แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:02] ธรรมะชุดใจต้องออกสู่ปฏิบัติการ
เมื่อกี้อาตมาภาพเลยเถิดไปแล้วขออภัย ไม่ทราบบอกว่า เป็นพรหมวิหารเป็นธรรมะชุดใจ มันต้องออกสู่ปฏิบัติการใช่ไหม แล้วก็ชุดปฏิบัติการนี้มันมี 4 ข้อรับกัน ออกสู่สังคมไม่ใช่ไปนอนแผ่เมตตาอยู่ในมุ้งอย่างเดียว เมตตานี่ต้องออกสู่ปฏิบัติการด้วย ออกมายังไงล่ะ นี่แหล่ะที่เราได้ยินอยู่เรื่อย แต่เราโยงไม่เป็น พุทธศาสนานี่สอนหลักธรรมเบื้องต้นเลย ชาวพุทธนี่พอเริ่มทำบุญก็ทำทานก่อนเลยใช่ไหม ไปวัดก็ไปถวายภัตตาหาร ตักบาตรพระแต่เช้า เอาไทยธรรมไปถวาย เดี๋ยวนี้นิยมกันนักก็สังฆทาน ถวายกันจริงนี่แหละ แสดงว่าชาวพุทธไม่ใช่แค่นอนแผ่เมตตาแล้วนะ มีการปฏิบัติการด้วยก็คือทาน คือการให้
[00:57] ธรรมะชุดปฏิบัติการประสานกับใจอย่างไร ?
พุทธศาสนาเริ่มสอนธรรมะข้อแรกภาคปฏิบัติคือทานเลย ที่จริงสอนแทบจะก่อนเมตตาด้วยซ้ำไปสอนทาน ให้ให้กันก็ตั้งแต่ให้ในครอบครัว ทีนี้ธรรมะ "ทาน" นี้มันอยู่ในชุดนี้แหละ ชุดที่มาประสานกับพรหมวิหารนี่แหละ เพื่อมันจะมาช่วยผดุงรักษาสังคมไว้ให้มันเกิดความสามัคคีและความมั่นคง อ้าวทีนี้ก็มาดูว่ามันจะประสานกันอย่างไรออกสู่ปฏิบัติการ ก็ทานอ้อ..ขออภัย เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาออกมาสู่
1. ทานที่ว่านี้ เรามีเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่น เขาไม่ได้เป็นทุกข์อะไรล่ะ อย่างลูกก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร หรือเพื่อนก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร แต่บางครั้งเราให้ด้วยเมตตาด้วยปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต ให้ของเล็กๆน้อยๆ แสดงน้ำใจอย่างนี้ก็เรียกว่าให้ด้วยเมตตาเป็นทาน แต่บางครั้งคนประสบภัยอันตราย ไฟไหม้ น้ำท่วม อัคคีภัย หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เกิดอุบัติภัยขึ้นมาแล้ว คนเดือดร้อน ตอนนี้เราต้องทานเหมือนกัน ให้ แต่ให้ด้วยกรุณา แล้ว ให้ด้วยกรุณา แสดงว่าเมตตาก็มาออกที่ทานแล้ว กรุณาก็มาออกที่ทานแล้ว บางทีบางคนนี่ เขาทำสิ่งที่ดีงาม ทำการสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์แก่สังคม ประสบความสำเร็จในการกระทำนั้น เราก็ดีใจด้วยก็ส่งเสริมสนับสนุนด้วยทาน ก็คือเขาขาดเงินเราก็เอาเงินไปช่วยส่งเสริมอุดหนุนให้เขามีกำลังทำการสร้างสรรค์ที่ดีนั้นได้ นี่มุทิตา ให้ด้วยมุทิตาก็ทานแล้ว ก็รับกันแล้วนี่ออกสู่ปฏิบัติการ ข้อที่ 1 เรียกว่าทาน
2. ธรรมะชุดนี้อาตมาภาพยังไม่ออกชื่อก่อน เอารายละเอียดเอาตัวข้อมันก่อน ทีนี้ข้อ 2 เจ้าเมตตากรุณามุทิตานั่นแหละมาแสดงออกที่อะไร อันที่หนึ่งแสดงออกที่พฤติกรรมในการให้ ต่อไปสอง ก็การพูดจา พูดจาก็พูดจาแบบเป็นมิตรมีน้ำใจ ก็พูดคำไพเราะ ท่านใช้คำว่าใช้วาจาเป็นที่รักหรือวาจาน่ารัก ภาษาพระเรียกว่าปิยวาจา ปิยวาจาก็พูดดี พูดน่ารัก พูดคำสุภาพอ่อนโยน พูดด้วยน้ำใจรักนั่นเอง ก็ตั้งแต่พูดกับลูกเป็นต้นไป แล้วก็พูดกับเพื่อนญาติมิตร พูดกับคนในสังคม พูดวาจาน่ารัก วาจาน่ารักที่ประกอบด้วยน้ำใจก็ปรารถนาดีก็เป็นปกติด้วยเมตตา ทีนี้ยามเขาทุกข์ล่ะ ยามเขาทุกข์มีความเดือดร้อนก็วาจาก็ปลอบประโลมให้กำลังใจแล้วก็แนะนำ เออแนะนำการแก้ปัญหาควรจะแก้อย่างงั้นอย่างงี้ นี่ก็ปิยวาจา ก็ใช้ในแง่ของการช่วยด้วยกรุณา
3. ก็ยามเขาประสบความสำเร็จ ทำดี ก็เอามุทิตาด้วยคำพูด ก็ไปพูดสนับสนุนแสดงความยินดีด้วย นั่นแหละด้วยมุทิตาด้วยปิยวาจาแล้ว แล้วก็ไปส่งเสริมอาจจะไปแนะนำแก่คนอื่นอะไรต่างๆ ก็ช่วยกันส่งเสริมยิ่งๆขึ้นไป ปิยวาจาก็เป็นวาจาส่งเสริมไป ปิยวาจาก็ทำได้ทั้งด้วยเมตตากรุณามุทิตา ต่อไปการแสดงออกของเมตตากรุณามุทิตาทางที่สาม อันนี้อันที่หนึ่ง ด้วยทานด้วยวัตถุสิ่งของ คือ การให้ปัน อันนี้เน้นที่วัตถุสิ่งของการเงินการทองอะไรก็แล้วแต่ แล้วก็สอง ด้วยวาจาถ้อยคำ สามก็มาออกที่เรี่ยวแรงกำลังของตัวเอง เรี่ยวแรงกำลังเรามีกำลังกายกำลังความสามารถอะไร เราก็มาใช้ในการเกื้อกูลต่อกัน ช่วยเหลือสังคมด้วยเมตตากรุณามุทิตานี่อีก เมตตาปรารถนาดีเราก็แสดงออกด้วยการที่ว่าไปช่วย ช่วยเหลือ โยมมานี่ก็มีกำลังกันทุกคน เราก็ต้อนรับด้วยความปรารถนาดี เอาเก้าอี้มาตั้งต้อนรับเป็นต้น เอาน้ำมาเสริ์ฟอะไรต่างๆ นี่เรียกว่าอัตถจริยาทำประโยชน์ให้ ทำประโยชน์ให้ช่วยเหลือด้วยเรี่ยวแรงกำลังอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยเมตตา ที่นี้ด้วยกรุณาล่ะ เขาตกน้ำ เรามีกำลังแล้วเราว่ายน้ำแข็ง เรากระโดดลงไปช่วย นี่อัตถจริยาด้วยเรี่ยวแรงกำลังด้วยกรุณา แล้วก็สามด้วยมุตทิตาเป็นยังไง ? สมัยก่อนมีงานวัด วัดมีงานญาติโยมก็เอากำลังมาช่วย มาช่วยกันขนทรายเข้าวัด มาช่วยกันจัดเตรียมงานวัด มาสร้างโรง สร้างเต็นท์พิธี หรือมาทำอะไรก็แล้วแต่ ก็คือรวมความว่าคนเขาทำความดีงามทำประโยชน์อะไรเราก็เอาเรี่ยวแรงกำลังของเราไปช่วย อาจจะเป็นเรี่ยวแรงกำลังกายก็ได้ เรี่ยวแรงปัญญาเรี่ยวแรงความสามารถอะไรมีก็เอาไปช่วย อันนี้ท่านเรียกว่าอัตถจริยา ช่วยด้วยเมตตาก็ได้ ช่วยด้วยกรุณาก็ได้ ช่วยด้วยมุทิตาก็ได้ สามคูณสามเป็นเก้า (3x3 เป็น 9) น่ะเจริญพร นี่แหละทานด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา ปิยวาจาด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา แล้วก็อัตถจริยาก็ด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา รวมเป็น 9 สถานการณ์ เจริญพร แล้วก็คุมท้ายอีกและ เมื่อกี้นี้ชุดพรหมวิหารก็คุมท้ายด้วยอุเบกขา
ที่นี้ก็มีตัวคุมท้ายคือข้อ 4 ในชุดที่คู่กับพรหมวิหาร 4 นี่เป็นภาคปฏิบัติการ ท่านเรียกว่าสมานัตตตา เจริญพร [07:17] สมานัตตตา แปลว่า มีตนเสมอ สมัยนี้เขาเรียกว่าความเสมอภาค เสมอภาคมีตนเสมอ นี้คือหลักของความยุติธรรม มีความเท่าเทียมกัน มีความเสมอภาคต่อทุกคน แล้วมันต่างกับ 3 ข้อแรก 3 แรกนั้นยังมีการกระทำต่อกันได้ เช่น ทานเราไปให้ ก็เป็นการทำต่อกัน เขาอยู่ที่นั่นเราก็ไปให้ กรุณา เอ๊ะให้ขออภัย ปิยวาจาก็ไปพูดต่อกัน อัตถจริยาก็ไปช่วยเหลือให้กำลังแก่กัน แต่พอสมานัตตตานี้เข้าคลุกเลย เข้าอยู่ร่วมมีตนเสมอ [08:05] มีตนเสมอนี่ เสมออย่างไรบ้าง ? ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน เอาล่ะนี่ง่ายๆที่สุด ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง อันนี้ก็มีความเป็นธรรมใช่ไหม นี่ๆความเสมอ มีตนเสมอต้องเสมอทั้งนั้น การไม่ดูถูกดูหมิ่นก็แสดงว่ามีตนเสมอ ไม่เอารัดเอาเปรียบก็มีตนเสมอ แล้วก็ไม่เลือกที่รักผลักที่ชังก็มีตนเสมอเหมือนกัน เสมอต่อทุกคนเท่าเทียมกันหมด อันนี้เป็นตัวรักษาความเป็นธรรม นี้อุเบกขามายันกับตัวนี้กับสมานัตตตา เป็นตัวสุดท้ายเป็นตัวดุนรักษาคุมหมดเลย แล้วก็ยังอีกอันน่ะ ของท่านที่เน้น [08:56] ท่านใช้คำบาลีว่า "สมานสุขทุกขตา" มีสุขทุกข์เสมอกัน หมายความว่าเธอทุกข์ฉันก็ไม่ทิ้ง เธอสุขฉันก็สุขด้วย เธอทุกข์ฉันก็ทุกข์ด้วย ทุกข์ๆด้วยสุขๆด้วย เราเรียกว่าร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมสุขร่วมทุกข์กันนี่เป็นลักษณะหนึ่งของสมานัตตตา แล้วมันจะเป็นตัวสำคัญที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี เราอยู่ร่วมสังคมเดียวกันเราก็ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน แล้วก็มีสมานัตตตาตั้งแต่สามข้อแรกมาเลย ความเสมอภาคจึงจะสมบูรณ์
[09:38] สมานคือเสมอ... เสมอคืออะไร ? ทำอย่างไร ?
เวลานี้แม้แต่ความเสมอภาค ตรงข้ามกับความเสมอภาคที่พระสอน เป็นความเสมอภาคที่เน้นเศรษฐกิจ เป็นความเสมอภาคที่ทำให้ใจเนี่ยโน้มไปในทางแก่งแย่งแบ่งแยก เท่าเทียมกัน เสมอภาค เอ๊ะได้เท่ากันหรือเปล่า ? อ้าวไปเพ่งแล้วจ้องแล้ว ตาคนโน้นได้ 500 เอ๊ะเราได้ 500 หรือเปล่านะ ? นี่...ความเสมอภาคของคนปัจจุบันเน้นแง่เศรษฐกิจ แล้วก็โน้มไปทางแบ่งแยกและแก่งแย่ง ขอให้โยมสังเกตดูสังคมเป็นอย่างนั้นจริงไหม ? ความเสมอภาคของพระนี่ เน้นในแง่สมาน เพราะฉะนั้นสมานัตตตาจึงมาเป็นคำไทยว่า ขอให้โยมแยกศัพท์ดู สมานะ-อัตตะ-ตา ใช่ไหม ? สมานัตตตา มาจาก สมานะ บวกกับ อัตตะ แล้วก็ ตา "ตา" นั้นแปลว่า ภาวะ อัตตะคืออัตตา คือ ตน ก็ความมีตนอัตตาที่สมานะเสมอ ภาษาบาลี "สมานะ" แปลว่า เสมอ คำว่าสมานะได้เข้ามาสู่ภาษาไทยเพราะว่าความเสมอในภาษาบาลีนั้นเน้นแง่ประสาน แล้วภาษาไทยคนก็เลยเข้าใจคำว่าสมานะอ่านเป็นไทยว่าสมาน มีความหมายไปเชิงประสานร่วม ใช่ไหมเจริญพร เดิมเป็นคำบาลีแปลว่าสมานะเท่ากันเสมอกัน เป็นไทยกลายเป็นสมานที่แปลว่า ประสาน ร่วม มาจากนี่แหละตั้งแต่สมานสุขทุกขตา สมานสุขสมานทุกข์ มีสุขทุกข์เสมอกัน ก็กลายเป็นร่วมสุขร่วมทุกข์ นี่สมานความเสมอภาคที่แท้ต้องเป็นอย่างที่พระสอนก็คือสมานะที่มาเป็นสมาน สังคมจึงจะอยู่ได้ เวลานี้สังคมของเรานี่ มันเสมอแบบแย่งกัน เพ่งจ้องกัน แบ่งแยก ก็เลยกลายเป็นว่า ความเสมอภาคเป็นหลักการที่เป็นเหตุให้คนแบ่งแยก แทนที่จะทำให้เกิดความสามัคคี เพราะฉะนั้นมันผิดหมดเลย เดินทางผิดแม้แต่หลักประชาธิปไตยความเสมอภาคก็เป็นหลักหนึ่งใช่ไหม เจริญพร แต่ว่ามันผิด ใช้ไปในทางที่ผิด แต่ที่จริงหลักประชาธิปไตยเองนั้น ของเขาเองเขาก็เป็นชุด ที่ต้องบูรณาการแล้วของเขาก็เป็นหลักที่ถูกนะ เจริญพร ต้องให้ครบชุด เขามีอะไรบ้าง ? ขออภัยต้องใช้ภาษาอังกฤษ ความเสมอภาค Equality ใช่ไหม แล้วก็เสรีภาพ Liberty ในที่นี้ไม่ใช้ Freedom ใช้ Liberty แล้วก็อีกตัวหนึ่ง คือ ภราดรภาพ Fraternity Fraternity แปลว่าภราดรภาพความเป็นพี่เป็นน้อง เวลานี้หลักประชาธิปไตยสามประการนี่ มีตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศสนะเจริญพร ปฏิวัติฝรั่งเศสนี่หลักการที่สำคัญของประชาธิปไตยมีสามข้อนี้ แต่เวลานี้สังคมประชาธิปไตยเหลือสองใช่ไหม หนึ่ง..เสรีภาพ นี้เน้นเหลือเกิน ต้องมี Liberty จนกระทั่งไม่รู้ว่าเสรีภาพคืออะไร ทำได้ตามใจคือไทยแท้อะไรทำนองนี้ เสรีภาพก็เอาได้ตามชอบใจ แล้วก็อ้างสิทธิอยู่กันเนี่ย สิทธิเสรีภาพ Equality ความเสมอภาคก็เพื่อจะมาแบ่งแย่งแก่งแย่งในทางเศรษฐกิจว่าได้เท่ากับเขาไหม แล้วก็ Fraternity ความเป็นพี่เป็นน้องภราดรภาพหายไปเลยไม่พูดถึง ก็แค่ประชาธิปไตยก็ยังรักษาหลักการไม่อยู่เลย 3 ข้อก็เอาไว้ไม่ได้ บูรณาการไม่ได้ ก็ได้แยกส่วนกันไป งั้นที่จริงของเขามันก็ดีเหมือนกันก็เข้าหลักพุทธศาสนา พุทธศาสนาก็มีตัวนี้เป็นตัวที่มันมาถึงสมานัตตตาความเสมอภาคนี้มันเป็นจุดรวมเป็นตัวดุนที่คุมได้หมดเลย แล้วมันเป็นความเสมอภาคแบบประสานสมานอย่างที่ว่า เพราะฉะนั้นได้ 4 ข้อนี้ เจริญพร อุเบกขาก็มาเป็นแกนของสมานัตตตาทำให้มีความเป็นธรรมทำให้มีความเท่าเทียมกัน แล้วมันก็อยู่ได้สังคมก็จะมีความมั่นคงถ้าเราไม่มีความเป็นธรรมซะอย่างเดียวแม้แต่มีเมตตามันก็กลายเป็นลำเอียง ก็เสียอีก ก็รักษาสังคมไม่ได้ เมตตาไม่ใช่เป็นหลักประกันสังคมพอ มันต้องอุเบกขาเป็นตัวสำคัญที่สุด แต่อุเบกขาด้วยปัญญาอย่างที่ว่าแล้วต้องครบชุด ก็เป็นอันว่าต้องมีทั้ง 4 ข้อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วก็มาออกสู่การปฏิบัติหรือปฏิบัติการด้วยทาน การให้วัตถุสิ่งของเงินทองอะไรก็แล้วแต่ แล้วก็ 2) ปิยวาจา ช่วยด้วยถ้อยคำ คำพูด แนะนำให้กำลังใจอะไร ส่งเสริมอะไรก็แล้วแต่ พูดกันดีๆ แล้วก็ 3) อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือด้วยเรี่ยวแรงกำลัง กำลังร่างกาย กำลังสติปัญญา กำลังความรู้ความสามารถปฏิบัติจัดการ แล้วก็ข้อสุดท้ายก็สมานัตตตา ความมีตนเสมอความเสมอภาคที่ตั้งเอาธรรมะเป็นหลัก ไอ้ตัวนี้จะไปโยงกับตัวธรรมะความจริงความถูกต้องก็อยู่ได้ด้วย เจริญพร ฉะนั้นทางด้านจิตใจก็มาลงที่ธรรมะ ที่อุเบกขา ที่มาเอาปัญญาที่รู้ธรรมะนี่ มาสร้างสภาพจิตที่เรียกว่าอุเบกขาขึ้น ปัญญานี่มันไปโยงถึงธรรมะคือความจริง ความถูกต้องว่าคืออะไร แล้วมันก็มารักษาสภาพจิตคืออุเบกขาไว้ อุเบกขาก็ออกมาสู่ปฏิบัติการในทางสังคมเป็นสมานัตตตา ไม่ลำเอียง และสมานัตตตานี้มีความเสมอภาคตั้งแต่โจทก์กับจำเลยใช่ไหม ? โจทก์กับจำเลยเราก็ต้องมีสมานัตตตามีตนเสมอเท่าเทียมกันแล้วก็เอาธรรมะเอาความจริงเอาความถูกต้องที่ปัญญารู้เป็นตัวตัดสิน แต่ทีนี้ปัญญา ตัวธรรมะจะมาสู่ปฏิบัติการ ได้เท่าไหร่ก็เท่าที่ปัญญารู้ เพราะฉะนั้นปัญญาก็ต้องแน่อีกใช่ไหม นี่มันโยงกันไปหมด เพราะฉะนั้นต้องพัฒนาปัญญาไว้ตลอดเวลา ท่านจึงให้ไม่ประมาทในการศึกษา ก็เพื่อจะได้ให้เร่งปัญญาไว้ แล้วในที่สุดก็มาตรึงที่ว่าปัญญากับเจตนาอีก ก็มาประสานอีกทีนึง อย่างนี้ก็อยู่ได้ ตกลงว่าธรรมะสำหรับท่านผู้พิพากษาก็คือธรรมะอันเดียวกันที่รักษาชีวิตและสังคมมนุษย์ทั้งหมดที่ต้องใช้สำหรับทุกคนนั้นเอง
[16:59] คุณธรรมสำคัญของผู้พิพากษาจะรักษาสังคมไว้ได้
แต่ [16:59] ท่านผู้พิพากษานี้เป็นแบบอย่างเลย เพราะเป็นตราชูของสังคม ในการที่จะรักษาสังคมไว้ได้ ท่านเป็นแบบอย่างในเชิงปฏิบัติการนั้นเห็นเลยว่า เราจะรักษาสังคมของเราให้อยู่ดีมีความสุขความเจริญ โดยเฉพาะความมั่นคงอยู่ได้นี่ ด้วยความเป็นธรรมที่ตั้งอยู่บนหลักที่ใจมีพรหมวิหาร 4 มีอุเบกขาที่โยงไปถึงธรรมะด้วยปัญญา แล้วก็ออกสู่ปฏิบัติการด้วยสมานัตตตาที่เช่นเดียวกันโยงไปสู่ธรรมะด้วยปัญญาที่รู้นั่นแหละ ตอนนี้จะต้องมีสติเตือนให้ตระหนักเสมอเลย ตัวปัญญาต้องทำงานเต็มที่ เจตนาต้องดีเสมอและสติก็จะมาเตือนให้เราดูว่า…..
หนึ่ง เราใช้ปัญญาเต็มที่ ปัญญาของเรารู้ความจริงถึงที่สุดไหม ? สติจะมาเตือนมาทำให้เราถามตัวเอง ถ้ายังไม่รู้ความจริงถึงที่สุดยังไม่ชัด อย่าหยุดนะ สติมันจะเตือน ปัญญาก็ทำหน้าที่เต็มที่สืบค้นหาความจริง แล้วก็เตือนเจตนา เรามีเจตนาดีไหม ? เจตนาของเราบริสุทธิ์ยุติธรรมมีความปรารถนาดีต่อชีวิตมนุษย์มีความปรารถนาดีต่อสังคมแน่นอนไหม ? เจตนาต้องการรักษาธรรมะไว้แน่นะ ? สติก็เตือนทั้งปัญญาและเจตนา พอปัญญาเจตนาอยู่นี่ แล้วเคลื่อนไปในทางพัฒนาให้เต็มที่ให้สมบูรณ์ที่สุดนี่ อยู่แน่สังคม และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาก็จะเป็นแบบอย่าง ในที่นี้ก็เป็นอันว่า ธรรมะทุกอย่างนั่นแหละจำเป็นสำหรับท่านผู้พิพากษาในฐานะที่ท่านเป็นของตราชูของสังคม เป็นแบบอย่างในการรักษาธรรมะไว้ให้แก่สังคม ทุกคนมีหน้าที่ในการรักษาความดีงามให้แก่สังคมรักษาธรรมะไว้แก่สังคมและรักษาสังคมให้ดำรงอยู่ในธรรม เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องปฏิบัติตามธรรมะนี้ โดยมีท่านผู้พิพากษาตุลาการเป็นตราชูเป็นแบบอย่างให้ ในที่นี้ก็เท่ากับบอกถึงความสำคัญของท่าน ผู้พิพากษาตุลาการว่าเป็นในแง่หนึ่งเป็นยอดสุดของสังคมเลยน่ะ สังคมนี้จะอยู่ได้ด้วยถ้าตุลาการยังเป็นหลักให้ ถ้ามันเสื่อมกันไปแค่ไหนๆตุลาการยังมั่นอยู่ละก็ถึงยังไงเราก็ยังมีหวังใช่ไหม ? ถ้าหมดกันสังคมก็หมดแน่ เพราะฉะนั้นก็ต้องช่วยกัน ก็เป็นอันว่า วันนี้อาตมาภาพพูดไปพูดมา ก็มาเป็นเรื่องของท่านผู้พิพากษาตุลาการที่ท่านเป็นบุคคลที่สำคัญ เรียกว่าสุดยอดในสังคม ที่จะต้องเป็นแบบอย่าง อย่างที่บอกแล้วก็เราก็เรียกตราชูแล้วนี่ คำว่าตราชูนี่ "ตุลา" นี่ใช้ในพระพุทธศาสนาในคัมภีร์เลย ท่านใช้สำหรับบุคคลที่เป็นแบบอย่าง เช่น พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระสาวกว่า ในพุทธบริษัทสี่ ในหมู่ภิกษุ พระสารีบุตร โมคคัลลานะเป็นตุลา ท่านว่าอย่างนั้้น ใช้ศัพท์นี้เลยนะเจริญพร ใช้เป็นตุลาก็คือเป็นตราชู แล้วก็ในหมู่ภิกษุณีก็มีเท่าที่จำได้ พระเขมาเถรีกับพระอุบลวรรณาเถรีเป็นตุลา แล้วก็ในหมู่อุบาสกก็มีตุลา 2 คน แล้วก็ในหมู่อุบาสิกาก็มีอุบาสิกาอีก 2 คน เพราะฉะนั้นในสังคมทุกยุคทุกสมัยจะต้องมีตุลา แล้วเราก็เอาคำนี้มาใช้แล้วเพราะฉะนั้นเราก็จะต้องทำให้สมจริง เราก็มีแล้ว แล้วเราก็ขอให้มีต่อไปแล้วก็ขอให้ตุลาการนี่ยั่งยืน ยั่งยืนทั้งในสถานะระบบการ แล้วก็ยั่งยืนอยู่ด้วยหลักการก็คือธรรมะที่ทำให้เกิดความเป็นตุลาการที่แท้จริงนั้นเอง
วันนี้อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาคุณหญิงและก็ท่านอาจารย์ผู้พิพากษา ท่านที่อยู่ในวงการตุลาการ ญาติโยมผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน ก็ขอตั้งจิตปรารถนาดีโดยเฉพาะก็ขออนุโมทนาน้ำใจของท่านที่มีต่อท่านองคมนตรีผู้ล่วงลับที่ท่านเป็นประธานศาลฎีกาที่ได้ทำคุณประโยชน์ไว้ให้แก่ประเทศชาติสังคมและวงการตุลาการและท่านก็ได้แสดงออกซึ้งน้ำใจต่อท่านแล้ว ในบัดนี้แล้วและในโอกาสอื่นๆด้วย ก็เป็นคุณธรรมเป็นตัวอย่างและที่เราได้แสดงออก ก็ขอให้คุณธรรมที่ได้แสดงออกและเจตนาที่ดีงามนี้ได้เป็นเครื่องดำรงรักษาให้ทุกท่านมีความเจริญด้วยจตุรพิธพรชัยทั้งตนทั้งครอบครัวญาติมิตรและขอให้มีความงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความร่มเย็น มีกำลังที่จะแผ่ขยายประโยชน์สุขไปให้แก่ประเทศชาติสังคมและชาวโลกตลอดกาลยั่งยืนนานทุกเมื่อเทอญ เอาล่ะ เจริญพร
คนฟังบอก 1.45 ชั่วโมง
พระตอบ เอาอย่างนั้นเลยเหรอ เจริญพร เลยพูดเรื่อยเปื่อยขออภัยเกินเวลาไปเยอะ
คนฟังตอบ ไม่เกิน
พระตอบ ไม่เกินน่ะ
คนฟังตอบ ได้ความหมายดี
พระตอบ ก็เลยพูดเรื่อยไปเท่านั้นเอง นึกอะไรได้ก็พูดไป
คนฟังถาม บอกขอ 1:45 ชั่วโมง เท่ากับ 30 ปี
พระตอบ อย่างงั้นเชียวหรือ ก็เกรงใจโยมเหมือนกัน
คนฟังถาม ท่านลืมบอกเป็นบาลีในธรรมะข้อหลัง
พระตอบ อ้อลืมบอกชื่อรวม เอาละซิแหมโยมเตือนดีแท้ๆ คือชื่อรวมมันว่า สังคหวัตถุ หลักการสังเคราะห์ สังเคราะห์แปลเป็นไทยว่าสงเคราะห์ สงเคราะห์แปลว่าจับมารวมกัน สงเคราะห์นี่มันมาจากสังคะหะ "คะหะ"แปลว่าถือหรือจับ แล้ว "สัง" ก็รวมเข้าด้วยกัน สังคะหะก็แปลว่าจับมารวมเข้าด้วยกัน จับอะไร จับใจคนมารวมกัน จับตัวคนมารวมกัน ทำให้สังคมมันอยู่ได้ ก็คือทำให้สังคมนี่รวมกันมั่นคงเป็นปึกแผ่นมีความสามัคคี เกิดเอกภาพเรียกว่าสังคหวัตถุ สังคหวัตถุคือหลักยึดเหนี่ยวสังคมนั้นเอง ก็เป็นอันว่า ชุดพรหมวิหาร กับ สังคหวัตถุนี่ มันต่อเนื่องกันออกสู่ปฏิบัติการ ถ้ามีอะไรขาดตกบกพร่องก็ขออภัยด้วยแล้วก็ช่วยถามด้วยว่า อันนั้นยังไม่ได้บอก เจริญพร ก็ขอพูดเล่าต่ออีกนิดหนึ่งเป็นการแถม
[24:16] เรื่องเกี่ยวกับการปกครอง แล้วก็เรื่องของการรักษาความเป็นธรรม มาจนกระทั่งเรื่องของผู้พิพากษาเนี่ย ในหลักธรรมก็เหมือนกับมีตัวอย่างให้แนวทางไว้ แล้วเราก็มาคิดพิจารณาเอาเอง เรื่องนี้เกิดขึ้นในพระสูตรหนึ่งชื่อโคปกโมคคัลลานสูตร หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว วันหนึ่งเสนาบดีของแคว้นมคธ ชื่อว่าวัสสการ
พราหมณ์ ท่านทั้งหลายคงเคยได้ยินวัสสการพราหมณ์ นี่สำคัญมาก วัสสการพราหมณ์นี้ก็ เขามีคู่กันอีกคนหนึ่งชื่อสุนีธะ สองคนนี่เป็นเสนาบดียิ่งใหญ่ของพระเจ้าอชาตศัตรู ตั้งแต่พระราชบิดาพระเจ้าพิมพิสารมา ก็ตอนนั้นกำลังดูแลบ้านเมืองพระเจ้าพิมพิสารสวรรคตไปแล้ว พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว วันหนึ่งท่านมหาอำมาตย์หรือเสนาบดีนี้ก็เดินตรวจราชการดูบ้านดูเมืองก็มาที่พระอานนท์ เข้าไปหาพระอานนท์เข้าไปสนทนา ท่านเสนาบดีก็ถามพระอานนท์ตอนหนึ่งว่า ตอนนี้พระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานแล้ว แล้วพระพุทธเจ้าตั้งใครไว้ให้เป็นผู้สืบต่อตำแหน่งพระองค์ปกครองคณะสงฆ์ พระอานนท์ตอบไม่ได้ตั้ง เสนาบดีท่านเป็นนักปกครองที่ปกครองแผ่นดินเชี่ยวชาญมาก กระทั่งว่าสามารถไปปราบแคว้นวัชชีได้ที่ไปยุแหย่น่ะ วัสสการพราหมณ์นี่ในสามัคคีเภทคำฉันท์ ท่านเสนาบดีก็บอกมีอย่างที่ไหนล่ะการปกครองหมู่คณะใหญ่โตไม่มีผู้นำไม่มีหัวหน้าจะอยู่กันได้ยังไง พระอานนท์ท่านก็ตอบบอกว่า เราไม่ใช่ไม่มีหัวหน้าแต่พระพุทธเจ้าไม่ได้แต่งตั้งไว้ อ้าว..แล้วท่านทำยังไง พระอานนท์ตอบว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักธรรมะไว้ให้ ว่า ผู้ใดประกอบด้วยธรรม 10 ประการนี้ ภิกษุทั้งหลายก็พึงนับถือเป็นผู้ใหญ่เป็นหัวหน้าเป็นผู้นำ ท่านเรียกว่า เถรธรรม 10 ประการ ก็เมื่อมีพระภิกษุที่มีคุณสมบัตินี้ ภิกษุทั้งหลายคือสงฆ์เนี่ย ก็ยกย่องท่านผู้นั้นขึ้นไป ก็เป็นหัวหน้า เราก็มีหัวหน้าด้วยประการฉะนี้โดยไม่ต้องตั้ง ว่างั้นนะ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตั้งใคร ก็เป็นอันว่าพระอานนท์ตอบเสร็จแล้ว บอกว่าไม่ต้องตั้ง แต่มี ตอบว่าอย่างงั้นน่ะ ก็มีโดยหลักการ ก็มีหลักการนี้ให้แล้วก็ว่าไปตามหลักการนี้ เป็นไปเอง ทีนี้อ้าว..ต่อไปอีกทีนี้ เวลามีภิกษุทำความผิด แล้วก็ดำเนินการก็ต้องตัดสินโทษ จะลงโทษแล้วจะทำอย่างไร อันนี้ท่านก็บอกหลักการไว้ บอกว่าหลักการมีอยู่เป็นธรรมวินัย อย่างวินัยก็มีข้อบัญญัติว่า เมื่อภิกษุทำผิดข้อนี้ๆ ก็มีโทษอย่างนี้ๆ ต้องอาบัตินี้ให้กระทำการอย่างนี้ๆ เมื่อมีภิกษุทำความผิด สงฆ์ก็ประชุมกัน แล้วก็ยกเอาหลักการและธรรมวินัยนี้ขึ้นมา หลักการนี้ว่ายังไง ? ก็เพียงแต่ว่าสงฆ์นั้นก็เหมือนมาเป็นกระบอกเสียงให้แก่ตัวธรรมวินัย แล้วภิกษุนั้นก็ถูกตัดสินโดยหลักธรรมวินัย ภิกษุทั้งหลายนั้นไม่ใช่เป็นผู้ตัดสิน เพียงแต่ยกเอาหลักขึ้นมา หลักการหรือตัวธรรมวินัยนั้นเองเป็นผู้ตัดสิน คือที่แท้นั้น [28:36] ผู้พิพากษาไม่ได้ไปตัดสินใคร ถ้าท่านปฏิบัติถูกนะ ถ้าใจเป็นกลางจริงๆนี่ไม่มีตัวตนแล้ว ก็คืออยู่กับปัญญาที่รู้ความจริงที่เป็นธรรมะนั้น แล้วเจตนาก็รักษาความเป็นธรรมเอาตัวหลักการที่วางไว้นั้นยกมาบอกให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ แล้วก็ว่าไปตามนั้น ก็คือผู้พิพากษาไม่ได้มีตัวตนของตนเอง เพราะไม่มีเจตนาของตัวเองนี่ เจตนานั้นอยู่ที่ธรรมะ เจตนานั้นคือธรรม เพราะฉะนั้นก็ธรรมะตัดสินใจ ท่านเรียกว่าธรรมะตัดสิน ในที่นั้นพระอานนท์ก็บอกว่า ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ลงโทษเขา ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ตัดสินเขา แต่ว่าธรรมวินัยตัดสิน ธรรมวินัยเป็นผู้ลงโทษ ถ้าเราใช้ภาษาปัจจุบันก็คือว่าพระภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้นก็เป็นเหมือนกระบอกเสียงให้เท่านั้นเองใช่ไหมเจริญพร จะเข้ากันได้ไหมอันนี้ เจริญพร นี่พระพุทธเจ้าว่าไว้ในหลักธรรมวินัย อ๋อไม่..อันนี้พระอานนท์ว่าเจริญพร
[29:49] ถ้าตัดสินผิดพลาด บาปหรือไม่บาป ?
คนฟังถาม และถ้าว่าเป็น สมมุตว่าเป็นการตัดสินผิดพลาดไปล่ะ
พระตอบ อ้าวตอนนี้ นี่แหละถึงต้องบอก ตอนต้นมี 2 ขั้นตอน เพราะเราจะทำหน้าที่ที่ไม่มีตัวตนของเราแล้ว ก็คือเมื่อเราทำโดยบริสุทธิ์มันจะมีแต่ตัวหลักการ ตัวธรรมวินัย ตัวกฎหมาย ตัวบัญญัตินั้นเลยทำหน้าที่ เราเป็นเพียงตัวทางผ่านให้เป็นสื่อให้เท่านั้นเอง คือถ้าทำได้สำเร็จนี่ บรรลุผลสำเร็จนี่ของผู้พิพากษาก็คืออยู่ในภาวะนี้ แต่จะทำไงเราจะถึงภาวะนี้ได้ ก็คือปัญญาและเจตนาต้องสมบูรณ์ที่ว่าเมื่อกี้ ปัญญาก็รู้ความจริงชัดเจนหลักการปฏิบัติการ ข้อมูลในเรื่องอะไรต่างๆเหตุการณ์คดีชัดหมด แล้วก็เจตนาก็เพื่อทำจริงๆ นี่ตอนนี้ไม่มีตัวแล้ว แต่ทีนี้สมบูรณ์ของปัญญาและเจตนาทำไงใช่ไหม ? ท่านจึงว่า นี่แหล่ะจึงต้องพยายามเตือนตัวไว้ด้วยสติว่า ปัญญาเราเข้าใจรู้ความจริงชัดเจนไหม ให้มั่นใจที่สุด เจตนาก็มั่นใจที่สุดว่าเราทำนี่ด้วยเจตนาบริสุทธิ์จริงๆตั้งใจดีจริงๆ ถ้าเรามั่นใจสองอัน ในที่สุดมันได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น อ้าวต้องตัดสินอย่างนี้ พอได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น แล้วก็ตัดสินไปแล้ว ถ้าผิดพลาด อ้าวก็รู้กันว่าผิดพลาด ท่านก็มีธรรมะให้อีก ให้ไม่ประมาทในการศึกษาต่อไป ก็หมายความว่าหลังจากนั้นแล้วเราไม่ปล่อยนะ ไม่ใช่เราจะหลงตัวเองเพลิดเพลิน เราก็ศึกษาอีกถ้ามีข้อผิดพลาดอะไรยังไม่สมบูรณ์ เราก็มาศึกษาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในคราวต่อไป มีแต่ดียิ่งขึ้นไม่ต้องไปเสียใจย้อนหลัง
คนฟังถาม จะเป็นบาปติดตัวผู้พิพากษา
พระตอบ เปล่า เจตนา เจตนา [31:42] เจตนาเป็นตัวตัดสินกรรม เพราะตอนที่เราจะตัดสินนั้นเราบอกตัวเองแล้วนี่ เราก็เลยทำความมั่นใจก่อนไงใช่ไหม เอาล่ะ เราดูตัวเอง ปัญญาเรามั่นใจ เจตนาเรามั่นใจ ในที่สุดถึงเวลาได้เท่าไหร่เท่านั้นใช่ไหม เมื่อเรามีเจตนาบริสุทธิ์ดีแล้ว มันเป็นกรรมดี แต่มันมีข้อบกพร่องเรายอมรับความบกพร่องนั้น เพื่อการปรับปรุงแก้ไข ตอนนี้ท่านเรียกว่า ปฏิกรรม นี่แหละคำว่าปฏิกรรมมาแล้ว เมืองไทยไม่เอามาเรียนหลักปฏิกรรม มีในหลักธรรมเลยนะ เจริญพร หลักปฏิกรรมนี่ กรรมแล้วปฏิกรรม ปฏิกรรมก็คือเมื่อเราทำกรรมไปเนี่ยมันเกิดความผิดพลาดไม่สมบูรณ์ นี่ท่านให้มีปฏิกรรม แก้ไขเพื่อให้การครั้งต่อไปมันดียิ่งขึ้นสมบูรณ์ต่อไป เพราะฉะนั้นนี่เรียกว่าหลักความไม่ประมาท การที่เราจะปฏิกรรมได้ดีเราต้องไม่ประมาทในการศึกษาใช่ไหม เจริญพร ท่านก็ให้ไม่ประมาทในการศึกษาก็จะทำให้เราก็ทำงานได้ดีขึ้น วงการก็ดีขึ้น วิชาการเรื่องสังคมดีขึ้นเรื่อยเลย ถ้าปฏิบัติตามหลักนี้ไม่มีเสีย แล้วไม่ต้องมัวเสียใจอยู่ ก็เสียใจได้บ้างปุถุชน คือถ้าหลักการท่านไม่มัวหวนละห้อยความหลังท่านว่าแล้วใช่ไหม อะตีตัง นานวาคะเมยยะ ถ้ามันผิดพลาดเราตระหนักรู้ความผิดพลาดนั้นเพื่อมาแก้ไขปรับปรุง แต่ไม่ทิ้งนะ ถ้าทิ้งท่านเรียกประมาทเหมือนกัน คือเอาในแง่ความรู้ด้านความรู้สึก ตัด คือถ้าเรามั่นใจแล้วเราก็เอาด้านความรู้ว่ามันมีข้อบกพร่องผิดพลาดความรู้นี้ต้องเอา แล้วความรู้นี้จะเอามาใช้ในการปรับปรุงแก้ไขก็จะเป็นประโยชน์ดียิ่งขึ้น ไม่มีปัญหา นี้ถ้าหลักท่านมีอยู่แล้วว่าไม่หวนละห้อยความหลัง อะตีตัง นานวาคะเมยยะ ว่าอย่างงั้นนะ แล้วก็ถ้ามีเสียใจเป็นวิสัยปุถุชนเป็นไปได้มันก็มาเตือนตัวเองเนี่ย เห็นมั้ยว่าขนาดเราว่าเราเตรียมเต็มที่แล้วยังมีพลาดได้ เพราะฉะนั้นต้องไม่ประมาท รอบคอบยิ่งกว่านี้อีกต่อไปใช่ไหมเจริญพร ก็ยิ่งทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป ก็ยอมรับแล้ว ความเสียใจนี้ก็เป็นความไม่ดีเป็นอกุศล ทำให้มีความทุกข์แต่ว่าเอามันมาทำเป็นประโยชน์ เอาไอ้เจ้าอกุศลมาทำเป็นประโยชน์ท่านเรียกว่า เอาอกุศลมาเป็นปัจจัยแก่กุศล เอามาทำให้เกิดผลดีต่อไป อย่าไปมัวเศร้าทุกข์อยู่แล้วก็เลยยิ่งแย่ใหญ่เลย ก็ถ้ามันมีทุกข์ก็เออไอ้ทุกข์นี้มันก็ดี มันเตือนเราทำให้เรามีสติ คนที่มีแต่สุขอยู่เสมอนี่มันเพลินมันหลงง่ายประมาท ไอ้คนที่มีทุกข์นี้มันทำให้ไม่ประมาทใช่ไหม มันทำให้เตือนตัวเองทําให้เกิดสติง่าย
ยกตัวอย่างนอกเรื่องไป เทวดานี่พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าแพ้มนุษย์หลายอย่าง มีข้อดีกว่ามนุษย์น่ะไม่ต้องพูด แต่ข้อเสียแพ้มนุษย์ ข้อแพ้มนุษย์ที่สำคัญข้อหนึ่งคือสติ เทวดานี้ก็สบายมีแต่ความสุข แกเลยเพลิน เป็นคนที่สติแพ้มนุษย์ มนุษย์นี่มีทุกข์มีสุขมีปัญหา ไอ้เจ้าทุกข์เจ้าปัญหานี้แหละมันเตือนให้คนไม่ประมาทมีสติขึ้นมา อันนั้นทุกข์ก็ดีอยู่ ทุกข์ไม่ใช่ไม่ดี ทุกข์นี่แหละทำให้คนได้ดีมาสุขเยอะ มันเตือนเราทำให้เราไม่ประมาท แล้วเร่งแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าเกิดไม่สบายใจมีความขุ่นมัวเศร้าหมอง ก็เอามันมาใช้ประโยชน์ซะ โดยเอามาเตือนตัวเราให้เราได้จับจุดได้ว่ามันมีจุดอ่อนข้อพกพร่อง และเราขุ่นมัวเศร้าหมองเพราะอะไร อย่าให้มันเกิดอย่างนี้อีกเราแก้ไขไปใช่ไหม เจริญพร ดีทั้งนั้น
คนฟังถาม คนมีสตินี่ ไม่ว่าทำชั่วทำบาปนี่ ต้องรับกรรมใช่ไหม ตามศาสนาพุทธใช่ไหมค่ะ
พระตอบ ไม่ใช่ตามหลัก ตามหลักธรรมชาติว่าอย่างงั้นน่ะ คือว่า กรรมนี่ไม่ใช่เป็นเรื่องความเชื่อ มันเป็นเรื่องความจริง ภาษาไทยมาใช้ผิดอีก [36:12] ภาษาบาลีนี่ท่านไม่ค่อยใช้หรอก "เชื่อกรรม" นี่ท่านไม่เน้น ท่านเรียก "รู้กรรม" ต้องรู้กรรมเข้าใจกรรม กรรมมันเป็นความจริงตามธรรมชาติ คือหลักเหตุปัจจัยเกี่ยวกับเจตนาหรือเจตจำนงของมนุษย์ เราจะต้องเรียนรู้ว่าไอ้เจตนามันเป็นกลไกที่ทำให้เกิดผลอย่างไร ? มันมีผลต่อชีวิตของมนุษย์อย่างไร ? เจตนาเกิดขึ้นในใจแล้วมันแสดงออกทางกายทางวาจา แล้วมีผลเปลี่ยนแปลงอย่างไร ? นี่มันเป็นเรื่องความจริงตามธรรมชาติ เราต้องเรียนรู้ต้องศึกษา เพราะไปแค่เชื่อ จบเลย แล้วทีนี้ก็ไม่เรียนรู้ไม่หาความรู้แล้ว เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎกนี่ คำว่า เชื่อกรรม นี่แทบไม่มี มีแต่รู้กรรม อย่างในคำไทยเรามีคำหนึ่งเราใช้คำว่า กัมมัสสกตาสัทธา ภาษาบาลีไม่ใช้ ภาษาบาลีใช้ กัมมัสสกตาญาณ ญาณความรู้ในความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน ภาษาไทยที่ต้องชำระสะสางกันเยอะเลย เจริญพร เพราะฉะนั้นกรรมไม่ใช่เป็นเรื่อง.. ที่จริงนะโดยหลักการแท้ๆไม่ใช่เป็นเรื่องสำหรับเชื่อแต่เป็นเรื่องสำหรับรู้ เพราะกรรมไม่ง้อใคร กรรมมันเป็นความจริงมันจะไปง้อใครล่ะใช่ไหม เจริญพร ถ้าไปเชื่อมันคล้ายๆว่ามันอาจจะไม่จริงก็ได้แล้วเราไปเชื่อไว้ อะไรอย่างนี้น่ะ ในความจริงท่านบอกว่า กรรมไม่ง้อใครแล้วมันเป็นความจริง คุณจะเชื่อไม่เชื่อ มันก็ทำของมัน แต่ที่นี้ในขั้นต้นๆการเชื่อก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง ในเมื่อยังไม่รู้จริงใช่ไหม จะได้พยายามปฏิบัติให้ถูกให้ได้ประโยชน์ แล้วที่นี้ว่าไงล่ะทีนี้ อ้าวถามต่อซิ เจริญพร เมื่อกี้
[38:02] สุดท้าย "ปัญญา" กับ "เจตนา" จำเป็นต้องมา
คนฟังถาม เมื่อคนผิดนี่จะต้องรับผลของการกระทำของเขา ?
พระตอบ เจริญพร โดยธรรมชาติ
คนฟังถาม แล้วการที่ผู้พิพากษาไปตัดสิน จะไปขัดกับกฏเกณฑ์ธรรมชาติหรือเปล่า ?
พระตอบ อ้าวอันนี้ อาตมาก็ยังไม่พูดอีกเรื่องหนึ่ง หลักใหญ่เหมือนกันน่ะ อันนี้ก็เรื่องใหญ่เหมือนกันหลักการใหญ่เลย คือมนุษย์นี่เป็นสัตว์พิเศษ ธรรมชาติมันมีกฎมีความเป็นจริงของมัน มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นต้น มันก็เป็นไปตามกระบวนการของมัน เอาละอย่างกรรมนี่มันก็มีผลตามธรรมชาติของมันใช่ไหม เจริญพร ทีนี้มนุษย์ล่ะ [38:41] มนุษย์ก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง โดยตัวเขาเองนะเป็นธรรมชาตินะ ใจก็เป็นธรรมชาติ กายของเขาก็เป็นธรรมชาติ แล้วทีนี้ธรรมชาติในมนุษย์น่ะมันมีตัวพิเศษอันหนึ่ง "ปัญญา" ปัญญานี้เป็นธรรมชาตินะไม่ใช่ของแปลกปลอมนะ เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งในตัวมนุษย์เป็นคุณสมบัติพิเศษในตัวมนุษย์ แล้วก็เจตนาอีกที่ว่าเมื่อกี้นี้ ไอ้ 2 ตัวนี่เป็นคุณสมบัติพิเศษในมนุษย์เลยนะ ท่านลองดู ปัญญากับเจตนา นี่ เอาล่ะทีนี้ พระพุทธเจ้าก็ แล้วทำไมพระพุทธเจ้าวางวินัยขึ้นไม่ปล่อยให้สังคมเป็นไปตามธรรมชาติ เอ๊ะพระพุทธเจ้าทำไมไม่ปล่อยไปตามธรรมชาติ ทำไมมาตั้งวินัยบัญญัติ วางกฎกติกาสังคมจัดตั้งคณะสงฆ์อะไร อ้าวก็คุณมีธรรมชาติที่ดีเป็นพิเศษคือปัญญาและเจตนา ก็เอาปัญญาและเจตนาที่เป็นธรรมชาติพิเศษของคุณมาใช้สิ ไอ้เจ้าปัญญากับเจตนานี่ มันก็เลยมาทำงานเป็นเหตุปัจจัยร่วมขึ้นในกระบวนการธรรมชาติที่แต่ก่อนมันไม่มีปัญญาและเจตนา ใช่ไหม ธรรมชาติทั่วไปนี่มันขาดปัญญากับเจตนาใช่ไหม เจริญพร มันเป็นไปเรื่อย ทีนี้เรามีในมนุษย์ปัญญากับเจตนา สองตัวนี้พิเศษ เราเอาปัญญากับเจตนาที่เป็นธรรมชาติพิเศษของเรานี่ มาร่วมในกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติสิ เราก็จึงสามารถจัดสรรปรุงแต่งสังคมของเราชีวิตของเราให้มันดีได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นไปแค่ เหตุปัจจัยธรรมชาติอย่างอื่นเท่านั้น
ที่โยมบอกว่าทำไมไม่ปล่อยไปตามธรรมชาติเราลืมไปว่าปัญญาและเจตนาของเราก็เป็นธรรมชาตินะ ใช่ไหม อ้าวเราจะปล่อย คือจะปล่อยให้เป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างอื่นในธรรมชาติ โดยไม่เอาปัจจัยคือปัญญาและเจตนาของเราเข้าไป แสดงว่าเรายังไม่ฉลาดพอ ถ้าเราฉลาดพอเราก็เอาปัญญาและเจตนาของเราที่พัฒนาอย่างดีน่ะมาใช้ซะ เอาไปร่วมในกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ปัญญาและเจตนานี้มันก็เลยเข้ามาสู่ระบบการจัดตั้งที่พระพุทธเจ้าว่า 1) มีธรรมะ ความจริงตามธรรมดาธรรมชาติก็เป็นอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้ารู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ แล้วพระองค์ก็รู้ด้วยในธรรมดาในมนุษย์มันมีปัญญาเจตนานี้พิเศษ พระองค์ก็เอาปัญญาแล้วเจตนานี่ เอาความจริงในธรรมชาตินั้นมาจัดตั้งวินัย มาวางระบบสังคมขึ้นให้เป็นสังคมที่ดี วางกฎกติกาให้ดำเนินไปในทางที่ดีมีนิติบัญญัติบริหารตุลาการนี้ขึ้นมา ใช่ไหม เพราะฉะนั้นในวินัยของพระนี่ไม่ปล่อย นี่คนไทยยังนับถือพลาดมาก บอกว่า เอ้อ..เขาทำกรรมไม่ดีเดี๋ยวเขาก็รับกรรมเขาเองนี่แหละ นี่ผิดหลักพุทธศาสนา คนไทยนับถือผิดเยอะเลย จะต้องแก้กันมากเลย เจริญพร ก็กลายเป็นลัทธิหนึ่ง คือ ลัทธิปล่อยไปตามโชค อะไรอย่างนี้นะ ลัทธินี้เป็นมิจฉาทิฐิด้วย พระพุทธเจ้า พระทําผิดเหรอ ไม่ปล่อยหรอก มีสังฆกรรม มีกรรมในทางวินัย กรรมในธรรมชาติมีอยู่แล้ว มีกรรมในวินัยอีก ท่านไปอ่านวินัยของพระ มีสังฆกรรม มีนิคหกรรม มีกรรมโน่น กรรมนี่ กรรมนั่น เรื่องกรรมเกี่ยวกับการลงโทษพระนี้เยอะแยะไปหมดเลย เจริญพร นี่คือกรรมที่มนุษย์จัดสรรขึ้นมาด้วยปัญญาและเจตนา แต่ผิดธรรมชาติไหม ? ไม่ผิด นี่คือการที่เราเอาปัญญาและเจตนาที่เป็นธรรมชาติพิเศษในมนุษย์มาร่วมกระบวนการเหตุปัจจัยในธรรมชาติ แล้วมนุษย์ที่พิเศษได้ก็เพราะอันนี้นะ แล้วทำไมไม่ใช้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าไม่มาปล่อย เขาทำกรรมแล้วก็ปล่อยเดี๋ยวเขาก็รับกรรมเขาเอง งั้นก็ไม่ต้องไปทำอะไร ถ้าเรามีความฉลาดเราจะจัดตั้งวางระเบียบเราจะทำสังคมให้ดี เราก็ต้องใช้ปัญญาเจตนาของเรามาร่วมกระบวนการธรรมชาตินั้นเลย กระบวนปัญญาและเจตนาของเราก็กลายเป็นเหตุปัจจัยที่ดี เพราะปัญญาเรารู้ความจริงและเจตนาของเราดีมีเมตตาต่อสังคมปรารถนาดีต่อชีวิตใช่ไหมเจริญพร เป็นแต่เพียงนี้แหละ มันจะมาขาดก็ตรงว่า ปัญญาและเจตนานี่มันสมบูรณ์ไหม เราถึงได้มาในที่สุด เราก็มาจี้กับตรงนี้ ถ้าในหลักการแล้วไม่ผิด เอานะ เจริญพร จับได้ไหม ได้แล้ว เอาแล้วทีนี้ก็กลับมาจุดยืนเก่าก็คือว่า คอยกำกับปัญญากับเจตนานี้ให้ดี คือเราต้องไม่ประมาทเสมอ 1) ต้องให้ปัญญาสมบูรณ์ที่สุด รู้ความจริงชัดเจนแจ่มแจ้งเข้าถึงตัวสัจจะ 2) เจตนาต้องคอยชำระตัวเองคอยเตือนตัวเองไว้ให้บริสุทธิ์ให้เป็นเจตนาที่ดี เป็นไปเพื่อความดีงามของสังคมของชีวิตของอะไรทุกอย่างที่ดีทั้งนั้นเพื่อความสงบสุขอะไรต่างๆเหล่านี้นะ ก็ตั้งอันนี้ไว้ตกลงก็มายืนที่ปัญญาเจตนา นี้มันเชื่อมได้หมด หายสงสัยแน่น่ะ เจริญพร เอาล่ะ ที่จริงจะพูดก็ลืมไป แต่ถ้าขืนพูดล่ะไม่รู้กี่ชั่วโมงจบ ไปกันเรื่อย เจริญพร เอาล่ะน่ะเจริญพร ขอโมทนาอีกครั้ง อันนี้ตกลงก็เอาไปรวมในนั้นด้วยก็ได้แล้วแต่ เจริญพร
------------------------------------------------------
ประเด็นสำคัญ
00:03 ธรรมะชุดใจต้องออกสู่ปฏิบัติการ
00:57 ธรรมะชุดปฏิบัติการประสานกับใจอย่างไร ?
09:38 สมานคือเสมอ เสมอคืออะไร ? ทำอย่างไร ?
16:59 คุณธรรมสำคัญของผู้พิพากษาจะรักษาสังคมไว้ได้
29:49 ถ้าตัดสินผิดพลาด บาปหรือไม่บาป ?
38:02 สุดท้าย "ปัญญา" กับ "เจตนา" จำเป็นต้องมา
คำโปรย
16:59 ท่านผู้พิพากษานี้เป็นแบบอย่างเลย เพราะเป็นตราชูของสังคม ในการที่จะรักษาสังคมไว้ได้ ท่านเป็นแบบอย่างในเชิงปฏิบัติการนั้นเห็นเลยว่า เราจะรักษาสังคมของเราให้อยู่ดีมีความสุขความเจริญ โดยเฉพาะความมั่นคงอยู่ได้นี่ ด้วยความเป็นธรรมที่ตั้งอยู่บนหลักที่ใจมีพรหมวิหาร 4 มีอุเบกขาที่โยงไปถึงธรรมะด้วยปัญญา แล้วก็ออกสู่ปฏิบัติการด้วยสมานัตตตาที่เช่นเดียวกันโยงไปสู่ธรรมะด้วยปัญญาที่รู้นั่นแหละ ตอนนี้จะต้องมีสติเตือนให้ตระหนักเสมอเลย ตัวปัญญาต้องทำงานเต็มที่ เจตนาต้องดีเสมอและสติก็จะมาเตือน
28:36 ผู้พิพากษาไม่ได้ไปตัดสินใคร ถ้าท่านปฏิบัติถูกนะ ถ้าใจเป็นกลางจริงๆนี่ไม่มีตัวตนแล้ว ก็คืออยู่กับปัญญาที่รู้ความจริงที่เป็นธรรมะนั้น แล้วเจตนาก็รักษาความเป็นธรรมเอาตัวหลักการที่วางไว้นั้นยกมาบอกให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ แล้วก็ว่าไปตามนั้น ก็คือผู้พิพากษาไม่ได้มีตัวตนของตนเอง เพราะไม่มีเจตนาของตัวเองนี่ เจตนานั้นอยู่ที่ธรรมะ เจตนานั้นคือธรรม เพราะฉะนั้นก็ธรรมะตัดสินใจ ท่านเรียกว่าธรรมะตัดสิน
38:41 มนุษย์ก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง โดยตัวเขาเองนะเป็นธรรมชาตินะ ใจก็เป็นธรรมชาติ กายของเขาก็เป็นธรรมชาติ แล้วทีนี้ธรรมชาติในมนุษย์น่ะมันมีตัวพิเศษอันหนึ่ง "ปัญญา" ปัญญานี้เป็นธรรมชาตินะไม่ใช่ของแปลกปลอมนะ ... ปัญญากับเจตนา
วรรคทอง
07:17 สมานัตตตาแปลว่ามีตนเสมอ สมัยนี้เขาเรียกว่าความเสมอภาค ... มีตนเสมอนี่เสมออย่างไรบ้าง ? ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน เอาล่ะนี่ง่ายๆที่สุด ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง อันนี้ก็มีความเป็นธรรม
08:56 ท่านใช้คำบาลีว่าสมานสุขทุกขตา มีสุขทุกข์เสมอกัน หมายความว่าเธอทุกข์ฉันก็ไม่ทิ้ง เธอสุขฉันก็สุขด้วย เธอทุกข์ฉันก็ทุกข์ด้วย ทุกข์ๆด้วยสุขๆด้วย เราเรียกว่าร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมสุขร่วมทุกข์กันนี่เป็นลักษณะหนึ่งของสมานัตตตา แล้วมันจะเป็นตัวสำคัญที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี เราอยู่ร่วมสังคมเดียวกันเราก็ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน แล้วก็มีสมานัตตตาตั้งแต่สามข้อแรกมาเลย ความเสมอภาคจึงจะสมบูรณ์
31:42 เจตนาเป็นตัวตัดสินกรรม เพราะตอนที่เราจะตัดสินนั้นเราบอกตัวเองแล้วนี่ เราก็เลยทำความมั่นใจก่อนไง ปัญญาเรามั่นใจ เจตนาเรามั่นใจ ในที่สุดถึงเวลาได้เท่าไหร่เท่านั้น เมื่อเรามีเจตนาบริสุทธิ์ดีแล้ว มันเป็นกรรมดี แต่มันมีข้อบกพร่องเรายอมรับความบกพร่องนั้น เพื่อการปรับปรุงแก้ไข ตอนนี้ท่านเรียกว่า ปฏิกรรม
36:12 ภาษาบาลีนี่ท่านไม่ค่อยใช้หรอก "เชื่อกรรม" นี่ท่านไม่เน้น ท่านเรียก "รู้กรรม" ต้องรู้กรรมเข้าใจกรรม กรรมมันเป็นความจริงตามธรรมชาติ คือหลักเหตุปัจจัยเกี่ยวกับเจตนาหรือเจตจำนงของมนุษย์ เราจะต้องเรียนรู้ว่าไอ้เจตนามันเป็นกลไกที่ทำให้เกิดผลอย่างไร ? มันมีผลต่อชีวิตของมนุษย์อย่างไร ? เจตนาเกิดขึ้นในใจแล้วมันแสดงออกทางกายทางวาจา แล้วมีผลเปลี่ยนแปลงอย่างไร ? นี่มันเป็นเรื่องความจริงตามธรรมชาติ เราต้องเรียนรู้ต้องศึกษา