แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
อยากจะพูดเรื่องที่ท่านถามว่าความฝันนิดหนึ่ง คือที่ว่าฝันวันนั้นเมื่อวาน วันซืน ผมบอกไว้ว่าเหตุให้ฝันมีสาม ที่จริงมันเป็นสี่ ตกไปอันหนึ่ง แต่อันที่ตกที่จริงก็พูดไปแล้ว แต่ไม่ได้ยกขึ้นเป็นหัวข้อ ก็เลยยกซะให้มันครบ ก็ไม่มีอะไร ก็เหมือนเดิมนั่นแหละ หนึ่งก็บอกแล้วที่ว่า ธาตุกำเริบ ก็หมายความว่าร่างกายมันเกิดวิปริตแปรปรวนอะไร ก็กระทบ ทำให้เกิดการทำงานของสมองเรียกสัญญามาปรุงแต่ง สื่อสัญญา เป็นสัญญาณก็ได้ ร่างกายไม่ปกติ แล้วก็ มีเรื่องประทับใจ อารมณ์เก่าๆ ที่เคยประสบมา ที่ชื่นชมชอบใจติดใจอะไรต่างๆเนี่ย แล้วก็เก็บมาฝัน ก็คือเป็นของเก่า แล้วก็มาฝันในรูปใหม่ จิตก็ปรุงแต่งไป อาจจะต่อจากนั้นก็ได้ ต่อจากที่ได้ประสบได้เสวยอารมณ์มาแล้ว ก็ปรุงแต่งต่อไปเป็นเรื่องเป็นราว เหมือนกับว่า แม้แต่เราอยู่ตามปกตินี่ เรามีอารมณ์ติดใจเรามานั่งฝันก็มีใช่ไหม ทีนี้ไม่ฝันตื่น อันนี้เป็นฝันหลับ ก็เป็นว่าสองนั้นน่ะ อารมณ์ที่เคยพบพานชื่นชมจิตใจ ฝังใจประทับใจ แล้วก็สาม เทวดาสังหรณ์ เอาอันไหนก่อนก็ได้ ท่านใช้คำว่า (เทวะโตปะสังหาระนะ หรือ เทวะโตประสังหาน) เราก็แปลว่าเทวดาสังหรณ์ แปลเป็นไทยบางทีก็แปลว่า ดลใจ เทวดาดลใจ หรือถ้าแปลตามศัพท์ก็แปลเทวดาโน้มใจลงไป เทวดาโน้มใจให้เห็นไปอย่างนั้น อันที่หนึ่งก็ ธาตุกำเริบก็ไม่ได้เป็นของจริงอะไร ไม่มีเรื่องอะไร อันที่สองก็อารมณ์ที่ปรุงแต่งไปตามที่ตัวชอบไม่ชอบ อันที่สามเทวดาสังหรณ์ จริงบ้างไม่จริงบ้าง บางทีเทวดาไม่ชอบใจก็มาแกล้งโน้มจิต โกรธด้วยซ้ำ บางทีแกล้ง เทวดาแกล้งมาให้เห็นอย่างนั้นอย่างนี้ไป ถ้าปรารถนาดีก็อาจจะให้เห็นของสิ่งที่จะเป็นจริง และอันที่สี่บุพนิมิตที่ว่าแล้ว สิ่งที่เป็นสัญญานบอกล่วงหน้า ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีก็เรียกว่าลาง ที่ว่าจิตของเรามีความสามารถในการโยงเหตุปัจจัยอะไรต่างๆ ถ้าเป็นบุพนิมิตถือว่าจริง ก็ผ่านไปเรื่องฝัน ที่จริงฝันเติมนิดหนึ่งว่าไม่ได้ฝันในหลับ คือจิตที่ฝันท่านก็ถามว่า จิตที่ฝันนี้เป็นจิตที่ยังไง หลับหรือตื่น หรือไม่ใช่หลับไม่ใช่ตื่น ถ้าตื่นก็ไม่ใช่ฝัน แล้วหลับท่านก็บอกไม่ฝัน ทีนี้มันฝันระหว่างหลับกับตื่น คือ ตื่นกับหลับมันเหมือนกับมาสลับกันอย่างรวดเร็ว ถ้าใช้ภาษาวิชาการท่านใช้ว่า จิตมันขึ้นจากภวังค์มาสู่วิถีแล้วก็ย้อนกลับตกภวังค์ แล้วก็ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เรียกว่าลงมาขึ้นไป ลงมาขึ้นไปอย่างนี้นะ แล้วมันก็เลยมาอย่างที่ว่าจับอารมณ์ต่างๆ เพราะว่าภวังค์จิตนี้ไม่มีการรับรู้อารมณ์แบบนี้ ก็เลยเป็นจิตที่ว่า อยู่ระหว่างภวังค์กับวิถีสลับกัน ถ้าใช้ภาษาไม่เคร่งครัดก็คล้ายๆกับหลับๆตื่นแบบนี้ ก็เป็นจิตที่ทำงานอยู่ในระดับหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นการสลับกันระหว่างหลับกับตื่น ถ้าคนหลับสนิทก็แปลว่าไม่ฝัน หลับจริงๆ ก็ไม่ฝัน ก็จะหลับสนิท นี่ก็คือไม่หลับจริง
(ถาม) เรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เรื่องความฝัน ผมก็นึกคำถามต่อที่ฝันเพราะจิตเรามันหลับๆตื่นๆ ก็เลยมีคำถามว่า
(ตอบ) ไอ้หลับๆตื่นๆเนี่ย เป็นคำที่คล้ายๆว่าใช้เพื่อสื่อ แต่ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น เป็นแต่เพียงว่า มันไวมากตอนนี้ ไม่ใช่แบบที่เราเข้าใจกัน หลับๆตื่นๆแบบนี้ มันยังไม่ถือว่าเป็นแบบนั้น คล้ายๆว่าอันนี้มันเป็นขั้นหยาบมาก ไอ้หลับๆตื่นๆนี้ ที่จริงมันยังไม่หลับจริงด้วยซ้ำ ไอ้ที่ว่าฝันนี่ก็คือหลับ แล้วก็จิตมันขึ้นมาจากภวังค์ มาขึ้นสู่วิถีได้นิดหนึ่งแล้วมันก็กลับลงไปในภวังค์อีกที ตอนนี้มันขั้นที่ว่า ตอนที่หลับไปแล้ว แล้วก็เกิดมีการที่ว่าจิตกระเพื่อมขึ้นมา จะเรียกว่ากระเพื่อมก็น่าจะดีพอสมควร แล้วมันก็เลยมีอาการที่ว่าจิตมันขึ้นมาจากภวังค์ ก็เรียกว่ายังไม่ถึงการใช้ศัพท์ว่าตื่น ยังไม่เหมาะที่จะใช้ คืออยู่ในขั้นที่ว่าหลับแล้วก็ จิตเนี่ยไม่อยู่ในความหลับ ต่อเนื่องไป มีการขึ้นมาสู่วิถีจะมารับรู้แล้วก็กลับลงไปภวังค์เอง ก็ยังไม่ตื่นจริง ถ้าหลับๆตื่นๆก็เป็นวิธีพูดคล้ายๆว่า ให้เทียบว่าคล้ายๆหลับๆตื่นๆแต่ไม่ใช่ ถ้าหลับๆตื่นๆ ที่จริงมันจะเป็นแบบยังไม่หลับมากกว่า
(ถาม) ที่จะถามก็คือว่า อย่างกายคนเราเนี่ย มีเวลาเหนื่อย เวลาจิตมีเหนื่อย มีเมื่อย หรือจิตมีล้าไหมครับ เพราะว่า ตรงนี้ก็เป็นความสงสัย
(ตอบ) จิตล้า จิตเหนื่อยก็คืออาการของจิต แม้แต่ภาษาไทยเรายังพูดกัน แต่มันเป็นเพียงอาการความรู้สึกเท่านั้นเอง เป็นความรู้สึกที่เราเรียกภาษาไทยว่าอารมณ์ เช่นบอกว่า วันนี้เหนื่อยใจ เคยได้ยินไหม แต่ที่จริงมันก็คืออาการของจิตที่มันไม่มีกำลัง อย่างคนที่ถูกนิวรณ์ ถีนมิทธะ จิตหดหู่ จิตท้อแท้ จิตซึม ก็คือจิตไม่มีกำลัง จิตไม่ผ่องใสไม่ปลอดโปร่ง อย่างนี้ก็เหมือนกับจิตล้า ก็คือไม่มีกำลังก็หดหู่ไง ท้อแท้ เนี่ย ถีนมิทธะ เหงาซึม ว้าเหว่ จิตพวกนี้เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง หงอย เหงา ว้าเหว่ หดหู่ ซึม ท้อแท้ ห่อเหี่ยว อย่างนี้นิวรณ์ทั้งนั้น เป็นจิตที่เป็นอกุศล คือจิตไม่มีกำลัง ถ้าเทียบกายก็เป็นการเทียบเท่านั้น คือมันไม่ใช่ว่าเหนื่อยแบบกาย แต่ว่ามันไม่มีกำลัง ฉะนั้นคนท้อแท้เนี่ย มันไม่มีกำลัง มันพลอยให้กายที่มีกำลังเหมือนไม่มีกำลังไปด้วย แม้แต่กายมีกำลังพอจิตมันห่อเหี่ยว ท้อแท้เนี่ย เป็นนักกีฬา เป็นนักมวยเก่งยังหมดแรงเลย ฉะนั้นแม้แต่มีกำลังกายยังหมดเลย จิตท้อห่อเหี่ยวหมดแรง ยิ่งกว่ากายหมดแรงอีก ผมเคยเล่าไง นักกีฬาแสนจะแข็งแรงนะ ไปสอบอะไรไว้ ไปดูวันประกาศผลสอบ ดูรายชื่อ สมัยก่อนเขาประกาศ ไม่เห็นชื่อตัวเองตกแน่ เข่าอ่อนเลย ทรงตัวยังแทบไม่อยู่เลย เชื่อไหม เป็นไปได้ไหม เพราะเขาหวังมาก หมดแรงเลยครับ เดินยังจะไม่ได้เลย ยืนก็จะไม่อยู่แล้ว อะไร แข็งแรงยังกับอะไร นี่แหละครับ ใจหมดแรงนี่มันยิ่งกว่ากายหมดแรงอีก มันพากายหมดเลย ฉะนั้น เปรียบเทียบได้แต่ว่ามีความหมายมีอิทธิพลมาก พอเห็นนะ จิตล้าเนี่ยจะเป็นได้มาก แม้แต่ศัพท์ทางกายทางใจ บางทีท่านก็ใช้มาประสาน หรือใช้เทียบกันเอา เช่น อย่างว่า ร่างกายเดินหลายชั่วโมงแล้วก็เมื่อยล้าเนี่ย คำว่าเมื่อยล้าเนี่ย ท่านใช้คำว่า (สันตะ) เหมือนกันนะ ร่างกายมันล้าหมดแรงหมดกำลัง ระงับลงไป กลายเป็นว่า ไอ้สงบทางใจที่ดีกลายมาใช้กลายเป็นว่า กายหมดแรงไปเลย ก็เป็นเรื่องการใช้เปรียบเทียบทั้งนั้น เอาเป็นว่าเรื่องของจิตใจเนี่ย มันเป็นเรื่องของคุณสมบัติที่ประกอบ คือเรื่องเจตสิก ถ้าเจตสิกที่ไม่ดีก็คือพวกอกุศลเข้ามาแล้ว ก็จะทำให้มีลักษณะอาการต่างๆ บางทีก็รุนแรงไปเลยเช่น โกรธ เกรี้ยวกราด ใช่ไหม นี่ก็แรง แต่ตรงข้ามก็หดหู่ ท้อแท้ ห่อเหี่ยว หมดหวัง เหงา วังเวง หงอย อะไรต่ออะไรซึมไปเลยเนี่ย ก็หมดไปเลย เอาไหม
(ถาม) พอเห็นว่าตอนเราตื่น จิตก็ทำงาน ตอนเราหลับ จิตก็ยังทำงานอยู่อีก ก็เลยมีความสงสัยว่า จิตทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แล้วเขาพักตอนไหน
(ตอบ) อ๋อ มันไม่ได้เหนื่อยแบบนี้ ไม่ได้เหนื่อยแบบกาย มันเหนื่อยคนละแบบ มันเหนื่อยโดยที่ว่าไม่ต้องมีเหตุให้ทำงานมากหรอก จิตทำงานมากมันไม่ได้เหนื่อย แต่ว่ามันอยู่ที่ไอ้ตัวที่เข้ามา ไอ้ตัวคุณสมบัตินั้น ทั้งๆไม่ได้มีอันตรายไม่ได้มีการใช้งานอะไรมาก เกิดภาวะจิตที่หดหู่ ห่อเหี่ยว หมดแรงเลย นั่นก็เลยเป็นที่ตัวประกอบ หรือตัวปรุงนั่นเอง ตัวปรุงแต่งจิต จิตนี้จะปรุงแต่งให้เข้มแข็ง มีกำลังก็ได้ ปรุงแต่งให้ห่อเหี่ยวหมดกำลังก็ได้ ก็อยู่ที่ตัวนี้ ตัวประกอบมัน เรียกว่าเจตสิก เอาเป็นว่าผ่านนะ ได้นะ
(บรรยายต่อ) ทีนี้ก็อีกอันหนึ่งก็คือ ท่านอธิปัญโญถามไว้ ก็เรื่องนี้ที่ท่านพูดว่า คล้ายๆปรารถนาหรืออธิษฐาน เมื่อวานซืนเนี่ยถามไว้ เกี่ยวกับเรื่องสวดมนต์เหมือนกัน
(ถาม) อ๋อ รู้สึกว่าท่านตอบแล้วครับผม ผมถามว่า การอธิษฐานก่อนนอน ที่คฤหัสน์จะสวดเสร็จแล้วก็อธิษฐานขอนู่น ขอนี่ ขอให้สอบไล่ได้ มันเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือเปล่าในพุทธศาสนา เพราะว่า รู้สึกจะไม่ถูกต้อง คือท่านก็ตอบแล้วว่า การสวดมนต์เนี่ยคือการคุ้มครองขอให้ป้องกันให้สุขสวัสดิ์ ให้มั่นคงปลอดภัย ก็แค่นี้
(ตอบ) อันนี้ความหมายทั่วไปเป็นหลัก ทีนี้ที่ท่านถามยังมีแง่อธิบายต่อ อันนี้มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเหมือนกัน อย่าพึ่งไปปฏิเสธ คือมันเป็นเรื่องเหตุปัจจัยในธรรมชาติ เรื่องธรรมชาติเนี่ยลึกซึ้ง ซับซ้อนมาก คือคนไทยเนี่ย ใช้คำทางพระเนี่ยเพี้ยนไปเยอะ แทบทุกศัพท์ว่างั้นเถอะ แล้วคำหนึ่งที่เพี้ยนมากก็คือคำว่า อธิษฐาน เลยพูดบ่อย เรื่องนี้พูดบ่อย บอกว่า คนไทยอธิษฐานที่จะได้ แต่ของพระนี้อธิษฐานเพื่อจะทำ เคยได้ยินไหม คือของเดิมเนี่ย คำว่าอธิษฐานเนี่ย แปลว่าตั้งมั่น หรือเด็ดเดี่ยว เด็ดเดียวนั่นเอง คือหมายความว่าเราอธิษฐานใจ คือตั้งใจเด็ดเดี่ยว คือว่าต้องมีจุดหมาย คือว่าเรามุ่งสู่จุดหมายนั้นเนี่ย เราก็ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าฉันจะทำการให้สำเร็จ บรรลุจุดหมายนั้นให้ได้ อันนี้เรียกว่าอธิษฐาน เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าเนี่ย ที่เราเรียกอธิษฐานพระทัยไง พระองค์มุ่งโพธิญาณ พระองค์ทรงทราบอยู่แล้วว่าพระองค์ต้องทำยังไงบ้าง พระองค์ทรงอธิษฐานว่า เราจะต้องบรรลุโพธิญาณให้ได้ ถ้าไม่บรรลุจะไม่ลุกจากที่ อันนี้คือตั้งใจเด็ดเดี่ยว คือตั้งใจที่จะทำนะไม่ใช่ตั้งใจว่าให้ใครมาบรรดาลให้ ตั้งใจเพื่อจะทำ ทีนี้หลักเนี่ยสำคัญมาก อธิษฐานนี่เป็นคุณธรรมสำคัญเลยนะ เพราะถ้าทำอะไรโดยไม่มีจุดหมายชัดเจน แล้วจิตใจไม่เด็ดเดี่ยวแน่วแน่เนี่ย มันทำให้ทำการเหยาะแหยะ อย่างน้อยก็ไม่มีกำลัง ทีนี้การอธิษฐานคือ หนึ่งเกิดพลัง สองเกิดจุดหมายที่ชัดเจน เพราะมันมุ่งไปเลยว่า จุดหมายอะไรที่จะทำให้สำเร็จ สามเกิดทิศทางไปที่แน่นอน ชัดเจน ดังนั้นอธิษฐานจึงเป็นคุณธรรมสำคัญ ถึงกับเป็นบารมีของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญบารมีข้อหนึ่งก็คืออธิษฐาน ตั้งใจเด็ดเดี่ยว คนที่ไม่มีความมุ่งมั่น ทำอะไรไม่จริงจังเหยาะแหยะเนี่ย สำเร็จอะไรยาก ฉะนั้นต้องมีอธิษฐาน ทีนี้อธิษฐานเดิมก็แปลว่า ตั้งใจเด็ดเดี่ยว เมื่อจะทำการอะไรเนี่ย ก็ต้องกำหนดกับตัวเองว่า จุดหมายของเราคืออะไร และจะต้องทำให้สำเร็จบรรลุจุดหมายนั้นให้ได้ ต่อไปนั้นกำลังมันจะมาด้วย แล้วมันจะกันเรื่องที่รุงรังหรือเรื่องเกะกะ แม้แต่เรื่องปลีกย่อยออกไป มันจะจับเฉพาะตัวสำคัญเลย มุ่งไปเลยนะ เนี่ยสำคัญมากอันนี้ เพราะฉะนั้นคนเนี่ยมันมีอารมณ์ มีอะไรต่ออะไรเข้ามาวุ่นวายมาก แม้แต่คนค้าขายอธิษฐานว่าใจมุ่งสู่จุดหมาย อย่างคนสมัยก่อน คนจีนมาค้าขายไปตามวัด ขายไอศกรีมนะ ผมเคยเห็นเด็กๆ เด็กๆมันก็มาซื้อ ชอบไอศกรีม แล้วก็ชอบล้อ ชอบด่า อะไรต่ออะไร คนขายแกก็อายุมากแล้วนะ เด็กมันก็ไม่เคารพ มันก็ล้อเล่น มันก็เรียกไอ้บ้าง ด่าอย่างโน้นอย่างนี้ แกก็ไม่ถือสา แกก็ขายของแกไป นี่คือจิตที่มันมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวต่อจุดหมาย ก็ไม่ถือสา ไม่ไปยุ่ง ไม่ไปวุ่นวายกับเรื่องปลีกย่อย เรื่องไม่เป็นเรื่อง ไม่เอาด้วย ทีนี้คนสมัยปัจจุบันจำนวนมาก ไม่มีอธิษฐาน จะทำอะไรสักอย่างพอมีเรื่องโน้นเรื่องนี้ ใจออกไปอยู่กับเรื่องที่มันเข้ามาในระหว่าง จะเรียกว่าอะไร เรื่องสะเปะสะปะเรื่องอะไรไม่เป็นเรื่อง มาล่อ มาเย้า มายั่วอะไร แม้แต่คนมายั่วออกนอกจุดหมายไปแล้ว ไปทะเลาะกับเขาซะนี่ เหมือนอย่างคนขายไอศกรีม ถ้าแกโกรธแกไปทะเลาะกับเด็ก แกก็ขายไม่ได้ใช่ไหม แกไม่คำนึงล่ะ จุดหมายแกขายได้ก็แล้วกัน ใครจะด่าจะว่าแกไม่เอาทั้งนั้น นี่คือฤทธิ์ของอธิษฐาน ใจมันมุ่งเป้าหมายมันไม่เอาแล้ว มันจับทิศทางได้ถูกต้อง แล้วมันจับจุดได้อยู่กับเรื่องนั้นเลย แล้วใจมันไม่ออกไม่เขว สิ่งที่มายั่งเย้า ล่อเล้าก็หมดความหมาย มารบกวนไม่ได้ สิ่งที่รบกวนในระหว่างทำไม่สำเร็จ แกก็ขายของแกไปได้สำเร็จไม่ถือสา คนเราทำงานก็ต้องมีอันนี้ อธิษฐานแล้วใจมันจะมุ่งไป แล้วสมาธิก็มาได้ด้วย แล้วก็สำเร็จบรรลุจุดหมาย เอาล่ะครับ ทีนี้ นี่เป็นอธิษฐานที่แท้ก็คือตั้งใจเด็ดเดี่ยว ที่จะทำการให้สำเร็จ บรรลุจุดหมายให้จงได้ ฉะนั้นในทางธรรมะก็มุ่งที่นี่ ทีนี้มาในเมืองไทยเนี่ย ความหมายมันก็ค่อยๆเปลี่ยนไป จะกินเวลานานเท่าไรก็ไม่ทราบ กว่าจะเพี้ยนมาจนปัจจุบัน มันก็ยังตรงอยู่อันหนึ่งคือยังมีจุดหมายใช่ไหม อธิษฐานมันก็มีจุดหมายใช่ไหม แต่จะให้บรรลุจุดหมายนั้นจะทำอย่างไร ตอนนี้แทนที่ว่าฉันมุ่งจุดหมายนี้แล้วฉันจะทำให้สำเร็จ มันกลายเป็นว่าฉันต้องการอันนี้เป็นจุดหมายก็ขอให้ฉันได้ ขอให้ท่านมาช่วยทำได้ มันเขวไปตอนนี้ เขวไปตอนที่ขอให้ท่านทำให้ แล้ววงเล็บ ฉันจะได้ไม่ต้องทำ ฉันจะได้นอนสบาย ฉันก็เลยรอคอย รออย่างเดียว นอนเลย ก็ขี้เกียจใช่ไหม ดังนั้นเนี่ย คนไทยมาเสียตรงนี้ อธิษฐานเพื่อจะได้จะเอา เลยกลายเป็นคนขี้เกียจขี้คร้านไปเลย หมดเลย เสียเลยใช่ไหม แต่ทีนี้ที่มันยังได้อยู่ นี่สิครับ ที่ว่าอธิษฐานตอนสวดมนต์ แล้วจบแล้วอธิษฐานไม่ผิด ก็คือ เราดำเนินชีวิตก็ตาม เราจะศึกษาเล่าเรียนก็ตาม มันต้องมุ่งต่อจุดหมาย การที่ให้อธิษฐานหลังสวดมนต์นี้ก็คือให้จิตเนี่ย มันแน่วไปสู่จุดหมายนั้น ตอนนี้ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะให้จิตเนี่ย มันบอกกับตัวเองว่า จุดหมายของเราคืออันนี้ ถ้าเด็กอธิษฐานจิตเกี่ยวกับเรื่องการเล่าเรียน ช่วยแกเองเลย ให้จิตแกเนี่ย ไม่ฟุ้งซ่านไปกับเรื่องราวอื่นๆ แล้วมันจะช่วยดึงรั้งได้ด้วย พออธิษฐานเนี่ยมัน ทำให้จิตเนี่ย ระลึกถึงสิ่งนี้ได้บ่อยขึ้นด้วย เพราะมันตั้งได้ชัดขึ้น จุดหมายเนี่ยมันชัดมาก เมื่อมันชัดมันเด่นเนี่ย มันจะปรากฏในใจได้บ่อยขึ้น โอกาสที่จะผุดขึ้นมาในความคิดเนี่ยมาก แล้วมันก็คอยเตือน จะเขวไปเรื่องอื่น มันมาบอกแล้ว อย่าไป ว่างั้น เป้าหมายอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไร้ความหมาย สำคัญทีเดียว ให้เด็กอธิษฐาน แต่ว่าจะใช้คำอย่างไรเนี่ย แม้แต่อธิษฐานว่าให้สอบได้ ส่วนที่ว่าจะขอให้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระรัตนตรัยมาช่วย คือ สำหรับเด็กเนี่ยอย่าไปถือสาแกมาก ก็ได้ในแง่ที่ว่า มาเป็นเครื่องช่วยให้มั่นใจ คล้ายๆแกอบอุ่นใจว่าพระอยู่กับเรา แต่ว่าอย่าให้ไปทำลายการกระทำ เท่านั้นแหละครับ ให้มันหนุนการกระทำของเด็ก ตราบใดที่การอธิษฐานนั้นยังหนุนการกระทำ เหตุปัจจัยเพื่อจุดหมายไม่เสียเลย ให้มันมั่นขึ้น เพราะฉะนั้นอย่าไปดูถูกเขา แม้แต่ว่าอธิษฐานเพื่อจะได้จะเอา ถ้ามันมีตัวต่อ เป็นเหตุปัจจัยที่มาให้หนุนการกระทำ ก็ยังใช้ได้อยู่ แต่ที่น่ากลัวมากก็คืออธิษฐานเพื่อจะได้โดยที่ให้ท่านบันดาลให้ ตัวเองไม่ต้องทำ ถ้าอย่างนี้จบ จับจุดได้แล้วนะ เพราะฉะนั้นอธิษฐานยังดีอยู่ จิตเด็กจะมุ่งเป้าหมาย ก็ดีแล้วครับ จบสวดมนต์แล้วอธิษฐาน แล้วเราจะสามารถยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดได้ เอ้า ก่อนอธิษฐานเรามาตกลงกันก่อน อธิษฐานอะไรดี เด็กๆลูกๆก็มาเลือกกัน เราก็จะได้รู้ว่าแกต้องการอะไรใช่ไหม แล้วก็มาตกลงกันว่า เรานะตกลงอธิษฐานเอาอันนี้ คนนี้อธิษฐานมุ่งไปที่นี่ๆ ก็คืออธิษฐานเพื่อบรรลุจุดหมายนั้น แล้วเราก็พยายามโยงไปสู่การกระทำ พอแกอธิษฐานเพื่อจุดหมายนั้นนะ เพื่อให้แกต้องการแม้แต่แกยังคลุมเครืออยู่ คล้ายๆอยากจะได้เนี่ย แต่เราโยงมาหาการกระทำให้แกตั้งใจทำจริงๆจังๆ มากขึ้นใจ แกอยู่กับเรื่องนี้แค่ว่าอธิษฐานว่าจะได้เนี่ย ใจมันก็มาอยู่กับเรื่องนี้บ่อยแล้วใช่ไหม ฉะนั้นคนที่อธิษฐานเพื่อจะได้เนี่ย ไม่ใช่ไร้ผล มันเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ก็คือเมื่อเขาอธิษฐานเนี่ย จิตของเขาก็จะอยู่กับเรื่องนั้น เมื่อจิตเขาอยู่กับเรื่องนั้นมาก คนที่จิตอยู่กับเรื่องนั้น มันก็เอากับเรื่องนั้นมาก โดยแม้แต่ไม่รู้ตัว อธิษฐานเพื่อจะได้โดยที่ไม่มีความชัดเจนในเรื่องการปฏิบัติธรรมนั่นแหละ แต่เรื่องการอธิษฐานเพื่อจะได้มันจะได้ผลก็คือตามหลักเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ คือทำให้จิตของเขามาอยู่กับเรื่องนั้น พอจิตมันใฝ่จะเอาเรื่องนั้นใช่ไหม ความเอาใจใส่ ความขวนขวายอะไรต่ออะไรมันก็มาเรื่อย มันก็นำไปสู่ความสำเร็จสิครับ เหมือนอย่างคนที่ปรารถนาแม้ว่าจะเกิดเป็นหญิงเป็นชายเนี่ย หลักในพระไตรปีฎกเนี่ย ก็อยู่ที่จิตใฝ่เนี่ยแหละตัวสำคัญเลย จิตใฝ่อย่างไรมันโน้มไปอย่างนั้น จริงไม่จริง อันนี้มันธรรมชาติ เมื่อจิตมันใฝ่อย่างนี้ มันก็โน้มไปอย่างนั้น มันก็สนใจ จะเอา จะทำ จะรับรู้ในเรื่องเหล่านั้น เรื่องที่มันเข้ากับความปรารถนาของเรา จริงไหม มันก็เลยเป็นไปโองโดยเหตุปัจจัย ดังนั้น แม้แต่อธิษฐานเพื่อจะได้เนี่ย ไม่ถึงกับเหลวไหล แต่เราไม่สนับสนุนเพราะว่ามันเกิดโทษขึ้นมาในเมื่อเขากลายเป็นว่า หวังให้ท่านดลบันดาล ตอนนี้แหละครับ ขี้เกียจ นอนรออะไรต่ออะไร หมดเลย หลักกรรมไม่มาเสียหมดเลย เพราะฉะนั้นแยกให้ได้ก็แล้วกัน เป็นอันว่าจับได้แน่นะ เอาล่ะครับ สำหรับเด็กนี่ยังค่อยๆตะล่อม อย่าไปรีบด่วน ไปค้านไปอะไรต่ออะไร บางทีแกรับไม่ไหว อันที่จริงเมื่อกี้พูดเพิ่มนิดก็ดีนะ คืออธิษฐานเพื่อจะได้เนี่ยมันก็ยังใช้ได้อยู่บ้าง แต่มันเป็นอธิษฐานสำหรับใช้กับเด็ก หรือใช้สอนเด็ก เพื่อจะได้นำเขาสูงขึ้นไป ผู้ใหญ่ไม่ควรจะใช้อธิษฐานแบบนี้ อธิษฐานเพื่อจะได้ เพราะว่าผู้ใหญ่นี้จะมีความรู้มีกำลังใจและปฏิบัติให้เป็นเหตุเป็นผล แต่เด็กนี้แกยังไม่ค่อยมีความรู้ จิตใจก็ยังไม่ได้เข้มแข็งอะไร เขาก็อาศัยสิ่งพื้นๆอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเด็กจะอธิษฐานเพื่อจะได้ ก็ยอมแกบ้าง แต่ว่า แล้วผู้ใหญ่ก็เป็นกัลยาณมิตร นี่แหละเป็นโอกาสที่จะได้ค่อยๆช่วยแนะนำแก ก็เป็นจุดเริ่มได้ อธิษฐานเพื่อจะได้ของเด็ก ยอมให้เด็กเป็นจุดเริ่มของเขา แล้วเราก็จะได้แนะนำเขามาสู่การอธิษฐานที่ถูกต้องยิ่งๆขึ้นไป แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ไม่น่าจะต้องมามัวอธิษฐานแบบนี้