แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขออนุโมทนาท่านผู้บริหาร และครูอาจารย์ทุกๆ ท่าน งานที่ท่านทำนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่างานทางด้านการศึกษา นั้นเป็นเรื่องใหญ่ เรามักพูดกันนักว่าให้การศึกษาแก่เด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ เมื่อเป็นครูอาจารย์นั้นก็เป็นผู้สร้างอนาคตของชาตินั่นเอง เวลานี้มีปัญหาสังคมมากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะปัญหาเด็ก และเยาวชน ทราบกันดีโดยที่ไม่ต้องมาพูดอะไรกันมาก และปัญหาเหล่านี้สืบไปสืบมาก็เนื่องมาจากผู้ใหญ่ด้วย แต่ว่าก็ไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่เองก็โดนเหตุปัจจัยเดียวกับเด็กเหมือนกัน เหตุปัจจัยที่มาจากทั้งภายใน และภายนอก โดยเฉพาะเวลานี้ค่านิยมสังคมก็ทำให้จิตใจของเรามันหันเหไปหาสิ่งภายนอก ซึ่งทำให้รับอิทธิพลได้ง่าย เมื่อไม่มีหลักของตัวเองมันก็ไหล ถูกกระแสพัดพาไป
ทำอย่างไรจึงจะตั้งหลักขึ้นมาได้ การที่จะตั้งหลักขึ้นมาได้ก็จะต้องมีหลัก ตอนแรกเราก็ต้องหาคนที่เป็นหลัก เราก็หวังให้ท่านผู้บริหาร ครูอาจารย์เป็นหลัก แล้วครูอาจารย์ ท่านผู้บริหาร จะเป็นหลักตัวเองก็ต้องมีหลัก ถ้าตัวเองไม่มีหลัก ก็ไม่สามารถเป็นหลักให้เขาได้ ตัวเองก็จะพลอยถูกกระแสพัดพาไปด้วย ตั้งตัวไม่อยู่ เวลานี้ก็เป็นกันมาก ตั้งตัวไม่อยู่ถูกกระแสพัดพาไป ดังนั้นในสภาพสังคม สภาวะการปัจจุบันนี้ต้องการความเข้มแข็ง และต้องการความรู้ ปัญญาด้วย แต่ก็รวมอยู่ในคำว่าเข้มแข็งนั้นแหละ เพราะความเข้มแข็งมีหลายอย่าง เข้มแข็งทางจิตใจ อันนี้เรามักจะพูดในแง่เข้มแข็งทางจิตใจ แต่ว่ามันมีที่เข้มแข็งกว่านั้น คือเข้มแข็งทางปัญญา เราต้องการมากคือความเข้มแข็งทางปัญญา คือความรู้เข้าใจมั่นในหลัก ชัดเจน เมื่อมีความรู้ มีปัญญา ชัดเจนแล้ว ความมั่นใจก็เกิดขึ้น แล้วความเข้มแข็งทางใจก็มา แต่ถ้าคนไม่มีปัญญา ปัญญาไม่เข้มแข็ง ไม่รู้อะไรจริง จิตใจก็เข้มแข็งไม่ได้ มันเข้มแข็งไม่จริง ก็สักแต่ว่าฝืนๆ ไปอย่างนั้นเอง หรือกลายเป็นคนดึงดันไป ถ้าเข้มแข็งแท้มันไม่ต้องดึงดัน มันมีปัญญา ดังนั้นจุดที่สำคัญที่สุด คือต้องมีความเข้มแข็งด้านปัญญา
เวลานี้เขาบอกว่าโลกเป็นโลกแห่งข่าวสารข้อมูล เป็นโลกาภิวัฒน์ที่ไอทีนั้นครอบงำ เรื่องไอทีนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับข่าวสารข้อมูล ก็เป็นเรื่องที่เราถือว่าเกี่ยวกับปัญญา เพราะฉะนั้นความเข้มแข็งทางปัญญาก็จำเป็นในยุคนี้เป็นอย่างยิ่ง แต่ว่าการมีความเจริญทางด้านข่าวสารข้อมูลไม่ได้หมายความว่าจะมีความเจริญทางปัญญา ไม่แน่นอน อาจจะทำให้เกิดความลุ่มหลงมากยิ่งขึ้นก็ได้ คนที่รับข่าวสารข้อมูลไม่เป็น จัดการไม่เป็น คิดไม่เป็น ใช้ข้อมูลไม่เป็น ข้อมูลข่าวสารก็ไม่ทำให้เกิดปัญญา กลับเป็นเหยื่อเขา โดยเขาใช้ข้อมูลนั้นเป็นเครื่องล่อทำให้ลุ่มหลงมัวเมา เป็นเหยื่อเขาด้วยประการต่างๆ ดังนั้นจะต้องมีการฝึกการพัฒนาปัญญาที่ถูกต้อง ไม่เฉพาะว่ามีข่าวสารข้อมูลขึ้นมาแล้วปัญญามันจะเกิด เดี๋ยวนี้เราเห็นได้เลยว่า ข่าวสารข้อมูลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปในทางที่ทำให้เกิดโมหะมากกว่า คือแทนที่จะเกิดปัญญา มันก็เกิดความลุ่มหลงมัวเมา เมื่อลุ่มหลงมัวเมาก็ไปสู่ความประมาท ความประมาทนั้นเมื่อมองในแง่ส่วนรวมนั้นก็คือความเสื่อมของสังคม
ดังนั้นรวมแล้วก็คือว่า ความเข้มแข็งที่แท้จริงต้องมีความเข้มแข็งทางปัญญา แล้วจะเอาชนะกันในโลกปัจจุบันที่บอกว่าเป็นโลกแห่งการแข่งขันก็ต้องเป็นชัยชนะทางปัญญา เงินทองมันไม่ได้เกิดมาได้ง่ายๆ คนไม่มีปัญญาไม่สามารถสร้างทรัพย์ได้ ถึงมีก็รักษาไม่อยู่ ซึ่งเป็นหลักธรรมดาแต่ไหนแต่ไร คนไม่มีปัญญา ทรัพย์ที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้วก็มีแต่หมดไป แต่คนที่มีปัญญา ทรัพย์ที่ยังไม่เกิดก็ทำให้เกิดขึ้นได้ ทรัพย์ที่มีอยู่แล้วก็รักษาไว้ได้ และทำให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น
ในเวลานี้เราเน้นเรื่องเศรษฐกิจกันมาก แต่ว่าเศรษฐกิจนั้นต้องอาศัยปัญญา เราจะต้องพัฒนาคนของเราให้เข้มแข็งทางปัญญา เวลานี้วัฒนธรรมทางปัญญาในสังคมไทยแทบไม่มี เราก็บ่นกันนักว่ามีแต่วัฒนธรรมบริโภค บริโภคนั้นเป็นเรื่องเสพย์ เรื่องเสพย์ก็คือเรื่องความรู้สึก ส่วนเรื่องปัญญานั้นเป็นเรื่องความรู้ ตั้งแต่มองง่ายๆ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานั้นทำหน้าที่ ๒ อย่างในเวลาเดียวกัน คือทำหน้าที่รู้สึก และทำหน้าที่รู้ พอเห็นอะไรก็สบายตา ไม่สบายตา สวยงามหรือไม่ แล้วก็ไปสู่ความชอบใจไม่ชอบใจ อันนี้เรียกว่าเป็นด้านความรู้สึก ซึ่งจะต้องมี อีกด้านหนึ่งคือด้านความรู้ พอตาดูอะไรก็เห็นเป็น เขียว ขาว ดำ แดง ใหญ่ กว้าง สี่เหลี่ยม แหลม กลม อะไรต่างๆ เป็นใบไม้ ต้นไม้ ท้องฟ้า เป็นอะไร แล้วพอมองว่ามันเป็นอะไร เป็นมาอย่างไร เป็นเพราะอะไร ไปยังไงมายังไง ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง มีคุณมีโทษอย่างไร เหล่านี้เป็นด้านรู้ เพียงแค่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา ซึ่งการศึกษาที่แท้ก็อยู่ที่นี่ ใช้ตาดู หูฟังเป็น การศึกษามันก็เริ่ม ถ้าจะใช้แค่เสพย์ความรู้สึก การศึกษามันก็ไม่เดินหน้า เพียงใช้เพื่อรู้ การศึกษาก็จะเริ่มทันที
เวลานี้สังคมของเราเป็นนักบริโภค ไม่เป็นนักผลิต เมื่อเป็นนักบริโภคก็หาแต่เสพย์ เมื่อเสพย์ก็มุ่งไปที่ความรู้สึก ก็จะติดอยู่ที่ความชอบใจไม่ชอบใจ ก็จบ ก็วนเวียนอยู่เท่านี้ สุขทุกข์ก็เกิดขึ้นต่อ เรื่องของความรู้สึก หากเด็กเพียงรู้จักใช้ตาดูหูฟังเพื่อรู้ก็จะเริ่มการะบวนการพัฒนาปัญญาทันที เป็นเรื่องสำคัญมากเวลานี้การศึกษาของเราไม่ได้เน้นเรื่องการใช้ตาดูหูฟัง ก็คือเรื่องอินทรีย์ ใช้ตาดูหูฟังเป็นแค่ดูทีวี ดูเป็น ดูเพื่ออะไร ถามแค่นี้ ถ้าดูที่แท้ ไม่ใช่แค่เสพย์ความรู้สึกสบาย เพลิดเพลิน แต่มันเพื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไร นั่นคือต้องการรู้ แล้วเราก็พัฒนาความต้องการรู้ขึ้นมา ไม่ใช่พัฒนาแค่ต้องการเสพย์ ถ้าความต้องการรู้มันเกิดขึ้น กระบวนการหาความรู้ แสวงหาความรู้มันก็เกิด นั่นก็คือการพัฒนาปัญญา ดังนั้นความต้องการรู้ที่เราเรียกว่าการใฝ่รู้มันก็ไม่มีอีก
มนุษย์นั้นอยู่ที่ความต้องการ พุทธศาสนาก็แยกไว้ชัดว่า ความต้องการมี ๒ แบบ ความต้องการที่เป็นกุศล และอกุศล ความต้องการที่เป็นกุศล คือต้องการรู้ ต้องการทำ ความต้องการที่เป็นอกุศล คือความต้องการเสพย์ความรู้สึกอย่างเดียว เรียกว่าตัณหา ถ้าต้องการทำสิ่งต่างๆ ที่ตนที่เกี่ยวข้องให้ดี เรียกว่าฉันทะ นี่คือจุดแยก เพราะถ้าต้องการทำมันก็จะเริ่มศึกษาทันที คนเราจะทำอะไร ต้องมีความมุ่งหมายว่าจะทำให้เป็นอย่างไร คือหากมันยังไม่ดีก็ทำให้มันดี ถ้าจะทำให้มันดี ก็ต้องรู้ว่าต้องทำอย่างไร แล้วถ้ายังไม่รู้ ก็หาความรู้ การจะทำให้สำเร็จนั้นมันเรียกร้องการหาความรู้ กระบวนการหาความรู้ก็เกิดการพัฒนาปัญญาเข้ามา เพราะฉะนั้นทางพุทธศาสนาบอกว่า ตัวความต้องการนั้น แต่ว่าเป็นความต้องการที่เป็นกุศลที่ถูกต้อง เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา ถ้าตัวนี้ไม่มา อย่าหวังเลยว่าจะเดินได้ ถ้าความต้องการรู้มาแล้ว เด็กจะเดินไปเอง เมื่อเหตุปัจจัยมีแล้ว ผลจะเกิดขึ้นเอง ไม่ต้องไปเรียกร้อง ท่านบอกว่าแม่ไก่อยากให้ลูกออกจากไข่ ถ้าไปยืนอยู่หน้าเล้าไก่ ร้องขออ้อนวอนให้ลูกไก่ออกมา ก็บอกว่าไข่เน่าเปล่า แต่แม่ไก่ไม่ต้องเรียกร้อง ไม่ต้องอ้อนวอน ขึ้นกกไข่ ถึงเวลาไข่ออกมาเป็นลูกไก่ ดังนั้นทางเหตุปัจจัย และผลจึงเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นเรื่องของการศึกษา ก็คือกระบวนการตามธรรมชาติ เราต้องการให้เด็กเรียนรู้ เราก็ต้องสร้างความต้องการรู้ เราต้องการให้เด็กเป็นนักบริโภค เราก็ต้องสร้างความต้องการบริโภค ซึ่งมันง่าย มีอยู่แล้วคือการสนองความต้องการในด้านความรู้สึก เมื่อต้องการความรู้ก็หาความรู้ ความสุขนั้นก็ขึ้นกับความต้องการ เมื่อต้องการเสพย์ ได้เสพย์ สนองความต้องการเสพย์ มันก็สุขเพราะเสพย์ แต่ถ้าเด็กเกิดความต้องการรู้ ได้สนองความต้องการรู้ หาความรู้ได้ มันก็มีความสุข เพราะฉะนั้นนักปราชญ์อย่างไอสไตน์นั้นจะไม่สาละวนกับการหาความสุขจากการเสพย์ เพราะมันอยากรู้ อยากรู้ธรรมชาติมันเป็นอย่างไร เบื้องหลังสิ่งนี้มันเป็นอย่างไร มันเป็นมากันอย่างไร ไม่กินไม่นอน หาความรู้ ต้องการรู้ความจริงของธรรมชาติแล้วความสุขมันมาเอง เดี๋ยวนี้เรามีไหม คนเช่นนี้ในสังคมไทย
ดังนั้นนี่คือเรื่องธรรมดา ธรรมชาติ การศึกษาก็อยู่แค่นี้ สร้างความต้องการขึ้นมา เมื่อต้องการรู้ สนองความต้องการรู้ ก็มีความสุขกับการเรียนรู้ ถ้าคนที่หาความสุขจากการเสพย์ มันได้ความสุขจากสิ่งที่ชอบใจ มีความรู้สึกเป็นสุข ถ้าเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าคนต้องการรู้นั้น สิ่งที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ มันจะได้เรียนรู้ทั้งนั้น ดังนั้นมันจะข้ามพ้นขั้นตอนของความรู้สึก ขั้นตอนความชอบใจไม่ชอบใจ เพราะว่าสิ่งที่ชอบใจก็ได้เรียนรู้ สิ่งที่ไม่ชอบใจก็ได้เรียนรู้ ฉันมีความสุขจากการเรียนรู้ ฉันต้องการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไม่ชอบใจฉันก็ได้เรียนรู้ ฉันก็มีความสุข ดังนั้นคนที่สร้างความใฝ่รู้ หรือความต้องการทางการศึกษาขึ้นมาได้ มันจะมีความสุขแม้แต่จากสิ่งที่ไม่ชอบใจ แล้วต่อไปมันรู้ด้วยว่าสิ่งที่เราไม่ชอบใจนั้นมักจะเรียนรู้ได้มากกว่า เช่นสิ่งที่เป็นปัญหา ถ้าเราเรียนรู้เราจะได้ความรู้เยอะแยะ ดังนั้นมันจะกลายเป็นว่าชอบใจในสิ่งที่ไม่ชอบใจ แล้วมันมีความสุขจากสิ่งที่ไม่ชอบใจ เรื่องการศึกษามันไปเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดา
แต่อาตมาบอกแล้วว่าเราไม่ได้มาคุยกันเรื่องเหล่านี้ ก็เอาเป็นเพียงว่าเอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาฝากท่านผู้บริหาร ครูอาจารย์ เอาเรื่องง่ายๆ ที่อยากจะฝากไว้ว่าตอนนี้เราพูดกันถึงเรื่องพระพุทธศาสนา การสอนจริยธรรมต่างๆ เหล่านี้ จริงๆ มันก็เป็นเพียงถ้อยคำ ความจริงที่แท้มันคืออะไร พุทธศาสนา ธรรมะ หลักคำสอน จริยธรรมต่างๆ เหล่านี้ พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าคุณไม่จับจุดไม่ถูก มันจะทำไม่ได้ผล ธรรมะ หรือพระพุทธศาสนาที่แท้คืออะไร ก็คือธรรมดา ธรรมชาติ ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา เราก็ฟังพระสวดกันอยู่เสมอ พระสวดให้ฟังเวลางาน โดยเฉพาะงานศพ ก็จะได้ยิน อุปปาทา วา ภิกขะเว ตะถาคะตานัง อะนุปปาทา วา ตะถาคะตานัง ตถาคตจะเกิดหรือไม่เกิด ความจริงมันก็เป็นเช่นนี้ ตถาคตมาพบความจริงนี้แล้วจึงนำมาบอกกล่าว
ความจริงนั้นมีเรื่อง ๒ ขั้นที่เกี่ยวกับมนุษย์ ๑ ความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ ๒ ความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติที่มันเป็นอย่างนั้นมันมาสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างไร สัมพันธ์กับมนุษย์ก็คือว่า ถ้ามนุษย์ต้องการจะทำให้เกิดผล หรือต้องการทำให้ชีวิตของตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ดี สังคมที่อยู่ให้ดี ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามความจริงของธรรมชาติ เลยมาเรียกร้องมนุษย์ว่าเธอต้องรู้ และต้องทำให้ถูก มันก็เลยเกิดเป็นธรรมะ ๒ ขั้น ธรรมะขั้นที่ ๑ ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา ๒ ธรรมะคือ ข้อที่มนุษย์จะต้องทำให้ถูกต้องตามความจริงของธรรมชาตินั้น เพื่อให้ผลดีเกิดขึ้นกับตนตามความประสงค์ เท่านี้เอง
เราก็อาจจะเรียกอันที่ ๑ ธรรมะว่า สัจธรรม ที่จริงทางพระใช้ง่ายๆ ว่าธรรมดา และ ๒ ก็คือที่เราเรียกว่าจริยธรรม คือธรรมจริยา สมัยก่อนเรียกอย่างนั้น ส่วนจริยธรรมเพิ่งเกิดเมื่อ ๓๐ ปีนี้เอง อันนี้เป็นหลักทั่วๆ ไปที่เกี่ยวข้องกับเรามากหน่อย ดังนั้นเหมือนอย่างธรรมดา ทางรูปธรรม เราต้องการจะปลูกต้นไม้ เราก็ต้องรู้ความจริงของต้นไม้ หรือธรรมดาของต้นไม้ เนี่ยเอาต้นมะม่วง นี่ยกตัวอย่างบ่อยๆ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันมีอะไรเป็นเหตุปัจจัย มันมีเม็ดเป็นเหตุปัจจัย หรือมีกิ่งที่ตอนมา แล้วก็มีปัจจัยอื่น มีเม็ดอย่างเดียว หรือเหตุปัจจัยเดียวนั้นเกิดไม่ได้ ต้องมีปัจจัยพรั่งพร้อม ปัจจัยอะไรบ้าง มีดิน น้ำ ปุ๋ย โอชา อุณหภูมิที่เหมาะสม เราก็ต้องจัดสรรเหตุปัจจัยให้พร้อม แล้วต้นมะม่วงมันก็จะงอกขึ้นมาตามความประสงค์ พอเรารู้ความจริงของต้นไม้ หรือธรรมดาของต้นไม้ ธรรมดาของต้นมะม่วง เราก็ปลูกต้นมะม่วงได้ เราไม่ต้องเดินไปกินต้นมะม่วงที่อยู่ไกลแล้ว ปลูกต้นมะม่วงที่บ้านได้เลย จริยธรรมก็เช่นเดียวกัน คือการเรียนรู้ความจริงของธรรมดา แล้วเอามาใช้ประโยชน์ให้ได้
การที่จะสอนพุทธศาสนาให้ได้ผลจะต้องถึงขั้นนี้ คือจะต้องมองเห็นพุทธศาสนาว่าคือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา พร้อมทั้งข้อปฏิบัติที่มนุษย์จะต้องทำ เพื่อให้เป็นอย่างถูกต้องตามธรรมดา หรือกฎธรรมชาตินั้น ถ้ามองเห็นอย่างนี้เมื่อไหร่ ธรรมะจะเกิดเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาเลย ไม่เช่นนั้นก็เป็นเพียงข้อมูลต่างๆ เท่านั้น จำกันไป ข้อนั้นว่าอย่างนั้น ข้อนี้ว่าอย่างนี้ ความแตกฉานมันเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นอันที่ ๑ คือต้องให้เข้าใจหลักธรรมถึงขั้นที่รู้ว่ามันก็คือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา ธรรมชาติ แล้วก็การที่เราจะต้องรู้เข้าใจความจริงนี้แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วมันจึงจะเกิดผลดีกับเรา ตามที่เราต้องการ เหมือนอย่างเราไม่รู้จักว่าไฟเป็นอะไร เราก็อาจจะถูกไฟไหม้ และใช้ประโยชน์จากไฟไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้ความจริงของไฟ รู้ว่าไฟประเภทไหนใช้ประโยชน์ได้แค่ไหน มีอุณหภูมิสูงได้สูงแค่ไหน ใช้เผาอะไรได้ด้วยอุณหภูมิขนาดนี้ เราต้องการงานนี้ เราจะใช้ไฟขนาดไหน อุณหภูมิไหร่ เหล่านี้ได้จากความรู้ หรือปัญญาที่รู้จากความจริงตามธรรมชาตินี้ทั้งนั้น นี่ก็เรื่องธรรมะ คือเรื่องนี้นั่นเอง
เป็นว่ามี ๒ ขั้น ๑ คือรู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา แล้วก็ปฏิบัติโดยใช้ประโยชน์จากความรู้จากความจริงนั้น เพื่อให้ชีวิตเรานี้เป็นอยู่ได้ดี สังคมได้รับประโยชน์ อันนี้เป็นข้อย้ำที่ ๑ เพื่อให้การสอนพุทธศาสนา จริยธรรมต่างๆ ได้ผล ข้อ ๒ ก็คือการสร้างวิถีชีวิตให้เป็นที่รองรับ ถ้าวิถีชีวิตมันไม่รองรับ หลักข้อปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์ เพื่อการเจริญงอกงาม วิถีชีวิตนั้นมันไม่เป็นไปในทางเจริญงอกงาม มันไปทางตรงข้าม มันก็เข้ากันไม่ได้ ดังนั้นเป็นธรรมดาที่เราจำเป็นต้องสร้างวิถีชีวิตที่เรียกว่าวัฒนธรรม ถ้าเรามีวัฒนธรรมที่มันสอดคล้อง มันเอื้อ มันก็จะเป็นช่องทาง หรือเปิดโอกาส หรือทำให้เกิดการเรียกร้องที่เราจะเอาธรรมะเหล่านั้นมาใช้ มันจะเป็นไปเอง วิถีชีวิตมันจะเรียกร้องเอง แล้วมันจะเอื้อให้นำมาใช้ประโยชน์ แล้วมันจะสอดคล้อง และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
เรื่องวัฒนธรรมนี้ก็คือเรื่องวินัยนั่นเอง วินัยที่ปฏิบัติโดยไม่ต้องรู้ตัว คือทำไปจนกระทั่งชิน เป็นแบบแผนของสังคมนั้น เกิดมาพ่อแม่ทำอย่างไร ลูกก็ทำอย่างนั้น ไม่รู้ตัวว่าเป็นวินัย ที่จริงคือวินัย ซึ่งวินัยแบบนี้ดี ให้เห็นว่าอย่างเช่นฝรั่งไปเดินเรียงเข้าแถว ที่เรียกว่าเข้าคิวนั้นไม่ต้องบังคับกัน เพราะเขาเกิดมาตามพ่อตามแม่ตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ ตามพ่อแม่ไปไหนก็ต้องทำอย่างนั้น พอโตมาก็เป็นอย่างนั้นไปเอง วินัยก็เกิดขึ้น ส่วนวิถีชีวิต วัฒนธรรมของเรานั้นมันพังพินาศไปแล้ว วินัย วัฒนธรรมข้างนอกไม่อยู่ในเนื้อตัวตัว มันรับกันไม่ได้ เป็นของแปลกปลอม มันก็รับไม่ติด เป็นของบังคับไป ของตัวก็ไม่มีเหลือ ของนอกก็รับไม่ได้ เลยหมด เป็นคนเคว้งคว้างลอยไป ดังนั้นจึงต้องพยายามสร้างวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่จะรองรับพวกจริยธรรมนี้ขึ้นมา ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไปไม่รอด อย่างพระสงฆ์ที่บวชเข้ามาต้องมีวินัย เมื่อพระสงฆ์มีวินัยแล้ว วิถีชีวิตนี้อยู่ในแนวทางที่สอดคล้องกัน ธรรมะต่างๆ ก็เข้ามาได้ ถ้าไม่มีวิถีชีวิตอันนั้นมันก็มายาก อันนี้ก็เป็นข้อย้ำที่ ๒
ข้อย้ำที่ ๓ คือการมองพวกธรรมะ จริยธรรม เรื่องของพระพุทธศาสนาต้องมองให้เห็นภาพรวมที่เป็นระบบ ไม่ใช่เห็นเป็นชิ้นเป็นอันที่เรียกว่าเป็นรายการสินค้า รายการสินค้ามีอันนั้นๆ จะซื้อไหม แล้วก็แล้วแต่ความต้องการ หากไม่มีความต้องการแล้วจะซื้อสินค้าอะไร ต้องสร้างความต้องการขึ้นมา ความต้องการสินค้านั้นซึ่งมันโยงไปหาความมีระบบ ระบบแห่งความสัมพันธ์ต่อสิ่งทั้งหลาย ในหลักพระพุทธศาสนานั้นเป็นระบบที่บอกแล้วว่ามาจากความจริงของธรรมชาติ เช่นระบบความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นต้น ระบบความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ระบบความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เมื่อสิ่งทั้งหลายมันเป็นระบบของมัน มันต้องเห็นภาพรวมของความสัมพันธ์นี้ เช่นเห็นช้างทั้งตัว ไม่ใช่เห็นเป็นชิ้นส่วน จับได้แต่หาง จับได้แต่หู เหมือนในพุทธกาลที่พระพุทธเจ้ายกตัวอย่างมาว่า พระเจ้าแผ่ดินองค์หนึ่งอยากสนุก จึงให้ราชบุรุษไปพาคนตาบอดตั้งแต่กำเนิดมา ไม่เคยเห็นเลย นำมารวมกัน ๑๐ ๒๐ คน แล้วเอาช้างมาให้จับ คนนั้นจับเท้า คนนั้นจับหาง คนนี้จับหู คนนั้นจับท้อง พอจับกันจนพอใจเสร็จ จึงถามคนตาบอดเหล่านั้นว่าช้างรูปร่างเป็นอย่างไร คนที่จับหูก็ว่าไปตามรูปร่างของหู คนหนึ่งจับงวงก็ว่าไปตามรูปร่างของงวง คนที่จับงา จับขา ก็ว่าไปตามนั้น พอคนที่ตอบไปแล้วเมื่อได้ยินคำตอบของผู้อื่น คนตาบอดก็เถียงกัน คนที่พูดก่อนก็บอกว่าไม่ใช่ มันไม่ใช่รูปร่างแบบนั้น เถียงกันไปมา เสียงดังเอ็ดตะโร พระราชาทรงพระสรวลชอบใจ ก็จบ นั่นหมายความว่าถ้าเราไม่รู้ความจริง ไปมองเป็นชิ้นส่วน ธรรมะต่างๆ ก็จะเป็นอย่างนั้น ไม่ได้เห็นช้างทั้งตัว ดังนั้นต้องเห็นช้างทั้งตัว มองธรรมะต้องเป็นระบบ ถ้ายังไม่เห็นทั้งระบบนั้นจะยากที่จะมีความซาบซึ้ง และยากที่จะนำไปใช้ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องย้ำอันที่ ๓
๑ คือมองเห็นเป็นธรรมดา ความจริงตามธรรมชาติ และข้อเรียกร้องจากธรรมชาติ หรือธรรมดาจากเราว่าถ้าคุณจะอยู่ให้ดี ทำให้ได้ประโยชน์ จะต้องปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับความจริงนั้น
๒ เรื่องของการสร้างวิถีชีวิต วัฒนธรรม หรือแบบแผนวินัยที่มารองรับธรรมะ หรือเอื้อเพื่อเป็นช่องให้ธรรมะนั้นเข้ามาได้
๓ การมองเห็นระบบที่เป็นภาพรวมของพระพุทธศาสนา หรือระบบของธรรมดา ธรรมชาติที่ว่านั้น
ใน ๓ ประการนี้แล้วธรรมะจะมาเป็นเรื่องธรรมดา จะเป็นเรื่องง่าย และจะพูดอะไรก็ได้ เพราะพูดอะไรไปก็จะเป็นธรรมะทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ไม่เป็นธรรมะในโลกนี้ ธรรมดา ธรรมชาติ ความจริงของสิ่งทั้งหลายก็อยู่ในธรรมะหมด อย่างน้อยที่จะเห็นได้ง่ายๆ สิ่งทั้งหลายที่เป็นรูปธรรม หรือนามธรรมแล้วมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นเหตุปัจจัยกันอย่างไร ถ้าเราจะเอาสิ่งนี้ไปรวมกับสิ่งนั้น อะไรจะเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องธรรมะทั้งนั้น เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องง่ายๆ
ก็ขอผ่านไป จะมีข้อย้ำอีกสัก ๑ หรือ ๒ ข้อ จะเป็นข้อที่ฝากว่าเวลานี้สถาบันที่สำคัญที่ร่วมมือกับครู เป็นเรื่องของการศึกษาซึ่งทางพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญมากกับพื้นฐาน คือครอบครัว เพราะทุกท่านก็จำได้ว่า ทางพุทธศาสนาพูดว่า พรหมาติ มาตาปิตโร มารดาบิดาเป็นพรหม เป็นผู้สร้างโลก สร้างลูก สร้างลูกให้ไปสร้างโลก แต่ที่จริงความหมายลึกซึ้งกว่านั้น คือทุกคนมีหน้าที่ที่ไม่ต้องรอพระพรหม หรือเทพเจ้ามาสร้างโลก เพราะว่ามนุษย์ทุกคน เมื่อปฏิบัติตามหลักที่เรียกว่าพรหมวิหาร ก็เป็นพรหมทั้งนั้น เป็นพรหมคือเป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์ อภิบาลสังคม หรือโลกนี้ให้อยู่ได้ดี ครอบครัว พ่อแม่จึงเป็นหลักสำคัญ แล้วท่านก็บอกว่า ปุพพาจริยาติ วุจจเร พ่อแม่เป็นบูรพาจารย์ เป็นครูต้น คือครูคนแรก ถ้าครูต้นไม่ทำหน้าที่ มาถึงครูที่ ๒ นี้ลำบาก บางทีอย่างที่เขาพูดว่าสายเสียแล้ว แต่ว่าจะสายไม่สาย ถ้าเขาทำมาให้ดีเราก็ต้องสู้ ครูก็ต้องเข้มแข็ง สู้เต็มที่
แล้วเวลานี้ก็มีท่านอาจารย์ที่บ่นว่าหวังจากครอบครัวไม่ได้ พ่อแม่นี้ไม่ไหวแล้ว ดังนั้นถ้าไม่ไหว ครูทำงานหนัก แต่พร้อมกันนั้นครูต้องไม่ลืมว่า หากต้องการให้ได้ผลดีในระยะยาวต้องให้พ่อแม่ร่วมมือ เพราะฉะนั้นการทำงานของครูต้องไม่ลืมว่าต้องหาทางประสานกับพ่อแม่ให้ได้ และครูจะต้องไปกระตุ้นพ่อแม่ให้ทำหน้าที่ของตัว หน้าที่หลักที่มีต่อลูก คือการให้การศึกษาเบื้องต้นที่แท้จริง การศึกษาในการกินอยู่ การศึกษาที่เป็นชีวิตของมนุษย์ คือการทำให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยดี การศึกษาไม่ใช่เรื่องอะไรมาก คือการทำให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยดี เมื่อเรามีชีวิตอยู่ เราก็เจอนู่น เจอนี่ ต้องทำนั่น ทำนี่ พบคนนู้นคนนี้ พบคนเก่าก็จะพบในสถานการณ์ใหม่ทุกทีไป เวลาเราพบอะไรในสถานการณ์ใหม่ เจอสิ่งอะไรใหม่ๆ เราก็ต้องหาทางปฏิบัติต่อสิ่งนั้นให้ถูกต้อง การที่เราพยายามหาทางปฏิบัติต่อสิ่งนั้นให้ถูกต้อง ให้ได้ผลดีนั้นเรียกว่าการศึกษา มันก็เท่านี้เอง ไม่ใช่เรื่องลึกซึ้งอะไร แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด
การศึกษาคือการทำให้ชีวิตเป็นอยู่ด้วยดี ถ้าชีวิตจะเป็นอยู่ด้วยดีก็ต้องหาความรู้ ต้องพยายามคิดว่าอันนี้มันมาอย่างนี้ แล้วเราจะทำอย่างไร ก็ต้องคิด คนที่ไม่คิด ไม่หาทางทำ ก็ทำอะไรไม่ได้ผล ใช่ไหม มันก็ไม่มีการศึกษา คนที่มีการศึกษาก็จะพยายามปฏิบัติต่อประสบการณ์ สถานการณ์ทุกอย่างเพื่อให้ได้ผลดี ก็เท่านี้เอง การศึกษาก็เกิดขึ้น ดังนั้นใครที่ทำให้ชีวิตอยู่ได้ด้วยดีก็เป็นคนมีการศึกษา จะเรียนไปเท่าไหร่แต่หากทำชีวิตให้เป็นอยู่ดีไม่ได้ก็ไม่มีการศึกษา เพราะว่าการศึกษาเป็นภาระของชีวิต ชีวิตจะเป็นอยู่ได้ด้วยศึกษา คือหาทางรู้ หาทางเข้าใจ เรียนรู้แล้วพยายามให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยดี ชีวิตก็คู่กับการศึกษา เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนาจะไม่เรียกว่าการศึกษาตลอดชีวิต แต่เรียกว่าการศึกษาคือชีวิต หรือชีวิตคือการศึกษา แต่ว่าต้องวงเล็บว่า ชีวิตที่ดีเป็นการศึกษา ก็เท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไร เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติ
เราก็พยายามให้เด็กเป็นอยู่ด้วยดี ต้องเริ่มตั้งแต่พ่อแม่ ดู ฟัง ใช้ตา หู จมูก ลิ้น ดูเพื่ออะไร กินเพื่ออะไร กินอาหาร เครื่องนุ่งห่ม อะไรทั้งหลาย ตั้งคำถามว่าที่กินอาหารนั้นกินเพื่ออะไร วัตถุประสงค์ที่แท้ คุณค่าอาหารที่แท้อยู่ที่ไหน จะใช้วัตถุ ปัจจัย สิ่งของ เทคโนโลยีต้องถามทั้งนั้นว่าอันนี้คุณค่าที่แท้จริงของมันคืออะไร แล้วจะเกิดความมั่นใจทางปัญญา ความมั่นใจทางปัญญาเป็นความมั่นใจที่แน่นอนที่สุด ไม่ใช่ความมั่นใจทางค่านิยม โก้เก๋ไปตามเขา ถ้าเด็กมีความมั่นใจทางปัญญาจะอยู่ได้ เพราะว่า เอ...กินเพื่ออะไร คำตอบชัดเจนแน่นอนถูกต้องคือกินเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย ชีวิตเป็นอยู่ได้ ร่างกายเป็นอยู่ดี สุขภาพแข็งแรง แล้วจะได้นำชีวิตร่างกายนี้ไปใช้ประโยชน์ทำอะไรก็ได้ แต่การกินเพื่ออร่อยตามค่านิยมนั้นเป็นเรื่องที่เปล่าๆ ปรี้ๆ ไม่ใช่ของแน่นอนอะไร เราต้องรู้ทัน เมื่อรู้ว่าเขานิยมกันอย่างนี้ เราปฏิบัติให้ถูก แต่เราอย่าไปหลง เราต้องจับให้ได้ว่าหลักคือ กินเพื่อชีวิต เพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย เป็นต้น
การศึกษาอยู่ที่การดำเนินชีวิตนั่นเอง ดำเนินชีวิตให้ได้ดี พอดำเนินชีวิตได้ดี การศึกษาก็กลายเป็นมรรค ใช้ไหม มรรค แปลว่าทางชีวิต หรือวิถีชีวิต วิถีชีวิตที่ดีเรียกว่ามรรค เกิดขึ้นจากสิกขา คือการศึกษา เมื่อคุณมีการศึกษา คุณก็มีมรรค เพราะฉะนั้นมรรคก็ตรงกับสิกขา เป็นศีล สมาธิ ปัญญาเหมือนกัน คือสิกขาฝึกพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เมื่อฝึกพฤติกรรม จิตใจ ปัญญา ทั้ง ๓ นี้เป็น ๓ ด้านของชีวิตคุณ ชีวิตคุณก็เป็นวิถีชีวิตที่ดีมีการดำเนินชีวิตที่ดีก็เป็นมรรค ก็เท่านั้นเอง
ศีล สมาธิ ปัญญานั้นกว้างกว่าพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาตรงที่ว่าศีลนั้นคลุมไปถึงการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกทั้งหมด การติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก เราติดต่อด้วยอะไรบ้าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งไม่ใช่พฤติกรรมใช่ไหม แต่ทางพระท่านถือว่าเป็นศีล ถ้าเราดูเป็น ฟังเป็น รู้วัตถุประสงค์ในการดู ว่าดูเพื่ออะไร ดูแล้วได้คุณได้โทษ ได้ความรู้ไหม ได้ประโยชน์อะไรไหม หรือได้แต่ความลุ่มหลงมัวเมา สูญเสียเงินทองไปเปล่าๆ อย่างนี้การศึกษาก็เริ่มต้นทันที ก็คือการดำเนินชีวิต
เพราะฉะนั้นการศึกษาของพระไม่มีอะไรมาก เริ่มต้นง่ายๆ เริ่มต้นที่หนึ่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สองเริ่มต้นด้วยการกินอยู่ กินอยู่บริโภค กินเป็น บริโภคเป็น ใช้ของเป็น เท่านั้นเอง และการศึกษาก็เดินหน้าไป แต่ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่สุด นี่คือธรรมะข้อใหญ่ๆ เริ่มต้นท่านบอกว่าใช้อินทรีย์เป็น อินทรียสังวรศีล ศีลก็มาแล้ว ถ้าคุณดูไม่เป็น ฟังไม่เป็น คุณก็ไม่มีศีล คุณกินเป็นไหม กินเพื่ออะไร ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจการกิน ไม่ได้กินด้วยปัญญา ก็ไม่รู้จักการประมาณในการกิน กินพอดีไม่ได้ เพราะว่าคนที่กินตามอร่อยนั้นกินพอดีไม่ได้ ใช่ไหม แต่ถ้ากินด้วยปัญญานั้นรู้ทันทีว่าจะกินแค่ไหน และกินอะไร เพราะฉะนั้นมันเป็นไปเองการศึกษา ท่านก็เริ่มต้นในชีวิตประจำวันในการใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การกิน การอยู่ และการอยู่ร่วมสังคม การสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นการสัมพันธ์กับโลกภายนอก มีความสัมพันธ์ด้วยอะไร ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจหนึ่ง สองสัมพันธ์ด้วยการกระทำ ทางกาย วาจา และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุทางกายภาพอย่างหนึ่ง สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมอย่างหนึ่ง ก็เท่านี้เอง
พอสัมพันธ์ถูกต้อง ศีลก็เกิดขึ้น ปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม วัตถุ อาหาร สิ่งแวดล้อมอะไรต่ออะไรไม่เป็น ศีลก็ไม่มี ปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมทางสังคมต่อเพื่อนมนุษย์ไม่เป็น พูดไม่เป็น ทำอะไรต่ออะไรเป็นการเบียดเบียนไม่เกื้อกูลกัน ศีลก็ไม่มี ศีลก็เป็นเรื่องการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้อง เป็นการเกื้อกูลทำให้อยู่ร่วมกันได้ดี แล้วก็พัฒนาชีวิตของตัวเองไปเรื่อย ความสามารถทางจิตใจก็เกิดขึ้น คุณธรรมก็เกิดขึ้น ปัญญาความรู้เข้าใจก็เกิดขึ้น พอกินเป็นความรู้ ปัญญาก็มาเอง มันไปด้วยกันหมด กระบวนการนี้เป็นกระบวนการบูรณาการ เป็นองค์รวม มันไปในตัวธรรมชาติไม่ต้องไปเรียกร้อง ถ้าปฏิบัติถูกแล้วมันมาเองหมดครบ ๓ อย่าง การบูรณาการเป็นเรื่องเก่าแก่ เพิ่งจะมาพูดกัน
อันนี้เป็นเรื่องที่อาตมาจะขอย้ำว่าจะต้องเริ่มตั้งแต่ในบ้าน พ่อแม่เดี๋ยวนี้ไม่เอาใจใส่ แต่ความสัมพันธ์ที่สำคัญ คือพ่อแม่กับลูกมีความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่ไปสอนแค่ให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ วัตถุ สิ่งของ ตาดูหูฟัง ทีวี อาหารการกิน เสื้อผ้า เป็นต้น แต่สัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันด้วย สัมพันธ์ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สัมพันธ์ด้วยพรหมวิหาร ถ้าหากว่ารู้จักใช้พรหมวิหาร พ่อแม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา และยังมีอุเบกขากำกับไว้ด้วยไม่ให้มันพลาด เด็กก็จะเจริญเติบโตพร้อมบริบูรณ์ ทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ทั้งด้านความรู้สึก ทั้งด้านความรู้ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ
ดังนั้นต้องเน้นว่าครูต้องไปปลุกให้พ่อแม่ตื่นตัวขึ้นมา แล้วย้ำไปอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องพระคุณแม่ เราถือกันมาแต่โบราณว่าพระคุณพ่อแม่นั้นคุ้มครองลูก คุ้มครองอย่างไร คุ้มครองเพราะความซาบซึ้งในใจ รักพ่อรักแม่ ก็คือซาบซึ้งในพระคุณ ความซาบซึ้งนี้ลงลึกเกินที่จะพูด แล้วมันไม่ต้องอธิบาย อธิบายก็ไม่ได้ด้วยใช่ไหม พูดไม่รู้ พูดไม่ถูก ไม่เป็นเหตุเป็นผล และไม่ต้องคิดหาเหตุผล อาตมาเลยยกตัวอย่าง ถ้าซาบซึ้งพระคุณแม่จริงๆ มีความรักกันแต่อ้อนแต่ออกแล้ว มันทำลายความรู้สึกไม่ดีต่างๆ ไปหมด ยกตัวอย่างเวลาไปป่า ได้ยินคนตะโกนว่าเสือ ไม่ต้องไปคิดว่าเสือรูปร่างเป็นอย่างไร มันจะทำอะไรเรา มันจะทำอันตรายอย่างไร ไม่ต้องไปเสียเวลาคิด พอได้ยินว่าเสือเท่านั้น เข่าอ่อน ไม่อย่างนั้นก็วิ่งสุดขีดเลยใช่ไหม มันเป็นไปอย่างนี้
ส่วนพระคุณพ่อแม่ เรื่องของจริงใจมนุษย์ที่ฝึกกันจริงๆนั้น มันลงไปอย่างนี้ มันลงไปถึงขั้นที่เลยเหตุผล พอพูดว่าพระคุณแม่แล้วน้ำตาไหลเลยใช่ไหม ถ้าซาบซึ้งจริงๆ แล้วจะไปทำอะไรร้าย ๑ นึกถึงพ่อแม่ ยกตัวอย่างเช่น ยกมีดขึ้นมาจะทำร้ายคนอื่น พอได้ยินคำว่าแม่ มืออ่อน มีดหลุดมือเลย ถ้าพระคุณแม่ฝังลึกจริงๆ ต้องขนาดนี้ อันนี้คือพระคุณแม่ตามไปคุ้มครอง หรือไปเห็นอะไร นึกถึงแม่ถ้าแม่รู้ แม่จะเสียใจขนาดไหน ใช่ไหม อย่างนี้ไม่ต้องห่วง พระคุณแม่ตามไป สังคมนี้อยู่ได้แต่เวลานี้ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องรีบสร้างขึ้นมา ไม่เช่นนั้นสังคมนี้ไปไม่รอด พระคุณพ่อพระคุณแม่ให้ซาบซึ้งให้ได้ ด้วยความใกล้ชิดกันแล้วมันจะทำลายความรู้สึกทางเพศด้วย
ความรู้สึกที่ปลูกฝังกันทางครอบครัวอย่างดี แต่ลึกซึ้งนั้นเมื่อนึกถึงแม่ มันจะทำความขอบเขตของความรู้สึกทางเพศ แล้วอย่างน้อยมันมาดุล ไปเห็นผู้หญิงอายุมากก็จะนึกเป็นแม่ นึกถึงแม่ นึกคล้ายแม่ อะไรทำนองนี้ตามวัฒนธรรมไทยเราปลูกฝังกันมาว่าให้นึกถึงว่าเป็นแม่ ลุง ป้า น้า อา พี่ ความรู้สึกมันมา ความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องก็สืบมาจากพ่อแม่ พอไปเห็นขึ้นมาก็จะไปนึกถึงแบบพี่น้อง มาดุลกับความรู้สึกทางเพศ มันก็อยู่ได้ สังคมเวลานี้มันหมดความรู้สึกซาบซึ้งพระคุณพ่อแม่ ความรู้สึกต่อหญิงชายแบบพี่น้องมันหมด ดังนั้นก็มีแต่ความรู้สึกทางเพศอย่างเดียว จะไม่มีอะไรดุล อะไรช่วย สังคมนี้ก็พังทลายเท่านั่นเอง
ดังนั้นจะต้องสร้างพระคุณแม่ให้ได้ ซึ่งพระคุณแม่เป็นฐานที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เรารักษาการศึกษา รักษาจริยธรรมไว้ได้ เป็นด่านสุดท้าย ถ้าทำขึ้นมาได้แล้วสังคมจะปลอดภัยขึ้นมาก พูดอะไรขึ้นมาก็ซาบซึ้ง ทำให้ยั้งจากความชั่วร้าย ทำให้ดึงไปสู่ความดีงามต่างๆ ได้ง่าย เหล่านี้เป็นเรื่องครอบครัว และโยงไปถึงเรื่องพรหมวิหาร
ต้องขอฝากไปว่า ต้องเข้าใจอย่างน้อยหลักธรรมต่อไปนี้ให้ถูกต้อง
๑ พรหมวิหาร ๔ คนไทยเข้าใจ เมตตา กรุณา มุทิตา พอไปได้ แต่อุเบกขานั้นผิดพลาดอย่างมหันต์ ไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้ว่าอุเบกขาคืออะไร นึกว่าเฉย แล้วก็เฉยโง่ ทางพระท่านเรียกว่า อัญญานุเบกขา แปลว่าเฉยโง่ คือเฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่อง เฉยเมย เฉยเมินอะไรพวกนี้ เฉยอุเบกขานั้นเฉยด้วยรู้ ตัวอุเบกขานี้มากับปัญญา ส่วนเมตตา กรุณา มุทิตามากับความรู้สึก แต่เป็นความรู้สึก หรือ Emotion ฝ่ายบวก ฝ่ายสร้างสรรค์ เราพัฒนาเมตตา กรุณา มุทิตานั้นเราพัฒนาด้านความรู้สึก ด้าน Emotion ต้องการให้เป็น Emotion ที่ดี ที่ปัจจุบันเรียกว่า EQ แต่เท่านี้ไม่เพียงพอ ตัวอารมณ์นั้นจะต้องมีปัญญากำกับ แล้วตัวอุเบกขานั้นเป็นตัวเชื่อมกับปัญญา ถ้าคนไม่มีปัญญาจะมีอุเบกขาที่ถูกต้องไม่ได้ ท่านเรียกว่า อัญญานุเบกขา แปลว่าเฉยโง่ เป็นอกุศล
ส่วนเฉยด้วยปัญญานั้นก็รู้ คือคนที่ใจเข้าสู่ภาวะสมดุลที่สุดเพราะรู้ชัด ท่านยกตัวอย่างคนขับรถ สารถีที่เชี่ยวชาญ พอขับรถ ออกรถ ทำให้รถเข้าทางด้วยความเร็วพอแล้ว คนขับก็นั่งสบายใจ ใจนิ่ง สบายแต่ว่าไว รู้ มีอะไรผิดพลาดเพียงเล็กน้อยสามารถแก้ได้ทันที แต่อีกคนหนึ่งไม่รู้ไม่ชำนาญในการขับ ใจจะกระวนกระวาย ใจกังวลเป็นห่วง ใช่ไหม ไม่มีความสบายใจเลย แล้วคนพวกนี้ทำได้ดีไหม พวกไม่มีอุเบกขา ขับรถไป เพราะไม่มีความรู้จริง ไม่ชำนาญ อุเบกขา คือการที่มีปัญญารู้ถึงขั้นที่ใจมันลงตัวเลย ใจลงตัวได้ อยู่ตัว เข้าสมดุลเต็มที่ เรียกว่าเป็นสารถีที่เชี่ยวชาญ อย่างคนที่เป็นพระอรหันต์เป็นคนที่เข้าใจวิถีชีวิตอย่างดีแล้ว วางใจต่อชีวิตได้ถูกต้องหมด
ลูกก็เช่นเดียวกัน มีอุเบกขา มีปัญญา อุเบกขานี้คือรู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความดีงาม อะไรเป็นหลัก อะไรเป็นกติกา อะไรเป็นกฎเกณฑ์ อย่างน้อยรู้เหตุรู้ผล แล้วมันก็จะมาเป็นตัวรักษาดุล ให้ทุกอย่างลงตัวอยู่ในความถูกต้อง อุเบกขานี้เป็นตัวสำคัญ ถ้าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูมีแต่เมตตา กรุณา มุทิตานั้นดี มีความรักความอบอุ่น แต่จะเป็นเด็กที่อ่อนแอ ถ้าเมตตา กรุณามากไปจะเป็นเด็กเรียกร้อง และเป็นเด็กที่พึ่งพา พึ่งตนเองไม่ได้ ต้องมีอุเบกขาเข้ามา ถ้าอุเบกขามากเกินไป ก็อาจจะเสีย หรือไม่ก็เข้มแข็งไปเลย เข้มแข็งเพราะไม่ได้รับการเอาใจใส่ ก็จะสู้เต็มที่ แต่ว่าจะเป็นคนแข็งกระด้าง เหี้ยมเกรียม เพราะฉะนั้นต้องมีอุเบกขาเข้ามาอยู่ในหลักการ สังคมที่มีอุเบกขาจะรักษากฎเกณฑ์ กติกาอยู่ แต่อุบกขาก็มาคุม ๓ ตัวแรก เมตตา กรุณา มุทิตาจะช่วยเหลือกันไป เกินขอบเขต เกินกติกาหลักการไม่ได้ ถ้าเกินเมื่อใดอุเบกขาจะเข้ามาจัดการทันที เป็นตัวรักษาสมดุล เพราะฉะนั้นคนไทยไม่รู้เรื่องอุบกขา ขออภัยที่พูดอย่างนี้แต่เป็นเช่นนั้นจริงๆ เป็นอัญญานุเบกขา เฉยโง่ไปหมด ฝากว่าต้องเข้าใจพรหมวิหารให้ชัดเจน ซึ่งเป็นธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง
๒ เรื่องสันโดษ หรือไม่สันโดษ ถ้าถามว่าพุทธศาสนาสอนให้สันโดษ ใช่หรือไม่ ใครตอบว่าใช่ก็ผิด ใครตอบไม่ใช่ก็ผิด ทำไมถึงว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าสอนไว้ ๒ อย่าง ๑ ความสันโดษในวัตถุ เสพย์บริโภค ๒ ความไม่สันโดษในกุศลธรรม ที่ให้สันโดษในวัตถุเพื่อไม่ให้สันโดษในกุศลธรรมได้ เพราะมัวไม่สันโดษในวัตถุ สิ่งบำรุงบำเรอ ก็มัวหาสิ่งปรนเปรอ เป็นอันว่าเวลา แรงงาน ความคิด หมดไป การงานกิจการ การสร้างสรรค์ ไม่มีเวลาทำ ไม่มีความคิดจะทำ ดังนั้นท่านจึงให้สันโดษในวัตถุเสพย์ หาความสุขได้จากวัตถุที่มีพอสมควร แล้วเอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไปทุ่มให้แก่หน้าที่การงาน กิจการ สิ่งที่ดีงาม การสร้างสรรค์ที่เรียกว่ากุศลธรรม อันนี้ท่านไม่ให้สันโดษเลย พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราเห็นชัดมาแล้วกับตนเองถึงคุณค่าของธรรม ๒ ประการ คือ ๑ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย พระพุทธเจ้านั้นเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่สันโดษ พูดได้เต็มที่ แล้วพระองค์ก็ตรัสว่าที่ตรัสรู้ได้เพราะไม่สันโดษ แต่ว่าต้องสันโดษ และไม่สันโดษให้ถูกต้อง ต้องตอบได้ว่าสันโดษในอะไร ไม่สันโดษในอะไร ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ชัด
สองอย่างแล้วที่ฝากไป เอาไปคิด อภิปราย ถกกันก็ได้
๓ อย่าเอาความปล่อยวางมาอ้างเพื่อจะปล่อยปละละเลย บางทีคนไทยเอาความปล่อยวางมาอ้างความปล่อยปละละเลย นั่นคือความประมาท พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้นักหนาว่าไม่ให้ประมาท ถ้าประมาทนี้ผิดพระพุทธศาสนาทันที ดังนั้นจะเอาความปล่อยวางมาอ้างไม่ได้ จะปล่อยปละละเลย อันนี้ต้องให้แม่น เด็ดขาด ความปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของจิตใจที่จะเป็นอิสระ ไม่ติดต่อสิ่งทั้งหลาย แต่พร้อมกันนั้นในแง่ของการกระทำกิจจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ ต้องทำ มีสติตลอดเวลา เตือนตัวเองว่ามีอะไรที่จะต้องทำ มีอะไรที่จะต้องเว้น จะต้องไม่หยุดนิ่ง ก้าวหน้าอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราไม่สรรเสริญแม้แต่ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรม ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรม เราสรรเสริญอย่างเดียว คือการก้าวต่อไปในกุศลธรรมทั้งหลาย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องแม่นยำชัดเจน โดยเฉพาะไม่ใช่เพียงเพื่อไปสอนเด็ก แต่ครู อาจารย์เองจะต้องเข้าใจชัด ไม่ให้ผิดพลาด อย่าเอาความปล่อยวางเป็นข้ออ้างเพื่อจะปล่อยปละละเลย
ยกตัวอย่างเช่นเรื่องอนิจจังที่ว่าไม่เที่ยงนั้น เพื่ออะไร อนิจจังเป็นหลักความจริง เราพูดกันแล้วว่าธรรมะนั้นหลักๆ มี ๔ ความหมาย แต่เราเอาเพียง ๒ ความหมายที่พูดไปแล้ว ๑ คือความจริงของธรรมดาที่มีอยู่ตามธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ส่วน ๒ ข้อที่เราจะต้องทำเพื่อให้สอดคล้องกับความจริงนั้น จะได้เป็นประโยชน์ และเป็นผลดีกับเรา ธรรมะนั้นมี ๒ อย่าง
ธรรมะอย่างอนิจจัง ไตรลักษณ์นี้เป็นธรรมะประเภทใด คือเป็นประเภทที่ ๑ คือความจริงตามธรรมดาของมันอย่างนั้น อนิจจัง สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น จากความจริงอันนั้นเหมือนกับไฟร้อน เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะเกิดผลดีกับเรา หลักอนิจจังในแง่ข้อปฏิบัตินั้นเรียกร้องอะไรจากเรา ต้องตอบได้ อันนี้เป็นตัวอย่างเท่านั้น ธรรมะอื่นก็เหมือนกัน ต้องแยกได้ทันทีเวลาใครพูดมา ธรรมะที่เป็นหลักความจริง หรือธรรมะภาคปฏิบัติ ภาคที่เราจะต้องทำเพื่อให้สอดคล้องกับความจริงนั้นจะได้เกิดผลดีกับชีวิตของเรา
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตรลักษณ์นั้นเป็นหลักประเภทที่พูดถึงความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา เมื่อความจริงมีสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแล้วเราจะต้องทำอย่างไร อันนี้เราต้องตอบให้ได้ ขั้นต้นที่ ๑ ที่พระพุทธเจ้าสอนมากที่สุดคือเมื่อเป็นอนิจจัง เราต้องไม่ประมาท ใช่ไหม พุทธพจน์เพื่อจะปรินิพพาน ปัจฉิมวาจา วยธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา คือบอกอนิจจัง (เพราะฉะนั้นเธอทั้งหลายจงทำกิจทั้งปวงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท) สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันจะเปลี่ยนแปลงไป ชีวิตของคุณก็ไม่แน่นอน มันเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นมีอะไรจะทำควรทำ ต้องรีบทำ จะประมาทไม่ได้ นี้คือหลักการพื้นฐานของหลักอนิจจัง
ข้อปฏิบัติเรียกร้องทันทีว่าเมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง เราต้องไม่ประมาท แต่ไม่จบเพียงเท่านี้ อะไรอีก สิ่งทั้งหลายไม่ได้จบไปอย่างเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจะต้องเรียนรู้ ศึกษาเหตุปัจจัยของมัน แล้วทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัย ตรงนี้สำคัญยิ่งกว่านั้นอีก
เราไม่ได้พิจารณาอะไรในเรื่องเหล่านี้เลย พออนิจจังมา สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป เพราะฉะนั้นมันเจริญแล้วมันก็เสื่อมก็ต้องปล่อยมันไป อันนี้คือความประมาทชัดๆ ท่านไม่ได้บอกว่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างเลื่อนลอย อยู่ๆ มันเปลี่ยนเมื่อไร มันมีเหตุปัจจัย ดังนั้นคุณต้องศึกษาเหตุปัจจัย แล้วถ้าคุณต้องการความเจริญ คุณต้องศึกษาเหตุปัจจัยความเสื่อมแล้วกำจัด ป้องกันเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม แล้วศึกษา แล้วสร้างสรรค์เหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญ มันก็เป็นเรื่องธรรมดาอย่างนี้
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ถ้าคุณปฏิบัติธรรมเช่นอย่างนี้ๆ จะไม่มีทางเสื่อม แต่ทำไมพระพุทธเจ้าบอกว่า อนิจจัง สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เราก็บอกว่าสิ่งทั้งหลายเจริญแล้วก็เสื่อม แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าปฏิบัติเช่นนี้แล้วไม่มีเสื่อม พระพุทธเจ้าตรัสขัดกันหรือไม่ พระองค์ไม่ได้ตรัสขัดกันเลย อาตมาฝากไว้ให้ไปคิดว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง กับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อปฏิบัติธรรมเช่นนี้แล้วจะมีแต่เจริญ ไม่มีเสื่อมนั้นขัดกันหรือไม่ ให้ไปคิด ตีให้ออก และอธิบายให้ชัดด้วย ถ้าอธิบายไม่ชัด สอบตก ต้องอธิบายให้ได้ว่าสองสิ่งนี้หนุนกัน นี่คือเรื่องอนิจจัง
อนิจจังอีกอย่าง คือคุณค่าทางความรู้ ทางปัญญา ที่ทำให้จิตวาง เกิดสมดุล หมายความว่าไม่ทำให้ไปตกเป็นเบี้ยล่างชองสิ่งทั้งหลาย ใช่ไหม สิ่งทั้งหลายนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นอนิจจัง ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน ไม่มีปัญญา จิตของเราก็เข้าไปถูกมันกดบีบ เราก็เกิดทุกข์ขึ้นมา แต่พอเรารู้ทันอนิจจัง จิตเราก็วางตัวลงเป็นอิสระได้ ไม่เป็นทาสของความเปลี่ยนแปลง จิตเป็นอิสระเช่นนี้คือความรู้เท่าทัน คนไทยมักเอามาใช้ในแง่นี้แล้วรู้ไม่ตลอด บอกว่าอนิจจังคือสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แล้วก็ปลง จบ เลยไม่ต้องทำอะไร ความปล่อยวางจึงกลายเป็นความปล่อยปละละเลย ความปล่อยปละละเลยก็เป็นความประมาท จบ ก็เสื่อม ปมาโท มัจจุโน ปทัง ตายเลยทีนี้ ไปไม่รอด ปฏิบัติธรรมครึ่งๆ กลางๆ อย่างนี้จะไปไม่รอด
ฝากอีกอย่างหนึ่ง อัตตาหิ อัตโน นาโถ ขอถามว่าตนเป็นที่พึ่งของตนนั้น เป็นหลักความจริงหรือหลักปฏิบัติ ให้เถียงกันไป แค่นี้ก็ขัดกันแล้วใช่ไหม พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๒ ชั้น ไม่ได้ตัดจบไม่เท่านี้ ตนเป็นที่พึ่งของตน และมีตนที่ฝึกดีแล้วจะได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก เพราะฉะนั้นตนเป็นที่พึ่งของตนนั้นเป็นความจริงตามธรรมดาด้วย ส่วนทำตนให้เป็นที่พึ่งได้นั้นเป็นข้อปฏิบัติ แล้วสำคัญมาก เราไม่ได้เน้นกันเลย เรื่องทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ เป็นเรื่องใหญ่ ใช่ไหม เมื่อทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ก็ต้องฝึกตัว ต้องพัฒนา แล้วสิกขา หรือการศึกษาก็จะมา พัฒนาคน บอกว่าตนเป็นที่พึ่งของตน แล้วบอกให้พึ่งตน แต่ถ้าตัวเองไม่มีอะไรเลย ไม่มีความสามารถแล้วจะฝึกอย่างไร ใช่ไหม เพราะฉะนั้นจะเป็นสิ่งที่เราสับสน พระพุทธเจ้าเน้นที่ว่าทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ครูอาจารย์ต้องไปเน้นข้อนี้ ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด
อาตมาพูดมาเกินเวลาแล้ว เจริญพร พูดไปแบบกันเองแล้วกัน สบายๆ สิ่งนี้เป็นหลักที่ฝากไว้ เพราะท่านผู้บริหาร ครูอาจารย์จะต้องชัดกับธรรมะเหล่านี้ก่อน และต้องไม่พลาดเลย แล้วเมื่อเข้าใจธรรมะเหล่านี้ชัด มันจะโยงกันเอง มันมีระบบความสัมพันธ์ บอกแล้วว่าพุทธศาสนานั้นสอนความจริงตามธรรมดา ความจริงตามธรรมดานั้นคือระบบความสัมพันธ์แห่งสิ่งทั้งหลาย เช่นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นต้น ธรรมะก็เป็นเรื่องของระบบความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน ธรรมะข้อนี้เป็นองค์ประกอบในระบบความสัมพันธ์อันนี้ จะเป็นเหตุปัจจัยของอันนั้น นำไปสู่จุดหมายเช่นนี้ มันสัมพันธ์กันอย่างไร เอื้อกันอย่างไร ต้องมองให้ได้ขนาดนี้ จนกระทั้งจุดหมายแต่ละอย่างไปเกื้อหนุนกัน สัมพันธ์กับอันนี้ ส่งผลรวมไปสู่จุดหมายรวมอย่างไร หากเป็นเช่นนี้ไปได้
อาตมาพูดมาเลยเวลาแล้ว ขออนุโมทนาท่านผู้บริหาร ครูอาจารย์ทุกท่าน ขอให้ทุกท่านมีจิตใจเข้มแข็งในสภาพแวดล้อมสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกเป็นอย่างนี้ เราอาจจะท้อแท้ แต่จะท้อแท้ไม่ได้ ครูอาจารย์ ผู้บริหารเป็นผู้นำ จะต้องเป็นแบบอย่าง แม้แต่ในการเป็นผู้เข้มแข็งด้วย เมื่อความเข้มแข็งทางปัญญาเกิดแล้วจะเกิดความมั่นใจ เข้มแข็งทางจิตใจด้วย แล้วออกมาทางพฤติกรรมที่เข้มแข็ง แล้วจะเป็นผู้นำให้สังคมนี้เดินหน้าไปสู่อนาคตที่ดีงาม เป็นการสร้างสรรค์อนาคตของชาติได้อย่างแท้จริง งานจะบรรลุผลได้ในสังคมที่เป็นเช่นนี้ เราจะต้องมีความมุ่งมั่น ทำกันอย่างจริงจัง อย่างพระโพธิสัตว์ที่มีปณิธานที่เด็ดเดี่ยว ทำแล้วต้องทำให้สำเร็จ มุ่งมั่นอุทิศตน อย่างนั้นมีหวัง หากสังคมมันไม่มี ก็คือสภาพที่เราจะต้องกู้ให้ฟื้นขึ้นมาให้ได้ ถ้าไม่เริ่มวันนี้จะเริ่มเมื่อใด ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็ขอทุกท่านเข้มแข็ง ตั้งใจจริงจัง แล้วความสำเร็จก็จะตามมา ขออนุโมทนาทุกท่าน ขอร่วมส่งเสริมกำลังใจโดยคุณพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นหลักการที่หากเข้าใจจริงแล้วจะทำให้เราเกิดความซาบซึ้ง และมีความมั่นใจในการทำงานอย่างยิ่ง ให้เป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้ทุกท่านเจริญงอกงามด้วยจตุพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังความสามัคคีที่จะดำเนินชีวิต และกิจการงานให้บรรลุความสำเร็จตามความมุ่งหมาย ยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ชีวิตครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และชาวโลกทั้งปวง ทุกเมื่อ ตลอดกาลยั่งยืนนาน เทอญ