แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขอเจริญพรท่านอัยการสูงสุด ท่านผู้ทรงคุณวุฒิในวงการนิติศาสตร์ ท่านผู้สนใจใฝ่รู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน วันนี้อาตมาภาพได้รับนิมนต์ให้มาแสดงปฐกถาในที่นี้ แล้วก็เรียกชื่อเป็น
ปฐกถาพิเศษด้วย ก็พิเศษจริงๆ คือพิเศษแปลว่าแปลก แปลกจากปกติ คำว่าวิเศษเองนี่ ขอวิเคราะห์ศัพท์สักนิดก็ได้ วิเศษแปลว่า วิ คือ แปลก แล้ว
เศ-ษะ จากที่เหลือ แปลกจากที่เหลือ ในที่นี้อาตมาภาพไม่เหมือนคนอื่น ไม่เหมือนคนอื่นในแง่คือว่าเป็นพระภิกษุ แล้วแง่ที่สองคืออยู่นอกวงการนิติศาสตร์ วันนี้ก็ให้มาแสดงปฐกถาในงานของท่านผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์ แล้วก็ให้พูดเรื่องนิติศาสตร์แนวพุทธ อาตมาภาพคงไม่ได้ตอบโดยตรงว่านิติศาสตร์แนวพุทธเป็นอย่างไร แต่อาจจะพูดไปถึงหลักการทางพุทธศาสนา แล้วก็อาจจะขอให้ท่านที่อยู่ในที่ประชุมนี้
ตอบเองว่านิติศาสตร์แนวพุทธเป็นอย่างไร บางทีเราอาจจะไม่ได้คำตอบก็เป็นได้ เพราะว่าจริงๆ เวลาในวันนี้ก็ไม่มากนักที่จะพูดในเรื่องนี้ ก็พูดกันในเรื่องหลักกว้างๆ อันนี้ก่อนอื่นอาตมาภาพอยากจะพูดถึงตัวศัพท์อีกนิดหน่อย คือตัวคำว่านิติศาสตร์เอง เราก็แปลกันว่านิติศาสตร์คือวิชากฎหมาย แต่ที่จริงแล้วเราเอาศัพท์นี้มาจากภาษาสันสกฤต เป็นภาษาของประเทศอินเดีย ซึ่งมีอารธรรมเก่าแก่โบราณ นิติศาสตร์ก็เป็นวิชาการของประเทศอินเดียที่แต่ก่อนเรียกว่าชมพูทวีป แต่ถ้าเราดูตามศัพท์เนี่ย นิติศาสตร์ในความหมายของอินเดียเป็นวิชาทางด้าน politics มากกว่า คือเป็นวิชาทางด้านที่เราเรียกในเมืองไทยว่ารัฐศาสตร์ หรือวิชาการเมือง ตัว นิติ เองนั้นแปลว่า การนำ คือเป็นรากศัพท์เดียวกับคำว่า นายก นายก ก็แปลว่า ผู้นำ แล้ว นีติ ก็มาจากภาษาบาลีหรือสันสกฤต เรียกว่า ธาตุ ธาตุเดียวกัน ก็คือนี ธาตุนี นี แปลว่า นำ นีติก็แปลว่า การนำ นิติศาสตร์ที่แท้นั้นเรียกเนติศาสตร์ แล้วภาษาไทยเราก็ทำรัสสะ รัสสะคือทำให้สั้น นีติ ก็เป็นนิ นิติศาสตร์ ก็คือศาสตร์แห่งการนำคน หรือนำกิจการของรัฐ ว่าไปก็คือการดำเนินกิจการของรัฐหรือการทำหน้าที่ของผู้นำ แต่การที่จะทำการปกครองหรือเป็นผู้นำประเทศชาติได้นั้น แน่นอนต้องมีระเบียบแบบแผน คือเราจะต้องมีเครื่องมือที่จะใช้ มีกติกาสังคม การปกครองจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีกติกา อย่างน้อยจะต้องรู้ว่าจะทำอะไรได้ไม่ได้ในขอบเขตแค่ไหน การปกครองก็เรียกร้องต้องมีกติกาสังคม กฎเกณฑ์ก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องของกฎหมายเรื่องของการปกครองนี่แยกกันแทบไม่ได้เลย ไปๆ มาๆ ก็ต้องมีกฎหมาย มีกฎเกณฑ์กติกาของสังคม หรือของประเทศชาติ พลเมืองจะต้องประพฤติปฏิบัติตามนั้น สมัยก่อนนี้กฎเกณฑ์กติกาเหล่านี้ก็มาจากตัวผู้ปกครองนั่นเอง เพราะฉะนั้นวิชาการปกครองก็เลยเรียกร้องให้มีกฎกติกาที่เรียกว่ากฎหมาย พอมาถึงเมืองไทยเราใช้คำว่านิติศาสตร์เป็นความหมายของกฎหมาย ก็เลยพูดได้ว่าวิชากฎหมายแยกไม่ออกจากอำนาจปกครองของรัฐ นี่หมายถึงความเป็นมาในอดีต มาจากรัฐ แล้วกฎหมายก็เป็นเครื่องมือของผู้ปกครอง ทีนี้การปกครองที่ดีก็มุ่งเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน การตั้งกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้นก็เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน คือให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้ดี มีความสงบสุข แต่ว่าบางครั้งก็เป็นไปได้ที่ผู้ปกครองนั้นออกกฎหมายมาเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ก็อาจจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรือว่าแม้จะไม่ได้มุ่งเบียดเบียนประชาชน แต่ว่ากฎหมายนั้นเอง อาจจะรุนแรงเกินไปก็ได้ ก็อาจจะเกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ถึงแม้ด้วยความตั้งใจดี ต่อมากฎหมายก็อาจจะมีการวิวัฒนาการอีก คือกลายเป็นกติการะหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง ว่าผู้ใต้ปกครองต้องมีสิทธิเหมือนกัน แล้วผู้ปกครองควรจะมีขอบเขตในการปฏิบัติต่อผู้ใต้ปกครองอย่างไร ตอนนี้ก็กลายเป็นว่ามีกติกาที่ไว้เป็นขอบแขต แม้แต่ป้องกันไม่ให้ผู้ปกครองเนี่ยมาละเมิดหรือเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงผู้ใต้ปกครอง ก็เป็นเรื่องของวิวัฒนาการ ซึ่งอาศัยกาลเวลายาวนาน ทีนี้มีศัพท์อีกศัพท์หนึ่งที่เป็นเรื่องของกฎหมายเหมือนกัน ซึ่งเราก็ได้ยินกันแล้วก็ใช้กันจนกระทั่งเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย ก็คือคำว่าธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ก็แปลว่าวิชากฎหมายเหมือนกัน แล้วคำนี้ถ้าว่าไปแล้วเดิมนั้นถือว่าเป็นคำที่ตรงกว่า เพราะเราใช้นิติศาสตร์เป็นความหมายในวิชาการปกครองรัฐ เป็นเรื่องของที่เรียกกันปัจจุบันว่ารัฐศาสตร์ วิชากฎหมายก็เป็นวิชาธรรมศาตร์ ธรรมศาสตร์นั้นก็เป็นวิชาว่าด้วยหลักการ เพราะธรรมะนั้นแปลว่าหลักการ หลักการนั้นก็มีสองแบบ คือหลักการแห่งความเป็นจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่างหนึ่ง กับหลักการของผู้เป็นมนุษย์ที่มีปัญญานำเอาความรู้ในความจริงนั้นมาจัดตั้งวางเป็นแบบแผนในสังคมนุษย์ จนกระทั่งเป็นกติกาสังคม ซึ่งมนุษย์ที่อยู่ในสังคมนั้นจะต้องยึดถือ ก็เป็นหลักการเช่นเดียวกัน เราก็เรียกทั้งสองอย่างนี้ว่าเป็นตัวธรรมะ ทีนี้หลักการในระดับที่เอามาวางเป็นระเบียบแบบแผนกติกาสังคม ที่ให้ประชาชนยึดถือเนี่ย เราก็เลยถือว่าเป็นวิชาการ สร้างเป็นวิชาเรียกว่าธรรมศาสตร์ ก็เป็นวิชาการเกี่ยวกับกฎหมาย ทีนี้นิติศาสตร์กับธรรมศาสตร์นี่ มีความหมายบางทีก็เฉียดกันไป แต่ถ้ามองไปแล้วในทัศนะของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นเจ้าของอารยธรรมชมพูทวีปสมัยเดิม ก็ถือว่ากฎเกณฑ์กติกาหลักการทั้งหมดเหล่านี้มาจากพระพรหมทั้งสิ้น มาจากเทพเจ้าสูงสุดเป็นผู้กำหนด แต่ทีนี้สายของการกำหนดของพระผู้เป็นเจ้าเนี่ย จะมาทางคำสอนทางศาสนา ก็มาเป็นข้อกำหนดการประพฤติปฏิบัติตั้งแต่ในชีวิตประจำวันว่าควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร ดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะถูก ดำเนินชีวิตอย่างไรผิด ไม่ถูกต้อง ก็เป็นข้อกำหนดออกมาจากพระผู้เป็นเจ้า จนกระทั่งกลายเป็นว่าข้อกำหนดในสังคม เช่น การแบ่งแยกชนชั้น เช่นแบ่งเป็นวรรณะ ว่าเป็นวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพทศ์ ศูทร อย่างที่อินเดียเขานับถืออยู่ พวกวรรณาะต่างๆ เหล่านี้ก็ต้องมีหลักการหลักปฏิบัติประจำวรรณะของตัวเอง ว่าตัวเองมีสิทธิแค่ไหน จะต้องทำอะไร สิ่งเหล่านี้เรียกว่าธรรมะ เขาเรียกว่าธรรมะประจำวรรณะ การศึกษาเรื่องนี้ก็เป็นธรรมศาสตร์เหมือนกัน ที่จริงยังมีลึกลงไปอีก ก็คือว่าสิ่งที่มาจากพระพรหมณ์แท้ๆ เนี่ย เขาเรียกว่า ศรุติ แล้วมาเป็นคำอธิบายนี่จึงเป็นศาสตร์อีกทีหนึ่ง ทีนี้ธรรมศาสตร์ก็เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักการต่างๆ เหล่านี้ เริ่มตั้งแต่ชีวิตประจำวัน แนวทางการประพฤติ แล้วการมีขนบธรรมเนียบประเพณี แล้วก็กฎเกณฑ์ในทางสังคม อะไรต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แนบสนิทอยู่ในเรื่องศาสนา ส่วนกฎเกณฑ์กติกาที่ออกมาจากผู้ปกครอง หรือแม้จะบอกว่ามาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่ว่าผู้ปกครองหรือราชานั้นเป็นผู้นำมาใช้ปฏิบัติ มาบังคับประชาชน ซึ่งบางครั้งผู้ปกครองเองก็จะต้องมีการออกกฎของตนเอง ก็จะต้องอ้างพระผู้เป็นเจ้าอยู่นั่นเอง ก็เอาพวกปุโรหิตเป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่รู้เรื่องหลักของศาสนา ทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนของงองค์พระเป็นเจ้า มาประชุมกัน แล้วก็ตกลงกันนะว่าเราจะปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติอันนี้ หรือตีความอย่างนี้ ออกเป็นกฎอย่างนี้ แล้วก็อ้างว่าอันนี้เป็นไปสอดคล้องกับความประสงค์ขององค์พระเป็นเจ้า ในที่ก็อ้างอิงไปยังเทพเจ้าสูงสุด ก็เป็นเรื่องยองนิติศาสตร์ เพราะว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาจากฝ่ายปกครอง ตกลงว่าฝ่ายนิติศาสตร์นี่จะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากฝ่ายปกครองมากกว่า ใช้ในการปกครองประเทศชาติ ส่วนธรรมศาสตร์นั้นก็เป็นกฎหมายกติกาของสังคม ที่มีมาโดยเนื้อหาสาระมาจากฝ่ายศาสนาแต่เดิม ตอนนี้ก็คล้ายๆ ว่าจะแยกกันได้ ระหว่างนิติศาสตร์กับธรรมศาสตร์ แต่ว่าในแง่ของอินเดียเองก็ถือนิติศาสตร์เป็นวิชาปกครองไป อันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับศัพท์
ทีนี้มาดูในทางพุทธศาสนา พุทธศาสนานั้นก็มีคำว่านิติศาสตร์เหมือนกัน แต่ภาษาบาลีก็ไม่เรียกว่าศาสตร์ เราใช้คำว่า นีติสัตถะ ก็คือคัมภีร์ว่าด้วยนีติ แต่นีติในพระพุทธศาสตร์ใช้น้อยอย่างยิ่ง แล้วก็มีความหมายมาไปโยงกับพระผู้เป็นเจ้าอะไรทั้งสิ้น นีติ ก็เป็นเรื่องของแนวทางแบบแผนความประพฤติทั่วๆ ไป หรือระบอบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างคติที่ถือกันในสมัยพุทธกาลว่า บุคคลนั่งนอนใต้ร่มไม้ใด ไม่พึงทำลายแม้แต่ใบของต้นไม้นั้น ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนทราม อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ถือเป็นนีติเหมือนกัน ก็คือเป็นแบบแผนการประพฤติอย่างที่เราเรียกว่าคติ นั่นเอง เราถือว่าต้นไม้ก็เป็นมิตรของเรา ถ้าเราไปอาศัยนั่งนอนใต้ร่มเขาแล้ว ไปทำลายไปฟาดฟันอะไรต่างๆ นี่ก็ถือว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตร อย่างนี้ก็ถือเป็นนีติ ทีนี้อาตมาภาพยกมาเรื่องศัพท์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่สำคัญอะไรนัก เพราะว่าศัพท์นี่มันขึ้นต่อการบัญญัติ ในยุคสมัยหนึ่งเราบัญญัติให้คำจำกัดความอย่างหนึ่ง พออีกยุคหนึ่งก็อาจจะเปลี่ยนไปได้ แต่ว่าการที่มาเชื่อมโยงอย่างนี้คือให้เห็นฐานเดิม เพื่อจะได้เห็นแนวทางของแนวความคิดว่า สิ่งเหล่านี้มาจากรากฐานทางวัฒนธรรมจริยธรรมอย่างไร แต่พูดกันง่ายๆ ในที่นี้ ความประสงค์ที่รวบรัดแล้วก็เข้าใจกันง่ายนั้นก็คือ นิติศาสตร์นั้นเป็นวิชากฎหมาย แต่มีวงเล็บไว้นิดหนึ่งว่าโดยเฉพาะในฐานะที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการของรัฐ หรือเป็นกฎหมายที่เกิดจากการปกครอง เป็นแบบแผนการปกครอง แล้วทีนี้เรามาดูว่าในพุทธศาสนา กฎหมายนี้คืออะไร คำที่ใกล้ที่สุด หรือเราพูดว่าตรงเลย ก็คือคำว่า วินัย นั่นเอง แต่จะเห็นได้ชัดว่าวินัยนี่มันไม่เฉพาะกิจการของรัฐเท่านั้น ถ้าหากว่าจะมองเห็นนิติศาสตร์แนวพุทธ จะต้องเข้าใจเรื่องวินัยให้ชัดเจน ถ้าไม่เข้าใจวินัยก็ไม่สามารถมองเห็นวิทยาศาสตร์แนวพุทธได้ ทีนี้วินัยคืออะไร วินัยนั้นแน่นอน ไม่ได้มีความหมายแคบๆ อย่างในภาษาไทย ในภาษาไทยนี้เรามีความหมายแคบเหลือเกินแล้ว เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติกิจ หน้าที่ในการเป็นอยู่ เกี่ยวกับการประพฤติในแง่ของบุคคล หรือว่าในแง่ของชุมชนอะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ทีนี้วินัยในความหมายของพุทธศาสนาจะเป็นอย่างไร คงจะต้องค่อยๆ พูดกันต่อไป ตอนแรกนี้อาตมาภาพอยากจะให้ความหมายเพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการทำความเข้าใจว่า วินัยแปลง่ายๆ ว่าการจัดตั้ง วางระบบแบบแผน เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ต้องมามองดูวินัยในฐานะเป็นองค์ประกอบใหญ่อย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาทั้งหมดมีองค์ประกอบใหญ่อยู่เพียงสองอย่างเท่านั้น แล้วสองอย่างนี้รวมกันเป็นชื่อของพระพุทธศาสนาเอง เดี๋ยวนี้เราเรียกกันว่าพระพุทธศาสนา คำนี้เป็นคำใหม่ ในสมัยพุทธกาลก็มีแต่ว่าใช้ความหมายว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง เวลานี้คำว่าพระพุทธศาสนาขยายออกไปจนกระทั่งเป็นสถาบันเป็นกิจการทุกอย่าง เราเรียกพุทธศาสนาหมด แล้วก็ลืมศัพท์เดิม ศัพท์เดิมที่มีความหมายสำคัญกว่า ซึ่งใช้ในสมัยพุทธกาลก็คือคำว่าธรรมวินัย พระศาสนาของพระพุทะเจ้าองค์นี้ก็เรียกว่าพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ธรรมวินัยก็มาจากคำคู่ ธรรมะกับวินัย แล้วรวมกันเป็นเอกพจน์ คือสองอย่างแต่รวมเป็นอันเดียว เรียกชื่อว่านี้คือตัวพุทธศาสนา ทีนี้เราจะต้องมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองคำนี้ คือคำว่า ธรรมะ กับ วินัย แล้วจะเห็นหลักการของพุทธศาสนาทั้งหมด เพราะฉะนั้นเรื่องของกฎหมาย เรื่องนิติศาสตร์ในพุทธศาสนา ก็มาดูที่ความหมายของวินัย ความสำคัญของวินัยที่อยู่ในหลักการใหญ่ที่เรียกว่าธรรมวินัยนั้น เราก็ย้อนไปดูว่าธรรมวินัยนี้เป็นอย่างไร เริ่มต้นก็มีธรรมะอยู่ก่อน เดิมธรรมะคืออะไร ธรรมะก็คือความจริง ความจริงในธรรมชาตินี้เอง หลักการของพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดว่า ตถาคตจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม หลักความจริงมันมีอยู่ของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา ตถาคตทั้งหลาย คือพระพุทธเจ้ามาค้นพบหลักการความจริง ตัวธรรมะนี้ แล้วจึงนำมาเปิดเผยแสดงชี้แจงทำให้เข้าใจง่าย อันนี้คือจุดตั้งต้นของพุทธศาสนา มีธรรมะอยู่ก่อน ซึ่งไม่ได้ขึ้นต่อพระพุทธเจ้าเลย ธรรมะคือความจริงนี้มีอยู่ตามธรรมดาของมัน เราอาจจะแปลได้หลายอย่าง เช่นแปลว่าธรรมชาติ แปลว่ากฎธรรมชาติ ความเป็นจริง หรือพูดง่ายๆ ก็คือธรรมชาติกับธรรมดานี่แหละ ธรรมชาติก็คือภาวะสิ่งต่างๆ ธรรมดาก็คือความเป็นไปของธรรมชาติ ความเป็นจริงของมัน อันนี้ตัวธรรมะนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้น ทีนี้พระพุทธเจ้ามาค้นพบความจริงนี้ก็เอามาเปิดเผยแสดง ทีนี้ความจริงนี้เป็นกฎธรรมชาติ เช่นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลเกิดจากเหตุ เหตุก่อให้เกิดผล เหตุอย่างไรก่อให้เกิดผลอย่างนั้น หรือเหตุปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดผลขึ้นมา มนุษย์จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ตัวธรรมะคือความเป็นจริงแห่งเหตุปัจจัยนี้ มันทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามนุษย์ไม่รู้ ไม่สามารถเอาประโยชน์จากมันได้ แล้วถ้าประพฤติปฎิบัติดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงอันนี้ ก็เกิดผลเสียแก่ตัวเอง แต่ถ้ามนุษย์ปฏิบัติถูกต้อง ดำเนินชีวิตตรงตามกฎแห่งธรรมชาติความเป็นจริงอันนี้ ผลดีก็ได้แก่ตัวมนุษย์เอง ทีนี้ทำไงมนุษย์จะประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตด้วยดี ก็ต้องรู้ความจริงสิ ถ้ามนุษย์รู้ตัวธรรมะ รู้ตัวความจริง รู้ในความเป็นไปในเหตุปัจจัยในธรรมชาตินี้เมื่อไหร่ เขาจะสามารถเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ เช่นว่าเขาต้องการจะกินผลไม้ กินมะม่วง เห็นต้นมะม่วง ก็ไปหยิบเอา แต่ทีนี้ต่อมาถ้าเขารู้ว่ากว่ามะม่วงที่มันจะเกิดมาเป็นผลสุขให้เรารับประทานนี่นะ มันเกิดจากต้นไม้นี้ ซึ่งแต่ก่อนนี้มันจะโตจากเม็ด แล้วมันชอบที่ดินอย่างนั้น มันก็อาศัยปุ๋ย ต้องอาศัยน้ำ ต้องอาศัยอุณหภูมิอย่างนั้น อันนี้ด้วยเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ ทีนี้ถ้ามนุษย์รู้อย่างนี้แล้ว ต่อไปไม่ต้องคอยไปหาต้นมะม่วงแล้ว สามารถมาปลูกมะม่วงในสวนของตัวเองเลย ตอนนี้มนุษย์ก็ได้ประโยชน์จากตัวธรรมะ การรู้ธรรมะนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แม้แต่ชีวิตของเรานี่ก็เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มีธาตุต่างๆ มารวมกัน มีรูปธรรม นามธรรม ถ้ามนุษย์ไม่รู้ ปฏิบัติต่อชีวิตก็ไม่ถูก ฉะนั้นตัวธรรมะนี่สำคัญอย่างยิ่ง ทีนี้พระพุทธเจ้าพระองค์ก็ค้นพบธรรมะนี้ ก็บอกว่าคนเราจะดำเนินชีวิตให้ดีงามต้องรู้ตัวธรรมะนี้ พระองค์ได้เข้าถึงธรรมะนี้ ได้ประโยชน์จากธรรมะนี้เต็มที่ ก็จึงเอาธรรมะนี้มาปฏิบัติตาม ก็คือพัฒนาพระองค์เองขึ้นมา จนกระทั่งเป็นพุทธะ แล้วก็เห็นคุณประโยชน์ของสิ่งนี้ก็นำไปสั่งสอนผู้อื่น ไปสั่งสอนผู้อื่นเสร็จแล้ว การสั่งสอนนั้นจะให้ได้ผลดี ทำไง หมู่มนุษย์จำนวนมากๆ ไปสอนทีละคน ก็ได้ทีละนิดละหน่อย กว่าจะได้สำเร็จสักคน พระองค์เหนื่อยแย่เลย เดินทางไปเป็นวันๆ แล้วก็ได้ทีละเล็กละน้อย ตลอดพระชนม์ชีพคงได้ไม่กี่คน ทำยังไงจะให้ได้ประโยชน์กับคนจำนวนมาก ก็ต้องมีวิธีการ วิธีการนั้นก็คือจัดตั้ง จัดตั้งขึ้นมาให้มีระบบแบบแผน ให้มีระบบการที่มนุษย์จะมารวมกันเป็นชุมชน แล้วจะได้ประโยชน์จากการสอนของพระองค์ จัดธรรมะได้เต็มที่ พระองค์ก็เลยทำการจัดตั้งขึ้นมา แล้วก็วางระบบแบบแผนในทางสังคมขึ้นมา การจัดตั้งอันนี้ก็คือจัดตั้งเป็นชุมชนที่เราเรียกว่าสังฆะ สังฆะนั้นไม่ใช่บุคคล ในภาษาไทยเรามองคำว่าสงฆ์เป็นตัวพระไป ที่จริงสงฆ์หมายถึงหมู่ แต่ตัวคำว่าสงฆ์หรือสังฆะเองแปลว่าหมู่ หรือชุมชน หมายความว่าต้องมีจำนวนหนึ่งมารวมกัน ไม่ใช่คนๆ เดียว ภาษาไทยนี่ก็สับสน พระองค์เดียวก็เรียกว่าพระสงฆ์ไปแล้ว ก็เลยใช้กันจนกระทั่งติด ก็ทำให้เกิดปัญหาเหมือนกัน แต่ตัวสงฆ์ที่แท้ก็คือชุมชน ก็จัดตั้งเป็นชุมชนขึ้นมา เมื่อตั้งเป็นชุมชนขึ้นมาแล้ว ธรรมะนี้ก็จะเข้าถึงประชาชนหรือหมู่ชนเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เป็นประโยชน์ทีละน้อย ทีนี้เมื่อคนมารวมกันเข้า ก็จะต้องมีการอยู่ร่วมกัน มีระเบียบแบบแผนในการเป็นอยู่ อันนี้ต่อมาก็เกิดเป็นวินัยขึ้นมา ทีนี้ตกลงว่า เดิมนั้นก็คือตัวธรรมะ แต่เพื่อให้คนหมู่ใหญ่ได้ประโยชน์จากธรรมะจึงมีการตั้งวินัยขึ้นมา วินัยก็คือการที่จะมาจัดตั้งวางระบบแบบแผนเพื่อให้หมู่มนุษย์เนี่ยได้มาอยู่ร่วมกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีงามแล้วก็ได้รับประโยชน์จากตัวธรรมะนั้นเอง จุดหมายที่แท้ก็คือให้หมู่มนุษย์จำนวนมากได้ประโยชน์จากธรรมะ ทีนี้การที่พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่เราเรียกเต็มๆ ว่าสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพราะมีความสามารถสองชั้น ชั้นที่หนึ่งคือสามารถเข้าถึงตัวความจริง ที่เรียกว่าตัวธรรมะ แล้วสอง-นอกจากรู้ความจริงนั้นแล้ว ยังสามารถเอาตัวความจริงนั้นมาทำให้เกิดประโยชน์แก่หมู่ชนจำนวนมากได้ด้วย ความสามารถขั้นที่สองนี้เกิดจากการที่สามารถจัดตั้งวางคณะสงฆ์ด้วยวินัยขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงเป็นสัมมาสัมพุทธะ ส่วนท่านผู้ใดรู้เข้าถึงความจริงด้วยปัญญาของตนเอง แต่ไม่มีความสามารถที่จะทำการจัดตั้งวางระบบแบบแผนที่เรียกว่าวินัย ตั้งขึ้นมาให้คนหมู่ใหญ่ได้ประโยชน์นี้ ท่านผู้นั้นก็เป็นพระพุทธเจ้าอีกประเภทหนึ่งที่เราเรียกว่าปัจเจกพุทธเจ้า ที่รู้เฉพาะตนเอง ฉะนั้นการที่มาจัดตั้งวางระบบที่เราเรียกว่าวินัย ที่เราเรียกกฎหมายนี้ได้ ถือความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่ว่าไม่ใช่เฉพาะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังสามารถเอาความจริงในธรรมชาตินั้นมาทำให้เกิดประโยชน์แก่หมู่ชนส่วนมากได้ด้วย อันนี้เป็นความสามารถของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่ามันโยงกัน มันโยงกันในแง่ที่ว่า ถ้าหากว่าจัดตั้งวางระบบแบบแผนโดยไม่มีธรรมะเป็นฐาน ไม่มีตัวความจริงที่แท้เป็นฐานแล้ว ตัวการจัดตั้งนี้ก็ไร้ความหมายเหมือนกัน ฉะนั้นวินัยคือการจัดตั้งของมนุษย์นั้นต้องตั้งอยู่บนฐานของตัวธรรมะ คือตัวความจริงที่แท้ ต้องอาศัยปัญญาที่รู้มาจัดตั้ง แล้วธรรมะนี้เป็นทั้งฐานของวินัย และเป็นทั้งจุดหมายของวินัย เป็นฐานอย่างไร หมายความว่าต้องรู้ความจริงในกฎธรรมชาติ จึงจะสามารถมาจัดตั้งวางระบบแบบแผนในหมู่มนุษย์เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากตัวธรรมะนั้นได้ ถ้าไม่รู้อันนั้นแล้วจะทำไปทำไม สอง-ก็คือว่านอกจากเป็นฐานที่ว่ามาวางอาศัยเป็นที่อิงแล้ว ก็คือจะเป็นจุดหมายด้วยว่าที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกัน มาจัดตั้งแบบแผนทั้งหมดนี้ก็เพื่อเข้าถึงประโยชน์ได้รับประโยชน์จากตัวธรรมะ เพราะฉะนั้นธรรมะจึงเป็นทั้งเบื้องต้นและเป็นที่สุดของวินัย ถ้าปราศจากตัวธรรมะแล้ว วินัยนี้ก็ไม่มีความหมาย ไร้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นสองอย่างนี้อิงกันอยู่ แต่ถ้ามีแต่ธรรมะเป็นของจริงตามธรรมชาติ แม้คนนั้นจะรู้ แต่ไม่สามารถไปทำประโยชน์ให้กับคนหมู่ใหญ่ได้ ธรรมะนั้นก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่ ทั้งๆ ที่มันมีอยู่เป็นความจริง เพราะฉะนั้นสองอย่างนี้ต้องอิงอาศัยกัน เราก็เลยเรียกว่าเป็นพุทธศาสนา แต่มีลักษณะหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือว่าในพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึงธรรมะ เราจะใช้คำว่าแสดง แสดงธรรม เพราะว่าธรรมคือความจริงมันมีอยู่ของมันเป็นธรรมดา เราเพียงแต่ไปรู้และแสดงมัน แต่ถ้าวินัยใช้คำว่าบัญญัติ บัญญัติคือมนุษย์จัดตั้งขึ้นมา เป็นเรื่องของมนุษย์ทำเอา ฉะนั้นธรรมะไม่ใช่ของมนุษย์ทำ เป็นของมีอยู่ตามธรรมดา ส่วนวินัยนั้นเป็นส่วนที่มนุษย์ทำ จัดตั้งขึ้น ฉะนั้นเราพูดว่าพระพุทธเจ้าแสดงธรรมและก็พูดว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัย สองอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อน ทีนี้เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายหรือวินัย กับเรื่องของธรรมะความจริงในกฎธรรมชาตินี้ก็ต้องขอประธานอภัยว่า คงจะเอาไปสับสนกับเรื่องคติฝรั่ง เรื่อง natural law , natural right อะไรกันไม่ได้ คนละแบบกันเลย ฝรั่งเขามีคติเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องสายหรือว่าสำนักมีแนวความคิดหลายแบบ เช่นพวกหนึ่งถือเป็น natural law ก็หลายท่านเรียกกฎหมายตามธรรมชาติ ก็แถมมี natural right มีสิทธิตามธรรมชาติด้วย แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ตรงกับอันที่พูดไปแล้วเลย
ตอนนี้เราก็กลับมาเรื่องธรรมะกับวินัยอีกครั้งหนึ่ง ทีนี้เราก็มีความจริงตามธรรมชาติ ที่เราเรียกว่าธรรมะ กับการจัดตั้งของมนุษย์ ซึ่งเรียกว่าสมมตินั่นเอง เพราะฉะนั้นเรื่องวินัยเรื่องกฎหมายนี้เป็นเรื่องสมมติ แต่สมมติไม่ใช่ของเหลวไหล สมมตินี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในภาษาไทยนี้ใช้ในความหมายไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ภาษาพระนี่สมมตินี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นสัจจะประเภทหนึ่งเลย ทางพุทธศาสนาบอกสัจจะมีสองอย่าง คือ สัจจะจริงแท้แน่นอนตามเนื้อหาของธรรมชาติ เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ และสอง-สมมติสัจจะ สัจจะตามสมมติ ทีนี้เราก็มีกฎธรรมชาติกับกฎสมมติของมนุษย์เหมือนกัน ธรรมะนี้เหมือนกัยเป็นกฎธรรมชาติในแง่หนึ่ง เพราะมันเป็นความจริง ความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามธรรมดาของมัน ก็เรียกว่ากฎธรรมชาติ ทีนี้กฎหมายนี่ก็เรียกว่ากฎมนุษย์ สัมพันธ์กันอย่างไร ขอยกตัวอย่างเช่นว่าเอาง่ายๆ ตัวอย่างที่ยกบ่อยๆ เช่นว่ามนุษย์เรานี่ตามปกติ เราจะทำกิจการอะไรเนี่ย หรือแม้แต่กิจกรรมแต่ละอย่าง เราต้องมีความมุ่งหมาย คือต้องการผลของมัน เราต้องการผลสักอย่างหนึ่ง เราก็ทำกิจกรรมที่เป็นเหตุเพื่อจะได้ผลนั้น อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์ยังไม่มีการจัดตั้งวางระบบสังคมขึ้นมา เขาก็จะมีชีวิตอย่างนั้น อยู่ตามธรรมชาติ ผลที่เกิดตามเหตุตามธรรมชาตินั้นมันไม่ซับซ้อน ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่นว่า คนเขาต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม แล้วเขาไม่รอให้ต้นไม้มันงอกเอง เขาทำไง เขาก็ต้องปลูกต้นไม้ แล้วก็ทำสวน รดน้ำ พรวนดิน เป็นต้น เช่นเอาเม็ดมะม่วงมา แล้วเขาก็ขุดดิน แล้วเขาก็เอาเม็ดมะม่วงลง แล้วเขาก็กลบดิน แล้วเขาก็รดน้ำเป็นต้น เขาเรียกกันง่ายๆ เอาเป็นว่าต้นไม้มากๆ นี่เราเรียกว่าทำสวน การทำสวนก็จะเป็นเหตุ แล้วก็จะเกิดผลคืออะไร คือต้นไม้เจริญงอกงาม อันนี้คือเหตุผลตามกฎธรรมชาติ การทำสวนเป็นเหตุ ต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผล อันนี้เป็นความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ อันนี้เป็นตัวธรรมะ ทีนี้มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคม เราตั้งแบบแผนมีวัฒนธรรมอารยธรรมขึ้นมา เราทำยังไง เราบอกว่าเราต้องการให้มีสวนงอกงามที่นี่ แต่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคมดีแล้ว เราจะให้คนๆหนึ่ง หรือจำนวนหนึ่ง มาทำหน้าที่เรื่องนี้เลย เขาไม่ต้องห่วงใยเรื่องอื่น แล้วเราก็ให้เงินเดือนเขา ก็จ้างคนมาทำสวน อาจจะเป็นที่สำนักงานนี้หรือที่ไหนก็ตาม ในสังคมที่มีอารยธรรมแล้วเนี่ย ก็จะมีเรื่องเช่นนี้ขึ้นมา แทนที่ว่าทุกคนจะต้องไปทำสวนเอง เราก็มีการจัดตั้งวางระบบแบบแผนขึ้นมา ก็คือว่ามีการตั้งเงินเดือน แล้วบอกว่าคุณมาทำสวนแล้วจะให้เงินเดือน เช่น 5,000 บาทเป็นต้น การทำสวนก็เป็นเหตุ แล้วก็เกิดกฎของมนุษย์ว่าเงินเดือน 5,000 เป็นผล อันนี้ก็เป็นกฎขึ้นมา เป็นกฎที่เห็นเหตุเห็นผลจริงๆ ก็คือว่าการทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน 5,000 เป็นผล ไม่มีใครเถียง เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ แต่ถามอีกชั้นหนึ่งว่าจริงแน่หรือเปล่า การทำสวนเป็นเหตุ เงินเดือน 5,000 เป็นผลนี่ จริงหรือไม่จริง จริงในขั้นต้นเท่านั้น พอเอาเข้าจริงมันไม่จริง การทำสวนเป็นเหตุ เกิดเงินเดือน 5,000 บาท มีที่ไหนในโลก ไปขุดดินทำสวนแล้วเงินมันจะขึ้นมา 5,000 บาท เป็นไปได้ที่ไหน กฎนี้เป็นกฎที่มนุษย์สร้างขึ้นมาโดยการสมมติ สมมติแปลว่ามติร่วมกัน มาจากคำว่า สัม บวก มติ รวมกันเป็น สมมติ แปลว่ามติร่วมกัน มติคืออะไร มติคือการยอมรับหรือข้อตกลง เพราะฉะนั้นสมมติก็แปลว่าข้อตกลงร่วมกัน หรือการยอมรับร่วมกัน กฎของมนุษย์ที่ว่าทำสวน 1 เดือน ได้เงินเดือน 5,000 บาทเป็นผลนี้ เป็นกฎที่ตั้งอยู่บนสมมติ คือการยอมรับร่วมกัน ถ้าสมมติคือการยอมรับร่วมกันหายไปเมื่อไหร่ กฎนี้หายทันที การทำสวนเป็นเหตุ แต่เงินเดือน 5,000 บาท ไม่เป็นผล เพราะฉะนั้นกฎนี้ก็เกิดขึ้นมาเป็นกฎของมนุษย์ อริยธรรมของมนุษย์ได้สร้างกฎทำนองนี้ขึ้นมามากมายเพื่อให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ได้ด้วยดี แต่ที่แท้นั้นต้องการอะไร การที่เราวางกฎมนุษย์เป็นเหตุเป็นผลว่า ทำสวน 1 เดือนได้เงินเดือน 5,000 บาท ผลที่แท้จริงนั้นคือผลตามกฎธรรมชาติ คือความเจริญงอกงามของต้นไม้ อันนี้แน่นอน อันนี้เราก็เลยเห็นตัวความจริงสองชั้น เป็นกฎสองชั้น การทำสวนอันเดียวเนี่ย มีความเป็นเหตุเป็นผลตามกฎธรรมชาติที่เป็นธรรมะก็คือการทำสวนเป็นเหตุ ต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผล และความจริงที่เป็นกฎมนุษย์ ที่เป็นกฎแห่งสมมติ เกิดจากมติร่วมกันก็คือการทำสวนเป็นเหตุ แล้วก็เงินเดือน 5,000 บาทเป็นผล แต่สองอันนี้มีความสัมพันธ์กัน ถ้าไม่มีความจริงตามกฎธรรมชาติ การวางกฎของมนุษย์ที่เรียกว่าวินัย คือทำสวน 1 เดือน ได้เงินเดือน 5,000 บาท นี้ไม่มีความหมายอะไร ถ้าเราไม่ต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม แล้วเราจะวางกฎนี้ทำไม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องการแท้ๆ นั้นคือความจริงของตัวธรรมะ อันนี้เป็นตัวอย่างว่าที่แท้แล้วเราต้องการความจริงตามกฏธรรมชาติ แต่พอมนุษย์ได้พัฒนาอารยธรรมไป บางทีมนุษย์จะแปลกแยกจากธรรมชาติ แล้วหลงสมมติ หลงสมมติก็คือติดอยู่แค่กฎสมมติ ไม่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ถ้าตัวความแปลกแยกจากตัวธรรมะนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่นั่นคือความวิปลาสของสังคมทันที วิปลาสทั้งชีวิตและสังคมทันที เช่น คนทำสวนทำเพื่อต้องการเงินเดือนอย่างเดียว โดยไม่ได้นึกถึงเรื่องผลตามกฎธรรมชาติ คือการที่ต้นไม่เจริญงอกงาม เพราะฉะนั้นในทางพระศาสนาจึงถือว่าการเข้าถึงตัวความจริงหรือตัวธรรมะนี้จะต้องเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา ถ้ามันแปลกแยกเมื่อไหร่นั้น ชีวิตจะวิปริตทันที สังคมก็จะไม่ได้รับผลที่ต้องการ ลองคิดดูว่าถ้าคนมาทำสวนด้วยต้องการเงินเดือน 5,000 บาท แล้วไม่ต้องการผลที่แท้ตามกฎธรรมชาติ อะไรจะเกิดขึ้น แล้วอันนี้จะมีผลโยงไปถึงเรื่องอื่นหมดเลย ซึ่งยังไม่ต้องพูดกันในที่นี้ แต่เอาเป็นว่านี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง มนุษย์เรามนี่มีความสามารถในอันนี้ เราก็ตั้งกฎเกณฑ์ระเบียบการจัดแจงจัดสรรสังคมอะไรต่างๆ ขึ้นมามากมาย จนกระทั่งแม้แต่มนุษย์มีสิทธิที่จะเป็นอย่างนั้น ที่ดินก็เอามาแบ่งกัน ให้มีกรรมสิทธิ์เกิดขึ้น มีสิทธิเป็นเจ้าของในที่ดินแปลงนี้ ที่ดินนี้แบ่งกันเท่านี้ ที่ดินนี้เป็นของคุณ ที่ดินนี้เป็นของฉัน แล้วก็ละเมิดกันไม่ได้ ก็มีกฎหมายเข้ามายอมรับ ถ้าละเมิดกันก็มีการลงโทษกันอะไรต่ออะไรตามกระบวนการของกฎหมายนั้น แต่ว่าบางทีมนุษย์จะลืมไป พอมนุษย์ต่างอารยธรรม ต่างวัฒนธรรมมาเจอกัน เรื่องเหล่านี้แปลก อาตมาภาพจะยกตัวอย่างให้อันหนึ่ง เรื่องเกิดขึ้นแล้วในประเทศอเมริกา เมื่อ 141 ปีล่วงมาแล้ว ประธานาธิบดีอเมริกันชื่อว่า แฟรงคลิน เพียร์ช ได้ติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง แปลงนี้คงไม่ใช่เล็กหรอก ต้องใหญ่แน่ เป็นสร้างบ้านสร้างเมืองได้เลย จากพวกอินเดียนแดงเผ่าหนึ่งซึ่งมีหัวหน้าชื่อว่า
ซีแอตเติล หัวหน้าอินเดียนแดงนี้ชื่อ ซีแอตเติล ก็คือที่มาของชื่อเมืองใหญ่ในรัฐวอชิงตัน ที่อยู่ตะวันตกเฉียงเหนือสุดในประเทศอเมริกาปัจจุบัน ทีนี้ตอนนั้นดินแดนนี้เป็นของอินเดียนแดง เผ่าซีแอตเติล ประธานาธิบดีเพียร์ชก็ติดต่อขอซื้อ ได้รับคำตอบจากอินเดียนแดงว่าไง อินเดียนแดงบอกว่าท่านจะเอาผืนดินและแผ่นฟ้ามาขายกันหรือนี่ ความคิดนี้แปลกประหลาดเหลือเกิน ว่างั้นนะ นี่เจริญพร ลองคิดดูนี่นะ เวลานี้เราถือกันเหลือเกินใช่ไหม ที่ดินนี้ฉันมีกรรมสิทธิ์นี้เป็นของฉัน แต่ว่ามนุษย์ที่เขายังไม่มีอารยธรรมอย่างนี้ขึ้นมาเนี่ยเขารู้สึกแปลกประหลาด อินเดียนแดงนึกไม่ออกว่ามนุษย์นี้มีการเอาแผ่นดินเอาผืนฟ้ามาขายกันได้ด้วยหรือ ต่อไปมนุษย์จะขายผืนฟ้ากันจริงๆ ด้วย จะมีการเช่าสถานีอวกาศอะไรต่างๆ ต้องมีที่ อันนี้ต่างๆ มนุษย์ก็สมมติทั้งนั้น อันนี้แต่ก่อนสมัยก่อนที่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียร์ช ขอซื้อที่ดินจากอินเดียนแดง คนอเมริกันย่อมดูถูกคนอินเดียนแดงมาก แหม พวกนี้ไม่มีสติปัญญาโง่เขลาเหลือเกิน ไม่มีอารยธรรม แต่มาเวลานี้ความคิดของอินเดียนแดงนี้กลับได้รับความยกย่องสรรเสริญ เพราะอะไร เพราะมนุษย์ยุคนี้มาประสบปัญหาจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม แล้วก็มาเห็นกันว่าการกระทำของมนุษย์ที่เบียดเบียนธรรมชาติ ที่จัดการกับธรรมชาติตามชอบใจเนี่ยมันเป็นสาเหตุของการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และมลภาวะต่างๆ ปรากฏว่าคนอเมริกันยุคนี้ไปยกวาทะอินเดียนแดงคนนี้มายกย่องสรรเสริญกันใหญ่ ตัวอย่างง่ายๆ ก็รองประธานาธิบดีอัล กอร์ นี่แหละ เป็นรองประธานาธิบดีอัล กอร์ปัจจุบันนี้ เขียนหนังสือเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ก็ไปยกเอาถ้อยคำวาทะของอินเดียนแดงนี้มายกย่องสรรเสริญ นี่คือแนวความคิดเก่าๆ ฉะนั้นอันนี้ก็คือเรื่องของการที่ว่ามนุษย์นี่มาตั้งกฎตั้งเกณฑ์ในหมู่มนุษย์ขึ้นมา แล้วเพื่อประโยชน์ในหมู่มนุษย์ของเราเนี่ย ว่าอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าเราจะไปจัดการกับเรื่องธรรมชาติ แต่ที่จริงนั้นสิทธิอย่างนี้มันมีหรือเปล่า อย่างฝรั่งปัจจุบันบอกว่ามีสิทธิตามธรรมชาติ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ในทัศนะของพระพุทธศาสนาที่ว่ามันเป็นความสับสน คือตัวความจริงในธรรมชาติมันก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้น เช่นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทีนี้มนุษย์นั้นมีสติปัญญา เพื่อจะให้ชีวิตของตน กิจการของตนอยู่ได้ด้วยดี ภายใต้กฎธรรมชาตินั้น ก็เอากฎธรรมชาติจัดสรรวางระบบแบบแผนในสังคมของตนขึ้นมาสิ จะทำยังไงก็ทำเอา อย่างสิทธิเราก็กำหนดกันได้ อย่างสิทธินี้เป็นเรื่องของมนุษย์ตกลงกัน อย่างสมมติว่าเราตกลงว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของฉัน หรือของคนนั้นคนนี้ ก็เป็นสิทธิแล้ว นี่เป็นการใช้อ้างในหมู่มนุษย์เท่านั้นนะ จะไปอ้างกับธรรมชาติได้ที่ไหน เราจะบอกว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของข้าแล้ว ฉันปลูกอะไรแกต้องงอก ไปอ้างกับธรรมชาติ แล้วไม่ทำตามเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ เป็นไปได้ไหม ไม่สำเร็จ ธรรมชาติไม่ฟัง เรื่องของธรรมชาติคือการทำตามเหตุปัจจัย คุณต้องทำให้ถูกตามเหตุปัจจัย คุณทำไม่ถูกตามเหตุปัจจัย มันก็ไม่เกิดผลตามต้องการ หรือเราบอกว่าต้นมะม่วงต้นนี้ เป็นต้นไม้ของฉัน เกิดในที่ของฉัน แกต้องฟังฉัน แกจะต้องงอกงาม แกจะต้องออกลูกได้ในฤดูนี้ ปีนี้ให้ฉันได้รายได้เท่านี้ มันก็เป็นไปไม่ได้ มันต้องทำตามเหตุปัจจัยทั้งนั้น ฉะนั้นเรื่องของมนุษย์นี่ ต้องรู้จักแยกระหว่างความจริงตามกฎธรรมชาติ กับความจริงที่มนุษย์มาตกลงกันขึ้น เพราะว่าแม้แต่ชีวิตของมนุษย์เอง มนุษย์มีสิทธิ์อะไร ในแง่ของกฎธรรมชาติเขาบอกฉันมีสิทธิในชีวิตของฉัน แล้วลองเข้าป่าไปเจอเสือ แล้วไปยืนบอกกับเสือบอกข้าเป็นเจ้าของชีวิตของข้า บอกกับเสือ เสือมันฟังไหม เสือมันก็งับเอาทันที แม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เราอ้างสิทธิในตัวชีวิตของเรา เราก็ต้องปฏิบัติดำเนินชีวิตของเราให้ถูกต้อง เราต้องรักษาสุขภาพของเรา เราต้องกินอยู่หลับนอนให้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัยของมัน ถ้าเราไม่ทำตามนั้น จะอ้างสิทธิต่อธรรมชาติเป็นไปไม่ได้
สิทธิต่อชีวิตอ้างไม่ได้กับธรรมชาติ แต่เราอ้างได้กับมนุษย์ของเรา อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างกฎธรรมชาติกับวินัย คือกฎเกณฑ์ในหมู่มนุษย์ ซึ่งซ้อนกันอยู่และเป็นเรื่องเดียวกัน แต่แยกออกเป็นสองด้าน แล้วอย่างที่กล่าวแล้วว่า กฎของมนุษย์คือวินัยนี้ ต้องอิงอยู่บนความจริงของกฎธรรมชาติ และมีเพื่อเข้าถึงได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาตินั่นเอง ความหมายของกฎหมายหรือวินัยนั้นก็อยู่ที่นี่ แต่ดังได้กล่าวแล้วว่า วินัยคือการจัดตั้งวางระบบแบบแผน หรือแม้แต่ที่เรียกว่าสมมตินี่ เป็นความสามารถของมนุษย์ที่ไม่มีในหมู่สัตว์อื่น มนุษย์มีความสามารถอันนี้จึงสามารถสร้างวัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นมาได้ โลกของมนุษย์นั้นเป็นแดนของสมมติทั้งสิ้น แต่ว่ามีข้อสังเกตอีกอันหนึ่งก็คือว่าในเมื่อเราบอกแล้วว่าตัวธรรมะคือความจริง ความจริงเป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นต้นเนี่ย ฐานของการวางกฎเกณฑ์ การจัดตั้งวางระบบแบบแผนในสังคมมนุษย์ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการที่จะให้ระบบของมนุษย์ ซึ่งหมายถึงระบบการต่างๆ มันได้ผลจริงเนี่ย มันจะมีอันหนึ่งก็คือว่าการที่ระบบทุกอย่างนั้นมันจะต้องประสานเป็นอันเดียวกันได้ เวลานี้มนุษย์เราเมื่อเรามีอารยธรรมมากขึ้น เราก็มีการจัดตั้งวางระบบแบบแผนในสังคมมากขึ้น เช่น เราแยกเป็นระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครอง ระบบทางด้านเรื่องของสังคม มีระบบต่างๆ มากมาย ระบบในสังคมนี่แยกออกไป ทีนี้ระบบการเหล่านี้เราแยกออกไป ที่จริงก็เพื่อให้มีประสิทธิภาพในเชิงปฏิบัติ แล้วในการศึกษาจะได้ลึกละเอียด แต่ที่จริงแล้ว กฎธรรมชาติกับความจริงที่รองรับนั้นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะให้กฎมนุษย์ ซึ่งหมายถึงระบบแบบแผนต่างๆ ในสังคมมนุษย์เนี่ยได้ผลอย่างแท้จริง ระบบเหล่านั้นจะต้องประสานเป็นอันเดียวกันได้ บนความเข้าใจในความจริงในกฎธรรมชาติ ปัญหาของโลกปัจจุบันนี้ก็คือ มนุษย์ต่างคนต่างคิดแล้วก็วางระบบในความคิดที่แยกส่วน ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบการเมืองการปกครอง เป็นต้น ระบบเหล่านี้ปรากฏว่าตั้งอยู่บนฐานคนละทฤษฎี ทฤษฎีเหล่านั้นไม่รู้ว่าเข้าถึงธรรมหรือตัวความจริงแห่งกฎธรรมชาติหรือเปล่า แต่ทฤษฎีที่พยายามจะเข้าถึงตัวความจริงนี้ ทีนี้ถ้าหนึ่ง-มันไม่เข้าถึง สมมติทฤษฎีนั้นไม่เข้าถึงตัวธรรมะคือความจริง ระบบที่เขาตั้งบนฐานของทฤษฎีนั้นก็เป็นอันว่าไม่สามารถจะให้ประโยชน์ที่แท้ ไม่สามารถจะสร้างผลสำเร็จที่ต้องการได้ จะเป็นระบบที่ไม่ยั่งยืน แล้วยิ่งกว่านั้นก็คือว่า เมื่อตั้งอยู่บนคนละทฤษฎี ต่อมาระบบเหล่านี้ก็อาจจะขัดแย้งกัน ระบบเศรษฐกิจไปอย่าง ระบบการเมืองไปอย่าง ระบบสังคมต่างๆ ไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งคิดว่าเป็นสภาพในปัจจุบันนี้ด้วย ก็คือมนุษย์จะต้องมีความขัดแย้งในระบบต่างๆ กิจการต่างๆ ในยุคนี้จะต้องมีปัญหาเกิดขึ้น ฉะนั้นแม้แต่แค่ระบบเศรษฐกิจกับระบบการเมืองการปกครอง ก็เป็นปัญหาแล้วว่าเราจะใช้ระบบเศรษฐกิจอะไร ระบบเศรษฐกิจต่างๆ ก็เกิดจากทฤษฎีเศรษฐกิจ จากระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ต่อมาทางฝ่ายการปกครองก็มีทฤษฎีการปกครอง เช่น ประชาธิปไตย เป็นต้น แล้วก็มีระบบการปกครอง ระบบประชาธิปไตยตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎีนั้น ต่อมานะบบเศรษฐกิจกับระบบการปกครองนี้ มันมาจากฐานคนละฐาน ปรากฏว่าบางครั้งฝ่ายสังคมนิยม ก็อ้างว่าตัวใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ฉันนี่แหละเป็นประชาธิปไตยที่แท้ เช่นเป็นประชาธิปไตยประชาชน อีกสังคมหนึ่งเป็นทุนนิยม เสรีนิยม ก็อ้างว่าฉันก็ใช้ระบบประชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม อย่างกระทั่งปัจจุบันนี้ ฝ่ายเสรีนิยม ทุนนิยม ชนะ ก็ได้มาเอาสองตัวนี้มาผนวกกันซะ บอกว่าฉันใช้เศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นตลาดเสรี ภาษาอังกฤษว่า free market economy ฝ่ายด้านการปกครองฉันใช้ระบอบประชาธิปไตย ใช้ democracy ต่อไปก็บอกว่าต้องระบบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมนี่ดีที่สุด ก็เอาสองคำนี้มาผนวกกันเลย เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า free market democracy แปลว่าประชาธิปไตยแบบตลาดเสรีไปเลย จนกระทั่งบางคนนี้อาจจะถูกหลอกว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วก็ต้องเป็นตลาดเสรี อะไรทำนองนี้ กลายเป็นว่าผสมเป็นอันเดียวกันไป แล้วในท่ามกลางสภาพอันนี้ ความขัดแย้งก็อาจจะมีอยู่ แล้วที่สำคัญก็คือฝ่ายหนึ่งจะต้องนำฝ่ายหนึ่ง เช่นว่าแนวคิดแบบเศรษฐกิจของทุนนิยมก็มาครอบงำแนวคิดประชาธิปไตย ทำให้มองความหมายของหลักการต่างๆ ในประชาธิปไตย ไปตามอิทธิพลความคิดของเศรษฐกิจ เดี๋ยวนี้ก็หัดแล้ว การตีความหมายของความเสมอภาค เสรีภาพ ก็เป็นการตีความหมายแบบทุนนิยม คือใต้อำนาจของระบบเศรษฐกิจ แต่นี่ก็คือการที่มนุษย์ยังไม่มีความสามารถที่จะประสานระบบการต่างๆ ของมนุษย์ให้เข้าสู่ตัวหลักการแห่งธรรมะความจริงอันเดียวกันได้ อาจจะเป็นเพราะมนุษย์ยังไม่สามารถเข้าถึงตัวความจริงนี้ ถ้าหากว่าเข้าถึงจริงๆ แล้ว ระบบการต่างๆ ที่มนุษย์จัดตั้งเนี่ย จะต้องประสานกันเป็นอันเดียวกัน และอยู่บนฐานแห่งความจริงนี้ ไม่เช่นนั้นไม่มีทางสำเร็จ และไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นในเวลานี้ก็ยังเป็นปัญหาว่ามนุษย์จะเข้าถึงตัวธรรมะ ตัวความจริงนี้ได้แค่ไหนเพียงใด แต่ขณะนี้ก็เป็นการพูดถึงหลักการ ก็ให้รู้ว่าพุทธศาสนาถือหลักอันนี้ ก็คือว่า มนุษย์จะจัดตั้งวางระบบแบบแผนอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นต้องอยู่บนฐานการรู้ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วคุณจะมาแยกเป็นระบบย่อยๆ ยังไง ก็เรื่องของคุณ แต่คุณต้องมีความสามารถ แล้วถ้าทำได้สำเร็จ นั่นคือความสามารถพิเศษของมนุษย์เลย สองชั้น ความสามารถที่มีปัญญาเข้าถึงตัวความจริงของธรรมชาติ คือตัวธรรมะได้นี่ ก็เลิศประเสริฐแล้ว ยังมีความสามารถอีกอัน คือสามารถเอาความรู้ในความจริงหรือตัวธรรมะนั้นมาจัดตั้งวางระบบแบบแผนในสังคมขึ้นได้ เราจะเห็นว่ากฎหมายนั้นมันไม่ใช่เรื่องแค่ที่เป็นระเบียบความเป็นอยู่ของมนุษย์ ความประพฤติเท่านั้นนะ มันหมายถึงการจัดวางระบบการที่กำหนดกิจการของสังคมต่างๆ ว่าจะเอายังไงกันด้วย เพราะฉะนั้นวินัยจึงไม่ได้มีความหมายแคบๆ อย่างที่ว่าในภาษาไทยที่บอกว่า วินัย ไม่ใช่เพียงระเบียบความประพฤติของคนเท่านั้น แต่วินัยนั้นหมายถึงระบบการจัดสรรสังคมทั้งหมด การจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ การจัดระเบียบ จัดกิจการของสังคม ทีนี้เราจะจัดยังไง ก็ต้องมีตัวกติกาตัวระเบียบการนี้เป็นตัวที่หมายรู้ว่าจะเอายังไง ฉะนั้นกฎหมายมันจึงคลุมหมด คลุมกิจการทุกอย่างในสังคมมนุษย์เลย ฉะนั้นกิจการในด้านเศรษฐกิจจะเอ่ยังไง กฎหมายก็จะเป็นตัวบ่งบอก ในด้านการปกครองจะเอายังไง กฎหมายก็บอก ไม่ว่ากิจการายการดำเนินชีวิตจะมีขอบเขตแค่ไหน สัมพันธ์กันแค่ไหน กฎหมายก็จะก้าวเข้าไปคลุมหมดเลย เพราะฉะนั้นวิชากฎหมายก็คลุมกิจการทุกอย่าง ในการดำเนินชีวิตตและกิจการของมนุษย์ เพราะฉะนั้นก็มีทั้งกฎหมายที่คลุมคน คลุมความประพฤติของคน แล้วก็กฎหมายที่วางระบบกิจการที่ดำเนินการโดยคน คือเรื่องของคนนี่คลุมหมด วินัยก็เลยมีความหมายสองชั้น
อันที่หนึ่ง-ก็คือเป็นตัวการจัดตั้ง และระบบที่จัดตั้งขึ้น
สอง-ระเบียบที่เป็นตัวหมายรู้ หรือเป็นเครื่องกำหนดการจัดตั้งให้อีกที
สองชั้น อันนี้คิดว่าคงแยกได้ อยู่ในความหมายหนึ่งคือเป็นตัวจัดตั้งระบบ สอง-ตัวระเบียบแบบแผนที่บอกว่าจะให้จัดยังไง วินัยก็มีความหมายทั้งสองชั้นนี้ โดยเฉพาะที่เราเข้าใจกันมากก็คือความหมายที่สอง ก็คือตัวบอก ตัวระเบียบแบบแผนที่บอกว่าจะให้จัดตั้งวางระบบอย่างไร เช่นว่าเรามาอยู่ร่วมกัน อย่างพระมาอยู่ร่วมกันนี้ จะต้องมีปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโลก วินัยก็จะเข้ามาบอกเลยว่าเราจะจัดสรรแบ่งปันปัจจัยสี่กันยังไง มีใครมานิมนต์พระ จะให้เป็นผู้ทำหน้าที่ในการที่จะบอกให้คนไหนไป แล้วมีวิธีการจัดยังไง จะให้ใครไปก่อนใครไปหลัง อย่างนี้เป็นต้น กฎหมายเข้ามาแล้ว นี่คือวินัย เรื่องปัจจัยสี่จะเก็บจะอะไร พระจะใช้ได้นานเท่าไหร่ ถ้าใช้นานเกินนั้นมีที่เก็บอย่างไร ใครจะเป็นผู้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บในเรื่องเหล่านี้ หรือว่ามีการทะเลาะกันเกิดขึ้น มีพระทำความผิดจะดำเนินคดีอย่างไรน แม้แต่ทางบ้านเมืองจะต้องการเงินทองมาเป็นรายได้ของรัฐ จะเก็บภาษีอย่างไร มันก็เข้าไปในหมวดเรื่องของกฎหมายทั้งสิ้น ฉะนั้นไปๆ มาๆ วินัยมันก็เป็นเรื่องการปกครองไปเลย เพราะฉะนั้นความหมายอันหนึ่งของวินัยคือการปกครอง เพราะว่าเราจะให้กิจการต่างๆ ดำเนินไปอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็คือการปกครองในความหมายที่คลุมหมด แล้วแยกออกมาเป็นราะเอียด ก็เป็นการบริหาร แต่ว่ามันต้องมีศูนย์รวมเพื่อให้ดำเนินไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็คือการปกครองเนี่ย การบริหารต้องแยกย่อยออกไป ฉะนั้นคำว่าวินัยต้องมีความหมายกว้างจึงไปโยงที่พูดตอนแรกว่า วินัยเกี่ยวกับเรื่องเกี่ยวกับการปกครองหรือกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองมาก เพราะตัววินัยเองก็แปลว่าการปกครองได้ เพราะอะไร เพราะวินัยนั้นมาแปลถึงศัพท์ มันแปลว่า การนำไปให้วิเศษ ก็มาจากตัวเดียวกัน นี ที่แปลว่า นำ
แล้ว วิ ก็ให้วิเศษ นำไปให้วิเศษก็หมายความว่า ทำให้กิจการต่างๆ ดำเนินไปได้ดี ถ้าเป็นคนก็ทำให้เขาเป็นคนที่มีชีวิตที่ดีงาม การนำไปให้วิเศษ ทีนี้มันก็มีความหมายในระดับสังคม กับในระดับบุคคลอีก แต่ทั้งหมดนั้นเป็นวินัย เป็นกฎหมาย เป็นการปกครองอะไรก็ตาม ทำให้เกิดเกิดความเรียบร้อยขึ้นในสังคมมนุษย์ อันนี้เราจะมองว่า ออ ในที่สุดแล้ว เรื่องของกฎหมาย เรื่องของวินัยก็คือจัดให้เกิดความเรียบร้อย เราอาจจะเรียกว่าให้เกิดความสันติสุขในสังคม แต่ที่แท้นี้เป็นจุดหมายของวินัยหรือเปล่า เป็นจุดหมายของกฎหมายหรือเปล่า จุดหมายของนิติศาสตร์คืออะไรแน่ ถ้ามองในแง่ของวินัยในพุทธศาสนา ความสงบเรียบร้อย อยู่กันด้วยดีในสังคม นี่หรือเป็นจุดหมาย มองว่ายังไม่ใช่ ทำไมจึงยังไม่ใช่ มันก็น่าจะอย่างนั้นแล้วนี่ ก็จัดการปกครองด้วยกฎหมาย วางระเบียบกฎเกณฑ์ก็เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ดีมีความเรียบร้อย อยู่สงบ มันก็น่าจะบรรลุจุดหมาย เราถือว่าอันนี้เป็น means ไม่ได้เป็น aim ความเรียบร้อย ความสงบของสังคมไม่ใช่เป็นจุดหมาย แล้วอะไรเป็นจุดหมายล่ะ เราก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วทำไมจึงต้องมีวินัย แล้วจึงจะได้คำตอบนี้ เมื่อกี้นี้พูดแล้วว่าการมีวินัยนั้นสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของสงฆ์ คือสังฆะ หรือชุมชนของพระภิกษุ หรือพระสงฆ์ทั้งหลายที่มาอยู่ร่วมกัน ทีนี้ก็มาดูว่าทำไมจึงเกิดสงฆ์ ทำไมพระพุทธเจ้าตั้งสังฆะขึ้นมา เรื่องนี้มันจะโยงไปยังธรรมชาติของมนุษย์เลย แล้วเราจะเห็นว่าจุดมุ่งหมายของการมีการปกครองมีกฎหมายมีระเบียบกฎเกณฑ์กติกาสังคมนี้เพื่ออะไร ทีนนี้ก็มาดูทัศนของพระพุทธศาสนา มองธรรมชาติของมนุษย์อย่างไร ถ้าเราไม่พิจารณาถึงขั้นธรรมชาติของมนุษย์นี่ ศาสตร์ของมนุษย์ทั้งหลายไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร ศาสตร์ทุกศาสตร์จะต้องลงไปถึงธรรมชาติของมนุษย์ จะต้องตั้งอยู่บนฐานของตัวความจริงที่เข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ เพราะว่าที่สุดแล้วนี่เราทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ ถ้าไม่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์แล้ว แล้วเรารู้ว่าชีวิตมนุษย์อยู่ไปทำไม แล้วเขาต้องการอะไร แล้วเราจะไปทำอะไรให้เขา สิ่งที่เราต้องการทำ แล้วทำไป อาจจะเป็นพิษกับเขาแทนที่จะเป็นประโยชน์ก็ได้ ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เราอาจจะเจตนาดี แต่สิ่งที่เราทำนี้กลายเป็นพิษเป็นภัยกับเขา ฉะนั้นจะต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ด้วย ทีนี้พระพุทธศาสนามองมนุษย์อย่างไร ก็กลับไปสู่คำถามขั้นรากฐาน พุทธศาสนามองมนุษย์นั้น เอาง่ายๆ ว่า ท่านเรียกว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และก็เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คือต้องฝึกและฝึกได้ ถ้าใช้ศัพท์ภาษาสมัยใหม่เรียกว่าเป็นสัตว์ที่ต้องศึกษาและศึกษาได้ ทำไม มนุษย์นี้แปลกจากสัตว์อื่น สัตว์ชนิดอื่นนั้นไม่ต้องฝึก แต่ก็ฝึกไม่ได้ ไม่ต้องฝึกหมายความว่ามันเกิดมานี้มันอยู่มีชีวิตรอดได้ง่าย โดยแทบไม่ต้องฝึก ไม่ต้องเรียนรู้อะไร ไม่ต้องศึกษา เพราะอะไร เพราะสัญชาติญาณช่วยมัน มันออกจากท้องแม่ 2 นาทีมันอาจจะเดินได้เลย แล้วถ้าเป็นห่านก็ เช้าออก บ่ายก็ตามแม่ลงสระ ว่ายน้ำได้ หากินได้ ก็ไม่ต้องฝึก อยู่ด้วยสัญชาติญาณได้ เรียนรู้น้อย ฝึกน้อย แต่มนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษ ในแง่ที่ว่าถ้าไม่มีการฝึกฝน ไม่มีการเรียนรู้แล้ว อยู่ไม่ได้ อยู่ไม่รอด เพราะฉะนั้นมนุษย์เกิดขึ้นมานี่ จึงไม่สามารถอยู่รอดด้วยตนเอง พอเกิดมาแล้วต้องมีผู้อุ้มชู เช่น พ่อแม่เป็นต้น ก็เลี้ยงดูไป เป็นปีๆ ยังอยู่ไม่ได้เลย อย่าว่าแต่แค่เป็นเดือนเลย เป็นปีๆ ก็ยังอยู่ไม่ได้ ทีนี้ก็เลี้ยงดูไปเลี้ยงดูไป แล้วเขาจึงสามารถดำเนินชีวิตได้ ในการที่เขาดำเนินชีวิตได้นี้ ระหว่างที่พ่อแม่เลี้ยงดูเขานั้น เขาทำอะไร นี่คือสิ่งสำคัญ ระหว่างที่พ่อแม่เลี้ยงดูเขาเป็นปีๆ นั้น ตัวเขาทำอะไร สิ่งที่ตัวเขาทำคือ การเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตัว เขาต้องเรียนทุกอย่างเพื่อเขาจะดำเนินชีวิตได้ เขาจะนั่งเขาต้องเรียน เขาจะกินเขาต้องเรียน เขาต้องฝึก เขาจะนอน เขาจะขับถ่าย ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดทั้งนั้น คือศึกษานั่นเอง ใช้ภาษาสมัยใหม่ ที่จริงภาษาพระก็สิกขา คือเรียนรู้ ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกฝน ถ้าไม่เรียนรู้ไม่ฝึกฝนแล้วเขาทำอะไรไม่ได้สักอย่าง การดำเนินชีวิต จนกระทั่งว่าเดิน พูด นี่ก็ต้องฝึก กว่าจะได้เรียนรู้ในการที่จะเดินจะพูดนี่บางทีเป็นปีๆ เด็กบางคนเกือบ 2 ปี เดินได้ ยืน พูดได้ ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ใช่ได้มาเปล่าๆ มนุษย์ต้องลงทุน ก็คือลงทุนด้วยการศึกษา คือเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา เรียกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก แต่การที่ต้องฝึกนี้เป็นข้อดีของมนุษย์ คือเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ส่วนสัตว์ชนิดอื่นนั้นไม่ต้องฝึกก็จริง แต่มันฝึกไม่ได้ ไม่ใช่ถึงกับฝึกไม่ได้เลย มันฝึกได้น้อยอย่างยิ่ง มันเรียนรู้ได้จำกัด ได้นิดหน่อย แล้วส่วนใหญ่ถ้าจะฝึกต้องให้มนุษย์ฝึกให้ ส่วนมนุษย์นี้มีความสามมรถพิเศษที่ฝึกตนเองได้ เรียนรู้ด้วยตนเองได้ แล้วพอมนุษย์ฝึกแล้ว คราวนี้แทบไม่มีที่สิ้นสุด ฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น อันนี้ก็ฝึกไปสิ อยากจะเป็นอะไรก็ฝึกเอา แล้วมนุษย์ก็พัฒนาจนกระทั่งทิ้งสัตว์ชนิดอื่นไปหมดเลย มนุษย์สามารถสร้างโลกของมนุษย์ขึ้นมาต่างหากจากโลกธรรมชาติ ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่นอยู่ในโลกของธรรมชาติไปตลอดชีวิต เกิดมาอย่างไร ก็ตายไปด้วยสัญชาติญาณอย่างนั้น มนุษย์นี่เกิดมาแล้ว พอฝึกแล้ว เรียนรู้ก้าวหน้าไปไม่มีที่สิ้นสุด สร้างสรรค์อารยธรรมสืบต่อกันได้ จากมนุษย์รุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานรุ่นเหลนไปกันตลอดไปเลย ฉะนั้นธรรมชาติของมนุษย์อยู่ที่อันนี้ ถือว่ามนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามได้ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา เพราะฉะนั้นมนุษย์นี่เราเรียกว่าเป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา แล้วมนุษย์มีชีวิตที่ดีงามได้ก็คือต้องเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา เพราะฉะนั้นเราบอกว่า ชีวิตที่ดีงามของมนุษย์คือชีวิตแห่งการศึกษา พุทธศาสนาถือคตินี้ มนุษย์มีธรรมชาติอย่างนี้ เราถือว่าเราต้องการให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม แต่มนุษย์จะต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตัวเอง เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เข้ามาสู้ระบบการศึกษาของพุทธศาสนาในการโยงธรรมะกับวินัย ทีนี้มนุษย์ก็เรียนรู้อะไร ก็เรียนรู้นี่แหละ เรียนรู้เพื่อเข้าถึงความจริงในกฎธรรชาติ ตัวธรรมะ ถ้ามนุษย์รู้เหตุปัจจัยในสิ่งต่างๆ มนุษย์ก็ทำการได้แทบทุกอย่าง เช่นว่าจะปลูกต้นไม้ ไม่ต้องรอไปกินที่ต้นมันในป่า แต่สามารถเอาเม็ดมันมาปลูกที่บ้านก็ได้ สามารถสร้างสรรค์ทำสิ่งต่างๆ ขึ้นมามากมาย เกิดจากการเรียนรู้ การฝึกฝนพัฒนาของมนุษย์ทั้งสิ้น ฉะนั้นมนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงาม ต้องฝึกฝนพัฒนาด้วยการเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ แต่ว่าอย่างที่กล่าวแล้วก็คือว่า มนุษย์ก็ได้ได้ผลจากกฎธรรมชาติได้ดี ด้วยวิธีการที่มีการจัดตั้ง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเมื่อเข้าถึงความจริงในกฎของธรรมชาติ รู้ความจริงนั้นแล้ว เห็นว่ามนุษย์จะได้ประโยชน์ จะมีชีวิตที่ดีงาม ก็ต้องเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาตัวเอง โดยเข้าถึงตัวธรรมะ เรียนรู้ในธรรมะ ในกฎธรรมชาติ มีประโยชน์ยิ่งขึ้นไป แต่จะทำไงจะได้ผลแก่หมู่มวลมนุษย์จำนวนมาก ก็เลยจัดตั้งขึ้นมาเป็นสังฆะ จัดสังฆะขึ้นมาก็เพื่อคนที่ต้องการฝึกฝนพัฒนาตัวเองนั้น จะได้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า จะได้มามีบุคคลที่มีความรู้สูงกว่า หรือชุมชนที่มีการเรียนรู้อย่างเดียวกัน มีการฝึกฝนพัฒนา จะได้มาเกื้อกูลต่อกันและกัน มาช่วยแนะนำสั่งสอนกัน ข้อตกลงบางครั้งก็เกิดขึ้น เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร ก็เป็นชุมชนแห่งการศึกษา เพราะว่าคนที่ต้องการที่จะเข้าถึงตัวธรรมะ จะได้ประโยชน์จากธรรมะ ต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตัวเอง ชีวิตตัวเองให้ดี