แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
วันนั้นได้กราบเรียนถามพระเดชพระคุณเรื่องแรงจูงใจว่า การจะเอาทฤษฎีทางพุทธศาสนาไปใช้ในการศึกษาโดยเอาไปทำเป็นวิจัยที่ทางข้างนอกเค้าทำกันนะครับ นี้เห็นปัจจุบันเค้าทำก็เห็นเค้าใช้ทฤษฎีทางตะวันตกเป็นฐานทั้งหมดเลย ทีนี้ว่าจะเอาเรื่อง ตัณหา ฉันทะไปอธิบายแรงจูงใจของคนในสถานการณ์หนึ่งๆนะครับ แล้วมันติดอยู่ที่ว่าการวัดแรงจูงใจด้วยระบบของที่เค้าเป็นปัจจุบันคือออกมาในทางตัวเลขนี่นะครับ จะสามารถวัดได้แค่ไหนอย่างไร แล้วก็การที่จะนำไปสู่การพัฒนาจากตัณหาให้กลับมาเป็นฉันทะ จะใช้ระบบการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้จะใช้ได้แค่ไหน
ก็เรื่องนี้มันก็ต้องเริ่มจากรู้หลัก เมื่อรู้หลักเข้าใจหลักชัดเจนดีแล้วเนี่ย ฐานมันก็ตั้งขึ้นแล้ว ต่อจากนั้นมันก็เดินหน้าได้ แต่มันต้องยอมรับว่าเหมือนกับเรามาเริ่มต้นใหม่ ก็ยากหน่อย อย่าลืมว่าฝรั่งเขาทำมาเค้าก็ยากเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเค้าจะทำได้ปุ๊บปั๊บ อย่างพวกที่เขามีทฤษฎีต่างๆ แล้วก็ทำงานวิจัยเนี่ยนะ เค้าไม่ใช่ง่าย แต่ถ้าไม่เพียรพยายามมันจะสำเร็จได้ยังไง แต่ตอนแรกก็คือ เนี่ยเรามองเห็นความจริงมั๊ยหละ เรายอมรับเราเห็นชอบด้วย ก่อนที่เราจะไปทำวิจัยเรื่องฉันทะ ตัวเราเองก็ต้องมีฉันทะก่อนใช่มั๊ย เรามีฉันทะเพราะอะไร เพราะเราเห็นความจริง แล้วเราก็เลยเกิดความอยากจะทำ ให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา นี้ฝรั่งเค้าก็มีความคิดของเขา พวกนักวิชาการจะเป็นนักจิตวิทยาการศึกษา อะไรทั้งหลายเนี่ยนะ นายโน่นนายนี่อะไรนี่ ก็เริ่มมาจากเขาได้คิดค้นแล้วก็เกิดพัฒนาทฤษฎีขึ้นมา แล้วเค้าก็พยายามหาทาง ที่จะทดสอบวิจัยอะไรยิ่งๆขึ้นไป แล้วเค้าก็ 1.ก็ตั้งใจจริง 2.เค้าก็มีระบบวิธีการ มีระบบวิธีการนี่สำคัญ แล้วก็มีทุนรอน แล้วก็ระบบวิธีมีการจัดตั้งด้วย มีคณะบุคคลอะไรต่ออะไรที่จะมาร่วมกันในการทำงาน มีทีมงานอะไรเป็นต้น ฝรั่งเค้าถนัดเรื่องนี้ ของเรานี่มันเสียตรงนี้ ไม่ค่อยมีระบบวิธี กระบวนการจัดตั้ง การจัดทีมงานอะไรนี่เราไม่ค่อยมีเลย เราก็เวลานี้เหมือนกับไปเรียนมาจากตะวันตก แต่ว่าก็เหมือนกับว่าตอนนี้อยู่ในระยะของการประสาน จึงมีมหาวิทยาลัยบางแห่งเค้าเริ่มแล้ว ถ้าท่านไปตามดูก็มี เดี๋ยวนี้อย่างเรื่องโยนิโสมนสิการเนี่ย มีในมหาวิทยาลัยต่างๆ เค้าเอาแล้วนะ ทำงานวิจัยกันออกมา แล้วก็มีนิสิตนักศึกษาทำวิทยาพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายรุ่นละ หลายคน หลายฉบับละ จบปริญญากันไป แล้วก็ตอนนี้ก็เป็นการวิจัยขั้นอาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตร ตอนนี้ก็ทำอยู่ ทำมาหลายปีละ ตอนนี้ก็เห็นบอกว่าจวนจะเสร็จ กำลังจะพิมพ์งานออกมา ก็หมายความว่าจากฐานที่ไปเรียนมาแบบตะวันตกนั่นแหละ แล้วก็เอาวิธีการหรือเค้าเรียก Methodology ของตะวันตกมาใช้ ตอนนี้ก็ เหมือนกับว่าเอาวิธีแบบตะวันตกมาประยุกต์ใช้กับหลักการของเรา มันก็เดินหน้าไปได้อยู่ แต่ว่ากำลังเริ่มต้น ต่อไปก็ต้องหาทางพัฒนาให้เป็นวิธีการของเราเองให้ดีขึ้น แม้แต่คำว่าทฤษฎีก็เป็นคำที่น่าศึกษา ทฤษฎีนี้ก็เป็นสันสกฤต ภาษาบาลีคืออะไรรู้มั๊ย คือทิฐิ คำเดียวกัน สันสกฤตเป็นทฤษฎี บาลีว่าทิฐิเท่านั้นเอง ก็หมายความว่าไอ้ที่เป็นทฤษฎีนี่ก็คือเป็นทิฐิหนึ่ง เป็นความเห็น คือไอ้ทิฐินั้นเป็นขั้นตอนของความรู้ เมื่อเราแสวงหาความรู้เนี่ยเราได้ข้อมูลความรู้เป็นความคิดขึ้นมา มันก็จะมาเป็นข้อสรุปในสมองของเรา เราได้ความรู้นั้นมาเราก็มาสรุป ก็ได้เป็นคล้ายๆว่า เป็นหลักอย่างหนึ่งขึ้นมา แต่เป็นหลักที่อยู่ในหัวสมองความคิดของเรา ตอนนี้แหละมันก็เป็นทิฐิ แต่เป็นขั้นตอนในการที่เราต้องการเข้าถึงความจริง ก่อนที่จะเข้าถึงความจริงมันก็มาเป็นความคิดเห็นที่เป็นข้อสรุปของเรา แล้วเราก็หาความจริงหาความรู้ต่อไปเพื่อจะมาตรวจสอบมาพัฒนาไอ้เจ้าทิฐิของเราเนี่ย นี้ท่านจึงให้ระวังในตอนที่เรากำลังพัฒนาทิฐิของเราอยู่เนี่ย เราเกิดไปยึดเอาไอ้ทิฐิของเราเนี่ยเป็นความจริง พอเราเอาทิฐิเป็นความจริงปั๊บ เราก็ยึดติด พอยึดติดปั๊บ ไอ้ทิฐิของเรามันเลยกั้นความจริงเลย เพราะว่าเราเอาทิฐิเป็นความจริงแล้วใช่มั๊ย มันก็ยุติ ติดตันแค่นั้น ต่อจากนั้นเราจะปกป้อง ปกป้องไอ้เจ้าทิฐิ ข้อสรุปของเรา 1.ถือว่าไอ้ทิฐิของเราเป็นความจริง เราก็พลาดละ 2.เราก็มัวมาปกป้องไอ้เจ้าทิฐิ เราก็ไม่ฟังใหญ่เลยไอ้ความจริงอะไรต่างๆเหล่านั้น มันก็เลยแย่เลยทีนี้ แล้วก็เกิดปัญหา เกิดความขัดแย้ง วุ่นวายกับคนอื่นในสังคม ก็ที่เรียกว่าทิฐิ ทิฐิ เนี่ยก็คือเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นก็ทิฐิ ทฤษฎีต่างๆ ก็พัฒนาขึ้นมา จากการที่หาความรู้แล้วสรุปข้อคิดต่างๆ วางลงไป ทีนี้ทฤษฎีจึงยังไม่ใช่ตัวความจริง จะต้องพัฒนาต่อไป ถ้าเมื่อไหร่มันเป็นตัวความจริงแท้ อันนั้นก็ ทางพุทธศาสนาเราไม่ถือว่าเป็น เราให้มีผ่านสัมมาทิฐิก่อน ใช่มั๊ยให้มันได้สัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิก็คือยังอยู่ในขั้นพัฒนา พอบอกว่าเป็นสัมมาทิฐิเรายอมรับเลยว่ายังอยู่ในขั้นการพัฒนา เราไม่ได้ไปยึดว่านี่ถึงความจริงเด็ดขาดแล้ว เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ก็คือสอดคล้องกับความจริง ความเห็นที่สอดคล้องกับความจริง แล้วเราก็พัฒนาต่อไป แล้วก็มัน ก็จะเข้าถึงความจริง ฉะนั้นทิฐิพื้นฐาน ก็เช่นว่าความเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความคิดเห็นหรือความเห็นแบบนี้ มันจะเกื้อกูลต่อการหาความจริง หรือการสืบค้นความรู้ เพราะพอเราเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยปั๊บ พอเกิดอะไรขึ้นเราก็สืบค้นหาความจริง หาเหตุปัจจัย มันก็เกื้อกูลต่อการหาความรู้ แต่ถ้าเราเชื่อเรามีทิฐิ เราเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเนี่ย มันเกิดจากการบันดาลของเทพเจ้าปั๊บนี่เลิกเลย ไม่ค้นหาความจริงแล้วใช่มั๊ย เพราะฉะนั้นไอ้ทิฐิแบบนั้น มันจะไม่เป็นสัมมาทิฐิ มันกั้นเลย มันไม่ทำให้เราเนี่ยสืบค้นความจริงต่อไป เราหยุดเลย แต่ถ้าเป็นทิฐิ แม้แต่เชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยเนี่ย มันไม่หยุด มันไม่กั้น ทำให้เกื้อกูลให้เดินหน้าต่อไป ฉะนั้นสัมมาทิฐิ มันก็สอดคล้องกับความจริง ทำให้การสืบค้น ปัญญาดำเนินต่อไปได้ ก็เป็นอันว่าไอ้พวกทฤษฎีนี่ก็เป็นทิฐิ ทีนี้มนุษย์เราก็หาความรู้แล้วก็มาประมวลความรู้ แล้วก็สรุป เป็นความคิดเห็นที่ถือว่าจะเป็นตัวแทนแสดงความจริงของสิ่งทั้งหลาย แล้วก็เกิดเป็นทฤษฎีขึ้นมา ก็เป็นทฤษฎีแต่ละเรื่อง ทฤษฎีเศรษฐกิจ ทฤษฎีทางสังคม ทฤษฎีทางการเมืองอะไรต่างๆเหล่านี้ ก็กลายเป็นไอ้ทิฐิย่อยๆ หรือส่วนหนึ่งของหลักความจริงเหล่านั้นเท่าที่ตนคิดเอง นี้ทฤษฎีเหล่านี้ในแง่หนึ่ง เมื่อเราไม่สามารถมาเชื่อมโยงหรือไม่มองแบบที่เค้าเรียกว่าองค์รวมเนี่ย ก็จะแยกขาดเป็นอันๆ พอแยกขาดเป็นอัน ก็เรียกว่าแยกส่วน แล้วพอยึดติด มันก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งกัน ฉะนั้นเราก็จะมีทฤษฎีแบบสังคมนิยม ทฤษฎีแบบทุนนิยม แล้วก็ทฤษฎีเศรษฐกิจ กับทฤษฎีการเมืองบางทีก็ขัดกัน อยู่ในสังคมเดียวกันอะไรระบบเดียวก็มีทฤษฎีนั้น ทฤษฎีนี้ ตอนนี้ก็ยุ่ง เวลานี้ปัญหาของโลกก็อยู่ที่ว่ามีทฤษฎีเยอะแล้วทฤษฎีต่างๆมันขัดกัน เพราะฉะนั้นมันจะต้องถึงขั้นอีกขั้นหนึ่ง เมื่ออยู่ในขั้นทฤษฎีก็ยอมรับว่าเรายังไม่ถึงตัวความจริง อย่างน้อยจะต้องให้สามารถประสานทฤษฎีเหล่านี้ได้ ถ้ามันขัดแย้งกันอยู่ หรือเราไม่สามารถมองโยงได้ ก็แสดงว่าเรายังไม่เดินหน้า เราจะต้องมีปัญหาจากทฤษฎีเหล่านี้ ก็คือความขัดแย้งต่างๆ แล้วก็มองเห็นอะไรเป็นด้านๆ ส่วนๆ ก็เวลานี้ก็เป็นอย่างนั้นหนะ อ้าวนี่ก็นอกเรื่องไปนิดหนึ่ง เป็นอันว่าทฤษฎีก็คือทิฐิ นี่ก็ให้รู้ว่าทฤษฎีนั้นก็เป็นขั้นตอนหนึ่งในการแสวงหาความจริง แล้วก็อย่าไปติดอยู่แค่นั้น จะต้องก้าวต่อไป เวลานี้เค้าก็เอาทฤษฎีนี้มาเป็นฐานในการที่จะปฏิบัติการ พอมีทฤษฎีแล้ววางระบบปฏิบัติการก็เป็นขั้นวิธีการไป ทีนี้ถ้าทฤษฎีมันพลาด วิธีการปฏิบัติมันก็พลอยผิดพลาดไปหมด บางทีมาติดแม้แต่ขั้นวิธีการ ไอ้ทฤษฎีเองมันก็แย่อยู่แล้ว ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก ทฤษฎีตัวเองก็ไม่เข้าถึงอีก ยิ่งไปกันใหญ่เลย แล้วแต่ละคนก็เลยมายิ่งขัดแย้งกันในสังคม เพราะว่ามันเข้าไม่ถึง ทีนี้คนยิ่ง โลกมันเจริญ วัฒนาการมันมีเรื่องมากขึ้น มันมีสิ่งที่จะมองศึกษาข้อมูลความรู้มันมากมาย จนกระทั่งมันตามไม่ไหว มันก็เลยยิ่งมีแนวโน้มที่จะไปติดอยู่เฉพาะแง่มุมด้านหนึ่งๆ ของหลักการความเชื่อทฤษฎีเท่านั้นเอง ปัญหาก็ยิ่งมากขึ้น ฉนั้นจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องพยายามตระหนักไว้ ตระหนักต้องมีฉันทะ มีฉันทะที่จะสืบค้นความรู้ แล้วตัวนี้มันจะมาเป็นตัวกระตุ้นทำให้เราไม่หลงมาก ไม่หลงตัวเอง เพราะฉันทะมันก็มาเป็นตัวแย้ง ทำให้เราไม่มายึดติดทิฐิเกินไป เพราะเราอยากรู้นี่ ความใฝ่รู้มันก็ตัวกระตุ้น มันก็ทำให้อยากรับฟังคนอื่นด้วย อยากหาความรู้มันก็มาแย้งเอง แทนที่จะมายึดติด คนเรามันก็มีกิเลส มันก็ติดตัวเองอยู่ ยึดทิฐิของตัวเหมือนกันหนิ ยึดติดแต่เพราะไอ้ความอยากรู้มันมากกว่า มันก็เลยช่วยให้เราพ้นไปได้ พ้นจากการยึดติดทิฐิของตัวเอง เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ฉนั้นท่านก็ให้ก็ปลุกฉันทะให้มาก ฉันทะก็อยากรู้ อยากทำสิ่งที่ดี อยากเข้าถึงความจริงยิ่งๆขึ้นไป ก็เดินหน้าไปเรื่อยๆ นิมนต์ มีอะไร
การจะเอาไปสู่การทำจริงๆ เนี่ยนะครับ ควรจะมีวิธีการที่จะเป็นแบบจำเพาะของพุทธศาสนาให้รับกันพอดีอย่างนี้ครับ ถ้าเราเอาฐานของพุทธศาสนาเป็นทฤษฎีหลักแล้วไปใช้วิธีการที่เขามีปัจจุบันนี้ เช่นใช้วิธีการวัดของเขาอย่างนี้ครับ จะไปกันได้มั๊ย ระหว่างฐานทฤษฎีของเรากับใช้วิธีการของเขา
ก็มันมีไอ้พวกแง่มุมบางอย่างที่มันใช้ประโยชน์ได้ เราก็ต้องรู้จักดัดแปลงเอา อันนี้มันก็เป็นเรื่องของวิธีการที่จะปรับใช้ ว่าจะปรับใช้ยังไงให้มันได้ผล แต่อย่างน้อยเราก็ต้องเห็นคุณค่านะ ฝรั่งเขาต้องคิดค้น เพียรพยายาม ต้องยอมรับนะ เขาก็มีฉันทะเยอะนะ เขามีความใฝ่รู้จริงจังมากอยู่ โดยเฉพาะยุคพัฒนาวิทยาศาสตร์ขึ้นมาเนี่ย ก็เพราะอะไรก็เพราะเขาอยากรู้นี่แหละ มันมีนักวิทยาศาสตร์ที่บริสุทธิ์จริงๆ คืออยากรู้ความจริงของธรรมชาติโดยไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ เวลานี้เค้าพูดเป็นล้อกันว่า วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เนี่ย ที่จริงมันไม่บริสุทธิ์ ทำไมมันไม่บริสุทธิ์ เพราะว่ามันรับใช้อุตสาหกรรม มันรับใช้ธุรกิจ ก็หมายความว่ามันมีกิจการบางอย่างต้องการให้วิจัยด้านนี้ๆ แล้วก็เอานักวิทยาศาสตร์เนี่ยมารับจ้างให้วิจัยเฉพาะด้านนั้น บางทีหนักเข้าไปอีก มีเป้าหมายไว้แล้วนะ ตั้งเป้าให้ออกมาอย่างนี้ แล้วนักวิทยาศาสตร์ ก็วิจัยให้ออกผลเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ก็ไม่บริสุทธิ์แน่ใช่มั๊ย แต่ว่าไม่ใช่แค่นั้นหรอก เพียงแค่ว่าไม่ได้มุ่งหาความรู้แท้ตามธรรมชาติ ก็เป็นเพียงว่าไปสนองความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมบางอย่าง อย่างนี้ก็ถือว่าไม่บริสุทธิ์แท้ละ ทั้งๆที่ไม่ได้มุ่งผลประโยชน์หรอก แต่ว่ามันเป็นเพียงว่า มันเป็นระบบความเจริญอารยธรรมของมนุษย์ที่หนักไปด้านนั้น ด้านนั้นจะ ซึ่งในที่สุดมันก็คือว่าอุตสาหกรรมเนี่ยเพื่อไปผลิตสิ่งเสพบริโภคให้แก่มนุษย์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เสร็จแล้วนักวิทยาศาสตร์ก็ไปวิจัยค้นคว้า ทดลองเนี่ยเพื่อจะหาความรู้มาพัฒนาไอ้อุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีด้านนี้ แค่นี้ก็ที่จริง ก็ไม่บริสุทธิ์ละ ไม่ได้หาความจริงของธรรมชาติแท้จริง ฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์มันก็จึงมีพวกที่ใฝ่รู้แท้ๆ ต้องการหาความจริงของธรรมชาติ จริงๆพวกนี้ก็มี อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์จริงๆ แต่มันยากเพราะว่าลึกลงไปอีก มันก็ยังมีอีก ว่าในอารยธรรมตะวันตกทั้งหมด แม้แต่ไม่ใช่ว่าจะไปสนองอุตสาหกรรมแบบไหน อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมอะไรไม่ได้สนอง แต่มันมีความคิดพื้นฐานอันหนึ่งของตะวันตก คือความคิดจะพิชิตธรรมชาติ มีมาตั้งแต่สมัยกรีกแล้ว 2000 กว่าปี 3000 ปีเนี่ย กรีกเค้าก็มีความคิด ว่ามนุษย์เนี่ยจะอยู่ดีมีสุขสมบูรณ์ เมื่อสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ เพราะมนุษย์ที่ต้องทนทุกข์ยากลำบาก อากาศหนาวก็อยู่เป็นทุกข์ อดอยากขาดแคลน แล้วก็จะต้องมาทำการเกษตรอะไรต่ออะไรตามที่ธรรมชาติมันอำนวย ฤดูฝนฤดูอะไรต่ออะไร โอ้ลำบาก เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราสามารถ มีความรู้แล้วไปจัดการกับธรรมชาติได้ ชนะมันได้เนี่ย มนุษย์ก็จะเจริญรุ่งเรือง มีความสุขแท้จริง ตะวันตกนี่เค้ามีความเชื่อนี้อยู่ อันนี้ก็อยู่เบื้องหลังของการพัฒนา การหาความรู้วิทยาศาสตร์ไปเลย ฉะนั้นพอไปถึงฐานที่สุดแล้วมันกลายเป็นว่ามันมีเจตนาหรือเจตจำนงอันนี้อยู่ พุ่งเป้าหมายไปที่การเอาชนะธรรมชาติ ถึงตรงนี้เค้าก็คือว่า เอาเข้าจริงก็ไม่บริสุทธิ์อีกละ เพราะมันมีเป้าหมาย เจตนาจะพิชิตธรรมชาติ ตะวันตกถือว่าถ้าพิชิตธรรมชาติสำเร็จเมื่อไหร่นั้นคืออุดมคติของมนุษย์ เป็นสังคมที่วิเศษสุด มนุษย์จะเป็นสวรรค์บนพื้นดิน เพราะว่ามนุษย์ชนะธรรมชาติแล้ว จัดการอะไรก็ได้ อย่างที่คนหนึ่งเค้าบอกว่า ต่อไปด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนี่ย มนุษย์จะสามารถจัดการกับธรรมชาติเหมือนธรรมชาตินั้นเป็นขี้ผึ้งในกำมือว่างั้น นี่เค้าฝันอย่างนั้น ตอนนี้มันไม่เป็นละ เพราะตอนนี้มันกลายเป็นว่า จัดการไปจัดการมาธรรมชาติมันยับเยิน แล้วมันก็กลับมาเป็นอันตรายต่อมนุษย์เอง มนุษย์เองจะอยู่ไม่ได้ ตอนนี้มันกลับเป็นว่าให้มองใหม่ว่าอย่ามองตัวเป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติ ให้มองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้วก็อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้ดี เป็นมิตรกัน ก็ตอนนี้ มันซับซ้อน มีปัญหาเยอะ เพราะว่าไอ้ตัวเจตจำนงเดิม จุดมุ่งหมายเนี่ยมันผิดทั้งหมด ฐานมันผิดทั้งหมด ทั้งอารยธรรมเลย พอมาอย่างนี้แล้วทีนี้มันกลับตัวยาก มันไม่รู้จะทำยังไง ความใฝ่ฝันก็ เจตนาเจตจำนงแนวคิดหรือทิฐิอันนี้อยู่เบื้องหลัง ก็พัฒนาวิทยาศาสตร์ด้วยเจตจำนงนี้วิทยาศาสตร์ก็มาเป็นตัวผลักดันเทคโนโลยี เพราะความรู้วิทยาศาสตร์จะมาช่วยในการจัดการกับธรรมชาติอย่างไร ก็ต้องออกทางเทคโนโลยี เทคโนโลยีจะมาพิชิตธรรมชาติแล้วก็มาเอื้ออำนวยความสุขแก่มนุษย์ก็ต้องเข้าเป็นอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีก็มาพัฒนาอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเจริญได้ด้วยเทคโนโลยี เป็นโรงงาน เป็นอะไรต่ออะไรทุกอย่าง เป็นเครื่องอุปกรณ์ เป็นไอ้พวกโรงงานสารพัด พออุตสาหกรรมเพื่ออะไร ก็เพื่อผลิตสิ่งเสพบริโภคให้มนุษย์ ก็จะได้อุดมสมบูรณ์มีกินมีใช้ได้ตามสบาย ก็คือเพื่อเศรษฐกิจ ฉะนั้นจุดหมายก็มาลงที่เศรษฐกิจ แล้วกลายเป็นว่ามีกิน มีเสพบริโภคบริบูรณ์ก็คือสุขสมบูรณ์ ก็จบที่นี่ พอมนุษย์ว่าจะสุขสมบูรณ์มันไม่สุขจริงเสียแล้ว เกิดปัญหาก็ไปเป็นปัญหากับธรรมชาติอีก บนแล้วทีนี้ แล้วจะทำยังไง ถ้ามนุษย์จะสุขสมบูรณ์ ธรรมชาติก็มอดม้วย ถ้าธรรมชาติมอดม้วย มนุษย์ก็มรณา ก็ไม่รู้จะทำยังไงเนี่ย แล้วถ้ามนุษย์จะยอมให้ธรรมชาติอยู่ดีดีไม่ไปรบกวนมัน มนุษย์ก็ไม่มีสิ่งเสพบริโภคบริบูรณ์ มนุษย์ก็แย่ ไม่สุข เนี่ยเขาเรียกว่า dilemma ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก ติดตันอยู่เนี่ย อารยธรรมตะวันตกอยู่ตรงนี้ ตอนนี้มนุษย์ก็ต้องเบียดเบียนกันว่า สังคมที่เจริญพัฒนา ก็ต้องอาศัยเหมือนกับเอาเปรียบไอ้สังคมที่ไม่พัฒนาอะไร เพื่อจะได้มีสิ่งเสพบริโภคมาก เหมือนอย่างอเมริกาปัจจุบันนี้ เขาก็ยอมรับอยู่ว่าอเมริกาประเทศเดียวนี่บริโภคทรัพยากรนี่ 40 เปอร์เซ็นต์ของโลก แล้วถ้าทุกประเทศจะอยู่ดีมีสุขอย่างอเมริกา แล้วทำไง ท่านว่ายังไงหละครับ เอออย่างเนี้ย เอาแค่เนี้ย ตอบได้ยังไง จริงอยู่คนอเมริกาก็สุขสมบูรณ์พอสมควร แต่ว่าไม่ใช่สุขแท้นะ สุขในแง่ความสะดวกสบายมีสิ่งเสพบริโภค แต่ว่ามันต้องบริโภคทรัพยากรของโลกราวสามสี่สิบเปอร์เซ็นต์ แล้วเค้ามีประชากร 270 ล้านคน 270 ล้านคนนี่ ประชากรของโลก 6,000 ล้านคน แล้ว 270 ล้านคน ก็เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของในโลก ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ แล้วบริโภคทรัพยากรตั้งสามสี่สิบเปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าจะให้คนในโลกสุขสมบูรณ์อย่างอเมริกันเนี่ย แล้วบริโภคอย่างนั้นแล้วจะเอาทรัพยากรที่ไหน ก็นี่ก็หมายความว่าอเมริกาจะสุขสบายอยู่ได้ คนอื่นก็ต้องยอมทุกข์ แค่นี้มันก็ไปไม่รอดแล้ว ก็ตอนนี้ก็คือต้องหาทางกันอยู่อย่างนี้ อเมริกาก็ต้องพยายามรักษาสถานะของตัวเองไว้ ถ้าตัวเองรักษาสถานะไม่อยู่ตัวเองก็ลำบาก มันก็เป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างที่ว่า ก็เอากลับมาเรื่องของเรา แต่ว่าในระยะยาวมันก็ต้องคิดกันไป หาทางแก้ปัญหา คือถ้าใช้หลักพุทธศาสนาเราถือว่าเราตอบได้ใช่มั๊ย มนุษย์ก็อย่าไปพึ่งพาความสุขภายนอกมากเกินไป อย่าไปขึ้นต่อมันสิ ก็พัฒนาตัวเราด้วย ในระดับหนึ่งเราก็ขึ้นต่อสุขจากสิ่งเสพบริโภค แต่ว่าอย่าให้เกินไป รู้จักพัฒนาความสุขด้านใน ที่มีความสุข ว่ายิ่งมนุษย์พัฒนาความสุข ก็ยิ่งพึ่งพาภายนอกน้อยลง มันต้องอย่างงั้นด้วย แล้วเมื่อมนุษย์มันอยู่ในระดับไอ้ที่มีการพัฒนาอย่างนี้ มันก็จะเป็นไปเอง ก็จะทำให้มันมีการแบ่งปันอะไรต่ออะไรกันได้ เฉลี่ยกันไป ถ้ามนุษย์ในอเมริกาส่วนที่มันพัฒนามาก มันกลับกินเสพบริโภคน้อยลง แล้วมันก็จะช่วยให้อยู่กันเป็นสุข ได้ทั้งสังคมมากขึ้น ตอนนี้ก็คืออย่างเนี้ย คนที่จะสุขมากขึ้น ก็คือต้องเอาจากคนอื่นมากขึ้น เอาจากสังคมมากขึ้น เอาจากสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมากขึ้น คนก็ไม่อยากจะคิดกันจริงจังในเรื่องที่เท่าไหร่ คล้ายๆ ไปไป ฮู้ คิดมันยุ่ง ลำบากนัก อยู่มันไปอย่างนี้ดีกว่า ไปตามกระแสสังคม ก็แย่งกันไป ชิงกันไป มีโอกาสก็เอาเปรียบกันไป เรามีทางได้ก็เอาไป แล้วก็ตายกันไป แล้วก็ให้พวกหลังมัน รุ่นหลังๆมันรับเคราะห์กันไปเอง ไปไม่รอดมันก็ต้องอย่างเนี้ย มีคนคิดจริงจังเท่าไหร่ ไม่ค่อยมี อ้าว จบหรือยังหละ
อีกซักคำถามนึงครับ คือโดยสรุปพระเดชพระคุณที่พูดก็คือ ให้เลือกเอาวิธีการของฝรั่ง เช่น วิธีการ???ปัญญา แล้วคราวนี้อยากจะถามจำเพาะลงไปว่า ตัณหา ฉันทะเรานี่ จะสามารถวัดเป็นตัวเลขได้มั๊ยครับ
คือวัดได้ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเราจะไปเอาวิธีการฝรั่งมาหมด เมื่อกี้บอกว่าปรับใช้ คือหมายความวิธีการของเขานี่ เขาได้ทดลอง เขาใช้มาอย่างน้อยในด้านวัตถุเชิงรูปธรรมเนี่ย เขาพัฒนามาได้ดี แต่เราจะถือว่าพอแล้ว เราก็ต้องมาพัฒนาของเราต่อ เพราะในการวัดในเชิงนามธรรมเนี่ยมันอาจจะไม่พอ ยิ่งมาวัดในเรื่องของนามธรรมที่ละเอียดอ่อน ซึ่งเขาเอง ไม่เข้าใจเนี่ย เขาเองเขาก็วัดได้ยาก เราก็ต้องมาคิดของเราเพิ่มขึ้น แต่ว่ามันก็มีทางวัดได้อยู่ เหมือนอย่างที่ว่าแค่กินอาหารก็วัดได้ว่าจะกินด้วยตัณหาหรือกินด้วยฉันทะ มันมีปัญญาในการบริโภคหรือเปล่า มันก็พอเห็น อย่างที่ว่า อ้าวก็ฉันทะ มันก็ต้องเล็งไปหาตัวองค์ธรรมข้ออื่น เช่น โยนิโสมนสิการ อย่างที่เราสวดปฏิสังขาโยเนี่ย มันก็เป็นเรื่องที่ด้านที่เอามาเกี่ยวข้องกับปัญญา แล้วก็มันก็ทำให้เรียกร้องทำให้เกิดฉันทะได้ มันก็ดึงกันมา ทีนี้เราก็อาศัยไอ้ความรู้เข้าใจเกี่ยวกับตัวความจริงสภาวะที่ตั้งขึ้นเป็นหลักการ แล้วก็ความสัมพันธ์ระหว่างไอ้ตัวสภาวะต่างๆ ที่เรียกว่าองค์ธรรมเหล่านี้ เราก็มาสร้างไอ้ระบบวิธีวัดขึ้นมา ก็เราก็ต้องเข้าใจสภาวะก่อน พอเข้าใจสภาวะแล้วก็พัฒนาตัวระบบวิธีขึ้นมา แต่ว่าเป็นอันว่า ทำได้นะ ก็ต้องอดทนแล้วก็ขยันหมั่นเพียร ในแง่ของอันนี้เราก็ต้องรู้จักว่าฝรั่งเขาได้ทำมาสำเร็จก็ด้วยความเพียรพยายาม ไม่ใช่ว่าเขาจะทำได้ปุ๊บปั๊บเมื่อไหร่ อย่างที่ว่าแหละฝรั่งมันเด็ดเดี่ยวนะในความเพียรนี้ เขาตั้งใจทำอะไรนี่ทรหดจริงๆ แล้วก็กล้าสู้ เคยพูดแล้วนี่ฝรั่งต้องการความรู้นิดเดียวสามารถดั้นด้นไปสุดขั้วโลกเลย เราต้องยอมรับแล้วเค้าก็มีนิสัยในการผจญภัย เด็กๆฝรั่งเนี่ยดู คือมีพวกญาติโยม อย่างพวกไปแต่งงานกับฝรั่ง ไปอยู่เมืองฝรั่ง ลูกเกิดมาแหมมันชอบผจญภัยจัง แข่งขันอะไรต่ออะไรก็เรื่องผจญภัย ทีนี้เด็กไทยเราตอนนี้มันไม่ใช่ผจญภัย มันจะไปหาสิ่งเสพบริโภคท่าเดียว พัฒนาไป อย่าไปท้อ ก็ต่อไปก็คงได้แหละ ก็ถ้าว่ากันไปมหาวิทยาลัยไทย มันน่าจะเป็นผู้นำเขาบ้างนะ เออเขาพัฒนา ไอ้เรื่องการวิจัยต่างๆของเขามา ก็แนวคิดของเขาก็พัฒนาของเขา เราก็ต้องพัฒนาของเรา มีความเป็นผู้นำบ้างสิ จะไปมัวต้องคอยตามอย่างเดียวทำไม ต่อไปก็ทำได้ มีอะไรของตัวเป็นจุดที่ชัดเจนเด่นขึ้นมาเป็นประโยชน์ เขาก็เห็นคุณค่า เขาก็ต้องมาตามอยู่ดีแหละ นิมนต์
พอดีคำถามที่จะถามเกี่ยวพันกับเรื่องของทิฐิพอดี อยากจะถามว่าการฝึกสมถะ แล้วก็วิปัสสนา จะต้องมีความรู้ในด้านปริยัติมากน้อยแค่ไหน ถึงจะฝึกได้ถึงขั้นอริยบุคคล เพราะว่าเคยได้ฟังผู้ที่เรียนศึกษาพระอภิธรรมมามากนะครับ จะพูดว่าถ้าไม่ศึกษาให้รู้ชัดก่อนแล้วปฏิบัติเนี่ย ก็จะผิดเหมือนกับว่าเป็นมิจฉาสมาธิ หรือว่าบางทีก็ไม่รู้จะกำหนดที่ไหนบ้าง คนที่ไม่ศึกษาให้ละเอียดเนี่ย มักจะอ้างว่าเป็นธรรมที่ละเอียดเกินไป พระพุทธเจ้าใช้ตรัสสอนเทวดา อ้างว่าไม่ใช่พระพุทธพจน์บ้างอะไรอย่างนี้ครับ แล้วก็ถ้าเกิดว่าไม่ศึกษาให้รู้ละเอียดเนี่ยก็จะปฏิบัติผิด ยกตัวอย่างเช่น บางคนที่เอาพระพุทธรูปมาเพ่งเนี่ยแล้วบอกว่าเป็นพุทธานุสติเนี่ย จริงๆแล้วพุทธานุสตินี่เป็นการกำหนดอารมณ์คือใช้อารมณ์เป็นกรรมฐานไม่ใช่รูป ไม่ใช่ตัวรูปารมณ์
มันเป็นความคิด เป็นสัญญา
หรือว่าการเริ่มผิดอย่างเช่นในเรื่องวิปัสสนา การเดินจงกรมเนี่ยครับ บางทีคนไม่ศึกษาเรียนรู้ก่อนก็จะไม่ได้เริ่มจากสิ่งที่หยาบก่อนคือปฐวี แต่ไปเริ่มจากการเคลื่อนไหว วาโยบ้าง อะไรอย่างนี้ครับก็จะเป็นการผิด ทีนี้บางคนเนี่ย อีกฝ่ายหนึ่งก็จะพูดว่าการศึกษาพระอภิธรรมก็ไม่จำเป็น เพราะว่าลึกเกินไป แล้วก็จะทำให้ติดในเรื่องของบัญญัติต่างๆ ผมก็เลยอยากจะรู้ว่าจะต้องศึกษามากน้อยแค่ไหน ตรงไหนอย่างไรครับ
คือบางทีมันก็เป็นสุดโต่งไป ก็เราก็เห็นอยู่นะ บางคนเนี่ยเรียนฟังอ่านรายละเอียดเยอะแยะไปหมด จับหลักไม่ได้ บางคนนี่ก็เอาละไม่ต้องรู้ละเอียดนัก แต่ก็จับหลักได้ บางคนแกก็จับทั้งหลักได้ ทั้งรู้รายละเอียดด้วย เอาทีนี้เราก็แยกคนสิ ระหว่างคนที่จำรายละเอียดเยอะแยะ จับหลักไม่ได้ กับไอ้คนที่จับหลักได้ แต่รู้ไม่เยอะแยะนัก อันไหนดีกว่ากัน เอาสองคนนี้ก่อน
คนที่สองดีกว่า
คนที่สองจับหลักได้ดีกว่า เห็นมั๊ยแค่นี้ก็ได้เรื่องละ อย่าไปเถียงกันมากเลย บอกบางคนนี่แกจุกจิกเอารายละเอียด แต่ว่าแกจับหลักไม่ได้เลย มันก็ไปติดไอ้รายละเอียดนั่นแหละ แล้วก็ไม่รู้ไอ้องค์นี้มันไปสัมพันธ์กับอันนั้นยังไง มันอยู่ที่จุดไหนในระบบ นี้คนที่เข้าใจหลักการมันมองเห็นภาพรวม มองเห็นระบบนี่ บางทีมันไปถึงรายละเอียดได้เองเลย โดยไม่ต้องไปรู้ละเอียดหรอก คือมันจับหลักได้แล้ว พอมันนึกถึงรายละเอียดเนี่ย มันเป็นเพียงว่าสำหรับเวลาต้องการ เวลาต้องการ ก็ไปดูรายละเอียดเรื่องนี้มันก็รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน มันต้องการเพราะอะไร มันรู้เหตุผลในการที่ต้องการรู้ แล้วเมื่อไรต้องการรู้ เมื่อไรจะใช้ มันรู้หมด นี่สิที่เราต้องการ เรื่องอะไรเราจะไปเรียนหวาดไหวเหรอรายละเอียด จริงอยู่บางคนก็อย่างที่ว่า มันได้ทั้งรู้หลัก และก็ได้รายละเอียด ถ้าได้ทั้งรู้หลักและจับถึงรายละเอียดหมดนี่ เราต้องยอมรับว่ายอด แต่ว่าสำหรับคนทั่วไป เราอย่าไปคาดหมายต้องให้เป็นอย่างนั้น มันเป็นไปไม่ได้หรอก ก็ให้เขาได้หลักการ พอได้หลักการแล้วทีนี้หละครับ มันจับจุดถูกหมดเลย อย่างที่บอกเมื่อกี้ มันรู้ว่าเมื่อเจออันนี้แล้วมันมีความหมายอะไร ความสำคัญอย่างไร มองในแง่ตัวเองจะต้องการอะไรเมื่อไร จะไปใช้อะไร จะไปเอาที่ไหน พอเริ่มปฏิบัติสมถะวิปัสสนา ก็รู้ว่าสมถะมันอยู่ที่อะไร วิปัสสนามันอยู่ที่อะไร อ้าวสมถะมันอยู่ที่อะไร สมถะนี่ก็คือเป็นระบบวิธีการฝึกเพื่อจะให้จิตมันแน่วแน่ เป็นสมาธิ เป้าหมายมันอยู่ที่สมาธิเท่านั้นแหละ จิตมันสงบแน่วแน่ แล้วไอ้จิตที่สงบแน่วแน่ ก็เป็นแกนให้แก่คุณธรรมความดีงามทางจิตใจทั้งหมด แต่ว่ามันจบแค่ด้านจิต มันไม่พอ ก็เลยว่าต้องไปปัญญา ปัญญาก็วิปัสสนา ก็พอวิปัสสนาก็ทำให้รู้เข้าใจสภาวะสิ่งทั้งหลายตั้งแต่ชีวิตของตัวเองตามเป็นจริง ทั้งรูปธรรม นามธรรม อะไรก็แล้วแต่มองเห็นอย่างนี้แล้ว ก็เห็นเรียนแบบมีเป็นระบบ ต่อไปก็จับแยกย่อยอะไรต่ออะไร ขั้นตอนความสัมพันธ์ต่างๆระหว่าง ส่วนย่อยต่างๆ ส่วนประกอบองค์ร่วม มันจะมองอะไรได้ดีขึ้น ชัดขึ้น แล้วก็พัฒนาไอ้ความรู้นี้ไปตามขั้นตอนของการปฏิบัติด้วย ไม่ใช่ว่าจะต้องไปเรียนให้จบก่อนแล้วไปปฏิบัติ อาจารย์ที่ชำนาญเขาก็จะรู้ว่า เออสำหรับผู้ปฏิบัติจะเริ่มต้นนี่ควรจะรู้แค่ไหนก่อน ไอ้ไม่รู้เลยมันก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จะมีอาจารย์แบบที่ว่า เป็นผู้ให้ปริยัติโดยที่ว่าต้องไว้ใจครู แล้วถ้าผิดก็อยู่ที่ครูแล้วใช่มั๊ย ก็อย่างนี้ก็เรียกว่ามอบความไว้วางใจแก่ครู ครูผิดก็ผิดไปเลย ก็ครูก็จะเป็นผู้ตัดสิน คุณไม่ต้องไปเรียนปริยัติ เหมือนกับพูดว่าไม่ได้เรียน แต่ที่จริงก็คือเรียนเอาจากครู ครูจะจำกัดให้เองว่าตอนนี้ท่านจะเริ่มปฏิบัติ ครูก็จะมาจัดสรรให้ว่า เออท่านจะเริ่มเนี่ยนะท่านต้องรู้อันนี้อันนี้ ก็บอกให้ไปเลย โดยที่ลูกศิษย์ไม่รู้หรอกว่านี่คือให้ปริยัติ ก็จะบอกเป็นเหมือนข้อปฏิบัติ เออข้อปฏิบัตินี่ก็คือปริยัตินั่นแหละก็คือข้อที่ต้องรู้ ว่าจะเอาไปทำยังไงใช่มั๊ย ก็จะบอกว่า เออท่านไปนั่งอย่างนั้นนะ แล้วก็ให้ปฏิบัติอย่างนี้นะ ให้สูดลมหายใจเข้าออกยาวสั้น อะไรอย่างนี้นะเอาเท่านี้พอ นี่แสดงว่าให้ปริยัติเท่าที่อาจารย์เห็นว่ามันจำเป็น แล้วพอไปปฏิบัติ แล้วก็มาสอบถามกัน ท่านได้ไปถึงไหนก็ให้เพิ่มไป อย่างนี้ก็เรียกว่าปริยัติที่ขึ้นต่ออาจารย์ สมัยนี้บางทีเราก็ไม่ไว้ใจว่าอาจารย์นี่จะนำไปถูกมั๊ย รู้จริงหรือเปล่า ก็เลยมีการที่จะพยายามศึกษาค้นคว้า ทีนี้คนที่ศึกษาค้นคว้าเองเนี่ย มันก็กลายเป็นว่าตัวเองยังไม่รู้ชัด ต้องมาหาสิ่งที่จะเลือกเยอะ ก็เลยกลายเป็นว่าต้องเรียนมากมาย ไม่ใช่เฉพาะสมัยนี้ แม้แต่พุทธกาลพระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงสอนใคร พระองค์ก็ต้องดูว่านายคนนี้มายังไง มีระดับพื้นภูมิความรู้แค่ไหน ควรจะรู้เท่าไร แล้วพระองค์ก็จะตอบคำถามเค้าบ้าง หรือพระองค์อาจจะสอบถามเค้าพอให้รู้ภูมิฐาน หรือให้รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์แก่เค้า แล้วพระองค์ก็บอกไปแค่นั้น นี่แหละคือตัวความจริงของข้อปฏิบัติที่แท้ มันก็อยู่เท่านี้ ทีนี้สำหรับพระพุทธเจ้าทรงรู้หมดแหละ รู้ไอ้ความจริงทั้งหมดแล้ว รายละเอียดทั้งหลายก็รู้หมดแล้ว พอเจอคนพระองค์ก็ ก็รู้สิว่าควรจะให้อะไรเขา ควรจะบอกอะไรเขา อะไรจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตเขา ทีนี้สมัยนี้พอเราอยู่ในยุคที่ว่ามันอาจจะพร่าบ้างอะไรบ้าง ก็ไม่รู้จะทำไง เราก็ต้องแสวงหาความรู้เต็มที่ไป แต่ว่าเราพยายามให้ได้เป็นระบบที่สุด ฉะนั้นวิธีการศึกษาที่ดี ก็คือวิธีการศึกษาที่เป็นระบบ มันจะได้ไม่เสียเวลาเปล่า แล้วก็ไปทำให้พร่ามัวสับสน จับจุดไม่ถูกไปลงแต่รายละเอียด แล้วก็ไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นอันว่า 1.การเลือกกัลยาณมิตรครูอาจารย์ก็จึงเป็นเรื่องสำคัญ 2.ตัวเองก็ต้องรู้จักพิจารณาค่อยๆหาความรู้โดยที่ว่าตรวจสอบตัวเองด้วย ว่าความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นยังไง แล้วอย่าไปท้อแท้ ต้องสืบค้นจริงจัง เราอย่าไปข้ามขั้นตอนก็ไม่ดี ทว่าเราต้องการรู้อันนี้ เราก็พยายามให้มันชัดไปเลย แล้วโดยวิธีที่เราพยายามทำความชัดเจนเป็นด้านๆต่อไปเราจะเข้าใจ เราจะจับจุดได้ดีขึ้น พอถึงจุดหนึ่งเราจะรู้สึกว่า เออเราเนี่ยจับจุดได้แล้ว ต่อไปเราจะก้าวได้ดี มั่นคง เป็นแนวเป็นทิศทาง ตอนแรกมันจะไม่มีทิศทาง อาจจะยอมสับสนอะไรต่ออะไรบ้าง อย่าไปท้อก็แล้วกัน มันไม่ใช่ว่าจำเป็นจะต้องรู้รายละเอียดไปหมดหละ หรือบางทีผมก็เคยเปรียบเทียบเหมือนอย่างนี้ เหมือนอย่างคนที่จะข้ามแม่น้ำ ก็มันไม่มีเรือไม่มีอะไร ก็ทำแพเอา ถ้าท่านจะทำแพ ท่านก็รู้ว่าอะไรมันจะช่วยให้ทรงตัวในน้ำ ให้มันลอยได้ เราก็อาจจะเคยได้ยินมาบ้าง พอจะรู้ว่าเออ ไม้ไผ่ หรือแม้จะไม่มีไม้ไผ่ ก็อะไรที่แทนไม้ไผ่ เป็นไม้ได้ แล้วเราก็ไปตัดหรือไปหาเอามา แล้วก็มามัดติดกัน พอเสร็จแล้วให้มันพอรองรับน้ำหนักเราได้ แล้วมันลอย เราก็ขึ้นไปนั่ง แล้วเราก็หาอะไรมาเป็นพาย ถ้าไม่มีพายจริงๆก็เอามือ แล้วก็ข้ามแม่น้ำไปได้ ทีนี้อีกคนหนึ่งเนี่ยนะ เขาไม่ใช่แค่ว่าหาไม้หาอะไรพอ ทำได้แล้วก็ข้ามแม่น้ำ เขาเรียนรู้จนกระทั่งว่า เออไม้ไผ่ชนิดไหนเนี่ยดีที่สุดในการลอยน้ำ แล้วก็คงทนด้วย แล้วแหมบางคนเรียนยิ่งกว่านั้นอีกนอกจากรู้ว่าพันธุ์ไหนดี ไม้ไผ่ชนิดไหนดี ไอ้ไม้ไผ่พันธุ์ชนิดนั้นจะหาได้ที่แหล่งใดมากที่สุด แล้วก็จะปลูกยังไงดี ไปกันใหญ่เลยรายละเอียดเยอะแยะ นี้อภิธรรมนี้ก็ ถ้าจะเรียนกันมาก ก็ต้องเรียนไปอย่างเนี้ย เป็นว่าไม้ไผ่ชนิดนี้นะมาทำแพดี แล้วก็ไม้ไผ่ชนิดนี้หาได้ที่ไหนมาก แล้วก็มันมีกำเนิดอย่างไร พันธุ์ไหนอะไร จะรอจนกระทั่งศึกษาวิเคราะห์ไปแยกแยะ ใยเยื่อมันเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้อีกบ้าง ไปกันใหญ่แล้วทีนี้ เราจำเป็นมั๊ย ถ้าเราจะข้ามแม่น้ำจะต้องไปรู้ขนาดนั้น
ก็หมายความว่าจริงๆ ไม่จำเป็นต้องรู้ขนาดนั้น
ไม่จำเป็นต้องรู้ละเอียดถึงขนาดนั้น ไม่งั้นแล้วตอนที่พวกพระสาวกมากราบทูลพระพุทธเจ้า มาพบพระพุทธเจ้าไปสอนพระอภิธรรมละเอียดหมดทุกองค์มั๊ย ก็แล้วทำไมท่านเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์หละ แล้วพระพุทธเจ้าไปสอนพระพุทธมารดาบนสวรรค์หละ พุทธมารดาได้อะไร แล้วเทวดาได้เป็นอะไร ก็สอนละเอียดหนะ แล้วถ้าทุกคนต้องรู้อภิธรรมหมด ยังงั้นก็เป็นอันว่าต้องรอพระพุทธเจ้าไปสอนบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตัวก็ตามไปฟังสิ พระสารีบุตรก็พึ่งได้มาฟังอภิธรรมจากพระพุทธเจ้าตอนที่พระพุทธเจ้าไปเทศนาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วก็เอามาถ่ายทอดให้พระสารีบุตรสดับไว้ แต่พระสารีบุตรท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เพราะมาฟังอภิธรรมนี้ ท่านเป็นมาก่อนแล้ว แต่ว่าท่านสดับไว้ เพราะว่ามันเป็นความรู้รายละเอียดที่ไปใช้ประโยชน์ ก็คือปริยัติเนี่ยหลักการแม้แต่ว่าไม่ต้องพูดถึงอภิธรรม ท่านได้แยกปริยัติเป็นหลายแบบ ปริยัติคืออะไร ต้องทำความเข้าใจก่อน ปริยัติเนี่ยบางทีเราแปลกันง่ายๆ ว่าการเล่าเรียน นี้มันแปลแบบหยาบๆ ในความหมายที่แท้นี้แปลว่าพุทธพจน์ที่พึ่งเล่าเรียน ทำไมเป็นพุทธพจน์ ก็คือประสบการณ์ของพระพุทธเจ้าที่ได้ปฏิบัติมาประสบผลแล้ว พระองค์มีประสบการณ์นี้ก็เอาประสบการณ์นี้มาถ่ายทอดให้เรา เราต้องการประสบการณ์ของพระพุทธเจ้า ประสบการณ์นี้ออกมาเป็นคำสอน เป็นคำตรัส ก็คือว่าเราอยากจะรู้พระพุทธเจ้าได้บรรลุสิ่งที่ดีงามประเสริฐ เราเชื่อเราก็เลยอยากจะได้อย่างพระองค์ พระองค์ก็เอาประสบการณ์มาสอนให้เรา ประสบการณ์ของพระองค์ที่มาถ่ายทอดเราก็เรียกว่าปริยัติเท่านั้นเอง เรียกว่าพุทธพจน์ที่พึงเล่าเรียน ทีนี้พอพุทธพจน์ที่พึงเล่าเรียนเสร็จแล้ว ก็ปฏิบัติก็คือเอาประสบการณ์ของพระพุทธเจ้ามาสอน ท่านบอกวิธีปฏิบัติเราก็ทำตามนั้น ก็เป็นการปฏิบัติ แล้วเรา ก็เกิดประสบการณ์ของเราเอง ก็เป็นปฏิเวธก็เท่านั้นเอง ทีนี้พระพุทธเจ้าที่ว่าพระองค์เอาประสบการณ์มาเล่าเนี่ย พระองค์เล่าหมดมั๊ยแก่ทุกท่าน เป็นไปไม่ได้ พระองค์ก็เล่าเท่าที่จะเป็นประโยชน์แก่เขา พระองค์ก็ เออ อีตาคนนี้เป็นยังไง มีพื้นเพยังไง ควรจะสอนเค้ายังไง พระองค์รู้ความจริง พระองค์ก็เอาประสบการณ์ที่เหมาะ ที่มันเกิดเป็นความรู้ ความเข้าใจโลกชีวิตอะไรแล้วนี่ เอามาตรัสสอนให้เหมาะแก่เขา ฉะนั้นพระอรหันต์ต่างๆ องค์ก็ได้ฟังนิดเดียวจากพระพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้ว เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาผู้ฉลาด แล้วบรรลุจุดหมายนั้นเอง เมื่อบรรลุเอง พระองค์ก็เข้าใจทุกอย่าง เข้าใจสิ่งที่เป็นจุดหมาย แล้วก็รู้เข้าใจอีตาคนที่มาฟัง พระองค์ก็ตรัสให้มันเหมาะกัน แล้วพระองค์ก็ฉลาดในวิธีการสอนด้วย มันก็เลยง่าย ก็เหมือนอย่างพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญาฉลาดแล้ว ก็เหมือนกับมีเส้นผมบังภูเขา พระพุทธเจ้าก็เขี่ย ไอ้ที่บังออกนิดเดียวก็รู้แล้ว ก็เลยกลายเป็นว่าพระอรหันต์ที่มาก็ได้ฟังประสบการณ์ที่เรียกว่าปริยัติจากพระพุทธเจ้าเนี่ยต่างๆกัน ท่านโน้นก็ฟังสูตรหนึ่ง ท่านนี้ก็ฟังสูตรหนึ่ง แต่ว่าทั้งๆที่ฟังคนละสูตร แล้วเสร็จแล้วแต่ละท่านก็บรรลุอรหันตผลไป ท่านก็เลยมี เค้าเรียกว่า ภัณฑาคาริกปริยัติ ภัณฑาคาริกปริยัติแปลว่าปริยัติแบบเรือนคลัง ก็หมายความว่าพระอรหันต์เนี่ย ท่านได้ความรู้ที่ปฏิบัติ มีความเข้าใจโลกและชีวิตที่จะทำให้หมดกิเลสแล้ว แต่ว่าในแง่ของคำสอนต่างๆที่เป็นรายละเอียดบทบัญญัติอะไรต่างๆเหล่านี้ ท่านก็ไม่ได้รู้เข้าใจหมด เมื่อท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้วท่านก็มาเรียน อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นภัณฑาคาริกปริยัติ แบบที่ว่าเป็นเรือนคลังก็หมายความว่า คือตัวเองหนะไม่จำเป็นละ เพราะตัวเองได้บรรลุผลที่ต้องการแล้ว แต่ว่าเพื่อจะไว้ใช้ประโยชน์ไปสั่งสอนคนอื่น ไปเผื่อแผ่หรือช่วยดำรงพระศาสนา ท่านก็ไปเรียน เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ยังเรียนปริยัติเลย เพื่อจะได้เอามาไว้รักษาพระศาสนา คือปริยัติเนี่ย มีแง่ที่หนึ่งก็อย่างที่ว่า 1.เป็นประสบการณ์ของพระพุทธเจ้าที่เอามาตรัสเล่าแก่พวกเราพุทธศาสนิกชน แล้วก็เอามาใช้ประโยชน์ เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมก็ช่วยกันทรงจำเล่าเรียนไว้ 2.เพื่อตัวเองก็เอามาใช้ปฏิบัติ นี่ก็ส่วนหนึ่ง ทีนี้อีกอย่างหนึ่งปริยัตินี่มีประโยชน์ยังไง ก็คือในการที่จะเล่าประสบการณ์เนี่ย จะพูดถึงสภาวะเนี่ย มันต้องมีภาษาเป็นสื่อ ภาษาที่จะสื่อเนี่ยก็เรียกว่าเป็นศัพท์คำสมมติหรือบัญญัติ ก็บัญญัติเรียกอันนี้ อันนี้เรียกว่ากระดาษ อันนี้เรียกว่าโต๊ะ ก็เรียกชื่อมันไป แล้วไอ้ตัวถ้อยคำบัญญัติเนี่ย ที่เป็นสื่อถึงสภาวะเนี่ย จะต้องมาตกลงกันหมายรู้กัน ให้เข้าใจว่า เออไอ้อย่างนี้สภาวะนี้เรียกอย่างนี้นะ แล้วทุกคนรู้ร่วมกันว่าพูดถึงคำนี้แล้ว ก็สื่อถึงไอ้ตัวสภาวะอันนั้น แต่ทีนี้มันมีปัญหาว่าคนที่ไม่เรียนปริยัติในความหมายนี้ ก็ปฏิบัติของตัวเอง บางทีก็ได้เพราะว่าถึงแม้ไม่ได้ปริยัติ ไม่ได้ปฏิบัติไปบรรลุผลสูงสุดอะไรเนี่ย มันบางทีบางอย่างมันก็เป็นประสบการณ์ที่บรรลุได้ด้วยตนเอง พอไปได้ประสบผลนั้น เช่น ได้ถึงฌานว่ายังเนี้ย หรือได้สมาธิบางอย่าง เพราะว่าเรื่องอย่างนี้แม้แต่นอกศาสนาก็ทำได้ พอได้แล้วเนี่ย เพราะตัวเองไม่ได้เรียนปริยัติที่มีไอ้ตัวพวกบัญญัติสื่อความหมายถึงสภาวะเหล่านี้ร่วมกับคนอื่น แต่ตัวเองได้ยินได้ฟังไป แล้วก็ไม่ได้เรียนจริงๆจังๆ เป็นระบบหรือครบถ้วนเพียงพอ บางที ก็ว่าตามกันไป ทีนี้พอตัวเองไปเจอสภาวะจริง ตอนนี้ก็หมายความว่าในการปฏิบัติของตัวเอง ตัวเองได้ประสบการณ์จริงเหมือนกัน พอเจอประสบการณ์ตรงของตัวเอง แล้วทีนี้ไอ้ปริยัติ ไอ้ที่เป็นศัพท์ภาษาบัญญัติสื่อเนี่ย ตัวเองก็ใช้ไม่ตรงกับเขา เพราะตัวเองไปนึกว่าไอ้เนี่ยมันต้องใช้ชื่อนี้ ก็เรียกสภาวะนี้โดยใช้บัญญัติหรือภาษาสื่ออีกศัพท์หนึ่ง คนอื่นเค้าใช้เรียกสภาวะนี้เค้าใช้อีกศัพท์หนึ่ง โดยเค้ารู้ร่วมกันไว้ แล้วไอ้ตัวเองเอาศัพท์อื่นไปใช้ มันก็ตีกันยุ่งหมด เถียงกัน ก็ทำให้ยุ่งด้วย นี่ก็เป็นปัญหาเรื่องการไม่เรียนปริยัติอีกอันหนึ่ง ก็เป็นปัญหาของพระที่ปฏิบัติในเมืองไทยด้วย ไม่ใช่ว่าท่านไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าท่านไม่ได้บรรลุผลอะไร ท่านบรรลุแต่ว่าท่านไปใช้บัญญัติที่สื่อคนละเรื่องกัน มันเลยทำให้ยุ่ง นี่ก็ตีกันอีกอย่างหนึ่ง แล้วว่าในที่สุดมันก็ทำให้เกิดปัญหา เพราะฉนั้นทางหลักการของสงฆ์ซึ่งเป็นส่วนรวมเพื่อรักษาพระศาสนาด้วยจึงถือเป็นสำคัญว่าจะต้องเรียนปริยัติ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลต่างๆ 1.เพื่อได้ประสบการณ์ของพระพุทธเจ้าไว้ 2.เพื่อได้ช่วยกันดำรงพระศาสนา 3.เพื่อได้มีสื่อร่วมกันที่จะหมายรู้ในการที่จะมาปฏิบัติสื่อสารกันด้วย สั่งสอนรู้กันอะไรแบบนี้หลายอย่าง
ก็ขอสรุปความที่พระเดชพระคุณได้พูดตามความเข้าใจนะครับ ว่าพระอรหันต์เนี่ยก็จะต้องรู้ในส่วนของ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็คือหมายถึงว่ารู้ แต่ว่าไม่รู้บัญญัติเรียกว่าอะไร เป็นพระอรหันต์แล้ว โดยที่ยังไม่รู้ว่าส่วนไหนเรียกว่าอะไร แต่ว่าเข้าใจลักษณะสภาวะยังงั้นๆ ใช่มั๊ยครับ ในส่วนของ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
เข้าใจสภาวะแบบที่ว่าเป็นหลักการรวม ถ้าใช้ภาษาสมัยนี้ก็เรียกว่าเข้าใจ General Principle โดยที่ว่าไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียด เพราะว่าไอ้ตัวนี้สำคัญ อย่างนักวิทยาศาสตร์ที่เขาค้นคว้าความจริง เขาต้องการอะไร เขาต้องการ General Principle ไอ้ที่เขาไปรู้ข้อมูลข้อเท็จจริง ความจริงเล็กๆน้อยๆ เนี่ยไม่สำคัญเท่าไหร่เลย สำคัญในแง่ที่ว่ามันจะไปประกอบเป็นความรู้ใหญ่ แต่ว่าถ้าตราบใดยังไม่ได้ General Principle เค้าถือว่าไม่บรรลุความสำเร็จ นี้ฝรั่งเค้าต้องการอันนี้ ก็เหมือนกันในการที่จะรู้ความจริงของธรรมชาติ เข้าใจชีวิต เข้าใจโลก เข้าใจสภาวะ เหมือนอย่างที่ว่าท่านตรัสอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จบก็คือเข้าใจสภาวะ พอเข้าใจสภาวะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปั๊บ เวลามองแยกรายละเอียดไปเนี่ย มันอยู่ในนี้หมดเลย ทีนี้จะไปบัญญัติเรียกอะไรต่ออะไร ก็เป็นเรื่องส่วนย่อยไป เข้าใจสภาวะชีวิตจิตใจของตัวเองที่มันเป็น รูปธรรม นามธรรม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็มันเป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศล มันเกื้อกูลต่อชีวิตจิตใจหรือไม่เกื้อกูลเป็นโทษ มองเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต วางจิตได้ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายอะไรต่างๆเหล่านี้ ไอ้นี่ก็คือตัวที่มันเกิดเป็นความจริงขึ้นมาที่มีผลต่อชีวิตเลย แม้เราจะไปจำรายละเอียดอะไรต่ออะไร ยังไงมันก็มองไม่เห็นความเป็นจริงของโลกและชีวิต เหมือนอย่างพวกคนสมัยนี้ที่ไปรู้เข้าใจรายละเอียดของสิ่งต่างๆ มันอาจจะไปสนองไอ้เจตนาอื่นไปก็ได้ มันแทนที่จะมาสนองไอ้ความรู้เข้าใจ แจ่มแจ้ง รู้เห็นโลก วางใจถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย เปล่า มันกลับไปสนองความต้องการที่จะเอาไปทำยังไง จะไปผลิตสิ่งเสพบริโภคอะไรยังงั้นไปโน่น นั้นก็เหมือนกัน ทีนี้ถ้าติดในรายละเอียดเช่นว่าอภิธรรมเนี่ย ก็อาจจะไปสนองเจตนาที่เป็นมานะ ฉันเป็นคนรู้มากมาย กว้างขวาง เป็นอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ไปโน่นอีกหละใช่มั๊ย ก็เป็นได้มันก็ไปได้ต่างๆ แท้ที่แท้แล้วก็คือการรู้เข้าใจสภาวะ ทำให้จิตเนี่ยมันหลุดพ้นไปจากโลภะ โทสะ โมหะ แต่นี้เนี่ยตัวนี้สำคัญ
จะขออีกซักคำถาม
อ้าว นิมนต์
ที่ตอนแรกพระเดชพระคุณท่านพูดว่าในเรื่องของการที่จะกำจัดทิฐิเนี่ยก็คือต้องใช้ ฉันทะเข้ามาช่วย
ช่วยตัวหนึ่ง มิได้หมายความว่าองค์ธรรมทั้งหลายเนี่ยมันโยงกันเอง แล้วฉันทะนี้ก็เป็นตัวหนึ่งที่ว่าถ้าเรามีเนี่ย มันจะช่วยเอง มันจะมาช่วยคอยกัน หรือว่าคอยลด คอยทำให้เราสามารถละไอ้ตัวความยึดติดในทิฐิได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ใช่หมายความว่าเป็นตัวปฏิปักษ์โดยตรง
ทีนี้ถ้าเกิดว่าเกิดทิฐินั้นขึ้นมาในตัวแล้วเนี่ยครับ จะใช้อะไรเป็นตัวช่วย
อ๋อ เราก็ต้องมีสติที่ว่าระลึก แล้วก็เตือนตน ว่าคือเรารู้แล้วหนิสภาวะของทิฐิคืออะไร ก็คือการที่ว่าเราแสวงหาความจริง 1.จุดหมายในการหาความจริง เราต้องการไปสู่ความจริงนะ ไม่ใช่มาอยู่แค่ความคิดเห็น ความเข้าใจ เราต้องตรวจสอบตัวเองว่าเราเข้าถึงความจริงแท้หรือไม่ ถ้าเรายังไม่ถึง เราก็เป็นทิฐิเท่านั้นนะ อย่าไปหยุด เราจะได้กันตัวเองว่าอย่าไปยึดติดทิฐิ แล้วก็ 2.ก็คือว่าเราตรวจโดยตรงเลยว่า เวลาคนอื่นมากระทบไอ้ตัวสิ่งที่เรายึดถือเนี่ยเราโกรธเคืองยังไง อะไรหรือเปล่า เออเราก็รู้ตัวขึ้นมา เราจะได้ระวังแก้ไขไป เออนี่ก็เป็นวิธีที่จะพัฒนาตัวด้วย แล้วก็ตัวที่สำคัญ ก็คือว่าคอยคิดหาความจริง หาความรู้ไป แล้วก็จุดหมายตั้งไว้ที่จะก้าวไปสู่ความจริงเนี่ย เราจะได้ไม่มาติดอยู่ ก็เป็นการฝึกตัวเองไปด้วย ถ้าหลักการใหญ่ก็คือฝึกตัวเอง แล้วไอ้ฝึกตัวเองนี่นะ กับไอ้การหมกมุ่นกับเรื่องตัวเอง ก็ต้องแยกกันให้ได้นะ การฝึกตัวเองดีแน่นอน ก็เป็นเรื่องตัวเองเราต้องฝึกตัว แต่ว่าจะมัววุ่นวายอยู่กับเรื่องตัวเองอย่างเดียว อันนี้ไม่ใช่ฝึกตัวแล้ว มันคนละเรื่อง เดี๋ยวเราจะมัววุ่นวายอยู่กับเรื่องตัวเอง ไม่เอาอะไรทั้งนั้นนี่ก็ไม่ใช่ ฝึกตัวเองนี้มันต้องออกทุกด้าน เพราะเราฝึกตัวเองต้องระดับด้านศีล ด้านสมาธิ ด้านปัญญา ด้านศีลมันก็เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อวัตถุสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อะไรต่ออะไรด้วย ด้านจิตใจ ด้านปัญญา ด้านปัญญาจะรู้ก็ต้องเข้าใจสภาวะทั้งรูปธรรม นามธรรม ทั้งภายนอกภายใน มันก็โยงไปหากันหมด ทั้งโลกทั้งชีวิต ทีนี้ถ้าเราไปวุ่นวายอยู่กับเรื่องตัวเองมากนี่ บางทีก็กลายเป็นพลาดไป อย่างที่ว่าการปฏิบัติเพื่อผู้อื่นก็เป็นการฝึกตน แล้วการปฏิบัติให้ถูกในการฝึกตน แล้วในที่สุดมันก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย เมื่อฝึกตนพัฒนาตนดี เราก็ยิ่งทำเพื่อผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยแก่กันและกัน เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เรียนไปก็ดีอย่าไปถือใครจะว่า ก็เอาเรียนอภิธรรมดี โอ้ยรู้ไว้แล้วก็เป็นประโยชน์ แต่ว่าอย่าไปติดอะไรมากนัก เดี๋ยวจะเป็นเอียงสุด เถียงกันอยู่นั่นหนะ ผมก็ถือว่าอภิธรรมเป็นประโยชน์ เป็นว่าต้องไปรู้จนจบ แล้วทีนี้ก็เลยต้องจบอภิธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ จึงจะตรัสรู้ได้ คนที่จบก็ไม่ตรัสรู้อีก แล้วจะทำไงทีนี้
ก็คือดีในแง่ของนำไปใช้สอนผู้อื่นต่อ
คือมันเกื้อกูล หมายความว่ายิ่งเรารู้รายละเอียดเยอะ เวลาเราไปเกี่ยวข้องกับผู้คนเนี่ย คนมันมีต่างๆกัน คนนี้เราพูดแง่นี้พอ ทีนี้เราไปเจออีกคน อ้าวแง่นี้เราไม่มีรายละเอียดให้เขา ทีนี้เรามีรายละเอียดทุกแง่ทุกมุมเนี่ย เราเจอคนไหนเราก็ว่าได้ทั้งนั้นมันก็ดีในแง่นั้น ถ้าพูดในแง่หนึ่งก็คือพระอรหันต์ทุกองค์ท่านเข้าถึงสาระของพระอภิธรรมหมดเลย แต่ว่าไม่ต้องไปพูดรายละเอียด คือจะเป็น จิต เจตสิก รูป นิพพาน สาระของมันก็คือสภาะความจริงของโลกและชีวิต ถ้าพูดในแง่หนึ่ง หรือสภาวะธรรมตามที่มันมีอยู่ ซึ่งมันก็เคลื่อนไหวเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วปฏิบัติต่อมันไม่ถูกก็เกิดปัญหา เป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าปฏิบัติถูก วางใจถูก มีปัญญารู้เท่าทันความจริง จิตดี ผุดหลุดพ้นไม่ไปยึดติดมัน มันก็ไม่มีความทุกข์ สว่างไสวอะไรก็ว่าไปอย่างนี้ใช่มั๊ย มีอะไรสงสัยก็ถามมา อ้าว นิมนต์
คือในกรณีที่ท่านเรียนอภิธรรมนะครับ แล้วแต่ว่าพอใครพูดอะไรท่านก็จะใช้วิชาการพวกนี้เหมือนกับเป็นอาวุธคอยกันตัวอย่างนี้นะครับ ก็เลยเหมือนกับว่ากลายเป็นคนที่ต้องผลักออกไว้ก่อน แล้วเราในฐานะคนที่ไปเกี่ยวข้อง จะมีท่าทีปฏิบัติต่อท่านยังไง
ต้องยกย่องท่านด้วย จะยกย่องในแง่ความรู้ แต่ว่าก็ต้องค่อยๆพูดค่อยจากัน อย่าไปผลีผลามหรือไม่มุ่งความแตกแยก ไม่มุ่งความขัดแย้งแล้วก็มีจิตเอ็นดู เมตตา กรุณา แล้วก็ค่อยๆพูดค่อยๆจากัน มันก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ว่ามันทำให้เกิดทิฐิได้ง่าย แต่เราต้องยอมรับความจริงคือมันก็เป็นได้ทั้งนั้นแหละ มนุษย์เราเนี่ยเป็นพหูสูต ก็คือเรียนรู้มาก มันก็เกิดมานะ ถือตัว พูมพองขึ้นมา ถ้าแรงก็ยกตนข่มผู้อื่น อ้าวปฏิบัติในทางสมาธิ เจริญจิตภาวนา ได้สมาธิ ได้ฌาน ก็ยังไม่หมดกิเลส ก็เกิดความพูมพองขึ้นมา เกิดมานะอีกแล้ว ก็เป็นปัญหาได้ทั้งนั้นแหละ มันก็มี 2 ด้าน ด้านปริยัติกับปฏิบัติที่ท่านเน้น ในสมัยพุทธกาลก็มีจนกระทั่งพระมหาสาวกองค์หนึ่งชื่อมหาจุนท ก็ได้สอนพระสูตรหนึ่งไว้ ท่านเรียกพระพวกหนึ่งว่าเป็นพระธรรมโยคา เป็นพระผู้ประกอบธรรม ก็หมายความเป็นผู้ที่เป็นนักคิดในเรื่องของหลักธรรมะ แล้วก็เอามาประยุกต์สั่งสอนอะไรต่างๆได้เก่ง พวกนี้ก็พวกหนึ่ง แล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็คือนักปฏิบัติ สมัยนั้นท่านไม่มีศัพท์นี้หรอก ท่านใช้คำว่า (ฌา-ยี) เป็นนักฌาน ก็ชอบไปบำเพ็ญฌาน นั่งปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิอะไรอย่างนี้ ถ้าใช้ศัพท์สมัยที่เราคุ้นกัน ก็จะเด่นอยู่สองฝ่ายนี้ นี้ก็คงจะต้องมีปัญหาระหว่างสองพวกนี้ ซึ่งรวมทั้งพวกถือหางด้วยอะไรด้วย ฝ่ายพระที่ประกอบธรรมก็จะว่าฝ่ายพระที่เป็นนักฌาน ว่าวันๆหนึ่งก็ไม่ทำอะไรได้แต่นั่ง ก็ไม่พูดไม่จา นั่งเงียบเลย ทีนี้พระนักฌานก็ว่าพระฝ่ายประกอบธรรมนี้บอกว่า วันๆไม่ได้ทำอะไร ได้แต่พูดจ้อ พระมหาจุนทท่านก็บอกว่า พระที่เป็นนักฌานควรจะได้ระลึกนึกถึงท่านที่ประกอบธรรมว่า โอ้ท่านเหล่านี้นะ เป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญคุณความดีที่หาได้ยาก ได้ครุ่นคิดได้สามารถนำเอาธรรมะมาแจกแจงอธิบายให้คนอื่นรู้เข้าใจอะไรต่างๆเหล่านี้ ฝ่ายนักประกอบธรรมก็ควรจะระลึกนึกถึงและพูดถึงพระนักฌานว่า เออ ท่านเหล่านี้นะ เป็นผู้ที่พิเศษจริงๆ น่ายกย่อง ได้มีประสบการณ์เฉพาะตนที่คนทั่วไปจะหาได้ยาก ประสบการณ์ลึกซึ้งทางด้านจิตใจอะไรต่างๆเหล่านี้ ก็ให้สรรเสริญกันและกัน แล้วที่จริงทั้งสองฝ่ายนี้ก็มาเป็นตัวประกอบที่ทำให้ส่วนรวมเนี่ยมันครบสมบูรณ์ เป็นแต่เพียงว่าอาจจะหนักไปทางนี้หน่อย อาจจะหนักไปทางนี้หน่อย แต่รวมแล้วก็ทำให้มีความชำนาญพิเศษเกิดขึ้น แล้วก็เพราะแต่ละคนก็ไม่มีเวลาที่จะไปทำให้ครบสมบูรณ์ทั้ง 2 ด้าน ซึ่งอาจจะมีแต่หาได้ยาก โดยทั่วไปก็ได้ผู้ที่เด่นไปทางโน้น หรือเด่นไปทางนี้ แล้วเมื่อพูดถึงในแง่ส่วนรวม ก็คือมาประกอบกันให้สมบูรณ์ ถ้าคนเรามองกันอย่างนี้ ก็จะทำให้ส่วนรวมนี้สามัคคี แล้วก็ทำให้กิจการส่วนรวมก็จะดำเนินไปได้ดี มีความสมบูรณ์มากขึ้นด้วย ท่านก็สอน ก็มีมาตั้งแต่ยุคพุทธกาลละ ปัญหาเหล่านี้ คือบางทีเราไปเน้นไปทางติเตียน พอเรามองพระเถระรุ่นก่อน บางทีเราก็ไปมองในแง่ว่า โอยท่านบกพร่องขาดโน้นนี้ ในแง่หนึ่งเราก็ต้องเห็นใจ อ้าวท่านเกิดในยุคสมัยนั้น สภาพแวดล้อมยังงั้น แล้วก็สิ่งที่จะเอื้อบางทีก็ไม่มีให้ท่าน แล้วท่านก็ได้อย่างนั้น บางทีท่านอยู่ในพื้นฐานสภาพทุนมีแค่นี้ ท่านก็ช่วยก้าวมาให้ได้แค่เนี้ย เราก็ เออ เราก็เห็นว่าท่านก็ได้ช่วยส่วนรวมมาได้แค่นี้นะ ก็โมทนา แล้วเราก็มาช่วยกันต่อ มันจะมีสุดโต่งสองพวก พวกหนึ่งก็ไปด่าพวกนี้ไม่ได้ความ ไม่ได้สมบูรณ์ ไม่ได้ถึงทีนี้ อีกพวกหนึ่งก็จะไปยึดติดว่าเนี่ย อาจจะไปยึดติดเป็นสายหรือเป็นครูอาจารย์อะไรของตัว ก็เลยบอกว่าเนี่ยต้องอยู่อย่างเนี้ย ก็เลยทำให้ใครไปเลยต่อจากนี้ก็ถูกขัดขวาง มันก็เป็นสุดโต่งสองแบบ พวกหนึ่งก็เลยกลายเป็นไปดูถูกติเตียนพวกเก่า อีกพวกหนึ่งก็กลายเป็นว่าต้องไปยึดเก่านี้จะไปไหนไม่ได้ ก็สุดโต่งทั้งคู่ ก็ให้คนเห็นคุณค่ากันเท่าที่มีเท่าที่เป็น