แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
อ้าว ทีนี้ก็อะไรต่อไปล่ะ ทีนี้ก็มานึกถึงอีกอันหนึ่งก็เรื่องที่พูดไว้แล้วครั้งที่แล้วเหมือนกัน เรื่องสังคมแบบพุทธซึ่งเป็นสังคมที่ไม่เหมือนกับเสรีนิยม ทุนนิยม ทุนนิยมเสรี แล้วก็ไม่เหมือนกับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ก็คือเรามองอย่างน้อยก็แง่หนึ่ง นี่เป็นแง่ที่มอง แง่ที่ว่า พวกที่คิดสร้างสังคมกันนี่จะมองสังคมเป็นแบบเดียว เหมือนกับมองมนุษย์เป็นอย่างเดียว อย่างสังคมเสรีนิยม ทุนนิยมเสรีนี่ก็จะมองมนุษย์เหมือนกับเป็นคนที่มีกิเลส เห็นแก่ตัว เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องมีตัณหาอยู่อย่างนี้ ก็จะต้องสนองตัณหากันไป แล้วก็วางระบบสังคมก็คือให้ individualism จะเรียกว่าปัจเจกนิยม หรือ ปัจเจกชนนิยม ก็แล้วแต่ นี่ก็ไปสุดโต่งไปก็มี อย่างยุคที่ ตอนที่ Herbert Spencer ให้แนวคิดทางเรื่อง Social Darwinism ลัทธิดาร์วินเชิงสังคม นี่ก็ต่อจากดาร์วินนั่นแหละ ดาร์วินแกพูดถึงของธรรมชาติโดยเน้นไปทางพวกชีววิทยามากกว่า นี่ก็ Herbert Spencer นี่เป็นคนอังกฤษก็มาประกาศแนวคิดลัทธิดาร์วินในเชิงสังคม ก็เป็นเรื่องของ The survival of the fittest ใช่ไหม การอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด นี้ก็เขามามองในแง่สังคม ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องชีววิทยา เรื่องของพวกชาติพันธุ์ พวกพันธุ์สัตว์ อะไรต่างๆที่ว่ามันอยู่ได้ในโลกต้องเป็นสัตว์ที่เรียกว่าเก่ง แข็งแรง แล้วก็ใครเก่งก็ใครอยู่ได้ก็รอด อะไรนี่ พวกที่อยู่ไม่ไหวอ่อนแอก็ตายหมดสิ้นไปสูญพันธุ์ไป นี้เขามาใช้ในเชิงสังคมก็บอกว่า ในสังคมมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องเป็นอย่างนี้ คือใครเก่งก็อยู่ ใครอ่อนแอก็ไป เพราะฉะนั้นอย่างพวกธุรกิจ กิจการ อุตสาหกรรม อะไรต่างๆเหล่านี้ กิจการทั้งหลายก็ต้องปล่อยให้แข่งขันกันเสรีโดยไม่มีอะไร เรียกว่า unrestricted คือไม่มีขีดขั้น ไม่มีจำกัดเลย เขาเอาขนาดนั้น บอกรัฐบาลจะไปแทรกแซงไม่ได้ ใครดีใครอยู่ เพราะฉะนั้นก็กิจการอะไรที่มันไม่แข็งจริงก็ต้องปล่อยให้ตายให้ล้มไป ลัทธินี้ก็คืบหน้ามาจนกระทั่งถึงว่า อเมริกาก็ออกไปเป็น Imperialism เหมือนกัน ไปสู่ความเป็นจักรวรรดินิยม แม้กระทั่งมีรัฐที่เขาเรียกว่าอะไร Manifest Destiny เกิดขึ้นในอเมริกา นี่ถือว่าพวกชนอเมริกันผิวขาวสายอังกฤษนี่เป็นชนชาติที่พระเจ้ากำหนดมาให้แล้วจะให้ครองโลก ปกครองโลกนี้ จะนำความเจริญมาให้แก่โลก ฉะนั้นชาวอเมริกันนี้จะต้องออกไป ไปปกครองโลก เพราะเป็นมนุษย์ที่เลิศประเสริฐอะไรอย่างนี้ ก็แนวคิดนี้อยู่นานจนกระทั่งไอ้ฮิตเลอร์ขึ้นแล้วก็เกิดสงครามโลก ฮิตเลอร์ก็ถือว่าอารยันพันธุ์แท้ก็เยอรมัน ใช่ไหม ก็ต้องให้เผ่าอารยันนี่ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ปกครอง เผ่าอื่นนี่ไม่ได้เรื่อง เช่น ยิว เช่นอะไรก็แล้วแต่ ฉะนั้นก็เลยจะต้องให้อารยันนี่เป็นใหญ่ ก็ทำให้เกิดสงครามโลก แล้วก็เป็นบทเรียนทำให้ชาวอเมริกันชักมาคิดว่า เอ้ แนวคิดที่ว่าทั้งหมดนี่ Social Darwinism นี่มันจะไม่ถูกเสียแล้ว ก็เลยต่อจากนั้นก็เบาลง ตอนช่วงโน้นตอนที่ว่านี่ที่ Social Darwinism ขึ้นนี่ Herbert Spencer มีเกียรติยศมาก มาจากอังกฤษนี่มหาเศรษฐีอเมริกันจัดการต้อนรับกันใหญ่ มี Carnegie มหาเศรษฐี Carnegie, Rocky Feller ตอนนั้นกำลังรุ่งเรือง พวกนี้แหมตอนรับกันใหญ่เลย บอกต้องอย่างนั้นๆ ใครดีใครอยู่ พวกไหนอ่อนแอต้องล้มหายตายไป ตอนหลังก็เลยเบาลง แต่ถึงอย่างนั้นอเมริกันก็ยังเป็น Individualism ก็ถือหลัก มองก็คล้ายๆว่ามองลึกลงไป เหมือนกับมองว่า คนเราธรรมชาติก็เป็นอย่างนี้ คือไม่มองในแง่ว่ามันต้องมีการฝึกฝนพัฒนา ก็ถือว่ามนุษย์ก็มีตัณหามีความปรารถนาไม่สิ้นสุด แล้วทีนี้เศรษฐกิจก็ตั้งอยู่บนฐานนี้เหมือนกัน ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด เอามาเทียบกับพุทธศาสนาก็มี ท่านบอกว่า นัตถิ ตัณหา สมา นที บอกว่าตัณหาคือความอยาก ทะยานอยากได้นี่ไม่มีที่สิ้นสุด แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี แม่น้ำยังรู้จักเต็มแต่ตัณหาไม่รู้จักเต็ม มีพุทธพจน์เช่นอย่างว่า แม้จะเนรมิตภูเขาทั้งลูกให้เป็นทองก็สนองความต้องการของบุคคลเดียวไม่ได้ ไม่พอ เชื่อไหม พอได้ลูกนี้เป็นทองหมดแล้ว ก็อยากได้ลูกอื่นอีก ให้ลูกอีกเป็นทอง เป็นทองไม่พอต้องเป็นเพชร แล้วก็มีชาดกอย่างเรื่องพระเจ้ามันธาตุราช เคยได้ยินไหม นี่ก็แสดงถึงตัณหาที่ไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์นี่ นี้ก็พระเจ้ามันธาตุราชนี้ก็คือว่า พระองค์นี่มีพระชนม์ยืนยาวมากเป็นหมื่นๆปี ตามชาดก อยู่ในยุคปฐมกัปป์ พระองค์ครองราชย์ไปๆ อายุยืนไป เป็นใหญ่ในโลกแล้ว ตอนนี้ พออายุยืนก็มานึก เอ้เราก็เป็นใหญ่ มีอะไรก็มีหมด มันมีอะไรที่ไหนดีกว่านี้บ้างไหมหนอ อยากจะได้ยิ่งขึ้นไปแล้ว ตอนนี้มันชักไม่พอแล้ว รู้สึกชักเบื่อๆ ก็ถามพวกมหาอำมาตย์ราชบริพารว่า เอ้อ มันมีที่ไหนดีกว่านี้ไหมนี่ โลกเราก็อยู่หมด ครอบครองสมบัติมันก็แค่นี้ ชักเบื่อๆแล้ว ทีนี้พวกอำมาตย์ก็บอก โน่นสิ ต้องสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ว่าอย่างนั้น อ้าว อย่างนั้นก็เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จักรพรรดิมีจักรรัตนะ จักรรัตนะก็วงล้อนั่นอย่างไร พาไปได้ หมุนวงล้อก็พาไปนู่น ขึ้นไปสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ท้าวมหาราชสี่ก็ เอ้อ ใจดีออกมาต้อนรับ ท้าวมหาราชสี่ ท้าวโลกบาลทั้งสี่ เอ้อ ท่านมาทำไมล่ะ บอกว่า เรานี่เบื่อแล้วโลกนี้ อยากจะมาครองสรรค์ดูบ้าง ว่าอย่างนั้น ก็บอก อ้าว ไม่เป็นไร อย่างนั้นก็เชิญท่านปกครอง ว่าอย่างนั้น อ้าว ปกครอง อยู่ไปอยู่ไปอีกกี่หมื่นปีไม่รู้ เออ มันเบื่อ มันมีที่ไหนดีกว่านี้ไหม พวกราชบริพารก็ตอบบอกว่า นู่น ชั้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ว่าอย่างนั้น อ้าว จักรพรรดินี้ก็หมุนจักรรัตนะไปต่อ ไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็พระอินทร์ครอบครอง พระอินทร์คือท้าวสักกะ เป็นเทวราช เรียกว่าเป็นราชาแห่งเทวดา ก็ได้ทักทายปราศรัยกันถามว่าท่านต้องการอะไรหรือ มาทำธุระ ก็บอกนี่เบื่อแล้วไอ้สวรรค์ชั้นต่ำ โลกนี้ไม่ต้องพูดถึงอยากจะมาครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บ้าง พระอินทร์ก็บอก เออ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน อ้าว เราก็ต้อนรับท่าน แบ่งให้ครึ่งหนึ่ง ก็เลยให้ครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ครึ่งหนึ่ง ครองไปครองไปต่อมาก็เบื่ออีกแล้วความอยากไม่รู้จักจบ สวรรค์ครึ่งเดียวไม่พอ มันต้องเอาทั้งหมด ทำอย่างไรดี พระอินทร์ก็ขวางหน้าอยู่ทีนี้ นึกไปนึกมาทำอย่างไรดี ทีนี้จะฆ่าพระอินทร์ก็ฆ่าไม่ได้ เป็นเทวราชนี่เขาเป็นอมตะ พวกเทวดา ทีนี้ใจตัวเองก็สนองความต้องการไม่ได้ พอสนองความต้องการไม่ได้มันก็ชักเหี่ยวแห้ง ใจมันชักเหี่ยว พอเหี่ยวแห้งก็โทรม ต่อมาก็เลยหมดอายุ เพราะความที่เหี่ยวแห้ง ใจมันเสีย อิจฉาพระอินทร์ อยากจะได้ดินแดนก็จะทำอย่างไรก็ทำไม่ได้ จะแย่งเขาก็แย่งไม่ได้ เลยก็เลยแก่ แก่ก็สิ้น มรณะ ก็เรียกว่าสวรรคตก็หล่นตุ๊บลงมาจากสวรรค์ ท้าวพระยามันธาตุราชก็หล่นตุ๊บจากสวรรค์ลงมาในสวน อ้าว ตกจากสวรรค์มาในสวน พระสมัยก่อนนี้มีนะ นี่แทรกนิดหนึ่ง คือท่านอ่านแล้วก็พวกใบลานท่านเขียนเป็นตัวลายมือ สวนกับสวรรค์นี่มันคล้ายๆกัน เคยมีพระอ่านคัมภีร์เทศน์ อ่านไปๆ ทำบุญอย่างนั้นทำบุญอย่างนี้ ตายแล้วไปเกิดในสวน ว่าอย่างนั้น ที่จริงนั้นท่านเขียนไว้ว่าตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ อ่านเป็นตายแล้วไปเกิดในสวน เอาละ กลับมาเรื่องของเรา เรื่องของเราก็คือว่าพระเจ้ามันธาตุราชนี่ ก็ตกจากสวรรค์ ก็หล่นตุ๊บลงมาในสวน ในพระราชอุทยาน อันนี้เป็นเรื่องชาดกนะ สวนของพระองค์ไปอยู่อย่างไรล่ะนะ พระองค์ไปอยู่ในสวรรค์ตั้งไม่รู้นานเท่าไหร่ แต่เรื่องมันก็ยังอยู่นั่นแหละ ก็ตกมาในสวนของพระราชาในพระราชอุทยาน ตอนนั้นก็ไม่รู้หลานเหลนขนาดไหนละปกครอง ก็พวกคนที่ไปเห็นเข้าก็เอาอะไรต่ออะไรไปช่วย ไปประคับประคองดูแล แล้วก็ถามว่าเป็นอย่างไร ท่านก็เล่าให้ฟังบอกนี่เราเป็นอย่างนี้ ครองดินแดนมนุษย์ไปจนนานเนแล้ว หมดทั้งโลกก็ไม่พอ ไปสวรรค์ชั้นจาตุมอีกก็ไม่พอ ไปสวรรค์ดาวดึงส์ครึ่งหนึ่งก็ไม่พออีก ก็เลยในที่สุดก็ยังไม่สำเร็จตามปรารถนาก็ถึงสิ้นชีวิตเสียแล้ว ว่าอย่างนั้น ก็นี่คติจากพระเจ้ามันธาตุราช ก็ลัทธิเศรษฐกิจก็ตั้งอยู่บนฐานอันนี้ คือความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทีนี้ฝรั่งเขาก็มองอย่างนี้ว่ามนุษย์นี่มีความต้องการที่ไม่สิ้นสุด ก็ทำอย่างไร ก็เลยนี่จะเอาอย่างไร ก็สนองความต้องการแต่ว่าต้องมีขอบเขตก็คือไม่ให้ละเมิดคนอื่น เพราะฉะนั้นกฎหมายกฎเหมยก็ออกมาในลักษณะที่เป็นปฏิเสธ เป็นเชิงลบ ห้ามกัน อย่าละเมิดกัน แต่ว่าให้คนนี่มีเสรีภาพให้เต็มที่ ถ้าเป็นยุคของ Social Darwinism ก็ไม่มีขอบเขตล่ะ ทำกิจการอะไรต่างๆ ก็ใครดีใครอยู่อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ต่อมาก็ลัทธินี้ก็ได้แค่ว่าต้องผ่อนลงมา ก็เบาลงมาแล้วสังคมอเมริกันก็อยู่มาในลักษณะที่ถือ competition การแข่งขันเป็นหัวใจของการสร้างสรรค์ความเจริญ ใช่ไหม เดี๋ยวนี้เขาก็ยังติดอยู่นี่ความคิดนี้ แม้ว่าไอ้ลัทธิ Social Darwinism จะเบาลงแล้ว แต่แนวคิดเรื่องการแข่งขันนี่เป็นหัวใจของความเจริญ ยังอยู่ แล้วก็ยังเป็น individualism การถือตัวบุคคลเป็นสำคัญ ต้องสนองความต้องการของคน ต้องมีเสรีภาพอะไรต่ออะไรนี่ มันก็เน้นที่ตัวบุคคล ทีนี้มันก็ยังตั้งอยู่บนฐานของการเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ที่ว่า มีความต้องการไม่สิ้นสุดนี่ เราก็เป็นเพียงว่าอย่าให้ความต้องการนี้มันทำให้เกิดโทษ ไปละเมิดเบียดเบียนผู้อื่น แต่ก็ต้องพยายามสนองเขา ในการสนองความต้องการของคน พอมันมี เศรษฐกิจเจริญ อุตสาหกรรมเจริญ สนองความต้อการมากขึ้นก็เป็นบริโภคนิยม มาเกิดปัญหากับธรรมชาติอีกอะไรต่ออะไร ปัญหาการเบียดเบียนกันในสังคม ใช่ไหม นี่ลัทธิแบบทุนนิยมเสรี มันก็ต้องอยู่บนฐานของความคิดอันนี้ เราก็ถือว่ามีความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์นี้แคบ แล้วก็มองสังคมเป็นแบบเดียว สังคมที่เขาเป็นเหมือนอุดมคติที่เขาตั้งไว้นั่นน่ะ เมื่อเขาคิดอย่างนี้เขาก็ต้องตั้งสังคมแบบนี้ สังคมที่มันสนองความต้องการแบบที่ว่า ทีนี้ฝ่ายคอมมิวนิสต์นี่ก็ตรงข้าม แทนที่จะถือตัวปัจเจกชนเป็นใหญ่ก็ถือสังคมเป็นใหญ่ บุคคลต้องเพื่อสังคม ฉะนั้นก็กลายเป็นว่ามองในแง่นั้น หนึ่งก็เพื่อสนองความต้องการเพื่อรักษาสังคมให้อยู่ ก็เลยต้องจำกัดความต้องการของบุคคล ก็กลายเป็นว่าบุคคลนี่ถูกเบียดเบียน จำกัดสิทธิเสรีภาพอะไรต่างๆ แล้วก็ไปถึงขั้นที่ว่า ให้มนุษย์เหมือนกัน ก็กลายเป็นว่าบางคนก็มาติเตียนว่าพวกนี้มันจะเอาให้จนเหมือนกัน มันไม่ใช่ว่าอย่างนั้น มันไม่ใช่แค่เหมือนกันแต่ให้จนเหมือนกันว่าอย่างนั้น นี่ก็กลายเป็นไปอีกแบบหนึ่ง ก็เหมือนกับธรรมชาติมนุษย์นี่เหมือนกับเขามองตายตัว ว่ามีความเป็นมนุษย์ก็คือมีความปรารถนา ความต้องการ มีธรรมชาติอย่างนี้ แล้วก็ทำอย่างไรจะสร้างสังคมที่มันดีที่สุดสำหรับมนุษย์พวกนี้ เราก็เลยถือว่า หนึ่ง ความเข้าใจธรรมชาติมนุษย์มันแคบ จากการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์มันแคบมันก็เลยนำไปสู่ความคิด แม้ที่หวังดีก็ตั้งไอ้ตัวระบบสังคม วางระบบสังคมอุดมคตินี่ไว้แบบเดียว ก็เลยแบบเสรีนิยมก็ไปอย่างหนึ่ง แบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็ไปอีกแบบ เสรีนิยมก็คือปัจเจกชนนิยม แล้วก็คอมมิวนิสต์ก็สังคมนิยม มันก็เอาบุคคลนิยมหรือเอา ถ้าปัจเจกชนนิยมก็คือปัจเจกบุคคล บุคคลนิยมกับสังคมนิยม คล้ายๆสุดโต่งของมันอย่างนี้
ทีนี้อย่างที่ผมพูดคราวที่แล้วนี่ พระพุทธศาสนานี่มองคนละแบบเลย สมัยก่อนนี้พูดกันมาก ก็บอกว่า เอ้อ พุทธศาสนานี่จะเป็นแบบไหน ตอนที่มาร์กซิสต์กำลังขึ้นก็มีคนพยายามบอกว่า โอ พระพุทธศาสนานี่เหมือนมาร์กซิสต์ บอกอย่างนั้นนะ ก็มีหนังสือออกมาเป็นทำนองนั้นอยู่ เปรียบเทียบพระพุทธศาสนานี่กับคอมมิวนิสต์นี่ไปกันได้ แบบเดียวกัน สร้างสังฆะขึ้นมา ไม่ให้มีทรัพย์สินเงินทองอะไรต่ออะไร มันมองดูแง่หนึ่งมันก็คล้ายๆ แต่มองไปถึงฐานรากที่แท้จริง ความเข้าใจต่างๆ แล้วไม่เหมือนกันเลย ทีนี้พระพุทธศาสนามองอย่างไรก็อย่างที่ว่าแล้วนี่ พระพุทธศาสนาก็มองมนุษย์ ธรรมชาติของมนุษย์ก็อย่างนี้ ที่ว่ามีตัณหาไม่รู้จักจบสิ้น มีความต้องการไม่เพียงพอ เท่าไรก็ไม่พอ ในแง่นี้มันก็ต้องมีการจำกัดเพราะไม่เช่นนั้นแล้วเบียดเบียนกัน แต่ทีนี้ท่านไม่ได้หยุดแค่นั้น ท่านถือว่ามนุษย์พัฒนาได้ แล้วก็ความต้องการก็มีสองแบบ เริ่มต้นก็แยกแหล่ะ บอกว่าความต้องการของมนุษย์ไม่ใช่มีตัณหาอย่างเดียว มีฉันทะด้วย แล้วเราจะต้องพัฒนาไป แล้วความสุขเมื่อความต้องการมันไม่ใช่แบบเดียวนี่ความสุขมันก็พลอยเปลี่ยนไปด้วย คือ ไอ้ความสุขนี่อะไร ความสุขก็คือการได้สนองความต้องการ ใช่ไหม ทีนี้ในเมื่อเขามีความต้องการแบบเดียว ก็ความสุขเขาก็มีแบบเดียว คล้ายๆอย่างนั้น ความสุขเกิดจากการได้สนองความต้องการ ทีนี้เขาก็จะมีความสุขประกอบเล็กๆน้อยๆ เช่น ศรัทธาในพระเจ้า อะไรต่ออะไร มีเรื่องศาสนา ซึ่งมันก็เป็นทฤษฎีที่ไม่ตรงกับแนวคิดหลักของเขา แต่ว่าเขาก็ไม่ได้ถือเป็นใหญ่ มันก็มาโยงกันไม่ได้ คล้ายๆกับว่ามันมีคล้ายๆประกอบอยู่ มีความสุขด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าบ้าง อะไรบ้าง แต่ว่าความคิดหลักมันก็อยู่ที่นี่ มองธรรมชาติมนุษย์ก็มีตัณหานั่นเองล่ะ แต่เขาไม่ได้เรียกอย่างนั้น ความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วที่เศรษฐกิจเป็นต้นก็สนองอะไรอย่างนี้ นี้ก็ต้องไปจัดระบบสังคม เอ้า ทำอย่างไรจะไม่มาเบียดเบียนกันด้วยการที่แสวงหาของตัวเอง สนองความต้องการแล้วก็มีความสุข ทีนี้พระพุทธศาสนาก็บอกว่า แค่ความต้องการก็ไม่เหมือนกัน มีความต้องการที่เป็นกุศลกับความต้องการที่เป็นอกุศล มนุษย์เกิดมายังไม่ได้พัฒนามันก็แรงด้วยความต้องฝ่ายอกุศล เพราะว่ามันมีตาหูจมูกลิ้นกายใจมา มันก็ต้องแสวงหา รับรู้ การรับรู้มันก็มีการรู้สึกด้วย ความรู้สึกมันก็นำไปสู่การสนองความต้องการที่สนองบำเรอผัสสะ สนองบำเรอผัสสะก็ทำให้เกิดจากการสุขที่ได้เสพ ทีนี้ถ้าเราปล่อยมนุษย์มันก็ไปสายนี้อย่างเดียว ทีนี้พอเราได้พัฒนามนุษย์ขึ้นมา มนุษย์จะเริ่มไม่ใช่อยู่ด้วยความรู้สึกอยากอย่างเดียว เขาจะเห็นโน่นเห็นนี่ พอได้เห็นเช่นเราเห็นต้นไม้เห็นธรรมชาติอย่างนี้ ที่จริงเราไม่ได้สังเกต เราไม่ใช่ว่ามีหูจมูกลิ้นแล้วก็คอยจะหาเสพหาอะไรต่ออะไรบำเรอผัสสะอย่างเดียวนะ เช่นอย่างเราเห็นต้นไม้ เราเห็นท้องฟ้า มันมีความงามของธรรมชาติ มันก็มีความชื่นชม จิตใจชื่นชมในความงามของมัน โดยที่ว่าพอชื่นชมแล้วก็เกิดความสุขสบายใจได้โดยไม่ต้องเอาอะไรมาให้แก่ตัวเอง ทีนี้ต่อมานี่มันจะพัฒนาได้อันนี้ ก็คือเคยเล่าไว้บ่อยๆ เช่นว่าเราไปเห็นต้นไม้งาม จิตใจเราก็สบาย ทีนี้มันก็จะมีอันหนึ่งคือการรับรู้ของเรานี่ ปัญญาความรู้นี่มันแยกแยะได้ การแยกแยะนี่เป็นงานสำคัญของปัญญา ทีนี้พอมันเห็นต้นไม้งาม ต่อมามันเห็นต้นไม้ที่ไม่งาม เห็นต้นไม้ที่เหี่ยว แม้ต้นไม้นั้นเองก็เหี่ยวลงได้หรือเห็นคู่กันต้นนี้งามต้นนั้นไม่งาม ทีนี้มันก็จะมีก็คือว่าอยากให้มันงามให้มันสมบูรณ์ ให้มันดีของมัน ให้มันดีของมันอยู่อย่างนั้น ดีสมบูรณ์ที่สุดของมัน ทีนี้พอเห็นต้นไม้นั้นไม่งามอย่างนั้น ก็อยากให้มันงามให้มันดีสมบูรณ์ แล้วทีนี้ถ้ามันยังไม่ดีไม่งามไม่สมบูรณ์แล้วเราอยากให้มันเป็นอย่างนั้นแล้วมันยังไม่เป็น มันจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่งคืออยากทำให้มันดี ให้มันงามให้มันสมบูรณ์ ทีนี้พอเราอยากทำให้มันดีให้มันงามให้มันสมบูรณ์ เราก็จะทำ ทีนี้การกระทำต่างๆในระหว่างนี้ ในกระบวนการนี้ทั้งหมดเป็นการสนองความต้องการของเราจะเป็นความสุขหมดเลย เช่นว่า เราอยากให้ต้นไม้นี้มันงามมันสมบูรณ์ แล้วมันงามมันสมบูรณ์เราก็มีความสุข แล้วเราอยากทำให้มันสมบูรณ์ เราไปออกแรงเหน็ดเหนื่อยไปพรวนดิน ไปขุดไปรดน้ำไปตักน้ำมา ทั้งหมดนี้การกระทำนี้เพื่อสนองความต้องการที่อยากทำให้มันงามสมบูรณ์เป็นสุขได้หมดเลย ใช่ไหม ทีนี้เราจะเห็นว่าฉันทะ ไอ้ความต้องการแบบนี้ที่เรียกฉันทะนี่มันเป็นความอยากเพื่อความดีงามของสิ่งนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับตัวเรานะ อยากเพื่อความดีของสิ่งนั้น อยากเห็นถนนนี้งาม อยากอะไรต่ออะไร ไม่เกี่ยวกับการเสพ ถ้าเป็นตัณหานี่มันจะเอาเพื่อเรา ผมจึงได้ยกตัวอย่างบ่อยๆที่ว่า เดินไปในป่าหรือมาในวัดนี่แหล่ะ ก็มาเห็นกระรอกกระโดดโลดเต้นไป คนก็เห็นกระรอกน่ารัก เออ งามดี ทีนี้ถ้าใจเขาเห็นความงามของกระรอก็ชื่นชมความงามของมัน แล้วก็อยากให้มันแข็งแรงร่างกายดีสวยงาม กระโดดโลดเต้นคล่องแคล่วอย่างนี้อยู่ในป่า กระโดดไปตามต้นไม้ ต้นไม้ก็ดูร่มรื่นดีอะไรต่ออะไร จิตใจก็พอใจไปอย่างนี้ ท่านเรียกว่าฉันทะ คือมันไม่เกี่ยวกับตัวเรา แต่ถ้าเกิดว่าไปเห็นกระรอกตัวนี้ ไอ้ตัวนี้ดีนี่ เอามาลงหม้อแกงแล้วได้เรื่องเลย นี่ถ้าอย่างนี้ล่ะก็ตัณหาแล้ว ท่านแยกได้ไหมครับ อยากเพื่อตน อยากจะเอามาบำเรอผัสสะของตัวเอง จะได้อร่อย เข้าปากลิ้มรสอร่อยถูกไหม นี่แค่นี่พอเห็นกระรอกก็ต่างกันแล้ว คนมีฉันทะก็จะไปอย่าง คนมีตัณหาก็ไปอย่าง ก็เอาง่ายๆ คนเรามีความต้องการสองแบบ ที่เป็นกุศลกับอกุศลท่านก็ให้รู้จักแยก ทีนี้มนุษย์นี่ต้องระวังเรื่องตัณหา แล้วถ้าเราไม่พัฒนาเราก็จะเพิ่มดีกรีและปริมาณความต้องการของตัณหา ใช่ไหม แล้วไอ้เจ้าตัวนี้มันกลับมาขวางมาขัดความต้องการฝ่ายกุศลเลย กลบทับเลย บางทีเลยหายไปเลย ทีนี้ก็มุ่งแต่จะหามาเสพเพื่อตนเอง ถูกไหม จะเอาท่าเดียวเลยจะหามาให้แก่ตัวเอง ทีนี้มันก็เกิดขัดแย้งแย่งชิงในสังคม วุ่นวายกันไปหมดเลยทีนี้ แล้วตัวเองก็ไม่อิ่มไม่พอ แล้วความสุขก็ไปพึ่งพาสิ่งภายนอก กลายเป็นความสุขพึ่งพา ไม่เป็นอิสระ เพราะความสุขไม่มีแก่ตัวเองนี่ ยิ่งหามากความสุขก็ยิ่งพึ่งพามาก แต่ก่อนนี้มีนิดเดียวสุขได้ ต่อมานี่ไอ้สิ่งนั้นเบื่อแล้วไม่พอ เหมือนพระเจ้ามันธาตุราช ใช่ไหม แต่ก่อนมีพันหนึ่ง บอกว่าถ้าเราได้แสนนี่สุดยอดเลย พอมาพอได้แสนหนึ่งนี่ว่า โอ้ ชิน เบื่อแล้วไม่ได้ต้องได้ล้านหนึ่ง ต่อมาถ้าเกิดได้ล้านแล้ววันไหนได้แสน โอ๊ย ทุกข์แทบตายใช่ไหม นี่แต่ก่อนนี้ได้พันเดียวก็แสนสุขแล้ว พอได้ล้านคราวนี้ได้พันหนึ่งนี่หงอยเลย เหี่ยวเลยใช่ไหม ทุกข์เลย ทุกข์เต็มที่เลยนี่ นี่ปริมาณความต้องการดีกรีความต้องการของตัณหาไม่จบแล้วก็มาทำให้ความสุขก็ยากขึ้นด้วย ความสุขก็ยากก็ต้องตามหาเสพบำเรอก็ต้องแย่งชิงกันมาก ทรัพยากรก็ไม่พอ แล้วก็เบียดเบียนกันในสังคมไม่พอเบียดเบียนธรรมชาติอีก ระบบสังคมที่มันเป็นมาเป็นอย่างนี้ มันไปในแนวเดียว แนวคิดที่มองธรรมชาติมนุษย์แค่ด้านเดียว ทีนี้เราก็บอกว่า เอาละนะ เราต้องยอมรับมนุษย์ทั่วไป เมื่อยังไม่พัฒนาเขาก็มีตัณหา มีตาหูจมูกลิ่นกายใจมันก็รับความรู้สึก ก็ต้องการสนองความรู้สึกที่จะบำเรอผัสสะให้มีความสุข นี่ตัณหานี่มันก็ต้องยอมรับเขา ก็ปล่อยเขา ไม่ได้ปล่อยเขา หมายความว่าเราต้องยอมรับเขาแล้วก็วางระบบชีวิตสังคมให้มันอยู่กันโดยไม่เบียดเบียนกัน คุณจะหาไปก็หาไปเถอะ แต่ขอวางศีลห้าไว้นะ อย่าละเมิดกัน อย่าให้มันอยู่ไม่ได้ ลุกเป็นไฟ สังคมมันจะอยู่ได้ก็เอา แต่ว่าต่อมาก็จึงฝึกต่อ แค่นี้มันไม่พอนะ คุณจะมีความสุขแบบพึ่งพา แบบสุขจากเสพอย่างเดียวมันน่ะมีโทษหลายอย่าง คราวนี้ท่านก็จะมาบรรยายแล้ว โทษจากสุขจากเสพนี่ เช่น สุขจากพึ่งพา สุขจากเบียดเบียนกัน เป็นสุขที่ไม่รู้จักพออะไรต่างๆเหล่านี้ เป็นสุขที่เบื่อได้อะไรต่างๆเหล่านี้ใช่ไหม ก็พรรณนาบอกว่า มันดีหรอกแต่ว่ามันไม่พอนะ มันต้องดีขึ้นไปกว่านี้ อย่างที่พระพุทธเจ้าเทศน์อนุปุพพิกถาน่ะ เทศน์เป็นลำดับ ทาน ศีล สัคคะ กามาทีนวะ บอกว่าคนนี้อย่าเอาแต่หา เอาแต่ตัว เบียดเบียนคนอื่นนะ การรู้จักให้ปันมันก็ทำให้เกิดความสุขได้ ท่านก็ นี่ธรรมะในพระพุทธศาสนาก็เริ่มที่ทาน เพราะอะไร เพราะคนนี่มันเอาก่อนใช่ไหม มันมุ่งที่จะเอา ตอนแรกก็เอาเพื่อให้ตัวรอด ทีนี้ก็ต่อมาเอาตัวรอดไม่พอมันไม่รู้จักพอ มันก็เบียดเบียนคนอื่น ท่านก็เลยบอกว่า เออ จะเอาอย่างเดียวไม่ได้นะ ต้องให้บ้าง เพราะฉะนั้นธรรมะในพระพุทธศาสนาข้อแรกที่ตั้งขึ้นมาก็คือ ทาน ใช่ไหม ไม่ว่าอะไรหมวดไหนขึ้นทานทั้งนั้น พระราชาทศพิธราชธรรมก็ขึ้นทาน พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีก็ทานบารมีอันดับหนึ่ง สำหรับชาวบ้านทั่วไป บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ขึ้นทานก่อนใช่ไหม จัดเป็นสามก็ทานก่อน บอกมนุษย์นี่ให้ดุลย์ไว้นะอย่าเอาอย่างเดียวต้องให้บ้าง แล้วจากการให้นี่คุณก็สามารถมีความสุขได้ แล้วจะเป็นการพัฒนาจิตใจแล้วจะเกิดไอ้ความต้องการแบบที่สอง พอเราให้ทาน แบ่งปันนี่ ไม่ใช่ให้แบบที่ยั่วยุ ให้อยากจะได้ผลอานิสงส์ จะไปเกิดเป็นใหญ่เป็นโตด้วย อันนั้นก็เขวอีกแล้วใช่ไหม นี่มันทำให้กลายเป็นว่ายิ่งเพิ่มตัณหา มันต้องเอาทานนี่มาฝึกในการที่จะให้เลื่อนขึ้นไปในความต้องการแบบที่สอง ที่เป็นกุศลเป็นฉันทะ ใช่ไหม ทีนี้พอเราให้ทานนี้แบ่งปัน มนุษย์นี่จะเอาอย่างเดียวนะต้องให้บ้าง ทำไมเราต้องให้ล่ะ คนอื่นเขาก็ต้องการแล้วคนอื่นมีทุกข์เดือดร้อนนี่ถ้าเราขืนเอาแต่ได้ ใครมีโอกาสดีใครมีกำลังก็เอาอย่างเดียว ไอ้คนที่ไม่มีกำลังไม่มีโอกาสก็ทุกข์เดือดร้อน นี่เห็นใจเขา แล้วก็ให้เกิดเมตตากรุณา พอเกิดเมตตากรุณาก็อยากเห็นคนอื่นเป็นสุข บอก คุณมีลูกไหม เอ่อ มี มีก็อยากให้ลูกเป็นสุขใช่ไหม ลูกเป็นสุขเราก็เป็นสุขด้วยนะ บางทีเราต้องยอมเสียสละให้แก่ลูก ลูกเป็นสุขเห็นเขาเป็นสุขแล้วก็เป็นสุขด้วย อ้าว อย่างนี้ก็เป็นต้นนี่ เมื่อเราเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างนี้นะ อยากให้เขาเป็นสุข มีเมตตามีไมตรี แล้วก็มีกรุณาอยากให้เขาพ้นทุกข์นี่ พอเรามีความอยากอันนี้ที่เป็นคุณธรรม เป็นความอยากที่อยากให้เขาดี ให้เขาเป็นสุข อยากให้ต้นไม้งาม อยากให้คนหน้าตาสดใส อยากให้เด็กนี้ร่างกายแข็งแรง อยากอย่างนี้เป็นฉันทะ พออยากอย่างนี้ก็พอมีต่อคนมันเป็นเมตตา มีต่อต้นไม้ก็เป็นฉันทะ เมื่อกี้นะ เราอยากให้ต้นไม้นี้งามสดใสแข็งแรง ดอกสวยสะพรั่งมีผลดกอะไรนี่ อยากอย่างนี้ก็เป็นฉันทะ ทีนี้ไอ้ตัวฉันทะนี่มันมีต่อคนก็คืออยากให้คนนี้หน้าตาดีหน้าตาสมบูรณ์ร่างกายแข็งแรงสดใส ก็กลายเป็นเมตตา อันเดียวกัน เข้าใจไหมครับ ฉันทะนี่พอมีต่อคนมันเป็นเมตตา ทำไมท่านมาเรียกเมตตา เพราะต่อคนนี่ท่านต้องการแยกแยะให้ละเอียด ถ้าวัตถุสิ่งของนี่เอาแค่ฉันทะตัวเดียว แต่ทีนี้พอมากับคนนี่แยกเยอะเลย เพราะว่าคนนี่เราต้องสัมพันธ์กันมาก ใกล้ชิดเกี่ยวข้องกันตั้งแต่ในครอบครับเลย ท่านก็แบ่งเป็นสถานการณ์เลย สถานการณ์ที่หนึ่ง ก็อยู่เป็นปกตินี่เราก็อยากให้เขาดีมีความสุข อยากให้เขาหน้าตาเอิบอิ่มผ่องใส มีความสุขอย่างนี้เรียกว่าเป็นเมตตา ถ้าเขาเกิดตกทุกข์เดือดร้อนเราก็อยากให้เขาพ้นจากทุกข์นั้นขึ้นมาเรียกว่า กรุณา แล้วเขาได้มีความสุขมีความสำเร็จแล้วเราก็สนับสนุนส่งเสริม พลอยยินดีด้วย เรียกว่า มุทิตา นี่ สำหรับมนุษย์ก็เลย ฉันทะนี่มาแตกเป็นสามสถานการณ์ นี่ล่ะครับไอ้พวกเมตตาเมตอะไรพวกนี้กรุณา เป็นฉันทะเป็นความต้องการฝ่ายกุศล ทีนี้ท่านบอกว่านี่เราต้องมาพัฒนาความต้องการฝ่ายกุศลขึ้นมา พอเราพัฒนาความต้องการฝ่ายกุศลนี่เราก็จะมีการสนองความต้องการอันนี้เราก็จะมีความสุขจากมันหมดเลย ทีนี้ถ้าเราต้องการสุขจากเสพนะ เราทำอะไรทุกข์หมด เชื่อไหม เพราะว่าเราต้องการรับ บำเรอผัสสะใช่ไหม 32.00 เอ้อ แกจะได้อะไรมาเสพล่ะทีนี้ ตอนเสพจึงจะเป็นสุข มันมีเงื่อนไขว่า ถ้าไม่ทำแล้วไม่ได้เสพไม่มีของจะเสพ ใจไม่อยากจะทำเลย อยากจะบำเรอตัวเองใช่ไหม อยากจะเสพอย่างเดียว แต่มันมีเงื่อนไขว่ามันยังไม่มีเสพ แล้วก็เขาก็ไม่ยอมให้ไปทำร้ายคนอื่นด้วย แย่งเขาก็ไม่ได้ ขโมยก็ไม่ได้ เงื่อนไขเกิดขึ้นแล้วต้องไปทำงาน ก็ไปทำงานก็เพียงเพื่อจะได้มาเสพ ตอนนี้มันไม่ได้อยากทำ มันไม่อยากเห็นผลสำเร็จของงานนั้นหรอก อยากได้ไอ้ตัวนี้ สิ่งตอบแทนมาเสพเท่านั้นเลย มันก็เลยทำด้วยความทุกข์ ถ้าหากว่าเรามีแต่ตัณหานี่การกระทำเป็นความทุกข์เพราะการกระทำนั้นมันไม่ได้เกี่ยวเป็นเหตุเป็นผลอะไรกับการเสพความสุขของเรา การสนองความต้องการของเรา แต่ทีนี้ถ้าหากว่าเราไปอยากเห็นต้นไม้งาม แล้วเราไปทำให้มันงาม ได้สนองความต้องการอันนั้น การกระทำของเรานี่เป็นเหตุเป็นผลโดยตรงกับจุดหมาย ความต้องการของเราก็คือต้นไม้งาม เวลาเราทำไปเราก็จะเห็นว่า เออ ตอนนี้ต้นไม้นี่มันดีขึ้นแล้วอะไรต่ออะไร ความสำเร็จใกล้เข้ามานี่จะเป็นสุขตลอดเลย เพราะฉะนั้นการกระทำที่สนองฉันทะนี่เป็นสุข ทีนี้จะทำได้อย่างไร ต้องเรียนรู้ต้องหาความรู้ การหาความรู้ก็เป็นสุขอีก นี่ละครับกระบวนการของฉันทะ เพราะฉะนั้นท่านก็ให้การศึกษา บอกนี่คุณจะอยู่แค่เสพ ตาหูจมูกลิ้นกายใจผัสสะ ไม่ได้นะ สนองตัณหาแล้วคุณก็ต้องสุขต่อเมื่อเสพอย่างเดียว ทีนี้ก็พัฒนาความต้องการฝ่ายฉันทะขึ้นมา ฝ่ายกุศล คราวนี้ล่ะก็เดินหน้าเลยครับ ก็อย่างที่ว่า การกระทำก็เป็นสุขเป็นการกระทำที่สร้างสรรค์ มีจุดหมายที่ชัดเจนแล้วทำด้วยความขยัน เอาจริงเอาจัง เพราะมันไม่ใช่ทำเพราะเงื่อนไขใช่ไหม ถ้าทำเพราะเงื่อนไข มันไม่เต็มใจทำ มันก็หาทางเลี่ยงอะไรต่ออะไรไป มันก็ยุ่ง ทีนี้ เอาละครับ หนึ่ง การกระทำก็เป็นสุข แล้วการหาความรู้เพื่อให้ทำได้ตามนั้นก็เป็นสุขหมดเลย นี่คือการพัฒนาคนที่แท้ ทีนี้ท่านก็ให้พัฒนาฉันทะขึ้นมา คุณก็จะมีทางหาความสุขเพิ่มขึ้น แต่ก่อนนี่คุณต้องเสพอย่างเดียวจึงจะสุข ต่อไปนี้คุณมีสุขจากการให้แก่ผู้อื่น พอให้แก่ผู้อื่นเห็นเขาหน้าตาดีใช่ไหม เพราะเราเมตตารักอยากให้เขามีความสุขนี่ เราให้ด้วยความปรารถนาดี มีฉันทะ มีเมตตา อยากให้เขาเป็นสุข มันก็ให้ไปแล้วเห็นเขาเป็นสุขก็เป็นสุขด้วย กลายเป็นว่าเราเอาความสุขของเราไปผูกกับเขา เราจะสุขต่อเมื่อเห็นเขาเป็นสุข เหมือนกับเราจะเป็นสุขต่อเมื่อเห็นลูกเป็นสุข อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้รักเพื่อนมนุษย์ก็ขยายออกไปอย่างนี้ อันนี้ความสุขมันก็ขยายขอบเขต ขยายมิติออกไป สุขจากการเห็นธรรมชาติแวดล้อม สุขจากการทำให้สิ่งเหล่านั้นดีงาม ให้ถนนหนทางบ้านเรือนวัดวาอารามมันน่ารื่นรมย์ เราก็อยากจะเห็นประชาชนมีความสุข เอ้อ แล้วประชาชนเขาจะมีความสุขได้เพราะมาเห็นต้นไม้ วัดนี่รื่นรมย์ โอ้ เราก็ต้องทำวัดให้น่ารื่นรมย์เพื่อให้เขามีความสุข มันไปเนื่องกันหมดเลย เราก็ทำเราก็มีความสุขด้วย ท่านบอกว่าวิธีทำให้ปราโมทย์อันหนึ่ง อ้าว อันนี้ก็มาถึงพระใหม่ สอนพระใหม่เลยนะ ท่านบอกว่าพระใหม่ให้ทำใจเหมือนพระจันทร์ ว่าอย่างนั้น พระจันทร์ก็เดินไปในเวหาส่องแสงสว่างนี่ แล้วก็ช่วยให้มนุษย์มีความสุขได้เห็นแสงสว่าง เราก็ทำใจเหมือนพระจันทร์ มีความปรารถนาดีต่อญาติโยมประชาชน แต่ว่าพระจันทร์เขาไม่ได้มีจิตใจหรอกนะแต่หมายความว่าอุปมา คล้ายๆอย่างนั้น พระจันทร์นี่ท่านผ่องใสแล้วท่านก็โคจรไป ให้ความสว่างแก่ประชาชน พระนี่ก็ให้ทำใจเหมือนพระจันทร์ เราก็ปรารถนาดีต่อญาติโยม ขอให้ญาติโยมเป็นสุข แล้วเราก็จาริกไปบิณฑบาตอะไรต่างๆเหล่านี้ ตั้งใจดีงาม อย่างนี้ ใจเราก็จะปราโมทย์ด้วย แล้วก็เจริญในกุศล แล้วก็ทำให้โยมก็พลอยมีความสุขไปด้วย อย่างนี้ ต้องพัฒนาอย่างนี้ หลักในทางพุทธศาสนาก็เลยว่า วางหลักการต่างๆเพื่อพัฒนามนุษย์ในแนวนี้ พัฒนาไปในแนวของฉันทะ ไม่พัฒนาแนวตัณหา ตัณหาคุมแต่ว่ามาพัฒนาฉันทะขึ้นไป นี่แหละระบบฉันทะก็มาหมดเลย ไตรสิกขาอะไรต่ออะไรนี่ก็มาสนองความต้องการในเรื่องฉันทะนี่แหละ พัฒนามนุษย์ ทีนี้ก็เป็นวิธีพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเรามาเน้นที่ความต้องการ เพราะฉะนั้นระบบสังคมของพระพุทธศาสนานี้ก็เลยว่า เป็นการวางหลักแล้วก็มาบัญญัติแม้แต่กฎหมายวินัย ก็จะมาสนองความต้องการนี้ เราจะเห็นว่าการวางกฎหมายระบบนิติธรรมนี่ มันมาจากพื้นฐานนี้เลย ตั้งแต่ความเข้าใจมนุษย์แล้วก็การวางระบบสังคม ว่าจุดหมายของมนุษย์คืออะไร สังคมที่ต้องการคืออะไร นี่กฎหมายมันบอกมันฟ้องหมดเลย ทีนี้เอาละเราก็จะเห็นว่ากฎหมายของพุทธศาสนาที่เรียกวินัยกับกฎหมายของระบบปัจจุบันไม่เหมือนกัน แล้วถ้าสำนึกอันนี้จะมาคิดกันใหม่ว่าจะเอาอย่างไรกับระบบกฎหมาย ระบบกฎหมายก็คือวินัย กฎหมายนี่มักจะเน้นแง่ลบก่อน ใช่ไหม เพราะคนมันสนองความต้องการตัณหานี่มันจะเอานั่นเอานี่ ถ้าตัวเองจะเอามันก็เบียดเบียนคนอื่น มันก็ไปทำลายโน่นทำลายนี่ใช่ไหม เห็นแก่ตัวก็ต้องบัญญัติ โน่นทำไม่ได้นี่ทำไม่ได้ กันกันใหญ่ แม้แต่ทางระบบกฎหมายแพ่งอะไรต่างๆนี่ ก็ต้องกันกันไม่ให้ไปละเมิดคนอื่น เพื่อแสวงหาอะไรต่ออะไร แต่ว่าอีกอันหนึ่งก็เพื่อให้กิจการพาณิชย์เศรษฐกิจดีอะไรต่างๆก็อาจจะมีกฎหมายเชิงบวก แต่ก็บวกให้เชิงเร้าส่งเสริมตัณหาอยู่นั่นแหละ ทีนี้มาดูพุทธศาสนาเพราะว่าแนวคิดพื้นฐานก็เป็นอย่างที่ว่า ถือว่ามนุษย์นี่มีธรรมชาติที่พัฒนาได้ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เริ่มตั้งแต่มีความต้องการที่พัฒนาได้ แล้วเขาจะพัฒนาทุกอย่างแม้แต่ความสุข ก็จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเยอะแยะ ความสุขไม่ใช่มีอย่างเดียว ฉะนั้นก็พัฒนาทุกอย่างเมื่อพัฒนามนุษย์นี่ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจัดตั้งสังฆะขึ้นมา แน่นอนคำสอนนั้นก็เพื่อจะ เขาต้องการมาอยู่แล้วเขาอยากจะมาพัฒนาตัวมาเจริญไตรสิกขานั้นแน่นอน แต่ว่าในแง่สังคมก็ต้องจัดวางระบบสังคมชุมชน ให้มันเอื้อต่อคนจะพัฒนาตัว ฉะนั้นวินัยในพุทธศาสนามีเหมือนพระพุทธเจ้าก็ทรงมีในพระทัย ก็คือวางกฎเกณฑ์กติกาเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการที่บุคคลนั้นจะพัฒนาตัว พัฒนาชีวิตของเขา ถ้าพูดในภาษาเป็นรูปธรรมมากขึ้นก็คือสร้างสภาพเอื้อต่อการเจริญไตรสิกขา ก็คือให้มนุษย์พัฒนาตัวเองได้ดี เจตนาจะอยู่ที่นี่ แล้วทีนี้ถ้าเรามองกว้างไปถึงระบบสังคมทั้งหมดก็คือพุทธศาสนาก็เท่ากับยอมรับมนุษย์ว่ามนุษย์นี่อยู่ในระดับการพัฒนาไม่เท่ากัน พอเกิดมาตอนแรกก็จะเน้นหนักไปทางตัณหา มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนา อ้าว ก็ต้องยอมรับเขาให้เขาอยู่ได้ แต่ว่าอย่าให้เบียดเบียนกันอย่างที่ว่า เช่นว่าวางสีหน้าไว้ กันไว้ก่อน เป็นเกราะ ต่อไปคุณอย่าหยุดนะ พัฒนาตัวไป แล้วคุณจะเจอสิ่งที่ดีงาม ประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ มีความสุขที่สูงขึ้นไปด้วย ก็จัดวางรูปสังคมที่เหมาะแก่ระดับการพัฒนา หรือเหมาะแก่มนุษย์ที่มีการพัฒนาสูงขึ้นไปเป็นระดับๆนั้น ตอนนี้สังคมก็จะต้องจัดให้เหมาะ ฉะนั้นสังคมนี้จะไม่เป็นรูปแบบเดียว แต่ก่อนนี้เคยมีคนพูด คือเขาไม่เข้าใจเขาก็นึกด้วยความคิดแบบนั้นน่ะ เมื่อสี่สิบห้าสิบปีเคยมีคนพูดว่า อ้าว แล้วถ้าคนมาบวชพระหมดแล้วโลกจะอยู่ได้อย่างไร ว่าอย่างนั้นนะ เออ ตอนนั้นก็ทำเอาพระลำบากเหมือนกัน พระพุทธศาสนานี่สอนอย่างไรนี่จะให้คนมาบวชกันนี่ คนมาบวชหมดแล้วโลกมันจะอยู่ได้อย่างไร ตอบอย่างไรล่ะ บอกไม่ต้องไปตอบหรอกคุณ มันเป็นไปไม่ได้หรอกมนุษย์ ท่านไม่ได้บังคับให้ใครมาบวช บวชด้วยสมัครใจ แล้วก็มีระบบชีวิตอย่างนี้ไว้ สนองความต้องการคนที่พร้อมคนที่ต้องการ ทีนี้เราก็ต้องมีเรื่องสภาพชีวิต วิถีชีวิตที่เอื้อต่อการอยู่ดีสนองความต้องการของมนุษย์ที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่ไม่เหมือนกันนี่ เพราะฉะนั้นสังคมแบบพุทธนี่มันจะเป็นแบบนี้ สังคมที่มีความหลากหลาย ที่เน้นความแตกต่างในระดับการพัฒนาของมนุษย์ เราจะให้คนนี่เป็นพระอรหันต์หมดทั้งสังคมไม่ได้เพราะจิตใจเขาไม่ถึง ฉะนั้นเขายังไม่เป็นพระอรหันต์ จิตเขาไม่เป็นพระอรหันต์ แล้วเราจะมาบังคับให้เขาอยู่อย่างพระอรหันต์ได้ไหม ไม่ได้ ต้องให้เขาพร้อม ก็เลยต้องจัดระบบสังคมที่มันสนองความต้องการที่หลากหลายได้ อันนี้มันก็เลยกลายเป็นว่า ความคิดพื้นฐานก็คือว่าการจัดวางระบบสังคมก็ตาม กฎกติกา วินัย กฎหมายนี่จะต้องเอื้อต่อการพัฒนามนุษย์ คือสร้างสภาพเอื้อสิ่งแวดล้อม ระบบสังคม ระบบความสัมพันธ์ วิถีชีวิตที่มันเอื้อต่อการพัฒนาขึ้นมา ส่วนการสนองความต้องการในระดับต่างๆ นั้นก็ว่าไปอีกชั้นหนึ่ง อันนั้นเป็นเหมือนกับตัวรอง ตัวยืนก็คือ มีในใจก่อนว่าเราจะจัดวางกฎหมายเป็นต้นอย่างไร เพื่อจะให้เกิดสภาพเอื้ออันนี้ อันนี้ก็จะเป็นแบบนี้สังคมที่ว่า แต่ว่าสังคมแบบของเขานี่เราจะเห็นว่าเขาไม่มีอันนี้ คือการวางกฎหมายอะไรบัญญัติในสังคมนี่ไม่มีในใจเรื่องว่า การสร้างสังคมให้เป็นสภาพเอื้อต่อการที่บุคคลหรือมนุษย์แต่ละคนจะพัฒนาตัวเองขึ้นไปสู่ประโยชน์สุขหรือจุดหมายที่สูงขึ้นไป อันนี้ไม่มีเลย ก็เลยมีอันเดียวที่ว่า นึกว่ารูปแบบสังคมที่ต้องการก็คืออย่างนี้ สนองความต้องการให้มันมีความสุขกันทั่วทุกคนตามต้องการของตัวเองปัจเจกชนเลยนั่นน่ะ ก็เอากันเข้าไปสิ อยู่นั่นแหละน่ะ ไปไม่รอด ความคิดอย่างนี้ไม่มี การศึกษามันก็กลายเป็นไม่ชัด การศึกษาก็ไม่ชัดว่ามาสัมพันธ์กับระบบสังคมทั้งหมดอย่างไร ก็กลายเป็นว่า ไปๆมาๆ การศึกษาสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจและสังคม ระบบการเมืองอะไรในขณะนั้น เช่นอย่างที่บอกว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์เลยนี่ ในช่วงที่แล้วพัฒนามนุษย์ เดี๋ยวนี้ก็ยังพูดมาก เวลาผมฟังดู นักการเมืองเป็นรัฐมนตรี หรือเป็นสภา ส.ส. ก็จะพูดกันอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เขาใช้ว่าการศึกษาเพื่อจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็อย่างนี้นะ ก็มองมนุษย์ในแง่เป็นทรัพยากร ก็จะได้เป็นกำลังการผลิตที่ดี เป็นการผลิตอย่างได้ผล แม้แต่มองคุณภาพทางจิตใจก็มองแต่ในแง่ว่าให้ไปมีสมรรถภาพมีประสิทธิภาพในการผลิต ไปมุ่ง productivity ทำนองนี้ ทีนี้นี่ล่ะครับความต่างพื้นฐานเลย ฉะนั้นจะต้องจับอันนี้ให้ได้ จับเรื่องของระบบความคิดเป็นฐานก่อน ทีนี้สังคมตะวันตกนี้ก็มุ่งที่จะสนองความต้องการของปัจเจกชน เท่าที่ไม่ละเมิดเบียดเบียนผู้อื่น แล้วก็มองรวมก็ถือว่ามนุษย์นี่ความสัมพันธ์กับธรรมชาติเดิมก็คือว่า มนุษย์นี่ถูกจำกัดอิสรภาพเสรีภาพเพราะธรรมชาตินี่มันไม่เอื้ออำนวยตามต้องการของมนุษย์ใช่ไหม ยิ่งประเทศหนาวนี่ชัดเลย พอหน้าหนาวก็ทำอะไรไม่ได้ จะกินจะอยู่ลำบากไปหมด แม้ทั่วโลกก็จะหว่านข้าว จะทำพืชไร่ไถนาอะไรก็ต้องขึ้นต่อฤดูกาลฝนฟ้า มนุษย์รู้สึกว่าถูกบีบคั้นเหลือเกิน ถูกจำกัด มนุษย์ไม่มีอิสรภาพไม่มีเสรีภาพ ฉะนั้นก็ตัวธรรมชาตินี่เป็นตัวที่มาจำกัดเรา เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดแนวคิดพิชิตธรรมชาติ ต้องเอาชนะธรรมชาติ แนวคิดพิชิตธรรมชาติก็เกิดมาตั้งแต่สมัยกรีก อริสโตเติล เพลโต อะไร โสเครติส นี่ มีแนวคิดแบบนี้หมด จนกระทั่งมาลัทธิคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นก็สนองแนวคิดนี้ แนวคิดเดียวกันหมดเลย ต่างกันเหมือนกับตรงข้าม สังคมนิยมคอมมิวนิสต์กับเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่จริงความคิดฐานลึกลงไปกว่านั้นอันเดียวกัน ก็เป็นวัตถุนิยมด้วยกันทั้งคู่ แล้วก็มาจากฐานที่จะเอาชนะธรรมชาติ บอกว่าต้อง เขามีแนวคิดที่เขาเรียกว่าเป็น Conquest of nature หรือ Mastery over nature, Dominion over nature ต้องครอบครองเป็นใหญ่เหนือธรรมชาติ เอาชนะพิชิตมัน แนวคิดนี้ก็นี่ล่ะครับเป็นฐานของความเจริญของอารยธรรมตะวันตกทั้งหมด มาประมาณเกือบสามพันปี สองพันกว่าปี สองพันห้าร้อยกว่าปีละ เกือบสาม สองพันหกร้อยปีอะไรนี่ แต่ว่ามันมาชะงักตอนยุคสมัยกลางของยุโรป ประมาณหนึ่งพันปี อันนั้นสะดุดเพราะว่าคริสต์เป็นใหญ่ แล้วก็พอ Renaissance ก็ฟื้นแนวคิดกรีกโรมันโบราณขึ้นมา ก็มาพัฒนาวิทยาศาสตร์ก็ขึ้นใหญ่เลย วิทยาศาสตร์นี้ก็คือความเจริญที่สนองแนวคิดพิชิตธรรมชาติของตะวันตก แล้วเขาก็คุย อย่าง Encyclopedia of Britannica นี่เขียนไว้เลยนะ ในเรื่องหนึ่งว่าประวัติศาสตร์ของ Science History of Science ก็พูดถึงว่าแต่ก่อนนี้ตะวันตกนี่ล้าหลังตะวันออก ในด้านของพวกความเจริญที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ แต่ด้วยความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติเอาชนะธรรมชาติ ทำให้ตะวันตกสามารถแซงล้ำหน้าตะวันออกไปได้ในการที่สร้างความเจริญแบบยุคใหม่ ที่เอาแนวคิดวิทยาศาสตร์มาล้วงความลับ วิทยาศาสตร์คือความหมายหนึ่งคือการล้วงความลับของธรรมชาติ มาสนองแนวคิดที่จะพิชิตธรรมชาติเพราะว่าเราจะกำจัดศัตรูก็ต้องไปล้วงความลับของเขาก่อน ได้ความลับมาก็เอามาจัดการมาวางแผนมาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะจัดการกับธรรมชาติ เอามารับใช้สนองความต้องการของเราได้ นี่ก็เลยกลายเป็นว่า หนึ่ง มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ สองมองธรรมชาติเป็นปฏิปักษ์ สามคิดในทางทำลายเบียดเบียนครอบครอง ฉะนั้นก็ความสำเร็จของมนุษย์ก็คือต้องชนะธรรมชาติ เขาก็ยกมาให้ดูแนวคิดของฝรั่งทั้งฝ่ายเสรีนิยมทั้งคอมมิวนิสต์นี่น่ะครับ ที่พูดถึง เดการ์ต (Descartes) นี่ก็ว่ารุนแรงมากต่อธรรมชาติ แล้วก็ของพวกคอมมิวนิสต์คนหนึ่งก็แรงมาก บอกว่าต่อไปธรรมชาติจะเป็นเหมือนขี้ผึ้งในกำมือที่มนุษย์จะปั้นให้เป็นอะไรก็ได้ นี่บอกด้วยอาศัยความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นี่ลองไปอ่านดูพวกนี้ ไปดูในเดการ์ตนี่ก็ชัดเลย เดการ์ตนี่เล่นงานธรรมชาติรุนแรงมาก เดการ์ตก็ถือว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เลยนะนี่ เอาล่ะครับนี่เขาคิดมาอย่างนี้ ก็เขาก็เลยจัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ ไม่คิดเลยว่ามันจะเกิดปัญหาทีหลัง ก็ความเจริญของตะวันตกก็มาอย่างนี้ หนึ่งต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์อาศัยวิทยาศาสตร์เป็นฐานเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยี เทคโนโลยีเจริญขึ้นก็พัฒนาอุตสาหกรรมได้ อุตสาหกรรมต้องพึ่งพาเทคโนโลยี พออุตสาหกรรมพัฒนาได้ดี อุตสาหกรรมก็เอาธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบ แล้วก็ผลิตออกมาก็เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจถูกไหม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม เพื่อเศรษฐกิจ เศรษฐกิจก็คือเพื่อมีวัตถุเสพ มนุษย์ก็จะได้มีสุขจากเสพสมปรารถนา เมื่อไหร่มีวัตถุเสพบริโภคพรั่งพร้อมบริบูรณ์เมื่อนั้นก็มนุษย์ก็เป็นสวรรค์เท่านั้นแหละ ใช่ไหมครับ นี่ก็คือความฝันของตะวันตก เอาล่ะครับก็อารยธรรมตะวันตกก็มาอย่างนี้ จนกระทั่งมา ค.ศ. หนึ่งพันเก้าร้อยหกสิบกว่า อเมริกานี่เกิดความตะหนักรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ที่จริงมันเกิดมานานแล้ว แต่ทีนี้ตอนนั้นมันหนักหนาจนกระทั่งว่า มันเด่นชัดขึ้นมา โอ้โห นี้แย่แล้วพวกแม่น้ำพวกอะไรต่ออะไร น้ำจะเสียกันใหญ่ สิ่งโสโครกขยะที่มนุษย์ทำลงไป ตอนนี้เริ่มตื่นตัว ค.ศ. หนึ่งพันเก้าร้อยหกสิบกว่า แล้วจากนั้นก็ รัฐบาลอเมริกันก็ตั้งไอ้พวกสำนักงาน องค์กร ส่วนราชการขึ้นมาจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ค.ศ. หนึ่งพันเก้าร้อยหกสิบกว่านี่แหละเริ่มตื่นตัวเรื่องนี้ แล้วก็พอ ค.ศ. หนึ่งเก้าเจ็ดสองก็เป็นปีแรกที่มีการประชุมระดับโลก ตอนนั้นก็หมายความว่าอเมริกันก็แพร่ความคิดความตื่นต่อภัยอันตรายของสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาก็มีสองอัน หนึ่ง Depletion of Natural resources การร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ แล้วก็นี่ Pollution เรื่องมลภาวะสูง ก็มีสองปัญหาหลัก ก็เลยต้องหาทางแก้ปัญหา ก็มีการประชุมระดับโลกปี ๑๙๗๒ ก็หาทางแก้ปัญหากันมา ๑๙๙๒ ก็ประชุม Earth summit ประชุมสุดยอด ก็พยายามแก้ปัญหากันไปแล้วก็แก้ไม่สำเร็จ เวลาผ่านไปก็ยิ่งเสื่อมโทรมมากขึ้น นี่คือปัญหาที่เราต้องเอาพุทธศาสนาเข้ามาด้วยนะ เรื่องนี้ก็ถ้าเราใช้แนวคิดพุทธศาสนาเราจะเห็นทางหมดเลย ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่พูดกันยาว แต่ละเรื่องๆ แต่เอาเป็นว่าตะวันตกก็มุ่งไปในแนวนี้ก็คือจัดการกับธรรมชาติ พอเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมตอนนี้เขาสะดุด บอกไอ้แนวคิดพิชิตธรรมชาตินี้ไปไม่ได้แล้ว เขาก็ออกไอ้หนังสือพวกประเภทสิ่งแวดล้อม Environmentalism แล้วก็มีจริยธรรมสิ่งแวดล้อมด้วยนะ Environmental ethics ก็เกิดขึ้นในยุคนี้ ก็เป็นจริยธรรมที่ทำให้จริยธรรมทั้งหลายพลอยสำคัญขึ้นมา เพราะมนุษย์ยุคปัจจุบันนี่ไม่เห็นความสำคัญของจริยธรรมแล้ว จริยธรรมนี่มันเป็นการจำกัดพฤติกรรมของมนุษย์ที่มันอยากจะสนองความต้องการของตัวเองนี่ เพราะฉะนั้นมนุษย์ตะวันตกจะมองจริยธรรมเป็นเรื่องฝืนใจหมดเลย เพระว่ามันทำให้เราทำไม่ได้อย่างที่ชอบใจ ทำนั่นก็ไม่ได้ทำนี่ก็ไม่ได้ ทีนี้ก็จริยธรรมนี่ก็ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ด้วยในสายตาของตะวันตก เพราะว่าเขามาจากจริยธรรมเทวบัญชา พระเจ้าสั่งมา เขาก็บอกว่าไม่จริงหรอก พระเจ้าสั่งเสิ่งอะไร มนุษย์ว่ากันเอาเอง ก็เลยจริยธรรมก็หมดความศักดิ์สิทธิ์ พอเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาคราวนี้จริยธรรมได้รับความสนใจขึ้นมา โอ เรียนกันใหญ่คราวนี้ไอ้จริยธรรมสิ่งแวดล้อมนี่มันขยายไปเป็นจริยธรรมธุรกิจด้วย Business ethics เกิดขึ้นอีก มหาวิทยาลัยต่างๆเรียนกันใหญ่ เพราะไอ้เจ้า Business ethics นี่มันโยงมาหาจริยธรรมสิ่งแวดล้อม ว่าทำอย่างไรให้การทำธุรกิจ โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรม เขาเรียกว่าธุรกิจอุตสาหกรรมนะ ใช่ไหม เขาเรียกอย่างนั้น ธุรกิจอุตสาหกรรมนี่จะไม่เกิดปัญหาทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะไอ้ธุรกิจอุตสาหกรรมนี่ตัวร้ายที่สุด เพราะฉะนั้นก็เลยต้องเรียน Business ethics อีก มหาวิทยาลัยต่างๆก็ตั้งคอร์สพวกนี้กันใหญ่เลย แล้วก็เกิดความสำคัญของจริยธรรมขึ้นมา นี่เรื่องมันในโลกนี่มันยุ่งไปหมดนะครับ อ้าว นี้ก็เป็นอันว่าความคิดตอนนี้ก็คือว่าต้องมองความสัมพันธ์กับธรรมชาติใหม่ หนึ่ง ไม่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ อันนี้เขาจะเน้นมาก ให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ให้มอง separate from nature แต่ให้มองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้วก็สอง ไม่ให้มองเป็นปฏิปักษ์ที่จะไปห้ำหั่นเอาชนะพิชิต แต่ว่าให้มองเป็นมิตร ตอนหลังก็จะมีไอ้พวกแม้แต่ผลิตภัณฑ์ต่างๆก็จัดว่าเป็น nature friendly เคยได้ยินไหม เดี๋ยวนี้ก็จะเป็นออกมาอย่างนี้ เป็นมิตรต่อธรรมชาติ เพิ่งมาเกิดยุคนี่ละครับ ก็พยายามกันไป ก็เป็นอันว่าเปลี่ยนแล้ว แนวความคิดพิชิตธรรมชาติไปไม่ได้ การคิดแยกต่างหากจากธรรมชาติไม่ได้ ต้องมองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเป็นมิตรต่อกันอะไรต่างๆ นี้ ให้อยู่อย่างกลมกลืนอะไรต่างๆ ก็หากันไป นี่แนวคิดของตะวันตกก็แยก เขาเรียกว่าแยกเป็นเสี่ยงๆไป ตอนนี้ก็ยังจับมารวมผสมกลมกลืนไม่ได้ ก็ยังหาทางกันอยู่ แต่รวมแล้วก็คือนี่ หนึ่งความสัมพันธ์ในระหว่างมนุษย์เอง ก็มันหาทางลงไม่ได้เพราะต้องอยู่ด้วยระบบแข่งขัน จึงจะสร้างความเจริญได้ แล้วมันก็เป็น Individualism ที่ปัจเจกชนนิยม มันก็ต้องขัดแย้งกัน เป็นแต่เพียงจะจัดการขัดแย้งอย่างไรที่จะไม่ให้มันเกิดความพินาศแก่ชีวิตและสังคม แล้วในแง่สังคมก็เป็นปัญหาแบบนี้ เมื่อแข่งขันมันก็ต้องแน่นอน มันก็มองกันดีไม่ได้ เป็นมิตรกันเต็มที่ไม่ได้ แล้วก็ปัญหากับธรรมชาติ ความสัมพันธ์กับธรรมชาติก็แปลกแยกที่ว่านี่ ที่เพิ่งจะหาทางที่ว่าจะเป็นมิตรเป็นพวกเดียวกันได้อย่างไร มันก็ฝืนใจอีก เพราะว่ามองมาถึงตรงนี้ก็คือมันขัดกับไอ้แนวคิดเรื่องความสุขอีก เพราะมนุษย์ต้องมีความต้องการแบบนี้ไม่รู้จักจบสิ้น ทำอย่างไรจะได้เสพ สนองความต้องการของบุคคล อ้าว ก็ไปให้ธรรมชาติอยู่ คุณก็เสพไม่ได้เต็มที่ต้องงดต้องเว้นต้องยับยั้ง ยับยั้งชั่งใจ จะไปเอาจากธรรมชาติหมดไมได้ มันจะพินาศ เราจะแย่ด้วย ยอมให้ธรรมชาติอยู่ก็เพราะเห็นแก่ตัวเอง ไม่อย่างนั้นตัวเองก็อยู่ไม่ได้ อ้าว ทีนี้จะยอมให้ธรรมชาติอยู่ เราก็ต้องยับยั้งความสุขของตัวเองก็สุขไม่ได้สมใจอีก โอ้ ตอนนี้ลำบากพิลึก พอสุขสมใจไม่ได้ ไอ้ความที่อยากจะสุขจากเสพมันก็ยังแรงอยู่มันก็เลยยับยั้งจากธรรมชาติได้นิดหน่อยเท่านั้นเอง ใช่ไหมครับ ไอ้การรุกรานธรรมชาติมันก็ยังเป็นแนวใหญ่ กระแสใหญ่ของสังคมปัจจุบัน ของโลกอารยธรรมนี้ เพราะฉะนั้นความเสื่อมโทรมของธรรมชาติแวดล้อมมันก็หนักลงไปทุกวัน มนุษย์ความสัมพันธ์กับธรรมชาติก็ไม่ดี ความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันก็ไม่ดี แล้วชีวิตของตัวเองก็หาดีไม่ เพราะไม่รู้จักพัฒนาความต้องการ ก็มีความสุขอยู่แบบเดียว ต้องสุขจากเสพอีก แล้วก็พอเสพไปเสพไปเบื่อหน่ายอีกไม่เพียงพอ เป็นพระเจ้ามันธาตุราชอีก ผลที่สุดก็เหี่ยวเพราะไอ้ตัวสนองความต้องการไม่พอ ในที่สุดมันไปไม่รอดหรอกสนองความต้องการแบบนั้น พระเจ้ามันธาตุราชเป็นตัวอย่าง ในที่สุดจะเอาสวรรค์พระอินทร์ทั้งหมด ดาวดึงส์ทั้งหมด เอาไม่ได้ก็เลยเหี่ยว เหี่ยวในที่สุดก็แก่ แล้วก็เลยตาย