แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เมื่อมาทางนี้แล้วคิดอยากจะถามก็นิมนต์ ถ้าไม่มีเราก็คุยกันต่อ
** ถาม
ก็อยากถามทางท่านเจ้าคุณฯ อาจารย์ว่า เกี่ยวกับเรื่องของขันธ์ 5 ที่สำคัญโดยเฉพาะเกี่ยวกับในเรื่องของการปรุงแต่ง หรือการปฏิบัติว่าจะมีความสัมพันธ์กันในลักษณะไหน รวมทั้งเรื่องของไตรลักษณ์เรื่องของด้านอริยสัจ 4 ครับ
*** ตอบ
โอ้โฮ นี่ถามทีเดียวหมดเลยนะ ครอบคลุมหมด เพราะว่าถามเรื่องขันธ์ 5 นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ว่ากันนาน แต่ถ้าเราจะพูดโดยรวบรัด ตอนนี้ท่านถามโดยโยงไปเรื่องอริยสัจด้วย ความจริงหลักอริยสัจนั้นเป็นหลักใหญ่ที่สุด เป็นหลักที่เรียกได้ว่าครอบคลุมธรรมะในพุทธศาสนาทั้งหมด
อย่างเราจะพูดถึงว่า อ้าว พระพุทธศาสนาสอนอะไร หรือว่า แม้แต่ถามว่า หัวใจของพุทธศาสนาว่าอย่างไร เรามีวิธีตอบหลายอ่าง แต่ทุกคำตอบจะรวมลงได้ในอริยสัจ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น บางท่านก็บอกว่า หัวใจของพุทธศาสนา คือ ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ อันนี้อยู่ไหน อันนี้ก็อยู่ในมรรค เมื่อรวมเข้าในอริยสัจเนี่ย เราเอาอริยสัจมาตั้ง ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส นี่คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ก็คือการสรุปของมรรคมีองค์ 8 มรรคมีองค์ 8 เนี่ย สรุปได้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เคยคุยอยู่บ้างแล้ว ฉะนั้นที่ว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนา ที่เราพูดในวันมาฆบูชาอาจจะพูดเป็นภาษาบาลีก็ได้ “สพฺพปาปสฺส อกรณํ (สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง) กุสลสฺสูปสมฺปทา (กุสะลัสสูปะสัมปะทา) สจิตฺตปริโยทปนฺ (สะจิตตะปะริโยทะปะนัง)” อันนี้ก็อยู่ในข้อมรรค หรือบางท่านก็อาจจะบอกว่า อ้างพุทธพจน์ได้ด้วยว่า ทั้งในก่อนและบัดนี้ เราสอนแต่ทุกข์และความดับทุกข์ ก็อันนี้ก็คืออริยสัจโดยตรงเลย ทุกข์ก็โยงไปหาสมุทัยด้วยในกรณีนี้ ความดับทุกข์ก็โยงไปหามรรคด้วย หมายความว่าเอาตัวเป้าหมาย ทุกข์นี้เป็นตัวปรากฏ เป็นผลของสมุทัย เมื่อเราพูดถึงทุกข์ก็ต้องโยงไปหาสมุทัยโดยตรง และก็พูดถึงความดับทุกข์ ก็ตัวนิโรธ ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยมรรค ก็เลย เวลาพูดถึงการดับทุกข์ ก็มีความหมายแฝงอยู่ถึงมรรคด้วย ก็เลยหมายถึงอริยสัจ 4 หรือบางท่านก็อาจจะอ้าง “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย (สัพเพธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ)” ธรรมทั้งปวงไม่อาจจะถือมั่นได้ หรือไม่ควรแก่การยึดมั่น คือ ไม่อาจจะถือมั่นน่ะ มันก็เป็นของมันตามธรรมชาติ มันไม่เป็นไปตามใจเรา เราไปยึดมันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น นอกจากว่าบีบคั้นตัวเองให้เกิดทุกข์ อันนี้ก็อยู่ในเรื่องของการพูดถึงสภาวะ ความเป็นจริงซึ่งโยงมาหาความหลุดพ้นของจิตใจที่รู้ด้วยปัญญา สภาวะมันก็เป็นของที่ยึดมั่นไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมันเป็นไปตามธรรมดาของมันเอง อันนั้นก็เป็นสภาวะ แม้จะทุกข์ อะไรก็อยู่ในนี้ด้วย ทีนี้พอบอกว่าเป็นสภาพจิตของเราที่เป็นอิสระ มันก็กลายเป็นนิโรธไป มันก็ได้ทั้ง 2 อย่าง คือ หมายความว่า พูดถึงอันหนึ่งมันโยงไปถึงอันหนึ่ง แล้วมันก็ชี้ไปสู่ข้อปฏิบัติว่า ในเมื่อสิ่งทั้งหลายมันไปตามธรรมดาของมัน มันอยู่ตามสภาวะของมันนี่ เราจะไปยึดมั่น มันก็ไม่เป็นไปตามใจเรา เราก็ต้องรู้ไปตามความเป็นจริง ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัย เป็นต้น มันก็เล็งมาถึงการปฏิบัติของตัวเรา และต้องเป็นอยู่ด้วยปัญญา จะไปเอาตัณหา อุปาทานมายึดมั่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นด้วยพุทธพจน์เพียงแค่ “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย (สัพเพธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ)”เนี่ย มันก็โยงไปหาทั้งสภาวะความเป็นจริง ทั้งข้อปฏิบัติ หมดจนกระทั่งได้ผลสำเร็จ ก็คือ สภาวะจิตของเราเองที่หลุดพ้น จนกระทั่งว่า อ๋อ รู้ความเป็นจริงและจิตมันไม่ยึดมั่นเอง ฉะนั้นก็จะพูดถึงหลักไหนมันก็มาโยงถึงกันหมด หรือจะพูดถึงแค่ว่า ขันธ์ 5 ขันธ์ 5 เนี่ยก็เป็นเหมือนกับความหมายของทุกข์ ซึ่งเป็นข้อแรกในอริยสัจ อย่างเวลาพระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องอริยสัจ 4 ว่าทุกข์เป็นไฉนหรือเป็นอย่างไร สมุทัยเป็นอย่างไร นิโรธเป็นอย่างไร มรรคเป็นอย่างไร ตรัสว่า ทุกข์ว่าชาติปิทุกขา เป็นต้น มาในที่สุดก็จะลงว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ว่าโดยสรุปหรือโดยรวบรัด ขันธ์ 5 อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน นั่นแหละทุกข์ ฉะนั้นก็คำไขความของคำว่าทุกข์ ก็คือขันธ์ 5 เวลาศึกษาเรื่องทุกข์ ก็คือศึกษาเรื่องขันธ์ 5 ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เหมือนอย่างแพทย์จะศึกษาเรื่องการรักษาเยียวยาบำบัดโรค โรคเกิดที่ไหน เกิดที่ร่างกาย ก็ต้องศึกษาร่างกาย ต้องศึกษาสรีระวิทยา ศึกษากายวิภาค เพราะว่าไม่รู้เรื่องร่างกายแล้วจะไปแก้ไขบำบัดโรคได้อย่างไร ก็เหมือนกับเราเรียนเรื่องขันธ์ 5 ขันธ์ 5 นั้นเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ทุกข์เกิดที่ไหนก็อาศัยขันธ์ 5 การปฏิบัติผิดต่อขันธ์ 5 เหมือนกับการปฏิบัติผิดต่อร่างกาย หรือว่าร่างกายไม่ปฏิบัติดำเนินไปตามที่มันควรจะเป็น นั่นก็พอพูดถึงเรื่องขันธ์ 5 โยงไปหาอริยสัจ ก็พูดง่ายๆ ก็บอกว่าก็ขันธ์ 5 ก็เป็นเรื่องของทุกข์อยู่ในอริยสัจข้อที่หนึ่ง
ทีนี้เรื่องไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์นั้นก็เป็นอาการลักษณะความเป็นไปของขันธ์ 5 นั่นแหละ ขันธ์ 5 ที่มันมีสภาวะเป็นอย่างนี้ เป็นรูปธรรม นามธรรม มันมีความเป็นไปอย่างไร มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นลักษณะของขันธ์ 5 อาการความเป็นไปของขันธ์ 5 ก็ไปอยู่ในไตรลักษณ์ ก็เป็นเรื่องเดียวกัน เราจะแยกส่วนว่าขันธ์ 5 เป็นอย่างไร ๆ อย่างไรนั้นไม่พอ ก็ต้องรู้ว่าขันธ์ 5 มันเป็นอย่างไร มันเป็นไปอย่างไร มันตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้น มันก็ขันธ์ 5 ก็ต้องโยงมาสู่ไตรลักษณ์ที่เราจะรู้จักขันธ์ 5 จริง มันก็จะรู้จักจริงไม่ได้ถ้าเราไม่รู้เรื่องไตรลักษณ์ เพียงว่าเอาขันธ์ 5 มาเรียงว่าเป็นอย่างนั้นๆ มันก็ตั้งนิ่งๆ อยู่ ทีนี้ความเป็นจริงนั้นคือ มันไม่นิ่ง มันมีความเปลี่ยนแปลง มีการเกิดดับ เพราะฉะนั้นลักษณะอาการของขันธ์ 5 ก็เป็นไตรลักษณ์ และเพราะมันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี่แหละ มันจึงไปถือมั่นไม่ได้ เพราะถือมั่นยึดมั่นก็เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้นมันก็เรื่องโยงกันไปหมด
ทีนี้มาพูดเรื่องขันธ์ 5 อย่างเดียวก่อน เข้าใจว่าทุกท่านก็รู้จักขันธ์ 5 ดีแล้ว ขันธ์ 5 มันก็คือเรื่องของชีวิตเนี่ย ที่เราต้องการจะเข้าใจมันตามเป็นจริง จะมองให้ชัดวิธีหนึ่งก็คือการวิเคราะห์แยกส่วนให้เห็นว่ามันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง การที่จะเข้าใจอะไรวิธีหนึ่ง เริ่มต้นคือการแยกส่วนออกไปให้เห็นว่ามันเกิดจากอะไร ประกอบด้วยอะไร ความจริงขันธ์ 5 มันก็เป็นขั้นที่กระจายออกไป ซึ่งเป็นระดับที่ละเอียดมากขึ้นแล้ว แยกให้หยาบกว่านั้นก็มี ถ้าเรามองชีวิตหรือตัวคนนี่ ตอนแรกเรามักจะมองว่า เป็นรูปธรรม นามธรรมก่อน นั่นแยกง่ายๆ คนทั่วไปก็เข้าใจง่าย บอกว่ามีกายกับใจ เรียกภาษาพระว่ารูปกันนาม ด้านกายก็เป็นเรื่องรูป แล้วก็ด้านใจก็เป็นเรื่องนาม ทีนี้ว่าต้องการจะเข้าใจให้ลึกซึ้งกว่านั้นก็แยกต่อไปอีก รูปก็แยกเป็น เช่น แยกเป็นธาตุ 4 เมื่อยังไม่พอก็แยกต่อไปอีก แยกว่ารูป ธาตุ 4 นี้มันมาปรากฏตัวในอาการ มีคุณสมบัติต่างๆ กัน ทำหน้าที่ต่างๆ กัน กลายเป็น รูป ย่อย ๆ ย่อย ๆ ออกไป [11.43 นาที]
พวกนักอภิธรรมก็ต้องมาศึกษาแยกออกไป มหาภูตะรูป คือ ธาตุ 4 แล้วก็ไปแยกออกมา มาเป็นชีวิตร่างกายนี่ มาทำหน้าที่ต่างๆ มาเป็นอวัยวะต่างๆ อะไรพวกนี้ ก็เป็นรูปที่อาศัยธาตุเดิมนั้นมาปรากฏในรูปแบบต่างๆ เขาเรียกว่า รูป อุปาทายรูป รูปอาศัยพวกนี้ก็จะกระจายไปอีกและเป็นเรื่องใหญ่ แค่ศึกษาร่างกายอย่างเดียวก็ไปเยอะแยะ แต่ทีนี้ในทางธรรมะนี่ก็จะมาเน้นด้านจิตใจ ด้านนาม เพราะว่าด้านรูปนั้นน่ะ เหมือนกับเป็นที่อาศัย เป็นสิ่งจำเป็นต้องอาศัยร่างกาย อาศัยรูปธรรม แต่ว่าพอให้เข้าใจว่ามันมาเป็นที่อาศัยของด้านนามธรรมอย่างไร เราก็เลยมาเน้นว่า แยกรูปนี่พอให้รู้เข้าใจละว่านามมันอาศัยอย่างนั้น เช่น ว่าเป็นตา เป็นหู เป็นจมูก เป็นลิ้น เป็นกาย เป็นประสาทอะไรต่างๆ แบบนี้ก็ถือว่า ด้านกาย แยกออกไป รูปธรรม ทีนี้ว่า ตา หู มีไว้ทำไม อันนี้ล่ะตอนนามธรรมเข้ามาแหละ อันนี้ ถ้าไม่มีเรื่องนามธรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง ตา หู มันก็ไม่มีประโยชน์ [13.18 นาที]
อันนี้ก็เลยว่าต้องมาถึงเรื่องนามธรรม ก็เลยไปแยกด้านนามธรรม ก็เป็นอันว่าด้านนามธรรมนี้แยกออกไป ถ้าบอกว่าอย่างง่ายๆ ก็แยกเป็น 4 ส่วนเนี่ย ก็เลยมีรูปธรรมหนึ่ง เป็นอะไรก็แล้วแต่ ตอนนี้รวมเป็นหนึ่ง แล้วก็ด้านนามธรรมที่แยก 4 ก็เลยเป็น 5 รวมเป็นขันธ์ 5 ขันธ์ก็แปลว่ากลุ่มหรือกอง ก็แยกองค์ประกอบของชีวิตเนี่ย เป็น 5 ส่วน 5 หมวด 5 กอง เป็นฝ่ายรูปธรรม 1 เป็นฝ่ายนามธรรม 4 ตานี้ฝ่ายนามธรรมเนี่ย มันจะมีการทำงานที่ละเอียดอ่อนมาก และชีวิตของเรานี่ อย่างที่บอกเมื่อกี้ ใช้รูปธรรมเหมือนที่อาศัยของนามธรรมหรือทำงาน เพราะฉะนั้นเราก็เลยให้ความสำคัญด้านร่างกาย ในเรื่องของการที่จะเป็นอยู่ให้ดี ชีวิตประเสริฐจะพ้นจากทุกข์ อะไรเนี่ย อยู่ที่ด้านนามธรรมเป็นสำคัญ ส่วนด้านร่างกายก็เลยมอบให้คุณหมอ ให้แพทย์ไป แต่ว่าต้องเข้าใจนะว่ามันทำงานสัมพันธ์กับนามอย่างไร ทีนี้ก็มาดูด้านนามธรรม ที่ว่าแยกเป็น 4 ส่วน แยกเป็น 4 ส่วน ส่วนที่ยืนตัว มนุษย์เนี่ยสำคัญก็คือตัวรู้ ความรู้ต้องมีอยู่ ถ้าไม่มีความรู้อยู่เนี่ย อะไรต่ออะไรมันไม่เป็นไปหรอก จิตมันมีอันหนึ่ง คือ รู้ ถ้าเลิกรู้ก็ดับ ทีนี้ในความรู้นี่มันมีอะไรบ้าง มันก็จะมีองค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ก็มีความรู้สึกสบาย-ไม่สบาย ที่เรียกว่าทุกข์หรือสุข หรือไม่เช่นนั้นก็เพลินๆ เฉยๆ ด้านนี้เป็นด้านที่หนึ่ง ที่ง่ายๆ คือ มนุษย์เราเนี่ย จะมีเรื่องนี้เป็นธรรมดา คือ รู้สึกสบาย-ไม่สบาย สุข ทุกข์ เฉยๆ ซึ่งดูเหมือนมันไม่เยอะแยะ แต่มันเรื่องใหญ่สำหรับมนุษย์ คนเรานี้ที่อยู่เรียกว่าชีวิตของเรา ยิ่งปุถุชนนี่เหมือนกับว่าอยู่ก็เพื่ออันนี้ ดิ้นรน แสวงหา ทำอะไรก็เพื่อหาความสุขและก็หลีกหนีความทุกข์ อันนั้นมันเป็นแดนที่ว่าเหมือนกับว่าไม่ได้มากมายอะไร เอ๊ะ อะไรไม่เห็นยากเลย ก็เวทนา อันนี้คือเรียกว่าเวทนา ก็มีแค่ สุข ทุกข์ เฉยๆ แต่ที่จริงเรื่องใหญ่เลย แล้วมันจะไปมีผลต่อด้านอื่นๆ ของนามธรรมหรือจิตใจได้มาก
ก็เอาเป็นว่า นอกจากว่า รู้ ก็จะมีความรู้สึกประกอบอยู่ เวลาที่สบาย-ไม่สบายน่ะมีความรู้อยู่ด้วยรู้ ถ้าไม่รู้ความรู้สึกก็มีไม่ได้ สบาย-ไม่สบายด้านหนึ่งเนี่ย อันนี้เวทนา ส่วนตัวรู้นั้นก็เรียกว่าวิญญาณ ทีนี้อีกอันหนึ่งก็คือว่า เราเวลาเรามีการรับรู้เนี่ย ซึ่งมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และรวมทั้งความคิด การนึกอยู่ในใจเนี่ย มันจะมีอันหนึ่งก็คือว่า มีเรื่องการกำหนดหมายข้อมูล สิ่งที่เรารู้เราจะเห็นก็ตาม ได้ยินก็ตาม มันจะมีการหมายรู้ หรือกำหนดลักษณะ อาการที่เรียกว่า เห็น มันก็จะมีว่าเป็นสี เขียว ขาว ดำ แดง เหลือง หรือเห็นทรวดทรง เขียว แล้วก็ยังมี สี่เหลี่ยม กว้าง ยาว หนา บาง อะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่ก็เป็นเรื่องของการกำหนดหมายข้อมูล เสียง ก็มีเสียงเบา เสียงทุ้ม เสียงแหลม เสียงคน เสียงสัตว์ อะไรพวกนี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ ได้อีกแดนหนึ่งเลย แดนข้อมูล แดนกำหนดหมาย ก็อันนี้แหละเป็นตัวสำคัญที่เราจะเอาไปใช้ในกระบวนการของจิตใจ นามธรรมต่อไป
ทีนี้อันที่ 3 ก็ได้นะ ถ้าเราเอาวิญญาณความรู้ ที่เป็นตัวหลักนี่เป็นหนึ่งเป็นพื้นอยู่ แล้วก็มีความรู้สึกที่สบาย-ไม่สบาย เป็นเวทนา และก็ตัวนี้ที่กำหนดหมาย ว่า เขียว ขาว ดำ แดง กว้าง ยาว เหลี่ยม กลม เสียงดัง เสียงทุ้ม เสียงแหลม เสียงคน เสียงสัตว์ เสียงนก เสียงกา อะไร รสหวาน เปรี้ยว มัน เค็ม อะไร เป็นต้น นั่นน่ะ อันนี้ก็เป็นสัญญา สัญญากำหนดหมาย ซึ่งทำให้เราได้ข้อมูลไว้ ต่อไปก็พอได้อย่างนี้แล้วก็จะมีตัวใหญ่อันหนึ่งเข้ามา ก็คือว่าพอเรามีข้อมูล สัญญา เก็บหมายมาเป็นอะไรแล้ว เราก็มี เช่น ความรู้สึกสบาย-ไม่สบาย อันนี้พอเรารับรู้ปั๊บเราก็สบาย เช่น เห็นรูปอะไรที่สวยงามก็สบายเกิดเวทนา เป็นสุข เวทนาเป็นสุข ตอนนี้กระบวนการของจิตเริ่มแล้ว อ้าว! สบายก็เกิดปฏิกิริยาต่อ ชอบใจ พอชอบใจก็เข้าสู่การทำงานของจิตเลย ตอนรับ สุข สบาย ทุกข์ ไม่สบาย นี่ยังเป็น เขาเรียกว่า ถ้าใช้ภาษาอังกฤษก็เรียกว่า passive (แพสซีฟ) ฝ่ายรับ พอชอบใจนี่ action (แอกชัน) เกิดแล้ว การกระทำของจิตเกิด ก็เข้าสู่สังขาร เป็นการกระทำแล้วตอนนี้มีแอกชันแล้ว เวทนานี่มันไม่ใช่ขอบใจ เวทนานี้ไม่มีแอกชัน เป็นฝ่ายรับ มาที่หมดที่นี่เรียกว่าสังขาร เริ่มตั้งแต่ว่ามีปฏิกิริยาว่า สบาย ชอบใจ พอชอบใจก็เกิดสังขารขึ้นแล้ว ถ้าไม่สบายก็ปฏิกิริยาเกิด ไม่ชอบใจก็สังขารเหมือนกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้ที่ต้องกำหนดให้ดี ทีนี้พอเกิดชอบใจ-ไม่ชอบใจก็หมายความว่ามีอาการกระทำของจิตขึ้นแล้ว ซึ่งมีผลแล้ว กระเทือนแล้ว และจะมีความขุ่นมัวเศร้าหมองอะไรต่างๆ เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้พอเริ่มชอบใจ มันก็จะมีการเคลื่อนคืบหน้าต่อว่าชอบใจก็อยากได้ อยากเอา อาจจะคิดว่าทำอย่างไรจะได้ แล้วก็อาจจะออกมาทางกายเคลื่อนไหวไปหยิบไปเอา หรือเคลื่อนไหวทางวาจา พูดขอเขาหรืออะไรก็แล้วแต่ และก็อาจจะมีการขัดแย้ง อาจจะมีไปต่างๆ เกิดการขัดขวางไม่ได้ตามชอบใจก็โกรธ แล้วก็ต่อสู้กันหรืออะไรไปต่างๆ กระบวนการทั้งหมดนี้ที่มีแอกชันในจิตใจเนี่ย เรียกว่าสังขาร [22.00 นาที]
ทีนี้เรื่องของมนุษย์เนี่ย มันก็มีอยู่ว่าเท่านี้ ชีวิตของเราก็มี อ้าว เวลาเกิดอะไรขึ้นมามันก็ขันธ์ 5 มันก็ทำงานอย่างนี้ เหมือนอย่างได้ยินเสียง อาจจะเคาะระฆังขึ้นมา ตีกระดิ่งอะไรตัวเล็กๆ แก๊งอย่างนี้ พอตีแก๊งขึ้นมาก็ได้ยิน ได้ยินก็เป็นวิญญาณ เพราะเป็นความรู้อย่างหนึ่ง ความรู้ทางหูก็คือเรียกว่าได้ยิน และความรู้ทางตาก็เรียกว่าเห็น พอตีระฆัง ตีกระดิ่งอะไรเนี่ย แก๊ง ก็เป็นอันว่าได้ยิน เกิดวิญญาณทางหู เรียกว่าโสตวิญญาณ แล้วก็รู้สึกสบาย-ไม่สบาย เอ้อ เสียงมันเพราะสบายหู เป็นสุขก็เป็นเวทนา หรือแสบแก้วหูก็เป็นทุกขเวทนา แต่มันก็เป็นเวทนา และก็กำหนดหมายได้ว่า เอ้อ เสียงแหลม เสียงทุ้ม เสียงเพราะ เสียงระฆัง อันนี้ก็เป็นสัญญา และก็พอเสียงมันเพราะเกิดชอบใจ ทางพระเรียกว่ายินดีหรือไม่ชอบใจเรียกว่ายินร้าย ภาษาโบราณเวลาแปลเจอในคำแปลภาษาบาลี มันก็จะเจอ เรียกว่า ยินดียินร้าย ก็คือ ชอบ-ชัง นั่นแหละ ชอบใจ-ขัดใจ อันนี้เป็นสังขาร และจุดนี้ก็คือเรียกว่าเกิดตัณหาแล้ว จุดที่ชอบใจ-ไม่ชอบใจ ยินดี-ยินร้ายเนี่ย คือ ตัณหา ตัณหาก็อยู่ในพวกสังขาร เป็นอาการและการกระทำของจิตใจเกิดขึ้นแล้ว แล้วต่อจากนี้ก็กระบวนการคิดมักจะเป็นไปตามนี้ ก็คือว่าพอชอบใจก็คิดไปยาว ถ้าไม่ชอบใจก็คิดไปยาว กระบวนการคิดทั้งหมดเนี่ยมาจากเรื่อง ชอบใจ-ไม่ชอบใจเนี่ยเป็นสำคัญว่า เพราะฉะนั้นปฏิกิริยาอันนี้ถ้าเกิดขึ้นแล้วเนี่ย มันจะเป็นตัวนำทางจิต มีอิทธิพลบังคับจิต ดังน้นถ้าเราก็ดูมันคล้ายๆว่า เอ้อ ไอ้ตัวเวทนารู้สึก สุข ทุกข์ สบาย ไม่สบาย นี่แหละเป็นตัวสำคัญ คล้ายๆ ว่า อ้อ ที่เราเป็นอย่างนี้ ที่ชอบใจ-ไม่ชอบใจ เป็นเพราะเวทนาที่สุข ทุกข์ แต่เวทนาสุข ทุกข์นั่น มันเรื่องที่เป็นไปตามธรรมชาติก็มี เป็นไปจากการปรุงแต่งของเราก็มี ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าเราเนี่ยจะปฏิบัติต่อมันหรือจัดการกับชีวิตจิตใจของเราอย่างไร เวทนาเป็นสุข แต่ถ้าเราไม่ก้าวต่อไปสู่การชอบใจก็ตัดตอน หรือเวทนาไม่สบายแต่เรารู้ทันเข้าใจความเป็นจริงของมัน เราก็ไม่จำเป็นต้องเกิดปฏิกิริยาไม่ชอบใจ จุดนี้ที่เป็นจุดที่สำคัญสามารถตัดตอน ก็คือว่าพอมีเวทนามาจะเกิดตัณหาหรือไม่ ถ้าชอบใจ-ไม่ชอบใจก็หมายความว่าก็เกิดการกระทำของจิตใจเป็นสังขารขึ้นมา ก็จะเกิดกระบวนการปรุงแต่งต่อ ที่นี้ถ้าหากว่ามีปัญญาเข้ามาก็ตัดตอน แม้เวทนาที่สบาย-ไม่สบายเกิดขึ้น ก็ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจ คือว่าจิตของเรารู้เท่าทันก็ตัดตอนแค่นั้น ตอนนี้เป็นเรื่องที่เป็นกระบวนการของการที่ว่า เราจะพัฒนาคน ฝึก หรือศึกษาก็อยู่ตอนนี้ ตอนที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามกระบวนการที่มันเป็นไปตามปกติที่ว่าพอเวทนามา สบายก็ชอบใจ ไม่สบายก็ไม่ชอบใจ ก็ไม่จำเป็นต้องไปตามนั้น อันนี้ก็หมายความว่าเราแก้ไขได้ เราปรับปรุงเราเปลี่ยนแปลงได้ [26.27 นาที]
ทีนี้ว่าเรื่องของขันธ์ 5 นี่มันซับซ้อนอยู่ เพราะว่าแต่ละอันมันเป็นปัจจัยแก่กันหมด พอเราได้เวทนา เช่น ว่าเราไปเห็นอะไรขึ้น เราสบายตาแล้วเราก็ชอบใจ ทีนี้ชอบใจเนี่ยเราก็กำหนดหมายไปด้วยนี่ เอ้อ มันเขียว มันแดง อะไร รูปร่างอย่างนี้ ทีนี้พอเราชอบใจมันไม่หยุดแค่นั้น ไอ้ตัวสังขารเนี่ย มันเป็นปัจจัยให้เรายิ่งกำหนดหมายอันนี้ไว้ให้มั่น เพราะเราชอบใจอะไร ยิ่งชอบมากเราจะจำยิ่งแม่นใหญ่ ทีนี้เราก็กำหนดหมายไว้ว่าอย่างนี้สวย อย่างนี้ที่ทำให้เรามีความสุข พอไปเห็นอย่างนี้อีกปั๊บ สุข ไปเห็นอย่างที่เคยเห็นไว้แล้วก็กำหนดหมายไว้ ปรุงแต่งเนี่ย คือกระบวนการปรุงแต่งทำให้กลายเป็นว่าสัญญาอย่างนี้มาละก็ ฉันก็สุข นี่คือการปรุงแต่งซ้อนแล้ว คือตอนต้นเนี่ยมันอาจจะเป็นชั้นเดียว ของง่ายๆ ไปเจอก็สบาย-ไม่สบาย แต่พอไปกำหนดหมายว่าอย่างนี้แหละสุข ถ้าเจออย่างนี้ล่ะก็ ที่ชอบใจ เอาเลย กำหนดหมายว่าทีนี้ไปเจอก็สุขเลย ก็ยึดมั่นอย่างนั้น
ทีนี้ไอ้ความชอบใจ-ไม่ชอบใจมันก็เลยนำไปสู่กระบวนการปรุงแต่งและก็การยึดถือ สัญญานั้นก็จะเป็นสัญญาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และก็กลายเป็นว่า เวทนา ความสุข ทุกข์ ก็เลยมาเกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง สัญญาอย่างนี้ก็ทำให้เกิดเวทนาอย่างนี้ สัญญาที่เรากำหนดหมายะไว้แล้วว่าอย่างนี้ดี อย่างนี้ถูกใจ อย่างนี้ชอบ พอไปเจอปั๊บเวทนาสุขก็มาเลย พอไปเจอที่เรากำหนดหมายจดจำไว้อย่างนี้คือไม่ชอบ พอไปเจออีกปั๊บ เวทนาทุกข์เกิดขึ้นมาเลย ทีนี้การมองสิ่งต่างๆ ของมนุษย์เนี่ย จากการที่เรามีการรับรู้ มีการปรุงแต่งจากกระบวนการของเจ้า 5 อย่างเนี่ย มันทำงาน มันทำให้เราไม่รู้ตัวว่าตกอยู่ใต้อิทธิพลของความปรุงแต่งนั้น ซึ่งไม่ใช่สภาพความเป็นจริง เราก็มองสิ่งทั้งหลายอย่าง เรียกว่าเป็นแว่นสีไปหมด เราก็มองไปตามชอบใจ-ไม่ชอบใจ หรือมองตามอยากให้เป็น อยากไม่ให้เป็นแทนที่จะมองตามที่มันเป็น
ฉะนั้นในการแก้ไขเนี่ย ทางธรรมะจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องให้มองตามที่มันเป็น แต่ว่าเพราะเราเนี่ย ได้เคยชินกับการปรุงแต่งอย่างนี้มาไม่รู้กี่สิบปี อยู่ในกระบวนการยินดี-ยินร้าย ชอบ-ชัง ปรุงแต่งมา ฉะนั้นมันก็เลยฝังลึก มันกลายเป็นจิตตกร่อง เวลาเจออย่างนี้ปั๊บก็ไปอย่างนี้ เจออย่างนี้ก็ชอบใจ เจอก็ไม่ชอบใจ มันก็ชินของมัน แล้วมองอะไรก็มองด้วยแว่นสีอันนี้ ก็มองไม่เห็นตามที่มันเป็น ก็เลยต้องมีการฝึก เช่น ฝึกสติปัฏฐาน ฝึกสติปัฏฐาน สติก็จะมาช่วยกำกับจิตให้แค่เห็น มันเป็นอย่างไรก็เห็นแค่นั้นไม่เอาไปปรุงแต่ง มันก็สกัดสติมันก็เริ่มสกัด แล้วการปรุงแต่งก็รู้จักยั้งบ้าง เริ่มที่จะแก้นิสัยที่เคยตกร่อง ทีนี้พอสติมาช่วยอยู่อย่างนี้ เราไม่มองไปตามที่ชอบใจ-ไม่ชอบใจ กระบวนการปรุงแต่งมันก็เริ่มเห็นแค่ตามที่มันเป็นดีขึ้น คือเริ่มอย่างที่ท่านว่า เห็นก็แค่เห็น ได้ยินก็แค่ได้ยิน หรือโบราณเรียกว่า เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน แต่ไอ้คำว่าสักว่า เดี๋ยวนี้มันมีปัญหาแล้ว คือ สักว่า มันกลายเป็นไม่เอาเรื่องเอาราว เป็นคนไม่เอาใจใส่ เป็นคนที่เรื่อยเปื่อย เป็นคนอะไร กลายเป็นประมาทไปเลย เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้คำว่าสักว่านี่มันกลายเป็นต้องระวัง เพราะฉะนั้นถ้าไปอ่านหนังสือเก่า คำสอนที่บอกว่าเห็นก็สักว่าเห็น ได้ยินก็สักว่าได้ยินเนี่ย บาลีท่านใช้คำว่า “มัตตะ” ก็หมายความว่าแค่นั้นนะ อย่างให้มันเลยไป [31.31 นาที] ไม่ใช่สักว่าหมายความว่าเรื่อยเปื่อยเฉื่อยไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรต่ออะไร เป็นคนที่เหมือนกับเป็นคนประมาทเท่านั้นเอง คือถ้าเป็นคนสักว่า แบบในความหมายคนปัจจุบัน มันจะเป็นไปในทำนองประมาท เป็นคนเรื่อยเปื่อยไม่ใส่ใจ ต้องระวังคำต่างๆเอาไปใช้ในทางที่เคลื่อนคลาดกันเยอะ เอาเป็นว่า สักว่า ในที่นี้คือแค่หมายความว่า เห็นก็แค่เห็นอย่าไปปรุงแต่ง อย่าไปแม้แต่ว่าก้าวไปมีปฏิกิริยาว่า สบายก็ชอบใจ ไม่สบายก็ไม่ชอบใจ ก็เห็นก็แค่เห็น เห็นก็รู้ว่าอันนี้เป็นอันนี้ ท่านเรียกว่า “ญาณะมัตตายะ ปะติสสะติมัตตายะ” ก็เพียงแค่เพื่อความรู้ ท่านไม่ห้ามเรื่องความรู้ เพราะคนเราจะอยู่ได้ต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็อยู่ไม่ได้ และรู้ในที่นี้หมายถึงรู้ตามเป็นจริงที่เรียกว่า “ญาณ” หรือ คือให้เป็นเรื่องปัญญา แล้วก็ “สะติมัตตายะ” เพื่อการระลึก เป็นประโยชน์ที่เป็นข้อมูลใช้งานต่อไป คนเรานี่จะมีชีวิตอยู่ได้จะต้องอยู่ในโลกที่มันมีข้อมูลที่เราต้องเกี่ยวข้อง ก็ต้องมีเครื่องข้อมูลไว้ที่สติจะใช้ระลึก และก็ต้องรู้เข้าใจตามเป็นจริง ทีนี้ว่าเราก็ตัดกระบวนการปรุงแต่ง ทีนี้ตัวที่สำคัญก็คือว่า คนเราที่ปรุงแต่งก็เพราะว่าที่จริงนั้นเราต้องการอยู่รอด เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร เราต้องอาศัยความรู้ เรารู้อะไรเป็นอะไรเราปฏิบัติต่อมันได้ถูก ถ้าเราไม่รู้ เราไม่รู้เป็นอะไรมีคุณมีโทษต่อเราอย่างไรจะปฏิบัติอย่างไร เราก็ติดขัดเราก็ทุกข์ บีบคั้นเรา [33.41 นาที]
ทีนี้ตอนแรกเราไม่มีความรู้ทำอย่างไร เราก็อาศัยความรู้สึกอย่างที่เคยพูดไปแล้ว เรารู้สึกสบายก็เอา รู้สึกไม่สบายก็หนีก่อนล่ะหรือไม่เอา เหมือนกับว่าคนที่ยังไม่มีความรู้ก็อาศัยความรู้สึกเพื่อให้ชีวิตอยู่ได้ อย่างน้อยอยู่รอดแต่ว่าไม่ปลอดภัย เพราะว่าไอ้ที่สบาย ชอบใจ นี้อาจจะเป็นโทษก็ได้ ไอ้ที่ไม่สบาย ไม่ชอบใจ อาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้องก็ได้ มันไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นที่จะปลอดภัยก็คือต้องความรู้ แต่ว่าเมื่อยังไม่มีความรู้ เราต้องอาศัยความรู้สึกก่อน ทีนี้พอเราอยู่แค่ขั้นความรู้สึก ต่อมามันก็เลย เลยเถิดไป ก็คือเกิดการปรุงแต่ง ติดอยู่กับเรื่องชอบใจ-ไม่ชอบใจ มันไม่ไปสู่ความรู้สักที ทีนี้นอกจากนั้นแล้วยังบิดเบือนความจริงอีก มองเห็นอย่างที่ว่าด้วยแว่นสี มันก็เลยมองอะไรต่อมิอะไรผิดพลาดแล้วปรุงแต่งไอ้ความทุกข์-ความสุขให้แก่ตัวเอง โดยที่ว่าไม่ควรจะทุกข์ก็ต้องทุกข์ อะไรอย่างนี้ หรือสร้างไอ้สุขที่เกิดจากการพวกเสพย์เวทนาอย่างเดียว แล้วทำให้ตัวเองเนี่ยไม่สามารถก้าวไปสู่การพัฒนาคุณภาพจิตใจที่สูงขึ้นไป อย่างน้อยก็คือว่า ความรู้ความเข้าใจตามเป็นจริงไม่เกิด มันก็อยู่กับการปรุงแต่งอะไรต่ออะไร ก็ซึ่งวนอยู่กับเรื่องชอบใจ-ไม่ชอบใจ เรื่องของความรู้สึก เรื่องของเวทนาอยู่เท่านี้ [35.22 นาที]
ชีวิตมนุษย์ที่เป็นอย่างนี้มันก็จะมีปัญหา เพราะว่าเมื่อมันไม่รู้ตามเป็นจริง มันก็จะมีตัวสำคัญก็คือว่า ฝ่ายตรงข้ามความรู้ ความไม่รู้อยู่ได้ด้วยความรู้สึก ตัวที่ต้องการความรู้สึกนั่นก็คือ การชอบใจไม่ชอบใจ ได้แก่ ตัณหา เมื่อยู่ด้วยตัณหามันไม่รู้เข้าใจตามเป็นจริง มันก็เอาว่าอยากให้เป็นตามที่ฉันอยากจะให้เป็น ทีนี้มันก็ขัดกับความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายนี่มันเป็นไปตามสภาวะ เป็นไปตามกระบวนการธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมดา เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เป็นต้น เหมือนอย่างที่คุยกันแล้ว พอมันเป็นไปอย่างโน้น เราไม่รู้ความจริงเรามีแต่ความอยาก เราก็อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้อย่างที่เราชอบใจ แต่ความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย มันก็คือว่ามันก็เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นไปตามกระบวนการและเหตุปัจจัย ความเป็นไปของมันกับไอ้ความอยากของเราไม่ตรงกัน อย่างที่พูดไปครั้งก่อนว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็เป็นไปตามกระแสของกฎธรรมชาติหรือธรรมดา แต่เรามีกระแสของเราคือกระแสความอยาก ที่อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่เป็นไปตามอยากของเรา ก็เกิดกระทบกระทั่งบีบคั้นกันระหว่าง 2 กระแส กระแสความอยาก กระแสความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายขัดกัน พอกระแสความเป็นจริงที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นของมันมันไป ไอ้เรามีกระแสความอยาก แต่ว่าเอาเข้าจริงมันไม่ได้เป็นไปตามอยาก เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราไม่ได้ตามปรารถนา เราก็ถูกบีบถูกกดแล้วก็ทุกข์ เพราะฉะนั้นก็คนที่อยู่ด้วยอย่างนี้ ก็คือมันเป็นกระบวนการของอวิชา ตัณหา อุปาทาน แล้วก็ทุกข์ ก็อยู่อย่างนี้ พอเกิดความรู้เข้าใจก็เกิดปัญญา ก็เห็นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายเป็นอย่างนี้ มันมีความไม่เที่ยง เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็เป็นไปของมันอย่างนั้น พอรู้ก็เรียกว่าปัญญาเกิด ปัญญาก็รู้ตามความเป็นจริงของมัน มันเป็นอย่างไรก็รู้ตามนั้น ปัญญาก็สอดคล้องกันกลมกลืนกัน เป็นกระแสเดียวกันกับความเป็นไปของสิ่งต่างๆ เราก็เลยพูดเป็นบุคลาธิษฐานว่า เกิดกระแสปัญญาขึ้นในคน บางคนมีกระแสปัญญา สิ่งทั้งหลายมีกระแสความเป็นไปตามเหตุปัจจัยหรือกฎธรรมดา สองกระแสนี่ไปด้วยกันได้ กระแสปัญญามันรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย มันก็เหมือนกับเป็นกระแสเดียวกันกลมกลืนไป มันก็ไม่ขัดแย้ง ไม่เกิดการบีบคั้น ไม่ทุกข์
ทีนี้ก็เลยว่าทางพุทธศาสนาก็มาบอกให้แก้ปัญหาโดยอย่าอยู่ด้วยตัณหาให้อยู่ด้วยปัญญา ก็ต้องสร้างความเข้าใจ มีการรับรู้ เช่นว่า เคยไปตามอำนาจความชอบใจ-ไม่ชอบใจ ก็เอาสติมาตัดตอนให้แค่รู้ แค่เห็นตามนั้น อย่าไปปรุงแต่งตามความรู้สึก แล้วต่อไปก็เมื่อเห็น รู้ ต่อไปเนี่ย เมื่อไม่มีแว่นสี ไม่มีความอยากของตัวคอยไปเคลือบไปแฝงไประบายป้ายสีมันเนี่ย สิ่งทั้งหลายเนี่ย มันไม่ได้ปิดบังตัวมันหรอก มันเปิดเผยตัวมันอยู่ตลอดเวลา ธรรมชาติ สภาวะเนี่ย มันเป็นอยู่อย่างนั้น ทีนี้เราเนี่ยไปเอาความอยากให้เป็น แล้วก็สีสันที่เราเคยสร้างไว้เนี่ย เช่น สัญญา ที่เราไปสร้างซ้อนไว้ด้วยการปรุงแต่ง อะไรต่างๆ เป็นภาพของเรา เวลามีสติแล้วไอ้พวกนี้ไม่มีโอกาสเข้ามา เราก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ปัญญารับรู้ คือเริ่มมองสิ่งนั้นตามเป็นจริง หรือตามที่มันเป็น ท่านไม่ใช้คำว่าตามเป็นจริงก็ได้ ท่านใช้คำว่าตามที่มันเป็น ก็เห็นมัน มองรู้มันตามที่มันเป็น เพราะสิ่งทั้งหลายมันไม่ได้ปิดบังตัว เมื่อเราไม่เอาไอ้สิ่งที่เราปรุงแต่งหรือสี เป็นต้น หรือความยึดมั่นของเรามาเคลือบมาบังมัน ก็ค่อยเห็นชัดขึ้น ชัดขึ้น ตอนแรกก็แค่เห็นเฉพาะเหมือนกับว่าเป็นโอกาสที่ได้เปิดให้หน่อย ที่ว่าตัวเนี่ย มีแต่ไอ้ภาพที่ยึดมั่นไว้ทั้งนั้น ปรุงแต่งไว้ทั้งนั้น ระบายสีไว้ทั้งนั้น ทีนี้พอมีสติแล้วก็เห็นโดยไม่มีไอ้สิ่งที่เคลือบแฝงระบายนี่ไปเคลือบมัน ก็เริ่มเห็นตามจริงตามที่มันเป็น ทีนี้ก็เท่ากับเปิดโอกาส สตินี่ทำให้เราได้โอกาสที่จะเห็นมัน แค่เห็น เห็นแค่ได้รู้ตามนั้น ต่อมาเพราะสิ่งทั้งหลายมันเป็นของมันอย่างนั้น มันไม่ได้ปิดบังตัวเอง สภาวะของมันก็จะปรากฏแก่เราขึ้นในการที่มองเห็นมันตามเป็นจริง ต่อมาก็ความเป็นไปของมันก็ปรากฏขึ้นมา ที่มันเกิดดับ ที่มันสืบต่อไป ตามกระบวนการเหตุปัจจัยของมัน คือเห็นตามที่มันเป็น มันก็เห็นไปเรื่อยๆ เห็นจากสภาวะแต่ละขณะ เห็นความเป็นไปที่เกิดดับ ความเปลี่ยนแปลง เห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็เห็นไป เห็นไป ไอ้ความรู้ก็พัฒนา มันก็เรียกว่าเกิดปัญญา เกิดญาณขึ้นมา [41.32 นาที]
กระบวนการของขันธ์ 5 ก็เลยปรากฏแก่เราตามเป็นจริงขึ้น ก็เราก็ไม่ลุ่มหลงตามนั้น แล้วก็กลายเป็นเรียก เป็นภาษา เป็นภาพ หรือเป็นบุคลาธิษฐานว่าไม่ตกเป็นทาสของมัน ก็นี่ก็เป็นแง่หนึ่งของการอธิบายพอให้เห็นว่าเรื่องของขันธ์ 5 ก็คือสภาพ องค์ประกอบของชีวิตของเรา ซึ่งเมื่อเราปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เกิดปัญหา
ถ้าเราปฏิบัติตามเป็นจริงก็จะเห็นความเป็นไปของมัน แล้วก็เมื่อรู้ความจริงแล้ว ไอ้กระบวนการความเป็นไปในทางที่ก่อปัญหาที่เรียกว่าทำให้เกิดทุกข์นี่ก็ไม่มามีปัญหาแก่เรา ก็เรียกว่าหลุดพ้น หรือว่าเป็นอิสระขึ้นมา ที่นี้ไอ้ตอนที่จะเป็นอย่างนี้ ก็คือปัญญา มันก็คือก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ จะเรียกว่าพัฒนาปัญญาก็ได้ คือความเจริญของปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งต่างๆ รู้สภาวะตามที่มันเป็น มองเห็นแต่เป็นเพียงว่า มันก็เป็นเพียงรูปธรรม นามธรรม ที่มันเคลื่อนไหวเป็นไปของมัน เห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตอนนี้เวลาไปพูดเป็นตัวหลักธรรมะมันก็จะไปอ้อม มีเรื่องขันธ์ 5 มีองค์ประกอบ ส่วนนี้เป็นรูป ส่วนนี้เป็นนาม นามธรรม ก็ส่วนนี้เรียกว่าเวทนา ส่วนนี้เรียกว่าสัญญา ส่วนนี้เรียกว่าสังขาร ส่วนนี้เรียกว่าวิญญาณ ที่นี้ในความเป็นไปของมัน ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยแก่กัน กระบวนการที่เคลื่อนไหวไปนี่เราเห็นความเป็นไป ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่เราก็มองไป แล้วก็เข้าใจในลักษณะที่ท่านเรียกเป็นอีกกฎหนึ่งเลย ก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท และในอาการที่มันจะเป็นไปอย่างนี้ได้ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็เพราะว่ามันมีสภาวะของมันที่มันไม่เที่ยง มันไม่คงที่ มีการเกิดดับ และก็ตั้งอยู่ในสภาวะเดิมไม่ได้ ไม่มีตัวยืนโรงที่ยั่งยืนตลอดไป ปรากฏรูปไปต่างๆ ตามความเป็นไปของกระบวนการเหตุปัจจัยนั้น อันนี้ก็เลยมีหมดเลย ขันธ์ 5 ก็อยู่ในนี้ ไตรลักษณ์ก็อยู่ในนี้ ปฏิจจสมุปบาทก็อยู่ในนี้ นิมนต์…[44.07 นาที]
** ถาม
ขอเรียนถามพระอาจารย์ว่า ตรงที่เป็นในส่วนของความทุกข์ ความสุข หรือไม่ทุกข์ไม่สุขที่เป็นเวทนา ตรงนี้มีการปรุงแต่งหรือยังครับ
*** ตอบ
มี 2 ซ้อน คือ เวทนานี่ถือเป็นแพสซีฟ (passive) โดยตัวปกติ มีปฏิกิริยาชอบใจ-ไม่ชอบใจ จึงจะถือว่าเป็นการปรุงแต่ง เรียกว่าสังขาร เช่นว่า เราไปถูกน้ำแข็งสัมผัส เป็นทุกข์ หรือไปโดนไฟรนอย่างนี้ ร้อนทุกข์ใช่ไหมครับ นี่ทุกขเวทนา ยังไม่ปรุงแต่งถือว่าเป็นการรับรู้ไปตามนั้น ทีนี้ก็จิตอาจจะปรุงแต่ง คือปรุงแต่งว่าใช้กำลังความสามารถที่จะไม่ให้รู้สึกทุกข์ อย่างนี้ปรุงแต่ง แต่ปรุงแต่งในทางที่ดี ทีนี้ปรุงแต่งเวทนาซ้อนอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เช่น กำหนดหมายอะไรที่เรา มันเคยให้เวทนาที่เป็นสุข พอมันเคยให้เวทนาที่เป็นสุข เช่น เดี๋ยวนี้ไปเห็นอะไร เกิดเวทนาที่เป็นสุข เราก็กำหนดจดจำหมาย ก็คือกำหนดหมายลักษณะอาการ ที่เรียกว่าสิ่งนี้ ว่าอันนี้ทำให้เราเป็นสุขใช่ไหม ทำให้เราชอบใจ พอเราไปเจออันนี้ปั๊บ ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้เนี่ย สุขเลย เพราะมันปรุงแต่งไว้ แล้ว เวทนานี้ก็เหมือนกับเป็นผลจากการปรุงแต่งเก่า แต่รวมแล้วก็คือผลจากเวทนาเองเนี่ย ท่านถือว่าเป็นวิบาก เป็น อัพยากฤต เป็นกลางๆ ไม่ถือว่าเป็นดี-ชั่ว ตัวมันเองไม่ใช่การปรุงแต่ง แต่ตัวมันเองเป็นผลจากการปรุงแต่ง ต้องจัดให้ดีตอนนี้ คือโดยมากจะแยกไม่ได้ตอนนี้ ตอนที่เวทนาสุข-ทุกข์ ก็ชอบใจ-ไม่ชอบใจ ไม่เอาเวทนาเป็นชอบใจ-ไม่ชอบใจ ที่จริงชอบใจ-ไม่ชอบใจนี้สังขารแล้ว ตัณหานั่นเอง ชอบใจก็ตัณหาเลย เป็นแต่เพียงว่าอาจจะเป็นอาการอ่อนๆ แต่คือตัณหาแท้ๆ ทางเก่าท่านเรียกยินดี-ยินร้าย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัส ตรัสธรรมะนี่บ่อยที่สุด ในชีวิตประจำวันของคนนี่ ก็คือการใช้ ตา หู จมูก ลิ้น รับรู้ ดู เห็น ฟัง อะไรแบบนี้ พอตาเห็น หูได้ยิน ก็ได้เวทนาใช่ไหม สบาย ไม่สบาย พอสบายก็เกิดปฏิกิริยาชอบใจ ท่านเรียกยินดี ไม่ชอบใจท่านเรียกว่ายินร้าย พอเกิดยินดี-ยินร้ายนี่ก็กระบวนการปรุงแต่งเริ่มเลย คือ หมายความว่า การปรุงแต่ง หรือ สังขาร นี่เริ่มทียินดี-ยินร้าย เพราะฉะนั้นท่านจึงให้รับรู้ให้ถูกต้อง คือการรับรู้แบบยินดี-ยินร้ายหรือชอบ-ชังเนี่ย เป็นการรับรู้แบบตัณหา หรือมีตัณหาเริ่มแล้ว หรือสังขารเริ่มแล้ว กับรับรู้ด้วยปัญญา