แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สกอ. : นมัสการพระคุณเจ้า ผมและคณะ 3 คน เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Commissioner ของ สกอ. ไทยเรียกว่า คณะกรรมาธิการ ภาระใหญ่ที่เราได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการอุดมศึกษาก็คือ การดูแลเรื่องระบบอุดมศึกษาของไทยว่าจะทำยังไงให้ดีขึ้น เราก็ประชุมกันมาหลายครั้งเพื่อพยายามทำให้ดีขึ้น ทีนี้มากล่าวถึงเรื่องการอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาของไทย เวลานี้มันมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย ประมาณ 200 เศษๆ ถ้ารวมถึงอาชีวะด้วย จะมากกว่านั้นอีกเยอะ ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือว่า เรามีสถานศึกษาระดับนี้จำนวนมาก เขาจะดำเนินไปในทิศทางใด ปรัชญาเป็นอย่างไร วัตถุประสงค์เป็นอย่างไร แนวทางเป็นอย่างไร ควรหรือไม่ที่ประเทศไทยควรจะมีแนวทางของมหาวิทยาลัยหรือกลุ่มสถานศึกษาเหล่านี้ที่ใกล้เคียงกัน ไม่ใช่สะเปะสะปะไปคนละทิศละทาง ในอดีตกาลที่ผ่านมา เรามีมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่เคยมีการศึกษา สัมมนา หรือตกลงว่าเราจะเดินทางไปอย่างไร มันขึ้นอยู่กับอธิการบดี หรือผู้ที่เป็นหัวหน้าสำนักนั้นๆ จะพิจารณาดูว่าทำอย่างไรให้เหมาะสม ยังไม่รู้ว่าปริญญาตรีที่ออกมามันเหมือนกันหรือไม่
ผมยกตัวอย่างให้ฟังนะครับ เมื่อกี้ ดร.สนองพูดถึงเรื่องคุณภาพการศึกษา นี่ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่เราเป็นห่วง แต่เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าเรามีปรัชญาการศึกษา มีวัตถุประสงค์ มีเป้าหมายที่ชัดเจนพอสมควร อาจจะแตกต่างกันบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยและสถานศึกษาต่างๆ ในกลุ่มนี้ที่จะบริหารจัดการไปในทิศทางนั้น ที่มาคราวนี้ก็จะอาศัยสติปัญญาของท่านเจ้าคุณช่วยดูว่า เมืองไทยนี้ มหาวิทยาลัยในเมืองไทยควรจะเป็นอย่างไร เดินไปทางไหน ทำอย่างไรเราจะดีขึ้น ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถพัฒนาให้ก้าวกระโดดไปได้อย่างรวดเร็ว เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานศึกษาในระดับนี้ของไทยถดถอยไปเยอะ หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เราคงต้องพยายามช่วยกันสร้างสรรค์พัฒนาให้ดีขึ้นไปถึงจุดที่สามารถเชื่อมั่นได้ว่า เมื่อจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว เขาจะมีคุณวุฒิมีคุณภาพเช่นเดียวกับที่จบจากสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ ขอความกรุณาท่านได้โปรดให้ปรัชญาด้วยครับ
พระคุณเจ้า: ขอเจริญพร อนุโมทนาท่านอาจารย์ทุกท่านซึ่งได้มีเจตนาเป็นบุญเป็นกุศล มีความปรารถนาดีต่อชีวิตและสังคม รวมไปทั้งโลก อยากให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม อยู่กันมีสันติสุข โดยเฉพาะ อุดมศึกษาเป็นการศึกษาที่ตามตัวอักษรแปลว่า การศึกษาชั้นสูงสุด สูงสุดนี่ไม่ได้มองแค่สูงสุดเฉยๆ แต่สูงสุดนี่ หมายความว่า กว้างขวาง ครอบคลุมทั้งหมด มองไปทั่ว ต้องมีความรู้เข้าใจทุกอย่าง ว่าอย่างนั้นก็ได้ เพราะว่าถ้าเราไม่มีความรู้เข้าใจทุกอย่างในความหมายว่ามองเห็นรวม เป็นต้น ก็จะไม่สามารถทำการศึกษานั้นให้ดำเนินไปด้วยดี ว่ามันเพื่ออะไรกัน เป็นต้น
[04:05] เวลานี้ถ้ามองไปทั้งโลก เราก็รู้ตระหนักกันดีว่ากำลังมีปัญหากันมากมายเหลือเกิน โลกนี้มีปัญหาทั้งความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ก็ไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย เพิ่มขึ้น ปัญหาของธรรมชาติแวดล้อมก็หนักลงไปทุกที และความเป็นอยู่ของมนุษย์ก็พึ่งพาอาศัยทั้งธรรมชาติแวดล้อม ทั้งเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เหล่านั้นด้วย เช่น ด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น ก็มีปัญหากันได้ยินกันทุกวี่ทุกวัน ในที่สุดก็ลงมาที่ชีวิตของแต่ละคน ชีวิตของแต่ละคนนี้ก็เหมือนกันเป็นขั้นสุดท้ายที่บุคคลหรือปัจเจกชนนั้น มารับผลของสภาพที่เรียกว่าเป็นปัญหาเหล่านั้นทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว และเป็นผู้รับรู้ อย่างที่ว่า รับรู้ก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง และรู้สึกถึงปัญหาเหล่านั้น ในด้านหนึ่งก็คือ ตัวเองก็เป็นแหล่งต้นทางของการก่อปัญหาเหล่านั้นด้วย เวลานี้เราบอกว่า ปัญหาทั้งหลายเริ่มต้นจากมนุษย์เป็นสำคัญ แม้แต่ปัญหาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า จุดรวมมาอยู่ที่มนุษย์นี่แหละเป็นสำคัญ เหมือนกับมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ตามปรัชญาตะวันตกก็เคยเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง แต่ความหมายของการที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางก็ตีความได้หลายอย่างเหลือเกิน แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องมีความเข้าใจมนุษย์พอสมควร
โดยเฉพาะในเมื่อเราจะให้มีการพัฒนามนุษย์ ก็คือการศึกษา เราก็ต้องเข้าใจมนุษย์นั่นเอง ที่นี้มนุษย์ก็คือ เริ่มด้วยเป็นชีวิตนี่แหละ เป็นชีวิตแล้วก็มาเป็นบุคคล ถ้าว่าทางพระก็ถือว่า คนแต่ละคนนี้ถ้าเรามองแยกให้ดีก็จะเห็นว่ามีสองด้านอยู่ในตัวคนเดียวกัน ในความเป็นมนุษย์ ด้านหนึ่งก็ชีวิต ชีวิตก็คือธรรมชาติ จะเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติก็ได้ ที่จริงมันก็เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งนั่นเอง ชีวิตที่เป็นธรรมชาติก็มีความเป็นไปตามธรรมชาติ มีความเป็นไปตามกฎธรรมชาติ จะกินจะอยู่อะไรแม้แต่เรื่องระบบการทำงานในร่างกายทุกส่วน เป็นไปตามกฎธรรมชาติหมดเลย อันนี้เรียกว่าด้านหนึ่งของมนุษย์คือชีวิตที่เป็นธรรมชาติ
อีกด้านหนึ่งก็คือพร้อมกับที่เป็นชีวิตนั้น เขาก็เป็นบุคคล เป็นบุคคลที่อยู่ในสังคม เป็นส่วนประกอบหรือเป็นสมาชิกของสังคม พูดหลวมๆ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติด้วย เป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย นี้ปัญหาถ้าว่าพื้นฐานตอนนี้ ก็คือ เราพูดได้เลยว่าเวลานี้มนุษย์มีปัญหามาก ในเรื่องมนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติ ที่ว่าแปลกแยกจากธรรมชาติ ก็เริ่มที่ตัวบุคคลหรือชีวิตแต่ละชีวิต ตัวเขาเองเขาก็ประสานให้กลมกลืนไม่ได้ ระหว่างชีวิตหรือความเป็นชีวิตกับบุคคลหรือความเป็นบุคคล เวลานี้คนจำนวนมากก็อยู่แบบเป็นบุคคล เป็นส่วนร่วมในสังคมโดยไม่ได้ตระหนักรู้ถึงชีวิตของตนเอง และไม่สามารถที่จะประสานกลมกลืนให้ชีวิตกับความเป็นบุคคลมันประสานกลมกลืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ถ้าเขาไม่สามารถแม้แต่ประสาน เกื้อกูล และกลมกลืนระหว่างตัวเขาเอง คือชีวิตกับบุคคล เขาก็ต้องแปลกแยกไปตลอด อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา
เพราะฉะนั้นปัญหาในสังคมมนุษย์ก็ต้องมีแน่นอน เพราะเวลานี้มนุษย์แปลกแยกจากตัวเอง แปลกแยกจากชีวิตของตนเอง
แม้แต่กินอาหารก็ยังกินเพื่อสนองความต้องการของบุคคล ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากินทำไม ที่จริงนั้นการกินอาหารก็เพื่อสนองความต้องการของชีวิต แต่ว่าเขาไปสนองความต้องการของบุคคล เช่น ค่านิยมของสังคม จะกินเหลาไหน ภัตตาคารไหน จะกินยังไง ก็เป็นไปตามกำหนดในทางสังคมเสียมาก แทนที่จะนึกว่า ที่แท้แล้วการกิน การบริโภคก็เพื่อสนองความต้องการของชีวิตเท่านั้นเอง น่าจะให้การเป็นบุคคลมาช่วยเสริมให้ชีวิตได้ประโยชน์ที่แท้จริง แต่กลายเป็นว่าบุคคลกลับมากระทำการในทางที่บั่นรอนชีวิตของตนเอง แค่นี้ถ้าทำไม่ได้แล้ว มนุษย์ก็ไปไม่ไหว เพราะแม้แต่ชีวิตของตนเองก็ไม่สามารถที่จะประสานกลมกลืนให้บุคคลที่เป็นด้านสังคมมาเกื้อหนุนส่วนที่เป็นตัวแท้ของเขา คือชีวิตของเขาได้ในการเป็นอยู่ เป็นต้น ฉะนั้นมนุษย์ก็แปลกแยกแต่ต้น
[09:12] เรามาดูกันตั้งแต่เริ่มต้นเลย มาดูที่บุคคล ที่ว่าเริ่มต้นก็เป็นชีวิต ตอนนั้นก็ยังไม่มีชื่อมีเสียงว่าเป็นอะไรด้วยซ้ำ นาย ก นาย ข ก็ยังไม่มี ก็เกิดมาในโลก ก็เป็นแต่ชีวิตเปล่าๆ พอชีวิตนี้คลอดจากท้องมารดาออกมาอยู่ในโลก ก็มาอยู่ในโลกที่เวิ้งว้าง จะอ้างว้างหรืออบอุ่นก็แล้วแต่ ก็คือไม่รู้จักอะไรเลยสักอย่าง ไม่รู้จักว่าอะไรทั้งนั้น ทีนี้ทำยังไง เขาก็จะต้องอยู่ให้รอด การที่จะอยู่ให้รอดก็มีเครื่องมือติดมา 2 ชุด ชุดที่หนึ่งท่านเรียกว่าเป็น ทางรับรู้ หรือทางพระเรียกว่า ผัสสะทวาร ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และสองก็ ทางกระทำ กระทำต่อสิ่งแวดล้อม หรือกระทำต่อกัน หรือจะเรียกว่ามีปฏิสัมพันธ์ก็แล้วแต่ก็คือ กาย วาจา ใจ เขาก็ใช้สองชุดนี้ในการพยายามหรือดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอด ซึ่งต้องใช้สองชุดของทางที่เขาติดต่อสัมพันธ์กับโลกหรือสิ่งแวดล้อม ก็เกิดการดิ้นรน เพียรพยายาม เราก็เรียกว่า เรียนรู้ นั่นเอง
การใช้ทวารหรือทางสองชุดนี้ติดต่อสัมพันธ์กับโลก ในการที่ ตา หู รับรู้ ดู ฟัง ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็กระทำต่อมันด้วยกาย วาจา ใจ ทำกันไปก็ได้เรียนรู้ เราเรียกกันว่าเรียนรู้ แต่นี่เป็นความจำเป็นบังคับ บังคับว่าจะอยู่รอดได้ก็ต้องเรียนรู้ ก็กลายเป็นการเรียนรู้เพื่ออยู่รอด เรียนรู้ให้อยู่รอดนี้คือการศึกษาเริ่มต้น ฉะนั้นการมีชีวิตในแง่หนึ่งก็คือการเรียนรู้นั่นเอง ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันว่าความหมายนี้ ทั้งทางหลักพระพุทธศาสนาก็ตาม ปรัชญาตะวันตกก็มีหลายท่านที่คิดในแนวนี้ ก็คือว่า ในที่สุดชีวิตก็คือการเรียนรู้ จะมีชีวิตอยู่ได้ก็ต้องเรียนรู้ ถ้าไม่เรียนรู้ก็อยู่ไม่ได้ ก็เลยมีว่าเริ่มต้นก็คือเรียนรู้เพื่อให้อยู่รอด เพราะความจำเป็นบังคับให้ต้องเรียนรู้ ถ้าความจำเป็นบังคับให้ต้องเรียนรู้เพื่อให้อยู่รอด อย่างนี้ก็ถือว่าเริ่มการศึกษาแล้ว แต่ว่าเราไม่อยากให้เป็นแค่นี้ แค่ว่าความจำเป็นบังคับให้เรียนรู้ และก็อยู่ให้รอดไป ก็อยู่ให้ได้นั่นเอง อยู่รอดหรืออยู่ได้นี่ไม่พอ มนุษย์ควรจะอยู่ให้ดี และมนุษย์ก็มีศักยภาพอะไรอีกเยอะเลย นี่ถ้าเขาอยู่ดีแล้วเขาก็จะก้าวหน้าไปสู่สิ่งที่ดีงามแก่ชีวิตของเขา เราก็เลยบอกว่า
ไม่ควรจะเอาแค่เรียนรู้เพื่ออยู่รอดหรืออยู่ได้ แต่ควรเรียนรู้เพื่ออยู่ดี
เราไม่ยอมให้การเรียนรู้เพียงเพื่ออยู่รอดเป็นการศึกษา เราก็ขอให้คำจำกัดความว่า “การศึกษานั้นเป็นการเรียนรู้เพื่ออยู่ดี” เพื่อให้ชีวิตได้เป็นอยู่ดี ก็ดี ดีก็ดียิ่งขึ้นก็เลยกลายเป็นการพัฒนาชีวิตขึ้นไป เพราะฉะนั้นการศึกษาก็มีความหมายนอกจากเรียนรู้ ก็เป็นการพัฒนาชีวิตไปด้วย มนุษย์เรียนรู้ก็พัฒนาชีวิตไป ทีนี้ที่เขาเรียนรู้เพื่อจะมาอยู่รอดอยู่ดีอะไรต่างๆ นี่ มองในแง่หนึ่งลึกลงไปก็มองว่าก็เป็นการสนองความต้องการของเขา ที่เขาจะอยู่รอดเรียนรู้เพื่ออยู่รอด อย่างน้อยเขาก็มีความต้องการที่จะอยู่รอด ซึ่งต่อไปต้องการจะเป็นอยู่ดี เราก็บอกว่ามนุษย์จะต้องพัฒนาความต้องการด้วย นี่เป็นศัพท์สำคัญอย่างยิ่งที่คนไม่ค่อยนึกถึง คือ ศัพท์ว่า “ความต้องการ” เราจะต้องพัฒนาความต้องการว่าไม่ใช่แค่ให้คุณต้องการแค่อยู่รอดนะ คุณจะต้องต้องการอยู่ดีด้วย ตอนนี้มนุษย์ก็มีอยู่ แต่จะทำยังไงที่เราจะพัฒนาความต้องการที่จะอยู่ดีหรือมีชีวิตที่ดี ตอนนี้แหละ เราก็จะเข้าสู่การศึกษา ก็เป็นการเรียนรู้เพื่อให้อยู่ดีและดียิ่งขึ้นไป ก็เป็นการพัฒนาชีวิตนี้
[13:50] ที่นี้ก็มาให้ความสำคัญที่เรื่องความต้องการ จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญมากในเรื่องปรัชญาการศึกษาที่จะเป็นจุดแยกต่าง เรื่องความต้องการ เราไปดู แม้แต่เรื่องระบบสังคม ระบบการเมือง ระบบอะไรต่ออะไรทั้งหมด ในที่สุดแล้วก็กลายเป็นว่า ลึกลงไปก็คือจับที่ความต้องการ อย่างลัทธิเศรษฐกิจ ทางตะวันตกก็บอกว่า มนุษย์มีความต้องการที่ไม่สิ้นสุด หรือไม่รู้จักพอนั่นเอง นี่ก็อันหนึ่ง หรืออย่างลัทธิปัจเจกชนนิยม หรือ Individualism ในที่สุดก็เป็นการที่จะต้องมาสนองความต้องการของบุคคล พอมองความต้องการของบุคคล ตรงนี้เป็นจุดสำคัญมากว่าความต้องการนั้นเป็นอย่างไร อย่างลัทธิปัจจุบันที่ครอบงำโลกอยู่ เป็นอันว่าลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์นั้นก็เบาลงไปแล้ว อิทธิพลน้อยลง ก็เสรีนิยมหรือทุนนิยมเสรี หรือที่เราเรียกว่า ประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี เรียกง่ายๆ ว่าในแง่เศรษฐกิจก็คือทุนนิยมนั่นเองที่มาครอบงำโลกอยู่ แล้วทุนนิยมที่เด่นมากในปัจจุบันก็คือพวกที่เป็น Individualism ที่เป็นปัจเจกชนนิยม ปัจเจกชนนิยมในที่สุดก็คือ เนื้อแท้ลึกลงไปก็คือมุ่งสนองความต้องการของบุคคล มุ่งสนองความต้องการของบุคคล ความต้องการตัวนี้เน้นไปทางความต้องการทางเศรษฐกิจเสียมาก
เราจะเห็นได้ว่าเวลานี้ระบบสังคมปัจจุบันจะมุ่งเน้นไปทางเศรษฐกิจ ซึ่งสืบลึกลงไปถึงเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต สังคม อะไรเยอะแยะ แม้แต่ความสุข ก็ กลายเป็นว่ามนุษย์ต้องการความสุขจากการเสพบริโภคสิ่งทั้งหลาย ก็เลยต้องมีความต้องการแบบนี้ และสนองความต้องการแบบนี้ เพราะฉะนั้นลัทธิปัจเจกชนนิยมก็มุ่งสนองความต้องการของบุคคลให้มีเสรีภาพเต็มที่ ออกไปทางเศรษฐกิจ ออกไปทางธุรกิจ ในการที่จะทำกิจการต่างๆ ได้เต็มที่เพื่อสนองความต้องการของบุคคลนั่นเอง ความต้องการนี่เป็นศัพท์ที่สำคัญอย่างยิ่ง เรากลับไปมองดูที่ว่าชีวิตเริ่มต้นมา มันอยากจะอยู่รอดหรืออยู่ดีก็เพื่อสนองความต้องการ ทีนี้สนองความต้องการมันไม่ใช่เพียงความต้องการเสพบริโภคเฉยๆ ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานก็เพื่อให้เป็นอยู่รอดเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะได้กินได้เสพอะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ว่ามันมีอันหนึ่งที่อยู่ในนั้นก็คือความต้องการมีชีวิตที่ดี อันนี้แหละที่เราไม่ค่อยมอง
[16:42] เพราะฉะนั้นที่เป็นลัทธิที่สนองความต้องการของบุคคลนี้ เราอาจจะต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ เรายอมรับได้ว่า ถูกต้องที่เราสร้างระบบเศรษฐกิจ การเมือง ระบบสังคมอะไรต่างๆ คุณบอกว่าให้สนองความต้องการของบุคคล เราก็ยอมรับได้ แต่เราตีความคำว่า “ความต้องการ” ไม่เหมือนกัน เขาตีความคำว่าความต้องการ หรือ ความต้องการของบุคคล ในแง่ของความต้องการส่วนตนที่จะได้สิ่งที่มาเสพบริโภคอะไรต่างๆ ความต้องการที่จะมีผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ต้องการต่อไปถึงความยิ่งใหญ่ การมีอำนาจ ความเด่น ความมีฐานะในสังคมต่างๆ เหล่านี้ จนกระทั่งสนองความคิดแนวความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งระบบนี้ทางพระเรียกว่า สนองตัณหามานะทิฏฐิ นี่ก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งถ้ามนุษย์เดินทางในแนวนี้แล้ว เขาก็จะขัดแย้งกัน เพราะแต่ละคนต้องการให้มากที่สุด ต้องการเป็นใหญ่ ต้องการอำนาจ ต้องการที่จะยึดติดในทิฏฐิ แนวคิดของตนเอง จะต้องให้เป็นอย่างที่ตัวคิด ตัวเห็น ตัวเชื่อ ในที่สุดก็เกิดความขัดแย้งกันตั้งแต่ระหว่างบุคคล ไปจนกระทั่งถึงชุมชนระหว่างในสังคมประเทศชาติ เป็นสงครามโลกก็เกิดจากสังคมแบบนี้การแย่งผลประโยชน์
การแย่งอำนาจ การยึดถือในอุดมการณ์ ในลัทธิศาสนา นี่เป็นตัณหามานะทิฏฐิหมด ถ้าหากว่าเรามาสนองความต้องการของบุคคลในแง่นี้แล้วมันก็จะออกมาในรูปนี้ ถ้าเรามองไปว่าชีวิตบุคคลนั้น ชีวิตที่แท้ก็คือตัวเขาในแง่ชีวิต มันไม่ได้มีแต่ความต้องการในแบบที่ว่า ความต้องการที่เป็นพื้นฐานที่เราต้องการสนับสนุน เป็นความต้องการที่สอดคล้องกับการศึกษา หรือเป็นเนื้อตัวของการศึกษา ก็คือความต้องการที่จะพัฒนาชีวิต หรือการมีชีวิตที่ดี ซึ่งถ้าเราจับได้ว่า ที่แท้แล้วชีวิต บุคคลต้องการมีชีวิตที่ดี แล้วเราพยายามจะสนองความต้องการนี้ มันจะเปลี่ยนหมดเลย ทำยังไงเราจะจัดอะไรทุกอย่างมาเพื่อสนองความต้องการของชีวิตอันนี้ ชีวิตมีความต้องการที่จะพัฒนา มีชีวิตที่ดี เป็นอยู่ดี แล้วศักยภาพของมนุษย์นี้จะมีมากด้วย เมื่อพัฒนาความต้องการนี้ขึ้นไปแล้ว ก็จะเจริญพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แม้แต่ความสุขก็เปลี่ยน
[19:19] เราจะเห็นว่าการศึกษานี้ พอเรามองในแง่สนองความต้องการของมนุษย์มันเป็นการพัฒนาทุกด้าน เราจะพูดว่า การศึกษาคือการพัฒนาความสุข ก็ถูก เพราะว่าพอความต้องการเปลี่ยนไป ความสุขก็เปลี่ยน เพราะความสุขนั้นโดยเนื้อแท้สาระของมัน ก็คือการได้สนองความต้องการ พอเรามีความต้องการอะไร เราสนองความต้องการนั้น เราก็เกิดความสุข ถ้ามนุษย์มีความต้องการแบบเดียว ต้องการเสพ ต้องการบริโภค ต้องการได้ ต้องการเอา ก็ต้องให้เป็นอย่างนั้น สนองความต้องการอย่างนั้นแล้วก็จะมีความสุข ทีนี้ถ้าไม่ได้สนองความต้องการนั้นก็เป็นความทุกข์ แต่ถ้าเราพัฒนาความต้องการของมนุษย์ขึ้นมาให้ถูกทาง เขาก็จะมีความสุขชนิดใหม่ นี่เป็นหลักธรรมดาที่มนุษย์มีอยู่แล้ว
แต่บางทีเพราะการพัฒนา แม้แต่การศึกษาที่พูดได้ว่าผิด ไปเน้นเรื่องการสนองความต้องการที่ผิดด้านเดียวนั้น แล้วก็เลยกลบบังความต้องการที่ดีงามที่พระแยกไว้ว่าความต้องการของมนุษย์มีสองด้าน คือความต้องการที่เป็นอกุศล ที่ไม่ดี กับความต้องการที่เป็นกุศล เรียกว่า เราอยากได้อะไรต่อมิอะไรมาเพื่อเสพบริโภค นี่ก็เป็นด้านหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งก็คือความต้องการให้มันดี และความต้องการทำให้มันดี อันนี้เราจะเติมก็ได้ว่า ความต้องการให้มันดีของมัน ทำยังไงล่ะ เช่นว่าเราไปเห็นต้นไม้ มันงาม มันมีใบดกเขียวขจี มีดอกสวยงาม มีผลดก เราก็ชื่นชม เราไม่ได้นึกในแง่ว่าจะกินหรอก เราไปเห็นว่ามันมีความงามของมัน อยู่ตามธรรมดาของมัน และเราพอเห็นว่ามันเหี่ยวมันเฉา หรือเห็นต้นอื่นเหี่ยวเฉา เราก็อยากทำให้มันงามมันดีสมบูรณ์ของมัน ไม่ใช่ของเรานะ เราก็อยากให้มันดีงามมัน แล้วพอมันไม่ดี ไม่งาม ไม่สมบูรณ์ เราก็อยากทำให้มันดีของมัน อยากทำให้มันงามของมัน อยากทำให้มันสมบูรณ์ของมันเอง อย่างนี้ท่านบอกว่าเป็นตัวอย่างของความต้องการที่เป็นกุศล
ทีนี้ถ้าเราไปเห็นสิ่งธรรมชาติ วัตถุอย่างนั้นแล้ว เห็นถนนหนทาง เราก็อยากให้มันงามของมัน อยากให้มันสะอาดของมัน พอเราเห็นเพื่อนมนุษย์ เราก็อยากให้คนนี้ เช่น เด็กคนนี้หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส หน้าตาสดชื่น มีกำลังแข็งแรง อย่างนี้ก็อยากให้ดีของเขา อย่างนี้ความปรารถนาดีต่อมนุษย์ที่อยากให้เขาเป็นสุข เราเรียกว่าเป็น เมตตา อย่างนี้มนุษย์มีอันนี้อยู่ เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้ว อย่างในครอบครัวเด็กเกิดมา พอเรามีลูก เราก็อยากให้เขามีความสุข ซึ่งเราอยากให้เขาดีของเขา ให้เขาเป็นสุขของเขา ตอนนี้ไม่ใช่ว่าเราจะได้เสพได้บริโภคอะไรเลย ความต้องการอันนี้เป็นความต้องการที่ทางพระเรียกว่าเป็นกุศล ซึ่งจะพัฒนาได้ แล้วมันจะไม่มีที่สิ้นสุดเลย และตอนนี้มนุษย์จะพัฒนาทุกอย่างเลย ถ้าต้องการเสพบริโภคนี่ไม่มีทางพัฒนา เพราะว่าเขาจะติดกับการเสพบริโภค ต้องเป็นฝ่ายรับการบำรุงบำเรอ แล้วเขาจะไม่อยากทำอะไรเลย เขาต้องการเสพบริโภค ก็เป็นฝ่ายรับการบำเรอผัสสะ ต้องรอรับการบำเรอผัสสะ แต่ทีนี้สิ่งทั้งหลายมันไม่มีให้มาที่จะบำเรอจะทำยังไง เขาก็เกิดความทุกข์ ที่นี้ก็ต้องหาทางให้ได้สิ่งบำเรอมา มาเสพ มาบริโภค มาสนองความต้องการของผัสสะของตัวเอง ก็เลยเกิดเป็นเงื่อนไขว่าต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วไม่มีจะเสพ แต่การกระทำนั้นเป็นเงื่อนไขเพียงเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมาเสพเท่านั้น
[23:32] เมื่อความต้องการนั้นเป็นเงื่อนไข การจะทำนั้นไม่เป็นเหตุของผลที่เขาต้องการ การกระทำนั้นก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นระบบนี้เรียกว่าเป็นระบบเงื่อนไข ก็เลยเป็นปัญหาว่าคนอยากได้โดยไม่ต้องทำ ก็มีความทุกข์ ถ้าเข้าสู่ยุคเสพบริโภคแล้วเขาจะไม่มีความต้องการจะทำ เพราะฉะนั้นก็ทำด้วยความรู้สึกจำใจจำยอม ก็เลยมีความทุกข์ เกิดปัญหามาก มีการเลี่ยงหลบ หาทางเลี่ยง ต้องตั้งระบบควบคุมกัน วุ่นวายกันไปหมด แต่ทีนี้ถ้าเรามีความต้องการที่ถูกต้องตามธรรมชาติที่เป็นฝ่ายดี ฝ่ายกุศล เราก็ต้องการ 1. เรามองว่าเราอยากให้สิ่งนั้นมันดีของมัน เราก็มีจุดมุ่งหมายแล้ว ไอ้ที่ว่าดีของมันคืออย่างไร เช่นว่า เราอยากให้ต้นไม้นี้สมบูรณ์งดงาม มีใบดกเขียวขจี มีดอกสวยงาม อะไรต่างๆ มีผลดี จุดหมายของเราก็ทำยังไงล่ะ มันยังไม่ดี เราก็ต้องทำให้มันดี อยากทำให้มันดีของมัน เราก็เลยต้องเรียนรู้ ต้องหาความรู้อีกว่าต้องทำยังไงมันจึงจะดี จะงาม จะสมบูรณ์ อย่างต้นไม้นี่แหละ
เราก็เลยจะมาเรียนรู้วิธีที่จะมาทำให้มันดี ตอนนี้เราก็เกิดความอยากรู้ขึ้นมาเอง จาก ฉันทะ ที่อยากทำให้มันดี เพราะอยากรู้ ความอยากรู้อันนี้ทำให้เราหาความรู้ด้วยความสุข การหาความรู้ก็เป็นความสุข เพราะตอนแรกอยากทำให้มันดี หาความรู้มาได้แล้วที่นี้ก็มาทำ จะรดน้ำพรวนดิน ไปขุดดินยังไง เหน็ดเหนื่อยก็ไม่ทุกข์เลย เพราะว่าทำด้วยความปรารถนา ผลที่ต้องการที่มันตรงตามเหตุปัจจัย เพราะการกระทำของตัวเองนั้นเป็นเหตุปัจจัยโดยตรงของการบรรลุจุดหมาย ก็คือความดีงาม ความสมบูรณ์ของต้นไม้นั้น ฉะนั้นการกระทำตอนนี้ก็เป็นสุข มนุษย์ก็พัฒนาทุกอย่าง 1. พัฒนาปัญญา การหาความรู้ เป็นต้น การแก้ปัญหา การพัฒนาทักษะ เลยพฤติกรรม จิตใจเข้มแข็ง จิตใจมีความใฝ่ในความดีงาม ความสดชื่น มีวินัย มีระเบียบ มีความอดทนต่างๆ เหล่านี้ ก็เลยพัฒนาหมดเลย
ฉะนั้นการพัฒนาความต้องการที่ถูกต้องอย่างเดียวก็นำมาซึ่งการพัฒนาทุกอย่าง
แล้วความสุขก็เปลี่ยนไป ก็คือเขาไม่ต้องสุขจากเสพ ไม่จำเป็นว่าต้องได้สิ่งนั้นมาเสพ ตอนนี้ไม่ต้องเสพหรอก ไปเห็นต้นไม้มันงามดีก็สุขแล้ว เพราะว่ามันสมใจตัวเองแล้ว นี่คือความต้องการที่เป็นกุศลที่ท่านเน้นที่สุดในการพัฒนามนุษย์ จุดสำคัญอยู่ที่ความต้องการนี่เอง เพราะฉะนั้นเรายอมว่าเป็นการพัฒนาความต้องการของปัจเจกชนก็ได้ แต่คุณต้องพัฒนาให้ถูกนะ ให้เป็นการพัฒนาความต้องการที่เป็นกุศล แล้วพัฒนาคนก็คือพัฒนาให้เขาเดินไปในทางของการสนองความต้องการนี้ การพัฒนาความอยากรู้ การพัฒนาการสร้างสรรค์ มันตามมาหมดเลย แล้วทุกอย่างจะทำด้วยความสุขหมด แล้วการพัฒนาสิ่งรอบด้านก็เป็นไปเอง เพราะว่าสิ่งที่เขาอยากให้มันดีนี่มันไม่ใช่เรื่องตัวเขาเองแล้ว ก็อยากให้ทุกอย่างดี แม้แต่ชีวิตของเขา เขาก็อยากในแนวของความต้องการที่เป็นกุศล อยากให้ต้นไม้งาม อยากให้ธรรมชาติท้องฟ้าดี อยากให้ถนนหนทางงดงาม สะอาดเรียบร้อย เป็นระเบียบ อยากให้ทุกอย่างมันดีของมัน
[27:06] ตอนนี้ก็เป็นอันว่าแยกระหว่างความต้องการ 2 ประเภท ความต้องการที่เป็นอกุศล ท่านเรียกว่า ตัณหา ส่วนความต้องการที่เป็นกุศล ท่านเรียกว่า ฉันทะ ฉันทะก็คือความอยากให้มันดีของมัน อยากทำให้มันดีของมัน ไม่ใช่ของเรา ทีนี้ก็ได้สนองความต้องการนี้ก็เป็นความสุขนั่นเอง มนุษย์ก็จะพัฒนาความสุข พอเราพัฒนาฉันทะต่อเพื่อนมนุษย์ ก็คืออยากให้เขาแข็งแรง อยากให้เขาหน้าตาสดชื่นผ่องใส อยากให้เขาดีของเขา ความอยากให้เขาดีของเขาที่เป็นฉันทะต่อมนุษย์นี้ ท่านก็แยกออกไป กระจายออกไปว่า สำหรับมนุษย์ ท่านให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
ฉันทะที่มีต่อมนุษย์ ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ เขาอยู่เป็นปกติก็อยากให้เขาดี เขาเป็นสุขของเขา ท่านเรียกว่า เมตตา พอเขาตกทุกข์ ตกต่ำเดือดร้อน เราก็อยากให้เขาพ้นจากความทุกข์ขึ้นมา สู่สถานะสภาพที่มีความดีงาม ความสุข ก็เรียกว่า กรุณา พอเขาได้เจริญงอกงาม มีความสุขดี มีความสำเร็จดี เราก็พลอยชื่นใจ พลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุน อันนี้ท่านเรียกว่า มุทิตา ฉันทะสำหรับมนุษย์จึงแยกเป็น 3 อย่าง รวมแล้วก็คือ ความต้องการที่เป็นกุศลนี้เอง ถ้ามนุษย์มีความต้องการที่เป็นกุศลนี้ได้ แน่นอนเลยว่าพฤติกรรมการกระทำอะไรต่างๆ ความคิดของเขาก็มาสนองความต้องการนี้หมดเลย การพัฒนาชีวิตของตัวเอง การพัฒนาสังคม มันไปดีด้วยกันมันกลมกลืนหมดเลย ความต้องการแบบนี้จะประสานกลมกลืนระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อมและสังคมได้หมดเลย แล้วความสุขของผู้อื่นก็เป็นความสุขของตนเอง
แต่ถ้ามีความต้องการแบบอกุศล ฉันได้ฉันเสพ--คนอื่นอด ฉันต้องแย่งเขา ฉันได้สุข3-คนอื่นได้ทุกข์ ถ้าฉันได้--คนอื่นอด ถ้าคนอื่นได้--ฉันอด ถ้าเขาสุข--ฉันทุกข์ ฉันสุข--เขาทุกข์ แต่พอมีฉันทะขึ้นมา อยากให้เขาดี อยากให้เขาเป็นสุขนี่ เออ... ต้องทำให้เขาเป็นสุขก่อน พอทำให้เขาเป็นสุขได้สมใจ เขาสุข ฉันก็สุขด้วย ก็เป็นความสุขที่กลมกลืน อันนี้การพัฒนาความต้องการอย่างเดียวก็นำมาสู่การพัฒนาทุกอย่างแม้แต่ความสุขด้วย เราจึงจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดในเรื่องความต้องการนี้ แม้จะใช้ลัทธิ Individualism ก็ให้เป็นการสนองความต้องการในการพัฒนาชีวิตของมนุษย์นี้เองที่เรียกว่าเป็นความต้องการที่เป็นกุศล แม้ต่อไป กว้างออกไป มาถึงการพัฒนาสังคม มาถึงยุคข่าวสารข้อมูล ยุคไอทีต่างๆ เราบอกว่า Information society เป็นสังคมข่าวสารข้อมูลไม่พอไม่ถูกหลอก
การได้ information ไม่แน่ว่าได้ความรู้ได้ปัญญา ต้องเป็น Knowledge society
ก็เลยต้องมีศัพท์ใหม่ขึ้นมา เป็น สังคมแห่งความรู้ สังคมแห่งความรู้ ถ้าเรายังเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ แล้วมองความต้องการเป็นความต้องการแบบแรก แม้แต่เป็น Knowledge society การแสวงหาให้มี knowledge มันก็มีความโน้มเอียงที่จะไปสนองความต้องการแบบที่หนึ่งอีกแหละ เป็น Knowledge society จริง มีความต้องการให้เขาเปลี่ยน information เป็น knowledge เป็นความรู้ แต่เขารู้เพื่อจะมาสนองความต้องการของตนเอง ในที่สุดมันก็ไม่พ้นเรื่องการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ปัญหาก็ไม่จบ ถ้าหากว่าเราเข้าใจเรื่องการสนองความต้องการให้ถูกต้องแล้ว Knowledge society ก็จะมาสนองความต้องการที่ถูกต้อง ที่เป็นกุศลนี้ เราก็มี knowledge ขึ้นมา เพื่อจะได้ knowledge นั้นมาสนองความต้องการที่เป็นกุศลหรือที่ถูกต้องในการที่จะทำสิ่งทั้งหลายให้มันดีของมัน ถ้าเป็นอย่างนี้มันก็จะเดินหน้า ความสุขของเราก็จะพัฒนาไปด้วย
[31:09] ในทางธรรมะถือว่า ความสุขมีมากมายหลายชั้นเหลือเกิน และข้อสำคัญ มนุษย์เราต้องการอิสรภาพด้วย ถ้ามนุษย์มีความต้องการแบบต้น มันต้องได้ต้องเอามาเสพ ความสุขก็ต้องเสพ เสพก็ต้องเอาของภายนอกมา ของภายนอกจะมีหรือไม่มีก็ไม่แน่ เราก็ต้องคอยหาให้มันมี นอกจากแย่งชิงกัน ก็คือว่าเราก็เอาความสุขของเรานี่ไปฝากไว้กับสิ่งภายนอกเหล่านั้น มนุษย์ก็ไม่รู้ตัวว่าความสุขของตัวนี้ได้เกิดกลายเป็นความสุขแบบพึ่งพา มนุษย์ยุคนี้ยิ่งเป็นบริโภคนิยม ก็ยิ่งฝากความสุขไว้กับสิ่งเสพบริโภคภายนอกมากขึ้น ความสุขของเขาก็เป็นความสุขแบบพึ่งพามากขึ้น ก็ยิ่งหมดอิสรภาพ แต่ก่อนเกิดมานี้ ยังไม่ต้องมีอะไรมากมาย ยังหัวเราะ สนุกสนานได้ ต่อมาไม่มีอะไร ขาดนิดหน่อย กลายเป็นความทุกข์แล้ว ตอนต้นก็ต้องการน้อยหน่อย มีพันนึงก็สุขแล้ว คิดว่าถ้ามีแสน เราจะแสนจะสุขเต็มที่เลย ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว ต่อมาพอมีแสน ตอนแรกก็สุขจริง ต่อมาก็ชักจะชิน ชักเบื่อหน่าย แสนไม่พอ แสนไม่พอต้องล้าน พอหาตามต้องการได้ สำเร็จก็มีความสุข ต่อมาเกิดวันไหนได้แสนหรือได้พัน ที่ว่าเคยสุขก็เป็นทุกข์เลย ตอนที่ตัวมีเป็นล้าน ได้มาพันนึง ตอนนี้ทุกข์แล้ว แต่ก่อนตอนได้พันใหม่ๆ นี่แสนจะสุข อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นความต้องการแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งลัทธิเศรษฐกิจอะไรต่ออะไรในปัจจุบันก็ยอมรับ แต่มันมาสัมพันธ์กับความสุขนี้ด้วย
ความสุขแบบนี้ในแง่หนึ่งก็คือเป็นความสุขแบบพึ่งพา ความสุขขึ้นต่อสิ่งเสพภายนอก ถ้าไม่มีแล้วอยู่ไม่ได้ มีความสุขไม่ได้ ก็ไม่เป็นอิสระสิ อย่างนี้มนุษย์ก็พัฒนาในแบบนี้... ไม่ไหวแล้ว พัฒนาไปสู่การสูญเสียอิสรภาพ แล้วยิ่งเขาต้องพึ่งพามากขึ้น เขาก็สุขยากขึ้น มนุษย์ในยุคนี้จึงต้องมีสิ่งเสพบริโภคมากขึ้น ต้องเพิ่มปริมาณและดีกรีด้วย แต่ก่อนนี้ดีกรีของสิ่งสนองความต้องการขนาดนี้ก็สุข ต่อมาขนาดนั้นไม่สุขแล้ว กลายเป็นทุกข์ไป เพราะเบื่อหน่าย ไม่เพียงพอ อย่างนี้ไม่สิ้นสุด ไม่มีทาง สังคมนี้ต้องยับเยินแน่นอน ก็สนองความต้องการกันไป ไม่เพียงพอสักทีหนึ่ง ความสุขก็ต้องพึ่งพา ตัวเองก็ทุกข์ง่ายขึ้น สุขยากขึ้น เวลาสุขยากขึ้นก็จะทุกข์ง่ายขึ้นด้วย ขาดอะไรนิดหน่อยก็ทุกข์แล้ว ได้น้อยไปก็ทุกข์แล้ว อะไรต่ออะไรนิดหน่อยก็ทุกข์หมด
เด็กสมัยนี้ได้ข่าวว่าไม่ค่อยมีความอดทน ทำอะไรก็ไม่ได้ ก็เพราะเขาไม่ได้พัฒนาความต้องการที่เป็นกุศล ที่อยากทำให้มันดีเลย ต้องการจะเสพอย่างเดียว ไม่ต้องการจะทำ เมื่อไม่ต้องการจะทำพอทำแล้วก็เป็นทุกข์ ต่อไปพอเสพไม่ได้อย่างที่ต้องการจึงทุกข์ง่ายขึ้น ก็เลยเป็นลักษณะของสังคมในยุคปัจจุบัน คือ
แสดงว่าเราพัฒนาผิดทางแน่นอน ต้องแก้ไขแล้ว ถ้าเป็น Knowledge society ก็ต้องเป็น Knowledge society ที่มาสนองความต้องการของบุคคลประเภทที่เรียกว่าเป็นความต้องการที่ดีงาม ถูกต้อง หรือที่เป็นความต้องการที่เป็นกุศล ถ้าอย่างนี้เราจะเดินหน้าได้ตลอดเลย Knowledge society ก็ไม่เสียหาย แล้วในที่สุดเราก็กลับไปสู่เรื่องของความเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดอยู่ที่ไหน ก็คือกลับไปสู่ความต้องการของเขา นี่แหละที่จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ได้สูงสุด และทำให้ศักยภาพของมนุษย์เกิดผลดีที่สุดต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อโลก ต่อสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างทุกประการ
ตอนนี้ให้เรามาดูว่าความต้องการของมนุษย์มันมีความต้องการอันนี้ด้วยความต้องการที่อยากให้มันดี อยากทำให้มันดีของมัน อันนี้สำคัญนักเลย แล้วมนุษย์มีคุณสมบัติพิเศษอันนี้ ทีนี้เราก็มองกว้างออกไป...