แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[00:00] นำเรื่อง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขออนุโมทนาคุณแก้วตาและคุณทอมมี่ ที่ได้มาทำบุญร่วมกัน พร้อมด้วยคุณแม่แล้วก็ญาติมิตรทั้งหลาย ทั้งสองฝ่าย ก็เป็นโอกาสมงคลอันสำคัญ การที่โยมญาติมิตร โดยเฉพาะก็คือคุณแม่ทั้งสองฝ่ายหรือเปล่า อ้อ ฝ่ายเดียว แล้วก็ญาติมิตรเพื่อนๆ มาวันนี้ก็ด้วยความปรารถนาดี มีความรักความเมตตาต่อคุณแก้วตาและคุณทอมมี่ การที่เราได้มาทำบุญเป็นโอกาสแสดงความรักความปรารถนาดี อย่างนี้แหละที่เป็นมงคล
[01:00] มงคลที่แท้นั้นทางพระท่านว่าเกิดจากกุศล
คนไทยที่ก็ปรารถนาความเป็นมงคล แต่ว่ามงคลที่แท้นั้นทางพระท่านว่าเกิดจากกุศล ถ้ากุศลมาเมื่อไหร่ มงคลก็เกิดเมื่อนั้น [01:17] กุศลคืออะไร กุศลก็คือความดีงาม ความดีที่เราทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ แล้ววันนี้ทางใจก็แน่นอน เรามีจิตใจดีงาม เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็มีความสดชื่นเบิกบาน ผ่องใส มีความตั้งใจดี และใจนั้นก็ได้รับความอบอุ่น ความซาบซึ้งในความรักความปรารถนาดี ของคุณแม่และก็ญาติมิตรทั้งหลาย ฝ่ายคุณแม่ญาติมิตรทั้งหลายก็มีใจประกอบด้วยคุณธรรม ก็มีความเมตตา ความรัก นั่นแหละเป็นใหญ่ แล้วก็มีความศรัทธาในพระศาสนา ความตั้งใจที่จะทำบุญทำกุศลทั้งหมดนี่เป็นจิตใจดีงาม เพราะใจเรามีความเอิบอิ่มสดชื่นเบิกบาน ผ่องใส มีความสุข ใจนี่เป็นมงคลแล้ว ทีนี้พอใจดี คิดดี ตั้งใจดีแล้ว ก็ออกมาทางวาจา ก็พูดดีต่อกัน พูดด้วยน้ำใจรัก ท่านเรียกว่าปิยวาจา มีวาจาเป็นที่รัก พูดกันไพเราะ ให้พรกัน โดยเฉพาะก็คือให้พรแก่คู่บ่าวสาว แล้วทางกายก็มาทำอะไรต่างๆ ก็เลี้ยงพระ เป็นต้น เตรียมกิจกรรมต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นการทำความดี ครบทั้งกาย วาจา ใจ สามอย่างนี้เราเรียกว่าเป็นมงคล เป็นมงคลอันนี้ก็เป็นมงคลที่เกี่ยวกับพิธี
[03:05] พิธีนั้นก็สำคัญ แต่สาระที่แท้จริง ก็คือเนื้อหาสาระที่เป็นความหมาย เป็นคุณค่าทางจิตใจ
แต่ว่าพิธีนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ เราอาจจะมองไปในแง่รูปแบบ เป็นเรื่องวัฒนธรรมประเพณี การแสดงออก แต่เบื้องหลังก็คือเป็นโอกาส พิธีนี้เป็นโอกาสให้เราได้มาพร้อมเพรียงกัน แล้วแสดงน้ำใจ ถ้าเราไม่มีพิธีเราก็พร้อมกันยาก โอกาสที่จะแสดงน้ำใจต่อกันก็ไม่มี เราก็เลยทำพิธีขึ้นมา พิธีนี้ถ้าเราเอาสาระที่แท้จริงตรงนี้ ก็คือเนื้อหาสาระที่เป็นความหมาย เป็นคุณค่าทางจิตใจ แล้วความดีงามความงดงามทางวัฒนธรรม เป็นต้น แล้วที่สำคัญคือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่อยู่ในความทรงจำ เมื่อทำได้อย่างนี้แล้ว จิตใจก็ดี ต่อไปเราระลึกถึงเหตุการณ์นี้เราก็มีความสุข พอเราระลึกถึงเหตุการณ์นี้เราก็ระลึกถึงบุญคุณแม่ ญาติมิตรทั้งหลาย ระลึกถึงน้ำใจของท่าน ทำให้ใจของเรามีความสุขทุกทีไป นอกจากระลึกถึงด้วยความสุขแล้วก็เป็นเครื่องเตือนใจเราด้วย จะเตือนใจเรา คุณแม่รักเรามากนะ ญาติมิตรทั้งหลาย ผู้ใหญ่รักเรา เพื่อนรักเราจึงมาแสดงความรักความปรารถนาดี ตั้งใจมาร่วมทำบุญด้วยกัน มาอวยชัยให้พร เพราะเราต้องตั้งใจนะทำความดีงามต่างๆ ให้ชีวิตของเรามีความสุข คุณแม่ที่รักลูกก็คืออยากให้ลูกมีความสุข อยากให้มีความเจริญงอกงาม มีชีวิตที่ดี ถ้าคุณแม่และคนที่รักเราเห็นเรามีความสุข ทำความดี มีชีวิตเจริญงอกงาม ท่านก็มีความสุขด้วย ในทำนองเดียวกัน เราก็รักท่าน เราก็อยากให้ท่านมีความสุข เราอยากเห็นท่านมีความสุข ก็ทำให้ท่านมีความสุขด้วยการที่เราเองมีชีวิตที่ดีงามและมีความสุข ฉะนั้นเวลาระลึกถึงเหตุการณ์นี้ก็เตือนใจเรา เราก็ตั้งใจทำความดี ทำชีวิตของเราทั้งสองคนให้เจริญงอกงามมีความสุข เราเองก็มีความสุขด้วย คุณพ่อคุณแม่ญาติมิตรก็มีความสุขด้วย เป็นความสุขร่วมกัน
[05:30] พิธีมงคลแม้จะสำคัญแต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ ธรรมมงคลเป็นของยั่งยืน เราควรทำให้สมบูรณ์ทั้งสองอย่าง
ฉะนั้นเหตุการณ์นี้จึงสำคัญ พิธีนี้ก็จะเป็นมงคลด้วยเหตุที่ว่านี้ อันนี้ทำได้แล้วเป็นมงคลอย่างแท้จริง มงคลอันนี้เนื่องในเหตุการณ์ เหตุการณ์นี้ผ่านไป แต่ความระลึกความทรงจำยังอยู่ยั่งยืนนาน แต่ก็เป็นมงคลด้านหนึ่ง แม้จะสำคัญก็ยังไม่สมบูรณ์ เราควรจะทำให้สมบูรณ์ทั้ง 2 อย่าง ท่านถือว่ามงคลนั้นมี 2 อย่าง อย่างที่เราทำอยู่ตอนนี้คือพิธีมงคล ทีนี้มงคลอีกอย่างนั้นเป็นของยั่งยืนนาน เรียกว่าธรรมมงคล [06:15] ธรรมมงคลนั้นมงคลเกิดจากธรรมะ เกิดจากการทำความดี เกิดจากการประพฤติปฏิบัติถูกต้อง เกิดจากการทำหน้าที่ ทีนี้ชีวิตครอบครัวนั้นก็แน่นอนมีธรรมะสำหรับชีวิตคู่ครอง ซึ่งมีมากมาย โดยเฉพาะเรื่องหน้าที่ต่อกัน หน้าที่ของคนในชีวิตครอบครัวนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าเราทำถูกต้องก็แน่นอนทำให้เจริญงอกงาม ชีวิตก็มีความสุข ดังนั้นท่านจึงเรียกว่าเป็นธรรมมงคล เป็นมงคลที่เกิดจากธรรมะ เรียกว่าธรรมะหรือการกระทำที่ถูกต้อง นั่นเอง นำมาซึ่งความสุขความเจริญ ทีนี้ธรรมมงคล หรือมงคลเกิดจากธรรม [07:09] หลักคำสอนเกี่ยวกับเรื่องหน้าที่การปฏิบัติต่อกันในชีวิตครอบครัวมีมาก พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ เริ่มตั้งแต่หน้าที่ต่อกันระหว่างสามีภรรยา ตามหลักทิศ 6 ฝ่ายละ 5 แล้วก็มีธรรมะอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องลึกเข้าไปในจิตใจ คือว่าไปแล้วมันก็มีเรื่องหน้าที่ปฏิบัติต่อกันที่ภายนอก แล้วก็สิ่งที่สำคัญคือมาจากฐานภายในจิตใจ ที่เราจะประพฤติปฏิบัติแสดงออกมาจากภายนอกได้ดี มีความมั่นคง จริงใจ ก็เกิดจากคุณธรรมในใจ ทีนี้คุณธรรมในใจก็มีอีกเยอะ นอกจากพฤติกรรม มันก็ออกไปจิตใจ แล้วก็เรื่องความรู้ความเข้าใจ เรื่องปัญญา ถ้าพร้อม 3 ด้านเมื่อไหร่ก็เรียกว่าครบ คือต้อง หนึ่งพฤติกรรมสดงออกต้องมาจากฐานในจิตใจที่มีความรัก มีคุณธรรม มีความจริงใจแล้วก็สาม-ปัญญา ความรู้ความเข้าใจ
[08:15] ฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับการครองเรือนก็เป็นธรรมมงคล เป็นมงคลที่แท้จริงและยั่งยืน
วันนี้ก็เลยอยากจะยกธรรมะที่พูดกันบ่อยๆ มาย้ำสำหรับชีวิตคู่ครอง เรียกว่าหลักการครองเรือน แล้วเราก็รู้จักกันมาก คุณแก้วตาก็อาจจะฟังแล้ว หรือจำได้แล้วด้วยซ้ำ ทีนี้วันนี้ก็เอามาทวน ธรรมะหลักนี้เรียกว่า ฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับฆราวาส หรือธรรมะสำหรับการครองเรือน ซึ่งมีหัวข้อง่ายๆ 4 ข้อ ข้อที่หนึ่ง-สัจจะ ก็คือความจริง ภาษาไทยก็ใช้ตามภาษาบาลีไปแล้ว สัจจะ ความจริงเนี่ย ก็มีจริงง่ายๆ คือจริงใจ เริ่มต้น [09:05] คนเรานี่จะมีความสัมพันธ์อยู่กัน ไม่ว่าจะคนใกล้ชิดหรือห่างไกล หลักข้อแรกคือความจริงใจ ถ้าขาดความจริงใจซะอย่างเดียวแล้ว ท่านบอกว่าฐานเสียเลย คลอนแคลนหมดเลย อะไรทุกอย่างไปหมด พอมีความจริงใจอันนี้แล้ว เกิดฐานที่มั่นคงขึ้นมาทันที จริงใจ ความซื่อสัตย์ต่อกัน ความรักที่แท้ รักก็รักด้วยใจจริง ไม่มีความหลอกลวง เป็นต้น พอมีความจริงใจ ต่อจากนั้นก็จริงวาจา พูดจริง ไม่โกหก ไม่หลอกลวงกัน ต่อจากนั้นก็จริงการกระทำ เช่นว่าสัญญากันไว้พูดไว้อย่างไรก็ทำตามที่พูด สามอย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นสัจจะในสัมพันธ์ต่อกันที่นับว่าพอสมควร เพราะฉะนั้นในพื้นฐานก็ให้มีสัจจะสามอย่างหรือสามด้านนี้ จริงใจ จริงวาจา และจริงการกระทำ แต่นอกจากจริงใจและจริงอะไรต่อกันแล้ว มันยังมีสัจจะจริงจังต่อการงาน เป็นต้น อันนั้นก็กว้างออกไปอีก เรื่องการอยู่ครองเรือนนี้มันมีความหมายถึงการที่จะทำหน้าที่การงาน ความฝันเรื่องอุดมคติ เป้าหมายต่างๆ สัจจะ ความจริงจัง มุ่งมั่นไปสู่จุดหมายที่เป็นความดีงาม เป็นอุดมคติ แต่อันนี้เป็นสัจจะเหล่านี้ทั้งนั้น ซึ่งจะนำความสำเร็จ เป็นฐานที่มั่นคง ฉะนั้นข้อนี้ท่านก็ยกขึ้นมาเป็นข้อที่หนึ่ง-สัจจะ ต่อไปข้อที่สอง-เรียกเป็นภาษาบาลีก่อนว่า ทมะ แปลตามตัวว่าการฝึก คนเรานี่ท่านถือว่าเป็นสัตว์พิเศษ ก็คือว่า ฝึกได้ แล้วก็ต้องฝึก ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่นที่ว่า ฝึกไม่ค่อยได้ เรียนรู้ได้น้อย ศึกษาไม่ค่อยได้ จำกัด ศึกษาได้นิดหน่อย แล้วก็ใช้สัญชาติญาณ แต่มนุษย์นี่เราฝึกได้ ศึกษาได้ เรียนรู้ได้ พัฒนาได้ พอฝึกได้ เราก็เลยฝึกยังไงก็ได้อย่างนั้น จนกระทั่งมีชีวิตที่ท่านเรียกว่าเป็นผู้ประเสริฐ ทางพุทธศาสนาจึงให้หลักเราไว้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก แต่เรามักจะตัดท่อนหลังออก ตัดเหลือมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งทางพุทธศาสนา ธรรมะท่านไม่ได้ยอมรับ ถ้าพูดภาษาธรรมะต้องพูดให้เต็มว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก เมื่อฝึกแล้วประเสริฐ ถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไม่ ว่างั้นนะ ทีนี้คนไทยเรามาเอาแค่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ อย่างนี้แย่ ก็เลยนึกว่าเราประเสริฐแล้วก็เลยไม่ฝึก อย่างนี้ก็เลยไม่ต้องประเสริฐ ในเมื่อมนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก เราต้องฝึก คนเราต้องฝึกเรื่อย เราต้องมีประสบการณ์ใหม่ เราต้องมีสถานการณ์ใหม่ เราจะทำชีวิตของเราให้อยู่ด้วยดี อยู่รอด ดำเนินไปด้วยความสำเร็จความเจริญก้าวหน้านี่ ต้องฝึกเรื่อย เจอสถานการณ์ใหม่ก็ต้องนึกต้องคิดนะ จะทำยังไงดี ต้องเรียนรู้ หาทางที่จะทำต่อสถานการณ์นั้นให้ดี อย่างนี้เรียกว่าฝึกเรื่อย ทีนี้ถ้าใครไม่ฝึกจะมีชีวิตที่ดีได้ยังไง พอไม่ฝึกเลย ท่านเรียกว่า [12:50] คนพาล คือคนที่ไม่รู้จักฝึกตน แปลตามศัพท์ แปลว่าคนที่อยู่สักแต่ว่าลมหายใจ เรียกว่าคนพาล ทีนี้คนที่จะอยู่ดีก็ต้องฝึกต้องเรียนรู้ตลอดเวลา พอเราฝึกทีนี้เริ่มต้น [13:04] พอเราเจอสถานการณ์ใหม่ อย่างคนที่มาอยู่ร่วมกัน คู่ครอง ก็คือมาเจอสถานการณ์ใหม่ เริ่มชีวิตแบบใหม่ เราก็ต้องมีการฝึก การฝึกขั้นต้นที่สุด คือปรับตัว การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ ปรับตัวเข้ากับคู่ครอง แม้แต่คู่ครองก็ต้องปรับตัว เพราะว่าทุกคนมีความแตกต่าง ความแตกต่างนั้นพร้อมที่จะเป็นความขัดแย้ง พอเห็นอะไรแตกต่างไป อาจจะขัดหูขัดตา แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาได้ แต่ถ้าคนที่ฝึกตนเอง ไม่เป็นไร เราจะเรียนรู้ เราจะฝึก เราจะหัดเพื่ออยู่ร่วมกันได้ดี ก็ต้องปรับตัวปรับใจเข้าหากัน แล้วเอาส่วนแตกต่างมาเป็นส่วนเติมเต็ม แทนที่จะเอาความแตกต่างมาเป็นความขัดแย้ง ก็เอามาเป็นส่วนเติมเต็มทำให้สมบูรณ์ เพราะว่าคนเราแต่ละคนไม่มีใครสมบูรณ์เลย พอมาได้อยู่ด้วยกันสองคน ได้เพิ่มส่วนพิเศษทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำให้เรามีความพร้อมที่จะทำอะไรต่ออะไรได้ดียิ่งขึ้น รู้จักหาประโยชน์จากความแตกต่าง ทีนี้เริ่มต้นก็ปรับตัวปรับใจ ปรับตัวเข้ากับคู่ครอง ปรับตัวเข้ากับญาติพี่น้อง คุณพ่อคุณแม่ของทั้งสองฝ่าย ปรับตัวเข้ากับบ้านที่อยู่ที่อาศัย อะไรต่างๆ นี้ มันจะมีอะไรใหม่อยู่เรื่อย [14:34] คนไหนปรับตัวได้เก่ง ท่านบอกว่านั่นคือเครื่องพิสูจน์ขั้นแรก ความสำเร็จในชีวิต ฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าถ้าเรามองอย่างนี้แล้ว เราจะไม่ท้อ แล้วเราจะรู้สึกว่าไม่เป็นไร จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ได้ปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ เราได้เรียนรู้ และได้ทำชีวิตให้ดีงามมากขึ้น เราก็เลยเรียนรู้ ปรับตัว พอปรับตัวได้ดี เข้ากับสถานการณ์ใหม่ แม้แต่กิจการงานใหม่ สถานที่ใหม่ๆ คนใหม่ๆ ได้ดีแล้วนะ เราก็มีความสุข มีความอิ่มใจในการที่เราทำได้ แล้วต่อจากนั้น พอปรับตัวแล้วก็ปรับปรุง ปรับปรุงตัวเอง ปรับปรุงชีวิต ปรับปรุงการงาน อะไรของเราให้ดียิ่งขึ้น การปรับปรุงก็อยู่กับปรับตัว ทั้งหมดนี้อยู่ในข้อที่เรียกว่า ทมะ การฝึก ฉะนั้นการฝึกนี่สำคัญ ก็มีปรับตัวแล้วก็ปรับปรุงตน ก็เรียกง่ายๆว่าพัฒนาตัวให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยไป ทีนี้ชีวิตของคู่ครองนี่ก็เรียกว่าได้ส่วนแตกต่างที่มาเติมเต็มทำให้สมบูรณ์แล้ว เราก็ได้องค์ประกอบที่จะมาสร้างความเจริญให้มากขึ้น ก็เท่ากับว่าเรามีกำลังมากขึ้นแล้วที่จะทำการทำงาน ในแง่หนึ่งก็น่าดีใจว่าได้กำลังเพิ่มขึ้น คนแต่งงานก็ถือว่าได้กำไร มีพ่อแม่เพิ่มขึ้น มีญาติมิตรเพิ่มขึ้น มีอะไรต่ออะไรเพิ่มขึ้น ก็เอาสิ่งที่เพิ่มขึ้นนี้ใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นเครื่องทำให้เกิดความเจริญงอกงาม ฉะนั้นข้อที่สอง-ทมะก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เราจะต้องมาเป็นเครื่องสร้างความเจริญงอกงามอันดับแรกเลย ตอนแรกเราสร้างฐานเรื่องสัจจะไว้แล้ว บนฐานนั้นเราสร้างความเจริญด้วยทมะกัน ตั้งแต่ปรับตัวเนี่ย ก็จะพัฒนาไปด้วยดี นี่ข้อที่สองแล้ว ทีนี้ต่อไป ข้อที่สาม-ท่านเรียกว่า [16:41] ขันติ แปลว่าความอดทน ความอดทนนี่เป็นเรื่องของจิตใจคน เทียบกับทางวัตถุ ท่านเรียกว่าความทนทาน ความทนทานก็เห็นได้จากวัสดุต่างๆ อย่างเราจะก่อสร้างต้องใช้วัสดุที่ทนทาน สิ่งที่ทนทานก็มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือความแข็งแรง แล้วก็สำหรับมนุษย์ก็คือความเข้มแข็ง วัสดุทนทานแข็งแรง คนก็จิตใจเข้มแข็งอดทน ทีนี้คนที่เข้มแข็งอดทนก็เป็นพลัง เข้มแข็งนี่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่นำความสำเร็จ เราจะพัฒนาตัวจะฝึกตัว ถ้าเราขาดความเข้มแข็งเข้าไปแล้วยาก เพราะฉะนั้นท่านก็มาที่อันดับสามต่อด้วยขันติ ความอดทน ทนทาน ความเข้มแข็ง ความเข้มแข็งนี้ก็จะ หนึ่ง-ทนรับ มีอะไรต่ออะไรเข้ามากระทบกระทั่ง เราสู้ได้หมด สอง-ทนต่อการบุกฝ่าไปข้างหน้า การบุก ขันตินี่มี 2 แบบนะ ทนทานทนรับนี่อย่างหนึ่ง แล้วก็ทนบุกฝ่าอย่างหนึ่ง โดยทั่วไปท่านจะแบ่งเป็น 3 อะไรบ้างขันติ ความอดทน 3 ด้านสำหรับคนเราทั่วไป
หนึ่ง-ท่านบอกความอดทนต่อการตรากตรำ ก็คือคนเรานี่เป็นธรรมดาต้องมีอาชีพการงาน มีการทำงานต่างๆ ต้องมีความอดทน ไม่งั้นเดี๋ยวเราก็ท้อถอย แล้วเราก็เดินหน้าไม่ได้ ทีนี้ทนต่อความลำบากตรากตรำทำงาน แดดร้อน อากาศร้อน อากาศหนาว งานหนัก อะไรต่างๆ งานเบา เรียกว่าหนักเอาเบาสู้ทั้งหมด สู้ทั้งนั้น ลำบากตรากตรำ เรื่องการเวลา เรื่องของความหนักแรง อะไรต่างๆ นี่ ทนลำบากตรากตรำหมด กายสู้
สอง-ทนต่อทุกขเวทนา ความเจ็บปวด คนเราก็เป็นธรรมดา ร่างกายของเรานี่เป็นสังขาร เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง เป็นไปตามเหตุปัจจัยเข้ามากระทบกระทั่ง เราต้องมีความอดทน อย่างนั่งนานๆ ก็เมื่อยแล้ว คนไม่มีความอดทนก็จะโวยวาย อย่างเจ็บไข้ป่วยนิดๆ หน่อยๆ โวยวาย ก็เกิดปัญหา ทีนี้ยิ่งคนมาอยู่ร่วมกันแล้วเนี่ย ก็จะต้องใช้ความอดทนนี้เพื่อจะให้อยู่ในเหตุในผล ไม่ลุอำนาจของอารมณ์ ไม่เป็นไปตามอารมณ์ เราก็จะมีความหนักแน่น เมื่อมีความหนักแน่น การอยู่ร่วมกันก็จะทำให้เกิดความสงบ แล้วก็จะทำให้เรื่องราวต่างๆ ไม่ลุกลามไป ฉะนั้นก็จะมีเรื่องของการอดทนต่อทุกขเวทนา ที่จะให้อยู่ในเหตุผล แต่ไม่ใช่ว่าจะอดทนโดยไร้เหตุผล ถ้าอดทนโดยไร้เหตุผล ก็กลายเป็นความประมาท เช่นอย่างคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ปล่อย อดทนอย่างนี้ แล้วไม่รักษาตามเหตุปัจจัยก็เป็นความประมาทไป ฉะนั้นก็อดทนต่อทุกขเวทนา เจ็บปวดก็ทนได้ พร้อมกันนั้นก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง ด้วยปัญญาตามเหตุตามผล ที่ต้องคู่กันไป ต้องมีความไม่ประมาทไปด้วย นี่สองแล้ว อดทนต่อทุกขเวทนา
สาม-อดทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ คนเรานี้นอกจากอดทนเข้มแข็งทั่วไป อันหนึ่งคือเป็นคนแล้วหนีไม่พ้นเรื่องจิตใจ ก็จะมีเรื่องกระทบกระทั่ง เห็นอันโน้นอันนี้ อย่างคนมีความสัมพันธ์กันและกันเนี่ย สิ่งที่พูดสิ่งที่ทำแม้แต่การเคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ บางทีก็กระทบกระทั่งจิตใจของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้โดยไม่เจตนา โดยเฉพาะวาจาคำพูดเนี่ย บางทีเรานึกไม่ถึง ก็พูดไป เสร็จแล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็เกิดความกระทบกระทั่งใจ ทีนี้ถ้าไม่มีความอดทน ก็วู่วามโวยวาย แล้วก็เรื่องลุกลามใหญ่โต [20:50] ฉะนั้นท่านก็มีภาษิตแต่โบราณว่าให้มีความอดทน ให้ระลึกถึงคติที่ว่า แม้แต่ลิ้นกับฟันก็ยังกระทบกันได้ ทีนี้ลิ้นกับฟันมันกระทบแน่นอนว่าไม่ตั้งใจ ใครๆ ก็ไม่อยากให้ฟันมากัดลิ้นใช่ไหม ตัวเองเจ็บ เพราะฉะนั้นที่ท่านพูดว่าลิ้นกับฟันก็ยังกระทบกันได้เนี่ย แสดงว่ามันไม่เจตนา ทีนี้คนเราอยู่ด้วยกันนี้อาจจะมีเจ็บบ้าง โดยที่เหมือนกับลิ้นกับฟัน ฉะนั้นก็ต้องมีความอดทน ระลึกถึงคตินี้แล้วก็เลยทนไว้ แล้วค่อยๆ มาใช้ กลับไปข้อที่สอง ทมะ ใช้ปัญญามาปรับความเข้าใจกัน ความเข้าใจกันด้วยเหตุด้วยผล เพราะฉะนั้นข้อสามนี้มันก็จะมาช่วยกัน คือข้อทมะ การฝึก การปรับตัว ความอดทน มาขันติก็อดทน แล้วก็ไปเข้าข้อที่สอง มาใช้ประโยชน์ต่อไป แล้วมันก็จะไปได้ดี ตกลงว่าข้อที่สาม ขันติ ความอดทน ก็เป็นเรื่องของพลังความเข้มแข็ง ซึ่งอันนี้ก็ได้อีกแหละ สองคนนี้มีกำลังความเข้มแข็งมา อย่างเช่นการงานในชีวิตที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จ เมื่อสองคนมีความเข้มแข็ง ก็จะเอามาเสริมกัน ก็เท่ากับเป็นบวก หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง กำลังก็เพิ่มอีกเท่าตัว จะสามารถสร้างความเจริญงอกงามความสำเร็จได้ดี แต่ถ้าหากว่าอ่อนแอก็ไปลบอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้หมดแรง ถ้าหากว่าแข็งสองฝ่ายแต่แข็งในทางลบ ก็ยิ่งแย่ยิ่งใหญ่เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องให้เป็นความเข้มแข็งที่เป็นบวกเสริมซึ่งกันและกัน นี่แหละจะสร้างความสำเร็จ เพราะฉะนั้นก็จึงบอกว่าเป็นกำไรแล้ว ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เราก็ได้กำลังมาเพิ่ม กำลังความเข้มแข็งด้วย กำลังสร้างความเจริญก้าวหน้าด้วย นี่สามข้อแล้ว
ข้อที่สี่- เรียกว่า จาคะ นี่แปลง่ายๆ ว่าความสละ ความปล่อยวางได้ แต่คนไทยเราจะรู้จักในคำว่ามีน้ำใจมากกว่า เพราะคำว่าสละมันให้ความรู้สึกในทางลบ บางทีก็ฝืนใจ บางทีเราอยากจะได้อะไร ยอมไม่เอาก็เรียกสละ หรือเรามีอะไรให้ไปโดยที่เรายอม บางทีเรารู้สึกว่าต้องเสีย เราก็เป็นเสียสละ แต่เสียสละบางทีไม่ค่อยดี ต้องเต็มใจเสียสละ ไม่เต็มใจ เราอยากจะให้ บางทีมันไม่ ฝืนใจ ถ้าเต็มใจจริงๆ ไม่มีฝืนใจ เหมือนอย่างคุณพ่อคุณแม่ อย่างคุณแม่รักลูก เมตตารักลูก ให้แก่ลูกไม่ฝืนใจ ไม่รู้สึกว่าต้องเสียเลย แต่ถ้าเรามีความเสียดาย เราไม่รักเขา ต้องให้นี่ฝืนใจ ต้องเสียสละ พอว่ามีความรักขึ้นมาก็เป็นการเต็มใจให้ ให้ด้วยความสุข แล้วพอเห็นเขามีความสุขจากการที่เราให้ ตัวเองก็ยิ่งมีความสุข ความรักที่แท้ก็เป็นอย่างนี้ ขึ้นอยู่ที่ความหมายทีเคยพูดบ่อยๆ [23:59] ความรักมี 2 อย่างนะ หนึ่ง-ความรักที่เกิดจากการที่ชอบใจ อยากให้เขามาทำให้เรามีความสุข จะต้องได้จากเขามาทำให้เรามีความสุขได้ ก็คือรักที่จะได้จะเอา ทีนี้รักอีกอย่างหนึ่งก็คือรักที่อยากเห็นเขาเป็นสุข รักอันที่หนึ่งย้ำอีกทีว่ารักที่อยากให้เขามาทำให้เราเป็นสุข ชอบใจว่าถ้าได้สิ่งนี้ ได้คนนี้มาแล้ว เราจะมีความสุข รักอย่างนี้อย่างหนึ่ง ทีนี้รักอีกแบบคือรักอยากเห็นเขาเป็นสุข อย่างคุณพ่อคุณแม่นี่แน่นอน มีความรักแบบที่สอง มีความรักที่อยากเห็นเขาเป็นสุข พอพ่อแม่รักลูกก็อยากเห็นลูกมีความสุข อะไรที่จะทำให้ลูกมีความสุขได้ก็เต็มใจทำ ทีนี้ความสุขจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเห็นลูกมีความสุข ทำไงทีนี้ ความสุขของตัวเองก็ต้องไปอาศัยลูกแล้วทีนี้ ก็เลยว่าลูกจะมีความสุขได้ยังไง ถ้ามีของนี้ ลูกได้สิ่งนี้ แม้แต่ลูกบอกว่าฉันอยากได้นี่ แม่ก็มีของนี้แม่ก็อยากจะได้เหมือนกัน แต่ว่าลูกบอกว่าอยากได้ แม่ต้องยอมให้ พอแม่ให้ เพราะแม่รักลูก อยากเห็นลูกเป็นสุข แม่อยากเห็นลูกเป็นสุขอันนี้มันก็เลยลบเอาความรู้สึกเสีย หรือเสียดายของแม่นี่หมดไป ก็อยากเห็นลูกเป็นสุขก็เลยให้ลูกได้ พอให้ลูกได้ ก็เห็นลูกเป็นสุข พ่อแม่ก็มีความสุขด้วย [25:34] ฉะนั้นการรักแบบที่สองนี้เป็นรักแท้ คือรักที่อยากเห็นเขาเป็นสุข เพราะฉะนั้นเมื่ออยากให้เขาเป็นสุข เราก็ทำอะไรต่ออะไรได้เพื่อให้เขาเป็นสุข แล้วเราก็เป็นสุขจากการที่เห็นเขาเป็นสุขนั้น ความรักอย่างที่สองนี่จะทำให้เรามีข้อความสละที่แท้ได้ เรียกว่าความมีน้ำใจ คนไทยนี่เราได้ฝึกกันมากในข้อนี้ จนกระทั่งความสละนี้เป็นเรื่องของให้ด้วยเต็มใจ ให้ด้วยเต็มใจ ต้องการจะทำให้เขาเป็นสุข เราก็เรียกว่ามีน้ำใจ ทีนี้คู่ครองนี่สำคัญมาก จะต้องมีอันนี้ก็คือว่าต้องมีความรักแท้ อยากให้เขาเป็นสุข มีน้ำใจต่อเขา นึกถึงว่าจะทำไงให้เขามีความสุข อยากให้เขาเป็นสุข ถ้าเรานึกอย่างนี้อยู่เรื่อย มันจะเกิดความสัมพันธ์ที่ดีงาม แม้แต่จะไม่รู้ตัว แต่ถ้าเรานึกถึงแต่ความสุขของเรา เราได้เรามีเขาแล้วเราจะมีความสุข บางทีมันกลายเป็นการเรียกร้อง เมื่อเป็นการเรียกร้อง ต่อไปก็จะเกิดปัญหา ความทุกข์ ความขัดแย้งก็ไม่ได้ตามใจตัว ก็ยุ่งเลย ทีนี้ถ้าหากเรามีความรัก อยากให้เขาเป็นสุข อยากเห็นเขาเป็นสุข นึกทำไงหนอจะทำให้เขาเป็นสุขได้ ถ้าคู่ครองนึกต่อกันอย่างนี้ สบายใจเลย มีความเจริญมั่นคง ทั้งสองฝ่ายก็มีความซาบซึ้งในน้ำใจของกันและกัน แล้วก็พยายามทำกันและกันให้มีความสุข นึกถึงเขา นึกถึงจะทำโน่นทำนี่ แม้แต่ในชีวิตประจำวัน ฝ่ายหนึ่งก็อยู่บ้าน นึกถึงอีกฝ่ายกลับมาบ้านแล้วเขาคงจะเหน็ดเหนื่อยนะ อะไรต่ออะไร เตรียมทำไง ต้อนรับทำให้เขาเป็นสุขได้ อย่างนี้ละก็ ชีวิตสมรสคู่ครองเจริญมั่นคงแน่นอน แล้วก็มีความสุขที่แท้จริง ท่านเรียกว่าเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงทำให้เกิดความสดชื่น ทำให้เกิดความสามัคคี ในข้อจาคะนี้สรุปท้ายเลย เป็นตัวที่หล่อเลี้ยงชีวิตคู่ครองให้ยั่งยืน ก็ครบแล้ว ถ้าคนมีจาคะแล้ว ลักษณะแสดงออกอยากให้เขาเป็นสุข ก็เลยสละความสุขของตัวเองให้อีกฝ่ายได้ อย่างที่ว่ารักกันจริงเหมือนพ่อแม่ ลูกเจ็บไข้นิดหน่อย แล้วแม่บางทีมีเจ็บไข้อยู่ แม่หายเลย เชื่อไหม แม่ไม่สบายอยู่นี่ พอเห็นลูกเจ็บไข้ แม่หายป่วยเลย มารักษาพยาบาลลูก ก็สละความสุขของตัวเองเพื่อลูกได้ คู่ครองก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีความรักที่แท้แล้ว อยากเห็นอีกฝ่ายหนึ่งมีความสุข ก็สละความสุขของตัวเองเพื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ เขาเจ็บไข้ มาพยาบาลรักษา ไม่นึกถึงความสุขของตัวเอง และเห็นเขาเป็นสุขได้ ตัวเองก็เป็นสุขด้วย เป็นความสุขร่วมกันทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดความยั่งยืน นี่ก็คือจุดบรรจบที่ว่ามีความสุขร่วมกัน คนเรานี้จะมีความยั่งยืนที่แท้ แม้แต่สังคมนี่จะต้องมีความสุขประเภทสุขร่วมกัน ถ้าแย่งกันสุข ชิงกันสุข มันยุ่ง เวลานี้สังคมที่วุ่นวายก็เพราะอันนี้
เพราะต้องการความสุขแบบแย่งชิง ถ้าอีกฝ่ายได้ความสุข อีกฝ่ายก็ต้องเสียความสุข หรืออีกฝ่ายหนึ่งอย่างน้อยก็อด มันก็เลยแย่งชิงเบียดเบียน วุ่นวายกันไปหมด เมื่อไหร่เรามีความสุขแบบร่วมกัน สุขด้วยกัน สุขเมื่อเห็นอีกฝ่ายหนึ่งสุขนั้น สังคมมีความสุขที่แท้ พระพุทธศาสนาที่ท่านสอนให้มีเมตตาอะไรต่างๆ มีจาคะก็เพื่ออันนี้ เพื่อให้สังคมได้มีความสุขร่มเย็น ได้มีความสุขร่วมกัน เพราะฉะนั้นชีวิตครอบครัวนี้เป็นชีวิตตัวอย่าง แบบอย่าง ถ้าเราสร้างคุณธรรม ชีวิตแบบนี้ขึ้นมาได้แล้ว เราขยายคุณธรรมแบบอย่างของชีวิต แบบอย่างของความสุขเหล่านี้ไปในสังคมก็จะมีความสุขความร่มเย็นแน่นอน ฉะนั้นก็ให้ชีวิตแต่งงานนี้เป็นชีวิตตัวอย่าง เป็นสังคมย่อยซึ่งเป็นหน่วย เมื่อประกอบกันเข้า เรามีครอบครัวที่มีคุณธรรม มีความดีงามอย่างนี้ สังคมส่วนรวมก็มีความร่มเย็นเป็นสุขด้วย แล้วก็ขยายคุณธรรมความดีงามเหล่านี้ให้กว้างออกไปทั่วสังคม ก็จะอยู่กันได้ดี ฉะนั้นนี่ก็คือหลักธรรมเรียกว่าธรรมะสำหรับฆราวาส หรือฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับการครองเรือน ซึ่งแม้แต่ประพฤติได้ 4 ข้อเท่านี้ ก็ดีไปหมด ไม่เฉพาะชีวิตครอบครัวของสองคนเท่านั้นนะ ดีไปหมดเลยทั้งสังคม ตัวจาคะนี่ก็เพราะมีความสละ มีน้ำใจอยากเห็นคนอื่นมีความสุข ตอนแรกก็ทำในครอบครัวระหว่างคู่ครอง แล้วก็ในครอบครัวทั้งหมด ต่อไปเราก็มีจาคะ มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ อยากเห็นเพื่อนมนุษย์มีความสุข ก็ขยายการช่วยเหลือเผื่อแผ่นี้ออกไป เราเห็นเพื่อนมนุษย์ก็อยากให้เขามีความสุข เราก็ทำการเสียสละทำการกุศลต่างๆ บำเพ็ญประโยชน์บ้าง ก็แผ่ความร่มเย็นเป็นสุขออกไป ในหมู่ญาติในหมู่มิตร ในสังคมประชาชน เริ่มจากคนที่ขาดแคลน ฉะนั้นทำประโยชน์ต่างๆ ออกไป สังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข เพราะฉะนั้นจาคะข้อนี้ก็จะแผ่ประโยชน์ ทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่า ประโยชน์ของชีวิตของเราจะแผ่ไปทั่วสังคมด้วยข้อจาคะ แล้วก็เริ่มตั้งหลักด้วยสัจจะที่ว่า แล้วก็จริงจังแล้ว มันจะมาประสานกับจาคะที่ว่าพอเราตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์ทำความดี เราก็มีสัจจะในตัวนี้ด้วย ทำอย่างจริงใจและจริงจัง ทุกอย่างก็จะดีขึ้นไปทั่วหมด
[31:12] จะให้ธรรมมงคลยั่งยืนนานก็ต้องมีตัวปัญญาเข้ามา
วันนี้อาตมาก็เลยเอาหลักชุดเดียวเรียกว่าฆราวาสธรรม นี้มาเล่าให้ฟัง ก็ถือว่าถ้าทำได้ตามนี้ก็เป็นธรรมมงคล เป็นมงคลที่เกิดจากธรรมะแล้ว เป็นมงคลที่แท้จริงและยั่งยืน จะอยู่เรื่อยๆ ไปเลย มีผลกว้างขวาง วันนี้ก็ถือว่าคุณแก้วตาและคุณทอมมี่ได้มาทำบุญก็เป็นการที่สร้างมงคลให้เกิดขึ้นแล้ว เริ่มที่พิธีมงคล พอเริ่มพิธีมงคล ทำพิธีมงคลถูกต้อง ธรรมะมงคลก็เริ่มแล้ว ใช่ไหม เพราะว่า [31:50] เราทำพิธีมงคลเนี่ย สาระเข้ามาอยู่ที่ธรรมะ อยู่ที่คุณธรรม คุณสมบัติในจิตใจ มีความรักมีความดีงาม มีความสุขเบิกบานแจ่มใสเป็นต้น นี่เป็นธรรมะอยู่ในตัว เราก็เริ่มธรรมมงคลนั่นเอง แต่ว่าธรรมมงคลนี่ต้องมีความรู้ความเข้าใจหลักด้วย ฉะนั้นท่านจึงบอกต้องมีตัวปัญญาเข้ามา ทีนี้พอเรารู้เข้าใจ เราก็เอามาใช้ปฏิบัติ ให้ธรรมมงคลยั่งยืนนานต่อไป ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ต่อกัน การดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง การที่จะดำรงครอบครัวของตัวเองให้มีความเจริญมั่นคงและมีความสุข แล้วขยายความสุขความเจริญงอกงามนี้ออกไปทั่วสังคม แม้กระทั้งทั่วโลก ธรรมมงคลก็จะเป็นตัวประกันอีกชั้นหนึ่งที่ทำให้เกิดความสมบูรณ์ ก็หวังว่านอกจากทำพิธีมงคลแล้วก็คุณแก้วตาและคุณทอ
มมี่จะได้ทำให้เกิดมงคลครอบทั้ง 2 ประการ ก็ขออนุโมทนา แล้วก็ตั้งใจอวยชัยให้พรแก่คุณทั้งสอง เดี๋ยวจะอวยชัยให้พรอีกครั้งหนึ่ง ก็จะสรุปภาษาอังกฤษไว้นิดๆ หนึ่ง เพราะว่าคุณทอมมี่ พูดภาษาไทยไม่ได้ ฟังภาษาไทยก็ไม่เข้าใจด้วยใช่ไหม ไม่เข้าใจ ก็เลยขอพูดเป็น summary นิดหน่อย
(34.04...พูดภาษาอังกฤษ...49.50)
ก็ขอจบเท่านี้ ก็หันมาอวยพรญาติโยมเป็นภาษาไทยต่อ ก็ขอโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่านที่ได้มาร่วมทำบุญวันนี้ กับคุณแก้วตาและคุณทอมมี่ ก็ด้วยความรักความปรารถนาดี ทุกท่านมาก็ด้วยใจรักมีคุณธรรมในใจแล้วทำให้เกิดสิริมงคลขึ้น ฉะนั้นก็ใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ เราก็มีความสุขร่วมกัน ตอนนี้เป็น new sure life แล้ว เป็น new sure happiness ด้วย ก็ให้ความสุขอย่างนี้ยั่งยืนต่อไป เริ่มด้วยคุณแก้วตาและคุณทอมมี่ ก็ขอให้มีความสุขในชีวิตที่ก้าวหน้า ประสบความงอกงามรุ่งเรืองและความสำเร็จ แล้วเมื่อทั้งสองคนมีความสุข ก็จะทำให้แม่และญาติที่เป็นผู้มีความปรารถนาดี ก็มีความสุขไปด้วยกัน ดังนั้นก็ของคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พร อภิบาลรักษาให้คุณทอมมี่และคุณแก้วตา ได้เจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีความเจริญงอกงามในการดำเนินชีวิต และการประกอบกิจหน้าที่การงาน บรรลุความก้าวหน้าและความสำเร็จ สมความมุ่งหมาย นำมาซึ่งประโยชน์สุข แก่ชีวิตแก่ครอบครัว แก่สังคมประเทศชาติ แล้วก็มีความร่มเย็นงอกงามในธรรมตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ
....................................................จบ...........................................
ประเด็นสำคัญ
[00:00] นำเรื่อง
[01:00] มงคลที่แท้นั้นทางพระท่านว่าเกิดจากกุศล
[03:05] พิธีนั้นก็สำคัญ แต่สาระที่แท้จริง ก็คือเนื้อหาสาระที่เป็นความหมาย เป็นคุณค่าทางจิตใจ
[05:30] พิธีมงคลแม้จะสำคัญแต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ ธรรมมงคลเป็นของยั่งยืน เราควรทำให้สมบูรณ์ทั้งสองอย่าง
[08:15] ฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับการครองเรือนก็เป็นธรรมมงคล เป็นมงคลที่แท้จริงและยั่งยืน
[31:12] จะให้ธรรมมงคลยั่งยืนนานก็ต้องมีตัวปัญญาเข้ามา
คำโปรย
[07:09] หลักคำสอนเกี่ยวกับเรื่องหน้าที่การปฏิบัติต่อกันในชีวิตครอบครัวมีมาก พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ เริ่มตั้งแต่หน้าที่ต่อกันระหว่างสามีภรรยา ตามหลักทิศ 6 ฝ่ายละ 5 แล้วก็มีธรรมะอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องลึกเข้าไปในจิตใจ คือว่าไปแล้วมันก็มีเรื่องหน้าที่ปฏิบัติต่อกันที่ภายนอก แล้วก็สิ่งที่สำคัญคือมาจากฐานภายในจิตใจ ที่เราจะประพฤติปฏิบัติแสดงออกมาจากภายนอกได้ดี มีความมั่นคง จริงใจ ก็เกิดจากคุณธรรมในใจ ทีนี้คุณธรรมในใจก็มีอีกเยอะ นอกจากพฤติกรรม มันก็ออกไปจิตใจ แล้วก็เรื่องความรู้ความเข้าใจ เรื่องปัญญา ถ้าพร้อม 3 ด้านเมื่อไหร่ก็เรียกว่าครบ คือต้อง หนึ่งพฤติกรรมสดงออกต้องมาจากฐานในจิตใจที่มีความรัก มีคุณธรรม มีความจริงใจแล้วก็สาม-ปัญญา ความรู้ความเข้าใจ
[09:05] คนเรานี่จะมีความสัมพันธ์อยู่กัน ไม่ว่าจะคนใกล้ชิดหรือห่างไกล หลักข้อแรกคือความจริงใจ ถ้าขาดความจริงใจซะอย่างเดียวแล้ว ท่านบอกว่าฐานเสียเลย คลอนแคลนหมดเลย อะไรทุกอย่างไปหมด พอมีความจริงใจอันนี้แล้ว เกิดฐานที่มั่นคงขึ้นมาทันที จริงใจ ความซื่อสัตย์ต่อกัน ความรักที่แท้ รักก็รักด้วยใจจริง ไม่มีความหลอกลวง เป็นต้น พอมีความจริงใจ ต่อจากนั้นก็จริงวาจา พูดจริง ไม่โกหก ไม่หลอกลวงกัน ต่อจากนั้นก็จริงการกระทำ
[13:04] พอเราเจอสถานการณ์ใหม่ อย่างคนที่มาอยู่ร่วมกัน คู่ครอง ก็คือมาเจอสถานการณ์ใหม่ เริ่มชีวิตแบบใหม่ เราก็ต้องมีการฝึก การฝึกขั้นต้นที่สุด คือปรับตัว การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ ปรับตัวเข้ากับคู่ครอง แม้แต่คู่ครองก็ต้องปรับตัว เพราะว่าทุกคนมีความแตกต่าง ความแตกต่างนั้นพร้อมที่จะเป็นความขัดแย้ง พอเห็นอะไรแตกต่างไป อาจจะขัดหูขัดตา แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาได้ แต่ถ้าคนที่ฝึกตนเอง ไม่เป็นไร เราจะเรียนรู้ เราจะฝึก เราจะหัดเพื่ออยู่ร่วมกันได้ดี ก็ต้องปรับตัวปรับใจเข้าหากัน แล้วเอาส่วนแตกต่างมาเป็นส่วนเติมเต็ม แทนที่จะเอาความแตกต่างมาเป็นความขัดแย้ง ก็เอามาเป็นส่วนเติมเต็มทำให้สมบูรณ์ เพราะว่าคนเราแต่ละคนไม่มีใครสมบูรณ์เลย พอมาได้อยู่ด้วยกันสองคน ได้เพิ่มส่วนพิเศษทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำให้เรามีความพร้อมที่จะทำอะไรต่ออะไรได้ดียิ่งขึ้น รู้จักหาประโยชน์จากความแตกต่าง
[14:34] คนไหนปรับตัวได้เก่ง ท่านบอกว่านั่นคือเครื่องพิสูจน์ขั้นแรก ความสำเร็จในชีวิต ฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าถ้าเรามองอย่างนี้แล้ว เราจะไม่ท้อ แล้วเราจะรู้สึกว่าไม่เป็นไร จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ได้ปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ เราได้เรียนรู้ และได้ทำชีวิตให้ดีงามมากขึ้น เราก็เลยเรียนรู้ ปรับตัว พอปรับตัวได้ดี เข้ากับสถานการณ์ใหม่ แม้แต่กิจการงานใหม่ สถานที่ใหม่ๆ คนใหม่ๆ ได้ดีแล้วนะ เราก็มีความสุข มีความอิ่มใจในการที่เราทำได้ แล้วต่อจากนั้น พอปรับตัวแล้วก็ปรับปรุง ปรับปรุงตัวเอง ปรับปรุงชีวิต ปรับปรุงการงาน อะไรของเราให้ดียิ่งขึ้น การปรับปรุงก็อยู่กับปรับตัว ทั้งหมดนี้อยู่ในข้อที่เรียกว่า ทมะ การฝึก ฉะนั้นการฝึกนี่สำคัญ ก็มีปรับตัวแล้วก็ปรับปรุงตน ก็เรียกง่ายๆว่าพัฒนาตัวให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยไป
[16:41] ขันติ แปลว่าความอดทน ความอดทนนี่เป็นเรื่องของจิตใจคน เทียบกับทางวัตถุ ท่านเรียกว่าความทนทาน ความทนทานก็เห็นได้จากวัสดุต่างๆ อย่างเราจะก่อสร้างต้องใช้วัสดุที่ทนทาน สิ่งที่ทนทานก็มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือความแข็งแรง แล้วก็สำหรับมนุษย์ก็คือความเข้มแข็ง วัสดุทนทานแข็งแรง คนก็จิตใจเข้มแข็งอดทน ทีนี้คนที่เข้มแข็งอดทนก็เป็นพลัง เข้มแข็งนี่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่นำความสำเร็จ
[20:50] ฉะนั้นท่านก็มีภาษิตแต่โบราณว่าให้มีความอดทน ให้ระลึกถึงคติที่ว่า แม้แต่ลิ้นกับฟันก็ยังกระทบกันได้ ทีนี้ลิ้นกับฟันมันกระทบแน่นอนว่าไม่ตั้งใจ ใครๆ ก็ไม่อยากให้ฟันมากัดลิ้นใช่ไหม ตัวเองเจ็บ เพราะฉะนั้นที่ท่านพูดว่าลิ้นกับฟันก็ยังกระทบกันได้เนี่ย แสดงว่ามันไม่เจตนา ทีนี้คนเราอยู่ด้วยกันนี้อาจจะมีเจ็บบ้าง โดยที่เหมือนกับลิ้นกับฟัน ฉะนั้นก็ต้องมีความอดทน
[23:59] ความรักมี 2 อย่างนะ หนึ่ง-ความรักที่เกิดจากการที่ชอบใจ อยากให้เขามาทำให้เรามีความสุข จะต้องได้จากเขามาทำให้เรามีความสุขได้ ก็คือรักที่จะได้จะเอา ทีนี้รักอีกอย่างหนึ่งก็คือรักที่อยากเห็นเขาเป็นสุข รักอันที่หนึ่งย้ำอีกทีว่ารักที่อยากให้เขามาทำให้เราเป็นสุข ชอบใจว่าถ้าได้สิ่งนี้ ได้คนนี้มาแล้ว เราจะมีความสุข รักอย่างนี้อย่างหนึ่ง ทีนี้รักอีกแบบคือรักอยากเห็นเขาเป็นสุข อย่างคุณพ่อคุณแม่นี่แน่นอน มีความรักแบบที่สอง มีความรักที่อยากเห็นเขาเป็นสุข พอพ่อแม่รักลูกก็อยากเห็นลูกมีความสุข อะไรที่จะทำให้ลูกมีความสุขได้ก็เต็มใจทำ [25:34] ฉะนั้นการรักแบบที่สองนี้เป็นรักแท้ คือรักที่อยากเห็นเขาเป็นสุข เพราะฉะนั้นเมื่ออยากให้เขาเป็นสุข เราก็ทำอะไรต่ออะไรได้เพื่อให้เขาเป็นสุข แล้วเราก็เป็นสุขจากการที่เห็นเขาเป็นสุขนั้น ความรักอย่างที่สองนี่จะทำให้เรามีข้อความสละที่แท้ได้ เรียกว่าความมีน้ำใจ
[31:50] เราทำพิธีมงคลเนี่ย สาระเข้ามาอยู่ที่ธรรมะ อยู่ที่คุณธรรม คุณสมบัติในจิตใจ มีความรักมีความดีงาม มีความสุขเบิกบานแจ่มใสเป็นต้น นี่เป็นธรรมะอยู่ในตัว เราก็เริ่มธรรมมงคลนั่นเอง แต่ว่าธรรมมงคลนี่ต้องมีความรู้ความเข้าใจหลักด้วย ฉะนั้นท่านจึงบอกต้องมีตัวปัญญาเข้ามา ทีนี้พอเรารู้เข้าใจ เราก็เอามาใช้ปฏิบัติ ให้ธรรมมงคลยั่งยืนนานต่อไป ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ต่อกัน การดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง
วรรคทอง
[01:17] กุศลคืออะไร กุศลก็คือความดีงาม ความดีที่เราทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ
[06:15] ธรรมมงคลนั้นมงคลเกิดจากธรรมะ เกิดจากการทำความดี เกิดจากการประพฤติปฏิบัติถูกต้อง เกิดจากการทำหน้าที่
[12:50] คนพาล คือคนที่ไม่รู้จักฝึกตน แปลตามศัพท์ แปลว่าคนที่อยู่สักแต่ว่าลมหายใจ