แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
จะพูดแบบที่ว่าให้เบา ๆ ไม่อยากให้เป็นเรื่องหนักเป็นวิชาการอะไรมาก ก่อนที่จะไปพูดอย่างนั้นนะก็คุยกันเรื่องทั่ว ๆ ไป อยากจะถามท่านหน่อยว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องคำว่าความดีความชั่วยังไง อันนี้มันเป็นปัญหามากแม้แต่ในระดับของพวกปรัชญา เรียกได้ว่าเป็นปัญหาในทางวิชาการ สำหรับคนทั่วไปบางทีก็พูด ๆ กันไป แต่ว่าเราไม่เคยคิดกันจริงจังว่ามีความหมายยังไง มีหลักอะไรวินิจฉัยไหม ดีชั่วเราก็ถือตาม ๆ กันใช่ไหม เค้าว่าดีก็ดี สอนมาว่าดีพ่อแม่ปู่ย่าตายายสอนมา หรือสังคมพูดกันมา เป็นไปตามวัฒนธรรมประเพณี เวลาถามกันขึ้นมาก็สงสัยแล้วทีนี้ชักไม่แน่ใจ บ้างก็ไปเอาเรื่องของการบัญญัติของมนุษย์ตกลงกันของสังคม ในสังคมแต่ละแห่งก็อาจจะบัญญัติต่าง ๆ กัน บัญญัติว่าอันนี้ดีอันนี้ไม่ดี ทีนี่สังคมนี้ว่าดีสังคมโน้นว่าไม่ดี ที่นี่ว่าดีไอ้ที่โน้นว่าชั่ว ไอ้ที่โน้นว่าชั่วที่นี่ว่าดีอะไรนี่นะ แล้วจะใช้หลักอะไรล่ะ ถ้าเป็นอย่างที่ว่าแล้วแต่ใครบัญญัติ สังคมนี้ว่าอย่างสังคมนั้นว่าอย่าง ก็เป็นเรื่องไม่มีจริงใช่ไหม แล้วแต่มนุษย์ตกลงกันเอา อันนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทางวิทยาศาสตร์ก็เลยถือว่าเป็นเรื่อง หนึ่งก็แล้วแต่จิตใจของมนุษย์แต่ละคนคิด subjective หรือไม่งั้นก็เป็นเรื่องบัญญัติของสังคม หรือไม่งั้นก็ไปเรื่องศาสนา ศาสนาของฝรั่งเขาก็มองไปว่าเป็นเรื่องบัญญัติของศาสนา แล้วพอบัญญัติของศาสนาเขาก็มองไปที่ว่า โดยที่ทางสถาบันองค์กรศาสนาอ้างพระผู้เป็นเจ้าว่าเป็นเทวะโองการ พระผู้เป็นเจ้าว่าอย่างนี้ดีก็ดีว่าอย่างนี้ไม่ดีก็ไม่ดี แล้วใครรู้ล่ะว่าพระผู้เป็นเจ้าว่าอันไหนดีไม่ดีใช่ไหม ก็ต้องว่าไปตามที่องค์กรศาสนาว่าหรือว่าได้มีมาในคัมภีร์ซึ่งไม่รู้ว่ามายังไงใช่ไหม ไม่รู้แหละบัญญัติไว้ในคัมภีร์ว่าอันนี้เป็นบาป หรือถ้าสืบลึกลงไปหน่อยเขาบอกว่าบาปก็คือว่าความละเมิดต่อพระผู้เป็นเจ้า แม้แต่สงสัยท่านก็ถือว่าบาป ไม่เชื่อสงสัยเป็นบาป ก็เรียกว่าเป็นความละเมิดต่อพระผู้เป็นเจ้า ไม่เชื่อฟังว่ามีบัญญัติในคัมภีร์ว่าพระเจ้าได้สั่งว่าให้ทำอย่างนี้ ฝ่าฝืนไม่ทำตามก็บาป สิ่งที่ให้ทำไม่ให้ทำก็มีสองอย่างคือ ในทางบวกกับทางลบ ทำในสิ่งที่ท่านไม่ให้ทำ ไม่ทำในสิ่งที่ท่านให้ทำ ก็เป็นบาป
ทีนี้มาถึงคนไทยเรา คนไทยเราก็พอถามกันเอาคนที่ฟังกันมาตามประเพณี หรือจากว่าอยู่ในสังคมว่าตาม ๆ กันไป ถือตาม ๆ กันไปก็เอาหลักไม่ได้เหมือนกัน พอถามเข้าก็ยุ่งนะ ท่านจะว่ายังไงล่ะ ใครจะลองให้ความเห็นว่าจะเอาอะไรเป็นหลักตัดสิน
ผู้ฟัง : ผมว่าถ้าให้ตัวกระผมเองดูนะครับ ผมจะดู ๓ ทาง ทางแรกก็คือสังคม สิ่งใดที่สังคมที่บุคคลนั้นอยู่เห็นว่าผิดอันนั้นก็เป็นความผิด มองอันที่ ๒ ก็คือมองจากตัวบุคคล สิ่งใดที่ตัวบุคคลทำไปแล้วรู้สึกในใจตนก็อาจจะเป็นความผิด มุมประการที่ ๓ ก็คือ ความผิดในตัวของมันเอง อันนี้ในทางกฎหมายจะเรียกเป็นลาตินว่า mala in se เป็นความผิดในตัวของมันเอง ซึ่งถ้ามองนอกเหนือไปจากกฎหมาย แม้แต่กฎหมายจะไม่ได้บัญญัติไว้ แต่ว่ามันเป็นความผิดในตัวของมันเอง ก็น่าถือได้ว่าเป็นความผิด ถ้ากระทำไปก็จะเป็นบาป ในส่วนแรกและส่วนที่ ๒ เนี่ยคงไม่มีข้อถกเถียงกันมากเกี่ยวกับเรื่องสังคมและตัวคน แต่เรื่องความผิดในตัวของมันเองนั้นก็คงจะมีข้อถกเถียงกันได้เพราะว่ามันไม่มีบรรทัดฐานอะไรที่จะเป็นข้อกำหนดที่ชัดเจน
อันที่ ๓ นี่นะที่มันจะยุ่ง หมายความว่ามันมีจริงหรือเปล่า
ผู้ฟัง : ถ้าดูว่าการกระทำนั้นเป็นการเบียดเบียน เบียดเบียนคนอื่น สิ่งอื่น หรือสิทธิของผู้อื่น อันนี้อาจจะดูในเบื้องต้นได้ว่าจะเป็นความผิดได้
อันนี้ก็เป็นวิธีหาทางวินิจฉัย หรือตั้งเกณฑ์ขึ้นมาอย่างหนึ่งให้มันมีหลัก แต่ความหมายคำว่าผิดถูกกับดีชั่วบางทีก็มีความหมายมีความแตกต่างด้วย ประเด็นในที่นี้ก็คือว่า มันมีไหมความดีความชั่วโดยธรรมชาติ มีจริงหรือเปล่านั่นเอง เป็นความจริงที่มีอยู่ หรือว่าเป็นเรื่องที่ว่าขึ้นต่อบุคคล คือ subjective คนก็เห็นกันไปคิดกันไปแล้วแต่จะว่ากันไปเป็นเรื่องของแต่ละคนอย่างหนึ่ง แล้วก็เรื่องของสังคมบัญญัติ เรื่องของศาสนาอะไรที่ว่า
ที่นี้ผมจะลองถามอีกท่านหนึ่งเพื่อจะให้เข้าใกล้หลักในทางพุทธศาสนา เวลาเราใช้ว่าดีชั่วในภาษาไทยนี่ คำไทยบางทีมันทำให้สับสนเหมือนกัน ที่นี้เราลองมาดูคำบาลีบ้าง ท่านคิดว่าคำบาลีอะไรแปลว่าดีว่าชั่ว กุศล-อกุศล หนึ่งล่ะ มีอะไรอีกไหม บุญ-บาปไงใช่ไหม กุศล-อกุศล คู่หนึ่ง บุญ-บาป คู่หนึ่ง บุญบางทีก็คือกุศล บาปก็คืออกุศล นี่พูดแบบกว้าง ๆ ยังไม่เจาะลึก ที่นี้ดูว่า ๒ ตัวนี้ตรงกับไทยจริงหรือเปล่า ขอยกตัวอย่าง เช่นว่า ถ้าเราพูดกันมาบอกว่าความเหงาเป็นความชั่ว ภาษาไทยยอมรับได้ไหม เออ...ยอมรับได้ไหม ไม่ได้ใช่ไหม หรือพูดว่าความฟุ้งซ่านเป็นความชั่ว เอ๊ะไม่น่าจะเป็นใช่ไหม หรือความท้อแท้เป็นความชั่ว ความหดหู่เป็นความชั่ว เออ...อย่างนี้ภาษาไทยรับไม่ได้ แต่นี่เป็นอกุศลทั้งสิ้น แสดงว่าดีชั่วกุศลอกุศลมันไม่ได้ตรงกันจริงเลย เราเอามาแปลคล้าย ๆ เอามาเทียบเท่านั้นเอง ดังนั้นเวลาพูดเอาจริงเอาจังก็เลยไม่ใช้คำไทยเพราะมันทำให้เยอะ
ที่นี้ทางภาษาพระทางหลักธรรมพุทธศาสนาท่านถือว่า กุศล-อกุศลเป็นสภาวะ สภาวะก็หมายความว่า ภาวะความมีจริงของมันเอง แล้วดูว่ามันอยู่ที่ไหน อ้าวทำไมว่าความหดหู่ความท้อแท้เป็นอกุศล มันเกิดที่ไหนล่ะความหดหู่น่ะ ในใจใช่ไหม เมื่อเกิดขึ้นในใจแล้วมันเกื้อกูลต่อชีวิตจิตใจไหม ไม่เกื้อกูลนี่คือความเป็นอกุศล ความร่าเริงเบิกบานใจ ความเมตตาความปรารถนาดีอะไรต่ออะไร เกิดขึ้นในใจและมีผลดีเกื้อกูลต่อจิตใจหรือเสียหายต่อจิตใจ เป็นผลดีต่อชีวิตจิตใจ อย่างเมตตานี่เห็นง่ายใช่ไหม พอเกิดขึ้นในจิตใจจิตใจก็สบาย แล้วไม่เฉพาะจิตใจนะในระบบเพราะมันถึงกันหมดใช่ไหม กล้ามเนื้ออะไรต่ออะไรผ่อนคลายหมด ที่เรียกว่าเลือดลมเดินดีอะไรต่ออะไรน่ะ อย่างที่ว่าถ้าคนมีเมตตาดีก็พลอยแก่ช้า หน้าตาก็ยิ้มแย้มเบิกบานแจ่มใสอะไรต่ออะไรอย่างนี้ใช่ไหม ที่นี่ตรงข้ามแล้ว ความโกรธท่านบอกเป็นอกุศล เพราะมันเกิดขึ้นมาแล้วทำให้จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมองร้อนรน เครียดใช่ไหม กระวนกระวายร้อนรุ่มแล้วก็มีผลต่อชีวิต แม้แต่ร่างกายนี่กล้ามเนื้อเกร็งเครียด หน้าตาจะเหี่ยวย่นไวอย่างนี้เป็นต้นนะ ไปหมดแหละใช่ไหม กุศลและอกุศลทางพระท่านถือที่นี่ ส่วนไอ้เรื่องระดับออกมาสู่สังคมนั้นเป็นอีกชั้นหนึ่ง เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยว่าเป็นระดับระดับ เมื่อมีเมตตาแล้วจิตใจก็เบิกบานเย็นผ่อนคลาย แล้วที่นี้ก็เกื้อกูลต่อชีวิตจิตใจของตนเองแล้วใช่ไหม แล้วก็เกื้อกูลต่อกันออกมา ทำให้เกิดการช่วยเหลือกันอะไรต่ออะไรไป ก็เป็นผลที่ดีสืบเนื่อง แต่โดยสภาวะก็คือ มันเกิดขึ้นที่ไหนมันเกื้อกูลต่อที่นั่น เกิดขึ้นที่จิตใจก็เกื้อกูลไม่ต้องรอไปดูที่อื่น ฉะนั้นท่านจึงถือเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะว่าพวกสภาวะจิตเหล่านี้ สิ่งที่เราเรียกกันว่าอารมณ์หรืออะไรก็ตาม มันก็เป็นสภาวะที่มีจริงในทางจิตใจ แล้วมันเกิดขึ้นมันก็มีผลต่อชีวิตจิตใจ เข้าสู่ระบบเหตุปัจจัยทันทีมีผลขึ้นมา แล้วมีปฏิกิริยามีผลต่อการเช่นว่า มีความโกรธเกิดขึ้น แม้แต่คุณสมบัติอย่างอื่นของจิตใจ เช่น ปัญญาก็จะถูกบีบคั้นใช่ไหม มันจะตีกันเองใช่ไหม ทำให้ปัญญาทำงานไม่ได้ดี สติสเตอะก็พลอยแย่ใช่ไหม ไอ้เจ้าฝ่ายอกุศลไม่เกื้อกูลต่อจิตใจ มันก็ทำให้ไอ้การทำงานของชีวิตจิตใจไม่ดำเนินไปด้วยดี ปัญญานี่เป็นฝ่ายดีใช่ไหม เกื้อกูลต่อชีวิตจิตใจ ปัญญานี่เป็นกุศลตัวสำคัญ สติก็เป็นกุศล สมาธิก็เป็นกุศล อะไรพวกนี้ ถ้าฝ่ายอกุศลเกิดขึ้นไอ้เจ้ากุศลก็เกิดไม่ได้ มันก็บีบคั้นมันเป็นอกุศลเพราะมันเป็นปฏิปักษ์ อะ- แปลว่าปฏิปักษ์ เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล มันขัดกัน มันแย้งกัน มันขวางกัน ไม่เกื้อกูล กุศลแปลว่าเกื้อกูล เกื้อกูลต่อชีวิตจิตใจ อกุศลก็ไม่เกื้อกูล อันนี้ท่านถือว่านี่โดยสภาวะ ส่วนที่ว่าจะออกมาสู่สังคมอะไรต่ออะไรนี่เป็นอีกระดับหนึ่ง อันนี้ก็จะมีปัจจัยอื่นเข้ามาประกอบต้องว่ากันอีกชั้นหนึ่ง
เป็นยังไงล่ะถ้าว่าตามหลักพุทธศาสนา ถึงได้ต้องเอาไปเรียนเป็นอภิธรรมเป็นอะไรต่ออะไร อภิธรรมก็มาเรียนเรื่องอย่างนี้ เช่นว่า แยกทางด้านรูปธรรมร่างกายทางด้านจิตใจ ทางด้านจิตใจก็แยกแยะออกไปมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และในบรรดาองค์ประกอบเหล่านี้ก็จะมีคุณสมบัติพวกนี้ พวกสภาพจิตพวกนี้ ที่เราเรียกว่าพวกอารมณ์ต่าง ๆ หรือคุณสมบัติ สิ่งที่เป็นโทษต่าง ๆ มากมาย อภิธรรมก็จะไปแยกแยะเยอะแยะไปหมด ที่เราเรียกว่า เจตสิก ๕๒ ว่าฝ่ายตัวดีมีอะไรบ้าง อย่าง สติ สมาธิ ปัญญา เมตตา กรุณา มุทิตา อะไรพวกนี้นะ และฝ่ายร้ายที่เป็นอกุศลไม่เกื้อกูล เช่น ความโกรธ ความตระหนี่ ความริษยาใช่ไหม ความขัดเคือง ความผูกโกรธ ความอะไรต่ออะไรเยอะแยะไปหมดนะ ก็เป็นฝ่ายอกุศล ก็คือเกิดขึ้นในจิตใจแล้วไม่เกื้อกูลต่อชีวิตจิตใจ และนี่ก็คือหลักการ แล้วก็เวลาท่านแยกแยะออกไปในเวลาท่านมาศึกษาเรื่องนี้ก็จะวิเคราะห์ว่า กุศลก็คือเกื้อกูล เกื้อกูลก็หมายความว่ามันทำให้ชีวิตจิตใจ เช่นว่า ทำงานได้ดี อย่างพวกสมาธิเกิดขึ้นในจิตก็ทำให้จิตเหมาะกับการใช้งาน หรือสติเกิดขึ้นก็ทำให้คนนั้นครองตัวได้ สามารถทำอะไรได้ ตั้งหลักได้ใช่ไหม ถ้าสติลอยไปหายปั๊บนี่ เช่นว่า เกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นมาคนไหนเกิดตกตะลึงกลัวสติหายไปทำอะไรไม่ถูก ถูกไหม ก็เกิดความผิดพลาดเสียหาย แต่ถ้าตั้งสติได้ก็อยู่เลยใช่ไหม และทำในสิ่งที่ถูกเกื้อกูลต่อชีวิต
นี่ก็เป็นเรื่องของสภาวะ พวกสภาวธรรมเหล่านี้มีความหมายหนึ่งก็เป็นกุศลเกื้อกูลต่อชีวิตจิตใจ แล้วก็เป็นตัวทำให้เกิดความสุข เข้ากันได้กับความสุข หรือนำมาซึ่งความสุข เพราะเรามีเมตตามีจิตใจสบาย มีปัญญาอะไรนี่ทำให้เกิดความสุข แล้วก็ไม่ก่อความเสียหายต่าง ๆ ก็ไม่เป็นโทษต่อชีวิตจิตใจ นี่ก็พูดในทางตรงข้ามแล้วก็ประกอบด้วยปัญญา หมายความว่ากุศลทุกอย่างนี่มันจะมีปัญญาประกอบ มันเข้ากับปัญญา และทำไห้ปัญญาเจริญงอกงาม ทำให้มนุษย์พัฒนาขึ้น เพราะการพัฒนามนุษย์นี่สิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือปัญญา และเป็นตัวที่จะทำให้เกิดการพัฒนา และการพัฒนาก็จะทำให้ปัญญายิ่งเจริญงอกงาม มันจะเอื้อต่อการที่เราจะเกิดความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ถูกต้องตามเป็นจริง แต่ถ้าความโกรธเกิดขึ้นมันจะบัง มันจะทำให้การคิดการเข้าใจอะไรต่าง ๆ ถูกบิดเบือน และก็มองอะไรไม่ถูกต้องไม่เห็นความจริง นี่เป็นตัวอย่างอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการเข้าใจเรื่องธรรมมะ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่จะบอกในแง่ด้วยว่า เรื่องพุทธศาสนาต้องขึ้นกับการศึกษา ถ้าไม่มีการศึกษาก็จะค่อย ๆ เพี้ยน ค่อย ๆ คลาดเคลื่อนไป นาน ๆ ก็จะไม่รู้เรื่องเลย ที่สำคัญก็เพี้ยนเคลื่อนคลาดนี่ เวลานี้ในสังคมไทยเรานี่ต้องพูดว่าน่าเป็นห่วงมาก คือเราเชื่อเราปฏิบัติสิ่งที่เรียกว่าเป็นพุทธแต่ตรงข้ามกับพุทธศาสนาเยอะเหลือเกิน จริงไม่จริง เรียกว่าเป็นพุทธแต่ที่จริงมันตรงข้ามกับพุทธนะ ท่านตัวอย่างได้ไหมอะไร ลองยกตัวอย่าง
ผู้ฟัง : ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิก็มีเรื่องต้องวิเคราะห์มาก ในแง่หนึ่งก็คือว่าสภาพความสัมพันธ์ต่อศาลพระภูมิ ??? ถ้าถี่หรือการปฏิบัติต่อศาลพระภูมิยังไง อันนี้จะเป็นจุดวินิจฉัยมากกว่า ไม่ใช่เพียงแค่ว่ามีศาลพระภูมิ แต่ว่าปฏิบัติต่อศาลพระภูมิยังไง เชื่อต่อศาลพระภูมิยังไง อันนี้เป็นตัวสำคัญที่จะวินิจฉัย
ผู้ฟัง : การบนบานขอหวย ขอเลข
อันนี้ใช้หลักอะไรวินิจฉัย
ผู้ฟัง : ไม่มีความเพียร
ง่าย ๆ ก็คือขัดหลักกรรม หรือหลักความเพียร และก็ลึกลงไปก็คือขาดหลักเหตุปัจจัยใช่ไหม เพราะมันไม่เป็นไปตามหลักเหตุปัจจัยเลยเชื่อเลื่อนลอย มันขัดหมดแหละ แต่ขั้นง่าย ๆ ที่สุดก็คือขัดหลักกรรม คือการกระทำ การกระทำให้เกิดผลสำเร็จด้วยความเพียรพยายาม หลักการนี้หลักการง่าย ๆ เบื้องต้น แต่ลึกลงไปก็คือหลักกรรมนี่มาจากไหน ก็คือหลักเหตุปัจจัย ว่าที่เราต้องทำเพราะอะไร เพราะว่าผลที่มันจะเกิดขึ้นมันเป็นไปตามเหตุ เมื่อเราต้องการผลเราก็ต้องทำ ที่นี้ไอ้เจ้าความเชื่อบนบานศาลกล่าวนี่มันเลื่อนลอย ไม่รู้ไอ้เจ้าตัวผู้บันดาลให้มันมีจริงหรือเปล่า อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ใช่ไหม และจะบันดาลให้เมื่อไรก็ไม่รู้ มองไม่เห็นเคว้งคว้างเลื่อนลอยเต็มทีก็นอนรอไป แล้วมันขัดต่อความเพียรที่ว่า ก็งอมืองอเท้าซิใช่ไหม ขอไปแล้วเราก็ทำเองไม่ได้นี่ มันไม่ขึ้นต่อตัวเรามันขึ้นต่อตัวท่าน เมื่อขึ้นต่อตัวท่านเราก็ไม่มีทางจะทำอะไรได้แล้วก็นอนรอ ก็รอให้ท่านบันดาลให้ ก็เลยไม่ต้องทำอะไรใช่ไหม อย่างนี้ก็หมด เพราะฉะนั้นขัดหลักพุทธศาสนาขั้นพื้นฐานเลยนะเรื่องนี้ แต่ไม่รู้มันเป็นยังไง เมืองไทยเราบอกเมืองพุทธเต็มไปด้วยเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ท่านมีความเห็นอย่างไรต่อสิ่งที่พูดอยู่
ผู้ฟัง : ผมนึกถึงให้เช่าพระครับ แล้วก็โฆษณาว่า ถ้าบูชาแล้วจะรวยแล้วจะแคล้วคลาดแล้วจะเฮง โดยที่ไม่ได้สอนว่าให้ปฏิบัติตามหลักในพระพุทธศาสนา เพียงแต่ว่าถ้าบูชามีพระอยู่ติดกับตัวแล้วจะมีโชค
ครับนี่แหละมันน่ากลัวตรงนี้ คือมันมีเค้าอยู่ที่เป็นประโยชน์ แต่ทีนี้ว่ามันไปเพี้ยนคลาดเคลื่อน เรามองธรรมชาติมนุษย์ มนุษย์เนี่ยยังไม่รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายเพียงพอ จิตใจมันก็มีไอ้เรื่องปัญหาความว้าเหว่ความหวาดระแวงความกลัวหวาดหวั่น ไอ้สภาพจิตอย่างนี้ ก็ทำให้สิ่งที่เราเรียกว่าศาสนาเกิดขึ้นมา ศาสนาแต่โบราณก็มาช่วยที่จุดนี้ ผมเคยอ่านเจอในหนังสือ บอกชื่อมหาวิทยาลัยเลยก็ได้ มสธ. นี่แหละ วิชาหนึ่งเขียนไว้ เราก็มองเออนี่เค้าเข้าใจกันขนาดนี้ เขาบอกว่าบทบาทหรือหน้าที่ของพระนี่ก็เหมือนหมอผี เป็นไงหมอผี หมอผีก็มาช่วยทำพิธีทำให้คนจิตใจสบาย หายกังวล หายหวาดหวั่น เพราะว่าแกกลัวผีจะมาเข้าผีจะมาบีบคออะไรนี่ใช่ไหม แล้วก็พระก็เหมือนกัน เออนี่ตำรา...นานแล้วหลายปีแล้วไม่รู้เขาแก้หรือยัง และทำให้เรามองคือเรามองได้สองชั้น ชั้นหนึ่งก็คือมองว่าตำรานั้นน่ะมันไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา แต่มองอีกชั้นหนึ่งก็มองในแง่ว่ามีประโยชน์ คือให้เห็นว่าเนี่ยนะความเข้าใจในสังคมไทยมีอยู่อย่างนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่เราน่าแก้ไข ก็เป็นการฟ้อง ตำรานี่ช่วยฟ้อง ฟ้องสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่ซึ่งเราจะได้เห็นปัญหาที่จะแก้ไขด้วย มองในแง่ได้ประโยชน์ด้วย ที่นี่ก็เอาเป็นว่านี่แหละคือว่าเราต้องเข้าใจมนุษย์ เราต้องมองพุทธศาสนาแบบกว้างด้วย พุทธศาสนานี่ยอมรับความจริงของชีวิตมนุษย์ ธรรมชาติมนุษย์ ก็รู้ว่ามนุษย์นี่เขาเป็นอย่างนี้ เขายังมีอวิชชาไม่รู้ความจริง แต่ว่าจะปล่อยให้อยู่ในสภาพอย่างนั้นไม่ได้ เราก็ต้องพยายามช่วยเขาให้พัฒนาตัวขึ้น ให้เขามีความรู้ความเข้าใจและก็ปฏิบัติดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง การที่ว่าจะให้เป็นอย่างนี้เราเรียกว่าพัฒนาชีวิตของเขาขึ้น เรียกว่าการศึกษานั้นเองใช่ไหม ก็คือต้องมีการศึกษาจึงมีการสั่งสอนอบรม แต่ทั้งนี้เราจะไปยัดเยียดบังคับให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการมันไม่ได้ เมื่อไม่ได้แล้วจะทำไง เราก็ต้องใช้ความปรารถนาดีต่อกันก็คือ เมตตากรุณา ไปหาทางช่วยด้วยการให้ปัญญา แนะนำสั่งสอนและวิธีการอย่างอื่น เช่น จะมีทางระบบวินัยวัฒนธรรมอะไรก็แล้วแต่ แต่ตัวสำคัญตัวหลักก็คือ การสั่งสอนแนะนำให้การศึกษา การศึกษาการสั่งสอนมันก็ขึ้นต่อความสามารถของตัวผู้สอนด้วย เราก็ต้องยอมรับอย่าไปดึงดันจะเรียกร้องกับเขาอย่างเดียวนะ ต้องดูตัวเองด้วย บางทีตัวเองพระหรือผู้สอนก็ไม่ได้มีความสามารถอะไรนักหนา แม้แต่รู้หลักแล้วว่านี่เขาปฏิบัติไม่ถูก ก็ไม่ใช่ว่าตัวจะสามารถสอนให้เขาเข้าใจใช่ไหม ฉะนั้นก็ต้องยอมรับความจริงของเขา แต่เรามีความปรารถนาดีต่อเขาอยากให้เขาพัฒนาขึ้น แล้วเราก็รู้ว่าเขาปฏิบัติไม่ถูก เราต้องหาทางช่วย การที่จะหาทางช่วยก็คือว่า ตอนแรกก็ในเมื่อเขายังไม่รู้เข้าใจทำไงจะให้เขาจิตใจสบายก่อน จิตใจสบายก็เลยมันก็ยังมีการเปิดช่องให้เรื่องสิ่งเหล่านี้ แม้แต่พระรัตนตรัยก็ยังมีการนับถือในเชิงคล้าย ๆ แบบศักดิ์สิทธิ์ อย่างน้อยก็มาทำให้เกิดความมั่นใจ ที่เรียกว่าแบบศรัทธา ไอ้นี่ก็คือการที่ศรัทธาเข้ามา แต่ทำไงจะโยงศรัทธามาสู่ปัญญาได้นี่คือสำคัญที่สุด ถ้าปฏิบัติไม่ดีศรัทธาจะเป็นตัวขวางปัญญาเลยนะ ศรัทธากับปัญญานี่สำคัญมาก ในทางพุทธศาสนาจะต้องให้ศรัทธาเป็นตัวเกื้อหนุนปัญญา ถ้าศรัทธามาขัดขวางปัญญาก็เป็นศรัทธาที่ผิด ศรัทธาขัดขวางปัญญามีเยอะแยะไป เชื่อแบบงมงาย เชื่อแบบไม่เปิดช่องให้แก่การคิดการเรียนรู้เลย เชื่อแบบบังคับอย่างนี้นะ พวกนี้ปิดกั้นปัญญาหมด ที่นี้ถ้ามีศรัทธาดีก็หมายความว่าเริ่มต้นมันเป็นตัวช่วยประสานให้มาพบกัน อย่างน้อยเขาจะได้มีทางเดินหน้าได้ด้วยการมามีจุดนัดพบ มีจุดพบปะ อ้าว...แล้วไอ้ตัวศรัทธาเรียกมาให้มาพบปะกัน จากนี้ก็มีโอกาสแนะนำสั่งสอน หรือใช้วิธีแบบอย่างอะไรต่ออะไรที่ดี ใช้วิธีทางจิตใจก่อน ทางปัญญาก็อาศัยด้านจิตใจได้ด้วยเพื่อให้สภาพจิตใจมาพร้อมเกื้อหนุน ตอนแรกก็หมายความว่า ผู้สอนนี่ก็ต้องดูตัวเองว่ายังไม่พร้อม หรือแม้แต่พร้อมแต่เขาไม่พร้อม คืออัตราส่วนมันสัมพัทธ์ทั้งฝ่ายผู้สอนทั้งฝ่ายผู้ฟังใช่ไหม ผู้ฟังก็มีปัญญาสูงบ้าง มีปัญญาต่ำบ้าง ไม่พร้อมมีอินทรีย์แก่กล้าแตกต่างกัน ผู้สอนก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นมันจึงมีวิธีการที่ต้องยืดหยุ่นมากมายเหลือเกิน แม้แต่พระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาเก่งขนาดนั้นนะ ก็ยังต้องมีวิธีปฏิบัติต่อผู้ที่ท่านเรียกว่าเวไนยมากมายเหลือเกิน พระพุทธเจ้าจะต้องมีความสามารถที่รู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล นี่เป็นด้านหนึ่งของความสามารถ และความสามารถหลายอย่าง ด้านหนึ่งคือรู้ความแตกต่างของบุคคล และรู้ความแตกต่าง ๒ ด้าน ๒ แง่ คือรู้ความแตกต่างแนวตั้ง และรู้จักความแตกต่างแนวนอน แนวตั้งเป็นยังไง แนวตั้งก็คือระดับการพัฒนาของเขา ที่เรียกว่าอินทรีย์แก่กล้าไม่เท่ากัน ปัญญามากปัญญาน้อย สติมากสติน้อย สมาธิมากสมาธิน้อย อะไรเนี่ยอ่อนแก่กว่ากัน แล้วก็ความแตกต่างแนวนอนก็คือ แม้แต่คนที่อยู่ในระดับการพัฒนาอินทรีย์เท่ากัน มีแนวโน้มมีความสนใจ มีพื้นเพภูมิหลังอะไรแตกต่างกัน พระพุทธเจ้าจะต้องมีความสามารถรู้ทั้งสองอย่างจึงจะสอนได้ดี เอาล่ะ...นี่ก็คือหมายความว่า นี่เป็นเรื่องรายละเอียดที่ทำให้มันมีการดูเหมือนว่ายืดหยุ่นมากมาย รวมความก็คือ มีความปรารถนาดีต่อเขา แล้วตัวเองต้องรู้หลักอันนี้ก็ข้อสำคัญ นี่ก็ปรารถนาหาทางให้เขา ทีนี้ตอนแรกก็เมื่อยังไม่ได้ทางปัญญาก็ให้ได้ทางจิตใจ พอจิตใจเขาทราบ ??? สภาพจิตให้มันดีขึ้นแล้วก็ให้เปิดทางแก่ปัญญา ตอนนี้ก็คือศรัทธานี่เป็นตัวประสานทำให้เขามาหา เมื่อศรัทธามาหาแล้วศรัทธาจะเกื้อหนุนปัญญายังไงบ้าง หนึ่งก็คือทำให้มาจับจุด เช่นว่าพระพุทธเจ้าไปสอน พอพูดปั๊บคนนั้นเขาได้ยินก็ พระพุทธเจ้าหรือพระองค์นี้ท่านสมณะผู้นี้ เท่าที่ท่านพูดเท่าที่เรามีปัญญารู้เข้าใจนี่เหตุผลน่าฟังเป็นความจริงอย่างที่ท่านว่า เอาเท่าที่เรารู้ก่อน เกิดศรัทธาแล้วนะ เกิดศรัทธาก็ทำให้เข้าหา อันนี้มันจุดบรรจบทำให้สามารถก้าวต่อ มันก็จับจุดแล้ว ที่นี้มันมีจุดที่จะจับว่าสิ่งที่ฟังนี่น่าสนใจตรงนี้นะ จะต้องศึกษาต่อไป นี่จับจุดแล้ว พอเชื่อว่าไอ้ที่ท่านสอนนี่จริง มันจะนำไปสู่ความจริง คราวนี้เกิดแรงเกิดพลัง เราจะต้องศึกษาเอาจริงเอาจัง จะต้องคอยฟังเอาจริงเอาจังเรื่องนี้ ศรัทธาก็ทำให้เกิดพลัง จับจุดมุ่งแน่วไปสู่จุดหมายมีพลัง อันนี้ก็คือหน้าที่ของศรัทธา ศรัทธาก็พาเดินหน้าไปแล้วก็มุ่งไปสู่จุดหมาย ก็คือสิ่งที่จะให้รู้ให้เข้าใจให้มันชัดเจนนั่นแหละตอนนี้ยังไม่ชัด พอได้จุดนี้แล้วถ้าอยู่กับพระศาสดาหรือครูบาอาจารย์ท่านก็ได้โอกาสที่จะแนะนำสั่งสอน ก็เข้าใจมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ศรัทธานี่ก็แรงขึ้น เอาจริงเอาจัง ขยันฟังให้มันรู้ อ่านให้มันชัด จนกระทั่งในที่สุดก็เกิดปัญญารู้เข้าใจ ศรัทธาก็หมดหน้าที่ พระพุทธเจ้าตรัสว่าพอรู้เกิดปัญญาสมบูรณ์แล้วศรัทธาก็หมดหน้าที่ ท่านเรียกว่าเป็นคนที่ไม่ต้องอาศัยศรัทธาต่อไป เวลาใช้เป็นศัพท์บาลีท่านจะใช้ศัพท์เดียวกัน ใช้ศัพท์ที่แปลเป็นไทยว่าไม่มีศรัทธา ไม่มีศรัทธาก็กลายเป็นว่ามีต่ำสุดกับสูงสุด ไม่มีศรัทธาก็คือไม่เชื่อไม่มีอะไรไม่มีหลักไม่ได้ยึดอะไรเลยไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรไม่มีศรัทธา อีกอย่างหนึ่งก็คืออีกคนหนึ่งที่ว่าบรรลุจุดหมายแล้วก็ไม่มีศรัทธาเพราะว่าเข้าใจเอง อย่างที่เล่าไว้ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสถามพระสารีบุตรว่า หลักการอันนี้เป็นอย่างนี้เรื่องราวนี้เป็นอย่างนี้จริงไหม สภาวะทางด้านนามธรรมอย่างนี้เป็นอย่างนี้จริงไหม พระสารีบุตรบอกว่าจริงเป็นอย่างนั้นอย่างนั้นจริง ในที่สุดพระพุทธเจ้าตรัสถามว่า สารีบุตรที่เธอว่าอย่างนี้ว่าเพราะว่าเชื่อเราหรือยังไง พระสารีบุตรบอกไม่ใช่ อ้าวแล้วเป็นไง ก็เพราะว่าข้าพระองค์รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างที่พระองค์ตรัส นี่คือคุณสมบัติของพระอรหันต์นะ พระอรหันต์ท่านมีคุณสมบัติที่ภาษาบาลีใช้คำว่า อศรัทโธ ??? แปลว่าผู้ไม่มีศรัทธา อ้าว...กลายเป็นว่า เอ๊ะ ทำไมว่าอย่างนี้ล่ะ ต้องแปลซะใหม่ถ้าแปลเป็นไทย แปลว่าผู้ไม่ต้องอาศัยศรัทธา คือมีความรู้เข้าใจด้วยตนเองแล้ว ศรัทธานั้นไว้ในระหว่างเป็นตัวที่ช่วยให้ก้าวหน้าพัฒนาไปสู่ ??? มีท่านผู้หนึ่งอุปมาไว้ดีมาก อุปมาไว้บอกว่า ผมกำมือนี้แล้วผมก็บอกว่า ท่านเชื่อไหมในมือผมนี่มีมะขามป้อมลูกหนึ่ง เอาล่ะซิ...ท่านไม่เห็นใช่ไหม เออ...ไม่เห็นนี่ ท่านเชื่อไหม ปัญหาก็เกิดขึ้นแล้วเพราะยังไม่เห็นจริงนี่ เมื่อไม่เห็นจริงปัญหาว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เกิดขึ้น ที่นี้ถามหลายท่านก็จะต่าง ๆ กัน องค์หนึ่งก็คิดสิ ก็นึกว่าท่านผู้นี้เป็นพระก็ต้องเชื่อจริงก็บอกเลยว่าเชื่อ อีกองค์หนึ่งก็ว่าเออ...อย่างนั้นไม่มีเหตุผลต้องมีเหตุผล ว่าท่านองค์นี้มือของท่านนี่มันขนาดมะขามป้อมน่ะมันกำได้ไหม อ้อ...มันอยู่ได้ แล้วเมื่อกี้ท่านเดินไปไหนมาไหน มันมีอาการที่บ่งแสดงหรือในสถานที่ที่เป็นไปได้ที่จะมีมะขามป้อมไหม อะไรนี่คิดต่าง ๆ นะหมายความว่าพิจารณาเรื่องราว ในที่สุดก็จะได้คำสรุปออกมาว่าเชื่อหรือไม่เชื่อใช่ไหม และอีกท่านก็อาจจะบอกว่าเชื่อ ก็แล้วแต่คือพิจารณากันต่าง ๆ แต่ทั้งหมดนี่อยู่ในระดับที่ว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ พอผมแบมือปั๊บอย่างนี้ ท่านก็ไม่มีเรื่องเชื่อไม่เชื่อแล้วใช่ไหม มันไม่ต้องพูดแล้วเรื่องเชื่อไม่เชื่อ เพราะมันเห็นด้วยตนเอง นี่คือความแตกต่างระหว่างศรัทธากับปัญญา ตราบใดที่ยังไม่รู้เห็นชัดแจ้งด้วยตนเองก็ยังมีปัญหาเรื่องศรัทธา ศรัทธานี่ต้องขึ้นต่อผู้อื่นหรือขึ้นต่อสิ่งอื่น ขึ้นต่ออะไรอย่างหนึ่ง แต่ถ้าปัญญาก็เป็นอิสระ ปัญญานี่ท่านถือว่าเป็นตัวปลดปล่อยทำให้เป็นอิสระในหลายแง่เลยนะ ปัญญาเป็นตัวปลดปล่อย เพราะฉะนั้นจึงเป็นตัวนำไปสู่วิมุตติ ในพระพุทธศาสนา ศีล สมาธิ ปัญญา และ วิมุตติ คือหลุดพ้นเป็นอิสระ
ท่านสุทธิปุญโญ ??? กำลังจะถามอะไร
ผู้ฟัง : จะสามารถมีปัญญาโดยไม่มีศรัทธาได้ไหมครับ
อันนั้นก็คือ โยนิโสมนสิการ ??? หมายความว่า เพราะศรัทธานี่ปกติจะเป็นความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น เมื่อสัมพันธ์กับผู้อื่นก็ต้องอาศัยศรัทธา เราจะเชื่อไหมจะฟังเขาไหม ถ้าเราศรัทธาเขาเราก็ฟังเขาต่อไปอยากฟังยิ่งขึ้นเป็นต้น ที่นี้ถ้าเรามีโยนิโสมนสิการของตนเองอย่างพระพุทธเจ้า ท่านยกตัวอย่างไว้เลยนะ พระพุทธเจ้าพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ก็คือตัวอย่างของคนที่ไม่ต้องอาศัยผู้อื่น มีความสามารถใช้โยนิโสมนสิการพิจารณาคิดด้วยตนเอง นี่คือการเป็นอิสระจากศรัทธา ศรัทธาก็จะผูกพันกับหลักการที่เรียกว่ากัลยาณมิตร ก็คือหาตัวหลักที่จะมีศรัทธาที่ดีมาให้ เพื่อจะให้คนที่เราไปศรัทธาทำงานต่อเราช่วยเราได้ผลดีที่สุด ก็เลยเอาหลักกัลยาณมิตรมา ก็เอาเป็นว่าตอนนี้ก็คือ เราต้องการทางจิตใจให้มีศรัทธา เพื่อให้เป็นตัวเชื่อมระหว่างบุคคลที่เป็นเวไนยหรือผู้รับฟังกับตัวผู้สอน แล้วก็ทำให้เขามีกำลังที่จะโยงเข้าไปสู่การที่จะพัฒนาปัญญาต่อไป แต่ถ้าศรัทธามันไม่ถูกต้องมันงมงายใช่ไหม มันก็เชื่อไม่มีเหตุมีผลเป็นต้น มันก็กลายเป็นตัวขัดขวางปัญญา หรือเชื่อศรัทธาแบบบังคับ สงสัยไม่ได้อย่างนี้ก็จบกัน พระพุทธเจ้าให้พิสูจน์พระศาสดา เพราะว่าก็มีคนที่มาในลักษณะต่าง ๆ พระพุทธเจ้าไม่ไปบอกใครว่าจะต้องเชื่อฉัน พระองค์ก็มีวิธีในการพิสูจน์ศาสดา ท่านก็พิจารณาเอาว่าดูอย่างนั้น ๆ พระพุทธเจ้าจะไม่มีการบอกให้ใครเชื่อ ให้พิจารณาด้วยตนเองแม้แต่พิสูจน์ศาสดา
เอาล่ะทีนี้ก็มาเรื่องจิตใจต่อ ในทางจิตใจก็มีศรัทธาเป็นตัวที่จะผูกพันที่จะนำไปสู่ปัญญา และเมื่อมันทำหน้าที่หมดแล้วมันก็เป็นอันหมดไป ก็มีปัญญามาแทน ทีนี้นอกจากศรัทธาแล้วสภาพจิตอื่นก็มา ความเบิกบานผ่องใสความสบายใจอะไรต่ออะไร ความชื่นใจอะไรความสุขก็เป็นสิ่งที่ต้องช่วยเขาด้วย ที่นี้ในระหว่างที่ปัญญายังไม่มาเนี่ยก็ต้องทำยังไงให้ทางจิตใจเนี่ยเขาได้ไปสู่ทางที่ถูกต้อง ก็อย่างเนี้ย...เพราะฉะนั้นอย่างมีความเชื่อในเรื่อง แม้แต่พระรัตนตรัยมีความศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองให้เราปลอดภัยอะไรต่าง ๆ วิธีที่จะดูว่ายังใช้ได้ไหม ก็มาดูที่หลักกรรมนี่แหละง่ายที่สุด ถ้าความเชื่อนั้นเป็นเหตุให้ รอผลดลบันดาลหวังผลจากการอ้อนวอน แล้วไม่กระทำการด้วยความเพียร ผิดหลักกรรม แต่ถ้าเชื่อแล้วทำให้ยิ่งมีกำลังใจ กระทำการเข้มแข็งมั่นคงเอาจริงเอาจังยิ่งขึ้นอย่างนี้พอไปได้ใช่ไหม มันไม่ผิดหลักกรรม ฉะนั้นคนที่เชื่อในทางพุทธศาสนาท่านสอนนี่ท่านจะระวังมากอันนี้ คือ พระรัตนตรัยคุ้มครองหมายความว่า คนเราเนี่ยมันหวาดหวั่นระแวง จะทำอะไรก็ไม่มั่นใจกลัวอันโน่นกลัวอันนี้ ไอ้นั่นจะมาอย่างนั้น ก็อะไรให้มันมั่นใจแล้วจะได้ทำการได้จริงจัง ท่านเอาจุดนี้ เพราะฉะนั้นเราจะมีพวกปริต ??? ปริต ??? ก็แปลว่า คุ้มครองป้องกัน คุณพระรัตนตรัยคุ้มครองป้องกัน คือ ทำให้เกิดความอบอุ่นใจมั่นใจใช่ไหม แม้แต่เราอยู่กับผู้ใหญ่ ถ้าอยู่ด้วยถูกต้องก็เกิดความอบอุ่นมั่นใจอยู่ด้วยกันมีความสัมพันธ์ที่ดีอบอุ่นมั่นใจแล้วมีกำลังใจทำการต่าง ๆ แต่ไม่ใช่ไปหวังผลจากท่าน ให้ท่านทำให้ ถ้าไปหวังผลเมื่อไหร่แปลว่าผิด เรียกว่าตกจากพุทธศาสนา ฉะนั้นท่านเอาหลักนี้ไปใช้ได้เลย แม้แต่ความเชื่อ แม้แต่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เราก็ยังไม่ว่าเขาใช่ไหม ขออย่าให้มันไปหวังผลดลบันดาลอ้อนวอนให้ท่านทำให้ก็แล้วกัน ถ้าอย่างนั้นละก็ไปเลย ทีนี้พวกที่ไปขูดเลขไปบนบานอะไรพวกนี้เป็นแบบไหนล่ะ มันไปเลื่อนลอยซะมาก ไปขูดเลขหวยอะไรต่ออะไรนี่ หวังผลเลื่อนลอย มันไม่มีอะไรมันไม่มีหลักที่ว่าจะทำอะไรแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ให้ใจวอกแวก ไม่ให้หวาดระแวง ก็คือหมดความกลัวจากสิ่งอื่นจะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำอันนั้นได้อย่างนี้ใช้ได้ ฉะนั้นก็ให้พระรัตนตรัยมาคุ้มครอง ทำให้จิตใจมีความเข้มแข็งอบอุ่น เท่านั้นแหละ ระดับนี้ท่านจะยอม แล้วเมื่อเขาเข้มแข็งขึ้นไปและเขาก็พึ่งตนเองได้ ก็หมายความว่าจุดหมายของเราก็คือให้เขาพัฒนาตัวได้ ทำการด้วยความเพียร ถูกหลักเหตุปัจจัย ถูกหลักกรรม แล้วเขาได้พัฒนาตัวเอง อย่าให้ขัดหลัก ??? หลักก็คือหลักการพัฒนาตนคือหลักสิกขา เพราะถ้าเขาไม่ทำ เขาหวังผลดลบันดาลเขาก็ไม่มีทางพัฒนาตัวเอง ฉะนั้นหลักแค่นี้มันก็โยงไปหาหลายหลักเลย หลักกรรม การกระทำให้สำเร็จด้วยการเพียรพยายามของตน หลักสิกขา การฝึกฝนพัฒนาตนเอง และลึกเข้าไปก็หลักเหตุปัจจัย พอจะเห็นไหมครับ
ผู้ฟัง : เจ้าคุณอาจารย์ครับ พอเราผ่านจากศรัทธามาแล้วเรามีปัญญาแล้ว การมีปัญญา แต่ว่าเรารู้หลักว่าอันนี้ถูกอันนี้ผิด แต่การปฏิบัติให้มันเชื่อมโยงกับปัญญานี่มันยังมีปัญหาอยู่ในการกระทำครับ บางครั้งเช่น เรารู้ว่าซื้อหวยไม่ดีแต่เราก็ยังปฏิบัติอยู่ หรือรู้ว่าทำสิ่งนี้ไม่ดีโกหกไม่ดีเราก็ยังทำอยู่ หรือเรื่องของการกินก็แล้วแต่ บางทีเรารู้ว่ากินของมันไม่ดีแต่เราก็ยังกินอยู่ ??? เราจะมีวิธีปฏิบัติยังไง
ก็นี่แหละต้องตั้งจิตสำนึกในการฝึกตน ก็คือสิกขานี่ต้องมี พระพุทธศาสนามองหลักการใหญ่ก็คือฝึกตน เราเป็นมนุษย์จะเอาดีได้ต้องฝึกตน ฉะนั้นก็อย่าไปยอมแพ้แก่จิตใจ แม้แต่จิตใจตัวเองที่มันไปเอาตามชอบใจไม่ชอบใจ คือจิตใจมนุษย์นี่มันมีด้านหนึ่งก็คือไปตามชอบใจไม่ชอบใจ และอีกด้านหนึ่งก็คือไปตามที่ความถูกต้องสมควรหรือทางปัญญา การที่ปัญญาพิจารณาเห็นว่ามันจะเป็นผลดีอย่างไรอย่างไร นี่มนุษย์มันจะโน้มเอียงไปทางความรู้สึกด้านชอบใจไม่ชอบใจ ที่นี้ด้านความรู้คือปัญญาเนี่ยมันบางทีรั้งไม่ไหว ด้านรู้สึกกับด้านรู้เนี่ย ด้านสองด้านมันเถียงกันอยู่เรื่อย ไอ้ด้านรู้สึกมันมาก่อนและมันมักจะมีกำลังแรง ทีนี้ถ้าเราไม่หัดฝึกตนเองนี่เราจะตกไปตามกระแสด้านความรู้สึก ตัวหลักก็คือชอบใจไม่ชอบใจนี่แหละมันจะชักจูงไป ก็คือทำอะไรตามชอบใจไม่ชอบใจ ฉะนั้นเราก็ต้องฝึกตัวเองเมื่อเรารู้หลักนี้แล้ว เราก็ต้องเข้าสู่ทางของความรู้ ก็คือทางของปัญญาซึ่งเป็นทางของการฝึกตน เราก็ต้องสร้างจิตสำนึกในการฝึกตนให้มันหนักแน่นขึ้นเรื่อย ๆ สำทับมันว่าเป็นมนุษย์จะเอาดีได้ต้องฝึกตน เมื่อเราฝึกตนพัฒนาตนเราจะก้าวไปสู่สิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นเลยนะ แล้วก็การพัฒนาตนดีขึ้นนี่มันก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตของเรา เราจะต้องพัฒนาตนอยู่เสมอ บางทีเราก็ไปเจอสถานการณ์ที่ยาก สถานการณ์ที่ยากเราก็รู้หลักอีกแหละ อะไรที่มันยากเราก็ยิ่งได้ฝึกตนเองมากจริงไหม อะไรที่ง่ายเราก็ได้ฝึกตัวเองน้อย ก็มันง่ายซะแล้วยังไม่ทันต้องคิดมาก ยังไม่ทันต้องใช้ทักษะฝึกมือฝึกเท้าหรืออะไรมาก ความเพียรพยายามก็ไม่มาก แต่ถ้าอะไรมันยากเรายิ่งต้องใช้ความเพียรสติสมาธิใช้ปัญญาอะไรต่ออะไรมาก ยิ่งยากยิ่งได้มาก เพราะฉะนั้นเจออะไรยากก็ต้องมองในแง่ดีเลยได้ประโยชน์ใช่ไหม อย่าไปทุกข์เจอของยากใช่ไหม เจอปัญหายาก เจอเรื่องยาก เจองานยาก ต้องบอกว่า ยิ่งยากยิ่งได้มาก จริงไม่จริงล่ะ ยิ่งยากยิ่งได้มากนี่เป็นคติสำหรับนักฝึกตน แล้วก็ทำให้มีสุขภาพจิตดีด้วย เพราะไม่งั้นแล้วคนไปเจออะไรยากก็ทุกข์แล้ว ท้อแล้วใช่ไหม ใจคอห่อเหี่ยวหดหู่ไม่สบาย จิตใจก็ไม่ดีสุขภาพจิตก็เสีย แล้วเสร็จแล้วยังทำไม่ได้ผลอีกด้วย เพราะว่าท้อใจไม่เต็มใจทำก็ทำไม่ได้ดีสิ พอเราตั้งจิตถูกว่า เออ...งานนี่ยากเรายิ่งยากยิ่งได้มากซิใช่ไหม ตอนนี้เราจะได้ฝึกเต็มที่เลย เอ้า...รับไปเลย หันเข้าหาเลยนะ ตอนนี้ใจดีเลยใช่ไหม มีความสุขที่จะทำสิ่งนั้น สุขภาพจิตก็ดี แล้วก็เต็มใจทำก็ทำได้ผลเลยใช่ไหม อันนี้ก็เป็นเรื่องโยนิโสมนสิการอีกแหละใช่ไหม โยนิโสมนสิการใช้ได้ทุกเรื่องแหละ แต่ว่ามันเอาไอ้หลักการฝึกตนมาใช้ คือโยนิโสมนสิการไปโยงเอาหลักฝึกตนมา
ก็เรื่องฝึกตนนี่ต้องเป็นจิตสำนึกสามัญของมนุษย์ เวลานี้ที่น่าเป็นห่วงคือการศึกษาเนี่ยไม่ได้มาที่แกนตัวนี้เลยใช่ไหม บางทีมันกลายเป็นว่า การศึกษานี่เป็นการที่ คือมันเข้าใจเขวหรือเพี้ยนไปจนกระทั่งว่า ครูนี่จะต้องมาจัดบริการ เหมือนกับมาบริการนักเรียนให้เขาชอบใจแล้วจึงเรียน มันไม่ไปสร้างคุณสมบัติปัจจัยภายใน คือ มันจะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายในปัจจัยภายนอก ครูนี่เป็นปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกที่เก่งก็คือ เป็นปัจจัยภายนอกที่สามารถไปทำให้เกิดปัจจัยภายในในตัวเขา ไม่ใช่เป็นปัจจัยภายนอกที่ไปช่วยสร้างบริการ หรือผมเรียกว่าระบบจัดตั้ง เช่นว่า เรียนอย่างสนุกให้นักเรียนเป็นสุขนี่มันเป็นคำกำกวมแล้วดีไม่ดีผิด บางทีครูก็เลยไปเข้าใจผิด อ๋อ...เรียนอย่างเป็นสุขสนุก แหมครูต้องหาทางมาจัดสถานการณ์ให้มันสนุกอะไรต่ออะไร จนกระทั่งเด็กเคยตัว ที่นี้มันก็กลายเป็นความสุขจัดตั้ง หนึ่งก็คือ ในชีวิตที่เป็นจริงนี่มันไม่เป็นอย่างนี้ไม่มีใครมาจัดตั้งให้ นักเรียนจะต้องไปเจอสถานการณ์ที่มันมีสุขบ้างทุกข์บ้างน่าชอบใจไม่ชอบใจบ้าง เขาจะต้องไปเจอและปฏิบัติแต่สิ่งเหล่านั้นให้ถูกด้วยตนเอง และมีความสามารถที่จะปฏิบัติจัดการถูกไหม เราจะต้องฝึกอันนี้เขา ไม่ใช่มาจัดตั้งให้เขาอย่างนี้มันก็จบกันซิการศึกษา สองก็คือว่า พอไม่ได้สุขจัดตั้งอย่างนี้แล้วทีนี้กลายเป็นคนทุกข์ง่ายเลย เรียนไม่ได้แล้ว ไอ้การที่จัดให้การเรียนการสอนสนุกนี่มันเป็นวิธีที่ดี หนึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นทำให้จิตของเด็กเนี่ยโน้มมาสู่การเล่าเรียนและเข้าใจได้ง่าย มีความพร้อมที่จะเรียน มีความสนใจ มีสมาธิมากขึ้น แต่ว่ามันจะได้ผลจริงต่อเมื่อมันไปทำให้เกิดปัจจัยภายใน ก็คือคุณสมบัติในใจของเด็ก เช่น เกิดความใฝ่รู้ เช่นว่า เราอยากให้เรียนเรื่องนี้ตอนแรกเราให้สนุกก่อน ต่อมาเด็กอยากรู้เรื่องนี้ขึ้นมาจริงนั่นแหละได้แล้ว พอเด็กเกิดความใฝ่รู้อยากรู้ทีนี้นะ เขามีปัจจัยภายในแล้วนะต่อไปเขามีความสุขเองโดยครูไม่ต้องมาจัดตั้งแล้ว เด็กอยากจะไปเรียนเรื่องนี้ แม้แต่มันยากจะต้องไปขุดค้นไปหายากเหลือเกินเนี่ย มันอยากทำเองแล้วมันมีความสุขในการค้นคว้าหาเองเลยใช่ไหม ตอนนี้สิครับการศึกษาเป็นความสุขในตัวเองเลย ไม่ต้องไปกลัวยากแล้วตอนนี้ เด็กมันมีปัจจัยภายในคือความใฝ่รู้แล้ว ตัวนั้นคือปัจจัยความสุขที่แท้ไม่ใช่การจัดตั้งของครู ทีนี้ไปจัดตั้งอย่างนี้ก็ไม่มีไม่ไปไหนแล้วเด็กไม่พัฒนา จะต้องรู้ว่าเราเป็นแค่ปัจจัยภายนอก ไปจัดเตรียมเบื้องต้นแล้วหาทางโยงให้เข้าปัจจัยภายในให้ได้ ก็อย่างเนี่ยเหมือนอย่างเมื่อกี้ที่เราพูดเรื่องว่า เรามีคนที่ยังไม่พร้อมนี่มากมาย เราก็ใช้ระบบศรัทธาเพื่อให้ระบบศรัทธาได้ผล เราก็จัดตั้งคนที่เป็นนักสอนหรือคนที่มีคุณสมบัติดี ๆ มา ก็เรียกว่าระบบกัลยาณมิตร เป็นคนที่ดีเป็นคนมีเมตตาบุคลิกดี เข้ากับนักเรียนเข้ากับอะไรต่ออะไรได้ แล้วก็มีความสามารถในการสอนมีปัญญารู้หลัก ก็เอาคนนี้มาประสานกับตัวผู้เรียน แล้วก็เป็นทางเดินให้เขาพัฒนาตัวได้ใช่ไหม กัลยาณมิตรก็ทำหน้าที่นี้ แต่ว่าต้องรู้ว่าตัวเองนี่เป็นปัจจัยภายนอก และจะต้องไปทำให้เกิดปัจจัยภายในในตัวเขาให้ได้ ปัจจัยภายในเช่นความใฝ่รู้เกิดขึ้นมาแล้วเขาก็สามารถสร้างความสุขด้วยตนเอง เขาจะไปไหนเขาอยู่ในโลกเขาปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง และหาความสุข มีความสุขได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอความสุขจัดตั้ง ทีนี้ตอนนี้บางทีก็เขวเพราะว่าไม่ได้ทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน ที่ว่า Child Center Education บางทีเข้าใจเป็นอย่างนี้ก็มีนะถึงขนาดนี้เลย กลายเป็นครูเป็นผู้บริการหาทางเอาอกเอาใจนักเรียน ให้นักเรียนต้องสนุกสนานให้ได้ใช่ไหม มันไปคิดแค่นั้นก็ไม่ไหวแล้วการศึกษาไม่เกิด การศึกษาก็คือการฝึกตัวของคนนั้น คนนั้นจะต้องพัฒนาขึ้นมา อ้าว...นี่ก็เลยว่ากันเรื่อยเปื่อยนะ พูดไปเรื่อย ๆ นิมนต์ครับ
ผู้ฟัง : อย่างนี้พอจะเรียกว่าสอนวิธีการจับปลาโดยที่ไม่ใช่ว่าสอนไปป้อนปลาให้เด็ก
ครับก็จะว่างั้นก็ได้ ก็ต้องให้เด็กรู้จักทำด้วยตนเองได้ซิใช่ไหม แล้วแม้แต่ความสุขก็ต้องให้สามารถสร้างความสุขด้วยตนเอง ไม่ใช่ขึ้นต่อความสุขจากภายนอกที่เรียกความสุขจัดตั้ง เพราะฉะนั้นคนที่พัฒนาแม้แต่ในด้านความสุข ความสุขก็จะเป็นความสุขที่เป็นอิสระมากขึ้น บางท่านวันก่อนสนใจเรื่องความสุขใช่ไหม เนี่ยความสุขก็เป็นเรื่องใหญ่เลย ได้เรียนได้ฟังกันบ้างยังเรื่องความสุขในพุทธศาสนา
ผู้ฟัง : ได้ฟัง MP3 เรื่องสุขข้างนอก สุขข้างหน้า สุขที่แท้อยู่ข้างใน
อ้อฟังไปแล้ว เรื่องความสุขก็เรื่องใหญ่ ทีนี้คนภายนอกนี่จะมาสะดุดว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ อย่างเราไปอ่านตำราฝรั่ง อย่างพวกตำราที่ต้องเขียนสรุปให้สั้นว่าพุทธศาสนาคืออะไร อย่างพวก Encyclopedia นี่มักจะเอาเลยเชียว เช่นว่า เป็นเอนไซโคลพีเดียที่เขียนสั้น ๆ นะก็จะบอกว่า Buddhism แล้วจะบอกว่าเป็นศาสนาที่สอนว่า Life is sorrowful ??? ว่างั้นใช่ไหม อะไรทำนองนี้
ผู้ฟัง : แล้วทุกวันนี้เขาก็ยังมีความเชื่อเช่นนี้หรือไม่ ในพวกฝรั่ง หรือว่าเขาแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
ก็มีดีขึ้นบ้างถ้าเทียบกับยุคก่อนเท่าที่ผมสังเกตนะ ดีขึ้นบ้าง เพราะว่ามีการอธิบายอย่างเรียกว่ามีขั้นมีตอนมากขึ้น หรือว่ามีการเชื่อมโยงไปสู่หลักการมากขึ้น ไม่ใช่พูดลอย ๆ สมัยก่อนนี้บางทีก็เอาแค่นั้นแหละ ทีนี้เราก็ต้องยอมให้โอกาสเขาเหมือนกัน เราต้องเข้าใจเขาว่าไอ้เรื่องนี้มันก็เข้าใจยาก แม้แต่ชาวพุทธเอง คนไทยเองนี่แหละไม่ต้องไปฝรั่งใช่ไหม ก็ยังมองพุทธศาสนาเข้าใจไม่ถูกแยกไม่ถูก แล้วก็แม้แต่ผู้สอนเอง ผู้สอนแม้แต่สอนชั้นสูงก็ไปเน้นแต่เรื่องทุกข์มาก นี่ถ้าจับจุดไม่ได้แยกแยะไม่ถูกอะไรจำแนกไม่ตรงที่ มันก็ทำให้วุ่นสับสน พุทธศาสนานี่ถ้าว่าไปแล้วเป็นศาสนาแห่งความสุขนะ ผมเคยเขียนไว้ไม่ทราบท่านอ่านกันบ้างหรือยัง ทุกข์สำเร็จเห็นสุขสำหรับเป็น ??? คือถ้าเราดูฝรั่ง ฝรั่งดูจากหนังสือ ก็จะบอกพระพุทธศาสนานี่ แหม...สอนเรื่องทุกข์มีแต่เรื่องทุกข์ แต่ถ้ามาเจอชีวิตคนในเชิงปฏิบัติก็จะเห็น เอ...ในเมืองพุทธนี่มีแต่ความสุขใช่ไหม เหมือนกับขัดแย้งกันในตัว แต่ที่จริงมันเรื่องเดียวกัน ถ้าท่านแยกแยะให้เป็น แค่หลักถ้าดูเป็นมันก็ง่ายแล้ว พุทธศาสนาสอนอริยสัจ ๔ ทีนี้ถ้าเราไปเน้นข้อที่ ๑ เพราะมันเริ่มต้นเลยใช่ไหม อริยสัจ ๔ ข้อที่ ๑ ทุกข์ เช่น ฝรั่งไปจับพระพุทธศาสนาสอนอริยสัจข้อ ๑ ทุกข์ แกก็เอา Life is sorrowful ??? หรืออะไรก็ว่าไปก็จบ แล้วแกไม่ก้าวต่อไป ทีนี้ถ้าต่อด้วยอริยสัจข้ออื่น เช่นตอบด้วยข้อ ๔ นิโรธ ก็จะเขียนใหม่บอกว่า ก็เขียนบอกว่า พุทธศาสนาสอนว่าความทุกข์นั้นแก้ไขได้ จะพูดอย่างนี้เลยนะถ้าเป็นนิโรธจะตอบไปอีกอย่าง ก็คือเขาไม่ได้พูดให้จบอริยสัจ ๔ นี่เป็นแง่หนึ่ง แต่ไม่ต้องไปถึงแค่นั้นหรอก เอาแค่ทุกข์นี่แหละข้อเดียว ข้อทุกข์ข้อเดียวเท่านี้ก็พอ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสแล้วไม่ได้ทิ้งลอย ๆ ไว้ ตรัสต่อว่า ทุกขัง ปริญเญยยัง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วพระองค์ก็ตรัสหน้าที่ต่อ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ท่านเรียกว่า กิจต่ออริยสัจ หมายความว่า วางขีดไว้แล้วไม่ให้ผิดพลาด กิจก็คือหน้าที่ของเรา เราต้องปฏิบัติต่ออริยสัจให้ถูก ถ้าปฏิบัติผิดไม่เป็นไปตามนี้ก็แสดงว่าไม่ใช่หลักพุทธศาสนา ทุกขัง ปริญเญยยัง หมายความว่า หน้าที่หรือกิจต่ออริยสัจข้อทุกข์คืออะไร คือปริญญา ปริญญาก็คือรู้มันตามเป็นจริง รู้เข้าใจมัน ก็หมายความว่าทุกข์นี่เป็นเรื่องสำหรับปัญญารู้ ความจริงทุกข์ก็คือสิ่งที่มันไม่น่าพึงพอใจ มันบีบคั้น มันเป็นสภาวะที่ขัดข้องติดขัดทั้งหลายซึ่งมันมีในชีวิตมนุษย์ มีในทุกสิ่งล้อมรอบตัวเราที่ชีวิตจะต้องเผชิญ หนึ่งคือพุทธศาสนาว่า ถ้าเราต้องการมีความสุขนี่เราจะต้องไม่หลีกเลี่ยง ไม่หนีความทุกข์ ไม่หนีที่จะเผชิญหน้ามัน สองก็คือการเผชิญหน้ามันต้องเผชิญด้วยความรู้ ปฏิบัติต่อมันด้วยความรู้ ปริญญา รู้เข้าใจมัน ก็เหมือนกับคนจะแก้ปัญหาจะหนีปัญหาทำไม จะหนีปัญหาก็ไม่รู้จักจบใช่ไหม ก็แก้ปัญหาจะแก้ยังไงก็ต้องรู้ปัญหาก่อน เริ่มต้นก็ทุกข์ก็คือปัญหานี่แหละ เพราะฉะนั้นหน้าที่ต่อทุกข์ก็คือปริญญา แปลว่ารู้เข้าใจ เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์นะ พระพุทธศาสนาไม่เคยสอนว่าให้เราเป็นทุกข์ ถ้าใครเป็นทุกข์แสดงว่าปฏิบัติผิดต่อพุทธศาสนา หน้าที่ต่อทุกข์คือรู้เข้าใจ ยิ่งเรารู้เข้าใจทุกข์เท่าไร เรายิ่งแก้ไขได้ดียิ่งขึ้นเชื่อไหม เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหามีความติดขัดมีอะไรต่ออะไรที่เรียกว่าทุกข์นี่จะต้องรู้เข้าใจ แล้วต่อจากนั้นก็รู้เข้าใจแล้วก็สืบสาวหาเหตุปัจจัยของมัน แล้วก็มองกำหนดจุดหมายความเป็นไปได้ในการแก้ไข แล้วต่อจากนั้นก็ปฏิบัติการ วางวิธีปฏิบัติว่าทำยังไงจะแก้ได้ แต่ว่าให้จำไว้ชัด ๆ เลยคือว่า ถ้าจะพูดถึงอริยสัจ อย่าลืมพูดถึงหน้าที่ต่ออริยสัจ หรือกิจต่ออริยสัจ หน้าที่ต่อทุกข์ก็คือปริญญา รู้เข้าใจ เราเอาคำว่าปริญญามาใช้ในการสำเร็จการศึกษาชั้นอุดมศึกษานะทั้งปริญญาตรี โท เอก ก็แสดงว่าเราเรียนเรื่องทุกข์ใช่ไหม เพราะว่าท่านบอกว่าทุกข์สำหรับปริญญาใช่ไหม เราเรียนกันเรื่องทุกข์หมดเลย แต่ขอให้เข้าใจจริง ๆ แล้วเราจะแก้ได้จริง ๆ ก็เป็นคำบาลีแท้ ๆ เลยปริญญา แล้วที่อื่นพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้อีก เช่นว่า อ้าว...จะพูดอะไรสมองหายไปเฉย ๆ เนี่ยจะเป็นอย่างนี้บ่อยนะ อ้าว... ใครมองเห็นนิพพานเป็นทุกข์ผู้นั้นไม่มีทางประสบความสำเร็จ ก็ต้องถ้ามองเห็นนิพพานเป็นสุขจึงจะมีทางประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม และในพระสูตรตัดวิธีปฏิบัติต่อทุกข์ไว้ ๔ อย่าง นี้ก็ดีเหมือนกันนะเอามาใช้ได้ทั่วไป วิธีปฏิบัติต่อเรื่องสุขและทุกข์
๑. ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่เป็นทุกข์ บางคนหาทุกข์มาใส่ตัว พูดอย่างนี้ก็คือ หนึ่งอย่าหาทุกข์ใส่ตัวโดยไม่จำเป็น โดยทั้ง ๆ ที่ไม่มีทุกข์อยู่ เช่น บางคนนั่งอยู่เงียบ ๆ ก็นั่งกลุ้มอกกลุ้มใจ เอาเรื่องที่ผ่านมาแล้วขัดหูขัดตามานั่งคิดปรุงแต่งเป็นทุกข์ อย่างนี้ท่านเรียกว่าหาทุกข์ใส่ตัว เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่เป็นทุกข์ เป็นกันเยอะ และก็เรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่ควรจะเป็นทุกข์ก็เอาทุกข์มาใส่ นี่หนึ่งท่านบอกว่าไม่เอาทุกข์ทับถมตนจนเป็นทุกข์
๒. ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม สุขที่ชอบธรรมมันไม่เบียดเบียนตนไม่เบียดเบียนคนอื่น ท่านไม่ว่า ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม
๓. แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้นก็ไม่สยบมัวเมา ไม่ลุ่มหลงสยบมัวเมา ถ้าสยบมัวเมาปั๊บติดในสุข แม้แต่สุขในการปฏิบัติธรรมได้สมาธิอะไรต่ออะไร ติดปั๊บสยบประมาททันทีเลยนะ สุขนี่ทำให้ประมาท ถ้าติดสุขปั๊บประมาท ประมาทก็ขัดขวางตัวเองไม่ให้เดินหน้า ตัวสุขนี่มันไม่ได้เสียในตัวเอง แต่มันเป็นปัจจัยให้ปัจจัยอีกตัวในตัวเราที่มันไม่ดีอยู่เนี่ยมันมาทำงานได้ นี่คือระบบเหตุปัจจัย ไอ้ตัวดีก็เป็นปัจจัยแก่ตัวไม่ดีได้ ตัวไม่ดีก็เป็นปัจจัยแก่ตัวดี ถ้าใช้เป็นไอ้ปัจจัยไม่ดีก็กลายเป็นดีไป กลายเป็นว่าทำให้เกิดการทำที่ดีที่ถูกต้องได้ เอาล่ะแม้ในสุขที่ชอบทำก็ไม่สยบหรือลุ่มหลงมัวเมาก็แล้วแต่ ไม่ติดไม่เพลิน ไม่ทำให้เกิดความประมาท
๔. พยายามกำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้สิ้นไป หมายความว่าบางทีเราอยู่ไปเราก็หาความสุข แต่ว่าเหตุแห่งทุกข์ที่มีอยู่เราไม่ได้กำจัด หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป เพราะเรายิ่งกำจัดเหตุแห่งทุกข์หมดไป เราก็ยิ่งพัฒนาตัวไปในทางความสุขมากขึ้นด้วย
ก็มี ๔ ข้อนี่ใช้ได้เลย ฉะนั้นเรื่องความสุขก็เป็นเรื่องต้องพัฒนา เราจะมองเห็นความสุขมีหลายแบบ ในพุทธศาสนานี่มีการแยกแยะความสุขไว้เยอะเลย แสดงว่าท่านเอาใจใส่มากเลยความสุข บางแห่งแยกสุขไว้ ๑๐ อย่าง หรือสุขอย่างง่าย ๆ ที่สุด เช่น แยกเป็นคู่ ๆ คู่ ๆ เยอะเลย จับคู่เช่น สุขทางกายสุขทางใจ ??? หรือว่าคู่ที่น่าสนใจมากก็คือคู่ สุขที่อิงอาศัยวัตถุ กับสุขที่ไม่ขึ้นต่อวัตถุ หรือพูดเป็นสำนวนพระว่า สุขที่อิงอาศัยอามิส กับสุขที่ไม่ขึ้นต่ออามิส ทีนี้ถ้าเราดู แม้แต่หลักง่าย ๆ อย่างนี้ เราจะเห็นว่ายุคปัจจุบันนี้ คนนี่จะมีความสุขทางวัตถุ แล้วกลายเป็นสุขที่ขึ้นต่ออามิสขึ้นต่อวัตถุ แล้วโดยไม่รู้ตัวนี่นะก็กลายเป็นคนหมดอิสรภาพ จริงไหมลองดูให้ดี ขึ้นต่อวัตถุเขาไม่รู้ตัว คนเราจะพัฒนาความสามารถในการที่จะหาสิ่งต่าง ๆ มาโดยเข้าใจว่านั่นคือการหาความสุข ทำตนให้เก่ง ก็คิดว่าวัตถุนี่เป็นแหล่งของความสุขใช่ไหม มีสิ่งบำรุงบำเรอต่าง ๆ มากมายท่านเรียกว่าอามิส ทีนี้ตัวจะได้แหล่งความสุขคืออามิสเหล่านั้นมา ตัวก็ต้องพัฒนาความสามารถ เดี๋ยวนี้แม้แต่การศึกษาก็เลยไปโยงความหมายนี้ด้วย การศึกษาก็มาพัฒนาความสามารถในการที่จะไปแสวงหาอามิสเหล่านี้ แล้วก็จะได้มีความสุขมาก ๆ ที่นี้ก็เลยมีความสามารถมาก ที่ว่าการศึกษาที่พัฒนาความสามารถในการหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุข ก็หามาหามาให้ตัวมาก ๆ ที่นี้มันมีอะไรหลายอย่างที่น่าวิเคราะห์ในกระบวนการนี้ แต่อย่างง่ายที่สุดก็คือ มันจะเป็นความสุขที่ขึ้นต่อวัตถุมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ขึ้นต่อวัตถุยังไงก็หมายความว่า ไอ้ความสุขนั้นไม่ได้อยู่ที่ในตัวเองนะ มันฝากไว้กับวัตถุเหล่านั้น ถ้าไม่มีวัตถุเหล่านั้นแล้วตัวเองก็ไม่มีความสุขถูกไหม ตัวเองไม่สามารถมีความสุขด้วยตนเองโดยลำพังตัวเอง ต้องอาศัยวัตถุเหล่านั้น ขาดวัตถุเหล่านั้นไม่ได้ ที่นี้เมื่อตัวพัฒนาความสามารถและหาสิ่งเสพมากขึ้น ๆ มันลืมตัว มันก็กลายเป็นว่าต้องมีมากขึ้นมากขึ้นจึงจะสุข ต่อมาที่เคยมีน้อย ๆ แต่ก่อนไม่มีแล้วมีบ้างก็สุข หรือแม้แต่คิดว่าถ้ามีเท่านี้ใช่เปล่า เคยไม่มีเลยก็คิดว่าถ้าเรามีสักพันหนึ่งล่ะแหม...สุขเหลือเกินแล้วเยี่ยม ต่อมาหาได้แสนหนึ่งแล้วไอ้พันนี้กลายเป็นทุกข์เลยเชื่อไหม เออ...วันนี้ได้พันไม่ไหวแล้วแย่ ทุกข์แล้ว ต่อไปได้ล้าน ได้สองล้าน ได้แสนก็กลายเป็นทุกข์ไปเลย กลายเป็นคนที่สุขยากขึ้น ทุกข์ง่ายขึ้น พร้อมกันนี้สุขได้ยากขึ้นก็ทุกข์ก็ง่ายขึ้น แล้วความสุขก็ไปขึ้นต่อวัตถุหมด ก็กลายเป็นคนที่หมดอิสรภาพ นี่แหละคืออิสรภาพที่ต้องวิเคราะห์ความหมาย เพราะอิสรภาพนี่ความหมายแบบจะเรียกว่าแบบฝรั่งก็ได้นะ หรือฝรั่งส่วนมากไม่ใช่ทั้งหมด มักจะมองโน้มเอียงไปในทางที่ว่า มีความเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อสิ่งอื่น และมีอำนาจที่จะจัดการกับอะไรอื่นด้วยนะ เขามองอย่างนี้เลยนะ คือไม่ใช่แค่พ้นมาจากการถูกจำกัดถูกผูกมัดเท่านั้นนะ แต่หมายความว่า สามารถที่จะไปจัดการอะไรต่ออะไรได้ตามชอบใจ ก็เลยพวกที่แสวงหาความสุขได้เก่ง แกก็เข้าใจผิดว่า แหม...แกมี Freedom ดีเหลือเกิน มีอิสรภาพสามารถไปจัดการกับอะไรได้ หาสิ่งทั้งหลายสิ่งเสพบำรุงบำเรอได้มากมาย นี่ไม่รู้ว่าที่จริงตัวนี่สูญเสีย Freedom หมดแล้ว เพราะหมดอิสรภาพเลยใช่ไหม กลายเป็นว่าตัวเองต้องขึ้นต่อวัตถุนั่นหมดเลย ไม่มีความสุขเป็นของตัวเอง ทีนี้ในกระบวนการนี้มันก็มีเรื่องที่ต้องวิเคราะห์อีกหลายขั้นที่ว่าเมื่อกี้ เช่นว่า หนึ่งก็คือว่าเมื่อตัวเองหาแล้วจะต้องสุขเมื่อมีของมากขึ้นเสพมากขึ้น คนอื่นก็เช่นเดียวกันเพราะว่ามีแนวคิดเหมือนกัน แล้วสิ่งของในโลกมันมีจำกัดใช่ไหม ก็ต้องแย่งชิงและเบียดเบียนกัน นำมาซึ่งทุกข์ของกันและกัน อันนี้ก็คือนำมาซึ่งความแย่งชิงและความขัดแย้งในหมู่มนุษย์ แล้วเมื่อเสพบริโภคมากก็ทำลายธรรมชาติแวดล้อม อันนี้ก็คือกระบวนการที่เกิดปัญหาของมนุษย์ทั้งหมดในปัจจุบัน ก็เรียกว่านี่คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความสุขที่มันผิดพลาด ความสุขที่ไม่มีอิสรภาพ และเป็นความสุขที่สุขได้ยากขึ้นทุกข์ได้ง่ายขึ้น แล้วก็เป็นความสุขแบบเมืองขึ้น แล้วก็มีลักษณะอีกอันหนึ่งก็คือเป็นความสุขแบบต้องหา ซึ่งมันส่อแสดงในตัวว่าตัวเองไม่มีความสุขจริงไหม หาความสุข อ้าว...ก็บอกอยู่แล้วว่าฉันไม่มีความสุขฉันจึงต้องหาใช่ไหม คนเดี๋ยวนี้เป็นนักหาความสุข ในทางพุทธศาสนาท่านให้ฝึกตนให้มีความสุข ไม่ใช่ให้หาความสุข เพราะฉะนั้นมันจึงต้องมีกระบวนการคู่กัน ท่านยอมรับว่าคนนี่ต้องอาศัยวัตถุกันอยู่ ในระดับหนึ่งเราต้องอาศัยมัน เราก็ต้องมีการศึกษาด้านหนึ่งที่มีสัมมาชีพเป็นต้น เพื่อให้มีความสามารถในการที่จะเลี้ยงชีพ ทำอาชีพการงานต่าง ๆ นะ แต่พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งก็คือ พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขจริง อันนี้ตัวสำคัญที่เราขาด คนปัจจุบันไม่เอาเลยนะ พัฒนาความสามารถที่จะหาความสุข แต่ไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข แล้วเมื่อเขาเก่งในการหาสิ่งเสพบำเรอความสุขมากขึ้น เขาก็ยิ่งหมดความสามารถที่จะมีความสุขถูกไหม เพราะความสุขขึ้นต่อวัตถุ ความสามารถที่จะมีความสุขน้อยลง ๆ ๆ เดี๋ยวนี้ลองดูสิ จนกระทั่งฆ่าตัวตายง่ายอะไรต่ออะไร ทุกข์ง่ายสุขได้ยาก นี่ถ้าเก่งจริงนี่อยู่ไป ๆ ต้องสุขได้ง่ายทุกข์ได้ยาก ใครจะมาทำให้ฉันทุกข์ เฮ้ย...เป็นไปได้ยาก แกอย่ามาพยายามเลยนะ สุขได้ง่าย มียังไงมียังไงฉันสุขได้หมด แต่ไอ้สุขนี่ตัวสำคัญอันหนึ่งคืออย่าทำให้ประมาท สุขนี่...ตัวร้ายก็คือว่ามันเป็นเหตุให้ประมาทต้องระวัง ถึงแม้จะปฏิบัติถูกทางแต่ถ้าทำให้ติดประมาทหยุดเมื่อไหร่ ผิดทันทีเหมือนกัน ต้องมีกรอบเหมือนกัน แต่ว่านั่นแหละ เราก็ต้องดูตัวเองว่าเราอยู่ในโลกเราต้องสุขง่ายขึ้น อย่าไปสุขยากขึ้น แล้วก็ต้องทุกข์ได้ยาก อย่าไปทุกข์ได้ง่าย อันนี้ก็เป็นหลัก เพราะฉะนั้นก็พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข นี่ท่านก็ให้พัฒนาความสามารถในการมีความสุข ก็เลยมีความสุขหลายระดับ เราก็พัฒนามันก็การพัฒนาความสุขมันก็ไปสัมพันธ์กับการพัฒนาด้านอื่น เช่น การพัฒนาความต้องการ เป็นต้น คนเรานี่ที่มีความสุขก็โดยปกติก็คือเพราะได้สนองความต้องการ แต่ว่าเพราะเขามีความต้องการอย่างเดียวคือต้องการวัตถุเสพ เขาก็มีความสุขด้านเดียวคือสนองความต้องการในการได้วัตถุเสพ เมื่อได้สิ่งเสพมาก็สนองความต้องการเขาก็มีสุข ??? เขาก็มีสุขอย่างเดียว แต่ถ้าเขาพัฒนาการต้องการอย่างอื่นขึ้นมา ความต้องการนั้นก็จะเป็นทางหาความสุข เหมือนอย่างเช่น คนที่ต้องการความรู้ ใฝ่รู้ ความต้องการอย่างนี้เกิดขึ้น เขาสนองความต้องการในการหาความรู้ เขาก็มีความสุขในการที่จะหาความรู้ จนกระทั่งว่าลืมกินลืมนอน ไม่อยากไปหาวัตถุเสพเลยใช่ไหมพวกนี้ก็มีใช่ไหม อย่างของนักวิทยาศาสตร์นักค้นคว้าหลายคนที่เขาค้นคว้าด้วยใจจริงของเขาเนี่ย แม้แต่ที่คิดว่าไอสไตล์ก็เป็นแบบนี้ คือแกอยากรู้ความจริงของธรรมชาติ ไอ้ความอยากรู้เนี่ยมันเป็นความต้องการสำคัญที่แกจะต้องสนอง และก็ทำให้แกเพียรพยายามทุกอย่าง ทางพระเรียกว่าเกิดฉันทะขึ้นแล้ว ฉันทะก็คือความต้องการตัวนี้ ความอยากรู้ มันก็ต้องเพียรพยายาม ตอนนี้การที่ได้ก้าวหน้าในความรู้หาความรู้เป็นความสุขหมดเลย หรืออย่างตัวอย่างง่าย ๆ ก็เช่น อย่างพ่อแม่รักลูกใช่ไหม ก็ต้องการให้ลูกมีความสุข ความรักในความหมายที่เป็นเมตตา ความรักแบบพ่อแม่ ความรักคืออะไร แค่ความรักคืออะไรก็อาจจะสงสัยแล้วใช่ไหม ความรักคืออะไร ความรักก็คือความต้องการให้เขาเป็นสุข ที่ว่าพ่อแม่รักลูกก็คืออยากให้ลูกเป็นสุขหรือไม่จริง ทีนี้ถ้าความรักแบบอย่างอื่นนะต้องระวัง ความรักอย่างอื่นก็คือฉันอยากได้ความสุขจากแก เป็นอย่างนั้นรึเปล่า บางทีมันเป็นอย่างนั้นนะ เพราะฉะนั้นคนเนี่ย แม้แต่คู่ครองจะให้ดีต้องพัฒนาให้ความรักแบบที่ถูกต้องนี่มาคู่กัน ไม่งั้นแล้วมันจะเกิดปัญหา จะเอาแต่ใจตัวเอง แล้วต่อไปจะขัดแย้งกัน จะเกิดเรื่องยุ่ง ความรักแบบว่า ฉันชอบใจที่สิ่งนั้นบุคคลนั้นจะสามารถทำให้ฉันมีความสุข ฉันชอบใจเธอเพราะเธอจะทำให้ฉันมีความสุข อย่างนี้เรียกว่าความรักแบบราคะ ที่นี้ความรักที่แปลว่า ต้องการให้เขาเป็นสุข อยากเห็นเขาเป็นสุข นี่ความรักแบบเมตตา เช่นพ่อแม่ พ่อแม่ก็อยากเห็นลูกมีความสุขต้องการให้ลูกมีความสุข พอต้องการให้ลูกมีความสุขทำไง ก็ต้องหาทางให้ลูกเป็นสุขใช่ไหม เพราะเป็นการสนองความต้องการของตัว ฉะนั้นจะให้แก่ลูกยังไง ตัวเองแม้จะเสียไปก็ไม่ทุกข์เลยนะมีแต่ความสุข ได้เห็นลูกเป็นสุขเมื่อไรก็เป็นสุขด้วย เนี่ยความรักแบบนี้ ทีนี้พอพี่น้องรักกันแบบนี้ปั๊บ พี่ก็สละให้น้องได้อีกใช่ไหมทำเพื่อน้องได้หมด เพราะตัวเองเป็นสุขในการทำอย่างนั้น ต่อไปก็พัฒนาขึ้น ที่ท่านให้แผ่เมตตาให้พัฒนาเมตตาขึ้นมาก็อันนี้แหละ พอพัฒนาขึ้นมาไอ้ความสุขมันก็เกิดเพิ่มตามอัตราส่วนของความรักและการขยายขอบเขตของความรัก ต่อไปเป็นพระอริยบุคคลอย่างพระโสดาท่านก็รักเพื่อนมนุษย์ทั่วไปหมด ท่านก็สามารถมีความสุขมากขึ้นใช่ไหม มันก็เป็นธรรมดามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความสุขก็เลยมีแหล่งที่จะมี ความสุขแบบนี้ก็เป็นความสุขร่วมกันสุขด้วยกัน ถ้าเป็นความสุขแบบอามิสก็เป็นความสุขแบบแย่งกันสุข ฝ่ายหนึ่งสุขฝ่ายหนึ่งทุกข์ใช่ไหม เราได้เขาเสีย ความสุขแบบแย่งชิงแบบนี้ก็เกิดปัญหาในโลก ท่านก็ให้พัฒนา ยอมรับว่าขั้นต้นมนุษย์ต้องอาศัยสุขจากวัตถุ แต่ว่าอย่าไปหยุดแค่นั้น ต้องพัฒนาตัว ก็พอเราพัฒนาไอ้ความต้องการเหล่านี้ ความต้องการเหล่านี้ท่านเรียกว่าเป็นคุณธรรมทั้งนั้น เช่น ความต้องการรู้ก็เป็นฉันทะ ก็เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง ความต้องการที่ให้เขาเป็นสุข ก็เป็นคุณธรรมเรียกว่าเมตตา ความต้องการให้เขาพ้นทุกข์ ก็เป็นคุณธรรมเรียกว่ากรุณา ก็ความต้องการทั้งนั้นแหละ ทีนี้มันก็เป็นคุณธรรมขึ้นมา เราก็เรียกชื่อมันไป แต่ที่จริงแกนของมันก็คือเราต้องการ แล้วเสร็จแล้วเราก็ต้องสนอง แล้วพอสนองก็มีความสุข ฉะนั้นมันก็เลยมีหนทางที่จะมีความสุขนี่มาก ท่านจับจุดนี้ท่านก็มาให้คนพัฒนาตัวในเรื่องความสุข พอความสุขมีมากขึ้น ตัวเองก็จากการเป็นนักหาความสุขก็กลายเป็นคนมีความสุขมากขึ้น จนกระทั่งเป็นผู้มีความสุขในตัวเอง แล้วก็มีความสุขเป็นคุณสมบัติประจำตัวอยู่ในตัวไปเลย ก็เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระอรหันต์นี่ คือผู้ที่มีความสุขอยู่ในตัวเป็นคุณสมบัติในตัวเอง ก็จบก็ไม่ต้องหาความสุข เมื่อไม่ต้องหาความสุข ท่านเรียกว่าเป็นบุคคลที่เต็มอิ่ม เมื่อเต็มอิ่มก็ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง การที่จะมีความสุขเต็มบริบูรณ์ มันก็ส่องแสดงบ่งชี้ไปเองว่าเขาได้พัฒนาอะไรต่ออะไรมาถึงจุดแล้วใช่ไหม จึงจะมีความสุขในตัวเองเต็มสมบูรณ์ ก็คือพัฒนาปัญญาพัฒนาจิตใจพัฒนามาพร้อมหมดแล้ว ก็เป็นบุคคลที่เต็มอิ่ม เต็มอิ่มก็ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเอง ฉะนั้นพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าเนี่ย ท่านจึงไปเที่ยวจาริกสั่งสอนเพื่อชาวโลกโดยที่ไม่ได้มีความทุกข์อะไร แล้วไม่ต้องเสียสละด้วย ถ้าอย่างพระโพธิสัตว์นี่ต้องตั้งปณิธาน เรายอมเสียสละตนเองทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ แต่ถ้าอย่างพระพุทธเจ้าก็เป็นคุณสมบัติในตัวเองจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นคนละแบบ ทำไมเราจึงมีความแตกต่างระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระอรหันต์และพระพุทธเจ้า ก็คือว่าพระโพธิสัตว์ท่านยังมีสิ่งที่ท่านต้องทำเพื่อตัวท่านเอง แล้วท่านจะบรรลุความสมบูรณ์นั้น ท่านก็เลยต้องตั้งปณิธานว่าทำเพื่อผู้อื่นให้เต็มที่ อยู่ได้ด้วยปณิธาน ที่นี้พอสมบูรณ์แล้วมันมีในตัวเอง มันก็ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองก็ทำเพื่อผู้อื่น ท่านบอก กตกิจโจ กตกรณีโย ??? เป็นผู้ทำกิจสิ่งที่ต้องทำ ก็คือเพื่อตัวเองในการฝึกตน เป็นต้น จบแล้ว ภาวะนี้ก็คือเรียกว่านิพพาน คือภาวะที่พัฒนาตัวเองสมบูรณ์เต็มอิ่มแล้ว หมดทุกข์แล้ว มีความสุขตัวเองพร้อมแล้ว เรียกว่าภาวะนิพพาน ก็คือบุคคลนิพพาน ไม่มีตัวตนที่จะต้องมาบำรุงบำเรอปรนเปรอทำอะไรให้แล้ว นิพพาน ดับตัวตนแล้ว นี่เรียกว่าภาวะนิพพาน ก็เป็นคำที่กว้างมาก ความหมายจะพูดไม่ถูกก็พูดคำเดียวรู้กัน ทีนี้คนสมัยหลังนี่ได้ยินคำว่านิพพาน มองความหมายไม่ถูกเพราะไม่เข้าใจระบบนี้ ก็นิพพานก็ดับ โอ้โฮ...เราจะไปดับทำไมใช่ไหม ก็เลยไปกันใหญ่ ทีนี้นิพพานนี่ก็คือภาวะที่มันสมบูรณ์ทุกประการแล้ว พอบุคคลนิพพานและทีนี้ก็ ถ้าจะบอกข้าวคติ ??? ที่พุทธเจ้าตรัส เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พหุชน ??? เพื่อเมตตาการุณแก่ชาวโลกใช่ไหม เพราะว่าเธอทั้งหลายไม่มีอะไรแล้ว ไม่มีบ่วงผูกมัดอะไรต่ออะไร เป็นอิสระโดยสมบูรณ์ บุคคลนิพพานก็พูดในเรื่องที่ผ่านมาที่ท่านเอาไปตั้งชื่อเทป บุคคลนิพพานทำการเพื่อโลก นี่คือลักษณะของพระอรหันต์ ว่าทำไมจึงมีนิพพานเป็นอุดมคติของบุคคล บุคคลก็มีจุดหมายที่นิพพาน ก็คือเป็นความสมบูรณ์ในตัวที่มีความสุขมีอะไรพร้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาตัวที่เต็มที่ พร้อมกับความชั่วความเสียหายก็หมดไปด้วย เป็นการพัฒนาที่ถูกต้องใช่ไหม แล้วพร้อมกันนั้นมันก็กลายเป็นว่า พอนิพพาน ตัวเองนิพพาน บุคคลนิพพาน แล้วยิ่งพร้อมที่จะทำการเพื่อผู้อื่น ดังนั้นอุดมคติสองอย่างก็มาประสานกันเลย มาหนุนซึ่งกันและกัน ว่าพอบุคคลนิพพานก็เข้าคติว่า พะหุชะนะหิตายะ พะหุชะนะสุขายะ โลกานุกัมปายะ ??? จงจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่ชาวโลก ทำการทดลองได้ ??? อันนี้คืออุดมคติพุทธศาสนา จำไว้ได้เลยนะ อุดมคติพุทธศาสนาคือด้านบุคคลนี่นิพพาน นิพพานนี่เป็นเรื่องของบุคคล ก็เป็นการพัฒนาที่ให้บุคคลนั้นสมบูรณ์ หมดความบกพร่องที่มีแม้แต่ความสุขเต็มอิ่มในตัวเอง แล้วก็อุดมคติในด้านสังคมก็คือ พะหุชะนะหิตายะ พะหุชะนะสุขายะ โลกานุกัมปายะ เพื่อประโยชน์สุขแก่พหุชน ??? ทีนี้ในระหว่างนี้ก็เป็นสัมพัทธ์ ก็หมายความ ยิ่งพัฒนาตนได้ดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถทำเพื่อโลกได้ดีขึ้นเท่านั้น นี่ก็คือมาอีกหลักอีกหนึ่งที่เรียกว่าหลักขั้นต้นที่สุด ไม่เบียดเบียนตนไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือหลักพุทธศาสนาจะมีคู่นี้อยู่ด้วย เบื้องต้นคือ สัตว์ทั่วไปจะมี ไม่เบียดเบียนตนไม่เบียดเบียนผู้อื่น และสองก็ขึ้นมาเป็น ทำเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น แล้วประโยชน์ตนนี่ที่แท้คืออะไร ประโยชน์ตนที่แท้มันไม่ใช่อยู่แค่วัตถุสิ่งเสพใช่ไหม ประโยชน์ตนที่แท้ก็คือ ชีวิตจิตใจปัญญาที่มันพัฒนาเจริญงอกงามขึ้น นี่แหละไอ้ที่ว่าประโยชน์ตนยิ่งพัฒนาก็ยิ่งมาประสานกับประโยชน์เพื่อผู้อื่น เพราะเรายิ่งพัฒนาตัวเองมีคุณสมบัติ มีความดีงาม มีความสามารถ มีปัญญา มีคุณธรรมมีสติมีสมาธิ อะไรต่ออะไรดีขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีความสามารถและพร้อมที่จะทำการเพื่อส่วนรวมเพื่อสังคมเพื่อโลกได้เท่านั้น ฉะนั้นประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่นมันจึงยิ่งพัฒนาไปก็ยิ่งประสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แล้วก็มาสู่คติที่ว่า ในที่สุดก็มาสู่นิพพานและเพื่อโลก
เลยวันนี้ก็ยังไม่เข้าเรื่องที่ว่าโดยตรง ก็พูดไปเรื่อย ๆ เห็นว่าเป็นประโยชน์ก็คุยกันไป ทีนี้ก็ว่าถึงเกณฑ์ที่ว่า นะที่จริงมันแฝงอยู่ในที่พูดนี่ พูดไปมันก็มีในนี้อยู่ด้วย จะเห็นว่าหลักกรรมก็มีอยู่ในนี้ หลักเรื่องเหตุปัจจัย ความเป็นเหตุปัจจัย เรื่องการขั้นตอนการพัฒนาคนอะไรต่าง ๆ นี่อยู่ในนี้หมด นี่คือแกนสำคัญในหลักการของพุทธศาสนา และเราอาจจะเอาจากที่พูด ๆ มานี่ จับดึงออกมามาตั้งให้ดูอีกที ท่านมีอะไรสงสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ เฉพาะส่วนนี้ไหม
ผู้ฟัง : ที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์พูดมาเรื่องการพัฒนาคน เท่าที่ผมฟังดูในส่วนของการศึกษา ??? เช่นเรื่อง อัตตสัมปทา ที่ท่านเจ้าคุณได้เขียนถึงในหนังสือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนได้พูดถึงกัน คืออยากทราบว่าเพราะเหตุใด กระผมเองก็ได้ยินจากหนังสือที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์เขียน ไม่ได้มีการพูดกันไปอย่างแพร่หลาย ???
คือไม่ได้มีคนพูดถึงว่างั้นเถอะ ก็เลยอยากจะเน้นก็เอามาเพราะว่าในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ เนี่ยตรัสไว้เรื่อยเลยนะชุดนี้ที่มี ๗ ข้อนี่ตรัสบ่อยมาก ก็ถือว่าถ้าเราเห็นความสำคัญของมรรคเนี่ย เราก็ต้องเห็นความสำคัญขององค์ประกอบก่อนมรรคนี้ด้วย ที่เรียกว่าบุพพนิมิตของมรรคเป็นเรื่องสำคัญ ก็อัตตสัมปทาก็นี่แหละ ก็จะทำให้เราเกิดจิตสำนึกในการฝึกตน ถ้าเราสร้างจิตสำนึกนี้ขึ้นได้เนี่ย มันก็ทำให้เกิดพลังแล้วก็ทำให้เรามีหลักในการที่จะดำเนินชีวิตก้าวไปได้ด้วยดี ทีนี้การศึกษาปัจจุบันมันน่าจะมาเน้นการสร้างปัจจัยภายในเหล่านี้ให้เด็กให้ได้ คือให้เขาสามารถไปพัฒนาตนไปอยู่ได้ด้วยตนเอง การศึกษาที่แท้มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นการศึกษาที่สร้างความพึ่งพาให้มากขึ้น มีอะไรอีกไหมครับ ถ้าไม่มีท่านจะได้ไปพักเดี๋ยวจะดึกไป
ผู้ฟัง : คำถามครับ ถ้าเกิดอกุศลขึ้นในใจ เกิดความคิดฟุ้งซ่าน ซึ่งมันเกิดขึ้นมาเอง ความคิดเบียดเบียนผู้อื่นซึ่งทำให้จิตใจขุ่นมัว เราจะมีวิธีการปฏิบัติอย่างไรครับ เพื่อให้จิตใจเราไม่ขุ่นมัว
มันก็มีหลายวิธี อย่างน้อยก็วิธีแบบสมถะ กับ วิธีแบบวิปัสสนา วิธีแบบสมถะก็วิธีทางจิตใจ วิธีวิปัสสนาก็วิธีทางปัญญา วิธีทางจิตใจหรือแบบสมถะก็คือว่าเช่น หาสิ่งทดแทน เมื่อเราคิดฟุ้งซ่านเราก็ต้องคิดถึงอะไรสักอย่าง หรือคิดไม่มีจุดหมายแล้วก็ไปในเรื่องประเภทนั้นไปเรื่อยไปฟุ้งซ่านไป เราก็หาอะไรมาให้จิตมันจับ ท่านเรียกว่าอารมณ์ว่าอะไรก็ได้ที่มันดี เรารู้นี่คือตอนนี้สติมันจะทำหน้าที่ เราก็ไปจับเอาไอ้เจ้าตัวนั้นมาใส่ใจให้ใจมันนึกถึงแทน พอไอ้เจ้าตัวนั้นมาแทนในใจไอ้เจ้าความฟุ้งซ่านก็หมดไปเอง นี่เรียกว่าวิธีทดแทนเรียกว่าวิธีของสมถะ วิธีง่าย ๆ หาอารมณ์ทดแทนหรือแทนที่ก็แม้แต่ แม้แต่การที่ว่าให้กำหนดลมหายใจหรืออะไรเนี่ยนะก็เป็นวิธีประเภทนี้ด้วยนะ เช่น ท่านอาจจะนั่งอยู่แล้วคิดอะไรฟุ้งซ่านก็หันมา หรือว่าท่านกำลังคิดถึงคนที่ไม่ชอบใจแล้วโกรธ ท่านก็เปลี่ยนอารมณ์ซะก็คือแทนที่จะคิดถึงเขาเราก็นึกถึงลมหายใจตัวเอง กำหนดลมหายใจขึ้นมาเดี๋ยวนั้น เอ้า...เราหายใจเข้าหายใจออกยาว ๆ แล้วให้จิตของเราคือสติ จับอยู่กับลมหายใจที่เข้าออก หายใจเข้าหายใจออก นับก็ได้นะ ๑ ๑ ๒ ๒ ให้จิตมันไปอยู่ในนี้ หรือใช้วิธีแบบสัมปชัญญะ ก็อย่างกำหนดพวกวิธีการแบบยุบหนอพองหนอ จะเน้นเรื่องสัมปชัญญะ หมายความว่าตอนนี้เราก็ลองเล่น อย่างวิธีที่บางท่านเอาไปพัฒนา ไม่ทราบบางท่านเคยได้ยินหรือเปล่า ที่มีการยกมือขึ้นมาพลิกมืออะไรต่าง ๆ เหล่านี้นะแล้วแต่ แม้แต่ว่าทำอะไรก็กำหนดไปแล้วก็เขามีอุบาย อุบายเช่นใส่คำว่า หนอ ไง เช่นว่ามือนี่ ยกหนอ มาหนอ ใส่ปากหนอ อะไรอย่างนี้ หมายความว่าสาระสำคัญก็คือว่ามีการกำหนดให้จิตมันอยู่กับสิ่งที่ทำ เพราะใจคนเนี่ยมันมักจะฟุ้งซ่านลอยไปอยู่กับสิ่งอื่น ก็ให้มันมาอยู่กับสิ่งที่ทำซะ พอจิตมันมาอยู่กับสิ่งที่ทำมันไม่มีที่จะไปและ มันมีจุดที่จะต้องจับ มันมีหน้าที่มีภาระมีงานของมันแล้วมันไปอื่นไม่ได้ มันก็เลยหมดเรื่องไปเลยตัดไปเลย นี่ก็คือวิธีที่ใช้อารมณ์ทดแทน วิธีสมถะ อันนี้ก็อย่างอื่นก็ เช่น วิธีทางปัญญา วิธีทางปัญญาก็เอามาพิจารณา เช่น โยนิโสมนสิการ เช่น เราคิดถึงคนที่เราไม่ชอบใจแล้วไม่สบายใจ เราก็มาพิจารณาเชิงปัญญา ว่าเราก็ได้เห็นว่ามนุษย์เราเกิดมาเราก็ไม่ได้ดั่งใจ คนที่ขัดใจเราก็มี คนที่ทำตามใจเราก็มี อย่างพ่ออย่างแม่ตามใจเราเยอะ แต่คนที่ขัดใจเราก็มีปัญหา แต่คนเรามันจะเอาอย่างใจได้ยังไง มันก็เป็นอย่างนี้แหละ ทุกคนก็มีทั้งนั้นแหละ เราทุกข์อย่างนี้ ขัดใจอย่างนี้ยังน้อยกว่า ดูสิคนโน้น...คนอีกเยอะแยะ ทุกข์มีปัญหากว่าเรา เขาถึงกับฆ่าตัวตายบ้าง ยิงกันบ้าง โอ๊ย...มากมาย เราแค่นี้เป็นทุกข์ทึกอะไร ก็พิจารณาไปใช่ไหม หรือมองไปในแง่ว่า เราจะไปโกรธเกลียดเขาทำไม ที่จริงเนี่ยเขามีปัญหาของเขา ไอ้ที่เขามาอย่างนี้เพราะเขามีข้อบกพร่อง จิตใจเขาไม่ดี เขาอาจจะมีปมปัญหาในภูมิหลังของเขา หรืออาจจะเป็นเรื่องปัญหาในครอบครัวในปัจจุบัน มีอารมณ์ค้างอะไรต่ออะไรเนี่ย พิจารณาเชิงปัญญาหาเหตุหาปัจจัยวิเคราะห์ไปนะ หายโกรธไปเลย บางทีกลายเป็นสงสารไปใช่ไหม ถ้าเราพิจารณาเป็นนะ เหมือนอย่างที่เคยยกตัวอย่างบ่อย ๆ เหมือนอย่างเป็นแพทย์เป็นพยาบาล เห็นคนมาหน้าบึ้ง พูดด้วยทักทาย เราก็ฝึกตัวเราไว้ดี อาจารย์สอนว่าให้ยิ้มแย้มแจ่มใสทักทายให้ดี แหม...เราอุตส่าห์ทักทายดี เขากลับแสดงอาการไม่ดี ชักโกรธ ถ้าอย่างนี้เรียกว่าไปตามความชอบใจไม่ชอบใจ ให้ใช้ปัญญาพิจารณา ว่าเขาเป็นคนไข้เขามีทุกข์ เขาอาจจะไม่ได้นึกถึงเราหรอก ใจเขาไม่สบาย แม้แต่ว่าปัญหาในร่างกายเขาก็ทุกข์พออยู่แล้ว เขาอาจจะมีลูก เขาอาจจะห่วงลูกเขาอีก เพราะถ้าเขาป่วยไปเนี่ยแล้วลูกเขาจะอยู่ยังไง ใครจะเลี้ยง แล้วจะหาเงินที่ไหนมา โอ๊ย...ลำบากเยอะแยะ เขาอาจจะมีเรื่องราวปัญหาเขาเยอะแยะ เราควรจะต้องหาทางช่วยเขา พอมองอย่างนี้บางทีกลายเป็นสงสารนะแทนที่จะโกรธ เขามีปัญหาแล้วทำยังไงจะรู้ปัญหาของเขา ก็เลยหาทางทักทายไถ่ถาม ลุงมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ไม่สบายใจอะไรไหม อะไรอย่างนี้ ก็กลายเป็นกระบวนการที่ดีก็เกิดขึ้น เรียกว่ากระบวนการแก้ปัญหา เราเองก็สุขภาพจิตดีด้วย ช่วยแก้ปัญหาให้เขาด้วย นี่เป็นวิธีทางปัญญา นี่ยกตัวอย่างใช่ไหม พอจะเห็นไหม คนบางทีทุกข์ก็เพราะว่ามองแต่แค่ตัวเอง ถ้ามองไปแล้วเนี่ย มองไปที่ในโลกเราจะเห็นคนที่ทุกข์กว่าเราอะไรต่ออะไรปัญหามากมาย และวิธีแก้ทุกข์อย่างหนึ่งก็คือการไปทำความดี ไปช่วยเขาทำให้เขาเป็นสุขก็เป็นวิธีอย่างหนึ่ง การไปทำให้เขาเป็นสุขก็เป็นวิธีหาความสุขอย่างหนึ่ง ถ้าจะเรียกว่าการหาความสุข บางทีเรามัวทุกข์ ๆ อย่างนี้เราไปตันซะ ถ้าเราไปช่วยไปทำความดีให้ผู้อื่นมันก็เกิดความสุข ก็กลายเป็นว่าไปพัฒนาคุณธรรมขึ้นมาอีก มันก็เป็นสถานการณ์ที่เอื้อให้คุณธรรมนั้นเกิดขึ้น เหมือนกับว่าเรามีศักยภาพที่จะมีคุณธรรมนั้นอยู่แล้ว มันก็มีอยู่นะแต่มันไม่มีโอกาส พอไปมีสถานการณ์เอื้อมันก็พัฒนาให้เกิดขึ้น เดี๋ยวจะดึกไปใหญ่ ถ้าอย่างนั้นก็ไว้ค่อยนัดคุยกันอีกที