แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พูดเรื่องการพัฒนาความสุข แต่ว่าจะพูดเป็นเชิงวิชาการสักหน่อย เมื่อพูดเป็นเชิงวิชาการก็อาจจะน่าเบื่อสักนิด ก็ทนฟัง ทนฟังเพราะว่า การทนฟังเรื่องวิชาการนี่จะเป็นประโยชน์ในแง่ว่า เอาเป็นเนื้อหาสาระมากๆ หน่อย เรื่องการพัฒนาความสุข ก็แสดงว่าความสุขนี้พัฒนาได้ ก็จริงเป็นเรื่องที่พัฒนาได้ เพราะว่าความสุขนี้ เมื่อเกิดขึ้นอย่างถูกต้องแล้ว จะเป็นคุณสมบัติในใจของคน ทีนี้เราพัฒนาคนได้ เมื่อพัฒนาคนได้ ความสุขที่เป็นคุณสมบัติในใจของคนนี้ ก็ต้องพัฒนาได้ด้วย ก็ทำให้เรามีความหวังว่า ความสุขนี้เป็นสิ่งที่เพิ่มได้ ทำให้มีขอบเขตกว้างขวางออกไป หรือจะเรียกว่าลึกซึ้งขึ้นไปก็แล้วแต่ นั่นก็อย่างหนึ่งและอีกอย่างหนึ่งการพัฒนาความสุขนี้ จะเป็นที่น่าสังเกตว่าพัฒนาไปแล้วนี้ มันจะทำให้ชีวิตก็ดีขึ้นด้วย คือชีวิตของตัวเรา เช่นว่ามีคุณธรรมความดีอะไรต่างๆ เพิ่ม ซึ่งบางทีคนทั่วไปอาจจะมองไม่เห็น เรื่องความสุขนี่มันจะมาสัมพันธ์กับความดีได้ยังไง บางทีเรามองว่าความสุขนี่ มันต้องตรงข้ามกับความดี คนหาความสุขมันต้องทำให้ทำอะไรต่ออะไรที่อาจจะเห็นแก่ตัว เมื่อเห็นแก่ตัวมันก็ไม่ดี ทำไมความสุขเพิ่ม ทำไมมันจะคุณธรรมเพิ่มด้วย นี่ก็เป็นแง่คิดอันหนึ่ง ทีนี้ความสุขที่เพิ่มนั้น ไม่ใช่หมายถึงว่าเพิ่มเฉพาะตัวเอง เมื่อเพิ่มความสุขขึ้นในตัวแล้ว มันยังมีความหมายว่าทำให้ชีวิตของเราเกื้อกูลต่อผู้อื่นด้วย หรือทำให้โลกอยู่ร่วมกันมีสันติสุขยิ่งขึ้น ก็นี่ก็น่าแปลกอีกแหละ เพราะว่าถ้าความสุขนั้นเราแสวงหาให้แก่ตัวเอง ด้วยความเห็นแก่ตัว มันก็ต้องเบียดเบียนกันเพิ่มขึ้น แต่นี่บอกว่าเมื่อพัฒนาความสุขไป กลับกลายเป็นว่า เป็นการที่ทำให้โลกมีสันติสุขยิ่งขึ้น เป็นไปได้อย่างไร อันนี้ก็ตอบง่ายๆ ว่าเป็นไปได้ เพราะว่าเราสามารถพัฒนามันได้นั่นเอง มันก็เลยกลายเป็นสิ่งที่แทนที่จะต้องแย่ง ต้องชิง เบียดเบียนกัน แล้วก็แทนที่ว่าจะเป็นการเห็นแก่ตัว มันกลับกลายเป็นเรื่องดีขึ้นได้ อันนี้ตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก่อน แล้วดูว่าการพัฒนาความสุขนี้ มันจะทำให้เกิดผลนี้ได้อย่างไร
ทีนี้ก็ความสุขเป็นเรื่องที่คู่กับความทุกข์ เมื่อพูดถึงสุข ก็เลยต้องพูดถึงความทุกข์ไว้ด้วย เพราะว่าเราจะเข้าใจสุขอย่างเดียวไม่ได้ โดยไม่เข้าใจเรื่องทุกข์ และการที่จะพัฒนาความสุข ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญญาด้วย เราต้องมีความรู้เข้าใจมัน รู้จักทุกข์ รู้จักสุข อย่างน้อยก็รู้จักว่า เราควรจะวางท่าทีอย่างไรต่อมัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน สุข ทุกข์ เราควรมีท่าทีอย่างไร เริ่มด้วยทุกข์เสียก่อนเลย ทุกข์นี้มันมายังไง เดิมมันก็เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ คือความเป็นไปในสิ่งต่างๆ สิ่งทั้งหลายรอบตัวเราทั้งหมด รวมทั้งตัวเราเองด้วย ชีวิตและโลกทั้งหมด ตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ อันนี้แน่นอนทุกคนย่อมรู้ เมื่อตกอยู่ใต้กฎธรรมชาตินี้ กฎธรรมชาติอะไรที่เด่น ก็คือ ความเปลี่ยนแปลง ที่เราเรียกว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้ว ก็ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป อาการที่มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป แล้วมันก็อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เราเรียกว่าความเปลี่ยนแปลง แล้วการที่มันเปลี่ยนแปลง มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน คือ เป็นเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผล มีเหตุเกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดผลขึ้น การเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนจากเหตุไปสู่ผลนั้น ฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่โยงเป็นอันเดียวกันไปหมด คือ เรื่องความไม่เที่ยง ก็มีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย นี่คือ หลักพุทธศาสนาที่สำคัญ เราเรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังก็ไม่เที่ยง ทุกขังก็ตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ก็คือ ต้องแปรปรวนไป หรือว่าเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้น อนิจจัง ทุกขัง นี้แสดงอาการให้ปรากฏในลักษณะที่เรียกว่า ความเปลี่ยนแปลง แล้วก็อนัตตาก็คือ ไม่มีตัวตนที่ยืนตัวแน่นอนอยู่ คือว่า ปรากฏรูปร่างขึ้นมา ตามเหตุปัจจัยของมัน คือเป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยทำให้มันปรากฏรูปเป็นอย่างไร เราก็มองเห็นมันในลักษณะอย่างนั้น ที่เรามองเห็นสิ่งทั้งหลายนี่ มองเห็นตามเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังมัน เหตุปัจจัยมันเปลี่ยนแปลงไป รูปร่างที่ปรากฎก็เปลี่ยนไปด้วย อันนี้เรียกว่ากฎธรรมชาติ ทีนี้กฎธรรมชาตินี้ที่เด่นชัดก็อย่างที่ว่า ก็ความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง เรื่องเหตุปัจจัยอะไรต่างๆ นี่เป็นเรื่องที่สืบ ต้องใช้ปัญญา แต่สภาพที่เห็นก็คือเปลี่ยนแปลง สภาพที่เปลี่ยนแปลงของธรรมชาตินี้ ซึ่งมีผลต่อชีวิตและโลกทั้งหมด อย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ว่า ตัวเรา ชีวิตของเราก็อยู่ใต้กฎธรรมชาตินี้ พอเราตกอยู่ใต้กฎธรรมชาตินี้ มีความเปลี่ยนแปลงไป มันก็เกิดผลขึ้นมาซ้อนสองชั้น คือว่าอย่างชีวิตร่างกายของเราก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ร่างกายของเราเกิดมา เราก็เจริญเติบโต แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงจากเด็กมาเป็นหนุ่ม เป็นสาว แก่เฒ่าชรา หรือแม้แต่ว่าส่วนประกอบย่อยๆในชีวิตร่างกายของเรา ผมของเราเดี๋ยวตัดไปแล้ว เดี๋ยวมันก็งอกยาวขึ้นมาใหม่ ยาวขึ้นมาแล้ว เราก็ต้องตัดกันอีก อะไรอย่างนี้นะ ก็นี่ก็เรื่องของความเปลี่ยนแปลง นี่ก็ส่วนหนึ่งแล้ว ในด้านสภาพที่ปรากฏตัวชีวิตร่างกายของเรา ก็เป็นไปกฎธรรมชาติ แต่ที่หนักลึกเข้าไปกว่านั้น ก็คือว่า พอมันเปลี่ยนแปลงไป มันมีผลในทางจิตใจ คือ จิตใจของเรานี้ บางทีเราไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น เราอยากให้บางอย่างมันคงอยู่ ที่เราชอบใจเราก็อยากให้คงอยู่ แต่มันไม่ยอมคงอยู่ มันเปลี่ยนแปลง อันนี้กฎธรรมชาติ มันก็ฝืนความปรารถนาของเรา พอมันฝืนความปรารถนาของเรา เราไม่ชอบใจ เราก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความทุกข์ หรือว่าเราอยากให้ไปอีกอย่างหนึ่ง เปลี่ยนไปทางหนึ่ง เราอยากให้เปลี่ยนเหมือนกันนะ คนเราไม่ใช่อยากให้อยู่นิ่งตายตัวหรอก เราก็อยากให้เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน แต่ว่าเราอยากให้เปลี่ยนแปลงไปแบบหนึ่ง เสร็จแล้วมันไปเสียอีกทางหนึ่ง ก็ฝืนความปรารถนาอีก ฉะนั้นเราก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าทุกข์
ฉะนั้น จากกฎธรรมชาติที่สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป อะไรต่างๆ เหล่านี้ มันมีผลต่อชีวิตจิตใจของเรา ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยตรงก็คือว่า ชีวิตร่างกายของเราก็เปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาติ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ โดยอ้อมก็คือว่า มันมีผลต่อจิตใจของเรา ที่ว่ามันไม่ตรงใจที่เราชอบ เรามีความปรารถนาอย่างหนึ่ง มันไปเสียอีกอย่างหนึ่ง แต่รวมความก็คือว่า สิ่งที่เรียกว่าเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นความชอบใจ ไม่ชอบใจ เป็นทุกข์ในใจของเรา มันสืบเนื่องมาจากกฎธรรมชาติ การที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกฎธรรมชาตินี้แหละ มันเลยกลับมามีผลต่อจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจสองชั้นว่า ความจริงแล้วคำว่า”ทุกข์”นี้ ก็คือ อาการที่สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป สืบเนื่องมาจากอนิจจัง แล้วก็ตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ เป็นสิ่งธรรมดา มีอยู่ในโลกนี้ เราต้องรู้ความจริง และเสร็จแล้ว ขั้นที่ ๒ ก็คือ มันมามีผลต่อชีวิตจิตใจของเรา เพราะว่าชีวิตของเราอยู่ภายใต้การครองงำของกฎธรรมชาตินี้ แล้วก็เรามีจิตใจที่มีความปรารถนา ซึ่งมันอาจจะไม่ตรงกับความเป็นไปในกฎธรรมชาติ ตอนนี้ทำความเข้าใจกันเรื่องนี้ก่อน ว่าทุกข์ของเรา ที่มันเกิดขึ้นในใจ มันก็สืบเนื่องมาจากกฎธรรมชาติก่อน แล้วก็มามีผลต่อชีวิตจิตใจของเราอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะปฏิบัติให้ถูกต้อง เราจะต้องเข้าใจหลักความจริงนี้ ฉะนั้น ตอนแรกพระพุทธเจ้าจะให้เข้าใจ อย่างน้อยรู้ทันเรื่องกฎธรรมชาติ เรื่องความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา ฉะนั้น เรื่องทุกข์นี้เรารู้สองชั้นอย่างที่ว่านี้ก่อนว่า
๑ ทุกข์ คือ เรื่องของความเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตามกฎธรรมชาติ แล้ว
๒ มีผลต่อชีวิตจิตใจของเรา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และมีความปรารถนา แล้วก็อาจจะไม่ได้อย่างใจต้องการ
ทีนี้เราก็ต้องรู้จักมัน รู้เท่าทัน แล้วเราก็ พอรู้แล้ว เท่าทันแล้ว เราจะแก้ไขได้ อะไรที่ไม่รู้นี่ เราแก้ไขจัดการไม่ได้ สิ่งที่เราแก้ไขจัดการได้ก็คือ สิ่งที่เรารู้ ยิ่งรู้เท่าไร ก็ยิ่งมีความสามารถในการจัดการแก้ไขได้เท่านั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็เลยตรัส ท่าทีวิธีปฏิบัติต่อเรื่องทุกข์ไว้เป็นเบื้องแรกเลย ว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องรู้เท่าทัน หน้าที่ของเราต่อทุกข์คือ เป็นเรื่องสำหรับปัญญารู้ เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ในอริยสัจพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องทุกข์ขึ้นมาก่อน ถือว่าเป็นเรื่องต่อเชื่อมระหว่างกฎธรรมชาติกับชีวิตของเรา ชีวิตของเราก็กฎธรรมชาติต่อเชื่อมกันที่จุดนี้ ที่ว่าต้องเปลี่ยนแปลงแล้วก็จะได้ตามที่ต้องการหรือไม่ แต่ว่าสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อรู้เท่านั้นนะ ไม่ใช่เพื่อเป็นทุกข์นะ ถ้าใครไปเกี่ยวข้องกับทุกข์ โดยเป็นทุกข์ คนนั้นปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้บอกว่า ทุกขัง ปริญญายัง แปลว่า ทุกข์นั้นเป็นสิ่งสำหรับรู้ เป็นสิ่งที่จะพึงรู้เท่าทัน ศัพท์พระท่านเรียกว่า ปริญญายัง นั้น มาจากคำว่า ปริญญา ปริญญาแปลว่า รู้เท่าทัน คือ รู้ตามที่มันเป็นจริง แปลตามตัวศัพท์ คือ รู้รอบ ทีนี้เวลานี้เราเอามาใช้สำหรับการศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยว่า จบชั้นนั้น ชั้นนี้ ก็ได้ปริญญา ถ้าหากว่ามองตามความหมายของพระแล้ว ปริญญานี้ก็คือว่า ความรู้ต่อทุกข์นั่นเอง เพราะฉะนั้น ที่เรียนมาจบปริญญานี่ ต้องรู้ทุกข์นะ ถ้าไม่รู้เท่าทันทุกข์ แสดงว่ายังไม่ได้ปริญญา เพราะว่าปริญญาเป็นคำที่ท่านให้ไว้เลย ว่าเป็นหน้าที่ต่อทุกข์ รู้เท่าทันทุกข์ คือ รู้เท่าทันความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่มันโยงมาหาชีวิตของเรา แต่ที่จริงก็ถูกนะ ถ้าใครรู้ขนาดนี้แล้วก็เก่ง เป็นอันว่าตอนนี้ทำความเข้าใจกันว่า ทุกข์เป็นสิ่งสำหรับรู้ด้วยปัญญา ไม่ใช่เป็นสิ่งสำหรับเราเอาชีวิตของเราเข้าไปเป็น เพราะฉะนั้น ถ้าเราเป็นทุกข์ ก็แสดงว่าเราปฏิบัติผิด เรามีหน้าที่แค่รู้ทุกข์เท่านั้น รู้ทันมัน เพื่อจะได้จัดการกับมันได้ เอาละนะ ๑ แล้วนะเรื่องทุกข์
ทีนี้ก็จะมีวิธีปฏิบัติทั่วไปต่อทุกข์และสุขของพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้เป็น ๔ อย่าง ลองฟังไว้ให้ดี มี ๔ ข้อ พระพุทธเจ้าบอกว่า
๑ ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเรายังไม่มีทุกข์ ก็อย่าไปเอาทุกข์มาทับถมตน นี่ก็ลองฟังไว้นะ วิธีปฏิบัติต่อเรื่องทุกข์ เรื่องสุข บางคนนี่เอาทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มีทุกข์
ต่อไปประการที่ ๒ บอกว่าไม่ละทิ้งสุขที่ชอบทำ ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบทำ เพราะสุขนั้นถูกต้องชอบธรรม ไม่เสียหาย ไม่เกิดโทษ ท่านบอกว่าเราไม่ต้องไปละทิ้ง เรามีสิทธิ์ แล้วก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องด้วย ที่จะเสวยสุขที่ชอบทำ
๓ แม้ในสุขที่ชอบทำนั้น ก็ไม่หลงติดเพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่หมกมุ่นหลงเพลินในความสุขแม้ที่ชอบทำนั้น อันนี้ข้อสำคัญต่อไปนะ ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
๔ บอกว่าปฏิบัติพัฒนาตนเพื่อเข้าถึงความสุขที่ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป หมายความว่า ยังมีความสุขที่ประณีตดีกว่านี้ ไม่ใช่มีเท่านี้ เพราะฉะนั้น อย่าหยุดแค่นี้ ต้องเข้าถึงความสุขที่ประณีตขึ้นไป นี่แหละคือการที่ว่าพัฒนาความสุข ไม่ใช่หมายความ ความสุขมีเท่านี้ เรารู้จักยังไง เราก็นึกว่านี่เรามีความสุขเท่านี้ เราก็หาแต่ความสุขแบบนี้ เราก็เลยไม่รู้จัก เสียโอกาสที่จะได้ความสุขที่พิเศษยิ่งขึ้นไป
อันนี้เป็นหลักปฏิบัติใหญ่ๆ ๔ ข้อ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ก็เป็นสาระสำคัญในพระสูตรหนึ่งชื่อว่า เทวทหสูตร ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ เอาละ อาตมาก็ให้หลักการเบื้องต้นแล้ว ๔ ข้อ วิธีปฏิบัติต่อทุกข์ ต่อสุข ทีนี้ก็มาดูไปตามลำดับ ว่าสาระของเรื่องความสุขในการมีท่าที ๔ อย่าง เราต้องพัฒนาตัวให้ได้ความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป ตอนนี้จะมาดูว่ามันมีความสุขอะไรกัน ที่จะพัฒนากันได้ ก็จะขอแบ่งความสุขเป็น ๕ ระดับ ความสุขที่มนุษย์เราจะสามารถพัฒนาขึ้นไปได้ พระพุทธเจ้าบางครั้งตรัสไว้ แล้วพระอรรถกถาจารย์นับได้ถึง ๑๐ แต่ในวันนี้เอา ๕ อย่าง ๕ อย่างก็พอแล้ว
ก็เริ่มตั้งแต่ความสุขขั้นที่ ๑ ความสุขระดับที่ ๑ คือ ความสุขประเภทคนส่วนมากรู้จัก คนส่วนมากจะรู้จักความสุขประเภทที่ผิวเผิน หยาบๆ เมื่อเป็นของผิวเผิน หยาบๆ ก็มักจะเป็นรูปธรรม เป็นเรื่องวัตถุ เป็นเรื่องวัตถุก็คือ สิ่งที่เราบริโภค สิ่งที่เราเสพ ที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็เข้าไปถึงในใจอีกต่อหนึ่ง ก็ที่เรื่องตาดู หูฟัง นั่นเอง ตาเห็นรูปที่สวยงาม หูได้ยินเสียงไพเราะ จมูกได้ดมกลิ่นที่หอม และลิ้นได้ลิ้มรสที่อร่อย กายได้สัมผัสสิ่งที่นิ่มนวล ชวนชื่นใจ อะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่ความสุขประเภทนี้ เกิดจากวัตถุ เป็นสิ่งเสพภายนอก พระท่านเรียกว่า อามิส สิ่งเสพวัตถุเหล่านี้เรียกว่า อามิส ความสุขที่เกิดจากอามิส สิ่งของที่เสพนี้ ท่านเรียกว่า สามิสสุข แปลว่าสุขที่อาศัยอามิส อาศัยวัตถุ อาศัยเหยื่อ ต้องมีเหยื่อ หรือเหมือนกับปลาไปกินเหยื่อ
หรือว่าบางทีท่านก็เรียกว่า กามสุข สุขเกิดจากกาม กามนั้นหมายถึงว่า สิ่งที่มาปรนปรือหรือบำรุงบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา ท่านเรียกว่า กามทั้งนั้น เป็นความหมายที่กว้าง ไม่เหมือนในภาษาไทย คำว่า “กาม” นี้ แม้แต่ว่ารูปภาพ หรือว่าเสียงไพเราะ อะไรต่างๆ ที่ถือว่าเป็นกามทั้งนั้น เอาละนี่ก็เป็นความสุขของคนทั่วไป
มนุษย์เราเกิดมา เบื้องต้นมันเป็นธรรมดาว่าเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วเราก็ใช้กาย ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กายของเรานี้ รับรู้สื่อสารกับโลกภายนอก พอรับรู้สื่อสารแล้ว เราก็ได้รับรสของโลกไปด้วย ก็คือว่าสิ่งที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้น เรารับรู้เข้ามา เราก็ได้ความรู้สึกด้วย เลยรับความรู้สึกที่มันสบาย มันก็มีความสุข เราก็ติดใจ เราก็ชอบ เราก็แสวงหาสิ่งเหล่านี้มาเสพ ฉะนั้น ความสุขของมนุษย์ก็เกิดจากการได้วัตถุมา มาบำรุงบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กายของเรานี่แหละ ทีนี้พอไปๆ เราก็มองแต่ความสุขที่เกิดจากด้านเหล่านี้ ทีนี้ความสุขแบบนี้จะเกิดได้ ต้องมีวัตถุมาเสพ ทีนี้สิ่งเหล่านี้มันอยู่ภายนอก อยู่นอกตัว นอกตัวก็ต้องหา ฉะนั้นเรื่องของมนุษย์ตอนนี้ก็คือว่า เมื่อต้องการความสุขจากวัตถุมาเสพ และสิ่งเหล่านี้อยู่นอกตัว ก็ต้องหาให้ได้มา ก็เกิดเป็นภาระของชีวิต ก็คือการแสวงหา การแสวงหาวัตถุสิ่งเสพเหล่านี้ หาเพื่อให้ได้มา การได้จึงมีความหมายถึงการมีความสุข เพราะว่าเมื่อได้ก็จะได้เสพ จะได้บริโภค ฉะนั้น มนุษย์เมื่ออยู่ในโลกใบนี้ ท่าทีของจิตใจจะมุ่งไปในกามที่จะได้ ในการเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ เรามาดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ เราหาความสุขแบบนี้ ต่อมาเราจะมีท่าทีของจิตใจที่ฝังลึกลงไปว่าต้องได้ เราก็มุ่งในการที่จะได้ จะเอา แสวงหาเอา ให้ได้มา การได้มา ได้มาหมายถึงความสุข แม้ถ้าตรงข้าม ตรงข้ามก็คือ สละเสียไป เสียไปก็เป็นทุกข์ เพราะว่าทำให้เราไม่ได้ความสุข การได้คือ ความสุข นี่ก็เรื่องของคน ก็เลยอยู่กับเรื่องของวัตถุ นี่คือความสุขประเภทแรกของคนจำนวนมาก
ทีนี้ก็มีคำถามว่า แล้วความสุขประเภทนี้ มันก็ดีนี่นา แล้วเราจะต้องพัฒนาไปอีกหรือ ถ้าหากว่าเราต้องพัฒนาไป ก็หมายความว่า ความสุขอย่างนี้ยังไม่สมบูรณ์ คงต้องมีโทษ มีข้อบกพร่อง ก็ต้องมาพิจารณากันที่ความสุขประเภทนี้ที่ ที่ว่ามานี่ ความสุขจากการได้สิ่งเสพจากวัตถุ จากอามิส อันนี้มีข้อบกพร่องไหม มีข้อเสียอย่างไร ถ้าไม่มีข้อเสียหาย ไม่มีข้อบกพร่อง เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปพัฒนา ใช่ไหม คราวนี้เรามาดูกัน พระพุทธเจ้าบอกว่าเราเกี่ยวข้องกับสิ่งใด ต้องรู้เท่าทัน นี่ก็รู้มันตามเป็นจริง มันมีส่วนดี หรือส่วนด้อย หรือสิ่งที่เป็นคุณ หรือส่วนที่เป็นโทษอย่างไร ก็ลองมาดูกันว่า ความสุขจากอามิส จากสิ่งเสพเหยื่อล่อวัตถุนี้ มีข้อเสีย ข้อบกพร่อง หรือมีโทษอย่างไร
อันที่ ๑ เราพอจะเห็นได้ ก็คือว่า เมื่อเราหาความสุขชนิดนี้ไป บอกแล้วว่า สิ่งเสพหรือวัตถุนี้อยู่ข้างนอกตัวเรา เมื่ออยู่นอกตัวเรา มันไม่เป็นอิสระกับตัว หมายความว่าความสุขของเรานี้ ต้องขึ้นต่อมัน เมื่อเราหาไปๆ นี่ ไปๆ มาๆ นี่ ชีวิตและความสุขของเรานี้ ฝากไว้กับวัตถุภายนอก เราลองมองดู เราไม่สามารถเป็นสุขด้วยตนเอง แล้วถ้าเราไม่รู้ทันนะ ต่อไปนี้เราจะมีลักษณะที่เป็นคนหมดอิสรภาพยิ่งขึ้น นอกจากมีสติรู้ตัว นี่แหละตอนนี้ที่ว่า พระพุทธเจ้าจะสอน ก็คือว่า สิ่งเหล่านี้นั้น ถ้ามันมีโทษ เราต้องรู้วิธีปฏิบัติ เพื่อให้มันเกิดโทษน้อยที่สุด อย่างน้อยแม้แต่ไม่พัฒนาไปสู่ความสุขที่สูงขึ้นไป เพียงปฏิบัติต่อความสุขระดับนี้ให้ถูกต้อง มันมีโทษ มันก็มีโทษน้อย ฉะนั้น อย่างน้อยก็คือ รู้จักปฏิบัติต่อมันให้มีโทษต่อเราให้น้อย ทีนี้ปัญหาข้อที่หนึ่งก็คือว่า เพราะว่าความสุขนี้ไม่ได้อยู่ในตัว ขึ้นต่อวัตถุ ขึ้นต่อสิ่งเสพภายนอก เพราะฉะนั้นเราก็จะสูญเสียอิสรภาพ ทีนี้พอเราได้ตวามสุขจากสิ่งเสพเหล่านี้หามาได้ ต่อมาความสุขของเราขึ้นต่อมัน แต่ว่ามันไม่จบเท่านั้น ก็คือว่า ปริมาณและดีกรีของสิ่งที่จะมาทำให้เรามีความสุขนี้ มีการเพิ่ม เพื่อให้สุขเท่าเดิม ต่อมาเราต้องเพิ่มวัตถุที่จะเอามาเสพ มาบริโภค อย่างที่เคยเปรียบเทียบบ่อยๆ ว่าคนเรานี้ แต่ก่อนนี้เราก็เกิดมาใหม่ๆ เราก็ยังไม่วัตถุอะไรเสพมากมาย เราก็อยู่ง่ายๆ เราก็มีความสามารถที่จะมีความสุข ได้วัตถุมาเสพทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เราก็มีความสุขพอสมควร ต่อมาปรากฏว่าเราต้องได้วัตถุเหล่านั้นมากขึ้น พอเราได้วัตถุเหล่านั้น สิ่งเสพมากขึ้น สิ่งเสพของเดิมที่เคยมีเท่าเก่า ไม่สามารถทำให้เรามีความสุขได้ เหมือนอย่างคนที่เคยมีเงิน ที่ว่าแต่ก่อนนี้เป็นคนแร้นแค้น ไม่ค่อยมีเงินทองใช้ ก็มีความหวัง ตั้งความหวังไว้ว่า ถ้าเราได้เงินทองมาก สมมติว่า ตอนนี้ได้วันละ ๑๐๐ บาท ต่อมาตั้งความหวังว่า ถ้าเราได้วันละ ๑,๐๐๐ บาท เราจะมีความสุขอย่างยิ่ง ต่อมาก็ปรากฏว่า ก็ได้จริง ได้เงินมาใช้วันละ ๑,๐๐๐ บาท พอได้วันละ ๑,๐๐๐ บาท ตอนแรกนี่มีความสุขอย่างยิ่งเลย มีความสุขเรียกว่าสมหวัง ได้บรรลุความฝันของตัวเอง ทีนี้ต่อมาได้วันละ ๑,๐๐๐ บาท ก็ชินเป็นธรรมดา ๑,๐๐๐ บาทนี่ต่อมาไม่ค่อยให้ความสุข เฉยๆ ตอนนี้จะตั้งความหวังว่า ต้องให้ได้ ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อมาก็เก่งหาได้ถึงวันละ ๑๐,๐๐๐ บาท พอหาได้วันละ ๑๐,๐๐๐ บาท ตอนนี้ก็สุขอีก ว่าเราก็ได้สมความหวัง แต่นี่ถ้ามองกลับไปว่า ถ้าสมมติว่าตอนที่ได้ ๑๐,๐๐๐ บาท กลับไปได้ ๑,๐๐๐ บาท ถ้าวันไหนเกิดได้ ๑,๐๐๐ บาท ในขณะที่ตัวเองสามารถได้วันละ ๑๐,๐๐๐ บาทแล้วนะ วันไหนได้วันละ ๑,๐๐๐ บาท ทั้งๆ ที่ ๑,๐๐๐ บาทอันนี้ เคยทำให้ตัวนี่ มีความสุขสุดยอดเลย สมหวังเต็มที่แล้ว แต่ตอนนี้ได้ ๑,๐๐๐ บาท กลายเป็นความทุกข์ เชื่อไหม ๑,๐๐๐ บาทที่เคยทำให้สุขอย่างเหลือล้นนั้น ตอนนี้กลายเป็นทุกข์ไปเลย คนที่ได้ ๑๐,๐๐๐ บาท มาได้วันละ ๑,๐๐๐ บาทนี่ วันนั้นทุกข์มาก อย่างนี้กระบวนการมันก็ต่อไป เขาเรียกว่ากระบวนการวิ่งไล่หาความสุข พอได้ ๑๐,๐๐๐ บาท ก็หวังว่าจะได้ ๑๐๐,๐๐๐ พอได้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ๑๐,๐๐๐ นั้นกลายเป็นทุกข์อีกแล้ว
ฉะนั้น ก็เลยต้องเพิ่มดีกรีกันเรื่อยไป ดีกรีและปริมาณของสิ่งเสพ เพื่อจะให้ได้ความสุขเท่าเดิม โดยวิธีนี้ก็ปรากฏว่าคนนี่จะสูญเสียอิสรภาพ คือ ความสุขต้องไปขึ้นต่อวัตถุหรือสิ่งเสพเหล่านั้น ไม่สามารถมีความสุขได้ด้วยตนเอง แล้วพวกวัตถุสิ่งเสพนั้น มันมีปัญหาอีกหลายอย่าง เช่นว่า ความชินชา ความเบื่อหน่าย เคยหวังจะได้ความสุข พอได้จริงก็มีความสุขตอนนั้น แต่พอผ่านไปต่อมาชินชาชักเบื่อ พอเบื่อนี่เท่ากับหนีไม่ได้ ถ้าเกิดหนีไม่ได้นะ คราวนี้ทุกข์เลย ใช่ไหม อันนี้มันก็เป็นภาวะในโลกมนุษย์ด้วยสิ บางทีสิ่งที่เบื่อนี่ มันจำเป็นต้องอยู่ พอจำเป็นต้องอยู่ ก็กลายเป็นทุกข์เลย ปัญหาของสิ่งเสพเหล่านี้ มีมากมายหลายแบบ นี่เป็นเรื่องภายในจิตใจ อันนี้ด้านหนึ่งด้านภายในตัวเอง แต่มันไม่จบเท่านั้น ปัญหาที่เป็นโทษ เป็นข้อบกพร่องของความสุขประเภทนี้อีกด้านหนึ่งคือ ด้านสังคม
ด้านสังคมเป็นยังไงล่ะ ก็ทุกคนก็มองว่าตัวเองต้องได้มากที่สุด จึงจะสุขที่สุด ก็ต้องหาให้เยอะที่สุดเลย เมื่อต่างคนต่างฝากความสุขไว้กับการได้วัตถุมาเสพ และต้องเอาให้ได้มากที่สุด ทุกคนมองอย่างเดียวกัน คือ หาให้ได้มากที่สุด ก็ต้องแย่งกัน ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัด สิ่งที่มีอยู่ในสังคมนี้ ก็มีจำนวนปริมาณจำกัด ก็ต้องแย่งชิงกัน พอแย่งชิงกัน ก็เกิดการเบียดเบียน เบียดเบียนกันก็เกิดความทุกข์ในทางสังคม ก็คือว่า คนที่มีกำลังมาก มีโอกาสมาก มีความสามารถมาก ก็หาได้มาก คนที่ไม่มีกำลัง ไม่มีโอกาส ไม่มีความสามารถก็ไม่ได้ อันนี้ก็เกิดความทุกข์ในสังคม พอมีความทุกข์ในสังคมแล้ว เบียดเบียนกัน คนที่มีความสุขที่หาได้มากเอง ก็ไม่สุขจริง พอในขณะที่ตัวเองนั้นมีความสุข แต่คนอื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์นั้น ก็ต้องหวาดระแวง เพราะคนพวกนั้นก็จะหาทางที่จะได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น หาดีไม่ได้ ก็ต้องหาทางร้าย ตัวเองเบียดเบียนเขา เขาก็จะเบียดเบียนตัวเองบ้าง อะไรทำนองนี้ เกิดการแย่งชิง มีความหวาดระแวง ก็มันก็ไม่เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขท่ามกลางความทุกข์ คือความสุขที่อาจจะเกิดจากความทุกข์แก่ผู้อื่น หรือความสุขที่ตั้งอยู่บนทุกข์ของผู้อื่นบ้าง หรือความสุขที่ตั้งอยู่บนความหวาดระแวงในใจของตัวเองบ้าง ไม่สุขจริง ก็เป็นปัญหา นอกจากนั้นที่ตามมาก็คือว่า ระบบการหาความสุขแบบนี้ ตามมาด้วยระบบผลประโยชน์ในสังคม เมื่อตามมาด้วยระบบผลประโยชน์ ก็จะทำให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติมาก ทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหรอ แล้วก็เกิดปัญหาของสิ่งแวดล้อมเสีย มลภาวะอะไรต่างๆ นี่เกิดจากเรื่องลัทธิบริโภคของมนุษย์นี้เป็นอย่างมาก ก็นี่ก็เรื่องของปัญหาข้อบกพร่องจุดอ่อนของความสุขที่เกิดจากการแสวงหาอามิส ขึ้นต่อวัตถุ ขึ้นต่อการได้
เพราะฉะนั้น ความสุขประเภทนี้ยังไม่สมบูรณ์ เราควรจะพัฒนาไปหาความสุขที่ดียิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่หมายความว่า จำเป็นจะต้องละอันนี้ เพื่อไปหาอันอื่น แต่อย่างน้อยให้มีความสุขประเภทอื่นมาเติม ให้ชีวิตของเรามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่ใช่มีความสุขอยู่แค่ประเภทเดียว ความสุขจากการเสพวัตถุนี้ มันจะสุขเฉพาะตอนเสพ และระหว่างนั้นก็อยู่ด้วยความรอ หรือความกระวนกระวาย แล้วก็มีความสุขชั่วเวลาที่เสพ แล้วก็ผ่านไป ทีนี้ความสุขอื่นมันมีอีกที่ดีกว่า ถ้าเราเอาความสุขประเภทเหล่านั้นมาเติม มันจะช่วยให้ชีวิตของเราสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มนุษย์เราพัฒนาได้ เพราะฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องอยู่แค่นี้ แต่เพียงแค่ความสุขประเภทที่ ๑ แค่เรื่องอามิสสุขหรือกามสุขนี้ เราก็ต้องมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง เพียงแค่รู้เท่าทันเท่านั้น เราก็วางใจให้ดีขึ้นแล้ว บอกว่าต้องระวังนะ อย่าให้ความสุขของเรานี้ ต้องไปขึ้นต่อมันทั้งหมด จนกระทั่งสูญเสียอิสรภาพ เพราะบางคนนี่คิดว่าตัวเองนี้เก่ง เรานี่เก่ง เราหาวัตถุเสพได้มากๆ เก่งกว่าใครๆ บางทีก็มาดูถูกกันในหมู่มนุษย์ แต่ตัวเองไม่รู้หรอกว่า ตัวเองนี้ปลายๆ ชีวิตนี้สูญเสียอิสรภาพ ความสุขไม่มีอยู่ในตัวเอง ต้องขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอกไปหมด เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านั้นจะเสพแล้ว กระวนกระวาย ทุรนทุราย อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่เรายังหาความสุขประเภทนี้ ก็เลยมีวิธีปฏิบัติขึ้นมาช่วย อย่างน้อย ๒ อย่าง เพื่อจะให้ความสุขประเภทนี้ เราได้รับอย่างดียิ่งขึ้น
(๑) อันหนึ่งคืออะไร คือป้องกันการเบียดเบียนกันในสังคมก่อน วางหลักเกณฑ์ไว้ เพื่อจะช่วยให้ทุกคนนี่ พอมีความสุขได้ มิฉะนั้นแล้วเดือดร้อน คือถ้าต่างคนต่างหาความสุขแบบนี้กันท่าเดียวนะ แล้วทุกคนเอาให้ได้มากที่สุดนี่ โลกต้องลุกเป็นไฟ สังคมนี้อยู่ไม่ได้เลย และทั้งสองฝ่าย คนที่หาเก่งก็ไม่ใช่มีความสุข อย่างที่ว่าเมื่อกี้ อยู่ด้วยความหวาดระแวง เพราะฉะนั้น ทำยังไงจะให้มนุษย์พออยู่กันได้ แล้วก็ทุกๆ คนพอมีเสพ พอจะหาความสุขได้ อย่างน้อยก็พอสมควร ท่านก็วางหลักปฏิบัติไว้ในทางสังคม ข้อปฏิบัติอันนี้เป็นกรอบสำหรับให้คนอยู่ในขอบเขตที่ว่าไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน หาความสุขไป หาความสุขจากสิ่งเสพวัตถุภายนอก คุณจะหาๆ ไป แต่ขออย่างเดียวนะ เอาหลักปฏิบัติไว้ เป็นกรอบ เป็นขอบเขต ๕ ข้อ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ศีล ๕” คุณจะหาความสุข หาความสุขไป
(๑) แต่ว่าอย่าไปทำลายชีวิตร่างกายผู้อื่น อย่าทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน อย่าต้องไปฆ่าฟันเขา
๒ ก็หาไป แต่ว่าอย่าให้ระเมิดสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น เขาจะได้มีโอกาส มีความสุขของเขาได้บ้าง
๓ ก็ละเมิด อย่าละเมิดคู่ครองกัน
๔ ก็อย่าทำลายผลประโยชน์กันด้วยถ้อยคำหลอกลวง อย่าหลอกลวง คนเราหลอกลวงทำลายผลประโยชน์กัน และแย่งชิงผลประโยชน์ด้วยการหลอกลวงเยอะ แล้วก็
๕ ก็อย่าสร้างความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยแก่ผู้อื่น ด้วยการที่ทำลายสติสัมปชัญญะของตนเอง ด้วยการเสพสิ่งเสพติด พอเราเสพสิ่งเสพติด เช่น สุรา เมาขึ้นแล้วนี่ ก็จะคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของผู้อื่น เช่นว่า ดื่มสุราเข้าไป พอเจอใคร ไว้ใจไม่ได้ ใช่ไหม ไม่รู้คนอื่นไม่รู้ว่าคนนี้จะมาท่าไหนแล้ว เสียความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย หรือว่าขับรถมา คนนั้นกินเหล้ามานี่ รถคันอื่นก็เสียความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ถูกคุกคามทันที หรือว่าเวลานี้มีการกินยาม้ามาก พอเสพยาม้ามาก เดี๋ยวนี้สังคมสูญเสียความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยไปเยอะเลยนะ เวลาขับรถไปตามถนน ก็หวาดระแวง ไม่มั่นใจ ว่ารถ ๑๐ ล้อคันนี้กินยาม้าหรือเปล่า เพราะฉะนั้น การเสพยาเสพติดนี้ ทำลาย คุกคาม ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของเพื่อนร่วมสังคม เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้เว้น
(๑) ศีล ๕ นี้ เอาเป็นว่านี่เป็นกรอบ ว่าถ้าเราเว้น ๕ ข้อนี้แล้ว อยู่กันได้ ทุกคนต่างก็หาความสุขจากวัตถุกันไป ก็พอจะให้สังคมไม่เดือดร้อนเกินไป ก็อย่างที่ว่าพอจะให้ไม่ลุกเป็นไฟ ก็อยู่กันไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะมีความสุขจริงนะ ไม่ได้เป็นหลักประกัน ศีล ๕ เป็นเพียงว่า เอาเป็นกรอบไว้สำหรับคนที่อยู่ในขั้นหาความสุขจากการเสพอามิส ว่าให้พออยู่กันได้ ๑ แล้วนะ ข้อปฏิบัติในทางสังคม
๒ ในตัวเอง ตัวเองนี่ต้องระวัง คือพยายามอย่าให้สูญเสียอิสรภาพ การที่จะทำให้ไม่สูญเสียอิสรภาพ ห้ามเอาความสุขและชีวิตไปขึ้นต่อวัตถุทั้งหมด จนกระทั่งว่า ขาดวัตถุไม่ได้แล้ว ทุรนทุราย มีวิธีปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็ให้ศีลมาอีก ๓ ข้อ เมื่อกี้นี้ให้ศีล ๕ แล้ว ให้สังคมอยู่กันได้ ต่อมาก็ให้ศีลมาอีก ๓ ข้อ เป็นศีล ๘ เพื่อจะให้เรานี้ ระวังรักษาอิสรภาพในตัวไว้ได้ ให้ไม่ขึ้นต่อสิ่งเสพมากเกินไป คือทำอย่างไร อย่างที่บอกเมื่อกี้แล้ว คนยิ่งหาวัตถุเสพมันลืมตัว พอได้มากขึ้น ก็ต้องมีมาก ถ้ามีมากเท่านี้ เคยมีเท่านี้ จึงจะมีความสุข ถ้าเกิดขาดไปนิดเดียว ทุรน ทุรายเลยนะ มีความทุกข์ขึ้นมาทันที ทั้งๆ ที่ว่าไม่ได้นึกเลยว่า แต่ก่อนนี้ เราก็ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ทำไมเราอยู่ได้ ตอนนี้มีสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว ขาดนิดเดียวอยู่ไม่ได้แล้ว ทุรนทุราย เป็นความทุกข์ มันเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าเราสูญเสียอิสรภาพ เราไม่รักษาความสามารถที่จะมีความสุข ทั้งๆ ที่คนเราเกิดมา เราก็มีความสามารถที่จะมีความสุข เมื่อเป็นเด็กเป็นเล็ก เราก็มีความสามารถที่จะมีความสุขได้พอสมควร เด็กเล็กไม่ต้องมีวัตถุสมบัติเสพอะไรมาก เดี๋ยวก็หัวเราะชอบใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุขได้ โตขึ้นมาต้องมีวัตถุมากมาย จะเสพมันแล้ว ไม่มีความสุข แถมขาดไปนิด ทุรนทุราย มีควาทุกข์ นี่แสดงว่าคงจะปฏิบัติผิด ดำเนินชีวิตผิดพลาด ความสุขที่ได้มาจากวัตถุนั้น กลายเป็นพิษกับตัวเองไปด้วย ฉะนั้น จะต้องรักษาอิสรภาพอันนี้ไว้ แล้วก็รักษาความสามารถที่จะมีความสุข ฉะนั้น ความสามารถที่จะมีความสุข ถ้าสูญเสียไป จะมีลักษณะอย่างไร คนที่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข ก็จะเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น เมื่ออยู่ในโลกไปนานๆ เข้าจะเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น ต้องมีสิ่งเสพเท่านี้ จึงจะมีความสุข ต่อมาต้องมากขึ้น จึงจะมีความสุข สุขได้ยากขึ้นทุกที ทีนี้ถ้าหากว่ารักษาความสามารถที่จะมีความสุขไว้ได้ แล้วพัฒนามันขึ้นมา จะเป็นคนที่สุขง่ายขึ้น ทีนี้เราอยู่ในโลก มันโตขึ้นมานี่ เราร่างกายชีวิตเจริญเติบโต เรามีการศึกษาเล่าเรียน เราพัฒนาชีวิตของเรา เราได้พัฒนาความสามารถอันนี้ไหม คือพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข หรือเรากลับสูญเสียไป ถ้าเราสูญเสียไป แสดงว่าชีวิตของเรานี้ เสียดุลแล้วเราก็จะตรวจสอบได้ง่าย โดยดูที่ตัวเรานี้ อยู่มาๆ โตขึ้น เราเป็นคนที่สุขยากขึ้น หรือสุขง่ายขึ้น ก็ลองถามตัวเองดู แทบจะตัดสินได้เลยว่า คนในยุคปัจจุบันนี้ ส่วนมากจะเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น แทนที่จะเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น โตขึ้นมาๆ ยิ่งสุขยากขึ้นทุกที ฉะนั้นแสดงว่าต้องมีสติเตือนตัวเองแล้ว แสดงว่าเรานี้เริ่มสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข ถ้าให้ถูกแล้วเรายิ่งโตขึ้น เราต้องสุขง่ายขึ้น พอเราคนสุขง่ายขึ้น เราก็สบาย เราได้สิ่งเสพมามากขึ้น เราก็ยิ่งสุขทวีคูณ แต่ถ้าเราสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข มันจะเป็นยังไง มันก็ตรงข้าม ก็คือว่า ได้มามากก็จริง แต่สุขเท่าเดิม ได้มามากขึ้น ก็เป็นสุขเท่าระดับเก่านั่นแหละ ทีนี้ตอนพอระดับเก่าชินชา ก็ไม่สุข ใช่ไหม ต้องหาเพิ่มมากขึ้น จึงสุข อย่างนี้ก็ไล่ตามความสุข ได้มากขึ้น เพื่อสุขเท่าเดิม ถ้าได้มากขึ้นเพื่อสุขเท่าเดิม ก็ยิ่งนำไปสู่การแย่งชิง เบียดเบียนกันมากขึ้น นั่นเป็นวิถีทางที่ผิด ฉะนั้น มนุษย์เราปัจจุบันนี้ เราจะเน้นไปในแง่ของการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งบำเรอความสุข พัฒนาความสามารถหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่ไม่ได้พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข จริงไหม แม้แต่การศึกษาก็จะมีความหมายทำนองนี้ การศึกษานี้ ถ้ามองในแง่ความสุข ก็จะกลายเป็นว่า การศึกษาคือการพัฒนาความสามารถที่จะหาวัตถุมาบำรุงความสุข เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้เยอะนะ แล้วก็เก่งจริงๆ เก่งในการหาวัตถุมาเสพบำรุงความสุข แต่ว่าอีกด้านหนึ่งคือ ความสามารถที่จะมีความสุข หรือศักยภาพที่จะมีความสุขนั้น ไม่ได้พัฒนา แล้วสูญเสียไปเสียด้วย เพราะฉะนั้น เพื่อจะให้ชีวิตมีดุลยภาพ ก็จะต้องพัฒนา ๒ ด้าน คือพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุขด้วย พร้อมกันนั้นก็พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย ถ้าได้ทั้ง ๒ อย่าง อย่างนี้แล้วไม่มีปัญหา ฉะนั้น ยิ่งได้วัตถุมามาก ก็ยิ่งสุขมาก ไม่ใช่กลายเป็นคนที่ว่า ได้วัตถุมากสุขเท่าเดิม แล้วก็ดีกรีวัตถุ ปริมาณวัตถุ นี้ ต้องเพิ่มเรื่อยไป
ทีนี้ วิธีการเบื้องต้นในการที่จะรักษาอิสรภาพ ก็ทำยังไงล่ะ ก็คือว่า อย่าให้ชีวิตขึ้นกับวัตถุมากนัก เขาจึงบอกเมื่อกี้ บอกว่าพระพุทธเจ้าก็เพิ่มศีลมาให้อีก ๓ ข้อ แล้วเปลี่ยนข้อที่ ๓ มาเป็นอพรัหมะจริยา ศีล ๕ นี่เราจะเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้อื่น เกี่ยวกับสังคม แต่ว่าที่พระพุทธเจ้าเพิ่มให้เป็นศีล ๘ นี้ เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ไม่เกี่ยวกับสังคม ไม่เกี่ยวกับคนอื่นเลย เช่นว่าข้อ ๖ วิกาลโภชนา เว้นจาก การบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับคนอื่น ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร เราเว้น ไม่เว้น ก็ไม่เกี่ยว แล้วก็ นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี การดู การละเล่น สิ่งบันเทิง การประดับตกแต่งร่างกาย อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ถึงเราจะประดับ เราจะดู มันก็ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร แล้วก็เว้นจากที่นั่ง ที่นอน อันหรูหรา ฟุ่มเฟือย ก็เป็นเรื่องส่วนตัวอีกเหมือนกัน ศีล ๘ เพิ่มเข้ามาเป็นเรื่องส่วนตัวทั้งนั้น วัตถุประสงค์เพื่ออะไร เพื่อมาสู่จุดนี้ เพื่อว่าอย่างน้อยรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ อย่าให้ความสุขต้องไปฝากไว้กับวัตถุเกินไป แล้วท่านไม่เอามาก ท่านเอาไว้ ๘ วันครั้ง ๘ วันให้เรารักษาอิสรภาพ หรือเตือนตัวเองไว้ครั้งหนึ่ง ให้เราปฏิบัติโดยที่มีวัตถุน้อย ขึ้นกับวัตถุน้อยที่สุด ท่านจึงเรียกว่าอุโบสถศีล ศีลอุโบสถนี้ ไม่ได้เรียกร้องให้ต้องปฏิบัติทุกวัน ปฏิบัติ ๘ วันครั้งหนึ่ง ใครจะมีความเพียร ท่านบอกว่าให้เพิ่มเป็นวันโกน วันพระก็ได้ ก็กลายเป็นว่า เดือนละเท่าไร จากเดือนนะ ๔ ครั้ง ก็เป็นเดือน ละ ๘ ครั้ง ๘ วันใน ๓๐ วัน ก็ไม่มากนัก แต่ว่าเอาแค่ ๔ วันก็พอ ท่านเอาแค่ ๔ วันเท่านั้นเอง ๔วัน ถ้าเราเตือนตนได้ เราจะรู้สึกว่า เราจะไม่สูญเสียอิสรภาพ ทำยังไง พอ ๘ วันทีหนึ่ง ก็ให้รักษาศีลเพิ่มอย่างที่ว่านี้ ศีลอุโบสถเป็นศีล ๘ ก็เราเคยตามใจลิ้น กินตามใจอยาก อร่อยเมื่อไรกินเมื่อนั้น พอถึง ๘วันที ลองดูซิ ไม่ตามใจลิ้น กินเท่าที่พอบำรุงสุขภาพ ตามความต้องการของร่างกาย ร่างกายต้องการแค่นี้พอแล้ว สุขภาพพอมั้ย แค่กินแค่เที่ยง เออพอ อย่างนั้นเอาแค่นี้นะ ลองซิหลังเที่ยง ไม่ต้องกิน ไม่ต้องตามใจลิ้นอีก เราจะอยู่ดี มีความสุขได้ไหม แล้วก็เคยฟ้อนรำขับร้อง ดูการละเล่นบันเทิง ลอง ๘ วันเว้นสักครั้งซิ อยู่ดีโดยไม่ต้องขึ้นกับสิ่งเหล่านั้น แม้แต่ที่นอนที่นอนอู้ฟู่ หรูหรา เคยนอนแล้วจึงจะแสนสุข ๘ วันทีหนึ่งลองนอนพื้น นอนกระดาน นอนเสื่อ อยู่ได้ไหม พอจะมีความสุขได้ไหม เอาทีหนึ่ง ๘ วัน โดยวิธีปฏิบัติแบบนี้ จะรักษาอิสรภาพไว้ได้ อย่างน้อยก็จะไม่หลงตามวัตถุเกินไป เราจะรู้สึกว่า เราก็อยู่ได้นี่ ถึงแม้ไม่ต้องมีวัตถุบำรุงบำเรอเต็มที่ มันก็เป็นเครื่องเตือนสติตัวเอง แล้วก็ทำให้เรา ไม่หลง ไม่เพลิดเพลินเกินไป มีลักษณะของการที่จะเริ่มมีความรู้สึกที่พูดกับตัวเองได้ ในการเกี่ยวข้องกับวัตถุ สิ่งเสพบำรุงบำเรอความสุข แต่ก่อนนี้มีวัตถุบำรุงบำเรอ ต้องมีมันจึงจะอยู่ได้ ไม่มีแล้วอยู่ไม่ได้ ต่อมาพอเราฝึกตัวเองดีขึ้น เราสามารถพูดกับตัวเองว่า สิ่งเสพบำรุงบำเรอความสุขเหล่านั้น สิ่งฟุ่มเฟือย มีก็ได้ มีก็ดี มีก็ดี แต่ไม่มีก็ได้ หมายความว่า ไม่มีเราก็อยู่ได้ ถ้ามีก็ดีเหมือนกัน ถ้าพูดอย่างนี้ ก็แสดงว่าเก่งขึ้น เพราะว่าคนบางคนนี้ สิ่งเสพฟุ่มเฟือยเหล่านั้น ต้องมีจึงจะอยู่ได้ ถ้าไม่มีอยู่ไม่ได้ ลองสำรวจตัวเองดู ใครเป็นอย่างนี้บ้าง ว่าสิ่งเสพบำรุงบำเรอความสุขเหล่านั้น ต้องมีจึงจะอยู่ได้ ถ้าไม่มีฉันอยู่ไม่ได้ ฉันจะตาย ฉันจะมีความทุกข์แสนสาหัส ถ้าหากว่าเป็นอย่างที่ว่านี้นะ ถ้าต้องมีจึงอยู่ได้ ถ้าไม่มีอยู่ไม่ได้ แสดงว่าคนนั้นสูญเสียอิสรภาพไปแล้ว ทีนี้คนที่ยังมีอิสรภาพ ก็จะพูดว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้ เอาละนะ นี่ถ้าหากว่าพูดอย่างนี้ก็แสดงว่า ยังมีอิสรภาพอยู่นะ แล้วยังเก่ง แสดงว่าไปไหน อยู่ในโลกนี้ โลกมันไม่ได้ตามใจเราตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราต้องรักษาอิสรภาพอันนี้ไว้ ให้พูดกับตัวเองได้ว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้
ทีนี้ ต่อไปเก่งขึ้นมา วัตถุบางอย่างที่เคยจะต้องมี จะต้องเสพ ก็อาจจะมาถึงขั้นที่ว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ดี เออ มีก็ได้ ไม่มีก็ดี เพราะว่า มันรู้สึกว่ามันโล่งดี มันสบายดี มันเป็นอิสระดี เบาตัวดีนะ บอกว่า มีก็ได้ มีเราก็ใช้มัน แต่ไม่มีก็ดีเหมือนกัน เราก็สบาย นี่แสดงว่าอิสรภาพมากขึ้น คนที่มีอิสรภาพมากอย่างนี้ เขาจะมีโอกาสในการพัฒนาสู่ความสุขที่สูงขึ้นไปได้ง่ายขึ้น แล้วเขาจะสามารถใช้เวลานั้นให้เป็นประโยชน์ด้านอื่น ในการพัฒนาชีวิตสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ ทีนี้คนที่ชีวิตขึ้นต่อวัตถุเกินไป สูญเสียอิสรภาพ ความสุขต้องขึ้นต่อวัตถุ คราวนี้แย่เลย ใช่ไหม เพราะตัวเองนี้ต้องเอาเวลา แรงงาน และความคิดมาระดมกับการหาสิ่งเสพเหล่านี้ จนกระทั่งกลายเป็นเกินขอบเขต ก็ทุจริต แล้วงานการเสีย ฉะนั้น ไม่ได้สร้างสรรค์ ไม่ได้ทำชีวิตให้มีคุณค่า คนที่สามารถรักษาอิสรภาพในทางความสุขเกี่ยวกับวัตถุไว้ได้ ก็มีข้อดีเพิ่มขึ้น ก็คือการที่มีเวลา แรงงานและความคิดในการที่มาพัฒนาชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามมากขึ้น แล้วก็จะมีการเบียดเบียนกันในสังคมน้อยลง เพราะเราไม่จำเป็นจะต้องไปเที่ยวหาเพื่อจะให้ตัวเองมีความสุข การเสพทรัพยากรธรรมชาติก็น้อยลง นี่ล่ะนะความสุขขั้นที่ ๑ นี่เพิ่งจะผ่านขั้นที่ ๑
ทีนี้ลองดูว่าเราจะมีทางพัฒนาไปสู่ความสุขที่ดีขึ้นอย่างไร ต่อมาเราก็มีหลักปฏิบัติขึ้นมา เพื่อจะให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น ความสุขนี้จะมาได้อย่างไร ก็ลองดูพระพุทธเจ้าจะทรงสอนว่ายังไง พระพุทธเจ้านี่ทรงสอนหลักธรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ ตามความเป็นจริง ที่มนุษย์อยู่ในโลก เมื่อกี้นี้บอกแล้วว่า มนุษย์ก็อยู่ในโลกไป ก็แสวงหาวัตถุมาเสพ เบื้องต้นความสุขขั้นแรกเขาอยู่ที่วัตถุ ทีนี้ต่างคนต่างหา ต่างคนก็คิดแต่จะได้ ใช่ไหม การเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัตถุของคนในโลกนี้ จะเป็นเรื่องของการได้การเอาแทบทั้งนั้น ทีนี้พระพุทธเจ้าก็เลยสอนหลักธรรมขั้นแรกมา เพื่อให้เรามาฝึกตัวเอง ก็มาสร้างดุลยภาพในเรื่องนี้ คือว่า เราเกี่ยวข้องกับวัตถุ มุ่งแต่จะได้จะเอา พระองค์ก็มาตรัสบอกว่า เราอยู่ในโลกนี้จะเอาแต่ได้แต่เอาอย่างเดียวไม่ได้นะ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ทุกคนเอาแต่ได้แต่เอาอย่างเดียว มันก็ยุ่งวุ่นวาย ขัดแย้งแย่งชิงกันอย่างที่ว่าเมื่อกี้ แล้วก็ไม่ได้รับความสุข แล้วตัวเองก็ไม่พัฒนาด้วย ทีนี้ถ้าหากว่าเราทำชีวิตให้มีดุลยภาพมากขึ้น ก็อย่าเอาแต่จะได้จะเอาอย่างเดียว สิ่งที่คู่กันในการปฏิบัติต่อวัตถุ ที่คู่กันได้กับเอาคืออะไร คือให้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ชีวิตของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ ต้องมีให้ด้วย จึงจะมีดุลยภาพ เพราะฉะนั้น เราไม่ใช่เอาแต่ได้ และเอา ได้อย่างเดียวหรือเอาอย่างเดียว ต้องมีการให้ด้วย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าสอนหลักธรรมข้อแรก คือ ทาน ใช่ไหม
หลักธรรมที่พุทธศาสนาสอนข้อที่ ๑ คือ เรื่องทาน สอนอะไรต่ออะไร ก็เริ่มด้วยทาน สำหรับชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ในโลกนี้ เริ่มด้วยทานก่อน ก็ให้เรารู้จักให้ด้วย ฉะนั้น ในแต่ละวันหรือในการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่เรามุ่งจะได้จะเอา ให้มีการให้ด้วย ในวัฒนธรรมของชาวพุทธนี้ ก็จะมีการฝึก จนกระทั่งว่าเป็นชีวิตประจำวันเลย มีการให้ ตื่นเช้าขึ้นมาก็มีการตักบาตรบ้าง อะไรบ้าง ให้รู้จักให้แก่กัน ชีวิตที่มีการให้นี่ มันจะเป็นต้นทาง ในแง่ภายนอก ก็คือ สังคม สังคมจะเริ่มร่มเย็นเป็นสุขขึ้น ในเมื่อมนุษย์รู้จักให้แก่กัน เกื้อกูลต่อกัน แล้วคนที่ด้อยโอกาส ด้อยความสามารถ ขาดแคลน ก็จะมีโอกาสดำรงชีวิตอยู่ ซึ่งจะช่วยสังคมไปเอง ให้ไม่เดือดร้อนเกินไปและไม่ต้องมาเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ฉะนั้น ในด้านสังคม
แต่ทีนี้พร้อมกันนั้น มันเป็นการฝึก พัฒนาตัวเอง และพัฒนาตัวไปสู่ความสุขด้วยนะ พัฒนาอย่างไร พอพระพุทธเจ้าสอนว่า เอานะชีวิตของเรานี่ต้องมีการให้ด้วย พอต้องมีการให้ด้วย เราก็นึกถึงการที่จะให้ การที่จะให้มันต้องตั้งใจให้ เมื่อตั้งใจให้มันก็เกิดจากจิตใจ พอเกิดความตั้งใจให้ สภาพจิตมันจะเปลี่ยน ขอให้นึกดูว่า สองคนนะ คนหนึ่ง หรือคนเดียวกันก็ได้ต่างวาระกัน ตอนก่อนนี้คิดแต่จะได้จะเอา เวลาเราคิดจะได้จะเอา เราก็มองไปที่วัตถุ ใช่ไหม มองไปที่สิ่งที่จะได้จะเอา บอกว่าจะเอา เรามองไปที่วัตถุจะได้จะเอา พอว่ามองไปที่วัตถุจะได้จะเอานี่ ความรู้สึกมันเกิดขึ้นมาเองเลย ความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์เกิดมาเอง เกิดมาเองคืออะไร คือระแวง เพราะมนุษย์มันมีความรู้สึกตัวจะเป็นสัญชาติญาณก็ได้ ก็คนอื่นเขาอยากได้เหมือนกัน เราไม่ใช่เราจะเอา เขาก็อยากจะเอาเหมือนกน พอเราคิดจะเอาปั๊บ เราระแวงคนอื่นทันที ว่าคนนั้น หมอนั่น เขาอยากจะเอาเหมือนกัน พอระแวงคนอื่นนี่ เรารู้สึกว่าเป็นคู่แข่ง เราเริ่มมองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง คนที่จะได้จะเอานี่ จะมีลักษณะจิตใจที่โน้มเอียงไปในการมองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง และเป็นปฏิปักษ์ คู่แข่งก็เป็นปฏิปักษ์นั่นเอง ฉะนั้น ท่าทีของการมองเป็นคู่แข่งไม่ดีเลย ก็คือเป็นศัตรูประเภทหนึ่ง มนุษย์จะมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ ในสังคมที่มนุษย์มุ่งแต่จะได้จะเอานี่ และสภาพจิตนี้จะเกิดขึ้นามา สภาพจิตที่มองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่งไปหมด ฉะนั้น ระบบแข่งขันก็มาเต็มที่เลย ใช่ไหม ยิ่งเวลานี้อยู่ในระบบแข่งขันมาก เรายิ่งมองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่งมาก สภาพจิตที่มองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง มันเป็นสภาพจิตที่ไม่ดี เป็นศัตรูกันนี่ ไม่มีมิตรไมตรี แล้วทีนี้มันยิ่งร้ายกว่านั้น ก็คือ มันไม่มีความจริงใจ มนุษย์จะสูญเสียความจริงใจ ทีนี้ เมื่อสูญเสียความจริงใจ ต่อไปนะมันมองอะไร เหนือกว่าการมองมนุษย์เป็นคู่แข่ง เขาจะมองเป็นอะไร เขาหาเก่งๆ ขึ้น เขาจะมองเพื่อนมนุษย์เป็นเหยื่อ เดี๋ยวนี้คนจำนวนมากมองกันเป็นเหยื่อนะ มองเพื่อนมนุษย์นี่ คล้ายๆ ว่า เรามุ่งจะหาเงิน หาทอง หาผลประโยชน์จากเขาทั้งนั้นเลย เราไปสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เพื่อเอาอะไรจากเขา เราจึงมองเขาเป็นเหยื่อ มนุษย์ในยุคนี้ มีความโน้มเอียงนี้มากขึ้น เป็นอันว่า จากลักษณะจิตที่มองในการจะได้จะเอา ก็จะมองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง เป็นปฏิปักษ์ ตลอดจนกระทั่งเป็นเหยื่อ แล้วลองคิดดูสังคมนี้จะเป็นไปได้ดียังไง
ทีนี้เปลี่ยนมา พอเราตั้งใจว่าจะให้ เรามาปฏิบัติว่าให้ พอคิดว่าจะให้ เรามองไปที่อะไร เรามองไปที่คน ใช่ไหม เมื่อกี้ถ้ามองว่าจะเอา เรามองไปที่ของ พอว่าจะให้เรามองไปที่คน พอมองไปที่คน เราจะรู้จักดูหน้าตาเขา แล้วก็มองถึงความต้องการของเขา พอเราเอาใจใส่หน้าตาของเขา เราจะเริ่มเข้าใจเพื่อนมนุษย์ เห็นสุข เห็นทุกข์ของเขา เห็นความต้องการของเขา พอซึมซาบเข้าใจในสุขทุกข์ของเขา เราเริ่มเห็นใจ พอเรามีความเห็นใจ คุณธรรมเกิดขึ้นแล้ว ความเมตตากรุณา ความเป็นมิตร และความสงสาร อยากช่วยเหลือเกิด พอเห็นเขาทุกข์แล้ว เห็นใจอยากช่วยเหลือ อยากให้เขาเป็นสุข พ้นจากทุกข์นั้น เราก็หาทางว่า ทำยังไงจะให้เขาหายทุกข์ เมื่อกี้เราจะฝึกทานอยู่แล้วนี่ การให้เป็นการช่วยทำให้คนหายทุกข์ ทำให้เขาเป็นสุข ทีนี้ เราอยากจะให้เขาเป็นสุขหายทุกข์อยู่แล้ว การให้มันก็กลายเป็นการสนองความต้องการของเราไปเลย ที่จริงเขาต้องการ เพราะเขาขาดแคลน เขาต้องการวัตถุเสพ เขาจะได้มีความสุข แต่ฝ่ายตัวเรา เราก็มีความต้องการเหมือนกัน แต่ก่อนนี้เราต้องการของ เพราะฉะนั้น ความต้องการนี้ขัดกัน แต่ตอนนี้เรามามองดูคน เราเกิดเห็นใจคน เราต้องการทำให้เขาเป็นสุข เราต้องการทำให้เขาหายทุกข์ การให้ของเรากลายเป็นการสนองความต้องการของตัวเราเอง พอสนองความต้องการของตัวเราเอง การให้แก่เขากลายเป็นทำให้เราสุขด้วย กลายเป็นว่าการให้นี้ สนองความต้องการของทั้งสองฝ่าย ใช่ไหม สนองความต้องการของเขา ให้เขาสุขด้วย และสนองความต้องการของตัวเราเอง ที่ต้องการให้เขาเป็นสุข หายทุกข์ด้วย เราก็เลยเป็นสุขด้วย พร้อมกับเขาก็เป็นสุขเช่นเดียวกัน แต่ก่อนนี้เป็นความสุขต้องแย่งชิง ความสุขที่ต้องแย่งกัน ถ้าเราได้ เขาเสีย ถ้าเขาได้ เราอด ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ฝ่ายหนึ่งสุข ฝ่ายหนึ่งทุกข์ ตอนนี้พอพัฒนามาถึงการให้ เราสามารถทำให้เกิดความสุขชนิดใหม่ ที่เป็นความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย เราก็สุข เขาก็สุข เป็นความสุขแบบประสานกลมกลืน ร่วมกันสุข สุขด้วยกัน และความสุขของทั้งสองฝ่าย ขึ้นต่อกัน ความสุขของเราขึ้นต่อความสุขของเขา ความสุขของเขาก็อาศัยความสุขของเราด้วย ก็เลยดี สุขด้วยกัน กลายเป็นว่าชีวิตของตัวเองก็ดีด้วย มีความสุข พร้อมกันนั้น โลกสังคมนี้ก็อยู่ร่มเย็นเป็นสุขได้มากขึ้น นี่ก็คือ การเปลี่ยนจากการได้เป็นความสุข ให้มีการให้ การให้ก็เป็นสุข ไม่ใช่เปลี่ยนเป็นเพิ่ม การได้เป็นความสุข เราก็ยังมีอยู่ แต่ว่าตอนนี้เราเพิ่มช่องทางที่จะมีความสุขอีก ก็คือว่า เราสามารถที่จะมีความสุข จากการให้ด้วย
เอาละตอนนี้ ก็กลายเป็นว่า มีช่องทางที่มีความสุขเพิ่ม เป็นขั้นที่ ๒ คือ การให้กลายเป็นความสุข แต่ต้องมีสภาพจิตมารับ คือ ต้องมีสภาพจิตใจที่มีความรัก ความปรารถนาดี ความเห็นใจ อันนี้ขึ้นมาด้วย ฉะนั้น การฝึกด้วยพฤติกรรมคือ ทานที่ให้ ถ้าเราทำใจถูกต้อง เราจะได้ความสุขด้วยนะ ถ้าใครปฏิบัติให้ทานไปแล้ว ไม่เกิดความสุข แสดงว่า ปฏิบัติผิด แล้วมันจะเป็นตัวนำจิตใจ มันสร้างคุณธรรมเลย เราให้ถูกต้องนี่ มันสร้างคุณธรรมในใจ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงเอาทานมาเป็นตัวนำในการพัฒนาชีวิตจิตใจของเรา พัฒนาจิตใจของเราให้ละเอียดประณีต มีความสุขขึ้น ทีนี้ความสุขจากการให้ ดีกว่าความสุขจากการได้ อย่างที่ว่า ความสุขจากการได้ ขึ้นต่อการเสพวัตถุ มันมีความสุขเฉพาะตอนเสพ และมีความหวาดระแวง มีความสุขที่มันคล้ายๆ ว่าแคบ และขุ่นมัว เศร้าหมอง ทีนี้พอสุขจากการให้ เป็นความสุขที่เอิบอิ่มใจ เป็นความสุขที่จิตใจขยาย และอิ่มไปนาน ความสุขจากการให้ ให้ไปแล้วนี่ ไปนั่งอิ่มใจ ปีติ อิ่ม สบายใจไปอีก ไม่ใช่สุขเฉพาะตอนเสพ เพราะฉะนั้น ความสุขประเภทนี้ ประณีตยิ่งขึ้น ฉะนั้น มนุษย์ที่พัฒนาแล้ว แม้แต่โดยธรรมชาติ ก็ให้ช่องทางมา ก็คือ พ่อ แม่ เราจะเห็นได้ว่า พ่อแม่นี้มีความสุขเพิ่มขึ้น จากมนุษย์อื่น การเป็นพ่อแม่นี่ ปฏิบัติได้ถูกต้อง เป็นคนที่พัฒนาไปในตัว ธรรมชาติช่วยมาขั้นหนึ่ง ก็คือว่า พ่อแม่เป็นบุคคลแรกที่สามารถมีความสุขได้จากการให้ เพราะมนุษย์โดยทั่วไป จะมีความสุขจากการได้ การเอาอย่างที่ว่า พอมาเริ่มเป็นพ่อแม่ ก็จะมีอันหนี่งขึ้นมา ก็คือ ความรักลูก และเจ้าตัวความรักในใจ มันแปรเปลี่ยนให้การให้ กลายเป็นความสุข เราบอกว่าพ่อแม่ให้แก่ลูก แล้วให้แล้วมีความสุข ใช่ไหม ทำไมจึงมีความสุข ไม่ใช่ให้แล้วสุขเฉยๆ ที่สุขขึ้นมาได้เพราะใจมีความรัก ถ้าไม่มีความรักแล้ว สุขไม่ได้หรอก ฉะนั้น ตัวเงื่อนไขที่ทำให้มีความสุขก็คือ ความรัก ตกลงว่าพ่อแม่นี่ธรรมชาติช่วย ว่าเป็นบุคคลที่สามารถมีความสุขจากการให้ เมื่อให้แก่ลูก ก็มีความสุขได้ ธรรมดามนุษย์ทั้งหลายนี่ต้องได้ต้องเอา พอได้วัตถุมาเสพ ก็มีความสุข พอต้องให้ก็เสีย รู้สึกว่าต้องเสียไป พอเสียไปก็ฝืนใจก็เป็นทุกข์ แต่ว่าพ่อแม่ไม่รู้สึกฝืนใจเลย ใครรู้สึกฝืนใจบ้าง เมื่อให้แก่ลูก ในที่นี้ก็มีคุณพ่อ คุณแม่หลายคน ก็มีความสุขในการให้แก่ลูก พอให้ไปแล้ว กลับยิ่งสุขใหญ่เลย บางทีสุขกว่าที่ตัวเองได้อีก ใช่ไหม พอลูกเป็นสุขแล้ว ยิ่งสุขสบายใจ มีความสุขมาก เอิบอิ่มใจที่เห็นลูกมีความสุข เพราะเจ้าตัวนี้คือ ความรักนั่นเอง นี่ถ้าหากว่าเราพัฒนาจิตใจขึ้นมา เราก็เป็นเหมือนพ่อแม่ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนไว้ในกรณียเมตตสูตร สอนให้พัฒนาจิตใจ จนกระทั่งรักเพื่อนมนุษย์ อย่างกับพ่อแม่รักลูก พอเหมือนพ่อแม่รักลูก มันก็จะมีความสุขจากการให้ได้ตลอดเวลา ฉะนั้น ตกลงว่ามีความสุขประเภทที่ ๒ นี่คือ ความสุขจากคุณธรรมที่พัฒนาจิตใจ ให้มีเมตตา มีความรัก ความปรารถนาดี ฉะนั้น ความสุขนี้ก็จิตใจของตัวเองก็มีความสุขสบาย ดีกับชีวิตของตนเองด้วย แล้วดีต่อโลก ต่อสังคม เพราะว่ามันเป็นความสุขจากการให้ มันก็ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โลกก็ยิ่งร่มเย็นเป็นสุข อันนั้นก็ดี
ทีนี้ นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้นนะ คุณธรรมข้ออื่นก็ทำให้มีความสุขจากการให้ได้อีก เช่นอะไร เช่น ศรัทธา ศรัทธาเรามีความเชื่อ มีความมั่นใจ ซาบซึ้งในสิ่งที่ดีงาม เช่น ศรัทธาในพระรัตนตรัย ในพระศาสนา ในการกระทำความดีงามต่างๆ ในการบำเพ็ญประโยชน์ พัฒนาจิตใจขึ้นมาถึงขั้นนี้แล้วนะ มันจะได้ความรู้สึกที่พร้อมจะให้ และการให้จะเป็นสุข เช่นว่าคนที่มีศรัทธา ศรัทธาในอะไร แล้วไปให้ สุขจากศรัทธานั้นเลย มีความสุขจากการให้ได้อีกเหมือนกัน แต่สองตัวนี้มาบรรจบกัน คือ เมตตาความรัก ความปรารถนาดี ก็อยากให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข ทีนี้ศรัทธาก็เห็นคุณค่าประโยชน์ของสิ่งนั้น เช่น เห็นประโยชน์ของพระศาสนา แต่เห็นไกลกว่านั้น คือไม่ใช่แค่ความรู้สึกส่วนตัว เฉพาะตัว เมตตานี่คือความรักต่อกัน ศรัทธานี้มันไกลกว่านั้น ก็คือว่า เราเห็นว่าพระศาสนานี้ พระพุทธเจ้าตั้งไว้สอน เพื่อจะให้ธรรมะ ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์วงกว้างขวาง ถ้ามนุษย์ปฏิบัติตาม ทำพระศาสนาเจริญรุ่งเรือง ก็จะทำให้มนุษย์อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ฉะนั้น เราก็บำรุงพระศาสนา เพื่อจะได้ให้สังคมนี้ร่มเย็นเป็นสุข จากการที่เรามีศรัทธา ถวายแก่พระศาสนา ก็หวังว่า มันจะไปถึงประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์ สังคม ในระยะยาว ฉะนั้น มันก็ไปลงที่อันนั้นเหมือนกัน คือ เพื่อประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์ ศรัทธาก็เกิดขึ้น เราก็ให้ด้วยศรัทธา ก็เกิดความสุขจากศรัทธานั้น หรือมั่นใจในความดี ในความเจริญงอกงาม ผลดีที่เกิดแก่ชีวิตของเรา จากการกระทำสิ่งเหล่านี้ เราก็พร้อมที่จะให้
ในนี้ก็คือ การพูดถึงความสุขอีกประเภทหนึ่ง หรืออีกระดับหนึ่ง คือความสุขที่เกิดจากการพัฒนามนุษย์ให้มีคุณธรรมขึ้นในใจ ทำให้เขามีช่องทางความสุขเพิ่มขึ้น คือ การให้กลายเป็นความสุข อันนี้ก็พอมนุษย์ให้วัตถุมีความสุข แล้วทีนี้ยิ่งความสุขของเขาไม่ขึ้นต่อวัตถุ เขารักษาความสามารถที่จะมีความสุขไว้ได้ อย่างที่ว่า “มีก็ดี ไม่มีก็ได้” “มีก็ได้ ไม่มีก็ดี” อะไรอย่างนี้นะ ความสุขขึ้นต่อวัตถุน้อย แต่ตัวเองมีความสามารถหาวัตถุมาเสพมาก ก็พร้อมที่จะให้อยู่แล้ว เพราะว่าวัตถุที่ได้มาจากความสามารถในการแสวงหา มันเกินจำเป็น ไม่เหมือนคนที่หมดอิสรภาพ ในการที่จะมีความสุขขึ้นต่อวัตถุ พวกนั้นได้มาเท่าไร มันก็สุขเท่าเดิม เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่สามารถเอาวัตถุมาเผื่อแผ่คนอื่น ทีนี้พอเขามีความสามารถที่จะมีความสุข วัตถุที่ได้มาจากความสามารถในการแสวงหานั้น มันเกินจำเป็น เกินกว่าที่จะทำให้ตัวเป็นสุข เขาก็พร้อมที่จะให้แก่คนอื่น แล้วแถมเขาพัฒนาจิตใจให้มีความสุขจากการให้ด้วย สองอันนี้มามาบรรจบกัน ก็ทำให้เขาพร้อมที่จะให้ได้เต็มที่ ฉะนั้น คนที่อยู่ในระดับนี้ อย่างพระโสดาบัน จะมีความสุขจากการให้อย่างเต็มที่เลย เพราะฉะนั้น ท่านไม่มีความยึดติดในวัตถุสิ่งของ มีความพร้อมที่จะให้เต็มที่ ฉะนั้น ถึงกับมีวินัยห้ามพระเลยนะ ห้ามพระไม่ให้ไปขอจากตระกูลที่คณะสงฆ์ ท่านเรียกว่า สมมติ แต่งตั้งให้เป็นโสดาบัน คึอคุณธรรมในใจนี้ มองไม่เห็น แต่ว่าในตระกูลใดที่เป็นคนที่มีความยินดี ในการบริจาค ชอบให้อยู่เสมอนี้ ท่านระวัง ว่าเดี๋ยวจะไปรบกวนให้เขาต้องยากจนลง ท่านก็ประชุมกัน ตั้งตระกูลนี้ ครอบครัวนี้เป็นโสดาบัน มีวินัยอนุญาตไว้ พอตั้งปั๊บ ห้ามพระไปขอเลย ถ้าพระองค์ไหนไปขอ องค์นั้นมีความผิด แต่พระนี่ห้ามขออยู่แล้ว นี่ต้องรู้วินัยของพระ
แทรกเข้ามานิดหนึ่ง พระนี่ขอไม่ได้เลย ที่ไปบิณฑบาตนี่ ขอโดยอาการเท่านั้น ถ้าไปออกปากขอ ผิด คือที่จริง ขอโดยไม่ได้ขอ หมายความว่า ถือบาตไป ญาติโยมมีศรัทธา จะถวายก็มาถวาย แต่ถ้าไปออกปากขอเมื่อไร ผิดวินัย เป็นมิจฉาชีพเลย พระท่านเรียกวินัย ท่านเรียกว่าเป็นมิจฉาชีพ มีวินัยข้อหนึ่งบัญญัติไว้ว่า “ภิกษุออกปากขออาหารมา เพื่อตนเองฉัน เป็นอาบัติปาจิตตีย เว้นแต่อาพาธ” ยกเว้นอาพาธ เจ็บป่วย ฉะนั้น พระขออะไร ออกปากไม่ได้ทั้งนั้น โดยวินัย ฉะนั้น ญาติโยมต้องรู้ ญาติโยมสมัยก่อนรู้วินัย ก็เลยทำให้รักษาพระศาสนาไว้ได้ เวลานี้ไม่ค่อยรู้วินัย ทีนี้ก็เลยมีพระไปเที่ยวเรี่ยไร ไปเที่ยวขอ ก็ทำให้เสียไปหมดเลย พระนี้ท่านห้ามมาก มีหลักอันหนึ่งบอกว่า “พระนี่ให้มีชีวิตเหมือนอย่างแมลงผึ้ง แมลงผึ้งนี้ ไปเอาเกสรน้ำหวาน น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ไม่ทำให้ดอกไม้ชอกช้ำ ทั้งกลิ่นและสีฉันใด ภิกษุที่ประพฤติชอบ เที่ยวไปในหมู่ชาวบ้าน ก็ประพฤติตนฉันนั้น” หมายความว่าไง ชาวบ้านเขามีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร มีจิตใจคุณธรรม ศรัทธาอย่างไร พระนี่ไปสัมพันธ์แล้ว ต้องไม่ให้เสีย ทั้งกลิ่นและสี สีก็ความเป็นอยู่ สถานะเรื่องของเงินทองของเขา ต้องไม่รบกวน ไม่ให้เขาเสียหาย แล้วก็กลิ่น ก็หมายถึงว่า คุณธรรม ความดี ศรัทธาของเขา ก็ต้องไม่รบกวน ไม่ทำให้เสีย แต่ว่าแมลงผึ้งนี้ ไปตอมดอกไม้ แทนที่จะทำให้เกิดผลเสีย ทำให้เกิดผลดีด้วย ใช่ไหม ทำให้ดอกไม้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น แพร่พันธุ์ขยายไป ภิกษุที่ปฏิบัติชอบ นอกจากไม่ทำให้ตระกูลชาวบ้านชอกช้ำแล้ว ยังทำให้เขาเจริญงอกงามยิ่งขึ้นด้วย นี่เป็นหลักของพระพุทธเจ้า ระวังมาก พระท่านไม่ให้ไปรบกวนชาวบ้านเป็นอันขาด มีวินัยไว้เยอะแยะเลย ห้ามพระขอ ถ้าออกปากขอชาวบ้านปั๊บ เป็นมิจฉาชีพ ท่านใช้คำแรงมาก
เอาละเป็นอันว่าเดี๋ยวกลับมา ตอนนี้ก็มาถึงเรื่องที่ว่า ทางที่จะหาความสุขนี้ เพิ่มขึ้นมาแล้วจากการพัฒนาคุณธรรม มีศรัทธา มีเมตตา ก็ทำให้เรามีความสุขจากการให้ ซึ่งเป็นความสุขที่ดีกับชีวิตของเราด้วย แล้วก็ดีต่อสังคม กลมกลืนไปด้วยกัน แค่นี้ก็เห็นชัดแล้ว ใช่ไหม
ต่อไปพัฒนาชีวิตให้มีความสุขมากขึ้น วิธีต่อไป ความสุขประเภทต่อไปทำยังไง คนเรานี้มีอยู่อันหนึ่ง คือว่า เราดำเนินชีวิตไป เราไม่รู้ตัวว่า เราอยู่ในโลกของมนุษย์ โลกของมนุษย์นี้ มนุษย์เราสร้างขึ้นนะ โลกมนุษย์ มนุษย์สร้างขึ้นมา ปรุงแต่งขึ้นมา ประดิษฐ์ขึ้นมา ไปๆ โลกมนุษย์นี้ก็แยกขึ้นมาเป็นอีกโลกหนึ่งต่างหาก จากโลกของธรรมชาติ โลกที่แท้มันมีอยู่แล้ว คือ โลกของธรรมชาติ แต่เดิมเลย มนุษย์เราเกิดมา ก็เกิดมาในโลกของธรรมชาติ แต่ว่ามนุษย์นั้นมีอริยธรรมสร้างสรรค์ความเจริญขึ้นมา มีเทคโนโลยีต่อมา จนกระทั่งว่า เกิดเป็นโลกของมนุษย์ โลกของมนุษย์ที่ต่างหากจากโลกของธรรมชาติ มนุษย์ปัจจุบันบางคน วันๆ หนึ่งอยู่ในโลกของมนุษย์ แทบจะไม่ได้แตะธรรมชาติเลย แต่โลกของมนุษย์ที่ต่างหากจากโลกธรรมชาติเลย แล้วคนบางคนนี่ ก็เลยมีชีวิตที่เรียกว่าแปลกแยกจากธรรมชาติ แปลกแยกจากธรรมชาติทั้งชีวิตความเป็นอยู่พฤติกรรม และทางจิตใจ ทั้งปัญญาด้วย ความรู้ก็รู้ไม่ถึงธรรมชาติ รู้อยู่แค่โลกมนุษย์ รู้แค่เรื่องของสิ่งที่มนุษย์ปรุงแต่ง เทคโนโลยีวันๆ หนึ่ง บางคนนี่ออกจากบ้านไปทำงาน กลับจากทำงานมาบ้าน ไม่เคยเห็นฟ้า ไม่เคยเห็นดาว ไม่เคยตั้งใจดูดาว ไม่เคยดูพระอาทิตย์ พระจันทร์เลย เป็นไปได้ไหม มีไหม มีใช่ไหม อยู่แต่ในโลกของมนุษย์ อย่างเดียวเลย โลกมนุษย์เลยบังโลกธรรมชาติเลยนะ บางคนนี่ มองไม่เห็น ทีนี้ไปๆ มาๆ มันหลงสิ มันหลงในโลกมนุษย์ หลงในโลกมนุษย์ สิ่งที่มนุษย์สร้างนี่ ท่านเรียกว่า สมมติ
สิ่งที่มนุษย์สร้างทั้งหลายนี้ เรียก สมมติ หมดเลย สมมติก็คือสิ่งที่มนุษย์ตกลงกันเอา สมมติไม่ใช่ของหลอก ของเหลวใหลนะ ต้องเข้าใจก่อน สมมติแปลว่า สิ่งที่มนุษย์ตกลงกันไว้ว่าอย่างนั้น ตกลงกันว่าอย่างนั้น มาจากคำว่า สัง + มติ มติแปลว่า การยอมรับหรือข้อตกลง แล้วก็ “สัง” ร่วมกัน สมมติ มนุษย์ตกลงกันว่ายังไง ก็ว่าอย่างนั้น เราจะเรียกอันนี้ว่า นาย ก คนนี้ คุณ ข หรือเรียกอันนั้นเป็นอันนี้นะ แม้แต่ขออภัยพระพุทธรูป เราก็สมมติ ใช่ไหม สมมติเหล่ามนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมา แล้วก็วางข้อตกลงกันอย่างนั้นๆ เราก็ถือกันไปตามสมมติอย่างนี้ โลกมนุษย์ก็เป็นโลกของสมมติ ซึ่งซ้อนขึ้นมาบนโลกของธรรมชาติ ทีนี้แม้แต่กฎเกณฑ์ในหมู่มนุษย์ก็กลายเป็นกฎสมมติด้วย ตอนนี้อาตมาก็จะยกตัวอย่างอันเก่าที่พูดบ่อยๆ เพราะมันเข้าใจง่ายมาให้ดู ว่ามนุษย์เราแม้แต่สร้างกฎสมมติขึ้นมา เป็นกฎของมนุษย์ซ้อนอยู่บนกฎธรรมชาติ แล้วถ้าไม่ระวัง เราจะหลงสมมติ แล้วก็ติดอยู่แค่กฎสมมติ ไม่ถึงธรรมชาติ ถ้าชีวิตไม่ถึงธรรมชาติเมื่อไร เป็นปัญหาทันที เป็นปัญหาในเรื่องความสุข ความทุกข์ด้วย ก็จะยกตัวอย่างเก่าๆ ที่เคยพูดมาแล้ว ก็คือว่า เราตั้งกฎเกณฑ์ของมนุษย์ เช่นว่า เราจ้างคนมาทำงาน แล้วเราก็ให้เงินเดือน การทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุ และเงินเดือนนั้นเป็นผล อันนี้เป็นกฎของมนุษย์ตั้งขึ้นมา เช่นว่า จ้างคนมาทำสวน บอกว่าคุณมาทำสวน ๑ เดือน แล้วฉันให้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท การทำสวนเป็นเหตุ เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผล เป็นจริง ใช่ไหม จริงนะ เพราะว่าเงิน ๕,๐๐๐ บาทจะได้ ก็เป็นผลจากการทำสวน ๑ เดือน นี่เป็นเหตุ เป็นผล จริง เราก็ใช้กฎในหมู่มนุษย์อันนี้เยอะเลย กฎมนุษย์ขึ้นมา สร้างขึ้นมาในกฎนี้ ไม่มีในธรรมชาติ แต่ว่ามันไม่ใช่แค่นั้น ไม่มีในธรรมชาติ แล้วถามว่ามันเป็นจริงแท้แน่หรือเปล่า เมื่อกี้บอกว่าจริง ดูมันเป็นเหตุเป็นผล แต่ว่าจริงแท้ไหม ถามว่าการทำสวนเป็นเหตุ การได้เงิน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผล จริงแน่หรือ เมื่อกี้ว่า “จริง” ตอนนี้ถามย้ำอีกว่า “จริงแน่หรือ” แน่หรือเปล่า แน่ แต่ว่าแน่โดยสมมติ แน่โดยสมมติ คือ แน่โดยสมมติ สมมติแปลว่า การตกลงร่วมกันหรือยอมรับร่วมกัน หมายความว่า มันจริงโดยการตกลงร่วมกัน ยอมรับร่วมกันด้วยนะ ถ้าไม่ยอมรับ จริงไหม ไม่จริง เพราะฉะนั้น ที่มันจริง จริงเพราะยอมรับร่วมกัน ถ้าไม่ยอมรับเมื่อไร หมดความหมายเลย กฎไม่เป็นกฎ ใช่ไหม ทำสวน ๑ เดือน ฝ่ายให้เงินไม่ยอมรับเสียแล้ว เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทไม่มา ใช่ไหม หรือว่าไอ้เจ้านี่ ไม่ได้ทำอะไรเลย เกิดเสน่หาชอบใจขึ้นมา ให้เงิน ๕,๐๐๐ บาท ไม่ต้องทำสวน เอ๊ะ ผลได้โดยไม่ต้องมีเหตุ เหตุทำไปแล้วไม่เกิดผล ได้ผลโดยไม่ต้องทำเหตุ ก็มีใช่ไหม เพราะว่ามันขึ้นต่อการยอมรับร่วมกันต่างหาก เพราะฉะนั้น การยอมรับร่วมกัน นี่ท่านเรียกว่า สมมติ ฉะนั้น กฎของมนุษย์นี้ขึ้นต่อสมมติ นั่นจึงเป็นจริงโดยสมมติ ท่านเรียกเป็น สัจจา เป็นความจริง ท่านไม่ได้ปฏิเสธ แต่เป็นจริงโดยสมมติ เรียกว่า สมมติสัจจะ ฉะนั้น เราต้องรู้เท่าทัน คราวนี้การรู้เท่าทันสมมตินี่ ก็เพื่อเราจะต้องเข้าถึงความจริง ที่ซ้อนอยู่ในธรรมชาติ การที่เราวางกฎของมนุษย์ขึ้นมาเป็นสมมติ ว่าทำสวน ๑ เดือน ได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท ที่แท้มันมีกฎธรรมชาติซ้อนอยู่ อันนั้นเป็นตัวจริงที่ต้องการด้วย ถ้ามนุษย์ลืมอันนี้ละก็ พลาดทันทีเลย อะไรๆ แปรปรวน วิปลิสหมดเลย ลองมาดูกันสิว่า ภายใต้กฎของมนุษย์ที่สมมติกัน คือยอมรับ ตกลงร่วมกันว่า ทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทนั้น มันมีกฎธรรมชาติที่เป็นเหตุเป็นผลอะไรอยู่ แล้วถ้าเป็นกฎธรรมชาติ จะเป็นกฎที่แท้จริง เป็นเหตุเป็นผลที่แท้จริงด้วย การทำสวนเป็นเหตุ อะไรเป็นผลแน่ โดยธรรมชาติ ต้นไม้งอกงาม ใช่ไหม การทำสวนเป็นเหตุ ความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผล ถูกไหม ถูก อันนี้เป็นเหตุเป็นผลโดยธรรมชาติ ใช่ไหม ปฏิเสธได้ไหม อันนี้แน่นอน ถ้าคุณต้องการผล คุณต้องทำเหตุ และเหตุทำให้เกิดผล อันนี้เหตุผลในธรรมชาติ นี่เป็นกฎธรรมชาติและจริง เถียงไม่ได้ ไม่ต้องขึ้นต่อสมมติ คือ ไม่ต้องขึ้นต่อการยอมรับร่วมกันของคน นี่ต่างกันแล้ว ใช่ไหม เป็นอันว่า มันมีกฎธรรมชาติซ้อนอยู่ ซึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอนโดยธรรมชาติ ว่าการทำสวนเป็นเหตุ ความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผล คุณทำเหตุ ตั้งใจรดต้นไม้ ทำสวนให้ดี ต้นไม้ก็เจริญงอกงาม ทีนี้คุณต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม คุณต้องไปทำสวน ทำให้ดี นี่เป็นเหตุเป็นผลที่แท้โดยธรรมชาติ แล้วที่เราตั้งกฎสมมติขึ้นมา ให้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ในเมื่อมาทำสวน ที่จริงเราต้องการอะไร ถาม ที่ตั้งกฎมนุษย์ขึ้นมาว่า ให้ทำสวน ๑ เดือน ได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท ที่จริงต้องการอะไร ความต้องการที่แท้ ต้องการผลตามกฎธรรมชาติ ใช่ไหม คือต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ เพื่อจะให้มีผลตามกฎธรรมชาติ เราจึงตั้งกฎมนุษย์ซ้อนขึ้นมา เพื่อให้วางระบบสังคมให้มันสอดคล้อง ผลที่ต้องการแท้ๆ คือ ผลตามกฎธรรมชาติ นี่แหละคือการที่ว่า จะรู้ทันความจริงของธรรมชาติ รู้ทันสมมติหรือไม่ อยู่ในโลกมนุษย์ต้องรู้เท่าทันสมมติ ว่าที่แท้จริงสมมติขึ้นมานี้ เราต้องการความจริงที่แท้ซ่อนอยู่อีกทีหนึ่ง ถ้าเรายังไม่ลืมผลที่ต้องการตามธรรมชาติ เรายังไม่พลาด แต่ถ้าเราเกิดมาติดหลงสมมติอยู่ แค่กฎมนุษย์ที่ว่า ทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท และเราไม่ได้คำนึงถึงกฎธรรมชาติ ไม่คำนึงถึงการเจริญงอกงามของต้นไม้เลย อะไรจะเกิดขึ้น วิปริตแล้ว ใช่ไหม เริ่มแปรปรวนเลยสังคมมนุษย์ เริ่มวุ่นวายยุ่งยากเลย เพราะว่าคนจะมองแค่ว่า ทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท สิ่งที่ต้องการคือ เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท แล้วไม่มองเลยความเจริญงอกงามของต้นไม้ ตอนนี้มนุษย์เองก็จะขัดแย้งกัน แล้วก็ทำให้สังคมวิปริต เพราะผลที่ต้องการที่ว่า ความเจริญงอกงามของต้นไม้ก็ไม่เกิดขึ้น และนอกจากนั้น อะไรเกิดขึ้นอีกในใจคน คนที่ทำสวนโดยหลงสมมติ คือหลงอยู่ในกฎที่มนุษย์ตั้งขึ้น เพียงว่าทำสวน ๑ เดือน เพื่อเงิน ๕,๐๐๐ บาท เขาหลงสมมติแล้ว จิตเขาไม่ถึงธรรมชาติ เขาไม่รู้เท่าทันสมมติ จิตเขาไม่ถึงความจริงที่แท้ว่า สิ่งที่ต้องการที่แท้คือ ความเจริญงอกงามของต้นไม้ เขาไม่นึกถึงอันนี้ เขาลืมแล้ว เขาละเลยหลงลืมความจริงของธรรมชาติ เขามาหลงติดอยู่แค่สมมติ ชีวิตของคนที่หลงสมมติจะเป็นอย่างไร เขาต้องการเงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเท่านั้น ฉะนั้น การทำสวนจะเป็นสิ่งที่เขาไม่ต้องการทำ เพราะว่าการทำสวนนี่ ที่จริงเขาต้องการเงิน ๕,๐๐๐ บาท การทำสวนมาทำให้เขาต้องรอ แหมกว่าจะได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท ต้องรอตั้งเดือน และต้องจำใจทำ ตอนนี้ผลที่เกิดขึ้นในจิตใจ คืออะไร คือ ความจำใจ ความฝืนใจ ความไม่เต็มใจจะทำงาน การทำงานนั้นเป็นเพียงเงื่อนไข เพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ ตามสมมติของมนุษย์ เพราะฉะนั้น เขาจะทำด้วยความรู้สึกที่ว่า ไม่เต็มใจ ไม่ตั้งใจ จิตใจก็เป็นทุกข์ เมื่อไม่ตั้งใจทำ ก็ทำไม่ค่อยได้ผลดี หาทางหลีกเลี่ยง ถ้าเขาเกิดได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท โดยไม่ต้องทำสวน เขาเอาทันที เขาเลี่ยงทันที เขาจะเลี่ยงงาน ฉะนั้น คนที่มีจิตใจหลงสมมติอย่างรุนแรง กลั้นไม่ไหว อดไม่ไหว ก็จะทุจริตเลย รอไม่ไหวแล้ว ทำงานทำสวน ๑ เดือน นี่มันทรมานเต็มที ถ้าหากก็ได้ช่อง ก็รีบไปเอาเงิน ๕,๐๐๐ บาท ดีไม่ดี ได้ ๑๐,๐๐๐ บาทด้วยซ้ำ ดีกว่า ฉะนั้น ก็เลยไม่ได้ความ จิตใจเป็นทุกข์ด้วย งานก็ไม่ได้ผล ทีนี้ถ้าหากว่าเขาไม่หลงสมมติ เขาก็ต้องการผลตามเหตุของธรรมชาติ เขาก็คือ ต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ ถ้าหากว่าคนทำสวน มีใจรักความเจริญงอกงามของต้นไม้ ทำสวนด้วยใจรัก ต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ คือ ต้องการผลตามกฎธรรมชาติ อันนี้จะสอดคล้องกลมกลืน พอสอดคล้องกลมกลืนแล้ว งานก็ได้ผล เพราะตั้งใจทำ คนก็สบายใจ ทำด้วยความยินดี เพราะว่าเขาอยากให้ต้นไม้เจริญงอกงาม มันบังคับในตัว ต้องไปตั้งใจดูแล แล้วมันจะทำให้เขาทำงานได้ผลจริงๆ ด้วยนะ ลองคนสวนคนไหนรักต้นไม้ อยากให้ต้นไม้เจริญงอกงาม คนจ้างไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไช ไม่ต้องไปคุม เขาตั้งใจทำ บางทีดีกว่าเราไปคอยบอกอีก ใช่ไหม เพราะเขาตั้งใจทำ เขาดูแลต้นไม้ เอาใจใส่เต็มที่ งานได้ผล แต่ที่จริงสำคัญก็คือ จิตใจเขามีความสุข เพราะว่าเวลาเขาทำนั้น การกระทำทุกครั้งของเขานั้น คือการทำให้ผลที่ต้องการเกิดขึ้น เขาก็คอยดู พอเห็นต้นไม้ต้นนี้งาม เขาก็ใจสบาย เขาก็ดีใจ มีความสุขในการทำงานด้วย ฉะนั้น ชีวิตที่ดำเนิน ไปอย่างถูกต้องสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ แม้มีสมมติเกิดขึ้น ก็ให้รู้เท่าทันตามเป็นจริง ไม่หลงสมมติ ชีวิตที่ดำเนินไปโดยสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ ทำเหตุเพื่อต้องการผลที่แท้ตามธรรมชาตินั้น ก็จะเป็นชีวิตที่ได้ความสุขในตัวเอง คนที่ทำงานด้วยตัวนี้ ต้องการผลตามาธรรมชาติ ท่านเรียกว่า มีฉันทะ พอมีฉันทะ ก็มีความสุข เวลาทำงานมีความสุข ใครทำอันนี้ให้เกิดขึ้นได้ งานการทำมาหาเลี้ยงชีพนั้น เป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเรา ถ้าเราทำได้แค่จิตหวังสมมติ เราจะอยู่ด้วยความทุกข์ เพราะงานเป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเรา เราต้องสร้างอันนี้ให้ได้ คือสร้างฉันทะในงาน ความรักประโยชน์ที่เกิดจากตัวงานที่เป็นเหตุแท้ๆ ถ้าอันนี้เกิดขึ้นก็เป็นผลตามธรรมชาติ แล้วเราจะทำงานด้วยความเป็นสุข และชีวิตส่วนใหญ่ของเราก็จะเป็นสุขด้วย เพราะว่า บอกแล้วว่าการทำมาหาเลี้ยงชีพนั้น เป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเรา พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า “กรรม” คือการงาน ถือว่ากรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่ อยู่ที่การทำงานหาเลี้ยงชีพ ต้องทำอันนี้ให้ได้ เพราะฉะนั้น ชีวิตของคนจำนวนมาก ทุกข์เพราะว่าไม่สามารถมีความสุขในการทำงาน แล้วงานเป็นส่วนใหญ่ของชีวิต เขาก็เลยมีชีวิตส่วนใหญ่เป็นทุกข์ นี่ถ้าหากว่าเขาเปลี่ยนเสีย ทำให้เขามีความพอใจในงาน เขาจะทำงานด้วยความสุข เหมือนอย่างตัวอย่างง่ายๆ ก็เหมือน แม้แต่กวาดบ้าน คนหนึ่งกวาดบ้านด้วยต้องการรางวัล เด็กคนหนึ่งกวาดบ้านต้องการรางวัล ๒๐ บาท ๓๐ บาท หรือต้องการขนม ที่เป็นรางวัลล่อ และเด็กอีกคนหนึ่งกวาดบ้านเพราะอยากได้ความสะอาด รักเด็กรักความสะอาด แล้วกวาดบ้าน ขอให้คิดดูว่า เด็ก ๒ คนนี้ต่างกันอย่างไร เด็กที่กวาดบ้านต้องการขนม ต้องการรางวัลเเงินตอบแทน ก็จะมี
๑ ก็คือว่า ไม่มีความสุขในการกวาดบ้าน ต้องทนจำใจทำ
๒ ไม่ตั้งใจทำ หาทางหลีกเลี่ยง คนที่ให้รางวัลต้องคอยคุมดูอยู่ ไม่งั้นแกเลี่ยงไม่ทำ แกไปบอกว่าทำแล้ว แล้วก็ไปเอาสตางค์
ทีนี้พอเด็กคนไหน ชอบความสะอาด รักความสะอาด เด็กคนนั้นจะตั้งใจกวาดบ้านเอง โดยไม่ต้องไปบอก ไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชบังคับ และเด็กก็จะมีความสุขในการกวาดบ้านด้วย ใช่ไหม ฉะนั้น เราจะต้องทำให้คนมีฉันทะให้ได้ ก็คือจะต้องให้เขารักผลที่เกิดตามเหตุของมัน ที่เป็นเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ
ฉะนั้น คนเรานี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ถ้าเราดำเนินชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริงในกฎธรรมชาติ ดำเนินชีวิตสอดคล้อง ด้วยความรู้มีปัญญาตามเป็นจริงอย่างนั้น ไม่หลงสมมติเสีย เราก็ได้ความสุขขึ้นมาอีกประเภทหนึ่ง แต่นี่เป็นเพียงตัวอย่าง ยังมีอีก อาตมาก็จะยกตัวอย่างเพิ่มขึ้น คือคนเรานี้พัฒนาถูกต้องตามกฎธรรมชาติแล้ว ความสุขมันจะมีมา ถ้าพัฒนาผิด เกิดปัญหาทันที อันหนึ่งก็คือว่า มนุษย์เรานี้อยู่ในโลกนี้ ชีวิตมนุษย์เป็นชีวิตของการฝึกฝน ชีวิตของการเรียนรู้ มนุษย์นั้นอยู่ด้วยการเรียนรู้และฝึกทั้งนั้นเลย ชีวิตของเรานี้ ไม่ได้อยู่เพียงด้วยสัญชาตญาณ สัตว์ชนิดอื่นนั้น อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ เป็นยังไงล่ะ สัตว์ชนิดอื่นนั้นเกิดมาปั๊บ ก็รู้โดยสัญชาตญาณ ที่จะเดิน จะกิน จะหากินต่างๆ เขาทำไปได้ มีชีวิตอยู่รอด เช่นว่าออกจากท้องแม่ วันนั้นก็เดินได้เลย หากินได้เลย ว่ายน้ำได้เลย แต่มนุษย์เรานั้น ไม่เป็นอย่างนั้น มนุษย์เรานี่ ชีวิตอยู่ได้ด้วยการศึกษา ด้วยการฝึก ด้วยการเรียนรู้ทั้งสิ้น พอเราเกิดมา เราช่วยตัวเองไม่ได้เลย