แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[00:00:00] รักษาคนป่วยไข้ รักษาทั้งกายและใจ
[00:00:00] ทีนี้ก็มาคำนึงถึงว่า ท่านที่มาเป็นบุคลากรในโรงพยาบาลสุโขทัย ก็ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของคนเจ็บคนไข้ การรักษาพยาบาล อันนี้ก็เรียกกันง่าย ๆ ก็เป็นงานประเภทบริการสังคม แต่งานบริการสังคมนั้นมีหลายอย่าง บริการสังคมบางอย่างก็เป็นเรื่องที่ว่า เพิ่มความสนุกสนานอะไรต่าง ๆ ไป หรือว่าเป็นเรื่องของกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ แต่ของท่านที่อยู่โรงพยาบาลนี้ จะมีลักษณะพิเศษ เป็นบริการสังคมแก่คนที่เรียกได้ว่ามีความทุกข์ คือ เป็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย
คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ก็เป็นเรื่องของคนที่มีความแปรปรวนทางสภาพร่างกาย ร่างกายไม่ปกติ ทีนี้ก็เป็นธรรมดาของชีวิตคนเรา ที่ร่างกายและจิตใจอาศัยซึ่งกันและกัน เวลาร่างกายแปรปรวนไปแล้ว ก็มักจะพาให้จิตใจแปรปรวนไปด้วย คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยทางกายแล้ว ใจก็มักจะไม่ค่อยดี คือ จะเป็นคนหงุดหงิดง่าย อย่างน้องก็หงุดหงิดง่าย ทีนี้ถ้าไม่หงุดหงิด หรือยิ่งกว่าหงุดหงิดเพิ่มขึ้นมาอีก ก็คือว่า ความเจ็บป่วยก็ทำให้เขาเกิดอารมณ์ความกลัว ความหวาดต่อภัย เช่น นึกถึงว่าโรคของตัวจะเป็นอันตรายถึงชีวิตหรือเปล่า อย่างนี้เป็นต้น
ความกลัวก็ยิ่งเพิ่มความรู้สึกไม่ดีทางจิตใจข้างใน แล้วก็เป็นความห่วงอีก จิตใจก็ไปนึกถึงแต่ญาติพี่น้อง นึกถึงเงินทองทรัพย์สมบัติ คนในครอบครัวที่ต้องดูแลรับผิดชอบ จะเป็นอย่างไร เกิดความห่วงใยอีก สภาพจิตยิ่งไม่ดีใหญ่ คือสารพัด บางคนก็เกิดความเสียกำลังใจ นึกถึงข้างนอก นึกถึงคนอื่นก็ห่วงใย นึกถึงตัวเองก็มีความหวาดกลัว แล้วก็เศร้า บางคนก็ท้อแท้หมดกำลังใจ ล้วนแต่สภาพจิตที่ไม่ดี ความหงุดหงิดก็ตาม ความหวาด ความกลัว ความห่วงใย ความท้อแท้ หมดกำลังใจ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสภาพจิตที่ไม่ดีทั้งนั้นเลย แสดงว่าเป็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่เฉพาะทางกายเท่านั้น แต่ต้องการความช่วยเหลือทางใจด้วย
[00:02:26] ทางกายเราเห็นชัดแล้ว เพราะเขาป่วยมาก็ต้องมีเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่ง โรคเวลาบอกก็บอกทางกาย แต่ทางใจเขาไม่ได้บอก ทีนี้ทางใจไม่ได้บอกเราก็มองโดยที่สังเกต พิจารณา หรือคาดหมาย แต่โดยทั่วไป ก็พอจะพูดได้ว่า ย่อมมีสภาพจิตใจที่ไม่สบาย ก็รวมความว่าต้องการความช่วยเหลือ มีความทุกข์มา ทำอย่างไรจะช่วยแก้ไขทั้งทางกายและทางใจ ทีนี้เวลาเรารักษาพยาบาล ก็มักจะเน้นเรื่องทางร่างกาย เพราะว่าสิ่งส่วนที่บอกก็คือ บอกเจ็บป่วยทางกายว่า ปวดหัวตัวร้อน เป็นโรคท้องเสีย นี่ง่าย ๆ อาจจะมีโรคอวัยวะภายใน โรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคอะไรต่าง ๆ กระเพราะ ลำไส้ สารพัดนะ เจอโรคร้ายอาจจะเป็นมะเร็ง อะไรแบบนี้นะ ก็เป็นเรื่องทางกายทั้งนั้น แต่ส่วนทางใจก็ต้องการความช่วยเหลือด้วย เพราะฉะนั้นท่านที่อยู่ในโรงพยาบาลนี้ ก็ต้องเตรียมใจไว้เลยว่า จะต้องรักษาคนป่วยคนไข้ ทั้งทางด้านกายและทางใจ ไม่ใช่รักษากายอย่างเดียว
[00:03:44] แต่ทีนี้ก็มีปัญหาว่า ถ้ามองในแง่ของเรา มองในแง่ของตัวผู้ที่มาทำงาน ทำหน้าที่อย่างนี้ มาพบกับอารมณ์ที่ทางพระท่านเรียกว่า ไม่น่าชื่นชม เรียกเป็นภาษาพระว่า “อนิฏฐารมณ์” อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา คือ คนเราธรรมดาก็ชอบอารมณ์ที่ดี อารมณ์ก็คือสิ่งที่เราได้พบปะเจอะเจอ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ตลอดจนกระทั่งเป็นความรู้สึกนึกคิด เราได้ประสบอารมณ์ที่สบายตาสบายใจ เราก็จะมีความสุข อันนี้เราก็ปรารถนาอย่างนั้น เราก็เป็นคนที่อยู่ในสังคมเหมือนกัน ไม่ใช่ใครมาพิเศษ เราก็อยู่ในสังคม เราก็ต้องการพบอารมณ์อย่างนี้
แต่พอมาอยู่โรงพยาบาล เรากลับพบสิ่งที่ไม่น่าชื่นชม อารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา สิ่งที่ไม่น่าดู ไม่น่าฟัง ได้ยินแต่เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นแต่ภาพคนเจ็บป่วยโอดโอย หน้าตาไม่ดีไม่สบายทั้งนั้นเลย ทีนี้พอเป็นอย่างนี้แล้ว มันเป็นธรรมดาของคนทั่วไปว่า พอรับอารมณ์ที่ไม่ดี เรามักจะมีความรู้สึกเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ คือว่า อารมณ์เข้ามาเป็นส่วนที่ไม่พึงปรารถนา ไม่ถูกตา ไม่ถูกหู ไม่ถูกใจ ท่านเรียกว่า เป็นอารมณ์ที่เป็นทุกขเวทนา พอเป็นทุกขเวทนาก็เป็นธรรมดาว่า เราจะเกิดความรู้สึกตอบสนอง คือ ความไม่ชอบใจ ความไม่ชอบใจ ไม่ชอบใจก็เกียจชังรังเกียจ ไม่อยากพบ ถ้าหากว่าเราไม่ตั้งใจไม่เตรียมใจไว้ นี่คือพูดถึงตามปกติธรรมดา ก็จะเป็นอย่างนั้น ก็ชวนใจให้เราพลอยไม่สบายด้วย อย่างง่าย ๆ ตอนต้นก็คือว่า พลอยไม่สบายใจด้วย ก็เป็นอารมณ์ที่กระตุ้นในทางที่ อารมณ์เหล่านี้เข้ามาก็จะทำให้เราไม่สบายใจ ก็ชวนให้เราหงุดหงิดเหมือนกันนะ
ฉะนั้นคนที่ทำงานในโรงพยาบาล เป็นคนที่น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง แล้วไม่ใช่เฉพาะพบอารมณ์ที่ไม่สบายตาไม่สบายหูเท่านั้นนะ ตัวเองงานก็หนัก งานก็หนักเยอะแยะ อย่างท่านที่เป็นพยาบาล เป็นคนคล้าย ๆ คนกลาง อยู่ระหว่างฝ่ายโรงพยาบาล เช่น ฝ่ายหมอกับฝ่ายคนไข้ แล้วก็ทั้งอยู่ฝ่ายกลางระหว่างล่างกับบน ถูกกระทบรอบด้านเลย มองในแง่หนึ่งเหมือนถูกกดถูกบีบด้วย ก็ยิ่งทำให้เกิดความกดดันในใจ งานก็เร่งร้อน คนนั้นก็จะเรียกร้อง คนนั้นก็จะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็คนไข้มา ใจเขาก็ไม่ดีเขาก็เรียกร้องมาก เขาจะเอาตามใจของเขา ก็รู้สึกว่า มันเป็นอารมณ์ที่แทบจะสุดแสนทนทาน
เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดา ถ้าเราจะไปเห็นว่า ถ้าหากว่าท่านที่เป็นบุคลากร เช่น พยาบาลจะต้องมีหน้าตาที่ไม่สบายบ้าง ถ้ามองในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ก็น่าเห็นใจ เพราะว่ากระทบอารมณ์ที่มันทุกทิศรอบตัว อาตมานึกก็ว่า น่าเห็นใจ แต่อย่างไรก็ตาม มันก็เกิดเป็นหน้าที่ เราก็มานึกกันว่า เอาล่ะ ถ้าว่ากันว่า ปล่อยไปตามเรื่องตามราว มันก็เป็นแบบนี้ ก็น่าเห็นใจอยู่ แต่ว่าทีนี้ทำอย่างไร เราก็จะมีหน้าที่แล้ว จะทำอย่างไรให้ดีที่สุด
[00:07:45] ฉันทะเป็นทุนดีแต่ต้น
[00:07:45] เราก็มาหาทางกันว่า เราจะทำงานให้ได้ผลที่สุด อันหนึ่งก็คือว่า ให้งานของเราเป็นไปด้วยดีและได้ผล ผลนั้นก็เกิดแก่การรักษาพยาบาล ซึ่งการรักษาพยาบาลก็ได้กล่าวแล้วว่า จุดเป้านั้นอยู่ที่คนไข้ ทำอย่างไรที่จะให้คนไข้ ที่เค้าได้รับผลการรักษาพยาบาล อย่างน้อยด้านแรกก็คือ ด้านการเจ็บป่วยร่างกายเขา แล้วก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ก็คือว่า เขาป่วยทางใจด้วย เพราะฉะนั้นทำอย่างไร จะได้ให้ผลการรักษาทางจิตใจด้วย ให้ได้ทั้ง ๒ อย่าง อย่างน้อยถ้าเราตั้งเป้าไว้ว่า การรักษาพยาบาลต้องทั้ง ๒ ด้าน ทั้งทางกายและทางใจ ใจเราจะมีการเตรียมตัวที่ดีขึ้น พอเราเตรียมใจของเราให้รับทั้ง ๒ ด้าน การทำงานของเราจะดีขึ้นทันที เป็นอัตโนมัติ
[00:08:45] แต่แค่นี้ก็ไม่พอ มันจะต้องมีการทำใจ ทำใจอย่างไรถึงจะได้ผล ทีนี้ก่อนที่จะทำใจ ถ้าบางท่านมีทุนดีอยู่แล้ว มันช่วยได้มาก จะมีการที่ว่าได้เปรียบ ทุนอะไร ทุนก็คือความรักวิชาชีพ ความรักงาน ไม่ใช่รักวิชาชีพอย่างเดียว คือรักวิชาชีพ มันมองกว้างเกินไป รักงานของตน รักงานแพทย์ รักงานพยาบาล รักงานรักษา การที่ว่ารักงานรักษาคนไข้ก็คือ รักงานช่วยคน คือ อยากจะช่วยคน ให้เขาหายโรค ถ้ามีความรู้สึกนี้เป็นทุนอยู่แต่เดิม อันนี้จะช่วยให้ได้เต็มที่เลย มันจะเป็นเกราะป้องกันตัว และเป็นภูมิคุ้มกัน ที่จะช่วยให้กระทบประสบอารมณ์ต่าง ๆ ให้หวั่นไหวยากขึ้น
แต่ว่าอันนี้บางทีก็เป็นเรื่องที่ว่ายาก เพราะว่ามันต้องเกิดมาโดยมากมีมาแต่เดิม อย่างคนที่บางคนมารับอาชีพนี้ก็เพราะรักงานแบบนี้ อยากจะทำงานอย่างนี้ เห็นคนแล้วอยากจะช่วย เช่นว่า ตั้งแต่นานมาแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มาเรียน ยังไม่มาทำงานนี้ ก็ชอบ อยากจะมาช่วยคน รักษาคนให้หายโรค อะไรต่าง ๆ เห็นคนไข้ก็อยากเข้าไปแก้ไขช่วยเหลือ ถ้าจิตใจแบบนี้มีอยู่ เขาเรียกว่า รักงานรักอาชีพโดยตรง โดยสภาพจิตใจเดิม อันนี้เป็นทุนที่ดี ทางพระท่านเรียกว่า มีฉันทะ ถ้าหากว่ามีอันนี้อยู่ละก็ เท่ากับว่ามีทุนดี
[00:10:25] ทำใจพร้อมธรรม งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข
[00:10:25] ทีนี้เอาล่ะ หนึ่งก็ทุน สองจะมีทุนหรือไม่มีก็ตาม ก็มาถึงตอนที่ว่า มาทำใจในสถานการณ์ ว่า จะทำอย่างไรจะให้งานได้ผล แล้วนอกจากงานได้ผล คือผลต่อคนไข้ ที่ว่าได้ผลทั้งทางกายและทางใจ และผลต่อกิจการของโรงพยาบาล เป็นต้น ก็คือจิตใจของตัวเองก็เป็นสุขด้วย คือว่าให้งานก็ได้ผลและตัวคนก็เป็นสุข อย่างน้อยก็มีทุกข์น้อย จะทำอย่างไรดี ก็เรื่องของการทำใจ มีวิธีการหลายอย่าง อาตมาก็จะพูดถึงประสบการณ์ของบางคน บางคนเขาจะทำใจให้สนุก คือ นึกเป็นสนุกไปหมด เพราะว่ามองเห็นคนไข้มา งานอะไรต่าง ๆ นี่ ที่เป็นรูปแบบต่าง ๆ เห็นคนหน้าบึ้ง หน้างอ หน้าอะไรต่าง ๆ ได้ตามใจบ้าง ไม่ตามใจบ้าง อะไรต่าง ๆ เห็นแล้วนึกเป็นสนุกไปหมด บางคนเขาทำใจได้นะ ทำใจเป็นสนุกหมด ได้เห็นคนแปลก ๆ นะ
อาตมานึกถึงเพื่อนคนหนึ่ง เมื่อสมัย ๓๐ กว่าปีมาแล้ว หรือ ๔๐ ปีมาแล้ว ก็ไม่ทราบ ๓๐ กว่าปี ประมาณนี้ ก็เรียนอยู่ที่ตึก ที่อยู่ข้างท่าพระจันทร์ ท่าพระจันทร์นี้เป็นถิ่นที่คนเดินมาก ท่านผู้นี้เมื่อเวลาว่างจากเรียน ก็จะมองไปทางท่าพระจันทร์ ก็เป็นธรรมดาล่ะ ก็เป็นถิ่นที่คนเดิน ย่อมหันไปมอง พอมองไปก็เห็นคนเดินผ่านไปผ่านมา ท่านก็นั่งหัวเราะ ก็บอกว่า เอะ ทำไมนั่งหัวเราะ บอกว่าคนที่เดินผ่านไปนี่ มันต่างกัน ท่าทางคนนั้นเดินอย่างนั้น คนนี้เดินอย่างนี้ คนนั้นแต่งตัวอย่างนั้น คนนี้แต่งตัวอย่างนี้ พอเห็นแล้วก็ขำ ว่าอย่างนั้นนะ ก็นั่งหัวเราะ ท่านผู้นี้เรียนเก่งด้วยนะ เรียนได้คะแนนดี ได้เกียรตินิยม เห็นคนเดินไปเดินมา ก็นั่งหัวเราะ
[00:12:27] แบบที่ ๑ คือ ไม่รับ ไม่เก็บ
[00:12:27] ทีนี้คนบางคนเห็นอารมณ์ที่ผ่านไปในชีวิต จะดีหรือร้ายมองเป็นสนุกหมด อย่างนี้เรียกว่าไม่รับ ไม่เก็บ ไม่เก็บอารมณ์ หมายความว่า เอาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับงานของตัว อะไรที่เข้ากับเรื่อง เข้ากับความมุ่งหมาย เข้ากับตัวงาน เราก็รับเราก็ทำ แต่ถ้าอะไรที่ไม่เข้ากับเรื่องของตัวงาน ไม่รับ ไม่เก็บ ผ่านหมด ก็มองเห็นเป็นสนุกไปหมด
คนไข้จะมีอาการอย่างไร คนเยี่ยมไข้จะมีอาการอย่างไร มองเป็นสนุกไป เพราะว่าคนเราก็เป็นธรรมดาอย่างนี้ ก็ต้องมีอาการต่าง ๆ กัน มนุษย์หลากหลาย เราได้เห็นความจริงแล้วไง เราเกิดมา บอกมนุษย์มีต่าง ๆ กัน นานาจิตตัง สารพัด มีภูมิหลังไม่เหมือนกัน เราก็ได้มาเห็นความจริงแล้วนี่ไง คนไข้ คนมาเยี่ยม ญาติคนไข้ เป็นต่าง ๆ กัน ไม่มีเหมือนกันเลย เวลาเราเห็น เราไม่ได้มองไปเจาะแต่ละบุคคล คือ เวลาเราจะเกิดอารมณ์ไม่ดี กระทบนี่ มักจะมองไปที่จุดเฉพาะ ที่การกระทำอันนี้ของคนนี้ใช่ไหม
ทีนี้ถ้าเรามองกว้าง ๆ ว่า อันนี้เป็นการกระทำอันหนึ่ง ในบรรดาของการกระทำของคนมากมาย แล้วคนนี้ก็เป็นคนหนึ่ง ในบรรดาคนเยอะแยะ ที่เราประสบประจำวัน ผ่านไปผ่านมาไม่รู้เท่าไร แล้วเรามองอันนี้ในฐานะ เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราประสบในแต่ละวัน เราจะเห็นว่า นี้คือความจริงที่เราได้พบแล้ว คนทั้งหลายแตกต่างกันมากมายอย่างนี้ อารมณ์ก็ผ่านไป เหมือนกับคลื่นไหล ไหล ไหล เห็นกระแสน้ำ เห็นอะไรต่าง ๆ ที่ผ่านเราเดินไป อะไรอย่างนี้ เราก็ไม่มีปัญหา เห็นเป็นกระแสคลื่นผ่านไป ใจเราก็ไม่รับ ไม่เก็บเข้ามา ก็มองเป็นสนุกไป นี่ก็เป็นแบบ ๑ ก็ได้ผลเหมือนกันนะ เจริญพร
[00:14:17] แบบที่ ๒ คือ เรียนรู้
[00:14:17] ทีนี้แบบที่ ๒ คือ พวกชอบเรียนรู้ พวกเรียนรู้ก็คือว่า มองอะไรต่ออะไรเป็นการได้เรียนรู้ คือ เรามีชีวิตอยู่ เรามีหู มีตา มีจมูก มีอะไรต่าง ๆ สำหรับรับความรู้ ได้ประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย เราได้เห็น ได้ยินอะไรต่าง ๆ นี่ เราได้เรียนรู้ ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เราได้เรียนรู้ เราก็มีประสบการณ์มาก เราได้เห็นความเป็นไป เก็บเป็นความรู้ไว้ เราก็เก็บในแง่เป็นความรู้เท่านั้น
พวกที่มองในแง่เป็นการเรียนรู้นี้ ต่างกับพวกที่ ๑ อย่าง พวกที่ ๑ นั้นไม่เก็บอะไรเลย ปล่อยผ่านหมด แต่พวกที่ ๒ นี้เก็บ แต่เก็บในแง่เป็นความรู้ แต่ไม่เก็บในแง่เป็นเรื่องของสิ่งกระทบกระทั่งจิตใจ เก็บเป็นความรู้อย่างเดียว ไม่เก็บเป็นอารมณ์ แบบที่เรียกว่า เป็นเวทนาสำหรับให้เกิดอารมณ์ปรุงแต่ง คือ ไม่มีการคิดปรุงแต่งต่อ มีแต่การเรียนรู้อย่างเดียว เรียนรู้ว่า คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ เราได้เรียนรู้คนหลากหลาย เป็นความรู้ทั้งนั้นเลย การที่เราได้รู้จักผู้คนมากมาย คนที่มีลักษณะแตกต่างกันแบบนี้ แล้วต่อไปเราสังเกตเห็นว่า คนที่มาจากพื้นเพอย่างนี้ มักจะมีอาการอย่างนี้ คนที่มาจากอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนี้ มีสภาพจิตใจอย่างนั้นอย่างนี้ เราได้เรียนรู้
[00:15:41] พวกที่ ๑ นี้ได้ดีกว่าพวกที่ ๒ พวกที่ ๒ ผ่านเฉย ๆ ไม่รับไม่เก็บอะไรเลย ปล่อยผ่าน แต่เขาก็ไม่เกิดปัญหาอะไร แต่ว่าไม่ได้ประโยชน์มากเท่าที่ควร แต่พวกที่ ๒ นี้ได้ประโยชน์ คือว่า ศึกษาไปด้วย ศึกษาชีวิตมนุษย์ แล้วก็ได้ความสังเกตสังกา ซึ่งก็จะไปเป็นประโยชน์แก่งานของตนเองด้วย พวกนี้เรียกว่า “พวกเรียนรู้” ถ้าหากว่าใช้หลักของพระ ท่านเรียกว่า มีสติปัฏฐานพอสมควร สติปัฏฐานเป็นอย่างไร คือว่า เรารับรู้ได้โดยมีสติ มีสติ คือท่านบอกว่า สติจะมาพร้อมกับสัมปชัญญะ สติไม่ได้มาลอย ๆ สัมปชัญญะก็คือความรู้ สติจะรับข้อมูล แล้วส่งต่อให้ปัญญา ปัญญาที่ทำหน้าที่เฉพาะหน้า เขาเรียกว่า “สัมปชัญญะ” รู้เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร
ทีนี้เราก็เรียนรู้ว่า คนนี้เป็นอย่างนี้ เขามาจากพื้นเพแบบนี้ มีอาการอย่างนี้นะ เราก็เรียนรู้ ๆ เขามีอาการอย่างไร เรียนรู้หมด ท่านบอกว่า “ญาณะมัตตายะ สะติมัตตายะ” รับรู้เพียงเพื่อเป็นความรู้ และเก็บเป็นข้อมูลไว้สำหรับระลึกใช้ ญาณะมัตตายะไว้เป็นความรู้เท่านั้น สะติมัตตายะสำหรับเป็นข้อมูลไว้ระลึกใช้ประโยชน์ เอาแค่นี้ ไม่มีเรื่องการปรุงแต่ง ชอบใจ ไม่ชอบใจ อย่างนี้ก็ได้ผล ได้ประโยชน์ เรียกว่าได้เจอประสบการณ์ต่าง ๆ แบบเรียนรู้หมด เราเรียนรู้ว่าเขาเป็นอย่างไร เราเอาเป็นแบบนี้ไป ไม่มีตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้อง นี้เป็นวิธีที่ ๒
[00:17:14] แบบที่ ๓ คือ ถือเป็นบททดสอบ
[00:17:14] ทีนี้ต่อไป วิธีที่ ๓ ทำใจ คนมีวิธีทำใจต่าง ๆ แต่ละคนทำคนละแบบ แต่ได้ผลทั้งนั้น อีกคนหนึ่งก็ถือเป็นบททดสอบ เราอยู่ในโลกนี้ เราต้องประสบอารมณ์ต่าง ๆ แล้วเราอาจจะมีอุดมคติอุดมการณ์ของเรา หรือยึดมั่นในความดีอะไรบางอย่าง แม้แต่ว่าเราทำอาชีพนี้ การงานนี้ เราก็ต้องมีอุดมคติอุดมการณ์ของอาชีพ ทีนี้อุดมคติ หรืออุดมการณ์อะไรต่าง ๆ ของงานของอาชีพก็ตามที่เรายึดถือไว้ สิ่งที่เข้ามากระทบเหล่านี้ถ้าเราเกิดเป็นปัญหาขึ้นกับตัว แล้วเราทำผิดพลาด นั่นก็หมายความว่า เราไม่สามารถดำรงอยู่ในอุดมคติอุดมการณ์ของเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เข้ามา ถ้าหากว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่สบอารมณ์ มันก็เป็นตัวที่จะทำให้เราพลาดจากหลักการของเรา ในหลักการอุดมการณ์อุดมคติที่เรายึดถือไว้ สิ่งเหล่านี้ที่เข้ามากระทบนี่ เราจะพลาด ทำให้เราหล่นออกมาจากหลักการไหม เท่ากับมันเป็นบททดสอบ ฉะนั้นเรามองสิ่งที่เข้ามานี้เป็นบททดสอบหมด
[00:18:28] ถ้าหากว่าเป็นผู้ที่เรียนธรรมะ พัฒนาตน เราก็พยายามทำความดี ใช่ไหม เราก็จะมี เช่น ขันติ มีความอดทน หรือมีเมตตา มีอะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ คุณธรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เราก็เรียนแล้ว เราก็พยายามยึดถือปฏิบัติ เสร็จแล้วสิ่งที่จะเข้ามาก็คือ บททดสอบทั้งนั้น บททดสอบว่าเราจะผ่านไหม สอบได้ไหม ทีนี้ท่านที่ตั้งใจแบบนี้ มองเป็นบททดสอบหมด เมื่อมันเป็นบททดสอบเข้ามา เราก็ต้องพยายามทำข้อสอบให้ผ่าน ใช่ไหม ฉะนั้นเราจะมีความเข้มแข็ง เราจะสู้ได้ พอบอกว่า บททดสอบมาแล้ว พอเจออารมณ์ไม่ดี การกระทำ อาการแสดงออก คำพูดที่ไม่ดีเข้ามาปั๊บ เราบอกว่า บททดสอบมาแล้ว พอตั้งสติ อันนี้คือสติเกิดขึ้น พอบอกทดสอบเกิดแล้วนะ นี่คือสติมา พอบอกอย่างนี้ปั๊บ เรายั้งตัวได้เลย เราจะเริ่มด้วยท่าทีที่ถูกต้อง เราจะไม่พลาด เพราะฉะนั้นคนประเภทนี้จะมองสิ่งที่เกิดขึ้น ที่มันยั่วเย้าเร้าให้เราพลาดนี้ เป็นบททดสอบหมด ฉะนั้นวิธีนี้ก็ได้ผลเหมือนกัน เป็นบททดสอบ มองเป็นบททดสอบใหม่ไป
[00:19:42] แบบที่ ๔ คือ พัฒนาตน
[00:19:42] อีกวิธีหนึ่งก็คล้าย ๆ กัน มนุษย์เราต้องพัฒนาตน พระพุทธเจ้าท่านถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ แล้วเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และก็เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก เรามักจะพูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ยอมรับอย่างนั้น ต้องมีเงื่อนไข คือ พระพุทธศาสนาบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก ไม่ใช่ว่าอยู่เฉย ๆ จะประเสริฐ ถ้าไม่ฝึกแล้วไม่ประเสริฐเลย ฉะนั้นตัวฝึกนี้เป็นตัวที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ที่ดีเลิศได้ และการฝึกก็คือการศึกษาการพัฒนานี่เอง เราเรียกว่าพัฒนา ก็คือฝึก ฝึกฝนปรับปรุงตนให้ดีให้งามยิ่งขึ้น
ทีนี้มนุษย์เป็นสัตว์ที่แปลกจากสัตว์ทั้งหลายอื่น ที่เราเห็นได้ง่าย ๆ เราเทียบกันสัตว์อื่นที่เราเห็น มันเกิดขึ้นมาแล้ว โดยมากจะอยู่ด้วยสัญชาตญาณ แล้วถ้าในแง่สัญชาตญาณแล้ว มันเก่งกว่ามนุษย์ พอเกิดมา สัตว์ทั้งหลายมักจะช่วยตัวเองได้ทันที หลายอย่างพอออกจากท้องแม่ก็เดินได้เลย เริ่มแทบหาอาหารได้เลย ว่ายน้ำได้เลย ยกตัวอย่างง่าย ๆ อาตมาเห็นกับตาก็คือห่าน ห่านออกจากไข่วันนั้น พออีกไม่กี่ชั่วโมง แม่ก็ลงสระน้ำ มันก็วิ่งตามลงสระน้ำ มันวิ่งได้เลย ออกจากไข่วันนั้น แล้วแม่ลงว่ายน้ำ มันก็ว่ายน้ำได้เลยเหมือนกัน แล้วแม่ไปหากินจิกอะไร มันก็จิกด้วยเลย แสดงว่าวันนั้นเองที่มันเกิด มันก็รู้จักช่วยตัวเองได้ สัตว์ทั้งหลายอื่นจำนวนมากก็เป็นอย่างนั้น
โดยสัญชาตญาณแล้วสัตว์ทั้งหลายมีความเก่ง พอสมควรทีเดียว แต่มนุษย์นี้ไม่มีความสามารถอันนี้ เกิดจากท้องแม่วันนั้น ถ้าไม่มีใครช่วย ตายแน่นอน อย่าว่าแต่วันนั้นเลย ให้อยู่ถึงปีอีกนะ อยู่ถึงปีก็ยังช่วยตัวเองไม่ได้เลย หากินก็ไม่ได้ ทำอะไรช่วยตัวเองไม่ได้เลย โดยสัญชาตญาณแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์ที่แย่ที่สุด แต่ว่ามนุษย์มีดีตรงฝึกได้ นับแต่เกิดมา มนุษย์ได้รับการฝึกสอน ถ่ายทอดความรู้ ความคิด สิ่งที่สั่งสมอบรมกันมาเป็นพันปี หมื่นปี ล้านปี สามารถมาถ่ายทอดกันในเวลาไม่นาน แล้วมนุษย์ก็เรียนรู้เก่ง และก็สามารถทำได้เลย
[00:22:33] เพราะฉะนั้นมนุษย์ที่ฝึกแล้ว ประเสริฐเลิศกว่าสัตว์ทั้งหลายอื่น สัตว์ทั้งหลายไม่มีใครจะเก่งเท่ามนุษย์ด้วยการฝึก พอมีการฝึกขึ้นมาแล้วมนุษย์เก่งที่สุด แล้วมนุษย์ฝึกตัวได้ สัตว์ทั้งหลายอยู่ได้แค่สัญชาตญาณ ฝึกตัวเองไม่ได้เลย ทีนี้บางชนิดฝึกได้บ้าง ก็คือมนุษย์ไปจับมาฝึก แล้วเมื่อมนุษย์ฝึกให้ สัตว์นั้นจึงดีขึ้นบ้าง เช่น เป็นช้างก็มาลากซุงได้ มาเล่นละครสัตว์ได้ ลิงก็ขึ้นมะพร้าวได้ สัตว์ทั้งหลาย หลายอย่างดีขึ้น เพราะมนุษย์ฝึกให้ แต่ฝึกตัวเองไม่ได้ ทีนี้แม้มนุษย์จะฝึกให้ ก็มีขอบเขตของการฝึกอีก ฝึกเกินกว่านั้นก็ไปไม่รอด ต่างจากมนุษย์ มนุษย์ฝึกตัวเองได้ ไม่ต้องหาใครมาฝึก แล้วฝึกได้อย่างแทบจะไม่มีขีดจำกัด ฝึกได้เป็นมหาบุรุษ เป็นพระพุทธเจ้าได้
พระพุทธเจ้าให้ถือเป็นสรณะ เพราะเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ฝึกตนเอง ให้เห็นว่ามนุษย์เราสามารถฝึกพัฒนาตนได้ขนาดนี้เชียวนะ เป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จนกระทั่งไม่มีทุกข์ ไม่มีกิเลสเลยก็ทำได้ เพราะฉะนั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐเหลือเกิน ปัญญาค้นพบสัจธรรม ความจริง อะไรต่ออะไร ทำได้หมด
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า “วรมสฺสตรา ทนฺตา” บอกว่า สัตว์ทั้งหลาย วัวควายช้างม้า อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ฝึกแล้วเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เทียมเท่ามนุษย์ มนุษย์ฝึกแล้วประเสริฐเลิศที่สุด ไม่มีสัตว์ใดเทียมได้ จนกระทั่งท่านบอกว่า ฝึกไปฝึกมา พัฒนาตน จนกระทั่งเทวดาและพระพรหมน้อมนมัสการ พอฝึกไปฝึกมา พัฒนาไปพัฒนามา พระพรหมที่มนุษย์ไปเคารพ กลับมาบูชามนุษย์นะ พระพรหมและเทวดาต้องมาไหว้มนุษย์นะ ถ้ามนุษย์ฝึกตนดี
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนเรื่องนี้มาก ให้มนุษย์ตระหนักในศักยภาพของตน ในการที่ฝึกฝนพัฒนา แต่รวมแล้วก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ต้องฝึกฝนพัฒนาตัวเอง เราฝึกแล้วไม่มีขีดขั้นเลย เพราะฉะนั้นเรามองว่า เรานี้เป็นมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เรามองตัวเองอย่างนี้ก่อน
[00:24:55] ทีนี้การอยู่ในสังคม การทำงานอาชีพต่าง ๆ นี้ เป็นการฝึกฝนพัฒนาตนทั้งนั้น โดยเฉพาะการงานอาชีพนี้ การงานของเราเป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเรา ถ้าเราจะฝึกตนให้ได้มาก เราต้องฝึกกับงานของเรา เพราะว่างานเป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเรา เราจะไปฝึกกับเรื่องอื่น มันไม่ได้เท่าไร โอกาสมันน้อย ก็งานนี้ครองชีวิตส่วนใหญ่ เวลาส่วนใหญ่ของเราอยู่กับงานแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะฝึกฝนพัฒนาตน เราก็เอางานของเรานี่เป็นเครื่องมือในการฝึกตน ดังนั้นเราก็มองงานของเราเป็นการฝึกฝนพัฒนาตนหมด ทีนี้ล่ะก็ อะไรเข้ามาในวงงานฉันถือเป็นเรื่องฝึกตนพัฒนาตนทั้งสิ้นเลย
[00:25:34] ฉะนั้นเรามองอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา เรามองเป็นเครื่องฝึก ฝึกกาย ฝึกใจ ฝึกอาชีพ ฝึกความชำนิชำนาญในงานของเรา ทำอย่างไรให้เราเก่งขึ้น เราสามารถอดทนต่ออารมณ์ได้ดีขึ้น เราสามารถแก้ไขปัญหาจิตใจของเราได้ดีขึ้น คราวนี้เราแพ้ เรามามองในแง่ปรับปรุงว่า ยิ่งเราหย่อนตรงไหน สำรวจตัวเอง เราคราวนี้บกพร่องตรงนั้น เดี๋ยวเราจะแก้ปรับปรุงต่อไป คราวนี้ก็สนุกกับการพัฒนาตน ฉะนั้นนี้ก็เป็นการสนุกอีกแบบ สนุกแบบนี้ สนุกได้ผล ได้ประโยชน์ สนุกแบบคนมีปัญญา คือสนุกแบบที่ ๑ นั้น สนุกแบบไม่เก็บอารมณ์ ปล่อยผ่านมองเป็น สนุกไปหมด แต่เราไม่ค่อยได้อะไร
[00:26:15] แบบที่ ๔ แบบพัฒนาตนนี้ เป็นแบบที่ว่าสนุกด้วย แล้วเราได้ เรารู้สึกว่า เราชื่นใจ มีปิติ อิ่มใจที่เราพัฒนา เราได้เรื่อยเลย เราเจออะไร เราได้แก้ปัญหา เราได้ปรับปรุงตัวเองอยู่เรื่อย มองในแง่นี้แล้ว เราจะมีความเพลิดเพลิน มีความปิติ มีความอิ่มใจ มีความสุขกับงาน เพราะฉะนั้นให้ท่านใช้ความรู้สึกอย่างนี้ คือมองเป็นว่าเราจะพัฒนาตน แล้วงานนี้เป็นเครื่องมืออันประเสริฐ ดีที่สุดในการพัฒนาชีวิตของเรา
[00:26:53] แบบที่ ๕ คือ วิธีของพระโพธิสัตว์
[00:26:53] อันนี้ก็เป็นแบบวิธีที่ ๕ ต่อไปอีกวิธีหนึ่ง วิธีของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ท่านมีลักษณะอย่างไร พระโพธิสัตว์ท่านมีความมุ่งหมายโพธิญาณ แต่เราไม่ต้องพูดถึงโพธิญาณ คือเอาความว่า มีเป้าหมายสูงสุดที่ดียอดเยี่ยมอันหนึ่ง ที่เราจะไปให้ถึง เพื่อเป้าหมายอันนั้น ท่านตั้งปณิธานว่า ท่านจะต้องทำให้สำเร็จ ยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิตนะ ลองคิดดู สละได้แม้แต่ชีวิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ดีงามนั้น เพราะฉะนั้นพระโพธิสัตว์พอได้เริ่มตั้งปณิธานแล้ว จะทำความดีอย่างเต็มที่ แม้จะต้องสละชีวิตก็ยอม เพราะฉะนั้นท่านก็จะช่วยเหลือ สละชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้ คนอื่นเป็นอย่างไร ท่านก็สละชีวิตไปช่วยเหลือได้ แล้วก็ถูกกลั่นแกล้งยังไง ท่านก็ไม่ละทิ้งความดีอันนั้น
อันนี้ชาวพุทธที่นับถือพระพุทธเจ้า ก็เลยไปถึงพระโพธิสัตว์ด้วย เราเรียนคติพระโพธิสัตว์เพื่ออะไร ก็เพื่อมาเป็นแบบอย่าง สำหรับเตือนใจเรา ให้เรานั้นเพียรพยายาม พัฒนาตน ฝึกตน ทำความดีให้ได้อย่างท่าน แล้วมีกำลังใจไม่ท้อไม่ถอย พอเราทำความดีวิสัยปุถุชนเนี่ย เราเริ่มท้อแท้ว่า เราทำความดีไม่เห็นได้รับผลดี ไม่มีใครชื่นชม หรือบางทีถูกกลั่นแกล้ง อะไรอีก เราเริ่มท้อถอยว่า ทำไมทำดีไม่ได้ดี แต่พอเรานึกถึงพระโพธิสัตว์ ท่านจะเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ไว้เยอะแยะเลย ให้เห็นว่าพระโพธิสัตว์ทำความดีอย่างไร มั่นคงในความดีขนาดไหน ในชาตินั้นถูกคนนี้แกล้ง เขาเอาไปฆ่าอะไรต่าง ๆ พระองค์ก็ไม่เคยย่อท้อในการทำความดี
[00:28:48] ทีนี้ชาวพุทธพอได้ฟังเรื่องของพระโพธิสัตว์ ก็จะเกิดความฮึดสู้ขึ้นมา เกิดกำลังใจแข็งขัน ที่เราจะท้อในความดี ท้อถอย ไม่ท้อแล้วทีนี้ ใช่ไหม มีพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง เกิดเป็นกำลังใจ ฮึกห้าวในการทำความดีต่อไป ฉะนั้นที่เราเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ เพื่อความมุ่งหมายอันนี้ เราจะได้มีกำลังใจเข้มแข็งแกล้วกล้า ทำความดี เสียสละได้เต็มที่ ไม่ยอมท้อแท้เลย นี่ก็เป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำความดีเหมือนพระโพธิสัตว์
๑) เราก็นึกถึงพระโพธิสัตว์ ว่าท่านทำความดี ท่านถูกแกล้งกว่าเรา ท่านลำบากกว่าเรา ท่านยังทำได้ ทำไมเราจะมายอมแพ้แค่นี้
๒) ทำไมเราไม่ตั้งปณิธานแบบพระโพธิสัตว์ เราตั้งปณิธานแน่วแน่เลยว่า เราจะทำความดีอันนี้ให้สำเร็จ เราอาจจะตั้งแบบเป้าใหญ่ก็ได้ หรืออาจจะตั้งเป้าเป็นเฉพาะกาลแต่ละปี เพื่อการพัฒนาตนของเราไปสัมพันธ์กับข้อที่ ๕ ปณิธานนี้อาจจะตั้งเป็นจุด ๆ เป็นความดีแต่ละอย่างก็ได้ ปีนี้เราลองตั้งในข้อนี้ เราพิจารณากับตัวเราแล้วว่า ความดีอันนี้เราน่าจะทำเป็นพิเศษสำหรับปีนี้ เราขอตั้งเป็นปณิธานเลยว่า ปีนี้เราจะทำความดีอันนี้ให้ได้สมบูรณ์เต็มที่ที่สุด แล้วพอตั้งปณิทานอย่างนี้นะ ใจจะเกิดกำลัง คือเหมือนกับคนที่เริ่มเดินเครื่อง พอเริ่มต้น ทีนี้พอสตาร์ท ถ้ามีกำลังแรงก็จะไปได้ดี ถ้าตอนเริ่มต้นมันอ่อนล้าเสียแล้ว มันก็หมดแรงตั้งแต่ต้น
ฉะนั้นถ้าเริ่มต้นดีแล้ว เรียกว่าสำเร็จครึ่งหนึ่ง อะไรทำนองนี้ แล้วเราก็ต้องทำใจให้เข้มแข็ง ตั้งปณิทาน พอตั้งปณิทานแล้ว ทีนี้เราจะมีกำลังเข้มแข็ง เราจะไม่ย่อท้อ เจออารมณ์ที่มากระทบกระแทก อะไรต่ออะไร มันจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปหมดเลย เราจะมีความเข้มแข็ง เพราะพลังเรามากมายมหาศาลอยู่แล้วในตัวนี้ มันจะพาตัวนี้ผ่านพ้นอุปสรรค สิ่งที่มากระทบกระทั่งบีบคั้น ออกไปให้หมดเลย
[00:30:49] อันนี้ก็เป็นวิธีของพระโพธิสัตว์ ถ้าใครตั้งได้ถึงขั้นพระโพธิสัตว์ เรียกว่าชนะหมด เพราะพระโพธิสัตว์ไม่เคยแพ้เรื่องการทำความดี ฉะนั้นถูกกลั่นถูกแกล้ง ทำความดีแล้ว ไม่ได้รับผลตอบแทน อย่างที่หวังไว้ต่าง ๆ ไม่เป็นปัญหาทั้งนั้น เราก็ทำให้สำเร็จ เพราะว่าตัวสิ่งที่ว่ามาแล้วทั้งหมด มาใช้ได้ในคติพระโพธิสัตว์หมด เช่นว่า ถือว่าเป็นบททดสอบ เป็นต้น บ้างอย่างเข้ามา มันก็เหมือนเป็นบททดสอบเรา ว่าเราจะเข้มแข็งพอไหม ที่จะสู้สิ่งเหล่านี้ จะบรรลุดจุดหมายของเราได้หรือเปล่า บททดสอบแค่นี้มา ยังไม่ผ่าน แล้วจะไปถึงจุดหมายได้อย่างไร ใช่ไหม เพราะฉะนั้นต้องสู้ ถ้าเราตั้งปณิธานอย่างพระโพธิสัตว์แล้ว เราไม่กลัวอะไรทั้งนั้นเลย ทีนี้เราจะสู้ไหม ก็เอาอันนี้ คติพระโพธิสัตว์นี้ สำเร็จแน่ ตั้งปณิธานเลยว่า จะทำความดีให้บรรลุจุดหมายอย่างนั้น ๆ แล้วก็พยายามทำให้สำเร็จ นี้เป็นแบบพระโพธิสัตว์
[00:31:48] แบบที่ ๖ คือ แบบพระอรหันต์
[00:31:48] ทีนี้ก็มีอีกแบบหนึ่ง คือ แบบพระอรหันต์ คือ ผู้บริสุทธิ์ หมายความว่า ผู้ที่ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีก พระอรหันต์มีลักษณะอย่างไร คือแปลกจากพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ยังมีปณิธาน คือมีการตั้งเป้าหมายว่าตน เราจะบรรลุจุดหมายที่ดีงามสูงสุดอันนั้น ถ้ามองละเอียดแล้วก็ เหมือนกับว่ายังมีอะไรทำเพื่อตัวเอง แต่เป็นจุดหมายที่ดีที่สุดเพื่อตนเอง แล้วเราต้องมั่นคงในปณิธานอันนั้น เราทำเพื่อจุดหมาย ทีนี้พระอรหันต์นี่ตรงข้าม พระพุทธเจ้าด้วยนะ พระพุทธเจ้าก็พระอรหันต์ เป็นผู้นำของพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นผู้บรรลุจุดหมายแล้ว ไม่มีอะไรทำเพื่อตัวเอง ตรงข้ามเลย เพราะพระโพธิสัตว์พอไปบรรลุจุดหมายแล้ว กลับเป็นพระพุทธเจ้า ใช่ไหม ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองแล้ว ทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว ทีนี้พอไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตัวเองอีก ก็เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ เช่น มีความสุขอยู่ในตัวพร้อมอยู่ตลอดเวลา
คือยังเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เป็นยอดของคน ที่ยังอยู่ด้วยความหวัง แต่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์เป็นคนที่ไม่ต้องหวังแล้ว ไม่อยู่ด้วยความหวังอีกต่อไป เพราะทุกสิ่งสมบูรณ์อยู่ในตัว มีจิตใจที่สมบูรณ์ มีความสุขที่สมบูรณ์ มีความสุขอยู่กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่มากระทบกระเทือน คือ ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตัวเองอีก ก็ไม่มีตัวที่จะรับอะไรทั้งสิ้น ฉะนั้นสิ่งที่จะทำ ก็ทำไปตามสิ่งที่ได้พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สิ่งนี้ดีงามถูกต้องเป็นประโยชน์ และก็ด้วยความกรุณาที่เห็นว่า ผู้อื่นยังมีความทุกข์ มีปัญหาอะไร ก็จะช่วยแก้ไข ก็เราทำเพื่อเขา เราไม่ได้ทำเพื่อเรา ใช่ไหม
เพราะฉะนั้นเราจะไปคำนึงอะไรล่ะ มันเกิดอารมณ์กระทบกระแทก นี่เราไม่ได้ทำเพื่อเรา แต่เราทำเพื่อเขา เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรจะต้องมารับกระทบ คือหมดเรื่องตัวตนแล้ว พระอรหันต์ไม่มีตัวตนรับกระทบอะไรทั้งสิ้น ตกลงว่า ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตัวเองอีก งั้นเรื่องอะไรต่ออะไรไม่มีมากระทบตัว มองแต่เพียงว่านี้เราทำเพื่อเขา แล้วก็ทำเพื่อเขาไป มีอะไรล่ะ อันนี้เป็นส่วนที่เขาบกพร่อง เราก็มองไปสิ เขาอาจจะมีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ ที่เขาแสดงออกอย่างนี้ มันไม่ดี มันเป็นปัญหาของเขาทั้งนั้น ใช่หรือเปล่า เจริญพร เวลาเขามีอารมณ์ไม่ดี พูดไม่ดี ที่จริงเป็นปัญหาของเขา ใช่ไหม เหตุมันอยู่ที่เขา ใจเขาไม่ดี เหตุปัจจัยอันนั้นเราจะมายุ่งอะไรกับตัวเรา
เราก็มอง ยิ่งเรามีปัญญามาก เรายิ่งเห็นเหตุปัจจัยในใจเขา ที่เขาเกิดอารมณ์ไม่ดี มีความกลัว มีความหวาดหวั่น มีความหงุดหงิด เพราะความเจ็บป่วย เราก็ยิ่งช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้มากใหญ่เลย ทีนี้ไม่มีปัญหาเลย ตัวเองก็ไม่มีปัญหาด้วย ยิ่งช่วยคนไข้ได้มากขึ้นนะ เพราะอะไร เพราะมันมองไปเห็นแต่เรื่องของเขา เหตุปัจจัยอะไรมันเกิดขึ้น ทุกอย่างที่เข้ามาเป็นเหตุปัจจัย และจะมองไปหมด ฉะนั้นก็สบายใจเลยนะ ท่านผู้นี้นะ
[00:34:52] ถ้าทำได้แบบนี้ก็จะเรียกว่า ปฏิปทาแบบพระอรหันต์ พระอรหันต์คือบุคคลที่ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป เพราะฉะนั้นก็ทำเพื่อผู้อื่น ตอนนี้เราทำงานของเรานี่เป็นงานของผู้อื่น เราก็มองดูเหตุปัจจัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่มีอารมณ์ขึ้นมากระทบ ถ้าเรามองแต่ตามความเป็นจริงนะ มันมีแต่กระบวนการและเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง อันนี้เอาล่ะ อาตมาก็พูดถึงระดับของการมองสิ่งต่าง ๆ หลายแบบนะ
[00:35:24] หลักธรรมเกื้อหนุนการปฏิบัติงาน
[00:35:24] ทีนี้เรามามองเครื่องช่วยบ้าง สิ่งที่จะมาช่วยในกระบวนการที่เราปฏิบัติงานเหล่านี้นะ
[00:35:33] ฉันทะ
[00:35:33] อาตมาพูดไปอันแรกก็คือ ความรักงาน ฉันทะ ความพอใจในงาน ซึ่งอาจจะเกิดจากการเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ เราเห็นว่าเรารักเพื่อนมนุษย์ เราอยากให้เพื่อนมนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม มีสุขภาพดี อายุยืนๆ ความพอใจความอยากอันนี้ ท่านเรียกว่า ฉันทะ มันทำให้รักคนอื่น อยากช่วย อยากทำอะไรให้เขา แก้ไขปัญหาของเขา อันนี้เรียกว่าเป็นทุนดีแต่ต้น
[00:35:59] จิตสำนึกในการศึกษา
[00:35:59] ทีนี้นอกจากตัวฉันทะ มีอะไรอีกที่จะช่วย ก็มีอันหนึ่งก็คือ เรียกว่า จิตสำนึกในการศึกษา คือ ทางพระท่านก็พูดโยงกับหลักที่อาตมาพูดไปแล้ว อันนี้เป็นเพียงว่า พูดถึงสิ่งที่พูดไปแล้ว เป็นแต่เพียงว่า โยงให้ถึงตัวคุณสมบัติในใจ คุณสมบัติในใจที่จะทำให้เกิดท่าทีการปฏิบัติอันนี้ ก็คือคุณสมบัติในใจที่ว่า มีจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง
คนเราจะต้องมีจิตสำนึกอันนี้ แล้วจะทำให้การทำต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงได้ดี คือเมื่อกี้บอกแล้วว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ทีนี้เราสร้างจิตสำนึกในการฝึกตน ในการศึกษา ในการพัฒนาตนว่า เราจะต้องพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลา เวลาเราเกิดมีจิตสำนึกในการฝึกตน เรามองอะไรต่ออะไรเป็นบทฝึกตนไปหมด เป็นสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกตัวเรา พัฒนาตัวเรา
[00:37:09] คนที่มีจิตสำนึกอันนี้ จะมีข้อดีเข้ามาอีกอันหนึ่ง คือว่า ธรรมดาคนเราชอบทำสิ่งที่สบาย ๆ ก็ง่าย ๆ ถ้าเจอสิ่งที่ยากแล้ว มันก็ไม่สบายใจ มันก็ฝืนใจ แล้วมันก็ท้อแท้ใจ ๑) ก็คือว่า ไม่สบาย เรียกว่า “ทุกข์” ๒) ก็คือไม่มีกำลังใจจะทำ ทั้งไม่สบาย ทั้งท้อแท้ ไม่มีกำลังด้วย แต่ทีนี้ถ้าเกิดจิตสำนึกในการฝึกตนขึ้นมาแล้ว มันจะกลับอันนี้เป็นตรงข้าม คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน อยากจะฝึกตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็จะหาสิ่งที่จะมาช่วยฝึกตัว เพราะฉะนั้นเขาจะชอบสิ่งที่ยาก คือถ้าเจออะไรยาก พุ่งเข้าหา เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ยาก ยิ่งทำให้เราได้ฝึกตนมาก ยิ่งเจอสิ่งที่ยากก็ยิ่งได้มาก ใช่ไหม ยิ่งยากยิ่งได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ยิ่งชอบใจสิ
[00:38:10] ฉะนั้นคนที่มีจิตสำนึกอันนี้ เราจะสังเกตเห็นได้ ลักษณะเขาคือ เขาเจองานยากไม่กลัว แล้วถ้ามีงาน ๒ อย่าง ง่ายกับยาก คนพวกนี้กลับชอบหันเข้าหางานยาก เพราะมีจิตสำนึกในการฝึกตนอยู่ มันคอยจะหาอะไรมาฝึกตัวเอง ถือว่ายิ่งยากยิ่งได้ จริงไหม ถ้าเราเจองานยาก เราทำได้ เรายิ่งได้มาก ใช่ไหม พอเรามีจิตสำนึกอันนี้ขึ้นมาแล้ว ไม่กลัวงานยาก กลับยิ่งดีใจ ฉะนั้นคนพวกนี้จะได้ ๒ อย่าง คือ ๑) เจองานยาก ดีใจ ใจก็สบายด้วย ไม่ทุกข์ คนแรกนี่ฝืนใจทุกข์ คนนี้ไม่ฝืนใจ กลับสุข ดีใจว่าเจองานที่เราจะได้ฝึกตน ดีใจแล้ว ๒) มีกำลัง เพราะว่ามันพร้อมที่จะทำ ก็เลยว่ายิ่งยากยิ่งได้
ทีนี้ในแง่ของมนุษย์เราเจออารมณ์ อารมณ์ร้าย อารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจ อารมณ์ร้ายก็เป็นเรื่องฝึกตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นยิ่งร้ายก็ยิ่งดี ยิ่งยากยิ่งได้ ยิ่งร้ายยิ่งดี ถ้าคนมีจิตสำนึกในการฝึกนี้ จะมีความรู้สึกอันนี้ ลองคิดดูสิ จะเป็นอย่างนี้นะ ถ้าเราสำรวจตัวเองแล้วเจอสภาพจิตนี้ แสดงว่ามีจิตสำนึกในการฝึก คือเจอยิ่งยากยิ่งได้ ยิ่งร้ายยิ่งดี เอาเลย ยิ่งพอมีจิตสำนึกอย่างนี้ ไม่กลัวอีก อันนี้เป็นสภาพจิตที่ว่า คนเราถ้าทำสภาพจิตให้ถูก มันแก้ไขสถานการณ์ได้หมดเลย จิตสำนึกในการฝึกนี้ ก็เป็นคุณสมบัติในใจอันหนึ่ง
[00:39:48] ท่าทีของการมองสิ่งทั้งหลาย
[00:39:48] ต่อไปอีกอันหนึ่ง คือ ท่าทีของการมองสิ่งทั้งหลาย เรียกว่า “ท่าทีของจิตใจ” ยึดถือหลักการอันนึงในจิตใจ นี้เป็นหลักของพุทธศาสนาที่เป็นพื้นฐาน พุทธศาสนาบอกว่าเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฐิ ถ้าเรามีสัมมาทิฐิมีความเห็นชอบ ยึดถือในหลักการที่ถูกต้อง วางท่าทีของจิตใจที่ถูกต้องแล้ว อะไรต่ออะไรตามมาดีไปหมด
สัมมาทิฐิเริ่มต้นในพุทธศาสนาคืออะไร สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ คือ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ฉะนั้นยึดถือหลักการนี้เลย สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นเราตั้งท่าทีที่ว่า มองตามเหตุปัจจัย เวลาเราเจออะไร สถานการณ์อะไรปั๊บ ก็มองตามเหตุปัจจัย คนที่ไม่มองตามเหตุปัจจัย จะมองตามชอบฉัน คือมองตามที่ว่า มันชอบใจเรา หรือไม่ชอบใจเรา ถ้ามันถูกใจเรา เราก็เอา ถ้าไม่ถูกใจเรา เราก็แสดงออกอะไร ใช่ไหม อันนี้คนทั่วไปจะมีลักษณะอย่างนี้
[00:40:48] พอมาเรียนพุทธศาสนา เริ่มฝึกตน บทฝึกเบื้องต้น คือ สัมมาทิฐิ อย่างน้อยตั้งท่าทีเป็นทิฐิ หลักการเบื้องต้นไว้ว่า มองตามเหตุปัจจัย พอตั้งท่าทีนี้ปั๊บ เจอเหตุการณ์อะไร ประสบการณ์อะไร บอกมองตามเหตุปัจจัย อย่างที่พูดเมื่อกี๊ ทีนี้เอาอันนี้ขึ้นมา ทำให้ชัดเจนขึ้นไปเท่านั้นเองว่า มองตามเหตุปัจจัยเท่านี้ล่ะ ท่านชนะเลย อย่างน้อยสะดุดเลยนะ เจริญพร
คือสิ่งที่เข้ามา มันยั่วยวนชวนใจเรา ให้หลงไปตามบ้าง เกิดปฏิกิริยาบ้าง ในทางที่ว่า ชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือทางพระเรียกว่า ยินดียินร้าย อารมณ์ต่าง ๆ เข้ามานี่ จะชวนใจเราให้รู้สึกอย่างนี้ทั้งนั้น ทีนี้พอเราเกิดความรู้สึกอย่างนี้ตอบโต้นะ สิ่งที่ถูกใจเราก็ชอบ สิ่งที่ไม่ถูกใจเราก็ชัง เราก็ยินร้าย เกิดปฏิกิริยาอย่างนี้แล้ว เราจะคิดปรุงแต่ง เราก็เอาความรู้สึก สิ่งที่ชอบและไม่ชอบ มาปรุงแต่งในใจ แล้วก็คิดไปต่าง ๆ แล้วเกิดปัญหา เกิดความทุกข์ทั้งในใจตัวเอง และแสดงออกก็ไม่ดี
[00:41:53] ทีนี้พอเราบอกว่า มองตามเหตุและปัจจัย ความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจ สะดุดทันที ตัดลงทันที นี่คือสติมา สติก็นำเอาตัวหลักการ คติที่ยึดไว้ว่า มองตามเหตุปัจจัยนี้มาใช้ การมองตามเหตุปัจจัยก็ส่งต่อให้กับปัญญาทันที เพราะการมองตามเหตุปัจจัยคือต้องใช้ปัญญา ใช่ไหม
พอบอกว่ามองตามเหตุปัจจัย ก็ต้องสืบสาวแล้ว ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร ใช้ปัญญาทันที สิ่งที่มองนั้นไม่เข้ามากระทบตัวเลย เพราะฉะนั้นมันจะสะดุด ปัญญาเกิดขึ้น ปัญหาไม่เกิด ปัญญาไม่ทำให้เกิดปัญหา ปัญญาเป็นตัวแก้ปัญหา ฉะนั้นปัญญาเกิดปัญหาหยุด ถ้าปัญหามาปัญญาหยุด เพราะฉะนั้นหรือปัญหามาแล้ว ต้องรีบให้ปัญญาเกิด แล้วปัญญาจะแก้ปัญหาได้ แต่ว่าตัวที่จะนำปัญญามาส่งต่อก็คือสติ พอสติมาก็ส่งต่อปัญญารับ ปัญญารับช่วงก็สืบสาวหาเหตุปัจจัย มองตามข้อเท็จจริง อย่างที่ว่าข้อเมื่อกี๊ไง
อย่างที่ว่า อย่างระบบของชีวิตจิตใจพระอรหันต์ท่านเป็นอย่างนั้น คือ มองตามเหตุปัจจัยหมด เวลาเกิดสถานการณ์ เราเจอคนไข้หน้าตาไม่ดี มีอะไรเกิดขึ้น เราถามแบบนี้ ถามตัวเราเอง มีอะไรเกิดขึ้น มีอะไรในใจเขา หรือมีเรื่องอะไรกระทบ เรามองตามเหตุปัจจัย เราเตือนแล้วนี่ มองตามเหตุปัจจัย มีอะไร ปัญหาเกิด ไม่ได้มองเข้ามากระทบ ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ ใช่ไหม มองตามเหตุปัจจัยปั๊บ นี่สะดุดเลย สิ่งที่เรากระทบ ไม่เข้ามาถึงตัวเราได้ ปัญญาเป็นตัวตัด ไม่ให้สิ่งที่จะเข้ามาหาเรานั้น เข้าถึงตัวเราได้ มันกันหมดเลย ปัญญากันไม่ให้ภัยอันตรายเข้าถึงตัว แล้วเป็นตัวที่สกัด ดับปัญหาทันทีเลย ต่อจากนั้น การคิดจะเป็นไปในทางที่ เกิดความคิดที่จะช่วยเหลือเขาแล้วนะ
พอเราเกิดปัญญา มองตามเหตุปัจจัย เราสืบสาวเรื่องราวเป็นยังไง ตอนนี้มันไม่มีปัญหากับตัวเรา แต่จะมีความคิดช่วยเขาเลย ว่าเขาเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาอะไรกับเขา มีเหตุปัจจัยอะไร ที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น ต้องหาดูสิ มันเป็นยังไง กรุณาเกิดขึ้น แทนที่จะเกิดปัญหากับตัวเรา ทุกข์ไม่เกิด เกิดกรุณา คิดจะช่วยเหลือเขาทันที นี้ก็เป็นวิธีการ มองตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นหลักการพระพุทธศาสนา เบื้องแรกก็ให้มีสัมมาทิฐิ ตัวนี้แหละเอามาใช้เลย พอเอาตัวนี้มาใช้ ท่านเรียกว่า “พึ่งธรรมะ” แล้วที่เราบอกว่า “พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ, สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ” เราพึ่งบ้างหรือเปล่า แค่นี้บางทีเราก็ไม่ได้พึ่งแล้ว
[00:44:23] ธรรมะคืออะไร คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลายว่า มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความจริงที่ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เราก็ต้องเอามาใช้สิ ถ้าเราพึ่งธรรมะ เราก็ต้องเอาธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันเลย ใช่ไหม พอเราเอาหลักการนี้มาใช้ปั๊บ นี่คือเราเริ่มพึ่งธรรมะแล้ว ธรรมะมาเป็นหลักชีวิตของเราแล้ว แม้แต่ใช้หลักการนี้ ก็ช่วยได้มากแล้วในการปฏิบัติงาน เป็นอันว่า ตั้งหลักการไว้เลยว่า เกิดอะไรขึ้น สถานการณ์อะไร ประสบกับอะไร บอกตัวเองทันที บอกว่า มองตามเหตุปัจจัย ต่อจากนั้น จิตของเราจะไปตามกระแสแห่งปัญญา พิจารณาข้อเท็จจริง สืบสาว และคิดแก้ปัญหา ปัญหาไม่เกิด ปัญญาเกิดแทน อันนี้ก็อีกวิธีหนึ่ง
[00:45:12] รวมแล้วก็เป็นเรื่องที่ว่า หลักการโดยทั่วไปก็คือว่า โดยวิธีปฏิบัติแบบนี้ จะไม่เกิดตัวตนขึ้นมารับกระทบอะไรทั้งสิ้น คนเราที่มองสิ่งทั้งหลาย ในแง่ชอบชัง ยินดียินร้าย มันจะเกิดตัวตนของเราขึ้นมารับ ว่ามันถูกใจเรา ไม่ถูกใจเรา มันกระทบเรา ใช่ไหม แต่พอเราใช้ปัญญา มองตามเหตุปัจจัย มันไม่มีตัวตนเกิดขึ้นมาเลย เพราะฉะนั้นระบบที่ว่ามาทั้งหมด สรุปคือว่า ไม่มีตัวตนเกิดขึ้นมารับการกระทบ พอไม่มีตัวตนรับกระทบ สิ่งทั้งหลายก็เป็นไปตามกระแสของปัญญา ที่จะพิจารณาแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ อย่างน้อยมันก็ไม่มีอะไรมากระทบกระทั่งตัวเอง ก็ไม่มีปัญหา
[00:45:55] กัลยาณมิตร
[00:45:55] อีกอันหนึ่งก็คือ เรานี้อาจจะยังไม่เข้มแข็งพอ หรืออาจจะยังไม่ชำนาญ ในการใช้หลักการวิธีการเหล่านี้ พระพุทธเจ้าท่านก็ให้ตัวช่วยไว้เบื้องแรกที่สุด ตัวช่วยเบื้องแรกที่สุดก็คือ หลักเรียกว่า “กัลยาณมิตร” ก็หาบุคคลอื่น ปัจจัยในทางสังคม หรือไม่ใช่คนก็ได้ เป็นหนังสือหนังหา เป็นอะไรต่าง ๆ นั้น ที่จะเป็นคู่มือ เครื่องปลอบใจ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ พูดง่าย ๆ คือ หากัลยาณมิตร เป็นบุคคลอื่นที่มาในรูปของตัวคนจริง ๆ บ้าง หนังสือบ้าง อะไรบ้าง มาสำหรับช่วยเป็นเพื่อนชีวิตมิตรคู่ใจ อะไรทำนองนี้
เพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ สำหรับเวลาเรามีปัญหา เราก็ไปได้พูดได้คุย จะได้ส่งเสริมกำลังใจ เพราะบ้างทีเราอาจจะเกิดความท้อแท้ อาจจะเกิดความระอา เหนื่อยอ่อน ก็มาช่วยกัน แม้แต่จะมี ๒ คน ที่ใจไปกันได้ เข้าแนวทาง ก็มาช่วยกันคิด อีกคนก็ปลอบ มีเรื่องอะไรต่ออะไร ก็ให้กำลังใจกัน อันนี้ก็เป็นหลักการเบื้องต้น ท่านเรียกว่า มีกัลยาณมิตรมาช่วย
อันนี้ก็เป็นหลักวิธีการต่าง ๆ อาตมาว่า แค่นี้ก็น่าจะใช้ได้นะ คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์ ในการปฏิบัติงานพอสมควร อันนี้ก็เป็นหลักการต่าง ๆ ในทางพุทธศาสนา ซึ่งเราสามารถใช้ได้หลายระดับ ตั้งแต่วิธีเบื้องต้นที่ว่า มองเป็นสนุก แต่ก็ว่าไม่ได้อะไรขึ้นมา จนกระทั่งถึงวิธีของพระอรหันต์ไปเลย
[00:47:29] คุณธรรมประจำใจ สานสายใยเชื่อมสัมพันธ์
[00:47:29] ทีนี้ที่เรามาทำทั้งหมดนี้ เสร็จแล้วก็คือการปฏิบัติต่อคนอื่น โดยเฉพาะคนไข้ เราก็มามองดูที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคนไข้อีกทีหนึ่ง อันนั้นเป็นวิธีปฏิบัติ วิธีทำใจของเรา เป็นต้น ทีนี้มองดูในแง่ความสัมพันธ์ ก็จะมีคุณธรรมที่เป็นตัวยืนที่เด่น ซึ่งเราก็จะพูดว่า เมตตากรุณา ทีนี้การปฏิบัติต่อคนไข้คือคนที่มีความทุกข์ คนที่มีความเดือดร้อน การปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ จะใช้คุณธรรมภายในใจคือความกรุณา แต่ว่าคุณธรรมในหมวดนี้มีหลายอย่าง
ตอนนี้อาตมาก็เลยถือโอกาส เอามาพูดให้เป็นชุดกัน คือเรามักจะได้ยินคุณธรรมต่าง ๆ เหล่านี้พ่วงกันมา เราจะได้ยินความกรุณานี้ มาคู่กันบ่อยกับคำว่า เมตตา จนกระทั่งว่าเราพูดพ่วงกันไป เป็นคำคู่ว่า เมตตากรุณา อันนี้เราจะพูดถึงว่า อาชีพของแพทย์ ของพยาบาล ของบุคลากรในโรงพยาบาลนี้ เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความเมตตากรุณามาก จะต้องเพิ่มพูนปลูกฝัง พัฒนาคุณธรรมนี้ขึ้นในใจ ทีนี้เราก็ต้องแยกได้ก่อน บางทีเราแยกไม่ออก แม้แต่ความหมายระหว่างเมตตากับกรุณา เราก็พูดปนกันไป จนกระทั่ง เอ๊ะ อันไหนเป็นเมตตา อันไหนเป็นกรุณา วันนี้อาตมาเลยขอถือโอกาสนี้ มาทำความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักธรรมพวกนี้บางอย่าง เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น
[00:49:05] หลักธรรมชุดนี้ที่จริงมี ๔ ข้อ ไม่ใช่มีแค่เมตตากรุณา ยังมีมุทิตาและอุเบกขา ทั้งชุดนี้มี ๔ ข้อ เรียกว่า พรหมวิหาร ๔ “พรหมวิหาร” แปลว่า ธรรมประจำใจ หรือเป็นที่อยู่ของใจ ของผู้ที่มีจิตใจดั่งพรหม คือ “พรหม” ในทางพระพุทธศาสนา แปลว่า ผู้ประเสริฐ จะมองในแง่เป็นรูปธรรม เป็นบุคลาธิษฐานว่า เหมือนกับว่า มีหน้า ๔ หน้า มองเห็นทุกทิศก็ได้ หมายความว่า คือ มีหน้าที่มองดูสรรพสัตว์เห็นหมด ไม่ได้มองเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ไม่มองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มองทั่วกัน ในแง่หนึ่งก็คือความประเสริฐ ความยิ่งใหญ่ของจิตใจ ที่ว่า “เป็นพรหม” ก็คือ ใจประเสริฐ ใจยิ่งใหญ่ คำว่า “วิหาร” แปลว่า ที่อยู่ที่พัก พระธรรมเป็นที่อยู่ของใจ ใจที่ประเสริฐ
ใจประเสริฐจะอยู่ในหลักธรรม ๔ ประการนี้ มี ๑) เมตตา ๒) กรุณา เมตตากรุณาต่างกันอย่างไร วิธีง่าย ๆ ดูความต่าง ก็ดูคนที่เราจะไปแสดงออกต่อเขา ถ้าคนนั้นอยู่ในภาวะที่ปกติ ไม่ได้มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจอะไร เขาก็อยู่ในประจำวันเรื่อย ๆ อย่างนี้ คุณธรรมที่จะใช้ก็คือเมตตา เมตตา คือ ความรัก ความเป็นมิตร เมตตานั้นมาจากศัพท์เดียวกับมิตร มิตร, เมตตา, ไมตรี มาจากรากศัพท์เดียวกัน เมตตาไมตรีก็อันเดียวกัน ไมตรีเป็นสันสกฤต เมตตาเป็นบาลี ความเป็นมิตรคือ มีความปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข
[00:50:50] ตอนนี้เลยขอพูดถึงความรักในอีก ๒ อย่าง ความรักที่ว่าเป็นมิตร เราเรียกว่าเป็นความรักชนิดหนึ่ง ความรักประเภทนี้ที่เรียกว่าเมตตา มีลักษณะคือ อยากให้คนอื่นเป็นสุข ความหมายของเมตตาชัดเลยคือ อยากให้คนอื่นเป็นสุข ทีนี้ความรักมี ๒ แบบ ความรักแบบหนึ่งคือ ความต้องการเอาผู้อื่นมาทำให้เรามีความสุข ความต้องการครอบครอง ต้องการให้เขามาทำให้เราเป็นสุข เป็นความรักแบบหนึ่ง แล้วความรักแบบที่เราต้องการในที่นี้ คือ ความรักที่อยากให้เขาเป็นสุข อันนี้เป็นตัวการแยกความหมายที่สำคัญ
ความรักที่ไม่แท้ คือ ความรักที่อยากให้คนอื่นมาทำให้เราเป็นสุข อยากเอาเขามาทำให้เราเป็นสุข ใช่ไหม ก็คือพูดง่าย ๆ เอาเขามาบำเรอความสุขให้เรา ความรักประเภทนี้อันตราย ไม่แท้ ไม่จริง ไม่ยั่ง ไม่ยืน ถ้าหากว่าเขาไม่สามารถมาสนองความต้องการปรารถนาของเราเมื่อไหร่ เราจะเกลียดชังทันที หรือเบื่อหน่าย แต่ถ้าเป็นความรักประเภทที่ ๒ ที่เรียกว่า ความรักแท้ คือ อยากให้เขาเป็นสุข เช่น พ่อแม่รักลูก ความหมายคืออยากให้ลูกเป็นสุข ใช่หรือเปล่า ความอยากให้เขาเป็นสุขนั้นคือ ความรักแท้ ที่เรียกว่า เมตตา ถ้าความรักอันนี้เกิดขึ้นแล้วปลอดภัย
[00:52:19] เพราะฉะนั้นในชีวิตแม้แต่ครอบครัว แม้เราเริ่มด้วยความรักประเภทที่ ๑ ก็ต้องให้มีความรักประเภทที่ ๒ ตามมา ถ้าความรักประเภทที่ ๒ เกิดไม่ได้แล้ว อันตราย ในที่สุดจะอยู่ไม่ยั่งยืน ก็ต้องให้อันที่ ๒ เข้ามา อย่างน้อยมาได้ดุลยภาพ มีความสมดุลกัน ความรักประเภทที่ ๒ คือ ธรรมะที่เรียกว่า เมตตา อยากให้เขาเป็นสุข พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นสุข ลูกอยากให้พ่อแม่เป็นสุข อย่างนี้เรียกว่า เมตตา แต่ว่าใช้ในภาวะที่อยู่เป็นปกติ
[00:52:53] ทีนี้ ถ้าคนนั้นเขาเกิดมีความเดือดร้อนเป็นทุกข์ ตกลงไปจากสภาพปกติ คุณธรรมข้อที่ ๒ มา คือ กรุณา กรุณาคือ ใจหวั่นใจเมื่อเห็นเขาเดือดร้อนมีความทุกข์ ต้องการจะปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากความทุกข์ เรียกว่า กรุณา อันนี้เป็นตัวแยกที่ชัดเจนมาก ต่อไปนี้จะได้ไม่ต้องคิดให้ลำบากว่า เมตตากับกรุณาต่างกันอย่างไร ดูที่คนที่เราจะมีคุณธรรมอันนี้ต่อเขา ถ้าเขาอยู่เป็นปกติ อยากให้เขาเป็นสุขอยู่สบายอย่างนั้น มีไมตรีจิต เรียกว่า เมตตา ถ้าเขาเดือดร้อนตกต่ำเป็นทุกข์ลงไป อยากให้เขาพ้นจากทุกข์นั้น เรียกว่า กรุณา
เพราะฉะนั้นอาชีพของแพทย์พยาบาล จะใช้กรุณามาก ไม่ใช่เมตตา เมตตาก็มีความเป็นมิตรตลอดเวลา หมายความว่า เมื่อคนไข้มาตามปกติ เมื่อเขาอยู่สบาย เราก็มีความเป็นมิตรมีเมตตา ญาติมิตรคนไข้มา เราก็มีเมตตา มีเมตตาอยู่เป็นประจำ เมตตานี่จะใช้มากที่สุด กรุณาใช้เมื่อเขาเป็นทุกข์เดือดร้อน
[00:54:01] ทีนี้แค่นี้ไม่พอ จะมีคุณธรรมข้อที่ ๓ ถ้ามีแค่สองนี่ไม่ครบ คือ ยามเขาดีขึ้น เขาตกต่ำเราใช้กรุณา พอสามเขาขึ้น เขาขึ้นคือ เขาประสบความสำเร็จ เขามีความสุข เขาทำสิ่งที่ถูกต้อง ดีงามเจริญก้าวหน้า เรามีข้อที่ ๓ เรียกว่า พลอยยินดีด้วยช่วยสนับสนุนส่งเสริม เรียกว่า มุทิตา เป็นข้อที่ ๓
ข้อที่ ๓ นี้คนไทยไม่ค่อยพูดถึง เรามักจะอยู่แค่เมตตากรุณา ข้อที่ ๓ เลยเอ๊ะ ไม่ค่อยจะมีหรืออย่างไร ข้อ ๓ นี้สำคัญเหมือนกัน เพราะยามคนไข้เขาสบาย เขาหายจากโรคอะไรต่ออะไร ก็มีมุทิตา มีความพลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุน ให้เขามีสุขภาพดียิ่งขึ้นไป ให้เขาแข็งแรงยิ่งขึ้น สามแล้ว เจริญพร ดูเหมือนว่าครบแล้วนะ ดูเหมือนว่าครบแล้ว คนเราก็อยู่ในภาวะ ๓ อย่างนี้ ๑) อยู่เป็นปกติ ๒) ตกต่ำลงไป ๓) ก็ดีขึ้น ทีนี้มันมีอะไรอีก ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสข้อ ๔ ไว้
[00:55:09] ข้อ ๔ มีความหมายสำคัญมาก ๑ ถึง ๓ นี่มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเราและเขา เรากับเพื่อนมนุษย์สัมพันธ์กัน ตอนนี้ยังไม่มีตัวที่สามเข้ามา เรากับเขามี ๑) เค้าอยู่เป็นปกติ เรามีเมตตาไมตรี ๒) เขาตกต่ำลง เป็นทุกข์ เรามีกรุณา ๓) เขาดีขึ้น ประสบความสุขสำเร็จ เรามีมุทิตา อันนี้เรากับเขา เรากับเพื่อนมนุษย์ ทีนี้ต่อมา มีตัวที่สามเข้ามา
ตัวที่สามนี้คือ ความถูกต้องชอบธรรม หลักการกฎเกณฑ์ ตัวความจริง ความถูกต้องชอบธรรม โดยธรรมชาติอย่างหนึ่ง โดยเป็นความดีที่มีอยู่ตามธรรมดา แล้วความถูกต้องชอบธรรม ที่วางเป็นบทบัญญัติ เป็นกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างหนึ่ง เป็นระเบียบเป็นกฎหมาย อะไรก็แล้วแต่ อยู่ในข้อนี้หมด ตัวการที่สามนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าความสัมพันธ์ของเรากับเขาใน ๑ ถึง ๓ นั้น ไปกระทบตัวนี้เข้า ตัวนี้คือ ตัวธรรมะ ตัวความถูกต้อง หลักการ กฎเกณฑ์ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้นะ เราจะต้องคำนึงถึงตัวที่สามนี้ ตัวสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนี้จะต้องยั้งแล้ว
ถ้าหากว่าเราจะไปช่วยเขา หรือส่งเสริมเขา เช่น คนนี้ไปลักขโมย เขาได้เงินมาดี ใช่ไหม ประสบความสำเร็จในการลักขโมย เอ๊ะ แล้วเราจะมุทิตาหรือ ใช่ไหม ส่งเสริมบอกว่า คุณ ๆ ชั้นจะช่วย ให้คุณลักของได้มากกว่านี้อีก ไม่ได้ ใช่ไหม เขาประสบผลความสำเร็จอย่างนี้ มันไปกระทบตัวที่สามแล้ว หลักการ ตัวธรรมะ อันนี้หยุดเลย มุทิตาไม่ได้ กรุณาก็เหมือนกัน อย่างผู้พิพากษาบอกว่า นายคนนี้ไปฆ่าเขามา จะไปสงสาร จะไปช่วยให้พ้นจากโทษ อะไรอย่างนี้ ก็ไม่ถูก ใช่ไหม
เพราะฉะนั้นตัวที่สาม คือ ตัวธรรมะ คือ หลักการ ความจริง ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ความชอบธรรม หลักการกฎเกณฑ์กติกาของสังคม จะเป็นรูปธรรมนามธรรมก็ตาม อันนี้คือตัวที่สาม ถ้าตัวนี้เข้ามาแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหนึ่งกับสองต้องยั้งก่อน ไปดูอันที่สาม อันนี้คือตัวที่ว่า ต้องอุเบกขา วางใจเป็นกลาง ไม่เข้าไปแทรกแซง เพื่อให้เขารับผิดชอบ หมายความว่า ตอนนี้เราจะต้องให้คนนั้น รับผิดชอบต่อตัวธรรมะ ตัวหลักการกฎเกณฑ์ ความถูกต้องชอบธรรมนั้นแล้ว เราก็เป็นเพียงว่า ดูแลช่วยให้เกิดความเที่ยงธรรม แล้วส่วนใดที่มีเมตตากรุณาช่วย ก็อย่าให้ไปผิดอันนั้น อันนี้คือข้ออุเบกขา
[00:58:04] อุเบกขานี้ยากที่สุด ต้องมีปัญญา ข้อ ๑ ๒ ๓ นั้น ไม่ต้องมีปัญญาเท่าไหร่หรอก เป็นท่าทีระหว่างบุคคล มันทำกันง่าย แต่อันที่ ๔ ข้ออุเบกขา ถ้าไม่มีปัญญาทำไม่ได้ ถ้าไปวางเฉย “อุเบกขา” มักจะแปลกันว่า เฉย ถ้าหากว่าเฉยโดยไม่ใช้ปัญญา ท่านเรียกว่า “เฉยโง่” พระเรียก “อัญญานุเบกขา” เฉยโง่เป็นอกุศล เป็นบาป ได้แต่เฉยไม่รู้เรื่อง แล้วก็เฉยไม่เอาเรื่อง แล้วก็เฉยไม่ได้เรื่อง ทีนี้ถ้าหากว่า เป็นคนมีอุเบกขาถูกต้อง ก็เฉยรู้เรื่อง รู้ว่าตอนนี้จะต้องทำยังไง วางตัวยังไงจึงจะถูก เพื่อให้ได้ความถูกต้องชอบธรรม ให้ทุกสิ่งไปได้ด้วยดี
แม้แต่พ่อแม่เลี้ยงลูก ถ้าเลี้ยงลูกไม่เป็น ลูกไม่รู้จักโต บางคนพ่อแม่นั้นมีแต่เมตตา บางคนมีเมตตากรุณา บางคนมีเมตตากรุณามุทิตา ๓ ข้อ ขาดอุเบกขา โอ๋ลูก เอาใจลูก กลัวลูกจะลำบาก กลัวลูกจะเจ็บเมื่อย อะไรต่าง ๆ ทำแทนหมด ลูกทำอะไรไม่เป็นเลย นี่ต้องวางอุเบกขาบ้าง วางอุเบกขาคือหมายความว่า ตอนนี้เราต้องให้โอกาสเขาพัฒนาตัวเอง ให้เขาหัดรับผิดชอบตัวเอง หนึ่ง ให้เขาหัดรับผิดชอบตัวเอง เขาจะได้ทำอะไรเป็น ให้เขาหัดทำอะไรเป็น เรียกว่า หัดรับผิดชอบตัวเองบ้าง เราต้องมองดูว่า เออ ตอนนี้อันนี้นะ ให้เขาหัดทำบ้าง ให้เขาเหน็ดเหนื่อยบ้าง เขาต้องฝึกตัวเอง ก็ต้องลำบากบ้างเป็นธรรมดา ไม่ใช่ลูกได้รับการบ้านมา เดี๋ยวคิดสมองเมื่อย พ่อแม่ไปทำการบ้านแทน อย่างนี้ก็แย่ ถ้ากลัวลูกลำบาก มีเมตตากรุณามาก ลูกเลยไม่เป็นเลย ใช่ไหม
[00:59:55] ทีนี้ พ่อแม่ที่เขาเก่ง รู้จักให้เมตตากรุณามุทิตาได้สัดส่วน ดุลยภาพกับอุเบกขา พอถึงเวลานี้ ไม่ใช่ว่าเราไม่รักนะ แต่เราต้องวางอุเบกขาบ้าง ให้เขาหัดทำอะไรเอง ลูกเขาจะได้ทำเป็น ก็วางอุเบกขา วางทีเฉยดู “อุเบกขา” ก็แปลว่า คอยดูนะ อุเบกขาตัวศัพท์ “อุป + อิกข” “อิกข” แปลว่า ดู “อุป” แปลว่า ใกล้ ๆ คอย คอยดูอยู่ใกล้ ๆ หมายความว่า ถ้าเขาเพลี่ยงพล้ำเมื่อไหร่ เข้าช่วยได้ทันที พร้อม พร้อมที่จะแก้ไขสถานการณ์ แต่ว่ายัง ยังไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง
หนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อลูกจะต้องฝึกหัด รับผิดชอบตัวเอง ทำอะไรให้เป็นเอง พ่อแม่ต้องวางอุเบกขา นี่ใช้ปัญญาในกรณีที่ ๑) วางเฉย นี่ลูกจะโตได้ดีเลยนะ ๒) คือเมื่อลูกสมควรรับผิดชอบการกระทำตน นี่หัดเหมือนกัน เช่นว่า เขาทำอะไรผิด เรามีกติกาในครอบครัวไว้ กติกาสังคม ครอบครัวเราเป็นสังคมย่อย ต่อไปลูกเราก็ต้องไปอยู่สังคมใหญ่ เขาจะต้องเรียนรู้ชีวิต
สำหรับธรรมบรรยายวันอาทิตย์ ที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
ชุด งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข เรื่องที่ ๗. จะเป็นนักทำงานที่แท้ได้ ต้องรู้จักขยายโลกทัศน์
ช่วงเวลา [00:07:45 - 00:35:24]
https://youtu.be/-R7tI3vBjD8?t=465
ประเด็นสำคัญ
[00:00:00] รักษาคนป่วยไข้ รักษาทั้งกายและใจ
[00:07:45] ฉันทะเป็นทุนดีแต่ต้น
[00:10:25] ทำใจพร้อมธรรม งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข
[00:12:27] แบบที่ ๑ คือ ไม่รับ ไม่เก็บ
[00:14:17] แบบที่ ๒ คือ เรียนรู้
[00:17:14] แบบที่ ๓ คือ ถือเป็นบททดสอบ
[00:19:42] แบบที่ ๔ คือ พัฒนาตน
[00:26:52] แบบที่ ๕ คือ วิธีของพระโพธิสัตว์
[00:31:47] แบบที่ ๖ คือ แบบพระอรหันต์
[00:35:24] หลักธรรมเกื้อหนุนการปฏิบัติงาน
[00:35:24] ฉันทะ
[00:35:59] จิตสำนึกในการศึกษา
[00:39:47] ท่าทีของการมองสิ่งทั้งหลาย
[00:45:55] กัลยาณมิตร
[00:47:29] คุณธรรมประจำใจ สานสายใยเชื่อมสัมพันธ์
คำโปรย
[00:10:25] ...จะทำอย่างไรให้งานได้ผล จิตใจของตัวเองก็เป็นสุขด้วย ... เรื่องของการทำใจ มีวิธีการหลายอย่าง [00:12:27] “ไม่รับ ไม่เก็บ” ... เห็นเป็นกระแสคลื่นผ่านไป ใจเราไม่รับ ไม่เก็บเข้ามา ก็มองเป็นสนุกไป [00:14:17] “เรียนรู้” ... รับรู้เพียงเพื่อเป็นความรู้ และเก็บเป็นข้อมูลไว้สำหรับระลึกใช้ ไม่มีเรื่องการปรุงแต่ง ไม่มีตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้อง [00:17:14] “ถือเป็นบททดสอบ” ... ถ้าหากว่าเป็นผู้ที่เรียนธรรมะพัฒนาตน เราก็พยายามยึดถือปฏิบัติ สิ่งที่จะเข้ามาคือบททดสอบทั้งนั้น [00:19:42] ... “พัฒนาตน” คือ มองเป็นว่าเราจะพัฒนาตน งานเป็นเครื่องมืออันประเสริฐ ดีที่สุดในการพัฒนาชีวิตของเรา [00:26:52] “วิธีของพระโพธิสัตว์”... ถ้าใครตั้งปณิธานได้ถึงขั้นพระโพธิสัตว์ เรียกว่าชนะหมด เพราะพระโพธิสัตว์ไม่เคยแพ้เรื่องการทำความดี [00:31:47] “แบบพระอรหันต์” คือ ผู้บริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีก ... ถ้าเราตั้งปฏิปทาแบบพระอรหันต์ งานของเรานี้เป็นงานของผู้อื่น เราก็มองดูเหตุปัจจัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่มีอารมณ์ขึ้นมากระทบ มีแต่กระบวนการและเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง
คำคม
[00:08:45] ฉันทะเป็นเกราะป้องกันตัว ที่ช่วยให้กระทบอารมณ์ต่าง ๆ ให้หวั่นไหวยากขึ้น
[00:12:27] “ไม่รับ ไม่เก็บ” อารมณ์ก็ผ่านไป เหมือนกับคลื่นไหล เป็นกระแสคลื่นผ่านไป
[00:18:28] หากว่าเป็นผู้ที่เรียนธรรมะพัฒนาตน สิ่งที่เข้ามาก็คือบททดสอบทั้งนั้น
[00:19:42] มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐได้ด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วไม่ประเสริฐเลย
[00:22:33] มนุษย์ฝึกตัวเองได้อย่างแทบจะไม่มีขีดจำกัด ฝึกได้เป็นมหาบุรุษ เป็นพระพุทธเจ้าได้
[00:25:34] สนุกแบบคนมีปัญญา
[00:26:15] งานเป็นเครื่องมืออันประเสริฐ ดีที่สุดในการพัฒนาชีวิตของเรา
[00:37:09] สิ่งที่ยากทำให้เราได้ฝึกตนมาก ยิ่งเจอสิ่งที่ยากก็ยิ่งได้มาก
[00:38:10] ยิ่งยากยิ่งได้ ยิ่งร้ายยิ่งดี
[00:40:48] เรียนพุทธศาสนา บทฝึกเบื้องต้น คือ สัมมาทิฐิ
[00:41:53] ปัญญาเกิด ปัญหาหยุด
[00:44:23] ถ้าเราพึ่งธรรมะ เราก็ต้องเอาธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน
[00:45:12] พอไม่มีตัวตนรับกระทบ สิ่งทั้งหลายก็เป็นไปตามกระแสของปัญญา
[00:49:05] พระธรรมเป็นที่อยู่ของใจที่ประเสริฐ
[00:50:50] ความอยากให้เขาเป็นสุข คือ ความรักแท้ ที่เรียกว่า “เมตตา”