แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขอเจริญพรท่านรองอธิบดีกรมการแพทย์ ผู้เป็นประธาน เจริญพรผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ท่านศาสนิกและญาติโยมท่านผู้มีเกียรติสาธุชนทุกท่าน ตอนแรกนี้คงจะต้องขอประธานอภัยนิดหน่อย เกี่ยวกับชื่อเรื่องที่ได้รับนิมนต์มาพูดวันนี้ ตอนแรกก็แปลกใจหน่อย คือเป็นคำใหม่ ไม่เคยได้ยินมาก่อน แม้ว่าจะเป็นคำที่คงจะได้มีบัญญัติในวงการแพทย์กันมา แต่ไม่ทราบว่านานเท่าไหร่ แต่ตัวเองนี้เพิ่งได้ยิน ตอนแรกก็งงหน่อย แม้พระที่อยู่ใกล้ได้ยิน ท่านก็ไม่เข้าใจว่าคำว่าพินัยกรรมชีวิตนี้คืออะไร ก็พอจับความได้ ความจริงก็เป็นเรื่องที่เคยมีผู้ถามมาแล้ว แต่ว่าตอนนั้นยังไม่มีการบัญญัติชื่อ ทีนี้ต่อมาจนกระทั่งเมื่อวานนี้มาเปิดดูหนังสือนิมนต์ ไม่ได้มีเพียงคำง่าพินัยกรรมชีวิต มีต่อท้ายว่า ผลต่อศาสนา เลยยิ่งงงใหญ่เลย ว่าเอ๊ะ เรื่องนี้จะมีผลต่อศาสนาอย่างไร แล้วก็เป็นความผิดของตัวเองที่ไม่ได้ดูให้ชัดซะก่อน ไม่มีโอกาสถามให้แน่นอน แต่ความไม่ชัดเจนก็จะทำให้การพูดวันนี้อาจจะไม่เข้าสู่แนวทางที่ต้องการก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แน่ใจอย่างหนึ่งก็คือว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความตาย ก็เป็นเรื่องระหว่างชีวิตกับความตาย ก็คือการที่ชีวิตนั้นจะสิ้นสุดลง แล้วก็จะสิ้นสุดลงอย่างไร บุคคลที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่เจ้าของชีวิต ถ้าในกรณีของการเจ็บไข้ได้ป่วยก็คือผู้ป่วย จะปฏิบัติต่อชีวิตของตนเองในขั้นสุดท้าย หรือต้อนรับความตายได้อย่างไร แล้วก็ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งญาติทั้งแพทย์ผู้รักษาพยาบาล จะมีท่าทีและปฏิบัติอย่างไร โดยเฉพาะในยุคที่การแพทย์ได้เจริญมาก เรามีเทคโนโลยีอำนวยอุปกรณ์ที่เรียกว่ายืดอายุได้ ก็ลองมาดูในแง่ของพระศาสนา การจบชีวิตที่เรียกว่าความตายนั้น พระศาสนาก็เห็นความสำคัญอย่างมาก ในคัมภีร์พุทธศาสนาก็จะมีพูดถึงอยู่เสมอว่า อย่างไรเป็นการตายที่ดี ถ้าใช้คำสั้นๆ ก็คือคำว่ามีสติไม่หลงตาย ข้อความนี้จะเป็นข้อความที่เน้นอยู่เสมอ คือหมายถึงว่า ผู้ที่ดำเนินชีวิตที่ดี ตอนจบชีวิตนี้ก็ถือเป็นตอนที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าตายไปแล้วจะไปสู่สุคติเท่านั้น แต่ตอนที่ตายนี่เป็นจุดที่สำคัญ แต่ว่าต้องมีจิตใจที่ดี ก็คือมีสติไม่หลงตาย คำพระท่านใช้คำว่า อะสัมมุฬฬะโห กาลัง กะโรติ ที่ว่าไม่หลงตาย คือมีจิตใจไม่ฟั่นเฟือน ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว จิตใจดีงาม ผ่องใส เบิกบาน อันนี้ที่เป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วก็จะขยายความไปถึงการที่ว่าจิตใจไปนึกถึงหรือเกาะเกี่ยวในสิ่งที่ดี เราถึงได้มีประเพณีที่ว่าจะให้ผู้ตายนี่ได้ยินได้ฟังสิ่งที่ดีงาม เช่นบทสวดมนต์ หรือคำกว่าวเกี่ยวกับพุทธคุณ เราใช้คำว่าบอกอะระหัง นี่ก็เป็นคติที่ให้รู้ว่าเป็นการบอกสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางใจให้แก่ผู้ที่กำลังป่วยหนักในขั้นสุดท้าย จิตใจเกาะเกี่ยวยึดเหนี่ยวอยู่กับเรื่องพระรัตนตรัย หรือเรื่องกุศล เรื่องที่ทำดีงามมา อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราจะพยายามที่จะเอามาให้เป็นที่เกาะเกี่ยว หรือเรียกว่าเป็นอารมณ์ อันนี้อย่างหนึ่งก็คือว่าให้ติดอยู่กับสิ่งที่ดีงาม ใจจะได้ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว แล้วก็มีสติ ไม่ใช่ว่าเป็นจิตใจที่ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไป แล้วก็อยู่กับความทุกข์ ความทรมาน แต่ว่าที่ดีกว่านั้นก็คือว่าให้เป็นความรู้ ความรู้เท่าทันชีวิต จนกระทั่งยอมรับความจริงของความตายหรือความเป็นอนิจจังได้ จิตใจอย่างนั้นยิ่งดีขึ้นไปอีก เพียงแต่ว่ายึดเหนี่ยวกับบุญกุศลความดี อันนั้นก็นับว่าดีแล้ว แต่ว่าถ้าเป็นจิตใจที่มีความรู้เท่าทัน จิตใจนั้นจะมีความสว่าง ไม่เกาะเกี่ยว ไม่มีการยึดถือ เป็นจิตใจที่เป็นอิสระแท้จริง นี่ถือว่าดีที่สุด ทีนี้ในเมื่อเราถือว่าจะต้องให้ตายดีที่สุด คนที่เกี่ยวข้องเราก็ว่าทำไงจะช่วยให้เขาตายดีที่สุด แล้วให้ตายอย่างดีที่สุดด้วย ก็ขอแทรกนิดหนึ่ง คติในเรื่องเกี่ยวกับจิตตอนที่จะตายเนี่ย บอกว่าให้จิตไม่เศร้าหมอง นอกจากว่ามีสติไม่หลงตายก็จะมีความหมายไปถึงภพที่จะเกิดใหม่ด้วย อย่างที่พุทธศาสนิกชนจำนวนมากก็คงจำได้ ในพุทธกาล สิ่งที่บอกว่า
จิตเต สังกิลิฎเฐ ทุกคติ ปาฎิกังขา แปลว่า เมื่อจิตเศร้าหมองแล้วก็เป็นอันหวังทุกคติได้ ในทางตรงกันข้าม ก็จะมีพุทธพจน์ว่า
จิตเต อสังกิลิฎเฐ สุคติ ปาฏิกังขา เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติก็เป็นอันหวังได้
อันนี้ก็เป็นพุทธพจน์ที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของเรื่องการที่จะให้จิตใจผ่องใสดีงามในเวลาที่จะตาย เพราะว่าแม้แต่คนที่ทำกรรมมาไม่ดี ตามปกติก็จะมีจิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว แต่ว่าในตอนที่ตาย แม้แต่ตอนบังเอิญ จิตเกิดไปยึดเหนี่ยวสิ่งที่ดี นึกถึงเรื่องที่เป็นบุญเป็นกุศล จิตผ่องใสขึ้นมาเวลานั้น กลายเป็นอสัญกรรม กรรมใกล้ตาย เป็นฝ่ายดี แทนที่จะไปทุคติ จะกลายเป็นที่ทำกรรมชั่วมาตลอดเวลาหลายสิบปีในชีวิต กลับไปดีซะนี่ ฉะนั้นแสดงว่าในทางพระศาสนาให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจตอนที่จะตายมาก เมื่อความตายด้วยดีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างนี้แล้ว ก็เลยพยายามมาช่วยให้คนตายตายอย่างดี นอกจากว่าไม่ไปฆ่า แล้วก็หาวิถีทางที่จะช่วยให้เขาตายอย่างดีที่สุด ยิ่งกว่านั้นก็คือ ทางพุทธศาสนานี่ ถือว่าชีวิตคนมีโอกาส จะมีโอกาสสูงสุดของชีวิตจนถึงวาระสุดท้าย ขณะจะดับจิต การบรรลุธรรมตรัสรู้ เราก็ถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดของชีวิต เรียกง่ายๆ ก็คือบรรลุนิพพาน ทีนี้การบรรลุนิพพานนี้แม้แต่เจ็บไข้ได้ป่วยจะตายก็มีโอกาส คือมนุษย์มีโอกาสจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่มีอะไรจะได้แล้ว ก็ยังสามารถได้สิ่งสูงสุดของชีวิตได้ จึงมีท่านที่บรรลุธรรมในขณะจิตสุดท้ายก่อนจะดับ เป็นชีวิตะ ท่านเรียกเป็นศัพท์ว่า ชีวิตะ-สะ-มะ-สี-ศีล คือพร้อมกันก็ตายเลย โอกาสมีถึงขนาดนี้ บางครั้งมันก็ขัดกับเรื่องทางร่างกาย แม้แต่ร่างกายเจ็บป่วยทุกข์ทรมานที่สุดแล้ว จิตยังมีโอกาสอยู่ โดยตามปกติเราก็ต้องการให้ทั้งกายทั้งจิตนี่ดีทั้งคู่ มีความสุขที่พร้อม แต่ว่าอย่างที่กล่าวแล้ว ไม่หมดโอกาส ร่างกายเจ็บป่วยทุกข์ทรมานที่สุดแล้ว จนกระทั่งถึงจะตายนี่ บางทีความทุกข์ทรมานเป็นต้น ที่เกิดขึ้นนั้นกลับมาเป็นอารมณ์ของปัญญา ทำให้เข้าใจความจริงของชีวิต และบรรลุโพธิญาณ ได้ตรัสรู้ตอนที่จะดับจิตนั้น กลายเป็นพระอรหันต์ไป อันนี้ เราก็จะต้องคำนึงด้วยว่า คนแม้จะตายยังมีโอกาที่จะได้บรรลุธรรมสูงสุด แล้วเรียกว่าเป็นประโยชน์สูงสุดของชีวิตด้วย อันนี้เป็นข้อที่ต้องคำนึงอย่างหนึ่ง ก็มีเรื่องในพระไตรปิฎกมีพระสาวกที่ท่านได้รับความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยเป็นอย่างยิ่ง ก็คงจะไม่แพ้คนที่เจ็บป่วยในปัจจุบัน อย่างคนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง ยิ่งสมัยก่อนนั้นเราต้องนึกว่าไม่มีเครื่องอุปกรณ์มาช่วย ยาระงับความเจ็บปวดก็คงไม่ได้ผลเท่าสมัยนี้ ก็แสดงว่าคนสมัยก่อนนี้ก็ต้องเจ็บปวดทรมานเป็นอย่างยิ่ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ปรากฏว่าบางท่านในขณะสุดท้ายที่ทุกข์ทรมานอย่างยิ่งนั้น ก็ได้เกิดปัญญารู้เข้าใจความจริงของชีวิตอย่างแท้จริง แล้วจิตก็วางต่อชีวิตของตน ต่อโลกได้อย่างถูกต้อง บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเหมือนกัน ในการที่จะมาใช้ปฏิบัติกับคนที่เจ็บป่วย แม้คนที่ช่วยเหลือก็ยังต้องเข้าใจอันนี้ แล้วก็บางทีเราอาจจะกลับไปช่วยเขา คือช่วยในทางสภาพจิตใจที่ดีงาม ให้มีการยึดเหนี่ยวในสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลนั่นก็ดีแล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้ก็คือทางปัญญา ซึ่งอันนี้คนมักจะไม่ค่อยคำนึง เพราะจะมองไปแค่ในเรื่องว่าให้คิดยึดสิ่งที่ดีไว้ก็แล้วกัน เกาะเกี่ยว ซึ่งทางพระนั้นท่านถือว่าจะเป็นความยึดถืออย่างหนึ่ง ทำยังไงจะพ้นไปจากขั้นนี้ ให้ดูที่ความสว่างของปัญญาอย่างแท้จริง คนเราเกิดมานี่บางทีอยู่กับความสุขสบายไปตลอดชีวิต เราบางก็กลับยิ่งยึดมั่นใหญ่เลย เรื่องของชีวิต แล้วจากความยึดมั่นนั้น กลับเป็นเหตุให้เราทุกข์ แล้วบางทีกลายเป็นว่าในยามสุดท้ายที่ว่าเมื่อกี้ กลับเกิดแสงสว่างปัญญา อันนี้ในสายตาของเรา เราคิดว่าอะไรดีที่สุด แต่ในทางพระศาสนานั้นถือว่าการได้เกิดประโยชน์ทางปัญญาเข้าถึงความจริงนั่นแหละเป็นความสุขที่สมบูรณ์ที่สุด ตอนนั้นวางใจปลงใจกับทุกอย่างถูกต้อง บอกว่าชีวิตทุกคนเกิดมานี่ควรจะได้ถึงอันนี้ ทีนี้ถ้าหากว่าแม้แต่คนอยู่สุขสบายยังไม่ได้ คนเจ็บคนป่วยทุกข์ทรมานนั้นได้ ก็ต้องยอม เพราะว่าเขาได้สิ่งประเสริฐกว่าเรา อันนี้ก็เป็นข้อที่นำมาเสนอไว้ให้เห็นทัศนคติ ท่าทีของพุทธศาสนาต่อเรื่องความตายในส่วนหนึ่ง ทีนี้ปัจจุบันเรามีปัญหาเรื่องซับซ้อนเกี่ยวกับเรื่องของการที่เรามีความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ ทางเทคโนโลยี เจริญก้าวหน้าก็จริง แต่พร้อมกันนั้นก็อาจจะเป็นเพราะความไม่สมดุลในความเจริญนี้ด้วยก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่องนี้ขึ้นมา พูดในแง่หนึ่งก็คล้ายๆ กับว่าเทคโนโลยีนั้นเจริญมาก ได้สร้างอุปกรณ์เพื่อยืดชีวิตคน แต่ในเวลาเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง วิทยาศาสตร์กลับเจริญไม่พอที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตคน คือวิทยาศาสตร์ก็เจริญแหละ แต่ว่าความรู้ธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์ให้ มันยังไม่เพียงพอว่าชชีวิตคืออะไร ชีวิตจะดับสิ้นเมื่อไหร่แน่ ถึงเดี๋ยวนี้ก็ที่บอกว่าก้านสมองตาย หรืออะไรอย่างนี้ ยังไงก็ตามก็ยังเป็นเรื่องที่ว่าเราก็ยังไม่ได้รู้เด็ดขาด ทางพุทธศาสนาก็บอกว่าก็สิ้นสุดเมื่อจิตสุดท้ายดับไปในภาพนี้ หรือว่าจุติจิต อันนี้มันจะถึงเมื่อไหร่ก็ความรู้ของมนุษย์ แม้วิทยาศาสตร์จะช่วยมา ก็ช่วยได้ในระดับของรูปธรรมร่างกาย ความรู้ที่สมบูรณ์ของชีวิตที่บรรจบกันทั้งด้านกายและด้านจิต ก็ยังไม่เพียงพอ ก็เลยบอกเมื่อกี้บอกว่า ความเจริญทางเทคโนโลยีไปไกล ได้ช่วยให้มีอุปกรณ์ยืดชีวิตคน แต่วิทยาศาสตร์เจริญไม่พอที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตที่สมบูรณ์ เมื่อความรู้กับเรื่องอุปกรณ์ที่มาทำกับชีวิตมันไม่สมดุลกัน มันก็ต้องเกิดปัญหา ตอนนี้ก็เรียกว่าเป็นปัญหาจากการไม่สมดุล ในด้านความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ การที่มีเครื่องมือจัดการกับธรรมชาติ เป็นการใฝ่ฝันมานานแล้วว่า เราต้องการพิชิตธรรมชาติ อันนี้เป็นความมุ่งหมายใฝ่ฝันของอารยธรรมปัจจุบัน ก็คืออารยธรรมตะวันตก ว่าจะต้องพิชิตธรรมชาติให้ได้ เมื่อไหร่ที่เราพิชิตธรรมชาติได้นั่นก็คือความสำเร็จสมบูรณ์ของมนุษย์ แต่ว่าในการที่จะพิชิตธรรมชาตินั้นก็คือต้องรู้จักธรรมชาติอย่างแท้จริง ตอนนี้เราก้าว เรียกว่า ด้านหนึ่งมันล้ำไป เราสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์เทคโนโลยีที่มาจัดการกับธรรมชาติได้ พร้อมกับที่ว่าเรายังไม่ได้มีความรู้ในธรรมชาติอย่างเพียงพอ เราก็ต้องมาประสบปัญหานี้ การที่จะตระหนักในปัญหาเหล่านี้ทำให้เราปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความระมัดระวัง ความไม่ประมาทในความหมายหนึ่งก็คือตัดสินเด็ดขาดปุ๊บปั๊บ ต้องเผื่อใจไว้ พร้อมให้มีการแก้ไขปรับปรุง อันนี้ถือเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการที่จะอยู่อย่างไม่ประมาท เราไม่มีความโน้มเอียงที่เราชอบตัดสินอะไรว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราอาจจะพูดเป็น 2 ขั้น ว่าในขั้นนี้เราทำได้เท่านี้ แต่ว่าเราเผื่อใจไว้พร้อมที่เราจะแก้ไขปรับปรุงต่อไป ต้องมีการศึกษาต้องมีการพัฒนาปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อว่าในภายหน้า เราก็ตาม ลูกหลานของเราก็ตาม ปฏิบัติต่อเรื่องนี้ได้ดีขึ้น ตอนนี้ถ้าจะมีการบัญญัติกฎหมาย เราก็คงจะต้องเผื่อใจเช่นเดียวกัน เช่นว่า เราจะยอมรับไหมว่าเราจะบัญญัติกฎหมายมาปฏิบัติต่อชีวิตนี้ โดยที่เรายังไม่รู้ความจริงแท้แน่นอน แต่บางครั้งเราก็รอความรู้จริงไม่ได้ แต่ว่าจะทำยังไงให้ดีที่สุด ทีนี้ก็มีเรื่องที่จะต้องพิจารณา อย่างในกรณีอย่างนี้เราบอกว่าไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีสูตรสำเร็จก็คือเราเอาได้เพียงหลักการบางอย่างมาใช้ ตอนนี้ก็จะเป็นเรื่องของมนุษย์ที่จะต้องใช้ปัญญาแล้ว เราไม่มีสูตรสำเร็จ แล้วปัญญาก็เข้ามา ว่าเราจะใช้ปัญญาพิจารณาทำให้ดีที่สุดได้อย่างไร ทีนี้ดูหลักการในการนี้จะมี 2 ขั้น เพราะตามทางพุทธศาสนาเราก็จะแยกเรื่องหลักการนี้เป็น 2 ระดับ หลักการขั้นที่หนึ่ง-ก็คือหลักการความจริงของธรรมชาติ สอง-ก็คือการสนองความต้องการของมนุษย์ว่า แล้วมนุษย์จะเอายังไงเมื่อรู้ความจริงนั้น หรือมีความจริงเท่าที่รู้ 2 อันนี้สำคัญมาก หนึ่ง-การรู้ความจริงของธรรมชาติ ว่าความจริงของธรรมชาติเป็นอย่างไร ในกรณีนี้ก็คือเรื่องชีวิตนั่นเอง ชีวิตมนุษย์คืออะไร เป็นอย่างไร ตายเมื่อไหร่กันแน่ ในความจริงของธรรมชาติอันนี้อันหนึ่ง ถ้าเรารู้ความจริงนี้แน่นอนเด็ดขาด ในการปฏิบัติที่ว่ามนุษย์จะเอายังไงเนี่นนะ เราก็จะชัด แต่ทีนี้มันสำคัญที่ว่าความจริงของธรรมชาติก็ยังไม่รู้เด็ดขาด ทีนี้ก็มาถึงการที่ว่ามนุษย์จะเอายังไง ตอนที่ว่าถ้าอันที่หนึ่งมันไม่สำเร็จ การตัดสินอันที่สองทำได้ยากขึ้น แล้วมนุษย์จะเอาไหมล่ะ จะยอมรับการว่าจะเอาอย่างไร จะสนองความต้องการของมนุษย์อย่างไร ก็เลยเป็นเรื่องของการที่ว่าการรู้ความจริงของธรรมชาติ การปฏิบัติต่อความต้องการของตน เรื่องนี้เป็นปัญหาของมนุษย์มาโดยตลอด แล้วก็ในกรณีที่ว่าเราได้เข้าถึงความจริงแล้ว เราก็สบายใจในการที่จะปฏิบัติว่าจะเอายังไงได้ดีขึ้น ทั้งนี้เราก็ต้องรู้ตัวอยู่แล้วว่าความจริงของธรรมชาตินั้นไม่เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์ด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องแยกเป็นสองขั้น ความจริงของธรรมชาติไม่เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์ รวมทั้งการที่ว่ามันจะไม่เป็นไปตามบัญญัติของมนุษย์ มนุษย์อาจจะมาบัญญัติกันว่าอย่างนี้ แต่ว่าถ้าเราไม่รู้ความจริงของธรรมชาติ มันก็ไม่ได้ผลจริง มันก็จะมีปัญหาต่อไป ทีนี้ถึงเราจะบัญญัติยังไงก็ตาม ความจริงของธรรมชาติก็ไม่เป็นไปตามบัญญัติของมนุษย์นั้น ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่บอกว่าต้องไม่ประมาท คงจะต้องพยายามศึกษาเพื่อให้รู้ความจริงของธรรมชาตินั้น พอรู้แล้วเราก็บอกว่าจะเอาอย่างไร อันนี้ก็เป็นขั้นที่ว่าเป็นขั้นปฏิบัติการ ในกรณีของความตายนี้ ก็จะมีเรื่องความต้องการ เช่นเรื่องความต้องการของคนป่วย อย่างที่ว่า คนป่วยมีความเจ็บทุกข์ทรมาน ก็อยากจะตาย แล้วก็อาจจะบอกคนอื่นให้ช่วยฆ่าเขา ตามธรรมดาแม้คนที่เป็นเจ้าของชีวิตเขาต้องการจะตาย แล้วให้คนอื่นฆ่าเขา โดยปกติเราก็ต้องยอมรับว่า คนฆ่าก็ไม่พ้นผิด อ้าว เขาต้องการบอกให้ฆ่าฉันที แล้วเราก็ฆ่าตามความต้องการเขา เราจะบอกว่าก็เขาอยากได้ ฉันก็ฆ่าให้แล้ว ฉันน่าจะได้บุญ เปล่า มันก็ยังฆ่าอยู่ ปัญหามันก็เลยเกิดขึ้น ทีนี้ในกรณีของความเจ็บป่วย บางทีคนที่จะตายไม่รู้ตัวแล้ว พอสั่งไว้แล้ว ตัวเองก็ไปอยู่ในภาวะอะไรก็ตาม จนกระทั่งโคม่า แล้วทีนี้ก็คือว่าคนที่อยู่นี่จะปฏิบัติตามคำสั่งอย่างไร ตอนนี้ก็จะต้องพินิจพิจารณา ซึ่งแน่นอนเราต้องหวังประโยชน์จากคนตายนั่นแหละ ขั้นหนึ่งเราก็นึกถึงว่าเราอยากให้เขาพ้นจากทุกข์ทรมาน แต่เป็นไปได้ไหมว่า เจ้าของชีวิตเองที่ต้องการจะตายนั้นก็อาจจะสั่งโดยหลงผิด เวลาทุกข์ทรมานเต็มที่นั้น มันก็เห็นไปข้างเดียว ทำยังไงจะพ้นจากทุกข์ทรมานนั้นไปเสีย ถ้าเป็นสมัยก่อนก็หมายความว่าทุกข์ทรมานมากอาจจะไม่ตายก็ได้นะ ถ้าหากว่าไม่ด่วนไปตัดรอนชีวิตซะก่อนเนี่ย เขาอาจจะรอดมาก็ได้ นี่เราก็ไม่รู้ นี่มันข้างนอก แต่ข้างในที่ลึกก็คือว่าในจิตใจของเขาเอง ในตอนที่เขาสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ เราก็ไม่รู้ว่าในใจเขายังมีความคิดได้หรือเปล่า คิดทั้งในระดับที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว อย่างเช่น แม้แต่ง่ายๆ เวลาเจ็บป่วยมากๆ ก็อาจจะนิมนต์พระไปพูดให้ฟัง ไปสวดมนต์ หรือแม้แต่ลูกหลานก็สวดมนต์ให้ฟัง ก็จะมีการสงสัยกันว่านี่คนป่วยเขาจะได้ยินหรือเปล่า เขาจะรู้ไหม เขาจะได้ประโยชน์หรือเปล่า บางทีอินทรีย์นี่มันไม่ได้ดับไปพร้อมกันเขาสื่อสารไม่ได้แล้ว ประสาทที่จะสั่งงานหรือสมองสั่งงานในส่วนที่สื่อสารแสดงออกนั้นทำไม่ได้ แต่ในฝ่ายรับรู้ บางทียังรับรู้ รับรู้ในด้านนี้ไม่ได้ ก็รับรู้ด้านโน้นได้ บางทีรับรู้ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางสัมผัสกายบ้าง มันมีบางส่วนที่ยังรู้อยู่ เพราะฉะนั้นแม้แต่สวดมนต์ ซึ่งเราคิดว่าเขาอาจจะไม่รู้เรื่อง เขาอาจจะรู้ เพราะฉะนั้นก็เลยต้องเผื่อกันไว้ก่อน สวดมนต์ได้ยิน อย่างน้อยแม้แต่ตัวไม่รู้ตัว อย่างคนที่ฝันก็ไม่ใช่ไม่มีการรับรู้ ใช่ไหม เจริญพร คนฝันนี่ไม่รู้เรื่อง รู้เหมือนกัน อย่างเช่นว่านอนอยู่ในห้องนี้ แล้วก็มีคนมาเคาะประตู เคาะๆๆๆ ไป ปรากฏว่าเดี๋ยวก็ตื่น แต่ก่อนตื่นฝันไปแล้ว ปรากฏว่าฝันว่าไปรบที่เวียดนาม ได้ยินเสียงระเบิดตูมตามๆ อันนั้นคือเสียงเคาะประตู ก็หมายความว่ามันมีการรับรู้ขึ้นมา คือว่าตอนที่หลับนี่อาจจะไม่สนิท เพราะฉะนั้นนี่ก็คือการที่รับรู้โดยที่ไม่รู้ตัว หรือว่ายิ่งกว่านั้นอีก ไม่ต้องตื่นหรอก ขณะนั้นแหละอาจจะได้เสียงบางอย่างมีการรับรู้บางอย่าง ทางหู ทางตา ทางสัมผัส อะไรเนี่ย แล้วก็ไปปรุงแต่งเป็นความฝันต่างๆ ได้มากมาย นั่นก็หมายความว่าเขามีการรู้และจิตยังทำงานอยู่ ในสภาพจิตที่ทำงานอย่างนี้ การที่ว่าเขายังใช้จิตทำงานอยู่ แต่ว่าเขามีหลัก จิตเขาอาจจะเดินไปในทางที่ดี ได้ประโยชน์ อย่างฟังเสียงสวดมนต์ก็กลายเป็นประโยชน์ จิตใจก็ปรุงแต่งเป็นภาพนิมิตต่างๆ ที่ดีงาม นั่นก็เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเขา เราก็ต้องไม่ตัดรอน ทีนี้ในกรณีอย่างที่ว่าลึกเขาไปก็คือว่าเขาสั่งไว้ว่า พอถึงตอนอย่างนั้นแล้วให้จัดการเขาเลย ตัดรอนชีวิตเนี่ย ทีนี้ตอนนี้เราก็ไม่รู้แน่ว่า ที่เราไปตัดรอนเขานี่ มันเป็นการไปตัดรอนโอกาสที่เขาจะได้เขาถึงสิ่งที่ดีงามของชีวิต แม้แต่สูงสุดอย่างที่กล่าวแล้วหรือเปล่า ตอนนี้จะทำให้เราคิดมากขึ้น ก็เห็นเขาทุกข์ทรมานเราก็คิดไปข้างเดียวว่านี่เขาเจ็บปวดแสนสาหัสแล้ว เขาแย่แล้ว อยู่ไปทำไม แต่กลายเป็นอย่างที่ว่า อย่างพระสาวกบางองค์ในพุทธกาลที่ว่าตอนที่เจ็บป่วยทุกข์ทรมานถึงที่สุด พอที่สุดแล้วมันเกิดผลจากกระบวนการทำงานของจิตใจ ซึ่งเราอาจจะได้รับความหลัง ความรู้อะไรต่างมา แล้วมันมาประมวลแล้วก็เกิดการกระทบประสบการณ์นั้น เกิดการหยั่งรู้หยั่งเห็น ได้ปัญญา อย่างที่ว่าเป็นโพธิญาณตรัสรู้ไปเลย อันนี้ก็กลายเป็นว่า เกิดคนนั้นจะตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ เรากลายเป็นตัดรอนซะนี่ อันนั้นก็เป็นเรื่องที่ อันนี้ก็เผื่อไว้เป็นข้อคำนึงสำหรับว่าไม่คิดข้างเดียว คือเรามักจะมองในแง่คิดข้างเดียวว่า เขาทุกข์ทรมานจะตาย พ้นทุกข์เลยได้คงดี ก็เป็นแง่ต่างๆ ที่จะต้องพิจารณา คือการที่จะถือเอาตามคำสั่งจะเพียงพอหรือไม่ แล้วความคิดของเรานั้น เพียงพอหรือไม่ด้วย
ทีนี้ก็มาถึงตอนหลักใหญ่อันหนึ่ง ก็คือเมื่อกี้บอกแล้วว่าเราต้องอยู่ด้วยหลักการ แล้วก็เอาหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้ เพราะไม่มีสูตรสำเร็จ เมื่อกี้บอกว่ามีสิ่ง 2 สิ่งที่ต้องคำนึง หนึ่ง-เรื่องความจริงของธรรมชาติเป็นอย่างไร สอง-แล้วมนุษย์จะเอายังไง ความจริงของธรรมชาติกับความต้องการของมนุษย์ ซึ่งจะต้องมาโยงกันว่าความจริงของธรรมชาติเป็นอย่างนี้ เมื่อรู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้แล้ว มนุษย์จะเอาอย่างไร จะปฏิบัติอย่างไร ในด้านการรู้ความจริงนั้นก็เป็นเรื่องคุณสมบัติข้อหนึ่งของมนุษย์ที่สำคัญมาก เป็นคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษ ก็คือปัญญา มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีภูมิปัญญา แล้วปัญญานี้ก็พัฒนาได้ พัฒนาไปได้จนเป็นโพธิ เป็นการตรัสรู้ ความรู้ที่จะต้องถึงที่สุดคือจะต้องรู้ความจริงของธรรมชาติ แล้วสอง-ก็คือการตัดสินใจว่าจะเอายังไงของมนุษย์ที่เรียกว่าเจตนา สองอย่างนี้จะเป็นเกณฑ์สำคัญในการตัดสินสิ่งต่างๆ แต่คนทั่วไปก็หาได้รู้ตามนั้นไม่ อันนี้ก็เป็นข้อที่เตือน 2 ประการ ก็คือหนึ่ง-มนุษย์ก็จะต้องใช้ปัญญาให้มากที่สุด ในขณะที่ตัวเองยังไม่เข้าถึงความจริงนั้น ใช้ปัญญาให้มากที่สุด รู้ความจริงให้ดีที่สุด ก่อนที่จะตัดสินใจ ให้การตัดสินใจหรือเจตนาที่จะเอาอย่างไรนั้นมาสู่ความรู้ที่ถ่องแท้มากที่สุด คือปัญญาดีที่สุด แล้วข้อที่สองก็คือความไม่ประมาทที่จะพัฒนาปัญญานั้นต่อไป ทีนี้พอถึงขั้นตอนนี้เราก็ใช้เกณฑ์ 2 อันนี้มาตัดสินว่าในการกระทำแต่ละอย่างนั้น เราได้ทำไปโดยหนึ่ง-มีปัญญารู้ความจริง ศึกษาอย่างละเอียดลออ ถี่ถ้วนที่สุด พิจารณารอบคอบที่สุดแล้วยัง แล้วก็สอง-ตัดสินใจด้วยเจตนาดีที่สุดแค่ไหน เจตนาดีที่สุด คือเจตนาประกอบด้วยเมตตากรุณา ความปรารถนาดีต่อผู้ป่วย อันนี้แน่นอนแล้ว จะมาอยู่ที่ตรงนี้ คือเราตัดสินใจด้วยความปรารถนาดีต่อผู้ป่วย แต่ว่าก็ต้องประกอบด้วยปัญญาด้วย ให้สองอันนี้มาประกอบกัน ในแต่ละกรณีนั้นๆ เราก็อาจจะพูดยุติได้ว่า ถ้าทำด้วยปัญญาสูงสุด เจตนาดีที่สุดแล้ว เท่าไหร่เท่านั้นก่อนตอนนี้ อันนี้ไม่งั้นมนุษย์ไม่มีทางที่จะยุติ แต่นี่เป็นที่เราใช้ในกรณีอย่างที่ว่าเราไม่มีสูตรสำเร็จ ทีนี้เราก็ไม่ประมาท ในขณะนี้ครั้งนี้กรณีนี้ เราตัดสินใจด้วยปัญญาดีที่สุด และเจตนาดีที่สุดแล้ว แล้วเราก็เผื่อว่าเราจะพัฒนาตัวเองต่อไป เพื่อให้การจัดสินใจครั้งต่อไปนั้นได้ผลดียิ่งขึ้น ไม่ใช่จบเท่านี้ เรื่องปัญญานี้ก็มีความหมายหลายอย่าง นอกจากการรู้ความจริงของธรรมชาติแล้ว คือการรู้เกี่ยวกับการรักษาของเราเอง เรื่องของการแพทย์อะไรต่างๆ แล้วการรู้ที่เกิดจากการได้ เช่นการหารือปรึกษากัน ไม่ใช่ตัดสินใจไปง่ายๆ คนเดียวอย่างนี้ เป็นต้น การที่ได้มารวมหัวกัน ระดมความคิดกัน พิจารณาแล้วก็ทำให้เราพูดได้ว่าปัญญาดีที่สุด ก็ลองมาดูกันแล้วกัน หลักการก็มีว่าให้ปัญญามันดีที่สุด ทำด้วยความรู้ความเข้าใจดีที่สุดแล้ว แล้วสอง-จากนั้นก็เจตนาที่ดีที่สุด มุ่งหมายปรารถนาดีต่อมนุษย์เจ้าของชีวิตนั้น ปรารถนาดีต่อสังคม ปรารถนาดีต่อมนุษยชาติ เพราะเวลานี้มันซับซ้อนที่ว่าจะพิจารณาปัญหามันต้องมาคิดอีก เอะ เราจะรักษาชีวิตคนนี้คนเดียว แล้วเราจะต้องยอมเสียเงินมากมาย ซึ่บเกิดจากงบประมาณของประเทศชาติ ไปก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้ปัญหามันโยงกันไปหมด ฉะนั้นตอนนี้ที่ว่าพอเจตนาดีที่สุดเนี่ย บางทีมันไม่ใช่เจตนาดีเฉพาะต่อผู้ป่วยที่จะตาย แต่จะเป็นเจตนาต่อมนุษย์ ก็คือทั้งต่อชีวิตของคนที่จะตายด้วย ต่อสังคมทั้งหมด ต่อประเทศชาติ รวมทั้งเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจอะไรต่างๆ ก็เข้ามา ทีนี้อาตมาก็เลยพูดไปได้ในแง่หลักการ อย่างที่บอกแล้วว่าไม่มีสูตรสำเร็จ ในกรณีอย่างนี้ก็เป็นอันว่าเราก็ได้หลักในการประสานความจริงของธรรมชาติ กับความต้องการของมนุษย์ ให้มันพอเป็นไปกันได้ คิดว่าในวันนี้จะพูดแต่เพียงแนวกว้างๆ อย่างนี้ไว้ก่อน เพราะว่าอาตมาภาพไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจความหมายของหัวข้อปฐกถาชัดเจน โดยเฉพาะตอนที่สองที่บอกว่า ผลต่อศาสนา แต่ว่าเรื่องพินัยกรรมชีวิตก็พูดไปแต่พื้นความเข้าใจกรรม คือว่าเป็นศัพท์ใหม่ สำหรับตัวเอง คือไม่ทราบว่าได้บัญญัติกันเมื่อไหร่ แต่คำถามทำนองนี้มีมานานพอสมควรแล้ว เป็นปัญหาของยุคสมัย ในยุคที่วิทยาศาสตร์เจริญ แต่อย่างที่ว่า เจริญไม่สมดุล รู้ความจริงของธรรมชาติไม่เพียงพอ แต่ว่าสามารถสร้างสรรค์อุปกรณ์เทคโนโลยีมาจัดการกับชีวิต จัดการกับเรื่องธรรมชาติได้ก้าวไกลล้ำหน้าไปเยอะแยะ แม้จะพูดไม่ยาว แต่ก็คิดว่าอาจจะเป็นข้อคิดบางประการ หรือแทนที่จะเป็นข้อคิดที่เป็นประโยชน์ กลับทำให้ท่านทั้งหลายสับสนหนักเข้าไปอีก คือยิ่งทำให้ตัดสินใจยากเข้าไปอีก แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็น ก็ธรรมดาว่า เราจะหาข้อยุติที่ดีที่สุด เราก็จะต้องเอาสิ่งที่ต้องพิจารณาเกี่ยวข้องเข้ามา
ในตอนสุดท้ายอาตมาก็ขอฝากว่า ก็คือว่าเรื่องปัญญากับเจตนา เป็นตัวสำคัญ ปัญญาเชื่อมเรา ปัญญาเป็นตัวเชื่อมนุษย์เข้ากับความจริงของธรรมชาติ แล้วก็เป็นสัตว์พิเศษตรงนี้ ตรงที่ว่าจะสามารถรู้ความจริงของธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นเพียงเป็นผลผลิตของธรรมชาติ สัตว์ทั้งหลายอื่นมันก็เกิดขึ้นมา เราเรียกง่ายๆ เหมือนกับเป็นผลผลิตของธรรมชาติ แต่มนุษย์มีความสามารถพิเศษที่กลับไปรู้ต้นตอของตัวเอง รู้ธรรมชาตินั้นอีก นี่คือตัวปัญญา ปัญญาเชื่อมมนุษย์เท่ากับความจริงของธรรมชาติ แล้วเมื่อมนุษย์มีปัญญา รู้ความจริงของธรรมชาตินั้น เจตนาในการเลือกตัดสินใจของมนุษย์นี้ก็จะดีที่สุดด้วย ฉะนั้นเราก็ให้มีเจตนาที่เกิดจากพื้นฐานของปัญญาที่ดีที่สุด อาตมาภาพก็ขอโอกาสวันนี้ ไม่ได้ให้ความแจ่มแจ้งเท่าไหร่กับที่ประชุมมาก แต่ก็ขอฝากไว้เป็นข้อคิดพิจารณาเพียงเท่านี้ก่อน ก็ขออนุโมทนา ความจริงก็ปรากฏว่าเวลาก็จบแล้วด้วย ถ้าหากมีอะไรถามก็ถาม ถ้าไม่มีโอกาส แต่คิดว่าคงถามไม่ได้แล้ว เวลาเลย ก็ขออนุโมทนา
คำถาม : ...ส่อเจตนาว่าไม่ให้แพทย์ทางสมัยใหม่เข้าไปรักษาเลย แต่ว่าแพทย์เห็นว่าอยู่ในสภาพที่หมด ไม่มีทางต้องช่วย ถ้าไม่ช่วยรักษา จะตาย เช่น คนป่วยบอกอย่ามาถ่ายเลือดนะ อย่ามาเอาเลือดมาให้ แต่แพทย์เห็นแล้วว่าถ้าให้เลือดจะช่วยได้ แล้วแพทย์คนหนึ่งตัดสินใจว่าไม่ช่วย เพราะเขายื่นคำขาดไว้แล้วว่าไม่ให้ช่วย เป็นเจตนาของเขา เคารพเจตนาของคนไข้ แล้วเขาเลยตาย กับแพทย์อีกคนหนึ่งบอกว่าอย่างนี้ต้องฝืนเจตนา แล้วก็ช่วยรักษา แล้วก็รอด หรือไม่รอดก็แล้วแต่ แต่เจตนาต้องการช่วยโดยมีหลักวิชาแพทย์สนับสนุน จะถือว่าการกระทำของแพทย์ทั้ง 2 กรณี เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : คือโดยเจตนาเป็นเจตนาที่ดี ไม่ผิด ถือเป็นกุศล แต่ผลที่เกิดขึ้นดีแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง คือว่าผลที่จะเกิดขึ้นก็คือไปถูกต้องกับความเป็นจริง ใช่ไหม แล้วเจตนาเราวินิจฉัยได้ เจตนา คือเราต้องพิจารณา 2 ขั้น หนึ่ง-พิจารณาในแง่เจตนา เจตนาดี แต่เจตนาดีจะสำเร็จผลแค่ไหน ต้องเกิดจากปัญญาด้วย แต่เราพิจารณาตัดสินได้ในขั้นเจตนา ฉะนั้นเจตนานี้เป็นตัวตัดสินกรรม แต่ในแง่ของขั้นที่หนึ่ง ว่าเป็นเจตนาที่ดี ก็เป็นกุศล ไม่บาป
คำถาม : ทีนี้แพทย์ที่ตัดสินใจว่าไม่เข้าไปรักษา ทั้งๆ ที่รู้ว่ารักษาก็หาย เพราะอยากจะตามใจคนป่วย อย่างนี้ถือว่าเจตนาอยู่ในเกณฑ์อยู่ในกลุ่มของฝ่ายไหน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็ต้องดูว่าแรงจูงใจในใจเป็นยังไง คือแม้แต่ในกรณีเดียวกันนี่ ทางพระท่านไม่ได้ถือว่ามีแต่บาปอย่างเดียว บุญอย่างเดียวนะ มันปนกันไปเลย มีทั้งกุศลในส่วนอย่างนี้ อกุศลในส่วนอย่างนี้ คือเราต้องแยกเลย จำแนกแม้แต่เจตนานั้นว่าที่เจตนาดีต่อคนไข้ อยากให้เขาหายป่วย ก็เป็นกุศล แต่ว่าเพราะขาดปัญญา รู้ไม่จริง อันนี้ก็มีอันกุศลปนอยู่ หรืออย่างที่ว่าทำตามคนไข้ เจตนาที่ดีได้ตรงไหน อันนี้ไม่แน่นะ
คำถาม : เจตนาที่แท้จริงก็คือเคารพคนไข้ อย่างยกกรณีของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านแสดงเจตนาชัดเจนว่าอย่าเอาท่านมารักษา ถ้าสมมติคณะแพทย์ลงมติเห็นว่าเคารพเจตนาของท่านอาจารย์ แล้วไม่โยกย้ายท่านเข้าโรงพยาบาล อย่างนี้ก็ถือว่าไม่มีอะไรเป็น??? ไม่มีอะไรเป็น ???
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เจริญพร คือเราต้องพิจารณา 2 ขั้นด้วย คนที่สั่งไว้ ตอนนั้นสั่งไว้ด้วยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตตนแค่ไหน แต่พอตัวเองไปอยู่ในภาวะนั้นแล้วตัวเองก็ไม่รู้แล้ว ใช่ไหม การเปลี่ยนแปลงเรื่องของกระบวนการของชีวิตเองก็เกิดขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นฝ่ายผู้ที่ดูอยู่ กลับอาจจะรู้ดีกว่า แล้วตัดสินใจได้ถูกต้องกว่า เพราะฉะนั้นผู้ที่อยู่ก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสิน แต่ตอนนี้เราก็แยกได้อย่างที่ว่าแหละ ถ้าเรามีเจตนาดีต่อผู้ป่วย ก็พ้นบาปไปขั้นหนึ่งแล้ว แต่ว่าการตัดสินใจนั้น เมื่อดี ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกเสมอไป คนจำนวนมากมีเจตนาดี แต่ทำแล้วเกิดผลร้ายก็มี ใช่ไหม เจริญพร เพราะปัญญาไม่พอ เพราะฉะนั้น 2 อันนี้มันต้องมาด้วยกันเรื่อย แต่ว่าตอนแรกก็เอาว่า เจตนาไม่เสีย ที่จะไปขัดขวาง อย่างที่บอกแล้วว่าบางคนสั่งไว้แล้วตัวเองเนี่ยตัวเองนี่สั่งผิดเอง เพราะคนไข้เองไม่เข้าใจชีวิตของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องตามใจคนไข้ นี่ถ้าว่าถึงหลักการนะ เจริญพร ก็อยู่ที่ว่าถ้าปัญญามันเกิดรู้ชัดเจนขึ้นมา ปัญญามันเป็นฐานแล้วนี่ ปัญญาตัวความรู้จริงนี่เป็นตัวที่จะทำให้เจตนาได้ดีที่สุด ใช่ไหม เจริญพร ถ้าเจตนานั้นไม่ประกอบด้วยความรู้จริงเนี่ย มีทางผิดพลาดมาก เจริญพร ขอโมทนา