แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ มาปรารภถึงที่คุณโยมได้ถามเมื่อสองสามวันนี้ เรื่องสารท ก็เลยอยากจะพูดเรื่องสารทนิดหน่อย วันนั้นพูดถึงสารทน่ะมันเกี่ยวกับเรื่องฤดู คือ สารทนั้นมาจากชื่อฤดูหนึ่ง ฤดูนั้นชื่อว่าสรทะ แต่ทีนี้ฤดูสรทะนี้ ไม่มีในรายชื่อที่เรารู้กันทั่วไป ตามปกตินี่เราจะแบ่งฤดู เป็น ถ้าปีหนึ่งเป็น 3 ฤดู อย่างไทยเราก็เรียกว่า ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ภาษาบาลีท่านก็เรียก ฤดูร้อนว่า คิมหะ คิมหะ หรือ คิมหานะ ไทยเรามักจะเรียกว่า คิมหันต์ และฤดูฝน ฤดูฝนเรียกว่า วัสสานะ นะฮะ วัสสานะ บางทีคนไทยเราเรียกสับสนเป็น วสันต์ ก็มี อันที่จริงเป็น วัสสานะ แล้วก็ฤดูหนาว เรียกว่า เหมันตะ อันนี้ตรง ว่าเหมันต์ ก็มีฤดูละ 4 เดือน เป็นคิมหัน หรือ คิมหะ แล้วก็วัสสานะ แล้วก็เหมันตะ
แต่ถ้าเรียงแบบทางบาลี เข้าใจว่าเรียงวัสสานะขึ้นก่อน เรียงฝนขึ้นก่อน คล้ายๆเป็นต้นปี เป็นวัสสานะ ฤดูฝน แล้วก็เหมันตะ ฤดูหนาว แล้วก็คิมหะ หรือคิมหานะ ฤดูร้อน ในภาษาบาลีนั้นจะเห็นว่า นับเอาพรรษา พรรษาก็มาจากวัสสะนั่น ก็แปลว่าฤดูฝน เอาพรรษานั้นเป็นกำหนดปีไปเลย ก็คงจะเป็นเพราะว่าอยู่ต้น นี่เป็นการแบ่งแบบที่รู้กันทั่วไปว่ามี 3 ฤดู มีฝน หนาว ร้อน
แต่ว่าถ้าแบ่งโดยละเอียด ในภาษาบาลีท่านแบ่งฤดูเนี่ยเป็น 6 ฤดู ถ้าจะเรียงใหม่ ก็ซอยฤดู 3 ฤดูนั่นไป ให้เหลือฤดูละ 2 เดือน ฤดูที่หนึ่งก็วัสสานะตามเดิม เป็นฤดูฝน ฤดูที่สองคือฤดูสรทะนี่แหละฮะ ที่เราเรียกว่าสารท ฤดูสรทะ ท่านแปลกันว่าฤดูอับลม ต่อจากฤดูฝนเป็นฤดูอับลม ฤดูอับลมนี่ก็ได้แก่ฤดูใบไม้ร่วง ของอินเดียภาคเหนือนี่มีฤดูใบไม้ร่วงด้วย เรียกว่า ฤดูสรทะ และก็สาม ฤดูเหมันตะ คือ ฤดูหนาว และก็สี่ ฤดูสิสิระ ฤดูเย็น รองจากหนาวมาเป็นเย็น สิสิระ แล้วต่อจากนั้นก็มา ฤดูวสันตะ ยังมี วสันตะ คนละอย่างกับวัสสานะ วสันตะเป็นฤดูใบไม้ผลิ ต่อจากฤดูเย็นมาเป็นฤดูใบไม้ผลิ นี้ต่อจากฤดูใบไม้ผลิก็เป็นคิมหะ ฤดูร้อน รวมทั้งหมดเป็น เออ 6 ฤดูด้วยกัน ฤดูละ 2 เดือน เป็น 12 เดือน
ทีนี้เริ่มจากไหน ฤดูวัสสานะ ฤดูฝน ของบาลี ท่านบอกเริ่มเดือน 9 เราเรียกว่าเดือน 8 อันนี้มันเป็นเพราะเรานับเดือนไม่เหมือนกัน ตามที่ทราบเนี่ย วิธีนับเดือนตั้งต้นไม่ตรงกัน ของอินเดียนั้นเขานับจากแรม 1 ค่ำ เป็นขึ้นเดือนใหม่ ของเรานับขึ้น 1 ค่ำ เพราะฉะนั้นมันก็ผิดกัน 15 วัน หมายความว่าของเขาเริ่มก่อนเรา 15 วัน เพราะฉะนั้น แรม 1 ค่ำเดือน 8 ของเรา ก็คือ แรม ก็คือ 1 ค่ำเดือน 9 นะฮะ งั้นฤดูฝนที่จริงก็เริ่มตรงกันนั่นเอง แต่ว่าเรียกไม่เหมือนกัน ฤดูฝน วัสสานะ วัสสะมันก็แปลอยู่ แปลว่าฝนอยู่แล้ว ก็เป็นฤดูแห่งฝน อันนี้ก็ตรงตัว ก็เป็นอันว่า ตั้งแต่เดือน 9 และเดือน 10 นี้ต่อไปฤดูสรทะ ฤดูใบไม้ร่วง พอฝนตกใบไม้งอกงาม พอผ่านฤดูฝนก็ร่วงเลย นี่เห็นอนิจจัง พอไป สรทะฤดู ฤดูใบไม้ร่วง อันนี้ก็ตรงกับเดือน 11 12 11 12 ของเราบอกว่าสารทเดือน 10 แต่ว่ามาสิ้นเดือน 10 ใช่มั้ย สิ้นเดือน 10 ก็คือ ก็อยู่ในเดือน 11 ของอินเดีย ใช่มั้ยฮะ
แล้วก็จากสรทะไปก็มาฤดูเหมันตะ ฤดูหนาว ฤดูหนาวก็คือเดือนอ้ายและเดือนยี่ เหมันตะแปลว่าฤดูที่มีหิมะ นะฮะ นี้แปลตามศัพท์ เหมะ นั้นก็มาจากหิมะนั่นเอง เหมันตะ ฤดูที่มีหิมะ แสดงว่าหนาวมาก ก็ได้แก่เดือนอ้ายและเดือนยี่ แล้วต่อจากนั้นก็ไปฤดูสิสิระ แปลว่าฤดูเย็น ได้แก่เดือน ได้แก่เดือน 3 เดือน 4 ฤดูเย็นนี้แปลออกศัพท์ แปลตามรากศัพท์ ก็แปลว่าฤดูที่คนปรารถนา คงจะเป็นเพราะว่าเพิ่งผ่านเหมันต์มา เหมันต์นั้นมีหิมะตกหนาวจัด คนคงไม่ชอบแน่ นี้พอความหนาวน้อยลง ลดลงไปก็เป็นเย็นสบาย คนก็ชอบก็เลยเรียกว่าฤดูที่คนปรารถนา แปลง่ายๆก็เป็นฤดูเย็น อาตมาภาพก็ว่าคงจะตรงกับระยะที่คณะได้ไปอินเดีย เจริญพร พอดี ตอนนั้นอย่างเมืองเดลีก็นับว่าเย็น ถึงแม้ว่ากลางวัน อย่างตอนไปถึงที่ตอนแรก พุทธคยา ตอนนั้นก็หนาว แต่ก็ถ้าเทียบกับคนที่อยู่ที่นั่นเขาหนาวมาแล้วมากก็คงจะเย็นสบายขึ้น ก็นี่เป็นฤดูสิสิระ เดือนสามเดือนสี่
ต่อจากนั้นมาก็เป็นฤดูวสันตะ วสันตะ ฤดูใบไม้ผลิ แปลออกศัพท์เขาแปลว่าฤดูเป็นที่พักพิงของความรัก นะฮะ เพราะเหตุ เขาบอกว่า เพราะเหตุที่พวกใบไม้กำลังออก เอ้อ ต้นไม้กำลังออกดอกผลิใบสวยงาม ก็ฤดูนี้ก็เป็นฤดูที่ธรรมชาติงดงามมาก ดูสดชื่นไปหมด หรือบางทีก็แปลว่าฤดูเป็นที่พักพิงของผู้ชอบกีฬา แสดงว่าคนที่เล่นกีฬาก็คงจะมาเล่นกันตอนนี้มาก นี้เรียกว่าฤดูวสันตะ ใบไม้ผลิ ได้แก่ เดือน 5 เดือน 6 แล้วต่อจากนั้นไปก็เป็นคิมหะฤดู หรือเราเรียกว่าคิมหันต์ ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือน 7 และเดือน 8 ตามแบบของเขานั่นเอง ฤดูร้อนอันนี้แปลออกศัพท์ ของภาษาบาลีท่านแปลว่าฤดูที่บีบคั้น มันก็คงจะไม่ค่อยสบายเพราะว่าร้อนมาก ก็เลยแปลออกศัพท์ว่าฤดูที่บีบคั้น น่าอึดอัด ก็เป็นอันว่าจบ 6 ฤดู นี่คือการแบ่งฤดูโดยละเอียดของอินเดีย
ทีนี้ ตอน ระยะนี้ก็ต้องนับว่าอยู่ในฤดูสรทะ เจริญพร ในฤดูใบไม้ร่วงของอินเดียภาคเหนือ และก็เกิดมีพิธีกรรมหรือประเพณีในฤดูนี้คือฤดูสรทะ ฤดูใบไม้ร่วงนี้ขึ้นมา เป็นประเพณีทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย หรือว่าอุทิศกุศลให้แก่เปรต เรียกว่าพิธีสารท สารทนั้นเขียนต่างจากสรทะ ฤดูนั้นเขียน ส ร ท คือไม่มีสระอา มีแต่สระอะ ส ร ท ทีนี้พอเป็นพิธีนี้เป็น สารทะ มีเติมสระอาเข้าไปเป็น ส สระ อา นี้ สารทะ นี้ ท่านก็แปลว่า สิ่งที่มีในฤดูสรทะ คือ สิ่งที่มีในฤดูสรทะนั่นเอง ชื่อว่า สารทะ นี่เป็นเรื่องของภาษา สารทะก็คือพิธีที่ทำในฤดูสรทะ ก็เป็นพิธีที่ทำเนื่องด้วยธรรมชาติด้วย เนื่องด้วยการเกษตร
ท่านบอกว่าระยะที่เป็นฤดูสารทนี้ ข้าวสาลีเนี่ยกำลังออกรวง และก็มีเม็ดอ่อนๆ เม็ดอ่อนๆเขาเรียกว่าตั้งท้อง นะฮะ ข้าวสาลีตั้งท้องออกรวงใหม่ๆ แล้วก็คนก็เห็นว่าข้าวสาลีที่ออกเม็ดใหม่ๆเนี่ยมันอ่อน มันหวาน รสมันดี และก็เอา ในโบราณ ก็สันนิษฐานว่าคนที่เขานับถือพราหมณ์เนี่ย เขาก็เอาเม็ดข้าวอ่อนๆเนี่ยมารวมกันแล้วก็มาทำขนมหรืออาหารให้แก่พราหมณ์ เป็นการที่ว่าทำอาหารพิเศษ ต่อมาเราเรียกว่ากวนข้าวทิพย์อะไรเนี่ยให้แก่พวกพราหมณ์ ก็เป็นการบูชาพิเศษ นี้ต่อมาก็สำหรับผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ก็เปลี่ยนมาทำข้าวอย่างนี้ถวายพระสงฆ์ เราก็มีประเพณีกวนข้าวทิพย์ มีกระยาสารท มีทำข้าวยาคูอะไรพวกนี้ อันนี้ก็เลยเป็นโอกาสที่ทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปด้วย ก็เลยเป็นการทำบุญในระยะที่ข้าวออกรวง ตั้งท้องใหม่ๆ อันนี้ก็เลยมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับว่า ทำไมถึงทำข้าวยาคูจากข้าวสาลีหรือข้าวอ่อน ช้าวที่ออกรวงใหม่ๆ เม็ดอ่อนๆนี้มาถวายพระ ถวายพราหมณ์
สำหรับในแง่ถวายพระนั้นก็มีการค้นตำนานก็ไปบอกว่า เนื้อเรื่องก็มาเกี่ยวข้องกับพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เป็นปฐมสาวก ท่านโกญฑัญญะนี้ ทำไมจึงได้มาเป็นสาวกองค์แรก นะฮะ ก็เลยมีการเล่าเรื่องอดีต บอกว่า ในสมัยก่อนโน้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ท่านโกญฑัญญะเนี่ยเกิดเป็นชาวบ้านคนหนึ่งชื่อว่าจุลกาล แล้วก็มีพี่ชายชื่อว่ามหากาล จุลกาลกับมหากาล ก็ทำนาผืนเดียวกันเป็นนาใหญ่ ก็ช่วยกันทำสองพี่น้อง นี้อยู่มาวันหนึ่ง นายจุลกาลผู้เป็นน้องนี้ ไปเห็นต้นข้าวออกรวงตั้งท้องใหม่ๆเม็ดอ่อนๆ ก็ไปผ่าเม็ดออกดู แล้วก็ลองชิมรส เอ ว่าหวานอร่อย ก็เลยนึกถึงพระขึ้นมาว่า เราน่าจะเอาเม็ดข้าวอ่อนๆเนี่ยมาทำอาหารหรือขนมถวายพระ ก็เลยไปชวนพี่ชาย บอกว่าจะเอาเม็ดข้าวนี่มาทำ เพราะต้องใช้จำนวนมาก มาขอความเห็นชอบในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน พี่ชายก็บอก อย่าไปทำเลย ไม่มีใครเขาทำหรอก ก็จุลกาลก็อยากจะทำ ก็ไม่ยอมลดละ ขอร้อง อ้อนวอน แล้วๆเล่าๆ
มหากาลพี่ชายก็เลยรำคาญ ในที่สุดก็บอกว่า เอางี้ แบ่งนาของเราเป็นสองส่วนนะ ส่วนของฉัน ฉันเอาไว้ ไม่ให้ทำ แต่ส่วนของเธอจะทำไง ทำตามชอบใจ ก็เลยแบ่งที่นานั้นเป็นสองส่วน จุลกาลก็เลยเอาที่ส่วนของตนเองนี่นะ เก็บเอาเม็ดข้าวอ่อนๆมา แล้วก็มาทำเป็นขนมเป็นอาหารถวายพระ ก็เป็นยาคู ยาคูทำเป็นเม็ดข้าวอ่อนๆอย่างงี้ แล้วก็หุงด้วยนมสดล้วนๆ ไม่ใช้น้ำ แล้วก็เติมพวกน้ำผึ้งน้ำตาลอะไรต่างๆลงไป อันนี้ก็แล้วก็ตั้งความปรารถนาว่าขอให้ได้สำเร็จธรรมวิเศษก่อนใครอื่น มีตามเรื่องว่าอย่างนั้น แล้วก็เป็นมูลเหตุมาถึงกระทั่งท่านก็ได้มาเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะที่เป็นปฐมสาวก
อันนี้เป็นเรื่องที่เล่ามาเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการที่ทำข้าวยาคู ทำอาหารพิเศษถวายพระในฤดูสารท มันก็มาประจวบพอดีเป็นระยะที่ว่าข้าวออกรวงใหม่ๆด้วย เรื่องก็เป็นมาอย่างนี้ เจริญพร แล้วทำไมจึงไปอุทิศให้แก่เปรต ก็ไปค้นอีกนิด ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเอาไว้ ทั้งสองเรื่องนี่ท่านค้นมาด้วย ก็ว่า วันหนึ่งอำมาตย์ของพระเจ้าพิมพิสารเดินทางไปทางเรือจะไปตรวจราชการหรืออะไรเงี้ย ก็ไปเจอเปรตตนหนึ่งเดินท่องน้ำมา ก็รู้สึกสงสารก็อยากจะให้อาหาร แต่ว่าให้ก็เปรตก็รับไม่ได้ ก็อยากจะช่วยจะทำยังไง เปรตก็บอกว่าให้ให้แก่คนที่มีศีล เป็น ตอนนั้นก็ไม่มีพระหรอก ก็มีแต่คฤหัสถ์ เป็นอุบาสก ก็ให้ของให้ อำมาตย์นั้นมีข้าวสตุ ก็คงจะเป็นประเภทข้าวตังอะไรพวกเนี้ย ก็ให้แก่อุบาสกผู้มีศีล แล้วก็ให้อุทิศกุศลให้แก่เปรตตนนั้น เปรตตนนั้นก็อนุโมทนา แล้วก็มีความสุข ถ้าเปรตมีความสุขแล้วก็เลยขอร้องไว้บอกว่าเนี่ยนะ ต่อไปนี้ก็ให้สงสารแก่พวกเปรตบ้าง เมื่อทำบุญแล้วก็ให้อุทิศให้แก่พวกเปรตบ้าง ก็เลยอุบา เอ้อ อำมาตย์คนนี้ต่อมาก็ได้มาเลี้ยงพระแล้วก็เล่าเรื่องถวายพระพุทธเจ้า นี่ก็ อัน เลยว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกัน ที่ทำบุญอุทิศให้แก่เปรต
นี่ก็เป็นด้านตำนาน แต่ว่าต้องมาเกี่ยวข้องกับฤดูกาล อาตมาภาพก็ยกมาเล่า เพราะว่าได้เกิดมีประเพณีสารทขึ้น ดังที่กล่าวแล้วสารทหรือสารทะ ก็ประเพณีหรือพิธีกรรมที่ทำในฤดูสรทะ หรือฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นฤดูหนึ่งในประเทศอินเดียภาคเหนือ ในประเทศไทยเราไม่มีฤดูใบไม้ร่วง ฤดูใบไม้ร่วงนี้คือส่วนท้ายของฤดูฝนนั่นเอง อย่างที่เรากำลังพบอยู่ในปัจจุบันนี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของกาลเวลา
กาลเวลานั้นก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย เดี๋ยวเดือนเดี๋ยวก็ปี ปีแล้วก็ปีเล่า กาลเวลาผ่านไป อันนี้ก็เป็นไปตามหลักธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า หลักอนิจจัง เป็นต้น เป็นเครื่องเตือนใจ พุทธศาสนิกชนให้พิจารณาถึงความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน มีพุทธพจน์บทหนึ่งที่บอกคติเกี่ยวกับกาลเวลาบอกว่า กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา แปลว่า กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวมันเอง หมายความว่า เวลาก็ผ่านไป มันกลืนกินตัวเองหมดไปด้วย แล้วมันก็กลืนกินมนุษย์สัตว์ทั้งหลายหมดไปด้วยเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็ควรจะมีคติปฏิบัติธรรมเพื่อให้เกิดผลเกิดประโยชน์ขึ้น วิธีทำให้เกิดผลประโยชน์ก็คือ พิจารณาด้วยความไม่ประมาท อย่างที่ท่านสอนพระไว้ให้พิจารณาเนืองๆ หรือพิจารณาเป็นประจำสม่ำเสมอว่า กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺติ บอกว่า ภิกษุทั้งหลาย พึงพิจารณาเนืองๆว่าวันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ หากว่าเวลาล่วงไปแล้วเราไม่ประมาท พิจารณาอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นี้แล้ว เวลาก็จะเป็นเวลาที่มีค่า เพราะเมื่อพิจารณาอย่างที่กล่าวแล้วนี่ก็จะเป็นการเตือนตัวเองอยู่เสมอ
วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ เอ๊ะ เราทำสิ่งที่ดีงามอยู่หรือเปล่า เราทำกิจหน้าที่มั้ย สิ่งที่ควรทำเราได้กำลังทำอยู่มั้ย ปล่อยให้เวลาสูญเสียไปเปล่าๆหรือเปล่า ถ้าเราทำกิจของเราดีอยู่ก็เป็นดีแล้ว ก็สบายใจ เกิดปิติ หรือในด้านจิตใจก็เหมือนกัน เวลาที่ผ่านไปแต่ละเวลาก็รักษาจิตใจให้ดีงาม จิต รักษาจิตใจให้ผ่องใส ถ้าพิจารณาว่าเวลาล่วงไปๆแบบนี้เรารักษาจิตใจของเราดีอยู่หรือไม่ จิตใจของเราผ่องใสอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ผ่องใส ไม่เป็นสุข มีอะไรมาเป็นเหตุ ตัดมันออกไปเสีย พยายามที่จะแก้ไขก็จะทำให้วันเวลานั้นเป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ตลอด
อาตมภาพก็คิดว่าเรื่องกาลเวลานี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ตรัสเกี่ยวกับเรื่องธรรม เรื่องกาลเวลาอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เวลาผ่านไปด้วยดี เกิดผลเป็นประโยชน์สุขและเป็นความเจริญก้าวหน้า งอกงามในธรรมยิ่งๆขึ้นไป จนกว่าจะบรรลุจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา อาตมภาพก็ขออวยพรให้โยมทุกท่านได้เจริญงอกงามในธรรมะ โดยการพิจารณาเรื่องกาลเวลาให้เกิดผลเกิดประโยชน์ โดยนัยดังที่ได้กล่าวมาในวันนี้ ก็ขออนุโมทนาโยม เจริญพร