แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระนวกะ “จุดที่อยากจะถามเพิ่มนิดหนึ่งก็คือว่าที่คุณสุจิตต์ วงษ์เทศบอกว่าพระไตรปิฎก ว่าท่านพุทธทาสเนี่ย ย้ำว่าพระไตรปิฎกนั้นเหลือมีแค่สี่สิบเปอร์เซ็นต์ที่จัดเป็นเรื่องการดับทุกข์โดยวิถีทางวิทยาศาสตร์ ที่ไม่อาจจะปลดหรือฉีกออกได้อีกต่อไป ส่วนหกสิบเปอร์เซ็นต์ที่เหลือเนี่ยเหมือนกับว่าฉีกทิ้งไปได้”
ท่านป.อ.ปยุตโต “ก็อันนี้ก็นั่นแหละ ต้องใช้การพินิจพิจารณาแบบที่ผมพูดไปเมื่อกี้คร่าว ๆ คือว่าพระพุทธเจ้าตรัสตามโวหารของชาวโลก แล้วมองกว้างไปวัฒนธรรม ประเพณี พระองค์อยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างนั้น เขานับถือเรื่องของ
เทพเจ้า เทวดา พระอินทร์ พระพรหม เรื่องของท้าวโลกบาล เรื่องของพิธีกรรมอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสบางอย่างที่เอามาใช้ได้ ก็เอามาใช้ เหมือนอย่างกับคำว่า “ทักขิณา” คำว่าทักขิณานี้เดิมก็หมายถึงค่าทำพิธีบูชายัญ ที่คนที่ไปทำพิธีบูชายัญก็ต้องมอบทักขิณา คือค่าทำพิธีบูชายัญนี้ให้แก่พราหมณ์ นี้พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแล้ว พระองค์ก็ไม่ให้บูชายัญในความหมายเดิม ซึ่งมีการฆ่าสัตว์ ยิ่งฆ่าได้มากยิ่งดี อะไรอย่างเงี้ย พระพุทธเจ้าก็มาสอนใหม่ หลายเรื่อง แม้แต่ในเรื่องบูชายัญ หนึ่งคำว่าทักขิณาก็นำมาใช้ เพราะเขาถือเป็นของสูงใช่ไหม ของถวายแก่พราหมณ์ หรือมอบแก่พราหมณ์ ก็นำมาใช้กับพระภิกษุสงฆ์ เพราะว่าอยู่ในวัฒนธรรมนั้นนี่ ก็เอ้าเขาเอาของมาถวายพระ ก็เขาเคยไปให้กับพราหมณ์ ก็เรียกให้พราหมณ์ก็ให้ทักขิณา แล้วมาให้กับพระจะเรียกอะไรใหม่ มันต้องเสียเวลาหาคำ ก็เรียกได้คำเดิม แต่ใช้คำเดิมความหมายมันเปลี่ยนแล้ว มันไม่ใช่ค่าทำพิธีบูชายัญ พระพุทธเจ้าก็กลายเป็นว่าเรามาให้ความหมายกันใหม่ ก็คือสิ่งที่เขาให้ด้วยความศรัทธา เชื่อในหลักธรรมคำสอน อรรถกถาก็มาอธิบายว่า ทักขิณา คือของที่เขาถวายแก่พระสงฆ์ ด้วยความเชื่อกรรม อย่างนี้ ก็แทนที่ว่าเชื่อเรื่องของพระพรหม ก็เปลี่ยนมาเป็นเชื่อกรรม หรือเชื่อปรโลก บางแห่งก็อธิบายแบบนั้น บางแห่งก็ถวายเพื่อผลอันสูง ก็หมายความว่าด้วยความเคารพ และก็พระสงฆ์บริสุทธิ์เมื่อถวายกับท่าน เราเรียกพระอรหันต์ว่าเป็นผู้ทักขิเณยโย ผู้ควรจะทักษิณาเลยถูกไหม เนี่ยคำว่าทักษิณานี่ใช้สูงมาก พระอรหันต์นี่เป็นทักขิเณยโย เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา ก็คือคนที่ควรแก่ของถวายที่แท้จริงต้องขั้นพระอรหันต์นะ เพราะฉะนั้นอย่าไปนับเลยขนาดพวกพราหมณ์นี่ ขนาดพระทั่วไปนี่ยังไม่ควรแก่ทักษินาแท้เลย ต้องพระอรหันต์ ก็หมายความ ก็ท่านก็ให้ความหมายกันไป พระอรรถกถาจารย์ก็พยายามให้ความหมาย พระอรรถกถาจารย์ก็คือพยายามอธิบายความหมายของพุทธพจน์ หรือสิ่งที่มีมาในพระไตรปิฎกให้ได้ความหมายชัดเจนที่สุด ก็ท่านก็พยายามนึกถึงว่า คุณค่าที่เขาหมายถึงกันในยุคพุทธกาล ในพระไตรปิฎกเนี่ยหมายความยังไง พยายามสื่อออกมาเป็นคำพูด ก็ออกมาเป็นคำอย่างที่ว่า นี่ก็เป็นคำของอรรถกถาว่าขอถวายเพื่อผลอันสูง อะไรอย่างนี้เป็นต้น เพื่อผลอันเจริญ อย่างนี้แหละ คำอธิบาย คำจำกัดความตามอรรถกถาของคำว่าทักขิณา ก็เลยมีหลายความหมาย แต่ก็เอาเงี้ย โดยมากจะยกมาคำว่า ถวายด้วยความเชื่อปรโลก แต่อีกอันผมว่าแน่นกว่าก็คือด้วยความเชื่อกรรม จะเป็นหลักเป็นฐานยิ่งขึ้น ถวายแก่ท่านผู้ทรงคุณความดีที่จะทำให้สิ่งที่ถวายนี้เกิดผลอันเจริญงอกงาม อ้าวนั่นก็ยิ่งดีไปในแง่ของว่าเออ ท่านเป็นอริยะชน เป็นพระอรหันต์อย่างเงี้ยนะ แต่รวมความก็คือเป็นเรื่องภาษาพยายามสื่อให้ได้ความหมายความเข้าใจที่มันโยงไปหาหลักพุทธศาสนา นี่ท่านพุทธทาสท่านก็พยายามที่จะสื่อ ท่านก็อยากให้คนเนี่ยไม่เชื่องมงาย อยากเข้าถึงสาระ แต่วิธีพูดของท่านนั่นถ้ามองในแง่ของคนอื่น ก็อาจจะรุนแรงหน่อย แล้วถ้าคนเข้าไม่ถึงคำพูดของท่าน เอาไปใช้ บางทีก็เกิดพิษเหมือนกัน ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ คำว่าเถรวาทเท่านั้นแหละ ท่านพูดมาแค่ว่าไม่มีเถรวาท ไม่มีมหายาน คนนั้นเข้าไม่ถึง เอาแล้ว เอามาใช้ในแง่ที่ท่านพูดครั้งเดียวนั้นแล้วมาจับหมดเลย พระพวกนี้เถรวาทไม่มี เอาล่ะสิ ยุ่งล่ะสิ ใช่ไหมเนี่ย ทั้ง ๆ ที่ว่าท่านเองท่านก็ยอมรับ ในอีกกรณีนึงถ้าพูดเต็มที่เลย เถรวาทเป็นอย่างนั้นอย่างนั้น แล้วท่านเองก็เป็นเถรวาทเต็มตัวอย่างที่ว่า ก็อยู่ที่เราจะต้องเข้าใจท่านด้วย บางอาจารย์เราจะศึกษาท่าน เราก็ต้องเข้าใจท่านเอง อันนี้ก็อยู่ที่ผู้ศึกษาผู้เล่าเรียน บางคนก็ไปจับเอาแง่เพื่อจะเอามาใช้ประโยชน์ของตัวเอง จริงไหม ทั้งที่ว่าไม่ใช่เป็นความเข้าใจของท่านหรอก แต่ตัวเองจะจับแง่ หาแง่หามุมที่จะเข้ากับความประสงค์ของตัวเอง ก็เอามาพูด มันมีหลายแง่มุมที่จะพิจารณา แต่รวมความก็คือท่านพุทธทาสเนี่ย ใจจริงท่านต้องการจะให้ชาวพุทธ ซึ่งที่ผ่านมามีภูมิหลังอย่างน้อยในช่วงศตวรรษนี้มันเหลวไหล มันเลอะเทอะกันเหลือเกิน ติดแค่รูปแบบ ติดแค่ซาก แต่แค่ความหลงงมงายเขวไปไสยศาสตร์เนี่ย มันเข้าถึงสาระ จะพูดยังไงกระตุกมันแรง ๆ ดี ท่านก็เอาทางนั้น นี่ผมว่ามองอย่างงี้จะดีไหม เพราะฉะนั้นท่านจะพูดแรงบ้างอะไรบ้าง แต่เวลาเราจะใช้ปฏิบัติเนี่ย มันเป็นไปไม่ได้ เพราะท่านเองท่านก็ไม่เอาด้วย จะให้ท่านบอกเอาฉีกพระไตรปิฎกจริง ๆ ทิ้ง ท่านเอาไหม ท่านก็ไม่เอา เชื่อไหม ท่านก็ไม่เอาหรอก ท่านบอกพวกแกรักษาอย่างเนี้ยดีแล้วแหละ อันนี้มันเป็นการพูด วิธีพูด เพื่อจะสื่อว่าเธออย่าไปงมงาย อย่าไปเชื่อง่าย ๆ ก็เป็นวิธีใช้กาลามสูตรอย่างหนึ่ง แต่ว่าเป็นวิธีเทคนิคของแต่ละองค์ บางองค์ก็พูดนุ่มนวล บางองค์ก็พูดเข้มแข็ง
ทีนี้ในพระไตรปิฎกที่ว่า โดยพูดตามสภาพ โดยไม่ต้องไปอิงใคร ไม่ต้องอิงท่านพุทธทาสหรือใคร แล้วก็ว่าไปตามเรื่อง ก็เป็นว่าในพระไตรปิฎกนั่นมีทั้งพุทธภาษิตที่เป็นพุทธพจน์น่ะ พุทธพจน์นี่เค้าเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพุทธภาษิต คำว่าภาษิตในภาษาบาลี ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นสุภาษิตที่เรามาอ้างกันหรอก ภาษิตแปลว่าคำกล่าว เป็นพุทธภาษิต เป็นเถระภาษิต เป็นอิสิภาษิต ภาษิตของฤาษี เป็นภาษิตของคนอื่น ๆ ก็มี อย่างของชาดก พระพุทธเจ้าตรัสเล่า พระองค์ก็บอกเสร็จบอกคนอื่นคนนั้น เขาพูด เขาพูด เขาพูด แล้วพระองค์ก็ตรัสสอนคนในระดับนี้ เขาอยู่แค่ระดับนี้แหละ แค่ประพฤติตามหลักศีลธรรม เชื่อถือพ่อแม่ ฟังครูอาจารย์ ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ แค่นี้ก็พอ ชาดกหลายเรื่องก็จะสอนแค่นี้ ใช่ไหม ก็เป็นเรื่องที่มีมา เขาเล่ากันมา พระองค์ก็เอามาใส่ ท่านก็เอามาพูด พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน เหมือนกับเรามาพูดกันในที่นี้ เราก็ปฏิบัติตามพระองค์ หนึ่ง มุ่งที่ความรู้ อะไรควรรู้ เอามาพูดให้รู้ แล้วพูดไปแล้ว เข้าใจไหม อันนึ้อันหนึ่ง สอง แล้วทำยังไงจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ อันนี้ที่สำคัญ จุดเน้นมันอยู่ที่นี่ หนึ่งรู้เข้าใจ สองเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ประโยชน์แก่ตัวเอง และประโยชน์แก่มนุษยชาติ แก่ประชาชนใช่ไหม นี่จุดมุ่ง นี้พระพุทธเจ้าทรงสอนธรรม พระองค์ก็มุ่งเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน “พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ” ต้องการให้เขาได้ประโยชน์ คนก็มีระดับการพัฒนาไม่เท่ากัน อย่างที่เราเคยพูดแล้ว แล้วปัญญาความสามารถในการจับเข้าใจความก็ไม่เท่ากัน จึงแยกคนเป็นสามประเภทบ้าง สี่ประเภทบ้างใช่ไหม เป็นบัวสามเหล่าบ้าง เป็นบัวสี่เหล่าบ้าง ในพระไตรปิฎก กับบัวสามเหล่า อรรถกถากับบัวสี่เหล่าอย่างนี้เป็นต้น ก็มีกันไป พระพุทธเจ้าตรัส พระองค์ก็ต้องทรงทราบความแตกต่างระหว่างบุคคล คนนี้แค่นี้จะรู้ได้แค่ไหน จะเข้าใจได้แค่ไหน พระองค์ก็สอนให้เขาเข้าใจไปใช้ปฏิบัติในลำดับนั้น แม้แต่คนเดียวกันครั้งนี้กับอีกครั้งหนึ่ง ก็ไม่เท่ากันใช่ไหม ครั้งนี้เขาได้แค่นี้ พระองค์ก็สอนแค่นี้ พอเขาพร้อมแล้ว อีกครั้งหนึ่งพระองค์ก็สอนต่อสูงขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้ คำสอนในพระไตรปิฎกก็เลยมีหลายขั้น หลายระดับ เพื่อคนต่างกันมากมาย พระพุทธเจ้ามีหนึ่งนั้น "อินทริยปโรปริยัติญาณ" ญาณหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีอินทรีย์แก่กล้าไม่เท่ากัน มีศรัทธา มีปัญญา มีสมาธิ จิตใจอะไรต่ออะไร ไม่เท่ากัน
“นานาธิมุตติกญาณ” รู้ความแตกต่างของมนุษย์ในแง่ความโน้มเอียง ความสนใจ พื้นเพภูมิหลังก็ไม่เหมือนกัน แม้แต่มีอินทรีย์ ปัญญาระดับเดียวกัน แต่ว่าสนใจคนละเรื่องคนละราว พระองค์ต้องรู้หมด พระองค์ก็สนทนากับใครก็ตรัสให้เหมาะแก่คนนั้น ให้เขาได้ประโยชน์ เนี่ยจุดสำคัญให้เขาได้ประโยชน์ ให้เขาได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นธรรมะบางเรื่องมันก็สำหรับเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ร่วมในสังคมเก่าเขาได้ใช่ไหม แกได้เทวดา ไปไหว้ซะให้ถูก แต่ก่อนนี้ไปไหว้อ้อนวอน ขอให้เทวดามาดลบันดาลให้ พระพุทธเจ้าจะมัวไปเถียงเทวดามีไม่มี เถียงกับเขาห้าปี เขาก็ไม่ยอม เชื่อไหม เพราะเขาปัญญาเขาไม่เห็น ถ้าบางคนพูดได้เลย ถ้าบางคนพูดสองทีก็เข้าใจแล้ว เลิกกันเรื่องนับถือเทวดา แต่บางคนนี่พูดกันกี่ปีก็ไม่รู้เรื่อง เถียงกันตายว่ามีไม่มี ไปเถียงทำไม พระพุทธเจ้าบอกเธอนับถือเทวดาอย่างนั้นไม่ถูก ไปอ้อนวอนให้ท่านดลบันดาล เราต้องใช้กำลังความเพียรของตัวเอง ไปนับถือท่าน ท่านเป็นสัตวะโลก อยู่ด้วยกันในโลก ในสากลจักรวาลเนี่ย มีภูมิต่าง ๆ เราอยู่ร่วมกับเขาก็ให้มีเมตตาต่อกันนะ ไม่ว่าเป็นสัตว์ชั้นสูง ชั้นต่ำ เราก็ต้องมีเมตตากรุณาต่อกัน อย่าไปเบียดเบียนกัน แล้วถ้าเขาอยู่ในภพภูมิสูงกว่า ภูมิหลังเขามีเหตุปัจจัยค่อนข้างดี น่าจะเป็นผู้ทำความดีมา ก็ให้เกียรติเขา เชิดชู เป็นเทวดาก็นับถือโดยการให้เกียรติ ยกมือไหว้ นอบน้อม เราก็มีความนอบน้อมอ่อนโยนกันอยู่แล้วนี่ใช่ไหม แม้แต่คนด้วยกัน นับถือเทวดาก็เหมือนเจอผู้ใหญ่ก็ไหว้ท่าน เคารพท่าน แต่อย่าไปอ้อนวอน ขอให้ท่านดลบันดาล เราต้องทำของเราเองนะ เพราะฉะนั้นนับถือเทวดาก็นับถือให้ถูก ถ้าคำสอนแบบนี้ก็อยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่ท่านพุทธทาสได้ฉีกทิ้งด้วยสิใช่ไหม แต่ว่ามันไม่ต้องฉีกหรอก เพราะหมายความว่าให้รู้เข้าใจว่าจะใช้ระดับไหน เพราะฉะนั้นคำสอนแบบที่เคยเล่าอย่างพวกมหาสมัยสูตร อาฏานาฏิยสูตร คนไทยก็เอามาใช้ ถ้าเชื่อก็ไปงมงาย ก็ไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็ทำกันไป ใช่ไหม ดีไม่ดีพระก็หาผลประโยชน์หลวกลองชาวบ้านอีก หาลาภให้กับตนเองเลย แทนที่จะเป็นบันไดไต่ไปสู่การพัฒนาให้มีปัญญาเพิ่มขึ้น ก็เลยทำให้ชาวบ้านเนี่ยหลงหมกจมอยู่ในความโง่เขลา โมหะไป ก็อยู่ที่ว่าพระเนี่ยจะต้องมีความซื่อสัตย์ หนึ่งมีความรู้หลักการ สองมีความซื่อตรง เจตนาดีต่อชาวบ้าน มุ่งหวังให้เป็นประโยชน์แก่เขา ให้เขารู้เข้าใจแล้วก็พัฒนาตัวขึ้นไป เพราะฉะนั้นท่านก็เตือน เราก็มองเอาในแง่ดีว่า ที่ท่านสอนอย่างนี้นะ จะได้มาเตือนไม่ให้มาหมกมุ่นกันอยู่ แต่ว่าอย่างที่ผมบอก เอาเข้าจริง ท่านพุทธทาสท่านก็ไม่เอาด้วยไปฉีกอย่างนี้ แต่ท่านเตือน ท่านก็ต้องการให้รักษาไว้”
พระนวกะ “จริง ๆ คำว่าเถรวาทเนี่ย เค้าบอกว่าเชื่อคำครูอาจารย์เนี่ย ถ้าจะเปลี่ยนเป็น บอกว่าเป็น อาจาริยาวาทเนี่ย น่าจะเหมาะกว่าไหมครับ”
ท่านป.อ.ปยุตโต “เหมาะกว่า เพราะว่าอาจาริยาวาท แปลว่าลัทธิครูอาจารย์ เอาเลย ท่านพูดถึงเถรวาท เดี๋ยวผมจะต้องทำความเข้าใจนะ ท่านอย่าไปนึกว่าเถรวาทพึ่งเกิด คำเถรวาทเนี่ยมีในพระไตรปิฎก แต่ไม่ได้ใช้ในความหมายนี้ เพราะว่าเถรวาทมันพึ่งเกิด ก็พระพุทธเจ้าอยู่จะเกิดได้ยังไงเล่า ก็พระพุทธเจ้ายังอยู่ ก็นับถือพระพุทธเจ้าสิ ถูกไหม ทีนี้ปัญหาว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วจะทำยังไง พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ไม่รู้จะไปถามใครแล้ว คำสอนนี้ใช่หรือเปล่า ใช่ไหม อันนี้แหละครับเป็นเหตุให้พระเถระมา พระเถระที่ขั้นที่หนึ่ง อันดับหนึ่ง อันดับต้นก็คือพระเถระที่ทันพระพุทธเจ้า ก็พระเถระทั้งหลาย พระอนุรุทธ พระมหากัสสปะ พระอานนท์ พระอะไรต่ออะไรเนี่ย นี่เป็นพระเถระที่ทันพระพุทธเจ้า เราก็เรียกรวม ๆ พระเถระ พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เอาแล้วสิ ทีนี้ต่อไปไม่มีผู้ตัดสินแล้วอะไรเป็นคำสอนที่แท้ แล้วก็คำสอนที่สอนไว้เนี่ย ต่อไปนานๆ ไม่ได้มีหลักมีฐาน ไม่ได้มานัดหมายวางระบบไว้ ก็ลืมหมดเลอะเลือน ต่อไปก็เถียงกันนี่คำสอนหรือเปล่า ใช่ไหม ก็ยุ่งตาย พระเถระเหล่าเนี้ย เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วจึงมาปรึกษากันว่าทำยังไงเนี่ย แล้วท่านอ้างพระพุทธเจ้าด้วยนะ พระพุทธเจ้าเคยปรารภไว้ แต่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าเอง พระพุทธเจ้าก็ปรารภ แล้วที่ทำการใหญ่ ก็คือพระสารีบุตร ก็เป็นพระเถระองค์หนึ่ง พระสารีบุตรเนี่ยเริ่มการนี้ไว้ตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังอยู่ ข้อปรารภนั้นก็คือ เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ปลายพุทธกาล ใกล้จะสิ้นแล้ว นิครนถนาฏบุตรเป็นลัทธิหนึ่งในครูทั้งหก หรือศาสดาทั้งหก ท่านเคยได้ยินชื่อไหม เรียกว่าศาสนาเชน ในปัจจุบัน เป็นลัทธิศาสนานิครนถนาฏบุตร ท่านนิครนถนาฏบุตรก็ได้ล่วงลับดับขันธ์ก่อนพระพุทธเจ้า เมื่อท่านพระศาสดานิครนถนาฏบุตรล่วงลับไป ต่อมาก็ปรากฎว่าสาวกไม่ได้ดำเนินการอะไรที่จะทำให้คำสอนมันลงตัว ที่จะหมายรู้ร่วมกันเป็นหลักเป็นมาตรฐาน ทีนี้เวลาอ้างกันขึ้นมาก็เถียงกัน พอคนนี้ว่าอย่างนี้ บอกไม่ใช่ ศาสดาท่านนิครนถนาฏบุตรมหาวีระเนี่ยไม่ได้สอนอย่างนี้ ต้องสอนอย่างนี้ พวกนั้นก็ไม่ใช่อย่างนี้ เอาละเถียงกันอยู่นั่น ทะเลาะกันวุ่นวายหมด เหตุการณ์นี้มันมีตั้งแต่ปลายพุทธกาล พระทั้งหลายก็ได้เห็น
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับ ตอนที่พวกกษัตริย์พวกหนึ่งสร้างสัณฐาคารศาลา ก็คือรัฐสภา หอประชุมรัฐสภา สมัยนั้นเขาเรียกว่า สัณฐาคารศาลา ก็นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ไปใช้ก่อน คล้าย ๆ ว่าเป็นปฐม ถ้าใช้ภาษาสมัยนี้ก็เรียกว่าเป็นปฐมฤกษ์ ถ้าสมัยนั้นไม่มีคำว่าฤกษ์ ให้ใช้เป็นปฐม ก็เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อจะได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่เขา เขานับถือพระองค์ พระพุทธเจ้าก็ไปประทับ แล้วเจ้าภาพเขาก็มาคุยจนกระทั่งดึก พอดึกแล้วเขาก็ลากลับ พอเขาลากลับแล้วพระองค์ก็อยู่กับพระสงฆ์มากมาย พระองค์ก็ตรัสกับพระสารีบุตร ในเมื่อญาติโยมกลับไปแล้ว บอกว่าเออตอนนี้ก็ยังพอไหว เนี่ยเราจะเอนหลังแล้ว เมื่อยหลังแล้ว ขอให้ท่านสารีบุตรแสดงธรรมแก่พระสงฆ์ พระสารีบุตรก็เลยแสดงธรรม เกิดเป็นพระสูตรหนึ่ง พระสูตรของพระสารีบุตรมากที่สุดรองจากพระพุทธเจ้า คือพระสูตรในพระไตรปิฎกมีของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก และมีพระสารีบุตร มีพระโมคคัลานะ มหากัสสปะ พระอนุรุทธก็มี พระอานนท์ก็มี แล้วก็พระอื่น ๆ อีกหลายองค์ พระปุณณมันตานีบุตร พระอะไรต่ออะไร ทีนี้ของพระสารีบุตรนี้มากที่สุด เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญพระสารีบุตรเป็นธรรมเสนาบดีนี่ ว่าแสดงธรรม แม้แต่ธรรมจักรได้แม้นเหมือนพระองค์เลยว่าอย่างนั้น ทีนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสมอบหมายให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่พระสงฆ์ พระสารีบุตรก็เลยขึ้นแสดงธรรม ท่านก็ขึ้นมาท่านก็ปรารภว่าเนี่ยตอนนี้ท่านนิครนถนาฏบุตรเนี่ยได้ล่วงลับจากไป แล้วสาวกทั้งหลายก็กำลังทะเลาะกันวุ่นวายไปหมดว่าศาสดาสอนว่ายังไง ให้แนวไว้แล้ว บอกว่าควรจะสังคายนา นี่แหละคำนี้พระสารีบุตรใช้แล้ว สังคายิตัพพัง??? ควรจะสังคายนา เอาคำสอนของพระพุทธเจ้า ภาษาสมัยเก่าเขาเรียกว่าร้อยกรอง มารวบรวม ประมวล จัดลำดับอะไรต่ออะไรให้ดี ลงกันซะ เป็นมาตรฐานนั่นเอง วางไว้เป็นมาตรฐาน แล้วท่านก็แสดงให้เป็นตัวอย่าง พระสูตรที่ท่านแสดงครั้งนี้เรียกว่า “สังคีติสูตร“ พระสูตรว่าด้วยสังคีติ ก็คือพระสูตรว่าด้วยสังคายนา คำว่าสังคีตินั้นก็เป็นไวพจน์ของคำว่าสังคายนา เดิมนิยมใช้คำว่าสังคีติ แปลว่าการสวดพร้อมกัน สังคีติถ้าลบสระอิก็เหลือคำว่าสังคีต ก็แปลว่าร้องเพลงพร้อมกันหรือสวดพร้อมกัน ชัดไหมครับ ตัดสระอิเหลือสังคีตเลย ทีนี้ท่านก็แสดงสังคีติสูตร พระสาลีบุตรแสดงธรรมไว้ก็ แสดงไปเลย ทำเป็นหมวด ๆ ไปเลย หมวดหนึ่ง หมวดสอง หมวดสาม หมวดสี่ หมวดห้า หมวดหก หมวดเจ็ด หมวดแปด หมวดเก้า หมวดสิบ ถึงสิบ ทำเป็นหมวด ๆ สิบหมวด แล้วก็แต่ละหมวดก็เยอะไปหมด หมวดสองก็มีสอง สอง สอง สอง สอง ธรรมะที่เป็นสอง เช่น ธรรมะเป็นโลกบาล ธรรมะที่มีอุปการะมากอะไรอย่างนี้ ก็แล้วแต่ นี่สังคีติสูตรนี่ พระสารีบุตรแสดงไว้เป็นแนวทางของการสังคายนา และต่อมาอีกครั้งหนึ่งท่านแสดงพระสูตร ท่านคงจะนึกว่าท่านแสดงยังน้อยไป ท่านแสดงอีกแบบหนึ่งเรียกว่า “ทสุตตรสูตร” ก็มีธรรมะเป็นหมวด ๆ จนถึงสิบเหมือนกันเรียกว่าทสุตตรสูตร สูตรที่มีสิบเป็นอย่างยิ่ง ก็คือแค่สิบ เนี่ยทีนี้พอพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเถระที่ยังอยู่ ตอนนั้นพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว พระสารีบุตรปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือนเลย ปรินิพพานซะแล้ว ไม่อย่างนั้นพระสารีบุตรจะเป็นหลัก นี้พระมหากัสสปะก็เป็นผู้ใหญ่สุดแล้วตอนนี้ ก็ชวนพระเถระที่ยังอยู่นี่มาปรารภเรื่องนี้ และก็ปรารภพระองค์หนึ่งที่พูดไม่ดีต่อพระพุทธเจ้าด้วย พูดในแง่ว่าพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว เราทีนี้เราไม่มีใครมาจ้ำจี้จำไชแล้ว ทำอะไรก็สบาย ก็แสดงว่าเอ๊ะท่ามันไม่ดีแล้ว เดี๋ยวต่อไปก็เอาไงก็ได้ใช่ไหม ก็เลยชักชวนว่าเรามารวบรวมทำสังคายนาคำสอน พุทธพจน์ คำสอนพระพุทธเจ้ากันเถอะ ก็เลยตกลงกัน ก็รวบรวมกันเนี่ย ก็เลยเถรวาทก็เกิดขึ้นมา เนี่ยคำสอนที่ถือตามการสังคายนาครั้งที่หนึ่งที่พระเถระรุ่นแรกทำไว้เนี่ยเรียกว่า “เถรวาท” ต่อมาในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาตั้งแต่ในอรรถกถาเช่น สมันตัปปาสาทิกา อรรถกถาวินัยก็จะเล่าเรื่องนี้ เรื่องการแตกแยกนิกาย ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แม้แต่สังคายนาจริง ๆ แล้วมันก็เริ่มมีปัญหา พอร้อยปี ก็ต้องสังคายนาครั้งที่สองใช่ไหม พุทธศาสนาเริ่มแตกแยก พอสังคายนาครั้งที่สามในสมัยพระเจ้าอโศก พ.ศ. ๒๓๕ ก็เกิดนิกายพุทธศาสนาประมาณสิบแปดนิกาย ในนั้นท่านก็แยกไว้เสร็จ มีคำนี้มีตั้งแต่ยุคนั้น ก็คือว่าบอกเดิมในอรรถกถาก็จะบอกว่าอันเดิมเนี่ยเป็นเถรวาท แล้วมีอาจาริยวาทอีกสิบเจ็ดหรืออะไรทำนองนี้ นี่ก็คือคำเถรวาท อาจริยวาท เป็นคำที่มีมาแต่ดั้งเดิม อาจริยวาทเป็นภาษาบาลี แล้วเวลาเรียกเป็นสันสกฤตก็เป็นอาจาริยวาท ให้ท่านแยกให้ได้นะ บาลีว่าอาจริยวาท สันสกฤตว่าอาจาริยวาท เวลาเราใช้เป็นไทยเนี่ย เราใช้แบบสันสกฤตเป็นอาจารย์ ถ้าเป็นบาลีเป็นอาจริยะ เพราะฉะนั้นเวลาสวดบาลี เวลาสวดมนต์ “อาจะริยูปะการา จะมาตาปิตา จะ ญาตะกา” นั่นคือบทอิมินาใช่ไหม อิมินา ปุญญะกัมเมนะ ทำบุญอุทิศกุศล เรื่องของกรวดน้ำ แล้วเนี่ยต้องสวดให้ถูกอย่าไปอาจา เป็นอาจะริยูปะการา
ก็เอาเป็นว่าเถรวาทกับอาจริยวาทเป็นคำที่มีมาเดิมนานแล้ว แต่ว่าหลังพุทธกาลนะ เพราะพระพุทธเจ้าอยู่ต้องมีไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้ายังอยู่ พระเถรวาทก็เกิดขึ้นเมื่อสังคายนาครั้งที่หนึ่ง ผู้ที่นับถือตามนั้น ต่อมาก็บัญญัติศัพท์เรียกอันนี้ว่าเถรวาท ตอนที่ท่านสังคายนายังไม่ใช้คำนี้ เพราะท่านเพียงตั้งใจว่ารักษาคำสอนพระพุทธเจ้าให้คงอยู่ แม่นยำที่สุด ท่านก็ไม่มาพูดถึงเรื่องการแตกแยก ทีนี้พอมีการแตกแยกเป็นนิกายย่อย ท่านที่เขียนเล่าเรื่องก็ต้องมีศัพท์ที่จะเรียกถูกไหม ท่านก็ต้องบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเรียก เถรวาท อันเดิม แล้วก็มีพวกที่แตกแยกกันไปเป็นอาจริยวาท เถรวาทนี่ที่จริงก็เป็นอาจริยวาทอันหนึ่ง แต่เป็นอาจริยวาทที่มีชื่อเฉพาะว่าเถรวาท เข้าใจไหม ก็เป็นสิบแปดนิกายในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พ.ศ. ๒๓๕ นี้ก็เวลาก็ล่วงมา ตอนนั้นก็ยังไม่มีคำว่ามหายาน ในบรรดาพวกอาจริยวาทอันหนึ่งที่เป็นหลักสำคัญ เรียกว่า “มหาสังฆิกะ” เป็นนิกายหนึ่ง เป็นอาจริยวาทหนึ่งเรียกว่า มหาสังฆิกะ แล้วอาจริยวาททั้งหลายเป็นอันมาก เถรวาทเองต่อมาก็มีแตกออกไปอีกนะ แล้วก็เวลาแตกแล้วก็ไปเรียกเป็นอาจริยวาท อาจริยวาทนี่ก็ต่อมาก็หาย ๆ ไปที่ยืนยงอยู่นานก็ มหาสังฆิกะ แล้วต่อมาประมาณ พ.ศ. ๖๐๐ ก็เกิดมหายานขึ้นมา สันนิษฐานกันว่ามหาสังฆิกะ อาจริยวาทที่ชื่อมหาสังฆิกะเนี่ยได้พัฒนามาเป็นมหายาน เพราะฉะนั้นคำว่ามหายาน จึงเป็นคำที่เกิดทีหลัง ส่วนเถรวาทและก็อาจริยวาทนั้นเป็นคำเดิม เก่า มีในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา แต่มหายานจะไม่มี ก็เป็นอันว่าประมาณ พ.ศ. ๖๐๐ เนี่ย ตอนนั้นก็สันนิษฐานกันว่าพุทธศาสนาต้องแข่งกับลัทธิฮินดูที่ฟื้นฟูขึ้นมามาก ก็เลยต้องจะเรียกว่าประดิษฐ์พระโพธิสัตว์อะไรต่ออะไรขึ้นมา แบบมหายานขึ้นมา ขึ้นมามีพระอวโลกิเตศวร ที่มาเป็นพระกวนอิม พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พระอะไรต่ออะไรเยอะแยะเต็มไปหมด พระปัทมปาณี พระวัชระปาณี พระโพธิสัตว์เกิดขึ้นมากมายเป็นยุคมหายาน พ.ศ.ประมาณหกร้อย มหายานที่เกิดขึ้นมาเนี่ย ท่านก็ประดิษฐ์ศัพท์เรียกตัวเองขึ้น ท่านเรียกตัวเอง มหายานนี่ท่านเรียกตัวเอง ท่านเรียกตัวเองเพราะอะไร เพราะว่าท่านถือว่าตอนนั้นท่านคิดศัพท์นี้ขึ้นมา แล้วก็มีความหมายว่า มหายานเนี่ยก็เหมือนยานพาหนะใหญ่ ยาน มหา ที่ใหญ่และสำคัญ มหาแปลว่าใหญ่ก็ได้ แปลว่าสำคัญมากก็ได้ ยานใหญ่ที่ดีเลิศ มีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถรื้อขนสัตวะโลกให้ไปสู่พระนิพพานได้มากมาย จึงเรียกว่ามหายาน ทีนี้เมื่อท่านเรียกตัวมหายาน ท่านก็ไปดูพวกนิกายอื่น รวมทั้งเถรวาทนี่ด้วย ว่าพวกนี้เป็นยานพาหนะเหมือนกัน แต่ว่าคุณภาพด้อย ก็เลยใส่คำว่า ฮีนะ เข้าไป คำว่าฮีนะแปลว่าด้อย คุณภาพต่ำ หีนนะแปลว่าอย่างต่ำ ก็เลยเรียกนิกายอื่นว่าเป็น หีนยาน ฮีนะยานนั่นเอง ก็เกิดคำว่ามหายานและหีนยานขึ้นมา เราก็มาทายกันเล่นว่ามหายานและหีนยานใครเกิดก่อน เพราะเถรวาทก็ถูกรวมเข้าไปในหีนยานด้วย ก็ถามกันว่ามหายานกับหีนยานใครเกิดก่อน ใคร ๆ ก็บอกก็หีนยานก็ต้องเกิดก่อนสิ มีอยู่แล้ว คนที่เขาทายเขาบอกไม่ถูก มหายานเกิดก่อน หีนยานเกิดทีหลัง หมายถึงคำว่าไง คำว่ามหายานเนี่ยมันเพิ่งเกิดใช่ไหม พอมหายานเรียกตัวเองเสร็จแล้ว ก็ไปเรียกคนอื่นว่าเป็นหีนยาน ก็เลยหีนยานก็เกิดทีหลังถูกไหม เข้าใจยัง ก็เป็นอันว่าคำว่ามหายาน หีนยานเนี่ยเกิดขึ้นหลังพุทธกาลในราวหกร้อยปี แต่คำว่าเถรวาทและอาจริยวาทนี่เป็นคำที่มีมาเดิมนานเนแล้ว แต่ว่าจะปีไหนเนี่ย ไม่สามารถบอกชัด คือในยุคที่เริ่มแตกนิกาย แล้วก็มีการที่ต้องคิดเล่าเรื่อง ต้องแยกแยะอะไรกันไป เข้าใจนะ”
พระนวกะ “ขออนุญาตถามสั้น ๆ นะครับว่า ที่พระสารีบุตรท่านปรารภครั้งแรกที่ว่าสังคีติสูตรนะครับ อันนั้นถือว่าเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกไหมครับ เมื่อเราไม่นับอย่างนั้น”
ท่านป.อ.ปยุตโต “ไม่ เป็นแบบอย่างของการสังคายนา แล้วพระสูตรของพระสารีบุตรนั่นแหละ มาอยู่ในพระไตรปิฎกนี้ด้วย สังคีติสูตรก็เป็นสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก ก็หมายความว่าท่านทำไว้เป็นตัวอย่าง ท่านเตือนไว้ ท่านแนะนำไว้ว่าควรจะรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วทีนี้พระสารีบุตรท่านแสดงธรรมครั้งเดียว ท่านจะรวมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาหมดได้ยังไงล่ะ ท่านก็รวมมาเป็นตัวอย่างใช่ไหม ท่านจัดวิธีว่าแสดงเป็นหมวด หมวด หมวด หมวดหนึ่ง ธรรมะที่มีข้อเดียวก็รวมอยู่ในข้อเดียว ที่เป็นสองข้อก็รวมเป็นสองข้อ ถูกไหม ที่มีสามก็รวมได้เป็นสาม อะไรอย่างเนี้ย เป็นแบบอย่าง เป็นระบบขึ้นมาแล้ว เป็นแบบอย่างเราต้องพูดว่าอย่างนั้น เป็นแบบอย่าง เป็นแนวทางให้พระเถระรุ่นหลังกลับมาทำสังคายนา ทีนี้คำว่าเถรวาทนี่ ก็เพราะว่าเมื่อมหายานเจริญแพร่หลายเนี่ย มหายานไปถึงตะวันตก ส่วนเถรวาทเนี่ยจำกัดอยู่ในประเทศของตัวเอง ก็ถูกเรียกเป็นมหายาน ความจริงคำว่าหีนยานนั้น ไม่ใช่เฉพาะเถรวาท นิกายอื่นที่เขานึกถึงได้ ที่เขาไม่ยอมรับว่าเป็นมหายาน เขาเรียกว่าหีนยานหมด ทีนี้เถรวาทก็ถูกรวมเข้าไปในหีนยานนั้นด้วย แล้วหีนยานนั้นต่อมาก็นิกายอื่นหายหมด เหลือแต่เถรวาทอันเดียว ทีนี้คำว่าหีนยานนี่ในวงสากล เพราะว่าเขารู้จักมหายานมาก เขาก็เลยรู้จักคำว่ามหายานกับหีนยานไปนานแล้ว ฝรั่งก็รู้จักใช่ไหม เราก็พลอยไปเรียกตัวเองเป็นหีนยานด้วย ทั้ง ๆ ที่ตัวเองแต่ก่อนไม่มีคำนี้ เข้าใจไหมฮะ พุทธศาสนาแบบไทยเราเนี่ย ก็เลยต่อมาก็เลยบอกว่าพุทธศาสนาในโลกนี้มีสองนิกายนะ มีมหายานกับหีนยาน แล้วก็เรียกตัวเองว่าเป็นหีนยาน ก็ยอมรับตัวเองไปด้วยเลย ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเดิมไม่มีศัพท์นี้หรอก
อ้าวทีนี้ต่อมาเนี่ยก็แปลว่าหีนยานนิกายอื่นเนี่ยหายหมดแล้ว เหลือนิกายเดียวเถรวาท แล้วต่อมาก็มีความสำนึกกันมากขึ้นว่าการเรียกหีนยานเนี่ยเป็นการดูถูกใช่ไหม เพราะฉะนั้นประเทศเถรวาทเริ่มมีความรู้ขึ้นมา แต่ก่อนคนไทยไม่รู้เรื่องรู้ราว ขออภัยนะใช้คำนี้ ในวงการระหว่างประเทศนี่ ชาวพุทธไทยนี่จะเรียกว่าล้าหลังที่สุดก็ได้ ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวหรอก แล้วก็ของตัวก็ไม่สนใจอยู่แล้ว นี้ฝรั่งเขารู้จักพุทธศาสนาแบบมหายาน โดยเฉพาะนิกายเซน เขารู้จักจากญี่ปุ่นมาก เพราะว่าเป็นคู่ศัตรู คู่สงครามกันในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่สอง ถูกไหม สงครามโลกครั้งที่สองนี่ยิ่งใหญ่ ก็รู้จักพวกญี่ปุ่นก็ไปอยู่ในอเมริกาบ้าง ไปอยู่ในฮาวายนี่เยอะแยะไปหมดเลย ฝรั่งก็มารู้จักพุทธศาสนาจากพวกจีน ญี่ปุ่น ญี่ปุ่น จีน ก็เข้าเยอะเหมือนกัน จากจีน ญี่ปุ่น ก็เป็นมหายาน ก็รู้จักพุทธศาสนาแบบมหายาน ทีนี้ก็มีนักปราชญ์ของนิกายญี่ปุ่น นิกายเซน เซนก็มีหลายนิกาย นิกายใหญ่นิกายหนึ่งก็คือเซน ทีนี้นิกายเซนนีก็เข้าอเมริกา แล้วก็มีนักปราชญ์คนสำคัญชื่อ ดี.ที.ซูซูกิ - ไดเซตสึ เทอิทาโร ซูซูกิ ท่านซูซูกิเนี่ยเป็นนักปราชญ์นิกายเซน ก็เขียนตำราเรื่องอธิบายนิกายเซนเยอะ เซนนั้นเน้นสมาธิใช่ไหม ทีนี้ก็ฝรั่งก็เลยรู้จักนิกายเซนนี้มากมาย เด่นเลย ก็เป็นอันว่าฝรั่งรู้จักมหายาน รู้จักเซน ส่วนพวกเถรวาทนี่ก็เรียกไปตามที่เขาว่าก็ มีหีนยานด้วย เป็นไงก็ไม่ค่อยรู้ ก็รู้ว่าเออยังพอรู้จักพม่า ลังกา เพราะว่าเป็นอาณานิคม แต่ไทยนี่ไม่ค่อยรู้เรื่องเลย ไทยก็ไม่รู้ ไทยเองก็ไม่รู้ ฝรั่งก็ไม่รู้ไทย เรื่องมันก็เป็นมาอย่างเนี้ย ทีนี้เมื่อเรียกตัวเองหีนยานด้วย ไทยก็ยอมรับ ก็เรียกกันมาอย่างนี้ จนกระทั่งมาตอนหลังเนี่ย มีความสำนึกในระหว่างประเทศมากขึ้น มีสำนึกในเรื่องของอ้อความแบ่งเป็นมหายาน หีนยาน ชักรู้ขึ้น มีการตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก World Fellowship of Buddhists Organization เนี่ยนะฮะ ก็ท่านมาลาลาเสเกราแห่งลังกาเป็นผู้ริเริ่มขึ้นมา ต่อมาก็มาตั้งสำนักงานใหญ่ โหวตให้ประจำในประเทศไทย ทีนี้ก็ต่อมาความสำนึกเรื่องพุทธศาสนาในวงกว้างระหว่างประเทศก็มีมากขึ้น ก็เลยเป็นเหตุให้มาประชุมตกลงกันว่า เออเราอย่าเรียกเลยนะว่า หีนยาน มันเป็นศัพท์ที่ไม่ดี แล้วเราก็มีชื่อเรียกของเราเดิมอยู่แล้วว่าเถรวาท แต่คนไทยเดิมเราก็ไม่รู้จักตัวเองว่าเป็นเถรวาทอะไรหรอก ก็เรียนต่อกันมาเท่าที่ท่านสอนก็ได้แค่นั้น เหรอ เออไปกันใหญ่ เป็นอันว่าได้ความนะ ทีนี้ก็ต่อมานี่แหละของเซน ซูซูกิเป็นต้นเนี่ย ก็มาโยงกับฝรั่งตอนที่เกิดจิตสำนึกปฏิวัติสังคมอเมริกันว่าเจริญด้วยอุตสาหกรรม ไม่เห็นมีความสุขจริงเลย เกิดบีทเจนเนอเรชั่น เกิดฮิปปี้ขึ้นมา เคาน์เตอร์คัลเจอร์ หันมาสนใจเซนกันใหญ่เลย เซนก็เฟื่องรุ่งเรืองขึ้นมา แล้วมันประสาน เผชิญ บรรจบกันหมดเลย
เอาละ ผมเล่าวันนี้ พอเข้าใจเรื่องนะ ให้ท่านมองเห็นภาพรวม ให้กว้าง ตกลงว่าประเด็นที่ย้ำก็มีสองอันเท่านั้นเล็กๆนิดเดียว หนึ่งความหมายของเถรวาท ย้ำสรุปอีกทีหนึ่ง ว่าเถรวาทในความหมายของคุณสุจิตต์ คือ การเรียนแบบเอาแต่ท่องจำ เชื่อฟังครูอาจารย์ ไม่ต้องถามไถ่กัน ว่าตาม ๆ กันไป อย่างนี้เรียกว่าเถรวาทในความหมายของคุณสุจิตต์
ทีนี้เถรวาทในความหมายของพุทธศาสนาก็บอกว่าเป็นระบบสืบทอดพระพุทธศาสนาที่มุ่งรักษาคำสอนเดิม โดยเฉพาะพุทธพจน์ให้คงอยู่อย่างซื่อตรง คงเดิม และครบถ้วนเท่าที่จะเป็นไปได้ อันที่หนึ่งนะความหมายต่างกัน อันนี้ท่านแยกได้ชัดเลยนะ สองก็เรื่องกาลามสูตร ว่ากาลามสูตรนี่แหละเป็นตัวอย่างของการที่เถรวาทได้ทำหน้าที่แล้ว เถรวาทก็รักษาคำสอนเดิมไว้เช่นรักษากาลามสูตรให้คงอยู่ในพระไตรปิฎก และเรารู้จักกาลามสูตรก็เพราะเถรวาทรักษาไว้ให้ในพระไตรปิฎกของเถรวาท ส่วนของคุณสุจิตต์ก็เป็นอันว่าเข้าไม่ได้กับเรื่องกาลามสูตร เพราะกาลามสูตรของคุณสุจิตต์นี่ขัดกันกับเถรวาทของคุณสุจิตต์เอง ถูกไหมฮะ ก็ตรงกันข้ามไปเลย เอาละผมว่าสองประเด็นนี้พอแล้ว สองอันเนี่ย พอไหมครับ พอนะ คุณสุจิตต์คงไม่ว่าไง ก็เนี่ยก็ต้องหวังดีต่อประเทศชาติสังคมด้วยกัน เมื่อหวังดีต่อกันก็ต้องมาช่วยกันนะฮะ ก็โมทนา เปล่า ต้องการให้มันชัด อ้าวหรอ โมทนาชัด”
พระนวกะ “ขอบพระคุณพระเดชพระคุณที่ให้ความรู้ อะไรที่จะเป็นประโยชน์สำหรับพวกเราต่อไป เพราะฉะนั้นคืนนี้พวกเราขอกล่าวถวายความเคารพต่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อครับ”
ท่านป.อ.ปยุตโต “ก็ขอโมทนา”