แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ก็มาคุยกันต่อ นี่ก็ใช้วิธีเดิมนั่นแหละ คือ บอกว่าไม่มีเป้าหมายอะไรแน่นอน มาคุยกัน ได้พบปะ สนทนาปราศรัย กันบ้าง แต่ถ้าไม่มีอะไรก็จะถามไถ่ คือ เท่าที่ฟังดูคราวที่แล้วเนี่ย คล้ายๆว่าบางท่านเนี่ยเคยมีพื้นได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องธรรมะมา เอาจริงเอาจังเหมือนกัน เนี่ย ฟังๆดูเนี่ย ก็เลยว่า เออ ถ้าท่านไม่มีอะไรก็ อาจจะคุยกันเรื่องของการศึกษาค้นคว้าอะไรบ้าง และถ้าท่านมีอะไรจะถาม ก็ถามมา มีอะไรมั้ยฮะ
ผู้ถาม : กราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อนะครับ เอ่อ ผมจะถามในเรื่องของคนที่ไม่มีศรัทธา เอ่อ หรือว่าคฤหัสถ์ที่ไม่มีศรัทธา เราจะน้อมนำเขามาในทางธรรมยังไงดี หรือว่าเราจะมีวิธีชักจูงเขาโดยวิธีไหนดีครับ ซึ่งคนที่ไม่มีศรัทธาเนี่ยครับ เขายึดติดกับวัตถุมากๆหรือว่ายึดติดกับตัวเองมากๆครับ
ก็มีปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอก ในกรณีนี้ คล้ายๆว่าปัจจัยภายในไม่เอื้อ เขาไม่ได้มีพื้นความสนใจ ไม่ได้มีความไฝ่ใจของตัวเขาเอง นี้เราก็ไปปรารถนาดีต่อเขา นี้เราเป็นผู้ปรารถนาดีเนี่ย ก็เรียกว่าเป็นปัจจัยภายนอก ก็เลยจะไป เกื้อกูลเขาได้อย่างไร นะ ถ้าใช้ศัพท์พระก็เรียกว่าไปเป็นกัลยาณมิตร นี้การที่จะทำหน้าที่กัลยาณมิตรเนี่ยก็ต้องดูว่า ความเข้มแข็ง ความพร้อมของตัวกัลยาณมิตรเองแค่ไหน แล้วก็ไปโยงกับปัจจัยภายในของเขาว่าเราจะไป มีทางที่จะโน้มอะไรเขาได้หรือเปล่า
แม้แต่พระพุทธเจ้า ยังต้องทรงดูโอกาส ดูความพร้อม อย่างพระพุทธเจ้าเราถือว่าเป็นผู้ที่ทรงมีความสามารถในการสอนอย่างยิ่งแล้วใช่มั้ย เนี่ย พระองค์ หรือว่าถ้าพระองค์ไปเป็นปัจจัยภายนอกแก่ใคร ก็เรียกว่าดีที่สุดแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะทรงสอนได้ทุกคนที่ไหน ใช่มั้ย พระองค์จะสอนใคร พระองค์ก็ต้องดูเขาพร้อมมั้ย ไม่ใช่ว่าอยู่ๆจะไปสอนน่ะ แล้วเพราะความสามารถในการสอนเนี่ย พระองค์ก็ หนึ่ง ดูเขา นะฮะ แง่มุมที่ว่า จะเข้าถึงกัน สอง ก็ดูความพร้อม แล้วถ้าไม่พร้อมเนี่ยจะต้องมีวิธีการในการสร้างความพร้อมอีก นะฮะ คือไม่ใช่จำเป็นจะต้องรออย่างเดียว
วิธีทางพระเนี่ยที่พระพุทธเจ้าใช้ ท่านเรียกว่าบ่มอินทรีย์ คือว่าต้องดูว่าคนนั้นอินทรีย์พร้อม ศรัทธาเขาแค่ไหน ความตั้งใจ เจตนาอะไรต่างๆ ปัญญา ทั้งหมดแหละ มันมีแค่ไหนที่จะพร้อม พระพุทธเจ้าก็ถ้าเขาไม่พร้อม พระองค์ก็ต้องหาวิธีบ่มอินทรีย์ ศัพท์สมัยนั้นเรียกว่าบ่มอินทรีย์ บ่มอินทรีย์ก็ พระพุทธเจ้าก็อาจจะให้สภาพแวดล้อมมาเอื้อ เช่น อย่างภิกษุบางองค์เนี่ย เออ อาจจะให้ไปอยู่ในที่สงบ หรือไม่งั้นก็ บางคนเนี่ยไม่เหมาะกับการไปอยู่ในที่สงบ บางองค์จะไปขออยู่ในที่สงัด ไปอยู่ป่า พระพุทธเจ้ากลับทรงห้าม บอกว่า เนี่ยเธอเนี่ยควรจะอยู่ในสงฆ์ก่อน สงฆ์ก็คืออยู่ในหมู่คณะ ตัวเขาเองเขายังดูไม่ออกเลย นะฮะ
แล้วเคยมีพระบางองค์เนี่ยตามเสด็จพระพุทธเจ้าไป แล้วระหว่างทางน่ะไปเห็นสถานที่บางแห่ง เป็นป่า แหม ดู ดีเหลือเกิน ใจเกิดชอบเฉพาะหน้า อยากจะไปนะ พอมาตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาถึงจุดหมายแล้ว ได้โอกาสก็กราบทูลว่าเนี่ยระหว่างทางได้เห็นที่นั่น ที่นั่นดีเหลือเกิน ข้าพระองค์อยากจะขอไปพักที่นั่น อันนี้เป็นความชอบใจเฉพาะหน้า เจ้าตัวที่จริงไม่พร้อม พระพุทธเจ้าทรงทราบ เพราะทรงเห็นมาอยู่แล้วองค์นี้ พระองค์ก็ตรัสว่า อย่างพึ่งเลยเธอ อยู่ในสงฆ์ก่อนเถอะ องค์นั้นใจกำลังแรง กำลังมุ ขออีก นะฮะ เป็นครั้งที่สาม พอถึงครั้งที่สาม พระพุทธเจ้าจะทรงปล่อยก่อน ก็จะให้เขาไป ได้ทดสอบตัวเอง แต่นี่เท่ากับพระองค์ได้เตือนแล้ว นะฮะ
นี้ท่านก็ไป ไปอยู่ซักพักหนึ่ง ไอ้ใจแรงที่มันเฉพาะหน้าเนี่ย มันก็เบาไป ไอ้ตัวความไม่พร้อมข้างในมันก็โผล่ขึ้นมา เสร็จแล้วก็ไม่ไหว ในที่สุดก็กลับมาหาพระพุทธเจ้า นะฮะ ก็เลยสำนึก มาสารภาพว่าท่านไม่พร้อม และก็ อันนี้ก็เป็นการที่บ่มอินทรีย์อย่างหนึ่ง อ้าว ก็คือเขาได้ไป ได้ตรวจสอบตัวเอง ได้ทดลอง การทดลองนี่ก็เป็นการพัฒนาตัวอย่างนึง ก็เป็นการฝึกไปด้วย แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงใช้โอกาสนั้นในการที่จะได้ตรัสแสดงอะไร เพราะเขาไปนั้นก็เท่ากับทดลองก็มีประสบการณ์ ประสบการณ์นั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงรู้ทัน ใช่มั้ยฮะ ก็เอามาใช้ในการที่จะสอนเขา ก็ทำให้เขาก้าวหน้าไปได้อีก นะฮะ
การลองผิดลองถูกบางทีก็เป็นประโยชน์ แต่ไม่ใช่ผิดแบบเสียหาย นะฮะ ยังงี้เรียกว่าผิดแล้วก็มันกลายเป็นบทเรียนไป เพราะฉะนั้นการที่เราจะไปหวังดีปรารถนาดีอะไรต่อใครเนี่ย เราก็ต้องดูเหตุปัจจัยทั้งภายในของเขา และภายนอกทางตัวเรา เป็นต้น หรือถ้าเราเองยังไม่พร้อม เราก็อาจจะต้องอาศัยท่านผู้อื่นมาช่วย เช่นว่าแทนที่เราจะเข้าไปทำเอง เราก็แนะนำเขาให้อย่างงั้นอย่างงี้ แม้แต่อย่างพ่อแม่อย่างเงี้ย บางท่านก็ปรารถนาดี แต่ว่ารู้อยู่ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เอาด้วย ก็ต้องชักจูงด้วยวิธีที่ให้ท่านได้พบกับสถานการณ์บางอย่าง หรือได้พบกับบุคคลบางคนที่เราเห็นว่าจะสามารถทำให้เกิดแรงจูงใจหรืออะไรขึ้นมา
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ซับซ้อนพอสมควร ไม่ใช่จะพูดได้ง่ายๆ นะ เขาเรียกว่าพูดอย่างรวบรัดก็มีปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอก ถ้าปัจจัยภายนอกก็มันก็คือว่าเราเป็นผู้จะเริ่มตัวเป็นปัจจัยภายนอก แล้วเราพร้อมแค่ไหน แล้วนอกจากตัวเราแล้วเราจะอาศัยปัจจัยภายนอกอื่นมา มาเป็นตัวเกื้อกูลได้มั้ย นะฮะ แทนที่จะเข้าไปทำเองก็หาปัจจัยภายนอกอื่นมาเอื้อดีกว่า ไม่จำเป็นจะต้องทำเอง มันก็ หรือบางทีเราอาศัยปัจจัยภายนอกนั้นมาเป็นทางเป็นช่องทางให้เรา เพื่อเราจะได้เดินได้ นะฮะ อันนี้มันเป็นเรื่องรายละเอียดมากเหลือเกิน ตอบอะไรเด็ดขาดไม่ได้หรอก นะฮะ
จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติเฉพาะแต่ละกรณีเนี่ยต่างๆกันไปมาก นะฮะ เรื่องเดียวกันเข้ามาคล้ายๆกันเนี่ย แต่พระพุทธเจ้าใช้วิธีคนละแบบ นะฮะ บางคนมาถึงก็ด่าๆๆๆ ไม่ชอบพระพุทธเจ้า โกรธ ด่าเอา พระพุทธเจ้าไม่ว่าอะไร อย่างงี้ นะฮะ ก็ทรงฟัง พอเขาเหนื่อยหมดแรงว่า แล้วก็ค่อยว่ากันอีกที ด้วยว่าเหตุที่จะทำให้เขาโกรธมันก็มีหลายอย่าง อย่างท่านเคย อาจจะเคยอ่านอย่างในตระกูลพราหมณ์ พราหมณ์นี่เขาถือตัวมาก เขาถือว่าเป็นวรรณะสูงสุด กษัตริย์กับพราหมณ์เนี่ย สองวรรณะเนี่ยต่างฝ่ายต่างก็ถือตัวว่าสูง แต่พราหมณ์เนี่ยเขาถือมาก่อน เพราะเขาเป็นเจ้าของระบบวรรณะ เพราะว่าเขามาจากพระพรหมโดยตรง ก็ถือว่าอย่างงั้น พระหรหมให้เขาเป็น คล้ายๆเป็นผู้แทนพระองค์เลย นั้นเขาก็ถือว่าเขาสูงสุด อา เขาก็ถือตัวมาก เพราะฉะนั้น ยากที่จะให้เขานับถือ นี้ อย่างแม้แต่ในครอบครัวเดียวกันก็ขัดกัน ตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว ไม่ใช่เฉพาะสมัยนี้ นะฮะ
อย่างรายหนึ่ง พรหมาณีนับถือพระพุทธเจ้ามาก ขนาดที่ว่า เป็นคนแก่แล้ว เวลาทำอะไรพลาดนิดหน่อย อุทานมาเป็น นะโม ตัสสะ ว่างั้นนะฮะ ทำอะไรพลาดพลั้งก็ นะโม ตัสสะ สามีเป็นพราหมณ์นี่โกรธจริงๆ ได้ยิน นะโม ตัสสะ ทีไรก็ แหม ยายนี่มันทำไม มาอุทานแต่ นะโม ตัสสะ วันหนึ่งก็คิด บอกข้าจะต้องปราบศาสดาของแกซะที ก็วันหนึ่งก็ พอ นะโม ตัสสะ ก็อดรนทนไม่ได้บอกไปแล้ว ข้าจะไปแล้ว พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรม เพราะความโกรธก็เลยไปยืนว่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงหยุด กำลังแสดงธรรม ทรงฟัง ไม่ตรัสว่าอะไร พราหมณ์เขาว่าไปจนกระทั่งหมดแรง หมดถ้อยคำ เขาก็หยุดเอง
ก็พระพุทธเจ้าก็ทักทายปราศรัยดีๆ นะฮะ และก็โดยพราหมณ์ไม่รู้ตัวหรอก พระองค์ก็ตรัสถาม เออ พราหมณ์ท่านมีคนเคยไปหาที่บ้านมั้ย พราหมณ์ก็นึกว่าพระพุทธเจ้าคงดูถูกเรา ว่าเราเป็นคนปากร้ายงี้คงไม่มีคนอยากไปหา บอกว่ามีซิทำไมจะไม่มี บอก เออ แล้วก็เวลาเขาไปหานี้ท่านเอาอะไรมาต้อนรับเขามั้ย อู้ ฉันก็ต้อนรับซิ มีน้ำ มีอะไรต่ออะไรเอามา แล้วก็ก็เขามาเยี่ยมเยียมท่านเสร็จแล้วก็หมดธุระแล้วเขาก็กลับไป แล้วก็ของที่ท่านเอาไปต้องรับเขาเนี่ย เป็นของใครล่ะ ก็บอกก็เป็นของฉันนะซิ ฉันเป็นเจ้าของบ้าน เขาไม่ได้กิน เขาไม่ได้ดื่ม บอกก็เนี่ยที่ท่านมาด่าข้าพเจ้าวันนี้นะข้าพเจ้าไม่รับ ก็จบ อ้าว อย่างงั้นก็เป็นของตัวหมด นะฮะ ก็เลยแล้วก็พระพุทธเจ้าก็เริ่มอย่างงี้แล้วก็ค่อยๆดับอารมณ์แกแล้วค่อยคุยกัน คุยกันไปคุยกับมาก็เลยพราหมณ์ก็เลยเลื่อมใส
นี่วิธีต่างๆที่เขาด่านี่มีเยอะนะในคัมภีร์นี่ เพราะพระพุทธเจ้านี่บุกเบิก คือ ในยุคนั้นน่ะ พราหมณ์ก็เป็นเจ้าถิ่นเลย เป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ในสังคม เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่พอใจมาก แต่ว่าพราหมณ์ก็ปัญญาชนสูงสุดในระดับ ในระดับสูงสุดของสังคมนั้นแหละ พระพุทธเจ้าก็ทรงกลับใจพราหมณ์เนี่ยมากมาย จะเห็นว่าพระสาวกที่ยิ่งใหญ่ อย่างอัครสาวกนี่มาจากพราหมณ์ทั้งคู่ ทั้งพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ นะฮะ มหากัสสปะ ประธานสังคายนาก็พราหมณ์ พระอะไรต่ออะไรพราหมณ์แทบทั้งนั้น เพราะปัญญาชนเก่านี่ พื้นฐานเขาดี พอมาก็ พอหันมานับถือพุทธศาสนาก็กลายเป็นกำลังใหญ่ เพราะรู้เข้าใจ รู้เข้าใจสังคม รู้เข้าใจสถานการณ์ รู้วิธีอธิบายอะไรต่ออะไรต่างๆหมด นะฮะ ง่ายเลย
แล้วก็กษัตริย์ก็มีประสบการณ์เป็นผู้ที่อยู่ในขั้นสูงของสังคม ก็เป็นผู้ที่ทำงานให้พระศาสนาได้มากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นสาวกผู้ใหญ่ก็ นอกจากพราหมณ์ในอดีตก็มีกษัตริย์ นอกนั้นก็ พ่อค้าวาณิชเป็นวรรณะแพศย์ ศูทรก็ไม่ค่อยมีชื่อเสียงมาก น้อยๆ ก็อันนี้ก็เป็นธรรมดา เรื่องก็เป็นมาอย่างเงี้ย บางคนก็มาด่า เขาก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นปัญญาชน น่ะ เขาก็รู้พวกถ้อยคำ รู้ประวัติศาสตร์ รู้อะไรต่างๆ เขาก็สรรหาไอ้พวกหลักวิชาการอะไรต่างๆมาพูด ทีก็ใช้ถ้อยคำสูงๆ ในสังคมของเขา ในวิชาการเขามาว่า พระพุทธเจ้าก็ใช้วิธี บางที เพราะบางทีนะ บางทีพระองค์ก็รับหมด เขาว่าอะไรมารับหมด ด่ามาก็รับ เออ ถูกๆๆๆ
พอเขาว่าจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็เอาแล้วละนะ ที่ท่านว่ามาเนี่ย ฉันก็รับว่าเป็นอย่างงั้น แต่ความหมายที่ฉันว่าเนี่ย มันไม่เหมือนของคุณ นะฮะ ทีนี้ ฉันจะพูดให้เธอฟังบ้าง นะ แล้วพระพุทธเจ้าก็อธิบาย ถ้อยคำที่เป็นวิชาการแต่ละคำว่า มันมีความหมายได้อย่างั้นๆ ที่ท่านว่าอย่างเงี้ย มันไม่ ข้าพเจ้าเป็นได้ในความหมายอีกอย่าง นะฮะ แล้วก็ว่ากันไปจนกระทั่งเขาเห็นเพราะปัญญาของพระองค์ว่ารู้ดีกว่าเขา ในเรื่องของเขาเอง นะฮะ ก็ยอมรับนับถือ อะไรไปคบกับเขาบางทีพระองค์ก็ อ้าว คือ เขาก็ถามอะไรพระองค์ พระองค์ก็บอกเนี่ย เหมือนกับเราคนละแนว คนละลัทธิ คนละศาสนา มันก็เข้าใจคนละอย่าง นั้นเอา คุยกันในเรื่องของท่านเอง ในเรื่องลัทธิของท่านเอง ก็เลยพูดในหลักลัทธิของเขา ก็กลายเป็นว่าพระพุทธเจ้ารู้เข้าใจเรื่องของเขา เลยเห็นแง่มุมอะไรต่างๆที่เขามองไม่เห็น เขาก็เลยเลื่อมใส อย่างงี้เป็นต้น
งั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องตอบง่ายๆ นะฮะ พระพุทธเจ้าจึงต้องมีญาณเกี่ยวกับการรู้บุคคล เรียกว่ารู้ความแตกต่างของคนเนี่ยมาก รู้อะไรต่ออะไรหลายอย่าง แต่ว่าอันหนึ่งก็รู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล แล้วรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคลก็อย่างน้อยสองด้าน แนวตั้งกับแนวนอน ความแตกต่างแนวตั้งก็คือ พัฒนาการของเขาใน ที่เรียกว่าอินทรีย์ น่ะ มีอินทรีย์แก่กล้าขนาดไหน เช่นว่าปัญญาน่ะ ระดับไหน ความรู้เข้าใจ อันนี้เรียกว่า ระดับเป็น เป็น แตกต่าง แนวตั้ง นะฮะ พัฒนาแนวไหน และพัฒนาแนวนอน เอ้ย ไม่ใช่ ความแตกต่างแนวนอน แนวนอนก็คือ ความโน้มเอียง ความรู้สึก ความสนใจ ความพอใจ อันนี้ก็สำคัญ คนมีการศึกษา มีปัญญาระดับเดียวกัน แต่ว่ามีความรู้สึก มีแนวโน้มความสนใจไม่เหมือนกัน นะฮะ
พระพุทธเจ้าก็จะต้องทรงทราบทั้งสอง จึงจะตรัสธรรมะได้เหมาะ แล้วก็จี้จุดได้ นี้ และพระองค์ก็มีความสามารถในการดูคนเนี่ย ปั๊บเดียวก็รู้แล้ว นะฮะ บางทีก็หยั่งด้วยการถามตอบ ประเดี๋ยวรู้แล้ว คุยกันถามอะไรไปนิดๆเดียวเขาตอบมารู้แล้วว่าเขาแค่ไหน อย่างไร สนในใจอะไร ใช่มั้ยฮะ ก็ไปได้เลย พอเขาถามมาสักครู่เดียว พระองค์จะกลายเป็นผู้ถาม เขาไม่รู้ตัว ถามมาเดี๋ยวพระองค์ก็คุยไป สนทนาไป เอ๊ กลายเป็นพระพุทธเจ้าถามซะแล้วนะฮะ อา ถามไปถามมากลายเป็นเขาตอบตัวเอง นะฮะ ตกลงไอ้ที่เขาสงสัย เขาตอบตัวเองเสร็จ จบด้วยการที่เขาเข้าใจด้วยการตอบตัวเอง นะฮะ อย่างงี้มันมั่นใจดีว่าเขาตอบเอง ใช่มั้ยฮะ ไม่ต้องไปมัวอธิบายว่ากันวุ่นวายหมด เข้าใจหรือยัง ไม่เข้ายัง อันนั้นก็คุณตอบเอง อธิบายเอง
และท่านก็จะต้องเรียนวิธีในการที่จะเข้าถึง ใช่มั้ยฮะ ถ้าจะช่วยคนอื่น ต้องพร้อมเหมือนกัน ถ้าเราไม่พร้อมจริงๆเราก็ใช้วิธีที่ว่า หาสื่ออื่นมาช่วย เราก็หวังดี แต่ว่าแน่นอนก็คือพื้นใจเรามีความปรารถนาดีต่อท่านผู้นั้น อันนี้ก็เป็นทุนใหญ่เลย มีความหวังดีปรารถนาดีต่อเขา แต่ว่าต้องดูความพร้อมทั้งสองฝ่าย จะพอได้มั้ย นะฮะ ใช่มั้ย ไม่ใช่เรื่องง่าย นะฮะ ก็บางทีก็อาจจะเป็นหนังสือ อย่างหนังสือก็สื่ออันหนึ่ง นะฮะ แนะนำ ถ้ามีโอกาส บางทีจังหวะให้ เรานึกอยู่แล้ว ได้จังหวะ เราก็แนะนำไป นิมนต์ครับ
ผู้ถาม : ท่านครับ แล้ว อ่า คน คนแบบกลุ่มเมื่อกี้เนี้ย สักครู่เนี้ย คนกลุ่มนี้มักจะไม่ค่อยเชื่อเรื่องกรรมด้วยหรือเปล่าครับ หรือว่า คนส่วนใหญ่จะเชื่อ ถึงแม้ว่าไม่ใช่เป็นคนที่ศรัทธาในศาสนา
อ๋อ ในยุคพุทธกาลใช่มั้ย
ผู้ถาม : ในยุคปัจจุบัน นะครับ
ครับ ปัจจุบันก็ มันก็คือกรรมเนี่ยที่จริงมันก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย เรื่องของระบบเหตุผลนั่นเอง นะฮะ แต่มันอยู่ที่ความเข้าใจด้วย เพราะว่าในสังคมปัจจุบันเนี้ย ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องกรรมเองมันก็คลาดเคลื่อนเยอะ จนกระทั่งว่าเวลาพูดคำว่ากรรมเนี่ย มันก็อยู่ที่ว่า เขาเข้าใจคำว่ากรรมอย่างไรในความหมายไหน ใช่มั้ย เออ กลายเป็นว่าเข้าใจกรรมแบบลัทธิพราหมณ์ก็มี เข้าใจกรรมแบบลัทธินิครนถ์มันก็มี เป็นพุทธก็จริง แต่ว่าเข้าใจแบบนิครนถ์มันก็มี เพราะว่าการศึกษาพุทธศาสนาเนี่ย มันอ่อนหย่อนยานห่างเหินกันไปนานเน ยังทั้งเพี้ยนกันไปบ้าง
พอพูดว่ากรรมเนี่ย คนไทยก็ไม่ชัดแล้ว นะฮะ เชื่อกรรม ไม่เชื่อกรรม ไอ้คำว่ากรรมที่เขาบอกว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ เขาก็ไม่เข้าใจ แล้วจะไปได้เรื่องได้ราวอะไรล่ะ ไอ้สิ่งที่ตัวพูดว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ ตัวเองก็ไม่รู้ นะฮะ ใช่มั้ย บอกว่ากรรม เชื่อมั้ย ไอ้คำว่าเชื่อกรรมที่ตัวบอกว่าไม่เชื่อนั้น ที่จริงไม่ใช่กรรมในพุทธศาสนา อ้าวก็ถูกแล้ว ไม่เชื่อก็ดีแล้วนี่ ไอ้กรรมที่ของพุทธศาสนาเองตัวเองก็ไม่รู้จัก บางทีตัวเองนั่นแหละเชื่อกรรมแบบพุทธศาสนาอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่านั่นคือกรรมในความหมายพุทธศาสนา มันกลายเป็นวุ่นวายหมด สังคมปัจจุบันสับสน ถ้อยคำ ศัพท์แสงในพุทธศาสนา มันเลอะเลือนหมด เพราะเราห่างเหินไปเยอะ ไปนาน
เอาง่ายๆคนไทยเขาใช้คำว่ากรรมอย่างไร เช่นบอกว่าบุญกรรม แล้วแต่บุญแต่กรรมเงี้ย เออ ก็เข้าใจคำว่าบุญหมายถึงดี เข้าใจกรรมหมายถึงไม่ดี เอาแล้วนี่ คือ ไปแล้ว ไปแล้ว ใช่มั้ย เอากรรมเป็นความหมายเป็เรื่องไม่ดีไป นี่ๆ ผิดแล้วใช่มั้ย หนึ่งแล้วนะ ทีนี้ว่า เออ คุณทำกรรมมาไม่ดีก็ก้มหน้ารับกรรมไปเถิดว่างั้นนะ อ้าว นี่หมายความว่าไง ว่าไงครับ กรรมในที่นี้ ก้มหน้ารับกรรมหมายความว่าไง ก็เขาเข้าใจของคำว่ากรรมในความหมายว่าผล ผลร้าย ใช่มั้ยฮะ อ้าวกลายเป็นเข้าใจเรื่องผลแล้ว ในพุทธศาสนาแยกชัด กรรม ก็กรรม ผลกรรม ก็ผลซิ มันคนละตอน เอาแล้ว ผิดอีก เมื่อกี้ก็ เข้าใจแต่ในแง่ไม่ดี นะ สองเขาเข้าใจในแง่ผล สาม ก็คำว่าทำกรรมมาไม่ดี ก็นู่นไปนึกถึงชาติก่อนอีก อ้าว กลายเป็นเรื่องอดีต กรรมกลายเป็นเรื่องอดีต กรรมก็กลายเป็นเน้นเรื่องอดีต โดยเฉพาะในชาติก่อน
แต่พุทธศาสนานั้นคำว่ากรรมก็คือการกระทำ ใช่มั้ยฮะ เน้นปัจจุบันเลย เน้นที่ทำอยู่เดี๋ยวเนี้ย การพูด การคิด การแสดงออกต่างๆนี่คือกรรม ใช่มั้ยฮะ แค่นี้ก็ยุ่งแล้ว คนไทยก็ต้องมานั่งทำความเข้าใจ ความหมายของกรรมคืออะไร ก็เลยยุ่งนะครับ ว่าจะเอายังไง ก็คือว่าต้องมาอธิบายกันใหม่ อย่างแม้แต่คำว่าเชื่อกรรมมั้ยเนี่ย ในพุทธศาสนา ถ้าถึงขั้น พระไตรปิฎกเนี่ย ปกติท่านไม่ใช้คำว่าเชื่อเลย เรื่องกรรมนี่เป็นเรื่องสำหรับรู้ ไม่สำหรับเชื่อ นะฮะ รู้ เพราะมันเป็นเรื่องของความเป็นจริงตามเหตุปัจจัย ระบบเหตุผล ต้องรู้ หมายความว่า ฉันไม่ง้อคุณ คุณจะเชื่อมั้ยเชื่อกรรมมันก็เป็นของมันอย่างงั้น มันเป็นระบบเหตุปัจจัย คุณเชื่อมั้ยเชื่อมันก็เป็นของมันอย่างงั้น ใช่มั้ย เหตุปัจจัย เออ เพราะฉะนั้นจึงเคยพูดบอกว่า จะเชื่อกรรมหรือไม่เชื่อกรรม กรรมไม่ง้อคุณ ใช่มั้ย หรือกรรมไม่ง้อใครก็ได้ นะฮะ แต่ทีนี้ในรุ่นอรรถกถาแหละจึงใช้คำว่าเชื่อ
เราก็มีหลักเช่นว่า ให้เชื่อกรรม จนกระทั่งในสังคมไทยนี่ขยายไปเป็นเชื่อตั้ง ชาวพุทธเนี่ยในสังคมไทย นะฮะ ว่ามีหลักความเชื่อของชาวพุทธ ถึงกับบอกมี 4 อย่าง กัมมสัทธา เชื่อกรรม นะฮะ วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม กัมมัสสกตาศรัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน แล้วก็มี ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เนี่ย ในสังคมไทย ไปค้นดูเถอะไม่มีหรอกหลัก 4 ข้อเนี่ย น่ะ คนไทยถือกันนัก แหม 4 ข้อเนี่ยนึกว่าเป็นจริง ไม่มี ทีนี้ก็ต้องมาอธิบายกันยุ่งสิ กัมมสัทธา วิปากสัทธา กัมมัสสกตาศรัทธา ต่างกันอย่างไร ใช่มั้ย มันเรื่องกรรมหมดเลย แยกแยะกันลำบากพิลึก
ที่จริงท่านก็บอก อ้าว ถ้าใช้คำว่าเชื่อเรื่องกรรมก็ใช้คำเดียว เชื่อคำว่า กัมมสัทธา แต่ท่านนิยมบวกไปเลย กัมมพลสัทธา เชื่อกรรมและผลของกรรม นะฮะ และอีกข้อก็ไปเชื่อพระรัตนตรัย และเชื่อ ตถาคตโพธิสัทธา เป็น 2 ข้อ ตามคัมภีร์รุ่นหลังนะ รุ่นอรรถกถา ใช้ 2 ข้อ แล้วมาไทยเป็น 4 ข้อ แต่ในพระไตรปิฎกไม่นิยมใช้ศรัทธากับเรื่องกรรม ใช้ปัญญา ใช้ญาณ ความรู้ ว่าเป็นเรื่องของความเป็นจริงตามเหตุปัจจัย รู้ นะฮะ กัมมัสสกตา เนี่ย ในพระไตรปิฎกจะเป็นกัมมัสสกตาญาณ กัมมัสสกตปัญญา ปัญญาหรือญาณรู้ ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน ในสมัยอรรถกถาก็มีคำว่ากัมมัสสกตาสัทธา นะฮะ อันนี้ก็เป็นความรู้เกร็ดๆ ให้เป็นประโยชน์บ้างนะฮะ นิมนต์ครับ
ผู้ถาม : ครับ แต่ถึงแม้เขาเชื่อกันแบบผิดๆ ว่าบุญดี กรรมไม่ดี อย่างแบบที่เขาเชื่อกันอยู่ปัจจุบันเนี่ย แต่ทำไมเขายัง คนยังหมั่นทำกรรม ถ้าเขาเชื่อว่ากรรมนั้นไม่ดีเขายังทำ หมั่นทำกรรมไม่ดีกันอยู่เรื่อยเนี่ย แสดงว่าเขาต้อง อาจจะไม่เชื่อ หรือว่าแค่เชื่อในเชิงความหมายของมัน ใน definition ของมัน แต่ว่าลึกๆแล้วอาจจะไม่เชื่อก็ได้หรือเปล่าครับ เพราะว่าเขาก็ยังกรรมไม่ดีกันอยู่ ครับ
คือ บางทีก็เชื่อแต่ว่า ยังไม่มีกำลังใจเข้มแข็งพอ เพราะว่าไอ้ด้านหนึ่งมันมีความปรารถนา ความอยาก โลภะ โทสะ ไอ้เนี่ยมันก็แรง ใช่มั้ยฮะ คล้ายๆว่าไอ้ผลอันนั้นระยะยาว เอาไว้ก่อน ไอ้ผลต่อหน้านี่สำคัญเอาก่อน อะไรอย่างเงี้ย นี่นี่ก็อย่างหนึ่งนะฮะ คือ แรง ความปรารถนา ความอยาก หรือแรงกิเลสมันมาก ก็ยอมต่อกิเลส อันนี้พวกหนึ่งก็คือยอมต่อกิเลส อีกพวกหนึ่งก็คือความไม่ชัดเจน ที่ว่าเชื่อหรือไม่เชื่อก็คือว่า ถ้าว่าตามหลักในขั้นพระไตรปิฎกก็คือ ความรู้เข้าใจมันไม่เพียงพอ เพราะว่า ความเชื่อที่จะมั่นคงมันต้องอาศัยความรู้ ใช่มั้ย
ในทางพุทธศาสนานี่ ความรู้กับความเชื่อนี่ต้องอิงกันในขั้นสำหรับมนุษย์ปุถุชน ถ้าเราจะเชื่อใคร เราได้รู้ อย่างน้อยรู้ว่า เช่น ท่านผู้นี้พูดมานี่จริง เราก็เชื่อ ใช่มั้ย แล้วก็ทำให้พลอยเชื่อต่อไป โอ้ เท่าที่เราฟัง แหม ท่านผู้นี้พูดนี่จริง เราเห็นจริงได้หมด ชักเชื่อ ใช่มั้ย เนี่ย หมายความว่าความเชื่อเนี่ยอิงความรู้ ทีนี้พอเชื่อแล้ว ก็อยากจะรู้เพิ่มขึ้น นะฮะ ก็เลยทำให้ฟังเขาอีก ใช่มั้ยฮะ พอเชื่อก็ แหม เลยอยากฟังท่านผู้นี้ จะได้อะไรจากท่านผู้นี้ก็ยิ่งรู้ขึ้น พอรู้แล้ว โอ้ ไอ้เท่าที่ท่านพูดจริงยิ่งพูดยิ่งเห็นจริงก็ยิ่งเชื่อ นะฮะ ดังนั้น กลายเป็นว่าไอ้ความรู้เนี่ยเป็นพื้นฐานให้แก่ความเชื่อ ทำให้ความเชื่อยิ่งมั่นคง แล้วพอความเชื่อมั่นคงก็ยิ่งช่วยให้เอาจริงเอาจังในการหาความรู้ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนาเนี่ย สำหรับมนุษย์ปุถุชน จึงใช้หลักความรู้กับความเชื่อเนี่ยอิงอาศัยซึ่งกันและกัน
นั้นจึงเน้นสำหรับผู้ปฏิบัติที่มีข้อศรัทธาเป็นตัวนำ ใช่มั้ยฮะ ศรัทธาเป็นตัวนำ แล้วเสร็จแล้วก็ให้แสวงหาให้ หนึ่ง ศรัทธามีกำลัง พอเราเชื่อเนี่ยเราจะมีกำลังเอาจริงเอาจัง สองมีเป้าหมาย มีจุดแล้ว จะเอาอะไรยังไงใช่มั้ย มีจุดหมายแล้วก็มีทิศทางไป ตอนนี้เดินหน้าไปดี แล้วทีนี้ก็ก้าวหน้าไปในการพัฒนาปัญญา เพียงแต่ว่า เราจะต้องจับหลักให้ได้ที่ว่าให้ปัญญากับศรัทธาเนี่ยมาเป็นตัวปัจจัยเอื้อต่อกัน ไม่ใช่ศรัทธาแบบตาบอด ที่พระพุทธเจ้าติเตียนก็คือศรัทธาแบบตาบอด พอบอกไงแล้วต้องเชื่อ อันนี้ใช่มั้ย อันนี้ก็คือ ไม่เข้ากับพุทธศาสนา
นี่พระพุทธเจ้าจึงให้พิสูจน์พระองค์ด้วย บอกให้พิสูจน์ศาสดาเลย ใช่มั้ยฮะ อ้าว ก็แล้วแต่พระองค์ไม่ได้ปิดกั้น สงสัยพระองค์ให้ตรวจสอบเลย นะฮะ ก็แล้วแต่เขา แล้วทีนี้ก็เมื่อเขาเชื่อแล้ว นะฮะ เขาก็รับฟัง แล้วก็ฝ่ายผู้สอนก็จะไม่เอาศรัทธาเนี่ยมาเป็นตัวบังคับเขา ไม่มีการศรัทธาไปบังคับ ว่าคุณต้องเชื่อนะที่ฉันบอกคุณน่ะ อะไรอย่างงี้ไม่ ไม่เอา ถ้าเชื่อแบบวินัยนี่อีกเรื่องนึงนะ นะคน คนละอย่าง ไอ้นี่เชื่อแบบทางหลักศรัทธา
ไอ้เชื่อแบบนั้นมันเชื่อแบบอะไรนะ obedience ใช่มั้ย ไม่ใช่ ไม่ใช่แบบ believe นะมันคนละเรื่อง ไม่ใช่แบบ faith นะฮะ faith ทางพุทธศาสนาก็ปกติก็ไม่นิยมใช้ด้วย อย่างเวลาเราแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษเนี่ย พวกชาวพุทธที่เป็นฝรั่งหรือผู้ที่ชำนาญศึกษามากๆเนี่ย ก็จะไม่ยอมแปลศรัทธาว่า faith บอกว่าไม่เข้ากัน ต้องแปลว่า confidence เขาให้แปล เพราะฉะนั้น ศรัทธาเราจะแปลว่า confidence นะฮะ โดยทั่วไป
ก็เอาเป็นว่าศรัทธานี่ก็จะต้องเป็นตัวเอื้อกับปัญญา บอกว่าให้ศรัทธานั้นเกิดขึ้นโดยมีความรู้หรือปัญญาเป็นมูล เป็นตัวตั้ง จุดเริ่มให้ก่อน แล้วให้ศรัทธานั้นเป็นตัวนำให้ก้าวไปในปัญญาต่อ นะฮะ เพราะอย่างที่ว่า พอรู้เข้าใจเห็นว่าเป็นจริงน่าเชื่อ เกิดความเชื่อขึ้นมาบ้าง ก็ยิ่งฟัง ยิ่งหาความรู้ เอาจริงเอาจังมากขึ้น อย่างเงี้ยจะก้าวหน้าไป แต่ถ้าศรัทธาแบบปิดกั้นว่าเชื่อแล้วอย่าถาม อย่างงี้ก็จบกัน ปิดกั้นปัญญาไปเลย นี้สำหรับชาวพุทธเราเนี่ย เรายังไม่ได้หลักนี้ใช่มั้ยฮะ ศรัทธากับปัญญาเอื้อกันยังไง เราก็ไม่รู้เรื่อง นี้ก็ให้เชื่อพุทธศาสนา เชื่อพระพุทธเจ้า ว่าท่านตรัสมาไง ก็ให้เชื่อ แล้วก็เคว้งคว้างอยู่กับเชื่อที่ไม่ชัด เชื่อจริงก็ไม่เชื่อ รู้ก็ไม่รู้ ไม่ไปไหนซักทาง มันก็เลยไม่ได้เรื่อง มันก็ไม่ได้ก้าวซิ ใช่มั้ยฮะ
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาทางแก้ ให้มันเข้ากระบวนการบ้าง เออ บอกความเชื่อของคุณเนี่ย มีความรู้เข้าใจเป็นพื้นฐานบ้างมั้ย นะฮะ แค่นี้ก็แย่แล้ว เพราะไม่รู้เรื่องเลยไอ้ที่บอกว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะว่าความหมายของคำว่ากรรมก็ยังไม่รู้ แล้วจะบอกว่าเชื่อกรรมหรือไม่เชื่อกรรม มันก็เอาอะไรไม่ได้เลย นะฮะ แล้วตกลงว่าต้องเริ่มมาตั้งแต่ทำความเข้าใจเรื่องกรรมคืออะไร นะฮะ
กรรมก็คือเรื่องเหตุกับผลในระบบการกระทำของมนุษย์ คือ ไอ้ระบบเหตุผลหรือเรื่องเหตุปัจจัยนั้นเป็นเรื่องทั่วไปครอบคลุมหมดใช่มั้ย แต่เหตุผลที่เกี่ยวกับมนุษย์เนี่ย จะเป็นเรื่องเหตุผลเกี่ยวกับการกระทำ นี่นี่เป็นเรื่องส่วนของมนุษย์เลยที่เน้นมาก เพราะฉะนั้นเรื่องระบบเหตุผล เหตุปัจจัยเกี่ยวกับมนุษย์เนี่ยจะเน้นที่การกระทำ เพราะเรื่องของมนุษย์ก็เรื่องการกระทำเนี่ย การทำ พูด คิด เนี่ย ก็เลยเน้น ก็ไอ้การกระทำ เรื่องของการกระทำ เรื่องของเหตุปัจจัยในระบบนี้ก็เรียกว่ากรรมนั่นเอง กรรมก็คือระบบเหตุปัจจัย หรือระบบเหตุผลที่เกี่ยวกับตัวมนุษย์ในเรื่องของการกระทำ เรื่องของความคิด การพูด การกระทำ
อ้นนั้นมันก็เป็นชีวิตของมนุษย์เลยใช่มั้ยฮะ ชีวิตของมนุษย์ก็เป็นไปในเรื่องกรรมนี้เอง นอกนั้นแล้วมันก็หลายอย่างก็เกินวิสัยขอบเขตของมนุษย์แล้วใช่มั้ย อย่างความเป็นไปของธรรมชาติ เหตุปัจจัย ไอ้แผ่นดินไหวที่นั่นเพราะอะไรน่ะ อย่างงี้เป็นต้น เหตุปัจจัยแบบนั้น ฝนตกฟ้าร้องอะไรนั่นก็เหตุปัจจัย แต่ว่าไม่ใช่เป็นเหตุปัจจัยด้านกรรม นั้นก็กรรมก็คือระบบเหตุปัจจัยที่แคบลงมาในส่วนที่จำกัดเกี่ยวกับเรื่องของมนุษย์ที่มีการกระทำ มีการพูด การคิด แล้วชีวิตของมนุษย์ก็อยู่ด้วยอันนี้แหละ อยู่ด้วยเรื่องการทำ การพูด การคิด นี่เป็นเรื่องของมนุษย์ เพราะฉะนั้น เราจึงบอกว่ากรรมนั่นก็คือเรื่องของมนุษย์ ใช่มั้ย ชีวิตของมนุษย์ก็อยู่กับกรรมนี้เอง ใช่มั้ย
วันๆหนึ่งก็มีอะไร ทำ พูด คิด ทำ พูด คิด นี่แหละ นั้นถ้าเราเข้าใจชัดแล้วเนี่ย โอ๊ มันเรื่องของตัวเราเองเลย กรรมเนี่ย ที่เป็นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเข้าใจให้ชัดแล้วคือ เราจะปฏิบัติต่อชีวิตของเราได้ดีที่สุด ถ้าเราเข้าใจเรื่องกรรมดี นะฮะ แต่ว่าจับให้ถูก
ตอนนี้ ชาวพุทธ คนจำนวนมากในสังคมเนี่ย พอได้ยินคำว่ากรรม มันก็อะไรลอยอยู่ในฟ้า ใช่มั้ยฮะ แล้ววันหนึ่งมันก็มาลงโทษเรา ถูกมั้ย คล้ายๆอย่างงั้นน่ะ เออ หมด ผิดหมด วาสนาก็มันก็ลอยอยู่บนฟ้านะ ก็เป็นฝ่ายดี นะฮะ ก็รอวาสนา อะไรหมดเลยผิดหมด นะฮะ วาสนานี้ก็ผิดลิบเลยเป็นตัวที่ชัดมาก ว่าคนไทยนี้เข้าใจวาสนาผิด บอกแข่งอะไรแข่งได้ อย่าแข่งบุญแข่งวาสนา ก็เข้าใจว่าวาสนาเป็นเรื่องอะไรที่มาบันดาล คล้ายๆทำนองนั้น ใช่มั้ยฮะ นี่ วาสนานี่พระพุทธเจ้าเนี่ยตรัสรู้เนี่ย ละได้ทั้งกิเลสและวาสนา อ้าว วาสนามันดีทำไมพระพุทธเจ้าละวาสนาล่ะ ไปคนละเรื่องเลย นะฮะ แต่คนเรานี้อยู่ด้วยวาสนามาก ท่านคงเข้าใจแล้ว ใช่มั้ย นะฮะ
วาสนาก็คือไอ้เรื่องความเคยชินในการพูด การทำอะไรต่างๆ ที่กลายเป็นลักษณะประจำตัว นะฮะ แล้วก็มีผลต่อวิถีชีวิตของตัวเราเอง เราพูดอย่างเงี้ย สั่งสมการพูดแบบนี้มาชิน มันก็เป็นวาสนาของเรา ตัวความชินอย่างงั้น การแสดงออกแบบนี้ อย่างบางคนเนี่ยพูด เออ เออ เออ อย่างงี้ก็เป็นวาสนาเขา นะฮะ บางคนพูดอ่อนโยนละมุนละไม เชื่องช้าอะไรก็เป็นวาสนาของเขา นะฮะ เขาก็สะสมมาอย่างงั้น นะฮะ การเดินการเหินการอะไรต่างๆ แม้แต่วาสนาทางจิตใจ เข้าไปห้างสรรพสินค้า เออ มันมีร้านค้าหลายอย่าง ใช่มั้ยฮะ ตอนนี้จะเห็นวาสนาของคน ถ้าไม่ได้ตกลงกันว่าจะไปร้านไหน พอเข้าไปแล้วเนี่ย คนหนึ่งก็เข้าร้านโน้น คนนี้คนนั้น คนหนึ่งเข้าร้านเสื้อผ้า คนหนึ่งเข้าร้านเครื่องสำอาง คนหนึ่งเข้าร้านเครื่องเสียง คนหนึ่งเข้าร้านอะไรก็ว่าไป เข้าร้านเหล้าหรืออะไรก็แล้วแต่ เนี่ยคือไปตามวาสนา นะฮะ
วาสนาเนี่ยเป็นตัวชักพาชีวิต เราจะมีปฏิกิริยาต่ออะไร ต่อประสบการณ์อะไรอย่างไร คนเราไปเจอสิ่งเดียวกันเนี่ย มีการตอบสนองต่อสิ่งนั้นไม่เหมือนกัน บางคนผ่านไปไม่สนใจเลย บางคนไปเจอนั้นติดอยู่นั่นเลยไปไหนไม่ได้แล้ว เนี่ยแค่นี้ก็ทำให้มีผลต่อชีวิตเขาแล้วใช่มั้ย เพราะฉะนั้นวาสนาเนี่ยจึงมีผลต่อชีวิตมาก เราต้องมีวาสนาที่ดี สร้างความเคยชิน ก็คือกรรมที่ต้องสร้าง ที่เราต้องมีเจตจำนงที่ดี มีปัญญากลั่นกรอง ไม่ใช่ปล่อย อันนั้นถ้าเราปล่อยเรื่อยเปื่อย วาสนามันก็ไม่ดีซิ มันไม่ได้เรื่อง นะฮะ
ถ้าเราตั้งใจดี เราก็ขัดเกลาวาสนา วาสนาแก้ได้ นะฮะ ไม่ใช่ว่า คือจึงบอกว่า วาสนาไม่ได้มีไว้แข่งขัน นะ ที่บอกว่า แข่งอะไรแข่งได้ แข่งวาสนาแข่งไม่ได้ ก็วาสนาไม่ได้มีไว้สำหรับแข่งขัน วาสนามีไว้สำหรับแก้ไข นะฮะ สำหรับปรับปรุงพัฒนา เราก็จะได้สำรวจตัวเองว่าวาสนาเราไม่ดี ในแง่นี้ ด้านนี้ เราจะได้ค่อยๆแก้ไขปรับปรุง แล้วยากนะ วาสนานี่แก้ไขยาก ความเคยชินอย่างที่เรียกว่าเป็นบุคลิกประจำตัวไปแล้ว แต่ว่าบางอย่างมันก็เป็นโทษต่อเราเอง เราก็รู้ทันอย่างน้อย ก็สติเกิดมาปัญญาก็มาสำรวจตรวจสอบตัวเอง และเราก็จะได้แก้ไขตัวเองได้ อันนี้ก็เป็นแง่มุมหนึ่งในการพัฒนาชีวิต นะฮะ เอาละครับ เดี๋ยวจะพูดเลยไป
ผู้ถาม : ครับ แล้วอย่าง นี่คำถามของผม อย่างผมข้องใจอยู่ครับว่าอย่างบางคนเกิดมาเนี่ย อ่า มี เขามักจะพูดกันว่า เท่าที่ผมเคยได้ยิน คือ มักจะพูดว่า เอ่อ คนนี้มีบุญมากกว่าอีกคนนึง เพราะว่าเกิดมา อา สบายกว่าอีกคนนึง เกิดมาอยู่ในฐานะที่ดีกว่าอีกคนนึง หรือเกิดมามีปัญญามากกว่าอีกคนนึง คนนึงด้อยปัญญา ด้อยฐานะสภาพกว่าเนี่ยเป็นเพราะว่าเขา เขามีบุญน้อยกว่าอีกคนนึงหรือเปล่า เลยเกิดมาโอกาสไม่เท่าเทียมกันครับท่านครับ
ครับ ก็พูดคือแบบนี้เป็นวิธีพูดแบบไทย ถ้าเราจะใช้ให้ใกล้ความหมายแท้ก็ต้องใช้คำว่าผลบุญ ใช่มั้ย คล้ายๆว่าเหมือนกับพูดทำนองว่า มีบุญที่ทำไว้ในอดีตดี ก็เลยได้รับผลดีของบุญนั้นไงฮะ อันนี้เรากำลังพูดถึงผล เหมือนกับว่าเราจะได้ตัดตอนว่า เอาล่ะ เออ คนนี้เกิดมามีทุนดี อ่า มีสติปัญญาดี เกิดมาในตระกูลที่ร่ำรวย หรือเกิดมาในถิ่นที่ดีกว่า อะไรอย่างงี้นะฮะ เอา เอาละ นี่เป็นผลบุญเก่า แต่ว่าสิ่งที่จะทำได้ต่อไปนี้ก็คือไม่ติดอยู่แค่นั้น เราจะได้รู้ว่าเราเดี๋ยวนี้เรามีทุนเท่าไหร่ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์นะ รู้ในแง่ว่า ท่านได้ประโยชน์ในแง่ความรู้ไง คนเราจะทำอะไรต่อไปต้องรู้ทุนเก่าของตัวเอง
นี้พอเรารู้ทุนของเรา ทีนี้เราวางแผนดีเลย นะฮะ ต้องวางแผนเตรียมการว่าทุนเรามีเท่านี้ เช่นว่า ทุนบางอย่างเนี่ยเรามีน้อยกว่าเขา ถ้าแค่เปรียบเทียบใช่มั้ย เพื่อจุดหมายเดียวกันนั้น เราจะต้องออกแรงสิบเท่าของตาคนนั้น สู้มั้ย เนี่ย ถ้าเอาตามหลักพุทธศาสนา สู้ ว่างั้นนะใช่มั้ย อ้าววางแผนได้แล้ว เอ้อ เขาได้เปรียบเราโดยทุนเดิมนี่ ทุนเดิมเขาได้เปรียบเราอย่างงี้เราต้องเอาด้านนี้ เราต้องใช้พลัง 10 เท่าเลย อา อย่างงี้ พุทธศาสนาท่านไม่ให้ท้อ แล้วอย่างเกิดมาจนเงี้ย ถ้าจนแล้วแหมเราแย่ เราเกิดมายากจนไม่มีอะไรก็นั่งจับเจ่าอย่างงี้ก็ซ้ำเติมตัวเอง ใช่มั้ยฮะ จบ ไม่ไปไหนหรอก นะฮะ
นี้ถ้ารู้จักคิด มีโยนิโส มนสิการ โอ้ เราเกิดมาจนนี่ โอ้จนนี่มันดีเหมือนกันนะ นะฮะ มันทำให้ต้องเพียรพยายาม ต้องดิ้นรนขวนขวาย ไม่มีใครได้เปรียบกว่ากันแน่ชัดลงไปหรอกคนเกิดมาเนี่ย คนเกิดมารวยก็ดี เป็นโอกาสมีทุนดี ถ้ารู้จักใช้ก็ไปลิ่วเลย แต่บางคนไม่รู้จักใช้ทุน ไม่รู้จักคิด ใช่มั้ย ก็สยบลุ่มหลงมัวเมา เลยไม่มีอัน ไม่เพียรพยายาม ไม่พัฒนาตน ได้แต่เสพ ได้แต่มัวเมาลุ่มหลงอยู่กับความสุขสบายนั้น เลยไม่พัฒนาเลย ถูกมั้ย แย่
ทีนี้ฝ่ายคนที่ยากจนข้นแค้นก็ไม่มัวจับเจ่า นะฮะ ไม่มัวจะ ครุ่นกังวลหรืออะไรเนี่ย ตั้งใจว่า โอ้ เรานี่มีทุนน้อย เราจะต้องใช้ความเพียรพยายามมาก แต่ไอ้การที่ยากจนเนี่ย เราจะทำให้เราเนี่ยได้เข้มแข็ง เจอปัญหาเยอะจะต้องขบคิดแก้ปัญหา พัฒนาหมด พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาทักษะ พัฒนาปัญญาในการคิดแก้ไขเหตุการณ์สถานการณ์ พัฒนาความเพียรในการทำการต่างๆให้สำเร็จ ใช่มั้ย กลายเป็นว่า ถ้าทำได้สำเร็จนี่เก่งจริง คนที่จนที่อยู่ในสถานะทุกข์ลำบากเนี่ย ถ้าทำสำเร็จนี่ต้องเก่งจริงๆ ยอดเลยใช่มั้ย เพราะฉะนั้นก็ทำได้สำเร็จก็แหมกว่าจะสำเร็จนี่พัฒนามาก
จึงบอกว่าเนี่ย สุข ทุกข์เนี่ยมันดีคนละอย่าง คนที่สุขก็หมายความว่า คล่อง สะดวก ง่าย จะทำอะไรก็เป็นโอกาสรีบทำซะ ว่างั้นนะ แต่ถ้าใช้ผิดก็คือประมาท ลุ่มหลงมัวเมา สยบ ทีนี้ทุกข์ เออ แง่ไม่ดีก็แย่ ลำบาก ไม่สบาย ใช่มั้ยฮะ แล้วก็ทำให้จิตใจพลอยไม่สบาย ถ้าคิดไม่เป็นก็จบกัน นะฮะ แต่ว่าถ้าคิดเป็นก็จะกลายเป็นอย่างที่ว่า ใช้เป็น ไอ้บท แบบฝึกหัดเลย ทุกข์ก็คือแบบฝึกหัดที่ยิ่งใหญ่ ทีนี้ล่ะได้แบบฝึกหัดที่ยากที่สุด ทีนี้แบบฝึกหัดที่ยิ่งยากก็ยิ่งได้มาก ถูกมั้ย และว่านั่นเราจึงมีคติสำหรับนักฝึกตนว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก นะฮะ อะไรมันยาก ฝ่าฟันไปได้นี่กว่าจะสำเร็จนี่ได้พัฒนาตัวเยอะเลย จิตใจก็เข้มแข็ง ปัญญาก็ใช้มาก ขบคิดแก้ปัญหา แล้วก็ทักษะพัฒนามาก ในการทำการ ในการที่จะรู้จักเข้าถึงสัมพันธ์กับผู้คน รู้จักพูดจาทำไงจะสำเร็จ พัฒนาหมดทุกอย่างเลย อย่าไปท้อเท่านั้นแหละ ในพุทธศาสนาท่านไม่ให้ท้อ นะฮะ ก็อ้าว นี่นี่ อ้าว ไม่รู้ท่าน ผมตอบท่านหรือยัง ตอบแล้วนะฮะ เนี่ย อย่าไปท้อ นะฮะ