อไปนี้จะประกาศสิกขาบทเพื่อประโยชน์ต่อไปนี้ 1,2,3,4,5,6,7,8,9,10 แล้วจากนั้นก็บัญญัติตัวสิกขาบทว่า ต่อไปนี้ขอให้สงฆ์จำเป็นหลัก กำหนดไว้เป็นหลักว่าเป็นสิกขาบท ว่าดังนี้ อันนี้ก็เกิดเป็นข้อบัญญัติที่เรียกว่าสิกขาบทขึ้นมา ทีละข้อๆ สิกขาบทแต่ละข้อนั้นก็จะมีบัญญัติตัวเดิม แล้วต่อมาอาจจะไม่เหมาะสม ก็ต้องปรับ พระพุทธเจ้าก็จะมาแก้ไขเพิ่มเติม ก็เรียกประชุมสงฆ์อีก พอเรียกประชุมสงฆ์ก็มาตรัสชี้แจงเหตุที่เกิดขึ้น แล้วก็ปรับแก้สิกขาบทนั้น ตัวบัญญัติครั้งแรกท่านเรียกว่า
มูลบัญญัติ บัญญัติเดิม แล้วข้อแก้ไขเพิ่มเติมเรียกว่า อนุบัญญัติ สิกขาบทแต่ละสิกขาบทก็จะมีมูลบัญญัติกับอนุบัญญัติ อนุบัญญัติอาจจะมีหลายครั้งด้วย ยกตัวอย่างเช่นครั้งหนึ่งพระภิกษุเดินทางไปกับภิกษุณี ตอนนั้นมีภิกษุณี ประชาชนติเตียนว่าพระนี่มาเดินทางกับภิกษุณี สงสัยว่าจะเป็นสามีภรรยากัน อะไรต่างๆ โจษขานกันไป ติเตียนเสียหาย พระพุทธเจ้าก็เรียกประชุมสงฆ์ แล้วก็ดำเนินการตามแบบแผนที่ว่า แล้วก็บัญญัติสิกขาบทว่าไม่ให้พระภิกษุเดินทางตัวต่อตัวกับภิกษุณี ต่อมาปรากฏว่ามีการเดินทาง ภิกษุไม่ยอมเดินทางร่วมแล้ว เพราะมีสิกขาบทห้ามไว้ พอแยกกัน ภิกษุณีเดินทางบ้าง ถูกประทุษร้าย โจรทำร้าย เกิดปัญหา เรื่องมาถึงพระพุทธเจ้า ก็ประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบทว่าไม่ให้เดินทางร่วมกัน เว้นแต่สมัย ก็หมายความว่าเมื่อมีเหตุที่สมควรคือ หนึ่ง-เดินทางไปกับกองคาราวาน สอง-มีภัยอันตราย ทางนั้นมีทางอันตรายให้เดินทางร่วมกันได้ เป็นต้น อันหลังนี่เรียกว่าอนุบัญญัติ อย่างนี้เป็นต้น นี่อาตมาก็เอามาให้เห็นบัญญัติสิกขาบทในพุทธศาสนาที่พระสงฆ์ถือปฏิบัติกันมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ แล้วก็ขอย้ำในตอนนี้ว่า วินัยที่เราเรียกว่ากฎหมายนั้น ยังไม่ถือความเรียบร้อย ถือความสงบเรียบร้อยเป็นจุดหมาย แต่ว่าเป็นการสร้างสภาพเอื้อ แม้แต่ความสงบเรียบร้อยนั้นเอง เป็นสภาพเอื้อต่อบุคคลจะได้มีโอกาสพัฒนาตัวเอง สู่จุดหมายที่ดีงามแห่งชีวิตยิ่งขึ้นไป ก็คือเป็นการสร้างสภาพเอื้อต่อการศึกษานั้นเอง เพราะฉะนั้นเราจะพูดว่า การที่มีกฎหมาย มีวินัยนี้ เพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการที่คนเขาจะพัฒนาตน จะได้พัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี เพราะว่าเราถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา ไม่ใช่เขามีชีวิตที่ดีได้เลยทันที การสร้างกฎเกณฑ์กติกาสังคมนี้ เราว่า หนึ่ง-สร้างสภาพที่อยู่กันเรียบร้อยเป็นอันดีนี่อันดับที่หนึ่ง แต่สอง-สภาพที่เรียบร้อยสงบนั้น เอื้อต่อการที่จะเข้าถึวชีวิตดีงามยิ่งขึ้นไป อันนี้คืออย่างไร ก็คือการสร้างสภาพเอื้อต่อการที่บุคคลจะได้พัฒนาความสามารถจะมีชีวิตที่ดี ให้เขาพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี กฎหมายไม่ได้สร้างสภาพเอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีเท่านั้น แต่สร้างสภาพเอื้อต่อการที่เขาจะพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี ถ้ามองในแง่พุทธศาสนาแล้วอันนี้สำคัญกว่า เป็นสภาพเอื้อต่อการที่บุคคลจะได้พัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีงาม เพราะเราถือว่ามนุษย์ยังเป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้ ต้องฝึก ยังไม่จบ ชีวิตที่ดีงามมีต่อไป แต่อย่างว่า เราคิดว่าศีลห้านี่ดีแล้ว เป็นหลักศีลธรรม ถ้าประพฤติตามศีลห้าหมด สังคมก็เรียบร้อย แต่ทำไงจะให้คนประพฤติตาม ก็ต้องวางกฎหมาย รัฐก็เอาใจใส่ แล้ววางกฎเกณฑ์กติกาข้อบัญญัติขึ้นมา เพื่อจะให้ศีลธรรมนี้ได้ผล กฎหมายก็สอดคล้องกับระบบศีลธรรม แต่ที่จริงลึกลงไปนั้นมันไม่ใช่แค่นั้น การที่จะให้มีศีลห้า ศีลห้าก็เป็นเพียงข้อฝึกคนเท่านั้นเอง บอกว่าศีลห้าแต่ละข้อเป็นสิกขาบททั้งนั้น เป็นข้อฝึกคน เพราะฉะนั้นเราจะต้องมุ่งในการที่ว่าทำยังไงจะให้คนเนี่ยมีโอกาสพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีต่างหาก เราต้องการอันนี้ แล้วถ้ามองในแง่นี้แล้วก็เลยถือว่าการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษา หรือการพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีเนี่ย เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง การจัดระบบกิจการอะไรต่างๆ ของสังคม จะรวมจุดหมายมาอยู่ที่นี่ แต่สังคมจะต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องมีจุดหมายในใจ ถ้าไม่มีก็เป็นจุดหมายที่ไม่รู้ตัว ซึ่งอาจจะเป็นจุดหมายที่ไม่เคยนึกขึ้นมาเลย ไม่เคยเอามาตรวจสอบ และกลายเป็นจุดหมายที่ผิดพลาดก็ได้ ทุกคนมีจุดหมายมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อยู่ในใจทั้งสิ้น แม้ไม่ได้พูดออกมา แล้วไม่ชัดกับตนเอง แต่เวลาทำการตัดสินใจทุกครั้ง จะต้องมีเจ้านี่อยู่เบื้องหลัง ทีนี้เจ้านี่ไม่ได้รับการพัฒนาแล้วไม่เคยเอามาตรวจสอบ อาจจะพลาดก็ได้ ฉะนั้นดีไม่ดีเนี่ยจะสร้างผลร้ายแก่สังคมโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้นเป็นอันว่าเมื่อเราสร้างสภาพเอื้อแบบนี้ ก็สร้างชุมชน ชุมชนที่จะสร้างสภาพเอื้อต่อการศึกษาเรียนรู้ของคนคืออย่างไร ถ้าใช้ศัพท์พระก็คือ ชุมชนแห่งกัลยาณมิตร หมายความว่าคนที่มาอยู่ร่วมกันนี่ เริ่มตั้งแต่ตัวพระศาสดาผู้นำ ก็เป็นกัลยาณมิตรจะมาช่วยให้คนอื่นพัฒนาตัวได้ดี ได้มีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป พระองค์อื่นที่มาอยู่ร่วมกัน ก็จะมาช่วยกัน มาเอื้อต่อกัน เกื้อหนุนกันในการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาตัวเอง เข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นทั้งนั้นเลย ฉะนั้นเราก็สร้างชุมชนแห่งกัลยาณมิตร ด้วยการสร้างสิกขาบทเหล่านี้ สิกขาบทจะชัดเป็นข้อฝึกคน แต่พร้อมกันนั้นมันสร้างชุมชนแห่งกัลยาณมิตร ให้คนที่จะมาอยู่เนี่ย มาเป็นตัวเอื้อต่อกันในการเข้าถึงชีวิตที่ดีงาม ก็คือเพื่อการศึกษานั่นเอง ฉะนั้นสังฆะคือชุมชนนี้ มีประโยชน์เพื่อชีวิตแต่ละคนได้ประโยชน์จากสังฆะ เมื่อแต่ละคนได้ประโยชน์จากสังฆะนี้ บุคคลก็ต้องเป็นส่วนประกอบ หรือส่วนร่วมที่จะช่วยเกื้อต่อสังฆะเช่นเดียวกัน เป็นการเอื้อต่อกันระหว่างสังคมกับบุคคล ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่สังคมเพื่อบุคคล หรือบุคคงเพื่อสังคม แต่ว่าเราสร้างสังคม สังคมสร้างขึ้นมาเพื่อสภาพเอื้อต่อการที่บุคคลนั้นจะได้พัฒนาตัวได้ดี เข้าถึงชีวิตที่ดีงาม แล้วสังฆะนั้นจะอยู่ได้ดี แต่เราทุกคนจะต้องเป็นส่วนร่วมที่ดี เพราะฉะนั้นมันก็มีหลักการที่ว่าแต่ละคนนี้จะต้องมีความสัมพันธ์กับสังฆะส่วนรวมอย่างไร ฉะนั้นก็จะมีหลักการขึ้นมาอันหนึ่งในแง่เกี่ยวกับวินัยเลยว่าพระจะต้อถือสังฆะเป็นใหญ่ คือถือส่วนรวมเป็นใหญ่ อันนี้พระพุทธเจ้าจะตรัสเองเลย บอกว่า เราถือธรรมเป็นใหญ่ ธรรมก็คือหลักการแห่งความจริงความถูกต้องดีงาม ตัวธรรมะกฎธรรมชาตินั้น เราถือธรรมะเป็นใหญ่ เมื่อสงฆ์เติบใหญ่ขึ้น เราก็เคารพสงฆ์ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นพอสงฆ์เติบใหญ่ขึ้น พระพุทธเจ้าก็มอบอำนาจให้สงฆ์ ตอนแรกพระองค์ตั้งสังฆะขึ้นมา เพราะฉะนั้นตอนแรกพระองค์บวชให้ตนเอง ใครต้องการจะเข้าสู่สังฆะนี้ พระพุทธเจ้าก็รับเอง พิจารณาคุณสมบัติเอง แต่พอสังฆะใหญ่ขึ้น พระพุทธเจ้ามอบอำนาจให้สังฆะบวช ก็ตั้งกฎเกณฑ์ระเบียบการดำเนินการการบวชขึ้นมาว่า หนึ่ง-ต้องมีที่ประชุม องค์ประชุมต้อง 10 ขึ้นไปจึงจะบวชได้ กำหนดองค์ประชุมแล้ว ตัวผู้จะบวชต้องมีคุณสมบัติดังนี้ๆ แล้วก็มีวิธีดำเนินการบวช เมื่อเริ่มประชุมจะต้องมีผู้หนึ่งที่มีสติปัญญาความสามารถ ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการประชุม เป็นผู้ที่ซักถามคนที่มีคุณสมบัติสมัครเข้ามาบวช แล้วก็ซักทั้งนอกที่ประชุมซ้อมกันแล้ว แล้วเข้ามาซักในที่ประชุม ให้ที่ประชุมพิจารณาตรวจสอบว่าผู้นี้มีคุณสมบัติบวชได้ไหม จะยอมรับเข้าสู่สงฆ์ได้ไหม ต่อมาก็ให้มีอุปัชฌาย์เป็นคนประกันให้ความมั่นใจแก่สงฆ์ว่า ผู้ที่เข้าไปบวชนี้จะได้รับการศึกษาแน่นอน อันนี้ก็เป็นการบวชที่เป็นเรื่องของสังฆกรรม เดี๋ยวนี้เหลือแต่พิธี จนกระทั่งผู้ที่เข้าไปแล้วไม่รู้ว่าทำอะไรกัน ใช่ไหม แต่ที่จริงนั้นก็คือการรับสมาชิกใหม่ ก็มีการตรวจสอบอะไรต่างๆนี่ ทีนี้พระพุทธเจ้าเองก็ให้ถือสังฆะเป็นใหญ่ พระองค์ก็เคารพสงฆ์ แล้วก็มอบอำนาจให้สงฆ์ ให้สงฆ์ดำเนินการ ก็จะมีองค์ประชุมว่าการที่จะทำกิจการระดับนี้ต้องใช้องค์ประชุมเท่านี้ เช่นว่าถ้าหากว่าสวดปาฏิโมกข์ ต้องใช้ 4 ขึ้นไป ถ้าหากว่ารับกฐินต้อง 5 ขึ้นไป ถ้าหากจะบวชภิกษุต้อง 10 ขึ้นไป แล้วต่อมาก็มีอนุบัญญัติว่าในถิ่นไกลชายแดน ห่างไกล เขาเรียกว่า ปัจจันตประเทศ ไม่มีพระ หาพระไม่ได้ พระที่ไปต้องมีคุณสมบัติดีอยู่แล้ว ก็ยอมลดให้ว่าในถิ่นนั้น 5 ได้ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องของชีวิตของสงฆ์ แต่ว่าข้อสำคัญก็คือว่าให้ภิกษุนี่ต้องถือสงฆ์เป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าก็เคารพสงฆ์ เพราะฉะนั้นถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่ พระภิกษุนี่แม้แต่เป็นพระอรหันต์ ถ้าหากว่าเขามีกิจการของส่วนรวมเกิดขึ้น ไม่มาเข้าที่ประชุม ถูกลงโทษ มีพระอรหันต์ถูกที่ประชุมลงโทษในประวัติพระพุทธศาสนาหลายองค์ อย่านึกว่าพระอรหันต์นี่พ้นนะ เจริญพร ในแง่ของธรรมะพ้น ธรรมะไม่มีกิเลส แต่ในแง่วินัยไม่พ้น วินัยไม่เอากับธรรมะ วินัยตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ เพื่อธรรมะ แต่ว่าคนละเรื่อง สมมติไม่จำเป็นต้องทำตามธรรมะ คนทำกรรมชั่ว ฝ่ายธรรมะบอกว่ามันมีกฎธรรมชาติ กฎแห่งกรรม เขาต้องได้รับผลของเขา แต่ในวินัยไม่ยอม ตั้งกรรมสมมติขึ้นมาเลย เอาองค์นี้เข้ามาจัดการที่ประชุมลงโทษเลย วินัยไม่รอธรรมะ ไม่รอกรรมตามธรรมชาติ วินัยเอาเลย ฉะนั้นอันนี้ชาวพุทธยังเข้าใจไม่ค่อยถูกต้อง บอกใครทำกรรมชั่วเดี๋ยวเขาก็ได้รับผลกรรมของเขาเอง นี่อย่างนี้แสดงว่าพลาดแล้ว ในพุทธศาสนามีหลักการ 2 อย่าง ธรรมะกับวินัย ถ้าวินัย จัดการทันที เป็นเรื่องสังคม ฉะนั้นวินัยจะมีการดำเนินการเพื่อให้ธรรมะมันเป็นผลในสังคม ไม่งั้นการปฏิบัติตามธรรมะมันจะเกิดคลาดเคลื่อนไปในที่สุด ถ้าเราไม่เอาใจใส่ ฉะนั้นตกลงว่าบุคคลก็ต้องเกื้อหนุนต่อสังฆะ โดยเคารพสงฆ์ ถือสงฆ์เป็นใหญ่ ฉะนั้นการที่อยู่ในชีวิตร่วมกันจะต้องมุ่งเพื่อความเข้มแข็งมั่นคงของชุมชนหรือตัวสังฆะนั้น แล้วสังฆะมันจะได้มารองรับหนุนบุคคลนั้นให้เจริญเติบโตไปได้ ถ้าสังฆะไม่เจริญมั่นคง แล้วบุคคลก็เจริญเติบโตไม่ได้ ฉะนั้นก็เลยถือหลักการที่นอกจากถือสงฆ์เป็นใหญ่ก็หลักการอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถือความสามัคคีเป็นสำคัญ ท่านเรียกว่าสังฆสามัคคี ความพร้อมเพรียงของสงฆ์ ถ้าสงฆ์ไม่มีความสามัคคีแล้ว ชีวิตระบบความเป็นอยู่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาบุคคลเลย ฉะนั้นต้องมีสามัคคี ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจะตรัสย้ำเรื่องสามัคคี ทีนี้หลักการต่างๆ นอกจากบัญญัติสิกขาบทแล้วก็จะมีหลักการที่เราเรียกว่าในทางธรรมะด้วย คือในทางวินัยก็เอาสิกขาบทบัญญัติมาเพื่อจะสร้างความสามัคคีนี้ กันพระทะเลาะกัน ถ้าทะเลาะกันแล้วก็มีวิธีระงับ ดำเนินคดี เพื่อเอาความผิดลงโทษกันให้มันเสร็จสิ้นไป ไม่ให้รออยู่อย่างนั้น ถ้าหากว่ามีคดีเกิดขึ้น ไม่ดำเนินการ เอาผิดกับพระที่ไม่ดำเนินการอีก แล้วจะไปอ้างบอกว่าก็รอให้กรรมจัดการ ไม่มีทาง วินัยไม่เอาด้วย วินัยถ้ามี กรรมสมมติมาจัดการแล้ว กรรมมี 2 แบบนะ เรียกว่า กรรมตามธรรม กรรมในธรรมะที่เป็นกฎธรรมชาติ กับกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นสมมติในวินัย ในทางวินัยนั้นพระทำผิดแล้วมีกรรมสมมติมาจัดการเลย ไม่รอกรรมในกฎธรรมชาติ ทีนี้ก็จะมีหลักที่เป็นหลักการทั่วไป ที่ไม่ได้บัญญัติเป็นข้อปฏิบัติในทางวินัย สนับสนุนเพื่อที่จะให้มีความสามัคคีกัน สร้างชุมชนแห่งกัลยาณมิตร มีความสามัคคี เช่นหลักสาราณียธรรมเป็นต้น ซึ่งมองไปแล้วมันเป็นหลักการของประชาธิปไตยก็ว่าได้ สาราณียธรรม จะยกตัวอย่าง หลักสาราณียธรรม 6 ประการ บอกว่า
หนึ่ง-จะทำอะไรก็ทำต่อกันด้วยเมตตาว่างั้นเถอะ ทำด้วยใจหวังดีนะ มีกิจการส่วนรวมมาร่วมมือกัน ทำด้วยประโยชน์ส่วนรวมด้วยหวังดีต่อกัน หวังประโยชน์สุขต่อกัน
สอง-จะพูดอะไรต้องพูดด้วยเมตตาความหวังดี
สาม-จะคิดอะไรต้องคิดด้วยเมตตา
สี่-ได้มาแบ่งกันกินใช้ นี่พูดเรื่องผลประโยชน์แล้ว ถือสำคัญมากในพุทธศาสนา ในพุทธศาสนานี่ก็มักจะมองข้ามว่า คนหลายคนมองข้ามเรื่องนี้ เข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาไม่เอาใจใส่เรื่องวัตถุ พุทธศาสนาให้ความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ว่าในขอบเขตที่ท่านเรียกว่าเป็นปัจจัย ฉะนั้นเรื่องนี้มาเลย ในหลักการของการอยู่ร่วมกัน เรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ ได้มาแบ่งกันกินใช้
ห้า-ตาอมาบอกว่าตั้งอยู่ในหลักความประพฤติเสมอกัน มีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย พูดว่าอย่างนั้น ในทางพุทธศาสนาท่านเรียน ศีลสามัญญตา หมายความว่าทุกคนนี้ต่อหน้าวินัยแล้วเสมอกันหมด เป็นพระอรหันต์ก็ไม่ยกเว้น นอกจากมีกฎยกเว้นให้เอง ในสิกขาบทจะต้องยกเว้นให้เอง จึงจะพ้น ห้ามธรรมะ อ้างไม่ได้ในเรื่องวินัย ทีนี้วินัยก็เสมอภาคกัน แล้วก็พยายามประพฤติตัวให้เสมอภาคกันเพื่อไม่ให้เป็นที่รังเกียจแก่ชุมชน
หก-ต่อมาข้อสุดท้ายเรียกว่า ทิฐิสามัญญตา มีความเสมอกันโดยทิฐิ หมายความว่ายึดถือหลักการ อุดมการณ์ร่วมกันของสังคม สังคมไทยไม่มีหลักการเช่นสังคมประชาธิปไตยไม่ยึดถือหลักการประชาธิปไตยร่วมกัน จบ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นต้องมีอุดมการณ์ ต้องมีหลักการร่วมกัน ก็ 6 ข้อนี้ ท่านบอกว่าเพื่ออะไร ในระหว่างบุคคลก็จะได้ปิยกร สร้างความรักกัน ครุกร สร้างความเคารพกัน สาราณียะ ทำให้ระลึกถึงกัน เหนี่ยวใจกันไว้ แล้วเพื่อส่วนรวม สังคหะก็ช่วยรวมคนเข้าเป็นหมู่อยู่ได้ ไม่วิวาทะ ไม่วิวาทกัน สามัคคีพร้อมเพรียงกัน เอกีภาพ เดี๋ยวนี้เราเรียกว่าเอกภาพ ท่านเรียกว่า เอกีภาวะ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สังคมจะต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อมีความมั่นคงอยู่ได้ เพราะฉะนั้นอันนี้จะถือเป็นหลักสำคัญ ฉะนั้นกฎหมายต่างๆ ก็มาหนุนให้ สังคมหรือสังฆะเนี่ยมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อมีความมั่นคง แล้วจะมีหลักกฎเกณฑ์กติกา หลักการอื่นอีกเช่นอปาริหานิยธรรม อย่างธรรมะที่จะทำให้ไม่เสื่อมว่า หนึ่ง-ประชุมกันเนืองนิตย์ สอง-เมื่อประชุมต้องพร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุมพร้อมกัน มีกิจส่วนรวม เรียกว่า สังฆกรณียะเกิดขึ้น ต้องพร้อมใจกันทำ สี่-ไม่ถืออำเภอใจ บัญญัติอะไรก็ตามใจตัว เลิกถอนอะไรตามใจตัว แล้วเชื่อฟังบุคคลที่เป็นหลัก ท่านเรียกว่าเป็น สังฆบิดร ท่านเรียกว่ามองเห็นความสำคัญของถ้อยคำของท่าน ท่านไม่ได้บอกว่าต้องเชื่อ ท่านบอกว่ามองเห็นความสำคัญของถ้อยคำของท่าน ภิกษุใดเป็นเถระ เป็นผู้รัตตัญญู หมายความว่าได้มีประสบการณ์ยาวนาน มีความรู้เป็นหลักแล้วเนี่ย จะต้องมองเห็นความสำคัญของถ้อยคำของท่าน หมายความท่านบอกว่าให้สำคัญว่าเป็นสิ่งอันพึงฟัง ว่างั้น ไม่ใช่มองข้ามไป แล้วก็บอกว่าไม่ลุแก่อำนาจ ตัณหา คือการเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วยินดีในเสนาสนะป่า อันนี้ก็หมายความว่าชีวิตของพระ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ท่านบอกว่า ข้อไม่ลุอำนาจตัณหาสำหรับพระ สำหรับคฤหัสถ์มีหลักคู่กัน เป็นฝ่ายปกครอง ท่านเรียกว่าไม่ให้ข่มเหงกุลสตรี คือให้เกียรติกุลสตรี แล้วข้อต่อไปสำหรับพระในเสนาสนะป่า สำหรับฝ่ายบ้านเมือง บอกว่าให้ความสำคัญแก่เจดีย์อนุสาวรีย์สิ่งที่เคารพเป็นที่รวมใจของสังคม แล้วต่อไปก็ข้อสุดท้าย ถ้าเป็นพระก็บอกว่าให้ยินดีต้อนรับเพื่อนสพรหมจารีที่ยังไม่มา ที่มีศีลที่มาขอให้อยู่เป็นสุข ถ้าเป็นคฟหัสถ์ สังคมฝ่ายชาวบ้านบ้านเมือง ท่านบอกว่าให้จัดอารักขาคุ้มครองป้องกันแก่พระอรหันต์ หมายความว่าพระสงฆ์ สมณะ นักบวช ที่เป็นหลักใจของประชาชน เป็นตัวแทนของคุณธรรม เป็นหลักของศีลธรรม หน้าที่ของบ้านเมืองจะต้องจัดการอารักขาคุ้มครองป้องกันให้ แล้วก็ยินดีต้อนรับท่าน อันนี้ก็เป็นหลักต่างๆ ถ้าเป็นฝ่ายคฤหัสถ์จะมีหลักหนึ่งเรียกว่าสังคหวัตถุ แปลว่าหลักของการสงเคราะห์ ก็คือการยึดเหนี่ยวประสานหมู่ชนให้เป็นสามัคคี สังคหะ แปลว่า สังเคราะห์ ไทยใช่ว่า สงเคราะห์ เรามาใช้ในความหมายว่าช่วยเหลือกัน แต่ความหมายของพระหมายความว่าพ่วงเข้าด้วยกัน พอเข้าด้วยกันก็หมายความว่าคนเนี่ยจะผนึกให้สังคมมีความมั่นคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ก็ต้องมี หนึ่ง-มีการให้ การแบ่งปันผลประโยชน์กันบ้าง มีการเผื่อแผ่ เรียกว่าทาน สอง-ต้องมีปิยวาจา การรู้จักใช้วาจาที่แสดงน้ำใจดีต่อกัน แล้วต้องช่วยเหลือกันด้วยเรี่ยวแรงกำลัง บำเพ็ญประโยชน์แก่กัน เอากำลังกายเข้าช่วย แล้วก็สุดท้ายต้องทำตัวให้เข้ากันได้ แล้วก็มีความเสมอภาค ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เพื่อรักษาตัวธรรมะไว้ได้ อันนี้คนก็ต้องช่วยกัน หนึ่ง-ช่วยด้วยสิ่งของเงินทอง สอง-ช่วยด้วยถ้อยคำ เช่นแนะนำคนให้แก้ปัญหาของเรา คือให้ความรู้วิชาการ เพื่อจะได้แก้ไขบำบัดความทุกข์ยาก แล้วก็สาม-ช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลัง การช่วยเหลือก็มีสาม ช่วยด้วยสิ่งของเงินทอง ช่วยด้วยถ้อยคำ ช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลังกาย สุดท้ายต้องทำตัวให้เข้ากันได้ มีความเสมอภาคกัน ทีนี้สังคมจึงจะอยู่ได้ อันนี้ก็เป็นหลักในการที่จะรวมหมู่ชนให้อยู่ด้วยกัน อันนี้มันก็เป็นหลักในเรื่องของฝ่ายที่ไม่ใช่เป็นข้อบัญญัติ ไม่มีการลงโทษ แต่ว่าให้เป็นหลักที่รู้กันว่าควรจะประพฤติปฏิบัติ อันนี้มีอีกอันหนึ่งที่จะพื้นฐานใจ คนเรานี่ถ้าไม่มีพื้นฐานใจ วินัย กฎหมายบัญญัติยังไง มันก็ไปไม่รอด เพราะคนมันจะหาทางเลี่ยงกฎหมาย แล้วในที่สุดกฎหมายนั้นก็จะอยู่ไม่ได้ มันก็จะต้องมีรากฐาน หลักการ ในการที่จะมาช่วยให้คนนี่ทำไงจะประพฤติตามกฎหมายได้ มันก็ต้องพัฒนาคน ถ้าไม่พัฒนาคนมันก็ไปไม่รอด สังคมที่จะบัญญัติกฎหมายอะไรต่างๆ นี่มันต้องถือเป็นตัวเอื้อ บอกแล้วว่าเป็น means ไม่ได้เป็น aim ทีนี้ถ้าเราเอาเป็น aim ซะจบ แม้แต่ถือความสงบเรียบร้อยเป็นจุดหมายก็ไปไม่รอด เพราะว่าไม่มีการพัฒนาคน คนมาอยู่เรียบร้อย แล้วไม่พัฒนาคน ไปได้ยังไง ในที่สุดก็ไปไม่รอด ทีนี้ก็ต้องมีการพัฒนาคนอยู่เรื่อย ทีนี้จะพัฒนาคนอย่างไร เราก็ต้องทำให้คนมีจิตใจ เช่น มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ มีท่าทีถูกต้องต่อการรับผิดชอบสังคม พระพุทธเจ้าจะให้ธรรมะไว้บทหนึ่ง ซึ่งเป็นท่าที่พื้นฐานในจิตใจของคน ในการที่จะรักษา ไม่ใช่แค่รักษากฎหมาย แต่เป็นหน้าที่ในการที่เป็นผู้เป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ และอนุรักษ์สังคมนี้ไว้ สังคมมนุษย์นั้น มนุษย์ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และอนุรักษ์ มิฉะนั้นมันจะพินาศ แม้แต่การที่จะรักษากฎหมายได้ ก็จะต้องมีตัวท่าทีพื้นฐานนี้มาเป็นแกนให้ก่อน ท่าทีพื้นฐานนี้ไม่ใช่หลักธรรมยากอะไร คือหลักธรรมที่เรียกว่า พรหมวิหารนั่นเอง แต่ในสังคมไทยนี้ต้องขอกล่าวว่าเข้าใจกันผิดพลาดอย่างยิ่ง แล้วไม่ได้ปฏิบัติ แล้วปฏิบัติคลาดเคลื่อนจนกระทั่งทำให้เกิดผลร้ายด้วยซ้ำ พรหมวิหาร 4 ข้อนี้เป็นท่าทีสำคัญ พรหมวิหารแปลว่าอะไร แปลว่าธรรมประจำใจของคน คนคือใคร พรหมคือเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ ที่สร้างโลกและอภิบาลโลก นี่ทัศนะของพราหมณ์ พราหมณ์เขาถือว่ามนุษย์อยู่กันไปนี่ พอถึงกัลป์หนึ่งเนี่ย โลกจะพินาศ แล้วพระพรหมก็จะสร้างโลกขึ้นใหม่ แล้วในระหว่างนี้พระพรหมก็เป็นผู้ลิขิตชีวิตมนุษย์จะเป็นไปยังไง ทีนี้พระพุทธศาสนาบอกไม่รอพระพรหม เราไม่รอพระพรหม พระพรหม เทพเจ้า พุทธศาสนาไม่รอ ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในการที่จะสร้างสรรค์และอภิบาลสังคม เพราะฉะนั้นทุกคนต้องทำตัวให้เป็นพรหม ฉะนั้นต้องประพฤติตามหลัก 4 ข้อนี้ เมื่อใครมีหลัก 4 ข้อนี้เรียกว่าเป็นพรหมวิหาร แปลว่ามีธรรมประจำใจของพรหม เมื่อมีธรรมประจำใจของพรหมคือมีท่าทีของจิตใจพื้นฐาน ก็เป็นพรหมด้วยตนเอง เมื่อแต่ละคนเป็นพรหม ก็เป็นส่วนร่วมที่ดีในการที่จะสร้างสรรค์และอภิบาลสังคม ท่าทีพื้นฐาน 4 ประการมีอะไรบ้าง ท่าทีพื้นฐานนี้ 4 ข้อ คนไทยจำแม่น หนึ่ง-เมตตา ง่ายมาก สอง-กรุณา ก็ง่ายมาก แต่ไม่แน่นะ เมตตากับกรุณานี่ ถามหลายท่านแยกไม่ออก เมตตา กรุณา นี่ต่างกันเยอะ แต่ว่าคนไทยเดี๋ยวนี้แยกไม่ออกว่าเมตตากับกรุณาแตกต่างกันอย่างไร ต่อไปมุทิตา คนไทยเอามาใช้เป็นพิธี ไปแสดงมุทิตาจิต แต่ก่อนก็ไม่ค่อยใช้ เดี๋ยวนี้ชักเริ่มใช้ แสดงมุทิตาจิตเมื่อมีคนได้เลื่อนตำแหน่ง ได้เงินได้ทอง ได้อะไรได้รับการยกย่อง แสดงมุทิตาจิต แล้วก็ข้อสี่ อุเบกขา คนไทยไม่รู้เรื่อง คนไทยเข้าใจผิดเลย อุเบกขา นึกว่าเฉยๆ แล้วบอกว่ามีอุเบกขา ทีนี้ลองมาดูว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงให้ท่าทีพื้นฐาน 4 ประการ หลักธรรมชุดนี้ง่าย เพราะมันเป็นท่าทีที่แสดงออกต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้นวิธีที่จะดูความหมายก็ดูที่คนอื่น ดูยังไง ดูที่สถานการณ์ที่คนอื่นเขาประสบ แล้วเราจะใช้ข้อไหน แล้วความหมายมันจะออกมาเอง
ข้อหนึ่ง- คนอื่นเขาเป็นยังไงล่ะ ก็ดูก่อน หนึ่ง คนอื่นเขาอยู่เป็นปกติ ถือเป็นเริ่มแรก สถานการณ์ที่หนึ่ง คนอื่นเขาอยู่กันเป็นปกติ เราก็มีเมตตา มีเมตตาก็คือมีความหวังดี มีใจรัก มีความเป็นมิตร เมตตาแปลว่าน้ำใจ มิตร เมตตาเป็นศัพท์เดียวกับมิตตะ มิตตะ ลองแปลง อิ เป็น เอ ก็เป็นเมตตะ แล้วเป็น อา ตามวิธีไวยกรณ์ ก็เป็น เมตตา เมตตากับมิตตะ ศัพท์เดียวกัน เมตตาก็แปลว่าน้ำใจมิตร คุณธรรมของมิตร หรือคุณสมบัติของมิตร นั่นเอง ก็คือน้ำใจที่หวังดี ปรารถนาให้เขาเป็นสุข อันนี้เรียกว่าเมตตา เพราะเขาอยู่เป็นปกติ สถานการณ์ที่หนึ่งมาก็เมตตา เป็นมิตรด้วย เป็นท่าทีพื้นฐาน
ข้อสอง-สถานการณ์เปลี่ยนไป บุคคลนั้นเปลี่ยนจากสถานการณ์ปกติไป ก็คือตำต่ำลง ก็คือเดือดร้อน เป็นทุกข์ ประสบปัญหา เราก็ย้ายไปอยู่ท่าทีที่สอง จากเมตตาก็ไปกรุณา กรุณาก็คือพลอยหวั่นใจในทุกข์ของเขา แล้วหาทางปรารถนาจะช่วยบำบัดทุกข์นั้น ให้ยกเขาขึ้นมาจากทุกข์ นี่เรียกว่ากรุณา เพราะฉะนั้นเมตตากับกรุณานี้ต่างกันมาก
ข้อสาม-สถานการณ์ที่สาม บุคคลนั้นเปลี่ยนจากปกติและตกต่ำ เป็นขึ้นสูง ขึ้นสูงก็คือว่าประสบความสำเร็จ มีความสุข ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เราก็ย้ายไปท่าทีที่สามคือมุทิตา พลอยยินดีด้วย เมื่อกี้พลอยหวั่นใจในทุกข์ของเขา กรุณา ทีนี้พลอยยินดีด้วยในความดีงามความสำเร็จของเขา เรียกว่ามุทิตา พลอยยินดีก็พร้อมจะส่งเสริมสนับสนุน นี่ออกมาแล้วส่งเสริมสนับสนุน มุทิตา คนต้องมีความสัมพันธ์ต่อกันให้ครบ ในสังคมไทยนั้นเน้นสองข้อ เมตตา กรุณา มุทิตาไม่ค่อยเจอ ฉะนั้นเราถนัดนักเมตตากรุณา กลายเป็นระบบอุปถัมภ์ไปเลย ทีนี้ถึงแม้ได้สามข้อก้ยังไม่ครบ มันต้องมีข้อที่สี่ แต่ถ้าดูไปสถานการณ์มันน่าจะครบแล้วนี่ หนึ่ง-เป็นปกติ สอง-ตกต่ำ สาม-ขึ้นสูง อะไรกันนี่ สถานการณ์ที่สี่คิดไม่ค่อยออก เอ สถานการณ์อะไรหนอ ไม่ปกติ ไม่ตกต่ำ และไม่ขึ้นสูง มันก็ไม่น่าจะมีแล้วนี่ พระบอกว่ามี สถานการณ์ที่สี่สำคัญที่สุดที่จะรักษาสังคมไว้ได้ แม้จะมีสามธรรมะข้อแรกแล้ว ไม่มีข้อที่สี่ สังคมนั้นก็ไปไม่รอด ท่าทีที่สี่คืออะไร ท่าทีสามอันนี้เป็นท่าทีแห่งความสัมพันธ์กันระหว่างคนต่อคน ใช่ไหม คนต่อคน คนนั้นเขาปกติ คนนั้นเขาตกต่ำ คนนั้นเขาขึ้นสูง ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างคนนี้เรียกว่าพร้อมบริบูรณ์แล้ว มนุษย์สัมพันธ์กันดี แล้วโลกนี้สังคมนี้น่าจะเรียบร้อย ใช่ไหม เปล่า ไม่ใช่ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนต่อคน แค่นี้ไม่พอที่จะทำให้โลกนี้สังคมนี้อยู่ดีได้ อะไรอีกที่จะทำให้สังคมอยู่ดีได้ ดูไป เบื้องหลังสังคมมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันมีอะไรรองรับอยู่เป็นฐาน ตอบว่ามีธรรมะรองรับอยู่ ธรรมะนี้คือหลักการความเป็นจริงตามธรรมชาติ ความเป็นเหตุเป็นผลในสิ่งทั้งหลาย เป็นไปตามเหตุปัจจัย ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ไม่รู้ละ สิ่งนี้เรียกว่าธรรมะ สังคมมนุษย์ลำพังมนุษย์สัมพันธ์กันดี ยังไม่พอที่จะให้สังคมอยู่ได้ แม้มนุษย์จะสัมพันธ์กันดีในสามสถานการณ์แรก แต่ถ้าเขาไม่รักษาตัวธรรมะนี้ไว้ สังคมนั้นจะอยู่ไม่ได้ จะวิปลาสคลาดเคลื่อน เพราะฉะนั้นจึงมีสถานการณ์ที่สี่ สถานการณ์ที่สี่คืออะไร ก็คือไม่ว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์จะเป็นอย่างไรก็ตาม ในหนึ่ง สอง สาม ถ้ามันไปละเมิดก่อความเสียหายต่อธรรมะ หยุดทันที นี่คืออุเบกขามาแล้ว
ข้อสี่- อุเบกขา เฉย คือหยุด ไม่เอากับคุณแล้ว ฉันไม่ช่วยคุณแล้วนะ กฎเป็นกฎ ว่างั้นนะ นี่คือข้อที่สี่ เพื่อรักษาธรรมะ ความสัมพันธ์ระหว่างคนต้องอยู่ อันนี้อุเบกขาเป็นตัวรักษาตัวหลักการของสังคม ทีนี้ธรรมะได้กล่าวแล้วว่า มันมีธรรมะที่เป็นความจริง ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นไปตามธรรมชาตินั้นชั้นหนึ่ง แล้วก็ธรรมะที่มนุษย์เอาความรู้ในความจริงในหลักการนั้นมาตั้งเป็นหลักการเป็นกฎเกณฑ์กติกาในสังคมขึ้นมา แล้วเราก็พลอยเรียกหลักการชั้นสองนี้ที่มนุษย์บัญญัตินี้เป็นธรรมะไปด้วย เช่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนวิชากฎหมาย ฉะนั้นนี่เป็นกฎของมนุษย์ก็เรียกเป็นธรรมะไปด้วย เพราะฉะนั้นธรรมะหลักการอันนี้ไม่ว่าระดับไหน ระดับความจริงในธรรมชาติก็ตาม ระดับหลักการในสังคมมนุษย์ก็ตาม ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปละเมิดเกินความเสียหาย มนุษย์จะต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างกัน แล้วเอาธรรมะเป็นใหญ่ แล้วปฏิบัติไปตามธรรมะคือเฉยต่อคน ฉะนั้นอุเบกขานี่คือเรื่องใหญ่ เป็นคุมท้ายเลย คุมท้ายเพราะว่าเป็นตัวรักษาหลักการไว้ ถ้าอันนี้ไม่อยู่แล้ว สังคมมนุษย์แม้จะช่วยเหลือกันดี แต่ไปไม่รอด เพราะว่าจะเกิดโทษเสียหายหลายอย่าง หนึ่ง-คนมีน้ำในต่อกัน มีเมตตา กรุณา แม้แต่มุทิตากันดี ก็มีความอบอุ่น มีความสุขในการอยู่ร่วมกันดี แต่ว่าหนึ่งข้อเสียจะเกิดขึ้นก็คือว่ามนุษย์จำนวนหนึ่งจะหวังแต่พึ่งคนอื่น เราเดือดร้อนก็ไปหาผู้ใหญ่คนนี้ได้ ไปหาญาติคนนี้ได้ ฉะนั้นแกก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย สังคมนี้จะทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในความประมาท อ่อนแอ สองก็คือว่าเมื่อจะเอาความสัมพันธ์ของบุคคลเป็นหลัก ช่วยเหลือกันก็แล้ว แม้กฎเกณฑ์กติกาก็ไม่เอา ทำลายได้เลย เพราะฉะนั้นสังคมก็เสียหลัก เพราะฉะนั้นจึงต้องมีอุเบกขาไว้เป็นประกัน พออุเบกขาเข้ามาคุมก็รักษาดุลของสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคน กับความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับธรรมนี้ต้องมาดุลกัน ถ้ามีแต่ข้อสุดท้าย มนุษย์ก็ตัวใครตัวมัน แต่มีแต่อุเบกขา มนุษย์ก็ตัวใครตัวมัน เช่นสังคมตะวันตกนี่ตัวใครตัวมัน เมตตา กรุณา ไม่ค่อยเอา ไม่ค่อยมีน้ำใจ เอาหลักการกฎเกณฑ์กติกา กฎหมายเป็นเกณฑ์ คุณจะทำอะไรก็ทำของคุณไป ฉันไม่ช่วยหรอก ถ้าไม่ผิดกฎหมายไม่ว่าอะไร แต่ถ้าผิดกฎหมายเมื่อไหร่จัดการทันที แต่ระหว่างนั้นไม่ช่วย เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ดิ้นรนขวนขวาย คุณก็ตาย เพราะฉะนั้นมันก็บีบ ต้องดิ้น ก็แข็งดี เพราะฉะนั้นสังคม แม้แต่ครอบครัวที่มีอุเบกขามาก เด็กถ้าหากว่าร้ายเสียก็เสียไปเลย ก็แข็งไปเลย เข้มแข็งช่วยตัวเองได้ดี แต่สังคมถ้ามีแต่เมตตา กรุณา มาก จะอ่อนแอ ลูกก็เลี้ยงไม่โต ไม่มีความเข้มแข็ง ฉะนั้นมนุษย์ไม่ได้อยู่กับมนุษย์เท่านั้น มนุษย์ช่วยเหลือกันดี แต่มนุษย์นั้นต้องมีชีวิตที่รับผิดชอบต่อความจริงของธรรมชาติ ชีวิตและโลกนี้มันไม่มาตามใจคุณ มันมีกฎมีเกณฑ์กติกาแห่งธรรมะความเป็นจริงของมัน เพราะฉะนั้นคุณจะต้องรับผิดชอบต่อตัวธรรมะ คือความเป็นจริงของชีวิตและสังคมได้ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกต้องหัดกัน เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องมีท่าทีข้อที่สี่-อุเบกขาไว้คุมท้าย ฉะนั้นสังคมจะอยู่ได้ต้องมีข้อที่สี่ ให้เห็นชัดว่าสามข้อแรกนี่หนักด้านความรู้สึก ส่วนข้อที่สี่นี่หนักด้านความรู้ ด้านความรู้สึกยังไง เราพัฒนาคนจากความรู้สึกที่ไม่ดีมามีความรู้สึกที่ดีต่อกัน มีเมตตา เขาเป็นปกติ เราก็เป็นมิตร ก็เป็นความรู้สึกที่ดี เขาเดือดร้อนเราก็มีความรู้สึกที่ดี สงสาร เห็นใจเขา ได้ดีมีสุข เราก็มีความรู้สึกที่ดี ที่จะพลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุน อันนี้เป็นด้านของความรู้สึก ซึ่งเมื่อสถานการณ์นั้นมาก็พร้อมทันที แต่ข้อที่สี่นี้อาศัยความรู้สึกไม่ได้ ข้อที่สี่ต้องอาศัยความรู้ ก็คือปัญญา เพราะฉะนั้นอุเบกขาต้องมากับปัญญา ถ้าไม่รู้อะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความดีงาม อะไรคือหลักการแล้ว เราก็ปฏิบัติไม่ได้ข้อสี่ ฉะนั้นอุเบกขาขาดปัญญาไม่ได้เด็ดขาด อุเบกขานี่ต้องตั้งอยู่บนปัญญา เพราะฉะนั้นในพระพุทธศาสนาจึงแยกว่าอุเบกขามี 2 ชนิด อุเบกขาที่เป็นตัวธรรมะ อุเบกขาที่เป็นตัวอกุศล เรียกว่า อัญญานุเบกขา แปลว่า เฉยโง่ คือเฉยไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่เอาเรื่อง แล้วก็ไม่ได้เรื่อง เฉยในภาษาไทยเรามักจะมองแบบเฉยโง่ ซึ่งเป็นอกุศลธรรม ผิด ฉะนั้นเฉยนี่หมายความว่าเพราะรู้ จะต้องปฏิบัติ จึงไม่เอากับคนนั้น เพื่อจะได้ปฏิบัติไปตามธรรม โดยเฉพาะผู้พิพากษาต้องมีอุเบกขานี่เยอะหน่อย ฉะนั้นจะสงสารหรือจะอะไรต่ออะไร ก็เอามาใช้ไม่ได้ ก็ว่าไปตามกติกา ตามหลักการ อุเบกขาจึงเป็นตัวรักษาความเที่ยงธรรมของสังคม เพราะเป็นตัวรักษาธรรมะไว้ ฉะนั้นในหมู่มนุษย์นี้จะต้องมี 4 ข้อนี้ รักษาธรรมวินัย รวมถึงกฎเกณฑ์กติกา กฎต้องเป็นกฎ อะไรทำนองนี้ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องระวังเหมือนกัน กฎต้องเป็นกฎ เพราะกฎมีสองชั้น กฎธรรมชาติความจริงอันนั้นต้องรู้ ถ้าไม่รู้เราก็พลาด แต่กฎมนุษย์ มนุษย์สร้างเอง
มนุษย์สร้างเองนี้มีทางพลาด เพราะฉะนั้นเอากฎหมายเป็นเกณฑ์ก็ต้องคอยตรวจสอบกฎหมายตลอดเวลาเหมือนกัน เพราะกฎหมายนี้ต้องดูให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติตัวธรรมะหรือเปล่า ฉะนั้นกฎหมายคือกฎที่มนุษย์ตั้งหรือวินัย จึงต้องมีการตรวจสอบ ความสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ หรือความจริงในธรรมอยู่เสมอ แล้วก็ให้ได้ตามจุดหมายที่เป็นธรรมะนั้น ซึ่งก็คือการที่รู้หมด การจะวางกฎหมายใก้ดี ต้องรู้ เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติทั่วไป ความจริง เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เข้าใจจุดหมายของชีวิต เข้าใจจุดหมายของสังคม แล้วเข้าใจจุดหมายของกฎหมายเอง เพราะว่าจุดหมายของกฎหมายนี่ก็คือต้องไปสอดคล้องกับจุดหมายที่ว่ามาทั้งหมดนั้น ถ้าไม่งั้นจุดหมายของกฎหมายก็พลาดอีก ทีนี้ก็เป็นอันว่ากฎหมายซึ่งเป็นกฎมนุษย์เนี่ย จะต้องมีการตรวจสอบเสมอ มิฉะนั้นแล้วแม้แต่อุเบกขาก็อาจจะพลาดเหมือนกัน อุเบกขาเอากฎหมายมาใช้เป็นกฎชั้นรอง ฉะนั้นกฎหมายก็เลยมีทางพลาดได้ 2 ประการ การบัญญัติกฎหมาย การใช้กฎหมายมีทางพลาด หนึ่ง-ไม่รู้ความจริง