แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
0:00 สำคัญผิดนึกว่าตัวตายไปแล้ว จิตก็ยังมีการปรุงแต่งอยู่
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : มีอะไรคุยกัน มาในรูปคำถามก็ได้
พระนวกะ : อยากเรียนถามพระเดชพระคุณเจ้าคุณอาจารย์ เพราะว่าช่วงก่อนที่พวกกระผมจะบวชนี่ครับ มีรายการทีวีเอาผู้ บางคนที่กล่าวว่าตัวเองมีประสบการณ์ประสบอุบัติเหตุ แล้วก็บอกว่าตาย แล้วก็ฟื้นขึ้นมา มาออก แล้วเขาก็เล่าว่า พอเขาประสบอุบัติเหตุปุ๊บนี่ เขาก็ออกไป มียมบาลมารับตัวเขาไป ไปเมืองนรกในรูปของอาทิสมานกาย แล้วก็พวกผมก็กังวลว่าเรื่องที่เขาเล่าหลายๆเรื่องนี่ค่อนข้างจะไม่ตรงกับพระไตรปิฎก แล้วก็เลยคิดว่าต่อไป ถ้าเรื่องพวกนี้กลายเป็นเรื่องที่คนในสังคมพูดถึงกันเยอะ แล้วจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ฟั่นเฝือไป ยกตัวอย่างเช่น เขาพูดทำนองว่า เมื่อตายไปแล้วนี่ พอสิ่งที่เคยตักบาตรไว้ก็จะมาปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าไม่เคยตักบาตรอะไรไว้ก็จะไม่ได้อย่างนั้น หรือถ้าเคยตักบาตรอะไรไว้ก็จะได้อย่างนั้น ก็เลยกลัวว่าต่อไปคนก็จะมีความเข้าใจผิดเรื่องการใส่บาตร แล้วก็ หรือยิ่งไปกว่านั้นก็จะทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่านรกกับสวรรค์ ระบบกรรม ระบบเรื่องกรรมตามทัน หรือว่าระบบพวกนี้มีข้อบกพร่อง มีข้อผิดพลาดได้เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าบางคนอาจจะคิดเกินเลยไปถึงขนาดที่ว่า ทำกรรมเล็กน้อยไม่เป็นไรหรอก ตัวยมบาลอาจจะมีข้อผิดพลาด แล้วก็ไม่ได้จดบันทึกเรื่องพวกนี้ไว้ก็ได้ แล้วก็ไม่ต้องไปกลัวบาปกลัวกรรม หรือว่าเกิดความเข้าใจผิดในการทำบุญ กลายเป็นว่าต่อไปนี้อยากจะได้อะไรเมื่อเสียชีวิตไปแล้วก็ต้องทำบุญด้วยสิ่งนั้น ซึ่งน่าจะเป็นความเข้าใจที่ผิด แล้วสื่อพวกนี้อยู่ในทีวี อยู่ในหนังสือ ทำให้มีความเข้าใจผิดในวงกว้างได้ ก็เลยอยากเรียนถามพระเดชพระคุณเจ้าคุณอาจารย์ว่า เรื่องเหล่านี้ที่ว่าตายแล้วฟื้นขึ้นมาเป็นความผิดพลาดว่า นรกมารับตัวผิดอะไรเนี่ยมีจริงหรือไม่ แล้วก็นรกสวรรค์มีการผิดพลาดในการที่จดกรรม หรือว่าการกระทำของบุคคลได้หรือเปล่า แล้วก็มันมีผลกระทบเรื่องพวกนี้ต่อสังคมในวงกว้าง แล้วมันจะมีผลลบหรือทางบวกยังไงครับ
ตอบ : ก็โมทนาคำถาม ก็ดีแล้วถามกันไว้
หนึ่งก็คือ เขาไม่ได้ตายจริง คือยังไม่ตาย จวนจะตาย อันนี้ก็สำคัญผิด นึกว่าตัวตายไปแล้ว ทีนี้ในเมื่อเข้าสู่ภาวะอย่างนั้น จิตมันก็ยังมีการปรุงแต่งอยู่ ปรุงแต่งอย่างไร ปรุงแต่ง มันก็ปรุงแต่งตามสัญญา ความจดจำความรู้อะไรต่างๆที่ตัวมีอยู่ เรื่องราวที่เล่ากันมา ฟังกันมาเหล่านี้ มันก็เก็บไว้ เวลาจะปรุงแต่ง อย่างเราฝันนี่ มันก็อาศัยข้อมูลเรื่องราวที่เรามีก็ไปปรุงแต่งขึ้นเป็นเรื่อง บางทีเรื่องก็วิจิตรพิศดารมาก อันนี้ก็เรื่องเก่าๆเล่ากันมาเรื่อย มันก็มีตั้งแต่ยังในพุทธกาลก็มีเรื่องของศาสนาพราหมณ์ มีเรื่องของลัทธิอะไรต่างๆ นี้คนทั่วไปก็ได้ยินได้ฟัง ก็จดจำไว้ บางทีก็จำไม่แม่นด้วย แต่รวมแล้วก็คือว่าสิ่งเหล่านี้เวลาจิตมันไปอยู่ในภาวะที่มันไม่มีความรู้ตัวเต็มตื่น มันก็ปรุงแต่งของมันไป เหมือนกับเราหลับ เราก็ปรุงแต่งไปต่างๆเยอะแยะ มันก็คล้ายๆเป็นจริง เมื่อตื่นขึ้นมาก็เอามาเล่ากัน
เหมือนอย่างเมื่อ อาจจะถึงสิบปีแล้วมั้ง คนหนึ่งก็ว่าตายอย่างนี้ละ แล้วก็ฟื้นขึ้นมา ก็ว่าไม่ได้ถวายน้ำ ตอนนั้นก็เลยเอามาเล่ากัน คนก็กลัวตายไปแล้วจะขาดน้ำ ก็เลยตักบาตรพระ ก็ใส่น้ำเป็นขวดๆ พระก็ลำบากไปตามๆกัน เพราะน้ำมันไม่ใช่เบานะ เลยพระลำบากตอนนั้น ก็ตื่นกันไป แล้วก็ว่ากันไปตั้งนานเนเท่าไหร่ ยาวนานพอสมควร ไม่ทราบเดี๋ยวนี้ยังเหลืออิทธิพลอยู่หรือเปล่า ยังอยู่ เห็นไหม เนี่ย
พระนวกะ : ยังมีตักบาตรด้วยน้ำอยู่ครับ วันนั้นยังมีโยมตักบาตรมาแล้วลูกศิษย์วัดก็เอาน้ำ ถุงน้ำนี่ออกจากบาตรผม แล้วก็ทำแตก แตกต่อหน้าโยม เปียกทั้งพระทั้งโยมเลยครับ
ตอบ : อันนี้มันขึ้นต่อความยึดถือด้วย เอาละเอาที่หนึ่งก่อน ก็คือหลักที่ว่ายังไม่ได้ตายจริง สองก็คือว่า เมื่ออยู่ในภาวะอย่างนั้นที่ไม่ได้ตายจริง จิตมันยังมีความสามารถปรุงแต่งอยู่ มันก็ปรุงแต่งไป ปรุงแต่งอย่างไร ก็ปรุงแต่งตามสัญญา สิ่งที่ได้สดับฟังหรือเข้าใจ หรือเคยคิดเคยอะไรรู้มา แล้วก็เอามาปรุงเป็นเรื่อง เมื่อเป็นเรื่องก็อาจจะคล้ายกับทำนองเดิม หรืออาจจะมีประหลาดพิสดารยิ่งไปกว่านั้น
เมื่อมาเล่า คนเมื่อตัวไม่ได้รู้ได้เห็นแล้วไม่มีหลักก็เชื่อไปตาม ไปอ่านพวกหนังสือโบราณ ก็จะมีพวกความเชื่อแบบนี้ ซึ่งก็กลายเป็นว่า มันเชื่อแบบว่าตายไป อยู่ในภาวะคล้ายตาย แล้วก็มาเล่า มันก็ไม่ถึงกับเหมือนกัน ก็แล้วแต่พื้นฐาน มันก็มีส่วนที่ว่า เราจะเห็นแม้แต่ในพระไตรปิฏก ท่านก็เอามาบันทึกไว้อย่างในเทวทูตสูตร ก็พูดถึงเรื่องว่าคนตายไปแล้วนี่ ก็ไปพบยมบาล ยมบาลก็ถาม อันนี้ก็หมายความว่าลัทธิยมบาลนี่ก็มีมาก่อนพุทธศาสนา แต่ว่าทีนี้ท่านดึงเข้ามาสู่หลักพุทธศาสนา ยมบาลก็ถามว่า เออ,นี่ ท่านนี่เมื่ออยู่ในโลกยังมีชีวิตอยู่ เคยเห็นเทวทูตที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม อะไรนี้ไหม ก็คือเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนถูกลงทัณฑ์ กรรมกรอะไรพวกนี้ ก็ว่าเห็น แล้วก็ได้คิดอะไรไหม คิดอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ได้คิด หรืออะไรนี้นะ แล้วก็เลยทำกรรมชั่ว แล้วก็เหมือนกับยมบาลก็ว่าไปตามที่เขาได้มีความสำนึกหรือไม่สำนึก
06:53 จิตคนที่จะตายตามหลักของพุทธศาสนา จะเข้าสู่ภาวะที่เป็นพื้นของจิต
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่านำเอาคติเก่าๆมาผสม ชักนำให้เข้าสู่ในทางพุทธศาสนาให้มันเป็นเรื่องที่ได้สาระ ทีนี้ว่า เราก็ดูเอาตามหลักของพุทธศาสนา ก็คือว่า เมื่อตาย ถ้าว่าถึงตามที่อภิธรรมได้สอนมา เขาจะวางเป็นหลัก คนที่จะตายก็จะมีจิตมันก็จะเข้าสู่ภาวะที่เป็นพื้นของมัน ภาวะที่เป็นพื้นก็คือภวังคจิต จิตที่เรารับรู้ ดำเนินภารกิจต่างๆ เขาเรียกวิถีจิต จิตที่ขึ้นสู่วิถี วิถีก็คือนี่ที่ออกมาสู่การรับรู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีการรับรู้ที่รู้ตัว เรียกว่าวิถีจิต จิตขึ้นสู่วิถี ทีนี้เมื่อจิตไม่ขึ้นสู่วิถีอย่างเวลาหลับ จิตมันก็อยู่ในภาวะที่มีการเกิดดับสืบต่อเป็นกระแสอยู่ แต่ไม่อยู่ในวิถี มันก็เป็นภวังค์ จิตที่เป็นภวังค์ท่านก็แปลว่าจิตที่เป็นองค์แห่งภพ มันก็ไปของมันอยู่อย่างนี้ จิตของเราก็จะขึ้นมาสู่วิถี แล้วก็ลงไปอยู่ในภวังค์ ก็สืบต่อกันไปตลอดชาติภพ
08:22จิตมันจะมีขั้นตอนของการไปสู่ความตาย
นี่ตอนจะตายนี่ท่านก็จะพูดถึงเรื่องว่าคนใกล้จะตายนี่ จิตมันจะมีขั้นตอนของการไปสู่ความตาย ตอนหนึ่งมันจะมีกรรมนิมิต ก็คือภาพของกรรมหรือการกระทำของตัวเองในอดีต ว่าคนที่จะตายเหมือนกับฉายภาพยนต์ย้อนหลังหมดทั้งชีวิต ว่าตัวได้ทำอะไรต่ออะไรมา มันจะปรากฏกับตัวเองอย่างรวดเร็ว จิตมันบันทึกเก็บไว้หมด แล้วมาเป็นกรรมนิมิตคือนิมิตหรือภาพของกรรม การกระทำของตนในอดีต เมื่อกรรมนิมิตจบแล้วก็จะเป็น คตินิมิต นิมิตก็คือภาพที่เป็นตัวแทนหรือเป็นสื่อเป็นเครื่องหมายของคติ คติที่จะไปเกิด จะเป็นภาพ จิตอยู่ในภาวะดีงามได้ทำกรรมดีมาก็เห็นเป็นภาพที่ดีงาม เช่น เป็นสรวงสวรรค์ เป็นที่รื่นรมย์ เป็นที่อะไรก็แล้วแต่ที่ดีงามน่าชื่นใจ
นี้ถ้าหากว่าเป็นกรรมที่ไม่ดี ก็ออกมาเป็นคตินิมิตที่น่ากลัว เป็นไฟไหม้ เป็นอะไรต่ออะไร ต่อจากนั้นก็จึงจะดับ แล้วก็ตายไปตามคติที่สนองหรือสอดคล้องกับภาวะจิตของตนเอง หรือสภาพจิตของตน ก็คือสภาพจิตนั้นมันถูกปรุงแต่งด้วยกรรม ก็เป็นธรรมดา กรรมก็ตั้งแต่ความคิดของเรา จิต ความคิดก็มาจากประมวล จากการกระทำทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งหมด นี้ตอนนั้นถ้าเรามีสติ เราอาจจะเอาจิตไปกำหนด จับเอาสิ่งที่ดีงามมาไว้กับจิตของเรา ไอ้ตัวสิ่งที่ไม่ดีอยู่ในความทรงจำมันก็เข้ามาไม่ได้ ก็อยู่กับสิ่งที่ดี ก็กลายเป็นว่าตอนที่จะตายนั้นเป็นกรรมที่ดีไป เป็นมโนกรรมที่ดี เป็นบุญเป็นกุศล จิตก็ผ่องใส มันก็กลายเป็นได้นิมิตที่ดี ก็ไปดีได้ เพราะฉะนั้นตอนจวนจะตายนี้ก็ถือเป็นสำคัญที่ว่า อยู่ที่ว่าจิตจะเป็นอย่างไร ก็พยายามกันมาแต่โบราณ ก็ถือตามหลักคำสอนที่ว่านี้ ก็คือ พยายามจะให้คนที่จะตายได้มีสภาพจิตที่ดีที่สุด ญาติมิตรผู้หวังดีจึงพยายามกันนักที่ว่ามาช่วย เพราะว่าคนที่จะตายเองนี้ จิตก็ว้าวุ่นบ้างก็มี หรือไม่งั้นก็เคว้งคว้างเลื่อนลอย บางทีจับพลัดจับผลูก็ไปเอาอารมณ์ หรือว่าความทรงจำเรื่องราวที่ไม่ดีขึ้นมา แม้แต่คนที่ทำกรรมดีอยู่เสมอ ถ้าเกิดไปมีอะไรค้างใจอยู่นิดหน่อย ตอนนั้นเกิดไปนึกอันนั้นขึ้นมา ก็จิตไปในภาวะเศร้าหมอง
๑๑:๓๓ พยายามให้ตอนที่จะดับให้อยู่ในภาวะจิตที่ดีที่สุด ให้จิตมันผ่องใสมีสติ
อย่างไรก็ตาม รวมแล้วก็คือ พยายามให้ตอนที่จะดับให้อยู่ในภาวะจิตที่ดีที่สุด ให้จิตมันผ่องใสมีสติ ฉะนั้นญาติมิตรเช่นลูกหลาน ถ้าพ่อแม่ปู่ย่าตายายจะดับ ลูกหลานก็เข้ามาช่วยเพื่อให้คติให้ตัวความระลึกที่ดีมา แทนที่จะปล่อยเรื่อยเปื่อยไป ท่านอาจจะไปจับเอาอารมณ์ที่ไม่ดีเข้ามา ก็มาช่วยพูด เช่นว่า เอ้อ, คุณปู่หรือคุณย่า เมื่อปีนั้นเราไปทำบุญด้วยกันที่นั่น แหมคุณปู่ดีใจสบายใจมีความสุข ให้ท่านนึกไปถึงสิ่งที่มันดีๆ พอทวนความจำอารมณ์หรือสิ่งนั้นมันเป็นกรรมดี กุศลที่มันมีความแรง มันก็จับจิตได้ดี จิตก็อยู่กับสิ่งนั้น พอจิตอยู่กับสิ่งนั้นก็อยู่กับสิ่งที่ดี หรือไม่งั้นก็เป็นกลางๆที่ว่านึกไม่ออกว่าไปทำอะไรที่มันชัด ก็เอานึกถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ อย่างที่เขาบอกว่าให้นึกถึงพระอะระหัง อย่างที่แต่ก่อนว่า หรือพุทโธ หรืออะไรก็แล้วแต่ หรือนึกถึงพระรัตนตรัย รวมแล้วก็ให้นึกถึงสิ่งที่ดีๆ หรือแม้แต่ที่ว่าบางทีก็มีเวลายาวๆก็ให้ฟังสวดมนต์บ้างอะไรบ้าง คือรวมๆแล้วก็ให้จิตอยู่กับสิ่งที่ดีงาม ยิ่งเฉพาะเวลาใกล้ๆ แม้ท่านเหมือนจะไม่รู้สึกตัว แต่ที่จริงเราไม่รู้หรอก บางทีคนจะตายก็ยัง บางทีรับรู้ได้แต่แสดงออกไม่ได้อะไรอย่างนี้ ก็เลยว่าให้ได้ยินสิ่งที่ดี เช่นนำจิตนั่นเอง ให้จิตไปยึดหน่วงสิ่งที่ดีไว้ จิตก็เบิกบานผ่องใส นั่นก็เป็นคติที่ดี แล้วก็ดับไป ถ้าตายจริงก็ตายจริงๆก็ดับไปเลย ไม่ใช่ว่ามาฟื้นกันอีก ก็ไป เรื่องก็เป็นอย่างนี้
ทีนี้ว่าบางทีมันเป็นไปได้ที่ว่ามันยังไม่ดับจริง มันก็อาจจะกลับมาตื่นขึ้นมาใหม่
ท่านสงสัยอะไร
13:32 เมื่อเขาจิตดี เขาก็ไปดีได้
พระนวกะ : ที่ท่านเจ้าคุณพอพูดถึงจิตสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิตที่จะตายนี่นะครับ ก็เลยสงสัยว่า ถ้าอย่างคนที่ไม่นับถือศาสนาพุทธนะครับ ยกตัวอย่างเช่น คนนับถือศาสนาคริสต์ แต่ว่าเขามีศรัทธาที่แรงกล้าว่าเขามีความเชื่อ เชื่ออย่างแน่นอนว่าพระเจ้าจะต้องมารับเขาไป จิตเขาจะอยู่อย่างนี้ครับตลอดเวลา แล้วอย่างนั้นก็คือหมายความว่าเขาก็มีโอกาสที่จะไปจุติในที่ดีๆด้วยหรือเปล่า ถ้าพูดถึงคนที่มีศรัทธาเป็นตัวนำ
ตอบ : ของเราถือตามธรรมชาติ เป็นธรรมชาติ เมื่อเขาจิตดี เขาก็ไปดีได้ เป็นแต่เพียงว่าจิตมันอาจจะไปยึด เหมือนกับว่าพวกที่ถือพระพรหม พวกที่นับถือได้ฌานสมาบัตินี่ ทั้งๆที่ความเห็นเขาอาจจะไม่ถูก คือเขาก็นึกว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลกอยู่ตลอด ไม่มีเกิดมีดับไม่มีจุดตั้งต้นอยู่ตลอดไป เขาก็บำเพ็ญฌาน อย่างพวกโยคีฤาษีนี่ได้ฌานสมาบัติ และนึกว่า โอ้,เขาได้ถึงจุดหมายของศาสนาแล้วนะ ได้เข้าถึงพรหมเขาเรียกว่า ได้เข้าไปรวมกับพระพรหมเลย ก็คือหมายความว่าจิตเขารู้สึกเหมือนเขาถูกดูดกลืนเข้าไปอยู่ในพระพรหมหรือในจักรวาล นี่คำสอนในศาสนาบางศาสนาจะเป็นไปในลักษณะนี้ เคยได้ยินไหม เขาจะรู้สึกเหมือนกับว่ามันดูดดื่มด่ำเข้าไปแล้วก็ เข้าไปรวมกลมกลืนเข้าไปเลยนี้
นี่ก็คือถือในทางพระศาสนาก็ ทางพุทธศาสนาบอกไม่ถูกหรอก เขาก็เข้าใจ เอางั้นมันเป็นความดื่มด่ำทางจิต ก็คือภาวะที่เขาได้ฌานสมาบัติ นี้เขาตายไปเขาก็ไม่พ้นจากภพ เขาก็ไปเกิดไปเป็นพรหมอะไรอย่างนี้ อันนี้ก็ว่าไปตามตัวเหตุปัจจัย ก็ว่าไปตามเหตุปัจจัย จะอย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องที่ว่าจะเป็นพุทธหรือไม่เป็นพุทธ ทำกรรมดีกรรมชั่ว ก็เป็นอันว่าไม่ขึ้นต่อ ว่าจะนับถืออะไร แต่ว่าตัวความนับถือเป็นทิฏฐิ มันก็เป็นกรรมอย่างหนึ่งนะ ถ้าหากว่าเชื่อผิดมันก็เป็นกรรมเหมือนกัน เอาละ แต่ว่ามันจะมีความหมายมีผลเป็นระดับๆ ท่านปัญญาวิมโล ??? ว่าอย่างไร
15:56 จิตดับทันทีนี่นะ มันไม่ได้ทันทีสำหรับจิต
พระนวกะ : แล้วอย่างคนที่ตายด้วยอุบัติเหตุ อย่างนี้ครับ จิตเขาก็ เขาก็เหมือนไม่รู้ตัวอย่างนี้หรือเปล่าครับ แล้วเราจะมีวิธีอย่างไรจะให้เขาไปให้สบาย
ตอบ : คือต้องนึกอย่างนี้นะ ไอ้ตอนนั้นเราไม่มีโอกาสไปร่วมอะไร ใช่ไหม มันไม่รู้เรื่อง มันไม่มีเวลาแล้ว มันไม่สามารถคาดหมายได้ วิบเดียวแต่ว่าเรามองแบบนึกถึงเหตุการณ์ของคนทั่วไป แต่เราไม่ได้รู้ว่าสภาวะจิตมันไม่ใช่อย่างนั้น สภาวะจิตมันเร็วมาก ในเวลานิดเดียว มันคล้ายๆว่ามันมองเห็น พรึบ ไปเลย เพราะฉะนั้นแม้แต่ว่าจิตดับทันทีนี่นะ มันไม่ได้ทันทีสำหรับจิต มันมีเวลาสำหรับจิตที่จะได้ความนึกคิดที่เป็นนิมิตอะไรต่างๆเหล่านี้ ที่ว่า กรรมนิมิต คตินิมิต นี่มาทันแม้แต่คนที่ตายด้วยอุบัติเหตุ
พระนวกะ : อย่างน้าผมเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ แต่ผมไม่เคยคิดถึงเขานะครับ บางทีสักพัก จิตมันก็ไปคิดถึงเขาเอง แล้วมันเหมือนแบบ เหมือนวิญญาณนะครับเหมือนว่าเขามาหาอะไรอย่างนี้ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้คิดอะไร คือแบบ นอนก็คือหลับไปปกติ คือไม่ได้ฝันไม่ได้นึก ไม่ได้มีการนึกอะไร แต่อยู่ดีๆเขาก็เหมือนมาหา อะไรอย่างนี้ครับ หมายความว่าจิตเราไปผูกพันกับเขา หรือจิตเขามาผูกพัน
ตอบ : ยังผูกพันแล้วเขาเองก็ผูกพันได้ คืออย่างนี้นะ มันก็มีคำอธิบายได้หลายอย่าง หมายความว่า เอาละตอนตายก็ว่ากันตอนหนึ่งละ ตอนตายก็เป็นอันว่าจิตมันก็มีความเร็ว รูปธรรมเกิดดับก็รวดเร็วมากอยู่แล้ว แล้วท่านก็ให้รู้ว่าจิตนี้รูปธรรมดับขณะหนึ่ง จิตมันไปได้ ๑๗ ขณะ อะไรอย่างนี้ มันเร็วกว่ากันมากมาย นี้เราจะเห็นได้ว่า เวลาที่คนมาปลุกเรา เคยมีคนนะ คนมาเคาะประตูนี่ แล้วคนที่หลับจะตื่นขึ้นมานี่ แค่ช่วงที่ได้ยินเสียง ฝันเป็นเรื่องได้เรื่องหนึ่งเลย ใช่ไหม นี่เวลามันนิดเดียวเท่านั้นทำไมเขาฝันไปได้ตั้งยาว ความเร็วของจิตนี่มันมากมายใช่ไหม เอาละให้เข้าใจอันนี้เสียก่อน นี่ว่านั่นเรื่องตอนตาย
ทีนี้ตอนตายนี้อย่างที่ว่าละ ก็แน่ละก็คนที่ตายวุบวับนี่ จิตในขณะที่ไวนี่มันก็ต้องนึกถึงสิ่งที่ตัวกังวล นึกถึงรัก นึกถึงอะไรต่างๆเหล่านี้ มันยิ่งแรงใหญ่เลย เรื่องนี้ไอ้เรื่องที่ตัวห่วงกังวลอะไรต่ออะไร อาจจะมาเรียกว่าเต็มที่เลย ทีนี้จิตมันก็จะไปผูกกับอันนั้น เมื่อผูกกับอันนั้นแล้วมันก็จะเป็นตัวกำหนดชัด นี้ตายไปเป็นอะไร เกิดตายไปเป็นไอ้ที่ห่วงกังวล ก็กลายไปเป็นชาติภพที่ว่าไม่มีโอกาสไปเกิดเป็นอื่นทัน ก็ไปเกิดเป็นพวกที่เขาเรียกว่าอาทิสมานกาย เป็นเทพนั่นเอง บางทีก็เป็น เทวดา หรือเป็น แล้วแต่ ไม่ดีคือพวกไม่เห็นนี่มันมีหลายอย่าง มีเปรต อสูรกายก็มี แล้วเป็นเทพชั้นต่ำก็มี พวกเทพชั้นต่ำก็ได้ หรือเปรตอสูรกาย ทีนี้พอไปอยู่ในภาวะนี้แล้ว ไอ้ห่วงกังวัลมันเป็นภาวะผูกพันมันก็อาจจะมาแสดงตัว หรืออะไรขึ้นมา
พระนวกะ : คล้ายๆพอจิตมันตรงกัน ก็คือจะได้พบกัน
ตอบ : อ๋อๆ ก็คือหมายความว่า ความกังวล ความห่วง ความระลึกถึง มันมีอยู่ ก็เมื่อเข้าไปถึงชาติภพนั้นแล้วเขาก็ยังนึกถึงอยู่ เหมือนอย่างญาติพระเจ้าพิมพิสารไง นึกออกไหม ที่เป็นเปรตน่ะ เอ้า เดี๋ยวจะว่าต่อไป นิมนต์ท่านถามก่อน
20:15กรรมที่ชินจะมีโอกาสมีพลังมากที่สุด
พระนวกะ : อย่างนี้ผมเข้าใจถูกไหมครับ ถ้าเกิดว่าเราทำบุญสม่ำเสมอ แล้วก็ฟังธรรมบรรยายสม่ำเสมอ แล้วก็ถ้าเป็นไปได้นั่งสมาธิ แล้วก็ทำสมาธิกรรมฐานเช่นพุทธานุสติกรรมฐาน อย่างนี้ ทำอยู่สม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่า ตอนที่ใกล้จะตายนี่ จิตมันคุ้นชินอยู่กับสิ่งนี้มันก็จะยึดติดกับสิ่งนี้โดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องให้ญาติมาคอยบอกหรืออะไรก็เป็นไปได้
ตอบ : ก็นั่นล่ะ ถึงได้ให้ทำกรรมที่เรียกว่าชิน กรรมที่ชินท่านเรียกอาจิณกรรม จะมีโอกาสมีพลังมากที่สุด กรรมที่ทำอยู่เสมอ จิตมันก็เคยของมันอย่างงี้ พอจะทำอะไรมันก็ไปเรื่องนี้ก่อนเลย ฉะนั้นจิตจะมีสภาวะนี้ นอกจากว่าจับพลัดจับผลูเกิดแว่บไปเรื่องอื่นขึ้นมา ก็อีกเรื่องหนึ่ง ตัวนี้จะเป็นตัวสำคัญ เด่นมาก ท่านเรียกว่าอาจิณกรรม กรรมที่ทำอยู่สม่ำเสมอ เป็นอาจิณน่ะ ภาษาไทยเขาก็เรียกว่าอาจิณอยู่แล้วใช่ไหม ทำอะไรเป็นอาจิณ ก็คือทำอยู่เรื่อย นิมนต์ครับ จะถาม เดี๋ยวผมจะบอกอะไรต่อ เดี๋ยวผมจะลืมเสีย เอ้า นิมนต์ก่อน
พระนวกะ : คือถามอย่างนี้ครับ อย่างพวกคามิกาเซะ ที่ว่าเขาเชื่อว่าถ้าเขาตายไป เขาจะไปอยู่กับพระเจ้า หรือว่า ระเบิดพลีชีพ พวก??? ทำไปเพื่อที่ว่าเขาจะได้ไปอยู่กับพระเจ้าขึ้นมา เพราะฉะนั้นเวลาเขาตาย เขาจะนึกว่าเออ ตอนนี้เขาทำเพื่อพระเจ้า เพราะฉะนั้นจิตเขาต้องดี ถูกไหมครับ แล้วทีนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ถูกไหมครับ ฉะนั้นเขาจะไปอยู่ไหนครับ เหมือนท่านเจ้าคุณบอกว่ามันจะอยู่ที่จิต แต่ว่าสิ่งที่เขาทำมันคืออัตวินิบาตกรรม การฆ่าตัวตาย มันก็ไม่ใช่สิ่งดี ถูกไหมครับ เพราะฉะนั้นตามพระไตรปิฏกมันก็น่าไปอยู่ในนรก หรือว่า
ตอบ : มันก็มีโอกาส เพราะว่าจิตมันเศร้าหมอง จิตมันเป็นโทสะ ไม่ใช่ว่าหมายความว่าเขาจะต้องไปเกิดในที่จุดที่เขายึดอยู่ ไม่ใช่หมายความว่าอย่างนั้น จิตต้องถึงภาวะนั้น เหมือนอย่างคนที่จะไปดูดดื่มด่ำในพระพรหม ใช่ไหม เขาบำเพ็ญฌานสมาบัติ จิตมันไม่ใช่หมายความว่า ไอ้ตัวภาวะพรหมที่เขาจะไปมันจริง ไอ้นี่ก็ไม่ใช่ภาวะเทพเจ้ามันไม่ใช่เป็นตัวกำหนด แต่มันหมายถึงจิตของเขาเองที่อยู่ในภาวะนั้น ทีนี้ภาวะของจิตคนที่ไปทำคามิกาเซะ อะไรพวกนี้นะ หรือว่า อะไรเรียก อัตนิวิบากกรรมเขาเรียกอะไร เอ้อระเบิดพลีชีพ อะไรพวกนี้นะ พวกนี้จิตมันเศร้าหมอง เพราะว่ามันโทสะเป็นต้น ใช่ไหม มันมีโมหะ โทสะ มันแรง เพราะฉะนั้นมันก็มีทางที่จะไปคติไม่ดีมากกว่า จุดอันนั้นเป็นเพียงยึดถือไว้เท่านั้นเอง มันไม่ได้เป็นตัวเครื่องกำหนดอะไร พอจะเห็นนะครับ
อ้าเดี๋ยวผมจะว่า หรือว่าจะเอาเสียก่อน
23:06 มุ่งให้ตายอย่างดีที่สุด
พระนวกะ : ก็อย่างนี้ เขาถึงให้ เวลาคนที่จะถูกประหารชีวิต เขาถึงให้พระเข้ามาเทศน์ เพื่อให้จิตสงบ เพื่อที่ว่าจะได้ งวดหน้า ถ้าเผื่อมีโอกาสได้เกิดใหม่อาจจะได้ทำดี อะไรอย่างนี้รึเปล่าครับ
ตอบ : ก็มุ่งให้ตายอย่างดีที่สุด เขามุ่งที่นั่นมากกว่า คือหมายความว่าจิตตอนนั้น มันมีโอกาสจะหวาดกลัว อาจจะว้าวุ่น กังวลอะไรต่ออะไร คิดมาก ฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นมันจะเป็นจิตที่โมหะ เป็นโมหะก็จะเสีย เพราะฉะนั้นก็หาทางว่าเอาละ ถึงแม้เขาต้องตาย ถูกลงโทษ แต่ช่วยเขาให้ดีที่สุดในทางจิตใจ ก็มาให้สตินั่นเอง มาสอนมาพูดถึงให้นึกถึงกุศล พระท่านก็อาจจะนึกมาว่า เอ้อเขาอาจจะเคยทำความดีมา บางคนก็ไปพลาดพลั้ง ใช่ไหม โทสะขึ้นมาชั่วครู่ชั่วยามไปฆ่าเขามา แต่ว่าเขาเคยประพฤติดีมาก็มีเยอะ เพราะฉะนั้นก็อาจจะไปคุยกับเขา คุยแล้วก็ไปแนะนำว่า เอ้อคุณนะ ได้ทำความดี ก็นึกถึงสิ่งที่ได้เป็นความดีไว้ แล้วก็ให้กำลังใจเขาอีก ทำให้เขาเห็นว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมีพระมาได้ทราบความคิดจิตใจเขา เขาได้ระบายใช่ไหม มันช่วยเขาได้เยอะ จิตของเขาเปิดโล่งขึ้น สบายขึ้น จิตผ่องใส มันก็มีโอกาสไปดี ใช่ไหม แม้แต่ว่าตายในภาวะที่ถือว่าถูกลงโทษ แต่ว่าจิตเขาอาจจะไปดีก็ได้ พอเขาหมดเรื่องกังวลอะไรต่ออะไร ได้ระบายแล้ว เขาก็สบายใจ อย่างมีเรื่องหนึ่งที่ เอ้า เดี๋ยวผมจะพูดเรื่องนั้น ก็เอาทิ้งไว้ก่อน กลับมาเรื่องนี้ก่อน
มีในอรรถกฐาท่านเล่าไว้ นายคนหนึ่งเป็นเพชฌฆาตฆ่าโจร ก็เป็นตำแหน่งที่บ้านเมืองตั้งให้เลยนะ เป็นเพชฌฆาตนะ ทีนี้ก็เขาจับโจรมาได้ก็ให้แกเป็นคนประหาร แกก็ฆ่าโจรไปเยอะแยะเลย ตลอดชีวิตแกทำงานนี้อยู่ในตำแหน่งเพชฌฆาตฆ่าโจร ๕๕ ปี จนกระทั่งแกไม่ไหว แกแก่แล้ว แกยกมีดแล้ว ตอนแรกแกไปฟันเขาแล้วคอไม่ขาดสนิท ทำให้เขาทรมาน อะไรต่อไร เขาก็เลยให้เลิก ให้ออกจากตำแหน่ง นี้แกก็มานึกถึงชีวิตของแกในอดีต มันก็เป็นธรรมดา บางทีก็นึกถึงคนที่ตัวเองฆ่าไปตั้งเยอะแยะ ใจคอบางทีไม่สบาย กังวล
ทีนี้วันหนึ่ง พระสารีบุตรท่านเห็นอุปนิสัยของนายคนนี้ ท่านก็หวังมาสงเคราะห์ ก็มาที่บ้านเขา เขาก็ดีใจ พระท่านมา ก็เอาอาหารมาถวาย บิณฑบาต ทีนี้พระสารีบุตรท่านก็เทศน์ให้ฟัง ตอนนี้คือจุดมุ่งหมายอยู่ที่จะสอน ทีนี้พอฟังเทศน์นี่ เพราะจิตไปขุ่นข้องกังวลกับไอ้เรื่องที่ตัวทำไว้ จิตมันก็ฟัง ท่านเรียกว่ามันไม่ไปตามกระแสพระธรรมเทศนา เข้าใจไหมครับ จิตมันไม่ไปตามกระแส ท่านเทศน์อะไรบางทีมันฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง จิตมันก็ไปข้องกังวัล คิดถึงเรื่องที่ตัวทำไว้ ใจไม่สบาย พระสารีบุตรท่านรู้เข้าใจอยู่ ท่านก็เลยจะหาวิธีช่วยเขา ตอนนี้เป้าหมายก็คือ ทำอย่างไรจะให้จิตเขามาอยู่กับกระแสธรรมเทศนา ไม่ให้ไปข้องกังวล พระสารีบุตรท่านก็ถามว่า นี่ เธอเป็นอย่างไรล่ะ ไม่สบายใจอะไรรึเปล่า เขาก็บอกว่าผมนี่คิดกังวลว่าเรื่องฆ่าคนมาเยอะแยะอะไรต่ออะไร เลยฟังไม่รู้เรื่อง ท่านก็บอกว่า เอ้า, แล้วที่เธอฆ่านี่ คิดฆ่าเอง หรือว่าเป็นยังไง นายคนนี้เขาก็บอกว่าไม่ใช่ผมฆ่าเอง กระผมไม่ได้คิดฆ่าเขาหรอก ถูกราชการเขาสั่ง ว่างั้น เอ้า, ก็เธอไม่ได้คิดฆ่าเอง เขาสั่งให้ฆ่านี่ เป็นบาปของเธอไหมล่ะ เขาได้ยินแค่นี้ เขาก็นึกไปเองว่า โอ้ย,นี่เราไม่ได้คิดฆ่า ไม่ใช่บาปของเรา เพราะราชการเขาสั่งเรา เพราะฉะนั้นไม่เป็นไรหรอก เขาก็เลยตัดไปเลย
เป้าหมายตอนนี้ของพระสารีบุตรก็คือ ทำอย่างไรให้จิตของเขาตัดกังวลอันนั้น ออกมาอยู่กับกระแสพระธรรมเทศนาได้ จิตของเขาจะได้เป็นกุศล และสามารถใช้ปัญญาคิด ได้ความรู้ความเข้าใจ และเพราะตอนที่เขามาฟังธรรม เขาจึงได้เกิดความรู้ความเข้าใจอะไรต่ออะไร เลยทำให้จิตดีไปเลย ปรากฏว่าคนนี้พ้นนรกไปได้เลย เอ้อ, อย่างนี้เป็นต้น นี่นะเป็นเทคนิคกันแค่นี้ น่าเอาไปใช้ได้ นี่เป็นตัวอย่าง ก็หมายความว่าจิตของคนมันไปทำกรรมซ้ำ คือเราทำกรรมไม่ดีไว้แล้ว แล้วเสร็จแล้วเราไปหมกมุ่นไปคิดข้องขัดติดใจอยู่กับไอ้บาปนั้น เราก็ไปแต่งมโนกรรมที่เป็นบาปซ้ำเข้าไปอีก ใช่ไหม ทีนี้ท่านก็มาช่วย กัลยาณมิตรมาช่วย มาช่วยที่จะให้จิตมันไปหาอารมณ์ใหม่ที่มันดีได้ จิตมันก็ไปอยู่กับอารมณ์ใหม่ นี่มันเรื่องเหตุปัจจัยตามธรรมดานะ
28:31ความเชื่อนี่มันกลับมาปรุงแต่งจิตให้เป็นไปตามแนวทางที่เชื่อ
นี้ผมจะกลับมาที่ว่าเมื่อกี้อีกที นี้เพราะไปเชื่อแบบนี้ แล้วมันก็จะทำให้เป็นไปตามความเชื่อได้ง่าย คือไม่ใช่เหมือนกับความเชื่อทีเดียว แต่ความเชื่อนี่มันกลับมาปรุงแต่งจิตให้เป็นไปตามแนวทางที่เชื่อ เป็นอย่างไร เขาถาม เรื่องบริจาคอวัยวะ เลยมาเล่าซ้ำให้ฟัง มีคนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยไปเชื่อบอกว่า ไม่ได้ละ บริจาคอวัยวะ เดี๋ยวเราเกิดไปชาติหน้า เราก็ไม่มีอวัยวะนี้ เออ, ตายละ บริจาคไต เกิดมาชาติหน้าไม่มีไตจะใช้ แล้วทำอย่างไร เกิดความเชื่ออย่างนี้กันเยอะเลย ทีนี้ก็เลยกลัว ทีนี้ไม่กล้าบริจาคไต อ้าว, พิจารณาในทางธรรมว่าอย่างไร นี่ละ จะให้เห็นความจริงของความเป็นเหตุปัจจัย ก็จิตมันมีความสามารถปรุงแต่ง ในทางพุทธศาสนาท่านสรรเสริญการบริจาคอวัยวะนี่ บริจาคทานให้วัตถุ แม้แต่พระพุทธเจ้าบริจาคขนาดพวกทรัพย์สมบัติเป็นราชสมบัติเลยก็ยังได้แค่ ทานบารมี แต่บริจาคอวัยวะจึงจะได้ทานอุปบารมี เป็นบารมีชั้นสูงอย่างมากเลยนะ
29:58 คุณธรรมพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์นี่บริจาคทั้งนั้น เพราะว่าท่านมีความเข้มแข็ง จิตใจนี่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น ถ้าเขาต้องการนี่ ให้เลย ท่านบริจาคหมด บริจาคลูกตา บริจาคอวัยวะอะไรต่างๆ
ทีนี้ถ้าจำเป็นก็บริจาคชีวิตเพื่อประโยชน์แก่เขาได้ เคยมีเขาหิว แล้วพระองค์บริจาคชีวิตให้เขาเลยนะ ก็ เป็น ๓ ระดับ นี่ทานนะ บริจาคทรัพย์สมบัติธรรมดา ของนอกกายทั่วไปก็เป็นทานบารมี บริจาคแค่ไหนก็ได้แค่ทานบารมี บริจาคถึงขั้นอวัยวะได้เป็นทานอุปบารมี นี่ถ้าบริจาคชีวิตได้เป็นทานปรมัตถบารมี สูงสุด พระพุทธเจ้าจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องบริจาคครบ ทานก็ต้องทั้ง ๓ ระดับ บารมีอื่นก็ต้องได้ครบ ๓ ระดับ, ๓ ระดับหมด ท่านจึงเรียกว่าบารมี ๓๐ ทัศ
๓๐ ทัศ ก็คือ ๓ ขั้น มีบารมี ๑๐ แต่มี ๓ ขั้น คูณด้วยสามเป็นสามสิบ ก็คือสามสิบล่ะ ทัศก็คือสิบ แต่ภาษาไทยมาพูดซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง พอภาษามันชักกลาย เอาละ เป็นอันว่าการบริจาคอวัยวะนี้เป็นทานชั้นสูง ทำไมจึงเป็นบารมีชั้นสูง เพราะมันต้องทำด้วยเมตตาอย่างถึงขนาด ไม่ใช่เมตตา, กรุณา 31:22 เมตตาน่ะมีอยู่แล้วมันเป็นพื้นของจิต กรุณาคือเห็นเขาทุกข์แล้วทนไม่ได้ ต้องช่วยเขาให้พ้นทุกข์ ความกรุณาขนาดจะบริจาคอวัยวะได้มันต้องแรงกล้าขนาดไหน ใช่ไหม ความเมตตาเป็นพื้นอยู่แล้ว มีความกรุณาอย่างสูงก็เห็นแก่ผู้อื่น อยากให้เขาได้รับประโยชน์ อยากให้เขามีความสุข อยากให้เขาพ้นจากทุกข์ จิตที่ทำบุญบารมีต้องเป็นจิตอย่างนี้ ก็คือจิตที่มีคุณธรรม มีเมตตากรุณาอย่างสูง ทีนี้จิตอย่างนี้เป็นจิตกุศลเป็นอย่างดี มันจะพัฒนาคุณภาพและความสามารถของจิต ถ้าเรามองดู ตอนนี้ยังอยู่ในระดับการปรุงแต่งนะ จิตมนุษย์ แม้แต่เป็นโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์นี้จิตอยู่ในระดับปรุงแต่งตลอด ตั้งแต่บำเพ็ญบารมี จนกระทั่งจะไปบรรลุโพธิญาณเป็นจิตปรุงแต่งตลอด จิตที่ยังอยู่ในระดับสมถะเรียกว่าเป็นจิตปรุงแต่งตลอด ไม่มีผล จะได้ฌานสมาบัติ เป็นรูปฌานก็อยู่ในระดับปรุงแต่งหมด เอาละ ทีนี้จิตนี่ พัฒนาความสามารถ 32:32การบำเพ็ญบารมีก็คือการพัฒนาความสามารถ พัฒนาชีวิต พัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา ใช่ไหม พัฒนากันใหญ่
ที่นี้พัฒนาจิตใจในระดับของพระโพธิสัตว์ ต้องใช้กำลังแรงมาก กำลังความเข้มแข็งของจิต แล้วก็ต้องคุณธรรมสูง จนกระทั่งเห็นทุกข์ของคนอื่นนี่ หวั่นไหวใจทนไม่ได้ต้องไปช่วยให้เขาพ้นทุกข์ให้ได้ นี้คนที่จะมีจิตใจขนาดนี้ มันมีความแรงกล้า เพราะฉะนั้นความปรุงแต่งในทางที่ดีก็จะมาก ก็คือว่า โอ้โห, เห็นเขาทุกข์แล้วอยากให้เขาพ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็คือไปสู่ภาวะที่ดีงามเป็นสุข จิตนี่มันจะต้องมองเห็นว่าทุกข์นี่เป็นอย่างไร แล้วก็หายจากทุกข์มันจะดีอย่างไรใช่ไหม เพราะฉะนั้นจิตที่ต้องการช่วยเหลือผู้อื่นนี่ มันจะมองเห็นสภาพดีที่เป็นจุดหมายที่ต้องการให้เขาไปนี่ มันจะเห็นภาพ โอ้โห นี่เขาหายทุกข์นี่ เขาจะสุขสบายมีชีวิตที่มีร่างกายดี สดใสงดงาม มีความสุข จิตใจดี ครอบครัวของเขาก็ดีสบาย จิตมันมองเห็นไปอย่างนี้ นี่คือจิตที่ประกอบด้วยเจตนาที่เป็นกุศลแท้จริง
33:54 การบริจาคอวัยวะนี้มันบริจาคด้วยจิตนี้
บริจาคอวัยวะนี้มันบริจาคด้วยจิตนี้ คือต้องการช่วยคนอื่นพ้นทุกข์ไปสู่จดหมายคือความสุข เพราะฉะนั้นจิตมันก็มองภาพที่ดีงามไว้ เราจะบริจาคอวัยวะอะไรเราก็นึกถึงว่า โอ้, ตอนนี้เขาทุกข์ไม่สบาย จะช่วยเขาพ้นทุกข์ พอเขาพ้นทุกข์แล้วเขาจะมีความสุข ที่เขาบัดนี้หน้าตาเบี้ยวบูด หน้าตาก็จะดี จะงดงาม จะผ่องใส จะเอิบอิ่ม ตอนนี้ภาพอันนี้มันเป็นจุดหมาย มันมาเป็นตัวกำหนดในจิตใจเลย มันจะเต็มไว้ในใจ ทีนี้บำเพ็ญบารมีอย่างนี้อยู่เรื่อย ใช่ไหม จิตมันก็เต็มไปด้วยภาพอย่างนี้ แล้วมันก็มีความสามารถในการที่จะพิจารณาหรือคิด มันชินน่ะ มันชินแล้วมันก็คิดจนชินถึงภาพที่ดีทั้งหลาย พอคนที่จะไปช่วยเขา มันต้องคิดเยอะนี่ จะไปช่วยเขา ก็คิดถึงภาพที่จะให้เขาเป็นอย่างไร อยู่สุขสบายอย่างนี้นะ ต่อไปจิตมันมีความสามารถในการปรุงแต่งเป้าหมายที่ดีนี้ไว้ เวลาตายไปมันก็ไปปรุงแต่งดีสิ มันก็ปรุงแต่งตามจุดหมายตามสมรรถภาพความชินความอะไรของมัน ฉะนั้นเวลาไปปรุงแต่งอะไร มันปรุงแต่งอื่น ก่อนอื่นคือมันปรุงแต่งตัวเอง ก่อนที่จะไปปรุงแต่งอื่น ก็ปรุงแต่งจิตใจตัวเอง ปรุงแต่งชีวิตของตัวเอง เพราะฉะนั้นคนที่บริจาคอวัยวะ ก็กลายไปว่าไปเกิดก็คือปรุงแต่งชีวิต ปรุงแต่งอวัยวะนั้นให้แข็งแรง ให้สมบูรณ์ให้เป็นชีวิตที่ดีก็ยิ่งดีใหญ่เลย ใช่ไหม เพราะฉะนั้นมันไม่มีเสียหรอก มันไม่ใช่ว่าบริจาคไปแล้วจะขาด
นี้ถ้าคนเกิดไปยึด เป็นไปได้ เกิดไปยึดว่า โอ้, เราตายแล้ว เราบริจาค ก็ต่อไปเราไปเกิดเราก็ไม่มีอวัยวะนี้ ไตเรา จิตก็ไม่เป็นกุศลแล้วตอนนี้ แทนที่แกจะไปคิดถึงด้วยเมตตากรุณา อย่างนี้ไม่ได้คิดด้วยเมตตากรุณา ใช่ไหม จิตกลายไปเป็นห่วงตัวเอง ก็ห่วงตัวเองก็กลายเป็นว่าขาดโน่นขาดนี่ เลยตายไปแล้วขาดจริงๆ เรื่องเดียวกัน คนหนึ่งบริจาคอวัยวะ ตายไปเกิดไม่มีอวัยวะอันนั้น แต่อีกคนบริจาคถูกหลัก ปฏิบัติด้วยคุณธรรมจริงๆ เป็นบุญเป็นกุศลจริง ตายไปแล้วยิ่งดีใหญ่ มีอวัยวะสมบูรณ์แข็งแรง ถูกไหม
เอ้า, ก็เหมือนอย่างนี้ เอาง่ายๆยิ่งกว่านั้นอีก พระมีจีวรนี่ องค์หนึ่งนะ ตายแล้ว จิตไปห่วงจีวรตัวเอง มาเกิดอยู่ที่จีวรเป็นตัวเล็น หรือตัวไร เหมือนปู่โสมเฝ้าทรัพย์ไง หวงขุมทรัพย์ ใช่ไหม ตายไปแล้วก็ไปเกิดอยู่ที่ขุมทรัพย์ เป็นปู่โสม ทีนี้พระอีกองค์หนึ่ง ก็นึกถึงเรื่องจีวรเหมือนกัน แต่ว่ามีจิตจะบริจาค โอ้, ใครจะขาดแคลนจีวร ต้องเอาไปบริจาคช่วยเหลือ มันคนละจิต จิตมันไม่ได้ข้องอยู่กับจีวร จิตมันไปมุ่งที่ประโยชน์สุขของคนที่ได้รับ แต่ไอ้จีวรนั้นเป็นของที่จะไปให้ องค์นี้มรณภาพแล้ว ถ้าไม่ไปดีกว่านั้น ก็เลยไปสวรรค์ไปเลย มันคนละอย่าง มันเรื่องเดียวกัน แต่บริจาคเดียวกันแหละ อีกองค์ไม่ได้บริจาคหรอก แต่จิตไปข้องอยู่กับจีวร ตายไปแล้วเลยเกิดอยู่ที่นั่นเอง อีกองค์หนึ่งก็ไปบริจาคจีวร ตายไปแล้วกลายไปดีเลย เพราะฉะนั้นเรื่องเดียวกันนี่ มันอยู่ที่ว่าเหตุปัจจัยที่ทำเป็นอย่างไร เข้าใจใช่ไหมครับ
เพราะฉะนั้นก็สอนโยม บอกว่าโยมอย่าไปติดข้อง ถ้าโยมไปข้องใจว่า เออ, เราบริจาคอวัยวะแล้ว ตายไปเราจะไปขาดบริจาคอวัยวะ แล้วจิตอยู่กับนั่นล่ะ ไปจริงๆ ใช่ไหม เพราะว่าจิตมันไม่เป็นกุศล มีแต่ห่วงกังวล เพราะฉะนั้นโยมทำจิตให้ถูกแล้วจะเป็นจิตที่ดี จะดีเลิศเหมือนพระโพธิสัตว์เลย พระโพธิสัตว์ท่านบำเพ็ญบารมีมา เลยบริจาคตา เกิดมาก็ตาผ่องใส แจ่มใส ร่างกายก็บริจาคอวัยวะต่างๆ เกิดมาก็เอิบอิ่ม สมบูรณ์ เอ้า, นิมนต์ มีอะไรสงสัย
พระนวกะ : ผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองนะครับ เพราะว่าผมก็บริจาคทั้งหมดเลยครับ ผมกับแฟนทั้งสองคน ก็ได้ยินมาเหมือนกันว่า มีคนเขาบอกว่า ถ้าเผื่อไปบริจาค บางทีก็อย่างที่ท่านพระครูพระอาจารย์บอกละครับว่า ไปบริจาคทำไมเดี๋ยวก็ไม่มีใช้ในชาติหน้า แต่ผม ในใจที่ผมคิดก็คือ ผมคิดว่าร่างกายเรามันน่าจะเป็นประโยชน์ให้คนอื่นได้บ้าง แล้วก็อย่างพวกบริจาคเลือดนี่ก็เหมือนกันใช่ไหมครับ ถ้าเผื่อช่วงที่สภาวะของเขาในตอนนั้น จิตเขานึกถึงในสิ่งที่เขาบริจาคไป มันจะทำให้เขาไปที่ดีๆ
ตอบ : คือนึกในทางที่ว่า มันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น นึกถึงในแง่เมตตากรุณาว่าเรากำลังให้เลือดนี่ คนที่เขาทุกข์ลำบาก ขาดเลือดด้วยอุบัติเหตุ หรือมีการผ่าตัดหรืออะไรก็ตาม เขาจะได้ ได้รับไปแล้วเขาจะได้หายจากโรค หายจากทุกข์ ชีวิตเขาจะได้รอด อะไรอย่างนี้ ใช่ไหม นึกไปอย่างนี้จิตก็ดี เป็นกุศล แล้วก็ยิ่งได้ผลดีใหญ่เลย แต่ถ้าไปคิดห่วงกังวลล่ะก็ แย่ละทีนี้ ใช่ไหม มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย นิมนต์
พระนวกะ : ปัจจุบันนี้เวลาบริจาคโลหิตเขาจะให้ใส่วัตถุประสงค์ด้วยครับ แล้วเขาจะมีให้เลือก ๒ อย่าง อย่างหนึ่งก็คือให้เอาอวัยวะไปช่วยกับผู้ที่อวัยวะนั้นๆเสื่อม กับอีกวิธีหนึ่งก็คือบริจาคทั้งร่างกาย เพื่อไปเป็นเหมือนกับไปเป็นอาจารย์ใหญ่ของพวกนักเรียนแพทย์ อย่างผมบริจาคเมื่อ ๘ ปีที่แล้วก็ แอบคิดว่า ถ้าคนเอาอวัยวะเราไป เอาไปทำไม่ดี ไปทำชั่ว เราก็จะพลอยแย่ไปด้วย ก็เลยเลือกที่จะไปเป็นอาจารย์ใหญ่ให้นักเรียนแพทย์เรียน อย่างนี้อานิสงส์ของการที่จะไปเป็นอาจารย์ใหญ่กับการที่จะให้เขาเอาอวัยวะไปใช้ต่อ มันจะแตกต่างกัน หรือว่า
ตอบ : ไม่ต้องไปคิดห่วงในแง่นั้น อยู่ที่เจตนาของเราที่ประกอบด้วยเมตตากรุณาเป็นต้น คือกุศลที่อยู่ในใจของเรานี่ ที่มีความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ อยากให้เขาพ้นทุกข์ อย่างเช่นบริจาคร่างกายนี่ก็คือมองได้กว้าง หนึ่งก็คือเรานี่ได้ไปเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักศึกษาได้เจริญปัญญา ได้เรียนรู้เข้าใจ แล้วเขาจะได้เอาความรู้นี้ไปในการที่ต่อไปไปบำเพ็ญประโยชน์ไปช่วยรักษาเพื่อนมนุษย์ แก้ไขบำบัดโรค ช่วยชีวิตคน ได้กว้างขวาง มันเป็นปัจจัยต่อเนื่อง มันไม่ใช่แค่เฉพาะตอนนั้น ไม่ใช่แค่เขาเรียน แต่เขาเรียนแล้ว เขาก็ได้ไปทำงานทำประโยชน์ต่อไป ถ้าเขาไม่ได้ร่างกายเราไปเรียน ขั้นตอนนี้หายไปเขาก็ไม่ได้เหมือนกัน เขาก็ก้าวต่อไปสู่ขั้นตอนอื่นที่จะไปเป็นแพทย์ไปเป็นผู้รักษาคนเจ็บไข้ ไปช่วยให้เขาพ้นทุกข์อะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นอานิสงส์หรือประโยชน์ที่เราทำนี่มันกว้าง และยืดยาว เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่ายิ่งมีปัญญามากก็ยิ่งกลับมาส่งผลให้บุญมากขึ้น นี้ถ้าหากว่าเรามองว่าจิตเราเป็นกุศล แล้วเรามีเมตตากรุณา หวังดีปรารถนาดีต่อเขา ให้เขาพ้นทุกข์ อันนี้ก็เป็นกุศลแล้ว
41:35 เอาของบริจาคถวายพระเขาว่าเป็นบุญ ก็จบหรือ
นี้เกิดเรามีปัญญาดีขึ้นมาอีก มองเห็นว่าประโยชน์ที่จะได้นี่มันกว้างขวางอย่างไร ไอ้ตัวปัญญานี้มันกลับมาเสริมกุศลในฝ่ายเมตตากรุณาอีก ก็เหมือนอย่างนี้ ถึงได้พูดบ่อยๆ อย่างโยมมาทำทานนี่นะ โยม บางทีก็คิดแค่นี้ เอาของบริจาคถวายพระเขาว่าเป็นบุญ ก็จบ แต่ว่าเขาว่าถวายพระแล้วเป็นบุญกุศลก็จบ ได้แค่ว่าฉันได้ทำบุญถวายพระ แล้วก็ได้บุญ ก็มองในแง่ว่าเอ้อ เป็นความดี เป็นสิ่งที่ว่าเป็นการให้ เป็นการอย่างน้อยก็อาจคิดว่าได้ช่วยพระ ท่านจะได้ดำรงสมณเพศของท่าน มีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้ามองกว้างไป โอ้, นี่ทานที่เราถวายไปนี้นะ พระท่านมีหน้าที่นะ ท่าน หนึ่งมีหน้าที่บำเพ็ญไตรสิกขาด้วยตนเอง ท่านได้พัฒนาชีวิตของท่านอาจจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่นะในส่วนตัว แล้วก็สองท่านไปปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ดำรงพระศาสนาอีก สามแล้วก็ท่านบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชน ได้รับกำลังจากอาหารของเราหรือทานปัจจัยสี่ของเราแล้วท่านก็มีกำลัง นอกจากเล่าเรียนศึกษาแล้วก็ไปเผยแผ่ธรรม ไปสอนประชาชนบำเพ็ญประโยชน์ โอ้,สังคมได้รับประโยชน์มีอยู่มีศีลธรรม สังคมนั้นก็ร่มเย็นเป็นสุข เราก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุน ตั้งแต่ชีวิตของพระ พระศาสนา จนกระทั่งถึงสังคมอะไรต่ออะไร เป็นประโยชน์สุขทั่วไปหมด ยิ่งมองเห็นกว้างขวางเข้าไปเนี่ย มันก็กลับมาเสริมกุศล ก็ดีกว่าที่จะมองเห็นแคบๆ
เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ปัญญาด้วย ฉะนั้นจึงต้องพยายามสอนญาติโยมว่าที่โยมทำบุญนี่นะมันมีผลกว้างขวาง โยมอย่าคิดว่าแค่มาถวายนี้ แล้วยิ่งถ้าพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วจึงได้ผลอานิสงส์มาก เพราะอันนี้ละ เพราะพระที่ปฏิบัติไม่ดีไม่ชอบ ก็ไม่ได้อะไร ใช่ไหม ท่านก็รับไปฉันเสร็จก็จบ แล้วก็เอากำลังไปทำไม่ดีเสียอีก ด้วยสิ ดีไม่ดีก็เหมือนให้อาหารกับโจรไป แต่อย่าไปคิดมาก ตอนนี้เราถวายเป็นกลางๆ เราไม่ได้เจาะจง เราไม่ต้องไปคิด แต่ทีนี้ว่า ในกรณีที่เราเห็นท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็จะส่งเสริมได้ประโยชน์มหาศาล พระองค์นี้ท่านมีกำลัง ศึกษาเล่าเรียนของท่าน ท่านปฏิบัติธรรมก้าวหน้า แล้วท่านช่วยพระศาสนา ช่วยศาสนกิจ บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม เราจะอยู่ยั่งยืนมีความสงบสุขก็เพราะมีการกระทำกันอย่างนี้ละ ถ้าคิดอย่างนี้แล้วมีปัญญาด้วยผลก็กว้าง ก็ดียิ่งใหญ่ แล้วก็จะสนับสนุนให้เกิดปิติมากขึ้นด้วย พอปิติปราโมทย์จิตใจดีงาม ยิ่งมีบุญใหญ่เลย เพราะฉะนั้นต้องบอกญาติโยมให้ทำจิตใจให้ถูกเวลาทำบุญทำกุศล
44:32 บอกญาติโยมให้ทำจิตใจให้ถูกเวลาทำบุญทำกุศล
ทำไมโบราณเขาจึงพูดลัดไง บอกเนี่ยได้สืบพระศาสนา ก็คือขี้เกียจอธิบายยืดยาว ก็ถ้าคนมีปัญญาและเคยพูดกันมาแล้ว พูดแค่นี้ก็แล้ว ใช่ไหม ว่าถวายทานแค่นี้มันสืบพระศาสนายังไง ก็อย่างที่ว่าไปแล้ว สืบจริงๆ ใช่ไหม มันถึงกันหมด แล้วบำเพ็ญประโยชน์กับชาวโลกเป็นยังไง เอ้า,ก็อย่างนี้แหละเป็นบำเพ็ญประโยชน์แก่โลกทั้งหมด มีปัญญาจะช่วย และก็จะทำให้เรามองเห็นทางในการที่ว่าจะทำบุญทำทานทำกุศลต่อไปว่า เราควรจะทำในแง่ไหนจุดไหน เรื่องใด อะไรกะใครอะไรอย่างนี้