แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อ้าวละครับมีอะไรสงสัยไหมครับ
00:02 จะทำอย่างไร เมื่อฉันทะในการทำงานลดลง ?
00:02 อยากจะกราบเรียนถามพระเดชพระคุณนะครับ เรื่องเกี่ยวกับอิทธิบาทสี่น่ะครับ ที่เป็นตัวที่ทำให้สำเร็จลุล่วงในการทำงานต่างๆ ก็คืออิทธิบาทสี่เนี่ยเริ่มต้นที่ฉันทะเลย ในการที่เราจะทำงานใดๆ ก็คือให้เริ่มที่มีความพอใจ คราวนี้เวลาที่ปฏิบัติจริงๆ ไปแล้วเนี่ย คืออย่างเช่นผมเนี่ยก็ยังมีกิเลสหนาอยู่เวลาที่ทำอะไรไปแล้วเนี่ยฉันทะมันก็คอยจะลดลงไปเสมอแล้วก็มันจะมีความเบื่อเข้ามาในการงานนั้นก็ตาม ถึงตอนแรกฉันทะจะมาเต็มเปี่ยมก็ตามแต่พอได้ลงมือทำไปแล้วสักพักหนึ่งก็จะมีเรียกว่าตัณหาหรือความอยากจะให้สำเร็จเร็วๆ หรือว่าผ่านไปสักพักหนึ่งมันก็อาจจะฝ่อลงเบื่อลงอะไรพวกนี้ครับ มีวิธีไหนไหมฮะที่จะช่วยเสริมฉันทะให้คงอยู่ตลอดไปหรือว่าเป็นตัวอะไรที่นำมาก่อน ก่อนที่จะเข้าอิทธิบาทสี่เหมือนเป็นบุพนิมิตแห่งอิทธิบาท ๔
01:01 ต้องหาตัวเสริม แต่ต้องหาตัวเริ่มให้เจอก่อน
01:01 มันก็มีหลายแง่ที่ว่ามันต้องมีตัวมาเสริมกัน ตัวเสริมก็อยู่ในชุดอิทธิบาทนั่นเอง อย่างหนึ่งก็ชุดของมันมีอยู่แล้วนี่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เราเริ่มที่ตัวใดตัวหนึ่งก่อน โดยเฉพาะฉันทะนี่มักจะเป็นตัวเริ่มโดยทั่วๆไป แต่ไม่แน่เสมอไป บางคนเริ่มที่วิริยะ แต่ยังไงก็ตามเมื่อเริ่มที่ตัวไหนก็ตาม แล้วให้มันมาเสริมกันซะ ถ้ามันมาเสริมกันได้ล่ะทีนี้ก็ไปได้ดี ฉันทะมันรักใคร่ พอใจ ชอบ เห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ อยากจะทำ นี่ฉันทะ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมันก็จะไปสัมพันธ์กันเรื่องปัญญา ที่ว่าเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ หรือถ้าไม่ถึงกับมีปัญญาแท้ชัดออกมาก็คือมันตรงกับความพอใจ แต่ตามปกติต้องถือว่ามีปัญญาอยู่บ้าง เห็นว่ามันดี มันงาม มันเป็นประโยชน์ก็เกิดความพอใจอยากจะทำ เออสิ่งนี้นี่มันดีนี่ มันน่าทำ ถ้าทำนะ สำเร็จแล้วมันจะเกิดประโยชน์ อย่างนี้ฉันทะก็เกิด
02:14 เริ่มต้นด้วยวิริยะ เสริมตามด้วยฉันทะ
02:14 ฉันทะก็จะไปสัมพันธ์กับการมองเห็นคุณค่าประโยชน์ เห็นความดีงามอะไรบางอย่าง ทีนี้วิริยะ วิริยะนี่เป็นฝ่ายเรี่ยวแรงกำลัง มาจากคำว่าวีระนั่นเอง วิริยะน่ะ ต้นศัพท์มัน“วีระ” ที่แปลว่าแกล้วกล้า วีรชน วีรบุรุษ อะไรเนี่ย ตัวนี้แหล่ะตัวศัพท์เดิมของเขา วีระ วิริยะ หรือ วีรียะ ภาษาบาลีได้ทั้งสองอย่าง ก็แปลว่าความเป็นผู้แกล้วกล้า แกล้วกล้าก็หมายความว่ามีกำลังแล้ว จะบุก จะเดินหน้า ลักษณะของวิริยะก็คือมุ่งไปข้างหน้า อันนี้ก็ต้องมีกำลัง การที่จะมุ่งไปข้างหน้าก็เกิดกำลังขึ้นมาว่าอันนี้มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำให้สำเร็จ ท้าทายว่างั้นเถอะใช้ภาษาไทย ถ้าใครมองเห็นอะไรแล้วมาท้าทายให้ทำให้สำเร็จอย่างนี้เรียกว่ามีลักษณะของคนมีวิริยะ ลักษณะของคนมีวิริยะจะเป็นอย่างนั้น แล้วก็เรามาดูให้เหมาะกับนิสัยคน นิสัยคนนั้นไม่เหมือนกัน คือคนทั่วไปโดยมากมันก็เป็นธรรมดาที่เริ่มด้วยฉันทะ มีความรัก ความพอใจ ชอบสิ่งนั้น เห็นคุณค่าความดีอะไรสักอย่างหนึ่งก็เกิดฉันทะ แต่บางคนนี่มันไปเด่นที่นิสัย นิสัยวิริยะคือชอบอะไรที่ท้าทาย ไม่งั้นแกก็เรื่อยๆ ฉันทะมันเบาจนกระทั่งไม่มีอะไรเลย ไม่ค่อยได้ผล แต่ว่าถ้ามีอะไรให้เกิดความรู้สึกว่าท้าทาย เอ้าพวกนี้ต้องปลุกใจให้เห็นว่าสิ่งนี้ท้าทาย แล้วจะเกิดกำลังใจจะสู้จะทำให้สำเร็จ นี่เรียกว่าให้ตรงนิสัยกัน ก็ปลุกวิริยะขึ้น คนพวกนี้ ใช้วิริยะเป็นจุดเริ่มได้ เอ้าทีนี้เราต้องดูนิสัยด้วยบางทีเราเป็นคนที่ว่าฉันทะเนี่ยไม่ค่อยแรง ถ้าเป็นคนเจอแบบวิริยะเจอสิ่งท้าทายแล้วเอา อย่างนี้ล่ะก็ไอ้ตัวฉันทะมันจะมาเสริมโดยวิริยะเป็นตัวหลัก แล้วคนแบบนี้บางทีถ้ายังไม่สำเร็จไม่ยอมหยุดเพราะตัววิริยะมันเป็นกำลัง กำลังใจแรงมากมันก็ไม่ค่อยลดถอยจนกว่าจะสำเร็จ ต้องดูท่านเองด้วย ท่านญาณภัทโธใช่มั้ย ว่าเอ๊ะเราจะเหมาะกับวิริยะรึเปล่าต้องดูตัวเองด้วย
04:54 ฉันทะบาง วิริยะเบา ต้องเสริมเร้าด้วยจิตตะ
04:54 ทีนี้สามจิตตะ จิตตะนี่พวกใจฝักใฝ่ ใจจดจ่อ พวกอุทิศตัวอุทิศใจ ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า commitment เป็นพวก commit หรือ dedicate หมายความว่าอุทิศตัวอุทิศใจให้กับเรื่องนั้น อันนี้มันก็มาจากอันอื่นได้ด้วยแต่ว่ามันมีอันหนึ่งสำหรับคนทั่วไปเนี่ย บางคนฉันทะมันก็ไม่ค่อยมี ไม่ค่อยพอใจจะทำอะไร วิริยะกำลังใจที่จะสู้อะไร อยากจะทำให้สำเร็จเห็นอะไรท้าทาย ก็เห็นแล้วมันก็เฉยๆ ไม่ท้าทายอะไร พวกนี้ต้องให้เห็นว่ามันสำคัญต่อชีวิต อาจจะเป็นเรื่องเป็นเรื่องตาย โอ้ถ้าไม่ทำแล้วตาย หรือไม่งั้นก็มีอันตรายภัยข้างหน้า พอเห็นความสำคัญแล้วรู้ตัวไม่ทำไม่ได้ เหมือนกับความจำเป็นมาบังคับ จะเกิดจิตตะขึ้นมาเอาใจจดจ่อ จดจ่อเพราะว่ามันเรื่องใหญ่นี่เรื่องสำคัญต่อชีวิตคือเรื่องสำคัญเรื่องจำเป็น ผมเคยยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่น กู้ระเบิดเนี่ย ไอ้กู้ระเบิดนี่เรื่องเป็นเรื่องตายใช่มั้ย เพราะฉะนั้นแกต้องระวัง เอาใจใส่ ตั้งใจทำอย่างดีเลยใช่มั้ย นี่ๆพวกจิตตะมาแล้ว จิตตะแบบนี้ ใจไม่ไปไหนแล้ว ตั้งใจเต็มที่เลย อันนี้ก็ข้อจิตตะตัวอย่าง แล้วพวกอีกพวก วิมังสา พวกวิมังสานี้คือพวกที่ชอบทดลอง อยากรู้อยากเห็น อยากจะทดลองว่าถ้าอันนี้ถ้าเติมอันนี้ลงไปมันจะเป็นอย่างไรนะ ถ้าเอาอันนี้ออก ถ้าลองอย่างนู้นอย่างนี้มันจะเป็นยังไง พวกนี้นิสัยวิมังสา คนเรานี่มีนิสัยต่างกันเวลาไปสอนนักเรียน นักเรียนก็มีนิสัยต่างกัน ฉะนั้นอิทธิบาทสี่นี่ แม้ท่านจะเรียงไว้อย่างนั้น อันนั้นคือตามปกติ คนทั่วไปก็เริ่มที่ฉันทะ แต่ตามนิสัยคนแล้วไม่แน่ อาจจะเริ่มข้อไหนก็ได้ก็ตามนิสัยคน จะมีลูกมีลูกน้องหรืออะไรก็แล้วหรือลูกศิษย์ก็แล้วแต่ ลูกไหนก็ได้ เราก็อาจจะต้องดูว่าคนไหนมีแบบไหน แล้วก็ให้เหมาะกัน ว่าคนนี้ต้องเอาแบบวิมังสา คนนี้เอาแบบจิตตะ คนนี้เอาแบบฉันทะ คนนี้เอาแบบวิริยะ ทีนี้พอปลุกอันใดขึ้นมาเป็นตัวนำแล้วก็ให้ตัวอื่นตามมาช่วยมาเสริม เหมือนอย่างคนมีวิริยะเนี่ย พวกตั้งหน้าตั้งตาจะทำให้สำเร็จเพราะมันเห็นมันท้าทายใช่มั้ยฮะ แต่ทีนี้เราก็มาเสริมให้เขาเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์อะไรต่างๆ ให้มีความรักความพอใจด้วย แล้วก็ไปหนุนจิตตะมันก็มักจะตามมาง่ายอยู่แล้ว คนที่เห็นสิ่งนั้นท้าทายจะต้องทำให้สำเร็จเนี่ย ใจมันก็จะจดจ่อ แล้วก็ให้เขาใช้ปัญญาด้วยไม่ใช่ทำเรื่อยเปื่อยอย่าเอาแต่แรงกายเอาแต่แรงใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ปัญญาด้วย วิมังสาก็คือปัญญาเข้ามา เราก็พยายามมาให้มันครบชุดซะ หนึ่งโดยธรรมชาติมันก็หนุนกันเองอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าเราเป็นกัลยาณมิตรไปช่วยหนุนมันก็จะทำให้โอกาสในการที่จะมาเสริมกันนั้นมันมากขึ้นและก็ไวขึ้น พร้อมบริบูรณ์ได้ง่ายขึ้น
8:24 ฉันทะ ที่ว่ารักว่าชอบ…รักชอบอะไรแน่ ?
8:24 อีกแง่หนึ่งที่สำคัญมากคือฉันทะที่บอกว่าพอใจรักใคร่ เช่นว่ารักงานนั้นชอบงานนั้นอยากทำสิ่งนั้นเนี่ย บางทีมันไม่ชัดพอนะ อยากทำ ชอบทำ ชอบอะไร ชอบงานนั้น อ้าวก็เหมือนกับตรงนะ ที่จริงมันยังคลุมเคลือ ชอบงานนั้นนี่บางทีชอบกิจกรรมในงาน กิจกรรมบางอย่าง เช่นว่างานนั้นมันมีกิจกรรมที่สนุกเพลิดเพลิน ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง บางทีชอบที่ทำงาน บางทีชอบความสะดวกสบายในการทำงานที่นั่น บางทีชอบเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมงานกรุ๊ปนั้นรู้สึกไปกันได้ดี อัธยาศัยไปกันเป็นมิตรกันได้ สนุกสนานร่าเริงก็ชอบ การชอบงานบางทีมันเป็นเพียงชอบเพราะไปพอใจในแง่ด้านโน้นด้านนี้ของงาน อย่างนี้ไม่มั่นคง ก็ไปได้อยู่แต่ไม่เป็นหลักประกัน ฉะนั้นฉันทะที่ว่าชอบใจพอใจนี่ต้องมองให้ชัดเลย
ชัด…ชอบอะไร ชอบงานนั้นที่แท้นี่ ไอ้งานนี่มันก็คือตัวเอก เราทำงานก็ทำให้เกิดผลใช่มั้ย การที่เราชอบงานนั้นเพราะว่างานนั้นมันทำให้เกิดผลที่ดีอะไรบางอย่างที่เราต้องการ ที่นี้ผลดีมันก็มีสองแบบ ผลดีแบบที่ว่าชอบใจได้เงินได้ทองเป็นต้น นี่เรียกว่าได้ผลประโยชน์เป็นตัณหาไง เคยพูดแล้วใช่มั้ย ทีนี้เราชอบผลของงานนั้นแท้ๆนี่ เช่นอย่างงานแพทย์นี่ ก็คือเราชอบที่ว่าอยากให้คนหายโรคหายภัย อยากให้คนไทยมีสุขภาพดีหรืออะไรก็แล้วแต่ คือชอบงานนั้น เพราะว่ามันมีผลที่ตรงกับใจเรา งานนั้นมันจะให้ผลที่เราต้องการ ก็คือจุดหมายนั่นเองใช่มั้ย ผลของตัวงานนั้นมันก็กลายเป็นจุดหมายของเรา เรารักงานนั้นเพราะงานนั้นจะทำให้เกิดผลที่เราต้องการ แล้วมันก็เป็นจุดหมายขึ้นมา พอเรารัก ความเข้าใจของเรานี่มองที่งานนั้น โยงไปหาจุดหมายผลที่เกิดขึ้น ตอนนี้จะชอบจริง แล้วถ้าเรารักที่ผลที่มันจะเกิดขึ้นจริงๆนะ รักจุดหมายจริง ตอนนี้ล่ะครับไม่กลัวเหน็ดกลัวเหนื่อย แต่ถ้าท่านไม่ได้รักที่ผลที่มันจะเกิดขึ้นกับงานนะ ไปรักเพราะกิจกรรมในงานนั้นมันสนุกมั่ง ที่ทำงานนั้นสะดวกสบายอะไรอย่างนี้ เพื่อนร่วมงานดีอะไรอย่างนี้นะ ไม่มั่นคง พอมันเหน็ดมันเหนื่อยมันยากอะไร เพื่อนร่วมงานเปลี่ยนไปเราก็หมดแรงจริงมั้ย นี่แหละเพราะฉะนั้นที่ว่าฉันทะมันต้องไปนู่นนะ
11:27 รักแท้ คือรักผลแท้ของงาน
11:27 พระพุทธเจ้าที่บอกว่ามีพุทธคุณอันหนึ่งในสิบแปดประการ นตฺถิ ฉนฺทสฺส หานิ ไม่มีความเสื่อมถอยหรือลดถอยของฉันทะเลย นี่พระพุทธเจ้า เป็นพุทธธรรมอย่างหนึ่งในสิบแปดประการ พุทธธรรมมีสิบแปดประการ ในสิบแปดประการนี้มีอยู่ข้อหนึ่งว่าอย่างนี้ นตฺถิ ฉนฺทสฺส หานิ ไม่มีความลดถอยแห่งฉันทะ พระพุทธเจ้ามีพุทธลักษณะอันนี้เรียกว่าพุทธธรรมข้อหนึ่งจำไว้ ถ้าเราจะดำเนินตามพุทธปฏิปทาเราก็ต้องไม่ถอยเหมือนกัน มีฉันทะที่ไม่ถอยเลย พระพุทธเจ้าก็เป็นพุทธกิจพระองค์ไม่เคยถอย มีฉันทะที่จะทำงาน ก็เพราะอะไร พระองค์ต้องการผลนี่ ผลอะไร ผลที่แท้ไม่ใช่ผลแก่พระองค์เอง ผลก็คือว่าเห็นเขามีความทุกข์ เห็นเขาไม่เข้าใจความจริงนี้ ต้องการจะให้เขารู้ให้เข้าใจให้เขาพ้นทุกข์ นั่นคือผลที่ต้องการใช่มั้ย พระองค์ก็ต้องทำงานนี้ให้สำเร็จให้ได้ ให้เขาบรรลุผลนั้น นี่ฉันทะอย่างนี้ เข้าใจยัง คราวนี้แน่มั้ย ถ้ารักไอ้ตัวนี้ล่ะ ผลงานที่แท้ของมันล่ะก็ใช่ เหมือนอย่างคนทำสวนถ้ารักอยากเห็นต้นไม้งาม เห็นหญ้าเขียวขจี อยากเห็นสนามหญ้าเรียบ เห็นคนมาแล้ว แหมสบายตารื่นรมย์ใจ เห็นต้นไม้มีดอกสวย ร่มรื่นอะไรต่ออะไร ถ้าอยากเห็นผลอย่างนี้นะ มันก็รักงานทำสวนน่ะ แต่ถ้าไปรักผลอ้อม คือผลแบบเงื่อนไขใช่มั้ย อยากได้เงินเดือนอย่างนี้ อยากนั้นไม่เรียกฉันทะแล้วเรียกอะไรนะ เรียกตัณหา เรียกผลตามเงื่อนไข เพราะว่าเงินเดือนมันไม่ใช่ผลของการทำสวนนี่ใช่มั้ย คือเป็นผลหลอกๆ ผลตามสมมติของมนุษย์ไงใช่มั้ย ทำสวนหนึ่งเดือนได้เงินเดือนเจ็ดพันบาทนี่คือผลตามข้อตกลงของมนุษย์ใช่มั้ย ตกลงกันสมมติ สมมติคือตกลงกันไว้ การทำงานนั้นก็เลยกลายเป็นเงื่อนไขให้ได้เงินเดือน แต่ที่จริงว่าผลของการทำสวนมันไม่ใช่เงินเดือนหรอก ผลที่แท้ผลโดยตรงก็คือต้นไม้งาม สวนงาม ตกลงว่าต้องแยกให้ถูกตั้งแต่ผลของงาน ถ้าเรารักผลของงานนั่นก็คือทำให้ต้องรักงานไปในตัว คือมันมองข้ามไปได้เลยด้วยซ้ำ บางทีรักงานไม่รักงานไม่ต้องพูดแล้วใช่มั้ย มันต้องการให้ผลที่ดีงามอันนั้นเกิดขึ้น นี่คือตัวฉันทะที่แท้ มันประกอบด้วยปัญญาเห็นคุณค่าของงานนั้นเพราะว่าอะไร มันมีคุณค่าเพราะมันจะทำให้เกิดผลที่ดี เรารักเพื่อนมนุษย์เราอยากให้เขาอยู่ดีมีความสุข อ้าว งานนี้มันจะทำให้คนได้เกิดได้รับผลอันนั้น อ้อเราก็ฉันทะ คือเราต้องการมีความรู้ เราก็ไปเหน็ดเหนื่อยหาความรู้ ไอ้ตัวนี้จะให้เกิดผลก็คือความรู้ใช่มั้ย ผลก็คือความรู้นี่แหล่ะมันเป็นตัวผลักดันให้เราเนี่ยชอบ ไม่ใช่อยู่ๆก็ชอบฉันทะแบบนั้นคลุมเครือ ไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง ไม่ลงลึก เป็นอันว่าเอานะฉันทะนี่ ทีนี้เป็นอันว่าฉันทะที่แท้นี่มันประกอบด้วยปัญญา แล้วมันมองไปที่ผลที่ต้องการที่จะเกิดขึ้นจากงานนี้ งานนี้เป็นเหตุให้ได้ผลที่เราต้องการนั้นซึ่งเป็นผลที่ดีเราก็เลยรักมัน ก็เลยว่าเมื่อเป็นผลนี้มันก็เลยหมายถึงจุดหมาย ฉะนั้นเราก็จับไอ้ตัวผลนี่ไปวางเป็นจุดหมายเพื่อจะทำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น เรามีขั้นหนึ่งแล้วนะ พอเรารักผลงาน ผลที่แท้ที่งานนี้จะทำให้เกิดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์
15:33 ยก ฉันทะ ขึ้นสู่ ปณิธาน เด็ดเดี่ยวยิ่งขึ้น
15:33 เรามีฉันทะแรงขั้นหนึ่งแล้ว แต่ว่าจะให้มั่นขึ้นไปอีกก็ให้ตั้งปณิธานเลย ตั้งปณิธานก็ตั้งใจคล้ายๆว่าเด็ดเดี่ยวแต่เด็ดเดี่ยวนี่อธิษฐานจิต ปณิธานก็คือความตั้งเป้าหมายที่มุ่งอย่างเข้มแข็ง ปณิธานก็คือการตั้งจิตตั้งใจต่อเป้าหมายอันนั้น ก็คือตั้งจุดหมายขึ้นมา ตั้งปณิธานมุ่งมั่นต่อจุดหมายนั้น ตั้งให้อันนั้นผลที่ต้องการนั้นเป็นจุดหมายของเราขึ้นมาว่าต้องทำให้สำเร็จ อย่างนี้ก็เป็นการย้ำให้ฉันทะนี่มันมีความมั่นคงยิ่งขึ้นก็ซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ตั้งปณิธานเลยถ้าอันไหนเราจะทำให้สำเร็จให้ได้ตั้งปณิธาน เหมือนอย่างพระโพธิสัตว์นี่ พระโพธิสัตว์ก็คือท่านผู้ตั้งปณิธานนี่แหละ ก็ตกลงใจแล้วเห็นคุณค่า เห็นสัตว์ทั้งหลายมีความทุกข์ เห็นโลก สังขารมันอยู่ไม่เป็นปกติ มันไม่เที่ยงแท้แน่นอนในระดับหนึ่ง อย่างปัญญายังไม่พอหรอกพระโพธิสัตว์เนี่ย ได้เคยเห็นท่านผู้บรรลุธรรม ได้เคยได้ยินประวัติอะไรอย่างนี้ก็มุ่งหมายว่าอย่างนั้นดี ท่านจะมีชีวิตที่ดี จะมาช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ เอาบ้าง เราก็ตั้งเป้าหมายตอนนี้ก็มองเห็นในระดับหนึ่ง พระโพธิสัตว์นี่ปัญญายังไม่สมบูรณ์ก็เอาว่าพอไว้เข้าใจในระดับที่เรียกว่าสำหรับปุถุชนด้วยกันนี่ก็ยอดเยี่ยมดีเลิศ แล้วก็เลยว่าเมื่อเห็นความชัดเจนพอสมควรในระดับสติปัญญาของมนุษย์ปุถุชนแล้วเนี่ย เอาแน่ก็เลยตั้งปณิธานเลย พอตั้งปณิธานแล้วต่อจากนี้ก็เอาจริงเอาจังบำเพ็ญบารมี คือทำความดีอย่างยิ่งใหญ่อย่างที่คนอื่นธรรมดาทำแทบไม่ไหว ถ้ามันไม่มีปณิธานก็ทำไปไม่ไหวไม่มีกำลัง พระโพธิสัตว์ก็ต้องอยู่ด้วยปณิธานต้องบรรลุโพธิญาณให้ได้ ถ้าไม่บรรลุไม่มีทางหยุด เหมือนกับท่านจะทำงานอะไรเนี่ยท่านก็ต้องตั้งปณิธานแต่ว่าต้องคิดทบทวนกับตัวเองก่อนนะว่าอันนี้มันดีจริง มันเป็นประโยชน์อะไรต่างๆนี่ มีความเข้าใจด้วยปัญญาชัดเจน แล้วก็เราก็พอใจ แล้วก็ขึ้นระดับตั้งจุดหมายเลย จิตมันก็จะมาหนุนให้เกิดกำลังแล้วก็มุ่งหน้าเดินไป แปลว่าปณิธานนี่มาช่วยอีกชั้นหนึ่ง พระโพธิสัตว์ก็บำเพ็ญบารมีด้วยปณิธานจนกระทั่งบรรลุผลว่าเป็นพระพุทธเจ้า ปณิธานก็บรรลุผลก็จบ 18:20 พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าตัณหาก็ต้องละ ฉันทะก็ต้องละ แต่ว่าตัณหานั้นเกิดที่ไหนก็ละซะได้เลยไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ แต่ฉันทะนั้นละด้วยการทำให้สำเร็จ เข้าใจมั้ย พอเราทำสำเร็จแล้วมันก็ละฉันทะได้ใช่มั้ย เราต้องการทำ เมื่อทำสำเร็จมันก็ละเอง ก็จบ แยกสองอย่างตัณหากับฉันทะ นี่เราก็หนึ่งทำตัวให้พ้นจากตัณหาหรือบรรเทาตัณหาที่ท่านได้ลดละลงไป สองก็เพิ่มพูนพัฒนาฉันทะขึ้นมาแล้วก็ทำฉันทะนี่ให้ชัดเจน แล้วก็มุ่งแน่วไป มีฉันทะที่มั่นคง แล้วเจ้าวิริยะ จิตตะ วิมังสา ก็มาร่วมช่วยด้วย หนุนเข้าไป ก็มาเน้นๆ
19:15 จิตที่เข้มแข็ง…เป็นที่อาศัยของปัญญา
19:15 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ นี่ฝ่ายจิตทั้งนั้นนะสามตัวแรก วิมังสาเป็นฝ่ายปัญญา ต้องมีปัญญามาช่วย อย่ามีแค่ด้านจิตอย่างเดียวไม่พอ ฉันทะก็รักใคร่พอใจก็เป็นด้านจิต วิริยะความเข้มแข็งมั่นคงจะก้าวไปไม่หยุดนิ่งก็เป็นด้านจิต แกล้วกล้า ไม่กลัว ไม่ถอย วิริยะนี่ไม่ถอย ก้าวหน้า บุก วิริยะนี่ตัวบุก แล้วก็จิตตะนี่ก็ตัวอุทิศตัวอุทิศใจ จดจ่อ แน่ว นี่จิตหมดด้านจิต วิมังสาด้านปัญญา มีแต่ด้านจิตไปไม่รอดเหมือนกัน 20:00 ถึงจิตจะเข้มแข็งยังไงแต่ปัญญาไม่มาช่วย มันก็ทำไม่สำเร็จต้องมีปัญญามา เอาจิตไปใช้ประโยชน์ จิตที่เข้มแข็งก็เป็นที่อาศัยของปัญญา ปัญญาก็ทำงานจิตมันก็สนองรับไปด้วยกันเลย แล้วก็มีปณิธานมาทำให้จิตที่เข้มแข็งมีเป้าหมายชัดไปเลย มันก็มีพุ่ง แล่น แน่ว ไป ที่นี้ถ้าใครไม่มีจุดหมายชัดเจนนี่ทำอะไรต่ออะไรมันก็จะพลาดได้ง่าย แล้วมันก็ไม่มีตัวที่มาคอยกำกับจิต ปณิธานนี่มันทำให้อยู่กับจิตตลอดเวลา ทีนี้มันก็ตัดเรื่องไม่เข้าเรื่อง เรื่องปลีกย่อย เรื่องกระทบกระทั่งตัดให้หมด ถ้าคนมีปณิธานเข้มแข็งนะเรื่องปลีกย่อยเล็กๆน้อยๆไม่เกี่ยวกับจุดหมายมันตัดหมด มันก็เลยกลายเป็นคนที่มั่นคงหนักแน่นไม่เอาถือสาอารมณ์เรื่องเล็กๆน้อยๆ มันไม่เข้ากับจุดหมาย ใจของตัวนี้มุ่งจุดหมายอยู่ เพราะความที่ใจมุ่งจุดหมาย เรื่องเล็กๆน้อยๆมันก็ตัดไปไม่กระทบ ที่นี้คนที่ไม่มีพวกความเข้มแข็ง เรื่องปณิธานจุดหมายอะไรพวกนี้อยู่ แม้แต่ฉันทะนี่ มันก็รับอารมณ์เรื่อย อารมณ์เข้ามาตาหูจมูก มันก็มีชอบใจไม่ชอบใจ กระทบโน่นกระทบนี่ เข้ามาเก็บเป็นอารมณ์วุ่นวาย ตัวเองก็เป็นทุกข์ด้วย จิตใจก็ระส่ำระสายง่อนแง่นคลอนแคลนวุ่นวายไปหมด แล้วก็เกิดเรื่องได้ง่าย นี่คนมีปณิธานก็ไปเลย อ้าวว่าซะยาวเลยมีอะไรสงสัยมั้ย
21:45 ทำงานคนเดียวสนุกได้อย่างไร ?
21:45 คือจะถามต่อครับ ผมก็เป็นหนึ่งในคนที่อ่านผลงานของพระเดชพระคุณหลวงพ่อแล้วก็ทึ่งในความที่ลงลึกในรายละเอียดได้ถึง เรียกว่าภาษาเดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าถึงกึ๋น คืองานของพระเดชพระคุณหลวงพ่อเวลาที่เขียนออกมาแล้วเนี่ยจะมีการอ้างอิงหรือว่าการอ้างอิงอะไรที่แบบรู้สึกว่า เอ้งานอันนี้นี่ลงลึกจริงๆ แล้วก็ถึงจะเป็นงานที่ไม่ตรงกับทางพระพุทธศาสนาโดยตรงอาจจะเป็นทาง เช่นเกี่ยวกับทางเหตุการณ์บ้านเมืองอะไรอย่างนี้ครับ ก็อยากจะถามพระเดชพระคุณว่ามีเคล็ดลับอะไรหรือเปล่าที่ถึงแม้เป็นงานที่เราก็ไม่ถนัดด้วย แล้วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงแต่เราก็ยังสามารถลงไปลึกได้ถึงขนาดนั้น อย่างเวลาทำงานทั่วไปเนี่ยฮะผมก็จะมีกัลยาณมิตรหรือว่ามีเพื่อนคอยคุยกันว่า เอ๊ะท่านทำถึงไหนแล้วผมทำถึงตรงนี้ แล้วก็สนุกกับการทำงานเพราะว่ามีการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแต่เท่าที่ทราบมาก็คือพระเดชพระคุณก็จะทำงานคนเดียวใช่มั้ยครับ แต่ว่าสามารถสนุกกับงานไปได้เองคนเดียวโดยที่ไม่ต้องมีใครมาคอยปรึกษาหรือว่าเดินไปด้วยกันน่ะครับ ไม่ทราบว่าพระเดชพระคุณทำยังไงที่สามารถมีกำลังใจได้ขนาดนั้นครับ
23:06 อยากรู้ ต้องรู้ชัด ไม่ชัด ไม่หยุดค้น
23:06 จะว่าไงดีล่ะ ก็ไม่มีอะไรมาก อันหนึ่งก็คือว่าอยากรู้ เราต้องรู้ให้ชัดด้วย คือถ้าไม่ชัดจะไม่หยุด หมายความว่าเราต้องการรู้เรื่องนี้ ยังไม่ชัดมันไม่ยอมหยุด ต้องค้นมันไป ให้มันชัดเจนให้ได้ จนกระทั่งมันไม่มีทางที่จะชัดก็ เอ้า..ก็ต้องหยุดไว้ก่อนแล้วค่อยหาโอกาสต่อไปข้างหน้าถ้ามี อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนั้นผมเคยบอกแล้วนี่ไม่ค่อยอ่านหนังสือ ผมไม่ค่อยได้อ่านเลยหนังสือเป็นเล่มๆ มีแต่ค้น มีเรื่องจะค้นขึ้นมาแล้วก็ทีนี้ค้นไปเถอะ มันอยู่ในเล่มไหนก็ไปค้นตามมันไปล่ะไม่ว่าเล่มไหน มันก็เลยใช้โดยที่ว่าไม่ได้อ่านแบบตามลำดับเล่ม หน้าแรกไปหน้าสุดท้ายไม่ได้ใช้แบบนั้น แต่ไปค้นในนั้นว่ามีเรื่องที่เราต้องการมั้ย แล้วก็เอาตอนที่มันจะมาให้ความชัดเจนในเรื่องนั้น มันเลยกลายเป็นปกติไปเลย เพราะว่ามันมีเรื่องที่อยากจะรู้อยู่เรื่อย อยากจะรู้เรื่องนี้ก็ค้นมันไป อันนี้มันยังได้ความแค่นี้ แล้วไปเห็นอีกอันหนึ่งมันต่างกัน อ้าวแล้วอันไหนมันจะถูกกันแน่ใช่มั้ย มันก็มีเรื่องให้ค้นไม่รู้จักจบ ค้นอยู่นั่นแหละจนกว่าบางทีมันก็ตัดสินได้ บางทีก็ตัดสินว่านั้นต้องแยกว่า อันนี้เขาว่าอย่างนี้ อันนี้ว่าอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง ก็คือว่า
24:43 รู้ชัด รู้ความจริง คือปัญญาแท้
24:43 ต้องการรู้และให้ชัด ก็ถือความชัดเจนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัญญานี่มันหมายถึงรู้ชัด ที่จริงก็คือจะต้องรู้ถึงความจริงนั่นเองน่ะปัญญา ถ้าตราบใดที่มันยังไม่ถึงความจริงมันก็ไม่ใช่ปัญญาแท้ ทีนี้ในเมื่อรู้ยังไม่ชัดมันจะเป็นความจริงไปได้ยังไงใช่มั้ย 25:04 ความจริงก็คือต้องชัด เมื่อเห็นชัดมันจึงจะเป็นความจริง เพราะฉะนั้นปัญญามันจึงแปลว่า “รู้ชัด” รู้ชัดก็คือรู้ถึงความจริง ก็คือรู้ถูกต้อง เมื่อไหร่รู้ถูกต้องนั่นก็คือรู้ความจริง ปัญญาเป็นตัวเชื่อมมนุษย์เข้ากับความจริงใช่มั้ย มนุษย์อยู่นี้ แล้วความจริงอยูโน้น ปัญญาเป็นตัวคุณสมบัติของมนุษย์ที่รู้ถึงความจริงอันนั้นเป็นตัวเชื่อมมนุษย์กับความจริง เท่านี้ปัญญาคุณสมบัติของมัน ทีนี้ถ้าเกิดมันรู้แต่มันไม่ถูก มันก็ยังไม่ใช่ปัญญาจริง เพราะฉะนั้นปัญญามันก็ต้องรู้ถูกต้องหรือรู้ชัด ถ้าเรารู้ถูกต้องหรือรู้ชัดเมื่อไหร่มันก็คือถึงความจริงมันก็เป็นปัญญาจริงๆ แต่ทีนี้ 25:57 รู้ความจริงมันก็มีหลายระดับอีก รู้ความจริงระดับสมมติ รู้ความจริงระดับสภาวะ รู้ความจริงระดับสภาวะเฉพาะอย่าง รู้ความจริงสภาวะที่เป็นหลักการที่ครอบคลุมนี่ใช่มั้ยก็หลายระดับอีก เหมือนกับเรารู้เรื่องรูปธรรมอย่างนี้ อ้าวก็เป็นเฉพาะอย่าง แต่รู้ไปถึงสภาวะคุณสมบัติของรูปธรรมทั้งหมดไปถึงนามธรรมทั้งหมด ธรรมชาติทุกอย่าง ไปรู้ถึงไตรลักษณ์ ถ้าไตรลักษณ์นี่ครอบคลุมแล้ว นี่อย่างนี้ใช่มั้ย มันไม่เหมือนกันแม้แต่รู้ความจริงมันก็ไม่เท่ากันอีก อันนี้ก็อย่างหนี่ง แต่ข้อสำคัญที่ว่านี่ต้องมีความอยากรู้ อยากรู้แล้วก็พยายามสืบค้นหาความจริงให้มันได้ คือใจมันอยากจะรู้ความจริงนั่นแหละว่างั้นเถอะ แล้วก็ค้นมันไปเถอะให้มันรู้ให้ได้ แต่ที่นี้คนเราบางทีมันไปท้อซะ แล้วอีกอย่างหนึ่งบางคนบางท่านก็อาจจะไปติดเอาแค่ว่าเอาแค่พอรู้ อันนี้ไม่เอาความชัดด้วยใช่มั้ย มันก็เลยคล้ายๆว่าพอได้ข้อมูลบางอย่างมาในเรื่องนั้น คือตอนแรกยังไม่มีเลยข้อมูลไม่รู้ พอไปหาข้อมูลได้ก็พอใจว่าได้แล้ว ยังไม่ทันชัด มันก็เลยไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร แล้วบางทีไปเกิดข้อมูลผิด เลยยิ่งหนักเข้าไปอีกใช่มั้ย ไม่รู้ซะดีกว่ารู้ผิดๆ ทำให้หลงเลยใช่มั้ย งั้นเราก็ต้องพยายาม
บางทีเนี่ยทำให้มีการต้องเทียบต้องเคียงต้องมาจัดสรรเยอะแยะไปหมดเลย เนี่ยตอนนี้ก็ที่น่าเสียดายก็คือเวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาสำคัญๆในประเทศชาติเนี่ย ไม่ค่อยใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ที่บอกว่าใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสน่ะ โอกาสสำคัญที่สุดก็คือโอกาสที่ทำให้ประชาชนได้ปัญญา จะมีโอกาสอะไรดีกว่านี้ ก็เกิดวิกฤตขึ้นมาประเทศชาติ เช่น มีเรื่องก่อการร้ายหรือความไม่สงบในภาคใต้ อ้าวก็เป็นโอกาสแล้วที่จะทำให้ประชาชนได้ความรู้ได้ปัญญา ก็ต้องเอาเลยหาทางให้ได้ความรู้เข้าใจเรื่องราวต่างๆที่ควรรู้เหล่านี้ปัญญาเกิดขึ้น มันจะยังไงก็ตามนะ ปัญญาที่ได้มาเนี่ยในตัวมันเองก็ได้สิ่งประเสริฐมาแล้ว ได้หนึ่งแล้วได้สิ่งที่ยอดเยี่ยม สองความได้อันนี้เป็นประโยชน์สูงสุดในการแก้ปัญหาด้วย จะมีอะไรดีกว่าปัญญาในการที่จะมาแก้ปัญหาล่ะจริงมั้ย เพราะฉะนั้นหนึ่งได้ปัญญาก็ดีแล้ว ประเสริฐในตัวแล้ว สองยังได้ปัญญานั้นมาใช้ในการแก้ปัญหาอีกด้วย แล้วการแก้ปัญหานั้นจะถูกทาง ถ้าปัญญาไม่มีจะแก้ปัญหาถูกทางยังไง ก็งมไปสิใช่มั้ยแก้ปัญหาแบบเดินไปในความมืด ก็เวลานี้สังคมไทยก็อย่างที่เคยพูดบ่อยๆว่า พูดอะไรออกมามีแต่ความเห็น ความรู้ไม่มี หายาก ความรู้บางทีได้ข้อมูลมานิดๆหน่อยๆ แล้วก็มายุ่งอยู่ข้อมูลนิดๆหน่อยๆ มาวิจารณ์เป็นความเห็นกันทั้งนั้น ขออภัยแล้วก็มาเผ็ดมันกันสนุกกันเรื่องความเห็น แล้วก็ติดอยู่แค่นั้นแหละ ชอบใจไม่ชอบใจ มันก็อยู่แค่ความเห็นมันไม่ได้ความรู้ที่ลึกเข้าไปๆ ให้มันได้ปัญญาแท้ๆ ให้มันชัดเจนพอมันเริ่มแล้วได้ข้อมูลความรู้ มันต้องหาความรู้กันต่อไป ความรู้เท่านี้เป็นจุดเริ่มแล้วกระตุ้นต่อไปให้มันได้ความรู้ที่กว้างขวางชัดเจนยิ่งขึ้น สังคมก็พัฒนา คนที่อยู่ในสังคมนี้ก็เป็นคนที่มีปรีชาญาณมองเห็นอะไรต่ออะไรเข้าใจสถานการณ์ชัดเจนมองอะไรถูกต้องเห็นทางแก้ปัญหาขึ้น นี่มันไม่เอาเลยเนี่ย มันก็หยุดอยู่แค่ความเห็น
ฉะนั้นจึงได้ย้ำบ่อยๆ สังคมไทยเรานี้น่าเป็นห่วง คือแม้แต่ไปยุเด็ก ก็อ้าวให้เด็กกล้าแสดงความเห็น แต่ไม่เตือนไม่กระตุ้นเร้าให้หาความรู้ ต้องเอานี้ก่อน ต้องกระตุ้นเร้าให้ใฝ่หาความรู้ เป็นนักค้นคว้าหาความรู้ หาความรู้ให้มันชัดเจนจริงที่ว่านี่นะ แล้วเขาจะแสดงความเห็นได้อย่างมีความหมายมีคุณค่าเป็นประโยชน์ แต่ถ้ามันไม่มีความรู้แล้วความเห็นมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย แล้วมันจะพาให้เขวด้วยใช่มั้ย มันก็ได้แต่สนุกสนานไป ไม่งั้นก็เข้าใจผิดหลงผิด พากันเฉไฉไป บางทีแสดงความเห็นเก่งแบบสนุกสนานอะไรต่ออะไรพาคนอื่นหลงผิดไปด้วยอีก เพราะมันไม่ตั้งอยู่บนฐานของความจริง
นี่แหละเรื่องนี้ต้องเตือนกัน คนไทยเราก็เอาว่าเวลามีการถกเถียงอภิปรายก็เน้นแง่ความเห็น แง่ความรู้นี่อ่อน แล้วอีกอย่างหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือว่าก็ได้วิจารณ์ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น สังคมในเวลานี้นะสังคมไทยเรานี่มีความเสื่อมโทรมมีสิ่ง
ไม่ดีไม่งามอะไรต่ออะไรปัญหาเยอะแยะไปหมด อย่างปัญหาเด็กและเยาวชนก็เยอะใช่มั้ย เรื่องสารพัดที่มันเสื่อมเรื่องเพศเรื่องอะไรเรื่องความลุ่มหลงมัวเมาเสพบริโภคทุกอย่าง อ้าวเราก็มีการพูดกันก็ว่าเป็นอย่างนั้นๆ ไม่ดีอย่างนั้นๆ พูดถึงข้าราชการ พูดถึงนักการเมืองรัฐบาล อ้าวก็เป็นอย่างนั้นๆ โกงกินกันมากเข้า คอรัปชั่นอะไรต่ออะไรก็ว่ากันไปใช่มั้ย แล้วพูดถึงสภาพสังคมทั่วไปก็ไม่ดีอย่างนั้นๆ พูดถึงพระก็แย่อย่างนั้นๆ มีแต่เรื่องไม่ดีซะเยอะแยะไปหมด พูดแบบหนึ่งก็คือมาวิจารณ์กันว่ากัน หรืออย่างอ่อนก็ปรับทุกข์กัน ร้องทุกข์ปรับทุกข์ ด่าว่าวิจารณ์กัน แต่อันหนึ่งไม่ค่อยพูด “แล้วเราจะต้องทำอะไร” เนี่ยไม่ค่อยมี ถ้าจะให้เป็นการสร้างสรรค์นะ เมื่อมีการพิจารณาปัญหาต่างๆ นอกจากจะไปวิจารณ์ว่าอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเนี่ย มันต้องมาถึงตัวว่า “แล้วเราจะทำอะไรกัน” เนี่ยสำคัญที่สุด ไม่ค่อยมีใช่มั้ย มันไปอยู่แค่ว่าเขา ว่าพวกนั้นไม่ดีอย่างนั้น พวกนั้นแย่อย่างนั้นๆ แต่ไม่มาถึงสักทีว่า เราจะทำอะไร
นี่จุดอ่อนที่สุดเลย ถ้าทั้งหมดมาลงที่นี่ได้มันจะมีการสร้างสรรค์ ก็จะมาลง โอ้ยนี่สถานการณ์มันไม่ดี มันเป็นความเสื่อมโทรมเราจะต้องมาช่วยกันแก้ปัญหา แล้วเราจะต้องทำอะไรกันบ้าง นี่คือผลเกิดขึ้นแล้วนะ มันต้องได้บทสรุปที่นี่ ไม่อย่างนั้นมันก็ลอยอยู่ค้างอยู่อย่างนั้น ไอ้ไม่ดีก็วิจารณ์ก็จบไปมันก็ไม่ดีต่อไป ผลมันต้องมาออก แล้วเราจะทำอะไร การที่ว่าเราจะต้องทำอะไรนี่เป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะเราที่ร่วมกันทำนะ ถ้าพิจารณาแคบเข้ามาอีกก็แต่ละคนเลย มองในแง่พระสมัยปัจจุบันนี้เราก็เห็นสภาพความเสื่อมโทรมไม่เฉพาะสังคมทั่วไป สถาบันพระสงฆ์เองก็เสื่อมเต็มที มองไปไหนก็ปัญหาทั่วไปหมด แย่มากๆ อันนี้จะทำอย่างไร นี่เราก็ต้องมอง มองว่า เอ้อในเมื่อความเสื่อมมันเป็นอย่างนี้ก็แปลว่าต้องแก้ปัญหา แล้วการที่จะแก้ปัญหาเริ่มตั้งแต่การที่เราจะตั้งตัวอยู่ได้ดำรงอยู่ในความดีในสังคมสภาพแวดล้อมที่มันเสื่อมโทรมอย่างนี้ ต้องการความเข้มแข็งมาก แต่ก็เป็นการฝึกตนที่ยิ่งใหญ่ เอาล่ะ ในสภาพแวดล้อมที่มันเสื่อมที่สุดเนี่ย เราจะเพียรพยายาม อย่างน้อยให้พระศาสนาหรือว่าให้ธรรมะ หรือให้สังคมมันดำรงอยู่ได้ ใครจะเป็นอย่างไรเราก็ เอ้า…เราช่วยได้เราแก้ไขได้เราก็ช่วยไป แต่ว่าช่วยใครไม่ได้เอาตัวเนี่ยพยายามทำให้ดีที่สุด เราก็ได้ฝึกตัวได้ด้วยฝึกตัวอย่างที่เรียกว่าต้องเข้มแข็งที่สุดเลย สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ เราทวนกระแสแต่ว่าเราตั้งใจ การสำนึกในส่วนรวมแบบนี้จะกลับมาเสริมในการฝึกตนเอง พอนึกถูกทางนี้ก็ยิ่งมีกำลังใจมาก ในการที่จะฝึกตนว่าเราจะต้องเอาจริงเอาจัง นี่มันเสื่อมโทรมกันขนาดนี้แล้ว ปล่อยต่อไปไม่ได้ต้องเข้มแข็งต้องเอาจริงเอาจัง แล้วช้าไม่ได้ด้วยนะก็เลยยิ่งเข้มแข็งใหญ่เลย ตอนนี้จะปฏิบัติฝึกตนเต็มที่เลย หรือจะมองไปข้างหน้าก็ได้ มองว่าโอ้การณ์ข้างหน้านี่สังคมจะอยู่ได้ พระศาสนาจะอยู่ได้ ธรรมะจะอยู่ได้นี่
ต้องเพียรพยายามมาก ต้องสร้างสรรค์เต็มกำลังถ้าเราขืนช้าเราทำนิดๆหน่อยๆเหยาะแหยะมันไม่ไหวแน่ เพราะฉะนั้นต้องเต็มที่ อันนี้ก็จะมาเป็นกำลังเร้าตัวเองให้มีความเข้มแข็งขึ้น ตอนนี้เราจะไม่ไปคำนึงมากว่าสภาพแวดล้อมคนรอบข้างจะเป็นยังไงๆ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะไม่เอาใจใส่นะ เราเอาใจใส่ทั้งสองอย่างเลย หนึ่งถ้ามีโอกาสช่วยแก้ไขช่วยไป แต่สองเอาสภาพไม่ดีนั้นมาเป็นแรงกระตุ้นตัวเองให้เราทำดียิ่งขึ้น ได้ทั้งคู่เลย เราก็ยิ่งมันร้ายเราก็ต้องยิ่งทำให้ดียิ่งขึ้น
ยิ่งให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น หรือว่าเราต้องยิ่งตั้งมั่นในความดีให้หนักขึ้นใช่มั้ย ไม่อย่างนั้นมันอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่เข้มแข็งจริงเราก็
ตั้งมั่นไม่อยู่สิ มันก็ตั้งไม่มั่นนะสิ อย่างนี้เรียกว่าคิดแบบโยนิโสมนสิการ ไม่ว่าสถานการณ์แบบไหนล่ะ อย่าให้เราพลอย
ย่อหย่อนไปด้วย ต้องคิดแล้วมันกลับมาหนุนให้เราเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพราะว่าสิ่งทั้งหลายรอบตัวเราจะให้เป็นอย่างที่ใจเราปรารถนาไม่ได้ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เราไม่ได้ละเลยทอดทิ้ง อะไรจะช่วยแก้ได้ก็พยายามแก้ไป แต่ว่าพร้อมกันนั้นเอามันมาหนุนตัวเราให้เข้มแข็งที่จะทำการแก้ไขตั้งแต่ตนเองเป็นต้นไป เนี่ยมันก็จะเดินหน้าไป นี้สารพัดแหละอะไรต่ออะไรแต่ว่าเราดูไปกว้างๆ เราจะเห็นสภาพความเสื่อม บางทีเรามองเทียบไป อ๋อถ้าเราไปดูสภาพเสื่อมที่โน่นกว้างๆไป
เราจะเห็นว่า อ๋อ จุดนี้ที่เราว่ามันยังไม่ค่อยดีเนี่ยถ้าเทียบกับอันโน้นแล้วยังดีกว่าเยอะแยะอย่างนี้ก็มี แต่ว่าถึงอย่างนี้มันก็ยังไม่ดีอย่างที่เราต้องการ จะเรียกว่ายังไม่ได้ตามอุดมคติก็ได้ แต่จะทำยังไงให้ได้อย่างใจ มันก็ต้องมาช่วยกัน บางทีเราจะให้เขาเป็นอย่างเราต้องการก็ไม่ไหว เราทำได้แค่ไหนเราก็พยายามไปตามกำลังของเรา บางทีมันก็ขึ้นต่อปัจจัยฝ่ายเราด้วย เราจะไปโทษเขาฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เราก็มีความสามารถจำกัดที่เราไม่สามารถไปชักจูงเขาได้เพียงพอใช่มั้ย เราก็พยายามทำแต่ว่าอย่างน้อยก็มากระตุ้นตัวเรานี่แหละให้ตั้งมั่นเข้มแข็งเพียรพยายามทำไป
เอาล่ะครับมีอะไรสงสัยมั้ยครับ อ้าวตกลงว่าก็ได้เวลา ท่านก็ให้โอกาสผม อย่างนี้เรียกว่ามีกรุณา...
****************************
ประเด็นสำคัญ : รักงานคือรักแค่ไหน มีปัญญาคือรู้เท่าใด
00:02 จะทำอย่างไร เมื่อฉันทะในการทำงานลดลง ?
01:01 ต้องหาตัวเสริม แต่ต้องหาตัวเริ่มให้เจอก่อน
02:14 เริ่มด้วยวิริยะ เสริมตามด้วยฉันทะ
04:54 ฉันทะบาง วิริยะเบา ต้องเสริมเร้าด้วยจิตตะ
08:24 ฉันทะ ที่ว่ารักว่าชอบ รักชอบอะไรแน่ ?
11:27 รักแท้ คือรักที่ผลของงาน
15:33 ยก ฉันทะ ขึ้นสู่ ปณิธาน เด็ดเดี่ยวยิ่งขึ้น
19:15 จิตที่เข้มแข็ง...เป็นที่อาศัยของปัญญา
21:45 ทำงานคนเดียวสนุกได้อย่างไร ?
23:06 อยากรู้ ต้องรู้ชัด ไม่ชัด ไม่หยุดค้น
24:43 รู้ชัด รู้ความจริง คือปัญญาแท้
คำโปรย
20:00 ถึงจิตจะเข้มแข็งยังไงแต่ปัญญาไม่มาช่วยมันก็ทำไม่สำเร็จ ต้องมีปัญญามาเอาจิตไปใช้ประโยชน์ จิตที่
เข้มแข็งก็เป็นที่อาศัยของปัญญา ปัญญาก็ทำงานจิตมันก็สนองรับไปด้วยกันเลย แล้วก็มีปณิธานมาทำให้
จิตที่เข้มแข็งมีเป้าหมายชัดไปเลย มันก็มีพุ่ง แล่น แน่ว ไป ที่นี้ถ้าใครไม่มีจุดหมายชัดเจนนี่ทำอะไรต่ออะไร
มันก็จะพลาดได้ง่าย แล้วมันก็ไม่มีตัวที่มาคอยกำกับจิต ปณิธานนี่มันทำให้อยู่กับจิตตลอดเวลา
25:04 ความจริงก็คือต้องชัด เมื่อเห็นชัดมันจึงจะเป็นความจริง เพราะฉะนั้นปัญญามันจึงแปลว่า “รู้ชัด”
รู้ชัดก็คือรู้ถึงความจริง ก็คือรู้ถูกต้อง เมื่อไหร่รู้ถูกต้องนั่นก็คือรู้ความจริง ปัญญาเป็นตัวเชื่อมมนุษย์เข้ากับ
ความจริง มนุษย์อยู่นี้ แล้วความจริงอยูโน้น ปัญญาเป็นตัวคุณสมบัติของมนุษย์ที่รู้ถึงความจริงอันนั้นเป็นตัวเชื่อมมนุษย์กับความจริง เท่านี้ปัญญาคุณสมบัติของมัน
วรรคทอง
18:20 พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าตัณหาก็ต้องละ ฉันทะก็ต้องละ แต่ว่าตัณหานั้นเกิดที่ไหนก็ละซะได้เลยไม่จำเป็นต้อง
เก็บไว้ แต่ฉันทะนั้นละด้วยการทำให้สำเร็จ เข้าใจมั้ย พอเราทำสำเร็จแล้วมันก็ละฉันทะได้ใช่มั้ย เราต้องการ
ทำ เมื่อทำสำเร็จมันก็ละเอง
20:00 ถึงจิตจะเข้มแข็งยังไงแต่ปัญญาไม่มาช่วยมันก็ทำไม่สำเร็จต้องมีปัญญามา เอาจิตไปใช้ประโยชน์ จิตที่
เข้มแข็งก็เป็นที่อาศัยของปัญญา
คำค้น
หลัก : อิทธิบาท
ใหม่ : ตัณหา ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ปณิธาน ปัญญา