แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร ในการเล่าเรื่องให้โยมฟัง วันนี้ ก็ยังอยู่ในหัวข้อธรรม เรื่องปัญญา เรื่องปัญญานี้ได้พูดมาหลายครั้งแล้ว ได้พูดถึงปัญญาในระดับของการใช้งานในชีวิตประจำวัน ในธุรกิจการงานต่างๆ นี้วันนี้จะเข้ามาสู่ การปฏิบัติในทางธรรมมากขึ้น อยากจะพูดเรื่องการเจริญปัญญา หรือวิธีเจริญปัญญา หรือใช้ภาษาปัจจุบันก็เรียกว่า วิธีพัฒนาปัญญา พระพุทธเจ้าตรัสหมวดธรรมไว้หมวดหนึ่ง เรียกว่า ปัญญาวุฒิธรรม แปลว่า ธรรมะเป็นเครื่องเจริญปัญญา มี 4 หัวข้อด้วยกัน อาจจะเรียกง่ายๆ ได้ว่า หลักการพัฒนาปัญญา ก็ได้ หัวข้อทั้ง 4 นั้นก็มี
1.การคบหาสัตบุรุษ หรือการคบคนดี เสวนาคนดี ให้เรียกเป็นศัพท์ทางพระว่า สัปปุริสสังเสวะ สัปปุริสะ ก็ สัตบุรุษ และ สังเสวะก็ การเสวนา การคบหา
ข้อที่ 2. การฟังคำแนะนำสั่งสอนของสัตบุรุษนั้น หรือเรียกง่ายๆ ว่า ฟังธรรมะ ทางพระเรียกเป็นศัพท์ว่า สัทธัมมัสสวนะ
3. การพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย หรือว่ารู้จักคิดให้ถูกวิธี เรียกว่า โยนิโสมนสิการ
และ 4. การนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมาย เรียกเป็นศัพท์ว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ
นี่มี 4 หัวข้อด้วยกัน
ทบทวนหัวข้ออีกครั้งหนึ่ง (1) สัปปุริสสังเสวะ การเสวนาสัตบุรุษ หรือคบหาคนดี (2) สัทธัมมัสสวนะ การฟังธรรมคำสั่งสอน (3) โยนิโสมนสิการ การพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย และ (4) ธัมมานุธัมมปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หรือว่าการปฏิบัติธรรมให้ถูกหลักธรรม ถูกความมุ่งหมาย
ทีนี้อาตมภาพจะอธิบายในหลักทั้ง 4 ข้อนี้โดยย่อ
ข้อที่ 1 สัปปุริสสังเสวะ การคบหาคนดี หรือคบหาเสวนาสัตบุรุษ อันนี้เป็นหลักการสำคัญที่เรามักจะเรียกกันว่า การคบหากัลยาณมิตร การมีมิตร คบหาคนนั้น เป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อม ถ้าคบหาคนไม่ดี ก็พาให้ห่างไกลจากความเจริญงอกงาม ในทางตรงข้าม ก็จะนำไปสู่ความเสื่อม แทนที่จะได้ความดี ก็ได้ความชั่ว อย่างที่ท่านกล่าวว่า คบหาคนเช่นใด ก็เป็นเช่นนั้น
หรือว่า อย่างที่ท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนกับเอาใบไม้ไปห่อ ถ้าเอาใบไม้ไปห่อของเหม็น ใบไม้นั้นก็พลอยมีกลิ่นเหม็นไปด้วย ถ้าเอาใบไม้นั้นไปห่อของหอม อย่างเช่นไม้กฤษณา ใบไม้นั้นก็พลอยมีกลิ่นหอมไปด้วย ก็หมายความว่า ถ้าคบหาคนชั่ว ก็นำไปสู่ความชั่ว ความเสื่อมเสียหาย ถ้าคบหาคนดี ก็นำไปสู่ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า นี้ในทางธรรมะ ก่อนที่จะเจริญก้าวหน้าได้ ก็ต้องคบหาบุคคลที่ดีเสียก่อน คบหาคนดีที่เรียกว่า สัตบุรุษ
สัตบุรุษนั้นท่านยกตัวอย่างไว้ ถ้ายอดของสัตบุรุษ ก็ได้แก่ พระพุทธเจ้า รองลงมา ก็ได้แก่ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ตลอดมาจนกระทั่ง พระสาวก ท่านผู้รู้ธรรม ผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณธรรม หรือว่า ผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ประการ ถ้าประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ประการ ก็เรียกว่าเป็นสัตบุรุษ
สัปปุริสธรรม 7 ประการนั้น ก็ว่ากันได้แต่โดยหัวข้อว่า รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบุคคล รู้จักชุมชน
แต่ว่าในโอกาสนี้ก็ยังไม่มีเวลาที่จะอธิบายยาว ก็เพียงแต่เอาในที่นี้ว่าก็คือ คบหาคนดี คนที่มีความรู้ คนที่ทรงคุณธรรม อันนี้จะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะให้ได้ฟังคำแนะนำสั่งสอน ถ้าว่าท่านที่มีความรู้ ก็สามารถให้ความรู้ได้ เมื่อมีการให้ความรู้ และรับการเล่าเรียนศึกษา ก็สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จ
ในทางพระพุทธศาสนาถือการคบหานี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ท่านเล่าเป็นนิทานชาดกก็มี อย่างเรื่องลูกนกแขกเต้า ที่ว่า ลูกนกแขกเต้า 2 ตัว ตอนแรกก็อยู่ในรังเดียวกัน พอดีวันหนึ่งมีพายุใหญ่มา พัดเอารังกระจัดกระจาย ลูกนกแขกเต้า 2 ตัวนี้พลัดกันไป ตัวหนึ่งนั้นไปตกที่อาศรมพระฤาษี อีกตัวหนึ่งนั้นไปตกที่ซ่องโจร สองตัวนี้ก็เจริญเติบโตมาในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน
ตัวที่ไปอยู่ในอาศรมพระฤาษี พระฤาษีก็เลี้ยงไว้ ก็ได้อยู่ในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่ดีงาม ได้เห็นสิ่งที่ดีงาม ได้ฟังสิ่งที่ดีงาม พระฤาษีท่านเกี่ยวข้องติดต่อกับใคร ใครมาหาท่าน ท่านก็ต้อนรับตามแบบของผู้ที่มีคุณธรรม มีการปฏิสัณฐาน ต้อนรับด้วยคำอ่อนหวานสุภาพ นกแขกเต้าก็จำเอาคำที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ เวลาใครมาหา ก็จะต้อนรับทักทายด้วยคำที่สุภาพอ่อนหวาน
นี้ส่วนตรงข้ามก็คือ ลูกนกแขกเต้าอีกตัวหนึ่ง ที่ไปตกในซ่องโจร ก็ได้ยินแต่ถ้อยคำของโจรที่พูดคำหยาบคาย พูดแสดงความดุร้าย ใครเข้ามาในเขตก็จะทำร้าย ก็จำติดไว้ ก็พูดตามอย่างนั้น
นี้มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่ง พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งก็หลงทางมา หลงทางมาตอนแรกก็มาถึงที่ซ่องโจรก่อน เข้ามาในเขตของโจรโดยไม่รู้พระองค์ ก็เหน็ดเหนื่อย พอนั่งพัก พอสักพัก นั่งพักเท่านั้น นกแขกเต้าตัวที่อยู่ในซ่องโจร ขณะนั้นโจรไม่อยู่ ออกไป คงจะไปปล้นหรือไปอะไรออกไปข้างนอก นกแขกเต้าตัวนี้ก็ต้อนรับ โดยการร้องบอกว่า “ เอ้า ใครนี่ มานี่ “ พูดด้วยคำหยาบคาย “ ไอ้นี่เป็นใคร มาพวกเรามาๆ มาช่วยกันจับเอาไปฆ่าเสีย “ อะไรทำนองนี้ ก็เป็นคำที่น่ากลัวทั้งนั้น พระราชาได้ยินอย่างนี้ก็สะดุ้งตกพระทัย และก็เห็นว่าสถานที่นี้ เป็นสถานที่คงจะไม่ปลอดภัยเป็นแน่ ก็เลยเสด็จออกจากที่นั่นไป
พอไป ไปก็ถึงไปเข้าเขตอาศรมพระฤาษี พอเดินย่างเข้าเขตอาศรมพระฤาษี ก็ได้ยินเสียงทักทายจากนกแขกเต้าตัวที่เติบโตมาในอาศรมของพระฤาษีนั้น ทักทายปราศรัยบอก “ โอ้ ท่านเดินเข้ามาที่นี่เถิด ที่นี่เป็นที่ร่มเย็น เชิญมาพักผ่อน ถ้าท่านต้องการอะไร ข้าพเจ้าจะต้อนรับ “ อะไรต่างๆ นี้ ก็ได้ยินเสียงอ่อนหวาน ก็เลยสบายพระทัย และก็เสด็จเข้าไป จนกระทั่งได้พบพระฤาษี และก็ได้รับการต้อนรับปฏิสันฐานเป็นอย่างดี
อันนี้ที่ท่านเล่าไว้ ก็เพื่อให้เห็น เรื่องความแตกต่างของการคบหา หรือสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญมาก เด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมอย่างไร ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การคบหานี้เป็นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความเจริญ หรือความเสื่อม
ที่นี้ถ้าคบหาสัตบุรุษ คบหาคนดีแล้ว ต่อไปก็คือว่า มาเข้าสู่หลักข้อที่ 2 คือ สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำแนะสั่งสอนของท่าน อันนี้บุคคลที่อยู่กับคนที่ดีมีความรู้แล้ว ก็มีโอกาสมากแล้วที่จะได้รับฟังคำสั่งสอน แต่ก็ไม่แน่เสมอไป ท่านบอกว่า เหมือนกับทัพพีกับลิ้นนั้นต่างกัน ทัพพีนั้นอยู่ในหม้อแกง แต่ไม่เคยรู้รสแกงเลย ก็เปรียบเหมือนกับคนที่มาอยู่ใกล้บัณฑิต ใกล้นักปราชญ์ แต่ไม่รู้จักสดับตรับฟัง แม้จะได้ไปบ้าง ก็เป็นสิ่งแวดล้อม อย่างนกแขกเต้าเหล่านั้น เจริญเติบโตขึ้น แต่ว่าถ้าหากไม่ได้ใส่ใจฟังคำสั่งสอน ก็ไม่ได้รู้อะไรมาก ก็เหมือนกับทัพพีที่ไม่รู้รสแกง
ต่างกับลิ้น ลิ้นที่ว่า ถ้าตักแกงเพียงช้อนเดียวเข้าไปในปากก็รู้รสแกง ว่ามีรสอร่อยหรือไม่อร่อย เผ็ดอย่างไร เพราะฉะนั้น ท่านก็บอกว่าให้ทำตนเหมือนกับลิ้นที่รู้รสแกง ไม่ให้ทำตนเหมือนทัพพี ทีนี้เมื่อทำตัวเหมือนกับลิ้นที่รู้รสแกงแล้ว ก็เป็นอันว่าเข้าหลักที่เรียกว่า สัทธัมมัสสวนะ คือฟังคำสอนของท่านผู้รู้ด้วย
เมื่อฟังธรรมคำสอนของท่านแล้ว ก็จะมาสู่หลักที่ 3 ข้อต่อไปคือ โยนิโสมนสิการ รู้จักไตร่ตรองพิจารณาด้วย คือจะฟังอย่างเดียวนั้นก็ไม่พอ ฟังก็ต้องรู้จักคิด รู้จักพิจารณา จึงจะได้ประโยชน์
อันนี้ก็เปรียบเทียบอีก ท่านเปรียบเทียบเหมือนกับเรื่องหู หูนั้นก็มี หูคน กับ หูของ หูของอย่าง หูกา หูกระทะ ถ้าหูกา หูกระทะนั้น ก็เรียกว่าหูเหมือนกัน แต่ว่าได้แต่ถูกคนจับดึงเอาไป เอาไปทำโน่น เอาไปทำนี่ แล้วแต่คนจะชักพาไป ไม่เหมือนหูคน หูคนนั้นฟัง ฟังแล้วพินิจพิจารณาด้วย รู้จักคิดว่า อันนี้มีเหตุมีผลอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาฟังหรือไม่ ไม่ถูกชักพาไปในความหลง หมายความว่า หูคนนั้นจะพัดพาเอาไปเหมือนอย่างหูกา หูกระทะไม่ได้ แต่ว่ารู้จักคิด รู้จักพิจารณาด้วย
การรู้จักคิด รู้จักพิจารณานี้ ก็คือ การใช้โยนิโสมนสิการ การไตร่ตรองพิจารณาโดยใช้ปัญญา ว่า ที่ท่านพูดมาแสดงมานั้น มีเหตุมีผลหรือไม่ อย่างไร จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ก็จะได้สืบสาวราวเรื่อง รู้จักนำมาใช้ให้ถูกจุด ถูกแง่ ก็จะได้ประโยชน์ หรือว่ารู้จักพิจารณา เช่นว่าหลักธรรมข้อนี้ ท่านกล่าวไว้นั้น มีความมุ่งหมายอย่างไร และก็นำไปใช้ในกรณีไหนจึงจะถูกต้อง จึงจะเกิดผลเกิดประโยชน์
การพิจารณานี้ก็มีหลายอย่าง โยนิโสมนสิการนั้น พระพุทธเจ้าแสดงไว้ก็หลายวิธีด้วยกัน ในโอกาสนี้อาตมภาพก็นำมาพูดแต่เพียงหัวข้อให้เห็นว่า การไตร่ตรองพิจารณานั้นเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะนำไปทำให้เกิดประโยชน์ได้ เมื่อพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคายแล้ว มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี ก็นำไปปฏิบัติได้ ก็หมายความว่า หลัก ธรรมแต่ละข้อ ละข้อนี้ มีความต่อเนื่องกัน ตอนแรกก็คบหาคนดี คบหาแล้วก็ฟังคำสอน เมื่อฟังคำสอนก็พิจารณาไปด้วย
เมื่อพิจารณาจับได้ถูกแง่ถูกมุม ให้เข้ากับความมุ่งหมายของตนที่จะใช้ แล้วก็นำไปปฏิบัติ ก็มาถึงข้อที่ 4 ก็คือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการความมุ่งหมาย การปฏิบัตินี้ก็สำคัญเหมือนกัน ถ้าสักแต่ว่าปฏิบัติไป บางทีก็ใช้ไม่ได้ผล เช่นคุณธรรมต่างๆ นี้มีมากมาย ท่านสอนไว้ เช่น ความเพียร หรือ วิริยะ ถ้าจะใช้ความเพียร ความเพียรเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรประพฤติ แต่ว่าจะไปใช้โดยไม่ถูกหลักถูกเกณฑ์ บางทีความเพียรก็กลับเป็นโทษได้เหมือนกัน ก็เลยจะยกตัวอย่าง เล่าเรื่องชาดกอีกเรื่องหนึ่งที่ว่า เอาความเพียรไปใช้ไม่ถูกเรื่องถูกราว ก็ไม่ได้ผล เมื่อยเปล่า
ท่านเล่าว่าในอดีตกาลนานมาแล้ว ที่ริมทะเล ชาวบ้านเขานำเอาเครื่องเซ่นสรวงสังเวยมาบวงสรวงบูชาพญานาค อันนั้นเป็นประเพณีของคนในอินเดียสมัยก่อน เหมือนอย่างที่ สมัยนี้ที่คนไทยเราก็มีการเซ่นสรวงบูชาต่างๆ อันนี้เขาไปเซ่นสรวงบูชาพญานาคที่ริมทะเล เขาก็เอาเครื่องเซ่นสรวงไปวางไว้ และบูชาเสร็จแล้ว เค้าก็ทิ้งไว้ แล้วก็พากันไป
ที่นี้มีกาคู่หนึ่ง เป็นกาสามีภรรยา ก็บินมาเห็นเครื่องเซ่นเข้า ก็ลงมากินกัน กินปลา กินเนื้อ กินขนม แล้วก็เลยกินสุราเข้าไปด้วย กินสุรากันไปก็มากมายจนเมาได้ที่ พอเมาแล้ว ก็อิ่มด้วย ก็ไปเลยไปยืนจับกันอยู่ที่ชายหาด ยืนที่ชายหาด กะว่าเดี๋ยวเราจะเล่นน้ำทะเลกันให้สนุกเลย นี้ตอนนั้น ก็มีคลื่นขนาดปานกลางลูกหนึ่ง ซัดเข้ามา พอซัดเข้ามา ก็พอดีมาตรงกับนางกาเข้า ซัดเอานางกาพาลงทะเลไป พอพาลงทะเลไปแล้ว ไปเจอปลาใหญ่ ปลาใหญ่ก็เลยฮุบกินนางกาไปเสีย
นี้ฝ่ายนายกาก็มีความเศร้าโศกเสียใจมากที่นางกาถูกพัดพาลงทะเลไป ก็ร้องไห้เศร้าเสียใจ แล้วพอดีก็เจอกับฝูงกาจำนวนมาก นายกานี้ก็ร้องไห้แสดงความเศร้าโศกเสียใจ กาทั้งหลายก็ถาม “ เอ้า ท่านเศร้าโศกเสียใจเรื่องอะไร “ นายกานี้ก็เล่าให้ฟังบอกว่า “ เนี่ย ข้าพเจ้ากับภรรยาข้าพเจ้าเนี่ย มาอยู่ชายหาด กำลังจะเล่นน้ำทะเลให้สนุกสนาน ก็พอดีโจรทะเลมาพาเอาภรรยาข้าพเจ้าไปเสีย “ โจรทะเลในที่นี้ไม่ใช่หมายว่า โจรที่อยู่ในทะเล หมายว่าทะเลนั่นแหละเป็นโจร ทะเลนี้มาเอาภรรยาเค้าไป ก็ทำหน้าที่เท่ากับเป็นโจร “ โจรทะเลมาพาเอาภรรยาข้าพเจ้าลงไปในทะเลเสียแล้ว ข้าพเจ้าก็เศร้าเสียใจเป็นอันมาก “ บรรดากาทั้งหลายก็เลยบอกว่า “ โอ้ เราจะต้องช่วยกัน ก็แค่นี้ พวกเราตั้งฝูงใหญ่คงจะช่วยกันได้หรอก น้ำทะเลแค่นี้เราจะช่วยกันวิด ถ้าแห้งแล้วก็จะได้เอาแม่กานั้นขึ้นมา “ เรียกว่าจะค้นหากากันล่ะ
ก็เลยช่วยกันวิดน้ำทะเลเป็นการใหญ่ ฝูงกาแต่ละตัวก็มาใช้จะงอยปากนั่นน่ะ วิดน้ำทะเล วิดบ้าง ดื่มแล้วก็เอาไปพ่น ไปคายออกที่อื่น พากันทำอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งเหน็ดเหนื่อย จะงอยปากเมื่อยล้าตามตามกัน ก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าวิดเท่าไหร่ เท่าไหร่ ทะเลก็ไม่ยุบ ยุบลงไปนิดหน่อย มันก็กลับมาเต็มอย่างเดิม ก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเป็นอันมาก ก็ได้แต่คร่ำครวญเศร้าเสียใจถึงนางกานั้น จนกระทั่งในที่สุด ท่านบอกว่า เทวดาประจำมหาสมุทรก็เลยคงจะรำคาญ แล้วก็อยากจะช่วยให้กาเหล่านี้พ้นจากการร้องไห้ ทุกข์โศก คร่ำครวญเสียที ก็เลยมาเนรมิตแสดงรูปที่น่าสะพรึงกลัว ขับไล่ฝูงกานั้นไปซะทั้งหมด ก็เลยหมดเรื่องหมดราวกันไป
อันนี้ที่เล่านี้ ก็เพียงแสดงให้เห็นถึงคติธรรมที่ว่า แม้แต่ว่าคุณธรรมนี้ก็ต้องใช้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าใช้ปฏิบัติไม่ถูกก็เรียกว่าไม่เป็นธัมมานุธัมมปฏิบัติ ก็ไม่เกิดผล เหมือนอย่างฝูงกาที่พากันใช้ความเพียรพยายามเป็นอันมาก จะเห็นว่ากาฝูงนี้ มีความเพียรเหลือเกิน ไม่ได้ท้อถอยเลย พากันช่วยกันวิดน้ำทะเล แต่น้ำทะเลก็ไม่รู้จักแห้ง นี่ถ้าขืนวิดต่อไปก็ตายเปล่า ฉะนั้นความเพียรที่ใช้ไม่ถูกที่ ก็ไม่สำเร็จผล
หรืออย่างหลักธรรมเรื่องอื่นก็เช่นเดียวกัน อย่างเรื่อง สันโดษ สันโดษนี้ก็ต้องใช้เพื่อมาสนับสนุนความเพียร ท่าน ให้สันโดษ ก็เพราะว่าจะได้ไม่มัวกังวล กับเรื่องการแสวงหาความสนุกสนานร่าเริง การบำรุงบำเรอตนเอง จะได้เอาเวลาและแรงงานที่จะใช้ในการที่แสวงหาความสุขสำราญ การบำรุงบำเรอนั้น มาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ทำความเพียรปฏิบัติธรรม สันโดษก็เป็นผู้สนับสนุน การเพียรพยายามการปฏิบัติธรรม และก็ในเวลาที่ปฏิบัติก็มีความสุขไปด้วย
แต่ที่นี้ถ้าใช้ไม่ถูก ไม่รู้ความมุ่งหมาย สันโดษก็อาจจะพอใจ แล้วก็เลยเกียจคร้าน และก็สบายด้วยความเกียจคร้านอยู่อย่างนั้น กลายเป็นคนที่ไม่เจริญก้าวหน้า ปฏิบัติธรรมก็ไม่ปฏิบัติ ทำอะไรก็ไม่ทำ ก็มีความสุขแต่เพียงว่า ไม่ดิ้นรนขวน ขวาย แต่ว่าอาจจะไปเกิดปัญหาทีหลัง เพราะว่าไม่ทำสิ่งที่ควรทำไว้ ถึงเวลามีเรื่องขึ้นมา ก็เดือดร้อนตัวเอง ก็เป็นปัญหาบีบคั้น แก้ไขได้ยาก เพราะฉะนั้นหลักธรรมทุกๆ ข้อเนี่ย ท่านจะมีขอบเขต มีความมุ่งหมาย ต้องใช้ปฏิบัติให้ถูก
นี่อาตภาพก็นำมาเล่าพอเป็นตัวอย่างไว้ ถ้าหากว่าปฏิบัติธรรมได้ถูกหลักถูกความมุ่งหมาย เช่น ความเพียร ก็มาใช้ปฏิบัติธรรม ที่เราเห็นชัดว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ทำให้ถูกทาง หรือ สันโดษ ก็นำมาเป็นเครื่องสนับสนุนให้จิตใจมีความสุขสบายด้วย และมีความเพียรพยายามในการปฏิบัติกิจหน้าที่ของตนด้วย ก็เจริญงอกงาม ก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม
แล้วในแง่ของปัญญา เมื่อปฏิบัติตามหลัก 4 ประการที่กล่าวมา เริ่มต้นตั้งแต่คบหาคนดีมีความรู้ ฟังคำแนะนำสั่งสอนจากท่าน นำมาพิจารณาไตร่ตรอง เลือกเฟ้นมาใช้ และปฏิบัติให้ถูกหลัก ถูกความมุ่งหมาย ก็จะบรรลุประโยชน์สุข เป็นประโยชน์สุขทั้งส่วนตนเอง และถ้านำไปใช้ในกิจการของส่วนรวม ก็จะเกิดประโยชน์ และความสุขแก่ส่วนรวมนั้นกว้างขวางยิ่งขึ้นไป ก็ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมที่ตนปฏิบัติไปด้วย เพราะว่า เมื่อนำมาปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว ก็เกิดความรู้ความเข้าใจว่า ธรรมะข้อนี้ปฏิบัติอย่างนี้แล้ว จะได้ผลอย่างนี้ อย่างนี้ ปัญญาก็เจริญเพิ่มพูนขึ้นไปโดยลำดับ เพราะฉะนั้น หลักธรรมหมวดนี้ จึงได้ชื่อว่า ปัญญาวุฒิธรรม
ดังที่อาตมภาพได้แสดงมา วันนี้ก็คิดว่าแสดงธรรมะเรื่อง ปัญญาวุฒิธรรม แต่พอย่นย่อ พอได้ใจความ ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ ขออนุโมทนาโยม