แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : คุยกันต่อเรื่องของวัตถุมงคล หรือว่ารูปธรรมที่สื่อธรรมะ ถ้าใช้ถูกต้อง ทีนี้ก็ไปนึกถึงที่ท่านจักรพันธ์ถามเมื่อเช้าเรื่องหนังสือกับพระเครื่อง ท่านถามว่าไง ลองถามอีกทีซิ
คำถาม : ทำหนังสือธรรมะแจก เปรียบได้กับทำพระเครื่องแจกไหม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็มีแง่มุมที่จะเหมือนบ้างแต่ไม่มากนัก เหมือนได้ในแง่ที่ว่า ก็เป็นสื่อธรรมะด้วยกันทั้งคู่ ถ้าใช้ถูกนะ แต่ทีนี้ว่าหนังสือนี้สื่อโดยตรงเลย มันแน่นอนเลยว่าสื่อตัวธรรมะ โดยวัตถุประสงค์ โดยหน้าที่ของมัน อ่านหนังสือก็สื่อโดยตรงเลย แต่พวกพระเครื่องนี้สื่อโดยอ้อม ต้องผ่านวัตถุ แล้วบางที่ถ้าสื่อไม่ถูก ก็สื่อไปอย่างอื่นอีกนะ ออกไปนอกเรื่องนอกราวเลย ฉะนั้นจึงต้องระวังมาก ทีนี้แม้แต่ว่าเอาไปเป็นสินค้า ในกรณีที่ไม่ได้แจก ถ้าเกิดมีการแลกเปลี่ยนเป็นเงินทองขึ้นมา เราจะเห็นได้ว่าพวกหนังสือนี้นะ ออกไปสู่กิจการที่เขาทำเป็นธุรกิจ ในกรณีที่ไม่ใช่พระแจก ร้านค้าเขาทำเนี่ย มันก็ยังเป็นได้แค่สินค้าซื้อขายแลกเปลี่ยนตามอัตราส่วนที่อยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ใช่ไหม ก็เหมือนกับหนังสืออื่นๆ บางทีหนังสืออื่นๆ อาจจะขายได้ราคาดีกว่าด้วย เช่นหนังสืออ่านเล่น ใช่ไหม แต่ทีนี้ถ้าเป็นพวกวัตถุมงคลนี้ล่ะก็ ลงทุนนิดเดียวกำไรมหาศาลเลย พวกทำหนังสือธรรมะขายนี่ เสี่ยงต่อการขาดทุนเยอะ คนซื้อน้อย แล้วราคาก็ต้องจำกัด แต่ถ้าเป็นวัตถุมงคลพระเครื่องนี่นะ ลงทุน 10 บาทอาจจะขาย 1,000 บาท หรือยิ่งกว่านั้นอีกใช่ไหม อาจจะลงทุน 100 บาท ขาย 10,000 ขาย 25,000 หรือ 50,000 ไปเลย ฉะนั้นกำไรมหาศาลจนกระทั่งถ้าหากว่าเจตนาไม่ดี ไม่เป็นบุญเป็นกุศล ไม่ได้คิดเอามาใช่เพื่อสร้างสรรค์ ทำประโยชน์สาธารณะส่วนรวมอะไรนี่ หาประโยชน์ส่วนตน กลายเป็นการค้ากำไรอีก หนักที่สุดเลย ใช่ไหม การค้ากำไรเกินควร แทบจะไม่มีการค้ากำไรเกินควรอันใดจะได้กำไรมากเท่านี้เลย
ที่นี้ก็ย้อนกลับมาเรื่องของเรา แต่ว่ารวมความก็คือว่าต้องใช้ให้ถูก แล้วก็สื่อธรรมะได้ ทีนี้พวกวัตถุมงคลพระเครื่องสื่อได้ก็ในขอบเขตจำกัด คือได้ในระดับศีล คือความประพฤติ เช่นว่ามาช่วยป้องกัน ทำให้ต้องยึดถือข้อปฏิบัติ เช่นการงดเว้นจากการเบียดเบียนกัน การละเมิดศีลอะไรแล้วแต่พระอาจารย์จะสั่ง แล้วก็ได้สื่อทางจิตใจ ทำให้จิตใจนี้มีความปลาบปลื้ม มีความมั่นใจ มีความเอิบอิ่มใจ อะไรต่างๆ ได้ผลทางจิตใจ แต่สื่อไปถึงปัญญานี้น้อย ยาก แต่หนังสือธรรมะนี่สื่อถึงปัญญาโดยตรงเลย เพราะฉะนั้นสำคัญมาก สื่อหนังสือธรรมะก็เหมือนกับฟังคำสอน ก็เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าออกไป แล้วก็ไปเผยแผ่ต่อ แต่ที่นี้มีการใช้ประโยชน์ซ้อนแบบนี้ คือหนังสือนั้นไปหนุนวัตถุมงคลอีกทีหนึ่ง เช่นอย่างตอนนี้มีการใช่กันเยอะ ไม่ใช่ว่าเอาหนังสือมาสื่อตัวธรรมะแล้ว แต่ว่าเอาหนังสือเนี่ยไปใช้สำหรับโปรโมทวัตถุมงคล พระเครื่อง หรือทำเป็นคล้ายๆ หน้าม้า สำหรับโฆษณาคุณภาพของพระเครื่องวัตถุมงคลอะไรต่างๆ มีความขลัง เป็นต้น ใช่ไหม กลายเป็นใช้หนังสือเพื่อวัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นสื่อธรรมะโดยตรงแล้ว นั่นเป็นเรื่องของความซับซ้อนในสังคมปัจจุบันนะ ก็ต้องพิจารณากันหลายขั้นตอน ก็มีแง่มุมที่อย่างน้อยต้องคำนึงสองอย่างนี้ ทีนี้ก็ขอย้อนกลับมาเรื่องของความหมาย ประโยชน์การปฏิบัติต่อวัตถุมงคล โดยเฉพาะพระเครื่องกันต่อ ที่พูดมาแล้วนี้ก็พูดในแง่ของประวัติความเป็นมา เพื่อให้เห็นถึงบทบาทและการของคนในสมัยโบราณ สืบมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ทีนี้ก็มาถึงยุคใกล้ปัจจุบันนี้ก็ได้เล่าไปถึงหลวงพ่อวัดบ้านกร่าง ผมก็เลยอยากจะเล่าต่ออีกนิดหนึ่ง ทีนี้ว่าถึงจริยวัตรของตัวหลวงพ่อเอง หลวงพ่อวัดบ้านกร่างนี่ก็เป็นที่เลื่องลือ ประชาชนก็มีควมเลื่อมใสศรัทธามาก ว่าท่านขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ท่านมีดี แต่ว่าปกติแล้วท่านไม่ให้ใคร คนก็อยากจะได้ ทีนี้ความที่ศรัทธาเลื่อมใสท่านมากเนี่ย จะเห็นอิทธิพลในทางศรัทธาว่า เวลามีงานมีการอะไร ต้องการกำลังคน เขาจะมากันพร้อมเพรียงมาก คราวหนึ่งที่วัดบ้านกร่างนี่ก็มีการย้ายเสนาสนะทั้งหมดเลย ทั้งกุฏิ ทั้งศาลา ทั้งหอสวดมนต์ หอสวดมนต์ก็ใหญ่มาก ทีนี้จะย้ายอย่างไร เสนาสนะบางอย่าง เช่นพวกกุฏินี่ก็ไม่จำเป็นก็ไปรื้อและไปสร้างใหม่ได้ แต่เสนาสนะบางอย่างนี่อยากจะรักษาไว้อย่างเดิม เช่นหอสวดมนต์ ก็ใช้วิธียกไปทั้งหลัง จะยกยังไง ไม่ได้มีเครื่องมือเทคโนโลยีอย่างปัจจุบัน ย้ายจากจุดนี้ไปตั้งอีกแห่งหนึ่ง ห่างออกไปมากพอสมควร ก็ใช้วิธีนัดประชาชน นัดหมายว่าวันที่เท่านั้นนะ เวลานั้นให้มาพร้อมกัน แล้วตอนระหว่างนั้นก็ช่างก็ไปเอาไม้ไผ่มาใช้เชือกผูกมัดตรึงต้นเสา ระหว่างเสาต่างๆ ผูกมัดถึงกันหมด ให้เป็นช่องที่เขาไปยืนเป็นช่องๆๆ แล้วก็เรื่อยตัดเสาให้ตรงกันทุกเสา ในเวลาเดียวกันก็ไปทำเสาปูนซีเมนต์เตรียมรอรับไว้ที่ใหม่ พอถึงวันนัดประชาชนก็มากันมากมาย ไม่รู้ว่าเท่าไหร่ แล้วก็เข้ามาประจำที่ ถึงเวลาหลวงพ่อก็ให้สัญญาณ ยกพร้อมกัน ศาลาก็เดิน เดินไปแล้วก็ไปวางที่ใหม่ เดินเหมือนคนเดิน ไปอย่างเรียบร้อยมาก นี่ก็เป็นเครื่องแสดงอย่างหนึ่งถึงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่เขามีพระสงฆ์ที่เขาเคารพเป็นศูนย์กลางนะ ว่ามีผลในทางสามัคคี ทำให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ ทำการอะไรต่างๆ ก็สำเร็จ ทีนี้หลวงพ่อท่านเป็นที่เคาระนับถืออย่างนี้ ทีนี้ท่านก็เป็นที่เลื่องลือ แต่ว่าชีวิตประจำวันของท่าน ท่านไม่มีการพูดถึงเรื่องของขลังอะไรเลย ไม่มีการพูดถึง แล้วไม่ให้ใครด้วย แต่ถ้าใครมีเรื่องเดือดร้อน ถูกผีเข้า หรือว่าถูกทำ ถูกคุณไสยอะไรต่างๆ ก็มาหาท่านเฉพาะราย เฉพาะกรณี ท่านก็แก้ไขให้เฉพาะรายนั้นๆ ก็ไม่ต้องพูด โฆษณากันไป ใครมีเรื่องก็แก้เฉพาะตัวไป แต่ในชีวิตประจำวัน ท่านก็พูดถึงเรื่องธรรมะ คำสอนว่าให้ดำเนินชีวิตยังไง ขยันหมั่นเพียร ทำมาหาเลี้ยงชีพ อยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสัมพันธ์ที่ดี ช่วยเหลือเกื้อกูล อะไรต่างๆ เป็นเด็กก็ขยันหมั่นเพียร ก็สอนแต่เรื่องธรรมะ ก็หมายความว่าชีวิตประจำวันก็ทำหน้าที่ของพระ ที่ให้ธรรมะสอนธรรมะ ไม่มีการให้เครื่องรางของขลัง เพราะฉะนั้นคนจะได้จากท่านยากมาก ขอก็ไม่ให้ บางที่ถ้าจะให้ก็ลูกศิษย์ที่ท่านเห็นว่าประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เขาอาจจะโตขึ้นมา อาจจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ใหม่ ก็เรียกมา พระสมัยเก่าๆ จะเป็นอย่างนี้ ลูกศิษย์ที่ประพฤติดีก็เรียกตัวมาวัด จะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ใหม่นะ หลวงพ่อจะให้ของดีไป จะได้รักษาคุ้มครอง พร้อมกันนั้นหลวงพ่อก็จะบอกว่า เธอไปแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตา ขยันหมั่นเพียร ทำการงานหาเลี้ยงชีพด้วยสุจริตนะ แล้วก็อย่าได้ประพฤติเสียหาย พระท่านจะได้คุ้มครอง เวลาจะให้ก็กำกับไปเสร็จ เรื่องของศีลธรรม ข้อประพฤติว่าควรจะเว้น หรือสั่งให้เว้นอะไร แล้วก็ให้ประพฤติอย่างไร ฉะนั้นโอกาสที่จะให้นี่น้อย ทีนี้การที่จะให้อย่างนี้ก็มีความหมาย ทำให้เกิดผลได้หลายอย่าง เพราะคนที่อยากจะได้ก็ต้องเอาตัวอย่างของคนที่ได้ ก็ต้องประพฤติดี ถ้าไม่ประพฤติให้ดี หลวงพ่อก็ไม่ให้ ถ้าอยากได้ของดีก็ต้องประพฤติตัวให้ดี แล้วนอกจากนั้นเวลาให้หลวงพ่อก็จะเป็นโอกาสที่จะได้สอนธรรมะด้วย ใช่ไหม ก็เป็นเครื่องมือสื่อธรรมได้อย่างดี อันนี้ก็เอามาเป็นบทสรุปให้เราดูว่าลักษณะของพระสมัยก่อน ท่านปฏิบัติตามหลักการนี้ ปฏิบัติต่อเรื่องของวัตถุมงคล พระเครื่องเป็นต้นอย่างไร พอสรุปได้
หนึ่ง-ไม่มีราคา ไม่มีค่าเป็นเงินทอง ใช่ไหม ท่านไม่เอาเงิน เพราะท่านให้เปล่า
สอง-ไม่ได้ให้ง่ายๆ ไม่กลาดเกลื่อน ให้ยาก จะได้มานี่ต้องประพฤติให้ดี กว่าจะได้ทั้งที เรียกว่าต้องสะสมบารมีของตัวเองกันเยอะ จนกว่าจะได้มา
สาม-มีข้อเรียกร้องทางศีลธรรม ใช่ไหม เธอจะได้นะ พระจะคุ้มครองต่อเมื่อเธอประพฤติตัวดีอย่างนั้นๆ ถ้าเธอประพฤติเสียหายอย่างนั้นอย่างนั้น พระไม่คุ้มครอง สมัยก่อนเขาจะมีข้อห้ามเยอะเลยนะ พระที่ได้ไปเนี่ย อย่างไปด่าแม่เขาเนี่ย พระไม่คุ้มครองเลย ที่สุพรรณ อำเภอศรีประจันต์ ก็มีท่านหนึ่ง เราเรียกว่าขุนศรี สมัยผมเด็กเล็กๆ ไม่กี่ขวบ ขุนศรีนี่เลื่องลือมากว่าหนังเหนียว ปราบผู้ร้ายนี่โดนยิงก็ไม่มีเป็นอะไรเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นมือที่ขมัง เรียกว่าเป็นนักปราบโจรที่น่ากลัว ขุนศรีนี่ชื่อจริงว่า ขุนศรีประจันต์รักษา ไปปราบโจรๆ ปรากฏว่าคราวหนึ่งถูกโจรยิงตาย ชาวบ้านเขาก็โจษจันไปว่า โจนมันทำยังไงก็ไม่รู้ ท่านขุนก็เลยโกรธโมโหด่าแม่มัน พอด่าแม่มันเท่านั้นแหละ ปังเลย เข้าเลย ท่านขุนตายเลย เพราะฉะนั้นนี่โบราณ เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของขลังนี้ต้องศีลมีธรรม ฉะนั้นจะกำกับกันเสร็จ แล้วอะไรอีก
สี่-มีคุณค่าทางจิตใจที่เป็นสื่อโยง สื่อโยงระหว่างบุคคลที่มีพระคุณหรือความดี อย่างว่าหลวงพ่ออุปัชฌาย์ท่านจะให้แก่ลูกศิษย์ ก็ต้องเลือกที่ประพฤติดี และเลือกเวลาที่จะให้ ให้ในยามที่จากไปทำมาหากิน หรือว่าไปตั้งหลักตั้งฐานอะไรอย่างนี้ ทีนี้พอให้ไปแล้ว แล้วให้ได้ยาก ยิ่งไปอยู่ไกลๆ พระองค์นี้จะเป็นตัวแทนของหลวงพ่อ เมื่อนึกถึงพระนี่ก็นึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยอันดับหนึ่งว่านี่เป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า นึกถึงพระพุทธเจ้า สอง-ระลึกหลวงพ่ออุปัชฌาย์ ครูอาจารย์ที่ให้มา ความซาบซึ้ง เวลาเรานึกถึงก็แล่นไปหมดเลยใช่ไหม จิตใจที่นึกถึงพระคุณความดีของท่าน ที่ท่านได้ช่วยเหลือเกื้อหนุนมา อบรมสั่งสอนมา คำสอนของท่าน ท่านสั่งเรามาทำไม ระลึกถึงพระก็ต้องระลึกถึงคำสอนของท่านด้วย จะต้องประพฤติปฏิบัติยังไง ทีนี้พอตัวแก่เท่าลง อุตส่าห์รักษาพระองค์นี้ไว้อย่างดี จะเรียกว่าถนอมอย่างดีที่สุดแหละ พอแก่ตัวเข้าก็มีลูก ลูกรักโตขึ้นแล้วนะ ก็เรียกมา นี่นะพระองค์นี้พ่อมห้มา หลวงพ่ออุปัชฌาย์ท่านให้ พ่อนี่รักอย่างชีวิตเลย รักษาไว้อย่างดี เวลานี้ลูกโตแล้ว พ่อก็จะมอบให้ ลูกก็ได้รับไป ใช่ไหม ลูกรับไป นี่เป็นของที่พ่อรักที่สุด และตั้งใจมอบให้แก่เรา คุณค่าทางจิตใจ ความสัมพันธ์โยงระหว่างลูกกับลูกเข้ามาอยู่ที่หลวงพ่อ แล้วโยงไปหาอุปัชฌาย์ของหลวงพ่ออีก โยงไปหาพระพุทธเจ้าอีก นี่แหละตลอดเลยคุณค่าทางจิตใจ รวมอยู่ที่พระเครื่ององค์เดียว ฉะนั้นห้อยคออยู่แล้วระลึกถึงหลวงพ่อทีไร ก็นึกถีงพระพุทธเจ้า พระอุปัชฌาย์ของพ่อ คุณค่าทางจิตใจมันเต็มหมดเลย ฉะนั้นมันมีคุณค่าสูงมาก เรามาดูปัจุบันบันนี้คุณค่าเหล่านี้ มันแทบจะไม่มีเหลือเลย หนึ่ง-มันซื้อได้ด้วยเงินทอง มันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สอง-มันเกลื่อนกล่านดาษดาหาได้ง่าย สาม-มันไม่มีข้อเรียกร้องทางศีลธรรมเลย ถูกไหม เป็นเรื่องของหาลาภ หาเงินหาทองอย่างเดียว เป็นที่ตั้งแห่งความโลภสำหรับตัวเขาเองว่าเรามีพระเครื่องนี้ เราจะได้ปลอดภัย ได้ฮึกเหิม ทำอะไรก็ไม่ต้องกลัว กลายเป็นยุหัวใจในทางฮึกเหิมทำความชั่วก็มี แล้วก็เป็นเรื่องการเห็นแก่ตัว ได้โชคได้ลาภส่วนตัว ไม่มีคุณค่าทางศีลธรรม ไม่มีข้อเรียกร้องทางจริยธรรมเข้ามา สี่-ไม่มีคุณค่าทางจิตใจเชื่อมโยงอย่างที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างท่านผู้มีพระคุณ พ่อแม่ บดามารดา ปู่ย่าตายายอะไรต่างๆ เหล่านั้น ไม่มีใช่ไหม แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ระลึกถึง นึกถึงแต่แง่ว่าเป็นวัตถุมงคลที่จะช่วยให้เราได้ลาภได้ผลเท่านั้นเอง ตกลงคุณค่าเหล่านี้หายหมดเลย ฉะนั้นอย่าไปดูถูกคนสมัยโบราณ นึกว่าคนโบราณมานับถือพระเครื่องวัตถุของขลังวัตถุมงคล เรามาเอาตัวเราไปเทียบ เพราะคนสมัยนี้ไม่ได้มีหลักอะไรแล้ว ไปใช้ในทางที่เสียหายมาก ใช่ไหม ก็นึกว่าคนโบราณจะเป็นอย่างตัว เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นในความหมายนี้เราจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ว่าทำไมวัตถุมงคลหรือพระเครื่องซึ่งเป็นเรื่องของรูปธรรมจึงมาสื่อธรรมะได้ ใช่ไหม ทีนี้คุณค่าไม่ได้อยู่เท่านี้หรอก พุทธศาสนานั้นอยู่ท่ามกลางลัทธิศาสนาอื่น มาศาสนาพราหมณ์ ลัทธิเชื่อผีสางเทวดา อะไรต่างๆ เรื่องไสยศาสตร์มีเกลื่อนกลาดอยู่ ใช่ไหม แล้วบางทีเขามีอยู่ก่อนพุทธศาสนาด้วย ทีนี้คนเขานับถือสิ่งเหล่านี้อยู่ เดี๋ยวมีทำกันแล้ว คนนั้นถูกคุณถูกไสย ถูกเขาเสกหนังเข้าท้องหรืออะไรทำนองนี้ เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อในฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์บ้าง เรื่องของอิทธิฤทธิ์ของอำนาจเร้นลับเหนือธรรมชาติ มันมีอยู่กลาดเกลื่อน ทีนี้พุทธศาสนาอยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ และประชาชนมีระดับของการพัฒนาชีวิตจิตใจไม่เท่ากัน ต่ำบ้างสูงบ้าง บางคนไม่รู้เรื่องเลย เรื่องธรรมะ คำสอนพระพุทธเจ้า แล้วก็ไปเชื่อในสิ่งเหลวไหลต่างๆ หวังจากอำนาจดลบันดาลเหล่านี้ แล้วพระเองก็มีความสามารถไม่เท่ากัน บางองค์สอนธรรมะให้เขาเข้าใจด้วยปัญญาได้ง่าย แต่บางองค์ท่านก็ไม่มีความสามารถ ท่านก็ไม่มีความรู้พอ เรามองกว้างๆ ถึงสภาพทั้งหมดนี่ พระพุทธศาสนาจะช่วยประชาชนได้อย่างไร การช่วยก็ต้องเป็นในระดับต่างๆ พระที่มีความสามารถ มีความรู้หลักธรรมดี ก็อาจจะสอนโดยตรงเลย อย่างที่ว่าเข้าถึงคนระดับที่มีปัญญา ทีนี้พระองค์เดียวกันนั่นแหละ ไปสอนคนที่ไม่มีปัญญา ไม่รู้เรื่องเลย ก็อาจจะต้องใช้วิธีหนึ่ง ทีนี้อีกองค์หนึ่งพระไม่มีปัญญาด้วย ไม่รู้หลักธรรมด้วย แต่ว่าอยากจะช่วยเหลือชาวบ้าน ทำไงจะสื่อพุทธศาสนากับชาวบ้าน เราต้องมองกว้าง อย่าเอาแต่ตัวเองคนเดียว เป็นประมาท ว่าฉันนี้มีความสามารถสอน ต้องให้พระทุกองค์ทำได้อย่างฉัน มันเป็นไปไม่ได้ นี่สังคมส่วนรวม คนเราอยู่ในระดับการพัฒนาไม่เท่ากัน มีความหลากหลาย แต่เรามุ่งอยู่ว่าให้เขาให้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา แต่หลักอันหนึ่งที่จะต้องไปไม่ลืมก็คือ เป็นสื่อว่าทำไงจะหาทางดึงเขาขึ้นมาให้เขาพัฒนา แต่ว่าต้องมีจุดไปพบกับเขา จุดที่พบนี่เราจะให้เขากระโจนมาหาเรานี่ทำได้ยาก โดยมากจะต้องหาเขาในจุดที่เขาอยู่ ทีนี้ตอนนี้แหละในขณะที่ในสังคมนี่เต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้ สังคมก็กลัวสิ่งเหล่านี้ ความกลัวนี่เป็นอันหนึ่งแล้วนะ ที่มันทำให้คนหวั่นไหว แม้พุทธศาสนาจะสอนเป็นเหตุเป็นผล แล้วก็เห็นคนพวกระดับหนึ่ง ว่าพุทธศาสนาสอนดี เป็นเหตุเป็นผล แต่ความหวั่นใจความหวาดหวั่น การที่ไม่รู้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร มีอำนาจเร้นลับอะไรต่างๆเนี่ย มนุษย์ปุถุชนยังมีเรื่องเหล่านี้อยู่ ความหวาดหวั่นมันมีอยู่ ทีนี้เวลาไม่มีเหตุการณ์อะไรมันก็ไม่เป็นไร ใช่ไหม ก็เชื่อในเหตุในผล พอเกิดอะไรขึ้นกับตัว เอาละสิทีนี้ ชักจะหวั่นไหวแล้วใช่ไหม ทั้งๆ ที่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนธรรมะไว้ พระหลวงพ่อท่านก็สอนเป็นเหตุเป็นผล แต่ว่ามันชักจะเอาไม่อยู่ ทีนี้มาหาหลวงพ่อ หลวงพ่อสอนเป็นเหตุเป็นผล เราอย่าไปเชื่ออะไรต่ออะไรเลย ทันเป็นเรื่องการกระทำของเรา ต้องมีสติปัญญา ก็เห็นตามหลวงพ่อ ก็เอา ว่าตามหลวงพ่อนะ บางรายกลับไปเข้มแข็งจริงก็อยู่ได้ แต่บางรายไม่อย่างนั้นสิ พอกลับไปบ้านชักไม่แน่ใจ ยังไงๆ มันก็ยังหวั่นใจอยู่ เอ ยังไงๆ ก็ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า เอาละสิทีนี้ ปลอดภัยไว้ก่อน ใช่ไหม ทีนี้ในสังคมนี้มันมีเกลื่อนกลาดนี่ มีพวกพ่อมดหมอผี มีคนทรง ยังไงๆ ก็ปลอดภัยไว้ก่อน ไปหาแล้ว ดอดไปหาแล้ว ไปหาพวกหมอผี ไปหาคนทรงแล้ว ทีนี้พอไปหาแล้ว มีโอกาสที่จะถูกชักจูงเลยทีนี้ ไปทำแล้วไม่หยุดแค่นั้น พวกนั้นจะหาลาภหาผล อาจจะพูด นี่คุณถูกเขาทำคนนั้นมันแกล้ง เอาไหม ผมจะทำให้ ว่างั้น ฉันจะทำให้ แต่ต้องเสียงตังค์ เสียเงินเสียทองเป็นเรื่องของการโกรธโทสะแล้วใช่ไหม เรื่องของกิเลสมาแล้ว เดี๋ยวก็ไปอยากได้ลาภได้ผลประโยชน์ เป็นเรื่องโลภะ โทสะแก้แค้นมาแล้ว ไปแล้ว ชักออกนอกพุทธศาสนา ทีนี้ชักเพลิน ทีนี้ไม่ได้แล้ว หลวงพ่อเอาไม่อยู่ ใช่ไหม ฉะนั้นปัญหาอย่างนี้ต้องเจอแน่ อยู่นี่ก็เจอ อย่างผมอย่ที่นี่ มีมาแล้วชาวบ้านมา รายหนึ่งมาถึงบอกเมื่อคืนนี้ฝันร้าย มีปีศาจหรืออะไรไม่รู้ใหญ่เหลือเกิน ดำทะมึนเข้ามา มาถึงก็มากระชากลูกออกไปจากอก ไหนลองคิดดูสิครับ ลูกนี่เป็นสุดที่รักใช่ไหม ฝันร้ายอย่างนี้ ใจไม่มั่นคงแล้ว หวั่นไหว เอ ลูกที่รักนี่ต้องเอาไว้ก่อนนะ ตัวเองยังพอว่านะ นี่ลูกรัก ยังไงๆ ปลอดภัยไว้ก่อนใช่ไหม ก็มาหาพระ ยังไงๆ ให้เกิดควมมั่นใจปลอดภัย ตอนนี้พระก็อาจจะต้องใช้ จะเป็นรูปธรรมฝ่ายพิธีกรรม หรือว่าเป็นเรื่องของวัตถุมงคลก็แล้วแต่ ก็อาจจะมาเป็นสื่อ แต่เราเอาแค่ประเพณี พิธีกรรมอะไรที่นิยมทำกันมาตามประเพณีที่จะช่วย อาจจะเป็นน้ำมนต์นี่ก็ได้ มารับน้ำมนต์ไปไม่ต้องกลัว ก็พรมน้ำมนต์ให้ เอาแล้วนะ สบายใจได้ ไม่ต้องไปห่วง เรื่องปีศาจนั้น ทีนี้ต่อจากนั้นก็ใจชื้นขึ้นมาแล้วใช่ไหม ก็อธิบายเหตุผล ทีนี้ก็อธิบายในเชิงปัญญา ก็เบาใจแล้วนี่ แล้วก็ให้ธรรมะอะไรต่ออะไร เป็นโอกาสที่จะให้ธรรมะไป วันนี้เลี้ยงลูกนะ ให้มีหลักในการเลี้ยง ให้มีพรหมวิหารนะ ให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้าหากเขาไม่มีเหตุอย่างนี้เขาไม่มาหานะ เขาไม่เคยถาม เลยเป็นโอกาสให้พระได้แสดงธรรม สอนวิธีเลี้ยงลูกอีก ได้ประโยชน์หลายชั้น ฉะนั้นกลายเป็นว่าเป็นสื่อ ทีนี้อยู่ที่พระจะใช้หรือไม่ใช้ เกิดพระไม่ใช้เป็นโอกาสได้ลาภ โยมมาจะได้ทำพิธี เราจะได้ปัจจัยจากเขาแล้ว เลยไม่ได้อะไรเลย ใช่ไหม ชาวบ้านก็หลงตามเดิม หลงหนักเข้าไปอีก ทีนี้อย่างไรก็ตามก็คือว่าเรื่องของมนุษย์ปุถุชนเนี่ย ความหวาดหวั่นเกรงภัยอันตรายที่มองไม่เห็นนั้นมีอยู่ตลอดเวลา พระเราโบราณก็เลยใช้เรื่องเหล่านี้เข้ามาใช้ปิดช่องทางหวั่นใจ เพื่อจะให้ธรรมะเข้าไปถึงก็ปิดช่องทางหวั่นใจซะก่อนด้วย ถ้าไม่ปิดช่องความหวั่นใจ ใจเขาไม่อยู่ ไม่เป็นอันฟังด้วย หรือฟังไปแล้วก็ออกไปแล้วก็ไม่แน่ ไม่มั่นคง ทีนี้ถ้าปิดช่องทางหวั่นใจแล้วเป็นอันว่า เอาแล้วนะมาหาพระได้หมด ไม่ต้องไปหาหมอผี ไม่ต้องไปหาคนทรง ถูกไหม ก็จบที่นี่เลย ทางที่จะเพลี่ยงพล้ำก็ไม่มี ใจก็สบาย ก็หมด เพราะฉะนั้นท่านก็เลยเอาเข้ามาให้พุทธศาสนาคลุมพวกเหล่านี้เข้าไปด้วย เพื่อจะได้มาหาพระแล้วจบที่นี่เลย ได้ทุกอย่าง ทีนี้นอกจากนั้นแล้วอะไรอีก นอกจากว่าเป็นช่องความหวั่นใจแล้ว ช่วยเขาแล้ว ยังเป็นการที่กันผลเสียจากลัทธิลึกลับ ไสยศาสตร์ภายนอกที่เป็นเรื่องกิเลส เพราะว่าพวกลัทธิไสยศาสตร์ภายนอกนี่ เช่นเดียวกับพวกผีสางเทวดา มันมีทั้งร้ายทั้งดีใช่ไหม แม้แต่เรื่องพวกเชื่อเทวดา อย่างฮินดู ก็บอกแล้วเมื่อเช้าว่าเทวดานี่ก็รบกันเก่งนัก ยกทัพแย่งคู่ครองอะไรต่ออะไร โลภะ โทสะ ราคา ว่ากันเต็มที่ โมหะ ทีนี้ไสยศาสตร์ก็เหมือนกัน มีเรื่องของการหาผลประโยชน์ เรื่องของการแก้แค้น เรื่องของกิเลสนี่มาก ทีนี้ในแง่นี้แล้ว พุทธศาสนาเราก็มีตัวมาเทียบคู่ว่าของเราก็มี แต่ของเรามีแต่คุณอย่างเดียว ไม่มีโทษ ทีนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทางพุทธศาสนนี้ไม่มีโทษ ไม่มีกิเลส มีแต่พระคุณ ทีนี้เมื่อเข้ามาแล้วจะไม่มีเรื่องการที่จะไปคิดร้ายผู้อื่น ไปทำร้ายกัน ไม่มี ทีนี้ถ้าไปกลัว เพราะไปถูกพวกหมอผี หรือพวกไสยศาสตร์ข้างนอก อย่างเขมรเก่งมากเรื่องนี้ ทำร้ายคน เรื่องใช้ไสยศาสตร์ทำร้ายคน มีชื่อเลื่องลือมาก ทีนี้พอมาหาพระนี่ พระแก้ให้ได้ แก้การทำร้ายของพวกไสยศาสตร์ข้างนอก พวกเก่ง พวกคฤหัสถ์ ใช่ไหม แก้ให้ได้ แต่ว่าเราทำแต่ส่วนคุณ เราแก้ผลเสียผลร้ายการทำร้าย แล้วเอาแต่ส่วนที่เป็นคุณอย่างเดียว นี่ก็ดึงเข้าหาธรรมะแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็มีทางหลายอย่างที่ว่าท่านเอามาใช้ในการที่นำเข้าสู่พุทธศาสนา อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการสื่อเข้าสู่พุทธศาสนาอย่างหนึ่ง เป็นตัวเชื่อม เป็นจุดที่จะเชื่อมต่อจากศาสนาภายนอกเข้าสู่พุทธศาสนา ในขณะที่พวกนั้นมุ่งหวังลาภ ผลประโยชน์ การเห็นแก่ตัว สนองความต้องการของตัวเอง การแก้แค้น การทำร้ายซึ่งกันและกัน พุทธศาสนาไม่มี แต่ถ้าพระทำหน้าที่แค่อย่างนั้น ก็จะถูกเหมือนอย่างนักสังคมวิทยาท่านหนึ่ง ท่านเขียนตำราที่เคยเล่าให้ฟัง เขาไม่เข้าใจ เขามองพระเหมือนกับศาสนาโบราณ เขาว่าศาสนาก็เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคน เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวอย่างไร มีความกลัว มีความหวาดหวั่นเกรงภัยอันตราย ก็ไปหาศาสนา เช่นว่าหมอผี ก็ศาสนาเหมือนกัน หาพระ ไปหาแล้วก็ทำพิธีให้ ปลอบประโลมใจก็หายกลัว สบายใจโล่งใจไป อันนี้เขาก็เลยมองว่าพระก็มีหน้าที่บทบาทอย่างเดียวกับหมอผี ก็เลยมีตำราสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยหนึ่งในประเทศไทย ไม่บอกว่ามหาวิทยาลัยอะไร ผมไปอ่านเจอเข้า เขาสรุปเลย ขึ้นในตัวป้ายเลย บอกว่า โดยความหมายทางศาสนาแล้ว พระกับหมอผีนี่เหมือนกัน เนี่ยสรุปเลย เห็นไหม อันนี้ก็มองได้สองอย่าง หนึ่ง-นักสังคมวิทยายนี้ก็ไม่เข้าใจเรื่องศาสนาเพียงพอ ไม่รู้จักพุทธศาสนา สอง-ก็อาจจะเป็นเพราะพระเราเอง ในกรณีที่นักสังคมวิทยาเองก็ไม่เข้าใจเพียงพออยู่แล้ว แล้วพระยังไปทำให้เขาเห็นอย่างนั้นซะอีก คือพระเองไม่ได้ทำหน้าที่ของพระที่ถูกต้อง ไม่ได้ดึงคนขึ้นมาสู่ความดีงามที่สูงขึ้น ก็ไปทำให้คนได้แค่ให้เขาได้มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ ปลอบประโลมใจ สบาย กล่อมใจไปได้เท่านั้นเอง ใช่ไหม เลยได้แค่หมอผีเท่านั้น ทีนี้ถ้าพระทำหน้าที่ถูกต้อง นี่เป็นเพียงจุดเชื่อมต่อระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาอื่น ว่าทำไงเราจะดึงคนขึ้นมา ถอนคนขึ้นมาจากการที่จมอยู่ในสภาพของความหลงอะไรต่างๆ จากความหวาดกลัวอันตรายนี้ พอให้เขาได้ที่เกาะที่ยึดเหนี่ยวแล้ว เราก็ดึงขึ้นมาสิทีนี้ ก็เป็นโอกาสที่จะสอนธรรมะให้สติปัญญา ให้พัฒนาทั้งพฤติกรรม จิตใจและปัญญา จุดนี้ที่สำคัญ ถ้าพระไม่ทำหน้าที่นี้ก็เสียความเป็นพระ ใช่ไหม ไม่มีความมาย บทบาทของพระก็หายไป ก็กลายเป็นพระก็เป็นหมอผีอย่าที่ว่า เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำให้ดีกว่า แต่ว่ามันก็มีแง่ดีอยู่แล้วที่ว่าความหมายของแม้แต้คำว่าศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนานี่จะเป็นเรื่องของคุณอย่างเดียว ไม่มีเรื่องของโทษ ฉะนั้นเราก็จะเห็นว่าเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์นี้จะมีแม้แต่ความเข้าใจของชาวพุทธต่อพระพุทธเจ้า ต่อองค์พระพุทธรูป ถูกไหม ทีนี้ชาวพุทธจะมองพระพุทธรูปในความหมานศักดิ์สิทธิ์ด้วย แต่ความศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนากับในศาสนาโบราณนี้จะต่างกันชัดเจน เพราะว่าความศักดิ์สิทธิ์ ศาสนาโบราณ ความเก่งกาจมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อย่างที่พูดไปแล้ว เช่นเทพเจ้าฮินดู ที่ว่ามีความสามารถที่จะขจัดคู่ปรปักษ์ มีฤทธิ์เดชแสดงโทสะได้รุนแรง อันนี้เราจะเห็นว่าเมื่อทางศาสนาฮินดูสร้างเทวรูป เทวรูปให้ไปดูเถอะ จะต้องสร้างในลักษณะที่ให้เห็นว่าเก่งกาจ ดุร้าย โหดเหี้ยมทารุณ มีกำลังมหาศาล กำจัดศรัตรูได้อย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นท่าทางนี่แกก็จะฮึกเหิม พาดโผนโจนทะยาน ยกแขนยกขา และหน้าตาถมึงทึง แล้วก็มีแขนมากมีเท้ามาก อาจจะมีพันมือเลย จนกระทั่งไม่รู้ว่าพันมือนี้มันจะไปทำอะไรได้ มันคงตีกันวุ่นหมด นี่เราก็ให้มีแขนมากเข้าว่าแหละ มีร้อยมีพัน แค่ทศกัณฐ์สิบมือก็ยุ่งแล้วใช่ไหม ทศกัณฐ์สิบมือนี่เวลาจะใช้ สงสัยจะใช้แค่สองสามมือเท่านั้น แกใช้สิบมือ สิบมือมันตีกันเอง ทีนี้ลองคิดูตั้งพันมือแล้วมันจะทำอะไร มันมาก ไร้ประโยชน์ ธรรมชาติมันสร้างมาดีแล้ว สองมือ เก่งกว่าเทวดา เทวดาสร้างพันมือสู้ธรรมชาติสร้างสองมือไม่ได้ ทีนี้เทวรูปของฮินดูก็จะเป็นอย่างนั้น ผาดโผนโจนทะยาน มีอาวุธเข้ามาอีก อาวุธก็ต้องมีหลายชนิด อาวุธที่ดีที่สุด แหม ชนิดที่มันเหนือว่าอาวุธธรรมดา เป็นฟ้าผ่า เป็นอสุนีบาต เป็นอะไรต่ออะไร เป็นจักร เรียกว่าสร้างกันขึ้นมาเทวรูปจะต้องให้เห็นว่ามีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มีความยิ่งใหญ่ มีความสามารถกำจัดศัตรูได้อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นความศักดิ์สิทธิ์ของเขาก็พ่วงมาด้วยกิเลส ทีนี้อำนาจทางที่ว่าเป็นกิเลสนี้ มาทางพุทธศาสนานี่ ความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นสู่พระคุณ ความศักดิ์สิทธิ์สูงสุด กลายเป็นว่าอยู่ที่ความบริสุทธิ์ ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ใดสู้ความบริสุทธิ์ได้ เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนาก็จะมีตำนาน มีคัมภีร์ที่พูดถึงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ในที่สุดแล้วความศักดิ์ชั้นยอดคือความบริสุทธิ์ เรามีสัจจาธิษฐาน เอาความบริสุทธิ์ความจริงเป็นที่ตั้ง ชนะพวกฤทธิ์ พวกใช้กิเลส ทีนี้ความศักดิ์สิทธิ์อำนาจให้บันดาลผลสำเร็จ ความศักดิ์สิทธิ์ก็คำอำนาจที่บันดาลผลสำเร็จให้เกิดขึ้น ศักดิ์แปลว่าอำนาจ สิทธิ์นี่แปลว่าความสำเร็จ ศักดิ์สิทธิ์นี้ก็แปลว่าอำนาจที่บันดาลผลสำเร็จได้ มีอะไร ของเขาบอกว่าพลังที่กำจัดศัตรู ของเราบอกความบริสุทธิ์ ต่อไปมีอะไรอีก พลังแห่งความกรุณา ความปรารถนาประโยชน์สุขจากผู้อื่น คิดจะช่วยเหลือ สาม-พลังปัญญา เราจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าของเรานี่มีพระคุณสามประการ
หนึ่ง- พระปัญญาคุณ
สอง-พระวิสุทธิคุณ
สาม-พระมหากรุณาคุณ
นี่คือยอดของความศักดิ์สิทธิ์ เสร็จแล้วเราสร้างพระพุทธรูปที่แสนจะศักดิ์สิทธิ์เป็นยังไง พระพุทธรูปนั่งสงบ ไม่เห็นแสดงอาการว่าจะไปข่มใคร จะไปทำร้ายใครเลย นั่งสงบเรียบร้อย แถมยิ้งซะด้วย มีเมตตา ใช่ไหม นี่บริสุทธิ์ มีเมตตา กรุณา จะช่วยคนอื่น แล้วก็บริสุทธิ์ มีปัญญา ปัญญาสูงสุด นี่คือพระคุณความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้ ตกลงเราก็ดึงจากความหมาย ความศักดิ์สิทธิ์แบบศาสนาอื่นเข้ามาสู่พุทธศาสนา นี่ก็ได้ผลแล้ว ทีนี้เอาล่ะ ในท่ามกลางที่อยู่สภาพแวดล้อมที่เขามีความเชื่อเหล่านี้ พุทธศาสนาก็มีเรื่องเหล่านี้เข้ามาช่วย แต่ดึงเข้ามาในความหมายที่ขัดเกลาให้ประณีต ที่นี้สิ่งเหล่านี้จะต้องยอมรับความจริงที่พูดไปแล้วว่า ปุถุชนใจยังหวั่นไหว มันยังมีกิเลส ทีนี้ถ้ายังไม่ได้ฝึกจิตยังดีนะ เวลาเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้ารุนแรงขึ้นมา มันตั้งตัวไม่ติด ถ้าตั้งตัวไม่ติด จิตเตลิด เสียขวัญ ขวัญหนีดีฝ่อนี่ ทำอะไรไม่ถูกเลยนะ พละกำลังก็ไม่มี แล้วทำอะไรก็ไม่ถูกด้วย เพราะจิตใจไม่มีจุดยึด เสียสติ เสียสมาธิ ถึงอย่างนี้แม้เป็นชาวพุทธก็กลายเป็นแพ้พวกอื่น ทีนี้พวกที่มีศรัทธารุนแรง ไม่ว่าเชื่ออะไรหรอก เอาอะไรก็ได้ แม้แต่เอากบเอาเขียดก็ได้ ศาสนาโบราณบางทีไปเอาสัตว์อะไรต่ออะไรมานับถือ เอาอะไรก็ได้ให้มันมีศรัทธาสักอย่างแล้วกัน มันอยู่ที่จิตไร้สำนึก ถ้าลองมันเชื่อลงจิตไร้สำนึกแล้วเนี่ย จิตมันมั่นเลยทีเดียว ฉะนั้นจะไปติดศาสนาที่ไหนก็สาระสำคัญมันอยู่ที่ศรัทธาที่ลงถึงจิตไร้สำนึก ที่นี้ถ้าเขามีศรัทธารุนแรง มันทำให้จิตมีกำลังใช่ไหม แล้วจิตมันจะพุ่งแน่วไปสิ่งนั้น พอจิตพุ่งแน่วมันก็เกิดสมาธิสิ ทีนี้เกิดเหตุร้ายขึ้นมาโดยฉับพลันทันทีเนี่ยปั๊บ คนที่มีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ จิตมันมีจุดรวมเลย มันมีจุดพุ่งจุดรวมปั๊บ ก็ไปอยู่ที่สิ่งนั้นมันก็เข้มแข็งขึ้นมา ใช่ไหม พอจิตมันเข้มแข็งมีจุดยึด ใจมันก็มีสมาธิ ตั้งสติได้ก็ทำการได้สิ ทีนี้คนที่ไม่ได้มีความเชื่อในสิ่งเหล่านี้ แล้วไม่ได้ฝึกจิตของตัวเองดีพอ พอเกิดเหตุขึ้นมา ตั้งสติไม่ทัน จิตเตลิดเลย พร่าหมดเลย ความนี้เลยแย่เลยใช่ไหมครับ ทำอะไรไม่ถูกเลย กลับแพ้พวกมีศรัทธา ฉะนั้นอย่าไปดูถูก ทำยังไง เราจึงต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในความหมายนี้ แต่ว่าเราดึงเข้ามาหาพุทธคุณ เพราะฉะนั้นชาวพุทธเราก็มีพุทธคุณ มีรัตนตรัยไว้เป็นหลัก ซึ่งดึงมนุษย์เราพ้นจากความชั่วร้าย จากโทษของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มันไม่เข้าเรื่องเหล่านั้นแล้ว ทำมนุษย์ให้พัฒนา ให้ประณีตขึ้นมา เราไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ได้ให้เขามายึดเหนี่ยวแล้วอยู่เท่านั้น แต่เราต้องการดึงเขาขึ้นสู่สิ่งที่ดีงามขึ้นไปด้วย ไม่ใช่จมอยู่ ใช่ไหม เรื่องของจิตไร้สำนึกนี่มันเป็นเรื่องที่ว่าแรงจนคาดไม่ถึง สมมติว่าเราเข้าไปในป่า เอาในทางร้ายนะ เราเข้าไปในป่า เดินกันไปเป็นกลุ่ม มีคนหนึ่งตะโกนขึ้นบอกเสือมาแล้ว เท่านี้แหละ ตัวสั่นงันงก คุมสติไม่อยู่ เป็นกันไปต่างๆ ต้องคิดไหมว่าเสือรูปร่างมันเป็นอย่างนั้นนะ มันน่ากลัวอย่างนั้น มันเป็นอันตรายกับเราอย่างนั้น ต้องใช้เวลาคิดไหมครับที่จะเกิดตัวสั่นงันงก ไม่ต้องเลยใช่ไหม นี่คือสภาพที่ลงจิตไร้สำนึก สิ่งอะไรที่มันลงถึงจิตไร้สำนึก นี่มันออกมาทันที ไม่ต้องมีเวลาคิดหรอก ไม่เหมือนเรื่องของจิตสำนึก ถ้าจิตสำนึกต้องคิดก่อน จะเอายังไง จะทำยังไง นี่ในทางเรื่องของตรงข้ามก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันจึงมีคู่เทียบ เวลาเราเกิดความประหม่า ไม่ต้องกับถึงไปหนีเสือหรอก เอาแค่ว่าจะต้องขึ้นพูดในที่ประชุม แล้วมันต้องมาคิดไหมว่าจะประหม่า มีต้องคิดไหม มันเป็นมาเองใช่ไหม นี่มันมาจากจิตไร้สำนึก ฉะนั้นความกลัว ความหวาดนี่นะ ทีนี้มันมีอะไรที่จะทำให้จิตของคนมีตัวสู้อันนี้ มันก็ต้องอยู่ในจิตไร้สำนึกเหมือนกัน ต้องแรงพอกัน ใช่ไหม ทีนี้พอว่าเสือมาแล้วนี่ ถ้าเรามีหลักความเชื่อในใจที่มันแข็งมาก ไอ้ตัวนี้มันยันอยู่ในตัวเลย ปั๊บ ดุลเลย อยู่ ไม่ขวัญหาย ไม่เตลิด อันนี้เราสามารถไปถึงได้ไหม ด้วยตนเอง ถ้าตนเองต้องฝึกจิต ฝึกจิตให้มีความเข้มแข็งพอ อันนี้คือการพัฒนามนุษย์ แต่สำหรับมนุษย์ปุถุชนที่ยังไม่มีพื้นฐาน ก็อาศัยอะไร อาศัยสิ่งที่เชื่อ ใช่ไหม มาคู่ดุลกับสิ่งที่เป็นตัวตรงข้ามในระดับจิตไร้สำนึกนี้ ฉะนั้นต้องคิดหลายๆ ชั้น เรื่องเหล่านี้ เหตุการณ์เหล่านี้จะมีเยอะเลย บอกว่ามีอะไรที่มันลงถึงความกลัวเป็นต้น ที่อยู่ในจิตไร้สำนึก มันเป็นทันทีเลยใช่ไหม ขาสั่นพับๆๆๆ หรือแม้แต่ที่เคยเล่า นักมวยนักกีฬา แข็งแรงอย่างกับอะไร ไปสอบ พอถึงวันประกาศผล มาดูผลสอบ ประกาศ พอดูประกาศผลไม่มีชื่อเท่านั้นแหละ ขาอ่อน พับ ยืนไม่อยู่เลย เชื่อไหม เป็นไปได้ไหมครับ เป็นไปได้ อ้าว นักกีฬาแสนจะแข็งแรง ร่างกายฟิตอย่างกับอะไรใช่ไหม อยู่ๆ มาอ่านประกาศเท่านั้นแหละ ขาอ่อนยืนไม่อยู่แล้ว เดินไม่ได้แล้ว ใช่ไหม นี่กำลังใจ มันลงจิตไร้สำนึกนี่มันไม่ต้องคิด เป็นทันทีเลย ฉะนั้นอะไรที่มันจะแก้ทันทีได้อย่างนี้ ไม่ต้องใช้ความคิด มันต้องถึงขั้นนี้ใช่ไหม จึงจะแก้กันได้ จะมัวคิดกันอยู่ ฝ่ายนั้นมันไม่ต้องคิด พอได้ยินเท่านั้นมันไปแล้ว ฝ่ายนี้จะมาคิดอยู่ตามเหตุผลว่ามันเป็นไปไม่ได้ ไม่ทันหรอกนะ นี่เป็นเรื่องที่ต้องแก้กันให้ถึงขึ้นจิตไร้สำนึก แต่นี่ก็เป็นอันว่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจเหตุผล ฉะนั้นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ก็เข้ามาในพุทธศาสนา แต่ต้องระวังมาก ทีนี้ความเชื่อในสิ่งศักดิ์ ก็ในแง่นี้ก็เหมือนกับมีผลดีอยู่บ้าง ทำให้เกิดกำลังใจความเข้มแข็งขึ้นมาใช่ไหม โดยเฉพาะในระดับของเรื่องจิตไร้สำนึก ที่มีความรุนแรง อาจจะเกิดขึ้นมาปัจจุบันทันด่วน เรื่องเกี่ยวกับสัญชาติญาณความกลัวเป็นต้น มาแก้กันได้ แต่ต้องระวัง พร้อมกันนั้นมันก็มีผลร้าย เมื่อเราเชื่อในสิ่งเหล่านี้แล้ว มันก็เริ่มจะมีผลก็คือการหวังพึ่ง ว่ามีอำนาจดลบันดาล มีอำนาจภายนอกที่จะมาช่วยเรา เราก็มีความอุ่นใจ ทีนี้ลองคิดดู คนที่หวังสิ่งที่ช่วยเหลือภายนอก ยังต้องพึ่งสิ่งภายนอกอยู่ ก็มีความอุ่นใจ มีผลดี เราไม่ได้ปฏิเสธ ใช่ไหม มีผลดี มีความอุ่นใจมั่นใจ กำลังใจเกิดขึ้นแล้ว แต่กำลังใจนี้มาจากการที่อุ่นใจว่าจะมีพลังอื่นมาช่วย หรือคนอื่นช่วย ใช่ไหม กับการที่ว่าเราทำได้ด้วยตนเอง อันไหนดีกว่ากัน การที่ว่าอุ่นใจมั่นใจว่ามีภัยอันตรายท่านจะมาช่วยเรา กับการที่เรามาแก้ไขอันตรายได้ด้วยตนเอง เอาอันไหนดีกว่ากัน อันหลังดีกว่า เราจะยอมจมอยู่แค่ระดับหวังพึ่ง อุ่นใจสบายใจแค่นั้น หรือเราจะพัฒนาไปสู่การพึ่งตนเองได้ แก้ไขปัดเป่าปัญหาด้วยตนเอง ถ้าอย่างนี้เราก็แบ่งคนออกเป็นสามระดับ ระดับที่หนึ่งคือคนที่ช่วยตัวเองก็ไม่ได้ ไม่มีความสามารถ แล้วก็ไม่มีที่พึ่งเลย ไม่มีความหวังว่าใครจะช่วย ขาดความหวังขาดความอุ่นใจ ขาดกำลังใจนี่พวกที่หนึ่ง พวกที่สองนี่มีความหวังจากอำนาจภายนอก คนอื่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมาช่วย ใจมีกำลังใจ พวกที่สามนี่มีความสามารถจะกำจัดภัยอันตรายได้ด้วยตนเอง พึ่งตนเองได้ สามพวกนี่ลองวัดสิครับ ระดับไหนดีที่สุด ระดับสาม แล้วระดับไหนรองลงมา ระดับสอง ยังมีความอุ่นใจ แล้วที่แย่ที่สุดคือระดับหนึ่ง อันนี้โดยทั่วไป ใครๆ ก็ต้องตอบแบบนี้ อย่าเพิ่ง บางทีไม่แน่ เอาละโดยมาตรฐานสามัญก็ต้องว่าอย่างนี้ การที่มีที่พึ่งให้ความอุ่นใจก็ยังดี แต่ว่าอันที่หนึ่งที่สองนี่ไม่เด็ดขาด คนที่ไม่มีที่หวังว่าจะมีใครมาให้ช่วย กับคนที่มีที่หวังอุ่นใจว่าใครจะช่วยนี่ ดูก่อนว่าพวกที่หวังพึ่งมีคนจะช่วยเนี่ยจะมีจุดอ่อนอะไรบ้าง จุดอ่อนอย่างน้อยสองประการ หนึ่ง-การที่หวังพึ่งผู้อื่นได้ ทำให้รอคอยและไม่เพียรพยายามที่จะแก้ไข ใช่ปัญญาบำบัดปัญหาด้วยตนเอง ไม่ดิ้นรน ไม่ทำความเพียรพยายาม อุ่นใจแล้วก็นอนรอสิ ใช่ไหม เอาล่ะ ทำให้อ่อนแอ ตกอยู่ในความประมาท เพราะปล่อยเวลา หวังพึ่ง ตัวเองก็เลยไม่ได้พัฒนาตัวเองด้วย ไม่พัฒนาตัวเองด้วย ตกอยู่ในความประมาทด้วย หนึ่งแล้วนะหวังพึ่งเขา สองอะไร สองก็คือความไม่ชัดเจนว่าสิ่งเหล่านั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะช่วยได้จริงหรือเปล่า ใช่ไหม แล้วช่วยได้จริงจะมาช่วยหรือเปล่าในเวลาที่ต้องการ แล้วเราเองจะต้องทำแค่ไหน ความไม่ชัดเจนเรื่องนี้เป็นอันตรายมาก มนุษย์นี่ถ้าไม่มีความชัดเจนว่าเขาจะช่วยแค่ไหน ตัวต้องทำแค่ไหนเนี่ย อันตราย ทำให้รีๆ รอๆ หันรีหันขวาง แล้วก็ไม่ทำการอะไรให้ชัดเจนลงไป