แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
**ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ**
ขอเจริญพร บัดนี้ คณะบุญจาริกได้เดินทางมาโดยลำดับ เพื่อมนัสการสังเวชนียสถาน วันนี้ก็เป็นวันที่เจ็ดของการเดินทาง ส่วนในด้านของสังเวชนียสถานนั้น เรามาถึงสถานที่ปรินิพพาน และใกล้สถานที่ปรินิพพาน ที่เนื่องกันอยู่ก็คือ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ สำหรับสถานที่ถวายพระเพลิงอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถือว่าผนวกอยู่กับสถานที่ปรินิพพาน สถานสังเวชนียสถานแห่งนี้นับในพระพุทธประวัติก็ถือเป็นที่สี่ ลำดับสุดท้าย แม้ว่าเราจะเดินทางไม่ได้เป็นไปตามลำดับทั้งหมด แต่ว่าเราก็มาตามลำดับในสามแห่งสุดท้ายคือนับจากสถานที่ตรัสรู้เป็นต้นมา เราเดินทางมาอันนี้เป็นไปตามลำดับที่ถูกต้องอย่างแท้จริง คือว่าจากสถานที่ตรัสรู้ที่พุทธคยา ต่อมาก็มาที่สถานที่แสดงปฐมเทศนา ธัมมจักรกับปปวัตนสูตร ณ อิสิปปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี แล้วก็มาลงท้ายสถานที่นี้ คือสถานที่ปรินิพพาน ที่เมืองกุสินารา สถานที่นี้เป็นที่จบสิ้นของพระพุทธประวัติหมายถึงว่านับเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับพระชนมชีพของพระพุทธเจ้าเอง เราเดินทางมายังนี้ก็ได้มีความเพียรพยายามและมีขันติธรรมความอดทนเป็นอันมาก ดังที่อาตมาภาพได้เคยกล่าวแล้วว่าการที่เราเดินทางมาอย่างนี้มีความลำบากอย่างไรก็ตาม ถ้าเรามาด้วยศรัทธาเราวางใจถูกต้องแล้วเราก็ไม่มีความลำบากใจ คืออาจจะมีความเหนี่อยกายแต่ไม่เหนื่อยใจ เมื่อยกายแต่ใจไม่เมื่อย ใจกลับยิ่งมีปิติมีความอิ่มใจมากขึ้น ทำให้มีความสุขเป็นอานิสงส์ด้วย เราลองคิดดูว่า ประการที่หนึ่งก็คือว่า พระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองในประเทศของเราคือประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนพุทธศาสนานั้น มีความเจริญในด้านทั้งวัตถุและนามธรรม คือด้านวัตถุเราก็มีพระพุทธศาสนาที่เป็นสถาบันใหญ่โต มีคณะสงฆ์ใหญ่มีพระจำนวนตั้งสามสี่แสนรูป มีวัดวาอารามสามหมื่นกว่าวัด และยังมีศิลปวัตถุสถานต่างๆ มากมายทั่วประเทศ ในทางนามธรรมก็คือเรื่องของวิถีชีวิตจิตใจ เริ่มจากวัฒนธรรมเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาได้เป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย ปรากฏออกมาทั้งภาษา ทั้งวรรณคดีทั้งเรื่องของวิชาความรู้อะไรต่าง ๆ มากมายที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา และก็สิ่งเหล่านี้ได้สืบกันมาจากบรรพบุรุษของเราจากบิดามารดา ปู่ย่าตายายนับเป็นจำนวนหลายร้อยปีแม้กระทั่งเป็นพันปี และไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยพระพุทธศาสนาก็เจริญแพร่หลายไปในที่อื่นมากมาย ไปจนกระทั่งบัดนี้ก็ถึงทางประเทศตะวันตกกำลังได้รับความสนใจ ในประเทศทางยุโรป ทางอเมริกา มีความชาวพุทธจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งหมดนั้นที่มีความกว้างขวางแผ่ขยายไปไพศาลนั้น จุดเริ่มต้นก็มาจากที่ชมพูทวีปดินแดนที่เราได้จาริกมาทั้งหมดนี่เอง บัดนี้เราได้มาถึงสถานที่อันเป็นจุดกำเนิดของพระพุทธศาสนา จุดตั้งต้นของความเจริญงอกงามทั้งหมดนั้นแล้ว เราก็ควรจะมีความปิติอิ่มใจมีความยินดี ถ้าเรามองในแง่ของสถานที่เอง ก็จะเห็นเป็นว่าสถานที่เหล่านี้ ไม่ค่อยมีความหรูหร่า โอ่อ่าเท่าไหร่ แต่ว่ากลายเป็นที่ ที่ปรักหักพังทรุดโทรมไปตามกาลเวลา อันนี้ก็เป็นเครื่องทำให้เราได้ธรรมะ คือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแสดงไว้แล้ว ทำให้เห็นความจริงตามพระธรรมนั้นยิ่งขึ้น คือพระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้แล้วว่า สังขารทั้งหลายนั้นไม่เที่ยงมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา สถานที่เหล่านี้แหละที่เคย เป็นจุด เป็นแหล่งเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรือง พระราชา มหากษัตริย์ เคยยกทัพกันไปกันมาอยู่บริเวณนี้ มีชุมชน มีมหานครอะไรต่างๆ มากมาย แต่บัดนี้สถานที่เหล่านี้ก็ได้กลายเป็นป่าดง เป็นทุ่งนา เป็นสถานที่ห่างไกลเป็นบ้านนอกไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งหลาย ถ้าเราทำใจได้ตามนี้แล้ว เราก็จะได้ปัญญาเกิดความรู้เข้าใจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติ เกี่ยวข้องกับความเจริญรุ่งเรืองความแตกขยายตัวของพระพุทธศาสนานั้น ทำให้เราเกิดปิติความอิ่มใจและพร้อมกันนั้น การได้เห็นอนิจจังก็ทำให้เราได้ปัญญา ที่ทำให้เกิดวามรู้เท่าทันความเป็นจริงของสังขาร ทั้งหมดนี้ก็น้อมนำไปสู่การที่จะได้นำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องนำทางชีวิตปฏิบัติให้ถูกต้องสืบต่อไป แล้วก็อีกประการหนึ่งก็จะทำให้เจริญศรัทธาในพระพุทธเจ้า ในแง่ที่ว่าพระองค์ได้เสด็จจาริกไปได้สละพระวรกายเพื่ออุทิศในการบำเพ็ญพุทธกิจ ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปก็ด้วยพระมหากรุณา พระพุทธศาสนาได้มาถึงเรา เราได้นับถือพระพุทธศาสนา สังคมของเราในประเทศไทย ก็ได้อยู่เย็นเป็นสุขมีสันติสุข ก็ได้อาศัยพระบารมีของพระพุทธเจ้า อันนี่เราได้เดินทางมาเพียงแค่นี้เราก็ได้เห็นความลำบากว่า ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงเดินทางจาริกด้วยพระบาทเปล่านี่ลำบากกว่าเรามากมาย เราเดินทางด้วยรถยนต์ยังขนาดนี้เลย พระพุทธเจ้าจะทรงลำบากพระวรกายเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่น อย่างสถานที่นี้ ที่เราเดินทางมาคือเมืองกุสินารานี้ ถ้าวัดจากเมืองราชคฤห์มานี้ ตามหนังสือตามคัมภีร์ท่านบอกว่า เป็นระยะทาง ๒๕ โยชน์ ๒๕ โยชน์ นี้ถ้าหากว่า คำนวณตามตัวเลข โยชน์นึงก็ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร ก็จะได้ประมาณ ๔๐๐ กิโลเมตร อันนี้ก็เรียกว่าวัดแบบตรงมาคือว่าไม่ได้ผ่านมาตามลำดับอย่างของเรา ของเรานี่ยังไปผ่านพาราณสี จากราชคฤห์เรามาผ่านพาราณสี ป่าอิสิปปตนมฤคทายวันก่อน แล้วจึงมานี่ระยะทางของเรานั้นไกลกว่า แต่ของพระพุทธเจ้า ถ้าวัดจากเมืองราชคฤห์มาที่นี่ ๒๕ โยชน์ ที่นี้ถอยหลังไปอีกก็คือที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากทางโน้นที่ตรัสรู้ ที่พุทธคยาทางใกล้เมืองราชคฤห์ แล้วก็เสด็จมาที่ป่าอิสิปปตนมฤคทายวัน ที่แสดงปฐมเทศนานั้น ตามคัมภีร์เค้าว่า ๑๘ โยชน์ ๑๘ โยชน์ ก็เป็นระยะทาง คำนวณด้วยตัวเลขปัจจุบันเป็นกิโลเมตร ก็ประมาณ ๒๘๘ กิโลเมตร จากตัวเลขทางรถยนต์ที่ท่านมหาสุทินบอก สักประมาณ ๒๔๐ กิโลเมตร ตัวเลขนี่ก็ผิดกัน ๔๘ กิโลเมตร ก็นับว่าไกล้เคียงนั่นแหละ ก็เพราะในสมัยก่อนนี้ไม่มีเครื่องสมัยใหม่ การเดินทางก็ใช้เกวียน การเดินทางก็อาจจะคดเคี้ยวมากกว่านี้ ก็เป็นระยะทาง ๑๘ โยชน์ พระพุทธเจ้าเสด็จเดินทางด้วยพระบาทเปล่า ๑๑ วัน พวกเรานี่เดินทางด้วยรถยนต์ ๑๑ ชั่วโมงเศษ ก็ลองคิดดูว่าพระพุทธเจ้าลำบากกว่าเราแค่ไหน พระพุทธองค์ทรงเสด็จพุทธกิจตลอดพระชนม์ชีพเดินทางไปที่โน้นที่นี่ จนกระทั่งมาจบลงที่นี่ เราก็ได้เดินทางมา ตามรอยพระพุทธบาทตามทางพุทธกิจจนกระทั่งถึงที่สุดท้ายเช่นเดียวกัน อันนี้ก็ถือว่าเราก็ได้ทำกิจของเราเต็มที่ ในฐานะพุทธศาสนิกชนมานมัสการพระพุทธเจ้าถึงสถานที่ปรินิพพานของพระองค์แล้ว ฉะนั้นก็ขอให้พวกเราได้มีความปิติปลาบปลื้มใจว่า นี่เราได้ไปทุกแห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไป อย่างน้อยก็คือสถานที่เหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติ คือที่ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนาและปรินิพพาน แล้วต่อนี้เราจะย้อนต้นไปที่ประสูติอีกครั้งหนึ่ง นี่ก็ให้โยมได้เกิดความมั่นใจ ภูมิใจ มีความอิ่มใจในบุญในกุศลที่ได้ทำมาทั้งหมดนี้ เราก็ถือว่าเป็นเครื่องบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า คือหมายความว่าที่เราเดินทางจาริกนี้ถวายเป็นพุทธบูชาทั้งหมด ถ้าเราได้เหน็ดเหนื่อยอะไรไปนี่ ก็ถือว่ายิ่งดี ว่าถ้าเราได้เหน็ดเหนื่อยมาก ลำบากมากก็แสดงเราได้ใช้ความเพียรอย่างสูงแล้ว เราได้มีเครื่องบูชาพระพุทธเจ้ามาก ท่านผู้ใดถ้าหากว่ามีความลำบากเหน็ดเหนื่อยอะไรในตอนนี้ขอให้สบายใจทั้งหมดเต็มที่เลย บอกว่า ยิ่งเราลำบากเท่าใดแสดงว่ายิ่งได้บูชาพระพุทธเจ้ามากเท่านั้น โยมนึกอย่างนี้สบายใจ อิ่มใจและก็ปลื้มใจ นี่ก็ขอให้โยมได้บุญได้กุศลอันนี้โดยทั่วกัน ที่นี่สำหรับเรื่องราวของพุทธประวัติที่เกี่ยวกับสังเวชนียสถานนี้ โยมก็ควรได้ทราบไว้เพื่อเป็นเครื่องประดับศรัทธาและปัญญาบารมี และในตอนที่ผ่านมานี้ก็เสียโอกาสไปบ้าง เพราะว่าในที่บางแห่ง ธรรมชาติไม่อำนวยคือสถานที่แสดงปฐมเทศนามีฝนมีลูกเห็บก็เลยไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่สมควร อาตมาก็เลยจะต้องรวบรัดเอามาพูดในที่นี่ ที่นี้ก็เรื่องที่พูดก็เลยมีเนื้อหามากมาย เวลาก็จำกัด ก็เลยต้องมาคิดว่า จะพูดอย่างไงจะให้เหมาะกับกาลเวลานี้ แต่ว่าอยากจะท้าวความนิดนึงว่าสถานที่นี้เป็นที่ปรินิพพาน เป็นที่จบท้าย การแสดงธรรมก็เหมือนกับสรุป สรุปที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเสด็จจาริกมาเกี่ยวเนื่องด้วยสถานที่ทั้งหมดที่เราได้ผ่านมาแล้ว อาตมาก็อยากจะสรุปอีกนิดหน่อย คือว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ที่พุทธคยาโน้นไกลออกไป ที่อาตมาบอกเมื่อตะกี้ว่าประมาณสัก ๒๕ โยชน์ ประมาณสัก ๔๐๐ กิโลเมตร ณ สถานที่นั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสด็จจาริกมาที่ป่าอิสิปปตนมฤคทายวัน มาแสดงปฐมเทศนา ที่เมืองพาราณสีได้กล่าวแล้วว่าพระองค์เสด็จเดินทางมาประมาณ ๑๑ วัน แต่ว่าก่อนที่จะเดินทางมานั้น พระองค์ได้เสวยวิมุตติสุขก่อน เมื่อตรัสรู้นั้นเป็นวันเพ็ญเดือนหก วันเพ็ญเดือนหกนี่ นับมาอีก ๔๙ วัน แล้วก็เดินทางอีก ๑๑ วันเป็น ๖๐ วัน เป็น ๖๐ วัน ก็หมายความว่า ๒ เดือน ๒ เดือน ก็มาพอดีกลางเดือนแปด ตรัสรู้กลางเดือนหก ก็มาที่ป่าอิสิปปตนมฤคทายวัน นี้กลางเดือนแปด กลางเดือนแปด ก็ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เบญจวัคคีย์ คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร วันเพ็ญเดือนแปด ก็ที่เราทำพิธีที่เรียกว่าอาสาฬหบูชา นั้นเป็นวันปฐมเทศนา วันเพ็ญเดือนแปด นี่จะตรงตามลำดับที่ประเพณีที่เราทราบกันดีอยู่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ณ ที่นั้นแล้ว ก็ได้ทำพุทธกิจ ได้เสด็จจาริกแสดงธรรมอีกเป็นเวลา เท่าไหร่ ๔๕ พรรษานับจากนั้นมา ๔๕ พรรษานี่ในระหว่างนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่หลายแห่งจะลองสรุปให้ดู พรรษาแรกก็คือที่ป่าอิสิปปตนมฤคทายวัน นั้นที่ว่าแสดงปฐมเทศนา ที่แสดงปฐมเทศนานั้นมีความสำคัญมากที่ว่า หนึ่งก็แสดงธรรมครั้งแรกธรรมจักกัปปวัตตนสูตรปฐมเทศนา สองก็ได้ปฐมสาวกองค์แรก คือพระอัญญาโกณฑัญญะที่ได้ดวงตาเห็นธรรม และก็ได้ขออุปสมบท บวชเป็นพระภิกษุองค์แรกในพระพุทธศาสนา และก็ทำให้เกิดเป็นพระสงฆ์องค์แรกด้วย ก็เลยมี เค้าเรียกว่าเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบสาม ก็คือว่าเดิมนั้นมีแต่พระพุทธเจ้า และพระธรรม สองอย่าง พอพระอัญญาโกณฑัญญะได้บวช ก็ทำให้เกิดมีสงฆ์เป็นองค์แรกต่อจากนั้นเบญจวัคคีย์ก็บวชตามกันมาจนกระทั่งครบ ก็เป็นอันว่าเป็นวันที่เกิดสังฆะ รัตนะ ขึ้นมาในโลก แล้วก็เป็นที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาแรกอีกด้วยที่อิสิปปตนมฤคทายวัน มีแรก มีที่หนึ่งหลายอย่าง จากพรรษาที่หนึ่งแล้วพระพุทธเจ้า มีพุทธกิจเสด็จจาริกไปยังต่างๆ บำเพ็ญพุทธกิจ ๔๕ พรรษา ในระหว่าง ๔๕ พรรษานี้ ก็มีสถานที่จำพรรษามากมาย ก็โดยสรุปแล้วมีที่ที่พระพุทธเจ้าจำพรรษามากอยู่สัก ๓-๔ แห่ง ๑ ก็เมืองราชคฤห์ นั่นแหละที่เป็นที่แรก ที่พระพุทธเจ้าประดิษฐานพุทธศาสนาที่เราผ่านมาแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาที่นั้น ๕ พรรษาด้วยกัน คือ พรรษาที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๑๗ หรือ ๒๐ หมายความว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่เมืองพาราณสี มาแสดงปฐมเทศนา ก็โปรดเบญจวัคคีย์เท่านั่นเอง ความจริงแล้วนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จตรัสรู้ที่พุทธคยานั้นก็อยุ่แถบเมืองราชคฤห์อยู่แล้วใกล้กันโน้น แต่ว่าเพราะระลึกถึงเบญจวัคคีย์ที่เคยปฏิบัติพระองค์ และก็ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพื้นความรู้ ความเข้าใจ เรียกได้ว่ามีธุลีในดวงตาน้อยอยู่แล้ว เพราะเป็นผู้มุ่งต่อการแสวงหาสัจจธรรม พระองค์ก็ได้เสด็จมาโปรดและอีกอย่างหนึ่งก็เหมือนกับว่าเป็นเครื่องที่ทำให้เกิดความมั่นใจในการตรัสรู้ เพราะว่าถ้าพระองค์ปล่อยเบญจวัคคีย์ไว้ มองในแง่หนึ่งก็คือ เบญจวัคคีย์นี้ สละ ละพระองค์มาด้วยความเข้าใจพระพุทธเจ้านี่ คลายความเพียร เลิกความเพียร หมดทางตรัสรู้เสียแล้ว แล้วถ้าพระองค์ปล่อยทิ้งไป เบญจวัคคีย์ก็อาจจะไปเที่ยวพูดอย่างไรก็ได้ว่า ท่านผู้นี้ เราเคยไปอยู่ด้วย ปฏิบัติมาแล้วท่านไม่ตรัสรู้หรอก ไม่มีทางอะไรต่างๆ พระองค์มาโปรดเบญจวัคคีย์นี่ ทำให้เบญจวัคคีย์ยอมรับ เบญจวัคคีย์ก็กลายเป็นสาวกที่ยิ่งสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในการประกาศศาสนา ดังนั้นพระองค์เสด็จมา พาราณสี ป่าอิสิปปตนฯ นี่พุทธกิจก็คือการมาโปรดเบญจวัคคีย์ เสร็จแล้วก็ได้โปรดท่านผู้อื่นอีกบ้าง และก็ส่งสาวกชุดแรกออกไปประกาศศาสนาก็ที่เมืองพาราณสีนี่แหละ เสร็จแล้วพระองค์ก็เสด็จไปโน้นไปราชคฤห์ และไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์ โดยมีพระเจ้าพิมพิสาร เป็นพระสาวกองค์สำคัญเพราะเป็นพระมหากษัตริย์และได้ถวายวัดแรกในพุทธศาสนา คือวัดเวฬุวัน อันเป็นที่ที่ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ แล้วก็เกิดพิธีมาฆบูชาจากสถานที่นั้น ดังที่เราได้ผ่านมาแล้วล้วนจะเป็นที่สำคัญ และก็จำพรรษาที่ ๒ ที่ราชคฤห์นั่นแหละ ได้อัคครสาวกทั้ง พระสารีบุตร และพระโมคัลลา นี่ก็พระพุทธเจ้าได้ทรงทำพุทธกิจที่นั่น จากนั้นพระองค์ก็จำพรรษาต่อเป็นพรรษาที่ ๒, ๓ และ ๔ ดังนั้นจึงเสด็จไปยังที่อื่น และก็จำพรรษาที่โน่น ที่นี่นั้นเรื่อยมา ก็มามีสถานที่สำคัญที่จำพรรษามากอีกก็ คือที่สาวัตถี ที่วัดพระเชตวัน และวัดบุปผาราม อันนั่นก็เนื่องมาจาก อนาถบิณฑิกเศรษฐีแห่งสาวัตถี ได้เดินทางไปที่ราชคฤห์ นั่นเอง จุดเริ่มต้นก็ที่ราชคฤห์นั่นเอง อนาถบิณฑิกเศรษฐี นั้นไปเยี่ยมเยียนราชคหเศรษฐี เศรษฐีแห่งราชคฤห์ที่เป็นเพื่อนกันและไปพักนั่น ณ เมืองราชคฤห์ที่นั้นได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าฟังธรรม และด้วยความเลื่อมใส ต่อมาก็ได้ไปสร้างวัดพระเชตวันที่เมืองสาวัตถี นิมนต์พระพุทธเจ้าไปประทับ ก็ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่วัดพระเชตวัน นี้มาก และที่เชตวันนั้นก็ ต่อมานางวิสาขา มหาอุบาสิกาคนสำคัญมีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามาก ก็ไปสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งไม่ไกลกันในเมืองเดียวกัน คือในเมืองสาวัตถี วัดของนางวิสาขื่อว่า วัดบุปผาราม พระพุทธเจ้าประทับที่สองวัดนี้มาก ครั้งแรกไปประทับที่วัดเชตวัน พรรษาที่ ๑๔ และก็เสด็จไปที่อื่นๆ และก็ย้อนกลับไปจำพรรษาที่วัดเชตวันกับวัดบุปผารามอีกตั้งแต่พรรษา ๒๑ ถึงพรรษาที่ ๔๔ ตลอดเลย เป็นเวลาทั้งหมดที่จำพรรษาที่เมืองสาวัตถี นั้น ๒๕ พรรษา แบ่งเป็นที่ วัดพระเชตวัน ๑๙ พรรษา แล้วก็ที่บุปผารามของนางวิสาขาอีก ๖ พรรษา จากนั้นก็ได้เสด็จเตรียมปรินิพพาน ก็ไปจำพรรษาสุดท้ายโน้น พรรษาที่ ๔๕ ที่เวฬุวคามใกล้เมืองเวสาลี พรรษาสุดท้ายนั้นแหละเป็นจุดสำคัญนับจากนั้นมาก็เป็นเส้นทางเดินปรินิพพานและ นับตั้งแต่จำพรรษาที่เวฬุวคาม ที่เมืองเวสาลี เป็นพรรษาสุดท้ายเป็นต้นมา ก็จะมีเรื่องราวปรากฏในพระสูตรสำคัญพระสูตรหนึ่ง เรียกว่ามหาปรินิพพานสูตร มหาปรินิพพานสูตร นี่เป็นพระสูตรใหญ่ เล่าเรื่องเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า นับตั้งแต่ออกจำพรรษา ที่เมืองเวสาลี นั้นเป็นต้นมา ก็เล่าถึงเส้นทางเดินเสด็จ เสด็จพุทธดำเนินมาโดยตลอดทีเดียว แต่ว่ารายละเอียดนั้นเราไม่อาจจะมาพูดกันในที่นี่ได้ แล้ววันนี้เรามาสถานที่ปรินิพพาน อาตมาก็เลยจะเล่าเฉพาะหลักธรรมสำคัญที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ซึ่งพุทธศาสนิกชนควรจะได้รำลึกไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจในการที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จากเมืองเวสาลีเมื่อพระพุทธเจ้าจำพรรษาสุดท้ายที่ ๔๕ เสร็จแล้วก็เป็นเส้นทางพุทธดำเนินสู่ที่ปรินิพพานไปยังกุสินารา พระองค์ทรงได้แสดงธรรมสำคัญอยู่เสมอ ที่เรียกว่าเป็น พระพหุลานุสาสนี คือศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นตัวหลักแท้ๆ ของพระธรรมที่ทรงแสดงในวันมาฆบูชาว่าไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ต่อมาที่สำคัญก็คือว่า พอมาถึงปาวาลแจดีย์ ตอนนั้นเป็นวันเพ็ญ เดือนสาม อีกสามเดือนจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงปลงพระชนมายุสังขาร ในการปลงพระชนมายุสังขารที่ตรัสว่าต่อจากนี้ไปสามเดือน เราจะปรินิพพานนั้น สิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนควรจะได้ทรงจำไว้เป็นหลักปฏิบัติ ก็คือพระองค์ได้ทรงแสดง คุณสมบัติของพุทธบริษัททั้ง ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ว่าพุทธบริษัททั้ง ๔ นั้น ต้องมีคุณสมบัติ ที่สำคัญ ๓ ประการแล้ว พระองค์จึงจะปรินิพพาน หมายความว่า เมื่อพุทธบริษัททั้ง ๔ นี้มีคุณสมบัติ ๓ ประการ จึงจะสามารถสืบต่ออายุพระศาสนาแทนพระองค์ได้ หมายความว่าพุทธองค์จะทรงไว้วางพระทัยในพุทธบริษัท ๔ ได้ในเมื่อพุทธบริษัททั้ง ๔ มีคุณสมบัติสำคัญ ๓ ประการ และตอนนั้น พระพุทธเจ้าได้ปลงพระชนมายุสังขาร ก็เพราะทรงปรารภว่าพุทธบริษัททั้ง ๔ มีคุณสมบัติสำคัญ ๓ ประการนี้แล้ว พระองค์ก็ปรินิพพานได้เพราะว่า พุทธบริษัทจะพากันสืบพระพุทธศาสนาได้ต่อไป คุณสมบัติ ๓ ประการ นั้น ก็คือ ประการที่หนึ่ง ตัวเองของพุทธบริษัททั้ง ๔ นั้น จะเป็นภิกษุ ก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้รู้เข้าใจหลักธรรมคำสอนของพระองค์ และปฏิบัติตามได้ถูกต้อง นี่ประการที่หนึ่ง ตนเองทั้งรู้ เข้าใจถูกต้องและปฏิบัติได้ถูกต้อง มีสองส่วนสำหรับตรงนี้ และประการที่สอง ก็คือว่า สัมพันธ์กับผู้อื่นโดยที่ว่าสามารถและมีน้ำใจที่จะเอาธรรมะที่ตนได้รู้เข้าใจแล้วนั้น ไปสั่งสอน แนะนำแก่ผู้อื่นได้ อันนี้ประการที่สอง และก็ประการที่สาม คือในแง่ของหลักการของพระพุทธศาสนา พุทธบริษัทนั้น จะต้องมีความมั่นในหลักการของพระพุทธศาสนาจนกระทั่งว่า เมื่อใครมากล่าวติเดียน กล่าวจ้วงจาบหรือกล่าวแสดงคำสอนผิดพลาดไป ก็จะสามารถกล่าวแก้ไข ชี้แจง เรียกว่า กำจัดปรัปวาทได้ อันนี้แหละเป็นคุณสมบัติสามประการ ที่พุทธบริษัททุกคนที่จะต้องมีในตน เพื่อจะได้ช่วยกันสืบต่อพระศาสนาไปได้ ต่อไปหลังจากที่ได้ ปลงพระชนมายุสังขารแล้ว ต่อไปก็มีเรื่องราวตามลำดับมาในพุทธประวัติ จนกระทั่งถึงเสด็จมาถึงกุสินารา ที่ปรินิพพานแล้ว แม้จะปรินิพพานอยู่แล้ว อยู่บนเตียงปรินิพพาน พระองค์ก็ยังไม่ละการบำเพ็ญพุทธกิจ ทั้งๆ ที่ประชวรอย่างหนัก อาพาธมากแล้ว ตอนนั้นก็มี สุภัททปริพาชก ต้องการจะรู้คำสอนของพระพุทธเจ้า ตัวเองมีความสงสัย ค้นคว้าธรรมะอยู่ ได้ยินว่าพระพุทธเจ้าประชวรหนัก ตนเองกลัวจะเสียโอกาสก็เข้ามา พอเข้ามาพระอานนท์ก็เกรงว่าจะเป็นการรบกวนพระพุทธเจ้า ก็ห้าม พระพุทธเจ้าได้ทรงสดับเสียงพระอานนท์กับสุภัททปริพาชก โต้ตอบกันไปกันมา ก็เลยทรงตรัสถามว่ามีอะไรกัน พระอานนท์ตรัสทูลให้ทราบ พระองค์ก็ให้โอกาสสุภัททปริพาชก เข้าไป ทั้งๆที่ประชวรหนักแล้ว นี่ก็แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเมื่อสุภัททปริพาชกเข้าไป พระองค์ก็ได้ทรงแสดงหลักธรรมโปรดสุภัททปริพาชกนี้จนกระทั่งได้เป็นพระสาวก ที่เรียกว่าปัจฉิมสาวก สาวกองค์สุดท้ายของพระพุทธเจ้า เค้าเรียกกันว่า เป็นสักขิสาวกองค์สุดท้าย เป็นสาวที่ทันเห็นพระพุทธเจ้าสุดท้ายและก็ได้เป็นพระอรหันต์ด้วย มีธรรมะอยู่ข้อหนึ่ง ส่วนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่ชาวพุทธควรจะได้ยึดถือไว้เป็นหลัก พระองค์ได้ตรัสบอกว่า ตราบใดที่ยังมีการประพฤติปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปดประการ ตราบนั้นโลกก็ยังไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ นี้ก็เป็นพุทธพจน์สำคัญอันหนึ่ง หมายความว่า ตราบใด้ที่เรายังมีการ นำเอาธรรมะ คือมรรคมีองค์แปดประการมาประพฤติปฏิบัติกัน ก็ยังมีโอกาสที่จะได้มีการบรรลุมรรคผลนิพาน นั้นก็อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่ว่าจะทำให้พระพุทธศาสนา และธรรมะ ยังปรากฏอยู่ในโลกและต่อจากนี้ที่สำคัญ อาตมาจะยกเอาจุดสำคัญที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ก็คือว่า ได้ตรัสแสดงว่า ธรรมวินัยนี้ เมื่อพระพุทธเจ้า คือพระองค์ได้ล่วงลับไปแล้ว พระธรรมวินัย ที่พระองค์ได้ทรงแสดงและบัญญัติไว้ จะเป็นศาสดาของเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย เพราะตอนนั้นก็ยังเป็นห่วงกันว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว แล้วใครจะมาทำหน้าที่แทนพระองค์ เป็นผู้นำของพุทธบริษัทต่อไป พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงตั้งบุคคลผู้ใด แต่ว่าได้ทรงประกาศว่าธรรมวินัย นี่แหละ ตัวคำสั่งสอนของพระองค์จะเป็นศาสดาของชาวพุทธ เฉพาะนั้นชาวพุทธจะต้องนับถือ ธรรมวินัย มั่นในธรรมวินัยอยู่เสมอ และต้องมีสติ เตือนระลึกตัวเองอยู่เสมอ ธรรมวินัย คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร และประพฤติปฏิบัติกันให้ถูก ไม่ใช่เพียงแต่ว่า คอยเชื่อ คอยทำตามกันไปเรียกว่า ปรัมปรา ตามๆ กันไปนี่ ต่อไปนานเข้าก็คลาดเคลื่อน ต้องมีการศึกษาอยู่เสมอ ว่า ธรรมวินัยคืออย่างไร ว่าอย่างไรกันแน่ และในที่สุด พระองค์ก็ตรัสสิ่งที่สำคัญ คือ ปัจฉิมวาจา วาจาสุดท้ายก่อนปรินิพพาน ซึ่งหลังจากแล้วไม่ตรัสอะไรอีกเลย ปัจฉิมวาจา ก็คือ พระบาลีที่ว่า “??? ภิกขเว ??? วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” บัดนี้ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลาย เราขอพูดกับเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม อันนี่เป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง มารดา บิดา จะสิ้นจะจากลูกไป มีการสั่งเสีย วาจาสั่งเสียของบิดามารดานั้น เราย่อมถือว่ามีความสำคัญมาก นี่พระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พระองค์ตรัสปัจฉิมวาจาอันนี้แล้วเราจะต้องให้ความสำคัญว่า เหมือนกับเป็นวาจาสั่งเสียของพ่อแม่ นี่เป็นพ่อแม่ของพระศาสนาทั้งหมด ก็คือวาจาที่แสดงถึงความไม่ประมาทนี่ จะต้องนำมาประพฤติปฏิบัติเรื่องของปัจฉิมโอวาท เรื่องของความไม่ประมาทนี้ บางทีเราไม่ค่อยได้นึกกันว่ามีความสำคัญเพียงไร ความจริงนั้นเป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่วันนี้อาตมายังไม่มีโอกาสคิดว่า วันนี้จะกล่าวพาดพิง อ้างอิงไว้ก่อน เมื่อได้โอกาสแล้วจะได้อธิบายเรื่องนี้อีก เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก มีความสำคัญอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็จะพูดได้เพียงว่า หลักความไม่ประมาทนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้กับความเป็นอนิจจัง ก่อนที่จะพูดเรื่องความไม่ประมาท พระองค์ได้ตรัสว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา อันนี้ก็คือตรัสถึงเรื่องความเป็นอนิจจัง เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ เราจะมัวนิ่งนอนใจ วางใจอยู่ไม่ได้ จึงต้องไม่ประมาท พระพุธเจ้าตรัสหลักสำคัญอันนี้ไว้ คือความเชื่อมโยงกันระหว่าง ความเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงและความไม่ประมาท เพราะไม่เที่ยงจึงต้องไม่ประมาท และไม่ประมาทแล้วเราก็จะสามารถใช้ความไม่เที่ยงให้เป็นประโยชน์อีกด้วย ความไม่เที่ยงจะเกิดเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา อันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อไปอาตมาจะได้กล่าวในโอกาสหนึ่งข้างหน้า แต่วันนี้เราได้มาถึงสถานที่ที่พระองค์ได้ตรัสพุทธโอวาทนี้ไว้แล้ว ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งขอให้เราได้น้อมรำลึกถึงหลักคำสอนของพระองค์ที่อาตมาภาพได้กล่าวมา เมื่อพระองค์ได้ตรัสเรื่องความไม่ประมาทก็โยงมาหาอนิจจัง นั้น อนิจจังนั้นในกรณีนี้ โยงไปถึงความเป็นอนิจจังที่ปรากฏแก่พระองค์เองทีเดียว ก็คือความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงแห่งสังขารของพระพุทธเจ้า มาบัดนี้ แม้แต่พระองค์เอง ซึ่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังต้องจากพุทธบริษัทไปเพราะว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา พระวรกายของพระองค์นั้น ก็จะต้องแตกดับไปตามคติธรรมดาของสังขารที่มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายเหล่าอื่นโดยทั่วไป พุทธบริษัทก็จะได้เห็นความเป็นอนิจจัง โดยมานึกถึงพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องเตือนใจเรา และก็จะทำให้เกิดสังเวช ความสังเวชตามหลักที่บอกว่าเป็นสังเวชนียสถาน อันนี้แหละเราเดินทางมา พระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกว่า นี่ให้มานมัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แล้วสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ก็มาจบที่ปรินิพพาน เราก็มาถึงสังเวชนียสถานที่ ๔ สถานที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช และมากล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากไปมีความไม่เที่ยง อันนี้ทำให้เราได้คติแห่งความไม่เที่ยง และปลงใจให้เกิดธรรมสังเวชได้ชัดเจนที่สุด ณ ที่นี้ ทำให้เกิดความสังเวช สังเวชนั้นคือเกิดอย่างไร ก็ต้องขอโอกาสทำความเข้าใจกันอีก สังเวชนั้นก็คือเป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนใจ กระตุ้นเตือนใจอย่างไร กระตุ้นเตือนใจให้ได้คิด ให้ได้สำนึก สำนึกอะไร ให้ได้คิด ได้สำนึกถึงความจริงนั่นเอง ความจริงคือหลักพระไตรลักษณ์ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นธรรมดาของทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอย่างนี้ เพราะเราได้เครื่องเตือนใจกระตุ้นให้ได้ความคิด ให้ได้ความสำนึกโยงไปหาหลักความจริงแล้วเกิดอย่างไรต่อไป ก็ทำให้เกิดแรงใจที่จะได้นำคำสอนของพระพุทธองค์มาประพฤติปฏิบัติ หรือดำเนินชีวิตให้ดีงามให้ชีวิตมีคุณค่าต่อไป คำว่าสังเวช นั้น อาตมาได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า ไม่ได้ให้มีความหมายว่าให้สลดหดหู่ใจ ถ้าหากว่าเป็นสลดหดหู่ใจ แล้วกลายเป็นนิวรณ์ นิวรณ์นั่นเป็นอกุศลไม่ถูกต้อง เป็นถีนะมิทธะ การที่มีสังเวชนั้น ไม่ใช่สลดหดหู่ใจ แต่ว่าเป็นการทำให้เกิดกำลังใจ พอเราได้คิดแล้วเกิดอะไรขึ้น เราได้คิดเราเห็นอนิจจัง ได้เห็นความจริงของสังขารว่า พระพุทธเจ้าเองก็ยังต้องเสด็จจากไป เราทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายทุกอย่างก็เป็นอย่างนี้แหละ เราเห็นความจริงแล้ว เราก็เกิดความไม่ประมาท ที่ว่าเกิดสังเวชเกิดกำลัง ก็นี่แหละ ก็คือจะได้ไม่ประมาท เราก็เกิดกำลังใจ เกิดจาดการสำนึกเห็นความจริงว่า โอ่ ความจริง เป็นเช่นนี่ ชีวิตของเราก็จะอยู่ตลอดไปไม่ได้ สิ่งทั้งหลายก็จะต้องไม่สามารถอยู่ไปได้ตลอด จะต้องมีความพลัดพรากจากกัน เฉพาะเวลาที่มีอยู่นี้ รีบใช้ให้เป็นประโยชน์เสีย เกิดกำลังใจ เกิดแรงใจที่จะรีบขนขวายปฏิบัติธรรม ไม่นิ่งนอนใจ ไม่ละเลย ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่า ตอนนี้แหละเราจะได้ความกระตือรือร้น ความตั้งใจจริง ถ้าหากว่า ความรำลึกถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ตลอดจนกระทั่งการปรินิพพานนี้เป็นเครื่องเตือนใจเราให้รำลึกถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย แล้วเกิดกำลังใจในการที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ อันนี้คือความสังเวชที่ถูกต้อง นั่น ตอนนี้เป็นโอกาสแล้วเหตุการณ์ที่ทรงปรินิพพาน ณ ที่นี้เป็นเครื่องเตือนใจเรา ให้เราได้สำนึกถึงความจริงของสังขารนี้ ก็ขอให้เราได้เกิดปัญญา ด้วยปัญญานี้เราจะไม่สลดหดหู่ใจไม่เกิดความเศร้า แต่เรา ถ้าจะมีความรู้สึกความเศร้าขึ้นก็กลายเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนจิตใจของเรา ให้เกิดกำลังใจเข้มแข็งว่าเราจะต้องนำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าจากเราไปแล้ว พระพุทธศาสนาไม่ได้สูญสิ้นไปด้วย ธรรมะก็ยังคงอยู่ เราจะต้องเป็นลูกศิษย์ที่ดี เรจะต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ต่อไป แล้วเราชาวพุทธนี่แหละจะช่วยกันรักษาธรรมะ พระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่คงยั่งยืนต่อไป แม้พระวรกายรูปธรรมหรือเราเรียกว่ารูปกายของพระพุทธเจ้าจะจากไปแล้ว แต่นามกายของพระองค์ในส่วนที่เรียกว่าธรรมกายก็ยังคงอยู่ พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสไว้ บอกว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระองค์ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา แต่ว่าผู้ใดไม่เห็นธรรม แม้จะเกาะชายสังฆาฏิของเราตลอดอยู่ทุกเวลา ก็หาชื่อว่าเห็นเราไม่ ตอนนี้เราเข้าถึงธรรมะ เข้าถึงพระพุทธเจ้าที่แท้จริง เราก็ต้องเข้าถึงธรรมะด้วย แม้เราจะมาถึงสถานที่นี้ เราก็มาในแง่ของสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับรูปกายของพระพุทธเจ้า ก็เลยมีกายสองอย่าง บอกว่ารูปกายของพระพุทธเจ้าจากไปแล้ว แต่พระธรรมกายหาจากไปไม่ เราเห็นพระรูปกายของพระองค์ด้วยดวงตาเนื้อ แต่ว่าเราจะสามารถเห็นพระองค์ที่แท้จริงคือธรรมกายด้วยดวงตาปัญญา รูปกายของพระองค์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแตกสลายไปเป็นธรรมดาเพราะเป็นสังขาร แต่ว่าพระธรรมกายนั้นคงอยู่ ในเมื่อรูปกายของพระองค์แตกสลายแล้ว ธรรมกายก็ยังหาแตกสลายไปด้วยไม่ ชาวพุทธนั้นเมื่อได้มาเรียนรู้พุทธประวัติ รำลึกถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับพระองค์แล้ว เราก็เห็นความเป็นไปของรูปกายที่มันจบสิ้น ณ สถานที่ปรินิพพาน แล้วมาถูกพระเพลิงเผาผลาญ ณ ที่มกุฏพันธนะเจดีย์ ที่เรานั่งกันอยู่ คือที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระนี้ พระรูปกายของพระองค์ก็กลายเป็นเถ้าเป็นอัฐิไป แต่พระธรรมกายยังคงอยู่พระองค์ได้ตรัสสอนเราไว้แล้วบอกว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา อันนี้เราก็จะต้องเข้าไปเห็นธรรมเพื่อจะเข้าถึงธรรมกาย แต่ว่าคำว่า รูปกาย ธรรมกาย นั้นก็จะต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน คำว่า กาย นั้นแปลว่าอะไร คำว่า กายนั้น แปลว่า กอง กองคืออะไร กองก็คือ ที่ประชุม หมายความว่า เป็นที่ประชุมของสิ่งต่างๆ รูปกายนี้ ที่ท่านบอกว่า แปลว่ากองแห่งรูป หรือที่ประชุมแห่งรูปธรรม หมายความว่ามีธาตุต่างๆ อย่างที่เราพูดกันว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มาประชุมกันเข้าก็รวมเป็นกาย เรียกว่ารูปกาย รูปกายก็คือกองที่ประชุมแห่งรูปธรรมมีดิน น้ำ ลม ไฟ อันนี้เป็นรูปกาย ที่นี้อีกส่วนหนึ่งก็คือธรรมกาย ธรรมกายก็คือกองแห่งธรรม ชุมนุม แห่งธรรม หรือชุมนุมธรรม พระพุทธเจ้านั้นในทางนามธรรมแล้วนั้น พระองค์เป็นธรรมกายด้วย รูปกายก็คือรูปร่างของพระองค์ที่ ปรากฏให้คนทั้งหลายได้เข้าไปเฝ้า ได้พบเห็นได้ฟังได้ดู แต่ว่าพระธรรมกาย ก็คือว่าพระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้ว พระองค์ที่เป็นประชุมแห่งธรรมะ ธรรมะพระองค์ได้ค้นพบแล้ว พระองค์ก็กลายเป็นที่ชุมนุมของพระธรรมะ พระองค์ก็สามารถแสดงธรรมะที่ตรัสรู้นั้นออกไป พระวรกายของพระองค์ก็เลยเป็นที่โปรด เป็นที่หลั่งไหลออกไปแห่งธรรมะทั้งหลาย เราก็เลยเรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นธรรมกาย ธรรมกายก็แปลว่าที่ประชุมแห่งธรรมะ ชุมนุมแห่งธรรมะ ก็เกิดแก่บุคคลทุกคนที่สามารถปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ จนกระทั่งว่าตัวเรานี้เป็นที่ชุมนุมแห่งธรรมะต่างๆ ชุมนุมแห่งธรรมะ มรรค ผลนิพพานเกิดขึ้นแก่ผู้ใดก็ตาม อันนั้นก็เกิดธรรมกายขึ้น ธรรมกายนี้เป็นนามธรรม เป็นที่ประชุมแห่งธรรมะ เป็นตัวสัจจธรรม แห่งความดีงามนั่นเอง ก็ให้เข้าใจความหมายแห่งธรรมกายให้ถูกต้อง ว่าธรรมกายนั้น เข้าถึงได้ด้วยปัญญา ที่มองเห็นธรรมะ แล้วก็ถึงตัวธรรมะ ธรรมะในระดับต่างๆ มาประชุมกันมากมายก็เป็นธรรมกายขึ้นมา ก็เท่านั้นเอง และก็เท่านั้นเองนั่นยากนักหนา แต่ก็ไม่ยากสำหรับผู้ที่มีศรัทธาและตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเราก็เข้าถึงธรรมกายนั้น เสร็จแล้วเมื่อเราเข้าถึงธรรมกายนั้น เราเห็นธรรมก็คือเห็นองค์พระพุทธเจ้า ตามคำตรัสที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา วันนี้เราชาวพุทธศาสนิกชนได้มีศรัทธา จาริกกันมาจนกระทั่งถึงสถานที่เป็นสังเวชนียสถานอันดับสุดท้ายในลำดับของพุทธประวัติแล้ว ได้มาถึงที่เป็นที่สิ้นสุดแห่งรูปกายของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ก็ได้แสดงไว้แล้วว่าธรรมะนั้นไม่สูญสลายไปด้วย เราก็ได้เจริญศรัทธา เรามาเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่นี้แล้ว รูปกายของพระองค์ที่มาในพุทธประวัติของพระองค์ก็ขอให้เตือนใจเราเพื่อให้เราประพฤติปฏิบัติ น้อมเอาธรรมะที่พระพุทธองค์สั่งสอนนี้ที่หลั่งไหลออกจากธรรมกายของพระองค์นี้ มาประพฤติปฏิบัติให้ก่อขึ้น มาชุมนุมขึ้นให้เป็นธรรมกายในตัวเราต่อไป อาตมาขออนุโมทนาโยม ญาติมิตร ทุกท่าน สำหรับธรรมะ ที่กล่าวอ้างอิงในวันนี้ ก็หวังว่าจะได้ยกเป็นข้อที่จะได้นำมาอธิบายให้โยมฟังต่อไปโอกาสข้างหน้า โดยเฉพาะเรื่องความไม่ประมาทที่เป็นพุทธโอวาทเป็นปัจฉิมวาจานั้นพร้อมทั้งหลักธรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอีกข้อหนึ่งก็คือว่า ธรรมะที่พระพุทธเจ้าแสดงที่ป่าอิสิปปตนมฤคทายวัน ที่เป็นปฐมเทศนานั้น แสดงเรื่องมัชฌิมปฏิปทา ทางสายกลาง อันนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ซึ่งถ้ามีโอกาสอย่างน้อยให้ได้แสดงสองเรื่องนี้ คือเรื่อง ทางสายกลาง ที่ป่าอิสิปปตนมฤคทายวัน และเรื่องหลักความไม่ประมาท ณ สถานที่ปรินิพพานนี้ เราก็จะได้ธรรมะ ที่นับว่าเป็นหลักการใหญ่ๆสำคัญซึ่งเนื่องด้วยที่ ที่เรียกว่า สังเวชนียสถาน ๔ ประการ สำหรับเวลานี้ก็จำกัด คิดว่าเราจำเป็นจะต้องเดินทางต่อไปแต่ว่าก็ขอให้ทุกท่าน ได้มีความรู้สึกสมใจหวังแล้ว เราได้เดินทางมาถึงสังเวชนียสถานสำคัญ สถานที่ ๔ ในพุทธประวัติและเป็นลำดับที่สามในการเดินทางของเรา เป็นสถานที่จบสิ้นพุทธกิจในพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้า แต่ว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้จบสิ้นที่นี้ พุทธศาสนาได้เจริญแพร่หลายมั่นคงต่อไปจนกระทั่งมาถึงพวกเราในปัจจุบันนี้ ในประเทศไทยเป็นต้น และทั่วโลก เราก็ได้รับความร่มเย็นจากโลกพระธรรมของพระองค์ อาตมา เรามาถึงต้นแหล่งแห่งคำสอน ต้นแหล่งแห่งพระพุทธศาสนานั้น ก็ขอให้เราได้มีปิติ มีความอิ่มใจ มีความปลาบปลื้มใจและถือว่าเราได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างดีแล้วด้วยความเพียร ตามที่เราได้ปฏิบัติมาเป็นพูทธบูชา ด้วยอำนาจแห่งกุศลและเจตนาความตั้งใจดี ความมีศรัทธาเป็นต้น ในน้ำใจของโยม ญาติทุกท่าน อันนี้จงประกอบเข้ากับคุณพระรัตนตรัย เป็นคำอวยพรชัยแก่ทุกท่าน เป็นเครื่องอำนวยพรให้ทุกท่านได้ประสบความสุข ความเจริญยิ่งขึ้นไป รัตน ตยา นุภาพเวนะ รัตน ตย เตชะ สา ด้วยเดชานุภาพ คุณพระรัตนตรัยพร้อมทั้งบุญกุศลที่โยมได้บำเพ็ญไปแล้ว จงเป็นปัจจัยอำนวยผลให้ทุกท่านเจริญด้วย จตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกันตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ