แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ใครมีคำถามอะไรก็นิมนต์ โดยเฉพาะท่าน
พระนวกะ : ปัจจุบันนี้ผมก็เรียนทางด้านดนตรีอยู่ครับ ดุริยางคศาสตร์ ก็อยากจะถามว่าเราเรียนดนตรี เราควรจะมีท่าทีอย่างไร ท่าทางอย่างไรในการเล่าเรียน แล้วก็จะมีหนทางไหมว่าที่จะเอาความรู้ความสามารถนี้ เหมือนกับงว่าเป็นการตอบแทนพุทธศาสนาได้บ้างครับ เพราะรู้สึกจะมีศีลอยู่ข้อหนึ่งในเรื่องของดนตรีอยู่ ก็เลยอยากจะเรียนถามพระเดชพระคุณว่าอย่างผมนี่ควรจะมีท่าทีอย่างไร ร่ำเรียนอย่างไรให้มันสอดคล้องกับหลักพุทธศาสนา ไม่มากกเกินไป ไม่น้อยเกินไป
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ท่านเรียนดุริยางคศาสตร์ อยู่ที่ไหนล่ะ
พระนวกะ : ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : โดยตรงเลยนะ ก็ดีเหมือนกันคำถามนี้ก็ดี เพราะว่าคนมักจะไม่ค่อยชัดเรื่องนี้ คือเรื่องดนตรีมันก็มีทั้งสองแง่ แง่ที่เป็นคุณและแง่ที่เป็นโทษ แล้วก็สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็มีทั้งผู้ที่ควรเข้าไปเกี่ยวแล้วก็ผู้ที่ควรเป็นอิสระ ถ้าใช้คำก็ไม่ใช่ว่าไม่เกี่ยว แต่หมายความว่าควรเป็นอิสระ โดยหลักทั่วไปเราก็ทราบอยู่แล้ว อย่างที่คุยกันมาเยอะแล้ว การฝึกตนหรือการศึกษาในพุทธศาสนา เราจะทำให้คนมีความเป็นอิสระมากขึ้น รวมทั้งแม้แต่ความสุข ก็หมายความว่าเรามีชีวิตเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป เราจะสามารถมีความสุขอยู่ในตัวเอง ตอนแรกเราก็พึ่งพาความสุขจากภายนอกใช่ไหม โดยมากคนก็จะเป็นอย่างนั้น ความจริงเกิดมาแม้แต่เด็กก็มี จะเรียกสมัยใหม่ เรียกว่ามีศักยภาพที่จะมีความสุขได้เองอยู่ บางทีพัฒนาผิดก็ยิ่งทำให้พึ่งพาสิ่งภายนอกมากขึ้น แล้วถ้าเราดูวิถีของสังคม ก็จะเห็นว่าจะเป็นอย่างนั้น ทำให้คนไม่ได้พัฒนาศักยภาพที่จะมีความสุข สร้างความสุขในตัวเอง แต่ลืมไปเลย ก็ไปพึ่งพาความสุขภายนอก ไม่ใช่พึ่งพาความสุขภายนอกหรอก พึ่งพาสิ่งที่จะให้ความสุข ก็คือพึ่งพาสิ่งเสพบริโภค เพราะว่าเรามีหนทางอยู่แล้ว ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ทีนี้ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็ไปได้รับรู้ โดยการรับรู้นี่มี หนึ่ง-รับความรู้ สอง-รับความรู้สึก ใช่ไหม ตา หู เรานี้มีการรับรู้ เห็น ได้ยิน มันมาสองอย่าง หนึ่ง-มีความรู้สึก สบายตา ไม่สบายตา สวยงาม ถูกตาถูกใจ อีกด้านหนึ่งก็ได้ความรู้ ก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อันนั้นเป็นวัตถุนี้ อันนี้เป็นของอย่างนั้น ใช้ประโยชน์ยังไง จะเกื้อกูลต่อชีวิตของเรา นี่มันพร้อมกันไป แต่เราไม่ค่อยรู้จักแยก ทีนี้พอตาดู หูฟัง รับรู้ปั๊บเนี่ย ตัวด้านรู้สึกนี่มักจะมาเด่นขึ้นมาก่อน แล้วมักจะเข้ามาครอบงำจิตใจเราเลยถ้าเราไม่มีสติ แล้วไม่รู้จักวางท่าทีกับมันให้ถูกต้อง พอรู้สึกก็เอาเลยใช่ไหม รู้สึกก็ชอบใจ ไม่ชอบใจ ทีนี้พอความรู้สึกนำไปนี่ ด้านความรู้มันจะกลายเป็นตัวตามไป คล้ายๆ ว่าอันไหนรู้สึกชอบใจ ก็จะไปกับอันนั้น แล้วก็รับรู้ไปแค่ที่จะให้ได้ความรู้สึกนั้น ความรู้นี้จะถูกจำกัดมาก เพียงเพื่อสนองความรู้สึก แต่ทีนี้ถ้ามีสติขึ้นมา มันจะกลายเป็นว่าด้านความรู้จะเด่นขึ้นมา ก็จะเรียนรู้ว่าไอ้นี่มันคืออะไร เป็นยังไง มันมีคุณมีโทษกับเรายังไง แม้กระทั่งค้นคว้าสืบสาวว่าอย่างนี้มันมายังไง มันเกิดขึ้นได้ยังไง มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอะไร ยังไง ได้ความรู้เลย นี่แค่ตาดูอย่างเดียวเนี่ย อย่างเด็กดูทีวีเนี่ย ก็จะเห็นเลยว่าเขาถูกความรู้สึกนำหรือความรู้นำ โดยมากความรู้สึกจะนำ ทีนี้ถ้าความรู้นำนี่ก็ได้การศึกษา แล้วชีวิตจะได้ประโยชน์มาก เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงเตือนตั้งแต่ต้น หลักปฏิบัตินี่ตามปกติจะเริ่มที่ตาดูหูฟังได้เลย พระสูตรมากมายก็บุคคลก็ตามหรือภิกษุก็ตาม เห็นรูปด้วยตา ได้ยินเสียงด้วยหู ฝ่ายหนึ่งก็ยินดียินร้ายไปตามสิ่งที่ปรากฏนั้น นั่นเรียกว่าไปตามความรู้สึก ภาษาพระเรียกว่ายินดียินร้าย ยินดียินร้ายก็คือว่าตามที่รู้สึกชอบใจ ไม่ชอบใจ ทีนี้ก็ไปแล้ว ความรู้นี้จะจำกัดมาก มันแค่สนองด้านความรู้สึกเท่านั้นเอง แต่ถ้าหากว่าด้านความรู้มันมานี่ มันจะกลายเป็นว่าได้อะไรต่ออะไรเยอะแยะ แล้วต่อจากนั้นกระแสสุขทุกข์ก็ไม่เหมือนกัน ฝ่ายรู้สึกเนี่ยมันจะแยกชัดไปเลยว่า ถ้ารู้สึกสบาย ถูกหูถูกตา ก็มีความสุข สนองความชอบใจ ทีนี้ถ้ามันไม่สนอง มันตรงข้าม ก็ทุกข์ กลายเป็นทุกข์ไป รู้สึกนี่มันกลายเป็นตรงข้าม มีสองขั้ว แต่ถ้าท่านต้องการรู้เมื่อไหร่ หมด ไม่ว่าชอบใจไม่ชอบใจ ทีนี้ถ้าเกิดอยากรู้ขึ้นมา ตอนนี้สุขหมดเลย ไม่ว่ารับรู้อะไร ลองดู ความจริง อันนี้เป็นธรรมชาติมนุษย์ ถ้าเราเกิดอยากรู้แล้ว สิ่งนั้นเราไม่ได้ชอบใจเลย แต่เราอยากรู้เนี่ย มันก็สุข คือความรู้นี่ไม่ขึ้นต่อชอบใจไม่ชอบใจ บางทีที่ไม่ชอบใจนี่ มันได้ความรู้มากกว่า แล้วมันมักจะเป็นอย่างนั้นบ่อยๆ นะ ไอ้ที่เราชอบใจบางทีไม่ค่อยได้ความรู้อะไรหรอก แต่ที่เราไม่ค่อยชอบใจ อย่างเรื่องที่เป็นแบบฝึกหัด หรือเป็นเรื่องที่จะต้องทำยาก อย่างนี้เราได้ความรู้มาก ทีนี้ถ้าเกิดเรามีความอยากรู้ขึ้นมา มันก็เปลี่ยนตัวความอยากนี่เป็นตัวที่กำหนดความสุข ความสุขคืออะไร ก็คือได้สนองความต้องการ ทีนี้เราต้องการความรู้สึก จะสนองความต้องการรู้สึกที่ชอบใจมันก็เป็นสุข ทีนี้มันตรงข้าม มันขัดความต้องการที่ต้องการความรู้สึกที่ชอบ มันก็ทุกข์ ทีนี้ถ้าเกิดเราต้องการความรู้เนี่ย ไม่เกี่ยวกับความชอบแล้ว ทีนี้ต้องการความรู้ มันจะได้รู้จากที่ไหนมาก มันก็เอา ก็สุข ฉะนั้นคนที่เข้ามาสู่ขั้นการศึกษา เรียนรู้ ต้องการความรู้เนี่ย มันจะมีโอกาสมีความสุขมากขึ้น แต่ต้องมีความใฝ่รู้จริงๆ นะ ไม่ใช้ว่าเรียนด้วยจำใจ พออยากรู้ทีนี้ก็มันมีความสุขตลอดเวลาที่ได้รับความรู้ หาความรู้ไปเลยนะ มนุษย์จึงพัฒนา ทีนี้การพัฒนามนุษย์ เราจะเห็นจากจุดนี้แหละ ว่าเราพัฒนาความสุขได้ ตอนแรกเราก็พึ่งพาสิ่งเสพบริโภคที่ว่าตามความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อะไรพวกนี้ ต่อมาเราพัฒนาให้มีการใฝ่รู้ต้องการรู้ เราก็เลยมีความสุขจากเรื่องของสิ่งที่เป็นภายในของเราไม่ขึ้นต่อวัตถุนั้น ไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุสิ่งภายนอกแล้ว มันขึ้นกับความรู้ความใฝ่รู้ของเราเอง ทีนี้ตัวความอยากรู้ใฝ่รู้ นี่มันเป็นความอยากที่เรียกว่าความอยากที่เป็นกุศล ความอยากได้ความรู้สึกนี่ท่านเรียกว่าเป็นความอยากฝ่ายอกุศล มันกลายทำให้พึ่งพามากขึ้น ถ้าคนที่ต้องการความสุขจากความรู้สึก แล้วความสุขก็ไปขึ้นต่อวัตถุภายนอก ต่อมามันก็กลายเป็นว่าเราก็เอาความสุขของเราไปฝากไว้กับสิ่งภายนอก ความสุขของเราต้องพึ่งพามากขึ้น ทีนี้ความสามารถที่จะมีความสุขเดิมที่เราปล่อย เราไม่พัฒนา กลายเป็นว่าต่อมานี่ความสุขของเราขึ้นต่อสิ่งเสพบริโภคข้างนอกหมดเลย ไม่สามารถมีความสุขของตัวเอง ทีนี้ความสุขจากการเสพบริโภคเนี่ย มันชินชา แล้วมันเบื่อได้ พอเราได้รับแค่นี้ เราเคยชอบใจ ต่อมาเราเบื่อแล้วนะ ไอ้นั่นกลายเป็นทุกข์ไปเลย ไอ้ที่เราเคยชอบแล้วมันเบื่อ เราก็ต้องหาใหม่ หรือที่มันเคยเท่านี้ สุขมันไม่แล้ว มันต้องขยายปริมาณ และดีกรี เอาละทีนี้เราก็ลำบากมากขึ้นสิ เราก็ต้องหามากขึ้น เราก็ต้องขึ้นต่อมันมากขึ้น ความเป็นอิสระก็น้อยลง แล้วสิ่งเหล่านั้นมันก็เป็นของภายนอก คนอื่นเขาก็ต้องการ ก็ต้องแย่งกัน ต่อมาก็เกิดการเบียบเบียน ปัญหาก็มากันใหญ่เลยตอนนี้ ปัญหาจากชีวิตจิตใจตัวเองก็ไปสู่ปัญหาสังคม ความขัดแย้งกัน แย่งชิงกัน การเบียดเบียนธรรมชาติ ที่ว่าสิ่งนั้นมันต้องมาจากวัตถุดิบ มาจากธรรมชาติเป็นต้น ก็ไปกันใหญ่แหละ ใช่ไหม ชีวิตตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อมก็ไปหมด ทีนี้เราพัฒนามนุษย์ก็พัฒนาให้เขามีอิสรภาพมากขึ้น แม้แต่ในเรื่องความสุข พอเรามีความอยากรู้ใฝ่รู้ เราก็มีความสุขในการหาความรู้ ต่อมามันมีตัวฉันทะ ที่ว่าเป็นความอยากที่เป็นกุศล ก็คือเช่นความอยากรู้
ความอยากรู้นี่มันจะไปสัมพันธ์อีกอันหนึ่งคือความอยากทำ คนเรานี่ถ้าอยู่กับความรู้สึกอยากเสพ อยากบริโภค ขึ้นต่อสิ่งภายนอกเนี่ย มันจะไม่อยากทำ การทำนี่มันกลายเป็นความฝืนใจ ต้องเหน็ดต้องเหนื่อยออกแรงกำลัง แล้วก็ทำให้เราเสียเวลาไม่มีโอกาสที่จะเสพบริโภค มันก็ทุกข์นะสิ ฉะนั้นการกระทำเป็นความทุกข์ เป็นความฝืนใจ แต่ว่าถ้าไม่ทำ มันก็ไม่ได้ ก็เลยต้องทำ เพราะว่าการกระทำเป็นเงื่อนไขเพื่อให้ได้สิ่งเสพมา ทำให้เกิดความสุข แต่ถ้าคนที่มีปัจจัยภายใน มีความอยากภายในที่เป็นกุศล การกระทำนั้นไม่ใช่เป็นเงื่อนไข แต่การกระทำนั้นเป็นความสุขในตัวเอง ก็คือเราจะเกิดความอยากทำขึ้นมา แล้วทำก็เป็นความสุข คนที่มันอยากเสพนี่มันต้องทำเพื่อมันได้สิ่งเสพแล้วจึงสุข เพราะฉะนั้นตอนทำนี่มันทุกข์ มันเป็นเงื่อนไข แต่จำเป็นจำใจต้องทำเพราะเป็นเงื่อนไข
ทีนี้เรามาดูทำไงการพัฒนาด้านใน ก็คือว่า เช่นเราพอใจ เราอยากจะให้เช่น คนเรามีพื้นอยู่แล้วแหละ เช่นเราอยากให้มือ เราอยากให้ที่อยู่ของเราสะอาด เรียบร้อย อะไรเป็นต้น พอเราอยากให้มันเรียบร้อย เช่นอย่างพื้นบ้านที่เราอยู่เนี่ย เราอยากให้มันสะอาดเรียบร้อย ให้สังเกตดูว่าความอยากแบบนี้เป็นความอยากที่ว่าไม่ใช่เพื่อตัวเองโดยตรง ความอยากเพื่อความดีงามของสิ่งนั้น ถ้าเราอยากได้สิ่งเสพบริโภคนี่อยากด้วยตัวเองทันทีเลย อยากเสพสิ่งนั้น ชอบใจสิ่งนั้นได้มาเสพ แต่ว่ามันมีอีกขั้นหนึ่งที่ตอนแรกนี่เหมือนกับว่ามันยังโยงกันอยู่ ก็คือว่าเราจะสบาย ก็สิ่งนี้มันต้องดีด้วย แต่ว่าเราสามารถแยกได้ว่าเราอยากให้มันดี อยากให้มันสะอาด อยากให้มันเรียบร้อยสวยงาม ทีนี้ความอยากแบบนั้น ต่อไปเราสามารถมีโดยที่ไม่ต้องเกี่ยวกับเราได้เสพหรือไม่ เราไปไหนเราเห็นต้นไม้ ก็อยากให้มันสวยงาม ให้มันร่มรื่น ให้มันเขียวขจี ให้มันมีดอกงาม ลำต้นแข็งแรง ใบดกร่มรื่น เห็นท้องฟ้า เห็นอะไรต่ออะไรก็อยากให้มันงดงามสะอาดเรียบร้อยอย่างนั้น ตอนนี้มันเป็นความอยากเพื่อความสมบูรณ์ดีงามของสิ่งนั้นเอง นี่ท่านจะแยกศิลปะตรงนี้ได้ด้วย เราอยากเพื่อความดีงามความสมบูรณ์ของสิ่งนั้นเอง พอเราอยากแบบนี้นะ ไม่ใช่เกี่ยวกับตัวเราแล้ว พอเราอยากเพื่อความงามความดีของสิ่งนั้น เช่นอยากให้ต้นไม้ต้นนี้แข็งแรง ต้นกิ่งก้านอุดมสมบูรณ์ ใบดกเขียวเชียวนะ ทีนี้ความอยากอันนี้มันจะนำไปสู่การกระทำและความอยากรู้ด้วย เป็นตัวเองตามธรรมชาติ คุณอยากให้ต้นไม้นี้งาม ตอนนี้มันเป็นความอยากเพื่อความดีงามสมบูรณ์ของต้นไม้นั้นนะ ไม่ใช่ความอยากเพื่อตัวเรา อันนี้ท่านเรียกว่าฉันทะแล้ว ความอยากเพื่อความดีงามความสมบูรณ์ของสิ่งนั้น พอต้นไม้ต้นนั้นมันดีงามสมบูรณ์ เราก็สมใจเรา เราก็สดชื่น เราก็มีความสุข ความชื่นชมกับธรรมชาติก็มา อย่างนี้ไม่เสียหาย พระอรหันต์ท่านก็มี พระอรหันต์ท่านไปอยู่ในป่า ท่านได้ยินเสียงฟ้าร้อง ได้ยินเสียงช้างร้อง ได้ยินเสียงธรรมชาติ เห็นดอกไม้ เห็นต้นไม้ เห็นท้องฟ้าอะไรต่างๆ เหล่านี้ ท่านก็พรรณนามาเป็นคำกวี ก็เป็นความสุขความชื่นบานผ่องใสของจิตใจ ทีนี้เราก็มีภาวะจิตแบบนี้ ก็สัมผัสกับความสมบูรณ์ ความดีงาม ของสิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะพวกธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ก็มีความชื่นชม ก็เป็นมิตรต่อกัน มีความตั้งใจปรารถนาดี ทีนี้ความปรารถนาดีต่อสิ่งทั้งหลายให้มันมีความดีงาม ความสมบูรณ์ของมัน มันก็มีต่อทุกสิ่ง รวมทั้งเพื่อนมนุษย์ สัตว์ทั้งหลายด้วย ฉะนั้นเราพบคน เราก็อยากให้คนนี้ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี หน้าตาอิ่มเอิบ ยิ้มแย้ม ผ่องใส นี่นำมาสู่ธรรมะที่ท่านเรียกเป็นชุด หนึ่ง-คือเกิดเมตตา ฉันทะต่อสิ่งอื่น ถ้าเป็นมนุษย์ สัตว์ ก็มีชื่อเรียกว่าเมตตา เมตตาก็ความปรารถนาดี อยากเห็นเขามีความสุข ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ใช่ไหม อันนี้มันไม่เกี่ยวกับการที่เราจะได้เสพหรือไม่ เราอยากเห็นเขาสมบูรณ์ มีความสุข ร่างกายดีงาม ต่อไปทีนี้ ถ้าเขาเกิดไม่สมบูรณ์ขึ้นมา เช่นต้นไม้เคยสมบูรณ์มีใบเขียวขจีเลย ต่อมามันเกิดเหี่ยวเฉาขึ้นมา เราก็อยากให้มันสมบูรณ์อย่างเก่า เพราะความที่อยากให้มันสมบูรณ์เนี่ย มันจะทำให้เรามีความอยากอันใหม่ขึ้นมา ก็คือเมื่อกี้นี้เราอยากให้มันสมบูรณ์อยู่ตามปกติของมัน ตอนนี้มันตกต่ำลงไปแล้ว เราก็อยากจะดึงกันขึ้นมาสู่สภาพที่ดีอย่างเก่า เราก็ต้องช่วยมัน ก็คือเราจะต้องหาทางไปทำยังไงให้มันสมบูรณ์ขึ้นมา งดงาม เขียวขจีเหมือนเดิม อันนี้แหละเราก็อยากจะทำให้มันโต ทีนี้เราก็เรียนรู้ธรรมชาติว่า ทำไงมันจะสมบูรณ์ได้ ก็เช่นว่าต้องมีน้ำ มีอะไรต่ออะไร ดิน เป็นต้น ปุ๋ยอุดมสมบูรณ์ เราก็เลยไปหาทางช่วยมัน เช่นไปพรวนดินหรือไปรดน้ำมัน ตอนนี้เพราะเราอยากให้มันสมบูรณ์ดีงาม การกระทำของเราเป็นไปเอง โดยเราไม่ฝืนใจใช่ไหม เราอยากทำนี่ แล้วการกระทำของเรา สนองความต้องการของเราเอง ก็มีความสุขในการกระทำสิ เราทำให้ต้นไม้สวยงาม หรือแม้แต่มันงามอยู่แล้ว เรากลัวเราไม่อยากให้มันเหี่ยวเฉา เราก็เลยพยายามไปช่วยมันไว้ เราทำด้วยความเต็มใจ เราจะมีความสุข ไม่มีความฝืนใจ ฉะนั้น หนึ่ง-เรามีภาวะที่เป็นความอยากให้มันเป็นปกติสมบูรณ์อันหนึ่ง สอง-ถ้ามันตกต่ำลงไป ย่อหย่อนบกพร่องลงไป เราอยากทำให้กลับมาสมบูรณ์ สาม-ถ้ามันสมบูรรืดีขึ้นมาอย่างใจ เราก็ชื่นใจใหญ่ มีความสุข ความยินดี สามภาวะจิตนี้เกิดขึ้น ถ้าสำหรับวัตถุสิ่งอื่นท่านก็ใช้ฉันทะตลอด แต่สำหรับมนุษย์ท่านใช้ศัพท์แยกกัน เพราะมนุษย์นี่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์มาก ถ้าเราอยากให้เขาสมบูรณ์ดีเป็นปกติอยู่ตามปกติธรรมดา ท่านเรียกว่าเมตตา ยามปกติก็อยากให้เขามีความสุข ความสมบูรณ์ แช่มชื่น งดงาม ทีนี้พอเขาตกต่ำเดือนร้อน มีความทุกข์ เราก็อยากช่วยให้เขาพ้นขึ้นมาสู่ความสุขอย่างเดิม เราเรียกว่ากรุณา แล้วก็พอเขาได้มีความสุขความดีงามสมบูรณ์ดีอย่างที่เราต้องการ มันก็สมบูรณ์ดีแล้ว เราก็ชื่นใจ ดีใจด้วย เรียกว่ามุทิตา สามอัน นี่ชุดเดียวกันก็คือฉันทะที่มีต่อสิ่งทั้งหลาย มีต่อมนุษย์ ก็เป็นเมตตา กรุณา มุทิตา นี่เอง ก็กลายเป็นคุณธรรม ฉะนั้นที่ท่านอยากให้มนุษย์พัฒนาก็คือ จะให้มีความสุขประเภทนี้ อย่างน้อยก็ให้มันดุลไว้ความสุขจากการพึ่งพาสิ่งเสพบริโภค พอเรามีความสุขด้านนี้มากขึ้นเนี่ย การช่วยเหลือกัน การให้แก่ผู้อื่น ก็จะเป็นไปเอง ไม่ฝืนใจ แล้วก็มีความสุขในการให้แก่เขา อย่างที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ เหมือนกับพ่อแม่นี่ พ่อแม่ก็อยากให้ลูกมีความสุข อยากให้ลูกพ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นให้แก่ลูกก็มีความสุข แต่คนที่พึ่งพาวัตถุเสพ มีความสุขจากการเสพบริโภคอย่างเดียว เขาจะไม่มีความสุขประเภทนี้ การให้จะเป็นการฝืนใจและเป็นความทุกข์ เพราะเป็นความสูญเสีย ใช่ไหม ทำลายโอกาสเขา ทำลายให้เขาลดน้อยสิ่งเสพติดบริโภค แต่พอเขามีความอยากแบบฉันทะ มีเมตตา กรุณา มุทิตา เขาอยากให้คนอื่นมีความสุข เขาเห็นเด็กก็ โอ เด็กนี้ยากจน ขาดอาหาร ก็อยากให้เด็กนี้ผลทุกข์มีความสุข เขาก็เอาอาหารไปให้ ไปช่วยเหลือ การให้ของเขาที่เขาให้ด้วยความสุข เพราะพอใจ เราบอกว่าเขาเห็นเด็กมีความสุข มีความร่าเริงเบิกบานผ่องใส สมใจเขา เขาก็มุทิตา ก็มีความสุขตลอดเลย ฉะนั้นการช่วยเหลือ การให้แก่ผู้อื่น กลายเป็นความสุขหมด นี่ก็เลยเป็นการที่เรามีความสามารถที่จะสร้างความสุขของเราขึ้นมา โดยไม่ต้องไปพึ่งพาสิ่งเสพภายนอก แล้วโอกาสของเราที่จะมีความสุข ก็มากขึ้น แล้วความสุขแบบนี้ มันจะเป็นความสุขร่วมกัน ไม่ใช่ว่าสิ่งเสพบริโภค ฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่านหนึ่งอด ใช่ไหม ฝ่ายหนึ่งสุข ฝ่ายหนึ่งทุกข์ แต่พอว่าเป็นสุขด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา นี่กลายเป็นสุขด้วยกัน เราสุข เขาก็สุข เรายิ่งเห็นเขาสุข เราก็ยิ่งสุขด้วย เหมือนอย่างพ่อแม่เห็นลูกสุข พ่อแม่ก็ยิ่งสุข ใช่ไหม อย่างนี้ เพราะฉะนั้นความสุขจากคุณธรรมต้องสร้างต้องพัฒนา ทีนี้เราก็จะมีโอกาส เท่ากับว่าตอนนี้เราเพิ่มมิติ หรือว่าช่องทางของความสุขมากขึ้น ความสุขไม่ได้ขึ้นกับวัตถุเสพบริโภคอย่างเดียว แล้วก็ความสุขแบบนี้ไม่พึ่งพา ไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก เป็นอิสระของตัวเองมากขึ้น เราก็จะพัฒนาแบบนี้ ทีนี้ความสุขของคนก็จะเป็นอิสระจนกระทั่งว่าอย่างพระอรหันต์ท่านก็จะพัฒนาไปขั้นถึงว่าความสุขนี่ไม่ต้องพึ่งพาสิ่งภายนอกเลย ความสุขก็มีได้ด้วยตนเอง ทีนี้คนที่มีความสุขแบบพึ่งพาสิ่งเสพบริโภคนี่ เขาจะต้องหาความสุข เพราะฉะนั้นเขาก็จะขาดความสุข เพราะความสุขเขาขึ้นกับสิ่งภายนอก เขาก็ต้องหาความสุข ฉะนั้นเราก็จะมีศัพท์สำหรับคนยุคปัจจุบันว่าหาความสุข คนหาความสุขก็ส่อว่ามักจะไม่ค่อยมีความสุข ทีนี้ถ้าหากว่าพัฒนาตัวเองให้ดี มันก็จะกลายเป็นคนมีความสุข สำหรับพระอรหันต์นี่ก็คือ ท่านที่พัฒนาโดยที่ความสุขนี่ขึ้นต่อสิ่งภายนอกน้อยลงไปจนกระทั่งว่ามีความสุขได้ด้วยตนเอง จนกระทั่งมีความสุขประจำตัวตลอดเวลา ความสุขนั้นเป็นคุณสมบัติของตัวเองเลย กลายเป็นว่ามีความสุขเป็นประจำตัว ความสุขนั้นเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่เป็นประจำ พอมีความสุขเป็นประจำตลอดเวลา ความสุขก็เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก ก็เป็นความสุขที่ไม่ต้องหา นี่แหละเป็นลักษณะความสุขของพระอรหันต์ หรือความสุขอย่างยอดยิ่งของนิพพาน ที่เราเรียกว่านิพพานเป็นสุขก็เพราะว่า หนึ่ง-เป็นความสุขที่มีประจำตลอดเวลาของตัวเอง ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอก ไม่ต้องหา แล้วก็เป็นความสุขที่เป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอก หนึ่ง-มีคุณสมบัติของตัวเอง สอง-เป็นอิสระ สาม-มีตลอดเวลา ใช่ไหม เราทำได้ไหม ถ้าพัฒนาไปก็มีได้ ให้คนพัฒนาได้ความสุขด้วย ฉะนั้นนิพพานมองในแง่ความสุขก็คือ ความสุขอย่างนี้ ความสุขที่มีตลอดเวลา เป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นกับภายนอก
ทีนี้เราโยงเข้ามาเรื่องดนตรี มาเรื่องดนตรีนี่ ตอนแรกเรายอมรับความจริงว่ามนุษย์ก็มีการพัฒนาในระดับต่างๆ ในขั้นต้นมนุษย์จำนวนมากก็จะมีความสุขขึ้นกับสิ่งเสพบริโภค ขึ้นต่อสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย เอาความรู้สึกเป็นใหญ่ ก็เลยกลายเป็นว่าต้องขึ้นต่อสิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน ดนตรีนี้ก็จะหนักไปทางหู แล้วก็มีตาประกอบ ใช่ไหม บางทีมีเต้นให้ดูด้วย ก็ได้ทั้งตาทั้งหู กลายเป็นว่าหูเป็นหลัก ตาเป็นประกอบ ทีนี้ในส่วนอื่นก็อาจจะมีเข้ามา บรรยากาศอะไรต่ออะไรก็แล้วแต่ ทีนี้เรายอมรับความจริงว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ยังพัฒนาอยู่ ยังต้องขึ้นต่อสิ่งเหล่านี้ ทีนี้ท่านที่เป็นนักดนตรีที่มีธรรมะและเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เราก็มาจับเรื่องโยงเข้าหาการพัฒนามนุษย์ เราก็จะมองเห็นว่านักดนตรี ถ้าไม่เข้าใจ ไม่รู้หลักนี้ แกก็จะเป็นเพียงว่าไปสนองความต้องการเสพบริโภค ที่เขามีความสุขจากความรู้สึกเท่านั้น ก็จะไปทำให้คนลุ่มหลงมัวเมายิ่งขึ้น หรือว่าแม่แต่มีเจตนาที่จะทำให้ไอ้พวกนี้มันหลงยิ่งขึ้น ให้มันขึ้นต่อเรา ขึ้นต่อสิ่งเสพบริโภค ขึ้นต่อดนตรีมากขึ้น ถูกไหม แต่ทีนี้ท่านที่รู้หลัก แล้วมีเจตนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ก็เอาดนตรีมาใช้เพื่อความรู้เท่าทันที่ว่า คนเหล่านี้นะยังอยู่ในการพัฒนาระดับต้น แล้วก็อย่างน้อยในขณะนี้ ในเมื่อใจเขาอยู่กับสิ่งเสพบริโภค บางทีเขาไม่ได้อย่างใจ เขามีความขัดอกขัดใจ มีความเครียด มีความกังวลในเรื่องเหล่านั้นอยู่ แล้วดนตรีนี่มันก็มาช่วยอย่างหนึ่ง ก็คือว่าดึงเขาออกมาจากความรู้สึก ความครุ่นคิดกังวล ความขุ่นหมองมัวต่างๆ เราก็ดึงเขามา ออกมาซะ ให้มาอยู่กับดนตรีที่มันเป็นเรื่องด้านเดียว แล้วทีนี้เราก็พยายามว่าทำไง จะให้เขาได้อาศัยดนตรีนี้เป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิตเขาด้วย ท่านก็เลยบอกว่า เราก็เอาธรรมะโยงเข้ามาหาซะ เพราะดนตรี แม้แต่เพลงเนี่ย ถ้าเรารู้จักแต่ง เราก็แทรกความคิด แทรกปัญญาเข้าไปด้วย ทำให้เขาเข้าใจชีวิต เข้าใจโลก มองเห็นอะไรต่างๆ อย่างน้อยก็ได้นึกถึงสิ่งที่ดีงามขึ้นมา เช่นว่าทำให้มนุษย์มีเมตตาต่อกัน เห็นอกเห็นใจกัน มีดนตรีหรือเพลงที่แต่งให้นึกถึงเพื่อนมนุษย์ ที่เขามีความทุกข์ความเดือดร้อนกว่าเรา เราควรจะได้ช่วยเขาบ้าง อะไรอย่างนี้ หรือนึกถึงเด็กเล็กๆ อะไรต่างๆ แล้วก็มีจิตเมตตา แต่เพลงทำนองนี้ พระพุทธเจ้ายังแต่งเลย มีเรื่องในคัมภีร์เลยนะ อย่างมานพคนหนึ่ง มานพก็คือชายหนุ่ม เขาก็มีความสัมพันธ์กับ
นาคมาณวิกา เรียกว่านาค ก็เลยว่าครั้งหนึ่งเขามีเหตุการณ์อะไรเป็นเรื่องใหญ่ เขาต้องมีการแข่งขันประกวดอะไรกันเนี่ย แล้วมานพคนนี้มีแววดีอยู่ พระพุทธเจ้าจึงแต่งเพลงธรรมะให้ แล้วมานพคนนี้ก็ไปขับกล่อม ได้ผลดี แล้วก็ทำให้คนนั้นได้ประโยชน์จากดนตรีนั้นไปด้วย ทีนี้ถ้าเราทำอย่างนี้ด้วยเจตนาที่ดีกับคนหมู่มากนี่ เราสามารถเอาดนตรีมาชักจูงคน ออกจากสิ่งเลวร้ายไม่ดี มาสู่สิ่งที่ดีขึ้น ก็เป็นเครื่องพัฒนาคนอย่างหนึ่ง ฉะนั้น หนึ่ง- เราต้องเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ สอง-มีเจตนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ สาม-มีวิธีการ โดยโยงเข้ามาเอาธรรมะไปใช้ประโยชน์ แล้วเอาดนตรีเป็นสื่อซะ ดนตรีก็กลายเป็นสื่อธรรมะไป ใช่ไหม เพลงเป็นสื่อธรรมะได้ ดนตรีเป็นสื่อธรรมะได้ เพราะฉะนั้นโบราณท่านจึงมี ดนตรีไทยก็มีปีพาทย์ไงล่ะ ใช่ไหม ก็ท่านไม่นึกเหรอว่าปี่พาทย์ก็เป็นดนตรี ก็ดนตรีไทยก็ปี่พาทย์นี่แหละ แล้วคนไทยก็เอาปี่พาทย์มาใช้ในวัดเยอะแยะเลย ทั้งงานมงคล งานศพ แม้แต่งานพระโดยเฉพาะมีเทศน์ ก็ต้องบรรเลงดนตรี ดนตรีเพลงสำหรับพระจะขึ้นธรรมาสน์ ก็บรรเลงเพลงสาธุการ เพลงสาธุการเคยเล่าให้ฟังหรือยังมายังไง เคยเล่าหรือยัง
พระนวกะ : ผมพอทราบมาบ้างครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ทราบจากไหนล่ะ
พระนวกะ : เรียนดนตรีไทยก็เลยทราบประวัติ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : จะตรงกันไหมเนี่ย ผมลองเล่าดูนะ คือว่าในพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก เรียกว่าพกาสูตร พระพรหมท่านชื่อ พกา เราเรียกพกาพรหม คนไทยเรียกพกาพรหม แต่ภาษาบาลีเรียกว่า พะ-กะ พกพรหมท่านมีมิจฉาทิฐิ ท่านถือว่าท่านยิ่งใหญ่ ไม่เกิดไม่ตาย เป็นผู้สร้างโลกอะไรต่างๆ เหล่านี้ วันหนึ่งก็มีเรื่อง พระพุทธเจ้าก็เห็นแก่พรหมผู้นี้ ว่ามีความเข้าใจผิด ก็เลยไปที่พระพรหมนี้ ทีนี้ตอนแรกก็ยังไม่ได้พูดธรรมะเพราะพระพรหมท่านหยิ่งผยองลำพองตัว ว่าท่านยิ่งใหญ่ ท่านก็ไม่ยอมฟังพระพุทธเจ้าหรอก ทีนี้ก็ไปเจรจาสนทนากันตอนหนึ่ง ก็มีการคล้ายๆ ว่าประลองฤทธิ์กัน ตอนหนึ่งก็มีการท้ากันในการที่ว่าซ่อนหา ตอนแรกพระพรหมเป็นผู้ไปซ่อนตัวก่อน พระพรหมก็ไปซ่อนตัวก้นมหาสมุทร พระพุทธเจ้าก็ชี้ เอ้า อยู่นั่น ขึ้นมา พระพรหมไปซ่อนตัวสุดจักรวาล พระพุทธเจ้าก็ชี้ว่าอยู่นี่ พระพรหมก็ต้องออกมา จะไปไหนๆ พระพรหมก็ไปไม่รอด พระพุทธเจ้าทรงทราบหมด ในที่สุดพระพรหมก็ เอาละ เท่านี้ ยอมแล้ว เอาท่านบ้าง พระพุทธเจ้าก็หายพระองค์แวบ พระพรหมหาไม่เจอ พระพรหมสอดส่ายญาณไปทั่วจักรวาลหมด ยังไงๆ ก็ไม่เจอพระพุทธเจ้า ทีสุดอ่อนใจก็เลย บอกมา อยู่ไหน พระพุทธเจ้าก็ตรัสออกมาจากเศียรพระพรหม อยู่ข้างบนเศียรนี้เอง พระพรหมก็อย่างนั้นยอมแล้ว แสดงว่าพระพรหมหาไม่เจอ ก็นิมนต์ลงมา ทีนี้ตอนนี้ล่ะที่มีตำนานดนตรีไทยเข้ามาแทรก ในพระไตรปิฎกไม่ได้มีหรอกนะ คือตำนานดนตรีไทยก็บอกว่า พระพุทธเจ้าก็บอกว่า จะให้ลงก็ต้องเชิญลงสิ เชิญลงทำไงล่ะ ต้องมีวิธีการทำให้มันสุภาพ ทำให้มันเป็นเรื่องเป็นราว ก็เลยเป็นเหตุให้พระพรหมแต่งเพลงสาธุการขึ้นมา พระพรหมก็บรรเลงเพลงสาธุการ ก็คือนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จ พระพุทธเจ้าก็เสด็จลงจากเศียรพระพรหมด้วยเพลงสาธุการ เพลงสาธุการนี้ก็เลยเป็นเพลงประจำที่จะนิมนต์พระขึ้นธรรมมาสน์เทศน์ ลงธรรมมาสน์ อะไรไรต่างๆ ตรงกันไหมครับ
พระนวกะ : ตรงกันนะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : แสดงว่าตำนานนี้เล่ากันมาในสายของดนตรีไทยมาตลอด นี่ก็เป็นเรื่องที่อิงพระไตรปิฎก เอาละ ก็จะเห็นว่าแม้แต่ดนตรีในเมืองไทยเราก็ใช้กันมาตลอด ก็เพลงนี่นะ อย่างดนตรี เพลงนี่แล้วมันก็น้อมจิตมากุศล ทำให้จิตพร้อมที่จะฟังธรรมะเป็นต้น หรือโน้มไปนึกถึงสิ่งที่ดีงาม อะไรต่างๆ เหล่านี้ แล้วอย่างดนตรีงานศพเขาก็ต้องจัดสรรพยายามบรรเลงให้ได้ความรู้สึกที่จิตใจนี่จะได้นึกถึงคนที่ตายแล้วก็โยงไปหาความดีงามของเขา เขาได้ทำอะไรไว้แล้วก็ทำให้จิตใจของตัวเองเนี่ยโน้มไปในทางสงบ ไม่อยากจะไปทำความชั่ว อะไรต่างๆ เหล่านี้นะ ดนตรีที่โน้มจิตใจอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นเบื้องต้นที่จะช่วยชักนำไปสู่นำคนเข้ามาสู่ความดีงาม นั่นก็ใช้เป็นอุบายนั่นเอง ถ้าเราตั้งจิตอย่างนี้แล้ว เราทำด้วยความรู้เท่าทัน เรามีเจตนาดีต่อเพื่อนมนุษย์แล้วดนตรีก็เป็นเครื่องมืออย่างนี้ นี่โบราณทำมาตลอด ในประวัติศาสตร์ เราพัฒนาดนตรีขึ้นมาในวัดนะ ดนตรีก็เป็นส่วนประกอบของวัฒนธรรม ก็เป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาในวัดเลย ก็เพราะอย่างนี้ ทีนี้ปัจจุบันเราไม่รู้จักใช้ดนตรี เราไม่นึกถึงว่าคนโบราณมีปี่พาทย์ ก็เหมือนเรามีดนตรีไทยปัจจุบันที่เป็นดนตรีสากล ใช่ไหม เราไม่ใช้ เราจะทำไงให้ดนตรีเหล่านี้มาเอื้อมาเข้าสู่วัตถุประสงค์เดียวกันให้ได้
เอาละ ทีนี้ก็มาเข้าสู่หลักธรรมะ คือ เป็นอันว่าตอนแรกคนที่อยู่ในระดับพัฒนาข้างต้นเนี่ย เราก็อาศัยสิ่งเหล่านี้มาเป็นสื่อ ดึงขึ้นมาสู่ข้างดี ทีนี้เมื่อคนพัฒนาขึ้นไป เราจะเห็นว่าในหลักธรรมเองก็จัดเป็นระดับ ในระดับศีล 5 แล้วพอเขาต้องการปฏิบัติ ฝึกฝนในทางจิตใจมากขึ้นก็จะมีศีล 8 ท่านจะเห็นว่าในศีล 8 นี่แหละ จะเริ่มเว้นแล้ว ให้สมาทานศีล ฝึกตัวเองโดยการที่ไม่ต้องพึ่งพาสิ่งที่เป็นสื่อภายนอก ทางนัจจะ-ฟ้อนรำ แล้วก็คีตะ- ขับร้องดนตรี นี่แหละมาแล้ว นัจจะ คีตะ วาทิตะ-ประโคม ก็ดนตรีทั้งนั้นแหละตอนนี้ นี่แหละข้อ นัจจะคี ตะวาทิ ตะ นี่แหละ ก็คือเรื่องดนตรี ก็หมายความว่าเมื่อพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งเนี่ย เราจะต้องการให้คนเนี่ยเป็นอิสระจากสิ่งเสพบริโภคภายนอกมากขึ้น ก็จึงให้เขาพัฒนาด้านจิตใจ ที่ให้เขามีความสุขด้วยตนเองว่า ทำไงความสุขของเราเนี่ย จะไม่ต้องขึ้นต่อดนตรีเป็นต้น แต่ว่าคนทั่วไปยังทำไม่ได้ ท่านก็เลยว่าให้ฝึกแค่ 8 วันครั้ง 8 วันนี้ท่านไม่ได้ฝึกเฉพาะเรื่องดนตรี
หรอก คือสิ่งเสพบริโภคภายนอกทั้งหมดนี่ ให้เรานี่ฝึกตัวในทางที่ไม่ขึ้นกับมัน ก็เป็นอันว่า 8 วันครั้งหนึ่งก็ ศีล 5 นี่แค่ไม่เบียดเบียนกันในสังคม เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคม เกี่ยวกับผู้อื่น ปาณา- ก็เว้นจากการทำร้ายร่างกายชีวิตกัน แล้วก็ อทินนา- ทรัพย์สินไม่ละเมิดกัน กาเมสุมิจฉาจาร- ไม่ละเมิดคู่ครอง มุสาวาท-ไม่ละเมิดทางถ้อยคำ ไปทำร้ายผลประโยชน์เขา หลอกลวงเขา แล้วก็เรื่องสุราเมรัย ไม่ไปทำให้คนอื่นต้องสูญเสียความรู้สึกมั่นคง เพราะเหตุของการที่เราเสียสติ พอเราไม่มีสติ คนอื่นนี่สูยเสียความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ใช่ไหม พอเขาเห็นคนนี้เมา ไว้ใจไม่ได้แล้ว ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยสูญเสียทันที เห็นคนโน้นขับรถมาส่ายอย่างนั้น นึกว่าเมาแน่ คนที่ขับรถอีกฝ่านหนึ่ง ใจเสียเลยใช่ไหม เพราะฉะนั้นคนกินเหล้า เสพยาเสพติดเนี่ย เป็นผู้ทำลายความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้อื่น เป็นการเบียดเบียนกันทางสังคมหมด ศีล 5 ข้อ ทีนี้ศีล 5 ท่านมุ่งให้อยู่ร่วมกัน โดยไม่เบียดเบียนกัน มุ่งไปที่นี่ ให้คุณอยู่กันได้ อย่าเบียดเบียนกันนะ จะหากินหาเสพ ความสุขของคุณยังขึ้นอยู่กับสิ่งเสพบริโภค ฉันก็ไม่ว่า แต่ว่าอย่าให้ละเมิดเบียนเบียนกัน เราจะได้พออยู่กันได้ แต่ฉันไม่รับประกันว่าคุณจะมีความสุขจริง เพราะในระดับศีล 5 ความสุขของคุณจะต้องขึ้นต่อสิ่งเสพบริโภค ท่านก็เลยให้พัฒนาต่อ ก็มาศีล 8 ก็บอกว่าตอนแรกก็ยังไม่ได้ถึงกับขั้นพร้อม ก็เอาแค่ว่าฝึกตัวเองบ้างนะ อย่างน้อยเตือนสติตัวเองว่า อย่าปล่อยให้ชีวิตของเราเนี่ย ต้องไปขึ้นกับสิ่งเสพบริโภคโดยสิ้นเชิง หรือมันมัวเมามากขึ้น เตือนสติตัวเองไว้บ้าง เพราะฉะนั้นสัก 8 วันนี่เอาสักที วันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ ก็เอาสักทีนะ สมาทานศีล 8 หรือเรียกว่าอุโบสถ ก็คือว่าเติมเข้ามาอีก 3 ข้อ แล้วก็ 3 นั่นก็เปลี่ยนซะ ก็คือว่าตอนถืออุโบสถ วัน 8 ค่ำเนี่ย เราก็ฝึกตัวเองไม่ให้ความสุขของเราขึ้นกับการเสพบริโภค ใช่ไหม ก็คือให้อยู่กับตัวเองได้ ให้ความสุข เป็นอิสระมากขึ้น ทำไงเราจะอยู่กับตัวเองได้ดีขึ้นโดยที่แม้แต่ว่าไม่มีสิ่งเสพบริโภค ฉันก็อยู่ได้นะ อย่างน้อยก็เป็นการเตรียมพร้อมไว้ เพราะว่าชีวิตของเราไม่แน่นอน บางทีเราเจ็บเราป่วยนี่เราพึ่งพาสิ่งเสพบริโภคไม่ได้ แล้วคนที่ชีวิตความสุขอยู่กับสิ่งเสพบริโภคอย่างเดียว พอเจ็บป่วยเข้า ไอ้ความสุขพึ่งพา อายตนะอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น ไม่ได้เลย อาหารยังเบื่อเลยใช่ไหม อาหารที่เคยชอบนักหนาก็เบื่อ ความสุขหาจากสิ่งเหล่านั้นไม่ได้แล้วทีนี้ก็ทุรนทุรายอย่างเดียว ทีนี้ถ้าคนฝึกไว้แบบนี้ มีศีล 8 จะขาดสิ่งเหล่านั้นบ้าง จะเจ็บไช้ได้ป่วย หรือแก่เฒ่าลง ใจก็อยู่กับตัวเองได้ มีความสุขได้ เพราะฝึกไว้แล้ว ก็เป็นอิสระมากขึ้น เพราะฉะนั้น 8 วันเอาสักทีหนึ่ง คุณก็ไม่เอาความสุขไปขึ้นกับสิ่งเสพบริโภค แล้วเอาเวลานั้นที่คุณจะไปมัวเมากับวัตถุเสพ เอาไปใช้ประโยชน์ซะ มาพัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา มาฟัง อ่านหนังสือ มาค้นคว้าหาความรู้ หรือจะออกไปทำ???กรรม การบำเพ็ญประโยชน์ ไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ไปแจกทานกับเด็ก ไปช่วยเด็กกำพร้า ไปช่วยคนชรา อะไรต่างๆ นี้ วันอุโบสถ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และพัฒนาชีวิตจิตใจของตัวเองในทางเป็นอิสระ คนไทยถ้าใช้หลักการนี้ สังคมจะได้ประโยชน์มาก ก็ 8 วันเอาสักที มันไม่ได้มากมายอะไรเท่าไหร่ ใช่ไหม สังคมจะดีขึ้นเยอะเลย นี่มันมัวเมากันตลอดเดือนตลอดปีเลย ไม่ได้เรื่องได้ราว เอาละครับ เป็นอันว่า 8 วันทีหนึ่ง ก็มาเป็นว่าเราปลอดโปร่ง ก็ใช้คำบอกว่า เวลาเรามีความสุขขึ้นต่อสิ่งเสพบริโภค เรากลายเป็นว่าต้องมีนั่นต้องมีนี่ ต้องมีจึงจะมีความสุข ความสุขของฉันอยู่ที่สิ่งเหล่านั้น ทีนี้พอเรามาฝึกถืออุโบสถ ศีล 8 เราเริ่มจะบอกว่าสิ่งเสพเหล่านั้น มีก็ดี แต่ไม่มีก็ได้ มีก็ดี มันก็ช่วยให้เรา ได้เสพ ได้อะไร แต่ว่าไม่มีก็ได้นะ ถึงไม่มี ฉันก็อยู่ได้ เริ่มมีอิสรภาพมากขึ้น ไม่ใช่ว่าชีวิตนี้ความสุขนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งเสพบริโภคอย่างเดียว กลายเป็นว่าต้องมีนั่นต้องมีนี่ ไม่มีฉันตาย อยู่ไม่ได้เลย อย่างนี้แย่ ใช่ไหม เป็นคนไม่มีอิสรภาพ ฉะนั้นในคนที่ฝึกตัวดีขึ้นนี่ ก็หมายความพูดอย่างนี้ได้แล้ว มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ไม่มีฉันก็อยู่ได้ แล้วก็มีอิสระมากขึ้น จะไปไหนไปไหนก็คล่องตัวขึ้น ไม่งั้นก็พะรุงพะรัง ใช่ไหม จะไปไหนก็ขาดสิ่งเสพบริโภค อันนี้ไม่ได้ต้องมีนั่นจัดนั่นจัดนี่ ไม่คล่องตัว ทีนี้ถ้าคนที่ฝึกตัวเองไว้บ้าง ไม่ขึ้นต่อสิ่งเสพบริโภค จะไปไหนก็ไปคล่อง จะไปนอนไหนก็นอนได้ ใช่ไหม มีแต่เสื่อผืนหมอนใบก็นอนได้ แม้แต่ไม่มีเสื่อ นอนกระดานยังนอนได้ ใช่ไหม อย่างนี้เป็นต้น ไม่งั้นก็ต้องนอนแต่ฟูกจนกระทั่งปวดหลังไปเลย เอาล่ะ มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ต่อไปก็บอกว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ดี ก็หมายความว่า มีก็ได้ ฉันก็ไม่ว่า ฉันก็กินเสพบริโภคไป แต่ไม่มีก็ดี ฉันยิ่งสบายใหญ่ ฉันปลอดโปร่งโล่งเบาดี มีก็ได้ ไม่มีก็ดี ตอนนี้สบายเลย เป็นอิสระมาก แต่ตอนแรกก็ฝึกแค่นี้ เอาศีล 8 ก่อน ถ้าทำได้นะ ชีวิตจะเป็นอิสระมาก หมายความว่าเรายอมรับว่าคนที่ยังอยู่ระดับศีล 5 เนี่ย เราทำไงจะจัดให้สิ่งเสพบริโภคเนี่ย ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อเขา แล้วถ้าทำดี เราก็ทำให้มันเป็นสิ่งที่เป็นอุบายชักนำเขาไปในทางที่ดี ก็เหมือนอย่างดนตรี ก็เป็นอันว่าเราใช้ประโยชน์กับคนระดับศีล 5 แล้วก็คนส่วนใหญ่ในสังคม เราก็ต้องยอมรับว่ายังอยู่ระดับแค่ศีล5 แค่ศีล5 ก็ยังไปไม่ค่อยรอดเลย ใช่ไหม ฉะนั้นเราต้องยอมรับความจริงว่า พวกดนตรีอะไรต่างๆ ยังต้องรู้จักใช้ให้ดีจะได้ประโยชน์มาก เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมยังอยู่ระดับนี้เท่านั้น ฉะนั้นถ้าหากว่าท่านเรียนดนตรีแล้วท่านเข้าใจหลักการนี้ แล้วท่านจะช่วยวัดช่วยพระศาสนาช่วยสังคมได้มากเลย หนึ่ง-เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ สอง-มีเจตนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อสังคม ใช่ไหม สาม-รู้จักจัดทำดำเนินวิธีการ คือใช้มันมาเป็นสื่อในทางที่ชักจูงคนเข้าสู่ความดีงาม ในการพัฒนาชีวิตของเขาเอง ก็สอดคล้องกัน ก็คือเรามีเจตนาดีต่อเขาแล้ว เราก็เลยใช้สื่อนี่ชักนำเขามาในทางที่ดี ให้เขามาสนใจเรื่องของธรรมชาติ สนใจเพื่อนมนุษย์ อยากจะช่วยเหลือกัน มีเมตตากรุณา แล้วก็ชื่นชมธรรมชาติ ดนตรีก็กลายเป็นเครื่องมานำคนเข้าสู่สิ่งที่ดีงามด้านอื่นๆ ของชีวิต เช่น ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แล้วเขาก็จะมีช่องทาง มีความสุขมากขึ้นด้วย แล้วกลายเป็นว่าเขาจะได้พัฒนาตัวเองของเขา ในการที่จะมีความสุข ในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ มีความสัมพันธ์ที่ดี มีเมตตา กรุณา อะต่างๆ เหล่านี้แล้วเขาก็มาสนใจธรรมะที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อย่างบทกวีบางเนี่ย ดีนะ แม้แต่แต่งให้เข้าใจอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เลย ให้เห็นความจริงของชีวิต แล้วบางทีได้ผลกับคนธรรมดายิ่งกว่าไปเขียนธรรมดา ใช่ไหม อย่างไปเขียนเป็นถ้อยคำร้อยแก้วเนี่ย บางทีไม่กินใจเท่ากับแต่งเป็นโครงกลอน แล้วพอเป็นโคลงกลอนไปขับกล่อมเขาอีก ยิ่งกินใจลึกซึ้งน้ำหูน้ำตาไหลเลย ก็เลยกลายว่าสนใจธรรมะ เอาจริงเอาจังมากขึ้นได้ ถ้าทำเป็นก็กลายเป็นว่าไปสร้างกุศลได้เยอะเลย เห็นใช่ไหม