แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
จะเริ่มเลยนะโยม เชิญโยมปรารภก่อน
โยม : ผมขออนุญาตคือ??? เนื่องจากว่าท่านเป็นผู้ที่ผู้พิพากษาให้ความเคารพนับถืออย่างมากท่านหนึ่ง เป็นผู้ที่ประกอบด้วยคุณงามความดีที่ทุกคนระลึกถึง แล้วก็พูดถึงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ท่านขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานศาลฏีกานั้น สิ่งหนึ่งที่ท่านได้ทำสำเร็จลงก็คือ ท่านสามารถทำให้คดีที่คั่งค้างอยู่ในศาลฏีกานั้น ลดลงไปได้เรื่อยๆจนในกระทั่งในท้ายที่สุด ผู้พิพากษาในศาลฏีกาต้องแย่งกันทำงานเพราะไม่มีคดีจะตัดสิน หลังจากนั้นแล้ว ก็ไม่มีเหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นอีกเลย จนบัดนี้คดีก็คั่งค้างศาลฏีกาอยู่อีกมาก
วิธีการเช่นนั้น เป็นวิธีการที่ใครๆก็อยากจะให้มีอีก แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะทำได้อย่างไร ผลแห่งความดีอันนั้น สิ่งหนึ่งที่ประจักษ์ต่อมาก็คือว่า หลังจากพ้นตำแหน่งไปแล้วไม่นาน ท่านก็ได้รับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นองคมนตรี ซึ่งกระผมคิดว่าท่านคงไม่เคยคาดฝันมาก่อนเช่นเดียวกัน เพราะว่า ในฐานะที่ใกล้ชิดกับท่านมากคนหนึ่ง เพราะเคยรับราชการกับท่านครั้งที่ท่านเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลที่จังหวัดอุดรธานี ได้ทราบดีถึงอุปนิสัยใจคอ ความสมถะ เรียบง่าย และความมีจริยวัตร อุปนิสัยส่วนตัวว่าท่านเป็นคนอย่างไร แต่ความดีงามนั้นก็เป็นที่ประจักษ์เห็นแก่คนทั่วไป จึงทำให้เป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ กระผมก็มาคิดกับคุณหญิงสำรวยว่า ในโอกาสที่จะมีการพระราชทานเพลิงศพในอีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้า น่าจะมีธรรมะดีๆสักเรื่องหนึ่งเพื่อเป็นที่ระลึกในการที่จะจัดทำหนังสือ และก็มีความเห็นพ้องต้องกันว่าน่าจะได้ฟังจากพระเดชพระคุณคือท่านเจ้าคุณเอง ส่วนหัวข้อก็แล้วแต่ท่านจะเห็นสมควร อาจจะเป็นเรื่อง ถ้าถามความประสงค์ก็คืออยากจะให้เป็นเรื่องที่ ธรรมะที่ผู้พิพากษาทั้งหลายควรจะยึดถือไว้ให้มั่นคงในจิตใจ เพราะว่าเอาจริงๆแล้ว ตัวผมเองโดยส่วนตัวนั้นมีความรู้สึกว่า เรื่องของธรรมะไม่ใช่เป็นเรื่องเข้าใจง่ายอย่างที่คิด บางครั้งก็สับสน และบางครั้งก็ไม่แน่ใจว่าอะไรกันแน่ที่ควรจะยึดถือ จึงได้ถือโอกาสมากราบนิมนต์ท่านไว้ ซึ่งก็ได้รับความกรุณาที่ได้รับการนัดหมายในวันนี้ สุดแต่ท่านพระเดชพระคุณจะเห็นสมควร
พระพรหมคุณาภรณ์ : เจริญพร อาตมาภาพก็ขออนุโมทนา คณะโยมมีคุณหญิงเป็นผู้นำในการที่ได้มานิมนต์อาตมาภาพ จะเรียกว่าสนทนาปราศรัยกันวันนี้ ในเรื่องธรรมะที่เกี่ยวกับการตุลาการในเรื่องของผู้พิพากษา ในที่จัด จะเรียกว่ารายการ หรือการพบปะครั้งนี้ขึ้น ก็เป็นเรื่องของน้ำใจนั่นเอง น้ำใจของโยมที่เป็นท่านผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะในวงการของตุลาการผู้พิพากษาที่มีต่อท่านองคมนตรี และในฐานะที่ท่านเป็นอดีตประธานศาลฏีกา ซึ่งได้ทำคุณประโยชน์ไว้แก่วงการตุลาการ ก็คือแก่ประเทศชาติ แก่สังคมไทย เมื่อท่านจากไป เราจะมองในแง่ของกิจการงานในวงใกล้ชิด ผู้ที่รู้จักท่านดีก็มองตั้งแต่คุณความดีที่มีต่อส่วนตัว และกว้างออกไปก็คือต่อกิจการงาน และกว้างออกไปอีกก็คือสังคม ประเทศชาติ แต่ที่จริงก็ถึงกับโลกทั้งหมดนั่นแหล่ะ เพราะว่าประเทศชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของโลก ถ้าประเทศชาติ สังคม อยู่ด้วยดี มีความเจริญมั่นคง ก็เป็นส่วนประกอบของโลกที่ทำให้โลกนี้มีความเจริญมั่นคงไปด้วย ที่ท่านอดีตประธานศาลฏีกาท่านได้ทำคุณประโยชน์ไว้ เป็นที่ชัดเจนอย่างที่ท่านได้กล่าวทวนความให้ฟังส่วนหนึ่งนี้ ก็แสดงว่าเป็นที่ประทับใจอยู่ในวงการผู้พิพากษา ประโยชน์อันนี้ท่านทำไปแล้วก็เป็นของที่ยั่งยืนอยู่ ทั้งในจิตใจคนและก็ทั้งในตัวการงานของประเทศชาตินั่นเอง นี่ก็เป็นเรื่องของผู้ที่ยังอยู่ว่าเมื่อเห็นคุณค่าความดีของท่านแล้วก็มาแสดงน้ำใจต่อท่าน เราก็เตรียมการกันต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงนี้ก็คือ ใกล้เวลาที่จะมีงานพระราชทานเพลิงศพ ก็จึงได้เตรียมการในเรื่องหนังสือ ซึ่งถือว่าเป็นการอุทิศกุศลอย่างหนึ่ง และเรื่องหนังสือนี่ก็เป็นประโยชน์ระยะยาวที่ทางพระท่านยกย่องสรรเสริญว่าเป็นธรรมทาน การให้ธรรมถือว่าเป็นทานที่ชนะการให้ทั้งปวง หรือเป็นเอตทัคคะในบรรดาทานทั้งหลาย เพราะว่าให้ทั้งธรรมะในแง่ที่เป็นคุณงามความดี เป็นหลักที่จะช่วยดำรงจิตใจของคน และดำรงสังคม และก็ทำให้เกิดการเจริญปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจที่จะนำไปใช้ปฏิบัติ ดำเนินกิจการงานต่างๆ แม้กระทั่งดำเนินชีวิตให้เป็นไปด้วยดี
ทีนี้ ในวันนี้ที่พบกันนั้น ตัวอาตมาภาพเองไม่ได้คิดว่าจะพูดในเรื่องอะไรหรอก มองไปในแง่ว่า นึกว่าท่านจะมาถามอะไร ว่าเป็นไปในรูปของการถาม-ตอบ ไม่ทราบจะทำอย่างนั้นได้รึเปล่า คือหมายความว่า มีคำถามในแง่ที่เกี่ยวกับธรรมะในวงการเกี่ยวกับเรื่องของตุลาการ หรือแม้กระทั่งเรื่องเกี่ยวกับนิติศาสตร์ กฎหมายอะไรต่างๆ อย่างนั้นก็ดีเหมือนกัน คือในแง่ของการถาม-ตอบ แต่ถ้าไม่เป็นไปในรูปถาม-ตอบ อาตมาภาพก็จะค่อยๆนึกพูดขึ้นมา คือใจเดิมนึกไปอย่างนั้นจริงๆ นึกไปในแง่เป็นถาม-ตอบ แม้จะยกคำถามอะไรขึ้นมาก็ได้ คือรู้สึกว่าถ้าเป็นเรื่องถาม-ตอบ จะมีแง่ดีว่าตรงจุดสนใจ และมีอะไรที่เป็นเรื่องสงสัยอยู่ เป็นจุดที่ค้างอยู่ในใจของวงการตุลาการในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ หรือว่าเป็นจุดที่มีความสำคัญก็ตาม ถ้าเป็นจุดค้างใจหรือสงสัยก็จะดี หรือเป็นจุดที่สำคัญก็อาจจะเป็นประโยชน์ ก็อาจจะย้ำเข้าไป ไม่ทราบท่านจะเห็นเป็นยังไง ถ้าเป็นไปในรูปของการคล้ายๆสนทนากัน
โยม : คือแค่กระผมนี้มาเพื่อจะรับฟังพระเดชพระคุณท่านให้คำสั่งสอนที่ผู้พิพากษาที่ควรจะปฎิบัติ แล้วก็ต่อไปค่อยถ้าเกิดเจอน้องๆก็จะได้พูดคุยและรับทราบข้อธรรมะจากท่าน ก็อยากจะให้ท่านกล่าวไปเรื่อยๆ
พระพรหมคุณาภรณ์ : ถ้ากล่าวไปเรื่อยๆก็พูดถึงหลักธรรมเบื้องต้นก่อน เราก็ถือกันว่าผู้พิพากษาเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เป็นตราชู ทำหน้าที่ที่เรียกว่าดำรงธรรมะไว้ให้แก่สังคม ก็ถือความถูกต้อง และความถูกต้องก็อยู่กับความจริง แล้วก็ความจริงความถูกต้องนี้ก็จะพ่วงกับความดีงามมา ถ้าหากว่าไม่มีความจริง ไม่มีความถูกต้อง ความดีงามก็ไม่แท้ไม่จริง เหมือนอย่างกับว่าคนที่หลอกลวงเค้าก็สามารถทำให้คนรู้สึกว่าดีได้ แต่เสร็จแล้วมันไม่ถูก ไม่ต้อง ไม่จริง พอขาดความจริงมันก็เลยหมดความหมายไป ดังนั้นความจริง ความถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อันนี้ความจริง ความถูกต้องมันก็เป็นสภาวะของมัน แต่ว่ามาถึงคนก็คือว่าเราก็มีเรื่องของภาคปฏิบัติว่าเราจะทำไงให้ ทำความจริงนั้นให้ปรากฎขึ้นมาเพราะว่านี่ก็เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน บางทีความจริงมีอยู่ แต่ว่าความจริงนั้นไม่ปรากฎ แล้วก็นอกจากทำความจริงให้ปรากฎก็คือ ทำให้คนดำรงอยู่ในความจริงนั้นได้ ตอนนี้ก็เลยเหมือนกับว่าทางธรรมะจะมองสองด้าน คือมองหนึ่ง ก็ด้านความเป็นจริงหรือตัวสภาวะ เรื่องธรรมะนี่ด้านแรกก็จะมองที่นี่ก่อนว่าความจริงเป็นยังไง แล้วก็สองบนฐานของความจริงนั้น เราจะทำยังไงให้มนุษย์เนี่ยดำเนินไปกับความจริงนั้น อยู่กับความจริง แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริง ต้องมีสองขั้น ขาดขั้นใดขั้นหนึ่งไม่ได้ทั้งนั้น บางทีเราจะเอาขั้นที่สองมาให้คนดีปฏิบัติตัวถูกต้อง แต่เราไม่รู้ว่าความจริง ความถูกต้องคืออะไร มันก็ไปไม่ได้ ดังนั้นหลักพระพุทธศาสนาในพื้นฐานมันก็ต้องมีอันนี้ยันอยู่เป็นสองด้าน ด้านหนึ่งคือด้านสภาวะ ด้านความจริง อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ ธรรมะในความหมายที่หนึ่งก็อยู่ที่นี่ ที่ศึกษาเรื่องธรรมะกันก็ศึกษาเข้าหาตัวความจริงนี่แหล่ะ ทำไงจะรู้ เข้าถึงความจริงให้ได้ และความจริงมันก็มีอยู่ของมัน ทางพระท่านบอกว่า มันมีอยู่ตามธรรมดาอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส พระพุทธเจ้าตรัสขอยกเป็นภาษาบาลีว่า (อุ ปา ทา วา ภิก ขะ เว กะ ถา กะ ตา นัง อะ นุ ปา ทา วา กะ ถา กะ ตา นัง ทิ ตา วะ สา ทา ตุ) เป็นต้น ตรัสว่า คถาคตทั้งหลาย ก็คือพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม ความจริงมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น คถาคตมาค้นพบความจริงนั้นแล้ว จึงมาบอก มาเปิดเผย มาแสดง ชี้แจง ทำให้เข้าใจง่ายว่ามันเป็นอย่างนี้ๆ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระองค์ก็จะตรัสอย่างนี้ คือพระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เป็นของมันอย่างนั้น แต่ว่าคนไม่รู้ความจริงนี้ พระพุทธเจ้าได้เจริญปัญญา พัฒนาปัญญาขึ้นมา จนกระทั่งได้รู้ เข้าใจความจริง ก็เรียกว่าค้นพบนั่นเอง ก็ได้นำมาเปิดเผยแสดง อันนี้อันที่หนึ่ง ก็คือเรื่องของตัวความจริง ทีนี้พอรู้ว่าความจริงเป็นอย่างนั้นแล้ว ความจริงมันมีความหมายต่อทุกสิ่งทุกอย่าง คือทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเรียกว่าธรรมชาติหรืออะไรเนี่ย มันก็เป็นไปตามความจริงนั้น มันมีความจริงเป็นอย่างนั้น และมันก็เป็นไปตามความจริงนั้น บางทีเราเรียกว่า กฎธรรมชาติ
อันนี้ เมื่อมันมีความเป็นไปตามนั้น ตามกฎธรรมชาติ หรือความเป็นจริงอย่างนั้น เราก็ต้องการผลดี เช่นว่าเราเป็นมนุษย์ เราก็ต้องการให้ชีวิตของเราดี ถ้าขยายไปถึงสังคม เราก็ต้องการให้สังคมของเราดี มีความเจริญมั่นคง มีความร่มเย็นเป็นสุข แต่ว่า การที่ชีวิตจะดี สังคมจะดี อะไรต่างๆเหล่านี้ มันก็ต้องตั้งอยู่บนฐานความจริงนั้น เช่นว่า ความจริงมันบอกว่าสิ่งทั้งหลายนี้เป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุอย่างไรก็ทำให้เกิดผลอย่างนั้น หรือว่าผลเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยของมัน ทีนี้เราจะทำให้ชีวิตดี สังคมดี ทำยังไง ก็ต้องรู้ความจริงนี้ ความจริง เช่น ความจริงของเหตุปัจจัยว่า เหตุปัจจัยอันไหนจะทำให้เกิดความเจริญงอกงาม และก็ด้านตรงข้ามเหตุปัจจัยอันไหนที่จะทำให้เกิดความเสื่อม ความเสียหาย เราก็ไปปฏิบัติจัดการตามความจริงนั้น ก็ไปป้องกัน แก้ไข กำจัด เหตุปัจจัยด้านร้าย แล้วก็ไปทำเหตุปัจจัย หรือส่งเสริมเหตุปัจจัยที่จะนำมาซึ่งผลดี อันนี้ก็คือต้องปฏิบัติไปตามความจริง ก็เลยกลายเป็นว่ามนุษย์นี้ต้องรู้ความจริง แล้วก็เอาความรู้ในความจริงมาใช้ประโยชน์ นำมาปฏิบัติการ ปฏิบัติให้เป็นไปตามความจริงนั้น แล้วก็จะได้ผลตามต้องการได้ อันนี้ก็เป็นเหตุให้เราต้องมาพัฒนามนุษย์ ที่เรียกว่า การศึกษา พระพุทธศาสนาก็ถือเรื่องการศึกษาเป็นสำคัญที่ท่านเรียกว่า ไตรสิกขา เพื่อให้มนุษย์ได้เข้าถึงความจริง แล้วก็ปฏิบัติตามหลักความจริงหรือกฎความจริงนั้นให้ความจริงเกิดผลดี เป็นไปในทางที่เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตนเอง อันนี้ก็เป็นทางเลือกของมนุษย์แต่ว่าสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หลักพระพุทธศาสนาทั้งหมดก็มีเท่านี้เอง
ฉะนั้น เมื่อสรุปพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงใช้คำเรียกพระศาสนาของพระองค์ด้วยคำสั้นๆว่า ธรรมวินัย ธรรมะ ก็คือความจริงของมันที่มีอยู่ตามธรรมดา ธรรมชาติ เวลาพระพุทธเจ้าจะตรัสธรรมะ พระองค์เรียกว่า แสดง แสดงข้อความจริงก็เป็นของมันอย่างนั้นก็เอามาแสดง ทีนี้เราต้องการให้สังคมของเราเป็นอย่างไร ให้ชีวิตของเราเป็นอย่างไร เราจะเอาความจริงนั้นมาใช้ประโยชน์ เราก็มองเห็นว่าต้องทำอย่างนี้ๆ ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะเกิดผลดีขึ้นมา เราต้องการให้มีการปฏิบัติอย่างนั้นซึ่งสอดคล้องกับความจริงในทางที่เกิดผลดี เราไม่ต้องการให้เกิดการปฏิบัติที่ตรงข้ามที่เป็นเหตุปัจจัยนำมาซึ่งความเสื่อม เราก็เลยอาจจะมาตกลงกัน หรือใครมีอำนาจ ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา ก็มาพูดกันบอกกันว่าเอาอย่างนี้นะพวกเรา เพื่อให้สังคมของเราดีนี้ ชีวิตของพวกเราดี เราทำกันอย่างนี้ๆนะ ก็วางลงไปเป็นระเบียบ เป็นกติกาในสังคม ตั้งแต่อาจจะในชีวิต ในครอบครัว เป็นต้นไป ว่าทำอย่างนี้ๆนะ อันนี้ก็เลยกลายเป็นการจัดตั้ง วางแบบแผนขึ้นมา เรียกว่า ระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา อันนี้เราเรียกว่า บัญญัติ ก็เลยเป็นเรื่องของสังคมมนุษย์ที่ว่ามีการบัญญัติขึ้นมาเพื่อจะให้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาตินี้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมมนุษย์ หรือว่าเพื่อให้มนุษย์ปฏิบัติให้สอดคล้องกับความจริงของธรรมดาในทางที่จะเกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตนเอง อันนี้เรียกว่า บัญญัติ
บัญญัตินี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อบัญญัติมาก็เป็นระเบียบ เป็นกฎ เป็นกติกา เป็นเรื่องของรัฐก็เป็นกฎหมาย ถ้าเป็นของพระ ท่านก็เรียกว่า วินัย วินัยก็เกิดมาจากอันนี้เอง ฉะนั้นก็มีคำคู่ว่า หนึ่ง ธรรมะ ความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ สอง วินัย ข้อบัญญัติของมนุษย์ ก็เรามาใช้เป็นกฎหมาย แต่วินัยในภาษาไทยอาจจะความหมายไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นัก ทีนี้ศัพท์สำหรับวินัยก็เลยเรียก บัญญัติ คนบัญญัติวินัย แต่ว่าในธรรมชาติมันมีธรรมะของมันอยู่ แต่สองอันนี้ต้องสอดคล้องซึ่งกันและกัน ก็คือ วินัยต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ ถ้าหากว่ามนุษย์ไม่เข้าใจความจริงของธรรมชาติเพียงพอ เรียกว่าปัญญาเข้าไม่ถึงความจริงนั้น แม้จะมีเจตนาดี ต้องการผลดี ปรารถนาดี มีเมตตา เป็นต้น แก่สังคมของตน ก็มาวางบัญญัติ กฎ กติกา ระเบียบ แบบแผน ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้แต่ไม่สอดคล้องกับความจริงแท้นั้น ก็เกิดความผิดพลาดไม่ได้ผลจริง ทีนี้ก็เลยเป็นอันว่าต้องให้ทั้งสองอันนี้มาสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ตกลงว่ามี หนึ่ง ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ เรียกว่า ธรรม และสองก็คือ การนำเอาความรู้ในความจริงของธรรมชาตินั้นมาวางเป็นกติกา เป็นระเบียบแบบแผนในสังคมมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ปฏิบัติโดยสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้นให้เกิดผลดีแก่ชีวิต และสังคมของมนุษย์ เรียกว่าเป็นเรื่องของวินัย พระพุทธศาสนาก็เลยมีหลักสองอย่างนี้ เรียกพระพุทธศาสนาทั้งหมดว่า ธรรมวินัย เท่านี้เอง เป็นชื่อที่สั้นที่สุด ชื่อเดิมก็เรียกว่าธรรมวินัย คำว่าพระพุทธศาสนานี้เป็นคำที่ใช้แบบกว้างๆด้วยซ้ำ และก็มองไปก็ไม่ชัด ไม่เหมือนคำว่า พระธรรมวินัย ฉะนั้นสำหรับพระนี้จะใช้คำว่า พระธรรมวินัย เพราะว่ามันชี้ไปถึงตัวหลักเลย ว่ามันมีสองอันนี้นะ สองอย่างนี้รวมเป็นหนึ่ง เวลารวมท่านเรียกว่า ธรรมวินัย ใช้เป็นเอกพจน์ คือสองแต่ว่ารวมเป็นหนึ่งเดียว เหมือนอย่างชีวิตเรานี้มีรูปกับนาม เวลาท่านรวมกันแล้ว ท่านเรียกนามว่า (รู ปัง) ชีวิตคือนาม รูปคือด้านนามกับด้านรูป ด้านร่างกายกับด้านจิตใจ แต่ว่าคำรวมกันนั้นเป็นคำเอกพจน์ ก็คือชีวิตนี้ เหมือนกับเรื่องของธรรมวินัย อันนี้เป็นหลักการใหญ่ทีเดียว
จากอันนี้ เหมือนกับว่ามันเป็นเครื่องเตือนเราว่ามนุษย์นี้จะต้องพยายามเข้าถึงความจริงอยู่เสมอ การบัญญัติ จัดตั้ง วางระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ต่างๆนี้ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง ความเป็นจริงในธรรมชาติมันก็ออกมาสู่ความจริงในชีวิต ในสังคมมนุษย์ ที่จริงความจริงในสังคมมันก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาตินั่นแหล่ะ เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นต้น เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องพยายามเข้าถึงความจริงให้ได้ ถ้าเราไม่สามารถเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ของชีวิต ของสังคม แล้วเราจะมาบัญญัติกติกา กฎหมายอะไรนี้ ให้ได้ผลดีแท้นั้นเป็นไปได้ยาก มันก็ไม่สำเร็จผลจริง นี่ก็เลยสำคัญที่ หนึ่ง ปัญญา ปัญญาเป็นตัวเชื่อมต่อ พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลพิเศษที่ว่า หนึ่งมีปัญญารู้ความจริง คือรู้ธรรม รู้ธรรมชาติ ตามที่มันเป็นของมัน รู้ตามที่มันเป็น สองปัญญาที่รู้จัก คือมีความสามารถนั่นเอง ปัญญาที่รู้จักนำเอาความรู้ในความจริงของธรรมชาตินั้นมาจัดสรรสังคมมนุษย์ หรือแม้แต่การดำเนินชีวิตให้ได้ผลดี สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้น ความรู้ขั้นที่สอง ความรู้จักปัญญาที่สามารถมาจัดการจัดสรรต่างๆก็คือขั้นวินัยนี่เอง พอมีปัญญาสองขั้นนี้ก็เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่า สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ ที่เรียกว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ก็เพราะมีปัญญาสองขั้น ถ้ามีแค่ปัญญารู้ความจริงของธรรมชาติ รู้แล้วก็เกิดผลต่อตัวเองก็คือรู้เข้าใจความจริง ปัญญาก็ทำให้จิตใจของตัวเองนี้หลุดพ้นเป็นอิสระ อันนั้นก็ไปสอนคนอื่น ไปจัดตั้ง วางแบบแผน จัดสรรชุมชนให้เกิดประโยชน์แก่คนหมู่ใหญ่ไม่ได้ ได้ประโยชน์เฉพาะกับตัวเอง ท่านเรียกว่าเป็น พระปัจเจกพระพุทธเจ้า แต่ถ้าหากว่าสามารถไปเอาความรู้ ความจริงนี้ไปทำให้เกิดประโยชน์แก่หมู่มนุษย์จำนวนมากได้ก็เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีปัญญาสองระดับคือระดับธรรมะ กับด้านวินัย ทีนี้ก็เป็นเครื่องเตือนอย่างที่กล่าวแล้วว่ามนุษย์จะต้องพยายามเข้าถึงความจริงนี้อยู่เสมอ มิเช่นนั้นแล้วเรื่องของการจัดตั้ง วางระบบ ระเบียบ แบบแผนในสังคมมนุษย์จะเอาดีแท้จริงไม่ได้ ถ้ามันไม่สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ ซึ่งรวมไปถึงความจริงที่เป็นไปในชีวิต และสังคมของเรานี้ด้วย ชีวิตและสังคมของเราก็ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทั้งนั้นที่เราทำกันเป็นต้น ที่เราที่ท่านเรียกกันว่า กรรม ก็คือความจริงในชีวิตสังคมมนุษย์ที่มันมีตัวเจตนาเข้าไป ประสานเข้าไป แต่เจตนาก็เป็นธรรมชาติอยู่นั่นเอง ก็เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าตรัสข้อสำคัญก็คือ หนึ่ง ที่จะมีปัญญารู้ความจริงของธรรมชาติ ที่เรียกว่า ธรรม และสองมีปัญญาที่จะนำเอาความจริงนั้นมาดำเนินการจัดตั้ง วางระบบ ระเบียบ แบบแผนในสังคมมนุษย์ให้เกิดผลดี สอดคล้องกับความเป็นจริงนั้น
ทีนี้ พอเรามาสู่รายละเอียดในการดำเนินการของสังคมมนุษย์นี้ ผู้ที่จะทำหน้าที่นี้ที่สำคัญก็คือผู้ที่เป็นวงการตั้งแต่นิติบัญญัติเป็นต้นไป ทำอย่างไรถึงจะวางระเบียบ แบบแผน กติกาสังคม กฎหมายนี้ขึ้นมาให้มันดีกับสังคมประเทศชาติได้ ก็เราก็บอกว่าหนึ่ง ผู้ที่จะเป็นนักนิติบัญญัติจะต้องมีปัญญาที่รู้ความจริง แล้วก็มีปัญญาที่จะสามารถมาจัดตั้งวางระเบียบแบบแผนนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก มันเป็นตัววัดด้วย ว่าคนที่จะมาเป็นนักนิติบัญญัติที่ดี ทำได้สำเร็จ มีปัญญารู้เข้าใจความจริงตั้งแต่ธรรมชาติ แม้แต่ความต้องการในชีวิตมนุษย์ ชีวิตมนุษย์เป็นอยู่ดีคืออย่างไร ชีวิตมนุษย์ควรจะเป็นอย่างไร มีจุดหมายเพื่ออะไร สังคมที่ดีเป็นอย่างไร ตามที่เป็นจริง โดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ อะไรต่างๆเหล่านี้ ความจริงในแง่นี้แล้วด้านนิติบัญญัตินี้จะเป็นได้จริงนี้ต้องเป็นมนุษย์ชั้นเยอะ เลิศทีเดียว ปัญญาล้ำที่รู้ความจริงทั้งหมด ไม่งั้นจะมาจัดวางระเบียบแบบแผนอะไรให้เกิดผลกับสังคมได้อย่างไรในเมื่อตัวเองไม่รู้ว่าอะไรมันจะเกิดผลดี อะไรเป็นของดีจริง เหตุปัจจัยมันเป็นอย่างไร ก็ต้องเข้าถึงเหตุปัจจัยนั้น ฉะนั้นเป็นเรื่องใหญ่มากในทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่าถ้าปัญญาไม่ถึงอย่างพระพุทธเจ้าแล้วจะมาวางแบบแผนนิติบัญญัติให้สังคมดีนี้เป็นไปได้ยาก นี่เราก็ต้องยึดอุดมคติไว้เลยว่าคนที่จะมาเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนิติบัญญัตินี้จะต้องมีปัญญาที่เข้าถึงความจริงอย่างที่ว่า แล้วทีนี้มาดำเนินการในการจัดวางนิติบัญญัติ ก็ปัญญาระดับที่มาจัดตั้งวางระบบก็ต้องเก่งด้วยทั้งสองขั้น แต่มันไม่ใช่เท่านั้น อีกอันหนึ่งที่อยู่ในตัวมนุษย์ที่สำคัญก็คือเจตนา พอมาถึงขั้นดำเนินการของมนุษย์นี้ปัญญามันก็จะมาประสานกับอีกตัวหนึ่งก็คือเจตนา เจตจำนงค์ เจตนาของมนุษย์ผู้ที่จะวางระเบียบแบบแผน กติกาชีวิต กติกาสังคม ก็ต้องมีจุดหมายแน่นอนอยู่แล้วเพื่อให้ชีวิตดี สังคมดี เราต้องการให้สังคมเจริญมั่นคง มีความสงบสุข อยู่กันด้วยดี มีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน อะไรต่างๆเหล่านี้ เจตนานี้จะต้องมีอยู่เป็นจุดมุ่งหมาย เป็นความมุ่งมั่นที่แรงกล้าเลยทีเดียวในใจของผู้ที่จะทำหน้าที่บัญญัติจัดตั้ง วางกฏ กติกาสังคม ว่าที่เราทำนี้ใจเรามีเมตตาปรารถนาดีต่อชีวิตมนุษย์ ต่อสังคมมนุษย์ และก็มีจุดหมายเพื่อสร้างสรรค์ อันนี้ก็เลยเป็นเรื่องใหญ่อีกด้านหนึ่งที่มันเข้ามาสู่แดนที่เราเรียกกันว่า จริยธรรม ก็คืออันที่หนึ่ง ปัญญา ปัญญานี้ต้องมีเป็นแกนไว้ และสองก็คือต้องมีเจตนาที่ดี เจตนาที่ประกอบด้วยคุณธรรม มีเมตตากรุณา เป็นต้น ที่บริสุทธิ์ สะอาด ไม่มีความโลภ ไม่มีความปรารถนาที่เห็นแก่ตนเป็นต้น ไม่มีจุดมุ่งหมายแอบแฝง เจตนาแอบแฝง อะไรต่างๆเหล่านี้ นิติบัญญัติแน่นอนเลยต้องมีอันนี้ ถ้าได้สองอัน หนึ่ง ปัญญา ก็เข้าถึงจริงๆ เข้าถึงความจริง แล้วเจตนาก็บริสุทธิ์ สะอาด ก็จะได้ผลดีที่สุดในการวางระเบียบแบบแผน กติกาสังคม ก็ตัวสองตัวเท่านั้นเอง เมื่อกี้นี้เราพูดถึงธรรมะกับวินัย คราวนี้มาถึงในตัวคนผู้จะดำเนินการก็มีปัญญากับเจตนา ถ้าได้สองตัวนี้มันไปวัดแทบทุกอย่างเลยไม่ว่าไปในกิจการอะไรทั้งสิ้น หนึ่งต้องมีปัญญารู้ความจริง สองต้องมีเจตนาที่บริสุทธิ์มีคุณธรรมประกอบอยู่ มีความตั้งใจดี มีจุดมุ่งหมายที่ดี ทำเพื่อผลดี มีความมุ่งมั่น ปรารถนาดี จะเรียกอุดมคติ อุดมการณ์ หรืออะไรก็แล้วแต่มันก็อยู่ในเรื่องเจตนาทั้งหมด อันนี้ที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าไปทำอะไรก็ต้องมีสองอัน มีปัญญาแต่เจตนาไม่ดี มีความรู้เข้าใจความจริงแต่เจตนาไม่ดี เจตนาเป็นโลภะ ปรารถนาประโยชน์ส่วนตัว หรือมีเจตนาประกอบด้วยโทสะ ความโกรธ ความประทุษร้าย การเบียดเบียน มุ่งมั่นทำการเบียดเบียนผู้อื่นอะไรอย่างนี้ หรือประกอบด้วยความหลงเป็นต้น ก็จัดการในเรื่องตั้งแต่นิติบัญญัตินี้ไม่ถูกต้องแล้ว ก็เสียหายหมด ฉะนั้นก็ต้องมาประสานกันระหว่างปัญญากับเจตนา อันนี้ก็เลยเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาอันหนึ่งว่าเราจะทำอย่างไรให้บุคคลที่เข้ามาสู่แดนของการเริ่มตั้งแต่บัญญัติกฎหมายนี้มีปัญญา และเจตนาที่ดีที่สุด แล้วต่อไปมาถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับกฎหมายก็จะต้องเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นเหมือนกัน
ส่วนประกอบ หรืออำนาจสำคัญสามประการของรัฐ เราเรียกว่านิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ก็อิงอยู่กับเรื่องของกฎกติกาสังคมนี้เอง ก็คือเริ่มที่ว่าเรามาตกลงกัน เราใช้ความรู้ จริงๆก็คือความรู้ในธรรม หรือในความจริงนี้มาบัญญัติจัดวางระเบียบ แบบแผน กฎ กติกา จัดตั้ง วางระบบอะไรต่างๆแล้ว ทีนี้พอมาฝ่ายผู้บริหารก็มาทำตามระบบ แบบแผน กติกานั้น ทำให้การทั้งหลายในรัฐนี้เป็นไปตามกฎกติกา เช่น กฎหมายที่ตั้งไว้ ก็จะต้องประกอบด้วยปัญญาเช่นเดียวกัน และก็เจตนาก็เช่นเดียวกัน สองอันนี้ต้องแน่นอน ที่เราเถียงกันเรื่องจริยธรรมต่างๆนี่มันก็ไม่ค่อยครอบคลุม คือในทางพระที่จริง ขออภัยคำว่าจริยธรรมนี้ไม่ได้ใช้ ศัพท์ว่าจริยธรรมนี้เป็นศัพท์ฝรั่ง คือเป็นศัพท์บัญญัตินั่นเอง ศัพท์ไทยแหล่ะแต่บัญญัติเพื่อเทียบกับศัพท์ฝรั่งว่า Ethics ซึ่งบัญญัติ อาตมาภาพว่าประมาณสัก 30 กว่าปีนี้เอง สมัยก่อนเราไม่มีคำว่าจริยธรรม แต่เรามีคำว่าพรหมจรรย์ หรือ พรหมจริยะ พระพุทธเจ้าประกาศพรหมจริยะ เรียกพระพุทธศาสนาว่า พรหมจริยะ จริยะตัวเดียวกันนี้แปลว่าจริยะอันประเสริฐ พรหมตัวนั้นเป็นตัวประกอบเป็นคุณศัพท์เท่านั้นเอง จริยะนั่นเอง จริยะจะมีธรรมหรือไม่มีก็ได้ ธรรมะเป็นตัวศัพท์ที่มาเสริมใส่เข้าไปเท่านั้นเอง จะไปใส่อะไรก็ได้ ทุกอย่างมันเป็นธรรมะอยู่แล้ว ทีนี้มันเป็นเรื่องจริยะ จริยะก็มาจากจะระ แปลว่าจร จรก็คือเดิน เดิน ทางรูปธรรมก็เดินทาง ทีนี้มาใช้ทางนามธรรมก็เดินทางชีวิต เดินทางชีวิตก็ดำเนินชีวิต เรื่องของมนุษย์ก็คือการดำเนินชีวิต แล้วจากดำเนินชีวิตของแต่ละคนก็ไปรวมกันเป็นสังคม เพราะฉะนั้นระบบของการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ทั้งหมดท่านเรียกว่าจริยะ แปลว่าการดำเนิน หรือการเดินทางชีวิต การดำเนินชีวิต จริยะนี่ก็ประกอบด้วยทั้งกาย วาจา ใจ และปัญญา ซึ่งในทางจริยธรรมปัจจุบันนี้ อาตมาภาพว่าไม่ครอบคลุม เพราะจริยธรรมปัจจุบันนี้จะเน้นด้านสังคม ด้านความประพฤติต่อกัน การปฏิบัติต่อกันในสังคมมากกว่า ในทางจริยะนั้นมันทั้งชีวิต การดำเนินชีวิตมันก็ต้องมีทั้งกาย วาจา ที่เรามาใช้ว่าเมื่อดำเนินไปด้วยดีมันเป็นศีล แล้วก็จิตใจก็เรื่องสมาธิ และก็เรื่องปัญญา ต้องครบหมดนี้เรียกว่าจริยะ ทีนี้เราต้องการจริยะที่ดี ที่ประเสริฐ ท่านก็ให้เอาให้ครบนี้ เรื่องของมนุษย์นี้ก็เป็นอันว่าเราต้องมาปฏิบัติให้ถูกต้อง มันก็เป็นระบบ เดี๋ยวนี้ก็มาเน้นกันเรื่ององค์รวม ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเราเว้าๆแหว่งๆ แยกส่วนไป เอาจริยธรรมก็ไปมองแค่การประพฤติปฏิบัติภายนอก แล้วเสร็จแล้วไปพูดกันไปกันมาว่าไม่ได้นะ จริยธรรมเป็นความประพฤติทั่วไป มันต้องมีจิตใจด้วย ไม่ได้ๆ ต้องเติมคุณธรรม ตกลงต้องมีคุณธรรมและจริยธรรม ต่อไปพระบอกว่าคุณธรรม จริยธรรม ไม่พอหรอก คุณธรรมมันจะอยู่ได้ดีจิตใจต้องมีความสุข ถ้าคนไม่มีความสุขจิตมันดิ้นรน มันมีความทุกข์นี่มันดำรงจริยธรรมความดีอยู่ไม่ไหวนะ เพราะฉะนั้นต้องให้มีความสุขด้วย ตกลงว่าคุณธรรม จริยธรรมไม่พอ ต้องมีความสุขด้วย ต่อไปจัดสัมมนาก็ต้องบอกว่า โครงการอบรมเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และความสุข แต่ต่อไปพระท่านบอกว่าคุณธรรม จริยธรรม และความสุขมันก็ไม่พอ มันต้องมีปัญญาบอกนะ ถ้าปัญญามันบอกผิดว่าผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้ก็ได้ใช่มั้ย เพราะฉะนั้นที่ว่าบางคนก็สุขแบบโง่ๆก็มี ขออภัยเถอะ แล้วก็คุณธรรมก็ปฏิบัติไปด้วยโง่ๆ เมตตากรุณาโง่ๆ อะไรนี้ได้หมด จริยธรรมก็โง่ๆไปไม่รอด พาสังคมเสียหายหมด เพราะฉะนั้นก็ต้องมีปัญญาด้วย ตกลงไม่พอหรอกที่พูดกันปัจจุบันนี้ อาตมาภาพว่าเราคิดว่าพลาดไปนานแล้ว ต้องสะสางกันแล้ว เรียกคุณธรรมบ้าง คุณธรรมจริยธรรมบ้าง อะไรก็ไม่รู้ ตอนนี้ยังไม่ค่อยถึงความสุขเลย วงการศึกษาเอาแล้วตอนนี้ บอกว่าต้องเก่ง ดี และมีความสุข นี่เอาแล้วความสุขมาแล้ว แต่ว่าปัญญาก็ต้องการ ในการศึกษาก็ต้องการปัญญา แต่เสร็จแล้วตัวปัญญาก็ไม่มาบูรณาการเข้าชุดนี้ เราก็เลยเอาปัญญาไปอยู่ที่เก่งอะไรแบบนี้ แล้วไปแทรกๆไม่ชัด เก่งพลศึกษาอาจจะไม่เก่งปัญญานักก็ได้ เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ชัดสักอย่าง พระท่านก็เลยบอกว่าเอาให้มันครบ มันต้องมีชัดกันไปเลย
ระบบมันต้องมีที่ว่า กาย วาจา ใจ ปัญญา ต้องครบ หรือถ้าพูดเป็นไตรสิกขาก็ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็ออกมาทางกาย วาจา ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม กับธรรมชาติ แล้วก็จิตใจ แล้วก็ปัญญา มันต้องเป็นระบบแล้วนี่ก็เน้นบูรณาการมันก็ต้องมาบูรณาการกันให้เป็นองค์รวมจริงๆเสียที ในวงการต่างๆแม้แต่เรื่องรัฐก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะระดับรัฐนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องเป็นตัวอย่างในการบูรณาการ ก็กลับมาที่ว่าเมื่อก็เป็นว่าปัญญากับเจตนาเป็นเรื่องใหญ่มากที่มันเป็นตัวเชื่อม เพราะตอนนี้เราต้องการเชื่อมธรรมชาติ ความจริงที่เป็นอยู่ตามธรรมดาที่ว่าท่านว่าเอาแค่รู้ตามที่มันเป็นนี่แหล่ะ รู้ตามที่มันเป็นให้ได้ก็แล้วกัน แล้วเสร็จแล้วก็จากการรู้ตามที่มันเป็นนี่แหล่ะ คุณก็ตั้งเจตนาเอาสิ คุณมีปัญญาแล้วนี่รู้ว่าสังคมของเรา ชีวิตของเราจะดีอย่างไร เรารู้แล้วนี่ปัญญาตัวนี้ หนึ่งปัญญาเรารู้ เข้าใจความจริงของธรรมชาติ และสองปัญญาเรารู้ว่าชีวิตจะดี สังคมจะดีมันควรจะเป็นอย่างไร เราก็ตั้งเจตนาให้สอดคล้องกับปัญญาที่รู้นี้ เป็นเจตนาที่ดีงาม บริสุทธิ์ เป็นจุดหมายที่ดี แล้วก็เอาปัญญานั้นมา นำเอาความรู้ในความจริงมาจัดตั้ง วางระเบียบแบบแผน กฎกติกา ในสังคมมนุษย์ให้ดีขึ้นมา นิติบัญญัติถ้าวางได้ขั้นนี้ก็เรียกว่าเป็นฐานที่ดีที่สุดแล้ว ต่อไปนี้นักบริหาร คณะรัฐมนตรี ครม ก็มาเอานิติบัญญัตินี้ไปปฏิบัติการ ดำเนินการบริหารให้เป็นไปตามนั้น ก็ต้องมีปัญญาอีก ปัญญาที่รู้ความจริง เข้าใจความจริงของธรรมชาติ เข้าใจชีวิต เข้าใจสังคมมนุษย์ เข้าใจกิจการต่างๆ ความเป็นไปในสังคมมันเสื่อม มันเจริญ มันเป็นอย่างไร รู้ทั่ว เข้าถึงทั่วตลอดหมด รู้ เข้าใจ และก็มีเจตนาที่ดี เจตนาที่มุ่งหวังประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม บำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างที่เป็นหลักของประเทศไทยอยู่แล้ว ที่ว่าในหลวงเองทรงเป็นแบบอย่างว่า พอเสด็จขึ้นครองราชสมบัติพิธีบรมราชาภิเษกก็ประกาศว่า เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม อันนี้เป็นการประกาศเจตนาชัดเจนเลย เจตนาของนักปกครองก็คืออันนี้ ผู้บริหารประเทศชาติ ครม ก็ต้องมีอันนี้ เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม อันนี้คือเจตนาที่แน่นอน ต้องชัด และต้องมั่นในเจตนานี้ แต่ถ้าขาดปัญญาก็อาจจะพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีปัญญาแต่เจตนาไม่ดีก็กลายเป็นว่ามาสนองโลภะ ความปรารถนาส่วนตัว ประโยชน์ส่วนตัว แล้วก็โทสะการเบียดเบียนผู้อื่น การกลั่นแกล้งเขา โมหะความลุ่มหลง ฉะนั้นถ้าเจตนาดี ปัญญาดี เป็นนักบริหารก็ดี
ทีนี้ก็มาถึงตุลาการ อาตมาภาพว่าก็เช่นเดียวกัน ก็ใช้หลักการเดียวกันนี่แหล่ะ ก็คือปัญญา รู้ อย่างน้อยก็รู้ในหลักการ ในระเบียบกฎเกณฑ์กติกา ในเรียกง่ายๆว่าวิชาการของตนเอง แต่ว่าถ้าที่จริงให้ดีก็ต้องรู้ความจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง รู้ธรรมชาติ รู้ธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ รู้ธรรมชาติของสังคม รู้ความเป็นไปของสังคม รู้ความเคลื่อนไหวของโลก ทันต่อสถานการณ์ ที่จริงทุกอย่างที่เป็นความจริงนั้นเป็นองค์ประกอบที่จะต้องรู้ ที่จะมาเป็นส่วนช่วยในการทำงานทั้งสิ้นเลย นี่ก็ความรู้ความจริงหรือปัญญา ก็เป็นตัวที่หนึ่งแน่นอน แล้วก็โดยเฉพาะรู้ในเรื่องคดีนั้นอย่างชัดเจน ถ้าปัญญาไม่รู้ตัวเรื่องคดีที่เกิดขึ้นชัดเจนแล้ว ก็มีหวังว่าอาจจะพลาดได้ง่าย ฉะนั้นก็จึงได้มีมาตรการมากมายเหลือเกินที่ว่า ทำอย่างไรเราจะได้ความจริงของเรื่องของคดีนี้ ทั้งฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย เหตุการณ์ที่มันเป็นไปนี้จะต้องหาความจริงให้ได้ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่ใกล้ชิดตัวก็คือว่าจะวางระบบแบบแผน กระบวนการอย่างไรให้ได้ความจริงนี้ ซึ่งเป็นตัวแก่นที่จะมาตัดสินให้มันถูกต้อง แล้วก็ต่อไปก็ความจริงในส่วนที่กว้างออกไปทั้งหมด ยิ่งรู้เท่าไหร่ยิ่งดี แม้แต่ความจริงเกี่ยวกับชีวิตจิตใจของมนุษย์ โจทก์จำเลยก็เป็นมนุษย์มีจิตมีใจมีสุขมีทุกข์ก็ต้องเข้าใจหมด ความรู้เหล่านี้เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น ก็ปัญญารู้แล้ว เจตนาก็แน่นอน ท่านผู้พิพากษาต้องมีเจตนาที่มุ่ง ที่จะให้ความเป็นธรรม ที่จะเอาความถูกต้อง มุ่งสู่ความถูกต้องก็คือความยุติธรรม ความเป็นธรรม เจตนานี้เป็นเจตนาที่ชัดเจนและก็ต้องเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ ได้สองตัวนี้ก็เป็นหลักยันแล้ว ถ้าเจตนาดีแต่ปัญญารู้ไม่จริงไม่เข้าถึงความจริงก็ตัดสินผิดอีก ปัญญารู้จริงแต่เจตนาพลาดก็แน่นอนไปแน่ๆ ทีนี้ในทางธรรมมท่านถือว่าถ้ามนุษย์นี้มีปัญญาถึงที่สุดแล้วมันมาแก้ปัญหาแม้แต่เจตนา คือพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ก็ด้วยปัญญารู้สัจธรรม พอรู้ความจริงถึงที่สุด รู้ชีวิต รู้สังคม รู้ธรรมชาติถึงที่สุด จบบริบูรณ์แล้วกิเลสมันหมดไปเอง ไม่ต้องมีตั้งเจตนามันดีเอง คือปัญญามันทำให้จิตนี้บริสุทธิ์ ท่านเรียกว่าเป็นอิสระ พอจิตมันเป็นอิสระแล้วเจตนามันไม่ต้องตั้งแล้ว คือมันเป็นไปเองอย่างนั้น มันควรจะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นอย่างนี้ รู้หมดแล้วทุกอย่างว่าธรรมชาติเป็นอย่างไร สิ่งที่เสื่อม สิ่งที่เจริญมันเป็นอย่างไร เข้าใจหมดแล้ว แล้วความรู้ก็พาไปเองเลยว่าจะต้องจัดการอย่างนี้ ตัดสินอย่างนี้ บอกอย่างนี้ พูดอย่างนี้ สอนอย่างนี้ มันไปเอง
ทีนี้สำหรับมนุษย์ปุถุชนนี้จะต้องตั้งคู่อันนี้ มันยังประสาน มันยังมารวมเป็นอันเดียวไม่ได้ ก็ต้องตั้งสองอันนี้ยันกันให้ดีๆ ก็คือปัญญานี้ต้องเอาไว้ตรวจสอบว่ามีปัญญาแน่ดีรึเปล่า แล้วก็สองเจตนานี้บริสุทธิ์ดีแน่รึเปล่า สองอันนี้ต้องคู่เคียงกันไปให้ได้ เวลานี้สังคมของเราอาตมาภาพว่ามีปัญหาทั้งสองข้อเลย ทั้งปัญญาและเจตนา และโดยเฉพาะที่เรามาเน้นเรื่องจริยธรรมก็ด้านเจตนานี้ เจตนาจะมีปัญหาอย่างมาก เราก็พูดกันถึงเรื่องนักการเมือง เรื่องอะไรที่ประชาชนไม่ค่อยสบายใจกับปัจจุบันนี้ก็เพราะเรื่องเจตนานี่ เราไม่ค่อยแน่ใจกับท่านทั้งหลายว่าท่านมีเจตนาที่ดีมั้ย มีเจตนาบริสุทธิ์มั้ย มีมุ่งเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน ประเทศชาติจริงหรือไม่ ก็พูดกันตามเป็นจริงนะ อันนี้ไม่ได้ว่ากล่าว ก็คือประชาชนรู้สึกอย่างนี้จริงๆและเหตุที่ทำให้ประชาชนเขาพูดจาอะไรต่ออะไรกันมันก็เป็นเพราะอย่างนี้ เกิดเช่นว่าสงสัยในเจตนา ไม่แน่ใจ อย่างน้อยก็ไม่แน่ใจในเจตนา นี่ถ้าเขาเกิดความแน่ใจในเจตนาว่าท่านผู้นี้จะเข้ามาสู่วงการนิติบัญญัติ เข้ามาสู่วงการบริหาร อะไรต่างๆ มีเจตนาดีแน่นอน ศรัทธาเกิดทันที แล้วพอรู้ว่าท่านผู้นี้มีปัญญารู้เข้าใจความจริงด้วย รู้จักสังคมไทยชัดเจนอะไรต่างๆ มีความรู้วิชาการอะไรต่างๆดีนี้ศรัทธาก็แน่นเลย ฉะนั้นตัวสำคัญสองอันยืนเป็นหลักเลยคือปัญญากับเจตนา