แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
คนฟังถาม ก็ก่อนที่เราจะเริ่มต้นสนทนากันในประเด็นเนื้อหาสาระนี่ ก็อยากจะทราบโดยตรงจากท่านเจ้าคุณอาจารย์ว่า สุขสภาพท่านเป็นยังไงบ้างครับ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเราควรจะใช้เวลาที่นี่สักเท่าไหร่นะครับ
พระตอบ เจริญพร ก็ไม่เป็นยังไงก็เป็นเหมือนเคยเป็น คือคนมักจะบอกเป็นอาพาธอะไร จะหายเมื่อไหร่ดีขึ้นไหม อาตมาเลยอธิบายกับพระ บอกต่อไปนี้อย่าไปตอบอย่างงั้น คือมันไม่ใช่ว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้อาพาธนั้นนี้จะดีขึ้นจะหาย คือคนอวัยวะชำรุด อวัยวะชำรุดหรือเสื่อมไปนี่ มันก็จะมีอาการตามสภาพแวดล้อมหรือการใช้งานเป็นต้น คือมันเป็นของประจำตัวไม่ใช่ว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้ เพราะฉะนั้นจะมาถามว่าอาพาธนั้นอาพาธนี้จะดีขึ้นไหมจะหายเมื่อไร อย่างเวลานี้ก็เจ็บระบมหน้าอกมาเป็นเดือนแล้วแล้วปอดไม่ค่อยมีกำลัง บางทีเช้าตื่นขึ้นมาใครมาพบนี่พูดนี่จะหน้ามืดแล้ว ต้องตั้งตัวพักหนึ่ง คือปอดมันเคยเป็นวัณโรคอย่างแรง ไอเป็นเลือดมากมาย แล้วหลังจากนั้นมันก็เป็นแผลเป็น เป็นพังผืดจับมันก็ยึดขั้วปอดมันทำให้ปอดมีกำลังน้อย แล้วแถมหลอดลมมันตีบอีก หมอตรวจบอกมีหลอดลมของอาตมานี่ข้างปลายมันใช้งานได้ 30% แล้วก็อวัยวะที่สูญเสียไปอย่างไอ้ที่เส้นเลือดใหญ่ที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองนี่ ก็ผ่าตัดไปแล้วก็หมอก็บอกว่าไอ้ที่นี่มันมีตัวสำหรับส่งสัญญาณให้ปรับชีพจรและความดันอยู่เขาเรียกฮาลาติบอดี แล้วเวลาหมอผ่าตัดเนี่ยก็ทำลายไอ้ตัวศูนย์นี้ไป นั้นเมื่อขาดศูนย์นี้ก็ไม่มีตัวอวัยวะที่จะส่งสัญญาณให้สมองรู้ว่าจะปรับชีพจรและความดันโลหิตเท่าไหร่ นั้นก็จะทำให้ชีพจรและความดันแปรปรวน ก็เลยเป็นเรื่องประจำตัวไป นี้ก็อาศัยว่าร่างกายมันมีความสามารถที่หาอวัยวะส่วนอื่นมาทำงานชดเชยบ้าง มันก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง บางครั้งบางระยะมันก็ชดเชยได้ดีหน่อยบางระยะมันก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้นอาตมาพูดนี่บางทีต้องใช้ชีจร 120 130 ความดัน180 190 หรือ 200 จึงมีกำลังพูด นั้นก็ตอนแรกเวลาจะพูดนี่บางทีแทบจะเป็นลม ถ้าพูดไปก็ตั้งตัวได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของอวัยวะที่มันชำรุด มันสูญเสียไปมีตั้งหลายอย่างที่เป็นอย่างงี้ เพราะฉะนั้นจะมาถามว่า เอออาพาธอะไรนะตอนนี้จะดีขึ้นไหมไม่ต้องถาม คือมันเป็นของประจำตัวว่าอวัยวะนั้นมันสูญเสียแล้วหรือพิการไปแล้ว ชำรุดไปแล้ว ก็อยู่ที่ว่าสภาพแวดล้อมเหตุปัจจัยอื่นตอนนี้มันเป็นยังไง อย่างระยะที่แล้วมานี้ก็คือช่วงเข้าพรรษา แล้วปีนี้ฝนตกเรื่อยอากาศชื้นคงจะเป็นเหตุให้ผู้ที่ปอดไม่มีกำลัง ปอดต้องทำงานหนัก ฉะนั้นก็จะเจ็บระบมหน้าอกประจำตัวตลอดเป็นเดือน ๆ เลย อันนี้ก็เลยเล่าให้ฟัง จะได้เข้าใจว่า อ๋อจะมาถามไอ้เรื่องว่า ดีขึ้นไหมตอนนี้จะหายเมื่อไหร่ ไม่ต้องถามกันแล้ว มีแต่ว่าระยะนี้อาการอันไหนมันโผล่ออกมาเท่านั้นเอง ระยะนี้ก็จะเป็นอาการเด่นของเรื่องปอด ก็เอาเป็นว่าสำหรับวันนี้ก็ เริ่มต้นก็คุยกันเองแล้วก็ต้องขออภัยไว้ก่อน ที่ขออภัยก็คือว่าความจริงเรื่องนี้ควรจะนานแล้ว
เพราะว่าท่านสุโกสโร มาบอกไว้นานแล้วเป็นค่อนปีแล้วมั้ง ค่อนปีครึ่งปีว่า โยมพ่ออยากจะมาพูดคุยกันเรื่องสิทธิมนุษยชน อาตมาก็พลัดผ่อนมาเรื่อยเพราะสภาพร่างกายไม่อำนวย จนกระทั่งมาตอนจะเข้าพรรษาท่านก็มาพูดเรื่องนี้อีก อาตมาก็เอ้ เราผลัดผ่อนมานานเหลือเกินมันจะไม่ดี แต่ไอ้ตอนเข้าพรรษาก็ระยะทรุดหนักพอดี เอ้าก็เลยขอผลัดไปสักเดือนนึงก็เลยมาตกที่ 1 สิงหาคมนี่ เจริญพร วันนี้ก็เลยว่าได้นัดไปแล้ว ฝนก็ลงอีกเพราะฉะนั้นก็ขออภัยซ้อนอีกอันก็คือว่า อาจจะสถานที่ไม่ค่อยสะดวกไม่ค่อยอำนวย ท่านต้องเดินทางเข้ามา เพราะฉะนั้นก็เชิญคุณวิบูลย์เลยมา
คุณวิบูลย์ ก็กราบนมัสการท่านอีกครั้ง วันนี้ฝนตกเนี่ยถือว่าเป็นโอกาสอันดีนะครับที่ทำให้เรามีความเย็นมาให้กับเรานะครับ ไอ้เรื่องปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนนี่ จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องหนึ่งที่ตั้งใจว่าจะมาคุยนะครับ มันก็มีอีกเรื่องนึงนะครับซึ่งคงจะยกขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วนก็คือเรื่องสมานฉันท์ ซึ่งก็อยากจะมาฟังว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ในเรื่องสมานฉันท์เนี่ยเป็นยังไงบ้างนะครับ ส่วนเรื่องสิทธิมนุษย์ชนขอเชิญคุณสุรศรีก่อน
คุณสุรศรี กราบนมัสการท่านเจ้าคุณนะครับ คือเรื่องสิทธิมนุษยชนก็มีประเด็นเกี่ยวกับที่กระผมเคยได้อ่านบทความที่ท่านเคยไปบรรยายที่กระทรวงต่างประเทศนะครับ เรื่องสิทธิมนุยชนนี่ เราจะพูดถึงเรื่องความเสมอภาคต่าง ๆ แล้วก็จะมีเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศหญิงชายนี่นะครับ ตอนหลังนี้ได้ทราบว่ามีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับคนที่มีการเบี่ยงเบนทางเพศเนี่ยครับก็อยากจะมาบวชในศาสนาพุทธนี่ครับ มีข้อจำกัด ข้อห้ามอย่าไรบ้างและมีวิธีป้องกันอย่างไรอันหนึ่งนะครับ แล้วก็อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ในเรื่องการค้ามนุษย์ซึ่งตอนนี้ก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญนะครับ แล้วทางแก้มันค่อนข้างจะมีปัญหามากว่าเราจะใช้ศาสนาพุทธนี่มีท่าทีอย่างไรที่จะทำให้ปัญหาการค้ามนุษย์ลดไปได้ ซึ่งอันนี้ก็จะโยงไปถึงเรื่องสมานฉันท์ที่คุณวิบูรณ์ได้พูดถึง
พระตอบ จะเริ่มอันไหนก่อนละ หรือพูดสมานฉันท์แล้วตามลำดับที่ถามดีไหม
คนฟังถาม พุดถึงเรื่องสมานฉันท์นี่อย่างที่กราบเรียนท่านนะครับว่า ท่านอดีตนายกอนันต์นี่อยากจะมานะครับ แต่ว่าถ้ามาไม่ได้ ท่านก็เลยฝากเข้าใจว่าเป็นรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์นะครับที่แก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ แต่ว่าปัญหาเรื่องสมานฉันท์นี้ ตอนนี้มันไม่ได้ไปเป็นเรื่องของ 3 จังหวัดภาคใต้เท้านั้นนะครับ มันเป็นเรื่อง เป็นประเด็นทางการเมืองนะครับในขณะนี้ผมก็ดูจากพจนานุกรมเนี่ยนะครับคำว่าสมานฉันท์แปลว่าความมีกายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันความพร้อมใจกันนะครับ ถ้าเราดูบรรยากาศทางการเมืองในขณะนี้เนี่ย ฝ่ายหนึ่งปากก็ว่าสมานฉันท์ แต่ว่ามีการฟ้องร้องดำเนินคดีกัน แล้วก็อีกฝ่ายหนึ่งก็ยังไม่มีท่าทีที่จะรอมชอมหรือว่าสมานฉันท์กันตามที่มีการพูดกัน ก็อยากจะขอฟังท่านเจ้าคุณอาจารย์ช่วยคุยกับพวกเราในประเด็นนี้นะครับ
พระตอบ ก็คุยกันแบบสบาย ๆ อย่างที่บอกแล้ว สมานฉันท์หรือสมานฉันท์อ่านได้ 2 อย่าง พจนานุกรมว่างั้นนะ เรามาดูศัพท์เสียก่อน ความจริงคำว่าสมานฉันท์ สมานฉันท์นี่ไม่ได้เป็นศัพท์ธรรมะโดยตรง เป็นคำบาลีที่ใช้ในชีวิตประจำวันสมัยนั้นเป็นคำศัพท์ชาวบ้านสามัญ ก็แปลตามศัพท์เสียก่อนว่า มีฉันทะเสมอกัน คือ สมานะตัวหนึ่ง สมานะที่มาเป็นสมานในภาษาไทย แล้วก็ฉันทะตัวหนึ่ง สมานะสมานนี่ที่จริงเดิมมันไม่ได้มีความหมายแบบไทย สมานะแปลว่า เสมอกันเท่ากัน เสมือนกันเท่ากันก็เหมือนกับตรงกัน ทีนี้พอมันเท่ากันตรงกันไป ๆ มา ๆ มันก็เลยร่วมกัน ความหมายมันคล้าย ๆ ความหมายที่ขยายออกมา ความหมายงอกก็ว่าได้ โดยเฉพาะเข้ามาในภาษาไทยแล้วมันจะมีความหมายเป็นอย่างที่เราเข้าใจในภาษาไทยว่าสมาน แปลเป็นร่วมประสานไปเลย ทีนี้ในภาษาพระนี่เราจะเห็นคำนี้ในคำสมานัตตตา หลักธรรมนี้อยู่ในสังคหวัตถุ 4 แต่อันนั้นเอาไว้ก่อนเดี๋ยวค่อยพูดก็ได้ เอาเฉพาะสมานฉันทร์ เพราะเมื่อกี้บอกว่าสมานฉันท์นี่เป็นศัพท์ในชีวิตชาวบ้าน ศัพท์สามัญในชีวิตประจำวัน ทีนี้เราต้องดูเข้าใจคำว่าฉันทะก่อน เมื่อกี้เข้าใจคำว่าสมานะ ฉันทะนี่ภาษาไทยเราก็ยังเข้าใจไม่ค่อยชัด ฉันทะนี่แปลว่าความอยากจะทำ มันมีทำอยู่ด้วยนะทำอะไรอยากจะทำต้องการจะทำแล้วก็มีใจตรงกันอยากจะทำอันนั้นเขาเรียกว่าสมานฉันท์ ยกตัวอย่างเลยคำที่ท่านใช้ในเรื่องราวในภาษาบาลี เช่นอย่างเรื่องว่า มีชายหนุ่มคนหนึ่งแกเป็นคนมีอัธยาศัยชื่อว่านายมคะ นี้ก็ทำงานอยู่ในหมู่บ้าน นี่แกก็เป็นคนใจดีแล้วก็รักความสะอาด รักความเป็นระเบียบเรียบร้อยทำงานด้วยกันแบบชาวบ้าน แกก็ทำสถานที่อะไรต่ออะไร กวาดอะไรต่ออะไรให้เรียบร้อยทำให้สม่ำเสมอเรียบและก็ทำงานสบาย คนอื่นเห็นสถานที่แกก็ชอบเข้ามาใช้ที่ แกก็เลยค่อย ๆ เลื่อนตัวออกไปให้คนอื่นเข้ามาทำแล้วแกก็ไปทำที่ใหม่ให้มันเรียบร้อยอย่างนั้นอีก คนอื่นก็ชอบก็ไปอาศัยแกก็ขยายออกไปทำไปเรื่อย ๆ ต่อมาก็มีคนชอบแกเยอะ แกก็ได้โอกาส ต่อมาแกก็ชวนบอกว่า หมู่บ้านของเรานี้มันไม่ค่อยเรียบร้อยไม่ค่อยสะอาด ถนนหนทางก็เดินทางลำบากจะข้ามน้ำข้ามอะไรก็ไม่มีสะพาน เรามาช่วยกันทำปรับถนนพื้นที่ให้เรียบร้อยทำสะพานกันจะดีไหม พวกนั้นก็ใจร่วมอยู่แล้วนี่ชอบใจกัน ก็เลยเอาด้วยก็มาชวนกันไปเอาอุปกรณ์มีดพร้าไปปรับสถานที่ถนนหนทางแล้วก็ทำสะพานเป็นต้นตลอดจนขุดบ่อขุดสระน้ำอะไรต่าง ๆ กลายเป็นบำเพ็ญประโยชน์ กลายเป็นว่าเป็นเรื่องที่ทำกันประจำวัน เช้าขึ้นมาตื่นก็ชวนกันไปบำเพ็ญประโยชน์อย่างนี้ นี้การที่เขามาถึงจุดนี้ที่ว่าใจตรงกันที่อยากจะทำงานบำเพ็ญประโยชน์นี่ อันนี้ก็เรียกว่าสมานฉันท์ เพราะฉะนั้นในที่นี้ท่านจะใช้ศัพท์ว่าสมานฉันท์ คนกลุ่มนี้มีสมานฉันทะก็พากันไปแต่งถนนขุดสระสร้างสะพานเป็นต้นอย่างนี้เป็นตัวอย่างเข้าใจว่าคงจะเห็นความหมายแล้ว คือมันมีอะไรที่จะทำอยู่แล้วมีสมานฉันทะ ทีนี้ในภาษาไทยนี้อาตมาภาพว่า การใช้มันยังลอย ๆ ถ้ามันไม่มีอะไรจะทำคิดจะร่วมกันทำนี่ มันไม่เป็นสมานฉันทะหรอกนะ ตอนนี้คล้าย ๆ เราเพียงว่า ให้ใจมันสามัคคีมันก็ลำบากมันไม่มีจุด มันจะถึงจุดสมานฉันท์ต้องมีอะไรที่จะทำร่วมกัน แล้วตกลงใจ แล้วใจตรงกันเสมอกันก็เรียกว่าร่วมใจกันที่จะทำการบางอย่างนั้นเอง จึงจะเป็นสมานฉันทะ ทีนี้ของเรานี่ อาตมาภาพว่าเหมือนยังไม่มีสมานฉันท์นี่ใจที่จะทำการร่วมกันไม่มี เพราะการที่จะทำการร่วมกันนั้นเพื่อจุดมุ่งหมายอันนั้น เพราะฉะนั้นคนที่จะทำการร่วมกันก็มีจุดหมายร่วมกันด้วย นี้เวลาพูดในแง่ตัวศัพท์ นี้ถ้าพูดลึกลงไปก็พูดในแง่ธรรมะ พวกสมานะนี้ใช้ในภาษาพระเยอะ เพราะมีความหมายว่าเสมอ มีหลักเสมอนี่เป็นเรื่องใหญ่ในทางพระศาสนาเพราะเป็นหลักความสามัคคี สมานฉันทะไม่ใช่สามัคคีแต่เป็นเหตุของความสามัคคีอีกทีหนึ่ง บางทีเราก็ใช้ปะปนกันเหมือนกับสมานฉันทะความหมายอันเดียวกันสามัคคี คนจะสามัคคีนี่ต้องมีสมานฉันทะ แต่เราไปใช้เป็นความหมายเดียวกันไปสะ นี้สมานฉันทะนี่คือก็มีว่าโดยทั่วไปเนี่ยมันเริ่มมาจากอะไร
1 มันมีหลักความเชื่อ เช่น มีศรัทธา หรือมีความเชื่อมีแนวคิดที่มันสมานะตรงกันเสมอกัน ก็คือแนวคิดร่วมนั่นเองมีความเชื่อถือมีความยึดถือในหลักการอุดมการณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 1 แล้ว แม้แต่ชาวบ้านก็มีความเชื่อถืออันเดียวกันอย่างเรื่องศาสนาอะไรต่าง ๆ ก็เป็นจุดรวบรวมหนึ่งได้ ก็รวมกันอันนี้ท่านเรียกว่าสมานทิฏฐิ อันนี้เริ่มเข้าศัพท์ธรรมะ ก็มีทิฏฐิเสมอกันเป็นหลักสำคัญมาก ถ้าคนเรามีแนวคิดมีหลักความเชื่ออะไรต่ออะไรอย่างเดียวกันมีศรัทธาร่วมกันนี่ใช้ได้แล้วเริ่มแล้ว มันชักจะมีสมานฉันท์นั่นแหละ บางทีไทยเราใช้สมานฉันท์อาจจะได้ความหมายแค่อันนี้ด้วยซ้ำ
2 ก็คือมีวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตวัฒนธรรมแนวทางการประพฤติปฏิบัติความเป็นอยู่อะไรเนี่ยนะเป็นแบบเดียวกันเสมอกันแนวเดียวกันเข้ากันได้ พอวิถึชีวิตวัฒนธรรมอะไรต่าง ๆ มันเข้ากันได้มันก็ไปได้ มันก็เป็นพื้นของการที่จะมีสมานฉันท์ 2 อันนี่เป็นสำคัญ ภาษาพระก็เรียกว่า สมานทิฏฐิกับสมานสีละ สมานะศีล หรือโดยปกติก็จะเรียงสมานสีละก่อน สมาสีละก็มีศีลเสมอกันมีแนวทางความประพฤติอย่างคนที่จะเป็นโจรก็ต้องมีแนวความประพฤติเสมอกันเหมือนกัน หรือว่าคนที่จะทำความดีอะไรต่าง ๆ ก็มีแนวความประพฤติปฏิบัติวิถีชีวิตวัฒนธรรมอะไรพวกนี้แบบเดียวกันเข้ากันได้ แล้วสมานทิฏฐิมีความคิดความเชื่อเสมอกัน อันนี้เป็นพื้นก่อน ถ้ามีสองอันนี้ก็พร้อมที่จะมีสมานฉันท์โดยง่ายเลยเป็นพื้น เอาละอันนี้เราพูดถึงขั้นต้นก่อน ทีนี้ขั้นที่ 1 ทีนี้ต่อไปก็คือ ถ้าขึ้นที่ 1 มันไม่พร้อมแล้วจะทำอย่างไร เราก็ต้องไปอาศัยขั้นที่ 2 ขั้นที่ 2 ก็คือเราต้องมีความเพียรพยายามขึ้นไปแล้วไอ้ตอนขั้นที่ 1 นี่มันแทบจะเป็นธรรมชาติเลย อันนี้ต่อไปก็ต้องเพียรพยายามขึ้นมา ขึ้นที่ 2 นี้ อันแรกก็คือองค์ประกอบปัญญา เอาแล้วต้องใช้ปัญญาต้องมีความรู้ อย่างถ้าเราอยู่ในสังคมจะเป็นเรื่องของกิจการสังคมก็ต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจมาถกเถียงมาแสดงเหตุแสดงผลว่าทำไมเราจึงจะต้องมาทำการนี้ร่วมกันอะไรต่าง ๆ เป็นต้น จะต้องให้เขาเข้าใจเหตุผลอันนี้ให้ได้ต้องใช้ปัญญา แต่พร้อมกับการใช้ปัญญาอีกด้านหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็ด้านจิตใจ ด้านจิตใจก็คือต้องมีเจตนาที่ดี เจตนาที่มุ่งดีไม่มีเจตนาร้ายต่อกัน มีความปรารถนาดีต่อส่วนรวม มีปรารถนาดีต่อชุมชน มีปรารถนาดีต่อกันและกันคนที่เกี่ยวข้องนี่ เช่นว่านั้นเจตนานั้นประกอบด้วยเมตตากรุณา โดยเฉพาะก็คือเมตตานี่แหละ เจตนานั้นก็คือองค์ประกอบนำในทางจิตใจที่ว่าจะตั้งใจยังไง แต่ไอ้เจตนาจะตั้งใจไงก็ต้องมีคุณสมบัติ เจตนานี้ก็ต้องประกอบด้วยเมตตาความรักความปรารถนาดีเป็นสำคัญ และองค์ประกอบอื่นก็ว่าเข้าไป แต่เจตนาเป็นตัวสำคัญ เอาละให้เจตนานี้ประกอบด้วยเมตตาความรักความปรารถนาดี เราก็ต้องพยายามสร้างไอ้นี่ขึ้นมาให้ได้ แล้ว 2 อันนี้ก็เป็นประโยชน์ใจต่อกัน คนจะมีเมตตาปรารถนาดีต่อกัน มันก็ต้องเข้าใจกันต้องมีปัญญารู้เข้าใจ อย่างน้อยรู้เหตุรู้ผลว่าทำไมเราจะต้องมีความปรารถนาดีต่อกันเป็นมิตรกันเพราะอย่างนี้อย่างนี้เราอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันอะไรต่ออะไร แล้วเราก็ไม่ใช่ว่าอะไรเราก็เป็นเพื่อนมนุษย์ก้นนี่แหละ แล้วโลกนี้ปัจจุบันอยู่เป็นสุขเราก็ต้องช่วยเหลือกันเบียดเบียนกัน มันก็เดือดร้อยไปด้วยกันอะไรก็แล้วแต่ว่าจะสรรหาเหตุผลมาปัญญาก็ต้องทำงานแล้วก็ไม่ใช่เฉพาะปัญญาในเชิงคิดเหตุผล ปัญญารู้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่าง ๆ อย่างทั่วตลอดทำให้เรานี่สมารถเอามาใช้เป็นฐานความคิดได้ถ้าไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริงเพียงพอนี่ มันก็ทำให้การคิดนี้ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร นั้นก็จะต้องให้ความรู้ความเข้าใจนี่มาก เพราะฉะนั้นขั้นที่ 2 ก็คือขั้นที่ 1 เนี่ยมันไม่พร้อมพอก็มาขั้นที่ 2 เรื่องปัญญาแล้วก็มาปรับเจตนาให้ดีให้ได้ ถ้าเราทำขั้นนี้ไม่สำเร็จแล้วก็ยาก ถ้าทำให้เจตนาของคนมันมาปรารถนาดีตั้งใจดีต่อกันมันไม่ได้เจตนามันยังร้ายอยู่อย่างนี้เราจะไปได้ผลอะไร การแสดงออกมันก็เป็นการไม่จริงใจ มันเจตนามันตรงมันแน่นอนก็จริงใจต่อกัน โดยไม่ต้องตั้งใจมันก็จริงจังมันก็จริงใจอยู่ในตัวเลย ตอนนี้ปัญหาเจตนามันจะไม่ตรงกัน ทีนี้นอกจากปัญญากับเจตนา ซึ่งเป็นเรื่องภายในจิตใจแล้วมันก็ต้องมีองค์ประกอบภายนอกมาหนุน องค์ประกอบภายนอกก็คือ เรื่องของขั้นปฏิบัติการเรื่องของการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่อะไรนี่มันก็จะต้องมีตัวมาช่วยหนุน ช่วยหนุนนี่ก็คือหลักที่จะมาประสานคนให้รวมกัน หลักการประสานคนก็มีอยู่แล้วถ้าใช้ธรรมะ ทางธรรมะนี่คำว่ารวมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี่ ก็คือที่เป็นที่มาของคำว่าสังเคราะห์ใช่ไหม สังเคราะห์แปลว่าเราเอาอะไรต่ออะไรมาสานต่าง ๆ มาประสานรวมเข้าด้วยกันเราเรียกว่าสังเคราะห์ ก็คือรวมเข้าให้เป็นหนึ่งนั่นเอง จากหลายมาเป็นหนึ่ง สังเคราะห์นี่เรามาใช้เป็นศัพท์รูปธรรมที่จริงมันมาจากศัพท์ใช้ทางสังคม ศัพท์บาลีก็คือคำว่าสังคหะนั่นเอง สังคหะก็มาเป็นสังเคราะห์แต่ว่าสังคหะเนี่ยเราใช้ในรูปอีกรูปนึงเราแปลเป็นไทยเป็นสงเคราะห์ พอใช้เป็นสงเคราะห์กลายเป็นความหมายหนึ่ง สังเคราะห์กลายเป็นความหมายหนึ่ง ที่จริงศัพท์เดียวกันก็คือจับมารวมเข้าด้วยกันเพราะคำว่าคหะแปลว่าจับ สังแปลว่ารวมเข้าด้วยกัน สังคหะแปลว่าจับรวมเข้าด้วยกัน สังคหะก็สังเคราะห์จับมารวมเข้าด้วยกัน ประมวลรวมผนึกประสานเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สังคหวัตถุนั่นเอง ก็คือหลักการประสานคนหรือรวมคนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี่คือหลักความสามัคคีโดยตรงเลย หลักสามัคคีในพุทธศาสนาก็หลักสังคหวัตถุ เพราะแปลว่าหลักการสังเคราะห์คือประมวลหรือรวมคนเข้าด้วยกัน นี้สังคหะวัตถุ 4 นี่เป็นเรื่องของปฏิบัติการแล้วในชีวิตประจำวัน มันก็ต้องมีมันมาเป็นตัวหนุนเลย เราจะทำในด้านจิตใจอะไรต่ออะไร ให้ปัญญาอะไรต่ออะไรก็ทำไปแต่ด้านหนึ่งก็นี่ 1 ทาน การแบ่งปันการให้กัน 2 ปิยวาจาการพูดดีการสื่อสารให้ความรู้ซึ่งมันก็สื่อเรื่องปัญญาด้วย แล้วก็พูดกันดี ๆ ด้วยความปรารถนาดีไม่ใช่พูดร้าย แล้วก็อัตถจริยาก็เป็นประโยชน์ต่อกันช่วยเหลือกัน แล้วก็สมานัตตตามีตนเสมอ สมานัตตตานี่แหละตัวสำคัญ สมานัตตตาก็มีหลายขั้น คือสมณะอย่างที่ว่าเมื่อกี้สมานัตตตาก็มีอัตราเสมอกันนั่นเอง ก็ตัวเดียวกันนั่นแหละ ท่านใช้เลย สมานัตตตาก็สมานัตตา สมานอัตรา ก็มีอัตราเสมอกันก็มีอัตราเสมอกัน อัตราไงเสมอกัน ก็เริ่มแต่เอ้าไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน แล้วก็ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน แล้วก็ไม่เลือกที่รักผลักที่ชังมีความเสมอภาคนั่งเอง มีตนเสมอก็คือไม่แบ่งแยกไม่ดูถูกดูหมิ่นมีความเสมอภาคแล้วสุดท้ายเขาเรียกว่าสมานสุขทุกขตา สมานะทั้งนั้น ภาษาไทยก็มาแปลมีสุขทุกข์เสมอกัน สมณะตัวนี้ก็แปลว่าร่วมสุขร่วมทุกข์ ที่ว่าสมณะที่แปลว่าเสมอกันนี่มาทำไมร่วมพอมีสุขทุกข์เสมอกันก็ร่วมสุขร่วมทุกข์ นี้ถ้าคนร่วมสุขร่วมทุกข์กันได้ก็เข้าอยู่รวมกันเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราเห็นว่า 1 ทานการให้แบ่งปันยังเป็นคล้าย ๆ ต่อกัน ปิยวาจาก็พูดดีต่อกัน อัตถจริยาก็มาบำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน พอสมานัตตตานี่เข้ารวมกันเลย เข้าคลุกรวมกันอยู่ด้วยกันแหละ ถ้ายังไม่ถึงสมานัตตตานี่ความสามัคคีก็เป็นไปได้ยาก เพราะความสามัคคีต้องอาศัยความเป็นธรรมความยุติธรรมความเสมอภาคแล้วก็ไปถึงร่วมสุขร่วมทุกข์ มันก็สมานนะ มันเสมอแบบสมาน ภาษาไทยเนี่ยมันยังมีปัญหาเรื่องความเสมอเรามักจะเน้นไปในทางแย่งกัน เช่นว่าความเสมอในทางเศรษฐกิจว่าเสมอภาคเท่ากันแต่คอยมองว่าเขาได้เท่าไหร่เราได้เท่าไหร่ เราได้มากกว่าไม่ยอมไม่ได้อย่างนี้เรียกว่าเสมอภาพแบบแก่งแย่ง แต่ว่าเสมอภาคแบบธรรมะนี่เป็นเสมอแบบรวมกัน ก็ท่านมีสุขทุกข์เสมอกันนี่มันรวมกันแน่ใช่ไหม ก็ตั้งแต่แรก ตั้งแต่อันที่หนึ่งเสมอกันไม่ดูถูกดูหมิ่น ไม่เอารัดเอาเปรียบมันเสมอแบบที่จะรวมทั้งนั้นเลย แต่ภาษาไทยนี้มันจ้องแบบว่าจะไม่ให้ใครมากกว่าฉัน เพราะฉะนั้นมันยากไอ้เจตนาท่าทีของจิตใจนี่มันเสียหมด นั้นเราจะต้องปรับเปลี่ยนหมดเลย ท่าทีแม้แต่พื้นฐานนี่ไม่ให้เป็นเสมอภาคแบบแก่งแย่ง ทำให้เป็นเสมอภาคแบบที่จะรวมกัน นี้ถ้าเรามีไอ้ความสุขทุกข์เสมอกันร่วมสุขร่วมทุกข์ได้เนี่ยมันก็ทำให้เกิดความสามัคคีนี่มันต้องมาประกอบช่วยกันเพราะเราเข้าไปอยู่ด้วยกันรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วเราก็มีทั้งทานปิยวาจาอัตถจริยาไปด้วยมันก็เป็นเครื่องทำให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แล้วทีนี้ก็เอาไอ้ปัญญามาช่วยคอยเป็นตัวปรับตัวแก้ทำให้ชัดเจนมันก็จะได้ผลดียิ่งขึ้น เจตนามันก็เป็นตัวที่จะได้ตามมาแต่ว่าเราก็ต้องคอยเหมือนกับว่าเป็นกัปตันที่คอยทำให้ไอ้เจตนานี่มันไม่ออกนอกลู่นอกทางก็คิดว่าแค่นี้ก็ได้เยอะแล้ว เชิญก่อนมีอะไรไหม
คนฟังถาม นมัสการพระคุณเจ้าครับ อยากขยายต่อเรื่องความสมานฉันท์ครับ ถามพระอาจารย์หลวงพ่อคือว่า ถ้าสมานฉันท์ตรงนั้นเป็นเรื่องกับเรื่องที่มันยาก ๆ เกี่ยวกับเรื่องความเป็นไปทางสังคม เกี่ยวกับนโยบาย เกี่ยวกับการจัดบริหารของผู้ปกครองด้วย หลักสามัคคีที่หลวงพ่อได้พูดเมื่อสักครู่เนี่ยมันจะมีปัญหาเพราะมันจะต้องเจอกับคนหมู่มากความเข้าใจตรงกันความสมานฉันท์ตรงนี้อาจจะทำได้ยากเพราะความเข้าใจมันต่างระดับกันนี่ครับ
พระตอบ ก็เนี่ยที่ว่าเมื่อกี้คือ ขั้นที่ 1 เราบอกว่ามีสมานทิฏฐิ สมานสีละ นี่ถ้าได้ขั้นนี้มันก็ง่าย ทีนี้บอกว่าในกรณีที่ขั้นนี้เราไม่มีหรือไม่พอทำอะไร เราจึงต้องไปเน้นขั้นที่ 2 ก็ในกรณีของประเทศไทยขณะนี้เราต้องยอมรับว่า ไอ้ขั้นที่ 1 นี่เรามีปัญหามากเป็นปัญหาก็เพราะขาดขั้นที 1 นี่ ขั้นที่ 1 นี่มันไม่สมานะ มันไม่สมานคือวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอยู่อะไรมันก็ไม่สมานะ แล้วก็ทิฏฐิความเชื่อถือแนวคิดมันก็ไม่เข้ากัน นี่แหละปัญหามันอยู่ที่ต้องยอมรับว่าขั้นที่ 1 นี้เราไม่ได้เราจึงต้องมาพยายามขั้นที่ 2 นี้ขั้นที่ 2 ก็ต้องใช้ปัญญาให้หนักสิ ปัญญาขณะนี้เราไม่ค่อยเน้นการให้ความรู้เข้าใจข้อมูลแม้แต่เรื่องวัฒนธรรมก็พูดกันอย่างนั้นเองว่าที่เป็นวัฒนธรรมของเขา ของเขา ของคณะนั้นแต่ก็ไม่รู้ว่าวัฒนธรรมนั้นมายังไงเป็นยังไงแล้วก็รู้ในขอบเขตแคบ ๆ เราไม่ได้มองทั่วโลกอะไรเป็นต้นว่า เอ้อวัฒนธรรมนี้มันมีความเป็นมาอย่างไรแล้วก็มันมีความแตกต่างแม้แต่ในวัฒนธรรมนั้นแหละที่เขาบอกเป็นวัฒนธรรมของหมู่นั้น หมู่นี้น่ะที่อื่นที่เป็นหมู่นั้น หมู่นี้ เขาทำอย่างนี้หรือเปล่าเราก็ไม่ได้ชัดมันต้องพูดกันได้หมดทั้งโลกนี้ เขาปฏิบัติเรื่องนี้กันอย่างไรความรู้ข้อมูลแบบเนี้ยเป็นความรู้แบบเป็นกลาง ๆ จะเรียกว่าข้อมูลล้วน ๆ ก็ได้ ไม่มีความคิดเห็นเรื่องนี้เราต้องแยกความรู้เป็นขั้นเป็นตอนเหมือนกัน คือความรู้ประเภทเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงล้วน ๆ จะเรียกว่าเป็นความรู้ที่ไม่เข้าใครออกใครนะเนี่ย ต้องให้แบบที่เรียกแทบไม่มีขีดคั้น มันจะตรงใจใครไม่ตรงฉันไม่เกี่ยวความจริงมันอย่างนั้นนี่ก็พูดไปสิ แต่เราไม่วิจารณ์ไม่ให้ความเห็น อันนี้สังคมไทยขาดมากความรู้เรื่องศาสนาเรื่องวัฒนธรรมเรื่องอะไรที่ไหนเป็นยังไงว่าไปสิ แล้วเราก็ไม่ต้องให้ความเห็นไม่ต้องวิจารณ์ทั้งนั้นก็มันเป็นอย่างงี้ข้อมูล นี้คันที่ 2 ตอนนี้ต้องระมัดระวังแล้วก็ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารที่จะถ่ายทอด เช่นจะให้ความคิดเห็นตอนนี้ให้ความคิดเห็นวิจารณ์อะไรต่าง ขั้นที่ 2 อันนี้อาจจะต้องจำกัดจำนวนคนที่เลือกสรรที่มีความสามารถสื่อสารให้ดีให้เป็นปิยวาจาเป็นต้น และต่อจากนั้นก็ค่อยขึ้นไปสู่ขั้นที่ว่ามาชวนกันทำอะไรต่่าง ๆ แต่ว่าอันที่ 1 นี่ เวลานี้สังคมไทยอาตมาว่าตอนนี้ขาดมาก เราพูดกันไปข้ามขั้นเลย เช่นว่าเราพูดนี่เป็นวัฒนธรรมของคนกลุ่มนี้หมู่นี้จบ แล้วก็ไม่ได้บอกว่าวัฒนธรรมนี่มันคือยังไงไปยังไงมายังไงอยู่ที่ไหน เขาปฏิบัติกันอย่างไร นั้นต้องเน้นมากไอ้เรื่องข้อมูลที่มันเป็นความรู้ล้วน ๆ กลาง ๆ เป็นข้อเท็จจริงไม่เข้าใครออกใครไม่มีความรู้สึกปน เวลานี้ก็ชักจะตระหนักกันมากขึ้นเรื่องว่าสังคมไทยเนี่ยแยกความรู้กับความรู้สึกไม่ออก สังคมเรานี่หนักในด้านความรู้สึก บางทีไม่เอาความรู้ หรือเอาความรู้ไปปนความรู้สึกจนความรู้มันไม่ออกมา นั้นความรู้ที่มันเป็นของกลาง ๆ ล้วน ๆ แท้ ๆ เนี่ยจะต้องเน้นให้มากเวลานี้สำหรับสังคมไทย แล้วก็ฝึกจากตัวความรู้ที่เป็นของกลางที่เป็นของจริงของแท้นี่ แล้วฝึกในด้านความคิด การให้ความเห็นบนฐานของความรู้ ไม่ใช่ให้ความเห็นบนฐานแต่เพียงความรู้สึก เจริญพร เดี๋ยวเชิญ ยังมีแง่ยังไงอีกแต่ยังอาจยังตอบไม่จบก็ได้ เชิญ ๆ ต่อ
คนฟังถาม ได้อ่านหนังสือของหลวงพ่อล่าสุดเรื่องธรรมาธิปไตยนะครับ ในช่วงนี้ก็พยายามอ่านเยอะ หลวงพ่อได้พูดถึงเรื่องของกฎหมายกับกฎธรรมชาติ กฎของธรรมะ แต่ปัจจุบันปรากฏว่ากฎ กฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นเนี่ยเราก็พยายามจะเอาตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ แล้วก็ลดความขัดแย้งตรงนี้ไม่ทราบหลวงพ่อจะมีความคิดเห็นหรือว่าที่จะให้คำแนะนำตรงนี้อย่างไร เพราะว่าบางทีกฎหมายก็เปลี่ยนไปตามคนที่เป็นคนถือกฎหมาย แล้วคนที่มีแปลเจตนากฏหมายนั้นด้วยครับ
พระตอบ คือกฏหมายนี่เป็นกติกาชนิดหนึ่ง เป็นกติกาของสังคมนี้ กติกานี่เรามีขึ้นมาเพราะเรามีความต้องการหรือมีวัตถุประสงค์บางอย่าง เมื่อเรามีวัตถุประสงค์บางอย่างก็คือ วัตถุประสงค์ที่เรียกว่าเป็นธรรมชาตินั่นเอง ก็คือเรามีความต้องการจะอยู่ร่วมกันแล้วทำการให้มันเป็นเรื่องเป็นราว เช่นอย่างงี้เอาอย่างง่าย ๆ อย่างพระมาอยู่ด้วยกันก็ต้องมีกฎหมายหรือกฎกติกา แม้แต่เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ท่านมา เช่นมาอยู่ที่แห่งหนึ่งเป็นวัดป่า ท่านก็ต้องมาตกลงกัน เอ้อเรามาอยู่ด้วยกันแล้วเราอยู่ห่างกันไกลกัน องค์นั้นก็ไปอยู่ตั้งอาจจะอยู่ห่างกันเป็นกิโลพูดก็ไม่ถึงกันเดินไปหากันก็ยากอะไรอย่างนี้นะ แต่ระยะทางเราได้ยินไปไกล นี้เรามาตกลงกันว่าเราจะออกมาบิณฑบาตรพร้อมกันนะเวลาเท่าไหร่ แล้วก็จะมาฉันเวลาเท่าไหร่ แล้วพอสายแยกกันไปอยู่ในที่ของตนแล้วเวลานั้นเราจะมารวมอีกจะมากวาดลานวัดหรือจะมาทำกิจวัตรอะไรก็แล้วแต่ เราก็มาตกลงกันนัดเวลาแล้วเพื่อจะให้ได้ผลตามเวลาก็อาจจะมีบอกว่าทำสัญญาณมีการตีระฆังเป็นต้น เราก็ตีระฆังนัดหมายก็เกิดเป็นกติกาขึ้นมา อย่างงี้กติกานี้ก็แปลว่าเครื่องหมายรู้สำหรับคนที่เจริญแล้วเนี่ยก็มีปัญญารู้เหตุรู้ผลกัน กติการนี้ก็สร้างขึ้นมาด้วยความรู้เข้าใจความมุ่งหมาย แล้วก็หมายรู้กันกฏนั้นก็ไม่ใช่เรื่องจำใจก็เพราะเขาทำด้วยความที่เข้าใจและมีความต้องการอย่างนั้นเขาก็ใช้กฎกติกานี้จะเรียกว่ากฎหมายก็คือ กฏสำหรับหมายรู้ร่วมกัน ทีนี้สำหรับมนุษย์ที่ไม่ได้เกิดจากความเข้าใจก็กลายเป็นถูกฝืนใจบังคับก็เลยมีความรู้สึกไม่ดี งั้นให้กฎกติกาที่แท้เนี่ยตามพระธรรมวินัยแล้วมันมาอย่างนี้ ก็คือเป็นข้อหมายรู้ร่วมกันเพื่อจะให้กิจการของสังคมมันเป็นไปได้ อย่างที่ว่าแม้แต่วัดป่าที่พระอรหันต์มาอยู่ด้วยกัน ท่านก็ยังมีกติกา ต้องมีกฏ ไม่ใช่ว่าท่านจะอยู่ด้วยไม่มีกฏ แต่ไอ้กฏอย่างนี้เราเห็นชัดว่ามันมีเพื่อวัตถุประสงค์อะไร นี้ในสังคมของเราก็เหมือนกันที่เราจะสร้างกติกากฎหมายขึ้นมานี่ ถ้ามันเป็นกฎหมายที่ดีก็คือเรามีจุดหมายที่ดีของสังคมต้องการให้สังคมนี้กันร่มเย็นเป็นสุขมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยยังกับกฎจราจรนี้ ก็เพื่อให้รถแต่ละคันนี่ได้ไปได้ดีไม่ใช่ไปกระจุกทุกคนอยากไปเลยไปไม่ได้สักคนใช่ไหม ทีนี้ถ้าเรามีกติกาก็เอ้อมันก็ทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของทุกคนนั่นแหละนั้นเราต้องเข้าใจว่าไอ้กฎกติกาที่แท้มันเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ทำขึ้นมาแล้วเป็นข้อ ๆ แล้วก็มาบังคับกัน ทีนี้เวลานี้คนมันไม่เข้าใจเรื่องไอ้กฏหมายเหล่านี้มันก็เห็นเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่มีคนฝ่ายหนึ่งคนกลุ่มหนึ่งหรือรัฐเอามาบังคับแล้วเขาก็ไม่เข้าใจว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ฉะนั้นในการศึกษาในเรื่องนี้ไม่มีประชาธิปไตยก็ไปยากถ้าปัญญาคนไม่มี งั้นก็ต้องให้การศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจ
คนฟังถาม ที่นี้ธรรมชาติทางการเมืองนี่นะครับ ธรรมชาติของการเมือง มันเป็นเรื่องที่ไม่มีเมตตาไม่มีความรักมีแต่การเอาชนะคะคานกัน แม้กระทั่งการเมืองนี่มีความเป็นไปได้แค่ไหนครับที่จะมีความสมานฉันท์
พระตอบ คือสมานฉันท์มันมีได้เป็นบางระดับไม่ได้มีทุกระดับสำหรับคนที่ทำการแบบนี้ เพราะว่าเขามาเช่นว่ามาอยู่พรรคการเมืองต่างพรรคนี่ ก็แสดงว่าเขามีแนวคิดบางอย่างบางไม่ตรงกันใช่ไหม เมื่อมีแนวคิดบางอย่างไม่ตรงกัน ไอ้ฉันทะบางอย่างมันจะตรงกันไม่ได้ แต่ว่าในพรรคการเมืองนั้นเขาน่าจะมีสมานฉันท์ในระดับของพรรคก็คือต้องการทำการบางอย่างที่ร่วมกันตรงกัน แต่ทีนี้ว่าแม้จะเป็นต่างพรรคการเมือง แต่ว่าเขาเป็นพรรคการเมืองเพื่อร่วมในรัฐเดียวกันเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเดียวกันแล้วก็เพื่อระบบการปกครองประชาธิปไตยร่วมกันเราจะมีสมานฉันท์ในระดับนั้น เราต้องแยกเป็นระดับ ก็หมายความว่าเขาสามารถขาดสมานฉันทะได้ในระดับของความต่างของพรรคการเมืองอันนี้เราต้องยอม แต่เขาควรจะมีสมานฉันทะในระดับที่เหนือพรรคการเมืองก็คือในระดับของรัฐของประเทศชาติและของระบบประชาธิปไตย นี้เราก็ต้องไปแยกสิอันไหนมันเป็นสมานฉันทะที่เรายอมให้เขาขาดได้เพราะเป็นเรื่องของระดับพรรคที่เขาต้องแยกกันอยู่แล้ว แล้วระดับไหนเป็นระดับของรัฐของส่วนรวมทั้งประเทศของระบบประชาธิปไตย อันนั้นจะต้องมีสมานฉันทะ เช่นว่าเมื่อเป็นระบบประชาธิปไตยมันก็ต้องมีฉันทะที่จะทำการเพื่อให้ระบบการปกครองที่เราเรียกประชาธิปไตยเนี่ยมันดำเนินไปได้ตั้งอยู่มั่นคงใช่ไหม เราก็มาดูสิสมานฉันทะในเรื่องนี้มีอะไรเขาจะต้องตรงกัน ถ้าเขาไม่ตรงอีกก็แสดงว่าไอ้รัฐนี้อยู่ไม่ได้แหละ ก็ต้องคิดว่าต้องแยกตรงนี้แยกระดับเพราะฉะนั้นเราอย่าไปสับสนว่าจะต้องไม่มีสมานฉันทะทุกเรื่องเป็นไปไม่ได้ยอมเลยคุณจะต่างก็ต่างกันไปในระดับพรรค แต่ว่าที่คุณจะทำเรื่องนั้นสมานฉันท์ไอ้เรื่องนั้นที่ต่างกับคนอื่นแต่จุดหมายของคุณนั้นก็เพื่อจุดหมายเดียวกับใช่ไหมสำหรับรัฐ แต่ว่าความคิดเห็นการที่จะทำการเพื่อจุดหมายนั้นของคุณของพรรคนี้คุณไม่ตรงกับพรรคนั้นเพื่อจุดหมายอันเดียวกันนี้แหละแต่พรรคนี้เขาเห็นว่าต้องทำการนี้เขาก็ทำของเขาแบบหนึ่ง แล้วก็อีกพวกหนึ่งเขาก็เห็นอีกอย่างหนึ่งเขาก็ทำการอีกอย่างหนึ่งเพื่อจุดหมายเดียวกันนั่นแหละ
คนฟังถาม การสมานฉันท์บางเรื่องถามว่า มันเรื่องอะไรที่สำคัญพอที่จะให้ประเทศชาติเป็นไปได้ค่ะ ที่พอจะให้ส่วนรวมไปได้ สาระสำคัญของจุดต้องสมานกัน
พระตอบ ก็จุดหมายรวมของประเทศชาติ จุดหมายรวมของระบบประชาธิปไตย อันนี้เป็นสิ่งที่ตรงกัน อันนี้อาตมาว่า เราต้องมาแยกแล้วละไม่ใช่ว่าจะพูดขึ้นมาได้ทันที จะต้องมาแยกแยะกันแล้ว ถ้าเราได้แนวนะเราสามารถไปแบ่งจัดแยกได้ ก็อาจจะมีการจัดการดีคาสสิคบายออกมา อย่างน้อยก็มาจับจุดให้ได้ว่ามีกรณีของการกระทำเรื่องใดบ้างที่จะต้องตรงกันแล้วนอกจากนั้นเรายอมให้ตามได้ ไม่จำเป็นต้องสมานฉันท์ได้ทุกเรื่อง เพราะว่าสมานฉันท์อย่างที่บอกเมื่อกี้มันเน้นที่สิ่งที่กระทำมันไม่ใช่แค่ลอย ๆ มาอยู่ที่ใจ ซึ่งมันกลายเป็นเรื่องที่จับอะไรต่ออะไรไม่ค่อยได้ เจริญพร เชิญ
คนฟังถาม กราบเรียนถามพระคุณเจ้าครับ ท่านบอกว่าสังคมไทยที่จะต้องให้เจริญปัญญามาก ๆ ให้ข้อมูลที่เป็นกลางนะครับ แล้วก็เคยอ่านของท่านว่าข้อมูลนี้ควรเป็นข้อมูลที่ว่าตั้งแต่ต้นจนปลายไม่ใช่ยกเฉพาะตอนที่ตัวเองต้องการมานะครับ ที่ข้อมูลที่สังคมไทยหรือประชาชนได้รับปัจจุบันนี้นี่ส่วนใหญ่จะได้รับผ่านสื่อนะครับ ทีนี้สื่อเสนอข้อมูลที่ว่าผิดเพี้ยนบ้าง บิดเบือนบ้างยกเฉพาะบางตอนบ้างไม่ให้ข้อมูลที่เป็นกลาง ๆ ทั้งหมดเนี่ยถ้าจะปรับปรุงสื่อเพื่อให้คนไทยได้เจริญปัญญาอย่างแท้จริงนี่ครับ ควรจะปรับปรุงอย่างไรนะครับ
พระตอบ อ้อไปปัญหาเรื่องปรับปรุงสื่อเลยเหรอเจริญพร คนฟังถาม เพื่อให้เกิดสมานฉันทร์ อันนี้ยาก ก็คือมันต้องมีเจตนาที่เขาเสนอข้อมูลเป็นบางจุดบางแง่นี่ก็เป็นการสนองเจตนาบางอย่าง อย่างน้อยก็เป็นเจตนาให้ตื่นเต้น ข้อมูลบางอย่างมันทำให้ตื่นเต้นเฉพาะกรณีเสร็จแล้วก็แล้วไป เขาก็ไม่มีเจตที่มันสูงเหนือขึ้นไปอีกว่า เออเราจะได้รู้เข้าใจเรื่องราวนี้จะได้ปฏิบัติในเรื่องนี้ได้ถูกต้องเจตนาอย่างนั้นมันไม่มี มันก็ได้แค่ว่าเขาตื่นเต้นแล้วก็จบ ถ้าอย่างนี้ก็ขาดเรื่องเจตนาด้วย เจตนานี่แหละเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เราทำการได้ถูก เจตนาที่มุ่งเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเพื่อประโยชน์กับประเทศชาติอะไรอย่างงี้นะ คือถ้าสื่อมีเจตนานี้อยู่เวลาเขาจะเสนอข่าวสารข้อมูลมันก็แน่ละเขาต้องคิดว่าทำไงจะให้ประชาชนรู้เข้าใจความจริงแล้วจะได้นำไปสู่จุดหมายที่ว่าจะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมการอะไรต่ออะไรได้ดีถูกต้อง ถ้าเจตนานี้ไม่มีนี้มันก็ได้เจตนาที่มันกระเซ็นกระสายกระจัดกระจายที่มันทำให้เกิดปัญหา เช่นความแบ่งแยกเป็นต้น ไม่สามารถรวมกันได้หรอก ที่เด่นตอนนี้ก็คือ 1 เจตนาให้ตื่นเต้น บางทีเจตนาตื่นเต้นเพื่ออะไร เพื่อขายหนังสือให้ได้มาก เอ้ออย่างนั้นก็เป็นเจตนาสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจไป อันนี้มันก็มีได้เป็นเจตนาเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจแต่ว่ามันต้องเป็นรองต้องมีเจตนาที่เหนือนั้น ก็เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนทำไงเราจะให้มีอันนี้ได้ที่เรียกว่าจิตสำนึกจิตนี่ จิตสำนึกที่มุ่งเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติประชาชน อันนี้มันต้องอาศัยทุกจุดเลยนะมันตั้งแต่ผู้บริหารรัฐเลย เรามีไหมไอ้เจตนอันนี้ที่เขาเรียกว่าจิตสำนึกที่ว่ามุ่งเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติประชาชน ถ้ามันคิดจะทำอันนี้อยู่นะ ถ้ามันมีขึ้นนะมันจะไปทำอะไรไม่ต้องห่วงแล้วนะ นี่เหละเจตนาที่เราต้องการ แต่มันไหมเจตนาอันนี้ เรากำลังบ่นกันมากนะว่าเราขาดอันนี้อยู่ ฉะนั้นคนก็จะเอาแต่ตัวเอง เอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง เอาเรื่องที่เพียงแต่ 1 เป็นเรื่องเฉพาะตัว 2 เป็นของชั่วคราวเฉพาะวัน วัน ๆ หนึ่งพอให้ผ่านไปมันไม่มีจุดมุ่งหมายที่เป็นระยะยาวแล้วก็เป็นส่วนรวม 2 อันนี้มันขาด ซึ่งเป็นอันเดียวกัน จุดมุ่งหมายที่เป็นระยะยาว แล้วเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติประชาชนไม่มี อย่างนี้เราต้องพยายามตระหนักอันนี้ แล้วก็พยายามสร้างขึ้นให้ได้ ถ้าไม่ได้แล้วก็มันไปได้ยาก แล้วถ้าอันนี้มีนะมันเป็นจุดรวมที่เจตนาของทุกคนนี่มาสมานกันนี่ เจตนาที่ทำการที่จะสมานฉันท์ให้มันระดับของทั้งประเทศทั้งรัฐก็คือทุกคนนี่มุ่งจะทำการเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ เพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม เพื่อประชาชน ถ้าหากมีอันนี้อยู่มันก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ในตัวและทุกคน ตั้งแต่ ผู้บริหารประเทศชาติ จะเป็นนักการเมืองหรือจะเป็นสื่อมวลชนหรือเป็นอะไรมันก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วมันไม่แตกแยก นี้ถ้ามันไม่มีอันนี้จะทำไงสมานฉันทะอันนี้ขาด ก็ต้องแตกกระจัดกระจายหมด ยิ่งถ้าไปเจตนาเพื่อผลประโยชน์ทางธุระกิจ มันก็กลายเป็นเรื่องของบุคคล หรือของกลุ่มชนนั้นเท่านั้นแหละ พออย่างนี้แน่นอนมันก็กระจัดกระจายแล้วไม่มีทางรวมกันได้ นั่นนี่คือสมานะฉันท์ใหญ่เลยของประเทศชาติทั้งสังคมเลย เห็นด้วยไหมละโยม
คนฟังถาม เจตนาเสมอกันเพื่อประโยชน์ของชาติ
พระตอบ ใช่ อันนี้ต้องมี ถ้ามีอันนี้สื่อมวลชนมี ก็สบายแล้ว ผู้บริหารรัฐมีตรงกันแล้ว เถียงกันไม่เป็นไรไม่มีปัญหาเพราะเจตนาเขาตรงกัน
คนฟังถาม ประทานโทษขอแทรกนิดค่ะ คือว่าตามที่ท่านกล่าวมานี้นะค่ะ สำหรับผู้ที่ฟังนี่นะค่ะก็จะต้องใช้ปัญญานะค่ะ ใช้ปัญญาที่จะแยกแยะข่าวสารอันนี้ถือว่า การที่ว่าจะให้ผู้สื่อข่าวนี่มีเจตนาดีนิก็คงจะเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันนี่ผู้ฟังผู้รับข่าวผู้อ่านข่าวนี่ก็สามารถที่จะแยกแยะโดยใช้ปัญญาของตัวเองในการที่จะพิจารณาว่า แหล่งข่าวอันนี้มาจากแหล่งข่าวที่ไหน แต่ส่วนใหญ่นี่ เถ้าเผื่อราจะเห็นแหล่งข่าว ถ้าเผื่อจะอ่านข่าวต่างประเทศเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางในขณะนี้ เราจะเห็นว่าแหล่งข่าวนี่มาจากสำนักข่าวอเมริกัน สังเกตว่าแหล่งข่าวนี่มาจากไหน เราจะเห็นว่ามันไม่ค่อยมีความยุติธรรมมากนักนะค่ะ อันนี้ก็ถือว่าเป็นผู้รับที่มีปัญญา ประเด็นที่คุณเมื่อกี้พูดมานี่นะค่ะ เรื่องเกี่ยวกับนโยบายอะไรที่จะให้หลวงพ่อตอบนี่นะค่ะ ก็เห็นด้วยว่าที่หลวงพ่อบอกว่าจะต้องแยกแยะออกไปให้เป็นขั้นเป็นตอนเป็นส่วน อย่างเช่นเรื่องนโบายการศึกษามันก็จะมีนโยบายการศึกษาบางตัวบางส่วนที่จะสามารถให้พรรคต่าง ๆ มาร่วมสมานฉันท์กันได้เป็นกรณีไป อาจจะไม่ใช่นโยบายการศึกษาทั้งหมดแต่เป็นตัวไหนก็ต้องแยกแยะกันไปว่าอันนี้นี่จะสามารถให้พรรคต่าง ๆ เห็นด้วยไหมอย่างเช่น ในต่างประเทศเขาเรียกว่า ถ้าเป็นพรรคใหญ่ก็จะ บายพาติซิ่ม ก็คือเป็นพรรคบายพาติซึ่มซัพพ้อท ก็พรรคต่าง ๆ เขาก็จะยกมือให้ ให้ผ่านกฏหมายอันนี้ผ่าน อันนั้นเราก็จะต้องมาพิจารณากันอีก เพราะฉะนั้นคิดว่าในสังคมไทยถ้าเผื่อเรามีปัญญาชนนะค่ะ ที่นั่งอยู่นี่ทั้งหลายพิจารณาส่วนนี้และส่วนรายละเอียดเอาอารมณ์ความรู้สึกออกแยกแยะข้อมูลก็คิดว่าตรงนั้นเราจะช่วยได้ คืออารมณ์ต่ออารมณ์มันก็ไม่ได้ใช้ปัญญา เจริญพร
พระตอบ อันนี้ก็นี้เป็นข้อเสนอแนะก็โมทนา คืออันนี้ก็ต้องแยกเป็น 2 ส่วน เพราะตอนนี้เรากำลังพูดถึงฝ่ายผู้ที่ทำงาน เช่นว่าสื่อหรือผู้บริหารรัฐก็ต้องเป็นงั้น ทีนี้มาดูฝ่ายประชาชนเช่นผู้รับฟังสื่ออ่านสื่อ อันนี้ก็แน่นอนเป็นการพัฒนาประชาชน ประชาชนจะรับข้อมูลข่าวสารอย่างไร เช่นว่าจะต้องมีความรู้เท่าทันจะต้องมีปัญญาแยกแยะอันนี้ต้องพูดกันเรื่องใหญ่กันเลยทีเดียว เพราะต้องพัฒนาคน แต่ว่าในแง่ของฝ่ายผู้ทำงาน เช่นสื่อนี่เราต้องพัฒนาให้เขาเป็นคนที่มีคุณสมบัติอย่างที่ว่า เช่นมีเจตนาอันนั้นแหละ แล้วประชาชนก็เช่นเดียวกันเมื่อจะรับฟังสื่อนั้นถ้าเขามีเจตนาเพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมอยู่แล้วนี่ การที่จะมาแยกแยะข่าวสารก็จะง่ายขึ้นแต่ไม่ใช่หมายความว่าพอนะก็ต้องพัฒนาเรื่องปัญญาความสามารถในการที่จะรับข่าวสารด้วยการที่จะแยกแยะต่าง ๆ ได้ เรื่องสมานฉันทะนี่มีอะไรอีกไหมเจริญพร เชิญ
คนฟังถาม กราบเรียนถามพระอาจารย์ เรื่องสมานฉันทะที่พระอาจารย์ว่ามาจะเป็นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ตามคือความเป็นจริงของสังคมนี่ สังคมเรารวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะมองกลุ่มในแง่ใดก็ตาม จะเป็นกลุ่มพรรคการเมือง กลุ่มวิชาชีพจะเป็นหมอพยาบาลหรืออื่น ๆ หรือแม้กระทั่งสังคมที่เป็นสังฆะ โดยปกติแล้วในการที่รวมเป็นกลุ่มได้นี่ เราคงคิดว่ามันต้องมีความสมานฉันท์คืออย่างน้อยก็มีศีลเสมอกัน มีทิฏฐิเสมอกัน ส่วนเรื่องเจตนานี่เป็นเรื่องของส่วนบุคคล ซึ่งมองเห็นได้ยากแล้วก็คนอื่นอาจจะบอกไม่ได้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร ปัญหามันเกิดขึ้นมาได้ว่าถ้ามีคนหนึ่งในกลุ่มนั้น เกิดมีเจตนาที่เบี่ยงเบนไปหรือว่ามีศีลที่เคยมีแล้วพร่องออกไปทิฏฐิที่แตกต่างกันออกไปโดยเฉพาะคน ๆ นั้นถ้าเป็นผู้ที่กุมอำนาจในกลุ่มด้วย เราสมาชิกอื่นในกลุ่มควรจะมีทัศนะคติอย่างไร หรือควรกระทำอย่างไรต่อคน ๆ นั้นนะครับ ซึ่งคน ๆ นั้นนี่มีศีลแล้วทิฏฐิที่ต่างออกไปแล้วไม่สามารถที่จะปรองดองให้อยู่ในกลุ่มได้อีกต่อไปเสียกลางทาง
พระตอบ ไอ้จะทำอย่างไรมันก็อาจจะง่ายกว่าตอนที่ว่าการที่จะรู้เข้าใจว่าเป็นยังไงเพราะบางทีมันมาติดปัญหาตั้งแต่ขั้นนี้จนกระทั่งเน้นเรื่องปัญญา ก็ในเมื่อเราต้องการศีลเป็นสมานศิล ทิฏฐิเป็นสมานทิฏฐิ ถ้ามันได้มันดีแต่ทีนี้มันเกิดไม่ได้ใช่ไหมอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เราจึงต้องไปเอานามธรรมมาที่จะต้องใช้ความเพียรพยายามนี้คนที่มีปัญหาคือเจตนาที่มันอยู่เบื้องหลังที่ทำให้เขานี่ทำศีลให้ผันแปรวิปริชไป ศีลที่มันวิปริชผันแปรไปเพราะอะไร เพราะมันมีเจตนาอยู่เบื้องหลังทีนี้ถ้าหากเจตนาไม่ดีคนอื่นก็จะต้องมีความรู้เช่นรู้เท่าทัน นี้ถ้าประชาชนเป็นต้นนี่รู้ไม่เท่าทันขาดปัญญาแล้วจะไปแก้กันอย่างไง มันก็กลายเป็นว่าไม่มีความรู้เท่านั้น ขออภัยเช่นว่าอาจจะถูกหลอกง่าย ๆ ก็ได้ เอ้าแล้วจะไปแก้ไขได้ยังไงละ เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นเรื่องปัญญา นี้ ทีนี้ถ้าเราไม่สามารถให้ปัญญาเกิดความรู้เข้าใจเช่นความรู้เท่าทันปัญหามันก็เกิดขึ้นที่ว่าแม้จะเจตนาดี เช่นประชาชนนั้นมีความตั้งใจทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม แต่เสร็จแล้วแกไม่รู้เท่าทันอย่างงี้ปัญญาแกไม่มี แกก็จัดการปฏิบัติการในเรื่องนี้ไม่ถูก เพราะฉะนั้นมันจึงต้องมีด้วยกันเพราะปัญญาจะมาเป็นตัวปรับเจตนา ปรับทางด้านจิตใจ เมื่อปัญญามันรู้เท่าทันมันเห็นอย่างงี้มันความเข้าใจอย่างงี้ถูกต้องความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ถูกต้องเจตนามันก็ไปเอง เจตนาในขั้นที่ว่าจะไปทำการอย่างไร นั้นปัญหาตอนนี้ก็คือการพัฒนาของสังคมเราในระดับการพัฒนาประชาชนนี้ก็ต้องยอมรับว่ามันยังไม่เพียงพอ ก็เราพัฒนาปัญญาของประชาชนไม่เพียงพอความรู้เข้าทันข่าวสารข้อมูลการศึกษาที่จะเรียนรู้เรื่องของการปฏิบัติจัดการอะไรต่าง ๆ ในระดับประเทศชาติสังคมมันเป็นยังไงอะไรนี่ กลไกอะไรต่าง ๆ ในทางรัฐ ประชาชนไม่เข้าใจใช่ไหม แม้แต่เรื่องประชาธิปไตย ประชาชนจำนวนมากก็ไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยมันอยู่ตรงไหน ก็มองแค่ว่ามีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งคือประชาธิปไตย หรือว่าพานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยก็เป็นอย่างงี้ใช่หรือเปล่า อย่างเรื่องประชาธิปไตยนี่คนไทยมีความเข้าใจแค่ไหน มันก็กลายเป็นว่าขาดไอ้นี้เป็นตัวสำคัญคือคุณสมบัติสำคัญเลยคือตัวปัญญานี่ นี้ปัญญากับเจตนาต้องมาคู่กัน ไอ้เจ้าเจตนาไม่ดีมีปัญญาก็เอาไปใช้ในทางร้ายอีก ก็กลายเป็นว่าเรามีปัญญารู้เข้าใจดีแล้วแต่เจ้าเจตนาเรามุ่งไปเช่นเพื่อประโยชน์ตนก็เลยเอาปัญญานี้มาใช้ เพื่อหรอกคนอื่นไปเลย คนอื่นก็กลายเป็นเครื่องมือ ทีนี้ถ้าสังคมมีปัญญาดีประชาชนมีความเสมอกันจริงนะ มันก็จะรู้ทันกันปัญหาเหล่านี้มันก็จะเบาบางไป นั้นเป็นปัญหาของสังคมทั้งหมดจึงต้องเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพประชาชนให้มากว่าทำอะไรต่ออะไรต่าง ๆ นี้ระยะนี้เราต้องการคุณสมบัติอันนี้มาก พัฒนาคุณภาพประชาชนให้หนักหน่อย ก็อย่างเรื่องการเลือกตั้งหรือกิจกรรมประชาธิปไตยอะไรต่าง ๆ เนี่ยเราก็มาเน้นกันในเรื่องของรูปแบบตัวกลไกว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้เรานึกว่าเป็นปัญญา เปล่ามันไม่ใช่ตัวปัญญาไอ้ความรู้เหตุรู้ผลในเรื่องเหล่านี้ในระบบการปกครองมันไม่มี ฉะนั้นประชาชนก็รู้จักประชาธิปไตยแค่ไอ้ตัวรูปแบบเรื่องของกลไกนี่เท่านั้นเอง ยังไม่เข้าใจประชาธิไตยนี่เราจะเป็นประเทศประชาธิปไตยแต่ปัญญารู้ประชาธิปไตยมันยังน้อยนะเป็นปัญหาพื้นฐานเลย เจริญพรเมื่อกี้จะถามอะไรอีก
คนฟังถาม ครับ ความจริงเป็นคำถามร่วมกัน ตกลงเจตนานี่กับอะไรนะครับเมื่อกี้นี้ จิตสำนึก
พระตอบ จิตสำนึกนี่เป็นคำพูดแบบที่เรียกว่าเน้นจุดหนึ่ง เน้นจุดหนึ่งที่ไปสัมพันธ์กับเป้าหมาย เช่นว่าจิตสำนึกทางสังคมก็หมายความว่าเรามีเป้าหมายทางสังคมว่า ทุกคนควรจะสร้างสรรค์สังคมนี้นะ แล้วก็เรามีจิตที่ตั้งหรือมุ่งหมายไปที่ไอ้ตัวประโยชน์ของสังคมอันนี้ เจตนาตัวนี้เป็นเจตนาเฉพาะเลยก็เรียกว่าจิตสำนึกไป จิตสำนึกคือเป็นเจตนาเฉพาะเรื่องไปเลย แต่เจตนานี้เป็นคำกลาง ๆ ใช้ได้กว้าง ๆ เจตนาในกรณีของจิตสำนึกทางสังคมก็คือเจตนาที่ตั้งใจดีที่จะทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนของสังคมนั้นเอง คือมันจะมาด้วยกัน ถ้าเราไม่มีจิตสำนึกเจตนาตัวนี้มันก็อ่อน พอมีจิตสำนึกขึ้นมามันก็ย้ำไอ้เจตนาตัวนี้ให้มันเด่นขึ้นมาเลย จิตสำนึกนี้มันจะไม่ขาดเจตนาเพราะว่าเจตนาเป็นตัวที่คุมแนวทางของจิตใจ จิตใจมุ่งไปที่ไหนก็คือเจตนานั่นเอง ความตั้งใจจิตใจที่มุ่งหมายไปที่ไหน แม้แต่การเลือกว่าจะเอาอะไรนี่เจตนาทั้งนั้น
คนฟังถาม ขอความหมายของเจตนา
พระตอบ เจตนานั่นเอง แปลกันต่าง ๆ บางคนแปลว่า วิล บางคนแปลว่า อินเทนชั่น บางคนแปลว่าวอริชชั่น ใช้กันต่าง ๆ เพราะว่ายังหากศัพท์ที่มันตรงแท้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นนักธรรมะหลายท่านก็จะใช้ต่าง ๆ แต่ที่ใช้กันมากมันก็มี 1 วอริชชั่น 2 วิล 3 อินเทนชั่น 4 บางท่านใช้ช้อย ช้อยก็การเลือก ๆ จะเอายังไงก็เป็นเจตนานั้นก็ใช้กันต่าง ๆ รวมความก็คือไม่สามารถหาศัพท์ที่ตรงเป่ง เจริญพร
คนฟังถาม ครับ คำถามตรง ๆ เลยก็คือว่า ถ้าเราเจอว่าคนที่มีอำนาจนะครับและก็ฉลาดด้วย ได้ทำการกระทำที่ใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมคือได้ทำความชั่วไปแล้วนี่ แล้วพยายามที่จะใช้คำว่าสมานฉันท์นี่มันเป็นเรื่องของการที่เหมือนกับว่าเบียงเบนให้สังคมให้ยอมรับในความชั่วหรือการกระทำที่ไม่ชอบธรรมเขาไปแล้ว ตรงนี้เราจะทำยังไงเพราะว่าผมทราบดีที่หลวงพ่อบอกว่าการจะสมานฉันท์ได้และทุกคนตื่นตัวรู้เจตนาที่รู้ทันกันได้ก็อยู่ที่ปัญญา แต่บางครั้งคนที่มีอำนาจมากและฉลาดมากนี่ก็สามารถทำอะไรที่เกิดผลเสียต่อประเทศชาติได้เกินกว่าที่เราจะปล่อยให้ความเสียหายมันเกิดขึ้นนี่ และพอใช้สมานฉันท์เป็นเครื่องมือในการที่จะทำให้สังคมเนี่ยลืมสิ่งที่เขาทำชั่วไปแล้วเนี่ยตรงนี้เราจะทำยังไงครับ
พระตอบ เราก็ต้องให้คนรู้คำว่า สมานฉันท์นี้ 1 มันก็ใช้กันแบบคลุมเครือ 2 เราก็ต้องรู้ว่าในกรณีที่คลุมเครือนี้มันใช้เป็นกลอุบายได้นะ ก็ต้องรู้ทันอย่างนี้ด้วยสิ สมานฉันท์ที่แท้ก็ต้องมาย้ำเตือนกันว่าอะไรคือสมานฉันท์ที่แท้แล้วจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มันก็ต้องทำความชัดเจนด้วยนี่เพราะขณะนี้ปัญหามันอยู่ที่เราก็คลุมเครือนี่ สังคมใช้กันอย่างคลุมเครือนี่ก็ไม่รู้ว่าอะไรสมานฉันท์ก็อ้างกันไปเรื่อย
คนฟังถาม หลวงพ่อครับ พระตอบ ไหน
คนฟังถาม ขอย้อนกลับมาเจตนา พระตอบ ก็ต้องย้อนมา
คนฟังถาม อาจจะต้องที่อาจารย์ประเวทได้เขียนบทความไว้ด้วยไหมครับ ให้ยกเลิกเรื่องที่ท่านพุทธทาสยกหลักธรรมอะตัมมะยะตา ก่อนเหรือเปล่าครับ ถึงจะมาสมานฉันท์ได้ครับ อันนี้กราบเรียนถามด้วยความว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องกำจัดไอ้ความชั่วร้ายหรือเปล่าครับ
พระตอบ ไอ้ความชั่วร้ายมันแน่นอนต้องพยายามกำจัดให้หมดไป แต่ว่าถ้ากำจัดตัวความชั่วร้ายได้ก็ดี โดยไม่ต้องกำจัดคนร้าย หมายความว่ากำจัดความร้ายในคนร้ายให้เขากลายเป็นคนดี ถ้าทำได้มันก็จะดี ทีนี้ว่าทำไงละ มันแก้ยากใช่ไหม ทีนี้ถ้าหากว่าประชาชนมีปัญญารู้เท่าทันดีนี่มันก็ทำอะไรที่มันเป็นการเบียงเบนวิปริชได้เจตนาไม่ชอบทำนี่ได้ยาก นี้เจตนาตัวนี้ถ้าปัญญามันขาดมันก็ได้โอกาส ฉะนั้นปัญญาเจตนามันต้องคู่กันนะ ปัญญามันเป็นตัวที่จะมาทำให้เจตนาเนี่ยอยู่ในกรอบที่ถูกต้องไม่เบี่ยงเบนปรับแก้ได้
คนฟังถาม ผมคิดว่าประเด็นสมานฉันท์นี้ใครจะยกประเด็นอะไรอีกไหมครับ จะได้พูดถึงเรื่อง ท่านเหนื่อยไหมครับ
พระตอบ ไม่เป็นไรว่าไป พอว่าเริ่มแล้วก็ไปละ เจริญพร