แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร การเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ จะพูดเรื่องที่ค่อนข้างจะยากสักหน่อยเกี่ยวกับเรื่องคำศัพท์ในพระพุทธศาสนา วันนี้อยากจะพูดเรื่องคำว่า “อัตตา” “อนัตตา” อนัตตานั่นก็เป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา แปลว่าไม่ใช่ตัวตน หรือไม่เป็นตัวตน หรือว่าไม่มีตัวตน ในหลักไตรลักษณ์ “อนัตตา” นี้ก็จะเป็นข้อที่สาม คือท่านจะว่ามาตามลำดับ คือ
สัพเพสังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
สัพเพสังขารา ทุกขา สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ หรือว่าคงอยู่ไม่ได้ และก็
สัพเพธรรมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน
อนัตตาก็ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ตนคือไม่ใช่อัตตา ปฏิเสธอัตตา คนเราธรรมดาก็ย่อมยึดถือเรื่องตัวตน ปุถุชนก็มีความยึดถือว่านี่เป็นตัวเรา มีตัวเรา แล้วก็มีตัวเขา มีตัวคนอื่น นี้เรียกว่ายึดถือในอัตตา แต่พระพุทธศาสนาท่านสอน บอกว่าอัตตานี้ ถ้าว่าให้ถูกต้องแล้วเป็นเรื่องสมมติ คือเป็นสิ่งที่เราสมมติกันขึ้นมาเพื่อจะให้สื่อสารกันได้ให้พูดกันรู้เรื่อง เช่นว่าเป็นมนุษย์ เราก็บัญญัติชื่อขึ้นมาว่าเป็นชื่อนาย ก. นาย ข. เป็นต้น แล้วเราก็ถือเป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงว่าเป็นนาย ก. นาย ข. แต่ว่าตามหลักธรรมะแล้ว ท่านบอกว่านี่เป็นเรื่องสมมติขึ้นมา เราต้องรู้เท่าทันว่ามันเป็นสมมติ ถ้าหากว่าไปหลงสมมติเข้า ก็เอาสมมตินั้นเป็นเรื่องจริงจัง ก็จะเกิดการยึดผิดถือผิด แล้วก็จะเกิดโทษแก่ตนเอง อัตตาที่ว่าไม่ใช่ตัวตนนั้น มันเป็นอนัตตา เพราะอะไร? มีเหตุผลที่เห็นชัดๆอยู่สองข้อ
ข้อที่ 1 ก็คือว่า คือความจริงแล้วที่เราเรียกว่าตัวตนนั้นน่ะ มันเป็นการประกอบเข้ามาขององค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นย่อยๆ ลงไป ส่วนประกอบเหล่านั้นมาประชุมกันเข้าเราก็เรียกว่าเป็นตัวตน แล้วก็สมมติชื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อครั้งที่พระเจ้ามิลินทะกับพระนาคเสนได้พบกัน ก็จะประลองปัญญากันดู ก่อนที่จะเริ่มถามปัญหาธรรมะ ตอนแรกพระเจ้ามิลินท์ก็ลองเชิงถามว่า “ท่านชื่ออะไร” พระนาคเสนบอก “ชื่อ นาคเสน” พระเจ้ามิลินท์ก็เอาเชียวรุกเลยบอก “ไหน? ตรงไหน? นาคเสน ลองชี้มาดูสิ ตัวนาคเสนนั้นอยู่ตรงไหน?” แล้วท่านชี้ว่า “แขนนี้เป็นนาคเสนใช่ไหม, ไม่ใช่ ศีรษะเป็นนาคเสนก็ไม่ใช่” ชี้ตรงไหนๆ ใบหู หน้าตา จมูก ปาก ชี้นาคเสนมีที่ไหน ไม่ใช่สักอัน ชี้หน้าอันนี้มันก็หน้า อันนี้ชี้จมูกมันก็เป็นจมูก ชี้ตามันก็เป็นตา ไม่ใช่นาคเสนสักอัน พระเจ้ามิลินท์ก็ผลที่สุดตรัสถามเสร็จ หาตัวนาคเสนไม่เจอ “ไหนล่ะนาคเสน? นี่ท่านแพ้แล้ว พระนาคเสนไม่เจอ” พระนาคเสนก็ถามกลับมา “เอาล่ะพระองค์ เดี๋ยว เดี๋ยวก่อน ที่พระองค์เสด็จมานี้ มาด้วยอะไร?” “อ้าว บอกมาด้วยรถสิ” พระนาคเสนก็รุกบ้าง “ไหนรถพระองค์ ตรงไหนเป็นรถ ชี้มาสิตรงไหนรถ อ้าว ล้อเป็นรถรึ ไม่ใช่ อันนี้ก็ล้อนี่ จะเป็นรถยังไง” ชี้ที่ก็รถสมัยก่อนไม่ใช่รถสมัยนี้ ถ้าเทียบสมัยนี้ก็อาจจะชี้ไปที่ประตูบ้าง ชี้ที่พวงมาลัยบ้าง ชี้ที่เครื่องยนต์ ก็มีชื่อเฉพาะทั้งนั้นเลย มันไม่มี หาตัวรถไม่ได้ พระนาคเสนก็ “อ้าวนี่พระองค์ ไหนล่ะรถ? พระองค์เสด็จมาด้วยรถ แต่หาตัวรถก็ไม่เจอ” พระเจ้ามิลินท์ก็บอกว่า "ก็เค้าเอาของเหล่านี้นะ เอาล้อบ้าง เอาตัวถังบ้าง เอาเครื่องยนต์บ้าง อะไรต่ออะไรมาประกอบกันเข้าเสร็จแล้วอย่างนี้มันขับไปได้ เขารียกว่ารถ” พระนาคเสนก็บอกว่า “ก็นี่ก็เหมือนกันแหละ ขันธ์ห้ามาประชุมกันเข้า มีกายกับใจ ใจก็แยกออกไปเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ประชุมกันเข้า ส่วนประกอบทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นนาคเสน โลกเขาสมมติกันว่าอย่างนั้น” ก็เอาให้พระยามิลินท์จนซะก่อน พระยามิลินท์ก็ยอม ก็เป็นอันว่ายุติ ปัญหานี่ก็ผ่านไป ก็เป็นอันว่าพระนาคเสนก็ไม่แพ้ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า การประชุมกันเข้าของส่วนประกอบทั้งหลายนี้ เมื่อปรากฏเป็นภาพรวมขึ้นมาแล้วเราก็บัญญัติชื่อเรียกอย่างนั้นอย่างนี้ เรียกว่าเป็นสมมติทั้งสิ้น แต่ว่าสมมตินั้นก็มีประโยชน์เอามาใช้พูดจากันให้รู้เรื่องให้เข้าใจ ทำให้ทำกิจดำรงชีวิตประจำวันได้ แต่ถ้าไปหลงเข้าเมื่อไหร่แล้วก็อาจจะเกิดโทษ เมื่อเกิดโทษก็ไปสัมพันธ์กับการยึดถือตัวตนซึ่งมีความหมายที่สอง
เหตุผลที่ว่ามันเป็นอนัตตานั้น ท่านบอกเพราะไม่เป็นไปในอำนาจ อย่างร่างกายของเราที่มาประชุมกันเข้านี่ ที่เราเรียกว่าตัวเรานี่ มันก็เป็นสมมติ ความจริงนั้นมันไม่ใช่ตัวของเราแท้จริง ถ้าเป็นตัวของเราจริงๆ แล้วมันก็ต้องอยู่ในอำนาจของเรา เราต้องบอกให้มันเป็นไปอย่างใจเราปรารถนาได้ ยกตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คนที่เป็นอัมพาตจะเห็นเลยว่ามันไม่ใช่ตัวของเรา แขนนี่ปกติเราก็ยึดว่านี่แขนของเรา แต่เวลาเป็นอัมพาต ส่วนประกอบของร่างกายมันไม่ทำงาน เราบอกว่าให้ยกขึ้นมันก็ไม่ยอมยก แม้แต่ว่าถ้าเป็นมากให้รู้สึกมันยังไม่รู้สึกเลย เรียกว่าแขนของเราๆ ฉันก็ยึดว่าแขนของฉันแต่มันไม่รับความรู้สึกด้วย และมันก็ไม่ทำตามที่เราต้องการ จะเป็นแขนของเราได้ยังไง ความจริงนั้นมันไม่ได้เป็นไปตามอำนาจของเราหรอก มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือเหตุปัจจัยมาประชุมกันเข้า อย่างแขนนี้ก็ต้องทำงานโดยอาศัยกลไกอวัยวะ มันสัมพันธ์กับกล้ามเนื้อ มันสัมพันธ์กับเส้นประสาท มันสัมพันธ์ไปถึงสมอง ไขสันหลัง อะไรต่างๆ แล้วมันก็ทำงานตามนั้น ถ้าจะสั่งก็ต้องทำตามเหตุปัจจัยของมัน มันจึงจะทำงานได้ จะเอาความปรารถนาเข้าว่าบังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราต้องการจะทำให้มันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะสั่งบังคับเอาโดยตรงไม่ได้ เราต้องไปทำที่เหตุปัจจัยของมัน เมื่อทำที่เหตุปัจจัยของมันแล้ว มันก็เป็นไปตามนั้น เหมือนอย่างเราเห็นชัดๆ อย่าง “น้ำ” นี่ไม่ใช่ตัวตนของเราแน่ เราอยากจะให้มันเดือด เราจะสั่งบอก "น้ำ เดือด” อย่างนี้ มันก็ไม่เดือด ทำไง ก็ต้องทำตามเหตุปัจจัย ทำตามเหตุปัจจัยก็คือเอาน้ำใส่กาเข้าแล้วไปตั้งไฟต้ม แล้วมันก็เดือด ก็เหมือนกับร่างกายของเราเหมือนกัน มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราจะสั่งมันเราก็ต้องทำตามเหตุปัจจัยของมัน อย่างมันเป็นโรคเป็นไข้เป็นเจ็บอะไรขึ้นมา เราก็ต้องแก้ไขด้วยยา ด้วยการผ่าตัดอะไรต่างๆ ทำตามเหตุปัจจัยนั้นๆ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือไม่ใช่ยึดถือแต่เอาความรู้ ในพระพุทธศาสนานั้นท่านจึงไม่ให้เอาความยึดถือมาเป็นหลัก คืออย่าไปยึดถือว่า “เอ้อ นี่ของเรา” แล้วเราก็ปรารถนาให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมันก็ไม่เป็น และเราก็เกิดความรู้สึกโศกเศร้าเพราะว่าผิดหวัง ไม่เป็นไปตามที่ปรารถนา ขัดใจของเรา ตามหลักพระพุทธศาสนาบอกว่า การยึดถือนั้นนำมาซึ่งความทุกข์ ต้องใช้ความรู้ เราต้องเรียนรู้เหตุปัจจัยของมันว่า “โอ้ อันนี้มันเกิดจากอะไร จะแก้ไขได้ ไม่ได้” ถ้าแก้ไขก็แก้ด้วยเหตุปัจจัยนั้น ถ้าเป็นเหตุปัจจัยที่แก้ได้ก็ไปแก้ตามนั้น ถ้าแก้ไม่ได้ก็รู้ว่าแก้ไม่ได้เพราะเหตุปัจจัยมันเป็นไปไม่ได้ เมื่อเราทำด้วยความรู้แล้ว เราก็แก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง หนึ่งก็ได้ผลสำเร็จ สอง จิตใจของเราก็ไม่ถูกบีบคั้นไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเกินไป เพราะฉะนั้นในพระพุทธศาสนานั้นท่านเอาความรู้ เอาตัวรู้นี้แหละเรียนรู้ รู้จักความจริง แล้วแก้ด้วยเหตุปัจจัย คือรู้เหตุปัจจัยแล้วแก้ด้วยเหตุปัจจัย ไม่เอาความยึดถือมาเป็นที่ตั้ง
นี้คือการเรียนรู้เรื่องอนัตตาด้วยความหมายแง่นึง ความจริงมีเหตุผลที่ว่าเป็นอนัตตานั้นท่านยังสอนไว้อีกสองสามอย่าง แต่ในที่นี้ก็ยกมาเป็นข้อสำคัญสองอย่างคือว่า ที่ว่าเป็นอนัตตาไม่ใช่ตนก็เพราะว่ามันเป็นของที่เกิดจากส่วนประกอบมาประชุมกันเข้า เมื่อเป็นของรวมขึ้นมาแล้วก็สมมติชื่อเรียกอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นบุคคลเราก็ประกอบไปด้วยขันธ์ห้า หรือรถก็ประกอบไปด้วยเครื่องประกอบต่างๆ และก็สอง ก็ด้วยความหมายว่าไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามปรารถนา เพราะว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาไม่อยู่ในอำนาจของเรา เพราะว่าเป็นของสมมติไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง อันนี้ก็เป็นเรื่องของอัตตา-อนัตตา
สำหรับอัตตาที่ว่าเป็นตัวตนนั้น เดี๋ยวนี้เรามาใช้ในทางศัพท์เป็นคำที่มีความหมายพิเศษออกไปอีก เช่น เราพูดถึงการถือตัวถือตน เดี๋ยวนี้มีการใช้ศัพท์ว่า “อัตตา” ในความหมายเป็นถือตัวไปก็มี เช่นบอกว่า คนนี้อัตตาแรง คนนี้อัตตาใหญ่ ใครจะมาว่าไม่ได้ หรือว่า พอจะไปข่มขู่บังคับคนอื่นอะไรต่างๆ นี้หมายความว่าความถือตัวนั่นเอง เอามาใช้ว่าเป็นอัตตา อันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับศัพท์ เป็นการใช้ที่ไม่ค่อยสู้จะถูกนัก เพราะอัตตานั้นเป็นเรื่องตัวตนอย่างที่ว่ามาเมื่อกี้ ตัวตนปัญหามันว่ามีหรือไม่มี และก็บอกให้รู้ว่าเป็นอนัตตา เมื่อรู้ว่าตัวตนไม่มีจริงเป็นของสมมติแล้วก็จบกัน แต่ทีนี้เดี๋ยวนี้เราเอามาใช้ “อัตตา” ว่าในความหมายเป็นถือตัวไปก็มี ก็เป็นการใช้ที่ไม่ค่อยจะถูก ความหมายว่าถือตัวนั้น มันมีศัพท์เฉพาะอยู่แล้ว ศัพท์เฉพาะอันนี้ก็คือคำว่า “มานะ” มานะแปลว่าความถือตัว แต่ในภาษาไทยนั้นคำว่า “มานะ” ได้มีความหมายเคลื่อนคลาดไปหมดแล้ว “มานะ” ในภาษาไทยกลายไปเป็น “ความเพียรพยายาม” พอพูดว่ามานะเป็นกิเลสแปลว่าความถือตัว ญาติโยมที่คุ้นกับคำว่ามานะที่แปลว่าพยายามก็เลยชักงง ต้องเลยทำความเข้าใจกันหน่อยเพราะว่าตามธรรมะแล้ว มานะแปลว่าความถือตัว เช่นว่าถือตัวว่าฉันใหญ่กว่า ฉันเหนือกว่า ฉันสูงกว่า ถือตัวอย่างนี้เราเรียกว่าถือตัวที่เข้าใจกันในภาษาไทย แต่ในภาษาของพระนั้น ถือตัวว่าต่ำก็ได้ ถือว่าเราต่ำกว่าเขา เราด้อยกว่าเขา นี่เรียกว่าถือตัวเหมือนกัน หรือแม้แต่ว่า ถือว่าเท่าเขา ฉันกับเขาก็เท่ากัน อย่างนี้ก็เรียกว่าถือตัว ในทางธรรมะนั้นจะถือว่าสูงกว่า หรือจะถือว่าเท่ากัน หรือจะถือว่าด้อยกว่าต่ำกว่า เป็นถือตัวทั้งนั้น เรียกว่าเป็นกิเลสเป็นมานะ ฉะนั้นคำว่า “ถือตัว” ต้องใช้ “มานะ” ไม่ใช้ว่า “อัตตา” จะใช้ว่าอัตตาใหญ่ คนนั้นมีอัตตาแรง อะไรนี้ไม่ถูกต้อง เดี๋ยวนี้ชักจะเริ่มนิยม คงจะต้องแก้กันบ้าง นั้นต้องมาใช้คำว่า “มานะ” ทีนี้มานะนั้นที่แปลว่าถือเพราะว่ามันเป็นกิเลส คือการถือนี่มันไม่ถูกต้องทั้งนั้น แล้วก็อาจจะเถียงว่า เอ๊ะ ก็ถ้าเท่ากันแล้วก็ถือว่าเท่ากัน มันก็ถูกแล้วนี่นา ทางพระท่านบอกไม่ถูก ถ้าตราบใดยังเป็นการถือ มันก็ไม่ถูก เพราะการถือนี่มันเป็นการที่ว่าจิตใจของเรานี่มันมีความรู้สึกจะวัดจะแข่งอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ความรู้สึกในใจที่จะวัดจะแข่งนี่มันเป็นไปเพื่อความไม่ดีไม่งาม อาจจะเบียดเบียนกัน ต่อสู้กัน หรืออะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นยังเป็นกิเลส เมื่อเกิดมีขึ้นมาในใจแล้วก็เป็นเรื่องที่เบียดเบียนจิตใจตัวเอง บีบคั้น หรือว่าทำให้จิตใจนี้เบ่งพองออกไป ไม่เป็นปกติ แล้วทำยังไง ถ้าหากว่าเท่ากันแล้วก็บอกว่าเท่ากันไม่ได้หรือ อย่างนี้แล้วจะพูดยังไง ทางพระท่านบอกว่าพูดได้ รู้ รู้ตามความเป็นจริง คือถ้ารู้ แค่รู้แล้วก็ไม่เป็นไร อย่าถึงกับถือ รู้ว่าสูงกว่า รู้ว่าต่ำกว่า เช่นว่ารู้ว่าตนเองยังมีอินทรีย์ไม่แก่กล้า ยังมีปัญญาน้อยจะต้องร่ำเรียนเพิ่มขึ้น ต้องศึกษาฝึกตน รู้ว่าเท่ากันกับผู้อื่นแล้วอะไรในแง่นี้อะไรนี่ อันนี้เป็นไปเพี่อความดีงาม ทำได้ ก็เป็นเรื่องของความรู้ ฉะนั้นท่านให้รู้ รู้ตามความเป็นจริง ถ้าแค่รู้แล้วไม่เกิดปัญหากับจิตใจ แต่ถ้าไปถือเมื่อใดเกิดปัญหาทันทีก็กลายเป็นกิเลส ดังนั้นมานะที่เป็นกิเลสเพราะว่ามันแปลว่าความถือตัว คือเอาขึ้นมาถือมายึดไว้ แล้วก็ก่อให้เกิดปัญหาในระหว่างของมนุษย์
ก็เอาเป็นว่าในวันนี้อาตมาภาพความประสงค์พูดเรื่องปัญหาเกี่ยวกับศัพท์ การใช้คำที่ได้มีการคลาดเคลื่อนก็เลยว่ามีแง่เกี่ยวกับธรรมะก็เลยพูดธรรมะด้วย จากเรื่องอัตตา-อนัตตาก็มาถึงเรื่องอัตตากับมานะ ก็เอาเป็นเรื่องเกร็ดย่อยประดับความรู้ในด้านภาษาและธรรมะดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็คิดว่าวันนี้ก็พอสมควรแก่เวลา ก็ขออนุโมทนาโยมเท่านี้.