แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ต่อจากนี้ก็เข้าสู่หัวข้อที่สาม หัวข้อที่สามก็คือตอนที่จะสมาทานกรรมฐาน เริ่มลงมือปฏิบัติซึ่งตามปกติก็จะเป็นเรื่องที่ต้องทำในวันที่เข้าเจริญภาวนาเลย วันที่จะเริ่มลงมือปฏิบัติ ท่านมักจะมีพิธีกรรม พิธีกรรมต่างๆเหล่านี้ต้องทำความเข้าใจกันไว้ก่อน ว่าที่จริงนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น คือเราอาจจะเจริญกรรมฐานไปเลยก็ได้ แต่พิธีกรรมนี้ท่านก็กำหนดขึ้นมา เรียกได้ว่าเป็นเครื่องเตรียมกายเตรียมใจ แล้วก็เตรียมบรรยากาศ คือทำให้จิตของเรานี้โน้มไป มีความพร้อมที่จะปฏิบัติ โดยเฉพาะ อาจจะชักจูงศรัทธา ทำให้มีศรัทธาเพิ่มขึ้น พอมีศรัทธาดีแล้ว ศรัทธานี้จะเป็นแรงช่วยเกิดกำลัง ทำให้ใจเราพุ่งไปในการปฏิบัติทำด้วยความตั้งใจจริง นอกจากนั้น ความที่มีศรัทธาเนี่ย มันจะเป็นตัวตัด สิ่งที่จะมารบกวนการเจริญภาวนา คือใจเราเนี่ย มีความมั่น เชื่อ มุ่งไปในการปฏิบัติ เชื่อไปในคำสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อในคุณของพระรัตนตรัย ใจเราก็ไม่คิดออกไปข้างนอก ไม่ไขว้ไม่เขว ฉะนั้นในเรื่องพิธีกรรมนี้ สิ่งหนึ่งก็คือท่านมุ่งให้เกิดศรัทธา หรือเสริมศรัทธา พอเสริมศรัทธาแล้วก็มีทั้งกำลังและก็มีทั้งการที่ช่วยตัดสิ่งรบกวนกังวลทั้งหลายออกไป ทำให้เกิดวิริยะ มีความเพียรเข้มแข็ง ฉะนั้น พิธีกรรมก็มีประโยชน์ในแง่นี้ สำนักพระอาจารย์ต่างๆหรือว่า สายของพระอาจารย์ต่างๆ ท่านก็ได้คิดพิธีกรรมหรือวิธีสมาทานขึ้นมา ซึ่งมีรายละเอียดมากบ้างน้อยบ้างต่างๆกัน ซึ่งเราไม่ต้องถือเป็นสำคัญ ก็ให้คิดว่า รวมแล้วก็คิดว่า ท่านก็สรรหาวิธีการอะไรต่างๆ เท่าที่จะคิดได้ในการที่จะเตรียมใจของเราให้พร้อมที่สุด พระอาจารย์คิดเรื่องนี้ได้ อันนี้ช่วยได้ก็อาจจะมากำหนดให้ลูกศิษย์ได้ทำ อีกสำนักหนึ่งอาจจะมองเห็นว่า มันมากมาย รกรุงรังเกินไป ท่านก็ไม่เอา ซึ่งบางอาจารย์ก็เห็นไม่เหมือนกัน บางพระอาจารย์นั้นพิธีกรรมแทบจะไม่เอาเลย ท่านบอกว่ามันรุงรัง แทนที่จะได้ผลดี ถ้าเราวางจิตไม่ถูกต้อง มันก็กลายเป็นทำให้จิตข้องกังวลได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องวางจิตให้ถูกต้อง อย่างน้อยรู้ความมุ่งหมายของพิธีกรรมว่า ทำเนี่ยเพื่อจะได้เตรียมใจ เตรียมกาย และเตรียมบรรยากาศให้พร้อมและช่วยส่งเสริมการปฏิบัติให้ได้ผล เพราะฉะนั้นใช้พิธีกรรมนี้ให้ถูกต้องในความหมายที่จะมาเป็นเครื่องส่งเสริมการปฏิบัติของเรา อย่าให้กลายเป็นเครื่องบั่นทอน เพราะฉะนั้นพิธีกรรมจะมีมากมีน้อย สลับกันของพระอาจารย์นั้น เอาเรื่องนี้ก่อน แล้วเอาเรื่องโน้นทีหลัง แต่อีกพระอาจารย์หนึ่ง กลับเอาพิธีกรรมส่วนนี้มาไว้หน้าส่วนโน้นไปไว้หลัง สลับกันไปสลับกันมา น้อยกว่ากันมากกว่ากัน อันนี้อย่าไปถือเป็นสำคัญ ทีนี้ในที่นี้ อาตมาก็เลยจะเอามาแสดงพอเป็นตัวอย่าง ให้เห็นเป็นจะให้เห็นเป็นคล้ายๆเป็นพิธีกรรมเป็นลำดับ เป็นลำดับของการสมาทาน ซึ่งสาระสำคัญก็จะมีอยู่สี่ห้าข้อด้วยกัน ก็เริ่มด้วยข้อหนึ่ง คือการบูชาพระรัตนตรัย อันนี้เป็นข้อปฏิบัติหรือพิธีกรรมที่ค่อนข้างสากลคือว่า ส่วนมากหรือแทบทุกสำนักก็จะเริ่มต้นอย่างนี้ แล้วต่อจากบูชาพระรัตนตรัยแล้ว ก็จะมีพิธีสมาทานศีล พอสมาทานศีลเสร็จแล้ว ก็มีพิธีถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า แล้วก็ถวายตัวหรือมอบตัวแด่พระอาจารย์ที่สอนกรรมฐาน พอต่อจากนั้น พอถวายตัวแก่พระอาจารย์แล้วก็ขอกรรมฐาน นี้เป็นตัวหลักๆที่สำคัญสี่ข้อ ทีนี้ต่อจากนั้น ก็ยังมีอีกคล้ายๆเป็นส่วนเสริมทำให้เสริมศรัทธา หรือทำให้ใจมีความโน้มไปในการปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ซึ่งสำนักต่างๆอาจจะไม่เหมือนกัน มากบ้างน้อยบ้างอย่างที่อาตมากล่าวไว้เบื้องต้น เช่น อาตมาจะยกตัวอย่างเช่นว่า บางสำนักพอขอกรรมฐานเสร็จแล้ว ก็จะมีการตั้งสัจอธิษฐาน หรืออธิษฐานจิตในการปฏิบัติเพื่อทำใจให้แน่วแน่ และปฏิญาณตนต่อพระรัตนตรัย ปฏิญาณตนต่อครูบาอาจารย์เพื่อให้ได้ผลจริงจัง ต่อไปก็จะมีการแผ่เมตตา แผ่เมตตานี้ใช้กันมากเป็นข้อปฏิบัติเสริมที่ใช้แทบทุกสำนัก คือทำให้ใจของเรานี้เอิบอิ่ม เยือกเย็น และมีความรู้สึกไร้เวรไร้ภัย สบายใจ พอแผ่เมตตานอกจากนั้นก็บางสำนัก ก็จะให้เจริญมรณสติ เพื่อจะทำให้เกิดความไม่ประมาท จะได้มากระตุ้นความเพียร แล้วบางสำนักก็จะให้เพิ่มไปถึงระลึกบุญของตน เรามีบุญที่ได้มาเจริญภาวนาอะไรอย่างนี้ บางสำนักก็จะให้จบท้ายด้วยการสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นเครื่องทำให้ใจเจริญศรัทธายิ่งขึ้น และใจสงบ ต่อจากนั้นแหละ ก็เริ่มลงมือปฏิบัติ ซึ่งข้อที่ห้าที่เป็นส่วนเสริมนี้ ตามปกติแล้วจะเป็นข้อปฏิบัติหรือพิธีกรรมที่เราไปทำในห้องปฏิบัติของเรา เช่นว่า สำนักที่มีการแยกเป็นห้องๆ ใครเข้าห้องของตัวแล้ว หลังจากขอกรรมฐานแล้ว ไปขอรวมกันหรือไปขอแยกกันแล้วแต่ กับพระอาจารย์ ต่อจากนั้นไปเข้าห้องแล้วก็ไปทำส่วนเสริมเหล่านี้ ที่ตั้งสัจอธิษฐานจิต แผ่เมตตาอะไรนี้ อาจจะไปทำในห้องของตนก็ได้ คือนิยมที่จะไปทำเฉพาะตัว นี่ก็เป็นลำดับที่อาตมายกมากล่าวเพื่อจะให้ได้เกิดภาพกว้างๆของการที่จะเข้าเจริญภาวนา ซึ่งคิดว่าท่านที่จะเจริญภาวนาก็คงจะได้เห็นแนววิธีอะไรต่างๆแล้วก็เกิดความเข้าใจพอสมควร อย่างที่อาตมากล่าวแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องพิธีกรรม ก็จะมีการกำหนดระเบียบแบบแผน บางสำนักก็จะมีพิธีกรรมเหล่านี้มาก แล้วก็มีรายละเอียดหยุมหยิม มีคำภาษาบาลีมาก ก็ทำให้ผู้เข้าปฏิบัติบางรายอาจจะทำให้ เกิดความอึดอัด หรือเกิดความรู้สึกเหนื่อย หรือยากเพราะฉะนั้นจะต้องทำใจเสียก่อน ยอมรับว่าเราจะเข้าไปปฏิบัติในสำนักไหน ท่านมีพิธีกรรมมาก ก็ปรับใจให้เข้ากับท่าน ให้รู้เท่าทันว่ามีวัตถุประสงค์อย่างที่อาตมากล่าวมาแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องเตรียมใจเตรียมกายเตรียมบรรยากาศ ถ้าทำให้เรามีใจสบายโน้มไปในการปฏิบัติ ทำให้มีศรัทธา ทำให้ใจสงบได้ อันนี้ก็ถือว่าได้ผลสมความมุ่งหมาย อันนี้ รายละเอียดเหล่านี้ อาตมามีเวลาก็จะได้พูดต่อไป ตอนนี้ได้ถือว่าแนวคร่าวๆ เค้าโครงทั้งหมด ในสามหัวข้อก็ได้กล่าวไปแล้ว ต่อจากนี้ก็จะไปพูดในรายละเอียดของพิธีกรรม ซึ่งเป็นหัวข้อที่สามนี้ ว่าวิธีสมาทานแต่ละข้อๆนี้ มีอะไรที่ควรจะทราบอีกบ้าง แต่ตอนนี้จะขอหยุดไว้ตอนหนึ่งก่อน ขอเจริญพร