แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เรื่องกามสุขเห็นจะพอซักที เพราะว่าเดี๋ยวเวลาจะหมดยังไม่ไปไหนพึ่งได้ขั้นที่ 1 เป็นอันว่าเรื่องความสุขประเภทที่ 1 คือความสุขอาศัยวัตถุเสพ หรืออามิสสุข หรือกามสุขเนี่ย เมื่อเรายังอยู่กับมัน เราต้องปฏิบัติให้ดีรู้เท่าทัน ปฏิบัติต่อมันให้ได้ประโยชน์จากมันมากที่สุด ให้ได้โทษน้อยที่สุด ทั้งชีวิตตัว ทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าเราปฏิบัติดีแล้วเราจะพัฒนาไปสู่ความสุขที่สูงขึ้นไป อ้าวทีนี้ต่อมาเราก็เดินหน้าไปหาความสุขที่สูงขึ้นไป คนเรามีทางที่จะหาความสุขได้เยอะแยะไป คนเราพัฒนาได้ เมื่อพัฒนาได้สิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวกับคนนี้พัฒนาได้หมด ความสุขก็เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของมนุษย์เพราะฉนั้นก็พัฒนาได้ด้วย นี้ลองดูความสุขที่สูงขึ้นไปมีอะไรบ้าง ขอต่อไปเลยก็คือว่าลึกเข้าไปในทางจิตใจมันก็มีทุนที่จะมาสร้างความสุขให้มากขึ้น แต่ก่อนนี้ความสุขของเราอยู่กับวัตถุภายนอกสิ่งเสพ เราก็ต้องหามาเสพ การหามาเสพคือต้องเอา ต้องเอาก็ต้องได้มา เพราะฉะนั้นมนุษย์จะนึกถึงการได้ตลอดเวลาเลย คนเราอยู่ในโลกเราเกี่ยวข้องกับวัตถุมาก เราจะนึกจะได้จะเอา จะได้จะเอา บางคนนี่หายใจออกมามีแต่เรื่องได้เรื่องเอาทั้งนั้น ทำไงจะได้มา ทำไงจะเอามาได้ เพราะว่าการได้คือความสุข การได้คือเป็นทางสำคัญเป็นแหล่งเดียวของความสุขของเรา เพราะฉะนั้นเราต้องได้ นี้คนในโลกจำนวนมากก็อยู่ภายใต้วิถีชีวิตและความคิดอย่างนี้ คือการได้ การเอา การเสพวัตถุ ทีนี้พระพุทธเจ้าก็เริ่มเตือนเลยว่า เออคุณอยู่ในโลกคุณสัมพันธ์กับวัตถุนะ คุณจะเอาแต่ได้อย่างเดียวไม่พอ เพราะถ้าเอาแต่ได้อย่างเดียวมันเกิดปัญหาทั้งแก่ชีวิตคุณ และแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม แน่นอนอย่างที่ว่าไปเมื่อกี้นี้พูดไปแล้ว นี้ทำไงในการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัตถุ ชีวิตจะต้องมีดุลยภาพ โดยหลักธรรมชาติแล้วต้องมีดุลยภาพ สิ่งทั้งหลายนี่เอาจากสิ่งอื่น ต้องให้กับสิ่งอื่นด้วยอย่างต้นไม้ใช่มั๊ย มันเอา เอาอาหาร เอาอากาศ เอาน้ำจากสิ่งแวดล้อมมันก็ให้ด้วยใช่มั๊ย มันให้อะไรต่างๆ ให้ร่มเงาให้ความร่มเย็น ต้นไม้มันก็ให้แก่กันและกันเอง ต้นไม้เล็กให้แก่ต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ให้แก่ต้นไม้เล็กอะไรต่างๆ มันก็ทำให้อยู่ได้ นี้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มนุษย์เรานี่เราจะเอาอย่างเดียวไม่ได้นะ เพราะฉนั้นเพื่อให้มีดุลยภาพท่านก็เลยสอนหลักปฏิบัติขั้นที่ 1 มาหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนข้อที่ 1 เริ่มแรกคืออะไร คือทาน เพราะฉนั้นหลักธรรมในพุทธศาสนาข้อแรกพระพุทธเจ้าตรัสไปตามธรรมชาติมนุษย์ที่ว่าเราเกี่ยวข้องกับวัตถุจะได้จะเอา พระองค์ก็เลยบอกให้ให้บ้าง นั้นก็เลยมี คู่กับการได้การเอาก็มีการให้ด้วย บอกว่าคุณให้มีการให้ด้วยนะ ท่านก็เน้นเรื่องทานใช่มั๊ย ทานศีลภาวนา ทานก็เป็นข้อที่ 1 แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็มีทศพิธราชธรรมข้อที่ 1 ก็ทานใช่มั๊ย ทาน ศีล ทานเป็นข้อที่ 1 แม้แต่จะบำเพ็ญบารมีเป็นพระพุทธเจ้าก็ให้ทานเป็นข้อที่ 1 ทานเป็นหลักปฏิบัติขั้นแรกสุด ต้องมีการให้ด้วย เอาละ ให้คุณมีการให้คู่กับการเอา ให้คู่กับได้แล้วชีวิตจะสมดุล สังคมก็จะมีดุลยภาพ แต่ว่าการที่คุณให้เนี่ยนะ มันเป็นวิธีพัฒนาตัวคุณด้วย นำไปสู่ความสุขที่ประณีตขึ้นไป ทีนี้มาดูว่าจะสุขอย่างไร ถ้าให้เป็นแล้วจะได้ความสุขประเภทที่ 2 แล้วเป็นเรื่องธรรมชาติต้องการด้วย ถ้าเราปฏิบัติผิดแล้วเราวุ่นวายเอง ฉะนั้นเราปฏิบัติถูกแล้วเราได้ผลดี แม้แต่ความสุข ลองดูว่าการให้จะเกี่ยวข้องกับความสุขอย่างไร ก็ขอให้ดูง่ายๆ กับไปย้อนพูดถึงการเอาก่อน การได้ เวลาเราจะเอา เราจะได้ เรามองไปที่วัตถุใช่มั๊ย เราจะเอาวัตถุ เราจะเอาสิ่งเสพ เรามองไปที่สิ่งที่เราจะเอา พอเรามองไปที่วัตถุที่เราจะเอาเนี่ยนะ โดยสัญชาตญาณความรู้สึกมันจะเกิดขึ้น มันจะมีความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์ขึ้นมาทันทีเลย เพราะเพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งแวดล้อมของเรา พอเราคิดถึงวัตถุว่าเราจะเอาอันนี้ปั๊บ ความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์เกิดขึ้นมาว่าอย่างไร เอ๊ะเพื่อนมนุษย์เค้าก็จะเอาเหมือนกันหนิใช่มั๊ย เราก็จะเอาให้มากที่สุด เขาก็จะเอาให้ได้มากที่สุด พอเราจะเอาสิ่งนี้ เขาก็จะเอาเหมือนกัน เราก็ระแวงใช่มั๊ย คนที่คิดจะเอาคิดจะได้ จะมองเพื่อนมนุษย์ด้วยความรู้สึกระแวง ต่อจากระแวงคือมองเป็นคู่แข่ง ว่าเออเขาก็จะเอาเหมือนกัน การมองเป็นคู่แข่งก็คือการมองเป็นปฏิปักษ์ใช่มั๊ย เป็นปฏิปักษ์ เพราะฉะนั้นมีความรู้สึกไม่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ คนที่มีจิตใจมุ่งแต่ได้แต่เอา จะสร้างโลกให้เป็นโลกของความเป็นศัตรู การเบียดเบียนแน่นอน เพราะจิตใจไม่ดีต่อกัน ไม่สามารถสร้างความเป็นมิตรไมตรีได้ เพราะเรามุ่งแต่จะเอานี่ มันก็ต้องแข่งกันเอา นั้นโดยความรู้สึกพื้นฐานก็เกิดความระแวง ความรู้สึกเป็นคู่แข่งเป็นปฏิปักษ์ แล้วพอต่อไปหาเก่งเข้านะ หาเก่งเข้า มองเพื่อนมนุษย์เป็นเหยื่อ คือมองเพื่อนมนุษย์นี่ มองในแง่ว่าเราจะเอาจากคนนี้ได้อย่างไรใช่มั๊ย จะล้วงกระเป๋าได้อย่างไร จะเอาผลประโยชน์ได้อย่างไร มองเพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ไปหมดเลย เราจะเห็นได้ชัดในสังคมที่ได้ไปสู่กระแสของระบบการแข่งขัน แย่งชิงผลประโยชน์ มนุษย์จะเริ่มมีความรู้สึกมีจิตใจที่มองกันเป็นเหยื่อเชื่อมั๊ย ฉะนั้นในสังคมปัจจุบันนี้อันตรายมาก สภาพจิตของมนุษย์เริ่มมองเพื่อนมนุษย์เป็นเหยื่อมากขึ้นแล้ว อ้าวนี่ก็คือวิถีกระแสซึ่งมีผลมากทั้งจิตใจและสังคม ทีนี้ตัวเองก็มองเพื่อนมนุษย์ศัตรูก็หวาดระแวง ความรู้สึกได้เสพวัตถุเป็นความสุข แต่ความรู้สึกระแวงเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นความสุขเลยนะ เป็นคู่แข่ง เป็นปฏิปักษ์ อยู่กันด้วยความรู้สึกไม่สบายใจเลย ทีนี้พระพุทธเจ้าก็สอนหลักของการให้มาคู่ บอกเอาหละนะ คุณจะมีดุลยภาพเราต้องมีการให้ด้วย ไม่ใช่เอาแต่ได้อย่างเดียว พอมีการให้เราก็มองใหม่ ตอนที่จะเอาเรามองไปที่วัตถุ เรามองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง ตอนนี้เรามองว่าจะให้ พอตั้งความคิดว่าจะให้ เราก็มองไปที่คนใช่มั๊ย เพราะเราให้แก่คนหนิ พอเราตั้งใจว่าจะให้เรามองไปที่คน พอมองไปที่คนนี้เราสนใจมองหน้ามองตาสังเกตความรู้สึกของเขา เราเริ่มเข้าใจเพื่อนมนุษย์ เราเห็นความต้องการของเขา เรามองเห็นสุขเห็นทุกข์ของเขา พอเราเห็นความต้องการเขา เห็นสุขเห็นทุกข์ของเขา เนี่ยเราเริ่มเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ความเข้าใจเกิดขึ้น ความเห็นใจเกิดขึ้น พอความเห็นใจเกิดขึ้น คุณธรรมเกิดขึ้นเลย ความเมตตารักใคร่ ความสงสารเกิดขึ้น พอเราเกิดความสงสารเห็นใจเพื่อนมนุษย์แล้ว ความต้องการชนิดใหม่เกิดมาเองโดยธรรมชาติ แต่ก่อนนี้เรามีความต้องการแต่วัตถุ จะได้จะเอา ตอนนี้พอเราตั้งใจจะให้เรามองไปที่คนแล้วเกิดความเข้าใจเห็นใจ เกิดความต้องการใหม่ คือความต้องการช่วยเหลือ ต้องการให้เค้าหายทุกข์ ต้องการให้เค้าเป็นสุข ความต้องการให้มนุษย์เป็นสุขนั้น เรียกว่า เมตตาเกิดแล้ว ถ้าเมื่อไรเราเกิดความต้องการให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข เมื่อนั้นเมตตาเกิดแล้ว จากการที่ตั้งใจให้ก็นำมาซึ่งคุณธรรมโดยธรรมชาติคือเมตตามาแล้ว ความต้องการนั้นต้องสนอง เมื่อต้องการให้เขาเป็นสุขก็ต้องการทำให้เขาเป็นสุข การทำให้เขามีความสุขเป็นการสนองความต้องการของเราเองใช่มั๊ย เราก็หาทางสิทีนี้ เราต้องการขึ้นมาแล้วนี่ คนเรามันอยู่ด้วยความปรารถนา พอเราต้องการให้เขาเป็นสุข เราก็หาทางทำให้เขาเป็นสุข เอ เขาขาดแคลนไม่มีอะไร เราก็เอาวัตถุให้เขาใช่มั๊ย พอให้การให้นั้นเป็นการทำให้เขามีความสุข การทำให้เขามีความสุขก็สนองความต้องการของเรา พอได้สนองความต้องการของเรา เราก็เป็นสุขใช่มั๊ย การให้กลายเป็นความสุข แหนะ แต่ก่อนนี้ต้องได้จึงจะสุข ถ้าให้คือเสียเป็นทุกข์ ตอนนี้การให้กลายเป็นความสุขไปแล้วเป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนอย่างพ่อแม่นี่แหละ พ่อแม่นี่เป็นตัวอย่าง เพราะพ่อแม่นี่รักลูก ต้องการให้ลูกเป็นสุข พอมีความต้องการให้ลูกเป็นสุข ความต้องการนั้นต้องได้รับการสนอง ก็หาทางทำให้ลูกเป็นสุข ก็ให้แก่ลูก พอให้แก่ลูกตัวเองก็เป็นสุขใช่มั๊ย เพราะฉะนั้นพ่อแม่ให้แก่ลูกก็เป็นสุข เพราะมีไอ้ตัวความต้องการที่เรียกว่าความรักอันนี้ นี้ถ้าเราสร้างความรู้สึกนี้ได้ต่อเพื่อนมนุษย์ มันก็ได้ความสุขจาการให้ขึ้นมา ฉนั้นมนุษย์ก็เลยมีช่องทางได้ความสุขอย่างที่ 2 คือความสุขจากการให้ แต่ก่อนนี้มีความสุขจากการได้ การเอาอย่างเดียว ตอนนี้มีความสุขจากการให้ด้วย ความสุขจากการได้การเอานั้น มีความสุขอยู่เฉพาะเวลาเสพได้นิดนิดเดียว นอกนั้นอยู่ด้วยความหวาดระแวงความทุรนทุราย การที่ต้องหวังรอ รอความสุข แต่ทีนี้พอสุขจากการให้เป็นความสุขประเภทที่อิ่มเอิบ กว้างขวาง ประณีต ยาวนาน พอให้ไปแล้วนี่มันไม่ใช่สุขเฉพาะเวลานั้นนะ อย่างพ่อแม่ให้แก่ลูกนี่เห็นลูกมีความสุขนี่ พ่อแม่สุขสบายไปทั้งวันเลยใช่มั๊ย ฉะนั้นความสุขจากการให้นี่ประณีต ลึกซึ้ง ยาวนาน อิ่มเอิบ กว้างขวาง เบิกบานใจ โล่งใจ โปร่ง ใจไม่คับแคบ นั้นคนมีความสุขได้จากการให้ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ฝึกในวิถีของพุทธศาสนิกชนนั้น ทานจะมาเป็นอันดับ 1 จนกระทั่งเป็นวิถีชีวิตของเราเลยว่า วันวันหนึ่งนั้นเราอย่าไปเอาแต่ได้อย่างเดียวนะ ต้องมีการให้ด้วย แล้วเราฝึกใจถูกทาง เราให้โดยไม่ได้หวังผลประโยชน์ตอบแทน การที่จะมีเมตตาธรรมมันก็เกิดขึ้นมาเอง เราก็มีความสุขจากการให้ การให้กลายเป็นความสุข เพราะว่ามีเมตตา ความรักนี่เอง เพราะฉะนั้นตกลงว่ามนุษย์เกิดความรัก เกิดคุณธรรมขึ้นในใจแล้ว ก็สามารถพลิกผันเปลี่ยนการให้ที่เคยเป็นทุกข์ ที่เป็นการสูญเสีย ให้กลายเป็นความสุขก็ได้ คุณธรรมอื่นก็เหมือนกันอย่างศรัทธา เรามีความเชื่อในอุดมการณ์ ในสิ่งที่ดีงาม เชื่อในหลักพระศาสนา เชื่อในพระรัตนตรัยเชื่อในพระพุทธศาสนาว่าพระธรรมคำสอนเป็นสิ่งที่ดี ถ้าพระศาสนาเจริญงอกงามไป มนุษย์จะอยู่ร่มเย็นเป็นสุข เราปรารถนาในสิ่งดีงาม เราก็เลยอยากจะบำรุงพระศาสนา เราให้แก่พระศาสนา เราให้เราก็มีความสุขใช่มั๊ย ฉะนั้นด้วยการที่สร้างภายในให้มีคุณธรรมขึ้นมา ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยเป็นทุกข์ ให้กลายเป็นความสุขได้ แล้วเกิดช่องทางใหม่ในการมีความสุข เพราะฉะนั้นตกลงว่านี้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาความสุข เป็นวิธีที่ 2 แล้วนะ คือว่าความสุขจากการให้มาแล้ว อ้าวพอมีความสุขจากการให้ คราวนี้มันกลายเป็นว่าผลดีไม่ได้เกิดแก่ชีวิตของตัวเองเท่านั้น ตัวเองก็มีความสุขเพิ่มขึ้น ทีนี้ผลดีเกิดแก่สังคม กลายเป็นว่าการเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การให้ก็ ความสุขของเราก็กลายเป็นผลดีแก่สังคมไปด้วย ตอนนี้มนุษย์สุขด้วยกันละ แต่ก่อนนี้สุขแบบแย่งกัน ความสุขจากการได้การเอานั้นเป็นความสุขแบบแย่งกัน แย่งชิง ฝ่ายหนึ่งสุขอีกฝ่ายหนึ่งทุกข์ ถ้าฉันได้คุณเสียหรือคุณอด ถ้าเขาได้เราก็อด เราก็เสียใช่มั๊ย เพราะฉะนั้นเขาสุขเราทุกข์ เราสุขเขาทุกข์ ก็เป็นฝ่ายเดียวและเบียดเบียนในทางสังคม ทีนี้พอมีความสุขจากการให้เท่านั้นแหละ มันเปลี่ยนสุขด้วยกันเลย แล้วแถมความสุขของเราขึ้นต่อความสุขของเขา ต้องทำให้เขาสุขเราจึงจะสุขใช่มั๊ย ทีนี้สุขด้วยกันก็เป็นความสุขแบบผสานกลมกลืนไม่แย่งชิง แล้วก็ทำให้สังคมอยู่ร่มเย็น เอาหล่ะทีนี้มันมาช่วยสังคม 2 อย่าง คือ 1.ตัวเองก็ให้แล้วมีความสุขก็ให้ได้ 2.ตัวเองได้รักษาอิสรภาพในการมีความสุขไว้ อิสรภาพที่ว่าเมื่อกี้ไง บอกว่าให้ความสุขไม่ขึ้นต่อวัตถุเกินไปใช่มั๊ย เราฝึกกระทั่งว่ารักษาศีลอุโบสถ กระทั่งว่ามีก็ดี ไม่มีก็ได้ ตอนนี้เรามีความสุขได้ง่าย เราเก่งในการหาวัตถุสิ่งเสพมากมาย หามาเยอะแยะ ต่อมาวัตถุเหล่านั้นเกินจำเป็นที่จะทำให้เรามีความสุข เพราะเราเป็นคนสุขง่ายนี่ใช่มั๊ย วัตถุเหล่านั้นหามาเยอะแยะ เก่งในการหามันเกินจำเป็นจะทำให้ตัวมีความสุข มันก็เลยพร้อมที่จะเอาไปให้แก่คนอื่น แล้วยังแถมมาพัฒนาความสุขจากการให้ด้วย มันก็เลยสบายมีความสุขจากการให้ เลยพร้อมที่จะให้ สังคมก็ยิ่งมีความสุขสบายผสานกลมกลืนกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกันไปได้ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นความสุขของคนเดียวก็กลายเป็นความสุขของสังคมไปด้วย การพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้อง เพียงแค่ 2 ขั้นก็เห็นได้ชัดแล้วว่า มันเป็นสิ่งที่เกื้อกูลกัน การพัฒนามนุษย์ไม่ใช่ว่าทำให้คนหนึ่งสุขแล้วสังคมจะต้องทุกข์นะ โดยมากเราไปนึกว่าถ้าทำให้คนหนึ่งสุขแล้ว คนอื่นหรือสังคมจะต้องทุกข์เดือดร้อนมันไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ถ้าพัฒนาเป็นพัฒนาถูกแล้วมันยิ่งสุขด้วยกัน ความสุขยิ่งมีมากขึ้นในเมื่อคนยิ่งกลายเป็นมาเกื้อกูลกัน สังคมก็ยิ่งดี บุคคลก็ยิ่งดี สังคมก็ยิ่งดียิ่งขึ้น เนี่ยอันนี้ก็ 2 แล้วนะ ทีนี้ต่อไปประเภทที่ 3 ต่อไปความสุขประเภทที่ 3 อะไร อันนี้ไม่ใช่เรื่องยาก ธรรมดาในพระพุทธศาสนาสอนเรื่องธรรมชาติ ทุกอย่างที่พระพุทธศาสนาสอนนี่เป็นเรื่องธรรมชาติหมด เอามาจากความจริงในธรรมชาติของคน ทีนี้ธรรมชาติของคนเป็นอย่างไร ความสุขประเภทที่ 3 นั้นเกิดจากการดำเนินชีวิตถูกต้อง ตามความจริงของธรรมชาติ ไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ การแปลกแยกจากธรรมชาตินั้นมีลักษณะอย่างหนึ่งคือการหลงสมมติ คำคนไทยเก่าๆ เราพูดว่าหลงสมมติ หลงสมมติเป็นอย่างไร อ้าว วันนี้เรามาพูดกันนิดหนึ่ง ดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ แล้วความสุขจะมีมา แต่ว่าเราไม่มีเวลาพูดมาก อาตมาก็จะพูดให้เห็นว่าชีวิตที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ยกตัวอย่างมาสัก 2-3 ตัวอย่าง ตัวอย่างที่ 1 ก็คือว่า เราทำอะไรสิ่งนั้นมันก็เป็นเหตุให้เกิดผลใช่มั๊ย เพราะฉะนั้นเป็นธรรมดาธรรมชาติ ทำอะไรก็เป็นเหตุให้เกิดผล แล้วเมื่อทำอะไรที่เป็นเหตุให้เกิดผล ถ้าให้ถูกต้องสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ ก็ต้องการผลที่เกิดจากการกระทำนั้นจริงๆ ใช่มั๊ย อ้าวเป็นยังไงหล่ะ เราทำอะไรเราต้องการผลที่เป็นไปจริงตามธรรมชาติจากเหตุนั้น ยกตัวอย่างมนุษย์ทำงานในสังคมปัจจุบัน เวลานี้ต้องการผลที่ตรงตามการกระทำที่เป็นเหตุจริงหรือเปล่านะ ถ้าหากว่าคนทำสวน ทำสวนด้วยใจปรารถนาความเจริญงอกงามของต้นไม้ ให้สวนเจริญงอกงาม ถ้าหากว่าคนกวาดถนน กวาดถนนด้วยความต้องการผลที่แท้จริงของตัวงานที่เป็นเหตุคือต้องการความสะอาดของถนน ถ้าหากว่าครูสอนนักเรียนด้วยความรักนักเรียน ความรักนักเรียนนี้ไม่ใช่หมายความว่ารักเฉพาะ สอนนักเรียนด้วยความรักอยากจะให้ชีวิตนักเรียนเป็นชีวิตที่ดีงามมีความสุข สอนให้เด็กเป็นคนดีมีความสุข สอนด้วยใจรักอันนั้น ต้องการผลการสอนเป็นเหตุ เด็กดีเป็นผล ชีวิตเค้ามีความสุขเป็นผล แพทย์รักษาคนไข้คือทำการรักษาที่เป็นเหตุด้วยใจมุ่งหมายผลที่ตรงตามเหตุคือต้องการให้คนไข้หายโรค อยากให้คนไข้มีสุขภาพดี ถ้าอย่างนี้นะ นี้เรียกว่าดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ คนทำสวนนั้นจะทำด้วยใจสบายมีความสุข คนกวาดถนนจะมีความสุขในการกวาดถนน กวาดแกร๊กหนึ่งสะอาดเพิ่มขึ้นได้เสวยผลของความสะอาด ได้เสวยผลของการกระทำงานของตนเองทันที แต่ว่าถ้าเราทำไม่ตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ คือยังไง คนทำสวนไม่ได้ต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ ไม่ต้องการเรื่องสวนหรอก ต้องการเพียงเงินเดือนใช่มั๊ย การทำสวนเป็นเหตุในความหมายของเขานี่คืออะไร การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือนห้าพันบาทเป็นผล หรือคนกวาดถนน การกวาดถนนเป็นเหตุ การได้เงินสามพันบาทเป็นผล ครูสอนนักเรียนก็การสอนเป็นเหตุ ได้เงินเดือนหมื่นบาทเป็นผลสมมติว่าอย่างนั้นนะ หรือเป็นแพทย์ก็การรักษาคนไข้เป็นเหตุ การได้ค่าตอบแทนเท่านั้นเท่านี้เป็นผล ถ้าใจของเราเนี่ยอยู่กับผลแบบที่ว่าได้ค่าตอบแทน อันนี้ท่านเรียกว่าหลงสมมติแล้ว หลงสมมติยังไง ไม่ได้มีความจริงในธรรมชาติอยู่ในอันนี้เลยใช่มั๊ย การทำสวนเป็นเหตุได้เงินห้าพันบาทเป็นผลนี้เป็นกฎ แต่ไม่ใช่กฎธรรมชาติเป็นกฎมนุษย์ กฎมนุษย์ กฎมนุษย์นั้นอยู่ด้วยสมมติ ท่านจึงเรียกว่ากฎสมมติ ทำไมจึงเรียกว่ากฎสมมติ สมมติก็แปลว่าการยอมรับร่วมกันหรือข้อตกลงร่วมกัน สมมติ มติ แปลว่าการยอมรับ สัง ร่วมกัน สมมติการยอมรับร่วมกัน กฎของมนุษย์นั้นตั้งอยู่ได้ด้วยการยอมรับร่วมกันหรือสมมติ ถ้าสมมติหรือการยอมรับไม่มี กฎนั้นไม่เป็นกฎเชื่อมั๊ย คุณทำสวนหนึ่งเดือน คุณได้เงินเดือนห้าพันบาท การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือนห้าพันบาทเป็นผล เอจริงนี่ การได้เงินเดือนห้าพันบาทเป็นผลของการทำสวนหนึ่งเดือนจริงๆ เป็นกฎ แต่จริงแท้มั๊ย มีในธรรมชาติหรือเปล่า ไม่มี เพราะฉะนั้นเรียกว่ากฎโดยสมมติหมายความว่า มันเป็นจริงด้วยการยอมรับร่วมกัน ถ้ายอมรับเป็นจริงนะ ยอมรับก็ทำสวนหนึ่งเดือนเป็นเหตุก็ได้เงินเดือนห้าพันบาทเป็นผลก็ยอมรับร่วมกันนะ ฝ่ายทำกับฝ่ายให้เงินก็ตกลงกัน แล้วก็ยอมรับ อันนี้การสมมติก็คือการยอมรับร่วมกัน แต่ถ้าสมมติคือการยอมรับร่วมกันหายไปปั๊บ กฎนี้ละลายทันทีใช่มั๊ย การยอมรับที่เรียกว่าสมมติไม่มีปั๊บนี่ ทำสวนเป็นเหตุ เงินเดือนห้าพันไม่มาใช่มั๊ย อีกฝ่ายไม่ยอมรับ อาจจะได้เงินเดือนห้าพันบาทโดยไม่ต้องทำสวนก็ได้ใช่มั๊ย ฉะนั้นกฎนี้จริงแต่ท่านเรียกว่าจริงโดยสมมติ โดยสมมติคือการยอมรับร่วมกัน เพราะนั้นกฎมนุษย์ทั้งหลายเป็นกฎมนุษย์หมด ตรงข้ามกับกฎธรรมชาติคือเป็นจริงตามเหตุผลในกระบวนการของเหตุปัจจัยแท้ๆ ฉะนั้นเหตุผลที่แท้จริงที่เป็นกฎธรรมชาติในการทำสวนคืออะไร การทำสวนเป็นเหตุ ความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผลใช่มั๊ย แล้วที่เราตั้งกฎสมมตินี่ ผลที่แท้ที่เราต้องการคืออะไร บนฐานของกฎสมมตินั้นต้องมีความจริงของธรรมชาติซ้อนอยู่ ถ้าไม่มีความจริงในธรรมชาติเราไม่รู้จะวางกฎไว้ทำไม ให้คนมาทำสวนเพื่ออะไร เพื่อให้ได้เงินเดือนเหรอ มันเรื่องอะไร สิ่งที่ต้องการแท้คืออะไร คือต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ใช่มั๊ย อันนั้นเป็นกฎธรรมชาติแล้วมีเหตุมีผลในตัวแล้ว ใครปฏิเสธไม่ได้ ฉะนั้นเบื้องหลังกฎสมมติของมนุษย์ว่าการทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือนห้าพันบาทเป็นผลนั้น มีความจริงในกฎธรรมชาติซ้อนอยู่ คือการทำสวนเป็นเหตุ ความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผล แล้วอันนั้นหล่ะเป็นตัวจริงที่ต้องการ เป็นความจริงที่รองรับกฎสมมติของมนุษย์ ซึ่งถ้าไม่มีความจริงอันนั้นอยู่กฎสมมติของมนุษย์ไม่มีความหมายจริงมั๊ย ทีนี้ถ้ามนุษย์วางกฎสมมติด้วยความรู้เท่าทันว่า ที่เรามาตกลงกันทำสวนหนึ่งเดือนได้เงินเดือนห้าพันบาทเนี่ยนะ เป็นข้อตกลงตามสมมติเราเพื่อให้ชีวิตมนุษย์อยู่กันได้ แต่สิ่งที่เราต้องการที่แท้นั้นก็คือการต้องการให้สวนต้นไม้เจริญงอกงาม ฉะนั้นเราจะต้องการตัวนี้ด้วย ฉะนั้นถ้าเราจะทำสวนเราต้องการ เราต้องมีความต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ถ้าเราต้องการผลที่ตรงเหตุปั๊บนี่คือเราไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ ถ้าเราต้องการเพียงทำสวนแล้วได้เงินเดือนห้าพันบาท ไม่เคยนึกถึงเรื่องต้นไม้เจริญงอกงามแสดงว่าเราหลงสมมติแล้ว เราติดอยู่แค่สมมติเท่านั้น เรามองไม่ถึงความจริงของธรรมชาติ แปลกแยกจากโลกของธรรมชาติ มนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติเมื่อไร เกิดความวิปริตแปรปรวนขึ้นทั้งในจิตใจ ชีวิตและสังคมทันทีเลย ลองนึกดูแค่นี้ก็วิปริตแล้วใช่มั๊ย พอมนุษย์เข้าไม่ถึงความจริงของกฎธรรมชาติที่อยู่เบื้องหลังนี่ ชีวิตวิปริตแล้ว สังคมวิปริตแล้ว ถ้าคนทำสวนยังต้องการผลที่ตรงตามเหตุ คือต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ เขาก็จะทำสวนด้วยความเต็มใจยินดี แล้วไม่ต้องมีคนคุมเลยใช่มั๊ย เขาอยากทำ เขาจะพยายามหาทางให้ต้นไม้เจริญงอกงาม แล้วเค้าทำด้วยความสุขด้วยนะ เพราะว่าความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นสิ่งที่เขาต้องการ พอเขาทำไปเขาเห็นต้นไม้เจริญเขาก็มีความสุข เขาก็ดำเนินชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ นี่คือการทำเหตุที่ตรงกับความประสงค์ผลใช่มั๊ย ฉะนั้นคนเราเนี่ย อันนี้ปัจจุบันนี้มีปัญหามากคือหลงสมมติ แปลกแยกจากธรรมชาติ มีชีวิตที่นึกไม่ถึงตัวความจริงที่แท้ที่อยู่เบื้องหลังเลย ถ้าครูสอนนักเรียนด้วยใจรักนักเรียน อยากให้นักเรียนเป็นคนดี มีความสุข มีชีวิตที่ดีงาม การสอนนั้นจะได้ผลดีมาก แล้วครูก็จะมีความสุขในการสอน แต่ถ้าครูหวังแต่เงินเดือนอย่างเดียว ครูก็แปลกแยกจากความจริงของกฎธรรมชาติ มาอยู่กับสมมติ หลงสมมติ เมื่อนั้นการทำงานสังคมอะไรต่ออะไร แปรปรวนวิปริตหมด เพราะฉะนั้นอันนี้จึงท่านบอกให้รู้ทันสมมติ รู้เท่าทันสมมติก็เรารู้ความประสงค์ว่า อ๋อ ไอ้กฎสมมติที่เราวางกันขึ้นมาเนี่ยที่จริงมันมีความจริงในธรรมชาติเป็นฐานอยู่อันนั้นสิเป็นสิ่งที่เราต้องการ อันนี้วางขึ้นมาเพื่อให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ได้เป็นกฎเกณฑ์ในสังคม รู้เท่าทัน พอรู้เท่าทันโยงความจริงในระดับสมมติ ก็โยงความจริงของธรรมชาติเข้าถึงกันได้ ก็เป็นอันว่าเรียบร้อย ชีวิตก็อยู่ดี สังคมก็เรียบร้อยด้วยใช่มั๊ย ได้ทั้งชีวิต ได้ทั้งสังคมดีหมด นี่ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง นี่ก็เป็นอันว่าอันนี้อาตมาถึงยกตัวอย่างก็ขอยกตัวอย่างอันหนึ่งคือเรื่องของธรรมชาติของมนุษย์นี่ มนุษย์นี่นาถ้าเราบำรุงปรนเปรอนี่ ไอ้ความบำรุงปรนเปรอเท่าไร มันจะกลายเป็นสภาพปกติของชีวิตเขา แล้วมันจะกลายเป็นสิ่งชินชา แล้วเขาจะไม่รู้สึกถึงความสุขชัดเจน คือในความสัมพันธ์กับวัตถุมันมีความจำเป็นอยู่ระดับหนึ่งใช่มั๊ย ทางพระท่านเรียกว่าปัจจัย 4 แล้วแต่ละคนปัจจัย 4 ความจำเป็นไม่เท่ากันแล้วแต่พัฒนาการของจิตใจด้วย แต่เอาเป็นว่ามันมีความจำเป็นระดับหนึ่ง ที่พ้นระดับนั้นแล้วต้องระวัง มันจะเป็นลักษณะที่เรียกว่า(สัม พัทธ) (สัม พัทธ) คือยังไง คือมีความพรั่งพร้อมมีเท่าไรนี่ชีวิตมันจะชิน มันถือเป็นระดับปกติหมด นี้ถ้าเราไม่พัฒนาคนมันจะเกิดผลอะไรขึ้นมาจากสภาพธรรมชาติอันนี้ คือมนุษย์ในยุคที่มีสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอพรั่งพร้อมนี่ ไอ้สิ่งปรนเปรอพรั่งพร้อมนั้น เป็นปกติของเขาในขณะนั้นแล้วเขาจะไม่รู้สึกเป็นสุขอะไรพิเศษ เพราะฉะนั้นมันจะมีอันหนึ่งขึ้นมาคือเรื่องของหลักการพัฒนาคน หลักการพัฒนามนุษย์ซึ่งหมายถึงพัฒนาความสุขด้วย จะมีสรุปเป็นหลักได้ว่าคนที่ได้พัฒนาให้มีจิตใจเนี่ยนะ เห็นแก่ความสะดวกสบายเห็นแก่ความง่าย แล้วมีสิ่งปรนเปรอมากต่อไปจะมีสภาพชีวิตปรากฎออกมาเป็นคนที่สุขได้ยากและทุกข์ได้ง่าย เอานะคนที่พรั่งพร้อมได้รับการบำรุงบำเรอตามใจมาก โดยธรรมชาติจะกลายเป็นคนที่สุขได้ยากและทุกข์ได้ง่าย ส่วนคนที่ผ่านชีวิตที่มีความทุกข์ยากลำบากมากจะมีลักษณะตรงข้ามคือเป็นคนที่สุขได้ง่ายและทุกข์ได้ยาก ทำไมเป็นอย่างนั้นหละ ก็นี้แหละเรื่อง (สัม พัทธ) ที่ว่าชีวิตคนประสบสภาพแวดล้อมอย่างไรก็เป็นปกติของเขาอย่างนั้นใช่มั๊ย อันนี้ก็ขึ้นต่อการพัฒนาทางจิตใจที่จะมารับละ ทีนี้เด็กที่ได้รับการบำรุงบำเรอปรนเปรอมากมีอะไรก็พรั่งพร้อมพ่อแม่ตามใจทุกอย่าง จะเป็นเด็กที่ทุกข์ได้ง่าย ทุกข์ได้ง่ายยังไงหละ ขาดนิดขาดหน่อยสิ่งที่มีพรั่งพร้อมขาดนิดขาดหน่อยทุกข์ทันที อยากได้อะไรไม่ได้ตามใจนิดเดียวทุกข์ทันที ฉะนั้นแกก็อยากจะได้ฝึกไว้แต่ความเคยชินอยากได้ อยากได้โน่นได้นี่ ไม่ได้ตามใจไม่ได้ไม่ทันทุกข์ไปหมด แล้วไม่เคยทนต่อความลำบากใช่มั๊ย เจออะไรจะต้องทำนิดทุกข์ หันไปทางไหนจะต้องทำทุกข์ ทุกข์หมดเลยทุกข์ทั้งนั้นเลย ทีนี้เอาหละ 1. หละทุกข์ได้ง่าย 2. สุขได้ยาก สุขได้ยากคืออย่างไรหละ มันพรั่งพร้อมไปหมดละ ตามใจอยู่เสมอ ทีนี้ไอ้ส่วนที่มีพรั่งพร้อมมันกลายเป็นสภาพปกติใช่มั๊ย ชินชา จะให้สุขมันต้องเติมทีนี้เติมยังไงมันพรั่งพร้อม เติมยาก ฉะนั้นก็เลยสุขยาก นี้นะทีนี้เราไปดูคนอีกประเภทหนึ่งคือคนที่ทนสู้ชินกับความยากลำบาก เอาหละนะพวกนี้พอทนสู้ชินกับความยากลำบาก พวกนี้ความยากลำบากเข้ามา ความยากลำบากลดลงไปนิดหนึ่ง ผ่านพ้นความยากลำบากไปนิดหนึ่ง มีสิ่งมาช่วยให้มีความสุขนิดหนึ่ง สุขทันทีเลย สุขง่ายมากพวกนี้ ทุกข์ได้ยากสิ่งที่ลำบากยากเย็นอยู่ชินชาละ จะเพิ่มเข้ามานั้นเรื่องเล็กใช่มั๊ย ไอ้ที่ตัวสู้อยู่มันเยอะแยะกว่าตั้งเยอะแล้ว จะไปกลัวอะไรแค่นั้น ทีนี้หันไปเจออะไรต้องทำ มันก็สู้อยู่แล้วมันทำ ไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญอะไรที่จะมาเป็นทุกข์ใช่มั๊ย เป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้นโดยสภาพธรรมชาตินี่ เด็กที่ได้รับการบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมและตามใจมากระวังให้ดี จะเป็นคนอ่อนแอใจเสาะเปราะบาง ทุกข์ได้ง่ายและสุขได้ยาก ส่วนคนที่ผ่านชีวิตที่ทุกข์ยากลำบากนั้น เค้าสุขง่ายและทุกข์ได้ยาก อันนี้เราจะเห็นได้ทั้งชีวิตคนและสังคม อาตมายกตัวอย่างบ่อยๆ สังคมที่คนมีความทุกข์ยากลำบากเนี่ย คนเค้าไม่ฆ่าตัวตาย แต่สังคมที่มีความพรั่งพร้อมสะดวกสบายจะมีคนฆ่าตัวตายมาก ยกตัวอย่างบ่อยก็คือ อเมริกากับเม็กซิโก อเมริกานี้เป็นสังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อมใช่มั๊ย เจริญพร เดี๋ยวนี้เค้าบอกเป็นสังคมบริโภคมีอะไรทุกอย่างกดปุ่มเอาใช้แต่กล้ามนิ้วไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อไม่ต้องใช้ไปถึงก็กล้ามนิ้วกดปั๊บ กดปั๊บ บางทีไม่ต้องกดด้วยเดินไปถึงประตู ประตูมันก็เปิดเลยใช่มั๊ย นี้ก็สุขสบายเดี๋ยวนี้จะไปใช้น้ำก็เอามือไปรองปั๊บน้ำก๊อกก็ไหล พอชักมือออกน้ำก็หยุด ไม่ต้องใช้กล้ามนิ้วด้วย ทีนี้สังคมอเมริกาที่พรั่งพร้อมเป็นยังไง เวลานี้สถิติฆ่าตัวตายแสดงออกมาแสนละ 12.5 คน นี้ไปสังคมเมกซิโก เม็กซิโกนั้นยากจนมากอยู่ติดกันเลยนะกับประเทศอเมริกาชายแดนติดกัน เม็กซิโกนั้นคนยากจนพยายามหลบหนีเข้าไปหางานทำในอเมริกา ประเทศที่ยากจนสถิติคนฆ่าตัวตายแสนละ 1.7 น้อยกว่าอเมริกา 7.4 เท่า อเมริกาฆ่าตัวตายมากกว่าเม็กซิโก 7.4 เท่า นี่คือประเทศที่มั่งคั่งพรั่งพร้อม บอกแล้วว่าคนมันใจเสาะเปราะบาง อเมริกาสมัยก่อนเป็นประเทศอุตสาหกรรม สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยความลำเค็ญ ด้วยความขยันอดทน ยุคนั้นไม่ฆ่าตัวตาย แต่ว่ามามีปัญหาตอนที่เริ่มเป็นระบบอุตสาหกรรมแล้วชีวิตคนวุ่นวายกะการงาน คนหนุ่มคนสาวคนอยู่ในวัยทำงานยุ่งกะการงานจนกระทั่งว่าตัวใครตัวมัน ไม่มีเวลาเอาใจใส่คนแก่ คนแก่ในสังคมอเมริกันก็ถูกทอดทิ้ง ในระยะนั้นคนแก่ฆ่าตัวตายมาก นี่สังคมอเมริกาค่อยๆมาเป็นขั้นๆนะ แต่ก่อนก็เป็นสังคมทั่วไปเหมือนกับคนที่ยากจนลำบากก็ไม่ฆ่าตัวตาย ฆ่าตัวตายน้อย ต่อมาคนแก่ถูกทอดทิ้งคนแก่ฆ่าตัวตายมาก พอมาถึงปัจจุบันนี้เป็นสังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อมปรากฎว่าคนหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก คนวัยรุ่นฆ่าตัวตายมาก พอญี่ปุ่นพัฒนามาอย่างอเมริกาก็ญี่ปุ่นก็สถิติฆ่าตัวตายก็สูงขึ้น เวลานี้เมืองไทยก็เริ่มฆ่าตัวตายมากขึ้น ทีนี้เราไปนึกดูว่าคนที่ทุกข์ยากลำบากเนี่ยไม่ฆ่าตัวตาย ก็ยกตัวอย่างบ่อยๆ อีกอันก็คือว่าอย่างคนจีนสมัยก่อนเข้ามาจากเมืองจีนเนี่ย ปู่ย่าตายายเนี่ยเป็นคนที่อะไร มาเสี่ยงโชค อดมื้อกินมื้อ เสื่อผืนหมอนใบ สร้างเนื้อสร้างตัว เค้าเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก จะแย่ยังไงเค้าฆ่าตัวตายที่ไหนใช่มั๊ย แล้วเค้าสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นเจ้าสัวเป็นเศรษฐีได้ พอรุ่นลูกเศรษฐีลูกเจ้าสัวเริ่มฆ่าตัวตายใช่มั๊ย ชีวิตสะดวกสบาย ใจเสาะเปราะบาง เพราะฉะนั้นต้องระวังว่าพัฒนาคนเนี่ย ถ้าไม่ระวังให้ดี มันเป็น (สัม พัทธ) อย่างที่ว่าสภาพที่เป็นอยู่พรั่งพร้อมแค่ไหน ก็เป็นปกติของคนในเวลานั้น ทีนี้ถ้าเราฝึกคนให้ดีนะ เรารู้หลักการนี้เราก็พัฒนาคนให้เข้มแข็ง ขอใช้คำว่าให้เป็นคนสู้สิ่งยาก พอพัฒนาให้เป็นคนสู้สิ่งยากขึ้นมาปั๊บ มันจะเป็นคนที่มาเสวยความสุขจากการพัฒนาวัตถุได้เต็มที่เลย เพราะว่าวัตถุพรั่งพร้อมพัฒนาไปเถอะคุณ แต่ใจคุณไม่พัฒนา ใจคุณจะลบศูนย์ตาม เอ้ยลบหนึ่งตามการพัฒนาวัตถุ พัฒนาวัตถุคือไปพรั่งพร้อมบวกหนึ่ง จิตคนนี่ลบหนึ่ง ลงไปศูนย์เท่าเดิม เป็นปกติ เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นเรารู้หลักนี้เราต้องพัฒนาคนให้บวกหนึ่งด้วย พัฒนาวัตถุไปให้พรั่งพร้อมบวกหนึ่ง เราก็พัฒนาจิตใจคนให้บวกหนึ่งคือสู้เข้มแข็งยิ่งขึ้น พอคนสู้สิ่งยากเข้มแข็งขึ้น เขาเสวยความสุขจากวัตถุที่เราสร้างขึ้นได้เต็มที่เลย จึงจะมีความสุขอย่างแท้จริงจากสิ่งที่ได้สร้างสรรค์ความเจริญจากวัตถุขึ้นมา ทีนี้เราก็มีหลักในการพัฒนาคนให้สู้สิ่งยาก คนสู้สิ่งยากก็สร้างจิตสำนึกในการฝึกตัวขึ้นมา พอสร้างจิตสำนึกในการฝึกตัวก็ถือว่ามนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก มันเป็นธรรมดา ธรรมชาติของมนุษย์เนี่ยเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ก็ขอพูดสั้นๆ ที่จริงเรื่องนี้พูดบ่อย คือหลักพุทธศาสนาบอกว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก การดำรงอยู่ชีวิตที่ดีงามของมนุษย์นั้นมาจากการฝึกทั้งนั้น ไม่เหมือนสัตว์ทั้งหลายอื่น สัตว์ทั้งหลายอื่นนั้นเป็นสัตว์ที่ไม่ขึ้นต่อการฝึกแต่ขึ้นต่อสัญชาตญาณ ชีวิตอยู่ด้วยสัญชาตญาณเกิดมาปั๊บออกจากท้องแม่ก็เดินได้ กินได้ ว่ายน้ำได้ ช่วยตัวเองได้ แต่มนุษย์นั้นเกิดมาเป็นยังไง เกิดมาช่วยตัวเองไม่ได้เลยใช่มั๊ย อย่าว่าแต่วันเดือนหนึ่งเลย ปีหนึ่งยังช่วยตัวเองไม่ได้เลย ทิ้งก็ตาย เพราะฉะนั้นกว่าจะช่วยตัวเองได้ อาตมาเคยถามที่ประชุมมีอาจารย์ท่านหนึ่งบอก ขอถามว่าคนเราเนี่ยกว่าจะช่วยตัวเองได้นี่กี่ปี เกิดมากี่ปี ท่านหนึ่งตอบว่า 30 ปี ถึงมั๊ย เจริญพร ในที่ประชุมนี้จะเอาซักเท่าไหร่ กี่ปีจะช่วยตัวเองได้อยู่รอด 7 ขวบไหวเหรอเจริญพร ทิ้งได้มั๊ย ไม่ได้นะ ยังไม่ไหวนะ มนุษย์นี่ยาก ทีนี้มนุษย์เนี่ยนะ เป็นอันว่าโดยสัญชาตญาณช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วทำไง ในระหว่างที่โตมากว่าจะช่วยตัวเองได้ 5 ปี 10 ปีอะไรเนี่ยทุกอย่างต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหมดเลยนะ ใช่มั๊ย เรียนรู้พ่อแม่สอนให้ กินก็ต้องสอน ขับถ่ายก็ต้องฝึก นอนยังต้องฝึกเลย นั่งก็ต้องฝึก เดินก็ต้องฝึก พูดก็ต้องฝึก เรื่องที่มนุษย์มีชีวิตอยู่ต้องอาศัยการฝึกหมดเลย ฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก แต่ทีนี้ไอ้ข้อที่ต้องฝึกเนี่ยเป็นข้อด้อยของมนุษย์แต่กลับเป็นข้อดีของมนุษย์ เพราะอะไร เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ด้วยสัญชาตญาณได้ ช่วยตัวเองได้ทันทีนั้น เกิดมาด้วยสัญชาตญาณอย่างไร ตายไปด้วยสัญชาตญาณอย่างนั้นอยู่แค่นั้น ตั้งแต่เกิดจนตายก็สัญชาตญาณมาไงก็ตายไปอย่างนั้น แต่มนุษย์มันไม่อย่างนั้นนี่พอเริ่มฝึกแล้วคราวนี้ไม่มีที่สิ้นสุดเลย ฝึกไปฝึกไปท่านก็เลยให้ตัวอย่างไว้คือพระพุทธเจ้านี่เป็นยอดของบุคคลที่ได้ฝึกแล้วใช่มั๊ย ฉนั้นฝึกแล้วดีแล้วเป็นกระทั่งพระพุทธเจ้าก็ได้ ก็เลยวางเป็นแบบไว้ให้เป็นตัวอย่างสำหรับระลึกว่า เออเราต้องฝึกตัวนะ เราจะมีชีวิตที่ดีประเสริฐได้ พระพุทธเจ้าก็เลยต้องคอยกระตุ้นเร้าใจพวกเราอยู่เสมอ บอกว่าในหมู่มนุษย์นั้นผู้ที่ประเสริฐคือผู้ที่ฝึกแล้ว หรือในหมู่เทวดาและทวยเทพ ผู้ที่ฝึกแล้วนี่ประเสริฐสุด แล้วก็มนุษย์นั้นฝึกแล้วแม้แต่เทวดาและพระพรหมก็น้อมนมัสการ มนุษย์ไม่ต้องไปมัวกราบไหว้อ้อนวอนเทวดาหรอก ถ้าฝึกตัวพัฒนาตัวแล้ว เทวดาพระพรหมก็ยังมาไหว้มนุษย์เลยใช่มั๊ย นี้ท่านให้คอยมีกำลังใจนี้อยู่เรื่อยเพราะถือการฝึกเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นชีวิตมนุษย์นี่ดีงามอยู่ด้วยการฝึกทั้งสิ้น ที่เราอยู่มาได้นี่อยู่ด้วยการฝึก มนุษย์นั้นตรงข้ามกับสัตว์ทั้งหลายอื่น สัตว์ทั้งหลายอื่นบอกว่าเกิดมาด้วยสัญชาตญาณอย่างไรก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณอย่างนั้น แต่คติของมนุษย์ว่า ฝึกอย่างไรได้อย่างนั้นใช่มั๊ย เพราะฉนั้นมนุษย์นี่ฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น ฝึกเข้าไปเถิด ทีนี้มนุษย์นั้นทั้งๆที่ชีวิตต้องฝึก แต่ว่าไม่เอามาใช้ประโยชน์ ฝึกเท่าที่จำเป็นพออยู่ได้แล้วหยุดฝึก แล้วฝึกโดยไม่ได้ตั้งใจ ฝึกเพราะความจำเป็นอย่างที่ว่า ฝึกกิน ฝึกนอน ฝึกเดิน ฝึกพูด ฝึกอะไรต่างๆเนี่ย ฝึกพอให้พูดได้ แทนที่จะฝึกต่อไปพูดยังไงให้มันดี ให้มันได้ผลยิ่งกว่านี้ใช่มั๊ย ฝึกได้มีศักยภาพต้องฝึกต่อเรื่องพูดก็ยังไม่จบ ถ้าพอพูดได้หยุดฝึกเลย ฝึกเท่าที่จำเป็น ฝึกแบบเอาความเคยชินเข้าว่า ฉะนั้นจะเรียกว่าไม่ฝึกก็ได้ แต่ว่ามันเป็นฝึกแบบจำเป็นตามไม่รู้ตัวท่านเรียกว่าเอาความเคยชินเข้าว่า ตามพ่อ ตามแม่ ตามผู้อื่น เห็นตัวอย่างอย่างไรก็ทำไป ฉนั้นมนุษย์เนี่ยเป็นอันว่าชีวิตโดยสภาพธรรมชาติอยู่ด้วยการฝึกนะ แต่ว่ามนุษย์ไม่ใช้ประโยชน์จากหลักการนี้ กลับฝึกเท่าที่จำเป็น พออยู่ได้แล้วเลิกฝึก นี้มนุษย์ที่รู้หลักการนี้ รู้ธรรมชาติของตัวเอง ดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติว่าเรานี่เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกต่อไปชีวิตเราจะยิ่งดีงาม ก็ฝึกต่อ ทีนี้ฝึกอย่างมีหลักการเลย เอาละชีวิตเราจะดีต้องฝึก ทีนี้พอฝึกแล้วคราวนี้หละเอาหละได้ผล เริ่มเลยนะแม้แต่ความสุขได้ผลทันที เอาธรรมชาตินี้มาใช้ยังไงหละ พอเราสร้างจิตสำนึกในการฝึกว่าเราเป็นมนุษย์ที่ต้องฝึกและยิ่งฝึกยิ่งดีใช่มั๊ย เรามองสถานการณ์ทุกอย่างเป็นสถานการณ์สำหรับการเรียนรู้และฝึกตนหมดเลย อ้าวมนุษย์เราพัฒนาได้จากการเผชิญปัญหาอย่างนี้เป็นต้น เจอปัญหาปั๊บอย่าไปย่อท้อสิ คิดหาทางที่จะแก้ปัญหา ทำไงจะขบปัญหาให้สำเร็จได้ ทีนี้ก็พูดถึงว่ามนุษย์มีชีวิตที่อยู่ได้ดีด้วยการฝึก ยิ่งฝึกก็ยิ่งมีชีวิตที่ดีงามขึ้นไป เราก็ตระหนักในความจริงอันนี้ใช่มั๊ย เราก็สร้างสิ่งที่เรียกว่าจิตสำนึกในการฝึกตนขึ้นมาเลย มองสถานการณ์อะไร เจออะไรมองเป็นเรื่องฝึกตัวหมดเลย ฉะนั้นเราเจอปัญหาเราจะนึกว่าปัญหาคือเครื่องฝึกตัวเราใช่มั๊ย นั้นคนที่เจอปัญหาแล้วไม่ย่อท้อไม่ถอย เราก็พัฒนาตัวขึ้นมาจากการพยายามแก้ไขปัญหา เราก็หาทางคิด เราก็เพียรพยายาม ศึกษาหาเหตุปัจจัยคิดช่องทาง ค้นคว้าอะไรต่ออะไรมาแก้ปัญหา จากการคิดค้นพยายามแก้ปัญหาเราก็พัฒนาตัวเอง เราก็เก่งขึ้น มนุษย์ทุกคนที่เค้าประสบความสำเร็จเนี่ย เขาประสบความสำเร็จมาจากการที่พยายามเผชิญปัญหา เผชิญอุปสรรคแล้วแก้ไข พยายามพัฒนาตัวจากสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เค้าจะประสบความสำเร็จ นี้คนที่เคยพัฒนาตัวอย่างนี้ ต่อมามันเคยชิน มันเกิดจิตสำนึกในการศึกษาและพัฒนาตน ชอบฝึกตน พอเจอสิ่งที่ยากแล้วชอบ เพราะอะไร เพราะว่าสิ่งที่ยากทำให้ตัวได้ฝึกมาก ของอะไรถ้ามันง่ายเราก็ไม่ได้ฝึกตัวจริงมั๊ย มันง่ายมันก็ทำไปได้แล้ว คนที่เป็นนักฝึกตัวไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ง่าย ตรงข้ามกับคนที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกตน เจอง่ายๆละชอบ ถ้าเจออะไรยากละก็ท้อเลย ถอยไม่สู้ นี้พอเรามีจิตสำนึกในการฝึกตนเราชอบสิ่งยาก พอเจอสิ่งยากเราเอา เจอสิ่งยากแล้วกับชอบใจ มีความสุขนี่ได้ละจิตใจสบายมีความสุข พอเจอทีนี้ก็ตั้งใจทำสิเพราะว่าเต็มใจละ เต็มใจก็ตั้งใจทำ ตั้งใจทำ มันก็ยิ่งได้ผลใหญ่เลย นั้นเค้าก็พัฒนาตัวเอง นี้คนที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกเป็นยังไง มันไม่อยากจะทำอะไร มันไม่อยากจะสู้อะไร พอเจอปัญหาปั๊บมันถอยทันที พอถอยสุขภาพจิตเสียละ เพราะว่ามันเกิดความทุกข์ ใจไม่สบาย ขุ่นมัวเศร้าหมอง ทีนี้เกิดต้องทำละ จำใจละทีนี้ จำใจทำก็ทุกข์อีกใช่มั๊ย ฝืนใจ จำใจทำ แล้วก็ไม่ตั้งใจทำ ไม่ตั้งใจทำไม่ได้ผลอีกด้วย ก็เลยใจตัวเองก็ไม่สบาย งานนั้นก็ไม่ได้ผลดี ตรงข้ามกับคนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน ทั้งใจก็เป็นสุข ทั้งงานก็ได้ผลด้วย พัฒนาตัวยิ่งขึ้นไป นี้พอเราพัฒนาคนอย่างนี้ดีขึ้นมา มีจิตสำนึกในการฝึกตนเป็นคนเข้มแข็ง คราวนี้เป็นคนที่สู้สิ่งยาก พอเป็นคนสู้สิ่งยากแล้วเจออะไรมันก็มีความสุขไปได้หมดแหละ แม้แต่สิ่งยากมันยังสุขได้เลย สิ่งง่ายมันจะไม่สุขได้ยังไงใช่มั๊ย มันเป็นธรรมดา ฉะนั้นเขาเลยไม่กลัวทุกข์เลย ภูมิต้านทานความทุกข์ขึ้นมาเต็มที่เลย ศักยภาพในการที่จะมีความสุขก็ขึ้นมาเต็มที่ด้วยใช่มั๊ย ได้ 2 เลย 1. ภูมิต้านทานความทุกข์ 2. ศักยภาพที่จะมีความสุข เพราะฉะนั้นคนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน สู้สิ่งยากก็มีความสุขได้ง่ายและทุกข์ได้ยาก แล้วอยู่ในสังคมประเภทอย่างนี้มีวัตถุพรั่งพร้อม สบายเลย ขึ้นต่อวัตถุน้อยตัวเองมีอิสรภาพ ถ้ามีวัตถุมายิ่งสบายมีความสุขเต็มเปี่ยม ตรงข้ามกับคนที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกตน เห็นแก่ง่าย เห็นแก่ความสะดวกสบาย อ่อนแอใจเสาะเปราะบาง ไอ้สิ่งที่บำรุงบำเรอพร้อมก็เป็นแค่ปกติ ได้เพิ่มมาหน่อยก็สุขนิดเดียว ขาดไปนิดไม่ได้อย่างใจนิดทุกข์แล้ว หันไปเจออะไรต้องทำทุกข์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคนประเภทนี้ทุกข์เต็มที่ไปหมดเลย ฉะนั้นแล้วทำไมจะไม่ฆ่าตัวตายหละใช่มั๊ย ฉะนั้นพอขาดแคลนอะไรนิดก็ใจหดหู่ท้อถอยฆ่าตัวตาย ฉะนั้นนี่มันเป็นธรรมชาติของสังคม ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ถ้าไม่พัฒนาตัวให้ดีเราก็เสียหลักและเป็นไปตามเหตุปัจจัย กลายเป็นคนอ่อนแอตามใช่มั๊ย ยิ่งวัตถุพรั่งพร้อมคนก็ยิ่งอ่อนแอลง ฉะนั้นในสภาพอย่างนี้เราต้องรู้เท่าทัน วัตถุพรั่งพร้อมขึ้นปั๊บเราพัฒนาคนให้แข็งยิ่งขึ้น พอพัฒนาคนยิ่งแข็ง คนที่แข็งนั้นก็มาเสวยสุขจากวัตถุพรั่งพร้อมได้เต็มที่ อย่างนี้เค้าเรียกพัฒนาสวนทางกัน พัฒนาวัตถุให้พรั่งพร้อมแต่พัฒนาคนให้แข็งยิ่งขึ้น ให้สู้สิ่งยากยิ่งขึ้น แล้วคนนั้นแหละที่จะเสวยความสุขจากความเจริญนี้ได้จริงๆ ถ้ามิฉนั้นแล้วจะพัฒนาไปเสียเปล่าใช่มั๊ย พัฒนาวัตถุไปพรั่งพร้อมเสียเปล่า ไอ้เจ้าเด็กเกิดมาสภาพอย่างนี้มันเป็นปกติของเขา แล้วเขาไม่ได้มีอะไรพิเศษเลย เหมือนกับเราสมัยก่อนเรามีเกิดมาอย่างไร เราก็อยู่อย่างนั้นก็เป็นปกติของเรา เด็กสมัยนี้พรั่งพร้อมก็ปกติของเขา ไม่ได้เป็นสูตรพิเศษอะไร ฉะนั้นก็เลยน่ากลัว นี่แหละเอามาดูตัวอย่างที่ว่าสังคมที่ว่ามั่งคั่งพรั่งพร้อมแล้วทำไมเด็กหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก เนี่ยมันก็เป็นอย่างนี้ ฉะนั้นตกลงว่านี่คือมันก็เป็นธรรมชาติ มนุษย์เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ซะ ฝึกฝน สร้างจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตัว แล้วเด็กสู้สิ่งยากเข้มแข็ง ไม่ใจเสาะเปราะบางเป็นผู้สามารถเสวยความสุข มีภูมิคุ้มกันทุกข์อย่างสูง แล้วก็มีศักยภาพในการที่จะมีความสุขอย่างสูงเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเค้าจะมีความสุขได้มาก ทุกคนแหละแต่ละคนก็เหมือนกันแหละ ใครที่พัฒนาได้อย่างนี้ก็เป็นคนที่จะมีโอกาสที่จะมีความสุข นี้อาตมาพูดมา 2 อย่างเป็นตัวอย่างของการที่ว่าการพัฒนาความสุขด้วยการที่ว่าดำเนินชีวิตให้มันสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติใช่มั๊ย เอาธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้ามนุษย์หลงสมมติปั๊บ เสียหลักได้ทันที แล้วก็ทุกข์จะตามมา เอาหละ 3 ละทีนี้ต่อไป สุขประเภทที่ 4 สุขประเภทที่ 4 ก็มาจากธรรมชาติมนุษย์อีก ธรรมชาติมนุษย์เป็นยังไง ก็ต่างจากสัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่น สัตว์ทั้งหลายอื่นนั้นประดิษฐ์คิดค้นสร้างสรรค์ไม่เป็น บอกแล้วว่าเกิดมาอย่างไรก็ตายไปอย่างนั้น สัตว์ทั้งหลายมันก็อยู่กับธรรมชาติ มันก็ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรผิดปกติ แต่มนุษย์นี้พิเศษก็คือว่าประดิษฐ์คิดค้นสร้างอะไรต่ออะไรขึ้นมา มีวัตถุ มีเครื่องมืออุปกรณ์ มีระบบสังคม มีเทคโนโลยี จนกระทั่งเป็นโลกมนุษย์เลย มนุษย์นี่ทำไปทำมาเกิดมีอารยธรรมวัฒนธรรมใช่มั๊ย อารยธรรมวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มีในสัตว์ทั้งหลาย มีทั้งวัตถุ มีทั้งระบบสังคมต่างๆ จนกระทั่งเกิดเป็นโลกมนุษย์ แล้วโลกมนุษย์นี้ต่างจากโลกของธรรมชาติ มนุษย์สร้างโลกมนุษย์ขึ้นมากลายเป็นอีกโลกหนึ่ง จนกระทั่งบางทีแปลกแยกจากโลกธรรมชาติอย่างที่ว่าเมื่อกี้ กฎมนุษย์ก็มี กฎธรรมชาติก็มีแยกกันไปหมด เลยมนุษย์พวกหนึ่งก็หลงสมมติแปลกแยกจากโลกธรรมชาติ มีชีวิตแต่ละวันไม่เคยรู้จักโลกธรรมชาติเลย บางคนนี้อยู่ในกรุงเทพนะ ออกจากบ้านตื่นเช้าไปทำงาน ไปโรงเรียน กลับจากโรงเรียน กลับจากที่ทำงาน มาเข้าบ้าน เห็นแต่แสงสี ถนน รถยนต์ ไฟฟ้า เห็นแต่ทีวีเห็นแต่อะไร ไม่เคยเห็นฟ้า ไม่เคยเห็นดวงดาว ไม่เคยเห็นดวงจันทร์ บางคนเป็นมั๊ย เออ บางทีไม่ได้สนใจเลย คือเค้าอยู่แต่ในโลกมนุษย์อย่างเดียว โลกธรรมชาตินี่หายไปแล้ว เขาแปลกแยกจากโลกของธรรมชาติมาอยู่กับโลกของมนุษย์อย่างเดียว นี่ก็คือเรื่องของความวิปริต แต่ว่ามันเป็นความสามารถของมนุษย์ที่เป็นนักประดิษฐ์สร้างสรรค์ปรุงแต่ง มนุษย์ก็ใช้ความสามารถนี้มาสร้าง ทีนี้แนวโน้มส่วนมากมันสร้างเพื่ออะไร มันสร้างเพื่อจะเอามาเสพ เพื่อให้ความสุขของตัวที่ได้จากประเภทที่ 1 เกิดมีขึ้น แล้วมันก็เลยไม่พัฒนา นี้เอาเป็นว่ามนุษย์มีความสามารถพิเศษจากสัตว์อื่นก็คือ มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นปรุงแต่งสร้างสรรค์ อันนี้สร้างสรรค์มาเป็นวัตถุอะไรต่างๆ นั้นก็อย่างหนึ่ง ก็เกิดจากความคิดใช่มั๊ย ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือสร้างสรรค์ประดิษฐ์ปรุงแต่งในจิตใจของตัวเอง ก่อนที่จะออกมาเป็นวัตถุมันต้องปรุงแต่งในใจ นี้ปรุงแต่ความคิด ปรุงแต่งสภาพจิต ปรุงแต่งความทุกข์ความสุขของตัวเอง นี้ในการปรุงแต่งทุกข์สุขนั้นปรากฏว่ามนุษย์จำนวนมากไม่พัฒนาก็เลยปรุงแต่งแต่ความทุกข์ให้กับตนเอง ขอถามว่ามนุษย์เราใช้ศักยภาพความสามารถในการสร้างสรรค์ปรุงแต่งส่วนมากในการสร้างสุขหรือสร้างทุกข์ให้กับตน มนุษย์ส่วนใหญ่ จะเห็นว่าใช้สร้างทุกข์มากกว่าเชื่อมั๊ย คือเราไปหวังสุขจากการเสพวัตถุ แต่ในใจตัวเองที่มีความสามารถปรุงแต่งสุขนี่ไม่ใช้ ใช้ในทางปรุงแต่งทุกข์ อะไรที่มันจะกระทบกระเทือนใจ อะไรที่มันจะขัดอกขัดใจ อะไรต่างๆเหล่านี้เก็บหมด เข้ามาทางตา ทางหู ได้ยินเสียงอะไรต่ออะไรที่มันจะไม่สบายกระทบกระทั่งเก็บ แล้วเวลานึกในความทรงจำระลึก ระลึกไอ้เรื่องไม่ดี ระลึกเรื่องที่ไม่สบายใจเอามาปรุงแต่งใจให้ขุ่นมัว เศร้าหมอง กลุ้มกังวล เครียด ความกลุ้ม ความกังวล ความเครียดนี่เป็นตัวอย่างของความสามารถปรุงแต่งของมนุษย์ใช่มั๊ย เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายอื่นทำไม่ค่อยได้ สัตว์อื่นนี่ปรุงแต่งความเครียด ปรุงแต่งความกลุ้มกังวลไม่เป็น ปรุงแต่งความรู้สึกจนกระทั่งว่าเป็นโรคจิต สัตว์ทั้งหลายอื่นนี่ปรุงแต่งไม่เป็น แต่มนุษย์นี่ปรุงแต่งได้จนกระทั่งเป็นโรคจิต เป็นบ้าไปเลยใช่มั๊ย ทีนี้ก็เป็นอันว่ามนุษย์นี่มีความสามารถในการปรุงแต่ง แต่มักจะใช้ความสามารถนี้ในการปรุงแต่งทุกข์ คืออย่างที่ว่าปรุงแต่งความกลุ้ม ความกังวล ความเครียด ความไม่สบายใจ อะไรต่างๆ สารพัดจนกระทั่งเป็นโรคจิต นี้ทำยังไงเราก็รู้ตัวแล้วก็เปลี่ยนซะ เราก็ใช้ความสามารถในการปรุงแต่ง มาปรุงแต่งสุขซะสิ นี่แหละพระพุทธศาสนาสอนตรงนี้ว่า ท่านมีความสามารถอยู่แล้วในการปรุงแต่งและสร้างสรรค์ประดิษฐ์ ก็เอามาใช้ในทางที่ดีสิ มาสร้างปรุงแต่งสุขก็เลยให้ปรุงแต่งสุข วิธีปรุงแต่งสุขนั้นก็ เช่นวิธีเจริญสมาธิต่างๆ วิธีสมถะทั้งหมดคือวิธีปรุงแต่ง ทั้งหมดเลยวิธีสมถะเนี่ยเป็นวิธีปรุงแต่ง พอปรุงแต่งใจของเราให้สงบ ปรุงแต่งใจของเราให้เบิกบาน ปรุงแต่งใจของเราให้ผ่องใส ปรุงแต่งใจของเราให้มันดี หรือมีสิ่งที่กังวลรบกวนใจก็ทำใจให้มันสงบและระงับได้ อะไรต่างๆเหล่านี้ ก็วิธีนี้เยอะแยะไปหมดในพุทธศาสนาอันนี้อาตมาเป็นเพียงให้หลักการ เพราะฉะนั้นแค่ว่า อ้าวถ้าเราจะคิดอะไรวุ่นวาย จิตใจไม่สบาย ท่านก็บอกอ้าวหันมากำหนดลมหายใจอย่างนี้เป็นต้น เอาจิตมาอยู่กับลมหายใจ สติมาปรุงแต่งจิตซะ เกิดสมาธิ นี่เป็นวิธีปรุงแต่ง ปรุงแต่งใจก็ใจอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ ใจไม่ไปไหนก็หาย พ้นไปจากสิ่งรบกวนใจก็สบาย ท่านยังมีวิธีอีกปรุงแต่งไปพร้อมกันนั้น เวลาหายใจแล้วทำใจไปด้วย อาตมาจะบอกให้สักอย่างวันนี้นะ คือเราใช้วิธีหายใจนี่เป็นวิธีปรุงแต่งจิต ทำจิตให้สงบ เป็นสมาธิ มันก็ดีอยู่แล้วนะ เพียงแต่ว่าอย่างบางคนเค้าสอนก็ อย่างพระพุทธเจ้าสอนก่อน พระพุทธเจ้าสอนว่าหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้ายาวก็รู้หายใจเข้ายาว หายใจเข้าสั้นก็รู้หายใจเข้าสั้น หายใจออกยาวหายใจออกสั้นก็รู้ตามนั้น รู้ตามที่มันเป็นนี่อย่างหนึ่ง นี้อาจารย์รุ่นหลังก็มาเติมเพื่อจะให้ได้ผลยิ่งขึ้น เอาคำมากำกับ เวลาหายใจเข้าก็นับหนึ่ง หายใจออกก็นับหนึ่ง หายใจเข้านับสอง หายใจออกนับสอง มันจะได้กำกับชัดยิ่งขึ้น บางท่านก็มาเติมเอาคำว่าพุทโธ เดี๋ยวนี้เอาไปใช้เสียซะแล้ว ทีนี้ก็หายใจเข้าพุทธ หายใจออกโธ นะหายใจ กำกับจิตไปด้วย บางสำนักก็เอาอื่น หายใจเข้ายุบหนอ หายใจออกพองหนอ คำกำกับกับเหล่านี้เป็นเทคนิคของพระอาจารย์รุ่นหลังก็เอามาเพื่อจะช่วยกำกับจิต ก็ทำให้จิตอยู่ตัวยิ่งขึ้น ทีนี้อาจจะใช้วิธีอย่างพระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือมีเทคนิคเยอะ อย่างเวลาเราหายใจเข้าออก เราก็ถือโอกาสปรุงแต่งจิตด้วยเลย ปรุงแต่งซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เวลาหายใจเข้าก็ทำจิตให้เบิกบาน หายใจออกก็ทำจิตให้เบิกบาน อย่างในอานาปานสติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ อภิปปะโมทะยัง จิตตัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ อภิปปะโมทะยัง จิตตัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ แปลว่าฝึกใจว่า เราหายใจเข้าก็ทำใจให้ร่าเริงเบิกบาน หายใจออกก็ทำใจร่าเริงเบิกบาน ทีนี้เราก็เอามาปรุงแต่งเป็นถ้อยคำ โยมลองเอาไปใช้ดูนะ อาจจะเป็นประโยชน์ เวลาเราว่างๆ เราไม่มีอะไรจะทำรถติดหรืออะไรเราก็ลองทำดู แทนที่จะไปนั่งกลุ้ม ใจขุ่นมัว เราก็เอามาหายใจเลย ทีนี้หายใจเข้าก็ทำว่า ทำจิตให้เบิกบานหายใจเข้า ว่าในใจด้วยนะ คือหายใจเข้า พร้อมทั้งก็ว่าคำนี้ แล้วก็ทำใจให้เป็นอย่างนั้น ใจของเรานี้มันอยู่ที่เราปรุงแต่ง ใจของเราเบิกบานหายใจเข้า แล้วก็ทีนี้หายใจออก ทำใจให้โล่งเบาหายใจออก ลองดูสิ ทำให้มันเป็นไปตามคำที่เราพูด สบายใจเลย เอาลองดูสิ ลองได้มั๊ย ทำจิตให้เบิกบานหายใจเข้า อ้าวเชิญ หายใจเข้า ทำจิตให้เบิกบานหายใจเข้า ทำใจให้โล่งเบาหายใจออก อ้าวหายใจออกก็ทำใจให้เป็นไปตามคำที่ว่านั้นด้วย ทำอย่างนี้แหละใจก็สบาย ปรุงแต่งเค้าท่านเรียกว่าปรุงแต่งจิต หรือว่าอาจจะใช้คำอื่นก็ได้ หรือตัดคำว่าทำออก จิตเบิกบานหายใจเข้า ใจโล่งเบาหายใจออก จิตเบิกบานหายใจเข้า จิตโล่งเบาหายใจออก หรืออาจจะใช้อีกแบบว่า หายใจเข้าสูดเอาความสดชื่น หายใจออกฟอกจิตให้สดใส ว่างั้นนะเอ้าลองดูก็ได้ หายใจเข้าสูดเอาความสดชื่น บางทีเราหายใจอยู่ไม่ได้เรื่องเลย สูดเอาแต่ความขุ่นหมองใช่มั๊ย ทีนี้เราหายใจเข้าสูดเอาความสดชื่น หายใจออกฟอกจิตให้สดใส ทำใจซะให้เป็นไปตามนั้น สบายใจ แล้วใจไม่ต้องไปยุ่งกับเรื่องอะไร ก็มีความสุขอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นเพียงเทคนิคปลีกย่อยเอามาใช้ซะ แล้วพระพุทธเจ้าก็เน้นสภาพจิตของคนที่ปฏิบัติธรรมเนี่ย จะมีอยู่ 5 อย่างที่ควรทำให้ได้เสมอ นี้อาตมาก็มาบอกซะด้วย พยายามทำใจให้มีคุณสมบัติ 5 อย่างนี้ เพราะใจของเรานี่ เราเคยชินตกร่อง เรามักจะปรุงแต่งในทางกังวล ไม่สบายใจ ขุ่นมัวอยู่เรื่อย เลยมันเป็นธรรมดาของเราไป เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ใหม่ ต้องใช้เวลาหน่อยนะ ฝึกให้มันเป็นธรรมดาในทางที่ดีซะ จนกระทั่งจิตของเราเนี่ยเป็นนิสัยที่จะเคยสบาย มีความร่าเริงเบิกบาน มีความสุข ท่านก็ให้ไว้ 5 ข้อ 1.ปราโมทย์ แปลว่าความร่าเริงเบิกบานใจ ร่าเริงเบิกบาน ทำใจให้ร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ นี่ในคาถาธรรมบทอันหนึ่งบอกว่า (ปรา โมช ชะ พะ หุ โล ภิก ขุ โส นิพพาน นะ เส นะ สัน ติ เก) บอกภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ คือความร่าเริงเบิกบานใจ เชื่อว่าอยู่ในสำนักพระนิพพาน ว่างั้นเลยนะ อยู่ใกล้พระนิพพานแล้วนะ คนที่ใจร่าเริงเบิกบานเนี่ย เพราะฉะนั้นทำใจให้ร่าเริงเบิกบานจนเป็นประจำใจเลย 1.ปราโมทย์ 2.ปีติอิ่มใจ ความอิ่มใจปลาบปลื้มใจ ทำงานอะไรก็ ทำแล้วด้วยความรักงาน ตั้งใจทำงาน งานก้าวไกลก็เสวยสุขจากผลงานนั้น มีปีติอิ่มใจที่งานก้าวไปทุกขั้น ปีติแล้วปัสสัทธิ ปัสสัทธิแปลว่าความสงบเย็นผ่อนคลายกายใจ ไม่เครียด อันนี้แหละไม่เครียดละ ปัสสัทธิ