แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
แต่ก่อนนี้เราจะปลุกเร้าเด็กให้เพียรพยายามในการศึกษา เด็กไม่อยากเรียนก็ไปกระตุ้นเร้า บอกเนี่ยนะหนูตั้งใจพากเพียรเล่าเรียนไปต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโตเป็นเจ้าคนนายคนว่างั้น นี้เพราะความอยากเป็นใหญ่เป็นโตเป็นเจ้าคนนายคนก็เลยขยันเรียนใหญ่ใช่มั๊ย ไอ้ตัวเร้าก็เกิดจากแรงจูงใจที่อยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากมีตำแหน่งฐานะสูงก็เลยเพียรพยายามเรียน ตัวมานะนั้นคือตัวต้องการความยิ่งใหญ่ ก็เป็นเหตุให้เพียรพยายามเอามานะมาปลุกความเพียร ต่อมาไอ้ตัวมานะกลายความหมายเป็นความเพียรไปเลย นี่คือสังคมไทย เพราะฉนั้นเราจะต้องรู้ทันว่าเราใช้พลาดมาแล้ว ทีนี้สังคมไทยยุคที่ผ่านมานี่ชัดเลย ใครเรียนอะไรต้องการเข้าสู่ระบบราชการ ต้องการเป็นใหญ่เป็นโต พอมายุคนี้เปลี่ยนละ มายุคนี้ชักไม่ต้องการระบบราชการเท่าไหร่ ต้องการผลประโยชน์เป็นใหญ่ รายได้สูงๆ เพราะฉนั้นออกสู่ภาคเอกชนธุรกิจกันมากขึ้น นี้ต้องการผลประโยชน์ทีนี้จะเรียนอะไรก็เอออันไหนจะให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด อันนี้ก็คือระบบอันที่หนึ่ง คืออะไรคือแรงจูงใจแบบอะไร เราช่วยกันตอบ แรงจูงใจแบบตัณหาก็หมายความสังคมไทยเปลี่ยนจากแรงจูงใจแบบมานะมาเป็นแรงจูงใจแบบตัณหา ก็พลาดอีกหล่ะสิ เพราะแรงจูงใจที่ถูกต้องนั้นต้องเป็นอันที่สามคือต้องการทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ให้เกิดผลตามความมุ่งหมายของมันแท้ๆ อันนี้แหละที่ว่าเราแก้ไขปัญหาสังคมจะต้องมาถึงจุดนี้ด้วย เวลานี้ยิ่งสังคมเข้าสู่ระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ ไอ้ตัวแรงจูงใจที่หนึ่งจะเข้ามาครอบงำชีวิตและสังคม นี้ถ้าเราไม่รู้เท่าทันเราก็ตกเป็นเหยื่อของระบบนี้ไป เพราะฉนั้นจะแก้ปัญหาชีวิตและสังคมได้จะต้องหาทางแก้ให้ถูกต้อง เพราะว่าระบบตัณหามันก็คือระบบสมมติติดในกฎมนุษย์นั่นเอง ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะเข้าถึงกฎธรรมชาติให้ทุกอย่างมันปรับตัวมันถูกต้องก็คือต้องได้ตัวนี้ แรงจูงใจที่ต้องการผลที่แท้ที่เกิดจากเหตุ ตัวการงานที่เป็นเหตุนั้นอันนี้จะต้องเข้าถึงให้ได้ ฉนั้นเวลาเราเข้าสู่โรงเรียน มหาวิทยาลัยเรียน เราต้องยอมรับความจริงไม่ใช่มาติเตียนกัน แต่ว่าเรามาวิเคราะห์เพื่อจะแก้ปัญหาสังคม เราต้องยอมรับความจริงว่าเรามากันด้วยค่านิยมและแรงจูงใจอย่างนี้กันมาก เวลาเราจะเลือกเรียนอะไรเราจะดูว่า วิชาชีพนี้เรียนไปแล้วจะได้ค่าตอบแทนสูง รายได้ดีมั๊ย ถ้าสมัยก่อนก็จะได้ตำแหน่งดีมั๊ยใช่มั๊ย ก็เป็นเรื่องแรงจูงใจอย่างนี้ แสดงว่าเราเข้ามาด้วยแรงจูงใจที่ไม่ค่อยถูกต้อง แต่นี้ถ้าเราจะแก้ปัญหาสังคม เราจะต้องเปลี่ยน พอเข้ามาสู่สถาบันการศึกษาก็ต้องหาทางพัฒนาตนเองให้เกิดแรงจูงใจที่ถูกต้องที่ตรงตามกฎธรรมชาติ ก็คือว่าแรงจูงใจที่ต้องการผลที่เกิดจากเหตุคือตัวงานนั้นที่เป็นไปตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของมัน อย่างที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ ก็คือการแพทย์นี่แหละ การแพทย์มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร วิชาการแพทย์มีขึ้นเพื่ออะไร ก็เพื่อแก้ปัญหาบำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ชีวิตของมนุษย์ รักษาคนไข้ให้หายโรค ทำให้คนไข้ผู้คนในสังคมนี้มีสุขภาพดี อันนี้คือวัตถุประสงค์ที่เป็นผลโดยตรงตามเหตุของตัวงาน แต่นี้ต่อมาเราก็มีผลตามกฎสมมติก็คือการมีรายได้สูงอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ฉนั้นต่อนี้ก็คือว่าถ้าเราถูกหลอกด้วยกฎสมมติเราก็ติดด้วยแรงจูงใจตัณหาที่ว่าต้องการผลประโยชน์ เราก็เข้าไม่ถึงตัวแท้ตัวจริงของผลที่แท้จริง พอเสร็จแล้วเราก็ไม่ได้ความสุขจากการเรียนนั้น เราก็ไม่ได้ความสุขจากการทำงานนั้น แล้วก็จะเป็นปัญหาแก่สังคมไปด้วย เพราะเราไม่ได้ทำด้วยตั้งใจดีต่อการที่จะช่วยคนไข้ด้วยการรักษาบำบัดคนไข้ แล้วเราจะไม่มีความสุขจากการทำงานในการรักษาคนไข้ด้วย ทำให้เค้าหายป่วยมีความทุกข์น้อยลง หรือว่าอย่างถ้าเราต้องการผลโดยตรงนี้ พอเรารักษาคนไข้เห็นคนไข้หน้าตายิ้มแย้มเบิกบานเราก็มีความสุขด้วยใช่มั๊ย เพราะว่าเราต้องการให้เค้าหายโรค พอเค้าหายโรคหรือบรรเทาโรคปั๊บเราสุขทันที ความสุขเราเกิดขึ้น พอเราได้เงินมาตอบแทนความสุขมาอีกชั้นหนึ่ง ได้สองชั้น คนที่หวังประโยชน์จากแรงจูงใจแบบตัณหาอย่างเดียวได้สุขชั้นเดียว แต่ว่าไอ้ตอนทำงานนั้นเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นบกพร่องมากแล้วมันแคบ แล้วมันก่อปัญหาสังคมด้วย งั้นตกลงว่าอันนี้ก็คือเป็นเรื่องของการที่ว่าเราจะต้องเข้าถึงแรงจูงใจที่ถูกต้อง ทีนี้แรงจูงใจที่ผิดนั้นก็เข้าสู่ระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ตัวเองจะเกิดความเครียด เวลาทำงานเพราะตัวเองไม่มีความสุขกับงานที่แท้ ไม่ต้องการผลที่แท้จากการทำงาน ทีนี้ไอ้ผลประโยชน์ที่ต้องการนี่มาไม่มาไม่รู้ แล้วมันยังไม่มาแน่นอน แล้วเราจะต้องรอ เพราะฉะนั้นจะทำงานด้วยความเครียด จิตใจจะไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นปัญหาของสังคมปัจจุบันนี้ เค้าเรียกว่าเป็นปัญหาของอารยธรรมเลยก็คือโรคเครียด สังคมปัจจุบันนี้มีเรื่องใหม่ก็คือเรื่องเครียดซึ่งกลายเป็นตัวแกนของปัญหาของสังคมมนุษย์คือคุณภาพชีวิตก็ต่ำ ตัวเองพอเครียดแล้วจิตใจเครียดก็ทุกข์ทางจิตใจ พอเครียดทางจิตใจเกิดปัญหาสุขภาพกายอีก คนที่เครียดนี่ปัญหาสารพัดเลย ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจตลอดจนกระทั่งบางทีวิเคราะห์ว่าอาจจะเป็นเรื่องมะเร็งด้วย โรคภัยไข้เจ็บสารพัดแหละ แม้กระทั่งโรคกระเพาะอะไรต่างๆ มาจากเรื่องเครียด แล้วก็ไปเป็นปัญหาแก่สังคม เพราะว่าเมื่อคนเครียดแล้วหน้าตาก็ไม่ค่อยดี ยิ้มไม่ค่อยออกใช่มั๊ย มันก็มีปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์อีก ก็สังคมมนุษย์ก็อยู่ด้วยความไม่สบาย หน้าตาไม่ยิ้มแย้ม ความสัมพันธ์ไม่ดี ไม่มีความสุขในการอยู่ร่วมกัน ความสุขจากไมตรีจิตมิตรภาพก็ไม่ค่อยมี นอกจากนั้นก็เพราะต้องการผลประโยชน์ก็ระแวงกันสิ ต่างคนต่างก็มองอีกฝ่ายเป็นคู่แข่ง คนที่อยู่ในระบบผลประโยชน์ มันจะมีสภาพจิตแบบว่ามองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง เพราะว่าเป้าหมายอยู่ที่ผลประโยชน์ แต่ละคนต้องการผลประโยชน์ทั้งนั้น เพราะฉนั้นเราก็กลัวว่าเขาจะต้องการผลประโยชน์นี้เหมือนกัน หรือเขาจะได้ก่อนเรา หรือเขาจะได้เหนือเรา เราก็มีความรู้สึกที่มองเขาเป็นคู่แข่งและเมื่อมองเป็นคู่แข่งก็คือมองเป็นปฏิปักษ์ มองเป็นปฏิปักษ์ก็รู้สึกระแวง ระแวงตลอดเวลาแล้วก็หวาด สภาพจิตใจนี้ก็เพิ่มทุกข์ให้กับตัวเอง งานก็เครียดก็เป็นทุกข์แล้วแถมอยู่ร่วมในสังคมก็ทุกข์อีก สภาพจิตไม่ดีอีก เพราะฉนั้นก็เป็นไปในทางที่เบียดเบียนกันในสังคมมากอีก เพราะว่าไม่ต้องการให้ใครมาเหนือเรา แล้วก็ต้องการที่จะต้องทำลายคนอื่น หรืออะไรหรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการเบียดเบียนกันและกัน เพราะฉะนั้นสังคมแบบนี้จะหาความสุขความดีงามได้ยาก ฉะนั้นจะต้องรู้ทัน สังคมไทยเรากำลังก้าวสู่กระแสโลกาภิวัตน์อันนี้ก็คือระบบแข่งขันและหาผลประโยชน์ซึ่งมาจากประเทศตะวันตก ประเทศตะวันตกนี่เป็นต้นแหล่งของระบบนี้แล้วก็คนไทยเราก็ไปเอาระบบนี้เข้ามาโดยหนึ่งตัวเองชอบใจ ชอบใจ ยินดี เต็มใจ รับมาเอง สองโดยที่จำใจเพราะว่าเขามีอำนาจมากกว่าเข้ามาครอบงำเรา จะโดยการไหนก็ตาม เหตุใดก็ตามก็จะทำให้เราแย่ด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นเราจะต้องรู้เท่าทัน เวลานี้ไอ้เรื่องระบบแข่งขันหาผลประโยชน์มันก็ทำให้สังคมตะวันตกแย่ลงไปแล้ว ถ้าเรารู้ไม่ทันเราก็แย่ตามไปด้วย ฉะนั้นเวลานี้อย่างฝรั่งเค้าไม่มีทางออกอย่างอื่น อย่างอเมริกันนี่เขานึกว่าการแข่งขันต้องขอใช้ภาษาอังกฤษว่า competition เป็นหัวใจของการสร้างสรรค์ความเจริญแก่ชีวิตและสังคม ความสำเร็จของคนก็อยู่ที่การชนะการแข่งขัน การที่สังคมจะเจริญก้าวหน้าก็อยู่ที่มนุษย์หรือคนในสังคมนั้นมีการแข่งขันกันสูง เขาเรียกว่าต้องมีความสามารถหรือความพร้อมในการแข่งขัน อเมริกันเค้าจะถือเป็นหลักเลยว่าสังคมของเขาจะเจริญ จะประสบความสำเร็จ จะก้าวหน้า คนของเขาจะต้องมีสิ่งที่เขาเรียกว่า competitiveness แปลว่าความพร้อมที่จะแข่งขัน ใจที่ต้องการแข่งขัน อยากจะแข่งขันและสามารถแข่งขัน เวลานี้สังคมอเมริกันกำลังโอดครวญว่าตัวเองเสื่อม เพราะ เพราะว่าคนของตัวเองขาดไอ้ตัว competitiveness นี่คือว่าขาดความพร้อมที่จะแข่งขัน จิตใจที่จะแข่งขันลดน้อยลง เขาว่าอย่างนั้นนะ แต่อาตมาไม่เห็นด้วยคิดว่าฝรั่งมันวิเคราะห์ผิด อันนี้ไอ้ระบบการแข่งขันของฝรั่ง จริงมันสร้างความสำเร็จแก่บุคคลและสร้างความเจริญของสังคม แต่ว่ามันเป็นความสำเร็จที่สร้างปัญหาเพราะว่า เมื่อเราวิเคราะห์ไปถึงตัวจริงแล้ว การดำรงอยู่ของมนุษย์ที่แท้มันอยู่ที่อะไรบ้าง ที่จะทำให้ชีวิตดีงามเวลามองแล้วมองเป็นอย่างๆ เราต้องการมีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข บางครั้งเราพูดถึงเรื่องชีวิต บางครั้งเราก็พูดถึงเรื่องสังคม ต้องการให้สังคมอยู่กันดี ไม่เบียดเบียนกัน มีสันติสุข เรามักจะพูดแยก แทนที่ว่าจะมองว่าทุกสิ่งนี่มันสัมพันธ์กัน จะต้องมองเป็นระบบ ระบบความสัมพันธ์จะมี 3 ส่วน ก็คือหนึ่งชีวิตคน และสองสังคม และสามธรรมชาติแวดล้อม เวลามองอะไรถ้ามองให้ครบระบบอย่างนี้ แล้วมองว่าเจ้า 3 อย่างนี้มันสัมพันธ์กันส่งผลต่อกันทั้งหมดแล้วเราจะไม่พลาด นี้การสร้างความสำเร็จของฝรั่งเวลานี้ก็เห็นผลแล้วว่าระบบการแข่งขันก็คือระบบแย่งชิงผลประโยชน์ หาประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เมื่อหาผลประโยชน์ให้มากที่สุด คนก็จะต้องมีการเสพบริโภคให้มาก เมื่อมีการเสพบริโภคให้มากก็จะต้องมีค่านิยมอันหนึ่ง เค้าเรียกว่าค่านิยมบริโภค ค่านิยมบริโภคนั้นต้องตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อในใจ ความเชื่ออะไร ความเชื่อในใจอันหนึ่งที่เจ้าตัวไม่รู้ ก็คือความเชื่อว่าความสุขนี้ขึ้นต่อการเสพวัตถุ จนกระทั่งมีความเชื่อแฝงลึกๆอยู่ว่าสุขมากที่สุดเมื่อเสพมากที่สุด หมายความว่าต้องมีวัตถุเสพมากที่สุดจึงจะสุขมากที่สุด เพราะความสุขนั้นขึ้นอยู่กับการเสพวัตถุ บริโภควัตถุ อันนี้เมื่อเสพวัตถุบริโภคมากที่สุดมันก็จะมาช่วยสนองระบบแข่งขันเพื่อผลประโยชน์ เพราะว่าเมื่อคนถือว่าความสุขอยู่ที่การเสพก็ต้องการบริโภคมาก ต้องการบริโภคมากก็จะมีการซื้อขายเป็นไปได้ดี ก็จะมีการผลิตขึ้นมาสนองความต้องการ ระบบการแข่งขันก็ดำเนินไปได้ ผลประโยชน์ก็เป็นไป เพราะฉะนั้นผลประโยชน์เป็นไปก็มนุษย์จะเสพได้มากที่สุด ผู้ผลิตเอาจากไหนก็ต้องไปเอาจากธรรมชาติ ก็ต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอก็เกิดปัญหาขึ้นมา ฉนั้นเวลานี้ระบบที่สร้างความเจริญของสังคมมนุษย์ก็คือระบบทำลายโลกใช่มั๊ย ก็คือว่าแข่งขันกันหาผลประโยชน์แล้วเสร็จแล้วก็คือธรรมชาติแวดล้อมเสีย แล้วก็บอกว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของอารยธรรมมนุษย์ปัจจุบัน ก็คือปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย ทั้งมีมลภาวะสูงและทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ จากการที่ผลิตและบริโภคของคน เมื่อคนผลิตมาก การผลิตในกระบวนการผลิต หนึ่งทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยเอามาใช้เป็นวัตถุดิบ สองทำลายธรรมชาติโดยสร้างมลภาวะในกระบวนการผลิตเช่น ทำให้ควัน ไอเสียขึ้นไปเป็นต้น ฉะนั้นการผลิตก็ทำให้เกิดทั้งสองอย่างแก่ธรรมชาติ ผลร้ายทั้งในแง่ของทรัพยากรร่อยหรอและทั้งในแง่มลภาวะ แล้วฝ่ายผู้บริโภคก็เช่นเดียวกัน เมื่อบริโภคมากก็ทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากพร้อมกันนั้นก็สร้างขยะมาก พอสร้างขยะมากก็คือสร้างมลภาวะอีก เพราะฉะนั้นทั้งการผลิตและการบริโภคของมนุษย์คือการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่เรียกว่าไม่ยั่งยืน เวลานี้มนุษย์ก็ประสบปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนคือ unsustainable development เพราะว่าเป็นการพัฒนาที่เศรษฐกิจเจริญแต่ธรรมชาติพินาศ เพราะฉนั้นก็เลยเกิดการคิดหาทางแก้ปัญหาการพัฒนาโดยสร้างกระบวนการพัฒนาที่เรียกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเรียกว่า sustainable development ขึ้น ซึ่งมีหัวใจอยู่แค่ว่าให้เศรษฐกิจเจริญได้โดยธรรมชาติก็อยู่ดี หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนมีเท่านี้ เศรษฐกิจเจริญได้โดยธรรมชาติก็อยู่ดีเท่านี้แหละ ถ้าทำได้แค่นี้คือการพัฒนาที่ยั่งยืน เขาใช้ศัพท์คู่กัน เขาบอกว่าต้องได้ทั้ง economy และ ecology จำง่ายมาก อันนี้สองตัวนี้คือหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เวลานี้กระบวนการพัฒนาเศรฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบการแข่งขันก็คือกระบวนการที่ฝืนต่ออันนี้ ทีนี้มนุษย์ก็จะกลับตัวยังไง ตอนนี้มันกลายเป็นว่าสังคมที่พัฒนาแล้วนี่มันไม่เห็นทางออกในการแก้ปัญหาเพราะว่าหัวใจของการที่จะสร้างสรรค์ความเจริญแก่สังคมของตนนี่อยู่ที่ระบบการทำลายธรรมชาติแวดล้อมซึ่งเป็นตัวการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนก็เลยทำให้เกิดปัญหาที่ตีบตัน ปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกคือไม่รู้จะแก้ยังไง เวลานี้อารยธรรมมาถึงจุดตีบตันแล้ว ก็เมื่อเราหาผลประโยชน์เราต้องการแข่งขันให้ประสบชัยชนะ ความสำเร็จในการแข่งขันคือการชนะคนอื่น ชนะคู่แข่ง จะชนะคู่แข่งได้ต้องมีผลประโยชน์มาก จะได้ผลประโยชน์มากต้องให้คนบริโภคมาก จะให้คนบริโภคมากต้องกระตุ้นค่านิยมบริโภค เมื่อกระตุ้นค่านิยมบริโภคคนมาบริโภคมากได้ผลประโยชน์มาก แล้วเสร็จแล้วก็คือทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เอ แล้วจะไปยังไงผลที่สุดมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ ทีนี้ถ้ายอม ถ้ายอมให้ธรรมชาติอยู่ได้ ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติก็เสียผลประโยชน์ พอเสียผลประโยชน์ประเทศมหาอำนาจยอมไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าถ้ายอมให้ธรรมชาติอยู่ดี ก็ต้องให้คนยอมลดการบริโภค พอคนลดการบริโภคก็ไม่ได้ผลประโยชน์ เพราะว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่สามารถจะซื้อขายได้มาก พอผลประโยชน์ลดอำนาจเสียความยิ่งใหญ่ในเวทีโลกหายไป เพราะฉะนั้นยอมไม่ได้ เวลานี้ประเทศต่างๆ นี่ไม่สามารถแก้ปัญหาเพราะว่ามันถูกค้ำคอด้วยอันนี้ คือถ้าแก้ปัญหาของโลกของธรรมชาติแล้ว ตัวเองต้องเสียอำนาจความยิ่งใหญ่ในเวทีโลก ฉนั้นระบบการแข่งขันก็เป็นหัวใจในการที่จะสร้างความสำเร็จของบุคคลและความเจริญของสังคม แต่พร้อมกันนั้นมันก็คือตัวทำลายชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่บอกว่าสร้างความสำเร็จแก่บุคคลแล้วสำเร็จจริงมั๊ย สำเร็จก็คือการได้วัตถุได้เงินทองได้ผลประโยชน์มาก แต่เสร็จแล้วคืออะไร ความสำเร็จของบุคคลนั้นมันไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้นี่ เขาไม่ได้มีความสุขจริง ไม่ได้มีจิตใจ ชีวิตที่ดีจริง ทั้งกายทั้งใจมีแต่ความเครียดมีแต่โรคกายเพิ่มขึ้น ทั้งมลภาวะสภาพแวดล้อมเสียก็ทำลายสุขภาพ ทั้งจิตใจตัวเองก็ทำลายสุขภาพ วิถีชีวิตต่างๆ นี่เสียไม่เกื้อกูลต่อสุขภาพทั้งนั้น จิตใจก็ไม่ดีไม่มีความสุข แล้วสังคมเองก็เบียดเบียนกันมาก นี้หรือคือความเจริญของสังคม มันก็ไปไม่รอด ความเจริญแบบนี้คือความเจริญแบบที่ทำให้เดือดร้อนยิ่งขึ้น ตกลงมันไม่ประสาน แบบนี้ก็คือแบบที่ว่าสิ่งที่เราต้องการที่จะได้มันขัดกันเอง ไม่ประสานกัน เพราะฉะนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ในที่สุดจะต้องหาทางออกจากระบบนี้ว่าจะทำไง ฉะนั้นมันไปไม่พ้นในการที่ว่าเราจะต้องหาทางให้มนุษย์เนี่ยมาแก้ปัญหาให้ถูกจุด แต่ว่าเพียงเราจับจุดถูกมันก็แก้ปัญหาถูกจุด ถ้าเราจับจุดไม่ถูกมันก็แก้ไม่ถูกจุด จับจุดให้ถูกก็คือเข้าถึงความจริงที่แท้ อย่างที่ว่าเมื่อกี้มนุษย์ติดอยู่แค่สมมติ ตกลงก็เสีย ชีวิตตัวเองก็เสีย สังคมก็เสีย แล้วมนุษย์ที่อยู่ในสังคมแบบนี้นะ ไม่รู้จัก ไม่สามารถได้รับความสุขความรื่นรมย์จากธรรมชาติแวดล้อม เป็นคนแปลกแยกจากธรรมชาติ มนุษย์สมัยนี้มีปัญหาอย่างนี้ด้วย คือนอกจากธรรมชาติแวดล้อมมันเสียเป็นความเสื่อมโทรมของมันที่ส่งผลมาให้เราเดือดร้อนโดยอ้อม แต่ว่าโดยตรงก็คือมนุษย์เหล่านี้แปลกแยกจากธรรมชาติโดยตัวเองด้วย ไม่มีความสุขจากธรรมชาติแวดล้อม เพราะฉะนั้นมันเสียหมดเลย ระบบมันเสียหมด ฉนั้นในระบบที่ถูกต้องก็คือว่ามันมีองค์ประกอบของความสัมพันธ์อยู่ที่ว่าหนึ่งชีวิต สองสังคม สามธรรมชาติแวดล้อม ไอ้สามตัวนี้จะต้องสัมพันธ์ในเชิงเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ให้ประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งเป็นประโยชน์ของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ถ้าเราพัฒนาคนถูกต้องเนี่ยมันจะได้ประโยชน์ที่ประสาน คือชีวิตก็ดีด้วย สังคมก็พลอยดี แล้วการที่มนุษย์ชีวิตดีงาม สังคมดีงามมีความสุข ก็จะทำให้ธรรมชาติอยู่ดีด้วย อันนี้คือการที่ว่ามีความเจริญอย่างประสานกัน เพราะฉะนั้นความสำเร็จของบุคคลและความเจริญของสังคมแบบที่ว่าใช้ระบบการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์เป็นหัวใจนี่ มันเป็นการสร้างสรรค์ความเจริญที่มีความขัดแย้งในตัว แล้วเราจะเห็นได้ชัดว่ามันไม่ใช่ความสำเร็จหรือความเจริญที่แท้จริง เพราะฉะนั้นจะต้องหาทางออกให้ได้ อันที่อาตมาพูดไปแล้วก็คือเรื่องของการเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติที่ว่า ที่ว่าพอได้อันนั้นปั๊บมันเกิดความประสานขึ้นมาทันที ในระดับที่หนึ่งนะ คือว่าหนึ่งเวลาเราทำงานจิตใจเรามีความสุขด้วย สบาย แล้วก็สังคมก็ได้ด้วย เพราะยิ่งเราทำงานนั้นยิ่งมีความสุขจากการทำงานได้ชื่นชมผลของตัวงานปั๊บ นั่นก็คือประโยชน์ที่เกิดแก่สังคมทันทีใช่มั๊ย อันนี้มันเป็นผลโดยตรง ก็เรียกว่างานก็ได้ผลคนก็เป็นสุข ถ้างานได้ผลคนเป็นทุกข์แสดงว่าพลาด ถ้างานได้ผล เออ ขออภัย คนเป็นสุขแต่งานไม่ได้ผลพลาดอีกเหมือนกัน ถ้าการทำงานที่ถูกต้องต้องได้ทั้งสองอย่าง ต้องงานก็ได้ผลคนก็เป็นสุข ถ้าท่านจับจุดถูก ทำงานถูกตามกฎธรรมชาติ เข้าถึงความจริงสองระดับ ทั้งความจริงระดับแท้ของกฎธรรมชาติและความจริงระดับสมมติของกฎมนุษย์ แล้วท่านจะได้ความ เออแล้วท่านจะได้ความสุขประสานนกลมกลืนอย่างที่ว่าได้ทั้งงานก็ได้ผล และคนก็เป็นสุขอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ เอาละอาตมาขอผ่านไป นี้ก็จะมีองค์ประกอบอื่นที่มาช่วยอีก เมื่อกี้นี้พูดแล้วถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เราบอกแล้วว่าเราจะต้องเอาหลักการนี้มาใช้ในการดำเนินชีวิต ให้การดำเนินชีวิตของเรานี้เป็นการศึกษาคือการเรียนรู้ แล้วเราจะเห็นว่าเราได้ตลอดเวลา แล้วชีวิตจะมีความหมาย บางคนทำงานไปบางทีมองไม่เห็น เอ๊ะชีวิตนี้ไม่มีความหมาย การงานไม่มีความหมาย แต่ว่าคนที่จับหลักนี้ได้นะ หนึ่งทำงานนั้นงานนั้นมีคุณค่าในตัวเองก็ได้ความสุขได้ประโยชน์ไปขั้น ถ้าเกิดงานนั้นมันไม่ได้ผลจริงเราก็ได้จากการศึกษาอีก ชั้นนี้ไม่มีพลาดเลย ชั้นนี้ไม่ว่างานไม่ได้ผลหรือว่ามันจะผิดหวังหรือยังไงก็ตาม เราได้ทุกอย่าง เราได้ทุกครั้งไป เพราะฉนั้นก็เอาจิตสำนึกในการศึกษานี้สร้างขึ้นมาเลย จิตสำนึกในการศึกษาก็คือการตระหนักรู้ในธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกฝน ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ชีวิตจะดีได้ด้วยการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา ชีวิตใดไม่เรียนรู้ไม่ฝึกหัดพัฒนาจะไม่เป็นชีวิตที่ดีงาม คนจำนวนมากไม่รู้หลักการนี้ ทั้งๆที่ตัวเองดำเนินชีวิตมาได้ด้วยการศึกษาเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาทั้งนั้น แต่เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาแค่เท่าที่จำเป็น พออยู่ได้ก็หยุด เราจะเห็นว่าบางคนเพราะจำเป็นจะต้องพูดให้ได้จึงจะอยู่ร่วมสังคมเค้าได้ จึงจะมีชีวิตรอดได้ก็ฝึกหัดพูด พอพูดได้ก็หยุด แล้วก็ไม่หัดต่อให้พูดเป็น ทีนี้ทำก็เหมือนกันฝึกมาแค่ทำได้แล้วก็ไม่ฝึกให้ทำเป็น ฝึกพอแค่เดินได้ก็ไม่ฝึกต่อไปให้เดินเป็น ยังงี้เป็นต้น อะไรต่ออะไรหลายคนมันทำเอาแค่ได้ แต่ว่าไม่เอาถึงเป็น เพราะฉนั้นมันก็ไม่ได้ประโยชน์จากธรรมชาติของตัวเองเท่าที่ควร ฉะนั้นถ้าเราจะให้ได้ผลดีเรารู้ธรรมชาติของมนุษย์ เราก็ฝึกตัวต่อไป อย่าหยุดฝึก ถือว่าชีวิตที่ดีนั้นจะเป็นชีวิตแห่งการศึกษา ชีวิตที่ดีได้มาด้วยการเรียนรู้และฝึกหัดพัฒนา เราก็เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตัวเราเรื่อยไป สร้างเป็น ตอนนี้มันจะได้อะไรขึ้นมา คนเรานี่ถ้าไม่มีจิตสำนึกนี่ปั๊บมันจะต้องทำอะไร มันจะรู้สึก แหม มันเป็นเรื่องฉันจะต้องทำแล้วเหรอเนี่ย เราอยากอยู่สบายๆ มันจะต้องทำ พอจะต้องทำมันทุกข์ ทีนี้คนเรามันอยู่ในโลกเนี่ยมันต้องทำ มันอยู่เฉยๆไม่ได้ พอไปเจออะไรต้องทำก็คือทุกข์ ไอ้ต้องทำก็คือต้องทุกข์ใช่มั๊ย พอเจอจะทำก็คือทุกข์ จะทำก็คือทุกข์ หันไปทางไหนจะต้องทำมันทุกข์ทั้งนั้นเลย ตอนนี้ชีวิตแย่ ทีนี้คนที่มีจิตสำนึกในการศึกษามันมีไอ้ตัวแกนข้างในมาเร้าไว้ เจออะไรประสบการณ์สถานการณ์ทุกอย่างคือการที่ได้เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตัว เอาหล่ะสิทีนี้ มันชอบเลย ชอบเจอประสบการณ์สถานการณ์โดยเฉพาะสถานการณ์ไรที่ยาก บทเรียนที่ยากกิจกรรมที่ยากงานที่ยาก โอ นั่นคือโอกาสที่จะได้ฝึกหัดพัฒนาตัวมากได้เรียนรู้มาก อย่างที่พูดเมื่อกี้แล้วไง อะไรเป็นปัญหาอันนั้นก็คือการที่เราจะได้ฝึกตัวมาก เราจะต้องคิดหาทางออก แก้ไขปัญหา กว่าจะผ่านปัญหาไปได้ปัญญาเกิด พอปัญญาเกิดจบ ปัญหาหาย ปัญหามาปัญญายังไม่มี พอปัญญามาปัญหาหมดใช่มั๊ย เพราะฉะนั้นเราเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญาอย่างที่ว่าเมื่อกี้ สูตรของความสำเร็จจึงบอกไว้แล้วบอกว่าให้เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา ทีนี้บทเรียนยาก สถานการณ์ยาก งานยาก คือโอกาสที่จะได้ฝึกตัวมากใช่มั๊ย ฉะนั้นคนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตนก็จะมีสูตรใหม่ ยิ่งยากยิ่งได้มาก อ้าวเชื่อมั๊ย พอเจองานยาก อ้าวเราก็ได้ฝึกตัวมากสิใช่มั๊ย ถ้างานง่ายเราก็ไม่ได้ฝึกตัวอะไร งานง่าย ปัดโธ่เดี๋ยวเดียวเสร็จละ แล้วเราได้อะไร ก็ผ่านไปใช่มั๊ย ตกลงเราก็ไม่พัฒนา แต่ถ้างานยากนี่กว่าจะเสร็จเราพัฒนาความสามารถ พัฒนาปัญญา พัฒนาทุกอย่างเลย ตกลงว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก พอได้สูตรนี้ปั๊บคนนี้ไม่กลัวละ เขาเรียกว่ามีจิตสำนึกในการศึกษา จิตสำนึกในการฝึกตัวเองนั่นเอง มองประสบการณ์ มองสถานการณ์ทุกอย่างเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ฝึกหัดพัฒนาตนเอง เพราะฉะนั้นเจอปัญหายาก เจองานยาก ปรี่เข้าใส่เลยทีนี้ แทนที่จะหนี คนที่ไม่มีจิตสำนึกในการศึกษาเป็นไง พอเจองานยากถอย ทีนี้ถ้าเกิดต้องทำทำไง เอาแล้วปัญหามาละ ปัญหาไม่เป็นปัญหาแต่ข้างนอกมาเป็นปัญหาในตัวเองด้วย ไอ้ตัวสิ่งนั้นมันเป็นปัญหาอยู่แล้วมันก็เป็นปัญหาของมันละ แต่มันแถมมาเป็นปัญหาในใจของเราอีก เป็นปัญหาในใจของเราอย่างไรก็คือว่าเราทุกข์หล่ะสิใช่มั๊ย จำใจทำ หนึ่งจำใจทำ พอจำใจทำก็ไม่ตั้งใจทำ แล้วเมื่อจำใจทำก็ทุกข์ด้วย เมื่อไม่ตั้งใจทำจำใจทำก็งานก็ไม่ได้ผลดีด้วยใช่มั๊ย ตกลงก็บอกเข้าสู่เมื่อกี้ บอกงานก็ไม่ได้ผลคนก็เป็นทุกข์ใช่มั๊ย ทีนี้พอเราสร้างจิตสำนึกในการศึกษาฝึกหัดพัฒนาตนได้ บอกว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก พอเจองานยากปั๊บมันชอบใจเลย มันเกิดความชอบใจสุขภาพจิตดีละ สบายใจ ทีนี้พอชอบ เต็มใจก็ตั้งใจทำ พอตั้งใจทำมันก็ได้ผลด้วย ก็เลยงานก็ได้ผลคนก็เป็นสุข ทำก็มีความสุข สุขภาพจิตก็ดี งานก็ได้ผลด้วย ฉนั้นมีแต่ได้ ต้องสร้างอันนี้ขึ้นมาเพราะมันสอดคล้องกันธรรมชาติของมนุษย์ นั่นก็คือการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติอันที่สอง เมื่อกี้นี้อันที่หนึ่งคืออะไร ก็คือการเข้าถึงความจริงตามระบบกฎธรรมชาติกับกฎมนุษย์ใช่มั๊ย ต้องการผลที่ตรงตามเหตุของมัน ตอนนี้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติอันที่สองก็คือเข้าถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เราก็เอาธรรมชาติอันนี้มาใช้เลย เราใช้เป็นหลักการของชีวิตเลย ถือเป็นชีวิตเป็นเรื่องของการเรียนรู้ การศึกษาพัฒนาตนเรื่อยไป สถานการณ์ที่ประสบเป็นโอกาสของการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตนเอง มีแต่ได้ท่าเดียว ฉะนั้นหันไปเจออะไรจะต้องทำก็สุขใช่มั๊ย คนแบบนี้ไม่มีปัญหา ฉะนั้นก็ได้อย่างเดียว แล้วผลที่เกิดขึ้นก็ดีกับชีวิตของตนเองด้วย แล้วก็เกิดประโยชน์แก่สังคมด้วย ทุกอย่างมันดีไปหมด ถ้าพัฒนาคนถูกต้องแล้วทุกอย่างประสานกลมกลืน ถ้าพัฒนาผิดมันจะขัดกันไปหมดเลย อันนี้ก็เป็นข้อที่สองนะเจริญพร ยังมีอีก อ้าวเป็นอันว่าเราก็ทำงานด้วยใจที่มีความสุข และเต็มใจ แล้วก็ถือสูตรยิ่งยากยิ่งได้มาก ท่านใดจะยอมรับหรือเปล่า แต่ว่าถ้าฝึกตัวเองจริงๆได้จริงๆนะ จะมีสูตรนี้เลยยิ่งยากยิ่งได้มาก แล้วมันเป็นสูตรที่เกิดจากความจริงด้วยหรือใครจะปฏิเสธ จริงไม่จริง ยิ่งยากยิ่งได้มาก ถ้ามันไม่ยากมันง่ายจะได้อะไรใช่มั๊ย เอาอาตมาขอผ่านไป ทีนี้ปัจจัยที่จะให้ได้ผลในการทำงานอีกมีอะไรอีก หล่ะ อันนี้ขอแทรกนิดหนึ่งก่อนที่จะไปตัวต่อไปนะ คือว่าในการทำงานที่ว่าต้องการผลจากการทำงานโดยตรงที่ตรงตามเหตุ ที่ทำให้เราได้ความสุขจากตัวงานและการทำงาน ไม่ใช่ได้ความสุขแต่เพียงผลที่ตามมาหรือผลพ่วงหรือผลพลอยได้คือเงิน คือได้ผลจากตัวงานโดยตรง งานก็บอกว่ามีสองอย่าง คือว่างานทั่วไปที่มีจุดหมายในการแก้ปัญหาชีวิตและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง อันนั้นเราจะได้สุขแบบว่ามันไม่ชัดเจนโดยอ้อม คือว่าเวลาทำงานเรารู้สึก เราตระหนักอยู่ว่างานของเรามันเป็นงานเพื่อแก้ปัญหาชีวิตและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง เราทำไปแล้วก็รู้สึกตระหนักอย่างอ้อมๆ อย่างอยู่ในความคิดคำนึงถึงผลอันนั้น แต่ว่ามันมีงานอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับคน งานประเภทที่เกี่ยวกับคนนี่พูดไปทีแล้ว มันเป็นงานประเภทที่จะทำให้เกิดความสุขแบบโดยตรงทันทีเพราะเห็นผล คือการช่วยแก้ไขบำบัดความทุกข์ความเดือดร้อนของเขา แก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บเป็นต้น ฉะนั้นจะต้องสร้างอันนี้ให้ได้ แล้วถ้าจิตมีอันนี้ขึ้นมาก็คือต้องการให้ผลดีเกิดแก่เพื่อนมนุษย์ เช่นว่าเป็นแพทย์ต้องการให้คนไข้มีสุขภาพดี ต้องการให้เขาหายป่วยหายโรค พอสร้างอันนี้ขึ้นมาได้ท่านจะได้ความสุขจากการทำงานมากขึ้น แล้วจะมีความสุขอีกอย่างคือความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วย เวลาสัมพันธ์กับคนไข้อะไรต่ออะไรจะมีความสุขทันทีเลย หลายๆคนนี่เพราะตัวเองใจไปอยู่กับผลตอบแทนที่อยู่ข้างหน้า มันอยู่ในความหวัง แล้วจะมีความหวาดว่าจะได้อย่างนั้นหรือเปล่า ระแวงว่ามันจะไม่ได้เต็มเลยมันทำให้ไอ้ตัวความสุขปัจจุบันหายไปเลย เวลาปัจจุบันจิตใจจะมีความขุ่นมัวเศร้าหมองไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นตัดใจจะได้มากได้น้อยผลประโยชน์อันนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง เป็นส่วนที่เราจะต้องได้เหมือนกัน แต่ว่าเราจะต้องใช้วิธีแก้ตามเหตุตามผล แต่ว่าในใจของเราขณะนี้ต้องทำให้ได้ในปัจจุบัน เมื่อสัมพันธ์กับคนไข้ปั๊บ ต้องนึกถึงคนไข้ ต้องนึกถึงความสุขของเขา ต้องนึกถึงการแก้ไขปัญหาให้เขา แล้วต้องปรารถนาให้ตรงก็คือต้องการให้เขาหายทุกข์หายโรคนั้น ถ้าท่านมีอันนี้ขึ้นมาท่านจะได้ความสุขในปัจจุบัน การงานก็ได้ผลแล้วจะมีความสุขในการสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เรียกว่าความสุขจากเมตตาและไมตรีจะมาเลย จะมีความยิ้มแย้มมีความสุขกับคนไข้ สนทนาปราศรัยกันได้ดี ความสุขของมนุษย์นี่อันนี้ถ้าขาดไปแล้ว มนุษย์จะหมดความหมายไปเยอะเลย ความสุขของมนุษย์นี่อยู่ที่การอยู่ร่วมสังคม เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมจะต้องหาทางมีความสุขในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ให้ได้ มีความสัมพันธ์ที่ดีโดยเฉพาะท่านที่ทำงานกับคนไข้ต้องมีความสุขในการอยู่กับคนไข้ พูดกับคนไข้ แล้วก็มีความชื่นชมยินดีในการที่เค้าหายโรคหายภัย พอเราทำอันนี้ขึ้นมาได้ มันเป็นเรื่องธรรมชาติและมันได้ผลทันที เพราะว่าใจเราอยากให้เค้าหายโรค พอเห็นเค้าหายโรคเราอิ่มใจ เราก็มีความสุข แล้วจากการแสดงออกของเรา เราก็ได้รับความนิยมด้วยเขาก็ชื่นชมพอใจ มันดีไปหมดเลย เอาหละอันนี้ขอผ่านไป ทีนี้ต่อไป ต่อไปก็มีองค์ประกอบอีกอันหนึ่งในการที่จะทำงานให้ได้ผลครบถ้วนเป็นแบบประสานกลมกลืน ก็เป็นเรื่องของความสุขโดยตรงก็คือการพัฒนาคนเรา คนเรานี้โดยไม่รู้ตัวแม้แต่การศึกษา เรามีการพัฒนาอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับความสุข การศึกษานั้นมองในแง่ความสุขมันก็เป็นการพัฒนาอย่างหนึ่งเหมือนกัน ทีนี้การศึกษาปัจจุบันนี้ลองมองในแง่ความสุขว่าเป็นการพัฒนาอะไร ถ้าวิเคราะห์ออกไป อาตมาจะลองพูดคำหนึ่งขึ้นมาหรือประโยคหนึ่งขึ้นมา แล้วท่านลองช่วยวินิจฉัยว่าจริงมั๊ย การศึกษาในความหมายหนึ่งคือการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข จริงมั๊ย ความหมายหนึ่งนะ จริงไม่จริง การศึกษาเป็นการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข จริงไม่จริง หลายท่านพยักหน้าว่าจริง เอาหล่ะอันนี้การศึกษาปัจจุบันนี้ไปไปมามาแทบจะมีความหมายนี้โดยไม่รู้ตัว คือให้การศึกษากันไปกันมา กลายเป็นว่าก็คือการพัฒนาความสามารถที่ให้แต่ละคนไปหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่ละคนคิดถึงแต่เรื่องนี้ อันนี้ท่านเรียกว่าเป็นการพัฒนาที่เสียดุลยภาพ เพราะมนุษย์มีสิ่งที่จะต้องพัฒนาอีกด้านหนึ่งท่านไม่ปฏิเสธว่าการศึกษาด้านหนึ่งคือการพัฒนาความสามารถที่จะไปหาปัจจัยสี่เป็นต้น เพราะมนุษย์จะมีชีวิตที่รอดอยู่ได้ จะมีชีวิตที่ดีอยู่ได้ มันต้องมีปัจจัยสี่ มีสิ่งเสพมีวัตถุบริโภคแน่นอน แต่อีกด้านหนึ่งที่มนุษย์ไม่ควรจะลืม ก็คือการพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข นี่มนุษย์จำนวนมากลืม โดยเฉพาะการศึกษาปัจจุบันบางทีมองข้ามไปเลยนะ จะให้มีดุลยภาพมนุษย์จะต้องพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วยและมนุษย์มีศักยภาพนี้อยู่ ศักยภาพที่จะมีความสุข ที่จะมีความสุขเรียกว่ายังไง พอพัฒนาไปพัฒนาไป นี่คนนะเครื่องพิสูจน์ความสามารถที่จะมีความสุขคืออยู่ในโลกไปนานๆ เข้านี่เป็นคนสุขได้ง่ายขึ้น แต่มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ปรากฎว่าหลายคนหรือเยอะเลยอยู่ในโลกนานไปเป็นคนสุขได้ยากขึ้น อันนี้แย่แสดงว่าพัฒนาผิด อ้าวถ้าการศึกษาเป็นการพัฒนาคนก็แสดงว่าเสียดุล แล้วพลาดแล้ว เพราะอะไร เพราะว่าเราจะต้องทำให้คนมีความสุขง่ายขึ้นสิ ต้องมีความสามารถที่จะมีความสุขยิ่งขึ้น แต่นี่กลายเป็นว่ามันตรงข้าม พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุขแต่ว่าสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข อยู่ไปในโลกนานเข้ายิ่งสุขยากขึ้นทุกที ทุกข์ได้ง่ายสุขได้ยาก ทีนี้ต่อมาเป็นยังไง เป็นคนที่ความสุขต้องไปขึ้นต่อสิ่งเสพ หมายความว่าความสุขของตัวนี่ไปขึ้นต่อวัตถุบริโภคภายนอกหมดเลย ความสุขที่อยู่ที่ตัวหายไป ความสุขในตัวเองไม่มี ความสุขไปขึ้นต่อวัตถุบริโภคหมดเลย ทีนี้ถ้าไม่มีวัตถุเสพหละอยู่ไม่ได้ ทุรนทุราย มีแต่ความทุกข์ ตอนนี้ท่านเรียกว่าสูญเสียอิสรภาพของชีวิตแล้ว ชีวิตมนุษย์ที่ดีงามนั้นเป็นชีวิตที่อยู่ดีได้ด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น ยิ่งอยู่ไปเราต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอกน้อยลง เราต้องเป็นอิสระ มีความสามารถเป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้น แม้แต่ในแง่ความสุข ก็หมายความว่าสามารถมีความสุขด้วยตัวเองได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เอาความสุขไปขึ้นต่อวัตถุภายนอกมากขึ้น แต่คนปัจจุบันนี้พัฒนาไปพัฒนามา พัฒนาด้านเดียวเก่งจริงในการที่จะมีความสามารถหาสิ่งเสพบำเรอความสุขจริง แต่ว่าสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข เอาความสุขไปฝากขึ้นกับวัตถุภายนอกหมดเลย ตัวเองไม่สามารถมีความสุข เพราะฉะนั้นผิดทาง เสียดุลยภาพ แล้วจะเป็นปัญหาแก่โลก แก่ชีวิต สังคม ตัวเองก็ต้องวิ่งตามหาความสุขนั้นไม่ถึงซักที เพราะเวลาตัวพัฒนาความสามารถหาสิ่งเสพได้วัตถุเสพมามาก ตัวเองสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขไป ได้หนึ่งลบหนึ่ง ศูนย์อยู่เท่าเดิม ทีนี้พอศูนย์อยู่เท่าเดิม ตัวเองก็ต้องหาสิ่งเสพมากขึ้น พอหาสิ่งเสพมากขึ้นเพื่อให้ได้ความสุขเท่าเดิม ก็ต้องเบียดเบียนแย่งชิงกันมากขึ้น ตัวเองก็แย่ชีวิตก็ไม่ดี สังคมก็เดือดร้อน แล้วก็ต้องเอาจากสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมากขึ้น เพราะฉะนั้นระบบความสัมพันธ์ 3 ส่วนที่พูดเมื่อกี้ ชีวิต สังคม ธรรมชาติ เสียหมดเลยใช่มั๊ย ทีนี้พอเราพัฒนาถูก เราพัฒนาความสามารถให้สิ่งเสพบำเรอความสุขจริง แต่พร้อมกันนั้นเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เราอยู่ไปในโลกนี้ เรามีความสุขง่ายขึ้น แต่ก่อนนี้เราต้องมีสิ่งเสพมากเท่านี้ เราจึงมีความสุข ต่อมาเรามีสิ่งเสพแม้แต่น้อยลงเราก็สุขได้ ตอนนี้แหละเราจะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นแล้วความสุขจะมากขึ้น เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ได้มาเพิ่มขึ้นในทางวัตถุเสพนั้นมันให้ความสุขทวีคูณ เพราะว่าเราเก่งที่จะมีความสุขขึ้น ข้างในบวกหนึ่ง ข้างนอกเราหาสิ่งเสพมาได้อีกเพิ่ม อีกบวกหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราได้บวกสอง สิ่งที่มาบำเรอความสุขเราเราสุขกำลังสองเลย ฉะนั้นนี่เป็นเรื่องของการพัฒนามนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ ธรรมดาแต่เราไม่ได้เอา เราจะเห็นว่าเด็กๆ ยังมีศักยภาพที่จะมีความสุข เราบอกว่าเด็กจะต้องมีกิน มีอะไรต่างๆ แต่เด็กมันก็มีความรู้จักที่จะรื่นเริง มีความสุขจากไอ้เรื่องที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุได้ง่ายกว่าเรานะ บางทีจะเป็นอย่างนั้นด้วย บางทีเราสูญเสียความสามารถอันนี้ไป ฉะนั้นอันนี้ก็เป็นหลักการอันหนึ่ง อ้าวแล้วทีนี้มาถึงหลักธรรมอะไรหล่ะ อันนี้มันจะมาสัมพันธ์กับงานตรงนี้สิ สัมพันธ์กับงานตรงนี้คือการที่เป็นคนสุขได้ง่าย เมื่อสุขได้ง่าย สุขได้ง่ายมาจากอะไร สุขได้ง่ายจากการที่เสพวัตถุน้อย คือคนที่สุขง่ายหมายความว่า สุขได้มากที่สุดจากการเสพวัตถุน้อยที่สุด เออเอาดิ ถ้ามีวัตถุเสพมากฉันยิ่งสุขใหญ่เลย แต่คนที่พัฒนาผิดก็ต้องอาศัยวัตถุมากที่สุดจึงจะสุข ต่อมาก็คือวิ่งไล่ตามความสุขไม่เจอซักที ทีนี้เมื่อเรามีความสุขง่ายจากวัตถุน้อย มันจะเกิดภาวะที่ท่านเรียกว่าความสันโดษ สันโดษแปลว่าอะไร สันโดษก็คือความพอใจในสิ่งที่มีที่ได้...ที่มีที่ได้ เดี๋ยวนี้คนเข้าใจคำว่า สันโดษ เลอะเลือน คลาดเคลื่อนไปเยอะ บางคนบอกว่า คนที่ชอบปลีกตัวไปอยู่คนเดียว ไม่ยุ่งไม่เกี่ยวกับใคร เรียกว่า สันโดษ อันนี้มันเป็น วิเวก มันคนละความหมาย ทีนี้สันโดษนั้นก็คือ การพอใจ ได้ง่ายในวัตถุ เสพสิ่งบริโภคน้อยและก็มีความสุขได้ แต่ระวังพลาด ในจุดนี้พลาดมาก คนไทยพลาดจุดนี้ คือ ชีวิตมนุษย์เป็นชีวิตแห่งการศึกษา ต้องพัฒนาเรื่อยไป สันโดษนี้ มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในกระบวนการพัฒนามนุษย์ ถ้าสันโดษไม่เป็นองค์ประกอบ ไม่เป็นปัจจัยในกระบวนการพัฒนามนุษย์นี้ เกิดการหยุดนิ่งเป็น Static พลาดทันทีเลย พอพลาดพอหยุดนิ่ง ก็สันโดษแล้วจะได้มีความสุขจริง ได้ความสุขจริง คนพวกนี้สุข มีวัตถุเสพ ได้รายได้นิดหน่อยแล้วฉันก็สุขสบายละ พอสุขสบายถือความสุขเป็นจุดหมายปั๊ป นอนเลยทีนี้ ทีนี้ก็ไม่ขวนขวาย ดิ้นรน ใช่มั้ย เมื่อไม่ขวนขวายดิ้นรนทีนี้ ก็ขี้เกียจอ่ะดิ ไอ้ความสุขแบบนี้ทำให้คนขี้เกียจ ตัวเองก็ขี้เกียจแล้วก็ไม่แก้ปัญหา ไม่ได้สร้างสรรค์ชีวิตพัฒนาขึ้น สังคมก็ไม่เจริญก้าวหน้า พลาดเหมือนกัน ฉะนั้นเป็นจุดที่ต้องระวังมากสังคมไทย มีทางพลาดอันนี้ด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องแก้ให้ถูก งั้นสันโดษ เนี่ยมันเป็นองค์ประกอบเป็นปัจจัยหนึ่งในกระบวนการพัฒนามนุษย์ เพราะฉะนั้นมันจะต้องเป็นตัวที่ เป็นองค์ประกอบในการผลักดันในคนคืบหน้าต่อไป จึงจะเป็น สิกขา อ้าวแล้วทำยังไงให้พัฒนาล่ะ มันก็มีว่า หลักการมันต้องสันโดษคู่กับไม่สันโดษ ถ้าใครมาถามท่านว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราสันโดษ ใช่มั้ย จะตอบว่าไง ถ้าท่านตอบว่าใช่ ผิด ถ้าตอบว่าไม่ใช่ ก็ผิด ทำไมจึงผิด นี่แหละ นี่แหละวิธีตอบ ทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า วิภัชชวาท เวลาจะตอบอะไรต้องตอบให้ครบแง่ได้ แยกแยะ ท่านเรียกว่าจำแนกตอบหรือแยกแยะตอบ พุทธศาสนาสอนทั้งสันโดษและไม่สันโดษแต่มีข้อแม้ ถ้าใครบอกว่าพระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษ นี่ผิด พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของคนไม่สันโดษ เอ้อ เอา พระพุทธเจ้าตรัสสอนเลยนะบอกที่เราได้ตรัสรู้มานี้เห็นคุณค่าของธรรม 2 ประการ คือ 1 ความไม่สันโดษ จุด จุด จุด อาตมาทิ้งไว้ก่อน และ 2 การเพียรพยายามไม่ละย่อ ว่างั้น 2 อันนี้ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้นะ เพราะฉะนั้นเราพูดได้เลยว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะไม่สันโดษนะ งั้นชาวพุทธต้องระวังนะ ถ้าตอบไม่ดี ศึกษาธรรมะพลาดเลย งั้นเอาละนะ ทีนี้จะเฉลยละนะ พระพุทธเจ้า แต่เดี๋ยวกลับไปที่ว่าเมื่อกี้ ว่าพระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษหรือไม่สันโดษ ต้องแยกแยะตอบ พระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษต้องมีตัวตาม สันโดษในสิ่งเสพ สันโดษในวัตถุบริโภค และสอนให้ไม่สันโดษในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ท่านเรียกว่ากุศลธรรม ตัวนี้ อย่าไปลอยๆ ด้วนๆ การศึกษาธรรมะถ้าด้วนลอยแล้วพลาดทันทีเลย ทุกอย่างไป เมตตา กรุณา พลาดทั้งนั้น สังคมไทยเวลานี้ต้องขออภัยที่จะบอกว่าศึกษาธรรมะแบบด้วน ถ้าธรรมะมันอยู่ในระบบความสัมพันธ์นี่ มันเป็นองค์ประกอบ เป็นปัจจัยในกระบวนการ อย่าไปตัดออกจากกระบวนการ ขาดลอยปั๊บพลาดทันที สันโดษมันอยู่ในกระบวนการพัฒนามนุษย์ เพราะนำมนุษย์ไปสู่จุดหมาย ถ้ามันมาด้วนปั๊ป ก็กลายเป็นว่า อ้าว สันโดษในวัดก็สันโดษ ฉันก็สบายมีความสุขก็จบใช่มั๊ย นั่นคือด้วนลอย ก็ขี้เกียจก็นอนเลยอย่างที่บอกเมื่อกี้ ทีนี้เอาเป็นว่า 1 สันโดษในสิ่งเสพสิ่งบริโภค แล้วก็ 2 ไม่สันโดษในกุศลธรรม คือ ในการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม แล้วเจ้า 2 ตัวนี้จะมาประสานกันแล้วส่งเสริมกันด้วยความสันโดษกับความไม่สันโดษมันมาช่วยกัน เสริมกันนะ ไม่ได้ขัดกันเลยทำไมมันจึงมาเสริมกัน เอาล่ะสิ พอเราสันโดษในสิ่งเสพเราจะได้อะไร ในแง่กระบวนการพัฒนามนุษย์ ได้อะไร เราอย่าไปตอบว่าได้ความสุขนะ ผิด ความสุขเป็นเพียงผลพลอยได้ตามมาเอง ไม่ใช่วัตถุประสงค์ เพราะว่าเราสันโดษปั๊ปมันสุขทันที คือสุขง่ายนั่นเอง พอเราสันโดษในสิ่งเสพ คือ มีวัตถุน้อยเราก็สุขได้ เราก็สุขง่ายจากวัตถุน้อยที่สุด คือสันโดษ แต่วัตถุประสงค์ของสันโดษ คืออะไร พอเราสันโดษในสิ่งเสพปั๊ป อะไรเราได้ คนที่ไม่สันโดษนะ ครุ่นคิดใช้เวลาแรงงานไปในการหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตัวเองใช่มั้ย อะไรหมดไป 1 เวลาหมดไปในการแสวงหาสิ่งเสพสิ่งบริโภคบำเรอตัว 2 แรงงาน ใช้แรงงานหมดไป 3 ความครุ่นคิด คิดแต่พรุ่งนี้จะไปหาสิ่งเสพบริโภคที่ไหน ไปกินที่ไหนอร่อย ครุ่นคิดแต่อย่างนี้ เวลาแรงงานความคิดหมดไปเลย งานการไม่เป็นอันตั้งใจทำใช่มั๊ย งานก็เสีย ไม่ได้เรื่องได้ราว ทีนี้พอเราสันโดษในสิ่งเสพปั๊ป พอใจในวัตถุเสพตามง่ายๆ มีสุขง่าย สุขง่ายในวัตถุน้อยปั๊ป เราสุขแล้วแต่ว่าสิ่งที่เราได้คือ 1.เวลา 2.แรงงาน 3.ความคิด ออมไว้ได้เลย ออมเวลา แรงงาน และความคิดไว้ได้ เสร็จแล้วเราจะมีตัวคู่ คือ ไม่สันโดษในกุศลธรรมการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามใช่มั้ย พออย่างนี้ปั๊ป เราได้มาแล้ว เวลา แรงงาน และความคิดเราออมไว้ได้ เราก็เอาเจ้าเนี่ยไปทุ่มอุทิศให้แก่การสร้างสรรค์สิ่งดีงามถูกมั้ย การทำงานทำหน้าที่ตอนนี้เต็มที่เลยใช่มั้ย ฉะนั้นคนสันโดษในสิ่งเสพ สิ่งวัตถุบริโภค แกก็มีเวลา แรงงานและความคิดเหลือเฟือ แกเอาเวลา แรงงานและความคิดนี้ไปทุ่มให้แก่การงานแกเลย สบายเลยทีนี้ เดินหน้าเลยใช่มั้ย อันนี้มันรับกันเต็มที่ คนที่เป็นมหาบุรุษมันต้องสันโดษทางนั้น มีใครไม่สันโดษ ไอสไตล์ นี้แกไม่เอาเรื่องละ หาความสุขวัตถุ แกคิดทำไง แกจะหาความจริงในธรรมชาติได้ใช่มั้ย เวลาทั้งวันแกอุทิศ แกไม่คิดแล้ว แกกลับมีความสุขจากการทำงานของแกด้วยเพราะไอ้ผลที่ต้องการคือ ความจริงความรู้นั้นมันตรงกับไอ้ตัวเหตุที่แกคิดจะทำด้วย แกก็สุขจากการค้นคว้าไปๆ มาๆ เลยเถิดผมเผ้ารุงรังไม่ได้นึกเลย ไม่ได้ตัดอะไรต่างๆ ไม่ได้หวี ใช่มั้ย เพราะเวลามันหมดไปกับการทำงาน เพราะฉะนั้นนี่แหละการปฏิบัติที่มันสอดคล้องกัน มันประสานกัน เพราะฉะนั้นสันโดษเพื่อไม่สันโดษ ใช่มั้ย สันโดษนี่เป็นการตอบแบบสำนวน ตอบที่แท้คือ สันโดษ เพื่อเราจะได้ออมเวลา แรงงานและความคิดเอาไว้ แล้วจะได้เอาเวลา แรงงานและความคิดนั้นมาทุ่มเทอุทิศให้แก่การทำงาน ทำหน้าที่ การสร้างสรรค์สิ่งดีงามของเราใช่มั้ย แล้วตอนนี้มันจะไม่ก้าวหน้ายังไงใช่มั้ย มันก็ไป ก้าวหน้ารวดเร็วเลย คราวนี้มันก็ได้ 2 อย่าง คือ 1.วัตถุ ในแง่วัตถุแกก็สุขแล้ว สุขง่ายจากวัตถุน้อยใช่มั้ย แกก็สุขละ 2.แกก็สุขจากงานการอีก แกก็สุข 2 ชั้น ทีนี้คนที่ไม่สันโดษในวัตถุสิ่งเสพ แกไม่ได้ความสุขสักที เพราะความสุขจากวัตถุแกไม่มาถึง แกยังไม่พอ ไอ้ความสุขจากวัตถุแกก็ยังไม่ได้ ไอ้งานการแกก็เป็นทุกข์ เพราะต้องทำ เพราะมันทำให้แกอดความสุขจากการเสพสิ่งจากวัตถุ แกก็ทำงานด้วยความทุกข์ เสีย 2 เลยใช่มั้ย สุขจากวัตถุก็ไม่ได้ ไอ้สุขจากงานก็ไม่ได้ ชีวิตก็แย่ สังคมก็ไม่ได้ประโยชน์จากงานของเขาอีกทำให้เกิดความเดือดร้อน เบียดเบียนกันอีก ธรรมชาติแวดล้อมเสียอีก ระบบแปรปรวนขัดแย้งกันหมด แต่พอเราทำถูกปั๊บทุกอย่างเข้าที่หมด ฉะนั้นสุขง่ายด้วยวัตถุน้อยจากความสันโดษแล้วเอาเวลา แรงงานและความคิดไปทุ่มให้แก่การสร้างสรรค์สิ่งดีงาม งานการเจริญก้าวหน้า ประโยชน์ชีวิต สังคมได้หมด ธรรมชาติแวดล้อมได้หมด อาตมาพูดไปพูดมาเลย ยังไม่จบหรือเนี่ย ก็จำเป็นจะต้องจบ เพราะเวลามันจำกัด ทีนี้ก็จะขอเสนออีกสักนิดสักหน่อย คือว่า ในทางพระพุทธศาสนาเรามีวิธีพัฒนาคนที่ให้เราหวังว่า มนุษย์เราเนี่ย เมื่อเราเกิดมาอยู่ร่วมสังคมในโลกเนี่ย สิ่งที่เราเพ่งมองอันแรกก็คือวัตถุ ปัจจัย 4 แล้วเราก็มีความโน้มเอนของจิตใจที่จะมองว่าความสุขของเราอยู่ที่การเสพของวัตถุ แล้วเราจะเพลินจนกระทั่งว่า ในที่สุดความสุขของเราจะไปฝากไว้กับวัตถุภายนอก แล้วเราก็จะหมดอิสรภาพอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เพราะฉะนั้นท่านต้องมีวิธีที่ว่า 1.รักษาอิสรภาพของชีวิต โดยเฉพาะอิสรภาพในทางความสุขไว้ให้ได้ และ 2.พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขขึ้นมาให้เป็นคนสุขง่ายขึ้นด้วย นี้ ในการรักษาอิสรภาพที่จะมีความสุขนั้นก็คือว่า เราอย่าลืมตัวปล่อยให้ความสุขของเราไปขึ้นต่อวัตถุ เราจะทำอย่างไร ไม่ว่าบางคนก็ ความสุขของเราก็อยู่ที่เสพวัตถุ เช่นว่า กิน กินให้อร่อยอยากกินอะไรก็ได้กิน ได้กินใช่มั๊ย ต่อมามันก็เกิดปัญหา ก็คือกินไม่เป็น แม้แต่มีมาตราฐานการครองชีพสูงแต่คุณภาพชีวิตเสีย อ้าวคิดเอาเอง คนที่มาตราฐานการครองชีพสูงแต่คุณภาพชีวิตเสีย เดี๋ยวนี้เป็นมากในสังคมปัจจุบัน กินมาก บริโภคมากแต่เป็นโรคมากใช่มั้ย แล้วกินมาก บริโภคมากแต่ว่าทำให้โรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น แทนที่จะได้ หรือเด็กบางคนเกิดในครอบครัวร่ำรวยกินมาก บริโภคมาก ใช้จ่ายมาก สิ้นเปลืองเงินทองมาก แต่เป็นโรคขาดอาหารอะไรอย่างนี้ และอย่างนี้แสดงว่ามันพัฒนาผิด ทีนี้ ทำยังไง ก็เราก็ต้องพัฒนาให้ถูกต้อง อย่างเช่น การรักษาอิสรภาพในการที่จะมีชีวิตของเราที่ความสุขไม่ขึ้นกับวัตถุมากนักทำยังไง ท่านให้ศีล 8 มา ใครเคยสังเกตุบ้าง เพื่ออะไร ศีล 8 เนี่ย รู้จักใช่มั้ย ศีล 8 เนี่ยเป็นวิธีฝึกคนที่จะรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ คือคนเรามันก็อย่างที่ว่า ต้องกินโน่น กินนี่ ได้โน่นบริโภคไรแล้วก็มีความสุขขึ้นกับวัตถุ ได้ฟังดนตรี ได้ดูการละเล่น ได้มีสิ่งสวยงามอะไรต่างๆ ความสุขของเราก็อยู่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อะไรพวกนี้ เราก็มีความสุขฝากไว้กับมัน ทีนี้ต่อมาถ้าเราไม่ระวัง เราก็ ความสุขของเราอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ทุรนทุราย ท่านก็บอกว่า นี่นะคุณนะ รักษาอิสรภาพชีวิตไว้บ้าง อย่างน้อย 8 วันครั้งหนึ่ง มา ทำอย่างนี้ เคยกินตามใจตัวเองตามใจลิ้นถ้าต้องการอะไรอร่อยก็กินใช่มั้ย ความสุขอยู่ที่ บำเรอลิ้น 8 วันเอาทีนะคุณ กินแค่คุณภาพชีวิต พอ ว่าแค่นี้ร่างกายอยู่ได้ดีเพื่อสุขภาพ เพราะที่คุณกินเกินนั่นบางทีมันไม่เป็นประโยชน์ เอาหน่ะ 8 วันทีนะ กินแค่ร่างกายต้องการ และเดี๋ยวนี้แพทย์เค้ายอมรับมากขึ้นนะเพราะว่า พระทำถูก กินแค่อาหารกลางวันถูกใช่มั้ย ทีนี้เอาละพอเที่ยงหยุด ลองดูบ้างไม่ตามใจลิ้น ว่าเราจะสามารถมีชีวิตที่ดีงามมีความสุขได้มั้ย โดยไม่ต้องตามใจลิ้น ต่อไปหลังเที่ยงไม่กินเอาคุณภาพชีวิต แล้วก็ไม่ต้องบำเรอลิ้น เคยนอนฟูก นอนอะไรหรูหรา สบาย 8 วันที ลองนอนพื้นเสื่อกระดาน ลองดูซิ จะมีความสุข มีชีวิตที่ดีได้มั้ย บางคนนอนฟูก นอนเสื่อ ขออภัย นอนฟูกไปปวดหลังใช่มั้ย กลายเป็นว่าหมอต้องบอกว่า ต่อไปนี้คุณต้องนอนกระดาน จำใจนอน ไม่ได้เรื่อง สู้ฝึกเองไม่ได้ ฝึกให้มันมีความสุขในการนอน อย่างนั้นเลย เอ้า 8 วันทีนะ คุณจะนอนฟูกนอนอะไรก็นอนไป 8 วันทีคุณนอนเสื่อ นอนกระดานดู ดูว่าคุณจะมีชีวิตที่ดี มีความสุขได้มั้ย คุณเคยดูดนตรี การละเล่น ตามใจตา หู ของคุณมา 8 วันเอาละ เปลี่ยนมาลองมาไม่ตามใจมันดูซิ อยู่มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุขได้มั้ย ไม่ต้องตามใจ บำเรอมัน แล้วก็เอาเวลานี้ไปใช้ประโยชน์อื่นในการพัฒนาจิตใจ ปัญญา ทำงานบำเพ็ญประโยชน์บ้าง เอ้อ มันจะได้เวลาเป็นประโยชน์ แล้วทีนี้คุณจะมีอิสรภาพ ต่อไปเนี่ย คุณจะพูดอย่างนี้ได้ สิ่งที่ฟุ่มเฟือยบำเรอความสุขทางกายเรานั้นนะ ให้เราพูดมากับตัวเราได้ว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้ พูดได้มั้ย บางคนพูดไม่ได้นะ ต้องมีฉันถึงจะอยู่ได้ ไม่มีฉันแย่ หรือไม่มีฉันตายเลย บางคนถ้าไม่มีสิ่งบำเรอความสุขทางกายเหล่านั้นนะ ทุรนทุรายอยู่ไม่ได้ ทีนี้ถ้าคนฝึกตัวเองนะ มันจะได้อันนี้ขึ้นมา ได้สูตรใหม่ มีก็ดี ไม่มีก็ได้ เอ้อ เราเก่งแล้วใช่มั้ย นี่แสดงว่ายังมีอิสรภาพ มีก็ดี ไม่มีก็ได้ สิ่งเหล่านี้มีก็ดี มีฟูกนอนฉันก็ดี แต่ไม่มีก็ได้นะฉันก็อยู่ได้ เออ แสดงว่าเรามีอิสรภาพ ทีนี้บางอย่างมันเกินจำเป็นต่อมาเราจะฝึกตัวเป็นระยะ เราจะบอกว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ดี เออ มีก็ได้ ไม่มีก็ดี นี่เก่งใช่มั้ย เพราะของบางอย่างมันไม่จำเป็นหนิ เรามีก็ได้เราไม่ว่าอะไร เราเป็นคนที่มีอิสรภาพ เสรีภาพ เราก็ไม่จำเป็นต้องทุกข์กับการที่มี ใช่มั้ย แต่ว่าไม่มีก็ดีฉันเป็นอิสระ สบาย ลองฝึกตัวเองต่อไป จากการถือศีล 8 ท่านมีความมุ่งหมาย บางคนถือไป ถือศีล 8 ก็ได้บุญ เสร็จแล้วไม่รู้เรื่อง ฝึกไปทำไม มันเป็นวิธีพัฒนามนุษย์ แล้วต่อไปเราก็พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขให้เป็นคนสุขง่ายเป็นต้นอีก เอาละ ขออีกอันเดียวนะ เพราะว่ามันมีหลายเรื่อง คือว่าการตั้งใจของคนเนี่ย คนเราเนี่ยเมื่อความสุขไปอยู่ที่วัตถุ มันลืมตัว แล้วความสุขก็ไปขึ้นกับวัตถุแล้ว แล้ววัตถุนั้นมันต้องได้ ต้องเอา ต่อมาความสุขจะเกิดจากการได้การเอา ความสุขของมนุษย์ยุคปัจจุบันนี้เป็นความสุขจากการได้ การเอา ต้องได้ ต้องเอา การได้คือการมีความสุข ลืมไปเลย เพราะฉะนั้นพอถ้าเขาต้องให้เมื่อไหร่เสีย เราจะทุกข์เลย คนแบบนี้ การให้ก็คือการเสียก็คือความทุกข์ ทีนี้ ถ้ามนุษย์พัฒนาถูกเนี่ย มันจะมีตัวดุลยภาพขึ้นมา ชีวิตมนุษย์ สังคมมนุษย์เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ด้วยการที่แต่ละคนจะเอาหรือได้อย่างเดียว ถ้าอย่างนั้น ชีวิตก็เสียดุล สังคมก็เสียดุล คนเราจะแย่งชิงกันเบียดเบียนกัน เดือดร้อน และแต่ละคนก็ไม่มีความสุขจริงหรอก หวาดระแวงกัน เครียด มีความทุกข์จากการแย่งชิงซึ่งกันและกัน แล้วสังคมเดือดร้อนอย่างที่ว่า เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องมีดุลยภาพ ก็คือ คู่กับการได้การเอา ต้องมีการให้ด้วย แต่ทำไงจะทำให้การให้มีความสุขด้วย อันนี้ล่ะที่สำคัญ ถ้ามนุษย์พัฒนาถูกปั๊ปได้ทันทีเลย มันจะได้สุข 2 อย่าง คนที่พัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น จะมีความสุข 2 อย่าง คือ 1.ความสุขจากการได้ การเอา 2.ความสุขจากการให้ ถ้าคนไหนมีความสุขจากการได้อย่างเดียว แสดงว่าเสียดุลละคนนั้น ชีวิตแย่เขาจะมีความสุขได้น้อยเหลือเกิน พ่อแม่ของเราน่ะ ต้องมีความสุขจากการให้ คือ เมื่อพ่อแม่ให้แก่ลูก ก็จะมีความสุขในการให้แก่ลูก แต่เบื้องหลังเหตุอะไรที่ทำให้พ่อแม่มีความสุขจากการให้ อะไรอยู่เบื้องหลัง อะไรเป็นตัวเหตุ ที่ทำให้พ่อแม่มีความสุขจากการให้แก่ลูก ว่าพ่อแม่ให้แก่ลูกพ่อแม่ไม่ได้ทุกข์แต่มีความสุข มันต้องมีตัวอะไรอันหนึ่ง มันจึงผันแปร แปลงให้การให้กลายเป็นความสุข ไอ้ตัวแปรอันนี้คือ ความรัก ใช่มั้ย ถ้าความรักเกิดในใจเมื่อไร การให้กลายเป็นความสุขทันทีเชื่อมั้ย เพราะฉะนั้นตัวความรัก คือ เมตตา แปลว่า ความต้องการให้เขาเป็นสุข ความรักนี้ต้องระวังนะ ให้ความหมายให้ถูก ความรักมี 2 ประเภท ความรักประเภท 1 คือ การที่ได้เขามาทำให้ตนเป็นสุข การพอใจที่จะได้บุคคลหรือสิ่งอื่นที่จะมาทำให้ตนเป็นสุข นี่ความรักประเภทที่ 1 คือ เห็นว่าพอใจ รู้สึกว่าการได้เขานั้นทำให้เราเป็นสุข นี่ความรักประเภทที่ 1 แต่ความรักประเภทที่ 2 คือ ความต้องการให้เขาเป็นสุข นี่คือ จุดแยกระหว่างความรัก 2 ประเภท พ่อแม่มีความรักต่อลูกประเภทที่ 2 คือความต้องการให้ลูกเป็นสุข แม้แต่ชีวิตครอบครัวต้องมีตัวที่ 2 มา ชีวิตจึงจะยั่งยืน ถ้ามีแต่อันที่ 1 ไปไม่รอด ต้องมีตัวความรักประเภทที่ 2 ด้วย คือความรักที่ต้องการให้เขาเป็นสุข ความรักอันนี้ที่ท่านเรียกว่า เมตตา ความต้องการให้เขาเป็นสุข มนุษย์นั้นต้องสนองความต้องการ เมื่อเกิดเป็นความต้องการของเราขึ้นมาแล้ว ต้องการให้เขาเป็นสุข ต้องการให้เขาพ้นทุกข์เราจะต้องสนองความต้องการของเรา เมื่อเราให้แกเขา ก็คือการทำให้เขาพ้นทุกข์ เป็นสุข ก็คือสนองความต้องการของเรา เมื่อสนองความต้องการของเราได้ เราก็เป็นสุข ถูกมั้ย เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความต้องการชนิดใหม่ เมื่อเราต้องการวัตถุเสพ เราก็สนองความต้องการด้วยการได้ การเอา แต่มันเกิดพิษทำให้มนุษย์ขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้นเรา เกิดมีความต้องการประเภทที่ 2 ต้องการให้เขาเป็นสุข ต้องการทำให้เขาเป็นสุข เราก็สนองความต้องการ เลยทำให้เขาเป็นสุข พ้นทุกข์ปั๊ป เราก็มีความสุข เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็ได้อันนี้ นี่เราก็ทำจิตใจประเภทนี้ขึ้นมา สร้างความรักความเมตตา ต่อเพื่อนกัน ต่อพี่น้องกัน อย่างเรารักเพื่อนเรา ก็มีความพอใจ มีความสุขที่จะให้แก่เขา นี้ที่เรารักคนไข้ เราต้องการให้เขาพ้นทุกข์มีความสุข เราก็ได้ความสุขจากการให้ ฉะนั้นมีวิธีฝึก อย่างสมัยก่อนนี้ท่านมีวิธีฝึกถึงขนาด มีตัวอย่าง คนหนึ่งเขาฝึกบอกว่า ทุกวันก่อนที่จะทำอะไร ก่อนที่จะกินด้วยตนเอง ต้องให้แก่คนอื่น อะไรสักอย่างก่อน ถือท่านเรียกเป็นวัตร วัตร คือ ข้อปฏิบัติประจำตัว ว่าต้องให้อะไรสักอย่างหนึ่งแก่คนอื่นก่อน แล้วจึงจะกินเอง ถ้ายังไม่ได้ให้แก่ใครจะไม่ยอมกิน ในการฝึกนี้ต่อมาก็เป็นนิสัย ต้องมีการให้ ในสังคมไทยนี้ อาตมาว่ามีการฝึกประเภทนี้ เช่น การตักบาตร นี่ก็คือการที่ว่าให้ชาวพุทธฝึกการให้ ให้จิตใจมีความให้ มีความสุขจากการให้ ความสุขจากการให้เป็นความสุขแบบประสาน ถ้าความสุขจากการได้ การเอา เป็นความสุขแบบแก่งแย่ง แบ่งแยกและแก่งแย่งเมื่อเราจะเอาเขาก็เสีย เมื่อเราได้สุขเขาก็ทุกข์ เขาได้เราก็อด เราได้เขาก็อด เพราะฉะนั้นเป็นความสุขแบบแบ่งแยก แก่งแย่ง แต่ถ้าเป็นความสุขจากการให้ เป็นความสุขแบบประสานสุขด้วยกัน เราทำให้เขาสุข เขาสุขเราก็สุขด้วย ความสุขของเราขึ้นต่อเขา งั้นสุขด้วยกัน เพราะฉะนั้นดีต่อชีวิตด้วย ดีต่อสังคมด้วยเป็นความสุขแบบจิตใจเบิกบาน สบายไม่ประกอบด้วยความหวาดระแวง ความสุขจากการได้ การเอา จิตใจมันขุ่นมัว มันคับแคบ มันหวาดระแวง มันไม่สุขยั่งยืน มันสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ได้บำเรอ พอสุขแบบให้ นี่แหมมันชื่นใจ สบาย พอเห็นมีความสุข แล้วก็ยังเป็นสุขต่อไปอีก ได้ภูมิใจในคุณค่าของชีวิตของตน ได้ทำประโยชน์อะไร หู้ย...มันดีสารพัด ใช่มั้ย เพราะฉะนั้น ตั้งใจที่จะให้ แล้วมันจะแก้ความขัดแย้งไปเยอะ เวลาคนเราคิดจะได้ จะเอามันไม่ใช่แค่วัตถุนะ เราอยากให้คนอื่นสนองความต้องการของเรา มาเจอเพื่อน จะมาเรียนหนังสือ มาทำงาน อยากให้คนโน้นคนนี้ เขาตามใจเรา เขายิ้มกับเรา เขาไม่ยิ้มเราก็โกรธ ทีนี้พอเราตั้งใจให้เนี่ย มันเปลี่ยนจิตใจ ท่าทีไปหมด ออกจากบ้านมาด้วยจิตตั้งใจจะให้ วันนี้ต้องหาทางให้อะไรแก่ใครสักอย่าง พอตั้งใจมาอย่างนี้นะ ไอ้ความตั้งใจอันดีมันคุมจิตของเราเอาไว้ ท่านเรียกว่า คุมจิตเอาไว้ในกุศลธรรม มันสบายใจ เพราะฉะนั้นเราจะไม่เอาใจใส่กับเรื่องกระทบกระทั่งอะไรต่ออะไร ผิดหูผิดตา ทีนี้ถ้าเราไม่มีความตั้งใจจุดมุ่งมาในใจนะ ใจเราเที่ยวรับกระทบไปหมด เจออะไรต่ออะไร งุ่นง่าน ผิดใจกระทบกระทั่ง ทุกข์ไปหมดเลย ไม่สบายตา ไม่สบายหู ไม่สบายใจใช่มั้ย เพราะฉะนั้นตั้งใจมาดีปั๊ป นี่มันดีไปหมดเลย มันคุมไปหมดเลย เพราะฉะนั้นเนี่ย ทำใจเป็นอะไรต่ออะไร แล้วมันสบายไปหมด เพราะงั้นอันนี้ก็อีกอันหนึ่ง ก็มันพอดีว่าเวลาหมด อันที่จริงมันมีอีก 3 – 4 อย่างที่จะต้องพูดแต่ว่าอันสุดท้าย อาตมาพูดฝากไว้แล้ว คือเรื่องความสำเร็จ ได้บอกแล้วว่า คนเราต้องการความสำเร็จ อะไรคือความสำเร็จ เราสำเร็จการศึกษา เราต้องการความสำเร็จในการงาน การงานสำเร็จ คืออะไร อะไรคือเกณฑ์วัดความสำเร็จ อันนี้ขอฝากให้ท่านคิด แล้วเรามาช่วยกันตอบดู ยุคนี้เป็นยุคระบบแข่งขัน แย่งชิงผลประโยชน์ ความสำเร็จ คือ การชนะแข่งขัน การชนะแข่งขัน คือการได้ผลประโยชน์มากที่สุด สิ่งที่วัดผลประโยชน์สูงสุด คือ กำไรสูงสุด เพราะฉะนั้นยุคนี้นะ กิจการต่างๆ การดำเนินงานต่างๆ ของมนุษย์เนี่ย จะมีความโน้มเอียงที่จะวัดความสำเร็จด้วยกำไรสูงสุด อาตมายกตัวอย่างบ่อยๆ เช่น ตั้งโรงพยาบาลขึ้นมาแห่งหนึ่ง โรงพยาบาลนี้ประสบความสำเร็จวัดด้วยอะไร วัดด้วยกำไรสูงสุด นี่คือธุรกิจใช่มั้ย แล้วถูกมั้ย งานแพทย์บอกแล้วว่า โดยตรงตามธรรมชาติ ตามกฎธรรมชาติ คือ บำบัดโรค เยียวยาให้คนไข้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ แล้วมีสุขภาพดีขึ้นใช่มั้ย เพราะนั้นความสำเร็จที่ตรงตามเหตุผลในธรรมชาติ ก็คือ ความสำเร็จของโรงพยาบาลก็คือการช่วยให้คนในสังคมนี้มีโรคภัยไข้เจ็บน้อยลง และมีสุขภาพดีขึ้น ถูกมั้ย นี่คือความสำเร็จที่ตรงตามกฎธรรมชาติ แต่ในสังคมยุคนี้ ระบบแข่งขัน แย่งชิงผลประโยชน์และบริโภค จะมีความโน้มเอียงที่จะวัดความสำเร็จ ด้วยกำไรสูงสุด เพราะฉะนั้น ก็จะต้องวัดความสำเร็จของโรงพยาบาลด้วยกำไรสูงสุดใช่มั้ย ไม่เฉพาะแพทย์ อันนี้อาตมายกเอามาเป็นตัวอย่าง เท่านั้น เวลานี้กิจการแทบทุกอย่างของมนุษย์ กำลังจะวัดความสำเร็จด้วยการกำไรสูงสุดทั้งสิ้น และกำไรสูงสุดนั้นจะไม่คำนึงว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตสังคมและสิ่งแวดล้อม ใช่มั้ย อันนี้จึงเป็นความหายนะ ของอารยธรรมปัจจุบัน ที่บอกไปเมื่อกี้ว่าระบบความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตสังคมและธรรมชาตินั้นมันเสียไปหมดเลย เพราะความเจริญของมนุษย์แบบนี้ ฉะนั้นเราไม่ปฏิเสธ แต่ว่าเราจะต้องเข้าถึงความจริงอันนี้ด้วย เราจะต้องตั้งความสำเร็จ 2 ชั้น ความสำเร็จในระดับกฎมนุษย์ ที่เป็นสมมติ ก็คือ กำไรสูงสุดที่ว่า แต่จะต้องมีความสำเร็จระดับสูงสุดขึ้นไปคุม เป็นความสำเร็จที่แท้ ก็คือชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุขและโลกที่น่าอยู่ใช่มั้ย โลกที่น่ารื่นรมย์ธรรมชาติที่ดีงาม อันนี้ใช่ไหม คือ เครื่องวัดความสำเร็จที่แท้จริงของอารยธรรมมนุษย์ จริงไม่จริง ชีวิตที่ดีงามสังคมที่สันติสุขและโลกที่น่าอยู่ อันนี้คือความสำเร็จของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไม่ไปถึงอันนี้จะสำเร็จได้อย่างไร มนุษย์พัฒนาสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นต้องเอาตัวนี้เป็นตัววัดความสำเร็จเป็นเกณฑ์ที่แท้ กิจการทุกอย่างต้องอันนี้ พอเราตั้งอันนี้เป็นเกณฑ์สูงสุด กำไรสูงสุดจะต้องให้เอื้อต่ออันนี้ด้วย ถ้ากำไรสูงสุดมันไปขัดขวางทำให้เสียจุดหมายสูงสุดคือ ความสำเร็จของการมีชีวิตที่ดีงาม สังคมที่สันติสุข โลกนี้น่าอยู่น่ารื่นรมย์ ธรรมชาติดีงาม ถ้าไปทำอันนี้เสียปั๊ป กำไรสูงสุดนั้นต้องผิดด้วย ถือว่าเป็นจุดหมายรอง หรือความสำเร็จชั้นรอง ความสำเร็จชั้นรองจะต้องเป็นรองเรื่อยไป อย่าให้เป็นอันสูงสุดใช่มั้ย ฉะนั้นยอมได้ คือเราอย่าถึงกับปฏิเสธ ว่าอย่าเอาเลยกำไร มันก็ไม่ไหว ในโลกปัจจุบันใช่มั๊ย แต่ว่าทำไงให้ถึงจุดหมายสูงสุดได้ งั้นตกลงมนุษย์อย่าลืมก็แล้วกัน ความจริงที่แท้คือ เกณฑ์วัดความสำเร็จที่แท้จริงของมนุษย์ในการงาน แม้แต่ของบุคคล ของตัวเราเนี่ย จะต้องให้ได้อันนี้ คือได้ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่สันติสุขและโลกที่น่าอยู่ ดีขึ้น มนุษย์มีความสามารถนี้ก็คือทำให้โลกนี้ดีขึ้น และส่วนกำไรสูงสุดนั้นเป็นจุดหมายตามกฎมนุษย์ตามสมมติ ก็ให้มันมาประสานกันซะ สอดคล้องกัน ถ้ากำไรสูงสุดไปเอื้อต่อการช่วยให้ชีวิต สังคม ธรรมชาติ มันดี โลกนี้น่าอยู่อันนั้นใช้ได้ ก็ขอให้เป็นไปตามนี้ นี่ก็คือเรื่องของงาน ก็มีเรื่องที่มีจะต้องพูด เช่นการทำงานร่วมกันอะไรต่างๆ ก็เอาไว้ก่อน และก็เรื่องอิทธิบาท 4 การสำเร็จในการงาน อะไรต่างๆ เหล่านี้ มันก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน แต่ว่ามันจำเป็นจะต้องยุติด้วยกาลเวลา เพราะฉะนั้นวันนี้อาตมาก็จำเป็นจะต้องยุติการแสดงปาฐกถาที่เรียกว่าธรรมะกับการทำงานไว้เพียงเท่านี้ เพราะเวลาถึง 11.30 แล้ว ทีนี้ ธรรมะกับการทำงานเนี่ย ธรรมะนี้คุมหมดที่พูดมา ไม่จำเป็นต้องมีคำว่า ธรรมะ ต้องพูดธรรมะ เพราะธรรมะนั้นก็คือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม สิ่งที่ถูกต้องสอดคล้องเป็นไปตามความจริง สอดคล้องประสานกันทำให้เกิดประโยชน์ที่แท้ นั่นคือตัวธรรมะ ฉะนั้นเราจะเข้าถึงตัวธรรมะได้ อันนี้ก็คือความสำเร็จทุกอย่างนั่นเอง ทุกสิ่งมันจะประสานกลมกลืนกัน เพราะธรรมะก็คือ กฎธรรมชาติแห่งความเป็นจริง ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในการที่องค์ประกอบต่างๆ ในระบบความสัมพันธ์ทุกสิ่งทั้งหลายมันมาประสานสอดคล้องกันในทางที่ดีงามเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เท่านั้นเอง วันนี้ก็ขออนุโมทนาท่านอาจารย์ อธิการบดี พร้อมทั้งท่านรองอธิการบดี ท่านคณบดี และก็ท่านนักศึกษา ครูอาจารย์ ท่านผู้สนใจทุกท่านอย่างที่กล่าวมา และก็ขอแสดงมุทิตาจิตต่อท่านผู้สำเร็จจบการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง ขอให้ท่าน นอกจากสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนที่ว่านี้แล้ว ก็ขอให้ไปสำเร็จในการงานด้วย และก็ความสำเร็จในการงานนั้น ก็จะเป็นความสำเร็จในการศึกษาที่แท้จริง ซึ่งเป็นงานของชีวิตด้วย และก็จะเป็นไปทั้งเพื่อประโยชน์สุขแก่ตัวท่านเองและก็เป็นประโยชน์สุขแก่สังคมนี้ แก่ส่วนรวมทั้งหมด ก็ขอให้ความปรารถนาดีงามนี้ สัมฤทธิ์ผลสมตามปณิธานคือความตั้งใจของท่าน ขอทุกท่านจงประสบจตุรพิธพรชัย มีความสุขสวัสดีโดยทั่วกันตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ