แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพุทธเจ้าก็เน้นสภาพจิตของคนที่ปฏิบัติธรรมเนี่ย จะมีอยู่ 5 อย่างที่ควรทำให้ได้เสมอ อันนี้อาตมาก็เอามาบอกซะด้วย พยายามทำใจให้มีคุณสมบัติ 5 อย่างเนี้ย เพราะใจของเรา เราเคยชินตกร่อง เรามักจะปรุงแต่งในทางกังวลไม่สบายใจขุ่นมัวอยู่เรื่อย เลยมันเป็นธรรมดาของเราไป เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ใหม่ แต่ต้องใช้เวลาหน่อยนะ ฝึกให้มันเป็นธรรมดาในทางที่ดีซะ จนกระทั่งจิตของเราเป็นนิสัยที่จะเคยสบาย มีความร่าเริงเบิกบานมีความสุข ท่านก็ให้ไว้ 5 ข้อ 1.ปราโมทย์ แปลว่าความร่าเริงเบิกบานใจ ทำใจให้ร่าเริงเบิกบานใจอยู่เสมอ นี่ในคาถาธรรมบทอันหนึ่งบอกว่า (ปรา โมช ชะ พะ หุ โล ภิก ขุ โส นิพพาน นะ เส นะ สัน ติ เก) บอกภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ คือความร่าเริงเบิกบานใจ เชื่อว่าอยู่ในสำนักพระนิพพาน ว่างั้นเลยนะ อยู่ใกล้พระนิพพานแล้วนะ คนที่ใจร่าเริงเบิกบานเนี่ย เพราะฉะนั้นทำใจให้ร่าเริงเบิกบานจนเป็นประจำใจเลย 1.ปราโมทย์ 2.ปีติอิ่มใจ ความอิ่มใจปลาบปลื้มใจ ทำงานอะไรก็ ทำแล้วด้วยความรักงาน ตั้งใจทำงาน งานก้าวไกลก็เสวยสุขจากผลงานนั้น มีปีติอิ่มใจที่งานก้าวไปทุกขั้น ปีติแล้วปัสสัทธิ ปัสสัทธิแปลว่าความสงบเย็นผ่อนคลายกายใจ ไม่เครียด อันนี้แหละไม่เครียดละ ปัสสัทธิ ต่อไปก็สุข สุขก็คือสภาพใจที่โปร่งโล่งคล่อง ไม่ติดขัด ตรงข้ามกับทุกข์ ทุกข์แปลว่าบีบคั้นติดขัดคับข้อง ใจที่เป็นสุขก็ไม่มีอะไรมาบีบมาคั้นมาติดขัด ก็โล่งโปร่งเบาสบาย สุขแล้วก็สมาธิ ก็จิตสงบ แน่ว ไม่ถูกอะไรรบกวน ไม่มีอะไรมารบกวนได้ ใจต้องการอยู่กับเรื่องอะไรก็อยู่กับเรื่องนั้น สมาธิก็คือว่าต้องการอยู่กับเรื่องอะไร ใจต้องการอยู่กับเรื่องอะไรก็อยู่กับเรื่องนั้น เรียกว่าสมาธิ ไม่มีอะไรมากวนได้ คนที่ใจไม่มีอะไรมากวนได้ ก็แสนสบาย จะคิดอะไรก็คิดเรื่องนั้น มีสมาธิ ท่านบอกว่าให้ 5 อย่างนี้เกิดในใจอยู่เสมอๆ แล้วใจเป็นสุข ปรุงแต่งมันขึ้นมา เราปรุงแต่งในทางที่ทุกข์มานานแล้ว จนกระทั่งจิตเคยชิน จนกระทั่งว่าไอ้ความทุกข์ ความขุ่นมัวเศร้าหมองเป็นเจ้าเรือนไปแล้ว ต่อไปนี้ต้องเปลี่ยนใหม่ แต่ต้องค่อยๆสร้าง ค่อยๆสร้างให้เจ้า 5 อย่างเนี้ยมาเป็นเจ้าเรือนประจำใจ คือให้มีปราโมทย์ มีปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ ทำอยู่เสมอต่อไปใจก็กลายเป็นนิสัย เป็นสภาพจิตที่เป็นฝ่ายสุข นี่แหละสุขสร้างได้ เพราะฉะนั้นก็ปรุงแต่งสร้างสรรค์ความสุขขึ้นมาในใจ ทำให้เป็นเรื่องธรรมดา ตอนนี้คนมีช่องทางหาความสุขได้มากขึ้นและสุขชักอยู่ในใจแล้วนะ ตอนแรกนี่สุขต้องหา อยู่ข้างนอก ต้องวิ่งหาอย่างเดียว ตอนนี้สุขเริ่มอยู่ในใจเป็นคุณสมบัติภายใน ไม่ต้องหาแล้ว แล้วถ้าตัวเองมีความสามารถในการสร้างมันขึ้นมาด้วย ต่อไปก็ไปความสุขประเภทที่ 5 สุขเหนือปรุงแต่ง เออเมื่อกี้นี้ต้องปรุงแต่ง ตอนแรกต้องหานี่วุ่นมาก ต่อมายังต้องปรุงแต่งต้องทำมันใช่มั๊ย ตอนนี้ไม่ต้องทำแหละให้พ้นปรุงแต่งให้มันกลายเป็นธรรมดาเลย ให้ความสุขนั้นเป็นธรรมดาของจิต อยู่ภายในเป็นเจ้าประจำ เป็นคุณสมบัติภายในมีตลอดเวลา อันนี้ต้องถึงด้วยการไม่ต้องปรุงแต่ง คือด้วยปัญญา ปัญญารู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ รู้โลกชีวิตตามเป็นจริง รู้เจนจบ พอรู้เข้าใจโลกแล้วชีวิตตามเป็นจริงถึงจุดหนึ่ง จิตมันวางตัวพอดีกับทุกสิ่งเลย ความรู้นั้นเป็นตัวปรับความรู้สึกเชื่อมั๊ย คนเรานี่ชีวิตปุถุชนอยู่ด้วยความรู้สึกมาก มีความรู้สึกสุขทุกข์ มีความรู้สึกโกรธ รู้สึกเห็นใจชอบใจ รู้สึกรัก ความรู้สึกเนี่ยเราก็พยายามเปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกที่ดี นี่ปรุงแต่งใช่มั๊ย เราเปลี่ยนจากความรู้สึกไม่ดี มาเป็นความรู้สึกที่ดี แต่มันก็ยังอยู่ในระดับความรู้สึก ความรู้สึกนี่ยังไม่มั่นคง มันขึ้นต่อสิ่งอื่น ต่อมาพอมีความรู้ ไอ้ตัวรู้มาปรับความรู้สึก ทุกอย่างลงตัวหมดเลย คนเรานี้พอมีความรู้ ความรู้มาปรับลงหมดเลย เราเข้าป่าเราหวาดกลัวโน้นนี้นะ เราไม่รู้อะไรเป็นอะไร พอเรารู้ทางหนีทีไล่ รู้อะไรต่ออะไร เราจะแก้ไขปัญหาได้ยังไง ความรู้นี้ปรับความรู้สึกหายหมดเลย ความรู้เป็นตัวปรับความรู้สึกและทำให้ทุกอย่างลงตัวพอดี ชีวิตที่เจนจบก็คือรู้โลกและชีวิตตามเป็นจริง วางจิตวางใจลงตัวพอดีกับทุกสิ่ง สบาย เปรียบเหมือนอย่างสารถีที่เจนจบในการขับรถ สารถีที่เจนจบในการขับรถเป็นยังไง คนขับรถที่ยังไม่ชำนาญนะ ใจไม่สบายใช่มั๊ย ร้อนรนกระวนกระวายหวาดหวั่น จะขับรถออกไปมันวิ่งเข้าทางความเร็วอย่างนี้ จะผิดจะพลาดจะแก้ยังไง วิตกกังวลไปหมด ทีนี้พอเป็นสารถีที่ชำนาญ รู้เจนจบ เข้าใจทางออกอะไรหมดเลย เจนจบจริงๆ อย่างที่ว่าชำนาญ ขับรถนี้สบาย แต่ก่อนนี้ใช้รถม้า ก็ขับรถ ก็ชักรถอะไร ใช้อะไร แส้ ใช้บังเหียนดึงรถเข้าสู่ทาง ปรับความเร็วให้พอดี พอรถพอม้าวิ่งตรงทางดี ความเร็วพอดี สารถีนั่งสบาย สารถีนั่งสบายเลยนะ นั่งใจสงบ เรียบเลย สภาพจิตนี้ท่านเรียกว่าอุเบกขา เกิดจากปัญญาที่รู้ทุกสิ่ง อะไรต่ออะไรทุกอย่างมันลงตัว เข้าที่พอดิบพอดีหมดแล้ว จิตลงอุเบกขาสบายเรียบ จิตแบบสารถีที่เจนจบ ขับรถทุกอย่างลงตัวพอดี นี่เรียกว่าจิตอุเบกขา คนที่เข้าใจโลกและชีวิตนี้เจนจบ วางจิตใจลงตัวพอดีกับทุกสิ่งทุกอย่าง ใจสบาย มีอุเบกขา เป็นสภาพเจ้าเรือนของจิตใจ ต้องการจะเสวยความสุขอะไรเสวยสุขได้เต็มที่ คนปุถุชนเนี่ยนะ หนึ่งก็มีขีดจำกัดในการเสวยความสุข เช่นว่าได้ความสุขช่องทางที่ 1 อย่างเดียว สุขจากการเสพวัตถุ ความสุขอื่นไม่มี 2. จิตไม่พร้อมที่จะเสวยความสุขนั้น เวลาเสวยความสุขเหล่านี้ใจระแวง ใจหวาดหวั่น ใจขุ่นมัวเศร้าหมองมันเสวยความสุขไม่เต็มที่ ฉะนั้นยังมีข้อด้อยอันนี้ มนุษย์ปุถุชนเนี่ยมีข้อด้อยอันนี้ แม้แต่เสวยความสุข แม้แต่ขั้นหยาบที่สุดก็ยังมีจุดอ่อน มันสุขไม่บริบูรณ์ ใจมันขุ่น มันมีอะไรระคายเคืองรบกวนอยู่ นี้พอจิตของผู้ที่เจนจบชีวิตถึงอุเบกขาขั้นสุดท้าย คราวนี้ 1. มีสิทธิ์เสวยความสุขทุกขั้นที่ผ่านมา สุขได้ตั้งแต่ 1-5 เลย 2. ในการเสวยสุขทุกอย่างนั้นไม่มีอะไรระคายเคืองจิตใจเลย จิตใจเปี่ยมบริบูรณ์ เสวยความสุขชนิดนั้นได้เต็มที่ ปุถุชนต้องฝึกด้วยนะอันนี้ เสวยความสุขอะไรต้องเสวยความสุขนั้นอย่างจิตใจเต็มอิ่มด้วย ทำกันไม่ค่อยได้ จิตใจขุ่นมัว ระคายเคืองรบกวนหวาดหวั่นอะไรก็ไม่รู้ ฉะนั้นพอถึงสุขระดับที่ 5 นี่มันสมบูรณ์ทั้งในแง่ที่ตัวเองสามารถเสวยสุขได้ทุกระดับ และ 2. ก็เสวยสุขแต่ละระดับนั้นเต็มอิ่มเลย นี่ละบริบูรณ์อย่างนี้ เจริญพร อันนี้ก็อยู่ที่ว่าเมื่อสามารถเสวยความสุขเหล่านี้ได้เต็มที่แล้วเนี่ย ตัวเองอยากจะเสวยอันไหนหรือไม่เสวยก็แล้วแต่ ก็เป็นสิทธิของตัว นี้ผู้ที่พัฒนามาอย่างนี้ตามระดับ มาถึงขั้นที่เรียกว่าโสดาบัน จะมีสิทธิ์เสวยสุข 5 ขั้นครบ เพราะโสดาบันนี่เป็นตัวอย่างของคนที่เสวยสุขครบ 5 ขั้น เสวยสุขขั้นที่ 1 อามิส กามสุข ก็มี เพราะโสดาบันยังมีครอบครัว มีบุตร ภรรยา มีสามีอยู่ อย่างนางวิสาขาใช่มั๊ย เป็นโสดาบันสุขขั้นที่ 1 ก็ได้ สุขขั้นที่ 2 จากการให้ก็พร้อมที่จะให้เต็มที่ มีความสุขในการให้ มีความพร้อมที่จะให้จนในทางวินัยต้องตั้งวินัยบัญญัติไว้นะ ตระกูลใดที่เป็นผู้เสียสละบริจาคโดยไม่ได้มีการยับยั้งเลย ท่านให้สงฆ์มาประชุมกันตั้งเป็นตระกูลหรือครอบครัวโสดาบัน แล้วห้ามภิกษุไปรับอาหาร ภิกษุใดไปรับอาหารจากตระกูลโสดาบันถูกลงโทษเลย เพราะว่าท่านพร้อมที่จะให้ตลอดเวลา มีความสุขจากการให้ แล้วมีความสุขอะไรอีก มีความสุขจากการดำเนินชีวิตถูกต้องตามกฎธรรมชาติ มีความสุขจากการปรุงแต่งจิตใจได้สบาย แล้วมีความสุขจากปัญญาที่รู้ความจริงของกฎธรรมชาติ แต่ว่าอาจจะไม่เต็มอิ่มในข้อสุดท้าย ข้อสุดท้ายนี้ยังพร่องบ้าง แต่ว่าเป็นบุคคลตัวอย่างที่ว่าได้ความสุขทุกขั้น แล้วเสวยสุขทุกขั้นได้อย่างดีที่สุดใช่มั๊ย นี่แหละพอคนเราพัฒนาความสุขตัวเองก็ดีขึ้น ชีวิตก็ยิ่งสุขมากขึ้น ช่องทางสุขก็มากขึ้น แล้วความสุขของตัวเองก็เกื้อกูล ประสานกับเพื่อนมนุษย์ โลกร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนเลย ความสุขไม่ต้องไปแย่งกันเลย แล้วความสุขไม่ต้องไปหาด้วย เพราะความสุขนั้นอยู่ข้างในประจำในใจตลอดเวลา จะหาสุขข้างนอกก็เป็นส่วนประกอบเสริมใช่มั๊ย เป็นกำไรในใจก็มีความสุขอยู่แล้ว สบายเลย ฉะนั้นคนเราพัฒนาถูกต้องนี่แสนจะสุข ไม่รู้จะพูดยังไง เพราะฉะนั้น พอเป็นพระอรหันต์ท่านเลยพูดว่า สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ อย่างพระอรหันต์พระมหากัปปินะ อุทานว่าสุขจริงหนอ สุขจริงหนอ เป็นอย่างงั้น นี้สุขขั้นสุดท้ายนี้ อาตมาพูดมาเป็นตัวอย่าง แต่ว่ามาถึงจุดที่ว่าจิตมันลงตัวกับทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นชีวิตที่เจนจบโลก ทุกอย่างใจลงตัวหมด เป็นอุเบกขาเป็นเจ้าเรือนอย่างที่ว่า เป็นพื้นสงบเรียบเย็นสบาย เหมือนสารถีที่เจนจบจัดเจนในการขับรถอย่างที่ว่าแล้ว ทุกอย่างลงตัวพอดีไปสบาย ทีนี้มันมาถึงขั้นที่ว่าย้อนกลับไปเมื่อกี้ เมื่อกี้อาตมาบอกแล้วว่าความทุกข์นั้นมันมาจากกฎธรรมชาติ แล้วมันมาส่งผลต่อจิตใจมนุษย์เป็นทุกข์ เพราะมนุษย์ไปยึดมั่นในสิ่งทั้งหลาย วางใจไม่ถูก พอเรารู้เจนจบโลกและชีวิต เข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญา ก็กลายเป็นว่าเรารู้เท่าทันมัน มันจะถึงขั้นที่ว่าความทุกข์ที่มีอยู่ในกฎธรรมชาติในธรรมชาติ ก็เป็นแต่ทุกข์ในธรรมชาติไปตามเรื่องของมัน เรื่องอะไรจะต้องมาเป็นทุกข์ในใจของเราด้วยใช่มั๊ย ทุกข์ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติในธรรมชาติใครไปแก้มันได้ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยใช่มั๊ย นั้นมันเป็นธรรมชาติของมัน เรื่องอะไรเราปฏิบัติไม่ถูกเราเลยพลอยเป็นทุกข์ไปด้วยใช่มั๊ย เลยทำให้ทุกข์ในธรรมชาติมาเป็นทุกข์ในใจ พอเรารู้ความจริง เท่าทันจบ เราวางใจถูกต้อง ทุกข์ในธรรมชาติก็เป็นทุกข์ในธรรมชาติไปตามเดิม ตามเรื่องของมัน ไม่มาเป็นทุกข์ในใจของเรา ใจเราเป็นอิสระเลยสบายเลยทีนี้ นี่เป็นอิสระอีกขั้นหนึ่ง อิสระขั้นนี้ ก็เปรียบเหมือนอย่างมีกระแส 2 กระแส แต่ก่อนนี้สิ่งทั้งหลายนี่มันก็มีกระแสของมัน กระแสก็คือความเป็นไป สิ่งทั้งหลายนั้นเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัย มันก็เป็นธรรมดาของมันอยู่แล้ว สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นกระแสของมัน กระแสเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ทีนี้มนุษย์อยู่ดีไม่ดี ไปสร้างกระแสซ้อนเข้ามา กระแสอะไร พอเราไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายเราก็ไปสร้างความปรารถนาขึ้นมาใช่มั๊ย เราไปยึดไปอยากต่อสิ่งนั้น เราก็สร้างความปรารถนาว่าขอให้เป็นอย่างนั้น ขอให้เป็นอย่างนี้ อย่าเป็นอย่างนั้น อย่าเป็นอย่างโน้น ไอ้การที่จะให้สิ่งนั้นเป็นไปตามปรารถนาของเรามันก็เกิดอีกกระแสหนึ่งขึ้นมา ทีนี้มันก็เกิดเป็น 2 กระแสก็คือกระแสในธรรมชาติ กับกระแสในใจคน กระแสในธรรมชาติก็คือกระแสความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เรียกว่ากระแสธรรม กระแสธรรมชาติหรือกระแสธรรม พูดสั้นๆ ทีนี้ในใจคนก็มีกระแสความอยากความปรารถนา ขึ้นมาเป็นกระแสของคน ตอนนี้มีกระแสคนกับกระแสธรรมชาติ กระแสคนก็คือกระแสความอยาก กระแสธรรมชาติก็คือกระแสความเป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งเดียวกันอยู่ใน 2 กระแส แล้วสิ่งเดียว กันมันอยู่ใน 2 กระแส มันจะเป็นไปได้อย่างไร 2 กระแส ถ้า 2 กระแสมันเกิดกลมกลืนไป มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างไร ใจเราต้องการตรงกันหมดเรื่อง แต่ทีนี้ถ้าเกิดขัดกันหล่ะ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยในธรรมชาติอย่างหนึ่ง แต่ใจเราปรารถนาอีกอย่างหนึ่ง เกิดไรขึ้น สิ่งเดียวเป็นไปใน 2 กระแสนี่ไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกระแสเดียวแล้วกระแสไหนเป็นจริง กระแสที่เป็นจริงชนะคือกระแสอะไร กระแสเหตุปัจจัยใช่มั๊ย กระแสธรรมชาติชนะ พอกระแสกฎธรรมชาติเป็นไปตามเหตุปัจจัยชนะ กระแสความปรารถนาในใจของเราก็ถูกขัดแย้ง ขัดแย้งก็เกิดการปะทะกระแทกกัน ปะทะกระแทกกัน ก็เกิดเรื่องเลย เราก็แพ้หนิ กระแสในใจของเราแพ้ใช่มั๊ย เราก็ถูกกดถูกบีบ เราก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา นี่คือเรื่องของมนุษย์ กระแสคน กระแสธรรม ไม่ประสานกลมกลืนขัดแย้งกัน ปะทะกระแทกกันยุ่ง อ้าวทีนี้พอเราพัฒนาคนขึ้นมา พัฒนาคนคืออะไร พัฒนาปัญญา เมื่อกี้นี้อยู่ด้วยตัณหา อวิชชา ด้วยความไม่รู้ ด้วยตัณหา อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้โดยไม่รู้เรื่อง ทีนี้พัฒนาปัญญา ก็พัฒนาความรู้ พัฒนาความรู้ รู้อะไรหล่ะ ก็รู้ความจริงของสิ่งนั้น สิ่งนั้นมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยก็รู้เหตุปัจจัยของมัน มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอปัญญาเกิดขึ้นก็เกิดกระแสใหม่ กระแสในใจคนคราวนี้เปลี่ยนจากกระแสความอยาก หรือกระแสตัณหา มาเป็นกระแสปัญญา กระแสปัญญาก็รู้ความจริงตามกฎธรรมชาติ สิ่งนั้นมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันอย่างไร ปัญญาก็รู้ตามนั้นใช่มั๊ย อ้าวมันก็รู้สอดคล้องกัน ฉะนั้นกระแสในใจคนคือกระแสปัญญาก็เลยสอดคล้องกับกระแสธรรมชาติ กระแสเหตุปัจจัยกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน คราวนี้หมดเรื่องเลย นี่แหละพอคนเราพัฒนาปัญญาขึ้นมา กระแสคนกับกระแสธรรมชาติกกลายเป็นกระแสเดียวกัน กลมกลืน ธรรมชาติเหตุปัจจัยเป็นยังไง เราก็รู้ตามนั้น เราก็ไม่ค่อยมีความทุกข์ เราก็สบายใจ แต่อีกอันหนึ่งที่จะได้ก็คือเราจะทำการได้ผลขึ้น เพราะว่าเรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ได้เป็นไปตามความอยากของเรา เราจะให้มันเป็นอย่างไร เราต้องการอย่างไร เราต้องไปทำตามเหตุปัจจัยใช่มั๊ย จะมานั่งอยากนั่งนึกเอาไม่ได้ เราก็ อ้าวยังงั้นเราก็ศึกษาเหตุปัจจัย เราต้องการให้สิ่งนี้เป็นอย่างไร บอกว่าจะเป็นไปตามเหตุปัจจัย เราศึกษาเหตุปัจจัย เราก็ทำที่เหตุปัจจัย เราก็ทำสำเร็จ เราต้องการสร้างผลสำเร็จอะไร เราก็ทำตามเหตุปัจจัยก็สำเร็จด้วย เพราะฉะนั้นมีชีวิตอยู่อย่างดี คือใจก็เป็นสุข ทุกข์น้อย เวลามันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ เราก็ศึกษาด้วยปัญญารู้เท่าทัน อ๋อนี่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย เราสร้างเหตุปัจจัยไม่ครบอันไหน หรือเหตุปัจจัยอันไหนเราไม่รู้พอ เราก็ไปศึกษาค้นคว้าแก้ไขซะ หรือว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยปัจจัยตัวอื่นเข้ามาเราก็รู้ เราก็ทุกข์น้อย เราก็แก้ไขได้ดี เราก็ทำงานได้ผล ตกลงว่านี่เรื่องของกระแสคน กระแสธรรม ก็มากลมกลืนประสานด้วยการพัฒนามนุษย์ให้เกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญารู้เท่าทันจนกระทั่งอย่างที่บอกเมื่อกี้ ความทุกข์ในธรรมชาติก็ปล่อยให้มันอยู่ในธรรมชาติไป ใจเราไม่พลอยเป็นทุกข์ด้วย ก็มีความสุขตลอดเวลา ความสุขนั้นก็เป็นสมบัติประจำใจอยู่ในตัวเองตลอดทุกเวลา ไม่ต้องหา ตอนนี้แหละก็บอกแล้วว่าเสวยสุข ก็มีความสามารถเสวยสุขได้ทุกช่องทางอยู่แล้ว ก็อยู่ที่ตัวเองจะต้องการมั๊ย แต่รวมความว่าเป็นสุขที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงปฏิญาณพระองค์ได้ว่าพระองค์เป็นผู้มีความสุขที่สุด ก็ขอเล่าซ้ำอีกทีเคยเล่าบ่อยๆ ว่าเคยมีคนหนึ่งก็ไปพบพระพุทธเจ้า ก็คงเห็นว่าพระพุทธเจ้านี่ ทำไมสละเงินทองวังที่อยู่สบาย มาอยู่ลำบากอยู่กลางดงกลางป่า เดินจาริกพระบาทเปล่า ไปเที่ยวสั่งสอนประชาชน มองในสายตาของเขานี่พระพุทธเจ้านี่แสนจะลำบาก มีความทุกข์เยอะ ก็เลยมาว่าพระพุทธเจ้า บอกเนี่ยพระองค์ทำไมมาอยู่งี้ ไม่มีความสุข น่าจะหาความสุขซะให้เต็มที่ พระพุทธเจ้าก็ถามย้อนกลับว่า เออแล้วเธอเห็นว่าใครมีความสุขกว่าฉันหล่ะ พอถามแบบนี้ นายคนนั้นก็ชักงงละใช่มั๊ย ตอนแรกมองข้างเดียวมองว่าพระพุทธเจ้า ลำบากทุกข์ พอถามอย่างงี้ เขาก็คิด เอ เอาใครมาเทียบดีว่าสุขกว่าพระพุทธเจ้า เขาก็วัดด้วยมาตรฐานของเขา เขาก็นึกว่า อ๋อพระเจ้าบดินทร์สิ มีทุกอย่างพรั่งพร้อมใช่มั๊ย มีสมบัติ มีอำนาจเต็มที่ ก็เลยบอกว่า พระเจ้าพิมพิสารราชาแห่งแคว้นมคธ มหาอำนาจเป็นราชาผู้ยิ่งใหญ่มีความสุขกว่าพระองค์ พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่า อ้าว เอเราสามารถบอกได้เลยว่าเรามีความสุขกว่าพระเจ้าพิมพิสารว่างั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่างั้น อ้าวแล้วจะพิสูจน์ได้ยังไงว่าใครสุขกว่ากัน มันยากใช่มั๊ย เอาอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพระพุทธเจ้าจะสุขกว่าพระเจ้าพิมพิสาร พระพุทธเจ้าก็เลยเอาวิธีนี้ตรัสว่า เอางี้ละกัน คือพระพุทธเจ้าปกติพระองค์ไม่ได้หยุดหรอก ต้องตื่นจาริกไปเที่ยวสั่งสอนประชาชนเรื่อย พระองค์ก็บอกว่าเรายังงี้ก็แล้วกัน เรานะจะอยู่เฉยๆ นั่งเสวยความสุขทั้งวันทั้งคืนก็ได้ พระเจ้าพิมพิสารทำได้มั๊ย ไอ้คนนั้นยอมเลยนะ พระพุทธเจ้าบอกว่าเราจะอยู่เฉยๆ นั่งเสวยความสุขทั้งวันทั้งคืนก็ได้ แต่ที่พระองค์ไปทำอะไร พระองค์ก็สุขตลอดเวลานะ พระองค์ไม่ได้ทุกข์ คือสุข หมายความว่าสุขมันอยู่เป็นคุณสมบัติในใจและตลอดทุกเวลาอยู่แล้ว ฉะนั้นจะอยู่เฉยๆ หรือทำอะไรมันก็สุขใช่มั๊ย ทีนี้พระเจ้าพิมพิสารไม่ได้มีความสุขอยู่ในตัวพระองค์ ความสุขมันขึ้นต่อสิ่งเสพใช่มั๊ย จะมานั่งเสวยสุขยังไง ต้องไปหาสิ่งเสพ ไปเสพสิ่งนั้นสิ่งนี้มันถึงจะสุข ตกลงนายคนนั้นยอมแพ้ เป็นอันว่านี่ตัวอย่างวิธีพิสูจน์ แต่พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีความสุข บริบูรณ์พระองค์ปฏิญาณพระองค์ได้ แต่เราเอาแค่โสดาบันก็พอละ โสดาบันได้สุขครบทั้ง 5 ประเภท ปุถุชนทั่วไปนี่ เดี๋ยวนี้ไปเน้นข้อที่ 1 กันมากใช่มั๊ย บางทีไปติดอยู่แค่ 1 ก็ไม่พ้นละ แย่ละ ก็เลยต้องเสวยโทษอะไรต่ออะไร ข้อบกพร่องจากอันที่ 1 นี้พัฒนาขึ้นมาให้ได้อย่างพระโสดาบัน ให้ได้ความสุข 5 ขั้น แล้วเสวยทุกขั้นอย่างที่เรียกว่าเต็มอิ่มด้วย ไม่มีระคายเคืองไม่มีสิ่งรบกวนใช่มั๊ย ฉะนั้นผู้ที่พัฒนาตัวอย่างดีแล้วเนี่ย ก็มีความสุขดียิ่งขึ้นไป แล้วแถมเป็นความสุขที่เกื้อกูลต่อสังคมมนุษย์ด้วย เราสุข ชีวิตเราดี ก็ยิ่งทำให้ผู้อื่นสุขไปด้วย แล้วอย่างพระพุทธเจ้า พอสุขเต็มที่ก็เป็นคนบริบูรณ์เต็มอิ่ม พอเป็นคนบริบูรณ์เต็มอิ่มแล้วดียังไงอีกหล่ะ อ้าว ดีทีนี้ก็คือว่า ท่านเรียกว่าไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไปใช่มั๊ย เป็นคนที่พัฒนาตนเต็มอิ่มบริบูรณ์แล้ว คนอื่นนี่มันยังต้องหาต้องทำเพื่อตนเอง แม้แต่ว่าจะหาความสุข มีความสุขก็เพื่อตัวเอง นี้พระพุทธเจ้า พระอรหันต์มีความสุขอยู่ในตัว เต็มบริบูรณ์ เป็นประจำเป็นธรรมดาแล้ว ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง อันนี้คือลักษณะของพระอรหันต์ อรหันต์คือบุคคลที่บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป พอไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป คราวนี้ทำยังไงหล่ะ พลังชีวิตที่เหลืออยู่ก็ทำเพื่อผู้อื่น พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ก็เลยออกเดินทางจาริกไป ตัวเองก็มีความสุขตลอดเวลา ก็ไม่ต้องไปกลัวทุกข์อะไรหนิ ก็ไปเดินทางไปสั่งสอนหาทางทำให้คนอื่นมีความสุข ก็เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสุขของมนุษย์ ของพหูชนใช่มั๊ย ฉะนั้นคติของพระอรหันต์จึงบอกว่า จงจาริกไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูลและความสุขแก่ชนจำนวนมาก นี่คือคติของพระอรหันต์ทั้งหลาย เพราะไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง ก็ทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก ก็เลยเรื่องมันก็เป็นอย่างนี้ ก็ยิ่งชีวิตที่ดีงาม ยิ่งสุขสมบูรณ์ ก็ยิ่งเกื้อกูลเพื่อความสุขแก่ชาวโลกมากเท่านั้น นี่คือการพัฒนาความสุขที่ถูกต้อง นอกจากตัวเองจะสุขไร้ทุกข์แล้วยังแถมช่วยโลกให้หายทุกข์มีความสุขมากขึ้นด้วย มีแต่ดีเท่านั้นเอง ฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็จาริกไป อย่างที่ว่าเนี่ยไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง เก่งกว่าพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์นี่ยังต้องทำเพื่อตัวเองใช่มั๊ย ยังต้องพยายามพัฒนาตัวเองให้สมบูรณ์ ยังต้องทำความดีด้วยปณิธาน ต้องตั้งใจทำนะพระโพธิสัตว์เนี่ย คือต้องปฏิญาณว่าเราจะบำเพ็ญบารมีนี้ เค้าเรียกว่าตั้งปณิธานว่าจะทำความดีนี้ให้เต็มที่ ยอมสละแม้กระทั่งชีวิต เพื่อจะทำความดีนั้น ไม่เห็นแก่ตัวเอง แต่พระอรหันต์นั้นท่านไม่ต้องมีปณิธาน ท่านทำไปตามธรรมดามันเป็นธรรมชาติของท่าน ยังงั้น เก่งกว่าพระโพธิสัตว์ ฉะนั้นนี่แหละคือการพัฒนามนุษย์ นี้ก็บอกแล้วว่าคราวนี้จะเสวยความสุขไหนก็แล้วแต่ชอบสิ เพราะเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่เหมือนพระโสดาบัน พระโสดาบันยังเสวยสุขทั้ง 5 ขั้น พอเป็นพระอรหันต์ปรากฎว่าท่านมีสิทธิ์เสวย แต่ว่าท่านไม่เสวยความสุขขั้นต้น เพราะอะไร เพราะจิตใจท่านพัฒนาขึ้นไปอีก จนกระทั่งว่าทั้งๆ ที่มีสิทธิ์ แต่เป็นเรื่องของท่านเอง ใจท่านพอใจอย่างงั้น ก็เลยมีข้อเปรียบเทียบ อ้าวอาตมาก็เปรียบเทียบให้ฟัง มาในพระสูตรท่านบอกว่าอย่างเด็กเกิดใหม่ ทารกตอนแรกนี่เล่นมูตรเล่นคูถของตัวเอง มีความสุขสนุกสนานในการเล่นคูถเล่นมูตรจริงมั๊ย จริงใช่มั๊ยเจริญพร หัวเราะเอิ้กอ้าก เอิ้กอ้าก มีความสุข พอโตขึ้นมาหน่อย มีความสุขมั๊ยจากการเล่นมูตรเล่นคูถของตัวเอง ไม่มีใช่มั๊ย ต่อมาพอเป็นเด็กโตหน่อยก็มีความสุขจากการเล่นของเล่น รถเล็ก เรือเล็ก เครื่องบินเล็กอะไรต่างๆ เอามาเล่น โอย แล้วก็ติดใจ แล้วก็มีความยึดมั่นถือมั่นในของรักของหวงของตน อย่างของเล่นเนี่ยนะเด็กมีความสุขจากสิ่งนั้นมาก แต่หวงมากนะ บางทีแทบจะเป็นจะตายเลยนะ ลองใครไปแย่งสิใช่มั๊ย ไปแย่งของเล่นของเขามา เขาจะมีความทุกข์มาก ร้องไห้จะตายไรงี้ ทีนี้เขาก็มีความสุขกับของเล่น ต่อมาพอโตขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง พอไปเห็นเด็กเล่นอย่างงั้นไม่รู้สึกว่าจะเป็นสุขเลยใช่มั๊ย เพราะจิตใจมันพ้นไปแล้ว พัฒนาเลยไป ทีนี้พอเห็นเด็กเล่นก็ขำสนุก เราขำจากการพฤติกรรมของเด็ก เราไม่ได้สุขสนุกด้วย นี่ก็เช่นเดียวกัน พอจิตใจพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งก็มองไม่เห็นความสุขจากการเสวยสิ่งที่มนุษย์ปุถุชนได้เสวยอีกต่อไป ก็จะเป็นการพัฒนาของจิตใจไปเป็นขั้นๆ แล้วก็เลยมีคำเปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่งว่าความสุขของมนุษย์ปุถุชนนั้น ท่านเปรียบว่าคนที่พัฒนาจิตใจสมบูรณ์ก็เหมือนกับคนที่ร่างกายสมบูรณ์ คนที่มีสุขภาพสมบูรณ์นั้นเป็นคนมีความสุขและพร้อมที่จะเสวยความสุขทุกอย่าง อยู่ที่เขาจะเสวยสุขใดหรือไม่ใช่มั๊ย ถ้าเขาเสวยสุขใดเขาเสวยเต็มเปี่ยม คนที่สุขภาพแข็งแรงดีนะ ทีนี้คนที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดีนี่นะ ก็มีความสุขในตัวเองเลย แต่คนที่ยังเป็นโรคอยู่ มีความสุขในการที่จะได้ผ่อนคลายจากโรคด้วยใช่มั๊ย แต่คนที่ร่างกายสมบูรณ์นี้ เขามีความสุขในตัวเอง ความสุขโดยที่ไม่มีโรคกับความสุขจากมีโรคต่างกันอย่างไร ก็จะยกตัวอย่าง เช่นว่าท่านก็ยกตัวอย่างคนที่เป็นโรคเรื้อน คนเป็นโรคเรื้อนนี่คัน คราวนี้แกก็หาความสุข 1.การเกา เกาไปแล้วก็มีความสุขจากการเกา ยิ่งคันยิ่งเกา ยิ่งเกายิ่งคัน ก็มีความสุขจากการเกา แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าชอบผิงไฟ ร้อน ขนาดคนธรรมดาผิงไม่ได้ ไปย่างตัว ท่านใช้คำว่าไปย่างตัว คนเป็นโรคเรื้อนนี่ไปย่างตัวกับไฟ ให้ใกล้ๆ ร้อนแล้วมันสบาย เพราะมันแสนทรมานโรคนี้ พอได้ 1.เกา 2.ย่างไฟ แล้วมันมีความสุข นี้ต่อมาคนที่เป็นโรคเรื้อนนั้นหายจากโรค ร่างกายสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว คราวนี้การเกาก็ตาม การย่างไฟก็ตาม เป็นเครื่องหาความสุขของเขาอีกต่อไปหรือไม่ ไม่แล้วใช่มั๊ย เจริญพร เขามีร่างกายสมบูรณ์แล้ว เป็นความสุขในตัวไม่ต้องไปหาความสุขจากการเกาที่คัน จากการย่างไฟ เพราะฉะนั้นความสุขของมนุษย์ปุถุชนนั้นเปรียบเทียบกับความสุขของพระอรหันต์ ก็เหมือนกับคนที่ยังเป็นโรคกับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพกายสมบูรณ์ฉันใด สุขภาพใจสมบูรณ์ก็ฉันนั้น พระอรหันต์เป็นผู้มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ ความสุขเต็มเปี่ยม ความสุขของมนุษย์ปุถุชนก็เลยเรียกว่าเป็นความสุขจากการเกาที่คัน ส่วนพระอรหันต์เป็นผู้มีความสุขจากการไม่มีที่คันจะต้องเกา อ้าวนี่แหละก็เป็นความแตกต่างกันอีกอย่างหนึ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องของพัฒนาการของมนุษย์ที่เราเข้าใจแล้วว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติเอง ไม่ใช่เรื่องอะไรพิจิตรพิสดาร พระพุทธเจ้าสอนธรรมะจากความจริงที่ทรงประสบ ฉะนั้นอันนี้ก็เลยนำมาเล่าให้ฟังว่าพัฒนาขึ้นไปแล้ว มีแต่ดีตัวเองก็มีความสุขมากขึ้น ช่องทางความสุขก็มากขึ้น เสวยความสุขก็เต็มบริบูรณ์ยิ่งขึ้น ความสุขนั้นก็เกื้อกูลแก่สังคมมนุษย์ อยู่ร่วมกันดีขึ้น ธรรมชาติแวดล้อมก็ปรับตัวเข้ามาสมานกลมกลืนสอดคล้องกันดีขึ้น ก็เป็นความสุขขั้นที่ 5 นี้คือ ความสุขที่ไร้ทุกข์ ก็จบละสิทีนี้ เจริญพร แต่ว่าก่อนจะจบก็ขอเติมคำเตือนนิดหน่อย สำหรับคนที่เดินทางไปสู่ความสุข มีความสุขทุกขั้นตอนจะมีสิ่งสิ่งหนึ่งเป็นหลุมดักอยู่ ต้องระวังมาก หลุมดักบุคคลที่มีความสุขนั้นเป็นหลุมดักเดียวกันกับหลุมดักบุคคลที่ประสบความสำเร็จ คนที่ทำความดีทั้งหลาย เราอุตส่าห์สอนคนให้เว้นชั่ว ให้ทำความดี ให้ก้าวหน้า ประสบความสำเร็จขยันหมั่นเพียรเป็นต้น สอนกันไปนักหนา แต่คนที่ก้าวหน้าประสบความสำเร็จ มีความดีงามความสุขนั้นแหละในที่สุดมาตกหลุมดักอันใหญ่ หลุมนี้คืออะไร หลุมนี้คือความประมาท เพราะฉะนั้นท่านถึงต้องสอนอันนี้กันไว้ก่อน คนที่มีความสุขไม่ว่าระดับไหนเนี่ย ตกหลุมความประมาทได้ทั้งสิ้น เพราะอะไร เพราะความสุขนี่มันสบาย พอคนเราสบายก็มีความโน้มเอียงที่จะนอนใจ ไม่กระตือรือร้น ไม่ขวนขวายไม่ดิ้นรน ตรงข้ามกับคนที่มีทุกข์บีบคั้น มีภัยคุกคาม ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายใช่มั๊ย ปุถุชนจะเป็นอย่างนี้ พอสบายขึ้นมาเรียบร้อยก็นอนใช่มั๊ย ทีนี้พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนหลักความไม่ประมาทไว้กัน ว่าคนที่มีความสุขประเภทที่ 1 อ้าวพอสุขปั๊บ พรั่งพร้อมวัตถุ สังคมก็ตาม ครอบครัวก็ตาม อารยธรรมก็ตาม มักจะมาเจอจุดนี้ พอพรั่งพร้อมสุขสบายก็ลุ่มหลงมัวเมา สังคม อารยธรรมก็เริ่มเสื่อมลง ตระกูลก็เสื่อม อย่างพ่อแม่ไม่ฝึกลูกไว้ให้ดีเนี่ย ไม่ให้รู้จักรับผิดชอบตัวเอง บำรุงบำเรอตามใจ กลายเป็นคนอ่อนแอ ลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมาในความสุข ก็ตระกูลก็เสื่อม ฉะนั้นอะไรต่ออะไรก็ตามเจริญขึ้นมาแล้ว มักจะวงจรเสื่อมเจริญขึ้นเพราะเรื่องนี้ พอทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็ดิ้นรนขวนขวายกระตือรือร้น สร้างสรรค์ พอประสบความสำเร็จสะดวกสบาย ก็นอนใจเพลิดเพลินเสวยความสุขแล้วก็เสื่อม วนเวียนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้ตกวงจรนี้ พระองค์ก็ใส่ความไม่ประมาทเข้ามาเลย พอแทรกความไม่ประมาทเข้ามา ก็เป็นตัวกันเสื่อม ให้เจริญอย่างเดียวไม่ต้องเสื่อม ทีนี้ก็เอาหล่ะทีนี้คนที่สุขจะเสื่อม สุขจากวัตถุพรั่งพร้อม สุขจากใจสบาย ปลงใจได้ อย่างคนบางคนนี้ปลงอนิจจังได้ใช่มั๊ย พอสบายใจปลงอนิจจังได้ คราวนี้ไม่ขวนขวายปัญหาไม่แก้ เสร็จ จบอีก เสื่อมอีก ฉะนั้นสมาธิเหมือนกันพอว่ามีปัญหายุ่งวุ่นวายในชีวิตประจำวันในสังคม มานั่งสมาธิสบาย พอนั่งสมาธิสบายก็ติดสมาธิอีก สมาธิพระพุทธเจ้า ธรรมะท่านก็สอนไว้นะสิ่งทั้งหลายมีทั้งคุณทั้งโทษ สมาธิมีคุณอย่างไร สมาธิมีโทษอย่างไร สมาธิท่านบอกโทษไว้อย่างหนึ่ง สมาธิเป็นเหตุให้เกิดโกสัชชะ แปลว่าความขี้เกียจ ฉะนั้นสมาธิก็สบาย พอสบายก็ขี้เกียจ ขี้เกียจนอนใจผลัดเพี้ยนไอ้เรื่องที่แก้ปัญหาเอาไว้ก่อน วันนี้ขอนั่งสมาธิให้สบายก่อน ไม่เอาละนะผลัดเพี้ยน ก็เลยสมาธิ ความสุขจากสมาธิก็เป็นตัวทำให้ประมาทได้ เพราะฉะนั้นหลุมดักคนที่มีความสุขก็คือความประมาท เพราะฉะนั้นต้องระวังพระพุทธเจ้าก็สอนไว้เลยว่าคนที่ประสบความสำเร็จ ทำความดีก้าวหน้ามีความสุขเนี่ย อย่าได้ตกในความประมาทเป็นอันขาด แม้แต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี ปฏิบัติธรรมได้บรรลุความสำเร็จ ได้บรรลุคุณวิเศษ เกิดความภูมิใจขึ้นมา เกิดความภูมิใจก็เกิดสันโดษสิ สันโดษพอใจ มีความชื่นใจในผลสำเร็จ พระพุทธเจ้าตรัสแล้ว ตรัสเตือนว่าเธอนี่ปมาทวิหารีแล้วว่างั้นนะ ปมาทวิหารีแปลว่าผู้อยู่ด้วยความประมาท ว่ากระทั่งพระอริยบุคคลนะ ขนาดพระโสดา สกทาคามี ไม่พ้นนะ ตกอยู่ในความประมาท พระพุทธเจ้าเตือน พอจะไปยินดี พอใจกับผลสำเร็จเท่านี้ไม่ได้ ต้องก้าวต่อไป เพราะฉะนั้นจึงมีคาถาเตือนเรื่องไม่ประมาท บอกภิกษุแม้จะเป็นพหูสูต คงแก่เรียน เรียนรู้ธรรมวินัย บำเพ็ญสมาธิได้ฌาน เป็นผู้มีความสุขจากเนกขัมมะอะไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ อย่าได้ถึงความนอนใจว่างั้นนะ ไม่มียอมให้หยุดหรอกพระพุทธเจ้า เป็นอันว่าต้องก้าวต่อไป บอกเราไม่สรรเสริญแม้แต่ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรม เราสรรเสริญอย่างเดียวแต่ความก้าวหน้าต่อไปในกุศลธรรมทั้งหลาย นี่ตรัสอย่างนี้ แล้วพระพุทธเจ้าสอนว่าให้สันโดษในวัตถุสิ่งเสพ แต่สอนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลายใช่มั๊ย เจริญพร พอสันโดษในสิ่งเสพปั๊บ เราก็สงวนเวลา แรงงานและความคิดไว้ได้ เราไม่เอาเวลาไปยุ่งกับการหาสิ่งเสพ ไม่มัวครุ่นคิดว่าพรุ่งนี้จะไปหาความสุขที่ไหนอะไรต่ออะไร เราไม่ไปยุ่งกับเรื่องการหาสิ่งเสพ บำรุงบำเรอตัวเอง เรามีความสันโดษในสิ่งเสพ เราก็สงวนประหยัดออมเวลา แรงงานและความคิดไว้ใช่มั๊ย เสร็จแล้วท่านก็ให้ไปทุ่มกับการไม่สันโดษในกุศลธรรม เราก็มีเวลา แรงงานและความคิดเอาไปทำความดี สร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ได้มาก ฉะนั้นท่านก็ตรัสไว้คู่กันว่า สันโดษในสิ่งเสพ แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม มันก็รับกันกลมกลืนไป ก็ไม่ประมาทเลยใช่มั๊ย ไม่ประมาทก็เดินหน้าไปแล้วก็สร้างสรรค์พัฒนาความสุข ก็เลยเข้าหลักที่พูดไว้ตอนต้น แต่ตกลงว่าตอนนี้ว่าเตือนไว้ก็คือว่าให้ไม่ประมาท ถ้าไม่ประมาทแล้วมีแต่เจริญไม่มีเสื่อม หลักทางพุทธศาสนานี่มันย้อนกันในตัวนะ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดแล้วต้องดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ถ้าท่านไม่ประมาทแล้วมีแต่เจริญไม่มีเสื่อม อย่างหลักธรรม อปริหานิยธรรม พระพุทธเจ้าตรัสไว้บอกว่า บอกว่ามีแต่ (วุฒิ เย วะ ปา ติ กัง โข โน ปา ริ หา นิ) แปลว่าพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้เลยนะ ถ้าคนเราปฏิบัติธรรมไม่ประมาท ฉะนั้นเอาอนิจจังมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่าไปกลัวเสื่อม เอ ไปคิดบอกว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้ว เจริญแล้วก็ต้องเสื่อมเป็นธรรมดา ระวังนะ ถ้าปลงไม่ดีนี่ผิดหลักความไม่ประมาท ฉะนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นกฎธรรมชาติ แต่มันเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญก็ได้ เสื่อมก็ได้ เจริญหรือเสื่อมเป็นเรื่องของมนุษย์ตกลงเอาใช่มั๊ย มนุษย์ต้องการความเจริญ ก็ทำให้มันเปลี่ยนต่อไป แต่เปลี่ยนไปทางที่ดีใช่มั๊ย ไม่ให้เปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ตรัสในทาง สัจธรรมว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง เกิดดับ เกิดแล้วต้องดับ แต่ในทางจริยธรรม บอกว่าตั้งอยู่ในความประมาทมีแต่เจริญไม่มีเสื่อม แล้วไม่ขัดกันเลยสองหลักนี้ นั้นเราต้องสร้างความเจริญได้ด้วยความไม่ประมาท ตกลงว่าก็เข้าวิธีปฏิบัติตามหลักที่ว่าไว้ข้างต้น 4 ข้อ สรุปปิดท้ายซะที 1. ก็คือว่าอย่าเอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ใช่มั๊ย 2. ไม่ละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม 3. แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้นก็ไม่ลุ่มหลงหมกมุ่นมัวเมา 4. พยายามเข้าถึงความสุขที่ประณีตขึ้นไป ก็ต่อท้ายก็ได้ จนกว่าจะถึงสุขสมบูรณ์ที่ว่าเมื่อกี้ ที่ว่าเป็นสุขขั้นที่ 5 เป็นสุขที่ไม่ต้องปรุงแต่ง มีอยู่ประจำใจ เต็มอิ่มในตัวที่ทำให้บุคคลนั้น ไม่ต้องทำอะไรเพื่อตัวเองอีกต่อไป เพราะไปทำทำไมตัวเองสุขสมบูรณ์ตลอดเวลาแล้ว ก็จบเจริญพร ตกลงว่าไม่รู้พูดยาวเท่าไหร่เลย เกินเวลาไปเยอะละ ก็เอาละ ก็ขอโมทนา ไม่ทราบจะมีเวลาคุยกันอีกหรือเปล่า ถ้าไม่มีเวลาคุยก็ต้องปิดรายการ