แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เราก็เลยยากที่จะเดินหน้า มันเป็นอย่างนี้หรือเปล่าที่ผ่านมาเนี่ย เราหลง ลอย หลุดออกไปจากฐานของตัวเอง เป็นไปได้หรือเปล่า หลง ลอย หลุด ไปจากฐานของตัวเอง แล้วจะไประเริงโลดเต้น บนเวทีที่คนอื่นเขาจัดให้ สังคมไทยเป็นอย่างนี้หรือเปล่า หลุดลอยออกจากฐานของตัวเอง แล้วไปโลดเต้นอยู่บนเวทีที่คนอื่นเขาจัดให้ เช่น บนเวทีโลกาภิวัตน์แก่งการแข่งขัน ระบบผลประโยชน์ สินค้าบริโภคที่เขาเกิดขึ้นมา ล่อตาล่อใจของเราจนกระทั่ง เราไปเล่นระเริงโลดบนเวทีอันนั้น แล้วแถมไม่ใช่ฐานของเขาซะด้วย นอกจากฐานของตัวเองแล้ว ฐานของเขาเราก็ไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นลอยทั้งสองเลย ฐานตัวเองหลุดลอยไปแล้ว แล้วไปอยู่บนเวทีจอมปลอมที่จัดชั่วคราว เป็นเวทีที่มันเป็นภาพมายา นี่ที่เขาจัดให้เรา เราก็ไปเต้นโลดอยู่ ระเริงอยู่บนเวทีนั้น บนเวทีแห่งบริโภคนิยม ไม่อยู่บนฐานของตัวเอง ฐานที่เป็นมาของเรามีอย่างไร นี่เราจะต้องวิเคราะห์ คนเราถ้าไม่เริ่มจากฐานที่ตั้งตัวของตัวเอง เราก็กลายเป็นคนเลื่อนลอยนั่นเอง ทีนี้คนที่จะมีฐานตั้งต้น ก็ตั้งตัวและตั้งต้นที่ดีนั้น อย่างน้อยก็สำรวจตัวเองได้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ตัวเองมีเป็นทุนเดิม ทุนเดิมที่ตัวมี หรือพูดสั้นๆ ว่าดีที่ตัวมี ดีที่ตัวมี ตั้งเป็นฐานไว้ก่อน ถ้าต่อไปเราอยากจะไปเอาดีเพิ่ม ทีนี้ทำได้ แต่ต้องรักษาดีที่ตัวมีไว้ แล้วไปเอาดีที่ยังไม่มีให้ได้ด้วย นี่ถ้าทำได้อย่างนี้เจริญแน่ แต่ถ้าดีของตัวเองที่มีก็ทิ้ง ดีที่จะเอาใหม่ก็ยังไม่ได้ ทีนี้หลุดลอยเสียหมดเลย นี่สังคมไทยเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ดีที่ตัวมีก็ไม่รักษา ปล่อยให้หลุดมือไป ดีใหม่ที่จะเอาก็ไม่ได้ ยกตัวอย่างที่เกษตรตัวเองมีอยู่รักษาไม่ได้ ไม่เอา ทิ้ง จะเอาอุตสาหกรรมที่ตัวไม่มีแต่อยากจะได้ของใหม่ ก็เอาไม่ได้ เป็นเสียทั้งสองเลยใช่ไหม ก็กลายเป็นคนเลื่อนลอย ถ้าเป็นคนเก่งจริง เกษตรตัวเองดีมีต้องรักษาไว้ ฉันต้องแน่ เรื่องเกษตรฉันต้องเด่น ต้องรักษาให้ดี ฉันจะไปเอาอุตสาหกรรมอีก ฉันต้องดีด้วยทั้งอุตสาหกรรม ฉันต้องเก่งทั้งเกษตรทั้งอุตสาหกรรม อย่างนี้จึงจะเป็นคนฉลาดจริง ใช่ไหม ทีนี้ตอนนี้เกษตรก็เสีย หลุด อุตสาหกรรมก็เอาไม่ได้ แสดงว่าฐานของตัวเองก็เสีย ไม่ตั้งอยู่บนฐานที่ตั้งต้นของตัวเอง แล้วก็ไปอยู่บนเวทีที่เขาจัดเป็นมายาอย่างที่ว่า เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นความสูญเสียที่จะต้องมาทบทวน ตกลงว่าฐานตั้งตัวและตั้งต้นที่ดีโดยที่ทุนเดิมที่มีของตัว ก็ต้องรักษาไว้ แล้วดีใหม่ก็ก้าวไปเอาให้ได้ อย่างมั่นคง ถ้าอย่างนี้ชาติไทยก้าวหน้าแน่นอน จะเป็นเรื่องของวิถีชีวิตเกษตรกรรม เรื่องเศรษฐกิจแบบเกษตร เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่มีทรัพยากรธรรมชาติ แทนที่จะใช้เป็นฐานตั้งตัว กลับเป็นแหล่งทรัพยากรที่ให้คนอื่นเอาไปใช้ อย่างนี้มันจะใช้ได้ยังไง ฉะนั้นเราก็เลยเสียหมด ฉะนั้นทุนเดิมที่มี ทรัพยากรธรรมชาติก็ดี หาประเทศไหนที่จะมีอย่างไทยก็ยาก เรื่องการเกษตรเราก็พื้นฐานเดิมก็ดี รากฐานวัฒนธรรมเราก็ดี ค้นคว้าไป วัฒนธรรมไม่ใช่ต้องรักษาไว้หมด บางอย่างมันก็คลาดเคลื่อนไป ผิดพลาดก็ดี ก็มาตรวจสอบดู อย่าดูแค่วัฒนธรรม ต้องดูไปถึงเหตุปัจจัยของวัฒนธรรม ดูถึงรากฐานของวัฒนธรรมว่าวัฒนธรรมอันนี้ วิถีชีวิตอันนี้เกิดขึ้นอย่างไร มาจากฐานที่ไหน ปัจจัยนั้นเป็นอย่างไร มาวิเคราะห์ มาตรวจสอบ วัฒนธรรมบางทีวัฒนาธรรมอาจจะผิดพลาด แล้วก็ไปใช้รากฐานมาตรวจสอบแก้ไขวัฒนธรรมอีก แล้วก็มาปรับตัวกับวัฒนธรรมกับสภาพแวดล้อมในโลกปัจจุบันให้ได้ผลดีด้วย ไม่ใช่ว่าจะต้องรักษาวัฒนธรรมแบบทื่อๆ กลายเป็นนักปกป้องไป ถ้าใครเป็นนักปกป้องแสดงว่าแย่ คนที่ปกป้องก็คือคนที่ไม่ได้เป็นฝ่ายรุก แต่เป็นคนที่ฝ่ายที่ถอยเป็นฝ่ายตั้งรับใช่ไหม คนปกป้องนี่แสดงว่ากำลังอยู่ในสภาวะแย่ ทีนี้คนไทยเรานี่อยู่ในภาวะปกป้องวัฒนธรรม แสดงว่าเรานี่ไม่เก่งจริง ถ้าเก่งจริงเราต้องวัฒนธรรมเดินหน้า สามารถขยายวัฒนธรรมออกไปให้คนอื่นยอมรับ นี่ขนาดอยู่ในภาวะเป็นผู้ปกป้องทางวัฒนธรรมเท่านั้นเอง เอาละ เรื่องนี้ก็ยาว ก็ขอพูดใช้เพียงเป็นหลักการก็แล้วกัน แล้วศักยภาพในตัวคนไทยที่เป็นทุนเดิมเราก็มีอยู่แล้ว พัฒนาขึ้นมาคนไทยก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นคนที่ไม่มีสติปัญญา คนเรียนเก่งๆ บางทีไปเรียนเมืองนอก เรียนได้เป็นที่ 1 แต่กลับมาเมืองไทยแลว เราไม่สามารถใช้ศักยภาพของคนเราให้ได้ผลดี ฉะนั้นเราจะต้องมาตรวจสอบตัวเอง ว่าฐานเดิมที่ตัวมีนี้เอามารักษาไว้ให้ได้ แล้วใช้เป็นจุดตั้งต้นที่ดีให้ได้ด้วย เพื่อก้าวต่อไปเอาดีที่ยังไม่มีให้ได้ แล้วถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เราก็จะเริ่มพึ่งตนได้ ก็พูดกันนักว่าต้องพึ่งตนๆ พึ่งตนนี่เป็นหลักการที่จะต้องปฏิบัติ แต่ว่าอย่าหยุดแค่นี้ พึ่งตนนี่ถ้าไม่มีความสามารถที่จะพึ่งตนแล้วจะพึ่งตนได้ยังไง พูดกันไปว่าพึ่งตนสิ พึ่งตนเอง เงินก็ไม่มี ความสามารถสติปัญญาก็ไม่มี แล้วจะให้พึ่งตนยังไงล่ะ เพราะฉะนั้นพุทธศาสนานี่ท่านไม่ได้หยุดแค่พึ่งตน สอนแค่พึ่งตนนี่ไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนต่อไป พึ่งตนโดยการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ตรงนี้สิสำคัญนะ การทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ อันนี้สำคัญมันเป็นฐานของการที่จะพึ่งตน ไม่หยุดแค่พึ่งตน พูดว่าพึ่งตน อย่างนี้ก็ไปซัดกันเท่านั้นเอง บอกเธอจะแย่แล้วก็เพิ่งตัวเอาสิ ว่างั้น อย่างนี้แล้วเขาจะสู้ได้ยังไงล่ะ อย่างนี้ก็ต้องช่วยกันไปก่อน แต่ว่าต้องไปช่วยเขาทำตัวเขาให้เป็นที่พึ่งได้ ฉะนั้นหลักพุทธศาสนาตรงนี้บางทีเราก็มองข้ามไปเหมือนกัน หลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัส อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนนี่ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสแค่นั้น ว่า อัตตะนา หิ สุทันเตนะ นาถัง ละภะติ ทุลละภัง บุคคลมีตนที่ฝึกฝนดีแล้วจะได้ที่พึ่งอันได้ยาก นี่ตอนนี้เราต้องต่อ พุทธภาษิตไม่ได้จบแค่อัตตาหิ อัตตโนนาโถ นะ ไม่ได้บอกให้ตนเป็นที่พึ่งของตน ตนที่ฝึกดีแล้ว ตอนนี้ต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาตน แล้ว นาถกรณธรรม ธรรมที่จะทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ อันนี้ 10 ข้อเลย นี่สำคัญกว่านี้ สำคัญกว่าเพียงจะพูดว่าพึ่งตน เพราะฉะนั้นเราจะต้องพึ่งตนด้วยการพัฒนาคนของเรา พัฒนาทุนของเรา ทั้งพัฒนาทุนในตัวคน และพัฒนาทุนภายนอก เพื่อจะให้ตนนี่เป็นที่พึ่งของตนได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนกัน แล้วการเป็นที่พึ่งของตนได้นี่ก็จะทำให้เป็นอิสระเสรีที่แท้จริง คนที่พึ่งตัวเองไม่ได้ก็ไม่เป็นอิสระ ต้องพึ่งพาเขา ทีนี่คนไทยเราก็ชอบความเป็นอิสระเสรี แต่ก็ต้องวิเคราะห์ตัวเองอีกว่าตอนนี้เรามีเสรี เป็นอิสระอย่างแท้จริง หรือบางทีเป็นเสรีภาพแบบหลอกตัวเอง แหม ฉันทำนั่นได้ ฉันทำนี่ได้ อยากจะทำได้ตามชอบใจ บางทีเป็นเสรีภาพแบบถูกเขาหลอกให้เป็นก็มีนะ ทำให้เรารู้สึกว่าเราทำอะไรได้ตามชอบใจ อยากจะกินอะไร อยากจะซื้ออะไรก็ซื้อ ซื้อสินค่าต่างประเทศเนี่ย ตกลงนี่เราทำได้ตามชอบใจใช่ไหม เรามีเงินเราก็ซื้อสินค้าต่างประเทศมาบริโภคได้ บางทีกลายเป็นว่า ถูกเขาล่อ ถูกเขาจูง ถูกเขาชัก ถูกเขาเชิด ให้เป็นผู้เข้าใจว่าคนเองเสรี แต่ที่จริงเสรีแบบนี้บางทีไม่ใช้เสรีหรอก เขาใช้คำว่าอะไร ก็คือเป็นทาสเขานั่นแหละ เสรีภาพในความเป็นทาส ฉะนั้นต้องระวังมาก เต้นไปๆ ต้องดูตัวเองว่าเราเสรีจริงหรือเปล่า หลักการง่ายๆ ก็คือว่า คนที่ทำอะไรได้ตามชอบใจแต่กลับพึ่งตนเองไม่ได้ เสรีจริงหรือ โลกที่ทำอะไรได้ตามชอบใจ ทำได้เสรี แต่ว่าพึ่งตนเองไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าเสรีภาพไหม คนที่พึ่งตัวเองได้เนี่ย พึ่งตัวเองไม่ได้ เป็นอิสระเสรีอยู่ เพราะฉะนั้นการเป็นอิสรเสรีนั้น แน่นอนฐานต้องมาจากพึ่งตนเองได้ แล้วอีกประการหนึ่ง ถ้ามองทั้งสังคม แต่ละคนเอาแต่ใจตัวเอง ทำตามชอบใจ แต่สังคมของตนต้องขึ้นต่อสังคมอื่น อย่างนี่เสรีจริงหรือเปล่า ถ้าอย่างนี้จึงบอกว่าเราก็เป็นเพียงถูกเขาชักเขาเชิดเท่านั้น ให้นึกว่าตัวเองเสรี ฉะนั้นเสรีภาพในการบริโภคก็คือเป็นของชาติประเทศที่ผลิต ใช่หรือเปล่า ฉะนั้นขณะนี้สังคมของเรานี่เรามุ่งหมายว่าเป็นสังคมแห่งเสรีภาพ เราจะต้องตั้งหลักให้ถูกว่าความเป็นอิสระเสรีที่แท้จริงอยู่ที่ไหน อย่างน้อยสังคมของตนต้องพึ่งตนเองได้ แล้วก็เป็นผู้ให้แก่สังคมอื่น ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะรับอย่างเดียว ฉะนั้นเราต้องวิเคราะห์สังคมของเรานีขึ้นอยู่สังคมอื่นหรือไม่ ถ้ายังขึ้นอยู่ แสดงว่าเสรีภาพนั้นไม่ได้มีความหมายที่แท้จริง ก็ขอผ่านไปอีก ตอนนี้เวลาจะหมดแล้ว ทีนี้ก็ขออีกสักไม่กี่ข้อ ต่อไปลึกลงไปก็คือเรื่องรากฐานทางความคิด ทีนี้การดำเนินชีวิตก็เรื่องใหญ่ ทีนี้แนวคิดการมองต่างๆ วิธีคิดวิธีมอง ความเชื่อ ความคิดเห็น ความเข้าใจเนี่ย จะต้องปรับให้ถูกต้องเลย จะต้องเป็นรากฐานเลย ทางพุทธศาสนาบอกว่าทิฐินี้เป็นตัวสำคัญ ความเชื่อ ความยึดถือ หลักการที่มีอยู่ แม้ตัวเองไม่รู้ตัวในจิตใจเนี่ย มันเป็นตัวนำจิตใจไป เราเชื่อว่าความสุขอยู่ที่วัตถุ เราก็ดำเนินชีวิตทำทุกอย่าง ศึกษาเล่าเรียน ทำการงานเพื่อวัตถุ อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้ความเชื่ออย่างนี้ แนวความคิดนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ผ่านมาบางอย่างเราอาจจะถูก แต่บางอย่างก็ต้องผิดพลาดแน่นอน เรามาพูดส่วนที่พลาดกันดีกว่า พลาดกันแม้แต่การปฏิบัติธรรม ประการที่หนึ่งที่อาตมาภาพตั้งข้อสังเกต คือเรามักจะมองอะไรต่ออะไรแบบนิ่ง แบบนิ่งที่สำคัญที่สุดคือนิ่งที่สุขสบาย สุขสบายแบบนิ่ง แม้แต่สุขสบายเราก็มองสุขสบายแบบนิ่ง แล้วก็มองสุขสบายเป็นจุดจบด้วย ก็หยุดที่สบาย มองสุขสบายก็มองแบบหยุดนิ่ง แล้วแถมยังมองเอาความสุขสบายเป็นจุดจบ ไปหยุดที่สุขสบาย ก็ไปนิ่งอีกแหละ เอาความสุขสบายเป็นจุดหมายที่ว่าจะได้หยุด หยุดดิ้นรนขวนขวาย หยุดทุกข์ หยุดถูกบีบคั้น เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราจะมองแม้แต่การปฏิบัติธรรมลักษณะนิ่ง และเพื่อความสุขที่เป็นจุดหมาย แล้วก็หยุด เช่นมองสันโดษเพื่อความสุข มองสมาธิเพื่อความสุข มองปลงอนิจจังเพื่อจะได้สุขสบายใจ ใจสบาย ดูเหมือนว่าถูก แต่ถูกจริงหรือเปล่า อันนี้น่าจะวิเคราะห์ อันนี้ขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก่อน สอง-ก็คือการมองสิ่งทั้งหลายแบบขาดความสัมพันธ์ มองเฉพาะตัว ขาดด้วน ลอย ไม่มองแบบสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ 2 อย่างคือหนึ่ง-ความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัย ความสัมพันธ์หนึ่งก็สืบสาวเหตุปัจจัยไป มันมาเพราะอะไร เป็นยังไง เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่ใช่มองปรากฏการณ์ต่างๆ ลอยอย่างเดียว หรือมองแม้แต่ธรรมะ ลอย เช่นว่าขาดวินัย ก็ขาดวินัย ฝึกวินัยกันขึ้นมา แล้วมองว่า อะไรเป็นเหตุของวินัย อย่างนี้เป็นต้น แล้วแง่ที่สองของการมองแบบขาดความสัมพันธ์ก็คือการมองอย่างขาดลักษณะที่เคลื่อนส่งต่อในกระบวนการ ธรรมะในพุทธศาสนานี่เป็นกระบวนการ เป็นการปฏิบัติที่คืบเคลื่อน ส่งต่อกันไปสู่จุดหมายก็คือการบรรลุนิพพาน อย่างนี้เป็นต้น เป็นการพูดง่ายๆ ฉะนั้นทำทุกอย่างในกระบวนการนั้นจะต้องอยู่ในลักษณะคืบเคลื่อนแล้วส่งต่อทั้งนั้น ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ก็มองขาดเป็นแต่ละข้อๆ ถ้ามองขาดแต่ละข้อ แสดงว่าพลาด การมองลักษณะคืบเคลื่อนในกระบวนการนี้เรียกว่าลักษณะเชิงไตรสิกขา การมองเชิงไตรสิกขา ก็เลยขอยกตัวอย่างคำว่า สบาย คำว่า สบาย ในภาษาไทยเรามองแบบว่า แบบคนมืออ่อนเท้าอ่อน พอสบายก็ปล่อยมือปล่อยเท้า นอน ใช่ไหม นี่คือสบายใช่ไหม สบาย ไม่เคลื่อนไหว แต่ว่าถ้าดูความหมายบาลี สบายคืออะไร สบายก็คือลักษณะที่เอื้อหรือหนุนต่อการทำต่อไป หรือเอื้อต่อวัตถุประสงค์อื่นที่มีต่อไป ไม่ใช่ว่าสบายเป็นจุดจบแล้วก็เพลิน ปล่อยเลย สบาย ภาษาบาลีเรียกเป็นสัปปายะ สบายก็คือเอื้อต่อวัตถุประสงค์ต่อไป ไม่มีอะไรมาบีบไม่มีอะไรมาขัด ทำให้เอื้อ ยกตัวอย่างที่มันจะชัดหน่อย สบาย เช่นว่าท่านบอกว่า อสุภะ คือซากศพเป็นที่สบายแก่คนราคะจริต ถ้ามองแบบไทย เอ๊ะ มันจะสบายได้ยังไง ใช่ไหม เจริญพรโยม บอกว่าซากศพเป็นที่สบายแก่คนราคะจริต เอ คนราคะจริต มันจะสบายได้ยังไง ซากศพ เนี่ยเห็นไหมภาษาบาลีไม่เหมือนภาษาไทย สบายหมายคือมันเอื้อ เอื้อต่อการพัฒนาคนราคะจริต คนราคะจริตได้ซากศพมาพิจารณาแล้วจะเจริญก้าวหน้าต่อไป หรืออย่างได้ที่อยู่สบาย ถ้าได้เสนาสนะที่อยู่ที่อาศัยไม่สบาย ไม่เป็นสัปปายะ ปฏิบัติธรรมยาก สมาธิเกิดได้ยาก พลุ่งพล่าน ใจคอกระวนกระวาย ว้าวุ่น สับสน พอได้ที่อยู่ที่เหมาะ เสนาสนะสัปปายะ จิตก็สงบ ก็ทำให้บำเพ็ญสมาธิได้ง่าย ก็สบายมันเกื้อหนุนให้ไปสู่วัตถุประสงค์ สบายนี้ไม่ใช่ว่าเพื่ออยู่สบาย เสนาสนะสบายนี่ก็คือเพื่อจะเจริญสมาธิได้ เป็นต้น คือมันเอื้อต่อวัตถุประสงค์ที่จะเดินก้าวหน้าต่อไป ฉะนั้นจะต้องมองให้ดี ทีนี้คนไทยมองสบายแบบหยุดเลย นอน นิ่ง นี่แสดงว่าพลาด หรือแม้แต่สุข สุขนี่เราก็มองไปว่าสุขก็ทุกข์มาซะนาน ดิ้นรนมา พอสุขก็นอนสบาย สุขนี่แปลว่าอะไร สุขแปลว่าสะดวก ใช่ไหม เจริญพร สุขนี่แปลว่าสะดวก แปลว่าคล่อง ง่าย คำว่าสะดวก คล่อง ง่าย มันต้องสัมพันธ์กับการกระทำใช่ไหม ทำง่าย ทำคล่อง ทำสะดวก เคลื่อนไหว ไม่ใช่หยุด เพราะฉะนั้นสุขเป็นสภาวะเอื้อ ช่วยให้เราทำอะไรได้ง่าย เมื่อกี้จึงบอกว่าเราปฏิบัติต่อสุขผิด ทุกข์มันร้ายที่ว่ามันทำให้บีบคั้น ทำให้เกิดภาวะไม่สบาย มันบีบคั้น มันแย่ ทีนี้พอทุกข์เราใช้เป็นก็ทำให้ดิ้นรน เกิดพลัง ทีนี้สุขก็เหมือนกัน ถ้าใช้ไม่เป็น พอสบายสุขก็ปล่อย หยุด แต่ทีนี้สุขนั้นสภาวะที่ใช้ถูดต้องก็คือมันเอื้อ มันคล่อง มันสะดวก ทำให้เราเคลื่อนไหว ทำอะไรได้สะดวก ตอนที่เราสุขไม่มีอะไรบีบคั้น ไม่มีอะไรขัดข้องกีดขวาง เราจะทำอะไรก็ได้ ง่ายใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราจะรีบสร้างสรรค์ทำการอะไรก็ได้ตอนสุขนั่นแหละ คนมักจะไม่ใช้โอกาสนี้ เลยกลายเป็นว่าพอสุขก็นอน ก็ใช้โอกาสเป็นเคราะห์ ประมาทไปเลย นี่ถ้าใช้สุขเป็น ก็กลายเป็นทำง่าย ทำคล่อง ทำสะดวก อันนี้ก็เป็นความหมายหนึ่งที่จะต้องมาพิจารณากันให้ดี ฉะนั้นสุขทางพระจะไม่หยุดแค่นั้น เพราะสุขจะเป็นฐานให้เกิดสมาธิ ใช่ไหม เจริญพร สมาธิจะเกิดยากถ้าไม่มีสุข เพราะฉะนั้นสุขเป็นบรรทัดฐานของสมาธิ สุขช่วยให้เกิดสมาธิ สมาธิใจมั่น พอสมาธิเกิดแล้ว หนุนต่อไปให้เกิดการใช้ปัญญาได้ง่าย ต้องต่อเนื่องกันไปอย่างนี้เรื่อย ฉะนั้นอย่ามองแบบหยุดนิ่ง ต้องมองแบบเอื้อโอกาส มองแบบสุขสบายเป็นต้น เป็นสภาพเอื้อ เอื้อต่อโอกาสในการทำการเดินหน้าต่อไป ก็คือในกระบวนการคืบเคลื่อนส่งต่อในไตรสิกขาเดินหน้าไป จนกว่าจะถึงจุดหมาย ก็อย่างสันโดษเรามองว่าเพื่อสุข ก็จบ เพราะว่าเรามีวัตถุน้อยเราก็สุขได้แล้ว นอน ก็ขี้เกียจ ทีนี้สันโดษท่านบอกว่าเราสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย เราจะได้ไม่ต้องมัวกระวนกระวายวุ่นวายกับการหาวัตถุมาเสพ พอเราไม่กระวนกระวายวุ่นวายกับการหาวัตถุมาเสพ เวลาแรงงานและความคิดของเรามีเหลือเฟือแล้ว ตอนที่เราไม่สันโดษนี่เราต้องเอาเวลาแรงงานและความคิดนี้ไปยุ่งกับการแสวงหาวัตถถุมาบำรุงบำเรอเสพบริโภคเพื่อตนเอง จะหาความสุขให้ได้ ไม่สุขสักที ทีนี้พอเราสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย เราสันโดษ แรงงานก็เหลือ เวลาก็เหลือ ความคิดก็เหลือ เอาเวลาแรงงานและความคิดนั้น ไปทำงานทำหน้าที่ทำการสร้างสรรค์ปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นพระ สันโดษในปัจจัยสี่ปั๊บก็มีเวลาไปทำหน้าที่เล่าเรียนปฏิบัติเผยแผ่คำสอนได้เต็มที่ ฉะนั้นสันโดษก็เป็นสภาพเอื้อส่งต่อคืบเคลื่อนในกระบวนการ ฉะนั้นถ้าเรามองสันโดษแบบว่าจะได้สบายแล้วนอน ก็จบแน่นอน ฉะนั้นสันโดษก็เป็นสภาพเอื้อ และเป็นตัวส่งต่อในกระบวนการ หรืออย่างสมาธิก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เวลานี้ใช้สมาธิเป็นตัวกล่อมเยอะ สมาธิเพื่ออะไร จะได้สุขสงบสบาย นอน มีปัญหาอะไรจะได้เข้าสมาธิ ก็หลบปัญหาไม่ต้องคิด แล้วปล่อยปัญหาทิ้งไว้ ไม่ได้แก้ อันนั้นเป็นเพียงชั่วคราวเหมือนยานอนหลับ แต่คนที่กินยานอนหลับแก้ปัญหาได้ไหม ไม่ได้ ใช้เป็นที่พักจิต แต่เสร็จแล้วสมาธิ ประโยชน์ที่แท้ก็คือว่าเป็นการสร้างสภาพจิตที่ท่านเรียกว่า กัมมนียะ ทำให้จิตควรแก่งาน จิตที่เป็นสมาธิคือจิตที่เหมาะกับการใช้งานมากที่สุด ใช้มันเลย เอาไปใช้ความคิดสติปัญญา ตอนนี้ละคิดออก คิดชัด คิดไปเลย คนที่จิตใจว้าวุ่นมันคิดอะไรไม่ออก มันสับสนวุ่นวาย มันตัน พอมีสมาธินี่มันคิดแน่วแน่ ไปทะลุตลอดปรุโปร่งแล้วก็ชัดเจนแจ่มใส ฉะนั้นสมาธิจึงเป็นฐานของปัญญา ไตรสิกขาศีลส่งต่อสมาธิ สมาธิส่งต่อปัญญา ไม่ได้หยุด จะไปสมาธิด้วน ไปนอนหลับซะนี่ ใช่ไม่ได้เลย ฉะนั้นเราใช้สมาธิเป็นตัวกล่อมเยอะ นี่ก็คือการที่มองอะไรต่ออะไรแบบหยุดนิ่งขาดความสัมพันธ์ แล้วก็ไม่มองเชิงเหตุปัจจัย ไม่มองเชิงไตรสิกขา คือเป็นองค์ประกอบที่ให้เราคืบเคลื่อน ส่งต่อในกระบวนการเดินหน้าอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ตอนนี้หรืออย่างปลงอนิจจจังก็เหมือนกัน ปลงอนิจจัง พอมีอะไรพลัดพราก ก็เออ สิ่งทั้งหลายก็ไม่เที่ยงแท้ แตกได้ ดับได้ ดับไป สบาย อันนี้เป็นเพียงรู้เท่าทันขั้นที่หนึ่ง พอมันปลงอนิจจังได้ พระพุทธเจ้าบอกว่า อนิจจาวะตะสังขารา ??? สังขารหรือสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอนเสื่อมสลายไป เพราะฉะนั้นอย่านอนใจ จงไม่ประมาท ใช่ไหม อนิจจังก็นำไปสู่ความไม่ประมาท สิ่งทั้งหลายชีวิตของเราก็ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ไม่เปลี่ยนแปลงเลื่อนลอย เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นจะนอนใจอยู่ไม่ได้ ต้องลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แก้ปัญหาโดยศึกษาเหตุปัจจัยและทำด้วยเหตุปัจจัย อย่างนี้มันจึงจะไปได้ อ้าว เวลาจะหมดแล้ว เจริญพร นี่หมดจริงๆ แล้ว ทีนี้ก็ขอพูดสั้นๆ เลยก็แล้วกันว่าสิ่งที่สำคัญต่อไปก็ขอยกเป็นสิ่งที่จะต้องพูดว่า อย่ามองแคบแค่ไทยอย่างมองใกล้แค่คราวทุกข์ เวลานี้ยิ่งเกิดความทุกข์วิกฤตินี้ มันชวนให้เรามองแคบแค่ตัว บางทีไม่มองแค่ไทยด้วยซ้ำ มองแค่ตัวเองคนเดียวเลย มองแค่ไทยก็ยังดี แต่มองแค่ไทยยังไม่พอ ต้องมองไปทั่วโลก เราจะแก้ไขปัญหาสถานการณ์ โดยเฉพาะระยะยาว ต้องมองทั่วโลก มองด้วยความรู้เท่าทัน อย่างน้อยไม่ให้ถูกกระแสพัดพาไปไหลตามกระแส ไม่ถูกภายนอกครอบงำ รู้ทัน แล้วก็จะได้ก้าวไปสู่การที่คิดไปร่วมรับผิดชอบสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก รับผิดชอบโลกด้วยนะ อย่าไปคิดแค่รับผิดชอบคนไทยเท่านั้น นี่มองอย่ามองแคบแค่ไทย แล้วทำจิตทำปัญญาให้สมกับโลกาภิวัตน์ บอกเป็นโลกกาภิวัตน์แล้วคิดแคบนิดเดียว มองแค่ตัวเองคนเดียว มองแค่เมืองไทย โลกกาภิวัตน์ทำจิตให้มันสมทำใจให้มันกว้าง แล้วใช้ปัญญามองกว้างให้รู้เท่าทันโลก ให้รู้เหตุปัจจัยความเคลื่อนไหวในโลก รู้กระแสเหตุปัจจัย รู้ฝรั่ง รู้ให้ถึงเหตุปัจจัยของฝรั่ง อย่ารู้แค่ผล รู้แค่ปรากฏการณ์ของฝรั่งไม่ได้ ฉะนั้นต้องมองกว้างออกไป แล้วก็อย่ามองใกล้แค่คราวทุกข์ คราวทุกข์ก็มองกันแค่นี้ ต้องมองยาวต่อไปข้างหน้าว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร สร้างสรรค์ประเทศชาติจุดหมายอย่างไร แล้วก็ไม่ใช่มองแค่เศรษฐกิจ สิ่งที่ดีงามที่ต้องทำเยอะ ไม่ใช่ว่าพอแกเศรษฐกิจได้ ต่อไปนี่เราสบาย สบายก็นอนเลย แล้วก็ฟุ่มเฟือยอีก ต้องมองต่อไป เศรษฐกิจเป็นเพียงปัจจัย พระบอกว่าวัตถุ เศรษฐกิจ เป็นปัจจัย ปัจจัยเกื้อหนุนให้เราก้าวไปทำสิ่งที่ดีงามสร้างสรรค์อื่นต่อไป แล้วการเป็นผู้นำในโลก นำแค่ทางวัตถุ ต้องนำทางจิตปัญญา การนำที่แท้ยั่งยืนคือการนำทางจิตใจและปัญญา ฉะนั้นสังคมไทยนี่อย่าไปมุ่งหมาย เขาเห็นผู้นำในโลกเศรษฐกิจก็อยากจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจบ้าง มันยังน้อยไป ต้องเป็นผู้นำทางปัญญาให้ได้ ไทยจะต้องเป็นผู้นำทางปัญญา เพราะฉะนั้นพัฒนากันต่อไป แล้วเอาเศรษฐกิจมาเป็นฐาน เป็นปัจจัยเอื้อในการเป็นผู้นำทางปัญญานั้น ถ้าอย่างนี้เราก็ไปได้ แล้วก็สุดท้ายก็คงจะบอกว่าเตรียมสร้างฐานสังคมใหม่ให้ดี ตอนนี้ถึงสังคมใหม่ หรือถ้าพูดไม่เอาใหญ่เกินไป ก็สังคมยุคใหม่ ทีนี้เมืองไทยต้องขึ้นยุคใหม่แล้ว สร้างฐานสังคมใหม่ให้ดี ตอนนี้เมืองไทยเท่ากับมาถึงโค้งใหม่แห่งประวัติศาสตร์แล้ว โค้งนี้ของประวัติศาสตร์เป็นโค้งสำคัญ จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อก็ได้ เราจะไปดีหรือไปร้าย ตอนนี้ต้องไปให้ดี โค้งนี้ทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะก็คือการถือโอกาสที่จะให้การศึกษา การฝึกฝนอบรมเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะมาสร้างชาติ เด็กจะเป็นผู้สร้างชาติได้ เด็กต้องเป็นนักสร้างสรรค์ ตอนนี้เด็กของเราเป็นนักบริโภค จะสร้างได้ยังไง ใช่ไหม ก็จะสร้างชาติ ถ้าไม่เป็นนักสร้างสรรค์จะสร้างได้ยังไง เพราะฉะนั้นจะต้องพัฒนาเด็กให้เป็นนักสร้างสรรค์ให้ได้ การที่เด็กจะเป็นนักสร้างสรรค์ได้ ก็จะต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ แล้วก็สู้สิ่งยาก เป็นนักผลิต เป็นผู้ใฝ่ศึกษา เป็นนักสร้างสรรค์ เป็นนักผลิต อย่างน้อยต้องเป็นนักผลิตแล้วนะ ถ้าเป็นนักบริโภคมันไปไม่ได้ นักผลิตก็เป็นการสร้างสรรค์ชนิดหนึ่งอย่างง่ายๆ ก้าวไปก็เป็นนักสร้างสรรค์ที่แท้จริง แล้วก็เรามีเรื่องเสพ เรื่องศึกษาและสร้างสรรค์ 3 อันนี้ เราอย่าหยุดแค่เสพ ถ้าจบแค่เสพก็เป็นอันว่าตันแน่ เสพต้องเอามาใช้ให้เป็นปัจจัยการศึกษา แล้วการศึกษาเป็นปัจจัยการสร้างสรรค์ เสพไม่ใช่เสพเพื่อเพลิดเพลินบำรุงบำเรอตัวเอง สุขสบาย เสพบริโภคปัจจัยเพื่ออะไร เพื่อเราจะได้พร้อม เราต้องมีวัตถุบ้างเพื่อเสพ แต่เสพนี่เรามีจุดหมายเพื่อเราจะได้มีกำลังพร้อม มีวัตถุเป็นปัจจัยฐานพร้อมแล้วเราจะได้ศึกษา พอศึกษาแล้ว เราจะได้พร้อมที่ทำงานสร้างสรรค์ เพราะเรามีปัญญาที่จะทำอะไรให้เป็น อันนี้ถ้าเราใช้เทคโนโลยีเพื่อเสพ เราก็จบ หาความสุข ใช้คอมพิวเตอร์เล่มเกมท่าเดียว ดูทีวีแต่ละวันก็เล่นแต่การบันเทิง ตกลงว่าใช้เทคโนโลยี ใช้ไอทีเพื่อเสพ เดี๋ยวนี้ถามเด็กไทย อาตมาถามก็ปรากฏว่าเด็กยอมรับว่าฉันใช้ทีวีใช้ไอทีใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเสพ 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้เพื่อศึกษาไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็สนทนากันไป บอกว่าต่อไปนี้จะแก้ 50 50 จะใช้เพื่อเสพ 50 ใช้เพื่อศึกษา 50 แต่อาตมาบอกว่าเอาตอนนี้ยอมให้เด็กให้ใช้เพื่อเสพ 70 เปอร์เซ็นต์เลย ยอม แต่ขอให้ใช้เพื่อศึกษา 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเด็กใช้ทีวีเพื่อศึกษา 30 เปอร์เซ็นต์ เมืองไทยเริ่มตั้งตัวได้ ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อศึกษา เพื่อสร้างสรรค์ซัก 30 เปอร์เซ็นต์ เอาแค่นี้ก่อน ฉะนั้นให้เสพเป็นปัจจัยศึกษา ให้ศึกษาเป็นปัจจัยแห่งสร้างสรรค์ แล้วเด็กของเราเป็นนักสร้างสรรค์แล้ว เราจะสร้างชาติไทยได้แน่นอน ยุคที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่าเราเป็นยุคกินบุญเก่า เสวยผล แล้วก็นอนสบาย ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ เป็นนักบริโภค แถมบางทีเสวยบุญเก่านั้น เป็นนักบริโภคนั้น ไปชื่นชมสมบัติที่ยืมเขามาซะด้วย ไม่ใช่สมบัติของตัวเองนะ ความสุขความพรั่งพร้อมที่มีตอนที่แล้วนี้ ก็เป็นสมบัติที่ยืมเขามาใช่หรือเปล่า ไม่ใช่สมบัติที่ตัวสร้างขึ้นด้วย ถ้าสร้างมาแล้ว ชื่นชมเสวยผลบุญเก่า ก็ยังแย่แล้ว ไม่ทำต่อ นี่ยังไปเอาสมบัติของคนอื่นมาชื่นชมมันก็ยิ่งแย่ใหญ่ ฉะนั้นตอนนี้ต้องสร้างของตัวเองให้ได้ ต่อไปนี้ก็เป็นยุคสร้างสรรค์ เราจะต้องสร้างเด็กไทยรุ่นใหม่ให้เป็นยุคของการสร้างสรรค์สังคมไทยยุคใหม่ให้ได้ ด้วยการที่พัฒนาเด็กให้การศึกษาเด็ก ให้เป็นนักสร้างสรรค์ให้ได้ ให้เป็นผู้ใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก ใฝ่ศึกษา ใฝ่สร้างสรรค์ เป็นนักผลิตที่ใจสู้ สู้ยากบากบั่น สู่ทางข้างหน้าอีกยาวไกล ไทยพร้อมที่จะเดินไปหรือยัง ขอถามเท่านี้ ฉะนั้นก็ขอจบปฐกถาช่วงนี้ไว้เพียงเท่านี้ ก็ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านทุกท่านในที่ประชุม แล้วก็นอกที่ประชุมด้วยทุกท่าน จงมีความสุขความเจริญก้าวหน้าในปีใหม่ 2541 และตลอดไปโดยทั่วกันทุกท่านเทอญ
(นาทีที่ 29.28)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขอเจริญพร วันนี้อาตมาภาพ คณะพระสงฆ์ขออนุโมทนาในการที่ท่านประธานพร้อมด้วยคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ได้มาทอดผ้าป่าถวายแก่พระสงฆ์ นับว่าเป็นการทำบุญประเภทที่เรียกว่าสังฆทาน คือการที่ได้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา คือการถวายทานนี่ก็ถือว่าเป็นบุญอยู่แล้ว ตามหลักถือว่าถ้าถวายเป็นสังฆทานยิ่งได้บุญมาก การทอดผ้าป่านี่ถือว่าเป็นสังฆทานชนิดหนึ่ง ที่ถือว่าสังฆทานได้บุญมากก็เพราะว่าเป็นการถวายแก่สงฆ์ สงฆ์หมายถึงส่วนรวม ไม่ได้ถวายแก่ภิกษุรูปใดรู้หนึ่ง เพราะว่าทานนั้นมี 2 ประเภท คือให้หรือถวายแก่บุคคลเฉพาะ เป็นพระภิกษุ ก ข เป็นต้น อันนั้นถือว่าเป็นการถวายสามัญ ทีนี้การถวายที่มุ่งแก่ส่วนรวมเรียกว่าถวายแก่สงฆ์ เรียกตามภาษาวิชาการว่า ถวายอุทิศสงฆ์ ก็ถือว่ามีบุญมาก มากกว่าถวายเจาะจงโดยตรง การถวายอุทิศสงฆ์ก็หมายความว่าแม้ถวายแก่พระภิกษุ 3 รูป 4 รูป หรือแม้แต่รูปเดียวเนี่ย ถวายแก่ท่านในฐานะที่ท่านเป็นตัวแทนของส่วนรวม คือไม่ได้ถวายในฐานะที่เป็นพระภิกษุ ก เมื่อถวายในฐานะที่เป็นตัวแทนของส่วนรวม ใจของผู้ถวายนี่มองหรือมุ่งไปที่ส่วนรวม ไม่ได้หยุดอยู่แค่บุคคล แล้วก็มองไปถึงงานที่พระจะต้องทำทั้งหมด ก็จะมองไปว่าการที่ถวายปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ถวายเพื่อสนับสนุนให้พระภิกษุทั้งหลายมีกำลัง เรียกว่าถวายกำลังเลย พูดกันตรงๆ ว่าถวายกำลังแก่ท่าน ในการทำงานพระศาสนาที่เรียกว่าศาสนกิจ ศาสนกิจหรืองานพระศาสนาของพระนั้นโดยย่อก็มี 3 ประการ คือหนึ่ง-เล่าเรียน ที่เราเรียกว่าปริยัติ เล่าเรียนคำสอนที่เรียกว่าธรรมวินัย แล้วต่อจากนั้นขั้นที่สองก็คือปฏิบัติ เล่าเรียนแล้วก็เอามาปฏิบัติ เอามาใช้ เอามาดำเนินชีวิต ทำให้เป็นจริงขึ้นมา หรือลงมือทำ นี่ขั้นที่สอง แล้วต่อไปสาม-ก็คือว่าเอาไปเผยแผ่ให้ผู้อื่นได้ทราบสิ่งที่ได้เล่าเรียนแล้ว ปฏิบัติได้ผล มีประสบการณ์อะไร ก็เอาไปแนะนำสั่งสอนแก่ประชาชน ตอนนี้ก็จะขยายผลขยายประโยชน์ออกไปสู่สังคม เพื่อจะนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุข สันติสุขแก่สังคม ทีนี้ผู้ที่ถวายสังฆทานนี้ถวายด้วยใจที่มองไปถึงประโยชน์ส่วนรวม ที่ถวายกับพระนี่ท่านจะได้ใช้ประโยชน์ แล้วท่านจะได้มีกำลังทำงานของท่านอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด เล่าเรียนปริยัติ ปฏิบัติ แล้วก็เผยแผ่ธรรมคำสอน ทำให้ธรรมะดำรงอยู่ ทำให้พระศาสนาดำรงอยู่ได้สืบไปเพื่อประโยชน์สุขต่อประชาชน ก็เท่ากับท่านผู้ถวายทานนี้ได้มีส่วนร่วมกันกับพระสงฆ์ในการดำรงพระศาสนาไว้และบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคม ด้วยใจที่ประเคนสังฆทานด้วยความรู้สึกที่กว้างขวาง มองกว้างออกไปอย่างนี้ จิตใจก็จะมีความเต็มอิ่มมากขึ้น คือถ้าถวายแกพระภิกษุรูปเดียวก็แคบ แต่ว่าถวายแด่พระแม้แต่รูปเดียวแต่มองในแง่เป็นตัวแทนของส่วนรวมเนี่ย เรามองไปถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกว้างขวางและยาวไกล จิตใจก็กว้างขวางไปตาม จิตใจกว้างขวาง ความรู้สึกเต็มอิ่มก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะเกิดความรู้สึกว่าเราได้มีส่วนร่วมอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ การที่ทำให้พระศาสนาตั้งอยู่ ทำให้สังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข ก็ได้ถือกันมาว่าสังฆทานนี่มีผลมาก แต่ว่าถือกันเป็นพุทธพจน์เลย พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่า สังฆทานนี้มีผลมากที่สุด คือถวายแก่สงฆ์ คือถวายอุทิศสงฆ์ อุทิศก็คือใจเรามุ่งไปที่สงฆ์ส่วนรวม ฉะนั้นอาตมาภาพจึงอนุโมทนา คณะกรรมการ และท่านประธาน ที่มาในวันนี้ที่มาทำบุญถวายสังฆทาน ก็ได้บำรุงพระศาสนาแล้ว ก็เป็นประโยชน์สุขเพื่อประชาชนเพื่อสังคมส่วนรวม ได้มีส่วนร่วมกันในการที่ทำประโยชน์นี้ให้เกิดขึ้น ในสังคมทุกวันนี้กำลังต้องการเรื่องของการช่วยเหลือกันมาก เพราะเป็นสังคมที่เกิดวิกฤตการณ์ อันนี้วิกฤตการณ์นี้เป็นวิกฤตการณ์ที่เราเรียกว่าทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องทางด้านวัตถุ เป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ เรื่องวัตถุนี่ทางด้านพระศาสนาถือว่าสำคัญมาก เราจะมีคำว่าปัจจัยสี่ ถือไว้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ถ้าขาดปัจจัยซะแล้ว การที่จะดำเนินชีวิตนี่เป็นไปไม่ได้ แล้วเมื่อดำเนินชีวิตไม่ได้ เป็นอยู่ไม่ได้ ทำอะไรต่างๆ ก็ทำได้ลำบาก ติดขัดไปหมด พระภิกษุสงฆ์ก็ต้องอาศัยปัจจัยสี่นี้ จะมีคำพิเศษเรียกปัจจัยสี่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ว่า นิสัย คือสิ่งที่ต้องอาศัย แต่ว่านิสัย4 หรือว่าวัตถุก็มีขอบเขตกำกับ คือเป็นด้านหนึ่งของชีวิต คือเป็นที่อาศัยจริงๆ ที่อาศัย หมายความว่าเราอาศัยมาเป็นฐานแล้วเราจะได้ทำอย่างอื่นที่สูงขึ้นไป ที่ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่หมายความว่าเป็นจุดหมาย ทีนี้สังคมปัจจุบันนี้เวลาเกิดวิกฤติเนี่ย มันจะมีสภาพปัญหาอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือว่านอกจากวิกฤติทางวัตถุแล้ว ปัญหาเกิดขึ้นกับจิตใจคนด้วย จิตใจคนก็คือว่าความทุกข์ที่ติดขัดเพราะความบีบคั้นทางวัตถุ ความขาดแคลน หรือความกระทบกระทั่งต่างๆ ที่เป็นอย่างนี้อาจจะเป็นด้วยเหตุหนึ่งก็คือสังคมของเราที่ผ่านมานั้น เราได้ไปฝากความหวังความสุขหรือแต่ละคนก็ฝากชีวิตไว้กับวัตถุมากเกินไป ความจริงนั้นคนเรานั้นมี 2 ส่วน คือ กายกับใจ แล้วชีวิตของคนก็ไม่ได้อยู่กับรูปธรรมอย่างเดียว ก็อยู่กับสิ่งที่เป็นนามธรรมด้วย แม้แต่ความสุขก็มี 2 ด้านคือความสุขทางวัตถุก็มี ความสุขทางด้านนามธรรมก็มี หรือสุขกายก็มีสุขใจก็มี คนเราที่สมบูรณ์นั้นก็ควรจะมีทั้งสองด้าน มีทั้งสุขกายและสุขใจ สุขที่เป็นรูปธรรมและสุขที่เป็นนามธรรม แต่ถ้าผู้คนในสังคมนี้ไปฝากความหวังฝากชีวิตไว้กับวัตถุมากเกินไป เวลาผิดหวังเกิดความบีบคั้นขาดแคลนทางวัตถุก็จะเกิดความทุกข์มาก ถ้าคนไหนนี้ได้ดำรงชีวิตอย่างสมดุลก็คือว่าชีวิตมีทั้งสองด้าน ด้านกายด้านใจ แล้วด้านใจเรายังมีหลัก เรายังมีที่ให้ความหวังความสุข อย่างคนเราอาจจะมีความสุขจากไมตรีจิตมิตรภาพ ความสุขจะเกิดจากการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การให้แก่กัน ความสุขเกิดจากการทำสิ่งที่ดีงาม ความสุขเกิดจากการได้แสวงหาความรู้แสวงหาสติปัญญา ความสุขเกิดจากการรื่นรมย์กับธรรมชาติ ความสุขเกิดจากการทำจิตใจให้สงบผ่องใส อะไรต่างๆ เป็นต้น ถ้าคนเรามีความสุขจากด้านจิตใจหรือด้านนามธรรมมาควบคู่อยู่ด้วยเนี่ย เวลาเกิดปัญหาทางด้านวัตถุ ก็จะไม่ถูกบีบคั้นเต็มที่ หรือโดยสิ้นเชิง คือจิตใจเขายังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังเป็นหลักให้ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ดำเนินชีวิตมาอย่างสมบูรณ์นี้ เวลาเกิดอุปสรรค เกิดความคับแค้นเสื่อมโทรมทางวัตถุก็จะไม่ทุกข์เกินไป แต่สังคมของเรานี้เข้าใจว่าในระยะเวลาที่ผ่านมาเนี่ย เราได้มุ่งหวังฝากชีวิตและความหวังความสุขไว้กับวัตถุมาก จนกระทั่งเป็นสังคมที่กลายเป็นถูกประณามหรือถูกต่อว่าว่าเป็นวัตถุนิยมเป็นบริโภคนิยมไปเลย เวลาเสียหลักทางวัตถุก็เลยเคว้งคว้างเลย เพราะด้านจิตใจไม่มีที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยว ฉะนั้นอันนี้ก็อาจจะเป็นสิ่งที่เตือนสติ หรือกลับเป็นสิ่งที่มาช่วยก็ได้ เรื่องนี้ถือเป็นการทำให้คนไม่หลงระเริงลอยไปทางเดียวเกินไป มาเป็นตัวยับยั้งว่าอีกด้านหนึ่งท่านอย่าปล่อยนะ ต้องทำชีวิตให้สมดุล คือด้านจิตใจด้วย ตอนนี้ก็เราก็มาให้คติกับสังคมกันว่าทำไงเราจะได้ดำเนินชีวิตให้สมดุล ให้ชีวิตนี้อยู่กับทั้งสองด้าน ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม ให้มีความสุขพร้อมทั้งด้านกายและด้านใจ แล้วเมื่อมีความสุขทางด้านใจมาประกอบเนี่ย การแสวงหาวัตถุไม่มากไม่เกินไปก็ลดการเบียดเบียนลงด้วย สังคมเองก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุขยิ่งขึ้น แล้วก็อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็ดังที่กล่าวมา ก็คือเรื่องที่ว่าการมองวัตถุหรือด้านเศรษฐกิจนี้ ไม่ให้มองเป็นจุดหมาย เมื่อสังคมฝากชีวิตไว้กับวัตถุ เราจะเอาวัตถุเป็นจุดหมาย คนจะมองว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่อให้มีวัตถุพรั่งพร้อม เมื่อใดเรามีวัตถุเสพบริโภคพรั่งพร้อม เมื่อนั้นจะมีความสุขสมบูรณ์ คนจำนวนมากคิดอย่างนี้ คือทางพระศาสนานั้นท่านให้มองวัตถุหรือทางด้านเศรษฐกิจนี้เป็นปัจจัย คำว่าเป็นปัจจัยก็คือเป็นเครื่องเกื้อหนุน เป็นเครื่องช่วยให้เราก้าวขึ้นไปทำสิ่งที่สูงขึ้นไปกว่านั้นได้ ถ้าเรามองวัตถุหรือเศรษฐกิจนี้เป็นปัจจัย เป็นตัวเกื้อหนุนแล้ว เรามีจุดหมายที่สูงกว่านั้น เราจะมีทางเดินไปอีก ก็คือถ้าเราเอาไปจบแค่วัตถุเป็นจุดหมายซะแล้ว ชีวิตก็ตัน ชีวิตบุคคลก็ตัน สังคมก็ตัน ชีวิตบุคคลก็จบแค่วัตถุว่า เราจะทำไปเพื่อให้ได้มีวัตถุพรั่งพร้อม แล้วเราก็จะสุขสมบูรณ์ ทีนี้วัตถุก็มีปัญหา คือหนึ่ง-คนจะเบื่อหน่ายได้เมื่อไปถึงระดับหนึ่ง แล้วเมื่อมันไม่ได้ก็อาจจะผิดหวัง แล้วบางทีอยู่ไปเนี่ย ชีวิตที่อยู่กับวัตถุอย่างเดียว มองไปมองมา วัตถุเริ่มไม่มีความหมาย หรือหมดความหมาย เมื่อถึงเวลานั้นเขาจะยับยั้งไม่ได้แล้ว เพราะว่าได้เอาวัตถุมาเป็นจุดหมายโดยตลอด ก็คือเมื่อใดเขาเบื่อหน่ายวัตถุเขาจะเบื่อหน่ายชีวิตด้วย เพราะเขาเอาชีวิตไปเป็นอันเดียวกับวัตถุ เบื่อหน่ายวัตถุก็เบื่อหน่ายชีวิตด้วย ผิดหวังวัตถุก็ผิดหวังชีวิตด้วย วัตถุหมดความหมาย ชีวิตก็หมดความหมายด้วย ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมที่เจริญทางวัตถุมาก แต่ถ้าหากว่าเรามองวัตถุเป็นปัจจัย เป็นเพียงเครื่องเกื้อหนุน เรามีสิ่งที่จะเดินหน้าไปอีกเยอะแยะ เราจะไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย เราจะไม่หมดความหมายชีวิตไปกับเรื่องของวัตถุเท่านั้น ฉะนั้นอันนี้ก็จึงได้กล่าวว่าในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่ว่าเหตุการณ์วิกฤตินี้มาช่วยให้เราได้สติ แล้วเราอาจจะไม่หลงกับวัตถุจนกระทั่งว่ากลายเป็นเลยไปจนกระทั่งกลับตัวไม่ได้ ทีนี้พอเกิดปัญหาจากวัตถุเศรษฐกิจแล้วก็เกิดความทุกข์ พอเกิดความทุกข์คนก็เอาอีก ปฏิบัติต่อเรื่องทุกข์และสุขไม่ถูกอีก เรื่องทุกข์เรื่องสุขนี่ก็ต้องมีวิธีปฏิบัติให้ถูกต้อง ทั้งทุกข์และสุขนั้นถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เกิดโทษทั้งสองอย่าง ทุกข์ก็เป็นโทษสุขก็เป็นโทษ ไม่ใช่ว่าสุขนั้นดี แล้วปฏิบัติถูกต้อง ทุกข์ก็เป็นประโยชน์ สุขก็เป็นประโยชน์ ทำไมว่าทุกข์จึงเป็นประโยชน์ มองในแง่โทษก่อน ทุกข์นี่บีบคั้น ภาษาพระคำว่าทุกข์แปลว่าบีบคั้น ติดขัด คับข้อง ตรงกับคำที่เราใช้ว่าปัญหา มันบีบคั้นทำให้จิตใจเราไม่สบาย มันติดขัด เราจะทำอะไรก็ไม่สะดวก มันก็เกิดความรู้สึกวุ่นวาย สับสน ก็คือพูดง่ายๆ ก็ไม่สบายนั่นแหละ ที่นี้เวลามีทุกข์??? ออกมาถึงความรู้สึกที่มีความบีบคั้นนั้น การแสดงออกแบบนี้ก็กลายเป็นว่า เราได้รับโทษจากความทุกข์ไปเลย ก็คือปฏิบัติไม่ถูก แต่ว่าถ้าปฏิบัติถูกกับทุกข์ ก็คือว่าทุกข์นี่มันบีบ ผลอย่างหนึ่งจากการบียก็คือจะเกิดแรงดิ้น พอเกิดการบีบคั้นนี่ กดดันนี่คนจะดิ้นรน พอดิ้นรนแล้วเกิดพลัง เกิดเรี่ยวแรง แล้วหาทางออก ตอนนี้ความเพียรพยายามเป็นต้นจะมา เรี่ยวแรงกำลังจะมา ฉะนั้นจะมีวงจรอย่างหนึ่งในหมู่มนุษย์ปุถุชนท่านว่าคนเราเมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภายในคุกคามจะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ฉะนั้นทุกข์จะเกิดประโยชน์ตรงนี้ ตรงที่ว่าถ้าเราใช้ให้เป็นก็เกิดแรงดิ้นรนขวนขวายและเอาแรงดิ้นหรือพลังดิ้นนี่มาใช้ประโยชน์ ก็ได้กำลัง แล้วเราก็จะเกิดการพยายามหาทางออกด้วยการคิด การใช้ปัญญาเป็นต้น จะมา คนเจอปัญหาก็จะใช้ปัญญา ใช้ปัญญาแล้ว ในที่สุดจะหาทางออกได้ ก็จะพ้นไป แล้วจะเกิดความเจริญก้าวหน้า ฉะนั้นทุกข์ก็มีประโยชน์ตรงนี้ที่ว่าทำให้เกิดการดิ้นรนขวนขวายและเกิดพลัง แล้วเรามาใช้ประโยชน์ก็เดินหน้าได้ ทีนี้ในทางตรงข้าม สุข ก็มีทั้งโทษและทั้งประโยชน์ สุขมีโทษคือปฏิบัติไม่ถูกกับมัน เมื่อปฏิบัติไม่ถูกก็คือว่าคนเรามีอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ ทุกข์คู่กับสุข พอทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามจะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย คนเราพอดิ้นรนขวนขวายไป พอพ้นทุกข์ สบายก็จะหยุด พอสบายปั๊บ มีความโน้มเอียงทันทีไม่ต้องดิ้นแล้ว ก็หยุด นอกจากหยุดแล้วก็เสวยผล ลงนอน เสวยความสุข สบาย ฉะนั้นก็จะหยุด หนึ่ง-แล้วไม่ก้าวหน้าต่อไป สอง-จะเพลิดเพลินมัวเมา จากความนิ่งเฉยเฉื่อยชา ก็จะทำให้เกิดความประมาท พอประมาทก็เสื่อมทันที เพราะฉะนั้นความสุขจึงมาคู่กับความเสื่อมได้ทันทีเมื่อประมาท ฉะนั้นวงจรของมนุษย์จึงบอกว่าเมื่อทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย เมื่อสุขสบายก็นอนเสวยสุข ความสุขจึงตามมาด้วยความเสื่อม จนกระทั่งเมื่อไหร่ทุกข์มากบีบคั้นก็ลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายใหม่ แล้วพอสุขสบายก็หยุดนอนต่ออีกตามเดิม เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนาจึงถือว่าวงจรปุถุชนนี่จะวนอยู่กับความเสื่อมความเจริญอย่างนี้ กับความทุกข์และความสุข เมื่อใดพัฒนามนุษย์ได้ ให้ไม่ขึ้นต่อทุกข์และสุข ให้เขามีความไม่ประมาทด้วยปัญญา คือรู้ว่าต้องดำเนินชีวิตให้ถูกต้องด้วยปัญญาว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ อะไรจะเป็นเหตุของความเสื่อมให้หลีกทันที ทั้งๆ ที่ตัวเองยังไม่มีอะไรดีดดิ้น ไม่มีอะไรบีบคั้นก็เห็นด้วยปัญญาว่าอันนี้ที่จะนำมาซึ่งความเสื่อม ป้องกันทันที อะไรที่จะนำมาซึ่งความเจริญ แม้ยังไม่มีเหตุให้ต้องทำ แต่ปัญญามองเห็นก็ทำทันที อย่างนี้เรียกว่าอยู่ด้วยปัญญา เป็นความไม่ประมาทที่แท้ ถ้าอย่างนี้มนุษย์จะเจริญได้โดยไม่ต้องทุกข์ ทางพุทธศาสนาถือว่าอย่างนั้นเลย ว่าถ้ามนุษย์ไม่ประมาท จะเจริญโดยไม่ต้องเสื่อม ซึ่งไม่ขัดกับหลักอนิจจัง บางท่านก็เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไรนะ บอกว่าอนิจจังไม่เที่ยง เจริญแล้วมันก็ต้องเสื่อม เสื่อมแล้วก็เจริญ ไม่ใช่ คนละเรื่อง คำว่าเสื่อม กับคำว่าเจริญนี้ เป็นคำที่แสดงความเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัว คำว่าเสื่อมไม่ต้องเปลี่ยนเป็นอื่น คำว่าเสื่อมมันเป็นคำไม่ใช้คำนิ่ง คำว่าเสื่อมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัว คำว่าเจริญก็เปลี่ยนแปลงอยู่ในตัว ฉะนั้นคำว่าเสื่อมหรือเจริญนี่เป็นความเปลี่ยนแปลงอยู่แล้วอยู่ในตัว โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนคำอื่นมาต่อ ไหนเสื่อมแล้วเสื่อมต่อไปก็คือเปลี่ยนแปลง เป็นอนิจจังอยู่แล้ว เจริญแล้วเจริญต่อไป ก็เป็นอนิจจัง ก็คือเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทีนี้จะเจริญหรือเสื่อม เปลี่ยนแปลงแบบไหนอยู่ที่เหตุปัจจัยที่ทำ ฉะนั้นถ้าไม่ประมาท ป้องกันเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม สร้างเหตุปัจจัยแห่งความเจริญ ทางพุทธศาสนาบอกเจริญโดยไม่ต้องเสื่อม ทางนี้มีหลักธรรมหลายหมวดที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ท่านเรียกว่า อปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ซึ่งมีข้อความบอกว่าถ้าทำอย่างนี้แล้ว หวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อมเลย ฉะนั้นหลักพุทธศาสนาจึงสอนให้มนุษย์ไม่ประมาท ด้วยการใช้สติปัญญาอยาเสมอ และปฏิบัติต่อความทกข์และความสุขได้ถูกต้อง ทีนี้เราก็เป็นอันว่าไม่ต้องตกในวงจรที่ว่าพอทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย เจริญก้าวหน้ามา แล้วพอสุขสบายก็ลงนอน แล้วก็เสื่อม ทีนี้ความสุขที่ปฏิบัติผิดก็คือว่าไปนอนเสวยสุข สบานแล้วหยุด ทีนี้ความสุขที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้า ปฏิบัติกับสุขอย่างถูกต้อง การปฏิบัติกับสุขอย่างถูกต้อง ก็ดูความหมายของคำว่าสุข คำว่าสุขแปลว่าคล่อง แปลว่าสะดวก แปลว่าง่าย คำว่าคล่อง หรือสะดวก หรือว่าง่าย มันสัมพันธ์กับการกระทำ คือว่าง่ายหมายถึงความง่าย สะดวกก็เคลื่อนไหวได้สะดวก คล่องก็เหมือนกัน เป็นคำที่สัมพันธ์กับการกระทำ ก็หมายความว่าในภาวะที่เป็นสุขนั้นเราจะทำอะไรก็ทำได้ง่าย มันคล่อง มันสะดวก ถ้าภาวะทุกข์นี้มันติดขัด จะทำอะไรก็ติดขัด ติดโน่นติดนี่ ทำได้ยาก ฉะนั้นก็เรียกว่าทุกข์ก็ทำได้ยาก แต่พอสุขแล้วมันทำได้ง่าย ทำแล้วเราพรั่งพร้อม มีวัตถุมีอะไรเรียบร้อย จะทำยังไงก็ทำได้ ฉะนั้นสุข ถ้าคนปฏิบัติถูกต้องจึงมีแต่ความเจริญยิ่งขึ้น แต่ว่าอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ปุถุชนมักจะสุขสบาย ก็เลยหยุด ทีนี้ถ้าใช้สุขให้เป็นก็คือว่าสุขนี้เป็นโอกาสเป็นสภาพเอื้อ พอมันเอื้อแล้ว เราจะทำอะไรก็รีบทำซะตอนนั้น วัตถุเราก็มี เศรษฐกิจก็ดี อะไรต่ออะไรก็คล่องสบาย ก็ทำซะตอนนั้น ถ้าใช้สุขให้เป็นประโยชน์ก็เลยเจริญกันใหญ่ ใช้สุขเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์ ฉะนั้นตกลงว่าปัญหาของมนุษย์นี้อยู่ที่เรื่องของ หนึ่ง-ก็อย่างที่อาตมาภาพกล่าวมา ดำเนินชีวิตไม่สมดุล ฝากชีวิตฝากความสุขไว้กับวัตถุทางเดียวมากเกินไป ไม่มีด้านนามธรรม ด้านจิตใจเลย ประการที่สองก็คือ มองวัตถุเป็นจุดหมาย แทนที่จะมองเป็นปัจจัย เป็นตัวเกื้อหนุนที่จะทำสิ่งที่ดีงาม สูงยิ่งขึ้นไป ชีวิตและสังคมก็เลยมาจบแค่วัตถุ ประการที่สามก็คือปฏิบัติต่อทุกข์และสุขไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราแก้ไขปัญหานี้ คิดว่าจะช่วยเหลือสังคมได้มาก โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อวัตถุได้ถูกต้อง เพราะว่าสถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์วิกฤติทางวัตถุ ในด้านเศรษฐกิจ ฉะนั้นจะต้องมาวางท่าทีต่อวัตถุกันให้ถูกต้อง แล้วสังคมก็จะเจริญก้าวหน้าได้ต่อไป แล้วข้อสำคัญก็คือว่าจะต้องดำเนินชีวิตกันด้วยความไม่ประมาท เพราะจุดนี้เป็นจุดที่สำคัญอย่างยิ่ง สังคมพอพรั่งพร้อม คนก็เริ่มจะฟุ้งเฟ้อ ลุ่มหลง มัวเมา นั่นก็คือความประมาท พอความประมาทมา ความเสื่อมก็ตามมาด้วย ความประมาทก็คือการที่สามารถปฏิบัติตามที่ปัญญาบอกได้อย่างแท้จริง ปัญญาบอกแล้วว่า อันนี้จะทำให้เสื่อมนะ ทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้แต่ทำไม่ได้ เพราะว่ามันเห็นแก่ความสุข หรือมันไม่ยอมแก้ความยาก ทีนี้สิ่งที่จะต้องทำ มันจะสร้างความเจริญได้ ก็ไม่ยอมทำ รอไว้ ผัดไว้พรุ่งนี้ก็ได้มะรืนนี้ก็ได้ นี่คือความประมาท ฉะนั้นความประมาทมากับปัญญาก็ต้องให้ครบทั้งสองอย่าง ปัญญาด้วย แล้วก็ไม่ประมาทด้วย ก็จะเจริญก้าวหน้ากันต่อไป ตอนนี้สังคมได้มาถึงจุดที่เกิดวิกฤตการณ์อันนี้ก็เท่ากับเป็นบทเรียน บทเรียนที่มีค่าที่เราจะได้ใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุปัจจัยว่าที่ผ่านมานี้เราพลาดอะไร อย่างน้อยอาจจะพลาดที่ปฏิบัติต่อความสุขและความพรั่งพร้อมผิดไป แล้วเมื่อได้บทเรียนแล้ว ตอนนี้อย่างน้อยเฉพาะหน้าก็คือได้บททดสอบ บททดสอบว่าเราจะมีความเข้มแข็งพอที่จะผ่านพ้นสถานการณ์นี้ได้ไหม มีกำลังใจพอหรือเปล่า ถ้าเราได้ความเข้มแข็ง ทดสอบตัวเองได้ เราผ่านได้ เราก็น่าภูมิใจ อันนี้หนึ่ง-ได้ทดสอบ สอง-ได้บทเรียน สาม-ได้เวทีฝึกตน ได้ฝึกตน ได้พัฒนาตน จากปัญหาและความทุกข์ เมื่อมีปัญหาจะทำให้คนได้ใช้ปัญญา ถ้าคนไม่ยอมแพ้กับปัญหา ใช้ปัญญาคิดพิจารณาปัญญา เกิดขึ้นแล้วก็จะแก้ปัญหาได้ เมื่อปัญญามาปัญหาก็หมด ถ้าหากว่าปัญหาอยู่ก็คือปัญญาไม่มา เพราะฉะนั้นเราก็เอาปัญหาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา แล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้นต่อไป แต่อย่างน้อยตอนนี้ก็คือคิดว่าเพื่อการทดสอบในสถานการณ์นี้ให้ได้ประโยชน์ ก็อาจจะเอาพุทธภาษิตง่ายๆ มาตรวจสอบตัวเอง พุทธภาษิตง่ายๆ บทหนึ่งบอกว่า ท่านแบ่ง คล้ายๆ ว่าวัด เอาเป็นเกณฑ์วัดคนที่เราเรียกว่าเป็นชาวบ้านหรือผู้ครองเรือน จัดเป็นเกรดก็คือเป็นเกรด D เกรด C เกรด B เกรด A ให้คะแนน 4 3 2 1 เหมือนปัจจุบันนี้ แล้วมี 4 ข้อ ให้คะแนนข้อละ 1 ท่านก็บอกว่าคนครองเรือนขยันคือข้อหนึ่ง นี่ได้หนึ่งแล้วนะ ขยัน หมายความว่า ขยันจัด ขยันทำ หมั่นสร้างสรรค์ มีการผลิตเป็นต้น ไม่ใช่ขยันในการบริโภค ถ้าขยันบริโภคนี่ไม่ใช่ขยันแท้ ต้องขยันผลิต สอง-มีทรัพย์แล้วแบ่งปันดี ข้อ
สอง เอามาแบ่งปัน เฉลี่ยรายได้กัน ใช้ทั่วถึง ให้สังคมนี้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข แล้วก็สาม-ยามรุ่งเรืองไม่เหลิงลอย นี่ข้อสาม รุ่งเรื่องไม่เหลิงลอย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ประมาทมัวเมา อย่างที่ว่าใช้วัตถุนี่เป็นปัจจัยสร้างสรรค์ต่อ ไม่ใช่มัวแต่เสพบริโภคจนหมด แล้วก็สี่-คราวเสื่อมถอยไม่หมดกำลังใจ มีครบสี่ ท่านว่าอย่างนั้นนะ ตอนนี้สังคมไทยน่าจะมาถึงขั้นที่สี่ คราวเสื่อมถอยต้องไม่หมดกำลังใจ ถ้าได้ข้อนี้ล่ะครบเลย ทีนี้ก็มาสำรวจตัวเองว่า ขยันเรามีหรือเปล่า ที่เราเจริญรุ่งเรืองมานี่ มาด้วยความขยันหมั่นเพียรในการสร้างสรรค์ ในการผลิตหรือเปล่า ถ้าเราไม่ได้อันนี้แสดงว่าเราพลาดไปแล้ว ขั้นที่หนึ่ง เราอาจจะรวยเพราะกระแสโลก รวยไปพลอยพรั่งพร้อม เศรษฐกิจดีโดยที่ไม่ใช่เศรษฐกิจที่เกิดจากการสร้างสรรค์ก็ได้ อาจจะเป็นเศรษฐกิจตามกระแสอย่างที่ว่า สอง-ก็คือว่ามีทรัพย์แล้วแบ่งปันก็คือในสังคมเมื่อมั่งมีขึ้นมาแล้ว รู้จักเผื่อแผ่เจือจาน ในระดับบุคคลก็ตาม ในระดับสังคมก็ตามเนี่ย อย่างแบ่งปันรายได้ เฉลี่ยรายได้ สังของเราก็ยังไม่พรั่งพร้อม ไม่เพียงพอ สอง สามก็คือว่ายามรุ่งเรืองไม่เหลิงลอย อันนี้เราก็น่าจะพลาดไปแล้ว ฟุ้งเฟ้อ มัวเมา จนนำมาสู่ความประมาท เสื่อม แล้วก็สี่ ตอนนี้ถึงสุดท้ายมาถึงตานี้ปัจจุบัน ถ้าไม่ได้สามข้อต้น ข้อที่สี่ต้องให้ได้ อย่าให้เสียอีก ถ้าเสียก็ศูนย์สิทีนี้ ใช่ไหม เจริญพร สามแย่มาแล้ว พอมาถึงสี่แล้ว คราวเสื่อมถอยไม่หมดกำลังใจ ถ้าหมดกำลังใจอีก คราวนี้ศูนย์แน่ ฉะนั้นตอนนี้ อย่างน้อยก็เอาให้ได้ข้อถึงคราวเสื่อมถอยไม่หมดกำลังใจ ไม่หมดกำลังใจก็ยังได้ 1 ต่อไปนี้ก็ย้อนกลับไปแล้ว ต้องขยันแล้ว ใช่ไหม เจริญพร ขยัน สร้างสรรค์ จัดทำ ผลิต เป็นนักผลิต ไม่เป็นนักบริโภคอย่างเดียว สังคมของเราก็จะฟื้นฟูได้ต่อไป เพราะฉะนั้นวันนี้อาตมาภาพก็เลยถือโอกาสเอาพุทธภาษิตนี้มา ว่าอย่างน้อยเป็นเครื่องตรวจสอบคนไทยของเรา สังคมไทยของเราว่าคนครองเรือนขยัน-ดีข้อหนึ่ง มีทรัพย์แล้วแบ่งปัน-ดีข้อสอง ยามรุ่งเรืองไม่เหลิงลอย-ดีข้อสาม คราวเสื่อมถอยไม่หมดกำลังใจ-ดีข้อสี่ แล้วก็พยายามพัฒนากันขึ้นมาให้ครบทั้งสี่ข้อ ก็ขออนุโมทนาท่านประธานพร้อมด้วยคณะกรรมการ ปรส. ทุกท่าน ที่ได้มีจิตศรัทธา มีน้ำใจเป็นบุญกุศล ได้มาทำบุญในวันนี้ก็เป็นเครื่องแสดงอยู่แล้วว่าท่านไม่ได้ฝากชีวิตไว้กับวัตถุอย่างเดียว ท่านมีจิตใจอยู่กับเรื่องนามธรรม เรื่องบุญกุศลด้วย ซึ่งอันนี้ท่านใดที่มีชีวิตที่ฝากไว้ไม่อยู่กับวัตถุอย่างเดียว มีด้านนามธรรมนี้อยู่ด้วยเนี่ย ในสถานการณ์นี้จะได้เปรียบ จะมีจิตใจที่ไม่อ้างว้าง แล้วก็ไม่ถูกบีบคั้นจนเกินไป แล้วก็มีเป็นที่หวังว่าเราจะสามารถฟื้นตัวได้ อย่างน้อยหลักในทางจิตใจที่มีอยู่เนี่ย จะเป็นฐานให้เรา ก้าวกลับไปสู่การสร้างสรรค์ได้ใหม่ เดินหน้าได้ใหม่ได้ อาตมาภาพก็ขออนุโมทนา ท่านคณะกรรมการทุกท่าน ที่ได้มาถวายสังฆทานวันนี้ การที่ท่านมีจิตใจประกอบด้วยคุณธรรมมีศรัทธาและเมตตาเป็นต้น การที่ท่านได้มาทำบุญแล้ว เป็นการเกื้อหนุน ต่อพระสงฆ์ ถวายกำลังแก่พระสงฆ์ในการปฏิบัติศาสนกิจ เป็นการช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนา เพื่อให้ธรรมะดำเนินอยู่ในโลกต่อไป แล้วก็ช่วนกันขยาย เผนแผ่ธรรมะนี้ออกไปสู่สังคมเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ก็ขอให้ความปรารถนาดีที่เกิดจากคุณธรรมในจิตใจของท่านนี้ จงอำนวยผลเป็นความปลื้มปิติ มีความเอิบอิ่มใจ ความรู้สึกสงบ ความร่มเย็น ความเบิกบานใจในส่วนตัวเองและก็ได้ขยายออกไปเป็นความร่มเย็นเป็นสุขของสังคมสืบต่อไป ระตะนัตตะยานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะเตชะสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้ว มีศรัทฑาและเมตตา เป็นต้น จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้ท่านประธานพร้อมทั้งท่านคณะกรรมการ ปรส. ทุกท่าน พร้อมทั้งญาติมิตร ครอบครัว ตลอดจนชาวไทยทั้งปวง จงเจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุข แผ่ออกไปจนกระทั้งตลอดทั่วทั้งโลก แล้วจงเจริญงอกงาม ประสบความก้าวหน้าและความสำเร็จ โดยเฉพาะในยามนี้จะถึงปีใหม่ 2541 กำลังจะมาถึงแล้ว ก็ขอให้บุญกุศลที่บำเพ็ญนี้เป็นพรปีใหม่ไปด้วย จงนำมาซึ่งความก้าวหน้า ความงอกงาม ความสำเร็จในกิจการที่ดำเนิน และในการดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมายอันดีงาม แล้วมีความร่มเย็นเป็นสุขในทางขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดการทุกเมื่อเทอญ