แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เอาละครับตกลงว่านี่แหละให้มองเข้าใจเรื่องพุทธศาสนามองออกมาแม้แต่สังคมเลย แล้วเราจะเห็นหมดเลยความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ความสัมพันธ์กับสังคม การมองธรรมชาติมนุษย์โยงมาหาการจัดระบบสังคมเนี่ย หมดเลย ก็เป็นอันว่าสาระสำคัญก็คือ แนวคิดของพุทธศาสนาเนี่ยมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาได้ โดยเฉพาะพัฒนาความต้องการได้ความสุขของเขาก็พัฒนาได้ด้วย ทีนี้การจัดระบบสังคมมนุษย์ให้ดีก็คือต้องเป็นระบบสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนามนุษย์ที่ให้โอกาสให้มนุษย์แต่ละคนได้พัฒนาชีวิตของตนเอง ทั้งให้คำสั่งสอนให้เห็นแนวทางในการพัฒนาชีวิตของตนเอง ช่องทางที่จะมีความสุขอย่างอื่นอะไรต่างๆ เหล่านี้นะฮะ แล้วก็มีการสัมพันธ์อะไรต่ออะไรที่ดี แล้วความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก็กลายเป็นความสุขได้ ไม่จำเป็นต้องไปแย่งกัน เราได้มาเราจึงจะสุขที่แท้เราทำให้แก่เขาเป็นสุขเราก็สุขด้วยอะไรอย่างนี้นะ ก็พัฒนาไปอยู่กับธรรมชาติก็มีความสุขได้ต่อไปไม่ต้องอาศัยหมด ไม่มีความสุขแบบพึ่งพาเลยในใจตัวเองก็มีความสุขได้ สุขโดยอยู่คนเดียวก็สุขได้ มีความสุขหลายระดับเยอะแยะไปหมดหลากหลาย ไม่ใช่ต้องรอความสุขจากเสพอย่างเดียว ฉะนั้นก็เอาขึ้นมาอันที่หนึ่งก็คือ จัดระบบสังคมที่มันเอื้อต่อการพัฒนามนุษย์นี่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นการให้หลักหนึ่งด้านธรรมะนี่แน่นอน ก็มาแนะนำสั่งสอนให้ปัญญาให้อะไรต่ออะไรกันศึกษาในด้านปัญญา ฝึกฝนพัฒนาตนตามแนวไตรสิกขาเนี่ย ระบบธรรมะ แล้วก็ระบบวินัยก็คือกฎหมายการจัดตั้งวางระเบียบสังคมก็จะเป็นระบบที่เอื้อโอกาสในการพัฒนามนุษย์ที่สอดคล้องเพื่อส่งเสริมธรรมะในการเจริญไตรสิกขาเป็นต้น นี่แหละ อันนี้เป็นพื้นฐานแล้วต่อไปนั้นก็ไปจัดสังคม ที่สนองความต้องการให้คนในแต่ละระดับที่เค้าพัฒนาได้มีความสุขได้อย่างไร ก็เป็นอันไม่เหมือนกับแนวคิดปัจจุบันทั้งคอมมิวนิสต์ทั้งเสรีทุนนิยม ที่เขามีแนวคิดของเขาอันเดียว ฉะนั้นจึงได้บอกท่านเหมาเจ๋อตุงท่านก็คิดของท่านอย่างนั้นน่ะ ท่านนึกว่าอย่างนั้นแล้วจัดระบบสังคมให้เหมือนกันได้แล้วจะได้ดีสะที เสร็จแล้วกลายเป็นว่าไปบังคับขืนใจคนมันไม่พร้อมนี่ จะมาใช้ชุดสีเทาอย่างเดียวเหมือนกับพระเกาหลีอยู่ไม่ไหวนะ มันก็ระเบิดพอระเบิดทีนี้ก็ไปกันแบบโอ้ คนจีนปัจจุบัน เห็นว่าติดแฟชั่นหนักยิ่งกว่าเมืองไทยอีก ใช่ไหมฮะไปกันเลยเถิดอีก ก็เลยไม่รู้จักประมาณ ความพอดีไม่มี เพราะไม่รู้หลักความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ การจัดระบบสังคมมันก็พลอยเป็นไปหมด ทีนี้กฎหมายต่างๆ เนี่ยมันก็เป็นอย่างที่ว่า หนึ่งกฎหมายเน้นเชิงปฏิเสธเน้นเชิงลบ ห้ามโน่น ห้ามนี่ปฏิเสธทำนั่นไม่ได้ เพราะว่าไปคอยกันความต้องการของคนไม่ให้มันละเมิดคนอื่นออกสู่การกระทำเป็นการละเมิด ทำลายอะไรก็มันจะเป็นปัญหามากก็เลยต้องกันกันใหญ่ เสรีภาพก็ให้ความหมายเหมือนกับว่าทำได้ตามชอบใจ เท่าที่ไม่ละเมิดต่อคนอื่น หรือเป็นรูปธรรมขึ้นมาว่าเท่าที่ไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่ละเมิดกฎหมายก็เพราะว่าเท่ากับว่าจะได้ไม่ต้องละเมิดคนอื่นทำนองนี้ ก็กลายเป็นว่ามองกฎหมายมองเสรีภาพในความหมายเชิงลบหมดเลย ไม่เห็นความหมายเชิงบวก เสรีภาพในทางพุทธศาสนา เสรีภาพในการมีโอกาส หนึ่งโอกาสที่คุณจะได้พัฒนาชีวิตของตนเอง ถ้าคุณถูกจำกัดเสรีภาพ เราก็พัฒนาชีวิตของเราไม่ได้ สองในการที่เราจะได้ช่วยกันพัฒนาสังคม คุณมีความคิดเห็นอะไรดีมีปัญญาดี ถ้าถูกจำกัดเสรีภาพ เช่น ในการพูดก็เอาความคิดดีๆ มาบอกพวกไม่ได้ ทีนี้พอเรามีปัญญาดีมีความคิดดีๆ ใช่ไหมเราก็มาบอกกัน เราก็เอาความคิดปัญญานั้นมาช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้มันดีขึ้น เสรีภาพก็มองเชิงบวกของเขานี่ ไปๆ มามันเสรีภาพเน้นเศรษฐกิจหมด จะเอาเสมอภาคก็เน้นเศรษฐกิจอย่างที่บอกเนี่ย เน้นว่าแกได้เท่าไหร่ แกได้ห้าร้อย ฉันได้เท่าไหม ถ้าไม่เท่าเกิดเรื่องนี่เสมอภาค เหมือนว่าเน้นเศรษฐกิจอีก ก็แย่งชิงกัน แย่งชิงก็แตกแยกเกิดความแตกสามัคคีเข้ากันไม่ได้ พุทธศาสนาบอกเสมอภาคคืออะไร เสมอภาคคือ เอ่อเขานั่งกันอยู่นั่นเราก็ไปนั่งด้วยกันกับเขาเสมอกับเขา เอ่อเขากินก็กินด้วย กินด้วยกันได้ มีสุขทุกข์ก็ไปสุขเสมอกันทุกข์เสมอกัน บอกมีสุขมีทุกข์เสมอกันเป็นอย่างไรก็ร่วมสุขร่วมทุกข์ พอมีสุขทุกข์เสมอกันนี่สบายเลยเข้ากันได้เลย ใช่ไหม มันก็เป็นเสมอภาคแบบสามัคคีส่งเสริมสังคมเชิงบวกหมด ของเราเสมอภาษาบาลีว่า สะมานะ เป็นไทย สมาน สมานเท่ากันเพราะอะไรเพราะมันเสมอกัน มีสุขเสมอกันมีทุกข์เสมอกันมันก็เข้ากันได้ใช่ไหม เท่ากันก็คือเข้ากันได้ ทีนี้ความหมายมันก็เป็นบวกหมด ของปัจจุบันนี่ไปเน้นเศรษฐกิจมันก็เลยลบหมด ก็แย่งกันทีนี้ก็ยิ่งยุ่งกันใหญ่เลย เพราะฉะนั้นถ้าพัฒนาวิถีนี้มันก็ยุ่งอย่างนี้ไปไม่รอดหรอกครับ ต้องหาทางแก้ไข ก็เอาเป็นว่ากฎหมายเค้าก็เนี่ย เน้นในแง่ลบ แล้วก็ แม้มีส่งเสริมบวกบ้าง ก็ไปหนุนแนวคิดที่ว่าให้มนุษย์นี่ไปสนองความต้องการในการหาเสพบริโภคเป็นสนองลัทธิเศรษฐกิจ แนวคิดแบบสนองความต้องการที่ไม่รู้จบไม่รู้พอนั่นอีก เอ่อแล้วเสร็จทีนี้ การประพฤติกฎหมายที่เน้นเชิงลบเนี่ย เพื่อปฏิบัติอีก ฉะนั้นการวางกฎหมายก็เป็นอันเน้นเชิงลบแล้ว แล้วก็แนวบวกกลับไปหนุนลบในข้างท้ายอีก แทนที่จะไปหนุนการพัฒนามนุษย์ ไม่มีความคิด นั่นในแง่ของการวางกฎหมายเชิงลบเด่นไม่ค่อยเน้นเชิงบวก แล้วทีนี้ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายอีก ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายก็เพราะตัวเองมีความต้องการจะทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ทำไม่ได้ก็รู้สึกฝืนใจ เป็นข้อบังคับหมด บังคับเราจะทำนั่นก็ไม่ได้ทำนี่ก็ไม่ได้ ก็ฝืนใจก็ทุกข์ ก็เป็นทุกข์ในการปฏิบัติตามกฎหมายก็เลยเป็นอย่างนี้กันมาก
ทีนี้พอมาทางพุทธศาสนามันต่างไปแล้ว เพราะว่ากฎหมายวินัยวางไว้เพื่ออะไร เพื่อสร้างสภาพเอื้อ เรารู้อยู่แล้วจะได้พัฒนาชีวิตขึ้นไปสู่ประโยชน์สุขที่สูงกว่านี้ แต่ว่าเรายังไม่พร้อม เรายังมีตัณหามากมีความต้องการมากเดี๋ยวก็เผลอทำตามต้องการ ก็เลยวางกฎหมายตั้งกติกากันนะ เอ่อ เพื่อเราจะได้มีชีวิตดีขึ้นไป ฝึกตัวเองน่ะ เราตกลงน่ะอันนี้อย่าทำเลยนะ ก็ตกลงวางกฎหมายวินัยขึ้นมา วินัยก็ถ้าคนที่ยังไม่พร้อมเนี่ยจะยังรู้สึกฝืนใจ บังคับแต่ว่าที่จริงนั้น เมื่อรู้เข้าใจเหตุผลว่าเอ่อ มันเพื่อความดีงามร่วมกันเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของเราเค้าจะเริ่มพร้อมใจขึ้น เพราะว่าท่านบอกว่ามนุษย์จะต้องฝึกตน อ้าวไอ้เจ้ากฎ กติกา พวกนี้มีเพี่อการฝึก ฉะนั้นกฎหมายในพุทธศาสนาแต่ละข้อบัญญัติเรียกว่า สิกขาบท แปลว่าข้อฝึกถูกไหม เรียกสิกขาบทหมด ท่านไม่เรียกข้อบังคับในพุทธศาสนาไม่มีข้อบังคับเราแปลเอง ท่านเรียกข้อฝึก อ้าวข้อฝึกเพราะว่าเรารู้มันดี เราควรจะได้ฝึกตนให้มันดีขึ้น เราก็เต็มใจสิใช่ไหม พอเรารู้ความหมาย เห็นประโยชน์เราก็เต็มใจ ปฏิบัติตามเราก็ตั้งใจฝึก จากความฝืนใจ ความรู้สึกฝืนใจก็มาเป็นความรู้สึกที่จะฝึกตัว พอเป็นความรู้สึกที่ฝึกกฎหมายวินัยมีความหมายเป็นเครื่องฝึกตน ตอนนี้จิตใจก็พร้อม ถึงเราจะยังไม่ได้ทำได้ดีแต่ว่าเราจะได้ฝึกตัวเอง ความตั้งใจที่จะฝึกนี่มันจะช่วยให้เรามีกำลังเข้มแข็ง ทำด้วยความยินดีไม่ได้ทำด้วยความทุกข์ เราได้ฝึกตัวๆ เราได้ตลอดเวลาเพราะฉะนั้นเราก็ได้ความสุข ท่านก็ให้เรียกสิกขาบท ทุกอันเรียกสิกขาบทหมด แม้แต่ศีล5 แต่ละข้อเวลาเอาไปปฏิบัติ เรียกว่า สิกขาบท ไม่มีข้อห้าม เราแปลกันผิดเองน่ะ เราแปลข้อห้าม มีที่ไหนในพุทธศาสนา
ทีนี้พอเราฝึกตนเองไปดีขึ้น เราก็เป็นผู้ที่เช่นเป็นพระอรหันต์อย่างนี้ ท่านที่จริงไม่จำเป็นต้องฝึกตัวเองแล้ว อ้าวแล้วกฎกติกาที่วางไว้ทำวินัยทำอย่างไร ที่จริงมันไม่จำเป็นสำหรับท่าน แต่ท่านรู้เหตุผลว่ามันมีเพื่อโดยส่วนรวม อย่างน้อยคนส่วนใหญ่ที่เขายังต้องฝึกตัวเอง และการที่จะอยู่ร่วมกันมันต้องกติกา อะไรต่ออะไร นี่สำหรับพระอรหันต์หรือผู้ฝึกแล้วเนี่ยก็จะมองกฎหมายวินัยเป็นอีกขั้นหนึ่งเรียกว่าเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกัน ว่าเฮ้อ เรามีเหตุผลอย่างนี้เพื่ออันนี้นะ เราจึงตั้งกติกาไว้ เพื่อความดีงามเพื่อประโยชน์อันนี้ ก็เป็นเครื่องหมายรู้ ว่าเราจะเอาอย่างไร เพื่อประโยชน์อะไร ก็ปฏิบัติด้วยความสำนึกว่าเป็นเครื่องหมายรู้ สำหรับพระอรหันต์ก็เป็นเครื่องหมายรู้ ใจก็ปฏิบัติด้วยความ หนึ่งแก่ประโยชน์สุขของประชาชน ของพระส่วนใหญ่เป็นต้น ที่เขาจะได้ฝึกตัวเองมีโอกาสฝึก เราจะได้ไปช่วยเขาอะไรต่ออะไรทำนองนี้ก็มองเป็นอีกแบบก็เป็นเมตตากรุณาไปเลย เพราะฉะนั้นการมองกฎหมายในผู้ปฏิบัติเนี่ยในพุทธศาสนาก็มีสามชั้น หนึ่งยังไม่พร้อมใจยังรู้สึกฝืนบ้างก็เป็นคล้ายๆ เหมือนกับบังคับแต่ว่าอันนี้จะต้องพยายามให้พ้นไป ไม่ดี อันที่สองก็คือเป็นเครื่องฝึกอันนี้แน่นอนเจตนาที่แท้ เพราะฉะนั้นการบัญญัติกฎหมาย ถ้ามีเจตนาอันนี้รวมอยู่ในใจเนี่ยมันจะทำให้เราบัญญัติกฎหมายบ้านเมืองก็ดีขึ้น ว่าโอ้เพื่อประโยชน์อันนี้เหตุผลอันนี้ความดีงามอันนี้ จุดหมายอันนี้นะเราจึงวางกฎหมายนี้ขึ้นแล้วให้ปฏิบัติด้วยความรู้เข้าใจเหตุผล เห็นคุณประโยชน์ เห็นคุณค่าแล้วก็ฝึกตัวเองขึ้นไป ตอนนี้มันก็เต็มใจมันก็มีความสุข ทีนี้พอปฏิบัติได้แล้วเราไม่ได้ลำบากอะไรเลย เป็นมันเป็นธรรมดาสำหรับเราแต่ว่า เราก็ปฏิบัติตามเพราะว่าเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกันในสังคมนี้เพื่อจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวม เพราะฉะนั้นการวางกฎหมายของผู้ที่ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมายก็มีจิตสำนึกมีความเข้าใจ มีเหตุผลมีแนวคิดเป็นพื้นฐานแบบที่ว่า แล้วก็สำหรับผู้ปฏิบัติก็จะมีความเข้าใจความรู้สึกอย่างนี้ นี้อันนี้เราไม่สามารถพัฒนาขึ้นในสังคม อ้าวนี่ก็ว่าไปอีกเรื่องหนึ่งเลยเรื่อย ไถลไปเรื่อย ท่านมีคำถามอะไรไหมครับ
(เสียงพระนวกะ) ขอถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อนะครับ ที่ท่านพูดเรื่องการพัฒนาสังคมที่เหมือนว่าจะไปผิดทางน่ะครับ คือถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่าไปผิดทาง แต่เหมือนว่ามันก็ยังไปอยู่ คือมันอาจแค่ชลอ คือไปผิดทางนี่ ไปช้าลง เหมือนน้ำตกที่ลงสู่เหวอยู่ ซึ่งผมเคยอ่านหนังสือเค้าวิจารณ์ครับ เค้าวิจารณ์ว่าสังคมที่ไปผิดทางเนี่ย มันจะไปจนถึงจุดหนึ่งมันก็จะพินาศ เค้าบอกตั้งแต่ตะวันตกเนี่ยมันเหมือนพินาศไปเหมือนว่าคนเรานี่ต้องได้รับบทเรียนก่อน ถึงจะกลับมาพัฒนาในทางที่ถูกครับ ก็เลยอยากขอทราบทัศนะส่วนตัวของหลวงพ่อว่า ท่านคิดว่ามันจะเลวร้ายอย่างที่เค้าวิจารณ์ไว้ ว่าต้องรอให้เจ็บปวดก่อน ต้องรอให้เป็นบทเรียนก่อน ถึงจะกลับมาได้ครับ
(หลวงพ่อ) ครับ คำถามนี่ก็มีหลายแง่หลายขั้นอยู่ อันที่หนึ่งก็คือปัจจุบันนี้มันก็ยาก เพราะกระแสหลักของสังคมเนี่ย มันก็เป็นกระแส อารยธรรมตะวันตกแทบจะเต็มที่เลย คือของไทยเราของพุทธเราไม่ได้เด่นออกไปเลย ใช่ไหม ไม่มีคนรู้ด้วยซ้ำ แทบจะไม่มีคนรู้เลย มันก็คือถูกครอบงำด้วยแนวคิดอารยธรรมตะวันตก อารยธรรมตะวันตกแม้จะรู้ตัวตระหนักว่าการจะเอาชนะธรรมชาติมันผิด เค้าก็ยังแก้ไม่ได้ พฤติกรรมเค้าออกมาเค้าเป็นพฤติกรรมในการไปเบียดเบียนทำลายธรรมชาติ ถูกไหม มันติดขัดหลายอย่าง หนึ่งการเสพหาความสุขเค้าก็ยังติดแบบเดิม จะยอมให้ธรรมชาติอยู่เค้าก็ทุกข์เดือดร้อนไม่ได้สมปรารถนา แล้วสองก็คือ มันเป็นปัญหาซับซ้อนขึ้นมาในอำนาจในระดับนานาชาติ ระหว่างประเทศ ประเทศที่มีความยิ่งใหญ่ก็ต้องรักษาอำนาจของตัวเอง จะรักษาอำนาจตัวเองไว้ได้ต้องมีผลประโยชน์ผลประโยชน์อันนั้น เช่น อุตสาหกรรมอะไรเป็นต้น การพัฒนาของเขานี่มันต้องพึ่งต่อไอ้พวกนี้ ต้องพึ่งพวกนี้แหละการเอาวัตถุดิบจากธรรมชาติ เป็นต้น แล้วพึ่งการเสพบริโภค เค้าก็ไปเอื้อต่อธรรมชาติไม่ได้ แม้แต่รู้แล้วว่าจะต้องไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ไม่ใช้ล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ก่อมลภาวะสูงแต่สำเร็จไหมฮะ ไม่มีทางเลยทั้งๆ ที่รู้ยังทำไม่ได้เลย ใช่ไหม อารยธรรมปัจจุบันเนี่ยมันตันแม้แค่นี้ รู้แล้วยังทำไม่ได้เลย
อ้าวแล้วทีนี้แนวคิดนี้ อารยธรรมนี้เวลานี้มันครอบงำสังคมเป็นโลกาภิวัตน์ โลกาภิวัตน์แปลความหมายหนึ่งแปลว่า ครอบงำโลก ครอบคลุมด้วย ครอบคลุมก็ครอบงำเลย เวลานี้อารยธรรมตะวันตกแนวคิดที่ว่าเนี่ยเป็นโลกาภิวัตน์ก็คือ แผ่คลุมและครอบงำโลกไว้ โลกนี้ก็ไปตามนี้ นี้ก็คือเนี่ยมันก็ไปยาก แต่ทีนี้ว่ามนุษย์ถ้ามนุษย์ทำจริงตามศักยภาพที่ตัวมี ตัวก็แก้ได้ ทำไมจะต้องไปตาม เราเรียนบทเรียนก็เพื่อไม่ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วทำไมเราจะต้องเรียนบทเรียนแล้วเราจะต้องเป็นอย่างนั้น เอ่อแล้วทำไมคุณไม่ได้ประโยชน์จากบทเรียนสักที บทเรียนกี่บทเรียนเราก็ต้องเป็นอย่างนั้นเรื่อย เหมือนยังกับที่มีพูดตอนนั้น บอกประชาธิปไตยต้องได้มาด้วยการต่อสู้ เลือดตกยางออกอีกก็ได้มาเพราะฉะนั้นคราวนี้เค้าก็มาอ้างอีก ต้องสู้ อ้าวมันก็มีแย้งได้หลายอย่าง อันหนึ่งไทยเราก็สู้มาแล้ว เลือดตกยางออกมาแล้ว ในแง่เลือดตกยางออกก็เป็นอันว่าดิ้นรนต่อสู้ ก็ไม่เห็นได้มาจริงเนี่ยหนึ่งแล้วนะ ใช่ไหมก็สู้ว่า ไม่จริงไม่แน่นอนว่าได้จริง สองก็ประเทศบางประเทศเค้าสู้ครั้งเดียวก็ได้แล้ว แล้วไทยเราสู้ตั้งหลายครั้ง เลือดตกยางออกหลายครั้งทำไมไม่ได้ เอ่อบทเรียนก็ยังไม่เหมือนกันจะไปอ้างเก่า สามเราไม่จำเป็นจะต้องเป็นอย่างนั้นก็ได้นี่ มนุษย์มันพัฒนาได้ทำไมเราไม่มีศักยภาพที่ทำได้ดีกว่าเค้าเลย เค้าต้องได้มาด้วยการต่อสู้เราจะมีบ้างไม่ได้เหรอ ที่ได้โดยไม่ต้องสู้ เอ่อเราก็ต้องเก่งกว่านั้นสิ ต้องคิดแบบแหกทางบ้าง ไม่จำเป็นจะต้องไปซ้ำไปอ้างทำไม อ้าวไม่ต้องอะไรหรอก อย่างในหลวงรัชกาลที่ 5 เลิกทาสก็ไม่เห็นจะต้องเอาอย่างอเมริกันใช่ไหม อเมริกันเลิกทาสต้องมี Civil War สงครามกลางเมืองใช่ไหม แล้วรัชกาลที่ 5 เลิกทาสก็ไม่ต้องรบต้องสู้อะไร เพราะฉะนั้นมันไม่จำเป็นจะต้องไปอ้างว่า จะต้องอย่างนั้นๆ เราเห็นบทเรียนเก่าเราต้องทำให้เก่งกว่าสิ ไทยเราถ้าเราเก่งจริง เอ่อ เราก็ทำของเราให้มันแน่กว่าในทางที่ดีใช่ไหม เราก็ไม่จำเป็นต้องซ้ำบทเรียนนั้น อย่างนี้เป็นต้น หรืออย่างบอกว่าให้ถอยคนละก้าว เราก็บอกว่าทำไมจะต้องไปถอยคนละก้าวล่ะ ถ้าคุณยังอยู่ในแนวคิดต่อสู้แข่งขันเอาชนะมันก็ต้องถอยคนละก้าว แต่ถ้าคุณเดินในวิถีของธรรมะคุณไม่ต้องถอย ก้าวหน้าด้วยกันเลยมาร่วมกันก้าวหน้าด้วยกันถูกไหมฮะ เราก็พูดใหม่ไม่จำเป็นต้องพูดอย่างเดียวกับเขา ทำไมมนุษย์จะต้องไปติดตันในแนวคิดเดียว ต้องมีทางออก อ้าวทีนี้ก็มานี่ละครับ ทีนี้ว่าทำอย่างไรเราจะพัฒนามนุษย์ที่ไม่จำเป็นจะต้องไปซ้ำบทเรียนเก่า แต่มันเป็นไปได้เราต้องยอมรับไอ้กิเลสนี่มันรุนแรงมาก แล้วยิ่งกระแสโลกาภิวัตน์นี่มันครอบงำด้วยระบบแนวคิดอย่างนั้นด้วย มันก็มีโอกาสที่จะต้องไปสู่ความพินาศแล้วจึงจะลุกขึ้นมาใหม่ แต่มันไม่แน่หรอกครับ บางทีหนึ่งเราถ่วง เราทำให้มันช้าลงความพินาศ สองเราแก้ไขให้ว่าไม่ต้องถึงกับพินาศเสื่อมในระดับหนึ่งก็ขึ้นมาได้ ไอ้ที่พินาศในอดีตก็ไม่ได้เหมือนกันหมดมันพินาศในระดับต่างๆ ไอ้พินาศแล้วไม่ฟื้นก็มี ใช่ไหมฮะ มันมีหลากหลายมีหลายแบบเพราะฉะนั้นเราจะเอาเป็นตายตัวไม่ได้ มีหลายอย่างนะฮะ ก็จะพอเห็นไหมฮะแต่ว่าทำอย่างไรเราจะให้มนุษย์ได้มีการพัฒนาอย่างที่ว่า มนุษย์มีศักยภาพแต่เขาไม่มีจิตสำนึกรู้เข้าใจศักยภาพของเขาและหันมาพัฒนาเลย แต่ว่าเรื่องนี้มันก็ยากนะต้องให้คนมีความรู้ จิตสำนึกนี่บางอย่างมันต้องเกิดจากความรู้ก่อน คือมันต้องอาศัยความรู้ เมื่อรู้เข้าใจแล้วมันก็เกิดจิตสำนึกขึ้นมา เพราะปัญญามันเป็นตัวอิทธิพลที่ไปสร้างภาวะทางจิต มันก็เปลี่ยนหนึ่งปัญญาทำให้ภาวะจิตเปลี่ยน แล้วก็สูงขึ้นไปทำให้พ้นเป็นอิสระเลย เราก็จึงต้องอาศัยปัญญาเพราะฉะนั้นพุทธศาสนาก็เน้นปัญญา ที่บอกว่าสุดยอดของการพัฒนาทั้งปวงก็คือการพัฒนาปัญญา
ทีนี้ทำอย่างไรจะให้มนุษย์พัฒนาปัญญา เค้าก็นึกว่าได้รู้มูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตแล้วนี่เป็นปัญญา เปล่าไอ้นี่มันเป็น Data เป็น Information ฝรั่งเค้าก็แยกนะฮะ ฝรั่งก็ตั้งแต่ยุคเริ่มมีพวก Information ยุคไอทีนี่แหละ พอเริ่มก็มีผู้เขียนหนังสือแล้ว บอกว่าระวังนะอย่าไปนึกว่าสังคมนี้จะมีปัญญาจากการที่มีข้อมูลข่าวสารเจริญ ข่าวสารข้อมูลมันไม่ใช่ปัญญาหรอก Data Information มันไม่ใช่ปัญญา เดี๋ยวนี้เค้าเอา Information มาหลอกกันมากกว่า เช่นโฆษณาทำให้คนยิ่งหลงติดล่อให้ไปสนองความต้องการของธุรกิจเลย ถูกไหม กลายเป็นว่าInformation เดี๋ยวนี้ ใช้ในทางเนี่ยเพื่อสนองความต้องการของธุรกิจนี่มากเลยใช่ไหม เด็กนี่ตกเป็นทาสของ Information แบบนี้ ใช่ไหม เล่นเกมส์กัน หาซื้อหาเสพอะไรต่ออะไร ไม่เกิด Knowledge เพราะฉะนั้นก็เลยมีการพูดกันว่า ต้องมี Knowledge Society ไม่ใช่ Information Society ตอนนั้นเค้าเรียกว่า Information Age เค้ามายุคเกษตรกรรม Agricultural Age แล้วก็มา Industrial Age ยุคอุตสาหกรรม แล้วมา Postindustrial ยุคหลังอุตสาหกรรมผ่านพ้นอุตสาหกรรม แล้วก็มายุค Information Age ยุคไอทีแล้วก็นี่แหละ Information Age ก็มีสังคมเป็น Information Society เป็นสังคมข่าวสารข้อมูล ก็มีผู้ท้วงบอกว่าไม่ถูก Information Society เนี่ยต้องให้เป็น Knowledge Society สังคมแห่งความรู้ อย่างนี้เป็นต้น ก็มีผู้พยายามที่จะเตือน จะให้คติบอกว่าอย่าไปหลง Data Information มันไม่พอ ต้องให้ Knowledge เกิด ทำไงให้ยิ่งกว่านั้นก็คือเป็น Wisdom เป็นปัญญาที่แท้จริง ลึกเข้าไปอีก ฉะนั้นมนุษย์ยังต้องก้าวไปอีกไกลแล้วก็เวลานี้ก็หลงกับ Information ต่างๆ แล้วก็ต่อมาก็มีผู้เตือนบอกว่าเนี่ยมันจะเป็นขยะข้อมูล แล้วในสังคมปัจจุบันนี้จะมีขยะข้อมูลเยอะเลย แล้วคนที่อยู่ในยุคนี้ก็จะลำบากขึ้น จะต้องใช้ความเพียรพยายามในการแยกขยะ แล้วสิ่งที่เข้ามา Information ก็ไม่จำเป็นสำหรับชีวิตไม่เป็นประโยชน์กับปัญญามันเข้ามาเยอะจนท่วมทับตัวเองเป็นกองกองขยะ Information อีก ตัวเองก็ถูกทับเข้าไปอีกเลยบางคนก็ถูกทับอยู่ไอ้ใต้กองขยะ Information และ Data เนี่ย เลยแทนที่จะได้ปัญญาก็ลุ่มหลงหนักเข้าไปอีก เลยตกลงว่าความเจริญของไอทีไม่ได้เป็นหลักประกันอะไรที่จะให้มนุษย์มีปัญญา กลับลุ่มหลงหนักเข้าไปอีกนะ เนี่ยมันไปกันใหญ่เลย เพราะว่าไอ้แนวคิดพื้นฐานมันไม่ได้แก้ ก็เนี่ยเวลานี้เหมือนกับพัฒนาขึ้นไปยิ่งเพิ่มปัญหาขึ้นมากทุกทีๆ แล้วก็เอา Information มาวุ่นวายอยู่กับไอ้เรื่องเนี้ย เรื่องหาเสพหาอะไรต่ออะไรก็ลัทธิตัณหามานะนั่นแหละ แล้วทีนี้ก็มีพวกทิฏฐิ ทิฏฐิก็อย่างที่ว่ามีระบบแบบแผนตายตัวของตัวเองอยู่ จะต้องเอาอย่างนี้ต้องเป็นอย่างฉันให้ได้อีก ไม่ระวังให้ดีก็พรพจน์มาอีกต้องแก้กันเรียกว่าถอนรากถอนโคน ก็เรียกว่าเปลี่ยนสังคมใหม่ พรพจน์แกก็คิดอย่างนี้หวังดีที่สุดแล้วนะ สังคมอุดมคติทำอย่างไรจะให้เกิดขึ้นมันไม่ทันใจนี่ ก็ต้องพลิกแผ่นดิน เปลี่ยนชื่อทุกคน เอาทุกคนออกจากเมือง พนมเปญนี่เอาคนออกหมดเลย ไปทำไร่ไถนาทุกคนนะเปลี่ยนหมดเลยเลยตายกัน ไม่ได้เรื่องเลย มนุษย์มันก็เลยวนเวียนอยู่เนี่ย เดี๋ยวก็กลับมาเรื่องตัณหามานะทิฏฐิอีก อ้าวท่านมีอะไรจะถาม เดี๋ยวผมตอบท่านครบรึยังล่ะ
(เสียงพระนวกะ) แค่ถามทัศนะส่วนตัวว่า ท่านคิดว่าจำเป็นว่าประเทศไทยสังคมไทยต้องเจ็บปวดก่อน ถึงจะพัฒนาในทางที่ถูกทาง ท่านได้ตอบแล้วครับ
(เสียงหลวงพ่อ) อ้อครับ เนี่ยแหละ ก็ต้องตอบแบบมีเงื่อนไข ว่าถ้ามันไม่สามารถออกจากแนวคิดและระบบที่ครอบงำอยู่ มันก็มีความเป็นไปได้มากอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นอย่างนั้น ตอบได้แค่นี้ นิมนต์ครับ
(เสียงพระนวกะ) แต่ดูแล้วนี่เอ่อ ปัญหาใหญ่คือความเห็นแก่ตัว นะครับ ไม่ทราบพระเดชพระคุณหลวงพ่อมีแนวทางที่จะแก้ไขประเด็นนี้ไหมในคน คนไทย
(เสียงหลวงพ่อ) ครับ ก็นี่แหละครับ คือว่า เราก็ต้องให้ความรู้เข้าใจให้แนวคิดที่ถูกนี่ ถ้าเขาติดในแนวคิดพี้นฐานว่าความสุขต้องมาจากหาให้ได้จากการเสพมากที่สุด มันก็ตันใช่ไหมฮะ ไอ้ทางแก้มันก็คือเปลี่ยนอันนี้สะ บอกว่ามันมีทางที่จะมีความสุขอย่างอื่น มนุษย์มีการพัฒนามีประโยชน์มีจุดหมายที่ดีงามขึ้นไปอีกเยอะ ทีนี้ถ้าผู้บริหารประเทศชาติรู้เข้าใจ แกก็จะได้ไปวางแนวทางการพัฒนานโยบายวางระบบอะไรต่อะไรใช่ไหม ถ้าเก่งมากก็จัดวางระบบเศรษฐกิจสังคมการเมืองให้มันสอดคล้องกันนี้ ทีนี้อย่างที่เค้าพูดกันว่า วางระบบการเมืองใหม่อะไรเนี่ย เราก็ไม่รู้เค้ามีแนวคิดอันนี้ไหม แต่น่าจะนะ ท่านว่าไง (เสียงพระนวกะ) ไม่มีครับ (เสียงหลวงพ่อ) ที่มันไม่มี เค้าก็สนองแนวคิดเก่าใช่ไหม แนวคิดเก่ามันก็ตายอยู่ที่ว่าจะสนองความต้องการแบบนั้นได้ไหม จบอีก ไปไม่รอด มันต้องมาหาทางที่จะพัฒนามนุษย์ ก็คือพื้นฐานก็ต้องบอกมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้พัฒนาได้ เปลี่ยนได้แม้แต่เรื่องความสุข แล้วมนุษย์ก็จะมีระดับการพัฒนาต่างกัน เราก็จัดระบบสังคมที่สนองความต้องการของมนุษย์ที่มีการพัฒนาที่หลากหลายในระดับต่างๆ แล้วก็เอื้อต่อการพัฒนาต่อไปของทุกคนด้วย แนวคิดที่จะทำไงจะจัดวางระบบสังคม เช่น กฎหมาย นิติบัญญัติอะไรให้มันเอื้อต่อการพัฒนามนุษย์เนี่ย แทบไม่มีในหัว หรือไม่มีเลยก็ได้ ทีนี้ถ้ามันมีบ้างมันก็จะออกมาสู่การพูดการจา การให้ความคิดกัน ตอนนี้มันเรียกว่าแทบจะไม่ได้เรื่องเลย แต่ท่านเห็นด้วยไหมว่า แนวคิดพุทธเนี่ยดี
(เสียงพระนวกะ) ดีมาก (เสียงหลวงพ่อ) ดีมากนะ เห็นด้วย ทีนี้เราทำอย่างไรจะให้สำเร็จ ก็ต้องช่วยกันนะ เพราะเวลานี้มันแย่ไปหมด อ้าวพูดง่าย ไม่ชอบติเตียนอย่างตัวพวกเราเอง อย่างพระสงฆ์นี่ก็ไม่เข้าใจพระสงฆ์ก็พลอยไปด้วย ตั้งแต่ยุคที่เริ่มความเจริญแบบตะวันตกเข้ามา ก็ไม่เข้าใจแนวคิดของตัวเองของพุทธศาสนาเลย ก็หันไปเห็นดีเห็นชอบด้วยว่า ลัทธิความเจริญแบบสมัยใหม่ที่เรียกว่าอารยประเทศนี่มันดี สนองความต้องการแบบนี้มีกิน มีเสพ มีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาพรั่งพร้อมนี่คือความเจริญ พระก็ไปด้วย เดี๋ยวนี้พระก็อยู่ในบริโภคนิยมเป็นส่วนใหญ่ใช่รึเปล่า อ้าวเมื่อพระเมื่อเป็นสะเองแล้วใครจะไปทำไง ก็พระก็คือผู้ที่จะต้องให้แนวคิดนี้ ที่จะไปให้มนุษย์รู้ตัวอย่างน้อย แล้วก็ให้สติปัญญาความเข้าใจแนวคิดที่เขาจะหาทางออก มีทางเลือกในการที่จะสร้างแนวชีวิตแนวสังคม จัดระบบสังคมขึ้นมาใหม่ ทีนี้ตอนนี้มันไปไม่ได้เลย ก็คิดแต่ว่าทำไงจะสนองความต้องการชาวบ้านชาวนาให้ได้อย่างนี้ นี่พวกหนึ่งก็เห็นว่าโอ้พวกนี้ยังไม่ได้เรื่องหรอกยังซื้อได้ด้วยเงิน เพราะฉะนั้น รอไม่ได้หรอกต้องจัดระบบสังคมให้มีพวกอื่นมาจัดการ จะให้พวกประชาชนมาเลือกตั้งฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องจัดให้กลุ่มชนอย่างงั้นอย่างงี้เนี่ย มีอะไรเนี่ยนะ มันก็เป็นแนวคิดที่หาทางออกกันอยู่อย่างนี้ ตอนนี้ก็ยอมรับกลายเป็นว่า แต่ก่อนนี้พูดอย่างนี้ไม่ได้นะโดนด่าตายเลย ตอนนั้นต้องประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ต้องให้ประชาชนเป็นใหญ่ เลือกตั้งอะไรต่ออะไรก็ไปกันอย่างเดียวไอ้แนวคิดจะมาเที่ยวเอาคนในระดับนั้นระดับนี้ กลุ่มนั้นกลุ่มนี้มาไม่ได้ ตอนนี้เอ้ากลายเป็นว่าเหมือนกับไปว่าประชาชนอีกแล้ว ว่าไม่พร้อมยังเอามาเป็นผู้เลือกตั้งกันเต็มที่ไม่ได้แล้ว จะต้องมีระบบอื่นเข้ามาอะไรเนี่ยมันก็ไปกันอยู่อย่างเนี้ย ทีนี้ทำไงจะเน้นเรื่องการพัฒนาคนให้ได้ ต้องเน้นเรื่องนี้ให้ได้ คุณจะจัดระบบยังไงๆ ถ้าไม่ไปพัฒนามนุษย์แล้วมันก็วนอยู่เนี่ย บอกว่าสังสารวัฏ คุณเรียนบทเรียนแล้วก็ไม่ได้ประโยชน์จากบทเรียนก็เข้าสังสารวัฏหมุนเวียน อยู่ในสภาพอย่างเงี้ยนะ แล้วก็ต้องแก้กันมารุนแรงบ้าง เบาบ้าง แก้กันไปแล้วไม่สำเร็จคนมันก็ไม่ดีขึ้น มันก็กลับมาเป็นอย่างเก่าอีก มันต้องพัฒนาคนให้ได้ พัฒนาคนให้ขึ้นมา ตอนนั้นก็จะจัดอะไรก็ตามเนี่ย แผนในการพัฒนามนุษย์ทั้งหมดหรือพัฒนาประชาชนเนี่ย จะต้องคิดให้หนักว่าจะทำอย่างไร แล้วก็พัฒนาตั้งแต่แนวคิด วันนั้นท่านอธิปัญโญก็ถามคำถามหนึ่ง ที่ว่าอะไร เมื่อคนยังไม่พร้อมจะต้องมีจัดให้มีคนกลุ่มหนึ่งที่มีคนมีคุณภาพอะไรไหม ใช่ไหมอันนี้เป็นคำถามที่ดี แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะได้คนนี้ กลุ่มนี้จริง ที่มันกลายเป็นว่ากลับมาเห็นแก่ตัวแล้วเอาเพื่อตัวเองแล้วก็ใช้ตัณหามานะข่มผู้อื่น หรือหาประโยชน์ให้แก่ตัวอีกแล้วยิ่งกว่านั้นก็คือติดในทิฎฐิของตัวเองอีก ทีนี้ก็ไม่ยอมรับความเห็นของผู้อื่นอีก ดีไม่ดีก็กลับไปสร้างปัญหาซ้อนขึ้นมาอีกด้วยกลุ่มที่ตั้งขึ้นมา ก็จะต้องจัดระบบที่แน่ใจว่าเจ้าคนกลุ่มเนี้ยที่มีคุณภาพดีเนี่ย ทำไงจะเป็นคนที่พ้นจากอำนาจตัณหามานะทิฏฐิได้จริง แล้วก็มีความหวังดีต่อประเทศชาติประชาชนจริง อ้าวแล้วใครมาเรียกคนพวกนี้อีกล่ะ ติดอีกใช่ไหมฮะ ไอ้คนที่จะเลือกคนพวกนี้ก็ต้องเก่ง ต้องรู้ แล้วใครมาเลือกล่ะครับ เลยไปตันตรงนี้เอง คนที่เลือกนี่เราก็กลายเป็นว่าต้องไว้ใจหรือไม่งั้นต้องเป็นผู้เผด็จการเลือกมา เนี่ยสังคมมันก็มีจุดปัญหาที่เป็นปมหมุนเวียนกันอยู่อย่างเงี้ย เพราะฉะนั้นในที่สุดก็คือต้องให้การศึกษาแบบกว้างที่ว่า พระพุทธเจ้าตั้งคณะสงฆ์ก็เพื่อให้เข้าถึงมนุษย์หมดทุกคน การศึกษามวลชนเกิดพระพุทธศาสนานะ เดิมนั้นการศึกษาก็ผูกขาดด้วยพราหมณ์ เรียนพระเวทก็ไม่ได้อะไรเนี่ย พุทธเจ้าบอกใครจะเกิดวรรณะไหนเป็นจัณฑาล เป็นคนเก็บขยะ??? พร้อมใจจะบวชแล้วบวชได้หมด แล้วเป็นพระอรหันต์แล้วก็เลิศกว่าวรรณะไหนหมดทั้งนั้นแหละ ว่าอย่างนั้น แล้วก็ทีนี้ก็ให้พระนี่จารึกไป ทั่วถึงทุกแห่งก็พระนี่ก็ หนึ่งได้ฝึกตัวเองแล้วอย่างดี ชุดต้นๆ ก็เป็นพระอรหันต์ สองต่อมาถึงจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ยังอยู่ในระดับการฝึกต่างๆ กันก็มีวินัยเป็นเกณฑ์ไว้เลย นี่แหละครับจะต้องได้ด้วยอันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าท่านจะตั้งกลุ่มชนที่จะมาช่วยทำหน้าที่ที่ว่าเนี่ย เป็นกลุ่มคุณภาพที่จะมาช่วยพัฒนาสังคมอะไร ท่านจะต้องบัญญัติวินัยต่อชุมชนนี้ เหมือนกับพระเนี่ย ก็พระนี่จะประพฤติตัวไม่ดีไม่ได้ใช่ไหม ต้องอยู่ในวินัยถึงไม่ได้เป็นพระอรหันต์แต่พร้อมใจว่าจะมาอยู่ในระบบนี้ฝึกตัว ก็จะวางระบบชีวิต แม้นเหมือนดังว่าท่านเป็นอริยชน หรือเป็นพระอรหันต์นะ ชีวิตพระแม้เป็นปุถุชนเนี่ย ก็จะมีชีวิตคล้ายๆ พระอรหันต์ไปพอดูเลย แต่หมายถึงว่าพร้อมแล้วนะที่จะมา ไม่ใช่บังคับเข้ามาโดยใจพร้อมอ้าวฉันจะฝึกตน อ้าวสิคุณพร้อมมันมีความเป็นอยู่มีระเบียบวินัยอย่างนี้เอานะ ตกลงเอ้าเข้ามา เข้ามาก็ฝึก ทีนี้พออยู่ในวินัยนี้สภาพชีวิตการกระทำอยู่ในกรอบที่เหมือนพระอรหันต์ ฉะนั้นจะไปสอนไปอะไรต่ออะไรก็ไม่มีปัญหาเพราะฉะนั้นถ้าเราจะตั้งระบบคนอย่างนี้ขึ้นมาเนี่ย คนพวกนี้จะต้องมีระเบียบวินัยกติกาอะไรที่จะทำให้เขาเนี่ยทำอะไรที่ผิดไม่ได้ จะลุอำนาจตัณหามานะทิฎฐิไม่ได้ อย่างน้อยก็ยังดียังมีทางแต่ถ้าได้อย่างพระเนี่ย แต่ว่าเวลานี้พระกลายเป็นไม่การศึกษาซะส่วนใหญ่ หลักของตัวก็ไม่รู้ไปกันใหญ่ ทีนี้ถ้าได้พระอย่างที่ท่านวางไว้พระก็เข้าถึงประชาชน ออกพรึบ จาริกไปทั่วเลย จะระถะ ภิกขะเว จาริกัง พะหุชะนะหิตายะ พะหุชะนะสุขายะ โลกานุกัมปายะ ตอนแรกตอนพระพุทธเจ้าทรงกล่าวคราวแรกบอกว่า อย่าไปทางเดียวกันสององค์ องค์เดียวองค์ละทางเลยนะฮะ ตอนนั้นมีพระน้อย เรียกว่าต้องสละจริงๆ แต่ท่านพร้อมแล้ว พระพุทธเจ้าบอก ทั้งเธอและเราพ้นแล้วจากบ่วง ทั้งบ่วงทิพย์และบ่วงมนุษย์ไม่มีอะไรมัดเป็นอิสระไปได้เต็มที่ ถึงไหนถึงกัน ทีนี้ญาติโยมคฤหัสถ์ที่จะมาทำหน้าที่นี้บ่วงเยอะใช่ไหม บ่วงพันตัวเยอะเลยเนี่ยมันไม่เป็นอิสระ เพราะฉะนั้นก็เลยบ่วงทางด้านสังคม บ่วงชีวิตส่วนตัวแล้วก็บ่วงทางจิตใจ ทีนี้มันต้องหมดทั้งบ่วงทิพย์บ่วงมนุษย์ บ่วงทิพย์ก็คือทางจิตใจกิเลสไม่มีแล้ว โลภะ โทสะ โมหะไม่มี อย่างน้อยก็ไม่ลุอำนาจมันไม่ยอมมัน ไม่ยอมตามมานะทิฏฐิ แล้วก็บ่วงมนุษย์ก็คือไม่มีเครื่องผูกมัดให้จำเป็นต้องทำเพื่อตัวเองทำเพื่อผู้อื่นได้อย่างเดียวเลย ทีนี้เราจะสร้างกลุ่มชนอย่างนี้ได้ไหม ถ้าจะทำให้ได้ได้กลุ่มชนอย่างนี้ที่จริงก็คือพระนั่นแหละ ทำไงเราจะมีพระที่ได้มีการศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจแล้วมันก็ถึงประชาชนอยู่แล้ว พระมีอยู่ทั่วประเทศ วัดมีอยู่ทั่วประเทศแต่ตอนนี้มันกลายเป็นอัมพาตไปสะแล้ว ไม่มีความรู้ไม่รู้เรื่องมีวัดในชนบท มีแต่วัดไม่มีพระ มีวัดหลวงชนิดใหม่ที่เรียกว่าวัดหลวงตา แล้วก็มีพระประเภทเวทมนต์ไสยศาสตร์หาผลประโยชน์เข้าตัวมีแต่แจกใบฏีกาเรี่ยไร ก็เลยไม่ได้ให้การศึกษาแก่ประชาชน ถูกไหมฮะ ก็ยอมรับความจริงแต่ว่าต้องแก้ปล่อยกันอยู่อย่างนี้ ทีนี้ถ้าแก้พระขึ้นมาได้อันหนึ่งนี่สังคมไทยไปได้เยอะ พรึบขึ้นมานี่ได้กำลังทั่วประเทศเลยแล้วเราไม่มีการสอนเป็นปฏิปักษ์ต่อใครนี่ อยู่ด้วยเมตตากรุณา มีความเป็นมิตร บทบัญญัติสิกขาบทอะไรต่ออะไรธรรมะก็กำกับหมด การพูดการจาวจีทุจริตก็ไม่ได้ เอ่ออย่างเนี้ย อหิงสานี่อย่างพระ
อ้าวผมเล่าตัวอย่างให้อีกอันหนึ่ง อหิงสาที่ว่าไม่เบียดเบียนเนี่ย ไปทำงานเผยแผ่พระศาสนาที่เป็นแบบยิ่งกว่าอารยขัดขืนอีก ก็เนี่ยต้องมีจิตใจขนาดนี้ มีพระสาวก พระอรหันต์องค์หนึ่ง ชื่อพระปุณณะ ท่านมาจากสุนาปรันตชนบทเป็นถิ่นห่างไกลว่าคนถิ่นนั้นดุร้ายมากว่างั้นนะ ทีนี้ท่านเป็นนักค้าขายท่านก็มาค้าขายที่ใน มัชฌิมชนบท มาทางสาวัตถี ราชคฤห์ อะไรพวกนี้แล้วก็มาฟังธรรมก็เกิดเลื่อมใสแล้วก็มาบวช บวชได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าก็ให้ขัดเกลาตัวเองดี แล้วเป็นคนชั้นสูงอยู่แล้ว ทีนี้เสร็จแล้วท่านก็ขอลาพระพุทธเจ้าบอกว่าจะไปอยู่ในชนบทอื่น พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่าเธอจะไปไหน พระปุณณะก็ตอบว่า ข้าพระองค์จะไปยังสุนาปรันตชนบท พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเอ่อ ก็เค้ารู้กันอยู่ว่าสุนาปรันตชนบทนี่ผู้คนดุร้ายมากไม่ใช่รึ แล้วถ้าไปแล้วเนี่ยเธอจะอยู่ได้หรือ บอกว่าข้าพระองค์คิดว่าพร้อมจะไปได้ บอกอ้าวเธอไปเนี่ย ถ้าหากว่าไปแล้วเค้าด่าว่าไง เค้าด่าต่างๆ เลยใช้วาจาหยาบคาย ล่วงละเมิดทำไง บอกข้าพระองค์ก็จะคิดว่าเอ่อเค้าด่านี่ก็ยังดีกว่าเค้าทุบเอาว่างั้นนะ ดีกว่าเค้าใช้มือตี เอ้าทนๆ หมายความว่าอดทน อ้าวทีนี้ถ้าเค้าลงมือล่ะ ลงมือทุบตีแล้ว บอกว่าเอ่อก็ดีกว่าเค้าลงไม้ว่างั้นนะกำปั้นก็ยังดีกว่าจะเอาไม้ตีว่างั้น อ้าวยังงั้นทีนี้ว่าเขาเกิดว่าลงไม้ด้วยล่ะ ท่านก็บอกว่าก็ยังดีกว่าเขาลงมีดว่างั้นนะฮะ พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามบอกว่า ถ้าเขาลงมีดแต่ไม่รุนแรงก็ยังพอได้ แต่ทีนี้ถ้าเขาจะแทงให้ตายเลย ฆ่าเลยว่างั้น บอกว่า ข้าพระองค์ก็จะคิดว่ามีคนที่เค้าอยากตาย พระอยากตายยังมีเลย นี่มีคนมาช่วยให้ตาย พระพุทธเจ้าบอก เออเธอวางจิตอย่างนี้ไปได้ ว่างั้น นี่ๆ อหิงสาจริงๆ ใช่ไหม คือท่านไม่เอาเลยนี่แหละอารยขัดขืน ที่คานธีมาก็คือแบบพระปุณณะนี่แหละ แต่ท่านมาเรียกใหม่ คานธีก็ต้องยอมหมดเหมือนกันนะ เค้าจะทุบจะฆ่าจะตีจะตายก็ต้องยอม ไม่ทำร้ายเขาเลย ไม่สู้ อย่างที่ว่าเขาจะขังคุกก็เดินมาเรียงแถวให้เขาจับเข้าคุกอะไรอย่างนี้ ก็ท่านก็ทำจริงๆ ในภาคปฏิบัติ แต่คติมาจากอหิงสาในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไง อหิงสา สัพพปานานัง อริโยติ ปวัจจติ เรียกว่าเป็นอารยะ อารยะก็เพราะอหิงสาไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง พระปุณณะนี่ท่านเป็นตัวอย่างจะไปประกาศพระศาสนา ตั้งจิตไปอย่างนี้แล้วก็ปรากฏว่าท่านไปได้สำเร็จ แล้วท่านก็กลับไปอยู่สุนาปรันตชนบท เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนจนกระทั่งในที่สุดก็นิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จไปสุนาปรันตชนบท ไปถึงโน่นก็ไปโปรดและเสด็จกลับมาก็มีเรื่องอรรถกถา เล่านะไม่ได้มีในพระไตรปิฏก อรรถกถาก็เล่าว่าเนี่ยที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปสุนาปรันตชนบทเนี่ย เป็นต้นกำเหนิดของพระพุทธบาท คือพระพุทธเจ้าเสด็จจากมา ก็ผ่านดินแดงต่างๆ ซึ่งพระองค์ได้พบคนนั้นคนนี้เขาก็เลื่อมใส แสดงธรรมให้เขาฟัง ทีนี้พระองค์จะอยู่ที่นั่นไม่ได้แล้วก็กลับมาห่างไกล เค้าก็ขออะไรไว้เป็นที่ระลึก อ้าวจะทำไงดี เค้าก็เลยขอให้ประทับรอยพระบาทไว้ นั่นก็ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา แม่น้ำนัมมทายังอยู่นะในอินเดียเนี่ยนะท่านไปดูเถอะครับ แม่น้ำนัมมทายังเป็นแม่น้ำสายใหญ่เป็นแม่น้ำที่เป็นเขตกั้นระหว่างอินเดียเหนือกับอินเดียใต้ อินเดียใต้เรียกว่าเดคคาน เดคคานก็มาจากคำว่า ทักขินะ ทักขินะ แปลว่าใต้ เลือนไปเลือนมาเป็น เดคคาน ฝรั่งเรียกเดคคาน แล้วก็เป็นภาคที่ถือว่าเป็นพวกไกลจากความเจริญ ทีนี้แม่น้ำนัมมทานี่กั้นเขตแดนเนี่ย พระพุทธเจ้าก็เสด็จผ่านแม่น้ำนัมมทาแล้วก็คนที่แม่น้ำนัมมทา นี่แหละ ขอสิ่งที่ระลึกไว้ พระพุทธเจ้าก็ได้รับอาราธนาให้ประทับรอยพระบาทที่ฝั่งแม่น้ำนัมมทา เราสวด วันทามิ เจติยัง สัพพัง สัพพัฏฐาเน สุ นี่แหละครับ มีด้วยนะ นึกออกไหมในนั้นมีคำว่า นัมมทา พระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทา เพราะพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทาเป็นพระพุทธบาทแห่งแรกเลย แล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จต่อมาที่ภูเขาสัจจพันธ์คีรี ฤาษีที่นั่นก็เลื่อมใสมากก็คิดถึงพระพุทธเจ้าอีก พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปแล้ว ก็อาราธนาประทับรอยพระบาทที่ยอดเขาสัจจพันธ์คีรีอีก มีไหมที่เราสวด นี่แห่งที่สองพระพุทธเจ้าก็ประทับรอยพระบาทที่ยอดเขาสัจจพันธ์คีรี นี่ก็คือเรื่องพระปุณณะเนี่ย ที่เป็นนักเผยแพร่ศาสนาที่เป็นตัวอย่าง เรียกว่าธรรมะต้องมีอหิงสาไม่เบียดเบียนตั้งใจขนาดนี้ พระสูตรนี้ชื่อว่า ปุณโณวาทสูตร อ้าวแล้วพูดกันไปก็มีเรื่องไปเรื่อย
(เสียงพระนวกะ) ????? รู้สึกว่าบรรยากาศนี่เหมาะสำหรับที่จะขอให้ เอ่อหลวงพ่อสวดสรภัญญะให้หน่อยได้ไหมครับ
(หลวงพ่อ) ผมสวดเป็นที่ไหน ผมเนี่ยนักสวดไม่เก่งเลย แล้ว สรภัญญะเนี่ยให้เด็กๆ ดีกว่า เด็กสวดเพราะที่เค้าฝึกไว้ แต่ว่าเราก็ไม่รู้นะสรภัญญะที่สวดในปัจจุบันน่ะ มันเป็นของแท้แต่เดิมหรือเปล่า เพราะว่าในคัมภีร์ที่ท่านเล่าไว้เนี่ย สรภัญญะมีทำนอง เป็นหลายสิบทำนองเลย สิ่งเหล่านี้ถ้ามันไม่มีเทปบันทึก มันก็รู้จะรู้ได้อย่างไรก็เลยหายๆไป อย่างพวกพราหมณ์นี่เค้าก็มีทำนองสวดพระเวทของเขา ทำให้เขารักษาพระเวทได้ ทำนองสวดเนี่ยทำให้การรักษาตำราด้วยปากเปล่าเนี่ย แม่นยำกว่าการเขียน เพราะฉะนั้นพราหมณ์เขาถึงได้มีวิธีสืบกันมาในการสวดสาธยายพระเวท เค้าสวดเป็นทำนองขึ้นลงเอื้อนอะไรต่างๆ เนี่ย ซึ่งจะต้องเรียนและก็ต้องสวดอย่างเดียวกัน คำนั้นอย่างนั้นถึงตรงนั้นมันจะต้องเป็นอย่างนั้นมันจะไม่มีทางตกหล่น สวดกี่พันปีมันก็อยู่อย่างนั้นเนี่ยวิธีรักษาพุทธพจน์ของเราก็แบบพราหมณ์เหมือนกันแต่เราไม่ได้สวดขนาดหนัก ทีนี้เราโบราณมีสรภัญญะด้วยยิ่งช่วยให้การสวดเนี่ยรักษาพุทธพจน์ไว้ได้ดี เพราะว่าหนึ่งสวดพร้อมกัน สองเป็นทำนอง พอสวดพร้อมกันนี่มันไม่มีทางเลยครับใครจะตกตัวหนึ่งก็ไม่ได้ใช่ไหม ก็ขัดกับพวกหมด เติมก็ไม่ได้ใช่ไหม เติมก็ขัดหมด
โบราณเนี่ยเค้าไม่ไว้ใจการเขียนการคัดลอก เค้าไม่มีระบบการพิมพ์แบบ Mass Production พิมพ์ทีหนึ่งเป็นพันเป็นหมื่นไม่ได้ ได้แต่ลอกทีละฉบับ ลอกแต่ละต้องมีตกหล่นผิดพลาด เชื่อไหมเชื่อ เพราะฉะนั้นเค้าจึงไม่เชื่อระบบการคัดลอกโบราณไม่ยอมรับเลย ให้มาเรียนแล้วก็จดเป็นเครื่องช่วยความจำเท่านั้น การใช้เขียนเป็นเพียงเครื่องประกอบในการเรียนแต่หลักต้องอยู่ที่ปากเปล่าเค้าเรียกว่าต่อหนังสือ ต้องมาที่อาจารย์เพราะไปเขียนแล้วไปลอกอาจจะไปลอกผิดๆ ต้องมาที่อาจารย์แล้วก็ต่อปากจากอาจารย์เลย อาจารย์ว่าอย่างนี้ อ้าวคุณว่ามา ว่าให้เหมือนที่ฉันว่า อย่างพระสูตรนี้ก็ต้องว่ากันจนจำได้ทั้งสูตร จำแล้วอ้าวไปว่าวันนี้ได้แค่นี้นะเทียบปัจจุบันเช่นว่าสักสองหน้า กลับไปพรุ่งนี้มาใหม่ พอพรุ่งนี้ก่อนจะต่ออาจารย์ก็เอ้าให้คุณว่าไอ้ที่จำไปเมื่อวานเอ้าว่าให้ฟัง เช็คกันก่อนถ้าว่าไม่ถูกไม่พอใจเอ้ากลับอันเก่าอีก ให้ว่าจนได้คล่องตรงแล้วจะยอมต่อ ต่อหนังสือต้องอย่างนี้ ต่อไปจนกระทั่งมันแม่นหมด ทีนี้ก็อรรถาธิบายด้วย ข้อความนี้ พระสูตรนี้ว่าอย่างนี้ ตัวบทต้องได้ ท่านเรียกตัวบทๆ พยัญชนะๆ ก็ต้องได้แล้วต้องอรรถ ที่โบราณเค้าเรียกว่าต้องได้ทั้งพยัญชนะและอรรถ ได้ทั้งตัวอักษรเต็มไม่ตกหล่นไม่ผิดพลาด สองได้อรรถได้ความเข้าใจความหมายต้องคู่กันไป เพราะฉะนั้นก็มาต่อหนังสือก็เนี่ยต้องให้แม่น ตัวพยัญชนะตัวบทแล้วเสร็จแล้วก็อธิบายให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นอาจารย์สมัยก่อนนี่จึงสำคัญมาก อาจารย์ก็ต้องถูกตรวจสอบมาก่อนแล้วจากอาจารย์ก่อน ไว้ใจได้ ระบบการเรียนแบบนี้แทบจะตัวต่อตัวหรือกลุ่มเล็กๆ ก็มาจากสองสามสี่ห้าองค์ อ้าวองค์นี้สวดให้ฟังว่างั้นนะ สวดจบแล้วแม่น เอ่อองค์นั้น สวดได้ไหม สวดได้พอใจแล้ว อ้าวองค์นี้ยังไม่พอองค์นี้ต้องทวน แก้อันเก่าให้แม่นองค์นี้ต่อได้อะไรเนี่ยนะ ละก็อธิบายความหมายกันอย่างเงี้ย เพราะฉะนั้นเค้าจึงไว้ใจระบบปากเปล่า ว่าปากเปล่านี้ต้องมาต่อจากอาจารย์ไม่ใช่ไปเอาที่ไหนแต่ไอ้ตัวหนังสือนี่มันไปลอกได้
โบราณไทยเราก็รู้คติอันนี้จึงบอกว่า ลอกสามทีกินตาย ตำรายาไง ลอกสามทีกินตายเลยทำไมล่ะ มันลอกแล้วมันก็ผิดแล้วคนลอกบางทีไม่มีปัญญา แล้วก็ไม่ได้ชำนาญไอ้ตัวยาไม่รู้จักสมุนไพร ก็ไปลอก ลูกประคำดีควาย รากขี้กาแดง เอาแค่นี้แหละ คนไม่รู้จักก็จบแล้วใช่ไหม เอ่อมันอะไรลูกประคำตัวเองก็นึกว่ารู้จัก ไอ้ลูกประคำ ก็เขียนเป็น ลูกประคำ เอาลูกประคำเขียนเค้าไปแระ ยานี่ทำด้วยมีส่วนผสม ตัวยาลูกประคำ เอ้าดีควาย ไปเอาดีควายมา รากขี้ เอาละสิทำไง ก็จดไป แล้วก็กาแดง โอ้หากาแดงยากจัง จริงไม่จริงเจอแต่กาดำกาขาวยังพอเคยได้ยิน ก็จดไปแย่เลย ที่จริงลูกประคำดีควายลูกของต้นประคำดีควาย ประคำดีควายเป็นชื่อต้นไม้เอาลูกมัน แล้วก็มันมีต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า ขี้กาแดง ชื่อเต็มมันอย่างนั้นนะต้นไม้ ชื่อขี้กาแดง ท่านลองไปเปิดพจนานุกรมก็มี ต้นขี้กาแดงก็เอารากมันมา เอารากต้นขี้กาแดง เอาลูกของต้นประคำดีควาย แล้วรากของต้นขี้กาแดงเท่าเนี้ย ทีนี้คนไม่รู้ก็เอาละสิก็นึกว่าเป็นอย่างงี้ใช่ไหม ก็วรรคผิดละทีนี้ พอลูกประคำก็วรรค ดีควายก็วรรค รากขี้ก็วรรค กาแดง เสร็จแล้วกิน ตาย เนี่ยลอกสามทีกินตาย เพราะฉะนั้นเค้าจึงไม่เชื่อระบบลอกหนังสือ ตอนที่ทำสังคายนาก็เลยว่า พอถึงตอนคัดลอกด้วยตัวหนังสือเนี่ย ต้องประชุมทำเป็นการใหญ่เป็นการของรัฐ ต้องตรวจสอบกันอย่างดีต้องเลือกผู้ที่มีปัญญามาตรวจ ต้องทำเป็นกิจการของรัฐไม่ให้ทำเป็นบุคคลอันนี้เรื่องเก่า คนสมัยหลังไม่รู้ว่าเขียนหนังสือนี่จะแม่น แล้วสมัยก่อนจำด้วยปากเปล่าจะไปได้เรื่องอะไรเข้าใจผิด ไม่รู้วิธีโบราณ เค้าเห็นความสำคัญ เค้าบอกว่าพุทธพจน์หนึ่งอักขระตัวอักษรตัวเดียวมีค่าเท่ากับพระพุทธรูปหนึ่งองค์ละนะ เพราะฉะนั้นใครจะไปทำอะไรต้องระวังมาก ก็เลยว่ากันเรื่อยไป คุยกันไปเรื่องโน้นเรื่องนี้เดี๋ยวเป็นเบ็ดเตล็ดไป อ้าวแล้วมีอะไรค่อยมาคุยกันใหม่ ก็ขออนุโมทนา