แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร วันนี้ รายการเล่าเรื่องให้โยมฟัง ก็คิดว่าจะนำเรื่องเบ็ดเตล็ดมาเล่าต่อ ตอนนี้กำลังตรวจบทลอกเทป เรื่องที่พูดกับนักศึกษาไทยที่พาราณสี ก็เพิ่งเสร็จไป นี้พอพูดถึงเมืองพาราณสี อาตมภาพก็เลยนึกว่านำเอาเรื่องเมืองพาราณสีนี่มาเล่าให้โยมฟังต่อ เพราะมีเกร็ดความรู้ที่พึงทราบ เพราะพาราณสีนี่เป็นเมืองสำคัญ นี้ถ้าหากว่าเล่าเรื่องเกี่ยวกับเมืองนี้ อาจจะทำให้โยม เห็นภาพเกี่ยวกับพระพุทธประวัติมากขึ้น และก็ได้ทราบเหตุการณ์ต่างๆที่ช่วยให้เห็นภาพเชื่อมโยงเรื่องในพุทธประวัติได้มากขึ้น
พาราณสีนั้นที่บอกว่าเมืองสำคัญน่ะ คือสมัยโบราณ เป็นเมืองหลวงของแคว้นหนึ่งชื่อว่าแคว้นกาสี เรามักจะได้ยินแต่ชื่อเมืองพาราณสี แต่ว่าแคว้นกาสีนี่ไม่ค่อยได้ยิน เพราะเหตุว่าแคว้นกาสีตอนพุทธกาลนั้นได้หมดอำนาจกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโกศลไปแล้ว ถ้าภาพของแคว้นกาสีเหมือนจะไม่มีแล้ว มีแต่แคว้นโกศล แคว้นโกศลนี่เราได้ยินบ่อย ที่มีพระเจ้าปเสนทิโกศล แล้วก็มีเหมือนหลวงชื่อว่าเมืองสาวัตถี
แต่ว่าเมืองพาราณสีนั้น แม้ว่าจะได้มาตกเป็นเมืองขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโกศลไปแล้ว แต่ก็เป็นเมืองสำคัญมาแต่โบราณ โดยเฉพาะก็เป็นศูนย์กลางของการศาสนา อย่างศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูนั้นน่ะ ก็ถือเอาเมืองพาราณสีเนี่ยเป็นสำคัญมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ แล้วในพุทธกิจ พระพุทธเจ้าก็แสดงปฐมเทศนาที่เมืองพาราณสี หรือที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่คณะโยมและก็อาตมภาพเองก็ได้เดินทางไปนมัสการแล้ว
เมืองพาราณสีก็เป็นเมืองสำคัญ แล้วก็ในอดีตกาลจะมีเรื่องในชาดกมากที่สุด ที่บอกว่า อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทฺตเต รชฺชํ กาเรนฺเต ชาดกส่วนมากจะขึ้นอย่างเงี้ย คือ จะพูดบอกว่า เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสีเนี่ย ชาดกส่วนมากจะเป็นอย่างงี้ แสดงว่าในสมัยก่อนโน้น ก่อนพุทธกาลเนี่ยสำคัญมากทีเดียว
ทีนี้อยากจะให้เห็นภาพกว้างๆของเมืองพาราณสีนี่ท่ามกลางท้องถิ่นต่างๆของประเทศอินเดีย ในคัมภีร์พุทธศาสนาก็กล่าวถึงชื่อแว่นแคว้น หรือประเทศต่างๆที่สำคัญไว้ ที่มีมาในอินเดียแต่โบราณนั้นว่ามี 16 ประเทศ หรือ 16 มหาชนบท ท่านใช้คำว่ามหาชนบท ในภาษาไทยคำว่าชนบทเนี่ยกลายมาเป็นบ้านนอกไป แต่ที่จริงในภาษาบาลีนั้น คำว่า ชนบท หมายถึงว่าถิ่นที่มีประชาชนอยู่มาก เพราะฉะนั้นประเทศเนี่ยเขาก็เรียกว่าเป็นชนบท นี้ที่เป็นประเทศใหญ่ เขาเรียกว่า มหาชนบท
มหาชนบทเนี่ยมีกล่าวไว้ 16 แคว้นด้วยกัน อาตมภาพจะไล่ชื่อไว้ และไม่จำเป็นจะต้องจำอะไร เพียงแต่ว่า โยมอาจจะได้สังเกตเห็นชื่อสำคัญๆที่ผุดขึ้นมา ใน 16 ชื่อนี้ด้วย ก็มี อังคะ มคธะ หรือ มคธ และกาสี โกศละ หรือโกศล และก็วัชชี แล้วก็มัลละ แล้วก็เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ อัสสกะ อวันตี มัจฉะ สุรเสนะ คันธาระ กัมโพชะ 16 แคว้นเลยเนี่ย
เมื่อท่านบอกว่าเป็นมหาชนบทหรือประเทศใหญ่ แต่มาถึงพระพุทธกาลจริงๆแล้ว มันไม่เหลือ 16 แคว้นหรอก มันเหลือน้อยกว่านั้น ที่ใหญ่จริงๆก็มคธเนี่ยที่โยมได้ยินเสมอ พระเจ้าพิมพิสาร และต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรู แล้วก็กาสี ก็รวมอยู่ในโกศล กาสี โกศละ ก็เป็นเหลือแต่โกศละ ก็คือโกศล โกศลก็ขึ้นอยู่ สาวัตถีเป็นเมืองหลวง พระเจ้าปเสนทิโกศลครอบครอง แล้วก็วัชชี วัชชีก็เป็นแคว้นใหญ่ในพุทธกาล มีอำนาจมาก มัลละก็กลายเป็นเมืองเล็กๆไปแล้ว เจตี วังสะ ก็ไปใหญ่อยู่วังสะ
กุรุ ปัญจาละ ก็เป็นเรื่องอดีตโน่นแน่ะ สงครามมหาภารตะยุทธอะไรเนี่ย ก็เป็นเรื่องเก่าไปแล้ว กุรุ ปัญจาละ เมืองเดลีก็อยู่ในแคว้นกุรุ ปัญจาละ อัสสกะ อวันตี ก็ไปใหญ่ อวันตี อวันตี เมืองโกสัมพี เรื่องของกามนิตวาสิฏฐี แล้วก็คันธาระ ก็มาใหญ่ขึ้น มีชื่อเสียงมากขึ้นในหลังพุทธกาลอีกครั้งหนึ่ง นอกนั้นก็ไม่ค่อยมีชื่อเสียงอะไร นี้จะเห็นว่าแคว้นที่เราได้ยินเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติบ่อยก็คือแคว้นมคธ แล้วก็แคว้นโกศล ในส่วนกาสีก็อย่างที่อาตมภาพเล่าให้ฟังว่า ไปอยู่ในอำนาจของโกศลไปแล้ว
ทีนี้เราก็จำกัดเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับพาราณสี ที่อาตมภาพบอกว่าพาราณสีเป็นเมืองหลวงเก่าของแคว้นกาสี ซึ่งได้มาเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโกศลไปแล้ว และแคว้นโกศลก็มีเมืองหลวงชื่อว่าสาวัตถี ในที่นี้ก็จะมาพูดถึงเรื่องการที่ว่าเมืองพาราณสี หรือแคว้นกาสีเนี่ย ได้มากลายเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโกศลในประวัติศาสตร์ แต่ก่อนที่จะเล่าเรื่อง ก็อยากจะพูดถึงชื่อเมืองซะหน่อย ชื่อเมืองพาราณสีเนี่ย นักประวัติศาสตร์หรือนักภูมิศาสตร์เขาบอกว่าเหตุที่ชื่อว่าพาราณสี เพราะว่าตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำพาราณา กับแม่น้ำอสิ พาราณากับอสิ ก็รวมกันเป็นพาราณสี นะฮะ อันนี้เป็นที่มาของชื่อเมือง
อันนี้ เมืองสาวัตถีที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศลที่ตอนปัจจุบันและตอนพุทธกาลเนี่ย เป็นที่ เป็นเมืองใหญ่ที่ครอบครองมาถึงพาราณสีด้วย สาวัตถีนั้นก็มีที่มาของชื่อ เขาบอกว่าพวกคาราวาน หรือกองเกวียนต่างๆเนี่ย เดินทางเข้ามาที่เมืองสาวัตถี พอมาถึงเมืองนั้นแล้วก็มีที่พักใหญ่แห่งหนึ่ง พวกกองเกวียนก็มาพักกันอยู่ที่นั่น และก็จะถามกัน จะคุยกัน ถามบอกว่าท่านมีของอะไรมาขายบ้าง อะไรอย่างงี้ ซึ่งภาษาบาลีเขาใช้คำว่า จึง ธนํ(???) อตฺถิ ว่าท่านมีของอะไรมาบ้าง ฝ่ายตอบก็จะตอบบอกว่า สพฺพํ อตฺถิ สพฺพํ อตฺถิ นี่ภาษาสันสกฤตนี่ สรฺวํ อสฺติ สพฺพํ อตฺถิ หรือ สรฺวํ อสฺติ เนี่ยก็กลายมาเป็นชื่อเมืองสาวัตถี นะฮะ ก็คือสาวัตถี สาวะ หรือ สรรพะทั้งปวง และก็ อตฺถิ นี่ บอกมีของทุกอย่างว่างั้นนะ คือ พ่อค้าที่ถูกถามมาว่าท่านมีของอะไรมาขาย คนตอบก็บอกมีทุกอย่าง ก็เลยคำว่ามีทุกอย่างเนี่ยก็กลายมาเป็นชื่อของเมืองสาวัตถี และในภาษาสันสกฤต เขาเรียกเมืองสาวัตถีว่า สราวัสตี นะฮะ สราวัสตี อย่างที่เราไปเห็นตอนที่เดินทาง เขาใช้ชื่อเป็นสันสกฤต อันนี้ก็เป็นที่มาของชื่อเมือง
ทีนี้อาตมภาพจะกลับไปย้อนเล่าถึงความเป็นมาในประวัติศาสตร์ อา ในสมัยก่อนก็เมืองพาราณสี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นกาสีนี่ก็เป็นอิสระ เป็นแคว้นใหญ่ มีอำนาจมาก เคยใหญ่กว่าแคว้นโกศล แล้วมีสมัยหนึ่งที่ว่า พระราชาแห่งแคว้นกาสีเนี่ยยกทัพไปรบเอาแคว้นโกศลเข้ามาเป็นเมืองขึ้นอยู่ในอำนาจ ตอนสมัยนั้น ผู้ครอบครองแคว้นโกศลเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมืองเล็ก ชื่อว่าพระเจ้าทีฆีติ เรียกเต็มว่าทีฆีติโกศล พระเจ้ากาสีนี่ต้องการดินแดน ต้องการขยายอำนาจ ก็เลยเดินทางยกทัพไปรบ พระเจ้ากาสีนี่ แต่ปกติจะชื่อตายตัวเลยชื่อว่าพระเจ้าพรหมทัต คือพระราชาองค์ไหนก็ตามขึ้นมาครองแคว้นกาสี อยู่ที่เมืองพาราณสีนี่จะเรียกว่าพระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตแห่งแคว้นกาสีก็ยกทัพไปรบ ไปรุกรานแคว้นโกศล ฝ่ายพระเจ้าทีฆีติโกศลนั้นเห็นว่าตัวเป็นเมืองเล็ก มีกำลังน้อย ก็ไม่สู้ด้วย ก็ละทิ้งเมืองหนีไป พระเจ้าพรหมทัตแห่งแคว้นกาสีก็เลยเข้าครอบครองแคว้นกาสีที่เมืองพาราณสีโดยง่าย
ทางฝ่ายพระเจ้าทีฆีติโกศลกับพระราชเทวีก็หนีออกมาจากเมือง แล้วก็ไปปลอมตัว อาศัยอยู่ที่บ้านช่างหม้อบ้านหนึ่ง ตอนนั้นพระราชเทวีของพระเจ้าโกศลนั้นก็ทรงพระครรภ์แล้ว อา เมื่อปลอมตัวแล้วก็หลบอาศัยอยู่ระยะหนึ่ง พระราชเทวีก็ประสูติพระโอรสออกมา แล้วก็ได้มาพิจารณาเห็นว่า ถ้าหากว่าพระราชโอรสอยู่ด้วยเนี่ยจะไม่ปลอดภัย เพราะว่าถ้าเกิดเขามาพบขึ้นท่านก็จะต้องถูกจับไปด้วยกันหมด ก็เลย เจริญพร ก็เมื่อประสูติพระโอรสแล้วก็เลยคิดว่า ถ้าอยู่ด้วยกันจะไม่ปลอดภัย ถ้าหากว่าฝ่ายตรงข้ามคือฝ่ายพระเจ้ากาสีเนี่ยมาพบเข้าก็จะถูกจับไปหมด ก็เลยแยกพระราชโอรสออกไป โดยส่งเอาไว้ที่ไกลๆ
พระราชโอรสนั้นเติบโตขึ้นมาก็ได้เล่าเรียนวิชาการต่างๆจนกระทั่งจบ นี้ฝ่ายพระเจ้าโกศลกับพระราชเทวีเนี่ยอยู่อาศัยมาที่บ้านช่างหม้อเป็นเวลานานก็ช่วยงานช่วยการเขาไป ก็ไม่นึกว่าวันหนึ่งจะถูกจับตัว ก็ปรากฏว่าวันหนึ่ง ช่างกัลบกของพระเจ้าโกศลเองซึ่งเคยรับราชการอยู่ด้วย แต่ตอนนี้ได้ไปอยู่กับพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ คือ พระเจ้าพรหมทัต ก็ได้มาพบเจ้านายของตัวเข้า มาพบเจ้านายเก่าของตัวแล้วคงจะต้องการลาภยศ ก็เลยไปบอกแก่พระเจ้ากาสีคือพระเจ้าพรหมทัตว่า พระเจ้าโกศลเนี่ยซ่อนพระองค์ปลอมอยู่ที่บ้านช่างหม้อ
ฝ่ายพระเจ้ากาสีนั้นแทนที่จะให้อภัย เนื่องเวลาก็ผ่านมานานแล้ว ก็ที่จริงตอนที่ยกทัพมารุกรานนั้น ทางโน้นเขาก็ไม่ได้สู้อะไรด้วยซ้ำ เขาก็หนีไป แต่พระเจ้ากาสีพรหมทัตนี่กลับให้ทหารเนี่ยไปจับตัวพระเจ้าโกศลกับพระราชเทวีมา พอจับมาแล้วก็ให้เอาไปประหารชีวิต เอาไป เอา เขาเรียกอะไรนะ สำหรับทำกับเจ้านาย ให้ปลงพระชนม์น่ะ ให้สำเร็จโทษ เจริญพร เออ ก็ให้สำเร็จโทษเสีย โดยที่ว่ากล้อน ตามประเพณีโบราณเขามีการให้กล้อนผมหมด แล้วก็จับมัดไพล่หลัง แล้วก็เอาตัวตระเวน ตระเวนไปรอบเมืองประจาน ประจานเสร็จแล้วก็เอาไปที่ตะแลงแกงประหารชีวิต
ระหว่างที่กำลังเอาตัวตระเวนอยู่นี่เอง ฝ่ายมานพพระราชโอรสของพระเจ้าโกศลน่ะ ซึ่งเดี่ยวนี้เติบโตแล้วชื่อว่า ทีฆาวุกุมาร ก็พอดีอยากจะมาเยี่ยมพระราชบิดา พระราชมารดา ก็เดินทางมา ก็รู้ข่าวก็รีบติดตามเข้ามา แต่ตัวเองคนเดียวก็ทำอะไรไม่ได้ ก็เสียใจ ได้แต่เศร้าโศกแล้วก็ดูอยู่ ทีนี้ฝ่ายพระเจ้าทีฆีติโกศลกับพระราชเทวีเนี่ย ก็เห็นพระราชโอรสมา นะฮะ ก็ทำอะไรไม่ได้ ก็เลย พระเจ้าโกศลก็ตรัสสอน นะฮะ ตรัสสอนโดยเปล่งพระวาจาสั้นๆบอกว่า อย่ามองยาวไป อย่ามองสั้นไป เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร เวรจะระงับได้ด้วยการไม่จองเวร ก็กล่าวซ้ำๆอย่างเงี้ย
อันนี้ ฝ่ายพวกผู้คุมเห็นพระเจ้าโกศลตรัสอะไรต่ออะไรกับใคร ก็เลยไม่รู้ไม่เห็นเนี่ย ก็เลยนึกว่าคงเสียสติ เสียพระจริตแล้ว นะฮะ ก็ไม่ว่าอะไร ก็ ก็ได้แต่พูดว่า พระเจ้าโกศลก็ได้แต่สอนลูกของตัวเองอย่างเงี้ย นี้ ฝ่ายทีฆาวุกุมารก็ได้รับฟังโอวาทของพ่อ นะฮะ ก็เข้าใจความหมาย แต่ว่าใจก็ยังแค้นอยู่นั่นแหละ ก็ได้แต่ว่าติดตาม คอยตามข่าวดู ฝ่ายพระราชบุรุษคนของพระเจ้าพรหมทัตนั้นเมื่อได้ตระเวนประจานพระเจ้าโกศลกับพระราชเทวีไปตามพิธีเสร็จสิ้นแล้วก็นำไปสู่หลักประหาร แล้วก็ได้สำเร็จโทษเสีย แล้วก็ฟันพระวรกายเป็น 4 ท่อน แล้วก็ใส่หลุม 4 ทิศ อันนี้เป็นตามธรรมเนียมโบราณเขา แล้วก็ตั้งยามรักษาการณ์ไว้ แล้วก็พากันไป
นี้ฝ่ายทีฆาวุกุมารก็หาโอกาสที่จะเข้ามาสู่พระบรมศพอยู่เรื่อย จนกระทั่งตอนค่ำได้โอกาสก็เอาสุราแล้วก็เอาอาหารกับแกล้มต่างๆเนี่ยมาล่อพวกคนยามรักษาการณ์ ก็ปล่อยให้พวกนั้นกินเหล้ากันจนกระทั่งเมา หมดสติแล้ว ตัวเองก็เข้าไปจัดการเอาพระบรมศพเนี่ยขึ้นมา ก่อกองไฟ รวบรวมฝืนได้ก็เผา เผาเสร็จแล้วก็เอาอัฐิ คงจะได้เอาไปเป็นที่ระลึกบ้างหรือยังไงก็แล้วแต่ ก็เป็นอันว่าจัดการพระบรมศพเสร็จ
ตามเรื่องท่านบอกว่า ก็พอเสร็จแล้วก็ดึก หาที่ไปนั่งร้องไห้จนพอแก่ใจ แล้วเสร็จแล้วก็มีความแค้นมาก ก็คิดหาทางว่าจะต้องทำการแก้แค้นแทนพระราชบิดา พระราชมารดา ก็คิดอุบายขึ้นมา ตอนแรกก็ไปหาพวกฝึก คนฝึกช้าง อาจารย์ฝึกช้าง เขาเรียกนายหัตถาจารย์ คนฝึกช้างของพระเจ้าแผ่นดิน ก็ไปที่โรงช้าง ก็ไปรับอาสา บอกว่าให้ไปขอฝึกงานด้วย บอกว่าข้าพเจ้าอยากจะมาขอฝึกเป็นควาญช้าง ขอรับราชการอยู่ด้วย อาจารย์ฝึกช้างก็รับเข้ามารับราชการ และก็มาอยู่กับเขาไประยะหนึ่ง เวลาเช้า ทีฆาวุกุมารนี้ก็จะลุกขึ้นมาแต่เช้า แล้วก็มาดีดพิณ ขับเพลง ด้วยเสียอันไพเราะ เพราะแกไปเรียนศิลปะมาแล้ว ตอนที่แกไปอยู่นอกเมืองนั้น
นี้โรงช้างนี่ธรรมดาก็อยู่ไม่ไกลนักจากพระราชวัง พระเจ้าพรหมทัตนั้นเสด็จบรรทมตื่นตอนเช้า ท่านจะได้ยินเสียงทีฆาวุกุมารเนี่ยขับเพลงดีดพิณด้วยเสียงอันไพเราะ ก็โปรดชอบพอพระทัย ก็ให้หาว่าใครนะที่มาขับร้องเสียงไพเราะอ่อนหวานเจื้อยแจ้วเนี้ย หาตัวมา พอหาตัวมาก็โปรดให้ขับเพลงให้ ดีดพิณให้ฟังอีก ก็พอพระทัย บอกว่านี่นะเธออยู่รับราชการกับฉันได้มั้ย มานพก็ อ้อ พระราชกุมารก็ชอบใจสิ ก็ขออยู่รับราชการด้วย ตกลง ก็อยู่รับราชการมา ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตเนี่ยก็เห็นทีฆาวุกุมารนี่เป็นคนดีมีความเรียบร้อย ทำอะไรก็พอพระทัยทุกอย่าง ก็เลยให้เป็นคน คนอะไร คนใกล้ชิด คนโปรด เขาเรียกว่าพวกราชวัลลภ ทหารคนสนิทนี่ เข้ามาอยู่ใกล้ตัวที่สุด เอาล่ะตอนนี้ได้โอกาสเข้ามามากทุกทีๆ
และอยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตก็บอกว่าจะเสด็จออกไปนอกเมือง ไปล่าสัตว์ ให้ทีฆาวุกุมารเนี่ยเตรียมม้าเตรียมรถ ทีฆาวุกุมารก็จัดเตรียมเรียบร้อยก็มากราบทูล แล้วก็ขับรถเฉพาะไปกับพระองค์ กับในหลวง กับพระเจ้าพรหมทัตเนี่ยสองคนเท่านั้น แล้วทหารก็ติดตามไปห่างๆ จะมีกองทัพไปด้วย แต่เฉพาะรถคันนั้นก็มีสองเท่านั้น นี้ทีฆาวุกุมารก็พอออกไปไกลๆแล้วก็หาทางขับรถ ใช้อุบายวิธีจนกระทั่งว่าให้รถเนี่ยห่างจากกองทัพแยกไปคนละทางเลย แยกไปคนละทางนานเข้า พระเจ้าพรหมทัตก็ทรงเหน็ดเหนื่อย ก็บอกทีฆาวุกุมาร บอกว่าเราเหนื่อยมาแล้วจะขอนอนพักข้างทางซักหน่อย ก็ทีฆาวุกุมารก็หยุดรถแล้วก็ลงไปพักกันที่โคนต้นไม้ ทีฆาวุกุมารก็นั่งขัดสมาธิ และพระเจ้าพรหมทัตก็ทรงบรรทมเอาพระเศียรนั้นหนุนบนตักของทีฆาวุกุมาร แล้วด้วยความเมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมากก็หลับไป
นี้พอหลับไปแล้ว ทีฆาวุกุมารก็มีความแค้นนี้ขึ้นมาอีกแล้ว นึกขึ้นมาถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์เนี้ยฆ่าพ่อฆ่าแม่ของเรา ก็ความแค้นแรงขึ้นมามากก็บอกว่าเราจะต้องฆ่าเดี๋ยวนี้แหละได้โอกาสแล้ว ก็เอาพระขรรค์ขึ้นมา แล้วชักพระขรรค์ออกจากฝักแล้วก็จะฆ่า พอจะแทงก็นึกขึ้นมา คำพูดของพระราชบิดาก็ก้องเข้ามาในหู บอกว่าจงเห็น อย่ามองยาวไป อย่ามองสั้นไป เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร เวรระงับได้ด้วยการไม่จองเวร อะไรอย่างเนี้ยนะฮะ ก็ ตั้งขึ้นมานี่ก็ชะงัก ชะงักก็เอาดาบใส่พระขรรค์ไว้อีก เดี๋ยวก็ความแค้นก็ขึ้นมาอีก ก็ชักดาบ พระขรรค์ออกมาอีกจะแทงอีก อ้าว คำพูดของพ่อก็ก้องขึ้นมาก็เก็บดาบ ก็ทำอยู่อย่างเงี้ยสามครั้ง
สามครั้งพอดีพระเจ้าพรหมทัตก็ตื่น แต่ตื่นอย่างตระหนกพระทัยทีเดียว แล้วทางทีฆาวุกุมารก็ถามบอกว่า ทำไมพระองค์จึงตระหนกพระทัยตื่นขึ้นมา พระเจ้าพรหมทัตก็บอกว่าเราฝันร้าย ฝันว่ายังไง ฝันว่าลูกของพระเจ้าทีฆีติโกศลมาฆ่าเรา ก็เลย ทีฆาวุกุมารตอนนั้นก็แค้นขึ้นมาอีก ก็ชักดาบ พระขรรค์ขึ้นมา แล้วก็บอกเนี่ย เราเนี่ยแหละคือทีฆาวุกุมาร โอรสของพระเจ้าโกศล มาตามเอาชีวิตพระองค์แล้ว ได้โอกาส ทางพระเจ้าโกศลก็ตกพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความหวาดกลัวก็ขอชีวิต แต่ตอนนี้ทีฆาวุกุมารก็อ่อนขึ้นมาอีกเพราะว่านึกถึงคำพ่อ พอพระเจ้าพรหมทัตขอชีวิต พระราชกุมารก็บอกว่า ข้าพระองค์เนี่ยไม่อยู่ในฐานะจะถวายชีวิตแก่พระองค์ พระองค์นั่นแหละจะเป็นผู้ให้ชีวิตแก่ข้าพระองค์ได้ พระเจ้าพรหมทัตก็บอกว่าเราก็ให้ชีวิตแก่ท่าน งั้นก็เลย อ้าว อย่างงั้นเราสองคนต่างให้ชีวิตแก่กันและกัน ไม่เอาโทษแก่กัน แล้วก็เลยเลิกแล้วต่อกัน แล้วก็สาบานต่อกันว่าจะไม่ทำร้ายกันและกันต่อไป
แล้วท่านก็เอา พรหมทัตก็ตรัสถามบอกว่าเนี่ย เอานะ อยากจะทราบว่าเธอเนี่ยทำไมถึงไม่ฆ่าเรา แล้วพ่อ คือว่าเมื่อกี้นี้ ทีฆาวุกุมารก็เล่าให้ฟังเหมือนกันว่า ที่ตอนที่พระองค์หลับนั้นข้าพเจ้าก็จะฆ่าอยู่แล้ว แต่ว่านึกถึงคำพ่อ เพราะอย่างงั้นก็เลยไม่ฆ่า ทีนี้พระเจ้าพรหมทัตก็เลยถามว่า ที่พ่อพูดว่าจงอย่ามองยาวไป อย่ามองสั้นไป เนี่ย มีความหมายอย่างไร ทีฆาวุกุมารก็อธิบายว่าเพื่อ อย่ามองยาวไปนั้นหมายความว่า อย่าผูกเวรกันให้ยืดเยื้อยาวนานกันเลย แล้วก็ที่ว่าอย่ามองสั้นไปล่ะหมายความว่าไง อย่ามองสั้นไปหมายความว่า อย่าแตกร้าวหุนหัน อย่าหุนหันแตกจากมิตร มีมิตรก็อย่าได้แตกร้าวจากกันเลยนะ ก็หมายความว่าให้รักษามิตรภาพเอาไว้ให้ยืนยาว อันนี้ก็เป็นคำอธิบายของทีฆาวุกุมาร และก็อธิบายถึงว่าด้วยเวรไม่ระงับด้วยการจองเวร เวรระงับด้วยการไม่จองเวร เป็นอย่างไร ก็อธิบายให้พระเจ้าแผ่นดินฟัง พระเจ้าแผ่นดินก็พอพระทัย
พอกลับไปถึงเมืองแล้วก็เลยประกาศให้พวกอำมาตย์ข้าราชบริพารทราบว่านี่คือทีฆาวุกุมาร เป็นคนที่บัดนี้ได้เลิกจองเวรกันแล้ว ไม่มีภัยมีเวรต่อกัน แล้วพระองค์ก็เลยคืนราชสมบัติให้แก่เจ้าชายทีฆาวุกุมารให้ครอบครองแคว้นโกศลต่อไป แล้วก็พระราชทานพระราชธิดาให้ด้วย ก็เลยเข้าใจว่านี่แหละ พอพระเจ้าพรหมทัตสิ้น ก็ทีฆาวุกุมารก็จะได้ครองทั้งสองเมือง อันนั้นก็เป็นอันว่าตอนแรกเนี่ยกาสีเนี่ยเป็นฝ่ายที่รบชนะโกศล เป็นแคว้นใหญ่กว่า แต่ผลที่สุดเดี๋ยวนี้ กลายเป็นว่ากาสีอยู่ในแคว้นโกศลไปแล้ว แล้วตอนหลังยังมีเรื่องมาอีกเป็น เช่นเรื่องของพระเจ้าตานตะ (???) แห่งแคว้นโกศลที่ไปรุกรานแคว้นกาสี ไปยึดกาสีได้ คือหมายความว่าในระยะต่อมาก็คงจะมีการเป็นอิสระต่อกัน แล้วก็ แต่ในที่สุด ผลที่สุด สุดท้ายก็คือว่าแคว้นกาสีก็ไปเป็นเมืองขึ้น ไปเป็นส่วนหนี่งอยู่ในแคว้นโกศล ตามที่ปรากฏในพุทธกาล
เนี่ย อาตมภาพก็เล่าเรื่องเก่าให้โยมฟัง นะฮะ คือโยมอาจจะมองเห็นภาพของเรื่องในอินเดียชัดยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ว่าแคว้นกาสีหรือโกศลก็ตาม หลังพุทธกาลต่อมาอีกระยะหนึ่ง ก็หมดไปด้วยกันนั่นแหละ เดี่ยวนี้ในประเทศอินเดียเราก็มีแต่ประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม่มีทั้งกาสี ไม่มีทั้งโกศล มีแต่ประเทศอินเดียที่มีเมืองเดลีเป็นเมืองหลวง นี่ก็เป็นเรื่องของอนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน อาณาจักรที่เคยเล็กก็เคยใหญ่ขึ้นมา แต่พอ อันนี้ก็เป็นเรื่องของอนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน แคว้นเล็กก็กลายเป็นแคว้นใหญ่ได้ แคว้นใหญ่ก็ต่อมาก็สูญสิ้นอำนาจก็สลายไป แล้วก็มีอาณาจักรใหม่เกิดขึ้นแทน ก็เป็นอย่างงี้เรื่อยมา
คติสำหรับเราก็คือว่า ให้รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงแท้เหล่านี้ แล้วก็ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใสอยู่ได้ตลอดเวลา ไม่ตกอยู่ในอำนาจของการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น แล้วก็มีกิจมีหน้าที่ก็เร่งทำไปด้วยความไม่ประมาทที่ให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีงาม เปลี่ยนแปลงไปในทางที่น่าปรารถนาคือเจริญก้าวหน้า แต่ถ้ามันมีอันเป็นไป มันเปลี่ยนแปลงไปในทางร้าย เราก็รู้เท่าทันมันอีก ก็ไม่ต้องไปเศร้าโศกเสียใจให้เกินควร แล้วก็พยายามที่จะแก้ไขให้มันดี ถ้าทำอย่างนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า อาตมภาพก็เล่าเรื่องเมืองพาราณสีมาเป็นเวลาพอสมควร สำหรับวันนี้ก็ขออนุโมทนาโยมเพียงเท่านี้ก่อน เจริญพร