แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[00:00:40] เศรษฐกิจพอเพียงคืออย่างไร
[00:00:40] คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออย่างไร ก็อาจจะเพียงเริ่มพิจารณา หรือว่าช่วยร่วมพิจารณา เช่นเราอาจจะพูดว่าความหมายของพอเพียงก็มองได้ 2 อย่าง มองแบบวัตถุวิสัย หรือว่า พาหิระวิสัย คือมองภายนอก หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Objective แล้วก็มองแบบจิตวิสัย หรืออัชฌัตติกวิสัย เป็น subjective นี้พอเพียงที่เป็นเรื่องด้านวัตถุวิสัย ก็คือว่ามันต้องมีกินมีใช้ที่เป็นอยู่ได้ มีอาหารกินเพียงพอ มีเสื้อผ้า มีปัจจัยสี่เพียงพอให้เป็นอยู่ ที่เราพูดกันง่าย ๆ ว่าพอสมควรแก่อัตภาพ ซึ่งอันนี้มันจะใกล้คำว่าพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ ที่นี้ความหมายที่สองที่ว่าเป็นจิตวิสัยเรื่องด้านจิตใจภายใน หรือเป็น Subjective ก็คือว่า คนจะมีความรู้สึกเพียงพอไม่เท่ากัน มีบางคนนี่มีเท่านี้ก็ยังไม่พอ มีเป็นล้านก็บอกว่าฉันไม่พอ มีให้ฉันยังเป็นอยู่ไม่ไหวขนาดนี้ แต่บางคนเขามีนิดเดียวเขาก็พอแล้ว อันนี้พอเพียงทางด้านจิต
[00:02:20] สภาพปัจจุบันของความพอเพียงด้านวัตถุและจิตใจ
ทีนี้ สภาพปัจจุบันเราจะเห็นว่า มันไม่พอเพียงทั้งสองด้าน พอเพียงด้านวัตถุ นี่หมายถึงคนไทยส่วนรวมนะ ส่วนใหญ่ ไม่ใช่เป็นกลุ่ม กลุ่มนิดเดียว คนไทยส่วนใหญ่ ที่เราบอกว่ายากจน ขาดแคลน แร้นแค้น ก็คือความไม่พอเพียงทางด้านวัตถุวิสัย หรือด้าน Objective คือ ของกินของใช้ที่จะให้อยู่ได้มันก็จะไม่ไหวแล้ว ให้ชีวิต สุขภาพดี แข็งแรง แค่นี้เขาก็ไม่ไหวแล้ว ร่างกายเขา อย่างน้อยเขาก็ต้องดี มีสุขภาพแข็งแรงได้ เราจึงเรียกว่ามันพอเพียงที่จะหล่อเลี้ยงชีวิต เป็นต้น ทีนี้ด้านจิตใจก็ไม่พออีก เพราะว่าเดี๋ยวนี้สนับสนุนความโลภ ก็กระตุ้นความโลภกันก็ยิ่งไม่เพียงพอใหญ่ ก็ขาดแคลนทวีคูณเลย สภาพปัจจุบันของคนไทยกลายเป็นว่าเป็นปัญหาสองชั้น ทีนี้ สิ่งที่เราต้องการก็คือว่า ในด้านวัตถุเนี่ย สามารถตั้งเกณฑ์ได้มั้ยว่าแค่ไหน เรียกได้ว่าพอเพียงแก่การที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ มีสุขภาพดี เป็นต้น และสามารถเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้ทำอะไรต่ออะไรอื่น ๆ ได้
ทีนี้ด้านจิตใจที่ว่าพอเพียงอันเนี้ย ความพอเพียงของคนส่วนใหญ่ ก็ควรจะสอดคล้องกับความพอเพียงทางด้านวัตถุ แต่มีคนที่พัฒนาขึ้นไปแล้ว สามารถจะมีความพอเพียงในทางจิตใจโดยมีวัตถุน้อยได้ คนทั่วไปเขามีเท่านี้เขาจึงพอเพียง แต่ว่าคนที่พัฒนาทางจิตใจสามารถมีความรู้สึกพอเพียงได้ง่าย แต่ความพอเพียงอันนี้ มันไม่ใช่ว่ามันเป็นจุดจบในตัว ซึ่งต้องระวัง เพราะว่าคนที่พอเพียงแบบนี้ที่เราเรียกว่าสันโดษ ถ้ามันไม่มีตัวอื่นมารับ คือมันไม่มีเป้าหมายอื่นมาเนี่ย มันนำไปสู่ความประมาทได้ คือคนที่พอมันสุขเนี่ย มันจะเฉื่อย ฉะนั้นพวกที่ไม่เข้าใจก็จะนึก ต้องให้กระตุ้นความโลภเพื่อเขาจะได้กระตือรือร้นขวนขวาย ทำการต่าง ๆ ขยันหมั่นเพียร
[00:05:08] รู้จักพอ เพราะมีปัญญาเห็นว่ามีอะไรดีเหนือกว่าวัตถุ
ความจริงเรื่องนี้ก็ละเอียดพอสมควร [00:05:12] ที่ว่าพอเพียง มีความพอใจด้วยวัตถุแม้เพียงเล็กน้อย อยู่ได้เป็นสุขง่าย นั่นก็แสดงถึงภาวะที่เขามีเรื่องอื่นที่เขาจะต้องทำ หนึ่ง คือมีดีอื่นที่สูงขึ้นไป คนพวกนี้จะต้องมีปัญญามองเห็นว่า มีอะไรดีเหนือกว่าวัตถุ ที่จะมาเสพ มาบำรุงบำเรอ ต้องการจะเข้าถึงสิ่งที่ดีงามกว่า สอง พอเพียงเพื่อจะได้มีความสามารถที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ถ้าเราไม่รู้จักพอ เราก็จะเอาฝ่ายเดียว ก็จะดึงจากคนอื่นเรื่อยไป แต่ถ้าเราพอแล้ว เราก็สามารถที่จะเอาส่วนที่เกินจากนั้นมาให้แก่ผู้อื่น ไม่ใช่หมายความเราหยุดทำ เพราะว่าทำแล้ว ฉันพอแล้ว ก็เลยไม่ต้องทำ นี่เราทำแล้ว เรารู้จักพอ แล้วเราก็เอาส่วนที่เกิน ส่วนที่มีมาก ไปสามารถเกื้อหนุนผู้อื่น ช่วยเหลือสังคม ทำการสร้างสรรค์ต่าง ๆ ได้ ก็เป็นอันว่ามีสองชั้น หนึ่ง ก็คือ เกินพอเพื่อสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ สังคม เกินพอเพราะมันมีเรื่องอื่นที่ยังไม่พอ มนุษย์ไม่ได้มีแค่วัตถุ ตอนนี้ที่สำคัญมาก คือพวกมนุษย์ผู้ไม่รู้จักพอนี่ เขานึกว่าชีวิตของเขาอยู่ด้วยวัตถุ ต้องมีวัตถุให้มากที่สุด ฉะนั้นมนุษย์พวกนี้มันก็จมอยู่แค่นี้เอง ไม่มีอะไรดีขึ้นไป ทีนี้ ชีวิตที่ดีงามมันมีเหนือกว่านั้น มีสิ่งที่ต้องเจริญขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิเศษทางจิตใจ ทางปัญญา แม้แต่อารยะธรรมมนุษย์ที่สร้างสรรค์ มันก็ต้องมีดี เช่นอย่างนักวิทยาศาสตร์อยากจะค้นคว้า รู้ความจริงของธรรมชาติอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ไอ้พวกนี้มันต้องเพียงพอวัตถุ มันต้องรู้จักพอเพียง ถ้าพวกนักวิทยาศาสตร์ นักค้นคว้าพวกนี้ ไม่รู้จัดพอเพียงวัตถุ ไม่มีทางไปหรอก จะค้นคว้าวิทยาศาสตร์ไปไม่ได้ ฉะนั้นเราจะเห็นชัดคือพวกรู้จักพอเพียง ในพวกที่สร้างความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ ทางอารยธรรมต่าง ๆ เหล่านี้ คือพวกรู้จักพอเพียงวัตถุ แต่มันมีอื่นที่เขาเห็นอยู่ว่าเขาจะต้องไปทำ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ก็คือพร้อมกับการพอเพียงวัตถุ เราจะต้องมีอะไรที่ให้เขาเห็นว่า ที่มนุษย์ควรจะไปสนใจใส่ใจอื่น .ที่จะต้องหันไปทำ อันนี้ก็เป็นจุดสำคัญ แล้วที่ท่านอาจารย์เอกวิทย์พูดมาก็เลยทำให้มองอันนี้ได้ด้วย สิ่งที่บอกว่า ไม่ใช้แค่เศรษฐกิจเท่านั้นนะ อันนี้แหละคือว่า เศรษฐกิจพอเพียง ก็หมายความว่า เรารู้จักพอทางด้านเศรษฐกิจ เพราะมัน ชีวิต สังคมมนุษย์ มันไม่ได้อยู่ด้วยแค่เศรษฐกิจนะ มันมีเรื่องอื่นที่เรายังไม่พอ เราจะต้องไปทำอีกเยอะแยะ รู้จักพอในเรื่องเศรษฐกิจ เพราะมีเรื่องอื่นที่ยังไม่พอนี่แน่นอนเลย มนุษย์นี่ ที่เราจะต้องไปทำ แล้วเราหันเหความสนใจ เอาใจใส่ไปทำเรื่องนั้น และอันนั้นจะเป็นความดีงาม ความประเสริฐของมนุษย์ที่แท้จริง มิฉะนั้นมนุษย์ก็จะไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ใช่มั้ย เพราะว่ามัวหมกมุ่นอยู่แต่วัตถุ แต่ว่าร้ายกว่าสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานมันยังพอเพียงวัตถุง่าย แต่ว่ามนุษย์มันไม่รู้จักพอเพียงวัตถุด้วย ทีนี้ จะดีกว่าสัตว์เดรัจฉานก็มีไอ้ความไม่พอเพียงด้านอื่นที่มันเหนือขึ้นไป ที่เราเรียกว่าเป็นอารยธรรมที่แท้จริงเนี่ย ซึ่งปัจจุบันนี้ก็สับสนที่ว่า จะเอาอารยธรรมมามองแค่วัตถุ
[00:09:13] ดุลยภาพ : สันโดษในวัตถุ ไม่สันโดษในกุศลธรรม
ฉะนั้น ความเจริญทางจิตใจ ทางปัญญา ที่จริงอย่างเด็กนักเรียนสมัยก่อน ม. 8 เตรียมอุดมนี่เรียนหนังสือเล่มหนึ่งของนาย C. E. M. Joad ชื่อ Civilization ซึ่งเล่มนี้ก็ดี เล่มนิดเดียว หนาไม่กี่หน้ามั้ง ไม่ถึงร้อยหน้าด้วย นั่นแหละ แกวิเคราะห์เรื่องอารยธรรม แกบอกมันไม่ใช่แค่วัตถุวัตเถอะอะไรเนี่ย ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ จิตใจที่ไปพึงพอใจในศิลปะ วัฒนธรรม ความดีความงาม แสวงปัญญา ต้องการความรู้อะไรพวกเนี้ยเนี่ย คืออารยธรรมที่แท้จริง อันนี้คือสิ่งที่เรายังไม่พอนะ แล้วเสร็จแล้วมนุษย์เนี่ย มาไม่พออยู่กับแค่วัตถุ ก็เลยไม่ได้นึกถึงสิ่งเหล่านั้น [00:10:04] ถ้าเทียบกับทางพระพุทธศาสนาเราจะเห็นชัดว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้คู่กัน ให้สันโดษในวัตถุเสพบำรุงบำเรอ แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม อันเนี้ยชัดมาก ถ้าวัตถุเสพให้รู้จักพอ ถ้าคุณไม่รู้จักพอ แล้วคุณเอาเวลา แรงงาน และความคิดมาทุ่มให้กับมันหมด คุณไม่ได้อะไร แต่ถ้าคุณพอเพียงวัตถุแล้ว คุณก็จะเหลือเวลา ออมเวลา แรงงาน และความคิด ไปทำการสร้างสรรค์ ไปคิดพัฒนาชีวิตของตน ทำสิ่งที่ดีงามได้อีกเยอะ ท่านเรียกว่ากุศลธรรม ก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดที่สงวนไว้ได้จากการที่ไม่มัววุ่นวายกับวัตถุเนี่ย ไม่มัวบำรุงบำเรออะไรเนี่ย เอาไปใช้ในการสร้างกุศลธรรมแค่นั้นเอง มันก็จะดีกันใหญ่ ฉะนั้น นี่ก็เป็นเรื่ิองดุลยภาพอย่างหนึ่ง คือเรื่องสันโดษในวัตถุ กับไม่สันโดษในกุศลธรรม คือเราไม่ได้จบแค่นี้ แล้วอันนี้มันจะเข้ากับหลักที่เราถือว่าเศรษฐกิจนี้เป็นปัจจัย ใช่มั้ย ก็ศัพท์ของเราที่เอามาจากพุทธศาสนาก็ชัดอยู่แล้ว เรามองวัตถุต่าง ๆ เราเรียกว่าปัจจัย เช่น ปัจจัย 4 ก็คือมันเป็นสิ่งจำเป็น แต่จำเป็นในฐานะที่เป็นเครื่องเกื้อหนุน คำว่าเป็นเครื่องเกื้อหนุนก็หมายความว่า มันมีอะไรดีที่เราจะไปเอากว่านี้ พูดง่าย ๆ ก็คือว่า เศรษฐกิจไม่ใช่จุดหมาย แต่เศรษฐกิจเป็นปัจจัยเครื่องเกื้อหนุนให้เราเนี่ย มีกำลังที่จะไปทำ ไปหา ไปแสวงสิ่งที่สูง ที่ดีกว่า อันนี้เป็นแนวคิดที่ต้องชัด คือเวลาเนี้ยมันจะมองเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย มุ่งว่าให้มีเศรษฐกิจพรั่งพร้อม มีวัตถุเสพบริโภค บริบูรณ์แล้วคือความสำเร็จและความสุขสมบูรณ์ อันนี้คือมองเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย แต่ว่า ถ้ามองเป็นปัจจัย ก็มองว่าเศรษฐกิจเนี่ยจำเป็นต้องมี แต่เราไม่ใช่อยู่แค่นี้ มันเป็นเครื่องเกื้อหนุนทำให้เราสามารถจะก้าวไปสู่สิ่งที่ดีงามอื่นต่อไป
[00:12:23] พอเพียงได้ พึ่งตนเองได้ ทำเองได้ มีอิสรภาพ
มันไม่ใช่จบแค่นี้ นี้เศรษฐกิจพอเพียงก็ต้องทำความเข้าใจนี้ให้ชัดด้วย ที่ว่าพอเนี่ย พอวัตถุเนี่ยไม่ใช่หมายความว่าจบแค่นี้ด้วย แต่มันหมายถึงว่า เพราะมันมีอื่นที่เราจะต้องไปทำต่อไป นี่ก็เป็นแง่คิดอันหนึ่ง ก็ในความพอเพียงอันนี้ ก็ซ่อนความหมายอะไรต่าง ๆ ไว้เยอะเลย เช่น ความพึ่งตนเองได้ เพราะเวลานี้คนไทยนี้ ไม่พอเพียงแม้แต่ทางวัตถุวิจัย ไม่มีกินมีใช้ แล้วก็ต้องพึ่งพาขึ้นกับผู้อื่น ค่านิยมของโลกของตะวันตกที่เขาปั่นค่านิยมขึ้นมา นั้นก็ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ก็พึ่งตนเองไม่ได้ ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีอิสรภาพ คือกลายเป็นว่าขาดอิสรภาพพื้นฐาน เวลานี้แย่มาก คือเป็นคนไร้อิสรภาพ ทีนี้คนที่ว่ามีอิสระพึ่งตนเองได้ มันก็มีความหมายโยงไปหาคำว่าทำเองได้อีก ทำเองได้ด้วย ผลิตเองได้ ไม่ใช่หมายความว่าต้องเป็นผู้ซื้อมาเสพ ตอนนี้เวลานี้ ปัญหาของสังคมไทยก็มีอันนี้ด้วย ไม่พอเพียงพึ่งตนเองไม่ได้ เพราะทำไม่ได้ ต้องคอยรับคอยเอาจากที่อื่น คอยซื้อ อย่างนี้ก็เป็นทาสเป็นฝ่ายรับตามเขาเรื่อยไป ฉะนั้นก็จะต้องเน้นเรื่องทำเองได้ เวลานี้คนไทยทำอะไรแทบไม่เป็นเลย นับวันจะทำไม่เป็นยิ่งขึ้น จะหาผลกำไร แสวงหาความร่ำรวยทางวัตถุจากการไม่ต้องทำ คิดฝันโน่นฝันนี่ ขายของเก่า ขายทุนเดิม ขอให้สังเกตเศรษฐกิจไทยที่เราบอกขยายตัวเนี่ย มาจากการขายของเก่า ขายทุนเดิมเป็นส่วนใหญ่ ขายอะไร ขออภัย ขายตัว ขายแรงงาน ขายธรรมชาติแวดล้อม สิ่งที่ตัวมี แม้แต่การท่องเที่ยวก็มองไปในแง่ว่า เอาไอ้สิ่งที่มีมาขาย แล้วก็พอขายไปแล้ว ไม่ใช่ขายแล้วรักษาได้ด้วย พังยับเยินเลย ขายเรื่อง ขายของเก่า ทุนเดิมทั้งนั้น ไม่มีนักสร้างสรรค์เลย เศรษฐกิจที่ดี ต้องเป็นเศรษฐกิจของนักสร้างสรรค์ ต้องทำขึ้นมา ทีนี้คนที่เป็นอย่างนี้มีแต่เสื่อม ฉะนั้นก็ต้องถือว่าอยู่ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ด้วย คือ [00:15:18] พอเพียงได้ พึ่งตนเองได้ และก็ทำเองได้ แล้วก็มีอิสรภาพ อันนี้ก็เป็นแง่คิดต่าง ๆ นี้มันจะโยงไปหาเรื่องสิ่งที่ตรงข้ามซึ่งเราต้องชัด ความพอเพียงที่ต้องชัดอันเนี้ย ที่ว่าเอาเศรษฐกิจเป็นปัจจัย มีอะไรที่เราจะต้องไปเหนือกว่านี้ ที่เราจะต้องเอา ที่เรายังไม่พอ ชีวิตสังคมมนุษย์นี่ยังไม่พอ อารยธรรมยังไม่พอ เยอะเลย จะมามองแค่วัตถุอย่างเดียว มองแค่เงินทอง ชีวิตมนุษย์อะไรมันไม่ได้อยู่แค่นี้หรอก ที่นี้ เรื่องหนึ่งที่ชัดก็เรื่องฝ่ายตรงข้าม เพราะว่าฝ่ายตรงข้ามเขาจะบอกว่า ยุ ต้องให้มีความโลภมาก ต้องให้มี Greed แล้วก็จึงจะสร้างสรรค์ขยันหมั่นเพียร เศรษฐกิจจึงจะเจริญ เป็นต้น อันนี้คืออิงหลักพระพุทธศาสนาก็ง่าย ๆ อยู่แล้ว ท่านบอกว่าให้คนอยากทำ ไม่ใช่อยากได้ ให้ฉันมีฉันทะอยากทำ ถ้ามีโลภะมันอยากได้ ไอ้คนอยากได้นี่ มันต้องหาทางที่จะได้ โดยไม่ต้องทำก่อน ถ้ามันได้โดยไม่ต้องทำมันดีที่สุด นี้มันเรื่องธรรมดา ที่นี้คนอยากทำนี่มันทำ จะได้หรือไม่ได้ ทำทั้งนั้น คนไทยนี่ขาดมากคือคนอยากทำ มันมีแต่อยากได้ น่ากลัวที่สุด นักเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันก็น่าวิเคราะห์นักเศรษฐศาสตร์เอง เราไปชื่นชมเศรษฐศาสตร์ตะวันตก เราเข้าใจเศรษฐศาสตร์ตะวันตกจริงหรือเปล่า นักเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เฉพาะเข้าใจเศรษฐศาสตร์ตะวันตกจริงหรือเปล่าด้วย เข้าใจสภาพแวดล้อม ภูมิหลังของสังคมตะวันตกที่เป็นแหล่งที่มาของแนวคิดเศรษฐศาสตร์นั้นด้วย คิดว่าน้อยนัก ที่จะเข้าใจ ที่จะรู้ เราไปเรียนตะวันตกกันมา กลับมายังไม่รู้จักสังคมตะวันตกเลย ได้แต่วิชาความรู้เฉพาะที่ตัวเรียน ซึ่งอันนี้ถ้าจะเทียบก็ถือว่าฝรั่งฉลาดกว่าก็ได้ ฝรั่งนี่เวลามาสัมพันธ์กับพวกตะวันออกนี่ เขาจะมีพวกที่ค้นคว้าวิจัย วิเคราะห์สังคมนั้น ๆ ให้รู้ภูมิหลังวัฒนธรรมให้ชัด เวลาคนไทยไปเรียนนี่ ไปทำวิจัยให้เขา เอามาทำเรื่องตัวเองฝรั่งก็ชอบ ฝรั่งชอบเพราะฝรั่งได้ ฝรั่งจะมาวิจัยวิเคราะห์เมืองไทยนี่ต้องลงทุนเยอะ ทีนี้คนไทยไปทำปริญญาให้เขา มาวิเคราะห์วิจัยเรื่องเมืองไทย นี่เขาได้สะดวก ลงทุนน้อยนิดเดียว แล้วเขาได้ ดังนั้นเขายิ่งดีใหญ่ ทีนี้ ทำไงคนไทยเราไปเมืองนอกนี่ เราเรียนเนี่ย จะวิจัยทั้งสองอย่าง หนึ่ง คือเรามีต้องเป้าหมายแน่นอนเลย ต้องเข้าใจสังคมฝรั่งให้ชัดเจน แกเป็นยังไงมา ภูมิหลังแกยังไง เหตุปัจจัยของแกยังไง จึงทำให้แกเจริญหรือเสื่อมแบบนี้ คนไทยจำนวนหนึ่งจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะ เป้าหมาย นโยบายของประเทศชาติในการส่งเสริมการศึกษาหรือให้ทุนการศึกษา อนึ่งก็คือรู้เรา ที่ว่าคนไทยของเรามาวิจัยของเราก็ถูกแล้วส่วนหนึ่ง แต่ว่าอย่าขาดเป็นอันขาด วิจัยเรื่องสังคมตะวันตก ดังนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสังเกต คนไทยเราไปเรียนจบอะไรมาแล้วไม่รู้จักสังคมฝรั่ง ฉะนั้นก็ไปเข้าใจเขาถูก ๆ ผิด ๆ แล้วในเรื่องเศรษฐศาสตร์นี้เป็นต้นด้วย
[00:19:06] บทเรียนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยความโลภ
เรื่องที่ว่า เศรษฐกิจเจริญด้วยการกระตุ้นความโลภเนี่ย มันน่าจะได้บทเรียนแล้ว เราเริ่มยุคพัฒนาประมาณ พ.ศ. 2503 ก็คือยุคจอมพลสฤษดิ์ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ได้เริ่มเข้าสู่ยุคพัฒนา ก็มีพวกหน่วยราชการอะไรต่าง ๆ ที่ชื่อพัฒนาขึ้นมาเยอะแยะเลย คำว่าพัฒนาก็เริ่มเฟื่องฟูขึ้นมา พัฒนาก็มองกันในแง่วัตถุ สร้างถนนหนทาง กระตุ้นคนให้อยากได้ อยากมีทีวี อยากมีรถเครื่อง แล้วก็จะได้ขยันหมั่นเพียรทำการทำงานกันใหญ่ เข้าใจว่าอย่างนั้น อันนี้ก็เข้าใจว่าฝรั่งเป็นอย่างงี้ด้วย ก็เลยมาสอน บอกว่า ถึงกับท่านจอมพลสฤษดิ์เองเนี่ย พูดในที่ประชุมของพระ ส่งสารไปในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมพระสังฆาธิการทั่วประเทศ บอกว่าขอให้พระอย่าได้สอนหลักสันโดษ ว่างั้นนะ เพราะว่าประเทศชาติกำลังต้องการพัฒนา อันนี้คือความหลงผิดของคนชั้นนำ ถ้าจะพูดแรง ๆ แล้วละก็ คือไม่เข้าใจทั้งตัวเองและผู้อื่น หลักธรรมว่าสันโดษก็ไม่เข้าใจ ก็ไปเข้าใจคล้าย ๆ กับชาวบ้าน คือคนผู้นำนี่มีความรู้หลักพุทธศาสนาแค่ชาวบ้านเนี่ย มันไม่พอ ควรจะไปแก้ไขปรับปรุงความคิดของชาวบ้านได้ ถ้าเขาเข้าใจสันโดษยังไม่ถูกก็ไปปรับให้ถูก นี้ สองก็เข้าใจฝรั่งว่า ฝรั่งนี้เจริญด้วยโลภะ ว่างั้นนะ อันนี้คือแสดงความไม่รู้เรื่อง แล้วผลจากการพัฒนาแบบนั้น ตอนนั้น ที่จริงฝรั่งเองเป็นคนที่เริ่ม เพราะว่าองค์การโลกสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ปี 1960-1970 นี่เป็น เขาเรียกว่า Development Decade เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนา เป็นทศวรรษที่ 1 แล้วต่อมาพอ 1970 แล้วเขาก็ประกาศ Development Decade ที่ 2 ต่อมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงตอนหลังนี้ บอกว่าเป็น Unsustainable Development ทั้งหมด ที่ทำมาหลายทศวรรษนั่นแหละ เป็น Unsustainable Development คือการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน แต่กว่าจะสรุปได้นี่กี่ decade
ทีนี้ คนไทย เมืองไทย ก็จะเริ่มการพัฒนา พร้อมกับการประกาศของสหประชาชาติ คือ Development Decade ที่ 1 ก็คือ 1960 ก็คือ พ.ศ. 2503 เราเริ่มต้นพร้อมกับองค์การโลก แล้วเราก็รับผลของการพัฒนาในบัดนี้ ถ้ารับร่วมกับโลกก็คือการพัฒนาที่ไม่ยังยืน แต่ที่รับเฉพาะประเทศไทยก็คือสภาพ ฟุ้ง เฟ้อ เฟะ ฟอน เละเทะ ต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ที่คนอยากได้โดยไม่ต้องทำ ใช่มั้ย ก็ไปสนับสนุน กระตุ้นความโลภก็คืออยากได้ ไม่ได้ทำให้คนอยากทำ เขานึกว่าถ้ากระตุ้นด้วยความอยากได้แล้วคนมันอยากทำ เปล่าหรอก คนมันอยากได้เนี่ย มันต้องเลี่ยงทำ ถ้ามันได้โดยไม่ต้องทำคือดีที่สุด ถ้าทำเพราะมีเงื่อนไข มีกฎ มีข้อบังคับ หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องทำ ใช่มั้ย แล้วก็ทำด้วยฝืนใจทำ ฉะนั้นสภาพของคนไทยก็คือ การหาทางได้โดยทางลัด เพราะว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการทำ แล้วก็ได้ไว ไม่ทันใจ ไปกู้หนี้ยืมสินอะไรต่าง ๆ ระบบผ่อนส่งอะไรต่ออะไรเข้ามากันใหญ่ ตอนนั้น เนี่ยเรากำลังเผยผล แล้วเราก็ไม่ศึกษาตัวเองให้ชัด ว่าเมื่อเราเริ่มยุคพัฒนามาแล้วเนี่ย สภาพประเทศบ้านเมืองเป็นอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
[00:23:13] Modernization Without Development : ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา
จนกระทั่งฝรั่งเขาเขียนหนังสือที่ว่า Modernization Without Development แปลว่า ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา ประเทศไทยนี่ก็มีลักษณะอย่างนั้น ทันสมัย อยากมีตึกรามโก้เก๋ ถนนหนทางดีอย่างฝรั่ง แต่มันใช้ถนนไม่เป็น นี่เขาเรียกไม่พัฒนา เนี่ย คนไทยก็ทันสมัยจริงแต่หาพัฒนาไม่ ก็เป็นขี้ปากเขา ไม่ใช่แค่เป็น Developing Country ประเทศที่กำลังพัฒนานะ หรือว่าด้อยพัฒนา อันนั้นมันยังมีคำว่าพัฒนาอยู่ แต่นี่มันทันสมัยไม่พัฒนาเลยด้วยซ้ำ ถ้าว่ากันตามที่เขาว่า นี่ก็เพราะอันหนึ่ง เราไม่รู้เรื่องฝรั่งที่แท้จริง ว่าฝรั่งเจริญขึ้นมาด้วยอะไร ความจริงแนวคิดที่จะมาทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจเนี่ย ฝ่ายนักสังคมวิทยาเป็นผู้วิเคราะห์มากกว่าด้วย ฝ่ายนักเศรษฐศาสตร์เองเนี่ย ไม่ค่อยได้เรื่องหรอกถ้าว่ากันไปแล้ว นักสังคมวิทยาเป็นผู้มาวิเคราะห์กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างที่เราฟังใน Max Weber อะไรนี้เนี่ย บอกว่า ฝรั่งเจริญด้วยอุตสาหกรรม มาเป็น Work Ethic ไอ้ความคิด Work Ethic ไม่ได้มาจากนักเศรษฐศาสตร์นะ นักเศรษฐศาสตร์บางคนก็อาจจะบอกว่า ต้องมี Greed อย่างนายเคน นี้เป็นต้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนไทย นักเศรษฐศาสตร์เอง แล้วก็พวกนักพัฒนาแบบตะวันตกเนี่ย ต้องตีตราไว้ก่อนว่าไม่รู้จักฝรั่ง ไม่รู้จักความเป็นมาว่าอะไร เป็นเหตุปัจจัยของความเจริญของเขา ไม่รู้จักภูมิหลังของสังคมตะวันตก แล้วตัวเองก็ไปเอาภาพผิด ๆ มา แล้วเพียงแต่ให้คนมีความโลภ แล้วก็จะได้พัฒนา นี่ก็คือความพินาศ ฝรั่งที่จะสร้างสรรค์ประเทศชาติ มีนิสัยกระตือรือร้น ขยันหมั่นเพียร มี Work Ethic มันมีภูมิหลังมาเท่าไหร่ ภูมิหลังจากประวัติศาสตร์ จาก Persecution จาก Religious War มาจากการรบราฆ่าฟัน จากการที่ต้องตื่นตัวหนีภัย กระตือรือร้น จากการหนีไปประเทศอเมริกา จากการที่ต้องขึ้นฝั่ง บุกป่าฝ่าดง ต้องเดินหน้าไปทางตะวันตก เขาเรียกว่า go west ไปตะวันตก นั่นคือความหวังที่ว่าเจริญรุ่งเรื่อง และก็มีแนวคิด frontier ว่าไปได้เท่าไหนนั่นคือ frontier ความเจริญ ความหวัง ความสำเร็จของเรา ก็อยู่ที่การบุกป่า frontier นี่ออกไป ฝรั่งฝ่า frontier นี่สามร้อยปี นี่หมายถึงอเมริกา 300 ปีจึงจะสำเร็จ เขาเรียกว่า The Closing of the Frontier ยุค 300 ปีที่ฝรั่งต้องฝ่าฟันธรรมชาติที่รุนแรง ความขาดแคลนต่าง ๆ การต่อสู้กับพวกอินเดียนแดง ต่อสู้กับพวกอาณานิคมด้วยกันระหว่างพวกสายอังกฤษและก็สายฝรั่งเศส สายสเปน ฯลฯ มันทำให้จิตใจของเขาเป็นจิตใจที่เข้มแข็ง เป็นนักสู้ กระตือรือร้น อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ระแวดระวังภัย ไอ้พวกนี้ต่างหากที่มันเป็นเรื่องตัวสำคัญ ในลักษณะนิสัยคุณสมบัติของคน ที่มันจะมาให้ทำการสร้างสรรค์ ถ้ามีแต่ Greed ความโลภหละ มันไม่มีทางแหละ มันอยากได้ ไม่อยากทำอย่างที่ว่า ฉะนั้นเรื่องนี้มันน่าจะมีความชัดเจนพอสมควร แล้วเราต้องตีได้ว่าความโลภมันเสียหายอย่างไร
[00:27:17] ปัญหาและการปฏิบัติต่อความโลภ
คนไทยนั้น ไม่ต้องกลัวหรอก มีความโลภพออยู่แล้ว เกินพอ เราไม่ใช่มีปัญหากับว่าคนไทยไม่มีความโลภ เวลานี้เรามีปัญหากับเราไม่รู้จักปฏิบัติต่อความโลภ แล้วก็เราก็มีปัญหากับความโลภด้วยนั่นแหละ อย่างชาวบ้านที่มาขอหวยพระ ไปขูดต้นไม้นั่นเพราะโลภใช่มั้ย แล้วก็ที่ได้กันแล้วไม่เป็นการสร้างสรรค์ โกงกินบ้านเมืองก็เป็นเรื่องโลภ คนไทยโลภพอแล้ว ทำไงจะเอา หนึ่ง ก็คือว่า ทำไงจะเอาความโลภนี่มาใช้ให้เป็น ปฏิบัติต่อความโลภให้ถูกต้อง เพื่อให้มันเกิดการกระทำขึ้นมา คือว่า ทำไงจะให้ ความอยากได้เนี่ย มาเป็นปัจจัยในการอยากทำ เพราะมันอยากได้หรือไม่อยากทำ เวลานี้คนไทยมันอยากได้ไม่อยากทำนี่เยอะ ทำไงจะให้อยากได้ มาเป็นปัจจัยในการอยากทำ ไม่ใช่เป็นเพียงนักบริโภค แต่จะให้เป็นนักผลิตด้วย นี่ก็หนึ่ง สอง ก็คือเอาอะไรมาแทนความโลภ ขั้นที่สอง ที่มันดีกว่า ที่ทำให้อยากทำได้ อย่างที่ฝรั่งมีนักวิทยาศาสตร์ นักค้นคว้าทดลอง ไอ้ที่พวกนี้มันไม่ได้อยากได้อะไรมากหรอก มันบางที ก็ไม่ใช่แม้แต่อยากได้ชื่อเสียง เราอาจจะมีอยากได้วัตถุเสพบำรุงบำเรอนี่ระดับหนึ่ง แล้วก็อยากได้ชื่อเสียงก็ระดับหนึ่ง และพวกอยากได้บริสุทธิ์ อยากได้ความรู้ อย่างนายไอน์สไตน์เนี่ยไปศึกษาแกสิ แกถือว่าไอ้ตัวที่จะทำให้วิทยาศาสตร์เจริญ มันอยู่ที่ความอยากรู้ความจริงของธรรมชาติ ยิ่งมีเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความเพียรพยายาม ที่จะทำการทดลอง ทำการคิดค้นแสวงหา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ความโลภเลย ทางพระท่านเรียกว่าฉันทะ อยากรู้ความจริงของธรรมชาติ อยากทำการเพื่อให้รู้ให้เข้าใจ ทำสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้น อันนี้สิที่เราต้องการ
ถ้าเรา ได้อันนี้มาก็หมายความพัฒนาคนขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง แต่นี่สำหรับมนุษย์ทั่วไปเนี่ย เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า มนุษย์ส่วนใหญ่เนี่ย ยังพัฒนาได้น้อย ก็อยู่กับความโลภ แต่ความโลภเนี่ย เราไม่ต้องไปส่งเสริม แต่ว่าความโลภเนี่ย คือ หนึ่ง เราไปเรียนให้ถูกทาง สอง ทำไง วิธีการของฝรั่งก็คือ ใช้เงื่อนไขที่เข้มงวด คนที่จะโลภ จะให้มันทำนี่ ต้องสร้างขึ้นเงื่อนไขให้ และสร้างกฎกติกามาบังคับ ว่าแกอยากได้รึ แกต้องทำ ใช่มะ ถ้าแกไม่ทำ แกไม่ได้ นั้นระบบโลภะนี่ จะให้มาสร้างสรรค์เศรษฐกิจให้มีการผลิตเนี่ย มันต้องมีกฎเกณฑ์ กติกามาเป็นเงื่อนไข แล้วถ้าเป็นประเทศไทยนี่ การใช้กฎกติกาไม่มีประสิทธิภาพนี่ เหลวอีก ฉะนั้นประเทศฝรั่งใช้โลภะสำเร็จเพราะเขามีกฎกติกาที่เข้มงวด แล้วก็ได้ผล ฉะนั้น โลภะนี่จะมาใช้ให้เกิดการผลิต ต้องมีกฎ กติกา และระบบการควบคุมที่ดี ที่ได้ผลจริง นี่ไทยเราไม่ได้สักอย่าง แล้วจะเอาโลภมาใช้ ฉะนั้น ถ้าจะเอาโลภะมาใช้เนี่ย ต้องชัดตรงนี้ คือต้องมีระบบปฏิบัติการ ว่าทำอย่างไงจะให้ความโลภเนี่ยมาสู่การกระทำโดยเงื่อนไข เช่น กฎ กติกา และต้องมีกฎ กติกา ที่ชัดเจนแน่นอน มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ ฝรั่งก็มาด้วยอันนี้ ฝรั่งก็มาสู่ จากพื้นภูมิหลังของเขาก็มาในแนวของลัทธิ อันนี้อเมริกันนี่เป็นพิเศษ ก็ Individualism ปัจเจกนิยม คือการที่เอาตัวใครตัวมัน ลัทธิตัวใครตัวมัน ก็มาเป็นลัทธิตัวใครตัวมันทางเศรษฐกิจ ที่ถือว่า เมื่อแต่ละคนเอาให้แก่ตน แสวงหาให้แก่ตนแล้ว ให้ได้มาก ๆ เมื่อมองภาพรวมก็คือ สังคมก็เจริญก้าวหน้า อันนี้เป็นแนวคิดของเศรษฐศาสตร์แบบปัจเจกชนนิยมของอเมริกัน ฉะนั้น ลัทธิตัวใครตัวมันก็ต้องส่งเสริมการแข่งขัน competition ทีนี้ลัทธิ competition การแข่งขันกัน มันก็ต้องมีกฎกติกา เพราะว่า ไม่งั้นไอ้คนแข็งแรงมันก็เอาเปรียบ มีการผูกขาดเป็นต้น แม้กฎกติกาก็ต้องเข้มงวด และได้ผลจริง ๆ มันต้องมาด้วยกันหมด ทั้งกระบวนการ นี่ของเรานี่จะเอาระบบแข่งขันมา กฎเกณฑ์ก็ไม่ได้เรื่อง มันก็ไปไม่รอด คือมันไม่ได้เห็น ฝรั่งเนี่ยมันเขาไม่ต้องได้เห็น เขาไม่ต้องรู้ เพราะเขาเป็นสังคมที่เป็นมาอย่างงั้นเอง วัฒนธรรมมันเกิดจากความเป็นอยู่ที่คลี่คลายขยายตัวมา จากสภาพแวดล้อมเหตุปัจจัยที่ ให้เป็นไป โดยแม้ตัวเองไม่ต้องตระหนักรู้ เราไม่จำเป็นต้องยอมรับว่าฝรั่งนี่รู้จักตัวเอง ไม่จำเป็นต้องยอมรับว่าฝรั่งเข้าใจสังคมของตัวเองด้วยซ้ำ เรามีโอกาสที่จะเข้าใจสังคมฝรั่งหลายแง่ ดีกว่าฝรั่งเข้าใจตัวเอง เช่นเดียวกันที่ฝรั่งมองและเข้าใจเราดีกว่าเรา เพราะว่าเมื่อเป็นคนนอกมามองเนี่ย มันมีโอกาสที่จะเห็นอะไรที่แปลกกว่าตัวเองชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้น ปมเรื่องนี้มีหลายอย่าง การที่จะให้เศรษฐกิจพอเพียงก้าวหน้านี่ นอกจากเข้าใจความหมายและชัดเจนในเรื่องพอเพียงแล้ว สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ตรงข้ามก็คือ เศรษฐกิจแนวความโลภเนี่ยเราก็ต้องชัด และเห็นโทษของมันชัดเจน แล้วก็ต้องพูดกันให้ชัดด้วย อาจจะต้อง อย่างที่เมื่อกี้ดูเหมือนท่านอาจารย์เอกวิทย์ก็พูดเรื่องเนี้ย ต้องชี้โทษให้ชัดเท่านี้แหละ ถ้าหากว่าเราจะให้เขาเข้าใจเรื่องนี้ชัดเนี่ย เราต้องชี้สิ่งที่ไม่ใช่ให้ชัดด้วย และเห็นว่าโทษของมันเป็นอย่างไร ถ้างั้นเรื่อง ปัญหาเรื่องความโลภนี้ เป็นเรื่องที่เวลานี้ก็ยังพร่ามัวอยู่ เราจะต้องชัดเจนและชี้ให้เขาเห็นชัดด้วยว่า เช่นบอกฝรั่ง ไม่ได้เจริญมาด้วยเศรษฐกิจ แม้แต่ด้านเศรษฐกิจก็ไม่ได้เจริญมาด้วยความโลภ แล้วก็ให้เห็นว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้สังคมฝรั่งเจริญอย่างงี้ แล้ววิธีจัดการของฝรั่งต่อความโลภที่ยังใช้อยู่ คือระบบเงื่อนไข การตั้งกติกาที่ว่าคุณต้องทำอันนี้ คุณจึงจะได้ แล้วต้องให้มีประสิทธิภาพในการใช้กฎ อย่างนั้นเป็นต้น
[00:34:39] มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่พัฒนา เรียนรู้ ศึกษาได้
ทีนี้ หลายคนก็จะบอกว่า ถ้าไม่ใช้ความโลภแล้ว ฝืนธรรมชาติ ความโลภนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์มันธรรมชาติมันไม่ใช่แค่โลภเท่านั้นหละ ธรรมชาติมนุษย์มันมีทั้งส่วนดี ส่วนเสีย มีเมตตา กรุณา มีความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ถ้าไม่งั้นเราไม่ถือว่ามนุษย์นี้มีธรรมชาติที่ดีกว่าสัตว์อื่น ใช่มั้ย สัตว์อื่นมันก็มีความโลภเหมือนกัน ธรรมชาติของมนุษย์เราต้องศึกษาด้วย ว่าธรรมชาติมนุษย์มันมีอะไรบ้าง แม้แต่ในแง่คุณสมบัติ มีโลภก็ถูก มีโทสะ มีโมหะ แต่มนุษย์จะอยู่ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ จะอยู่ด้วยการเกลียดชัง ด้วยการต่อยกันตลอดเวลาหรือ ใช่มั้ย ธรรมชาติมนุษย์มีอยู่ แต่ว่าธรรมชาติส่วนดีก็มี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตากรุณา มีความรัก มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มันก็เป็นธรรมชาติเหมือนกัน แต่ที่สำคัญก็คือ ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่พัฒนาได้ เรียนรู้ได้ ศึกษาได้ อันนี้สิที่สำคัญที่สุด สัตว์อื่นนี่มันศึกษาไม่ได้ เรียนรู้จำกัด พัฒนาแทบไม่ได้เลย ฝึกไม่ได้ ทางพระก็คือใช้คำว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ แล้วต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วไม่ประเสริฐ และจุดนี้คงจะต้องย้ำ เพราะว่าเราจะต้องโยงมาหาการศึกษาให้ได้ คือพัฒนามนุษย์ที่จะสร้างคนที่จะมาเป็นฐาน หรือเป็นแกนให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ที่จะเรียกว่าพอเพียง หรือจะเรียกอะไรก็ตาม นี้จะพัฒนามนุษย์ให้มันถูกต้อง เราก็เข้าใจธรรมชาติมนุษย์ว่า ไอ้ธรรมชาติมนุษย์เนี่ยมันไม่ได้อยู่แค่โลภหรืออะไร หรือแม้แต่ว่ามีความดีงาม แต่มันอยู่ที่เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ ฉะนั้นก็ คติพุทธศาสนาก็คือมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก เพราะว่าสัตว์ชนิดอื่นนั้น มันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ พอมันเกิดมานี่เรียนรู้นิดเดียวก็อยู่ได้แล้ว วันเดียวบางทีก็มีชีวิตรอด แต่มนุษย์นี่ถ้าไม่มีการฝึก ไม่มีการเรียนรู้นี่ อยู่ไม่ได้เลย อยู่ไม่รอด ตายอย่างเดียว แล้วก็ใช้เวลาในการเรียน เรียนนานมาก ในการฝึกนี่ตั้งเป็นสิบปี กว่าจะสามารถดูแลเลี้ยงตัวเองได้ ฉะนั้น จุดนี้เป็นจุดที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ พอเราพัฒนามนุษย์ได้เนี่ย เราสามารถให้มนุษย์เนี่ย หนึ่ง นำความโลภนี่มาใช้ โดยมีการจัดตั้งวางระบบ ในสังคม เพื่อควบคุมความโลภ และหันเหเบนให้ความโลภนี้ออกผลในทางที่ดี เช่นมีกติกาในการที่ทำให้เขาต้องทำการผลิตเพื่อจะได้เป็นต้น มนุษย์ทั่วไปจำพวกมากเนี่ยจะอยู่ในระดับนี้มาก แต่ว่าเราไม่ได้ยอมให้เขาหยุดแค่นั้น สิ่งที่ดีที่จะทำให้มนุษย์ทำ โดยไม่ต้องมีคนอื่นมาคอยควบคุม ก็คือการสร้างคุณสมบัติภายใน คือความอยากทำที่ท่านเรียกว่าฉันทะ อยากแสวงหาความรู้ อยากทำสิ่งทั้งหลายให้ดีงาม ซึ่งมันก็มีทุนอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ถ้าเราให้การฝึก มีการพัฒนาที่ถูกต้อง มนุษย์ก็จะก้าวไปในการที่ว่า ตอนเนี้ยทำแล้วก็มีความสุข โดยที่จะได้ไม่ได้ แล้วมนุษย์ก็มาวางระเบียบในสังคมเอา เพราะว่า [00:38:09] เรามีเศรษฐกิจที่เรามีเป้าหมาย มีแนวทาง มีขอบเขตชัดเจนแล้ว ว่าแต่ละคนมีอยู่ทางวัตถุเท่านี้ เท่านี้ เรียกว่าเพียงพอ ทีนี้ เราก็ทำเพื่อความดีงามสร้างสรรค์อย่างอื่นต่อไป ไอ้ตรงจุดเนี้ยที่ว่า ที่เราไม่พอ ท่านเรียกว่าไม่พอ ไม่สันโดษในกุศลธรรมเนี่ย พระพุทธเจ้าไม่เคยให้หยุดเลย พระพุทธเจ้าตรัสว่า ที่เราได้ตรัสรู้ ที่เรียกว่าบรรลุโพธิญาณเนี่ย ได้เห็นคุณค่าของคุณสมบัติสองประการ หนึ่ง ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะไม่สันโดษนะ แต่ว่าไม่สันโดษในกุศลธรรมนะ จะไปบอกไม่สันโดษในวัตถุละก็จบเลย พระพุทธเจ้าบอกพระองค์ตรัสรู้เพราะไม่สันโดษในกุศลธรรม และเพียรพยายามไม่ระย่อ หมายความ เมื่อเห็นอะไรเป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง พระองค์อยากจะทำแล้ว ทำไม่มีระย่อเลย และถ้าเรื่องความเพียร ก็ในหลวงพอดี ตอนนี้ทรงเน้นเรื่องวิริยะบารมีซะด้วย
[00:39:19] มีฉันทะ เพียรพยายามไม่ระย่อ ต่อด้วยพรหมวิหารครบ ๔
เนี่ยอาตมภาพพูดบ่อย ๆ ว่า สังคมไทยเราเนี่ย เราพยายามก้าวเข้าถึงพุทธศาสนา และนำพุทธศาสนามาใช้ มาสู่ระดับวัฒนธรรม เราก็ค่อย ๆ ดึงเอาหลักธรรมมาใช้ ในวัฒนธรรมไทยเราจึงมายึดหลักทานบารมี เอาบารมีพระพุทธเจ้ามาได้ข้อหนึ่ง แล้วก็มาเค้นเรื่องเวชสันดรชาดก มาเทศน์มหาชาติกัน จนกระทั่งว่า เราก็ได้ผล คนไทยนี่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พร้อมที่จะให้ อันนี้เราพูดได้เต็มปาก ว่าคนไทยมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พร้อมที่จะให้ แต่ว่าเราจะหยุดอยู่แค่นี้หรือ บารมีตั้ง 10 ทำไมเราไม่ก้าวต่อ แล้วก็เลยมองว่าการที่ในหลวงทรงนำเรื่องมหาชนกมา อาตมาจะเดาถูกหรือไม่ก็แล้วแต่นะ เดาเอาเอง เป็นความรับผิดชอบของตัวเอง ก็คือ อาจจะทรงเห็นว่า คนไทยเรานี่อยู่กับทานบารมีพอแล้ว น่าจะก้าวไปสู่บารมีอื่นบ้าง นี้บารมีที่เหมาะกับยุคสมัยนี้ คือ หนึ่ง นอกจากก้าวไปสู่บารมีอื่นให้มันก้าวหน้า สอง ก็คือว่า ยุคสมัยเนี้ย คนไทยจะต้องใช้ความเพียรพยายามมาก ฉะนั้นก็เน้นวิริยะบารมี เอามหาชนกขึ้นมา ฉะนั้นก็อาจจะได้องค์ประกอบในวัฒนธรรมไทยเพิ่มขึ้น จะเรียกเป็นความก้าวหน้าก็ได้ ถ้าเราทำให้ดีแล้วเนี่ย คนไทยต้องมีความเพียรพยายาม เพราะว่า คนไทยนี่มันมีจุดอ่อนอย่างหนึ่ง ก็คือการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาก ซึ่งเป็นข้อดี มีพรหมวิหาร มีเมตตา กรุณา แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า เราเอาพรหมวิหาร มาใช้ไม่ครบ 4 เราเอา เมตตา กรุณามา มุทิตาเราก็ไม่ค่อยเอา ใช่มั้ย มุทิตาก็คือว่า คนที่ทำความดี ประสบความสำเร็จ ก้าวหน้า ต้องคอยยินดี ส่งเสริม สนับสนุน มุทิตานี่ไม่ค่อยเอา แล้วยิ่งอุเบกขานี่ ไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้จักแล้วจะไปใช้เป็นได้อย่างไร นี้อุเบกขาน่ะมันเป็นตัวดุลย์ ไม่ให้คนไทยนี่ช่วยเหลือกันเกินไป ช่วยเหลือไม่สมเหตุผล ช่วยเหลือล่วงละเมิดธรรม ช่วยเหลือผิดหลักการ กติกา ใช้ไม่ได้ อันนี้ต้องหยุดด้วยอุเบกขา อุเบกขาก็คือตัวรักษาดุลย์ ว่าการช่วยเหลือกันในหมู่มนุษย์นี่ จะต้องอยู่ในขอบเขตของธรรม ต้องอยู่ในขอบเขตของความจริง ความถูกต้องดีงาม กฎเกณฑ์กติกา กฎหมาย พอเอาอุเบกขามาคุมปั๊บ ไอ้การดีงามนี่กลายเป็นขอบเขตทันที ระบบอุปถัมภ์ก็เข้ามาไม่ได้ แล้วอุเบกขานี่ก็ทำให้ทุกคนนี่ จะต้องเพียรพยายามพึ่งตัวเองให้ได้ ต้องพัฒนาตัวเอง ก็ต้องมีความเพียร แล้วหลักพุทธศาสนานี่ ก็กรรมวาที วิริยะวาที พระพุทธเจ้าท่านตรัสย้ำไว้แล้ว บอกเราเป็น กรรมวาที เราเป็นวิริยะวาที เราเป็นผู้ถือหลักการแห่งการกระทำ เราเป็นผู้ถือหลักการแห่งความเพียร ฉะนั้น อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับยุคสมัยอย่างหนึ่งที่เราจะต้องมาเน้นความเพียร ความเพียรในการสร้างสรรค์ ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยการที่มีฉันทะ คืออยากทำ คนไทยจะต้องพัฒนาตัวนี้ ไม่ใช่พัฒนาความอยากได้ อยากได้มีพอแล้ว แต่อยากทำมันยังไม่มี ฉะนั้น ก็จะมีความสุข ไม่ใช่เพียงจากการได้ ผู้ที่มีความสุขจากการได้ การเสพ การบริโภค ก็ต้องอ่อนแอลง ทำไม่เป็น ต้องพึ่งพาคนอื่น นี้พออยากทำมันก็จะเกิดการพัฒนา มีความสุขจากการกระทำ คนอยากในเรื่องใด ได้ทำตามนั้น ได้สนองความต้องการนั้น ก็มีความสุข ฉะนั้นเมื่อเขาอยากได้ เขาได้ เขาก็มีความสุขจากการได้ ทีนี้ คนเมื่อมีแต่ความอยากได้ แกก็หาความสุขจากการได้ นี้พอคนอยากทำ แกจะมีความสุขเมื่อแกได้ทำ ก็แกก็หาความสุขจากการทำก็เป็นนักผลิต นักสร้างสรรค์ไป ทีนี้ที่เราต้องการขณะนี้ก็คือ ทำยังไงจะให้เด็กไทยเนี่ย มีไอ้ตัวความอยากทำ อยากสร้างสรรค์ อยากทำอะไรต่ออะไรให้มันดี ไม่ใช่อยากได้ ไม่ใช่อยากเสพ บำรุงบำเรออย่างเดียว ก็อยากสร้างสรรค์ อยากทำ ก็จะเกิดการผลิตในทางเศรษฐกิจ เหนือเศรษฐกิจก็จะเกิดการสร้างสรรค์ขึ้นมา
[00:43:54] สุขจากฉันทะ สุขจากการได้รู้ได้ทำ
ทีนี้ [00:43:55] คนเราถ้ามีความสุขที่พัฒนาด้วย ไม่ได้อยู่แค่ความสุขระดับแรก แค่เสพ บำรุง บำเรอ แล้วก็หมกมุ่น มัวเมา สังคมก็เละเทะ อบายมุข ถ้าคนไทยมีความสุขจากการทำ มันก็ การทำเรียกร้องการรู้ คนเราจะทำอะไรได้ต้องรู้ หรือไม่รู้มันทำไม่ได้ ฉะนั้น จากการอยากทำ ก็จะทำให้เกิดการอยากรู้ แล้วก็อยากรู้อยากทำก็คู่กัน ในธรรมเรียกว่าฉันทะเกิดขึ้น พอฉันทะเกิดขึ้น ก็สุขจากฉันทะ สุขจากการได้รู้ได้ทำ ดังนั้นก็จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ หาความรู้ อย่างไอน์สไตน์ มีความสุขจากการแสวงหาความจริงของธรรมชาติ อย่างนี้เป็นต้น แล้วความเจริญทั้งหลายที่จะต้องชี้กันให้เต็มที่ แล้วก็ที่บอกว่าอาจจะต้องตีกันแรง ๆ เนี่ย เพราะเวลานี้ดูแล้วนักเศรษฐศาสตร์เนี่ย ที่อาตมภาพสังเกตเท็จจริงนั้น หนึ่ง ไม่รู้ว่าสังคมตะวันตกนี่เจริญมาอย่างไร ไม่รู้ภูมิหลัง บางท่านเขียนมาบอกว่า ผมก็เข้าใจว่า เห็นฝรั่งมันก็เจริญ มันก็เหมือนคนไทยนี่แหละ อยากได้โน่นได้นี่ มันก็สร้างขึ้นมา อะไรทำนองเนี้ย ไม่รู้ว่าภูมิหลังสังคมเขาเป็นยังไง และก็อย่างที่ว่าเนี่ย ไม่เข้าใจเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ พูดเอาง่าย ๆ ก็ว่า ความโลภเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไปสอนให้เขาไม่โลภก็ฝืนธรรมชาติสิ อะไรเงี้ยนะ ไม่รู้ว่ามนุษย์มันพัฒนาได้ มนุษย์มีคุณภาพ มีคุณสมบัติอะไรอย่างอื่น แล้วมนุษย์ที่เขาเจริญอย่างพวกนักวิทยาศาสตร์เนี่ย เขาไม่ได้มัวมาติดอยู่กับความโลภหรอก ถ้านักวิทยาศาสตร์ ค้นคว้าวิทยาศาสตร์เพื่ออยากได้วัตถุ ได้เงินทองตอบแทนเนี่ย ไม่ไปไหนอะ เจริญพร มันจะโกงด้วย จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โกง หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่รับใช้อุตสาหกรรม รับใช้นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ที่สร้างความเจริญที่แท้เนี่ย เขาต้องการสนองความใฝ่รู้อย่างเดียวเลย อยากจะรู้ความจริง อันนี้เป็นตัวนำ แล้วส่วนความอยากอื่นนี่เป็นเครื่องประกอบเท่านั้น เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่คนไทยนี่ จะพูดไปในแง่หนึ่งก็มีการศึกษาที่ไม่ใช่การศึกษา การศึกษาที่แท้ ไม่มี คือไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักวิเคราะห์ ความจริงของสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง แม้จะไปเรียนตะวันตกมา ก็ไม่ได้ศึกษาตะวันตกให้มันเข้าใจชัดเจน แล้วแม้แต่ความสุขก็ยังไม่รู้เรื่อง ว่าความสุขของคนก็พัฒนาได้ อันนี้ วันนี้อาตมาก็ขอพูดไว้แค่นี้ก่อน ก็รู้สึกว่าจะพูดแรงมากไปหน่อย
[00:46:50] สนทนา ตอบข้อซักถาม
ชัดเจนพระอาจารย์ มีบางประเด็นที่่พระอาจารย์ได้ให้ความรู้ ให้ความเข้าใจที่ดีเลิศ แต่ผมเกรงว่ายังจะมีคนโต้แย้งบ้าง และมีใครไปเข้าใจไม่ชัดเจน อย่างเช่นท่านบอกว่า สังคมที่ดีน่าจะเข้าใจความโลภ และควบคุมความโลภได้ สร้างกฎกติกา แต่พอมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยก็มีว่า กติกาสร้างบ้าง รัฐธรรมนูญใหม่ก็สร้างแรง กติกาสร้างได้แก่คนเก่งของเมืองไทยคืออภิสิทธิ์ชนที่ไม่ต้องเคารพกติกา ใหญ่จริงก็ทำได้ แม้ว่ามีกติกาคุมอยู่แล้วก็ดี มีความสามารถพิเศษที่จะทำได้ อันนี้จะต้องตามกันไป...ฯ
ตอบ ก็คือว่า ที่เป็นข้อต่างชัดเจนระหว่างสังคมไทยกับสังคมฝรั่ง ก็คือ ฝรั่งมันอยู่ได้ด้วยกฎกติกา เพียงเขาภูมิใจว่า สังคมเขาเป็นสังคม The Rule of Law ใช่มั้ย ฝรั่งภูมิใจอันนี้มาก แต่สังคมไทยเนี่ยมันมีกฎแล้วมันอยู่ด้วยกฎไม่ได้ มันเอากฎมาบังคับใช้ไม่ได้ มีความเลือกปฏิบัติ มีการที่ปฏิบัติไม่ได้ตามกฎ กฎไม่เป็นผล ไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ ใครไม่ต้องทำตามกฎกลายเป็นคนเก่งอะไรเงี้ย เพียงแค่นี้คือตัวความบกพร่อง ถ้าจะใช้ความโลภนะ ก็คุณก็ต้องทำข้อนี้ให้ได้เท่านั้น ถ้าจะใช้ความโลภคุณต้องมีกฎ กติกา ที่ได้ผลจริง ต้องเข้มงวด อันนี้มันต้องมาด้วยกัน แต่ว่า ไม่ใช่แค่นั้น หนึ่ง ก็คือว่า เมื่อโลภต้องใช้กฎให้ได้ผล แต่ว่า สอง ต้องก้าวต่อไปก็คือ มีอะไรดีกว่าที่มันแทนความโลภ ให้คนทำโดยไม่ต้องโลภ แล้วก็พัฒนาต่อไป
ครับ ก็เป็นความชัดเจน อีกประเด็นหนึ่งที่ผมใคร่กราบเรียนถามสั้น ๆ ก็คือว่า มีคนเข้าใจผิดกันและอ้างอิงกันมากว่า เมืองไทยน่ะมันวิบัติตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมาฯ เรารับทุนนิยม แล้วเราเสเพลฯ สมัยจอมพล ป. ก็ดี หรือแม้สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฯ ที่เราเดินตามฝรั่งต้อย ๆ ก็คงจะเสียเมือง ก็เลยต้องตามเขาไปหมด โดยที่ไม่เป็นตัวของตัวเองมากกว่านี้ มันก็มีประเด็นอยู่ฯ เรียกว่าจำเลยเอกจอมพลสฤษดิ์ เอาจริง ๆ เรามีพัฒนาการเร่งเครื่องตอนนั้น แต่เราทำผิดมาก่อนนั้นเยอะ
อันนี้อาตมภาพพูดไปเพียงจุดสังเกตที่เห็นเด่นชัด เพราะว่าตอนนั้นน่ะเน้นโลภ แล้วก็ห้ามสอนสันโดษ ใช่มั้ยเจริญพร แต่อันที่จริง คนไทยมันโลภมานานแล้ว อยากได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องทำ แล้วที่สำคัญก็คือสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล ที่สุขสบาย ทำให้เฉื่อยชาได้ง่าย ทีนี้หลักของมนุษย์ปุถุชนเนี่ยก็มีอยู่แล้วว่า มนุษย์เมื่อถูกทุกข์บีบค้น ภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย เมื่อสุขสบายก็จะลวง หลงระเริง เพลิดเพลิน มัวเมา นอนเสวยสุข อันนี้มันเป็นหลักทั่ว ๆ ไปอยู่ ฉะนั้นคนไทยเนี่ย ปัจจัยเกื้อหนุนอันหนึ่งก็คือสภาพแวดล้อม ที่มันอยู่สุขสบาย อย่างโยมอาตมานี่เล่าเอง บอกว่าสมัยก่อนนี่ เวลากลางวันก็หาบข้าวหาบของไปขาย หรืออะไร พอบ่ายหน่อยเสร็จแล้วก็มานั่งคุยกันที่ลานบ้าน บ้านของชาวไทยนี่ก็สร้างอยู่บนริมแม่น้ำ ใช่มั้ย ริมแม่น้ำแล้วก็มีท่าน้ำลงไปนะ ก็มานั่งคุยกัน คุยกันพออยากกินอาหาร อ้าว ไปช่วยจับปลามาหน่อย คนหนึ่งก็ลงไปที่ท่าน้ำ จับได้เลย แล้วก็เอาไปส่งให้แม่ครัวก็ต้มกันเดี๋ยวนั้น แล้วก็ได้กิน คือ มันง่ายเหลือเกินอะ มันไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย สภาพอย่างเนี้ยมันทำให้คนผัดเพี้ยน อ้อ... เมื่อนั้นก็ได้ เมื่อนี้ก็ได้ ไว้พรุ่งนี้เถอะ เดือนหน้าน่ะฤดูกาล สภาพอากาศ ดินฟ้า และความอุดมสมบูรณ์นี่ ทำให้คนไทยเนี่ย เฉื่อยชาได้ง่าย ไม่กระตือรือร้น ไม่มีแรงบีบให้ดิ้น ฉะนั้นก็เลยผัดเพี้ยนเก่ง เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทจะมาได้ง่ายมาก ฉะนั้นอันนี้ ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็มีอันนี้อันหนึ่งที่จะต้องเน้น คือระวังอย่าให้คนไทยประมาท ว่าในเมื่อเราไม่มีตัวบีบแล้วเนี่ย อย่างฝรั่งเขาระบบแข่งขันมาเป็นตัวบีบ แล้วระบบแข่งขันมากับระบบตัวใครตัวมัน ถ้าแกไม่ดิ้นแกตายเอง ไม่มีใครเอาแก ไอ้ตัวที่มันหวังพึ่งใครไม่ได้เนี่ย มันต้องดิ้นเพื่อจะให้อยู่ได้ ให้รอด ฉะนั้น มันก็เฉื่อยชาไม่ได้ แต่ของไทยนี่ สภาพแวดล้อมก็สบาย ความอุดมสมบูรณ์ก็มี แล้วยังมีการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันโดยวัฒนธรรมอีก ฉะนั้น วัฒนธรรมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เนี่ย เราที่ว่าดีเนี่ยเราต้องมองจุดอ่อนไว้ด้วย จุดอ่อนก็คือ ถ้าเราไม่พัฒนาคนให้มารับกันเนี่ย คนจะอ่อนแอและมีนิสัยหวังพึ่งพาได้ง่าย และเฉื่อยชา เพราะฉะนั้นต้องเตรียมพร้อมที่จะระวังตรงนี้ เมื่อเราจะให้คนมีคุณธรรมดีงาม ซึ่งประเสริฐมาก มีความรักใคร่ช่วยเหลือเกื้อกูล มีมิตรไมตรีเนี่ย จะต้องมีเครื่องที่จะมากำกับให้คนไม่ประมาทด้วย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงเน้นนักเรื่องความไม่ประมาท คนดี คนมีสุข คนประสบความสำเร็จ จะมาตกหลุมความประมาท ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงเตือนอย่างพระอริยะบุคคล ว่าขอย้ำอีกที พระอริยบุคคลเนี่ยยังไม่สำเร็จพระอรหันต์ มีพระสูตรหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ มีพระอริยะบุคคลที่ได้บรรลุคุณวิเศษด้วยความเพียรพยายาม เพียรพยายามปฏิบัติมาจนได้บรรลุคุณธรรมวิเศษชั้นสูงอย่างนี้ พอได้บรรลุก็เกิดความพอใจขึ้นมา โอ๋ว นี่เราได้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้นนี้แล้ว คนนี่พอลองพอใจปั๊บเนี่ยมันเริ่มเฉื่อยลงทันทีเลย พระพุทธเจ้าก็ทันควันเหมือนกันนะ พระองค์ตรัสบอกนี่เธอประมาทแล้ว ว่างั้นเลยนะ เจริญพร เนี่ย พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไฉนเลยเราจะสรรเสริญความเสื่อมถอยจากกุศลธรรม เจริญพร เราสรรเสริญอย่างเดียวแต่ความก้าวต่อไปในกุศลธรรมทั้งหลาย นี่คือ หลักการพุทธศาสนาที่ให้ ไม่สันโดษในกุศลธรรม และก็ให้มีความเพียร โดยไม่ประมาท ฉะนั้น หลักความไม่ประมาทเนี่ยสำคัญมากสำหรับสังคมไทย เพราะสังคมไทยนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้ประมาท สังคมฝรั่งมีเครื่องช่วยอยู่แล้ว ระบบแข่งขัน ระบบตัวใครตัวมันเนี่ย ประมาทไม่ได้ แต่มันไม่ใช่ประมาท ไม่ใช่ความไม่ประมาทแท้ มันเป็นความไม่ประมาทที่เกิดจากความบีบคั้น ไม่ได้เกิดจากปัญญา หรือเกิดจากสติที่แท้จริง เจริญพร แต่ว่าเป็นอันว่าคนไทย ต้องขออภัยไม่ใช่ว่าจะมาว่าท่านจอมพลสฤษดิ์คนเดียว ที่จริงที่ท่านทำ ส่วนดีก็มี แต่ว่าท่านมาเน้นเรื่องนี้ แล้วก็มาทำให้คนเนี่ยจะเข้าใจผิด เช่น เรื่องสันโดษ แต่ว่าคนไทยเข้าใจผิดอยู่แล้วนะ อาตมาภาพเห็นว่าคนไทยเนี่ยเข้าใจสันโดษผิด เพราะว่าสันโดษก็เช่นเดียวกับคุณธรรมอื่น คือมันมีจุดหมายว่าเพื่ออะไร ถ้าถามคนไทยว่าสันโดษคืออะไร สันโดษเพื่ออะไรเนี่ย คนไทยจะตอบวุ่นหมดเลย สันโดษคืออะไรยังพอได้บ้าง แต่เดี๋ยวนี้หลายคนเขว สันโดษคือปลีกตัวไปอยู่ลำพังนี่ ความหมายเดี๋ยวเนี้ยไปอย่างนี้ก็มี อันนั้นเขาเรียกวิเวก ไม่ใช่สันโดษนะ สันโดษเป็นเรื่องการปฏิบัติ เกี่ยวข้อง ท่าทีต่อวัตถุ ถ้าพอใจในวัตถุที่เป็นของตน เท่าที่ตนมี ที่ได้มาโดยถูกต้อง ที่นี้ สันโดษเพื่ออะไรเนี่ย หลายคนจะตอบว่าเพื่อความสุข สันโดษเป็นความสุขในตัว ความสุขเป็นผลพลอยได้ของสันโดษ แต่สันโดษเป็นการเตรียมตัวเพื่อให้พร้อมที่จะทำหน้าที่ แน่นอนเลยอันนี้ ถ้าพระไม่สันโดษปั๊บ ใจคิดจะหาจีวรสวยที่ไหนใช้ จะหาอาหารอร่อยที่ไหนฉันพรุ่งนี้ จะไปฉันที่ไหนดี จะหาอะไร ใครจะมา คราวนี้ก็ทำให้ดิ้นรนในทางไม่ชอบ เรี่ยไร หาทาง หาลาภอะไรต่าง ๆ แล้วใจไม่อยู่กับงาน หน้าที่ของพระ เล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่ธรรมไม่เอา นี่พอพระสันโดษปั๊บ ก็มีกำลังพอทำงานได้แล้ว เวลา แรงงาน ความคิด ก็มาอยู่ที่หน้าที่ของตัวเอง ระดมเวลา แรงงาน และความคิดอุทิศตัวให้แก่งาน แก่การสร้างสรรค์ทำสิ่งที่ดีงามได้เต็มที่ สันโดษเนี่ยเป็นคุณธรรมสำหรับเตรียมตัวให้พร้อมที่จะไปทำ เพราะทุกคนนั้นมีหน้าที่อยู่แล้ว อันนี้สันโดษคนไทยที่น่าอันตรายก็คือว่า พอไปสันโดษแล้วสบาย แล้วก็มีความสุขด้วยวัตถุที่มีแล้ว ก็เลยฉันสุขแล้วก็นอนเลย ถ้าอย่างนี้ละก็ ไปไม่รอด ก็เลยตอนนี้ขออภัย