แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์: ก็คุยกันต่อ ท่านญาณภัทโธหรือไง เจ้าของปัญหา ไม่ใช่เจ้าของปัญหา เจ้าของคำถาม เดี๋ยวจะเข้าใจผิด เจ้าของคำถาม ก็เดี๋ยวคุยกัน เดี๋ยวต้องให้ถามย้ำ ทีนี้ก็จะคุยกันต่อ มีเรื่องพุทธศาสนาที่ว่าเป็นศาสนาแห่งความสุข ก็คุยกันไปแล้วแหละ แต่ว่าหรือจะยังมีค้างนิดหน่อย คือให้เป็นประโยชน์ในเชิงปฏิบัติด้วย แต่ให้เข้าใจว่าพวกหลักวิธีปฏิบัติต่อความสุขก็รู้กันแล้วที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรชื่อว่าเทวทหสูตร ในพระไตรปิฎกเล่ม 14 รวมแล้วเป็น 4 ข้อ เอ้า! ใครว่าได้
พระญาณภัทโธ: 1) ไม่นำทุกข์มาทับถมตน 2) ไม่ทิ้งสุขที่ชอบธรรม 3) ไม่ติดกับสุขที่ชอบธรรมนั้น 4) ถ้าเกิดทุกข์ยังไม่หมดไปก็พยายามขวนขวายให้ทุกข์นั้นหมดไปครับ
พระพรหมคุณาภรณ์: ก็รวม 4 ข้อ ทวนอีกทีว่า 1) ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ทับถม ท่านว่าอย่างนั้น 2) ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม 3) แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้นก็ไม่สยบมัวเมา อันนี้คนจะมีปัญหาที่ว่าพูดไปว่าจะทำให้ประมาท แล้วก็ 4) เพียรกำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป เพราะว่า 3 ข้อต้นนี้มันแสดงอยู่ในตัวว่ายังไม่หมดทุกข์ มันยังไม่หมดทุกข์แล้วก็ต้องเพียรกำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้หมด เมื่อกำจัดเหตุแห่งทุกข์หมดก็หมายความว่าภาระเรื่องทุกข์ก็หมดไปก็เหลือแต่สุขแล้ว ตอนนี้ไม่ต้องพูดถึงแล้ว ตราบใดที่เหตุแห่งทุกข์ยังไม่หมดก็เป็นอันว่ายังไม่ถึงจุดหมาย แต่ว่าถ้าพูดอย่างอ่อนก็ใช้คำใหม่บอกว่าเพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่ประณีตขึ้นไป แต่อันนี้พูดเชิงบวก ก็ความหมายเดียวกันแต่ว่าพูดแบบแรกเป็นการพูดแบบเด็ดขาดทีเดียวจบ ถ้าพูดแบบว่าปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปก็หมายความว่าแบ่งเป็นหลายขั้นหลายตอนขึ้นไปเรื่อย ๆ ขึ้นไปขั้นนี้แล้วก็ยังมีขั้นต่อไปอีก อันนี้ก็เป็นหลักปฏิบัติ 4 ข้อ
ในการปฏิบัติทั่วไปก็อย่างที่ว่าพุทธศาสนานี้ไม่ได้ถือว่าความสุขจะบรรลุถึงได้ด้วยความทุกข์อย่างลัทธินิครนถ์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องของการที่เราต้องฝึกฝนพัฒนาตน ในการฝึกปฏิบัตินั้นก็มีความยากบ้างง่ายบ้างก็ต้องวางจิตให้ถูก เช่น วางจิตในแง่ว่ากำลังฝึกตนจะได้ไม่กลายเป็นว่าไอ้สิ่งที่ยากนั้นกลายเป็นความทุกข์ อาจจะมีทุกข์บ้างอันนั้นก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชนแต่ว่าต้องรู้เท่าทันว่าเรากำลังแก้ไข เพราะท่านบอกไว้แล้วว่าทุกข์สำหรับรู้ ในการปฏิบัติก็จะมีข้อปฏิบัติที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสุขแม้แต่ในขณะปฏิบัติเยอะ อย่างเช่นการกำหนดลมหายใจที่เรียกว่าอานาปานสติก็มีวิธีปฏิบัติที่ละเอียดลงไปอีก อย่างเช่นวิธีปฏิบัติโยงอานาปานสติไปสู่สติปัฏฐาน 4 ก็จะมีการปฏิบัติที่แยกซอยละเอียดลงไป ซึ่งจะมีการปฏิบัติทางจิตประกอบเข้าไปในขณะที่กำหนดเรื่องลมหายใจด้วยก็คือปรุงแต่งจิตนั่นเอง แล้วปรุงแต่งจิตนั่นก็คือปรุงแต่งให้เกิดความสุข หรือปรุงแต่งจิตในทางกุศลแต่ว่าเป็นเรื่องความสุขไปด้วย เช่นอย่างที่ท่านบอกว่าหายใจเข้าหายใจออกแต่พร้อมกับที่หายใจเข้าหายใจออกไม่ใช่เพียงรู้ว่าเราหายใจเข้ายาว เราหายใจออกยาว อันนี้เป็นธรรมดาที่พูดทั่วไป แต่นี้มีบอกว่าเราทำจิตให้ผ่อนคลายสงบ หายใจออก เราทำจิตให้ผ่อนคลายสงบ หายใจเข้า ก็หมายความว่าปรุงแต่งจิตไปด้วย คือกำหนดลมหายใจนั้นจิตมันก็อยู่เรียกว่านิ่งสงบไปสู่สมาธิ มันก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่ว่าท่านยังให้ปรุงมันอีก ก็คือว่าปรุงแต่งจิตของเราไปด้วยในขณะที่หายใจเข้าว่าเราทำจิตให้ผ่อนคลายสงบ หายใจเข้า เราทำจิตให้ผ่อนคลายสงบ หายใจออก ที่ท่านเรียกว่า ปัสสัมภะยัง มีทั้งกายะสังขารัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ หรือปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ต่อไปก็มีจิตตะสังขารัง คือทำทั้งกายสังขารให้สงบ หายใจเข้าออก ทำจิตสังขารก็คือพวกระบบของจิต เจตสิกอะไรต่าง ๆ ให้มันผ่อนคลายสงบ หายใจเข้า หายใจออก แล้วก็ยังมีอภิปปโมทยัง ทำจิตให้อภิปปโมทยังก็คือให้ร่าเริงเบิกบาน ให้ปราโมทย์นั่นแหละ อภิปปโมทยังก็มาจากอภิกับปโมทะ ปโมทะก็ปราโมทย์ อภิก็อย่างยิ่ง ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก อย่างนี้เช่นว่าคนแก่ คนเฒ่า คนเจ็บ คนป่วย เราก็ไปสอนได้ นอกจากสอนว่าให้หายใจเข้าออกซึ่งก็ทำจิตให้สงบอยู่แน่วไปขั้นหนึ่งแล้ว ก็ให้ปรุงแต่งจิตไปด้วย เราอาจจะเปลี่ยนถ้อยคำให้เหมาะกับความเข้าใจของคนที่กำลังป่วยหรือคนที่จะฝึกนั้นด้วย หาคำเข้าใจง่าย ๆ มา ทำใจให้ร่าเริง หายใจเข้า แล้วทำใจให้โล่งเบา หายใจออก หาคำให้คล้องจองหน่อยก็แต่งเอา แต่ว่ารวมความก็คืออย่างนี้ถ้าทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า ทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ก็เป็นการปรุงแต่งแต่ว่าเป็นการปรุงแต่งที่เป็นบุญเป็นกุศล ไม่ได้เสียหายอะไร คืออย่าเพิ่งว่าอยู่ ๆ ก็จะต้องไม่ปรุงแต่งทันที การปรุงแต่งเขาเรียกว่าสังขารหรืออภิสังขาร มันมีอปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งไม่เป็นบุญ ปรุงแต่งเป็นบาป ตรงข้ามกับบุญก็บาป ปรุงแต่งไม่ดีทำให้ทุกข์ ทำให้จิตใจขุนมัวเศร้าหมอง อย่างนี้เรียกว่าอปุญญาภิสังขาร ปุญญาภิสังขารก็ปรุงแต่งที่เป็นบุญ ปรุงแต่งดี ทำจิตใจให้เบิกบานผ่องใสอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ สูงขึ้นไปก็เรียกว่าอเนญชาภิสังขาร ระดับจตุตถฌานเข้าสู่อรูปฌาน ก็ฌานทั้งหมดนี้ถือว่าปรุงแต่งทั้งนั้นแหละ คือยังเป็นระดับโลกียะ ระดับของแม้แต่ฌานสูงสุดก็เป็นเรื่องปรุงแต่ง อย่าไปนึกว่าปรุงแต่งนี้มันข้ามพ้นไปได้ง่าย ๆ ไม่ปรุงแต่งก็คือขั้นปัญญาวิปัสสนา พวกสมถะนี้เป็นปรุงแต่งทั้งหมด ต้องเข้าใจอย่างนั้น
ทีนี้พวกฌานนี้มันก็แค่สมถะทั้งนั้น จะไปถึงรูปฌานอรูปฌานแค่ไหนมันก็สมถะ ก็คือการปรุงจิตนั่นเอง ปรุงแต่งจิตให้มันสงบ ให้มันดี ให้เป็นกุศล อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ให้พ้นจากอกุศล วิปัสสนานั้นจึงรู้ตามความเป็นจริงนั่นเรียกว่าไม่ปรุงแต่ง รู้ตามเป็นจริงคือรู้ตามที่มันเป็น มองเห็นตามที่มันเป็น มันเป็นอย่างไรมันก็เป็นอย่างนั้น มันก็ไม่มีการปรุงแต่ง ก็เรื่องก็เท่านั้นเอง จิตมันก็โปร่งโล่ง ความรู้นี้มันทำให้ไม่เกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้น ก็รู้ มันก็เหมือนกับแยกในตัว ถ้าเปรียบเทียบธรรมเป็นรูปธรรมก็เหมือนกับว่าฝ่ายหนึ่งมอง ฝ่ายหนึ่งถูกมอง มันก็แยกกันอยู่ในตัว รู้ ฉะนั้นวิปัสสนาเป็นขั้นของการไม่ปรุงแต่งหรือว่าอยู่ในการปฏิบัติที่จะเข้าสู่แนวทางของการที่จะไม่ปรุงแต่ง ในขั้นต้น ๆ มันก็ยังปรุงแต่งอยู่ดีเพราะปัญญาเองมันก็ยังปรุงแต่งอยู่จนกว่าจะรู้จริงแท้ รู้ความจริงตามที่มันเป็น จิตเหมือนกับวางได้หลุดจากสิ่งนั้นได้ก็ไม่ต้องมีการปรุงแต่ง แต่ในระดับทั่ว ๆ ไปอย่างนี้อย่างเรื่องฌานเรื่องอะไรอย่างนี้ก็เป็นเรื่องปรุงแต่ง เราก็รู้จักปรุงแต่งก่อนที่จะถึงขั้นไม่ปรุงแต่ง เราก็เพียงรู้ตระหนักว่าจะให้ได้ผลอย่างแท้จริงเด็ดขาดก็ต้องไม่ปรุงแต่ง แต่ว่าก่อนที่จะถึงชั้นนั้นเรายังอยู่ในขั้นฝึกถ้าเราไปถึงขั้นไม่ปรุงแต่งยังไม่ได้ เราบอกว่าฉันไม่ปรุงแต่งเสร็จแล้วปรากฏว่าเราไปปรุงแต่งฝ่ายไม่ดีเสียนี้ มันเป็นอย่างนั้น คือคนที่บอกฉันไม่ปรุงแต่งแต่ไม่รู้ตัวกลายเป็นว่าไปปรุงแต่งที่เป็นอกุศล เป็นอบุญ กลายเป็นปรุงแต่อปุญญาภิสังขารเข้ามา จิตใจเศร้าหมองขุนมัวนั่นคืออปุญญาภิสังขารปรุงแต่งแล้ว ไม่รู้ตัวหรอก ฉะนั้นแทนที่จะไปตั้งท่าอย่างนั้นโดยที่ตัวเองยังไม่พร้อมเนี่ย คือรู้ตะหนักว่าเราปฏิบัติไปสู่การไม่ปรุงแต่งแต่ว่าในระหว่างนี้เราอาศัยการปรุงแต่งในทางที่ถูก ก้าวไปในการปรุงแต่งที่ถูกเพื่อให้การปรุงแต่งฝ่ายร้ายนี้ไม่ได้ช่อง ผิดช่องของการปรุงแต่งที่ผิดโดยเอาการปรุงแต่งที่ถูกเข้ามายึดครองที่ไว้ว่างั้นเถอะ แล้วก็ก้าวไปสู่การไม่ปรุงแต่งเพราะมันจะเป็นไปเอง เมื่อจิตมันสงบการมีสมาธิหรือว่าอะไรต่ออะไรนี้ถือว่าปรุงแต่งทั้งนั้น เมื่อจิตมันถูกปรุงแต่งด้วยพวกกุศลเหล่านี้แล้วมันก็มีความพร้อมที่จะเกิดปัญญาอย่างที่ว่าเราจึงจะเข้าสู่การไม่ปรุงแต่ง ถ้าเราปฏิบัติได้ดีแต่ต้นการไม่ปรุงแต่งมันก็จะสลับไปกับการปรุงแต่งที่เป็นกุศล คือหมายความว่าเราอาจจะเน้นในแง่ของการไม่ปรุงแต่งจริงแต่ถ้ามันเกิดช่องว่างขึ้นมามีการปรุงแต่งขึ้นก็จะมีแต่การปรุงแต่งที่เป็นกุศล ไม่ใช่ว่าเปิดช่องว่างแล้วไม่ได้เตรียมตัวไว้พอเปิดช่องปั๊บนี้กลายเป็นว่าไปปรุงแต่งอกุศลเลย ถ้าเราเตรียมตัวไว้ได้ทุกขั้นตอนแล้ว ตัดการปรุงแต่งที่เป็นอกุศลก็เหลือการปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่ง การปรุงแต่งก็มีแต่กุศลกับการไม่ปรุงแต่ง ได้ 2 อย่าง การปรุงแต่งอกุศลไม่เอา ถ้าไปเอาแต่ไม่ปรุงแต่ง ปรุงแต่งฉันบอกไม่เอาแต่จิตมันไม่พร้อม เปิดช่องไว้เลย กลายเป็นว่าไม่แน่แล้ว เข้ามาทั้งปรุงแต่งอกุศลทั้งปรุงแต่งกุศล ถ้าเรารู้ตระหนักแล้วเราดำเนินการปฏิบัติถูกขั้นตอนเราก็กันการปรุงแต่งที่เป็นอบุญ อปุญญาภิสังขารออกก่อนใช่ไหม ก็เหลือปรุงแต่งกุศลหรือบุญฝ่ายดีกับไม่ปรุงแต่ง ฝ่ายจิตสมถะก็ได้เป็นด้านจิตที่เป็นกุศล แล้วก็ฝ่ายที่เป็นวิปัสสนาก็เป็นฝ่ายที่จะไม่ปรุงแต่ง ก็คู่ไปอย่างนี้
ในการปฏิบัติอย่างนี้พระพุทธเจ้าก็สอนให้โยมอย่างที่ว่า ในขั้นของการฝึก ก็เลยให้รู้จักปรุงแต่งอย่างที่ว่า ทำจิตให้ปราโมทย์ให้ร่าเริงเบิกบาน หายใจเข้า ทำจิตให้โล่งเบา หายใจออก อย่างคนป่วยไข้ไม่สบาย จิตใจไม่ดี ก็สอนให้ทำใจอย่างที่ว่าเพราะจิตใจคนมันอยู่ที่ปรุงแต่งทั้งนั้นนะ ธรรมดาที่เขาทุกข์ที่อะไรนั้นก็ปรุงแต่ง คือเอาสิ่งที่ไม่ดีมาปรุงใจของตัวเองก็ขุ่นมัวเศร้าหมอง อ้าว! คุณจะไปมัวปรุงแต่งเป็นทุกข์เป็นอะไรเป็นเศร้าหมองขุ่นมัวทำไมเล่าก็ปรุงแต่งเสียให้ดีไปเลย ก็ทำใจให้สบาย พระก็อาจจะไปพูดนำให้เกิดปัญญารู้เข้าใจอะไรต่าง ๆ ให้โน้มไปในสิ่งที่ดีงามไว้ก่อน แล้วก็บอกว่า โยมก็ฝึกอย่างนี้ แม้แต่หายใจก็ปรุงแต่งจิตไปด้วย หายใจเข้าทำใจให้ร่าเริงเบิกบาน หายใจออกก็ใจให้ร่าเริงเบิกบานแม้แต่ในการปฏิบัติก็เน้นในเรื่องของการปฏิบัติอย่างมีความสุข ทีนี้ในแง่ทั่วไปอีกอย่างหนึ่งก็คือคนเราก็จะประสบสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์หรือภาษาสมัยนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ต่าง ๆ ดีบ้าง ร้ายบ้าง พวกที่ร้ายก็คือสิ่งที่เรียกว่าปัญหาแล้วก็ความทุกข์ ท่านใช้ภาษาของพระก็ทุกข์ทั้งนั้นแหละ ปัญหาก็คือเรื่องทุกข์ จุดสำคัญที่จะทำให้เราไปผิดทางก็คือว่ามันมี 2 อย่าง เอาใจรับกับเอาปัญญารับ ปัญหามาหรือทุกข์มาถ้าเราใจรับก็เพลี่ยงพล้ำ แต่ถ้าเอาปัญญารับก็เข้าสู่ทางที่ถูกต้อง ดำเนินไปสู่ทางแก้ไขปัญหาได้ ถ้าเอาใจรับเราถูกกระทำ เราจะเป็นฝ่ายทุกข์หรือถูกปัญหากระทำ พอไปเจอทุกข์ไปเจอปัญหาเข้ามันอึดอัด มันถูกบีบคั้น ลำบากแล้วเพราะใจนี้มันไม่ทางไปของตัวมันเอง ต้องมีปัญญามา แต่ถ้าเราเอาปัญญารับ รับปัญหาหรือรับทุกข์นี้เราเป็นผู้กระทำตัวทุกข์หรือกระทำต่อปัญหา ให้ลองดู ใช่หรือไม่ใช่ ทุกข์หรือปัญหามาถ้าเอาใจรับเป็นฝ่ายถูกกระทำ ถ้าเอาปัญญารับเราเป็นฝ่ายกระทำต่อมันแล้ว เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนานี้ท่านจึงให้เอาปัญญารับ เมื่อมีทุกข์หรือปัญหาเข้ามาให้เอาปัญญารับ อย่าเอาใจรับ ถ้าเอาใจรับแล้วก็อึดอัดทันทีเลย เพราะทุกข์นี้มันบีบมันคั้น มันกดมันทบ มันจำกัด นั่นแหละรวมแล้วก็คือว่าอึดอัด บีบคั้น คับข้อง ติด แย่เลย เป็นฝ่ายถูกกระทำ เพราะฉะนั้นจึงว่าให้เอาปัญญารับ พอปัญญารับเราเป็นฝ่ายกระทำต่อมันแล้ว แล้วจิตก็ไปตามปัญญา พอไปตามปัญญา ปัญญานี้มันเป็นตัวทำงานแล้วมันชี้ช่อง จิตมันตามปัญญามันมีทางไปมันก็ไม่อึดอัด ไม่ทุกข์มาก เพราะจิตที่มันจะมีปัญหามันทุกข์ก็คือมันอึดอัด มันติด มันไปไม่ได้ ไม่มีช่องไป คนเราพอมีช่องไปมันก็เบาเลย คนที่มันทุกข์นี้ไม่ช่องทางไป มันติด มันอึดอัด มันถูกบีบ ถูกกด ถูกรัด ถูกทับ แล้วก็อย่างที่ว่าพระพุทธเจ้าจึงสอนว่าทุกข์สำหรับปัญญา รู้ ก็อย่างที่ว่าในทางปฏิบัติก็คือว่าทุกข์นี้ต้องไม่เอาจิตรับเอาปัญญารับแล้วเราก็เป็นผู้กระทำต่อทุกข์ ไม่ใช่เป็นฝ่ายถูกกระทำ อันนี้ก็เป็นวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ต่อเรื่องของทุกข์ของสุข
ก็มาเข้าสู่เรื่องที่ท่านถาม ท่านญาณภัทโธ เอาทีนี้ท่านก็ย้ำคำถามของท่านใหม่
พระญาณภัทโธ: คือที่ได้สนทนากับพระเดชพระคุณในครั้งที่แล้วก็คือว่าพูดถึงเรื่องของกิจในอริยสัจ 4 ก็มีกิจของอริยสัจ 4 ข้อที่ 2 ซึ่งก็คือกิจของสมุทัยก็คือให้ละ คราวนี้ก็เลยอยากจะถามว่าในวิธีการที่ละสมุทัยนี้ก็จะมีเทคนิควิธีการละต่าง ๆ กันไป อย่างเช่นการละตัณหาก็อาจจะใช้ในการสร้างเสริมฉันทะขึ้นมา ใช้ตัณหาเป็นปัจจัยทำให้เกิดฉันทะขึ้นมา หรือการละความโกรธก็อาจจะมีเทคนิควิธีต่าง ๆ กันไป เช่น เอาสติเข้ามารู้ความโกรธแล้วก็ดูความโกรธนั่นไป อะไรอย่างนี้ครับ ก็เลยอยากจะถามท่านพระเดชพระคุณว่าเทคนิควิธีการในการละสมุทัยนี้คือมีวิธีการละสมุทัยแต่ละอย่างอย่างไรบ้างครับ
พระพรหมคุณาภรณ์: มาทำความเข้าใจเรื่องหลักการกันก่อน 4 ข้ออริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระพุทธเจ้าตรัสกิจในอริยสัจไว้แล้ว ทุกข์สำหรับรู้ ปริญญา สมุทัยสำหรับเราต้องละมัน กำจัดมัน ก็ปหานะ แล้วก็นิโรธเป็นจุดหมายที่เราจะต้องทำให้ประจักษ์แจ้งหรือบรรลุถึง แล้วก็มรรคเป็นข้อปฏิบัติที่จะต้องบำเพ็ญ หรือทำให้เป็นให้มี ทีนี้ท่านถามถึงข้อ 2 ว่าสมุทัยจะละอย่างไร อย่าลืมว่าข้อ 2 มันไม่ใช่การปฏิบัติ มันเป็นเพียงบอกสาเหตุที่จะต้องละ ให้รู้หน้าที่ว่าละ แต่การปฏิบัติไม่ได้อยู่ในข้อนี้ เพราะฉะนั้นไม่ถูกข้อกันล่ะ นี่แหละก็สำหรับคนทั่วไปก็จะงงตรงนี้ คือว่า อ้าว! ให้ละตัณหา ละสมุทัย แล้วละอย่างไร เปล่าที่จริงมันก็คือท่านบอกหน้าที่ไว้ ก็สมุทัยท่านให้รู้ว่าต้องละแล้วตัวสิ่งที่เป็นสมุทัยที่ต้องละคืออะไร สำคัญมันอยู่ที่นั่น ก็คือจับให้ได้ว่าอะไรที่ต้องละ ก็คือ 1) ทุกข์บอกสภาพปัญหา บอกตัวโรค ท่านเปรียบเทียบว่าอย่างนั้น 2) สมุทัยก็คือบอกสาเหตุของปัญหาที่จะต้องกำจัดแก้ไข คือเราจะต้องกำจัดแก้ไขมัน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้บอกวิธีปฏิบัตินะ คือให้รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับมัน เหมือนกับว่าสาเหตุของโรคคือเชื้อโรคต้องจับให้ได้ว่าเป็นเชื้ออะไร ต้องกำจัด ให้รู้อย่างนี้ก่อน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้บอกว่าต้องกำจัดอย่างไรนะ แล้วก็ต่อไปก็วางจุดหมายว่าจะไปบรรลุจุดหมายได้ให้มีสุขภาพดีปราศจากโรคนี้ได้แค่ไหนขั้นไหนอะไรอย่างไร แล้วต่อจากนั้นก็คือมรรค วางวิธีปฏิบัติ อันนี้พอเรารู้โรค รู้สาเหตุของโรค ตัวเชื้อโรค อะไรต่ออะไรเป็นต้น หรือความคลาดเคลื่อนผิดพลาดในระบบของร่างกายอยู่ที่ไหน สาเหตุจับสมุทัยจับสมุฏฐานได้แล้ว ตอนนี้ก็จะรู้จุดที่จะแก้แล้วไปวางวิธีแก้คือข้อสุดท้าย วิธีปฏิบัติอยู่ข้อสุดท้าย วิธีปฏิบัติทั้งหมดนั่นแหละ เมื่อปฏิบัติตามมันแล้วการแก้ปัญหาก็ดำเนินไปเอง เข้าใจไหม ปฏิบัติข้อที่ 4 แล้ว ข้อที่ 2 ก็เป็นไปเอง ข้อที่ 3 ก็ใกล้เข้าเอง นี่แหละทำข้อ 4 ข้อเดียวแหละที่จริงได้ตั้งแต่ข้อ 1 ไปเลย การที่เข้าในสภาพปัญหาชัดก็อาศัยข้อ 4 ในการปฏิบัตินั่นแหละ หมอที่จริงก็เรียนไปอย่างนี้ เช่นว่าเรียนกายวิภาค เรียนสรีรวิทยา อะไรต่ออะไร เข้าใจร่างกายเป็นที่ตั้งของโรค เหมือนกับเราเรียนขันธ์ 5 เป็นที่ตั้งของทุกข์ ถ้าหมอไม่ได้เรียน อยู่ ๆ ก็เรียนโรคเฉย ๆ ได้ไหม ต้องเรียนร่างกายอันเป็นที่ตั้งของโรค เราเรียนชีวิต เราเรียนเรื่องทุกข์ จะแก้ทุกข์ เราต้องเรียนขันธ์ 5 อันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เหมือนกับเรียนร่างกายอันเป็นที่ตั้งแห่งโรค หมอไม่เรียนร่างกาย ไม่รู้จักกายวิภาค ไม่รู้สรีรวิทยา แล้วจะไปแก้โรคได้อย่างไร แต่ว่าเรียนไม่ใช่ว่าจะไปจัดการร่างกายนะแต่โรคมันอาศัยร่างกายอยู่ อาการมันเกิดขึ้นที่ร่างกาย ขันธ์ 5 มันเป็นที่ตั้งของทุกข์ก็เลยต้องเรียนขันธ์ 5 แต่นี้วิธีปฏิบัติก็พอถึงภาวนามรรคจะต้องรู้เข้าใจตั้งแต่เรื่องทุกข์ข้อที่ 1 รู้เรื่องขันธ์ 5 อันเป็นที่ตั้งของทุกข์รู้อะไรต่ออะไรหมดเลย แล้วก็รู้สมุทัย แล้วก็การปฏิบัติก็เป็นการกำจัดสมุทัยไปในตัว แล้วก็การปฏิบัตินั้นก็เป็นการก้าวหน้าไปสู่จุดหมายคือนิโรธ ถูกไหม ทำข้อเดียว เวลาปฏิบัติอยู่ข้อสุดท้ายข้อเดียว ตกลง 3 ข้อแรกนี้ไม่ได้ทำอะไรหรอก เราไม่ได้ทำหรอกนะ แต่เราต้องรู้ว่าอันไหนมันเป็นอะไร จะต้องทำหน้าที่ต่อมันอย่างไร บอกว่าสมุทัยต้องละ ละอย่างไร ไปปฏิบัติข้อ 4 โน้น เข้าใจแล้วนะ
พระญาณภัทโธ: ครับ
พระพรหมคุณาภรณ์: เอาล่ะนะ นี่ ๆ จับให้ถูก พอปฏิบัติข้อ 4 ปั๊บ ทุกข้อแหละครับมันเป็นการกำจัดสมุทัยไปในตัวแล้วนั่นดูสิมรรค เกิดสัมมาทิฏฐิ ก็เป็นการที่เริ่มทำลายสมุทัยแล้ว ไม่เห็นจะต้องไปแก้ตรงไปตรงมาเลยใช่ไหม สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ ว่าไปจนสัมมาสมาธิ นั่นแหละทั้งหมดเป็นกระบวนการเป็นวิธีปฏิบัติ อันนั้นเป็นตัวกระบวนทั้งหมดระบบการปฏิบัติในการที่จะแก้สมุทัยในการที่จะละ เมื่อปฏิบัติตามนั้นก็คือแก้หมดเลย แต่ทีนี้ว่าบางทีเราต้องการซอยละเอียด แก้เฉพาะกรณี เอาล่ะในมรรคนี้ก็แยกแยะซอยไป เช่นว่าขั้นต้นนี้มรรคมีองค์ 8 ท่านก็จัดให้ดูง่ายขึ้นเป็นระบบโดยรวมเป็น 3 เป็นศีล สมาธิ ปัญญา นี่เริ่มเข้าสู่การจัดระบบในการแก้ไขปัญหาแล้ว ทั้งหมดนี้มันก็เป็นการกำจัดตัวสมุทัยทั้งนั้นแหละ ในกรณีที่พูดแบบกว้างไปสู่จุดหมายแก้ทุกข์ทั้งหมดโดยไม่ระบุเป็นกรณีเฉพาะก็เอาทั้งระบบศีล สมาธิ ปัญญา ท่านก็จะบอกศีลนี้ก็แก้เรื่องทุกข์หรือปัญหาพวกกิเลสที่มันหยาบ ๆ สมาธิหรืออธิจิตตสิกขาก็แก้กิเลสระดับกลาง แล้วปัญญาก็แก้กิเลสระดับละเอียดประณีต อันนี้ก็ต้องพูดกันไปทั้งระบบ ทีนี้ท่านพูดเฉพาะกรณี เช่น แก้ความโกรธ เป็นคนขี้โกรธมักโกรธจะแก้อย่างไร อันนี้ก็เอามรรคนี่แหละมาประยุกต์อีกที ตอนนี้เรามาอยู่ที่ข้อ 4 เราไม่ต้องไปอยู่ที่ข้อ 2 แล้ว เข้าใจไหม
พระญาณภัทโธ: เข้าใจครับ
พระพรหมคุณาภรณ์: เอาล่ะ นี่ ๆ ตกลงตอนนี้พอเราเข้าใจตรงนี้แล้ว เรามาอยู่ที่ข้อ 4 เราก็มาจัดเอาล่ะทีนี้ข้อ 4 นี้จะยักเยื้องได้วิจิตรพิสดารมาก เหมือนอย่างกับหมอนี้ได้ระบบการแก้ไขโรคทั้งหมด มันมีทุกอย่างเลยตั้งแต่ว่ามีความรู้ ถ้าไม่มีความรู้หมดท่าเลย สัมมาทิฏฐิไม่มี ไม่รู้จักโรค ใช่ไหม เข้าใจไม่ถูกเลยก็เป็นอันไม่ต้องแก้กันแล้ว เลิกกันเลย แล้วนอกจากนั้นกระบวนวิธีแก้โรคมันยังต้องมีอีกนะ จัดระบบ หมอก็ไม่พอต้องมีพยาบาลช่วย บุรุษพยาบาลช่วย ต้องมีโรงพยาบาล จัดตั้งโรงพยาบาลอีก ต้องมีการผ่าตัด ต้องมีเครื่องมือมีอุปกรณ์อะไรต่ออะไร นี่แหละก็ดูสิอยู่ในข้อมรรคทั้งหมดเลย ที่เรียกว่าข้อปฏิบัติการภาวนา ทีนี้ภาวนามันก็เลยกลายเป็นคำคลุมภาคปฏิบัติการทั้งหมด แต่เวลาเอาเข้าจริงคำนี้มันก็เป็นคำครอบ ถ้าซอยละเอียดพระพุทธเจ้าในบางพระสูตรพระองค์ก็แยกไปบอกว่า การแก้เรื่องเสียหายที่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์นี้บางพระสูตรอย่างพระสูตรที่ 2 ในมัชฌิมนิกาย พระองค์ตรัสไว้ 7 วิธี นี่ยกตัวอย่างเท่านั้นนะ ท่านเรียกว่าสัพพาสวสังวรสูตร บอกว่าเรื่องเสียหายบางอย่างแก้ด้วยการเห็นความจริง ว่างั้นนะ เมื่อเห็นความจริงเข้าใจความจริงแล้วก็ละได้เลย ท่านลองนึกดูสิ บางอย่างพอเห็นเข้าใจความจริงแล้วก็หลุดหมดเรื่องไป บอกบางอย่างต้องละด้วยการระแวดระวัง คือคอยระวังตัวอย่าให้ถลำไป ท่านยกตัวอย่างเช่นการใช้ตาหูจมูกลิ้นของเรานี้ อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมทั่วไปซึ่งจะไม่ให้เกิดปัญหา เช่น ความทุกข์ ความเสียหาย เรื่องเดือดร้อนขึ้นมาถ้าเราไม่ระวังการใช้ตาหูจมูกลิ้นประจำวัน เรียกว่าไม่มีสังวร อินทรีย์สังวรไม่มี ถลำปั๊บไปเลยใช่ไหม อย่างใช้ตาอย่างนี้ ตาไม่สังวรไม่ระวังก็ถลำพรวด เกิดเรื่องแล้ว หูถลำไป อย่างดูทีวีฟังอะไรต่ออะไรนี้ไม่มีสังวร ไม่ระแวดระวังตัว ไม่มีใช้สติ ก็ถลำพลาดไปลุ่มหลงมัวเมาเสียหายไปเลย อย่างนี้เรียกว่าแก้ด้วยสังวรคือการระมัดระวังการปิดกั้น ไม่ถลำไป ไม่ตกหลุมมัน ไม่ไปตามเหยื่อที่เขาล่อ เป็นต้น ก็หมายความว่ามีสติที่จะป้องกันตัว ระวังตัวได้ นี่ก็วิธีหนึ่ง อีกวิธีท่านเรียกว่าปฏิเสวนา อันที่หนึ่งท่านเรียกว่าทัศนา อันที่สองท่านเรียกว่าสังวรา สังวราก็ระวังนั่นแหละ ระวังไม่ถลำ อันที่สามปฏิเสวนา ปฏิเสวนาก็คือการกินใช้เสพบริโภค มนุษย์มีชีวิตอยู่ต้องกินใช้เสพบริโภค ต้องกินใช้เสพให้เป็น อันนี้คือชีวิตประจำวันของเรา ถ้าเรากินใช้เสพไม่เป็นก็ลุ่มหลงไปตามคุณค่าเทียมก็เกิดปัญหาอีก มันเป็นเรื่องชีวิตประจำวันที่เราจะต้องประสบอยู่ตลอดเวลา แค่นี้ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกกับการกินใช้เสพ แก้ด้วยการกินใช้เสพให้ถูกต้อง รู้ว่ากินอาหารเพื่ออะไร แล้วก็ใช้เครื่องนุ่งห่มหรืออะไรต่ออะไรเป็นต้นให้ถูกต้องตามความหมายคุณค่าที่แท้ของมัน ต่อไปบางอย่างท่านใช้คำว่าอธิวาสนา แก้ด้วยการอดทนอดกลั้นให้อยู่กับมันได้ เช่นว่าบางทีเราก็ต้องยอมรับในบางเรื่องในชีวิตประจำวันที่เราต้องอยู่กับมัน เช่น ดินฟ้าอากาศ หนาวร้อนที่พอทนได้ เราก็ต้องยอมรับมัน อยู่กับมันให้ได้ ใจยอมรับก็เรียกว่าอดทนได้ ไม่ใช่ว่าจะโวยวายอยู่เรื่อย ถ้าโวยวายอยู่เรื่อยก็มีเรื่องเดือดร้อนเรื่อยเหมือนกัน อันนี้ท่านเรียกว่าอธิวาสนา ต้องมีความอดทนอดกลั้นยอมรับอยู่กับมันให้ได้ ก็เป็นการปรับตัวชนิดหนึ่ง อันนี้มนุษย์ก็จำเป็นต้องฝึกต้องหัด แล้วต่อไปท่านเรียกว่าปริวัชชนา หลีกเว้น อันนี้เราก็ต้องรู้จักพิจารณาเอา บางอย่างก็ต้องหลีกเว้น อย่างพระเช่นว่าสถานที่อโคจรก็ไม่ไป หลีกเว้น หรืออย่างชาวบ้าน แหล่งอบายมุขก็ควรจะหลีกเว้น ในเมื่อตัวเองไม่รู้จักหลีกเว้นสิ่งเหล่านี้มันก็นำชีวิตของตัวเองเข้าไปหาปัญหาเลย แล้วมันก็จะมีเรื่องต่อเนื่องไปเป็นปัญหาเรื่อย เพราะฉะนั้นต้องรู้จักหลักเว้นเลย อันนี้เรารู้แต่ต้นว่าเป็นช่องทางของความเสียหาย เป็นอบายมุข เป็นอโคจร เราก็ตัดเลย เว้นเลย ท่านเรียกว่าปริวัชชนา หลีกเว้น ต่อไปอีกข้อหนึ่งท่านเรียกว่าวิโนทนา การบรรเทาจนกระทั่งกำจัดให้หมดไป มันเป็นเรื่องธรรมดามนุษย์เรานี้มันก็มีสิ่งดีสิ่งร้ายเกิดขึ้นแม้แต่ในจิตใจมันก็เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นได้แล้วถ้าเรารู้ว่าดี เราก็รู้ทัน แล้วก็เพิ่มพูนพัฒนามันขึ้น แต่อะไรที่มันเสียเราก็รู้ทันเราก็ยั้งมันแล้วก็ค่อย ๆ ชำระสะสางกำจัดให้หมดไป ท่านเรียกว่าบรรเทา เหมือนกับว่าถ้ามีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นมาเรารู้ทันแล้วเราก็อย่าไปตามใจมัน อย่าไปพัฒนา อย่าไปปรุงแต่งมันต่อ เช่นว่าปรุงแต่ดีกับปรุงแต่ไม่ดี ฝ่ายปรุงที่ดี ๆ มาเราก็ปรุงแต่งดีต่อ แต่ที่ไม่ดีเราไม่ยอมปรุงแต่งต่อ ไม่ตามใจมัน เรากลับขจัดมันหรือบรรเทามันทำให้หมดไปเลย หรือว่าเราเคยมีเช่นอย่างความโกรธ เราก็รู้ว่าจะต้องบรรเทาแก้ไขกำจัดเลิกละให้หมดไป เราก็ค่อย ๆ หาวิธี ตอนนี้เราจะมาถึงเทคนิคแล้ว ตอนนี้หลักการก็คือว่าในการปฏิบัติคือใช้วิธีบรรเทาจนกระทั่งลดละให้หมด ส่วนเทคนิคจะมาอีกขั้นหนึ่ง มันจึงมีรายละเอียดเยอะไง เหมือนกับหมอที่จะรักษาตอนขั้นนี้หมอก็เก่งไม่เหมือนกันแล้ว เพราะว่าหมอบางคนก็ถนัดเทคนิคอะไรต่าง ๆ ที่หมอบางท่านก็อาจจะไม่รู้ การปฏิบัติทางจิตก็เหมือนกัน แต่ว่ารวมแล้วก็คือต้องวิโนทนา ต้องบรรเทากำจัดให้มันหมดไป ความโกรธมันเกิดขึ้นเราก็มีวิธีในการที่จะบรรเทาละลดให้มันหมดไป แล้วก็หาวิธีไป เรียกว่าได้วิธีปฏิบัติในขั้นหลักการทั่วไปก่อน แล้วอีกอันหนึ่งอันสุดท้ายก็เป็นคำรวมหมดคือภาวนา ภาวนาก็คำที่ใช้กับมรรคทั้งข้อแหละ ก็คือเจริญ ทำให้เกิดให้มี ทำให้เพิ่มพูนขึ้น อันนี้ก็คืออะไรที่มันดี ๆ ปกติเมื่อเราพัฒนากุศล พัฒนาสิ่งที่ดีแล้ว มันก็ 1) ปิดกั้นโอกาสฝ่ายร้าย 2) มันมามีกำลังเหนือฝ่ายร้ายมันก็ข่มฝ่ายร้ายให้หมดแรง หรือว่ามันก็ไล่ฝ่ายร้ายออกไปเลย เพราะฉะนั้นตัวท้ายนี้มันเป็นข้อจำเป็นที่สุด ดังนั้นฉันจึงใช้เป็นคำรวมเลย ในกรณีที่เรียกที่เดียวใช่ไหมก็ใช้ตัวท้ายนี้ภาวนารวมหมด ก็คือพัฒนาฝ่ายกุศลขึ้นไป เจริญกุศลให้มันขึ้นไปเรื่อยไป จากกุศลน้อยไปกุศลมาก จากกุศลระดับต้นเป็นกามาวจรขึ้นไปสู่รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตระ ขึ้นไปเรื่อย กุศล เรื่องภาวนาก็คือรวบยอด ทีนี้ว่าในแง่รายละเอียดก็มาแยกอย่างที่ว่า ก็พอเห็นไหมว่ามีวิธีปฏิบัติเยอะ ทีนี้เราก็ไปเนี่ยแหละ ก็เห็นว่ามันมีทั้งหนึ่งหลักการ ก็เอาเป็นว่าหลักการใหญ่ก็คือภาวนาข้อ 4 อยู่ในมรรคเป็นข้อปฏิบัติในการที่จะแก้ปัญหาแก้ทุกข์ แล้วก็ไปวางวิธีปฏิบัติต่าง ๆ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ แล้วจากวิธีก็ไปเทคนิคว่ามีข้อวิธีปฏิบัติในรายละเอียดอย่างไร อันนี้ก็จะเยอะหมด
แต่ทั้งหมดนี้มันมีอันหนึ่งที่เป็นตัวที่จะช่วยตลอดเลยในทุกกรณีก็คือสิ่งที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ เจ้าโยนิโสมนสิการนี้ช่วยหมด เข้าไปช่วยในทุกเรื่องทุกวิธีเลย เพราะเจ้าโยนิโสมนสิการนี้จะเป็นตัวเชื่อมต่อจิตไปสู่ปัญญา จิตมันเดินหน้าไปสู่ปัญญาได้ด้วยอาศัยโยนิโสมนสิการ พูดอย่างหนึ่งก็คล้าย ๆ ว่าโยนิโสมนสิการนี้คือการเดินจิต เดินจิตไปถูกทางปัญญาก็เกิด แล้วปัญญามันก็เอาเจ้าโยนิโสมนสิการมาเป็นเครื่องมือช่วยจิตต่อไป มันก็ก้าวไปเรื่อย ๆ ยิ่งใช้โยนิโสมนสิการจิตมันก็ยิ่งมีทางไป มีทางเดินไปมันก็ไม่ติด ไม่อึดอัด มันก็ไม่เป็นทุกข์ แล้วมันก็ยิ่งเจอทางไปมันก็ยิ่งได้ปัญญาก็ยิ่งรู้ขึ้นมาอีกใช่ไหม ปัญญาก็ยิ่งพัฒนาไป เมื่อปัญญาพัฒนาได้รู้ช่องทางเยอะขึ้นมันก็ชำนาญยิ่งขึ้น ปัญญาก็พัฒนากันใหญ่มันก็ช่วยจิตอีก เพราะฉะนั้นโยนิโสมนสิการนี้ใช้เรื่อยเลย ทีนี้อย่างที่ว่าวิโนทนาอย่างการแก้ไขกำจัดเรื่องของความโกรธเป็นต้นที่ว่าเทคนิคนี้โดยมากก็มาอยู่ที่โยนิโสมนสิการนี่แหละ มาใช้โยนิโสมนสิการก็มีทั้งระดับสมถะ มีระดับวิปัสสนา อันนี้เห็นจะเป็นอย่างกว้าง ๆ พอเข้าใจแนวทางว่าไม่ใช่เป็นเรื่องแคบ ๆ ไปได้เยอะแยะหมดเลย นิมนต์มีอะไรก็ถาม ก็อย่างนี้คนที่มีโยนิโสมนสิการเขาไปได้หมด มันออกได้หมดเลย เรื่องร้ายกลายเป็นดี พลิกสถานการณ์ แต่บางทีมันก็มายากเหมือนกันโยนิโสมนสิการ ต้องฝึกบ่อย ๆ ฝึกใช้มันเรื่อย ๆ ต่อไปมันก็ค่อย ๆ เห็นช่องทางใหม่ ๆ เหมือนอย่างที่ว่าที่เคยยกตัวอย่าง บอกเกิดมาจน พอเกิดมาจนแล้วมัวไปจับเจ่าทุกข์เสียนี้ มันก็หงอเลยจริงไหม ทุกข์เศร้าหม่นหมอง แล้วพอทุกข์แล้วมาท้อด้วยอีกมันก็เลยแย่เลยยิ่งทุกข์หนักเข้าไปอีกเพราะท้อซ้ำเข้าไปอีกก็ทุกข์หนักเข้าไปอีก ถ้าโยนิโสมนสิการมารู้ว่าเราเกิดมาจน อ้าว! มันมีทางคิดได้เยอะ ดูสิพวกมหาบุรุษเกิดมาจนเยอะเลยใช่ไหม เอดิสันบ้างอะไรบ้าง แล้วเขาทำอย่างไรชีวิตเขากลับประสบความสำเร็จ พวกเกิดมาจนนี้ประสบความสำเร็จเยอะแยะเลย หรือเอากันตามหลักธรรม นี่คิดแบบหนึ่งก็คือไปออกเป็นตัวอย่างในชีวิตจริงหรือในประวัติของมหาบุรุษ หรือคิดตามหลักธรรม บอกว่าคนที่เกิดมาจนนี่น่ะก็คือคนที่เจอสิ่งที่จะต้องแก้ไขเยอะ เจอปัญหาสำหรับลับปัญญา คนที่จนก็คือมันติดขัด มันขาดแคลน มันก็ต้องดิ้นรนขวนขวายหาทางทุกอย่างไปหมดเลยทั้งร่างกายทั้งด้านพฤติกรรมก็ต้องขวนขวายเพียรพยายามมากเพื่อจะดิ้นรนไปให้พ้นจากปัญหานี้ แต่เราต้องใช้ความคิดให้ถูกก็คือว่าดิ้นรนอย่างไรให้มันถูกทาง ไม่ให้ผิด ไม่ให้เกิดผลเสียทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ถึงเกิดแก่ผู้อื่นในที่สุดมันก็ย้อนกลับมาเป็นปัญหาทุกข์กับตนเองนั่นแหละ เราก็ต้องมีความฉลาด เมื่อเราจนมีความติดขัดมากก็ต้องดิ้นรนมาก พฤติกรรมก็ต้องเพียรพยายามหาทาง นี่ก็เราจะเข้มแข็งตรงนี้แหละ คนที่รู้จักดิ้นรนทำโน้นทำนี้ต่อไปมันก็เกิดทักษะในการทำงาน แล้วจิตใจมันต้องเจอกับเรื่องที่บีบคั้นเรื่องที่มันไม่สะดวกอะไรต่าง ๆ มันต้องเข้มแข็ง ได้ฝึกความอดทน ความหนักแน่นอะไรต่าง ๆ ความเพียรพยายาม ความมีใจสู้ไม่ท้อถอยเกิดขึ้น ก็ได้ฝึกจิตใจมากแล้วปัญญาต้องคิดตลอดเวลา ปัญหาก็คือความติดขัดที่จะต้องแก้ไข การที่จะแก้ไขได้ก็ต้องมีความคิด ก็คิดหาทางที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ก็ลับปัญญาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นความจนนี้ก็เป็นสถานการณ์ที่เป็นแบบกันเองในแง่นี้ที่จะทำให้คนพัฒนาทั้งพฤติกรรม พัฒนาพวกทักษะต่าง ๆ พัฒนาจิตใจแล้วพัฒนาปัญญา ได้เปรียบกว่าคนที่เกิดมารวย ว่าอย่างนั้นนะ เกิดมารวยเกิดมาในครอบครัวที่อุดมสมบูรณ์ถ้าพ่อแม่ไม่มีสติปัญญาก็เอาแต่ตามใจ ทีนี้คนที่เกิดมาแล้วไม่ต้องคิดไม่ต้องทำอะไรได้รับการบำรุงบำเรอต่อไปก็ทำอะไรไม่เป็น ร่างกายก็อ่อนแอ พฤติกรรมก็ไม่มีทักษะเพราะไม่ได้ฝึกทำอะไรเลย ทำอะไรก็ไม่เป็น ทักษะไม่มี จิตใจก็ไม่เข้มแข็งอ่อนแอ ไม่ได้ฝึกเลย ปัญญาก็ไม่ได้ใช้ความคิด ไม่มีแบบฝึกหัดให้คิดทำ ไม่พัฒนาเลย ต่อไปแย่ ต้องพึ่งคนอื่นเท่านั้น พึ่งพ่อแม่เป็นต้น หรือแม้แต่พึ่งคนใช้ ถ้าไม่มีคนอื่นทำให้ต่อไปแย่ เราจะเห็นว่าพวกที่ยากจนหรือว่ามีความทุกข์ยากลำบากนี้ถ้าไม่ผิดทางเฉไฉไป เช่น ออกไปในทางความชั่ว ไม่มัวจับเจ่าทุกข์ทนโดยท้อแท้นะ จะเข้มแข็งแล้วจะเจริญพัฒนาได้ดี นี่แหละโยนิโสมนสิการนี้เป็นตัวที่จะทำให้ไปถูกทางแล้วก็ทำให้ชีวิตได้ประโยชน์จากสิ่งที่เลวร้าย สิ่งที่เลวร้ายคืออะไร ก็ทุกข์และปัญหานั่นแหละ ทุกข์และปัญหาเป็นสิ่งที่เลวร้าย เมื่อมันมาเจอโยนิโสมนสิการก็กลายเป็นแบบฝึกหัดไป มันก็กลายเป็นดีสิ เราก็เอาประโยชน์จากมัน ก็เลยพูดไว้บ่อย ๆ บอกว่าไม่มีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบสมบูรณ์ หรือสัมบูรณ์ absolute ไม่มี ถ้ามีโยนิโสมนสิการแล้วอาจจะพลิกสถานการณ์ที่เสียเปรียบเป็นได้เปรียบ แต่คนที่ไม่มีโยนิโสมนสิการก็ทำให้สถานการณ์ที่ได้เปรียบกลายเป็นเสียเปรียบ อย่างคนหนึ่งเอาเคราะห์เป็นโชค คนหนึ่งเอาโชคก็เป็นเคราะห์ไปเลย เหมือนคนไทยนี่แหละโชคดีอยู่สบาย ถ้ามัวขี้เกียจแล้วก็เอาโชคเป็นเคราะห์ไป คนที่เขาประสบปัญหาลำบากทุกข์ยากเจอเคราะห์ เขาเข้มแข็งไม่ท้อถอยก็เปลี่ยนเคราะห์เป็นโชคไป ก็รู้จักใช้ประโยชน์มันโยนิโสมนสิการ ชีวิตมนุษย์เราถึงอย่างไรเราก็รู้ความจริงว่าก็เป็นสังขาร มันเกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ไปอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยที่เกื้อกูลบ้าง ปัจจัยที่ขัดแย้งบ้าง มันก็เป็นธรรมดา เราอยู่ในท่ามกลางสิ่งเหล่านี้เราก็ต้องปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยแวดล้อมภายในภายนอกเหล่านี้ให้ถูกต้อง ให้มันเกิดประโยชน์ให้ได้ อันนี้จะสำเร็จได้อย่างไร ก็อาศัยโยนิโสมนสิการนี่แหละ โยนิโสมนสิการก็เลยเป็นประโยชน์ในทุกกรณี พอเข้าใจเรียนเรื่องโยนิโสมนสิการกันแล้วใช่ไหม คิดว่าคงจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เป็นประโยชน์มากตัวนี้ในชีวิตในสังคมไม่ว่าชีวิตชาวบ้านชาววัด อันนี้เอาไปใช้ได้หมด มีอะไรสงสัยอีกไหม
พระญาณภัทโธ: เรื่องความจำ สงสัยว่าเวลาพระเดชพระคุณอ่านหนังสือนี้คือที่จะให้จำได้คือจำได้ในครั้งเดียวหรือว่าจะต้องอ่านซ้ำ ๆ หลาย ๆ รอบครับ
พระพรหมคุณาภรณ์: ผมไม่ใช่คนจำเก่งอะไร
พระญาณภัทโธ: คือมีปัญหาเรื่องความจำ มันจะไม่ค่อยติดอยู่ในสมอง
พระพรหมคุณาภรณ์: ก็มีว่านอกเหนือจากปกติแล้วคนก็มีความสามารถในการจำไม่เหมือนกัน แต่ทีนี้นอกเหนือจากนั้นก็มีวิธีอีกอย่าง เอาหลักการก่อนไหม ยอมเสียเวลาอีกนิด คือความจำสมัยใหม่เขาก็ยังแยกไม่ชัด คือตามพุทธศาสนาคำว่าจำมันไม่คำเฉพาะ ต้องแยก จำในความหมายหนึ่งคือระลึกออกมาได้ ระลึกออกมาได้นี้เรียกว่าสติ ทีนี้จำ จำในตอนที่ว่าจะจำเอาไว้ จำไว้นะ อะไรอย่างนี้ นี่เรียกว่ากำหนดหมาย เรียกว่าสัญญา คนไทยแม้แต่สัญญาก็ไม่ชัดเพราะมีคำว่าจำแกก็สับสนพล่าไปหมด จำของสัญญาหมายความว่าเป็นการเรียกเก็บข้อมูล เรียกเก็บข้อมูลก็คือกำหนดหมาย แล้วสติก็คือเรียกเอาข้อมูลที่เก็บไว้นี้มาใช้ 2 ตัวนี้เป็นตัวสำคัญของความจำ เป็นองค์ประกอบฝ่ายนำของนามธรรม ฝ่ายรูปธรรมไม่ต้องพูดในที่นี้ ก็คือ 2 ขั้นตอนนี้ สัญญาเป็นตัวเรียกเก็บไว้ แล้วสติก็คือเป็นตัวเรียกมาใช้ ท่านก็บอกว่าวิธีหนึ่งที่จะให้จำแม่นเพราะเวลาจำเราจะมาตัดสินเอาตอนที่เรียกใช้ใช่ไหม เรียกใช้ไม่ได้เราก็บอกว่าจำไม่ได้ ถูกไหม ที่จริงก็คือสติมันนึกไม่ออก มันระลึกไม่ได้ เรียกใช้มันไม่ได้ ท่านบอกว่าก็ต้องสัมพันธ์ 2 ฝ่ายนี้ให้มันดี ฝ่ายเรียกเก็บตอนนั้นแหละสำคัญ ถ้าเรียกเก็บไว้ไม่ดีมันก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาใช้ ฉะนั้นวิธีที่ 1 ในการที่จะให้ความจำดี ท่านบอกว่ามีการกำหนดหมายคือสัญญาให้ชัดเจน เพราะฉะนั้นคนที่มีความสนใจอะไรจริงจังแล้วตั้งใจกำหนดหมายสิ่งนั้นก็จะจำสิ่งนั้นชัด แม้แต่ปกติไม่ต้องตั้งใจหรอกแต่คนที่สนใจอะไรมาก ๆ เป็นธรรมดาโดยธรรมชาติสัญญามันจะกำหนดหมายสิ่งนั้น เอาจริงเอาจัง เมื่อมันเรียกเก็บด้วยความตั้งใจมีเจตนาจริงจัง สัญญามันมุ่งเอาจริง ๆ จัง ๆ ก็เรียกเก็บไว้ชัด ตอนสติมาเรียกใช้ก็ง่ายขึ้น มันอยู่ ก็เลยใช้หลักการนี้ก็บอกว่ากำหนดหมายให้ชัดเจน เมื่อเรากำหนดหมายอะไรให้ชัดเจน เช่น เราได้รายละเอียด ได้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งนั้น ๆ ได้ดี แล้วจะจำได้ดี สติเรียกใช้ก็ง่าย จะอยู่ เพราะฉะนั้นใช้หลักการกว้าง ๆ ก็คือบอกว่าสัญญาที่ชัดเจนก็จะทำให้สติทำงานได้ชัดเจนด้วย ทำงานได้ผลดี ก็เอาหลักการนี้หมายความว่าต้องการที่จะจำอะไรก็กำหนดหมายให้ชัดเจน แล้วยิ่งสามารถสร้างผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งนั้นได้ดีด้วยแล้วมันจะช่วยความจำ แม้แต่สมัยนี้เขาก็มีเทคนิคในการจำโดยการที่ใช้วิธีสร้างความสัมพันธ์นี้ อย่างท่านจะท่องหัวข้ออะไร 10 ข้อ ข้อหนึ่งบางที 2 บรรทัดแน่ะ 2 บรรทัด 10 ข้อก็ 20 บรรทัด โอ้โห! แย่เลย ท่องอย่างไรดี ก็ใช้วิธีง่าย ๆ อันนี้เป็นเทคนิค ก็คือในแต่ละข้อเราดูให้เข้าใจก่อน ข้อ 1 ว่าอย่างนี้เราเข้าใจแล้ว แล้วก็นึกในใจให้ได้ ลองไม่มอง เหลือบตาไปทางอื่น ข้อนี้นะเราเข้าใจความหมายอย่างนี้แล้ว แล้วข้อ 2 เราก็ทำแบบนี้ เข้าใจหมด ทีนี้ใน 10 ข้อนี้เลือกเอาข้อละตัว คำเดียวเป็นตัวแทนของแต่ละข้อ พอพูดคำนั้นขึ้นมาปั๊บมาทั้งข้อเลย นี่คือระบบสร้างสัญญาที่มีการผูกโยงสร้างความสัมพันธ์ ตัวเดียวครับ จำไว้ คำเดียวหรือตัวเดียวด้วยซ้ำแล้วก็ได้ทั้งข้อ ข้อ 1 ก็จำไว้คำหนึ่ง ข้อ 2 ก็จำไว้คำหนึ่ง ถ้าเลือกคำได้คล้องจองกันด้วย ของข้อที่ 1 ก็คำหนึ่ง แล้วมาข้อ 2 ก็เป็นคำที่คล้องจองกับข้อ 1 อีก ข้อ 3 ก็คล้องจองกันอีก คราวนี้ละ พรวดเดียว 1 ถึง 10 พอไปนึกที่ไหนก็นึก 10 คำนี้ขึ้นมาปั๊บ เอาล่ะ ขยายได้เลย 1 ก็ขยายจากคำเดียว 2 ก็ขยายจากคำเดียว หมด พอเห็นทางไหม เอาไปใช้เถอะ ได้ประโยชน์ แล้วก็เวลาไปสอบก็สบาย อันนี้มันเข้าหลักปฏิสัมภิทา 4 ด้วย ปฏิสัมภิทา 4 ก็ต้องไว้คุยกันอีก เคยเรียนหรือยัง ปฏิสัมภิทา 4 ก็ปัญญาแตกฉานที่ใช้กับข่าวสารข้อมูล ในการเล่าเรียนศึกษาทั้ง 4 ข้อนี้ได้ประโยชน์มาก แล้วก็เวลาจะสอบจะอะไรก็ทบทวนได้ไว เอาไว้คุยกันใหม่